Sunday, 5 May 2024
ภาคใต้

‘รมว.ปุ้ย’ ลุยใต้ เปิดงาน ‘MIND : Your Industrial Power’ หนุนผู้ประกอบการ-ยกระดับการลงทุน-เสริมศักยภาพอุตฯ ไทย

เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.ค 66 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดการสัมมนา ‘การส่งเสริมและยกระดับอุตสาหกรรม ในพื้นที่ภาคใต้ MIND : Your Industrial Power’ โดยมี นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม, นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม, นายศุภกิจ บุญศิริ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม รักษาการแทนผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม, นายเอกนิติ รมยานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม รักษาการแทนผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม, นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม, นายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมรักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม, นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรมรักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม, นางสาวณิรดา วิสุทธิชาติธาดา ผู้ช่วยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าร่วม ณ โรงแรม แกรนด์ ฟอร์จูน จังหวัดนครศรีธรรมราช

ปลัดฯ ณัฐพล กล่าวว่า สํานักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทในการส่งเสริม และสนับสนุนผู้ประกอบการในทุกมิติ สร้างธุรกิจให้เข้มแข็งเติบโตอย่างแข็งแกร่ง นําไปสู่ความสําเร็จอย่างยั่งยืน ภายใต้กรอบความแนวคิดและทิศทางการทํางานด้วย ‘MIND’ ใช้ หัว และ ใจ เพื่อบรรลุเป้าหมาย การสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน เปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมวิถีใหม่

ซึ่งการดําเนินงานภายใต้กรอบแนวคิด ‘MIND’ ของกระทรวงอุตสาหกรรมนั้น มุ่งเน้นความสําเร็จ 4 มิติ ประกอบด้วย มิติที่ 1 ความสําเร็จทางธุรกิจ, มิติ ที่ 2 ความอยู่ดีกับสังคมโดยรวม, มิติที่ 3 ความลงตัวกับกติกาสากล และมิติที่ 4 การกระจายรายได้สู่ชุมชนที่ตั้ง ผ่านการดําเนินการพัฒนาอุตสาหกรรม ไปสู่อุตสาหกรรมศักยภาพสูงและการสร้างธุรกิจรูปแบบใหม่ ควบคู่ไปกับการดูแลสังคม การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน และส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก โดยการจะสร้างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืนได้นั้น จําเป็นต้องมีความเข้มแข็งของผู้ประกอบการในพื้นที่เป็นองค์ประกอบสําคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นภาคส่วนที่สําคัญอย่างยิ่ง ในการร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม จึงให้ความสําคัญกับการเสริมสร้างองค์ความรู้แก่ผู้ประกอบการ อุตสาหกรรมในประเด็นที่จะช่วยยกระดับการดําเนินธุรกิจอุตสาหกรรมให้แก่ผู้ประกอบการ

รัฐมนตรีฯ พิมพ์ภัทรา กล่าวเพิ่มเติมว่า พื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ มีความโดดเด่นในหลากหลายมิติ เช่น ด้านการท่องเที่ยว ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลระดับโลก เป็นทางเลือกในการพักผ่อนระยะยาว หรือ ‘Long Stay’ ของชาวต่างชาติที่มีกําลังซื้อสูง ในด้านการเกษตร ภาคใต้มีความโดดเด่นเช่นเดียวกัน โดยมีพืชเศรษฐกิจที่สําคัญมากมาย เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ทุเรียน และโกโก้ เป็นต้น

นอกจากนี้ ภาคใต้ ยังเป็นศูนย์กลางการแปรรูปอาหารทะเล รวมทั้งอาหารฮาลาล และมีความโดดเด่นในด้านการค้าและโลจิสติกส์ เนื่องจากทําเลที่ตั้งของ ภาคใต้เป็นประตูสู่ตลาดมาเลเซียและสิงค์โปร์ ซึ่งการดําเนินงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ผู้ประกอบการในพื้นที่จะสอดคล้องกับนโยบายล่าสุดของรัฐบาล ที่ต้องการสร้างความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรมฮาลาล ต่อยอดสู่สากล ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลให้ความสําคัญกับภาคใต้เป็นอย่างยิ่ง จึงได้มีการกําหนดทิศทางการพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยได้มีการประกาศระเบียงเศรษฐกิจ ภาคใต้ หรือ ‘SEC’ ที่ครอบคลุมพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ได้แก่ จังหวัดระนอง ชุมพร นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี ซึ่งรัฐบาลไทยต้องการผลักดันให้เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ที่ใหญ่ที่สุดของภูมิภาค เพื่อรองรับการขนส่งทางทะเลและทางบก

นอกจากนี้ ยังกําหนดให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่สําหรับดําเนินโครงการ ‘Land Bridge’ ซึ่งเป็นโครงการสร้างท่าเรือน้ําลึกเชื่อมทะเลอ่าวไทยและอันดามัน เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการขนส่งและการค้าของไทย ซึ่งจะทําให้มีความสะดวก และสามารถเชื่อมต่อกับเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรปได้รวดเร็วยิ่งขึ้น กล่าวได้ว่าภาคใต้เป็นพื้นที่ศักยภาพและเต็มไปด้วยโอกาสด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานหลักในการสนับสนุนผู้ประกอบการในการดําเนินธุรกิจอุตสาหกรรม จึงมีความจําเป็นที่จะต้องส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการในด้านการเพิ่มขีดความสามารถ การประกอบการและการผลิตอย่างรอบด้าน เพื่อยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรมไทย ให้สามารถแข่งขันได้ในภาพรวม

การดําเนินงานในปัจจุบันของกระทรวงอุตสาหกรรม มุ่งเน้นไปที่การสร้างธุรกิจ ให้เข้มแข็งเติบโตอย่างแข็งแกร่ง นําไปสู่ความสําเร็จอย่างยั่งยืน ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเพื่อพัฒนาศักยภาพเชิงพื้นที่ ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการสร้างงานและ อาชีพให้แก่ผู้คน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้มีความเข้มแข็ง ผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรม มีการดําเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และชุมชน สร้างระบบนิเวศอุตสาหกรรมที่สังคมและอุตสาหกรรมสามารถอยู่ร่วมกันได้เป็นอย่างดี

สำหรับ การสัมมนา ‘การส่งเสริมและยกระดับอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคใต้ : MIND Your Industrial Power’ ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ภาคใต้ แนะนําช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่จะเป็นประโยชน์ในการดําเนินธุรกิจ เปิดโอกาสรับฟังความคิดเห็นของผู้ประกอบการ ตลอดจนเป็นการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ร่วมกันระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคใต้ให้เข้มแข็งได้อย่างยั่งยืน ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ในจังหวัดพื้นที่ภาคใต้ทั้ง 14 จังหวัด จํานวนกว่า 150 คน โดยมีกิจกรรม 3 กิจกรรม ประกอบไปด้วย

1.) การบรรยาย เรื่อง ‘การส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคใต้’ โดยผู้แทนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ ‘BOI’

2.) การอภิปราย เรื่อง ‘การแนะนําช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุน’ โดยผู้แทนจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และผู้แทนจากธนาคารออมสิน

3.) การเสวนา เรื่อง ‘การส่งเสริมและยกระดับ อุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคใต้ : แนวคิดและประสบการณ์’ โดย ผู้แทนจาก คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ผู้แทนภาคการศึกษา ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และผู้แทนจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยร่วมเสวนา

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการเน้นย้ำความสําคัญทางเศรษฐกิจของพื้นที่ภาคใต้ สํานักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมยังได้มีการจัดกิจกรรมพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม สู่ต้นแบบอัจฉริยะ หรือ ‘MIND STAR’ เพื่อดําเนินการสร้าง ผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมที่เข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมในพื้นที่อีกด้วย

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ‘ภาคเหนือ-ใต้’ ลดลง สะท้อน ‘นโยบายประชานิยม’ ใช้ไม่ได้ผลเสมอไป

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ได้รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน พฤศจิกายน 2566 ในภาพรวมนั้น ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เท่ากับ 55.0 ปรับลดจาก 55.8 ในเดือนตุลาคม 2566

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค จำแนกรายภาค เปรียบเทียบกับเดือนตุลาคม 2566 พบว่า

- กรุงเทพฯ และปริมณฑล ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 55.9 มาอยู่ที่ระดับ 57.4

- ภาคกลาง ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 55.3 มาอยู่ที่ระดับ 55.7

- ภาคเหนือ ดัชนีปรับตัวลดลงจากระดับ 57.3 มาอยู่ที่ระดับ 53.4

- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 56.3 มาอยู่ที่ระดับ 57.0

- ภาคใต้ ดัชนีปรับตัวลดลงจากระดับ 53.1 มาอยู่ที่ระดับ 51.8

ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค ที่สำคัญที่สุด คือ ‘เศรษฐกิจไทย’ คิดเป็นร้อยละ 44.12 รองลงมา คือ ‘มาตรการภาครัฐ’ คิดเป็นร้อยละ 14.93 ลำดับ 3 เป็น ‘ราคาสินค้าเกษตร’ คิดเป็นร้อยละ 11.48 

ถึงแม้ว่า หากเทียบกับดัชนีความเชื่อมั่น ในปี 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ 43.0 และ ปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 46.2 จะพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ปรับตัวสูงขึ้นมาก แต่ส่วนหนึ่ง เกิดจากภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า (COVID-19) และ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และ เศรษฐกิจไทย เป็นอย่างมาก ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ต่ำกว่าระดับ 50.0 หมายถึง ผู้บริโภคมีความไม่เชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ (อยู่ในช่วงไม่เชื่อมั่น) 

ซึ่งในปี 2566 ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวม อยู่เกินระดับ 50.0 ในทุกเดือน สะท้อนให้เห็นถึง สถานการณ์ปัจจุบัน หลังผ่านเหตุการณ์สำคัญดังกล่าว ภาพรวมของเศรษฐกิจไทย ปรับตัวดีขึ้นมาก รวมทั้งการท่องเที่ยวที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น สิ่งหนึ่งที่ต้องชื่นชมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็คือ มาตรการของรัฐ ที่ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงภาวะวิกฤต ของรัฐบาลชุดที่ผ่านมา 

แต่หากพิจารณาเฉพาะข้อมูลส่วนนี้ จะพบประเด็นที่น่าสนใจ ว่า พื้นที่ ภาคเหนือ และ ภาคใต้ ดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวลดลง โดยเฉพาะภาคเหนือ มีอัตราการลดลง มากที่สุด อยู่ที่ 3.9 และ ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อดัชนีความเชื่อมั่น ของพื้นที่ภาคเหนือ ลำดับที่ 2 อยู่ที่ ‘มาตรการภาครัฐ’ สัญญาณเล็กๆ นี้ ที่รัฐบาลชุดปัจจุบัน อาจต้องให้ความสนใจพอสมควร เพราะสิ่งที่ต้องไม่ลืม ในทางการเมือง พื้นที่นี้ เดิม เป็นพื้นที่ฐานเสียงหลักของรัฐบาลปัจจุบัน และการเลือกตั้งที่ผ่านมา หลายพื้นที่ ได้เสียฐานคะแนนเสียงให้กับคู่แข่ง มากพอสมควร

ประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือ มีดัชนีความเชื่อมั่นลดต่ำลง และ ปัจจัยสำคัญ คือ มาตรการภาครัฐ ที่จะใช้เพื่อการประชานิยม เพิ่มคะแนนเสียง และมาตรการสำคัญที่กำลังถูกจับตา คือ นโยบายการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท หรือโครงการ Digital wallet ที่อาจจะยังมองไม่เห็นทางออกในการดำเนินการโครงการนี้ ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไข ลดกลุ่มเป้าหมายที่จะแจกเงินดิจิทัล ลงอย่างต่อเนื่อง

สุดท้าย พื้นที่สำคัญนี้ ของรัฐบาล จะรักษาไว้ได้ หรือ เสียคะแนนเพิ่ม ดัชนี้ผู้บริโภค อาจเป็นคำตอบได้เป็นอย่างดี

แม่ทัพภาค 4 สั่งเร่งระดมกำลังพลช่วยผู้ประสบอุทกภัยนราธิวาส  หลังน้ำป่าไหลหลากมวลมาไม่ทันตั้งตัว รับ!! หนักสุดในรอบ 30 ปี 

(26 ธ.ค.66) ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศจากสถานการณ์ ที่ได้เกิดฝนตกหนักและหนักมากในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ตั้งแต่วันที่ 23-24 ธันวาคม 2566 ทำให้เกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ซึ่งทางจังหวัดนราธิวาสได้เปิดศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ขึ้น เพื่อร่วมปฏิบัติการบริหารจัดการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส โดยว่าที่ร้อยตรีตระกูล โทธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ผู้บัญชาการเหตุการณ์ เป็นประธานประชุมติดตามการบริหารจัดการอุทกภัย และ เจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนราธิวาส พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมรายงานผลการปฏิบัติงานจากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส

โดยสรุปวันที่ 25 สถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสตามที่ได้เกิดฝนตกหนักเมื่อวันที่ 22-24 ธันวาคม 2566 เป็นเหตุให้เกิดอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส โดยได้รับผลกระทบ เป็นเหตุให้เกิดอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส โดยได้รับผลกระทบแล้ว 9 อำเภอ 44 ตำบล 196 หมู่บ้าน 9,558 ครัวเรือน 37,901 คน 4 ชุมชน โรงเรียน 11 แห่ง ปศุสัตว์ (แพะ) 2 ตัว

แนวโน้มสถานการณ์ ลุ่มน้ำหลัก 3 ลุ่มน้ำ 1.ลุ่มน้ำโก-ลก ระดับน้ำยังปกติ แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 2.ลุ่มน้ำบางนรา ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง (เฝ้าระวัง) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 3.ลุ่มน้ำสายบุรี ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง (เฝ้าระวัง) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเจ้าหน้าที่ยังคงเตือนประชาชนไม่ประมาทต่อมวลน้ำ เพราะยังคมมีฟ้าฝนตกอยู่ต่อเนื่องในหลายพื้นที่

ด้านนายจิรัส ศิริวัลลภ นายอำเภอเมือง จ.นราธิวาส ได้ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์อุทกภัยวาตภัย ในพื้นที่ ต.ลำภู อ.เมือง จ.นราธิวาส ซึ่งมีราษฎร์เดือดร้อนและบ้านจมน้ำจำนวนมาก โดยประสานหน่วยทหารหน่วยนาวิกโยธิน ทหารหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส นำเรือท้องแบน รถทหารยี่เอ็มซี่ พร้อมกำลังพลอพยพช่วยเหลือชาวบ้าน คนชรา เด็กและคนไข้ติดเตียงให้มาพักพิงที่ ของทางการจัดให้ในที่ศูนย์ซึ่งพบว่ามวลน้ำยังคงกำลังสูง และเชี่ยวกราดให้สิ่งของในบ้าน เสียหายอีกจำนวนมาก ทั้งนี้นายอำเภอเมืองกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า น้ำป่าไหลหลากมวลน้ำมาก ประชาชนไม่ได้ตั้งตัวมา เร็วท่วมเต็มพื้นที่ ถือว่าท่วมสูงสุดมากในรอบ 30 ปี

ขณะที่ชาวบ้าน ผู้ประสบภัยน้ำท่วม กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า น้ำท่วมรอบนี้หนักมาก น้ำมากลางคืนขณะนอนหลับในบ้าน เมื่อน้ำมาช่วยได้เฉพาะคนในครอบครัวขึ้นที่สูง ส่วนอุปกรณ์ในบ้าน รถเครื่อง ตู้เย็น ทีวี และอื่นเสียหายหมด ไม่ทันขนย้ายไปเก็บในที่สูงเสียหายหมดตัว ยากเรียกร้อง ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เข้ามาดูแลเร่งด่วนด้วย

ด้านพลโท ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 ผอ.รมน.ภาค 4 แม่ทัพภาคที่ 4 สั่งหน่วยทหารในพื้นที่ทุกหน่วยเร่งดำเนินการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่เกิดอุทกภัยในพื้นที่โดยด่วนที่สุด โดยเฉพาะผู้ป่วยติดเตียง ผู้หญิง และคนชราออกนอกพื้นที่โดยเร็วที่สุด และเน้นย้ำให้การเข้าช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ทุกคนต้องมีความระมัดระวังรักษาความปลอดภัยตนเองและทุกคนที่ลงไปจะต้องใส่เสื้อชูชีพ ซึ่งประชาชนที่ประสบภัยสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือ ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยมณฑลทหารบกที่ 46 โทร.073-340141-4 ต่อ 43011 #ศูนย์ประชาสัมพันธ์ #กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค4ส่วนหน้า

‘นายกฯ’ เล็งลงพื้นที่ดูแล ศก. 3 จว.ชายแดนใต้ สิ้นเดือน ก.พ. หาทางพัฒนา-ยกระดับ ‘ของดีพื้นถิ่น’ ให้มีมูลค่าสูงยิ่งขึ้น

(9 ม.ค. 67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สิ้นเดือน ก.พ. ตนจะลงพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ ไม่ใช่ไปดูเรื่องความมั่นคง แต่ไปดูเรื่องเศรษฐกิจ ไปพร้อมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อไปดูเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ศิลปะ วัฒนธรรม อาหาร ซึ่งหลายอย่างเชื่อว่ามีของดีอยู่มากใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

รัฐบาลนี้ใส่ใจ หลาย ๆ อย่างจะถูกนำขึ้นมา อย่างเมืองยะลา เป็นเมืองที่มีผังเมืองสวยที่สุดในประเทศและพร้อมรับนักท่องเที่ยว อาหารใต้มีเสน่ห์ มีเอกลักษณ์ แต่ขาดการโปรโมตในเวทีโลก ดังนั้น หากผู้ใหญ่ในรัฐบาลลงพื้นที่และสนับสนุนต่อเนื่อง ก็เชื่อว่าสิ่งดี ๆ เหล่านี้จะนำเงินเข้าประเทศได้จำนวนมาก ทำให้พี่น้องประชาชนภาคใต้มีกินมีใช้ขึ้นอีก

“อย่างประเทศฝรั่งเศส หลายท่านดื่มไวน์ก็รู้ว่าองุ่นกิโลกรัมละไม่กี่ร้อย แต่ถ้านำไปทำเป็นสินค้าที่มี Value added จริง ๆ กลายเป็นไวน์ขวดหนึ่งก็เป็นหลายหมื่นได้ ตัวอย่างมีอยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งผมจะลงไปดูในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปลาหน้าตก หรือ ปลานิลสายน้ำไหล ที่เลี้ยงโดยว่ายสวนน้ำขึ้นไปที่มีราคาสูงถึงตัวละ 3,000 บาท ไม่มีใครทราบ ไม่มีใครโปรโมต แต่ผมเชื่อว่า หลังจากสิ้นเดือนหน้าแล้ว รัฐบาลนี้ลงไปจะสร้างตลาดให้กับสินค้าประเภทนี้และอีกหลายประเภท ซึ่งยังไม่มีใครสร้าง” นายกรัฐมนตรีกล่าว

‘สุริยะ’ หนุนโครงสร้างพื้นฐาน กระตุ้น จ.ท่องเที่ยวใต้ ชู!! แผนคล้อง ‘แลนด์บริดจ์’ เชื่อม ‘อ่าวไทย - อันดามัน’

(22 ม.ค.67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ประชุมติดตามความคืบหน้าและรับฟังการบรรยายสรุปงานโครงการสำคัญของกระทรวงคมนาคม ณ ห้องประชุมแขวงทางหลวงชนบทระนอง พร้อมตรวจราชการและประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2567 ณ จังหวัดระนอง ระหว่างวันที่ 22 - 23 มกราคม 2567 พร้อมด้วย นางมนพร เจริญศรี และนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ร่วมประชุม และลงพื้นที่ติดตามการก่อสร้างโครงการสำคัญในพื้นที่จังหวัดระนอง โดยมี นายนริศ นิรามัยวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ ผู้นำท้องถิ่น ผู้แทนภาคเอกชน และประชาชนให้การต้อนรับ ในวันที่ 22 มกราคม 2567

นายสุริยะ กล่าวว่า สำหรับการตรวจราชการในพื้นที่จังหวัดระนองครั้งนี้ เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการสำคัญต่างๆ ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม พร้อมประชุมมอบนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนาระบบโครงข่ายทางถนน ให้ครอบคลุมความต้องการเดินทางของประชาชน ‘ถนน’ ต้องช่วยลดระยะเวลาการเดินทาง ลดต้นทุนการขนส่ง และมีโครงข่ายที่ส่งเสริมต่อภาคการเกษตร การท่องเที่ยว การค้า การลงทุน แหล่งอุตสาหกรรม และสามารถบูรณาการกับระบบขนส่งได้ ในทุกมิติ ลดระยะเวลาต้นทาง - ปลายทาง เนื่องจากกลุ่มจังหวัดฝั่งอันดามัน ได้แก่ ระนอง, พังงา, ภูเก็ต, กระบี่ ตรังและสตูล เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญที่จะส่งเสริมต่อการเพิ่มขีดความสามารถ สมรรถภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ และเชื่อมโยงการเดินทางได้อย่างไร้รอยต่อ อีกทั้งให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม เร่งพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน เส้นทางคมนาคมขนส่งให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดระนอง และกลุ่มจังหวัดฝั่งอันดามันได้รับประโยชน์สูงสุดในการขนส่งสินค้า การเดินทาง และการท่องเที่ยวตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว โดยได้เน้นย้ำให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม เน้นการดูแลบริการประชาชนด้านการคมนาคมเป็นหลัก รวมถึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เส้นทางคมนาคมจากเมืองสู่ชุมชน ให้สะดวกปลอดภัยเชื่อว่าในวาระรัฐบาลชุดนี้จะมีการพัฒนาการคมนาคมขนส่งกระตุ้นเศรษฐกิจ การค้า และการท่องเที่ยวได้มากที่สุด 

สำหรับพื้นที่จังหวัดระนอง กระทรวงคมนาคมมีแผนพัฒนายกระดับระบบคมนาคมอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการขยาย 4 ช่องจราจร บน ทล.4 ทล.4006 และถนนสาย รน.1039 รน.1038 รวมทั้งมีแผนการพัฒนาท่าอากาศยานระนอง เพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งกระทรวงคมนาคมได้มีการพัฒนาพื้นที่ จังหวัดระนองให้ครอบคลุมทุกมิติ ประกอบด้วย...

1. มิติการพัฒนาทางถนน มีโครงการที่สำคัญในพื้นที่จังหวัดระนอง อาทิ การพัฒนาโครงข่ายทางหลวง ทางหลวงชนบท แผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค MR-MAP โครงการถนนเพื่อการท่องเที่ยว Andaman Riviera และการเชื่อมโยงระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดระนอง

2. มิติการพัฒนาทางราง อาทิ โครงการรถไฟสายสุราษฎร์ธานี - ท่านุ่น (MR9) โครงการเส้นทางรถไฟ สายชุมพร - ระนอง (MR8) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการแลนด์บริดจ์ และโครงการรถไฟทางคู่ ชุมพร - ระนองแนวเส้นทางเชื่อมโยงโครงการท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพร และท่าเรือน้ำลึกฝั่งระนอง 

3. มิติการพัฒนาทางน้ำ มีโครงการที่สำคัญในพื้นที่จังหวัดระนอง และภาคใต้ฝั่งอันดามัน ได้แก่ สะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย - อันดามัน (Land Bridge ชุมพร - ระนอง) การขุดลอกร่องน้ำและบำรุงรักษาร่องน้ำชายฝั่งทะเล จังหวัดระนอง โครงการวงแหวนอันดามัน และโครงการท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal)

4. มิติการพัฒนาทางอากาศ มีท่าอากาศยานภาคใต้ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาในปัจจุบัน 8 แห่ง ประกอบด้วย ท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี ท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 2 ท่าอากาศยานภูเก็ต แห่งที่ 2 (ท่าอากาศยานอันดามัน) ท่าอากาศยานกระบี่ ท่าอากาศยานตรัง ท่าอากาศยานเบตง ท่าอากาศยานชุมพร และท่าอากาศยานระนอง

จากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และคณะ ได้เดินทางไปสมทบกับนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ณ พื้นที่โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย - อันดามัน อุทยานแห่งชาติแหลมสน (บริเวณชายหาดอุทยาน) ก่อนเดินทางไปยังพื้นที่โครงการถนนเชื่อมโยงแนวเส้นทางเลียบชายฝั่งทะเลอันดามัน ช่วงจังหวัดระนอง - สตูล โดยมีความคืบหน้าโครงการ ดังนี้…

1. โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลฝั่งอ่าวไทย - อันดามัน (Land Bridge ชุมพร - ระนอง) เป็นโครงการเชื่อมต่อการขนส่งทางทะเลระหว่าง 2 ฝั่งทะเล เชื่อมมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดีย โดยอาศัยความได้เปรียบของตำแหน่งที่ตั้งประเทศไทย ซึ่งอยู่ในใจกลางภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีโครงข่ายการคมนาคมทางบก ทั้งทางถนน และทางราง ที่เชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสมบูรณ์ สิ่งสำคัญที่จะเกิดตามมา คือ การพัฒนาพื้นที่เขตจังหวัดระนอง ที่จะทำให้พี่น้องชาวระนองมีรายได้เพิ่มขึ้น มีการจ้างงาน ซึ่งจะช่วยทำให้พื้นที่ภาคใต้มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด โดย สนข. ได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 2567 ให้ดำเนินการศึกษาจัดเตรียมเอกสารและให้คำปรึกษาในการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุน ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำร่างขอบเขตของงานจ้างที่ปรึกษา โดยการลงทุนเบื้องต้นในระยะที่ 1 มีมูลค่าการลงทุนกว่า 522,000 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปี มีแผนงานก่อสร้างในปี 2568 และจะสามารถเปิดให้บริการในระยะแรกได้ในปี 2573 

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า รัฐบาลพร้อมที่จะผลักดันโครงการ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของทุกกลุ่ม ตามที่ท่านนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวก่อนหน้านี้ว่าจะต้องรับฟังความเห็นของทุกฝ่าย และกำหนดแนวทางในการเยียวยาที่เหมาะสมให้กับทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ โดยการลงทุนครั้งนี้จะให้เอกชนลงทุนทั้ง 100% ภาครัฐจะเป็น ผู้เวนคืนพื้นที่ ทั้งนี้ ผลการศึกษาพบว่า โครงการฯ จะส่งเสริมให้ GDP ของไทย ขยายตัวในภาพรวมไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5.5 และเกิดการจ้างงานในพื้นที่จังหวัดระนอง และชุมพร จำนวนกว่า 280,000 อัตรา ในอุตสาหกรรมท่าเรือ อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปขั้นสูง อุตสาหกรรมไฮเทค และอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่น ๆ ทำให้เกิดการพัฒนาพื้นที่รอบโครงการ ทำให้พี่น้องในพื้นที่ทั้งสองจังหวัดรวมถึงพื้นที่ภาคใต้ได้กลับมาทำงานใกล้บ้าน และมีความกินดีอยู่ดีเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

2. โครงการแนวเส้นทางเลียบชายฝั่งทะเลอันดามัน (Andaman Riviera) ช่วงระนอง - สตูล กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินโครงการเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวของกลุ่มจังหวัดอันดามัน โดย สนข. ได้รับงบประมาณปี 2566 ศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นและออกแบบแนวคิดเบื้องต้นเส้นทาง Andaman Riviera ช่วงระนอง - สตูล มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิเคราะห์ความเหมาะสมทางวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และสิ่งแวดล้อมของการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งทะเลอันดามัน จัดทำแบบเบื้องต้น (Preliminary Design) รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) และจัดทำแผนปฏิบัติการการพัฒนาด้านคมนาคมทางบกเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งทะเลอันดามัน และสนับสนุนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติในประเด็นด้านการท่องเที่ยว ระยะทางโครงการไม่น้อยกว่า 600 กิโลเมตร ปัจจุบันที่ปรึกษาได้จัดส่งรายงานความก้าวหน้าฉบับที่ 1 แล้ว สนข. อยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดก่อนกำหนดนัดประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณา คาดว่าจะมีการสัมมนาแนะนำโครงการในพื้นที่ทั้ง 6 จังหวัดภาคใต้อันดามันช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2567

ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ขอบคุณทุกส่วนราชการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำท้องถิ่น และพี่น้องชาวจังหวัดระนองและจังหวัดใกล้เคียงที่ให้การต้อนรับ และแจ้งให้ทราบถึงปัญหา ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในวันนี้ โดยตนจะเร่งรัดจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการโครงการต่างๆ ให้แล้วเสร็จตามแผนที่กำหนดไว้ เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้มีระบบคมนาคมที่มีประสิทธิภาพ สามารถเดินทางได้สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย เพื่อความอุดมสุขของประชาชนอย่างยั่งยืนต่อไป

'รมว.พีระพันธุ์' มอบนโยบายพลังงานสู่ 7 จังหวัดภาคใต้ ช่วยชาวบ้านเข้าถึง 'พลังงานทดแทน' ต่อยอดวิสาหกิจชุมชน

(24 ม.ค. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานพร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการมอบนโยบายให้กับพลังงานจังหวัดทั้ง 7 จังหวัดที่เข้าร่วมนำเสนอผลิตภัณฑ์จากวิสาหกิจชุมชน โดยให้พลังงานจังหวัดเป็นตัวแทนของกระทรวงพลังงานในการสำรวจพื้นที่ต่างๆ รวมถึงสอบถามความต้องการของประชาชนในส่วนที่กระทรวงพลังงานจะสามารถเข้าไปให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้

ทั้งนี้ หลายวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับการสนับสนุนเทคโนโลยีและความรู้จากพลังงานจังหวัด ทำให้ชาวบ้านสามารถแปรรูปอาหารและผลิตภัณฑ์ต่างๆ จนทำให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยการส่งเสริมเทคโนโลยีพลังงานทดแทนให้กับประชาชน จึงมีความสำคัญ และเป็นหน้าที่ที่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงาน โดยเฉพาะพลังงานจังหวัดต้องเข้าไปให้ความช่วยเหลือ 

ดังนั้น จึงต้องการให้พลังงานจังหวัดทุกจังหวัดช่วยกันสำรวจพื้นที่ ทำหน้าที่ใกล้ชิดประชาชน รวมถึงพื้นที่ที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ เพื่อให้ประชาชนได้มีไฟฟ้าใช้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และมีรายได้จากการใช้เทคโนโลยีพลังงาน 

'พงศ์พรหม' เผย!! 'กทม.-กลาง-เหนือ' เสี่ยงสะสมมะเร็ง เหตุฝุ่นพิษไม่แผ่ว ชี้!! ภาคใต้ตั้งแต่ชุมพรลงไป อยู่ได้

(30 ม.ค.67) นายพงศ์พรหม ยามะรัต ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'Pongprom Yamarat' ระบุว่า...

โพสต์นี้สำหรับคนเริ่มอยากย้ายบ้านหนีฝุ่นมะเร็งชั่วคราว

หลายปีก่อน วิกฤติฝุ่นมะเร็งหนักๆ จะอยู่ที่ภาคเหนือตอนบนเป็นหลัก

จน 4-5 ปีที่ผ่านมา

เกษตรเชิงเดี่ยวขยายตัวในภาคกลางสูงมาก (ผลประโยชน์ปุ๋ยนักการเมือง + ข้าราชการนั่นแหละ)

ผสมการเผาในเขมรและลาว

ถ้าสถานการณ์เป็นแบบนี้

ภาคเหนือและภาคกลาง จะเป็นที่ๆ อยู่ไม่ได้แล้วครับ

หรือฝืนอยู่ก็เป็นมะเร็งตายกันหมด

กรุงเทพฯ นครปฐม สระบุรี เขาใหญ่ นครราชสีมา สระแก้ว ขอนแก่น นครสวรรค์ พิษณุโลก เชียงใหม่ เชียงราย ไม่รอดซักจังหวัด

คำถามคือภาคไหนที่น่าอยู่ที่สุด?

คำตอบคือภาคใต้ตั้งแต่ชุมพรลงไปครับ

ภาคใต้เป็นภาคที่ไม่ทำเกษตรแบบหมุน crop ไว ทำให้มีการเผาน้อยมากเทียบกับภาคอื่น

ส่วนภูมิศาสตร์เองก็ดี มีลมทะเล 2 ฝั่งพัดเอามลภาวะทิ้งแทบตลอดปี

อากาศจึงดีตลอด

แถมมีอาหารทะเลเยอะ

การหนีกรุงเทพฯ ไปอยู่ภาคใต้สม่ำเสมอ จะทำให้สุขภาพดีกว่าหนีไปเขาใหญ่ เชียงใหม่ครับ

‘รมว.ปุ้ย’ ลุยใต้ เสริมแกร่งเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยี-นวัตกรรม หนุนผู้ค้ารายย่อย กระจายรายได้สู่ชุมชน ให้เติบโตอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 67 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานในพิธีเปิดงานและกล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ ‘นโยบายรัฐบาลในการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้’ ในงาน ‘Southern Innovation and Technology Expo 2024 : SITE 2024’ พร้อมด้วย นายศุภกิจ บุญศิริ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม คณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม, นายอภิชาติ สาราบรรณ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เข้าร่วม และมี ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, ผศ.ดร.นิคม สุวรรณวร คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, นายภูริพันธ์ บุนนาค รองผู้อํานวยการสํานักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (TCEB), ผศ.ดร.คํารณ พิทักษ์ ผู้อํานวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ และคณะผู้จัดงานทั้งภาครัฐและเอกชน ให้การต้อนรับ ณ ห้อง Convention Hall ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวว่า จากกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน ทุกคนต้องเร่งปรับตัวเพื่อตามให้ทันอนาคต การสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ให้ตรงกับความต้องการของคนในยุคปัจจุบัน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไปสู่เศรษฐกิจใหม่ สำหรับพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งแต่ละจังหวัดมีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย รัฐบาลได้เร่งลงทุนโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการเพื่อเอื้อต่อการเดินทางและการท่องเที่ยว อาทิ โครงข่ายการคมนาคม สร้างระบบรางรถไฟที่พาดผ่านเมืองรอง รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและมีการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ผลักดันให้พื้นที่ภาคใต้เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ที่ใหญ่ที่สุดของภูมิภาค เพื่อรองรับการขนส่งทั้งทางทะเลและทางบกในระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้

รวมถึงโครงการแลนด์บริดจ์ การสร้างท่าเรือน้ำลึก มอเตอร์เวย์และรถไฟทางคู่ เพื่อเชื่อมต่อการค้าจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกไปสู่เอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกาทางฝั่งอันดามัน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและนิคมอุตสาหกรรมเฉพาะทาง เพื่อเป็นต้นแบบในการยกระดับการแปรรูปวัตถุดิบในพื้นที่สู่สินค้าที่มีมูลค่าสูง เช่น ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์จากยางพารา ผลิตภัณฑ์แปรรูปและเคมีภัณฑ์จากปาล์มน้ำมัน เป็นต้น

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวอีกว่า กระทรวงอุตสาหกรรมมุ่งส่งเสริมการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะเป็นอนาคตของประเทศ อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) การยกระดับอุตสาหกรรมฮาลาล โดยจะส่งเสริมการขยายตลาดการค้าระหว่างประเทศ และประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อพัฒนาด้านการผลิตและมาตรฐาน ส่งเสริมอุตสาหกรรม Soft power เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว พัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กำจัดกากของเสียของโรงงาน ตลอดจนการมีมาตรฐานอุตสาหกรรมที่สนับสนุนให้มีผลิตภัณฑ์รักษ์สิ่งแวดล้อม และดำเนินโครงการตาม BCG โมเดล

นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นการส่งเสริมพัฒนาสมรรถนะและสร้างความแข็งแกร่งให้กับ SME และวิสาหกิจชุมชน เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ยกระดับมาตรฐานการผลิตให้ยั่งยืน สามารถแข่งขันได้ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล

สำหรับงาน ‘Southern Innovation and Technology Expo 2024 (SITE 2024)’ จัดโดย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และภาคีเครือข่าย รวมถึงสมาคมผู้ประกอบการในภาคใต้ อาทิ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคม และผู้ประกอบการอื่นๆ ได้จัดขึ้นครั้งแรกในภาคใต้ ภายใต้แนวคิด ‘Advancing the Southern Frontier : Unleashing Innovation for Sustainable Growth’ เพื่อเป็นตัวกลางเชื่อมเส้นทางสู่ความสำเร็จสำหรับนักลงทุน SME และนักวิจัยผ่านการออกบูธและกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ เกี่ยวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมชั้นนำทางด้านพลังงาน ดิจิทัล อาหารและการเกษตร สุขภาพแบบครบวงจร พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชน นักเรียน และนักศึกษาได้เข้าร่วมเรียนรู้ในกิจกรรม โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-4 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

‘ธนกร’ ขอบคุณ นายกฯ-สุริยะ เร่งสร้างถนน-มอเตอร์เวย์ เพื่อพัฒนา กระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้ คนปักษ์ใต้

(23 มี.ค.67) นายธนกร วังบุญคงชนะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ สส.แบบบัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวถึงกรณีสส.ภาคใต้จากทุกพรรคการเมือง ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล เสนอข้อคิดเห็นต่อนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ให้มีการสร้างมอเตอร์เวย์และสร้างถนนเพิ่มเส้นทางมุ่งสู่ภาคใต้เพื่อแก้ปัญหาจราจรให้พี่น้องประชาชน ว่า ตนในฐานะ สส.คนใต้ เกิดและโตที่จ.นครศรีธรรมราช เห็นด้วยอย่างยิ่งที่กระทรวงคมนาคมจะได้ดำเนินโครงการสร้างถนนมอเตอร์เวย์ 3 เส้นทาง ประกอบด้วย เส้นที่ 1 เส้นมอเตอร์เวย์ จาก จ.นครปฐม-ชะอำ จ.เพชรบุรี และจาก อ.ชะอำ- จ.ชุมพร เส้นที่ 2 จาก อ.หาดใหญ่ไป อ.สะเดา-จาก อ.สะเดาไปชายแดนไทย-มาเลเซีย เส้นที่ 3 เป็นถนนคู่ขนานเส้นเพชรเกษมหมายเลข 4 จากวังมะนาวไป อ.ปากท่อ-จาก อ.ปากท่อไป อ.หนองหญ้าปล้อง อ.แก่งกระจาน อ.หนองพลับ ลงไปถึง จ.ชุมพร พร้อมทั้งขยายเส้นทางหลักเพิ่มอีก รวมทั้งปรับปรุง เพื่ออำนวยความสะดวกและแก้ปัญหาการจราจร รวมถึงครอบคลุมการแก้ปัญหาระบายน้ำในช่วงที่เกิดอุทกภัยได้ด้วย ป้องกันไม่ให้ภาคใต้ได้รับผลกระทบในวงกว้าง การจราจรจะไม่เป็นอัมพาตทั้งภาคเมื่อเกิดน้ำท่วมเหมือนอย่างที่ผ่านมา 

ทั้งนี้ จากที่ สส. ภาคใต้จากทุกพรรคทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลรวมตัวกันเรียกร้องนั้น ล่าสุด ตนทราบว่า นายสุริยะได้นำข้อร้องเรียนเรื่องปัญหาดังกล่าวให้กับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทราบแล้ว โดยหลังจากทราบเรื่อง นายกฯได้เชิญตัวแทนสส.ใต้ พรรครวมไทยสร้างชาตินำโดยนายวิชัย สุดสาสดิ์ สส.ชุมพรไปสอบถามข้อมูลปัญหาการจราจร สัญจรลงภาคใต้แล้ว มาติดขัดตรงจุดใด ซึ่งทั้งนายสุริยะและนายกฯ ก็ได้รับเรื่องแล้ว และรับปากจะเร่งดำเนินการพิจารณาโครงการก่อสร้างถนน มอเตอร์เวย์เพื่อแก้ไขให้พี่น้องประชาชนคนใต้ รวมถึงมองในเรื่องการสนับสนุนการท่องเที่ยวภาคใต้ในระยะยาวด้วย 

“ขอบคุณท่านสุริยะและท่านนายกฯที่มองเห็นความสำคัญของเศรษฐกิจท่องเที่ยวภาคใต้และความเดือดร้อนของผู้ที่สัญจรไปมาลงใต้ เมื่อทั้ง 2 ท่านทราบปัญหาก็ได้รับฟังข้อเสนอแนะจากตัวแทนสส.ใต้และสั่งการให้เร่งแก้ปัญหานี้ทันที จึงเชื่อว่า หากผลักดันจนโครงการแล้วเสร็จ จะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้ลงไปท่องเที่ยวภาคใต้ได้มากขึ้นอย่างแน่นอน ส่งผลต่อเศรษฐกิจในพื้นที่และภาพรวมของทั้งประเทศให้ดีขึ้น” นายธนกร กล่าว

‘แม่ค้า’ จ.กระบี่ เผย!! ‘แกงไตปลา’ ออเดอร์ทะลัก จนผลิตไม่ทัน หลังถูกต่างชาติยกเป็น ‘เมนูยอดแย่’ แต่กระแสตีกลับ การันตี!! ของดี

(5 เม.ย. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางอัปสร ขาวขำ หรือกะย๊ะห์ แม่ค้าแกงไตปลาแห้ง ที่ ต.เขาทอง อ.เมือง จ.กระบี่ เร่งบรรจุกระปุก ชั่งน้ำหนัก แกงไตปลาแห้ง เตรียมส่งให้กับลูกค้าที่สั่งจอง มาเป็นจำนวนมาก ในช่วงนี้ จนผลิตไม่ทัน หลังจากกระแสข่าวแกงไตปลา เมนูอาหาร ขึ้นชื่อของชาวปักษ์ใต้ ติดอันดับ1 ของเมนูอาหารยอดแย่ที่สุดในโลกโดยเว็ปไซด์ TasteAtlas ที่รวมอาหาร รีวิว และจัดอันดับความนิยมด้านอาหารทั่วโลก ในโลก

นางอัปสร กล่าวว่า หลังจากที่มีกระแสข่าวทางด้านลบออกมา เกี่ยวกับแกงไตปลา ไม่ส่งผลกระทบต่อยอดขายแกงไตปลาแห้ง แต่กลับส่งผลให้มีออเดอร์สั่งซื้อเพิ่มมากขึ้น เชื่อว่าสาเหตุส่วนหนึ่งน่าจะมาจากกระแสข่าวที่ออกมา ทำให้คนหันมาสนใจแกงไตปลามากขึ้น อยากจะรู้รสชาติ คนที่ไม่เคยกินก็หันก็หันมา สั่งไปกินกันเป็นจำนวนมาก ยอดขายเพิ่มจาก สัปดาห์ละ 200 กระปุก เป็น 400-500 กระปุก จนตอนนี้ผลิตไม่ทัน เพราะต้องจัดหาซื้อวัตถุดิบไว้ล่วงหน้า นอกจากนี้ยังมีลูกค้าที่อยู่ต่างประเทศด้วย เพื่อนที่ไปอยู่ออสเตรเลีย และสวีเดน สั่งไตปลาแห้งทุกเดือน เฉลี่ยเดือนละ 2-3 กิโลกรัม ราคากิโลกรัม 350 บาท ส่วนที่เป็นกระปุก ราคา กระปุกละ 25 บาท

“การที่แกงไตปลาถูกจัดอันดับเป็นเมนูอาหารยอดแย่ที่สุดในโลก มองว่าอยู่ที่คนที่ทานมากว่า ว่าชอบรสชาติแบบไหน อย่างไร คนที่เคยทานก็จะรู้ดี”

ด้านนางประนอม สงสังข์ อายุ 52 ปี แม่ค้าขายขนมจีน ภายในตลาดนัดสี่แยกควนสะตอ เทศบาลเมืองกระบี่ ตักแกงไตปลา น้ำยากระทิ แกงน้ำเคย ใส่ถุง เตรียมขายให้กับลูกค้า ในช่วงเย็น โดยแกงไตปลาเป็นที่นิยมของลูกค้า รสชาติเข้มข้น เผ็ดกำลังดี อร่อย ถูกปาก ซื้อคู่กับขนมจีน ซึ่งแต่ละวันแกงไตปลาหนึ่งหม้อขนาดใหญ่ ใช้ไตปลา 1 กิโลกรัม จะขายหมดก่อนแกงอื่น ๆ ส่วนขนมจีน กว่า 20 กิโลกรัมก็ขายหมดเช่นกัน โดยขายแกงไตปลา ถุงละ 30 บาท ขนมจีน กิโลกรัมละ 25 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ไม่แพง ทำให้เป็นที่นิยมของลูกค้า ซื้อไปรับประทานกับข้าวสวยก็ได้ ขนมจีนก็ได้

นางประนอม กล่าวว่า ตามกระแสดรามาในสื่อสังคมออนไลน์ ที่ชาวต่างชาติลงความเห็นว่าแกงไตปลา มีรสชาติที่แย่ที่สุดในโลก มองว่าผู้ที่ชิมกินแกงไตปลา อาจไม่รู้วิธีรับประทาน รับประทานเพียงแกงไตปลาอย่างเดียวเหมือนรับประทานน้ำซุบ รถชาติก็ไม่ถูกปากชาวต่างชาติ เพราะมีรส เผ็ด เค็ม การรับประทานแกงไตปลาต้องรับระทานกับข้าวสวย ขนมจีน ถึงจะอร่อย

ขณะที่ลูกค้าสาว กล่าวว่า แกงไตปลาเป็นอาหารประจำถิ่นของคนภาคใต้ มาตั้งแต่โบราณเป็นที่นิยมรับประทาน เพราะสามารถอุ่นไว้ได้รับประทานหลายวัน กรณีชาวต่างชาติให้คะแนนว่า แกงไตปลาเป็นอาหารที่รสชาติแย่ที่สุดในโลกก็ไม่ถูกต้อง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top