Wednesday, 26 June 2024
ประเทศไทย

'อลงกรณ์' ผนึกนักบริหารทุกภาคส่วนจัดตั้งสถาบันเอฟเคไอไอ. ไทยแลนด์ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจนวัตกรรม (Innovation Economy) ส่งเสริม 12 อุตสาหกรรมใหม่ หวังอัปเกรดประเทศไทย สู่ประเทศรายได้สูง

นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานมูลนิธิเวิล์ดวิว ไครเมทและอดีตประธานคณะกรรมการบริหารศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมเปิดเผยวันนี้ว่า สืบเนื่องจากประเทศไทยประสบปัญหาเศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่า2%ติดต่อกันหลายปีทำให้ติดกับประเทศรายได้ปานกลางขณะที่การส่งออกอ่อนแรงลงมากสะท้อนถึงความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดโลกลดลงและการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศไทยมีเพียง 1.1 % ของจีดีพี.ประกอบกับประเทศไทยต้องเผชิญกับโอกาสและความท้าทายจากปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ภาวะโลกร้อน โรคระบาด ความมั่นคงทางอาหาร สังคมสูงวัย ดิจิตอลดิสรัปชั่น และภาวะเศรษฐกิจโลกที่ผันผวนจึงจำเป็นที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังต่อเนื่องเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจนวัตกรรม (Innovation Economy) บนฐานความรู้และการวิจัย ตนจึงได้ผนึกความร่วมมือกับนักบริหารทั้งภาครัฐและเอกชนรวมทั้งสถาบันที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยจัดตั้งสถาบันเอฟเคไอไอ. ไทยแลนด์ (FKII Thailand: Field for Knowledge Integration and Innovation) ในรูปของธุรกิจเพื่อสังคม100% (Social Enterprise) เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมนวัตกรรมและองค์ความรู้รวมทั้งเป็นตัวกลางเชื่อมประสานระหว่างหน่วยงานวิจัยกับภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศเพื่อให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อให้งานวิจัยถูกนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ครอบคลุมงานวิจัยและนวัตกรรมเกี่ยวกับ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (First S-curve)และอุตสาหกรรมใหม่ (New S-curve)โดยเฟสแรกจะเน้นการส่งเสริมงานวิจัยและนวัตกรรมทางด้านเกษตร อาหาร สิ่งแวดล้อม เอไอ.เทคโนโลยีและเทคโนโลยีดิจิตอลในกลุ่มเศรษฐกิจสีเขียว(Green Economy) เศรษฐกิจคาร์บอน (Carbon Economy) และ เศรษฐกิจดิจิตอล (Digital Economy)

ทั้งนี้จะมีการเปิดตัวFKII Thailand ในวันที่ 26 มิถุนายนนี้ เวลา 9.00-12.00 น.ที่สวนเสียงไผ่ ทาวน์อินทาวน์ สำหรับนักบริหารและนักวิจัยภาครัฐและภาคเอกชนที่ร่วมสนับสนุนการก่อตั้งสถาบันเอฟเคไอไอ.ไทยแลนด์เช่น อดีตรัฐมนตรี อลงกรณ์ พลบุตร ประธานมูลนิธิเวิล์ดวิว ไครเมทและอดีตประธานกรรมการบริหารศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม นพ.บุญเทียม เขมาภิรัตน์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ประธานสถาบันการสร้างชาติ ดร.สถิตย์ ลิ่มพงษ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ อดีตผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และผู้อำนวยการสถาบันอาหาร ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ที่ปรึกษาและอดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร นายประพันธ์ บุณยเกียรติ อดีตประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย 

ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีนและอดีตอัครราชทูต (ฝ่ายการพาณิชย์) ณ กรุงปักกิ่ง นายชยดิฐ หุตานุวัตร ประธานสมาคมสถาบันทิวา นายกฤชฐาโภคาสถิตย์ อดีตประธานอนุกรรมการอีคอมเมิร์ซ นายภณวัชร์นันท์ ไกรมาตย์ นายกสมาคมนักประดิษฐ์และนวัตกรรมแห่งประเทศไทย นายตฤณ วุ่นกลิ่นหอม นายกสมาคมดิจิตอลเทรด ดร.สุทัศน์ ครองชนม์ นายกสมาคมไทย IoT นายจิรวัฒน์ ตั้งกิจงามวงศ์ นายกสมาคมธุรกิจไม้ ประธานผลิตภัณฑ์ไม้ Asian อุปนายกสมาคมเครื่องเรือนไทย นายเมฆินทร์ เอี่ยมสอาด อดีตคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรและสหกรณ์ นายณฐกร สุวรรณธาดา อดีตกรรมการคณะกรรมการองค์การตลาดเพื่อการเกษตร นายสุเมฆ ปัณฑรานุวงศ์ ประธานมูลนิธิสถาบันพลังงานทางเลือกแห่งประเทศไทย นายสานิตย์ จิตต์นุพงศ์ สำนักงานโครงการข้าวรักษ์โลก เป็นต้น

โดยได้เชิญองค์ปาฐกร่วมแสดงวิสัยทัศน์ อาทินายเกรียงไกร เธียรนุกุลประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายสนั่น อังอุบลกุลประธานหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานหอการค้าไทย ฯลฯ

24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ‘คณะราษฎร’ ยึดอำนาจ เปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศไทย จากระบอบ ‘สมบูรณาญาสิทธิราชย์’ สู่ ‘ประชาธิปไตย’

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นับเป็นสำคัญยิ่งสำหรับประเทศไทย เพราะเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

เวลาย่ำรุ่งของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ตรงกับวันศุกร์ แรม 6 ค่ำ เดือน 7 ปีวอก จุลศักราช 1294 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ในพระราชวงศ์จักรี คณะราษฎรอันประกอบด้วย ข้าราชการฝ่ายทหารบก ทหารเรือ พลเรือน และราษฎร นำโดยพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้นำกำลังทหารและพลเรือนมาชุมนุม ณ บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อประกาศแถลงการณ์ของคณะราษฎรและยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน และเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีรัฐธรรมนูญใช้เป็นหลักในการปกครองประเทศ

เมื่อสามารถระดมกำลังทหารมาชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้าได้เป็นจำนวนมากจากหลายกองพันในกรุงเทพ ตลอดจนกุมตัวพระบรมวงศานุวงศ์และนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของรัฐบาลมาไว้ที่พระที่นั่งอนันตสมาคมแล้ว คณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารก็ได้มีหนังสือและส่ง น.ต. หลวงศุภชลาศัย ไปยังพระราชวังไกลกังวล กราบบังคมทูลอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จกลับพระนคร ดังมีความสำคัญว่า…

“คณะราษฎรไม่ประสงค์จะแย่งราชสมบัติแต่อย่างใด ความประสงค์อันยิ่งใหญ่ก็เพื่อที่จะมีธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จึงขอเชิญใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทกลับคืนสู่พระนคร ทรงเป็นกษัตริย์ต่อไป โดยอยู่ใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน”

โดยวันรุ่งขึ้น 25 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร มีความตอนหนึ่งว่า…

“…คณะทหารมีความปรารถนาจะเชิญให้ข้าพเจ้ากลับพระนครเป็นกษัตริย์อยู่ใต้พระธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน ข้าพเจ้าเห็นแก่ความสงบเรียบร้อยของอาณาประชาราษฎร์ ไม่อยากให้เสียเลือดเนื้อกัน ทั้งเพื่อจัดการโดยละม่อมละมัยไม่ให้ขึ้นชื่อว่าได้จลาจลเสียหายแก่บ้านเมือง และความจริงข้าพเจ้าได้คิดอยู่แล้วที่จะเปลี่ยนแปลงทำนองนี้ คือมีพระเจ้าแผ่นดินปกครองตามพระธรรมนูญ จึงยอมรับที่จะช่วยเป็นตัวเชิดเพื่อให้คุมโครงการตั้งรัฐบาลให้เป็นรูปวิธีเปลี่ยนแปลงตั้งพระธรรมนูญโดยสะดวกฯ”

ต่อมาในคืนวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จกลับพระนครโดยรถไฟพระที่นั่งที่ทางคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารส่งไปรับ และในวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ให้บุคคลสำคัญของคณะราษฎรเข้าเฝ้าและพระองค์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่คณะผู้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน

ต่อมาในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้พระราชทาน พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวให้เป็นกติกาการปกครองบ้านเมืองเป็นการชั่วคราวไปก่อน

ทั้งนี้ คณะราษฎรนับเป็นกลุ่มบุคคลผู้มีบทบาทและอิทธิพลอย่างสูงในทางการเมืองและสังคมของประเทศไทย ต่อเนื่องเป็นระยะเวลาประมาณ 15 ปี กระทั่งสิ้นสุดบทบาทในปลาย พ.ศ. 2490 จากการรัฐประหาร ของคณะนายทหาร ภายใต้การนำของพลโท ผิน ชุณหะวัณ

‘รบ.สหรัฐฯ’ ยกคำนักวิชาการไทย ไม่เห็นด้วยหากไทยเข้าร่วม ‘BRICS’ เชื่อ!! เกิดจากการถูกชี้นำผิดๆ ใต้ความกระหายโชว์ผลงานของรัฐบาล

‘ไทย’ กำลังเดินหน้าสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิก ‘BRICS’ กลุ่มชาติกำลังพัฒนา ที่ประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย จีน อินเดีย และแอฟริกาใต้ ตามรายงานของวอยซ์ออฟอเมริกา (วีโอเอ) เครือข่ายเว็บไซต์และสถานีวิทยุด้านข่าวสารที่มีรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นเจ้าของ พร้อมอ้างว่าพวกผู้เชี่ยวชาญต่างแสดงความเคลือบแคลงใจว่าการตัดสินใจดังกล่าวเป็นความเคลื่อนไหวที่ถูกต้องหรือไม่

สมาชิกกลุ่ม BRICS ต้องการสร้างทางเลือกอื่นขึ้นมาแทนดอลลาร์สหรัฐ และระบบการเงินโลกที่เกี่ยวข้องกับทางเลือกดังกล่าว หลังจากที่ผ่านมา พวกเขาเคยริเริ่มโครงการด้านการเงินต่าง ๆ อย่างเช่นธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ (New Development Bank) ที่ถูกมองว่าเป็นคู่แข่งของธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ

ตั้งแต่คณะรัฐมนตรีของไทยเห็นชอบร่างใบสมัครในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม นับตั้งแต่นั้นความพยายามเข้าร่วมกลุ่ม BRICS ก็เดินหน้าอย่างรวดเร็ว และล่าสุด นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีต่างประเทศของไทย ได้ยื่นหนังสืออย่างป็นทางการกับ เซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย ประธาน BRICS ในปัจจุบัน ในการแสดงความประสงค์เข้าร่วมเป็นสมาชิกเต็มรูปแบบของกลุ่ม BRICS

ในถ้อยแถลง นายมาริษ บอกว่ามันเป็นประโยชน์ของไทยในการเข้าร่วมกลุ่ม BRICS "ไทยมองว่า BRICS มีบทบาทสำคัญในระบบพหุภาคีและความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศต่าง ๆ ในซีกโลกใต้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของประเทศของเรา"

"เพื่อผลประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง การเข้าร่วมกลุ่ม BRICS จะช่วยเสริมบทบาทของไทยในเวทีโลก และกระชับความร่วมมือระหว่างประเทศกับบรรดาชาติเศรษฐกิจเกิดใหม่ทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางการค้า การลงทุน ความมั่นคงทางอาหารและทางพลังงาน" ถ้อยแถลงระบุ

บรรดาสมาชิกกลุ่ม BRICS มีสัดส่วนเศรษฐกิจคิดเป็นสัดส่วน 28 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ จากทั้งหมดของโลก 100 ล้านล้านดอลลาร์ ทางกลุ่มบอกว่าต้องการให้บรรดาเศรษฐกิจเกิดใหม่มีตัวแทนที่ใหญ่โตขึ้นในระดับโลก โดยอ้างว่าพวกชาติตะวันตกในอเมริกาเหนือและยุโรปตะวันตก ครอบงำองค์กรการเงินโลกอย่างเช่น เวิลด์แบงก์ และกองทุนการเงินระหว่างประเทศมาช้านาน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา พันธมิตรกลุ่ม BRICS ถูกมองในฐานะฝ่ายต่อต้านตะวันตกมากขึ้นเรื่อยๆ ในนั้นรวมถึงกรณีที่จีนและรัสเซียกำลังหาทางลดพึ่งพิงดอลลาร์สหรัฐ เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ที่เสื่อมทรามลงระหว่างวอชิงตันกับปักกิ่งและมอสโก ต่อประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ต่าง ๆ ในนั้นรวมถึงปราบปรามผู้ประท้วงในฮ่องกงของจีน และประเด็นอธิปไตยของไต้หวัน รวมถึงสงครามของรัสเซียในยูเครน

วอยซ์ออฟอเมริกา อ้างคำสัมภาษณ์ของนายฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ นักวิชาการ สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า BRICS เริ่มกลายเป็นความพยายามทางการเมืองต่อต้านตะวันตกมากจนเกินไป "แรกเริ่มของ BRICS เริ่มต้นในฐานะรูปแบบหนึ่ง เป็นกลุ่มภูมิเศรษฐศาสตร์ แต่ตอนนี้ผมคิดว่าทางกลุ่มกลายมาเป็นกลุ่มก้อนหมู่คณะทางภูมิรัฐศาสตร์มากกว่าเดิม รูปแบบของ BRICS กำลังเปลี่ยนไป กลายมาเป็นแนวร่วมภูมิรัฐศาสตร์ต่อต้านตะวันตก"

นายมาริษ ยืนยันว่าแต่ละประเทศล้วนแต่ตัดสินใจเป็นผลประโยชน์ของชาติตนเอง และไทยต้องการทำงานร่วมกับพันธมิตรทุกราย แม้มีความเห็นต่างกันก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ทาง นายฐิตินันท์ เชื่อว่าความพยายามเข้าร่วมกลุ่มของไทยนั้นเกิดจากการถูกชี้นำผิด ๆ และหลงไปตามวาระของรัฐสมาชิกสำคัญอย่างจีนและรัสเซีย "รัฐบาลตะเกียกตะกายที่จะสร้างผลงาน ตามมุมมองของผม BRICS คือเส้นทางที่ถูกชี้นำผิด ๆ ที่จะโชว์ผลงาน มันกลับนำพาไทยตกอยู่ในวาระของประเทศอื่น ๆ ไทยต้องการวางตัวเป็นกลางมากกว่าที่เป็นอยู่"

จีนมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับไทย และเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งกลุ่ม BRICS และผู้เชี่ยวชาญบางส่วนเชื่อว่า ปักกิ่ง คือปัจจัยหลักสำหรับเหตุผลว่าทำไมไทยถึงอยากเข้าร่วมกลุ่ม BRICS

ทั้งนี้ จีนคือคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทย ด้วยมูลค่ากว่า 135,000 ล้านดอลลาร์ เมื่อปีที่แล้ว และนักท่องเที่ยวชาวจีนยังมีความสำคัญยิ่งต่อเศรษฐกิจที่พึ่งพิงการท่องเที่ยวของไทยด้วย

เอียน ชอง นักรัฐศาสตร์จากสิงคโปร์ บอกกับวอยซ์ออฟอเมริกาว่า ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจคือสิ่งล่อใจสำคัญที่ทำให้ไทยตัดสินใจเข้าร่วมกลุ่ม BRICS

🔎แนวคิดในการจัดตั้งและรูปแบบ SPR ของไทย โดย ‘พีระพันธุ์’ แบบไหน...คนไทยจะได้รับประโยชน์สูงสุด

หลังจาก ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เดินหน้ารื้อโครงสร้างพลังงานและสั่งให้มีการศึกษารูปแบบ ‘การสำรองน้ำมันและก๊าซเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve: SPR) เช่น หากมีกรณีสงครามระหว่างอิสราเอล-อิหร่านเกิดขึ้นจะไม่มีผลกระทบกับคนไทยทั้งในด้านราคาและปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิง และระบบนี้จะช่วยรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันให้อยู่ในระดับที่รัฐบาลกำหนดได้เองโดยไม่กระทบจากราคาน้ำมันในตลาดโลก ทำให้ปัญหาการขึ้นลงของราคาน้ำมันในตลาดโลกเป็นเรื่องระหว่างรัฐกับผู้ค้าน้ำมัน โดยประชาชนไม่เกี่ยวข้องด้วย เป็นการ ‘ปลด’ พันธนาการชีวิตของประชาชนจากความไม่เสถียรด้วยสภาวะขึ้นลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกอย่างสิ้นเชิง ทั้งเป็นการความมั่นคงและรักษาระดับราคาโครงสร้างราคาใหม่ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง’ ของประเทศไทย โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการร่วมกันใน 3 ด้านหลักได้แก่ 

1. ศึกษาการสำรองปิโตรเลียมเหลว (LPG) ของประเทศญี่ปุ่น 
2. ศึกษาการจัดซื้อจัดหา การกลั่น การส่งออก รวมไปถึงการใช้น้ำมันและก๊าซของประเทศสิงคโปร์
3. ศึกษาการกำหนดราคาขายน้ำมันส่งออกและที่จำหน่าย การผลิตไฟฟ้า การบริหารจัดการ และการกำหนดราคาค่าไฟฟ้าของประเทศสิงคโปร์กันอย่างละเอียด เพื่อนำมากำหนดเป็นแผนงานพัฒนาระบบการสำรองน้ำมันและก๊าซที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยให้มากที่สุด

การสำรองปิโตรเลียมเหลว (LPG) ของประเทศญี่ปุ่น ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่นำเข้า 80% ของปริมาณใช้งานด้วยญี่ปุ่นประสบภัยพิบัติบ่อยครั้งทั้งแผ่นดินไหวและพายุ จากข้อดี 3 หลักประการของ LPG คือ 

(1) เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะปล่อย CO2 น้อยกว่าน้ำมันเชื้อเพลิง และแทบไม่ปล่อยซัลเฟอร์ออกไซด์ (SOx) หรือไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) ในระหว่างการเผาไหม้เลย ทั้งยังไม่มีเขม่าเกิดขึ้นจึงทำให้ก๊าซที่ปล่อยออกมาสะอาด 

(2) ขนส่งสะดวก สามารถจัดเก็บได้ตลอดเวลาและเก็บไว้ได้เป็นระยะเวลานาน แม้จะเป็นก๊าซที่ความดันและอุณหภูมิห้อง แต่ก็สามารถทำให้เป็นของเหลวได้ง่าย ทำให้เป็นแหล่งพลังงานที่เคลื่อนย้ายได้สะดวกมาก ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ ทำให้สามารถจัดส่ง LPG ให้กับเกือบทุกพื้นที่ของญี่ปุ่น ตั้งแต่เขตเมืองไปจนถึงเกาะห่างไกลและบริเวณภูเขา นอกจากนี้ยังใช้ในไฟแช็ค ถังแก๊สแบบพกพา และกระป๋องสเปรย์อีกด้วย 

และ (3) ทนทานต่อภัยพิบัติ LPG เป็นแหล่งพลังที่สามารถกู้คืนได้รวดเร็วกว่าแหล่งพลังงานอื่น ๆ เพราะมีโรงงานบรรจุแยกย่อยมากมาย 

ในกรณีที่เกิดภัยพิบัติจึงไม่มีการหยุดชะงักในการจัดหาและขนส่ง ในพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติสามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงในการปรุงอาหารในกรณีฉุกเฉิน และเป็นแหล่งความร้อนให้กับที่อยู่อาศัยชั่วคราว ทำให้ประมาณครึ่งหนึ่งของครัวเรือนญี่ปุ่นทั้งหมดใช้ LPG โดยญี่ปุ่นได้จัดเก็บ LNG สำรองเป็น SPR 1.5 ล้านตัน (5 คลัง) และผู้ค้าเอกชนสำรองเชิงพาณิชย์อีก 1.5 ล้านตัน รวม 3 ล้านตัน เพียงพอต่อการใช้งาน 100 วัน

สิงคโปร์เป็นหนึ่งในศูนย์กลางการขนส่งที่สำคัญที่สุดในเอเชีย และเป็นหนึ่งในสามศูนย์กลางการค้าและการกลั่นน้ำมันชั้นนำของโลก ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘ศูนย์กลางน้ำมันที่ปราศจากปัญหาของเอเชีย’ โดยที่แหล่งใหญ่ของตลาดซื้อ-ขายน้ำมันระหว่างประเทศมีเพียง 3 แห่ง คือ ตลาดนิวยอร์ก (NYMEX) ตลาดลอนดอน (IPE) และตลาดสิงคโปร์ (SIMEX) ทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปสิงคโปร์กลายเป็นราคาน้ำมันอ้างอิงของภูมิภาคเอเชีย สิงคโปร์มีกำลังการกลั่นน้ำมันดิบรวม 1.35 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยโรงกลั่นน้ำมันหลัก 3 แห่งของประเทศ ได้แก่ โรงกลั่น 605,000 บาร์เรล/วันของ ExxonMobil (Pulau Ayer Chawan), โรงกลั่น 500,000 บาร์เรล/วันของ Royal Dutch/Shell (Pulau Bukom) และโรงกลั่น 290,000 บาร์เรล/วันของ Singapore Rinning Company (Pulau Merlimau)

สิงคโปร์บริโภคน้ำมันปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องอื่น ๆ คิดเป็น 86% ของการใช้พลังงานหลักของประเทศสิงคโปร์ รองลงมาคือก๊าซธรรมชาติที่ 13% ถ่านหินและพลังงานหมุนเวียนรวมกันคิดเป็น 1% ของการใช้พลังงานหลัก สิงคโปร์มีปริมาณการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงใน SPR เป็นน้ำมันดิบประมาณ 32 ล้านบาร์เรล และน้ำมันสำเร็จรูปอีกราว 65 ล้านบาร์เรล ซึ่งจะทำให้สิงคโปร์มีเชื้อเพลิงสำรองเพียงพอต่อการใช้งานสำหรับชาวสิงคโปร์กว่า 5.5 ล้านคนนานถึง 451 วัน 

แม้สิงคโปร์จะเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปอันดับหนึ่งของ ASEAN แต่ราคาจำหน่ายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปก็สูงเป็นอันดับหนึ่งเช่นกัน โดยราคาจำหน่ายปลีกน้ำมันเบนซิน98 ขึ้นไปอยู่ที่ลิตรละ 80.83 บาท (ภาษีลิตรละ 21.23 บาท หรือ 0.79SGD) และน้ำมันดีเซลอยู่ที่ลิตรละ 73.43 บาท (ภาษีน้ำมันดีเซลและเบนซิน92&95 ลิตรละ 17.74 บาท หรือ 0.66SGD) โดยภาษีน้ำมันของสิงคโปร์เป็นภาษีคงที่คำนวณจากปริมาณที่ใช้ ในขณะที่ไทยมีภาษีน้ำมันต่าง ๆ 5 รายการถูกคิดเป็นร้อยละหรือ % ซึ่งคำนวณจากราคาน้ำมัน 

ดังนั้นเมื่อราคาน้ำมันในตลาดโลกสูงขึ้น นอกจากที่ประชาชนคนไทยจะต้องจ่ายค่าน้ำมันที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังต้องจ่ายภาษีน้ำมันเพิ่มขึ้นอีกด้วย

ในการวางรูปแบบการสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ (SPR) เพื่อความมั่นคง และรักษาเสถียรภาพทางด้านราคาของไทยนั้น คณะทำงานของรองฯ ‘พีระพันธุ์’ ได้พิจารณาโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เป็นหลัก อันถือเป็นหัวใจของการเปลี่ยนแปลงระบบการสำรองน้ำมันและก๊าซ นอกจากนี้แล้ว ยังได้มีการศึกษาการอุดหนุนราคาน้ำมันของประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ การสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อความมั่นคงทางการทหารและประชาชนของไทย ความจำเป็นในการปันส่วนน้ำมันในกรณีที่เกิดการขาดแคลน รวมทั้งแนวทางการบริหารจัดการน้ำมันดิบที่ผลิตในประเทศ เพื่อเปรียบเทียบและสรุปนำมาใช้ประโยชน์ในประเทศให้ได้มากที่สุด .

เนื่องจากประเทศไทยถือเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมัน แม้จะสามารถผลิตน้ำมันเองได้ แต่ก็เป็นส่วนน้อยมากไม่เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ จึงต้องมีการนำเข้าน้ำมันดิบเพื่อกลั่นให้เพียงพอต่อการบริโภคของคนไทย ดังนั้น การจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันและก๊าซ (SPR) ที่จะเกิดขี้นในโอกาสนี้ ประชาชนชาวไทยจะสามารถมั่นใจได้เลยว่า จะทำให้ราคาของน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซเกิดความเป็นธรรมอย่างแน่นอน และเป็นผลดียิ่งในการบริหารจัดการด้านพลังงานของประเทศไทยอย่างยั่งยืนต่อไป

‘mu Space’ ผนึก ‘ITEL’ ลงนามบันทึกความร่วมมือ ขับเคลื่อนนวัตกรรม-บริการผ่านเครือข่ายดาวเทียมในไทย

(18 มิ.ย. 67) mu Space and Advanced Technology Co., Ltd. (mu Space) และ Interlink Telecom Public Company Limited (ITEL) ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อสำรวจโอกาสใหม่ ๆ ในเครือข่ายและบริการโทรคมนาคมผ่านดาวเทียม โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567 บันทึกข้อตกลงนี้กำหนดเวทีสำหรับการรวมความเชี่ยวชาญและทรัพยากรของทั้งสองผู้นำในอุตสาหกรรม เพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมและขยายการให้บริการในประเทศไทยและที่อื่น ๆ

mu Space ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย เป็นที่รู้จักกันดีในด้านการออกแบบ การผลิต การดำเนินงาน และการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศขั้นสูงของดาวเทียม บริษัทใช้ความสามารถของตนในการให้บริการดาวเทียมที่ล้ำสมัย 

ส่วน Interlink Telecom Public Company Limited (ITEL) เป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคมชั้นนำในประเทศไทยที่มีความเชี่ยวชาญในบริการเครือข่ายไฟเบอร์และโซลูชันศูนย์ข้อมูล ด้วยใบอนุญาตครบวงจรจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ITEL พร้อมที่จะให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคมที่ครอบคลุม ทำให้เป็นพันธมิตรที่สำคัญในโครงการนี้

ความร่วมมือระหว่าง mu Space และ ITEL ถูกขับเคลื่อนด้วยวิสัยทัศน์ร่วมในการเพิ่มประสิทธิภาพการเชื่อมต่อผ่านดาวเทียม LEO และขยายการเข้าถึงเครือข่ายโทรคมนาคม โดยการรวมความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดาวเทียมของ mu Space เข้ากับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมที่แข็งแกร่งของ ITEL พันธมิตรนี้มุ่งหวังที่จะสร้างผลลัพธ์ที่เสริมกันซึ่งเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองบริษัทและลูกค้าของพวกเขา

“ที่ mu Space เรามุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนขอบเขตของเทคโนโลยีอวกาศและดาวเทียม ความร่วมมือนี้กับ ITEL เป็นก้าวสำคัญในการเปลี่ยนแปลงการเชื่อมต่อดาวเทียม LEO ในประเทศไทยและที่อื่น ๆ ด้วยการรวมความเชี่ยวชาญของเรากับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมที่แข็งแกร่งของ ITEL เราตั้งตารอที่จะนำเสนอโซลูชันนวัตกรรมที่จะปฏิวัติการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและผลักดันการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลในพื้นที่ที่ห่างไกลที่สุด ร่วมกันเรากำลังสร้างอนาคตที่อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงอยู่ในความสามารถของทุกคน” เจมส์ เยนบำรุง, CEO ของ mu Space

“บันทึกข้อตกลงนี้กำหนดพื้นฐานสำหรับการรวมบริการดาวเทียม LEO เข้ากับลูกค้าเดิมของ ITEL ที่ต้องการใช้ดาวเทียมเพื่อตอบสนองความต้องการในพื้นที่ห่างไกลและชนบท”

“บันทึกข้อตกลงนี้ถือเป็นก้าวสำคัญสู่อนาคตที่เชื่อมต่อมากขึ้น โดยการใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญร่วมกัน mu Space และ ITEL มุ่งมั่นที่จะนำเสนอโซลูชันนวัตกรรมที่เพิ่มความเชื่อมโยงและการเข้าถึง รวมถึงเป็นเวทีสำหรับข้อตกลงและโครงการอื่น ๆ ในอนาคตที่จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมให้ก้าวไปข้างหน้า” แถลงการณ์จาก CEO ของ Interlink

สำหรับ mu Space เป็นผู้ผลิตอวกาศและผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อตั้งขึ้นในปี 2560 โดยเจมส์ เยนบำรุง ภารกิจของบริษัทคือการแก้ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติที่ลดลงบนโลก โดยค้นหาทรัพยากรทางเลือกในอวกาศ mu Space ผลิตแพลตฟอร์มดาวเทียมที่มุ่งเน้นไปที่ดาวเทียมขนาดเล็ก ซึ่งเราได้พัฒนาและผลิตด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัย เราให้บริการแบบครบวงจรรวมถึงบริการดาวเทียมประสิทธิภาพสูงและการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมที่เชื่อถือได้ mu Space เป็นบริษัทอวกาศที่มีการบูรณาการในแนวดิ่งอย่างเต็มที่ด้วยโรงงานขั้นสูงเพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการในขณะที่ลดต้นทุนเพิ่มเติมจากห่วงโซ่อุปทานที่กว้างขวาง สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมโปรดเยี่ยมชม: www.muspacecorp.com และติดตามเราบน Facebook: mu Space Corp.

ในส่วนของ Interlink Telecom Public Company Limited (ITEL) เป็นผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคมในประเทศไทย โดยมีใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมประเภทที่ 3 จากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ITEL ให้บริการโทรคมนาคมผ่านเครือข่ายใยแก้วนำแสงทั่วประเทศไทย บริษัทให้บริการต่าง ๆ เช่น interlink dark fiber, interlink wavelength, interlink international private leased circuits และเทคโนโลยี interlink multi-protocol label switching รวมถึงการติดตั้งเครือข่ายโทรคมนาคมและบริการกระจายเสียง

ITEL ยังให้บริการพื้นที่ศูนย์ข้อมูลรวมถึงการให้บริการ co-location, cloud computing และบริการกู้คืนจากภัยพิบัติ ITEL ก่อตั้งขึ้นในปี 2550 และมีสำนักงานใหญ่ในกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย

🔎ยกเครื่องพลังงานไทยด้วยกฎหมายในการจัดตั้ง ‘SPR’ ฉบับแรกของไทย โดยรองฯ พีระพันธุ์

หลังจากคนไทยต้องฝากความมั่นคงทางพลังงานน้ำมันเชื้อเพลิงกับผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนมาอย่างนี้ยาวนาน วันนี้ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้เร่งผลักดันให้จัดตั้ง SPR : Strategic Petroleum Reserve หรือ การสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ ในประเทศไทยขึ้น จากเดิมบริษัทเอกชนผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ต้องเป็นผู้จัดเก็บน้ำมันสำรองเชิงพาณิชย์ไว้ให้เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ 25-36 วัน เป็นรัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานจัดเก็บน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ไว้ให้เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ 50 วันตามมาตรฐาน IEA หรือ 90 วันเช่นเดียวกับประเทศสมาชิก IEA ส่วนใหญ่ (ไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกสมทบของ IEA) 

แม้จะมีน้ำมันสำรองเชิงพาณิชย์เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ 25-36 วัน แต่น้ำมันเชื้อเพลิงเหล่านั้นถือครองโดยเอกชน (เป็นการสำรองน้ำมันตามกฎหมายของผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543) รัฐบาลจึงไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือบริหารจัดการได้ นอกจากเกิดเหตุฉุกเฉินและมีการประกาศใช้กฎหมายพิเศษ อาทิ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือกฎอัยการศึก จึงจะเข้าไปควบคุมจัดการน้ำมันสำรองที่มีอยู่ได้ และวิกฤตน้ำมันที่ผ่านมามากมายหลายครั้งได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความสำคัญและจำเป็นที่รัฐต้องถือครองน้ำมันสำรองในรูปแบบของ SPR ด้วยตนเองเพื่อให้เพียงพอต่อการใช้งาน 50 วันเป็นอย่างน้อยหรือ 90 วัน ซึ่งจะทำให้ไทยมีความมั่นคงทางพลังงานน้ำมันเชื้อเพลิงในระดับที่เข้มแข็งทัดเทียมนานาอารยประเทศ และเป็นหลักประกันที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติโดยรวม

มีการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันและก๊าซเพื่อความมั่นคงทางยุทธศาสตร์และระบบรักษาระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ ประกอบด้วยคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านกฎหมายและด้านพลังงานในสาขาต่าง ๆ ร่วมกันหารือกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพลังงาน เพื่อทำการทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และศึกษาวิธีการและรูปแบบการสำรองน้ำมันในต่างประเทศ เพื่อกำหนดเป็นแนวทาง ‘การสำรองน้ำมันและก๊าซเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อความมั่นคงและรักษาระดับราคาโครงสร้างราคาใหม่’ ของประเทศไทยเพื่อให้เกิดเสถียรภาพด้านพลังงาน จากการศึกษาความเป็นไปได้ของการดำเนินการสำรองน้ำมันในรูปแบบที่เหมาะสมกับประเทศไทย โดยพิจารณาผลการศึกษาของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียน เช่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม รวมถึงประเทศอื่น ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และเยอรมนี ถึงมีจุดแข็งและข้อได้เปรียบการสำรองน้ำมันในรูปแบบที่แตกต่างกัน เพื่อวางรูปแบบ (Model) ของ SPR ที่จะเกิดขึ้นให้สอดคล้องเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยมากที่สุด

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้มีการทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ และคำสั่งต่าง ๆ ให้สามารถดำเนินการระบบ SPR เพื่อเป็นหนึ่งในมาตรการและนโยบายที่จะลดผลกระทบด้านพลังงาน และเพื่อให้เกิดความมั่นคง ยั่งยืน และเป็นธรรมกับภาคประชาชนในอนาคตต่อไป 

แนวคิดเกี่ยวกับ SPR เบื้องต้นคือการกำหนดนโยบายการเก็บสำรองน้ำมันโดยภาครัฐ เพื่อให้สามารถนำน้ำมันที่มีการเก็บสำรอง มาใช้ในการบริหารจัดการราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศให้ลดลงในช่วงที่ราคาน้ำมันขึ้นสูง ในลักษณะที่คล้ายกับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้วิธีการเก็บเงินเข้าออก และปรับอัตราการจัดเก็บน้ำมันแต่ละประเภทให้มีความเหมาะสมในแต่ละช่วง 

โดยใช้เงินที่มีอยู่ในกองทุนน้ำมันฯ ในการบริหารจัดการราคาน้ำมันไม่ให้สูงจนเกินไป ซึ่งจะเป็นรูปแบบเดียวกับการสำรองน้ำมันโดยภาครัฐ จะใช้น้ำมันสำรองที่มีอยู่ในคลังออกมาจำหน่ายเพื่อรักษาระดับราคาน้ำมันแทน ไม่ต้องใช้เงินเหมือนเช่นกองทุนน้ำมันฯ ตลอดจนให้มีการศึกษาถึงปริมาณที่เหมาะสมอัตราการของการเก็บสำรองน้ำมันโดยผู้ค้ามาตรา 7 เพื่อเป็นอีกแนวทางที่จะช่วยทำให้ราคาน้ำมันในประเทศสามารถลดลงได้

ปัจจุบันการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศไทยเป็นการสำรองโดยภาคเอกชนโดยกำหนดให้เป็นหน้าที่สำคัญของผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงรายใหญ่ที่มีปริมาณการค้าแต่ละชนิด หรือรวมกันทุกชนิดปีละตั้งแต่ 2,374,768 บาร์เรล (100,000 เมตริกตัน) ขึ้นไป หรือเป็นผู้ค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลวแต่เพียงชนิดเดียวที่มีปริมาณการค้าปีละตั้งแต่ 1,187,384 บาร์เรล (50,000 เมตริกตัน) ขึ้นไป (ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543) 

ทั้งนี้การกำหนดปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองตามกฎหมายจะอ้างอิงจากปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ โดยคำนึงถึงระยะเวลาในการจัดหาน้ำมันดิบรวมระยะเวลาในการขนส่งจากแหล่งจัดหาหลัก (แหล่งตะวันออกกลาง) มายังประเทศไทย เพื่อให้มีน้ำมันสำรองเพียงพอรองรับวิกฤตน้ำมันเชื้อเพลิงหรือสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นไม่คาดคิดอยู่ตลอดเวลา 

ในปี พ.ศ. 2566 ตามข้อมูลของกรมธุรกิจพลังงานระบุว่า ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 มีหน้าที่สำรองน้ำมันดิบในอัตราร้อยละ 5 และน้ำมันสำเร็จรูปในอัตราร้อยละ 1 ของปริมาณความต้องการใช้ทั้งปี หรือคิดเป็นอัตราสำรองเทียบเท่ากับปริมาณการใช้ 22 วัน (น้อยกว่า 25-36 วันตามข้อมูลที่มีการเผยแพร่) โดยมีกรมธุรกิจพลังงานเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการกำกับ ติดตาม และตรวจสอบการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างต่อเนื่อง และเป็นผู้รับแจ้งปริมาณและสถานที่เก็บน้ำมันสำรองตามกฎหมายคงเหลือรายวัน การตรวจวัดปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองตามกฎหมาย ณ คลังน้ำมันเชื้อเพลิงทุกแห่งทั่วประเทศ ในกรณีที่มีความจำเป็น ภาครัฐโดยกรมธุรกิจพลังงานสามารถสั่งให้ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 งดจำหน่าย หรือให้จำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงที่สำรองไว้ตามกฎหมายเพื่อป้องกันและแก้ไขการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงได้ในปริมาณไม่เกินกว่า 20% ของปริมาณสำรองตามกฎหมาย เพื่อให้มีน้ำมันเพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ หลังจากนั้น ผู้ค้าต้องเก็บสำรองน้ำมันให้ได้ตามที่กฎหมายกำหนดเช่นเดิม

จะเห็นได้ว่า การมี SPR นั้นจะทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้างต่อหลายภาคส่วน แน่นอนที่ผลกระทบทางบวกย่อมเกิดขึ้นกับประเทศชาติและประชาชนคนไทย ในขณะที่เอกชนผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงย่อมได้ผลกระทบทางลบทั้งทางตรงและทางอ้อม เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ SRP เลย ดังนั้นจึงต้องมีการยกร่างและออกกฎหมายใหม่ขึ้นมา ซึ่งต้องผ่านรัฐสภาทั้งสภาผู้แทนฯและวุฒิสภาฯ ดังนั้นหากมีการพิจารณาร่างกฎหมาย SPR ประชาชนคนไทยต้องช่วยกันสนับสนุนกฎหมาย SPR ให้สามารถประกาศใช้ให้สำเร็จให้จงได้ เพราะการเก็บสำรองน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ในปริมาณที่มีความเหมาะสมและมากพอย่อมจะทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศสามารถลดลงได้อีกนั้นเอง

'เศรษฐา' ร่ายยาว!! ของบ 3.75 ลลบ.เติมเศรษฐกิจโตเต็มศักยภาพ พร้อมคำมั่น!! ปลายปี 'ดิจิทัลวอลเล็ต' ถึงมือประชาชน

(19 มิ.ย.67) ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร วาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 วงเงิน 3.75 ล้านล้านบาท โดยในปีนี้ไม่มีการตั้งงบประมาณเพื่อชดใช้เงินคงคลัง

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ชี้แจงเหตุผลการของบประมาณว่า ร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ 2568 เป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากปีงบประมาณฯ 2567 มีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้เต็มศักยภาพ สร้างรายได้ให้กับประชาชนและประเทศ ผ่านการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภา และวิสัยทัศน์ Ignite Thailand ซึ่งประกอบด้วยการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลาง 8 อุตสาหกรรม บนการพัฒนา 6 พื้นฐานสำคัญ มาเป็นแนวทางในการบริหารจัดการงบประมาณ ในการพัฒนาและจัดสรรทรัพยากรของประเทศให้บรรลุเป้าหมาย รวมทั้งคำนึงถึงความสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ รัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ ยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และแผนการปฏิบัติราชการของกระทรวง เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ และประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม

นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2568 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.5-3.5 มีการปรับลดลงจากประมาณการเดิมที่ประมาณการไว้ในแผนการคลังระยะปานกลาง ปีงบประมาณ 2568-2571 โดยมีแรงสนับสนุนจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการส่งออกสินค้าตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก การขยายตัวของการอุปโภคบริโภค และการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ จากความยืดเยื้อของความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ และการดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้า ที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และสร้างความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุน สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในปี 2568  คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในปี 2568 จะอยู่ในช่วงร้อยละ 0.7–1.7 และดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มเกินดุลร้อยละ1.5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ 

“ในช่วงปลายปี 2567 นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท จะถึงมือคนไทย 50 ล้านคน เกิดเป็นพายุหมุนทางเศรษฐกิจ กระตุ้นเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงตั้งแต่ระดับฐานราก กระจายไปยังพื้นที่ทั่วประเทศ ก่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย การสั่งผลิตสินค้า การจ้างงาน และหมุนกลับมาเป็นเงินภาษีให้กับภาครัฐ เพื่อใช้ในการลงทุนเพื่อสร้างขีดความสามารถให้กับประเทศต่อไป” นายกฯ กล่าว

นายเศรษฐา กล่าวว่า ช่วงต้นปี 2567 รัฐบาลได้ประกาศวิสัยทัศน์ Ignite Thailand เป็นเป้าหมายของการพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของ 8 ด้านได้แก่ ศูนย์กลางการท่องเที่ยว ศูนย์กลางการแพทย์
และสุขภาพ ศูนย์กลางเกษตรและอาหาร ศูนย์กลางการบิน ศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาค ศูนย์กลางการผลิตยานยนต์แห่งอนาคต ศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล และศูนย์กลางการเงิน บนการพัฒนา 6 พื้นฐานที่สำคัญได้แก่ การเป็นรัฐบาลดิจิทัลเพื่อความโปร่งใส ความเสมอภาคเท่าเทียม ความสะอาดและปลอดภัย ระบบขนส่งที่เข้าถึงและสะดวก การศึกษาและเรียนรู้สำหรับทุกคน พลังงานสะอาดและมั่นคง

กลยุทธ์ของการมุ่งไปสู่ 8 ศูนย์กลาง คือการต่อยอดจุดแข็งของประเทศด้านต่างๆ เช่น สถานที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ วัฒนธรรม ทักษะของคนไทย โครงสร้างพื้นฐาน และอุตสาหกรรมในปัจจุบันที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนต่อยอดให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมของภูมิภาคและของโลกได้ เช่น อุตสาหกรรมท่องเที่ยว, อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ, อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร, อุตสาหกรรมการขนส่งและการบิน เป็นต้น

นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ครึ่งปีแรกของปี2567 แสดงให้เห็นว่าการท่องเที่ยว
เป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยมีเป้าหมายไว้ว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศทั้งปีมากกว่า 36.7 ล้านคน กลับไปสู่ระดับสูงใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด และรัฐบาลมีแผนที่จะทำให้ปี 2568 เป็นปีแห่งการท่องเที่ยวที่ยิ่งใหญ่ เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวให้มากยิ่งขึ้น และกระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวผ่านการเฟ้นหาจุดเด่น จัดเทศกาล กิจกรรม คอนเสิร์ต หรือการแสดงต่างๆ เพื่อเพิ่มระยะเวลาการพำนัก และค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของนักท่องเที่ยวในอนาคต ซึ่งประเทศไทยจำเป็นต้องมีการขยายโครงสร้างพื้นฐานทางอากาศมากยิ่งขึ้น ทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางทางการบิน โดยรัฐบาลจะเดินหน้าขยายโครงข่ายสนามบินทั่วประเทศเพื่อให้รองรับผู้โดยสารได้มากขึ้น และขยายกำลังความสามารถในการขนส่งทางอากาศ การขนส่งควบคุมอุณหภูมิ และเชื่อมต่อไปยังการขนส่งทางรถ ราง และเรืออย่างครบวงจร ทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งจากไทยไปยังกลุ่มประเทศ CLMV และเชื่อมต่อ
ไปยัง Land Bridge เพื่อไปทั่วโลกได้ 

ส่วนเกษตรกรรมและอาหารเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถยกระดับสู่อุตสาหกรรมมูลค่าสูง โดยรัฐบาลมีมาตรการที่จะดูแลภาคส่วนนี้ตั้งแต่ต้นน้ำโดยการบริหารจัดการน้ำ ดิน พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจ การแปรรูป และดูแลบริหารอย่างครบวงจร ทำให้ภาคเกษตรและอาหารแข็งแรงยิ่งขึ้น

นายกฯ กล่าวอีกว่า ปัญหาหนี้สินยังเป็นปัญหาใหญ่ โดยเฉพาะในภาคครัวเรือนที่มีภาระหนี้สินสูงกว่าร้อยละ 91.3 ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และยังมีภาระหนี้นอกระบบ โดยรัฐบาลได้มีมาตรการช่วยเหลือในการไกล่เกลี่ย และจับกุมเจ้าหนี้นอกระบบที่ทำผิดกฎหมาย เพื่อคืนอิสรภาพให้กับพี่น้องประชาชนที่เคยตกอยู่ในวังวนหนี้สินไม่รู้จบ ส่วนในภาคธุรกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ประเมินว่าใน SMEs จำนวนกว่า 3.2 ล้านราย มีเพียงไม่ถึงครึ่งที่เข้าถึงสินเชื่อในระบบสถาบันการเงิน ทำให้ต้องอาศัยแหล่งสินเชื่อที่ไม่เป็นธรรม ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจ ด้านการใช้จ่ายจำเป็นในการหมุนเวียนประจำวัน และการลงทุนเพื่อขยายธุรกิจ ส่งผลให้หลายบริษัทต้องปิดตัวลง การเจริญเติบโตในภาค SMEs อยู่ในระดับต่ำ สินเชื่อในกลุ่ม SMEs มีการขยายตัวติดลบร้อยละ 5.1 ในขณะที่สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ขยายตัวร้อยละ 3.3 ในไตรมาส 1 ของปี 2567

นายเศรษฐา กล่าวว่า ภายใต้สภาวการณ์ทางเศรษฐกิจ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 รัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุล เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้มีความต่อเนื่อง โดยประมาณการจัดเก็บรายได้จากภาษีอากร (สุทธิ) การขายสิ่งของและบริการ รายได้จากรัฐพาณิชย์ และรายได้อื่น รวมสุทธิทั้งสิ้น จำนวน 3,022,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 จากปีก่อน และหักการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามพ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 135,700 ล้านบาท คงเหลือเป็นรายได้สุทธิที่สามารถนำมาจัดสรร
เป็นรายจ่ายของรัฐบาล จำนวน 2,887,000 ล้านบาท ประกอบกับเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 865,700 ล้านบาท รวมเป็นรายรับทั้งสิ้น 3,752,700 ล้านบาท เท่ากับวงเงินงบประมาณรายจ่าย การจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล จึงมีความสำคัญและจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวอย่างเชื่องช้าให้เติบโตได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยเม็ดเงินจำนวนมากจะไหลจากภาครัฐไปสู่ภาคเอกชน ก่อให้เกิดการสั่งซื้อสินค้า การบริการ และหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

นายกฯ กล่าวอีกว่า ฐานะการคลังนั้น หนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567 มีจำนวน 11,474,154.0 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 63.37 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะ ตามกฎหมาย
ว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ที่กำหนดไว้ต้องไม่เกินร้อยละ 70 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ปัจจุบันฐานะเงินคงคลัง ณ วันที่ 30 เมษายน 2567 มีจำนวน 430,076.3 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะบริหารเงินคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม บริหารรายรับและรายจ่ายของรัฐให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด 

ทั้งนี้ ฐานะการเงินด้านต่างประเทศของไทยในปัจจุบัน อยู่ในเกณฑ์ดี มูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 มีจำนวน 224,483.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 2.5 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ซึ่งจัดว่าอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งมาก                         

นายเศรษฐา กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2568 มีวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 3,752,700 ล้านบาท จำแนกเป็นรายจ่ายประจำ จำนวน 2,704,574.7 ล้านบาท หรือร้อยละ 72.1 รายจ่ายลงทุน จำนวน 908,224 ล้านบาท หรือร้อยละ 24.2 ซึ่งเป็นสัดส่วนการลงทุนที่สูงที่สุดในรอบ 17 ปี และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 150,100 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.0 ทั้งนี้รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้เป็นรายจ่ายลงทุนกรณีการกู้เพื่อการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 10,198.7 ล้านบาท 

นอกจากนี้ ในส่วนของยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ได้กำหนดไว้ผ่าน 6 ยุทธศาสตร์ ดังนี้...

ยุทธศาสตร์ ที่ 1 ด้านความมั่นคง รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 405,412.8 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.8 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อพัฒนาความมั่นคง เช่นการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้  เสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ 

ยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 398,185.9 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10.6 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อส่งเสริมให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโต และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้มีเสถียรภาพและยั่งยืน ผลักดันการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเป็นศูนย์กลางการขนส่ง และขยายโอกาสทางการค้า การลงทุน 
 

ยุทธศาสตร์ที่ 3 ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 583,023.4 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 15.5 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน ปฏิรูประบบการศึกษาและสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต พัฒนาระบบบริการสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพและครอบคลุมทุกพื้นที่ ส่งเสริมการอนุรักษ์และพัฒนามรดกทางศิลปวัฒนธรรมสู่อุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ พัฒนาศักยภาพการกีฬาสู่ความเป็นเลิศและได้มาตรฐานสากล ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีสามารถพึ่งพาตนเองได้ รวมทั้งพัฒนาและยกระดับทักษะฝีมือแรงงานไทยให้ได้มาตรฐานรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายและการแข่งขันในตลาดโลก  

ยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 923,851.4 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 24.6 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อให้คนไทยได้รับสวัสดิการพื้นฐาน บริการสาธารณะอย่างทั่วถึงเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ สนับสนุนการเตรียมความพร้อมสังคมไทยในการรองรับสังคมสูงวัย เพิ่มศักยภาพและยกระดับผู้ประกอบการธุรกิจ ส่งเสริมสภาพแวดล้อมและกลไกการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เร่งดำเนินการให้ประชาชนมีสิทธิในที่ดินทำกิน พัฒนาระบบสาธารณสุข ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาที่มีคุณภาพและมาตรฐาน รวมทั้งสร้างหลักประกันสวัสดิการ สำหรับแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ

ยุทธศาสตร์ที่ 5 ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย  จำนวน 137,291.9 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.7 ของวงเงินงบประมาณ เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน และสร้างการเติบโตบนสังคมเศรษฐกิจสีเขียว 

และ ยุทธศาสตร์ที่ 6 ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 645,880.9 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 17.2 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อให้ระบบการบริหารราชการมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล มุ่งผลสัมฤทธิ์และผลประโยชน์ส่วนรวม

นายกฯ กล่าวอีกว่า ส่วนการดำเนินการภาครัฐนั้นรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้ จำนวน 659,053.7 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 17.6 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายรองรับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยมิได้คาดหมายสำหรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ  แบ่งเป็นแผนงานบริหารเพื่อรองรับกรณีฉุกเฉินหรือจะเป็นจำนวน 248,800.0 ล้านบาท เพื่อสำรองไว้เป็นค่าใช้จ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น การเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรง ภารกิจที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐ และเงินชดเชยค่างานสิ่งก่อสร้าง รวมถึงการกระตุ้นและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ โดยคำนึงถึงวินัยทางการคลัง และแผนงานบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ จำนวน 410,253.7 ล้านบาท เพื่อให้การบริหารจัดการหนี้และการชำระหนี้ภาครัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจ

“งบประมาณฯ 2568 จำนวน 3,752,700 ล้านบาท มีที่มาจากรายได้ที่คาดว่าจะจัดเก็บได้ จำนวน 2,887,000 ล้านบาท และเป็นการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน 865,700 ล้านบาท แม้ว่างบประมาณปีนี้จะมีการขาดดุลเพิ่มขึ้น แต่รัฐบาลได้จัดสรรรายจ่ายลงทุนไว้ จำนวน 908,224 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 24.2 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 27.9 และเป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 17 ปีที่ผ่านมา การบริหารงบประมาณรายจ่ายทั้งหมดนี้ จะเป็นการใช้จ่ายเพื่อดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล และกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลจะดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ ใช้จ่ายเงินภาษีของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด กระตุ้นเศรษฐกิจให้เม็ดเงินไหลไปสู่ประชาชนและภาคธุรกิจ สร้างการเจริญเติบโตให้กับประเทศ พัฒนาศักยภาพอย่างยั่งยืน และเป็นไปตามกฎหมาย” นายเศรษฐากล่าว

'อาจารย์อุ๋ย ปชป.' ยินดี!! ไทยสมัครเป็นสมาชิก BRICS สะท้อนการรับมือระเบียบโลกใหม่จากหลายขั้วได้อย่างเหมาะสม

(19 มิ.ย. 67) จากกรณีที่ประเทศไทยได้แสดงเจตจำนงที่จะเข้าเป็นสมาชิกของกลุ่ม BRICS เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา นั้น นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย หรืออาจารย์อุ๋ย นักวิชาการด้านกฎหมายและอดีตผู้สมัคร สส.กรุงเทพมหานคร เขตบางกะปิ พรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า...

ผมเห็นด้วยและขอแสดงความยินดีกับการที่ไทยแสดงความจำนงเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มกันของประเทศตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่ ซึ่งจนถึงปัจจุบันประกอบด้วย บราซิล, อินเดีย, จีน, แอฟริกาใต้, อิหร่าน, อียิปต์, เอธิโอเปีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วมีขนาดเศรษฐกิจถึงร้อยละ 28.3 ของโลก และมีจำนวนประชากร ร้อยละ 45.5 ของประชากรโลก โดยรัฐสมาชิกจะยึดถือหลักการความเสมอภาค มีผลประโยชน์ร่วมกัน และไม่แทรกแซงกิจการภายใน ซึ่งสอดคล้องกับหลักการที่บัญญัติไว้ในกฎบัตร ASEAN 

โดยการเป็นสมาชิกนี้จะทำให้ไทยได้ประโยชน์ในหลายด้าน อาทิเช่น ยกระดับบทบาทของไทยในเวทีโลก เพิ่มบทบาทของไทยในการกำหนดทิศทางนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และเพิ่มโอกาสของไทยในการมีส่วนร่วมสร้างระเบียบโลกใหม่ที่มีความยุติธรรมมากขึ้น เพื่อยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้า ทุนสำรอง การสื่อสารข้อมูล คุ้มครองการลงทุน ส่งเสริมการลงทุน ทลายกำแพงการค้า (Trade Barrier) และค้าขายด้วยสกุลเงินอื่นนอกเหนือจากดอลลาร์สหรัฐ 

นอกจากนี้เรายังเพิ่งแสดงความจำนงขอเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD ซึ่งเป็นกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วกว่า 30 ประเทศ ในยุโรปและอเมริกา และเราก็ยังคงเป็นสมาชิก APEC อยู่ด้วยซึ่งมีทั้งสหรัฐอเมริกา, จีน และรัสเซีย เป็นสมาชิกเช่นกัน ดังนั้น ใครจะมาบอกว่าเราเลือกข้าง คงไม่ใช่ แต่เป็นการแสวงหาโอกาสเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของประเทศ 

ด้วยสภาวการณ์ของโลกปัจจุบันที่มีความแปรปรวนและยืดหยุ่นสูง ประกอบกับเงื่อนไขทางภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศไทย การรักษาสมดุลระหว่างขั้วอำนาจโลกอย่างเหมาะสมและมียุทธศาสตร์เท่านั้น ที่จะทำให้ประเทศไทยพัฒนาก้าวหน้าอย่างมั่นคงและมีศักดิ์ศรีในเวทีโลก ผมขอให้กำลังใจรัฐบาลในเรื่องนี้และขอให้รัฐบาลใช้โอกาสอันมีค่านี้ สร้างประโยชน์สูงสุดให้กับประเทศไทยและคนไทยครับ ด้วยความปรารถนาดี"

‘IMD’ ปรับอันดับขีดความสามารถไทยปี 67 ขึ้น 5 อันดับ ขยับสู่อันดับ 25 จาก 30 วิ่งแซงมาเลเซียที่อยู่อันดับ 34

(19 มิ.ย. 67) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่าได้รายงานคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเขตเศรษฐกิจ 67 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งจัดอันดับโดย International Institute for Management Development หรือ IMD สวิตเซอร์แลนด์ ประจำปี 2566

โดยในส่วนของประเทศไทย อันดับของประเทศไทยดีขึ้น 5 อันดับ จากอันดับที่ 30 ในปี 2566 ขึ้นมาอยู่อันดับที่ 25 ในปีนี้ โดยอันดับของประเทศไทยยังถือว่าดีที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ในอาเซียนรองจากสิงคโปร์

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาปัจจัย 4 ด้านที่ใช้ในการจัดอันดับ ไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันดีขึ้นจากปีที่แล้วใน 2 ด้าน คือ สมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) และประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) โดยด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) มีอันดับดีขึ้นมากที่สุดถึง 11 อันดับ จากอันดับที่ 16 มาอยู่อันดับที่ 5 เนื่องจากในทางการคลังเราเกินดุลบัญชีเดินสะพัดจากเดิม

ขณะที่ด้านประสิทธิภาพภาครัฐปรับเพิ่มขึ้น 3 อันดับ จาก 23 มาอยู่ที่ 20 ด้านโครงสร้างพื้นฐาน อยู่ในอันดับ 43 เท่าเดิม และด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ คงที่อยู่ในอันดับที่ 24

ส่วนในภาพรวมของเศรษฐกิจในอาเซียน จากเขตเศรษฐกิจในสมาชิกประชาคมอาเซียนรวม 10 เขตเศรษฐกิจ ยังคงมีเพียง 5 เขตเศรษฐกิจ คือ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ ที่ได้รับการจัดอันดับโดย IMD

ซึ่งเขตเศรษฐกิจที่มีอันดับความสามารถในการแข่งขันสูงสุดของอาเซียนในปี 2567 ยังคงเป็นสิงคโปร์อันดับ 1 และเป็นที่น่าสนใจว่าทั้งไทย และอินโดนีเซีย ต่างสามารถพัฒนาอันดับขีดความสามารถขึ้นมาสูงกว่ามาเลเซียในปีนี้ โดยไทยได้รับการจัดอันดับ ที่ 25 และอินโดนีเซียที่ อันดับ 27 ในปีนี้ ตามมาด้วยมาเลเซีย อันดับ 34 และฟิลิปปินส์ อันดับ 52 ตามลำดับ

👉รู้หรือไม่ เมื่อไทยมี 'SPR' แล้ว จะทำให้ปัญหาราคาก๊าซ LPG และ LNG หมดไปด้วย

👉รู้หรือไม่ เมื่อไทยมี 'SPR' แล้ว จะทำให้ปัญหาราคาก๊าซ LPG และ LNG หมดไปด้วย

ทุกวันนี้นอกจากจะมีการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมเป็นเชื้อเพลิงแล้ว ยังการใช้เชื้อเพลิงพลังงานที่เป็นก๊าซอีกด้วย ประเทศไทยก็เช่นเดียวกันมีการใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงพลังงาน 2 ชนิดคือ ก๊าซ LPG  และก๊าซ LNG 

LPG (Liquefied Petroleum Gas) เป็นก๊าซปิโตรเลียมเหลวที่ได้จากการแยกน้ำมันดิบในโรงกลั่นน้ำมัน และได้จากการแยกก๊าซธรรมชาติ มีสถานะเป็นได้ทั้งของเหลวและก๊าซ สามารถแปรสภาพจากของเหลว โดยขยายตัวเป็นก๊าซได้ถึง 250 เท่า น้ำหนักเบากว่าน้ำ แต่หนักกว่าอากาศ มีคุณสมบัติให้ค่าความร้อนสูงเพราะประกอบไปด้วย Propane และ Butane จึงมีคุณสมบัติในการเป็นเชื้อเพลิงที่สามารถติดไฟง่าย และเป็นพลังงานที่มีการเผาไหม้อย่างสมบูรณ์จึงไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ก๊าซ LPG ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายและเป็นหนึ่งในพลังงานทางเลือกที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง 

ปัจจุบันประชาชนคนไทยใช้ก๊าซ LPG เป็นเชื้อเพลิงหลักในการหุงต้มประกอบอาหาร เป็นเชื้อเพลิงทางเลือกสำหรับยานพาหนะ และใช้ในการให้ความร้อนในโรงงานอุตสาหกรรมที่ไม่ได้ใช้ก๊าซ LNG หรือหม้อไอน้ำขนาดใหญ่ (Steam Boiler) ที่ใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิง 

LNG (Liquefied Natural Gas) หรือ ก๊าซธรรมชาติเหลว คือ ก๊าซธรรมชาติที่ถูกแปรสภาพจากสถานะก๊าซให้กลายเป็นของเหลว โดยลดอุณหภูมิลงจนเหลือประมาณ -160 องศาเซลเซียส เพื่อสะดวกในการขนส่งไปยังที่ต่าง ๆ ที่มีระยะทางไกล ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการขนส่งทางเรือ และก่อนจะนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิง LNG จะถูกทำให้ระเหยกลับมาสู่สถานะก๊าซอีกครั้งก่อนนำไปใช้งาน คุณลักษณะสำคัญของ LNG คือเป็นเชื้อเพลิงที่สะอาด ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีพิษ และไม่มีฤทธิ์กัดกร่อน เมื่อ LNG รั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อมจะระเหยกลายเป็นไอแพร่กระจายในอากาศได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่มีการตกค้างในน้ำหรือดิน การรั่วไหลของ LNG ที่จะก่อให้เกิดการลุกไหม้ขึ้นได้นั้น ต้องมีความเข้มข้นของการระเหยของ LNG ในบรรยากาศอยู่ในช่วงระหว่าง 5%-15% รวมทั้งจะต้องมีแหล่งกำเนิดไฟในบริเวณใกล้เคียงด้วย ประเทศไทยใช้ LNG เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า เป็นเชื้อเพลิงสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม และเป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์  (NGV)

แนวคิดของ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในการจัดตั้ง SPR : Strategic Petroleum Reserve หรือ การสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ ในประเทศไทยขึ้นนั้น นอกจากการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงแล้วยังให้มีการสำรองก๊าซพลังที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างเช่น ก๊าซ LPG และ LNG อีกด้วย 

ปัจจุบันนี้ก๊าซ LPG มียอดร่วมการจำหน่ายอยู่ที่ประมาณ 280,000 ตันต่อเดือน ตามกฎหมายกำหนดให้ผู้ค้าก๊าซ LPG จัดเก็บสำรองก๊าซ LPG 1% โดยกระทรวงพลังงานมีนโยบายในการเพิ่มอัตราสำรองก๊าซ LPG เป็น 2% แต่ผู้ค้าก๊าซ LPG ของไทยไม่เห็นด้วย โดยอ้างจากรายงานการศึกษา เรื่อง การแก้ไขปัญหาโครงสร้างราคาพลังงาน (น้ำมันเชื้อเพลิง เชื้อเพลิงชีวภาพ และก๊าซปิโตรเลียม) ของ คณะกรรมาธิการการพลังงาน วุฒิสภา (เมษายน พ.ศ. 2567) ซึ่งสรุปว่า นโยบายการรักษาระดับปริมาณเก็บสำรองก๊าซ LPG ที่ 1% ซึ่งเป็นจำนวนที่เพียงพอสำหรับการใช้ในภาคครัวเรือน 

เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยสามารถผลิตก๊าซ LPG เองได้ การเก็บสำรองก๊าซ LPG มากเกินไปจะทำให้ไม่สามารถนำก๊าซที่มีอยู่ออกมาใช้ได้ และต้องเพิ่มการนำเข้าจากต่างประเทศซึ่งจะทำให้ต้นทุนสูงขึ้น

เช่นเดียวกับก๊าซ LNG ไทยบริโภคก๊าซ LNG ราว 125,453,900 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าประมาณ 55-60% ของเชื้อเพลิงทุกประเภทรวมกัน โดยก๊าซ LNG ที่ใช้ผลิตไฟฟ้าทั้งหมด (100%) ได้มาจากอ่าวไทยราว 63% จากเมียนมาราว  16% และก๊าซ LNG ที่นำเข้าจากต่างประเทศ 21% โดยที่ก๊าซ LNG จากอ่าวไทยเริ่มมีปริมาณลดลงและอาจจะหมดไปในอีกไม่ถึง 10 ปีข้างหน้า จึงต้องมีการนำเข้าจากประเทศต่าง ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ 

แต่ปัจจุบันไทยมีคลัง LNG รองรับการนำเข้าก๊าซ LNG ทางเรือของเอกชนโดยบริษัท PTTLNG อยู่ 2 แห่ง แห่งแรกตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยอง (LMPT 1) มีถังเก็บก๊าซ LNG ขนาด 160,000 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 4 ถัง และแห่งที่ 2 อยู่ที่บ้านหนองแฟบ จังหวัดระยอง (LMPT 2) ซึ่งมีถังเก็บก๊าซ LNG ขนาด 250,000 ลูกบาศก์เมตร 2 ถัง และ ขนาด 160,000 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 4 ถัง ซึ่งพอใช้เพียง 1-2 วันหากเกิดกรณีฉุกเฉินหรือวิกฤตพลังงานเชื้อเพลิงพลังงานที่เป็นก๊าซ LNG จากอ่าวไทยและเมียนมา  

ข้อมูลที่นำเสนอมาข้างต้นจะเห็นได้ว่า ไทยมีความเสี่ยงด้านเชื้อเพลิงพลังงานที่เป็นก๊าซมากกว่าด้านน้ำมันเชื้อเพลิงเสียด้วยซ้ำไป ดังนั้น SPR ของไทยที่จะเกิดขึ้นจึงต้องรวมการสำรองก๊าซ LPG และ LNG เอาไว้ด้วย เมื่อมีระบบ SPR ภาครัฐมีการจัดเก็บสำรองก๊าซ LPG เองในระดับปริมาณที่เหมาะสม ย่อมส่งผลต่อราคาจำหน่ายปลีกก๊าซ LPG ในประเทศอย่างแน่นอน เมื่อภาครัฐเป็นผู้ถือครองก๊าซ LPG รายใหญ่ที่สุดจะลดพลังอำนาจทางธุรกิจของเหล่าบรรดาผู้ค้าก๊าซ LPG ลง ทั้งยังเป็นการป้องกันการกักตุนก๊าซ LPG ในกรณีฉุกเฉินหรือวิกฤตพลังงานเชื้อเพลิงพลังงานก๊าซ LPG ของผู้ค้า LPG ได้อีกทางหนึ่งด้วย 

ในกรณีของก๊าซ LNG ซึ่งเป็นก๊าซพลังงานที่สำคัญในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการผลิตกระแสไฟฟ้า การมีระบบ SPR ในการสำรองก๊าซ LNG จะเกิดความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้า และทำให้การคำนวณราคาค่าไฟฟ้าในส่วนของค่าไฟฟ้าผันแปรมีความเสถียรคงที่ขึ้นในกรณีฉุกเฉินหรือวิกฤตพลังงานจากเชื้อเพลิงพลังงานก๊าซ LNG อีกด้วย 

ดังนั้นเมื่อไทยมีการตั้งระบบ SPR ครบวงจรพลังงานแล้วก็จะทำให้ปัญหาราคาก๊าซ LPG และ LNG ในกรณีฉุกเฉินหรือวิกฤตพลังงานจากเชื้อเพลิงพลังงานก๊าซระยะสั้นค่อย ๆ ลดลง จนหมดไปในที่สุด 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top