Monday, 17 June 2024
ประเทศไทย

‘มาคาเลียส’ เผย ‘Staycation-Sleep Tourism’ กำลังฮิต แนะผู้ประกอบการปรับตัว รับกลุ่มคนรุ่นใหม่สายรักสุขภาพ

(21 พ.ค. 67) มาคาเลียส แหล่งรวม อี-วอเชอร์ที่พัก ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว อันดับ 1 ของประเทศไทย เผยเทรนด์การเที่ยวแบบ Staycation และ Sleep Tourism การท่องเที่ยวที่เน้นการพักผ่อน การชาร์จพลัง และการนอน มีอัตราเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่หันมาให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพหลังยุคโควิด-19 ด้านผู้ประกอบการโรงแรมที่พักควรปรับแผนการตลาดรับโอกาสที่จะมาในอนาคต  

นางสาวณีรนุช ไตรจักร์วนิช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท มาคาเลียส (MAKALIUS) ประเทศไทย จำกัด ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มท่องเที่ยวออนไลน์ แหล่งรวม อี-วอเชอร์ ที่พัก ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว กล่าวว่า “เทรนด์การท่องเที่ยวในรูปแบบ Staycation การท่องเที่ยวในละแวกจังหวัดที่ไม่ไกลมาก เน้นการทำกิจกรรมในโรงแรมที่พัก เช่น ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน นวดสปา เป็นต้น และรูปแบบ Sleep Tourism หรือการท่องเที่ยวเพื่อการนอนพักผ่อน ย้ายที่นอน ชาร์จพลังให้กับร่างกายและจิตใจให้กับตัวเอง ถือเป็นเทรนด์การท่องเที่ยวที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่หันมาให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพหลังยุคโควิด-19 ซึ่งนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จะมองหาโรงแรม ที่พัก ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน เน้นท่องเที่ยวในช่วงโลว์ซีซั่น เพราะต้องการความสงบ

ดังนั้น ผู้ประกอบการโรงแรม ที่พัก จำเป็นต้องปรับรูปแบบการให้บริการเพื่อให้บริการนักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าวนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วนสำคัญ คือ ห้องพัก (Room) ถือเป็นส่วนสำคัญมากที่สุด เพราะนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ต้องการการพักผ่อนที่แท้จริง ดังนั้น ห้องพักต้องสะอาด แสงไฟพอดี อุณหภูมิในห้องต้องเหมาะสม ชุดเครื่องนอนต้องมีคุณภาพ หรืออาจเสริมด้วยอุปกรณ์สมาร์ตไอทีที่จะช่วยให้การนอนหลับสบายขึ้น บรรยากาศต้องเงียบสงบ ถ้าเป็นโรงแรมขนาดใหญ่ต้องมีการแบ่งโซนห้องพักเป็นสัดส่วนอย่างชัดเจน เช่น แบ่งโซนห้องพักแบบครอบครัว ห้องพักที่ต้องการความเป็นส่วนตัว เป็นต้น โดยห้องพักขนาดกลางและขนาดใหญ่ตั้งแต่ 35 ตารางเมตรขึ้นไป รวมถึงห้องพักแบบ Private Pool Villa จะได้รับความนิยมเป็นพิเศษ

ต่อมาคือ กิจกรรม (Activity) นอกเหนือจากการพักผ่อนแล้วกิจกรรมภายในโรงแรมที่พักก็เป็นส่วนสำคัญที่นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลาย ช่วยให้หลับง่าย และช่วยแก้ปัญหาออฟฟิศซินโดรม อย่างการนวดผ่อนคลายกล้ามเนื้อ การสอนโยคะ คลื่นเสียงบำบัด (Sound Healing) ธาราบำบัด Sub Board พายเรือ ต่อยมวย เป็นต้น รวมถึงกิจกรรมที่จะช่วยเพิ่มประสบการณ์ด้านการท่องเที่ยว อย่างเช่น ห้องสมุด ห้องชมภาพยนตร์ กิจกรรมทำอาหาร ก็เป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจเข้าเลือกใช้บริการ

สุดท้ายคือ อาหารและเครื่องดื่ม (Food & Beverage) เนื่องจากนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จะใช้ชีวิตอยู่ในโรงแรมที่พักตลอด 24 ชั่วโมง ไม่เดินทางไปท่องเที่ยวหรือรับประทานอาหารภายนอกโรงแรม ดังนั้น การให้บริการอาหารและเครื่องดื่มจึงเป็นส่วนสำคัญ รูปแบบอาหารควรมีให้เลือกหลากหลายทั้งอาหารจานเดียวไปจนถึงบุฟเฟต์ และขยายเวลาการให้บริการ Room service ที่ยาวขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าที่สั่งอาหารรับประทานที่ห้องพัก ในส่วนของเครื่องดื่มควรมีน้ำเปล่าและน้ำให้แข็งให้บริการตลอดเวลาไม่จำกัดจำนวน ในจุดนี้แม้จะมองเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ถือว่าเป็นเซอร์วิสมายที่ลูกค้าให้คะแนนสูงที่สุด

นางสาวณีรนุช กล่าวต่อว่า “นอกเหนือจากการปรับรูปแบบของเซอร์วิสแล้ว แผนการสื่อสารการตลาดก็เป็นส่วนสำคัญที่จะต้องทำให้นักท่องเที่ยวรับรู้และเข้าใจ รวมถึงการทำโปรโมชันต่าง ๆ ที่สอดรับกับรูปแบบบริการ อย่างการจัดทำเป็นแพ็กเกจห้องพักรวมอาหารเช้า กลางวัน และเย็น หรือแพ็กเกจห้องพักรวมกิจกรรม เป็นต้น เช่นเดียวกับมาคาเลียส ที่ได้ร่วมมือกับโรงแรมที่พักร่วมจัดทำแพ็กเกจพิเศษ ห้องพักรวมบริการด้านต่าง ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับลูกค้ากลุ่ม Staycation และ Sleep Tourism ได้มีทางเลือกเพิ่มมากขึ้น”

สำหรับนักท่องเที่ยวที่กำลังมองหาแพ็กเกจโรงแรมที่พักแบบส่วนตัว พร้อมกิจกรรมต่าง ๆ และโปรโมชันสุดพิเศษ สามารถแวะมาชมได้ที่ www.makalius.co.th สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม Line Official @makalius

เมื่อลูกเรือของสุดยอดสายการบิน 'สิงคโปร์แอร์ไลน์' พบกับสุดยอดทีมงานจาก 'สนามบินสุวรรณภูมิ'

เครื่องบิน Boeing 777-300ER ของสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ (SIA) เที่ยวบิน SQ321 ซึ่งมีผู้โดยสารทั้งหมด 211 คน และลูกเรือ 18 คน บินจากลอนดอน (ฮีทโธรว์) ไปยังสิงคโปร์ ได้ประสบกับสภาพอากาศปั่นป่วน (Turbulence) อย่างกะทันหันบริเวณเหนือทะเลสาบอิรวดี เมียนมา ที่ความสูง 37,000 ฟุต ประมาณ 10 ชั่วโมงหลังจากออกเดินทาง นักบินจึงต้องรีบประกาศภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ และเปลี่ยนเส้นทางเครื่องบินไปยังกรุงเทพฯ และลงจอดยังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเมื่อเวลา 15.45 น. ตามเวลาท้องถิ่นของวันที่ 21 พฤษภาคม 2024

สิงคโปร์แอร์ไลน์ยืนยันว่ามีผู้บาดเจ็บหลายรายและเสียชีวิตหนึ่งรายบนเครื่องบินลำดังกล่าว โดยผู้โดยสารและลูกเรือได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจำนวนหนึ่ง ส่วนผู้โดยสารและลูกเรือที่บาดเจ็บเล็กน้อยได้รับการตรวจรักษาตามอาการ ณ ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ

สำหรับเหตุการณ์ในครั้งนี้ ทางสิงคโปร์แอร์ไลน์โดย CEO ได้แถลงแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิต และขออภัยอย่างที่สุดกับประสบการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจของผู้โดยสารและลูกเรือในเที่ยวบินนี้ โดยสิงคโปร์แอร์ไลน์จะให้ความช่วยเหลือที่จำเป็นทั้งหมดในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้อย่างเต็มที่

เกี่ยวกับการรับมือในเหตุการณ์นี้ ทางสิงคโปร์แอร์ไลน์ได้ทำงานร่วมกับพันธมิตรและหน่วยงานท้องถิ่นในประเทศไทยเพื่อให้ความช่วยเหลือที่จำเป็น โดยทีมงานของสิงคโปร์แอร์ไลน์ได้เดินทางมายังกรุงเทพฯ เพื่อให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมที่จำเป็น และสิงคโปร์แอร์ไลน์กำลังทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสืบสวนเหตุการณ์ครั้งนี้ด้วย

Peter Seah CEO ของสิงคโปร์แอร์ไลน์กล่าวว่า “ในนามของคณะกรรมการสายการสิงคโปร์แอร์ไลน์ ผมขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวและคนที่รักของผู้โดยสารของเราที่เสียชีวิตเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2024 ในเหตุการณ์ SQ321 ผมขอรับรองกับผู้โดยสารและลูกเรือทุกคนที่อยู่บนเครื่องบินว่าเรามุ่งมั่นที่จะสนับสนุนพวกเขาในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ ผมอยากจะแสดงความขอบคุณต่อทุกคนในสิงคโปร์ ไทย และทั่วโลกที่ได้ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้”

สิงคโปร์แอร์ไลน์ ก่อตั้งเมื่อ 1 พฤษภาคม 1947 หรือ 77 ปีก่อนในชื่อ ‘มาลายันแอร์เวยส์’ (Malayan Airways) ปัจจุบันมี Temasek Holdings กองทุนการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ถือหุ้นร้อยละ 55 สิงคโปร์แอร์ไลน์ได้รับการจัดอันดับให้เป็นสายการบินระดับ 5 ดาว และยังได้รับการจัดอันดับให้เป็นสายการบินที่ดีที่สุดในโลกโดย Skytrax ถึง 5 ครั้ง และติดอันดับหนึ่งใน 15 สายการบินชั้นนำของโลกในแง่ของรายได้ผู้โดยสารตามระยะทาง และติดอันดับที่ 10 ของโลกสำหรับผู้โดยสารระหว่างประเทศที่บรรทุกผู้โดยสาร พนักงานต้อนรับของสิงคโปร์แอร์ไลน์ได้รับการโหวตให้เป็นลูกเรือของสายการบินที่ดีที่สุดในโลกของ Skytrax ประจำปี 2019 

นอกจากนี้ ยังได้ตำแหน่งสายการบินที่สะอาดที่สุดในโลกตามลำดับในปี 2019 ในปี 2023 ได้รับรางวัล 'สายการบินที่ดีที่สุด' และ 'สายการบินที่บริการชั้นหนึ่งที่ดีที่สุด' โดย Skytrax เป็นครั้งที่ 5

แม้ว่าจุดเกิดเหตุจะใกล้ท่าอากาศยานนานาชาตินครย่างกุ้งมากกว่า แต่นักบินเที่ยวบิน SQ321 ก็ตัดสินใจนำเครื่องบินมุ่งหน้ามาลงยังท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิของไทย ด้วยเหตุที่มีผู้บาดเจ็บเป็นจำนวนมากท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิจึงเป็นจุดลงจอดที่เหมาะสมเพราะมีความพร้อมมากกว่า 

ทั้งนี้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิโดยการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยมีการเตรียมพร้อมรองรับต่อเหตุฉุกเฉินจากการโดยสารเครื่องบินอย่างครบครัน ทั้งยังมีการทบทวนแผน การฝึกซ้อมย่อย และการฝึกซ้อมใหญ่เต็มรูปแบบ (Full Scale Exercise) ตามแผนฉุกเฉินและแผนเผชิญเหตุของสนามบิน (SEMEX) กรณีอากาศยานอุบัติเหตุและการแทรกแซงโดยมิชอบด้วยกฎหมาย 

การฝึกซ้อมฯ ดังกล่าวจะมีการจำลองสถานการณ์ การซักซ้อมกระบวนการปฏิบัติการฉุกเฉินเสมือนจริง ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีร่วมกับทุกภาคส่วนทุกเหล่าทัพ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงหน่วยงานอาสาสมัคร โดยมีกระทรวงคมนาคมเป็นเจ้าภาพรับผิดชอบ

ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้โดยสารของสิงคโปร์แอร์ไลน์เที่ยวบิน SQ321 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจึงได้ประกาศแผนฉุกเฉิน และมีการประสานงานไปยังศูนย์รับแจ้งเหตุ 1669 จังหวัดสมุทรปราการ ประสานขอรถพยาบาลจากหน่วยในพื้นที่ของจังหวัดเข้าสนับสนุน และประสานส่งตัวผู้บาดเจ็บเข้ารับการรักษายังโรงพยาบาลจนสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี กระทั่งเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ยังได้กล่าวชื่นชมทีมฉุกเฉินที่สามารถปฏิบัติงานรองรับเหตุลงจอดฉุกเฉินของสิงคโปร์แอร์ไลน์เที่ยวบิน SQ321 ตาม ‘แผนฉุกเฉินของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ’ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันเป็นผลมาจากการที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้มีการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุร่วมกับหน่วยงานการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่เป็นประจำทุกปี

สิ่งหนึ่งซึ่งสำคัญที่สุดในระหว่างการโดยสารเครื่องบินคือ ‘การคาดเข็มขัดที่นั่ง’ เมื่อนั่งเครื่องบิน พอไฟเตือนให้คาดเข็มขัดดับลงผู้โดยสารส่วนใหญ่ก็มักจะพากัน ‘ปลดเข็มขัดที่นั่ง’ ปกติแล้วการเดินทางด้วยเครื่องบินมีโอกาสที่จะเจอกับสภาพอากาศแปรปรวน หรือที่เรียกกันว่า ‘การตกหลุมอากาศ’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูฝน ทำให้ความเสี่ยงที่จะเจอกับสภาพอากาศแปรปรวนขณะโดยสารเครื่องบินมากยิ่งขึ้น ซึ่งโดยปกติแล้วนักบินก็จะทำการแก้ไขให้สามารถเดินทางไปได้อย่างปลอดภัย แต่หากขณะที่เครื่องบินเกิดตกหลุมอากาศ ผู้โดยสารที่ไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัยก็จะถูกแรงเหวี่ยงให้ลอยขึ้นและตกลงมาสู่พื้นห้องโดยสาร ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บได้ 

ดังนั้นผู้เดินทางโดยเครื่องบินในระหว่างการเดินทางเมื่อนั่งอยู่กับที่ต้องรัดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งเพื่อความปลอดภัย แม้ไฟเตือนให้คาดเข็มขัดจะดับลงแล้วก็ตาม อีกประการหนึ่งคือ กระเป๋าที่นำติดตัวขึ้นเครื่อง (Carry-on-bag) ต้องมีน้ำหนักไม่เกิน 7 กิโลกรัม หากช่องเก็บของเหนือศีรษะเปิดออกมาเอง จากบางครั้งตอนเครื่องบินลงจอดแล้วกระแทกพื้นแรง ๆ แรงสั่นสะเทือนอาจทำให้ฝาปิดช่องเก็บของเปิดออกมาเองได้ กระเป๋าเดินทางที่น้ำหนักเยอะมากอาจตกใส่ศีรษะผู้โดยสารทำให้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต (จากการคอหัก) ได้

‘อุ๊งอิ๊ง’ จุดพลุ!! THACCA SPLASH Soft Power Forum งาน Soft Power ระดับนานาชาติครั้งแรกในเมืองไทย

(24 พ.ค. 67) ที่ห้องวิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ มีการประชุมคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 5 ประจำปี 2567 โดยมี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เป็นประธานการประชุม ร่วมด้วยพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ที่ปรึกษาและกรรมการคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ, นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ รวมถึง คณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ด้านต่าง ๆ คณะอนุกรรมการฯ ทั้ง 11 สาขา ร่วมประชุมกันอย่างพร้อมเพรียง

จากนั้น น.ส.แพทองธาร ได้แถลงผลการประชุม ร่วมกับ หม่อมราชวงศ์เฉลิมชาตรี ยุคล ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนด้านภาพยนตร์-ซีรีส์ และ อินทิรา ทัพวงศ์ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนด้านแฟชั่น

โดย น.ส.แพทองธาร กล่าวถึง ความคืบหน้าตามแผนที่วางเอาไว้ ทั้งในส่วนหลักสูตรของ OFOS ของทั้งอุตสาหกรรมแฟชั่น และ ภาพยนตร์ รวมถึงงานใหญ่ที่คณะซอฟต์พาวเวอร์ใช้เวลาเตรียมงานกันมา นั่นคืองาน THACCA SPLASH : Soft Power Forum งาน Soft Power Forum ระดับนานาชาติครั้งแรกของประเทศไทย

“เราจะปักหมุดประเทศไทยลงบนแผนที่โลก ให้ชาวโลกได้รู้ว่า ประเทศไทยพร้อมแล้วที่จะเป็นหนึ่งในผู้นำ ด้านการพัฒนา Soft Power ไทยจะเป็นพื้นที่ของนักสร้างสรรค์ทั่วโลก มาร่วมทำงานกัน ซึ่งขณะนี้ วัฒนธรรมไทยมีความพร้อมที่กระจายออกไปทั่วโลกให้ได้หลงเสน่ห์ และคนไทยพร้อมแล้วที่จะสร้าง Soft Power ไทยให้แข็งแรง” น.ส.แพทองธาร กล่าว

น.ส.แพรทองธาร กล่าวถึงการจัดงาน SPLASH ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 28-30 กรกฎาคม 2567 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และจะมีการรวบรวมทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับ Soft Power ทั้งจากในประเทศ และทั่วโลก โดยประกอบด้วย 4 ส่วนคือ SPLASH Visionary zone, SPLASH Creative Culture Pavilion, SPLASH Master Class และ SPLASH Activation Lounge

น.ส.แพทองธาร เปิดเผยต่ออีกว่า สำหรับ SPLASH Visionary Zone มี 4 เวที ประกอบด้วย Vision Stage : เวทีวิสัยทัศน์รัฐบาล วิสัยทัศน์ของผู้เชี่ยวชาญระดับโลก นโยบายที่เราขับเคลื่อน ทิศทางที่เราเลือกไป ประเทศไทยจะอยู่ตรงไหนในโลก ปฏิญญาและความร่วมมือที่จะเกิดขึ้น ทุกท่านจะได้ทราบในเวทีนี้ค่ะ, Pathway Stage : เวทีของการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยจะนำความสำเร็จของทั่วโลกมาถอดบทเรียน มาวิเคราะห์ถึงวิธีการ แนวคิด เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ และแรงบันดาลใจให้อุตสาหกรรมที่สร้าง Soft Power, Performance Stage : เวทีสำหรับคนรุ่นใหม่ให้ได้แสดงความสามารถโดยมีการแสดงจากหลายอุตสาหกรรม ทั้ง ศิลปะการแสดง ภาพยนตร์ ดนตรี และ Podcast Studio : เวที Podcast ที่สัมภาษณ์กันสดๆ ในงาน เจาะลึกมุมมองแนวคิด ของผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลก ที่จะมาแชร์ประสบการณ์ในงาน

น.ส.แพทองธาร กล่าวต่อถึงอีกส่วนของงานคือ SPLASH Creative Culture Pavilion ซึ่งโซนนี้จะเป็นนิทรรศการเรื่อง Soft Power ทั้งของประเทศไทย และต่างประเทศ โดยมี 3 นิทรรศการ อาทิ THACCA Pavilion นิทรรศการของทักก้า อยากให้ทุกคนมารู้จักทักก้ากันที่งานนี้กันนะคะ ว่าเรากำลังจะเปลี่ยนแปลงประเทศไทยด้วย Soft Power ได้อย่างไร นิทรรศการของทั้ง 11 กลุ่มอุตสาหกรรมค่ะ ส่วนนี้เราจะมาทำความรู้จัก Soft Power ในประเทศไทยให้มากขึ้น ว่าศักยภาพในตอนนี้ของแต่ละอุตสาหกรรมเป็นอย่างไร และภาพที่เรามองเห็นในอนาคตเป็นอย่างไร และ international Pavilion นอกจากนิทรรศการจากไทย ยังได้รับความร่วมมือจากหลายประเทศที่มาเข้าร่วมให้ข้อมูลผ่านนิทรรศการในงาน

น.ส.แพทองธาร กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมี SPLASH Masterclass : ห้องเรียน Reskill Upskill ให้พี่น้องประชาชนที่สนใจโดยจะมีห้องเรียนจากทั้ง อุตสาหกรรม หน่วยงานภาครัฐ และยังมีพื้นที่สำหรับการ Hackathon เพื่อทดลองแข่งขันไอเดียกันอีกด้วย และสุดท้าย SPLASH Activation Lounge : พื้นที่สำหรับคุยแลกเปลี่ยนความรู้เพื่อสร้างความร่วมมือในการสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้น เพราะงาน SPLASH จะรวมเอานักสร้างสรรค์ภาคเอกชน ที่น่าสนใจไว้ในงานนี้ ซึ่งจะทำให้เกิดการ Matching ทางธุรกิจเกิดขึ้น

“ฝากพี่น้องประชาชนที่สนใจนะคะ มาเรียนรู้มารู้จัก Soft Power ให้มากขึ้น เพราะซอฟต์พาวเวอร์ไม่ได้มีแค่นิยาม เรายังมีกระบวนการอีกมากมาย มางาน THACCA SPLASH Soft Power Forum ในวันที่ 28-30 กรกฎาคม 2567 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิต์ ซึ่งคาดว่าจะมีคนสนใจเข้าร่วมงานกว่า 2 แสนคน” น.ส.แพทองธาร กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ ในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 5 ยังมีวาระที่น่าสนใจ อาทิ ในส่วนหลักสูตรของ OFOS ของทั้งอุตสาหกรรมแฟชั่น และภาพยนตร์-ซีรีส์ โดยในด้านแฟชั่นมีการอบรมและพัฒนาบุคลากร ภายใต้กิมมิก ‘Soft Power แฟชั่น Thailand Only’ 4 สาขา คือ Apparel, Jewelry, Beauty และ Craft โดยจะจัดอบรมในระดับบุคคลทั่วไป นิสิตนักศึกษา ทายาทปราชญ์ชาวบ้าน และ ในระดับโรงงานอุตสาหกรรม OEM โดยในระยะยาว จะเป็นการ พัฒนาทักษะเดิม และ สร้างทักษะขึ้นมาใหม่ โดยเน้นกระบวนการทำงานในการสร้างคนที่เป็นพื้นฐานสำคัญในการผลิตผลงานและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อนำมาต่อยอดในการสร้างสรรค์ผลงานให้มีคุณภาพเทียบเท่าระดับสากล ผ่านการสร้างคน สร้างธุรกิจ และสร้างการรับรู้ ในแบบ Thailand Only เพื่อปักหมุดแฟชั่นไทยเป็นหนึ่งในใจกลางตลาดโลกส่งต่อที่สุดของความคราฟต์ ผสมผสานความสร้างสรรค์ที่ไร้ขีดจำกัดแบบ Thailand Only เพื่อยกระดับเรื่องราวความคราฟต์และความสร้างสรรค์ของวงการแฟชั่นสู่ระดับสากล ผ่านการสร้างการรับรู้ที่เพิ่มขึ้นตั้งค่านิยมที่เพิ่มขึ้นรวมไปถึงการสร้างบุคลากรที่มีศักยภาพ

ส่วนในด้านของภาพยนตร์ ละคร และซีรีส์ นั้นจะมีการจัด OFOS ในสาขาดังกล่าว เพื่อสร้างโครงสร้างของระบบการเรียนรู้ของภาพยนตร์และซีรีส์ให้เป็นระบบ สร้างคนเข้าอุตสาหกรรมให้ได้ทุกปีและเพิ่มขึ้น ซึ่งเมื่อระบบนี้เสถียรก็จะสามารถช่วยหน่วยงานอื่น ๆ ในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์องค์ความรู้ ในการทำภาพยนตร์ และซีรีส์ได้ โดยมี 10 หลักสูตรเบื้องต้นในการ Upskill Reskill ของภาพยนตร์ ละคร และ ซีรีส์ อาทิ ผู้ประกอบการ Production House, นักเขียนบท Screenwriter, ผู้กำกับภาพยนตร์, ผู้ช่วยผู้กำกับภาพยนตร์, โปรดิวเซอร์, ผู้กำกับภาพ, นักแสดง, Post Production, Production Designer และ Content Creator ซึ่งมีระยะดำเนินงาน ตั้งแต่ปี 2557-2568 ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าอบรมในเร็ว ๆ นี้

'อ.วีระศักดิ์' ชี้!! 'โลกร้อน' อีกสาเหตุสำคัญทำเครื่องบินตกหลุมอากาศ พร้อมแนะทางออกภาคการท่องเที่ยวไทยในสภาวะโลกกำลังเดือด

รายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ได้พูดคุยกับ อ.วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในประเด็น 'เครื่องบินตกหลุมอากาศ กับ ภาวะโลกร้อน และการปรับตัวของภาคท่องเที่ยวไทย?' 

อ.วีระศักดิ์ เริ่มต้นด้วยกับประเด็นที่ว่าการตกหลุมอากาศลึกกว่า 2 กิโลเมตร ของสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ มีสาเหตุจากอะไร? โดยกล่าวว่า เรารู้แล้วว่าทำไมโลกถึงร้อน เพราะว่าแสงอาทิตย์ที่ส่องกระทบโลก มันสะท้อนกลับไปในอวกาศได้ไม่หมด เพราะมันมีก๊าซเรือนกระจกขวางอยู่ ตอนที่แสงส่องลงมามันเป็นคลื่นความถี่สูงทะลุทะลวงได้ดี เมื่อกระทบพื้นดินหรือพื้นน้ำ มันกลายเป็นคลื่นความถี่ต่ำ ทำให้สะท้อนอยู่ภายในโลกของเรา อุณหภูมิของโลกจึงอุ่นขึ้น โดยเฉพาะแถบเส้นศูนย์สูตรที่มีการรับแสงแดดจากดวงอาทิตย์โดยตรง น้ำจะระเหยเยอะ

ดังนั้น พอน้ำระเหย พวกมันจะเจอความร้อนตามขึ้นมาเรื่อย ๆ ตลอดเวลา ทำให้ลอยตัวสูงมากถึงชั้นที่เครื่องบินกำลังลอยตัวกันอยู่ เรียกว่า ลมพายกลอยตัว 

ตอนลอยตัวขึ้นไปเจอกับความเย็น บางช่วงอากาศมันก็จะกดตัวลงเมื่อเจอกับความเย็น เหมือนเป็นท่อลำเลียงให้อากาศและไอน้ำลอยขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อถึงจุด ๆ หนึ่งมันก็จะเทลง เครื่องบินที่บินมาอาจเจออากาศพายกขึ้น และถ้าเจออากาศที่มันกดลงพอดี เรียกว่า 'แรงเฉือนของลม'

ในโลกใบนี้ยังมีลมหมุนจากทิศตะวันตกมาทิศตะวันออก หรือเรียกว่า Jet Stream (กระแสลมกรด) ส่วนใหญ่การตกหลุมอากาศมักเกิดขึ้นตอนกลางวัน และช่วงเย็น ๆ ทางแก้ไขในเรื่องนี้คือ เวลาโดยสารเครื่องบินต้องคาดเข็มขัดนิรภัยตามประกาศของนักบิน หรือถ้าบินในระยะทางสั้น ๆ บินเที่ยวเช้าก็น่าจะพอช่วยได้

ทั้งนี้เมื่อถามถึงผลกระทบจากโลกร้อน จะมีผลต่อภาคการท่องเที่ยวไทยด้วยแค่ไหน และควรรับมืออย่างไร? อ.วีระศักดิ์ กล่าวว่า ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชนต้องสนใจ ทำความเข้าใจ และต้องตั้งใจช่วยลดโลกร้อนอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการท่องเที่ยว

เราต้องทำให้การท่องเที่ยวมีความสุข สบาย สะดวก ส่งมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับนักท่องเที่ยวมากขึ้น เพราะนักท่องเที่ยวในโลกนี้ต่อไปจากนี้ จะเป็นกลุ่มครอบครัวและผู้สูงอายุมากขึ้น ฉะนั้นสภาวะโลกร้อนปัจจุบัน ที่เรากำลังเจอในลักษณะ ร้อน-แห้ง และร้อน-เปียก ต้องถูกวางแผนให้กับภาคการท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับสภาวะอากาศที่จะเกิดขึ้น 

ยกตัวอย่าง เช่น ภาวะร้อน-แห้ง ควรจัดแผนการท่องเที่ยวอย่างไรให้นักท่องเที่ยวอยู่ในที่ร่มได้ ไม่เที่ยวกลางแจ้งมากนัก ส่วนภาวะร้อน-เปียก ควรจัดแผนการท่องเที่ยวตั้งแต่การเลือกเส้นทางมีน้ำท่วมหรือไม่ ต้องวางแผนล่วงหน้า เป็นต้น 

ส่วนเรื่องการเดินทางควรสนับสนุนให้มีการซื้อประกันการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น ซึ่งระบบประกันของไทยยังสามารถเติบโตได้อีกมาก ทำให้มีความรู้สึกว่ามีมืออาชีพดูแลสร้างความสบายใจได้ตลอดทริป 

สรุปแล้วภาครัฐและผู้ประกอบการต้องปรับตัวและอำนวยความสะดวกเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับนักท่องเที่ยว สร้างความประทับใจ ทำให้ตลาดท่องเที่ยวของประเทศไทยมีโอกาสเติบโตไปกับภาวะโลกร้อนต่อไป

ส่อง 'เศรษฐกิจไทย' ในวันที่ขยายตัวช้า-ความเชื่อถือ (ข้าวไทย) ตกต่ำ วาทกรรม 'คนไทยจะมีกินมีใช้' จะเป็นจริงได้ใต้ทีม ศก.ยุคนี้จริงหรือ?

คลังฯ ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 โดยประเมินการเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเพียง 2.4% ต่ำลงจากประมาณการเดิม 2.8% ณ เดือนมกราคม 2567  

ภาพรวมการบริหารเศรษฐกิจ ของรัฐบาล หากประเมินคงต้องบอกว่า 'ไม่ผ่าน' ทั้งที่ช่วงปลายปี 2566 ต่างคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทย ในปี 2567 จะขยายตัวสูงถึง 3.2% หลังภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า ที่ทุบเศรษฐกิจทั้งโลก รวมทั้งประเทศไทย ยาวถึงเกือบ 3 ปี ดังนั้น เศรษฐกิจปี 2567 น่าจะต้องดีขึ้น แต่กลับกลายเป็นว่า ตัวเลขประมาณการขยายตัวของเศรษฐกิจ ปรับลด ต่ำลงเรื่อย ๆ 

ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ นำโดย นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง น่าจะสร้างความหวัง ให้กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ท่ามกลางราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ที่ปรับขึ้นสูง เช่น พริกขี้หนูสวน ที่ราคาทะลุ กิโลกรัม ละ 800 บาท แพงสุดในประวัติศาสตร์...

ตามด้วยข่าวร้อน การแถลงข่าวของ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เตรียมเปิดประมูล ข้าวโครงการรับจำนำ ที่เก็บมา 10 ปี พร้อมนำออกมาจำหน่าย 

ภาพแรก คือ การส่งออกไปยังทวีปแอฟริกา สื่อของประเทศไนจีเรียออกข่าว กังวลการสั่งซื้อข้าวจากไทยทันที กลายเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือต่อคุณภาพข้าวไทยที่จะส่งออก ถึงแม้ต่อมา จะมีการส่งพิสูจน์ จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข รับรองคุณภาพข้าว ก็ตาม 

บางสื่อได้พยายามเสนอข่าว นำข้าว 10 ปี ไปหุงรับประทาน แต่หากถามผู้บริโภคทั่วไป ใครอยากกินข้าวค้าง 10 ปี บ้าง ? เอกชนบางราย จึงออกมาประกาศ ว่าจะไม่เข้าร่วมประมูลซื้อข้าว 10 ปี เมื่อฝ่ายค้านไม่ทำงาน ก็คงต้องพึ่งพ่อค้า มาทำหน้าที่แทน 

และแน่นอนว่า ราคาข้าวที่กำลังปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ต้นปี เกษตรกรเริ่มยิ้มได้ กลับมาโดนข่าวนี้ ทุบราคาข้าว การส่งออกข้าว ก็คงโดนกระทบตามไปด้วย ต้องไม่ลืมว่า ปัจจุบันเราไม่ได้เป็นอันดับ 1 ในการส่งออกข้าวแล้ว แทนที่จะเร่งชูคุณภาพข้าว ยกระดับราคาข้าว กระตุ้นการส่งออก เพื่อนำรายได้เข้าประเทศ สรุปว่า จะนำข้าว 10 ปี จำนวน 1.5 หมื่นตัน ในโครงการจำนำข้าวออกมา ‘ขาย’ งานนี้เพื่อใคร? 

การบริโภคภาครัฐ มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์เดิม การลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวลดลงจากประมาณการเดิมตามการส่งออกที่ฟื้นช้าลง รวมถึงภาคการผลิตที่ยังได้รับผลกระทบจากปัญหาสินค้าคงคลังสะสมสูง มูลค่าการส่งออกสินค้า การส่งออกไทยยังมีแนวโน้มขยายตัว 3.1% ปรับลดลงจากประมาณการเดิมที่ 3.7%     

แรงส่งด้านอุปสงค์ส่วนใหญ่ที่ลดลงทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2567 ฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่เคยประเมินไว้ เศรษฐกิจไทยยังเผชิญปัญหาด้านอุปทานที่อ่อนแอ ภาคการผลิตอุตสาหกรรมของไทยหดตัวลงมาก 

อินฟลูเอนเซอร์สำนักต่าง ๆ ที่ทำ Content ในช่วง 2-3 ปีก่อน ว่า ‘ประชาชนจะอดตายกันแล้ว’ ปัจจุบันยังติดตามข่าวสารบ้านเมือง เหมือนเดิมไหม ? ‘ประชาชน จะมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีกิน มีใช้’ วลี ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง คงจะติดตราตรึง ไปอีกนาน

‘นทท.ต่างชาติ’ แห่ ‘เที่ยวไทย’ 5 เดือนแรก ทะลุ 14 ล้านคน สร้างรายได้กว่า 6 แสนล้านบาท คาด!! สัปดาห์หน้ามาเพิ่มอีก

(28 พ.ค. 67) นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ภาพรวมการท่องเที่ยวตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-26 พ.ค. 2567 ประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวสะสมทั้งสิ้น 14,326,507 คน สร้างรายได้จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้วประมาณ 682,975 ล้านบาท

โดยจำนวนนักท่องเที่ยวสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน จำนวน 2,831,662 คน มาเลเซีย จำนวน 1,909,740 คน รัสเซีย จำนวน 836,868 คน อินเดีย จำนวน 810,513 คน และ เกาหลีใต้ จำนวน 785,600 คน

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 26 พ.ค. นักท่องเที่ยวหลายประเทศ อาทิ มาเลเซีย อินเดีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย หรือนักท่องเที่ยวตลาดระยะใกล้ (Short haul) เดินทางเข้ามาเป็นจำนวนมาก หรือเพิ่มขึ้น 7.3%

โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวมาเลเซียที่เพิ่มขึ้นถึง 36,242 คน หรือ 44.49% จากสัปดาห์ก่อนหน้า ส่งผลให้ในภาพรวมสัปดาห์นี้ไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งสิ้น 596,552 คน เพิ่มขึ้น 4.30 %จากสัปดาห์ก่อนหน้า 24,595 คนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทย เฉลี่ยวันละ 85,222 คน

สำหรับในสัปดาห์ถัดไป คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้น จากปัจจัยส่งเสริม การเดินทาง ได้แก่ การมีวันหยุดในประเทศมาเลเซีย (Agong’s birthday) และการมีมาตรการ Ease of traveling ของรัฐบาล ช่วยเพิ่มการอำนวยความสะดวกในการเดินทางสู่ไทย

อาทิ การลงนามยกเว้นวีซ่าระหว่างไทย-จีน ที่มีผลช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่นักท่องเที่ยว เพิ่มการอำนวยความสะดวกในการเดินทาง และกระตุ้นให้สายการบิน เพิ่มจำนวนเที่ยวบิน รวมทั้งการยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทาง หรือวีซ่าฟรี ให้แก่นักท่องเที่ยวอินเดีย ไต้หวัน และคาซัคสถาน และการยกเว้นบัตรตม.6 ในด่านทางบก 8 ด่าน แก่นักท่องเที่ยวมาเลเซีย และลาว

วอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย คืนฟอร์มเก่ง เอาชนะ โดมินิกัน 3-1 ศึกเนชันส์ ลีก 2024

(28 พ.ค. 67) การแข่งขันวอลเลย์บอลเนชันส์ ลีก 2024 หรือ VNL 2024 สนามที่ 2 นัดแรก ณ เขตบริหารพิเศษมาเก๊า สาธารณรัฐประชาชนจีน ทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย ลงสนามพบกับ โดมินิกัน

ซึ่งเกมการเล่นวันนี้ นุกนิค ณัฏฐณิชา ใจแสน เป็นเซตเตอร์เบอร์ 1 แทน ชมพู่ พรพรรณ ที่ได้รับบาดเจ็บจากสนามแรก

เริ่มเซตแรก โดมินิกัน และ ไทย เล่นกันอย่างสูสี ผลัดกันทำคะแนนได้อย่างสนุกในช่วงต้นถึงกลางเซต สุดท้ายเป็นไทยที่เบียดเอาชนะไป คะแนน 25-22 จบเซตแรก ไทยนำ 1-0 เซต

เซตที่ 2 ไทยพยายามทำแต้มโดยเน้นเล่นบอลเร็ว แต่โดมินิกันก็เล่นได้ดีเร่งเครื่องขึ้นมาสูสีกับไทยและเอาชนะไทยได้ 20-25 คะแนน จบเซต ไทย เสมอ โดมินิกัน 1-1 เซต คะแนน 25-22, 20-25 

เซตที่ 3 หลังเสียเซตที่ 2 ไทยพยายามเร่งเครื่องหวังเอาชนะ โดมินิกันให้ได้ โดยเน้นการรับบอลแรกที่เหนียวแน่น ช่วงต้นเซตไทยยังนำโดมินิกันไม่ห่างนัก แต่ช่วงท้ายเซตไทยใช้เกมรุกที่ดุดันและเกมรับที่เหนียวแน่นเอาชนะไปได้ ไทยขึ้นนำ 2-1 เซต

เซตที่ 4 ไทย และ โดมินิกัน เล่นกันได้อย่างสูสี คะแนนเบียดกันมาชนิดแต้มต่อแต้มต่อมาในช่วงท้ายเกมไทยเหนียวแน่นกว่า จบเกมไทยชนะโดมินิกันไป 3-1 เซต คะแนน 25-22, 20-25, 25-17, 26-24

สำหรับโปรแกรมการแข่งขันสัปดาห์ที่ 2 ที่มาเก๊า นัดต่อไปไทยจะลงแข่งขันในวันศุกร์ที่ 31 พ.ค. 67 เวลา 11.30 น. ฝรั่งเศส พบ ไทย วันเสาร์ที่ 1 มิ.ย. 67 เวลา 18.00 น. ไทย พบ จีน และวันอาทิตย์ที่ 2 มิ.ย. 67 เวลา 15.30 น. บราซิล พบ ไทย

'ซูบารุ' เตรียมปิดไลน์ผลิตในไทย 30 ธ.ค.นี้ พร้อมปรับแผนนำเข้ารถจากญี่ปุ่นทั้งคันมาขายแทน

(29 พ.ค.67) นางสาวสุรีทิพย์ ละอองทอง โฉมทองดี ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ทีซี ซูบารุ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้จัดจำหน่ายรถยนต์ซูบารุ (SUBARU) ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เปิดเผยว่า บริษัทแม่ กลุ่มตันจง (TCIL) ซึ่งดูแลกลุ่มธุรกิจในประเทศอาเซียน-จีน ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง (HKEX) ว่า เตรียมหยุดประกอบรถยนต์ซูบารุจากโรงงานในประเทศไทย ในนามบริษัท ตันจง ซูบารุ ออโตโมทีฟ ประเทศไทย จำกัด หรือ TCSAT ตั้งแต่ 30 ธันวาคม 2567 เป็นต้นไป

เนื่องจากบริษัทต้องเผชิญกับปัญหาสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจและธุรกิจที่เปลี่ยนไป ทำให้รถยนต์ที่ผลิตออก ไม่สามารถขายได้ในราคาที่เหมาะสม และบริษัทไม่สามารถควบคุมราคาจำหน่ายได้ จึงตัดสินใจหยุดการผลิต และรถยนต์ที่ซูบารุที่ขายใน 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย, เวียดนาม, มาเลเซีย และกัมพูชา จะเป็นการนำเข้ามาจำหน่ายทั้งคัน (CBU)

สุรีทิพย์ ละอองทอง โฉมทองดี ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ทีซี ซูบารุ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ตอนนี้เรายังมีรถที่ผลิตออกไปขายอยู่ ซึ่งจะขายไปจนกว่ารถจะหมด จากนั้นก็จะเป็นการนำเข้ามาขายทั้งคัน ส่วนลูกค้าไม่ต้องกังวลใจ เพราะงานบริการหลังการขายซูบารุยังอยู่ และพร้อมดูแลลูกค้าชาวไทยอย่างเต็มที่ ด้วยมาตรฐาน ความพร้อมของอะไหล่ ระยะเวลาการซ่อม การนัดหมายดูแลลูกค้า ซึ่งมั่นใจได้ว่า ซูบารุพร้อมดูแลไม่เปลี่ยนแปลง เพียงโรงงานประกอบในประเทศไทยไม่มีเท่านั้น เราจะกลับไปดำเนินธุรกิจแบบเดิมคือ นำเข้ามาขายทั้งคัน”

นอกจากนี้ นางสาวสุรีทิพย์ ยังย้ำชัดเจนว่า ศูนย์บริการรถยนต์ซูบารุทั้ง 24 แห่งทั่วประเทศ กับดีลเลอร์ 21 รายพร้อมดูแลลูกค้าชาวไทยอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันซูบารุ มียอดขายเฉลี่ยเดือนละ 70-80 คันต่อเดือน คาดว่ารถยนต์ที่ผลิตออกมานั้น จะเพียงพอต่อความต้องการไปจนถึงสิ้นปีก่อนโรงงานหยุดจะประกอบ ต้องยอมรับว่าราคาจำหน่ายอาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนบ้างตามโครงสร้างภาษีและเพื่อให้ธุรกิจเดินต่อไปได้

ก่อนหน้านี้ กลุ่มตันจง (TCIL) ได้สิทธิการเป็นผู้จำหน่าย อย่างเป็นทางการ รถยนต์แบรนด์ ซูบารุ ใน South East Asia เปิดโรงงานประกอบรถยนต์ ‘บริษัท ตันจง ซูบารุ ออโตโมทีฟ ประเทศไทย จำกัด’ หรือ TCSAT ในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง มีพื้นที่รวม 100,000 ตารางเมตร ลงทุนราว 5,000 ล้านบาท เป็นการลงทุนโดยกลุ่มผู้ถือหุ้นจากตันจง กรุ๊ป (TCIL) ในสัดส่วน 74.9% และบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่น Subaru Corporation สัดส่วน 25.1%

มีพนักงานชาวไทยและต่างชาติร่วมกันประมาณ 400 คน โรงงานแห่งนี้ตั้งเป้าว่าจะผลิตรถยนต์ 6,000 คัน ต่อปี และมีกำลังการผลิตสูงสุดถึง 100,000 คันต่อปี แต่จากยอดขายของซูบารุในประเทศไทย นั้นมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2562 จาก 3,952 คัน จนล่าสุดในปี 2566 ที่ผ่านมา มียอดขายราว ๆ 1,000 คัน

ประกอบกับตลาดรถยนต์ในประเทศไทยมีการแข่งขันที่รุนแรง โดยเฉพาะค่ายรถจีนที่เข้ามาทำตลาดและสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำในช่วงที่ผ่านมากลายเป็นปัญหาสะสม

สำหรับโรงงาน TCSAT ในประเทศไทย ถือเป็นโรงงานแห่งที่ 3 นอกประเทศญี่ปุ่น โดยแห่งแรกอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และแห่งที่สองอยู่ที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งได้ยกเลิกการประกอบรถยนต์ซูบารุไปก่อนหน้านี้เช่นกัน เพื่อไปประกอบรถยนต์แบรนด์อื่นแทน

'เขื่อนของพ่อ' เพื่อประโยชน์สุขของพี่น้องประชาชนชาวไทย เติมชีวิต เป็นมิตรเกษตร เขตป้องอุทกภัย โอกาสใหม่การท่องเที่ยว

‘เขื่อนภูมิพล’ ถือกำเนิดเกิดขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งรัฐบาลในขณะนั้นมีแนวคิดที่จะสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังน้ำ 

รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามได้อนุมัติการก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2496 แรกเริ่มใช้ชื่อว่า 'เขื่อนยันฮี' (ยันฮีชื่อของตำบลยันฮี อันเป็นที่ตั้งของเขื่อนภูมิพล) 

การเวนคืนได้เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2499 และเริ่มการก่อสร้างในปี พ.ศ. 2500 โดยว่าจ้างบริษัทผู้รับเหมาจากสหรัฐฯ และบริษัทอื่น ๆ จาก 14 ประเทศร่วมเป็นที่ปรึกษา 

ในปี พ.ศ. 2500 รัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตอัญเชิญพระปรมาภิไธย ‘พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร’ มาเป็นชื่อ ‘เขื่อนภูมิพล’ และได้เสด็จไปทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2504 การก่อสร้างแล้วเสร็จและทำรัฐพิธีเปิดเขื่อนเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2507 

‘เขื่อนภูมิพล’ เป็นเขื่อนอเนกประสงค์กั้นแม่น้ำปิงที่บริเวณเขาแก้ว อำเภอสามเงา จังหวัดตาก มีลักษณะเป็นเขื่อนคอนกรีตรูปโค้ง รัศมีความโค้ง 250 เมตร สูง 154 เมตร ยาว 486 เมตร ความกว้างของสันเขื่อน 6 เมตร อ่างเก็บน้ำสามารถรองรับน้ำได้สูงสุด 13,462 ล้านลูกบาศก์เมตร 

เมื่อแรกก่อสร้างเสร็จถือเป็นเขื่อนรูปโค้งที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 7 ของโลก ขณะที่ปัจจุบัน ‘เขื่อนภูมิพล’ ยังคงเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ที่สูงที่สุดในประเทศไทยและ ASEAN และอยู่ในอันดับที่ 8 ของโลก

เขื่อนแห่งนี้ ใช้เงินในการก่อสร้างทั้งสิ้นราว 2,250 ล้านบาท โดยเกือบครึ่งหนึ่ง (66 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เป็นเงินกู้จากธนาคารโลก

พร้อมกันนี้ ในปี พ.ศ. 2500 มีการตั้งรัฐวิสาหกิจขึ้นมาดูแลการก่อสร้างและบริหารโครงการนี้ในชื่อว่า 'การไฟฟ้ายันฮี' 

ในระยะแรกเขื่อนแห่งนี้ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 2 เครื่อง (รวม 70,000 กิโลวัตต์) จากที่สามารถติดตั้งได้ 8 เครื่อง ต่อมาได้มีการติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเครื่องที่ 3-6 กำลังผลิตเครื่องละ 70,000 กิโลวัตต์ และเครื่องที่ 7 กำลังผลิต 115,000 กิโลวัตต์ 

ต่อมาปี พ.ศ. 2511 'การไฟฟ้ายันฮี' ได้ถูกควบรวมกับรัฐวิสาหกิจ 'การลิกไนต์' และ 'การไฟฟ้าตะวันออกเฉียงเหนือ' กลายเป็นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จนถึงทุกวันนี้

นอกจากนี้ และในปี พ.ศ. 2534 กฟผ. ได้ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเครื่องที่ 8 แบบสูบกลับ ขนาดกำลังผลิต 171,000 กิโลวัตต์ จึงต้องสร้างเขื่อนแม่ปิงตอนล่างปิดกั้นลำน้ำปิง อยู่ห่างจากเขื่อนภูมิพลลงมาทางท้ายน้ำ 5 กิโลเมตร เพื่อใช้อ่างเก็บน้ำเป็นอ่างล่าง โดยถูกออกแบบให้มีบานประตูระบายน้ำเปิดปิดสำหรับใช้กักเก็บน้ำแล้วสูบกลับไปใช้ผลิตไฟฟ้าอีกครั้ง สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ในเดือน มกราคม 2539 ทำให้โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ‘เขื่อนภูมิพล’ มีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าติดตั้งทั้งสิ้น 779.2 เมกกะวัตต์ และสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ปีละประมาณ 1,062 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง จนทุกวันนี้

นอกจากเป็นเขื่อนที่ผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำแล้ว ‘เขื่อนภูมิพล’ ยังมีคุณูปการต่อประเทศไทยอีกมากมาย ด้วยความจุในการกักเก็บน้ำ 13,462 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยปริมาณน้ำที่ระบายออกไปจากเขื่อนจะถูกนำไปใช้ประโยชน์มากมายหลายด้าน เช่น...

- ด้านการเกษตร ทำหน้าที่ในการทดและส่งน้ำในลุ่มน้ำปิง ฤดูฝนได้ 1,500,000 ไร่ ฤดูแล้งได้อีก 500,000 ไร่ ส่งน้ำไปช่วยพื้นที่ในโครงการเจ้าพระยาใหญ่สำหรับเพาะปลูกในฤดูแล้งได้อีก 2,000,000 ไร่ ตลอดจนถึงการสนับสนุนพื้นที่เพาะปลูกในพื้นที่จังหวัดตากและกำแพงเพชรถึง 7.5 ล้านไร่

- ใช้สำหรับการอุปโภคและบริโภคของพี่น้องประชาชนคนไทยทั้งที่อยู่เหนือและใต้เขี่อน 
- เป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำ เมื่อได้ทำการขุดลอกและตกแต่งแม่น้ำปิงบางตอนสำเร็จแล้ว จะ
- สามารถใช้เป็นทางคมนาคมจากเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ไปจนถึงอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ได้ตลอดปี

- เป็นแหล่งท่องเที่ยว บริเวณโดยรอบเขื่อนมีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติหลากหลายเส้นทาง และ
- บริการล่องแพชมความสวยงามของทัศนียภาพของตัวเขื่อนและแก่งต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียง
- เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำจืดที่สำคัญของประเทศ

- ช่วยป้องกันน้ำเค็มสำหรับการผลิตน้ำประปาในเขต กทม. นนทบุรี ปทุมธานี และนครปฐม
- บรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำปิง รวมถึงในเขตทุ่งเจ้าพระยา ในช่วงฤดูฝน

ปัจจุบันนี้ในประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะ สาธารณรัฐประชาชนจีนก็ยังคงมีการสร้างเขื่อนอเนกประสงค์โดยเน้นในเรื่องของการผลิตกระแสไฟฟ้า เก็บกักน้ำ และป้องกันอุทกภัยอยู่ 

แต่สำหรับประเทศไทย ด้วยกระแสต่อต้านการสร้างเขื่อนจาก NGO ที่เป็นกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ทำให้แนวคิดในการสร้างเขื่อนใหม่ ๆ ในประเทศไทยถูกคัดค้านอย่างรุนแรงเรื่อยมา จนต่อไปในอนาคตข้างหน้าคงเป็นการยากมาก ๆ ที่จะมีการสร้างเขื่อนขึ้นในประเทศไทยได้อีก และคนไทยคงไม่มีโอกาสที่จะได้รับประโยชน์จากเขื่อนอเนกประสงค์เช่นนี้อีก แม้ว่าสังคมไทยจะได้รับอรรถประโยชน์โภคผลเกิดขึ้นจาก 60 ปีของ ‘เขื่อนภูมิพล’ มาแล้วมากมายก็ตาม 

"…ข้าพเจ้าเห็นพ้องกับรัฐบาลว่า โครงการอเนกประสงค์โครงการแรกของประเทศไทยนี้ เป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาเศรษฐกิจก้าวใหม่ให้ไพศาลออกไป ปัจจุบันน้ำเป็นปัจจัยหล่อเลี้ยงชีวิต และน้ำกับไฟฟ้าส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าของชีวิต เมื่อพลเมืองเพิ่มมากและเร็ว ก็ต้องเพิ่มน้ำและไฟฟ้าให้ทันความต้องการของพลเมือง…" พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินเปิดเขื่อนภูมิพล 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2507

เปิดมูลค่า Nvidia บริษัทเดียวมากกว่า GDP ไทยทั้งประเทศถึง 6 เท่า สะท้อนเศรษฐกิจโลกในอนาคต ที่ 'ชิป' จะเข้ามาเป็นตัวขับเคลื่อนสูง

(30 พ.ย. 67) Business Tomorrow รายงานว่า บริษัท Nvidia ผู้ผลิตชิปประมวลผลกราฟิกและระบบปัญญาประดิษฐ์ชั้นนำของโลก กลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงเกินกว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยทั้งประเทศ 6 เท่าตัวแล้ว

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา Nvidia ประสบความสำเร็จอย่างสูงจากการเติบโตของตลาดปัญญาประดิษฐ์และการประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ ส่งผลให้หุ้นของบริษัทพุ่งสูงขึ้นอย่างมหาศาล โดยมีมูลค่าตามราคาตลาดสูงถึง 2.801 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 102 ล้านล้านบาท

โดยปัจจุบัน GDP ไทยมีมูลค่าอยู่ที่ราว 18 ล้านล้านบาท หรือเรียกได้ว่า GDP ไทยน้อยกว่า Nvidia เพียงบริษัทเดียวมากถึง 5.67 เท่าหรือเกือบ 6 เท่ากันเลยทีเดียว

สำหรับความสำเร็จของ Nvidia หากมองในเชิงรายได้และกำไรจะพบว่า เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยปี 2566 Nvidia มี รายได้กว่า 26.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น +44% จากปี 2565 และนักลงทุนต่างมั่นใจว่า Nvidia จะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต ส่งผลให้มูลค่าตลาดถูกผลักดันให้สูงขึ้น

อีกทั้ง Nvidia ไม่ได้มุ่งเป้าไปที่กลุ่มลูกค้าใดกลุ่มหนึ่ง แต่มีฐานลูกค้าที่หลากหลาย ตั้งแต่ ผู้บริโภคทั่วไป ที่ซื้อการ์ดจอสำหรับเล่นเกมไปจนถึง บริษัทขนาดใหญ่ที่ใช้ชิปของ Nvidia ใน Data Center และ อุตสาหกรรมยานยนต์ที่พัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ จึงไม่แปลกใจว่าทำไม Nvidia ที่สามารถครองลูกค้าทั่วโลกได้มีมูลค่าบริษัทมากกว่า GDP ของไทยเกือบ 6 เท่า

ความสำเร็จของ Nvidia สะท้อนให้เห็นถึงอนาคตของโลกที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลนำพาสู่การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล บริษัทที่มีขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีก้าวหน้าสามารถสร้างมูลค่าได้มากกว่าขีดความสามารถทางเศรษฐกิจของประเทศเสียอีก

อย่างไรก็ตาม Nvidia เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจที่บริษัทในวงการเทคโนโลยีสามารถขยายตัวได้อย่างรวดเร็วจนทำมูลค่ามหาศาลเท่าตัวเศรษฐกิจของประเทศ บ่งบอกถึงบทบาทสำคัญของนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกในอนาคต


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top