ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ‘ภาคเหนือ-ใต้’ ลดลง สะท้อน ‘นโยบายประชานิยม’ ใช้ไม่ได้ผลเสมอไป

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ได้รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน พฤศจิกายน 2566 ในภาพรวมนั้น ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เท่ากับ 55.0 ปรับลดจาก 55.8 ในเดือนตุลาคม 2566

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค จำแนกรายภาค เปรียบเทียบกับเดือนตุลาคม 2566 พบว่า

- กรุงเทพฯ และปริมณฑล ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 55.9 มาอยู่ที่ระดับ 57.4

- ภาคกลาง ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 55.3 มาอยู่ที่ระดับ 55.7

- ภาคเหนือ ดัชนีปรับตัวลดลงจากระดับ 57.3 มาอยู่ที่ระดับ 53.4

- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 56.3 มาอยู่ที่ระดับ 57.0

- ภาคใต้ ดัชนีปรับตัวลดลงจากระดับ 53.1 มาอยู่ที่ระดับ 51.8

ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค ที่สำคัญที่สุด คือ ‘เศรษฐกิจไทย’ คิดเป็นร้อยละ 44.12 รองลงมา คือ ‘มาตรการภาครัฐ’ คิดเป็นร้อยละ 14.93 ลำดับ 3 เป็น ‘ราคาสินค้าเกษตร’ คิดเป็นร้อยละ 11.48 

ถึงแม้ว่า หากเทียบกับดัชนีความเชื่อมั่น ในปี 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ 43.0 และ ปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 46.2 จะพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ปรับตัวสูงขึ้นมาก แต่ส่วนหนึ่ง เกิดจากภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า (COVID-19) และ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และ เศรษฐกิจไทย เป็นอย่างมาก ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ต่ำกว่าระดับ 50.0 หมายถึง ผู้บริโภคมีความไม่เชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ (อยู่ในช่วงไม่เชื่อมั่น) 

ซึ่งในปี 2566 ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวม อยู่เกินระดับ 50.0 ในทุกเดือน สะท้อนให้เห็นถึง สถานการณ์ปัจจุบัน หลังผ่านเหตุการณ์สำคัญดังกล่าว ภาพรวมของเศรษฐกิจไทย ปรับตัวดีขึ้นมาก รวมทั้งการท่องเที่ยวที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น สิ่งหนึ่งที่ต้องชื่นชมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็คือ มาตรการของรัฐ ที่ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงภาวะวิกฤต ของรัฐบาลชุดที่ผ่านมา 

แต่หากพิจารณาเฉพาะข้อมูลส่วนนี้ จะพบประเด็นที่น่าสนใจ ว่า พื้นที่ ภาคเหนือ และ ภาคใต้ ดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวลดลง โดยเฉพาะภาคเหนือ มีอัตราการลดลง มากที่สุด อยู่ที่ 3.9 และ ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อดัชนีความเชื่อมั่น ของพื้นที่ภาคเหนือ ลำดับที่ 2 อยู่ที่ ‘มาตรการภาครัฐ’ สัญญาณเล็กๆ นี้ ที่รัฐบาลชุดปัจจุบัน อาจต้องให้ความสนใจพอสมควร เพราะสิ่งที่ต้องไม่ลืม ในทางการเมือง พื้นที่นี้ เดิม เป็นพื้นที่ฐานเสียงหลักของรัฐบาลปัจจุบัน และการเลือกตั้งที่ผ่านมา หลายพื้นที่ ได้เสียฐานคะแนนเสียงให้กับคู่แข่ง มากพอสมควร

ประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือ มีดัชนีความเชื่อมั่นลดต่ำลง และ ปัจจัยสำคัญ คือ มาตรการภาครัฐ ที่จะใช้เพื่อการประชานิยม เพิ่มคะแนนเสียง และมาตรการสำคัญที่กำลังถูกจับตา คือ นโยบายการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท หรือโครงการ Digital wallet ที่อาจจะยังมองไม่เห็นทางออกในการดำเนินการโครงการนี้ ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไข ลดกลุ่มเป้าหมายที่จะแจกเงินดิจิทัล ลงอย่างต่อเนื่อง

สุดท้าย พื้นที่สำคัญนี้ ของรัฐบาล จะรักษาไว้ได้ หรือ เสียคะแนนเพิ่ม ดัชนี้ผู้บริโภค อาจเป็นคำตอบได้เป็นอย่างดี


ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) 7 ธ.ค. 2566 : https://www.price.moc.go.th/price/fileuploader/file_cyc/cci_current.pdf

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) 5 ก.ค. 2565 : https://www.price.moc.go.th/price/fileuploader/file_cyc/cci062565.pdf

เรื่อง: The PALM