‘อุ๊งอิ๊ง’ จุดพลุ!! THACCA SPLASH Soft Power Forum งาน Soft Power ระดับนานาชาติครั้งแรกในเมืองไทย

(24 พ.ค. 67) ที่ห้องวิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ มีการประชุมคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 5 ประจำปี 2567 โดยมี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เป็นประธานการประชุม ร่วมด้วยพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ที่ปรึกษาและกรรมการคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ, นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ รวมถึง คณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ด้านต่าง ๆ คณะอนุกรรมการฯ ทั้ง 11 สาขา ร่วมประชุมกันอย่างพร้อมเพรียง

จากนั้น น.ส.แพทองธาร ได้แถลงผลการประชุม ร่วมกับ หม่อมราชวงศ์เฉลิมชาตรี ยุคล ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนด้านภาพยนตร์-ซีรีส์ และ อินทิรา ทัพวงศ์ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนด้านแฟชั่น

โดย น.ส.แพทองธาร กล่าวถึง ความคืบหน้าตามแผนที่วางเอาไว้ ทั้งในส่วนหลักสูตรของ OFOS ของทั้งอุตสาหกรรมแฟชั่น และ ภาพยนตร์ รวมถึงงานใหญ่ที่คณะซอฟต์พาวเวอร์ใช้เวลาเตรียมงานกันมา นั่นคืองาน THACCA SPLASH : Soft Power Forum งาน Soft Power Forum ระดับนานาชาติครั้งแรกของประเทศไทย

“เราจะปักหมุดประเทศไทยลงบนแผนที่โลก ให้ชาวโลกได้รู้ว่า ประเทศไทยพร้อมแล้วที่จะเป็นหนึ่งในผู้นำ ด้านการพัฒนา Soft Power ไทยจะเป็นพื้นที่ของนักสร้างสรรค์ทั่วโลก มาร่วมทำงานกัน ซึ่งขณะนี้ วัฒนธรรมไทยมีความพร้อมที่กระจายออกไปทั่วโลกให้ได้หลงเสน่ห์ และคนไทยพร้อมแล้วที่จะสร้าง Soft Power ไทยให้แข็งแรง” น.ส.แพทองธาร กล่าว

น.ส.แพรทองธาร กล่าวถึงการจัดงาน SPLASH ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 28-30 กรกฎาคม 2567 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และจะมีการรวบรวมทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับ Soft Power ทั้งจากในประเทศ และทั่วโลก โดยประกอบด้วย 4 ส่วนคือ SPLASH Visionary zone, SPLASH Creative Culture Pavilion, SPLASH Master Class และ SPLASH Activation Lounge

น.ส.แพทองธาร เปิดเผยต่ออีกว่า สำหรับ SPLASH Visionary Zone มี 4 เวที ประกอบด้วย Vision Stage : เวทีวิสัยทัศน์รัฐบาล วิสัยทัศน์ของผู้เชี่ยวชาญระดับโลก นโยบายที่เราขับเคลื่อน ทิศทางที่เราเลือกไป ประเทศไทยจะอยู่ตรงไหนในโลก ปฏิญญาและความร่วมมือที่จะเกิดขึ้น ทุกท่านจะได้ทราบในเวทีนี้ค่ะ, Pathway Stage : เวทีของการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยจะนำความสำเร็จของทั่วโลกมาถอดบทเรียน มาวิเคราะห์ถึงวิธีการ แนวคิด เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ และแรงบันดาลใจให้อุตสาหกรรมที่สร้าง Soft Power, Performance Stage : เวทีสำหรับคนรุ่นใหม่ให้ได้แสดงความสามารถโดยมีการแสดงจากหลายอุตสาหกรรม ทั้ง ศิลปะการแสดง ภาพยนตร์ ดนตรี และ Podcast Studio : เวที Podcast ที่สัมภาษณ์กันสดๆ ในงาน เจาะลึกมุมมองแนวคิด ของผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลก ที่จะมาแชร์ประสบการณ์ในงาน

น.ส.แพทองธาร กล่าวต่อถึงอีกส่วนของงานคือ SPLASH Creative Culture Pavilion ซึ่งโซนนี้จะเป็นนิทรรศการเรื่อง Soft Power ทั้งของประเทศไทย และต่างประเทศ โดยมี 3 นิทรรศการ อาทิ THACCA Pavilion นิทรรศการของทักก้า อยากให้ทุกคนมารู้จักทักก้ากันที่งานนี้กันนะคะ ว่าเรากำลังจะเปลี่ยนแปลงประเทศไทยด้วย Soft Power ได้อย่างไร นิทรรศการของทั้ง 11 กลุ่มอุตสาหกรรมค่ะ ส่วนนี้เราจะมาทำความรู้จัก Soft Power ในประเทศไทยให้มากขึ้น ว่าศักยภาพในตอนนี้ของแต่ละอุตสาหกรรมเป็นอย่างไร และภาพที่เรามองเห็นในอนาคตเป็นอย่างไร และ international Pavilion นอกจากนิทรรศการจากไทย ยังได้รับความร่วมมือจากหลายประเทศที่มาเข้าร่วมให้ข้อมูลผ่านนิทรรศการในงาน

น.ส.แพทองธาร กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมี SPLASH Masterclass : ห้องเรียน Reskill Upskill ให้พี่น้องประชาชนที่สนใจโดยจะมีห้องเรียนจากทั้ง อุตสาหกรรม หน่วยงานภาครัฐ และยังมีพื้นที่สำหรับการ Hackathon เพื่อทดลองแข่งขันไอเดียกันอีกด้วย และสุดท้าย SPLASH Activation Lounge : พื้นที่สำหรับคุยแลกเปลี่ยนความรู้เพื่อสร้างความร่วมมือในการสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้น เพราะงาน SPLASH จะรวมเอานักสร้างสรรค์ภาคเอกชน ที่น่าสนใจไว้ในงานนี้ ซึ่งจะทำให้เกิดการ Matching ทางธุรกิจเกิดขึ้น

“ฝากพี่น้องประชาชนที่สนใจนะคะ มาเรียนรู้มารู้จัก Soft Power ให้มากขึ้น เพราะซอฟต์พาวเวอร์ไม่ได้มีแค่นิยาม เรายังมีกระบวนการอีกมากมาย มางาน THACCA SPLASH Soft Power Forum ในวันที่ 28-30 กรกฎาคม 2567 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิต์ ซึ่งคาดว่าจะมีคนสนใจเข้าร่วมงานกว่า 2 แสนคน” น.ส.แพทองธาร กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ ในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 5 ยังมีวาระที่น่าสนใจ อาทิ ในส่วนหลักสูตรของ OFOS ของทั้งอุตสาหกรรมแฟชั่น และภาพยนตร์-ซีรีส์ โดยในด้านแฟชั่นมีการอบรมและพัฒนาบุคลากร ภายใต้กิมมิก ‘Soft Power แฟชั่น Thailand Only’ 4 สาขา คือ Apparel, Jewelry, Beauty และ Craft โดยจะจัดอบรมในระดับบุคคลทั่วไป นิสิตนักศึกษา ทายาทปราชญ์ชาวบ้าน และ ในระดับโรงงานอุตสาหกรรม OEM โดยในระยะยาว จะเป็นการ พัฒนาทักษะเดิม และ สร้างทักษะขึ้นมาใหม่ โดยเน้นกระบวนการทำงานในการสร้างคนที่เป็นพื้นฐานสำคัญในการผลิตผลงานและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อนำมาต่อยอดในการสร้างสรรค์ผลงานให้มีคุณภาพเทียบเท่าระดับสากล ผ่านการสร้างคน สร้างธุรกิจ และสร้างการรับรู้ ในแบบ Thailand Only เพื่อปักหมุดแฟชั่นไทยเป็นหนึ่งในใจกลางตลาดโลกส่งต่อที่สุดของความคราฟต์ ผสมผสานความสร้างสรรค์ที่ไร้ขีดจำกัดแบบ Thailand Only เพื่อยกระดับเรื่องราวความคราฟต์และความสร้างสรรค์ของวงการแฟชั่นสู่ระดับสากล ผ่านการสร้างการรับรู้ที่เพิ่มขึ้นตั้งค่านิยมที่เพิ่มขึ้นรวมไปถึงการสร้างบุคลากรที่มีศักยภาพ

ส่วนในด้านของภาพยนตร์ ละคร และซีรีส์ นั้นจะมีการจัด OFOS ในสาขาดังกล่าว เพื่อสร้างโครงสร้างของระบบการเรียนรู้ของภาพยนตร์และซีรีส์ให้เป็นระบบ สร้างคนเข้าอุตสาหกรรมให้ได้ทุกปีและเพิ่มขึ้น ซึ่งเมื่อระบบนี้เสถียรก็จะสามารถช่วยหน่วยงานอื่น ๆ ในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์องค์ความรู้ ในการทำภาพยนตร์ และซีรีส์ได้ โดยมี 10 หลักสูตรเบื้องต้นในการ Upskill Reskill ของภาพยนตร์ ละคร และ ซีรีส์ อาทิ ผู้ประกอบการ Production House, นักเขียนบท Screenwriter, ผู้กำกับภาพยนตร์, ผู้ช่วยผู้กำกับภาพยนตร์, โปรดิวเซอร์, ผู้กำกับภาพ, นักแสดง, Post Production, Production Designer และ Content Creator ซึ่งมีระยะดำเนินงาน ตั้งแต่ปี 2557-2568 ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าอบรมในเร็ว ๆ นี้


ที่มา: Naewna