👉รู้หรือไม่ เมื่อไทยมี 'SPR' แล้ว จะทำให้ปัญหาราคาก๊าซ LPG และ LNG หมดไปด้วย

👉รู้หรือไม่ เมื่อไทยมี 'SPR' แล้ว จะทำให้ปัญหาราคาก๊าซ LPG และ LNG หมดไปด้วย

ทุกวันนี้นอกจากจะมีการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมเป็นเชื้อเพลิงแล้ว ยังการใช้เชื้อเพลิงพลังงานที่เป็นก๊าซอีกด้วย ประเทศไทยก็เช่นเดียวกันมีการใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงพลังงาน 2 ชนิดคือ ก๊าซ LPG  และก๊าซ LNG 

LPG (Liquefied Petroleum Gas) เป็นก๊าซปิโตรเลียมเหลวที่ได้จากการแยกน้ำมันดิบในโรงกลั่นน้ำมัน และได้จากการแยกก๊าซธรรมชาติ มีสถานะเป็นได้ทั้งของเหลวและก๊าซ สามารถแปรสภาพจากของเหลว โดยขยายตัวเป็นก๊าซได้ถึง 250 เท่า น้ำหนักเบากว่าน้ำ แต่หนักกว่าอากาศ มีคุณสมบัติให้ค่าความร้อนสูงเพราะประกอบไปด้วย Propane และ Butane จึงมีคุณสมบัติในการเป็นเชื้อเพลิงที่สามารถติดไฟง่าย และเป็นพลังงานที่มีการเผาไหม้อย่างสมบูรณ์จึงไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ก๊าซ LPG ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายและเป็นหนึ่งในพลังงานทางเลือกที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง 

ปัจจุบันประชาชนคนไทยใช้ก๊าซ LPG เป็นเชื้อเพลิงหลักในการหุงต้มประกอบอาหาร เป็นเชื้อเพลิงทางเลือกสำหรับยานพาหนะ และใช้ในการให้ความร้อนในโรงงานอุตสาหกรรมที่ไม่ได้ใช้ก๊าซ LNG หรือหม้อไอน้ำขนาดใหญ่ (Steam Boiler) ที่ใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิง 

LNG (Liquefied Natural Gas) หรือ ก๊าซธรรมชาติเหลว คือ ก๊าซธรรมชาติที่ถูกแปรสภาพจากสถานะก๊าซให้กลายเป็นของเหลว โดยลดอุณหภูมิลงจนเหลือประมาณ -160 องศาเซลเซียส เพื่อสะดวกในการขนส่งไปยังที่ต่าง ๆ ที่มีระยะทางไกล ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการขนส่งทางเรือ และก่อนจะนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิง LNG จะถูกทำให้ระเหยกลับมาสู่สถานะก๊าซอีกครั้งก่อนนำไปใช้งาน คุณลักษณะสำคัญของ LNG คือเป็นเชื้อเพลิงที่สะอาด ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีพิษ และไม่มีฤทธิ์กัดกร่อน เมื่อ LNG รั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อมจะระเหยกลายเป็นไอแพร่กระจายในอากาศได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่มีการตกค้างในน้ำหรือดิน การรั่วไหลของ LNG ที่จะก่อให้เกิดการลุกไหม้ขึ้นได้นั้น ต้องมีความเข้มข้นของการระเหยของ LNG ในบรรยากาศอยู่ในช่วงระหว่าง 5%-15% รวมทั้งจะต้องมีแหล่งกำเนิดไฟในบริเวณใกล้เคียงด้วย ประเทศไทยใช้ LNG เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า เป็นเชื้อเพลิงสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม และเป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์  (NGV)

แนวคิดของ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในการจัดตั้ง SPR : Strategic Petroleum Reserve หรือ การสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ ในประเทศไทยขึ้นนั้น นอกจากการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงแล้วยังให้มีการสำรองก๊าซพลังที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างเช่น ก๊าซ LPG และ LNG อีกด้วย 

ปัจจุบันนี้ก๊าซ LPG มียอดร่วมการจำหน่ายอยู่ที่ประมาณ 280,000 ตันต่อเดือน ตามกฎหมายกำหนดให้ผู้ค้าก๊าซ LPG จัดเก็บสำรองก๊าซ LPG 1% โดยกระทรวงพลังงานมีนโยบายในการเพิ่มอัตราสำรองก๊าซ LPG เป็น 2% แต่ผู้ค้าก๊าซ LPG ของไทยไม่เห็นด้วย โดยอ้างจากรายงานการศึกษา เรื่อง การแก้ไขปัญหาโครงสร้างราคาพลังงาน (น้ำมันเชื้อเพลิง เชื้อเพลิงชีวภาพ และก๊าซปิโตรเลียม) ของ คณะกรรมาธิการการพลังงาน วุฒิสภา (เมษายน พ.ศ. 2567) ซึ่งสรุปว่า นโยบายการรักษาระดับปริมาณเก็บสำรองก๊าซ LPG ที่ 1% ซึ่งเป็นจำนวนที่เพียงพอสำหรับการใช้ในภาคครัวเรือน 

เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยสามารถผลิตก๊าซ LPG เองได้ การเก็บสำรองก๊าซ LPG มากเกินไปจะทำให้ไม่สามารถนำก๊าซที่มีอยู่ออกมาใช้ได้ และต้องเพิ่มการนำเข้าจากต่างประเทศซึ่งจะทำให้ต้นทุนสูงขึ้น

เช่นเดียวกับก๊าซ LNG ไทยบริโภคก๊าซ LNG ราว 125,453,900 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าประมาณ 55-60% ของเชื้อเพลิงทุกประเภทรวมกัน โดยก๊าซ LNG ที่ใช้ผลิตไฟฟ้าทั้งหมด (100%) ได้มาจากอ่าวไทยราว 63% จากเมียนมาราว  16% และก๊าซ LNG ที่นำเข้าจากต่างประเทศ 21% โดยที่ก๊าซ LNG จากอ่าวไทยเริ่มมีปริมาณลดลงและอาจจะหมดไปในอีกไม่ถึง 10 ปีข้างหน้า จึงต้องมีการนำเข้าจากประเทศต่าง ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ 

แต่ปัจจุบันไทยมีคลัง LNG รองรับการนำเข้าก๊าซ LNG ทางเรือของเอกชนโดยบริษัท PTTLNG อยู่ 2 แห่ง แห่งแรกตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยอง (LMPT 1) มีถังเก็บก๊าซ LNG ขนาด 160,000 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 4 ถัง และแห่งที่ 2 อยู่ที่บ้านหนองแฟบ จังหวัดระยอง (LMPT 2) ซึ่งมีถังเก็บก๊าซ LNG ขนาด 250,000 ลูกบาศก์เมตร 2 ถัง และ ขนาด 160,000 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 4 ถัง ซึ่งพอใช้เพียง 1-2 วันหากเกิดกรณีฉุกเฉินหรือวิกฤตพลังงานเชื้อเพลิงพลังงานที่เป็นก๊าซ LNG จากอ่าวไทยและเมียนมา  

ข้อมูลที่นำเสนอมาข้างต้นจะเห็นได้ว่า ไทยมีความเสี่ยงด้านเชื้อเพลิงพลังงานที่เป็นก๊าซมากกว่าด้านน้ำมันเชื้อเพลิงเสียด้วยซ้ำไป ดังนั้น SPR ของไทยที่จะเกิดขึ้นจึงต้องรวมการสำรองก๊าซ LPG และ LNG เอาไว้ด้วย เมื่อมีระบบ SPR ภาครัฐมีการจัดเก็บสำรองก๊าซ LPG เองในระดับปริมาณที่เหมาะสม ย่อมส่งผลต่อราคาจำหน่ายปลีกก๊าซ LPG ในประเทศอย่างแน่นอน เมื่อภาครัฐเป็นผู้ถือครองก๊าซ LPG รายใหญ่ที่สุดจะลดพลังอำนาจทางธุรกิจของเหล่าบรรดาผู้ค้าก๊าซ LPG ลง ทั้งยังเป็นการป้องกันการกักตุนก๊าซ LPG ในกรณีฉุกเฉินหรือวิกฤตพลังงานเชื้อเพลิงพลังงานก๊าซ LPG ของผู้ค้า LPG ได้อีกทางหนึ่งด้วย 

ในกรณีของก๊าซ LNG ซึ่งเป็นก๊าซพลังงานที่สำคัญในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการผลิตกระแสไฟฟ้า การมีระบบ SPR ในการสำรองก๊าซ LNG จะเกิดความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้า และทำให้การคำนวณราคาค่าไฟฟ้าในส่วนของค่าไฟฟ้าผันแปรมีความเสถียรคงที่ขึ้นในกรณีฉุกเฉินหรือวิกฤตพลังงานจากเชื้อเพลิงพลังงานก๊าซ LNG อีกด้วย 

ดังนั้นเมื่อไทยมีการตั้งระบบ SPR ครบวงจรพลังงานแล้วก็จะทำให้ปัญหาราคาก๊าซ LPG และ LNG ในกรณีฉุกเฉินหรือวิกฤตพลังงานจากเชื้อเพลิงพลังงานก๊าซระยะสั้นค่อย ๆ ลดลง จนหมดไปในที่สุด