Wednesday, 26 June 2024
ประเทศไทย

ย้อนรอย 18 ปี 'กรุงเทพฯ...ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว' Bangkok City of Life by 'อภิรักษ์ โกษะโยธิน'

กลายเป็นเรื่องฮือฮา เมื่อป้ายข้อความ ‘Bangkok City of Life’ ที่วาดติดอยู่ตามแยกกลางเมืองของกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีมาแล้ว 18 ปี จนกลายเป็น Landmark จุดถ่ายรูปจุดหนึ่งซึ่งทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติต่างก็นิยมเป็นจุดถ่ายรูปความประทับใจ ได้ถูกแทนที่ด้วยป้ายไวนิลสติกเกอร์ที่มีข้อความว่า ‘กรุงเทพฯ-Bangkok’ 

ป้ายข้อความ ‘Bangkok City of Life’ เกิดขึ้นในยุคที่ ‘อภิรักษ์ โกษะโยธิน’ จากพรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 

ด้วยในปี พ.ศ. 2549 ผู้ว่าฯ ‘อภิรักษ์’ ได้ประกาศทิศทางการพัฒนากรุงเทพมหานครเพื่อให้เป็นเมืองที่น่าอยู่อย่างยั่งยืนด้วยสโลแกน ‘กรุงเทพฯ…ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว’ โดยมีองค์ประกอบ 4 ประการ คือ (1) มิติทางด้านเศรษฐกิจ (2) มิติด้านสิ่งแวดล้อม (3) มิติด้านวัฒนธรรม และ (4) มิติด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว

‘อภิรักษ์ โกษะโยธิน’ ผู้เคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นกรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์, อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์, อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบบัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์, อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และอดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 2 สมัย โดยก่อนหน้านั้น ‘อภิรักษ์’ ทำงานให้กับ พิซซ่าฮัท ไทยแลนด์, Lintas Worldwide, ดามาร์กส์ แอ๊ดเวอร์ไทซิ่ง, เป๊ปซี่-โคล่า อินเตอร์เนชั่นแนล ไทยแลนด์, เป๊ปซี่ ภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, ฟริโต-เลย์ ไทยแลนด์, จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่, ออเร้นจ์ และ กลุ่มบริษัทในเครือเทเลคอมเอเชีย (ปัจจุบันคือ ทรู คอร์ปอเรชั่น) ปัจจุบัน ‘อภิรักษ์’ เป็นเจ้าของและประธานกรรมการบริหาร บริษัท วีฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากพืชผลทางการเกษตร

ในช่วงที่ ‘อภิรักษ์’ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในการทำโครงการสำคัญต่าง ๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับคนกรุงเทพฯ อาทิ การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้า BTS*, การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, การพัฒนาคุณภาพการศึกษา, การวางผังพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน ส่วนผลงานด้านการต่างประเทศ ‘อภิรักษ์’ ได้สร้างชื่อเสียงให้กับกรุงเทพฯ เป็นอย่างมาก ด้วยการสร้างความสัมพันธ์อันดีและทำการแลกเปลี่ยนความคิดในการพัฒนากรุงเทพฯ ร่วมกับเมืองหลวงสำคัญ ๆ ทั่วโลก เช่น ปักกิ่ง, แต้จิ๋ว, โซล, ฟุกุโอกะ, ฮานอย, ลิเวอร์พูล, วอชิงตัน ดี.ซี., บริสเบน เป็นต้น 

(*รถไฟฟ้า BTS ส่วนต่อขยายด้านฝั่งธนบุรีนั้น รัฐบาลทักษิณไม่อนุมัติงบประมาณให้ดำเนินการ แต่ ‘อภิรักษ์’ ไม่รอ ด้วยเกรงว่าหากการก่อสร้างล่าช้าจะทำให้พี่น้องประชาชนฝั่งธนบุรีเสียประโยชน์ จึงตัดสินใจดำเนินการโดยใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลของกรุงเทพมหานครเอง)

นอกจากนั้นแล้ว ‘อภิรักษ์’ ยังได้รับเกียรติให้เป็นผู้บรรยายกิตติมศักดิ์ในงานสัมมนาระดับโลกมากมาย อาทิ การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (ASEAN 100 Leadership Forum) ในปี พ.ศ. 2542 ณ ประเทศสิงคโปร์ และในปี พ.ศ. 2544 ณ ประเทศเวียดนาม รวมถึงการประชุมสุดยอดผู้นำด้านสิ่งแวดล้อม (C40 Cities Climate Summit) ณ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อ ‘อภิรักษ์’ ทำงานด้วยความตั้งใจจนครบวาระ 4 ปีในสมัยแรก ทำให้ ‘อภิรักษ์’ ได้รับชัยชนะการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นสมัยที่ 2 ด้วยคะแนนโหวตเกือบ 1 ล้านคะแนน

สิ่งหนึ่งที่ ‘อภิรักษ์’ ทำแล้วเป็นเรื่องใหม่ในวงการเมืองไทยคือ เมื่อ 13 มีนาคม พ.ศ. 2551 ‘อภิรักษ์’ ได้ยุติการทำหน้าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครชั่วคราว พร้อมกับได้ตั้ง ดร.วัลลภ สุวรรณดี รองผู้ว่าฯ รักษาการแทน อันเนื่องมาจากคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) แจ้งข้อกล่าวหาว่ามีความผิดกรณีซื้อรถดับเพลิงและเรือดับเพลิง ทั้ง ๆ ที่เป็นเพียงการแจ้งข้อกล่าวหาเท่านั้น ยังไม่ได้เป็นการชี้มูลความผิดหรือส่งเรื่องขึ้นสู่การพิจารณาคดีของศาลแล้ว 

...และ 12 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน หลังจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) มีมติเอกฉันท์ชี้มูลความผิดในคดีนี้ ‘อภิรักษ์’ ได้แถลงข่าวลาออกจากตำแหน่งในเวลา 15.30 น. โดยที่กฎหมายไม่ได้มีผลบังคับให้ต้องลาออกแต่อย่างใด แต่ ‘อภิรักษ์’ ระบุว่าต้องการสร้างมาตรฐานใหม่สำหรับการเมืองไทย 

...และในที่สุดเมื่อ 10 กันยายน พ.ศ. 2556 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้มีคำตัดสินให้นายอภิรักษ์พ้นข้อกล่าวหาในคดีรถดับเพลิง เนื่องจากเป็นการปฏิบัติตามข้อกำหนดในสัญญา ซึ่งมีผลก่อนหน้าที่จะเข้ารับตำแหน่งแล้ว และได้มีการดำเนินการเพียรพยายามรักษาผลประโยชน์ของ กทม. จนได้รับผลประโยชน์คืนให้กับ กทม. อีก 250 ล้านบาท 

สำหรับป้ายไวนิลสติกเกอร์ ‘กรุงเทพฯ-Bangkok’ ซึ่งมาแทนที่ป้ายข้อความ ‘Bangkok City of Life’ นั้น ออกแบบโดยทีม ‘Farmgroup’ จากบริษัท Creative & Design Consultancy จำกัด จากแนวคิดการสร้าง Brand Identity ของกรุงเทพมหานครให้เกิดขึ้นเช่นเดียวกับมหานครอื่น ๆ ดังตัวอย่างเช่น ‘I love NY’ ของมหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐฯ หรือ ‘Amsterdam’ ของกรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ด้วยปัจจัยองค์ประกอบที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็น บริบทของกรุงเทพมหานคร ความหลากหลาย สีที่มีความหมายสื่อถึงสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องไปจนกระทั่งนโยบายของผู้บริหาร

ป้ายไวนิลสติกเกอร์ ‘กรุงเทพฯ-Bangkok’ ที่มาใหม่นี้ มีทั้งผู้ที่ชื่นชอบและผู้ที่ไม่เห็นด้วย โดยกลุ่มผู้ที่ชื่นชอบเห็นว่าป้ายไวนิลสติกเกอร์ ‘กรุงเทพฯ-Bangkok’ นี้ออกแบบเป็นไปตามเอกลักษณ์ขององค์กร หรือ ‘Corporate Identity’ (CI) ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งใช้มานานแล้วทั้ง สี ฟ้อนต์ และลวดลาย ล้วนมีความหมายสอดคล้องกับเอกลักษณ์ขององค์กรทั้งสิ้น 

ส่วนกลุ่มผู้ที่ไม่เห็นด้วยมองก็ว่าป้าย ‘Bangkok City of Life’ ของเดิมโดยเฉพาะตรงแยกปทุมวันนั้น มีความคลาสสิก เรียบง่าย สวยด้วยตัวเอง ดูไม่ทื่อ ๆ แบบฟอนต์ราชการ ถือเป็นรสนิยมดี ๆ ที่ซื้อด้วยเงินไม่ได้ 

ส่วนในมุมมองของผู้เขียนบทความเห็นว่า ป้ายอันเก่า หากได้รับการฟื้นฟูสภาพ ก็น่าจะดูดี ทั้งคงความคลาสสิก ส่วนป้ายแบบใหม่หากเป็นป้ายวาดแบบป้ายเก่าก็อาจจะดูดี หรือพอจะรับได้มากกว่าป้ายไวนิลสติกเกอร์เช่นที่พึ่งจะติดตั้งสำเร็จเสร็จสิ้นในขณะนี้

‘ไทย’ ติดอันดับ 2 ประเทศที่มีสถาปัตยกรรม สวยที่สุดในเอเชีย ชี้!! ‘บ้านจิม ทอมป์สัน-ปราสาทสัจธรรม’ เป็นสถานที่ยอดนิยม

(3 มิ.ย.67) ประเทศไทย มีสถานที่ท่องเที่ยว ตึกรามบ้านช่อง และสถาปัตยกรรมสวยๆ มากมาย ทั้งคนไทยและต่างชาติต่างก็อยากเดินทางเข้ามาชมด้วยตัวเอง ซึ่งความสวยงามของสถาปัตยกรรมในไทยนี้ ล่าสุดก็เพิ่งได้รับการจัดอันดับให้ติดอยู่ในรายชื่อ 10 อันดับประเทศที่มีสถาปัตยกรรมสวยที่สุดในเอเชีย

InsidersMonkey เว็บไซต์ด้านการเงินของสหรัฐอเมริกา มีการจัดอันดับประเทศที่มีสถาปัตยกรรมสวยที่สุดในทวีปเอเชียประจำปี 2024 โดยสถาปัตยกรรมในเอเชียนั้นมีชื่อเสียงเป็นพิเศษในด้านการผสมผสานระหว่างการออกแบบร่วมสมัย และเทคนิคของสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิม จากการมอบรางวัลด้านสถาปัตยกรรมในหลายๆ รางวัล ก็ปรากฏว่ามีสถาปนิกชาวเอเชียได้รับรางวัลเป็นจำนวนมากในแต่ละปี รวมถึงอาคารและสิ่งก่อสร้างต่างๆ ในเอเชีย ก็ได้รับรางวัลด้วยเช่นกัน

โดยการคัดเลือกและจัดอันดับประเทศที่มีสถาปัตยกรรมสวยที่สุดในทวีปเอเชียประจำปี 2024 ทางเว็บไซต์ InsidersMonkey มีการเก็บรวบรวมข้อมูล งานวิจัย การจัดอันดับต่างๆ รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2023 ของแต่ละประเทศ จากสมมติฐานคือประเทศที่มีสถาปัตยกรรมที่ดีจะดึงดูดนักท่องเที่ยวได้จำนวนมาก ซึ่ง 10 อันดับประเทศที่มีสถาปัตยกรรมสวยที่สุดในเอเชีย ประจำปี 2024 มีดังนี้

1. จีน - Wang Shu สถาปนิกชาวจีน ได้รับรางวัล Pritzker Prize ในปี 2012 นอกจากนี้ จีนยังได้รับการยอมรับอย่างล้นหลามใน International Architecture Awards ประจำปี 2023 โดยกวาดรางวัลมาแล้วกว่า 19 รางวัล สถานที่ที่ได้รับรางวัล ได้แก่ Guangzhou Julong Bay Civic Center, Radisson Collection Resort Hotel และ Zhuji Historical Memorial Hall รวมถึง พิพิธภัณฑ์พระราชวังแห่งพระราชวังต้องห้ามเป็นอาคารสถาปัตยกรรมจีนที่ได้รับคะแนนสูงสุดใน Trip Advisor

2. ไทย - หนึ่งในประเทศในเอเชียที่มีสถาปัตยกรรมที่ดีที่สุด Trip Advisor มีสถานที่ติดอันดับยอดนิยมหลายแห่งในประเทศ เช่น บ้านจิม ทอมป์สัน และปราสาทสัจธรรม นอกจากนี้ พัทยา ยังเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมอันดับ 7 ของ Trip Advisor ในปี 2567

3. ญี่ปุ่น - ตั้งแต่ปี 2010 ถึง 2024 สถาปนิกชาวญี่ปุ่นได้รับรางวัล Pritzker Prize เป็นเวลา 5 ปี นอกจากนี้ โตเกียวยังได้รับการจัดอันดับให้เป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมประจำปี 2024 ใน Trip Advisor เมืองนี้ยังติดอันดับจุดหมายปลายทางด้านวัฒนธรรมสิบอันดับแรกที่จัดอันดับโดยบริษัทในญี่ปุ่น

4. มาเลเซีย - ตึกแฝดปิโตรนาสในกัวลาลัมเปอร์ มีรีวิวมากกว่า 30,000 รายการใน Trip Advisor

5. อินเดีย - ทัชมาฮาลในอินเดียเป็นหนึ่งในอาคารทางสถาปัตยกรรมที่ได้รับความนิยมมากที่สุดแห่งหนึ่ง นอกจากนี้ยังได้รับการจัดอันดับให้เป็นอาคารสถาปัตยกรรมอันดับหนึ่งในเอเชียโดย Trip Advisor จากรีวิวและการให้คะแนน

6. ฮ่องกง - Trip Advisor ให้คะแนนพระใหญ่เทียนถาน เป็นอาคารทางสถาปัตยกรรมที่ดีที่สุดอันดับที่ 6 ในเอเชีย จัดอันดับตามรีวิวของนักท่องเที่ยว และยังได้รับรางวัล Travellers Choice Award ในปี 2023 อีกด้วย

7. มาเก๊า - สถาปัตยกรรมของมาเก๊าได้รับอิทธิพลจากจีนและโปรตุเกส สถานที่สำคัญทางสถาปัตยกรรมที่มีชื่อเสียง เช่น ซากโบสถ์เซนต์ปอล มาเก๊าทาวเวอร์ และแกรนด์ลิสบัว

8. เวียดนาม - ได้รับการกล่าวถึงหลายครั้งในงานประกาศรางวัลสถาปัตยกรรมนานาชาติประจำปี 2023 สถานที่ชนะเลิศ ได้แก่ บ้านชุมชน Calm Casamia พิพิธภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผา Bat Trang และโรงเรียน Lung Vai

9. เกาหลีใต้ - เป็นจุดหมายปลายทางมาแรงดันอับสองของ Trip Advisor ในปี 2024 สถานที่ท่องเที่ยวที่ถูกกล่าวถึง ได้แก่ หอคอย N Seoul พิพิธภัณฑ์พระราชวังเคียงบกกุง และพระราชวังชังด็อกกุง ซึ่งเป็นแหล่งมรดกโลกขององค์การยูเนสโก

10. ไต้หวัน - มีตึกที่โดดเด่นคือ ตึกไทเป 101 ซึ่งเป็นตึกระฟ้าที่สูงที่สุดในไต้หวัน ได้รับรางวัล Travellers' Choice Award จาก Trip Advisor ในปี 2023

พรรคอันดับ 14 ล้านเสียงสนับสนุน เดินหน้าล้ม 112 พรรคอันดับรอง 10 ล้านเสียง ขายข้าว 10 ปี

ผมนั่งมองดูประเทศของตัวเองในห้วงเวลานี้แล้ว เกิดความรู้สึกเศร้าใจลึก ๆ อย่างบอกไม่ถูก เห็นรัฐบาล 'ถุงเท้าแดง' ก็ไม่ต่างจาก 'นายกนอมินี' ในอดีตที่ผ่านมา เดินหน้าทำตามคำบัญชาของคน 'เหนือนายก' เพื่อผลประโยชน์เข้าตระกูลไม่หยุดหย่อน ประเทศชาติจะเสียหายอย่างไรก็ช่าง 

เอาแค่เรื่อง 'ข้าวค้างโกดังบาป 10 ปี' คนในรัฐบาล หรือ 'ตระกูลชั้น 14' เองยังไม่กล้าหุงข้าวและกินโชว์ แต่จะเข็นออกประมูลขายให้ได้ ประเทศใดจะซื้อไว้กิน จะป่วยไข้ เป็นโรคร้ายเพราะ 'ข้าวเน่า' ประเทศไทยจะถูกตราหน้าว่า 'ขายข้าวคุณภาพต่ำ' ก็ไม่สนใจ 

เงินมหาศาลสร้างอำนาจอันมหึมาให้กับคน ๆ หนึ่งได้จริง แม้จะทำผิดกับประเทศชาติ ทรยศประชาชน ไร้สัจจะ คอร์รัปชัน โกงกิน จนต้องหนีคดีไปนาน ก็ยังมี 'คนจำนวนไม่น้อย' คอยยกหาง และถวายชีวิตช่วยเหลือ แม้กระทั่งประชาชนคนไทยที่ถูกกระทำโดยตรงจากการบริหารบ้านเมืองก็ยัง 'ลืมง่าย' ช่วยกันกาเลือก 'พรรคเผาเมือง' กลับมาผงาดจนสร้างปัญหาได้อีกในปัจจุบัน

คำถามคือ เมื่อไหร่คนไทยถึงจะเข็ด คิดได้ และคิดเป็นกันเสียที? 

มาดูอีกพรรคที่ได้คะแนนเสียงอันดับหนึ่ง แม้จะไม่ได้เป็นรัฐบาล แต่การเป็นฝ่ายค้านก็ไม่มีศักยภาพที่คนไทยจะหวังพึ่งพาอะไรได้ เพราะวัน ๆ นอกจากจะเดินหน้า 'ล้างสมองเด็ก' ลงลึกถึงเยาวชนของชาติทุกระดับเพื่อให้ 'เกลียดชังสถาบัน' และพยายามโค่นล้มกฎหมายมาตรา 112 ก็ไม่เคยเห็นผลงานอะไรที่สร้างสรรค์ เป็นชิ้นเป็นอัน และมีคุณค่ามากพอจะทำให้สังคมไทยน่าอยู่ขึ้นมาบ้าง 

มองเข้ามาก็จะเห็น 'ความป่วยไข้' ของคนไทยในมิติที่ชัดมาก ป่วยที่ลืมง่าย ป่วยที่ไม่ละเอียดกับอะไรเลย ป่วยที่คิดไม่เป็นจนไม่รู้ว่าอะไรดีอะไรเลว ป่วยที่ลืมรากเหง้าของตัวเอง และป่วยถึงขนาดที่ไม่รู้ว่าสิ่งที่ตนเองเลือกเข้ามากำลังทำให้ประเทศชาติย่อยยับ 

พูดอีกกี่ครั้งก็คงเหมือนเดิมประมาณว่า นักการเมืองเลว ๆ ในบ้านเราไม่ได้ฉลาดล้ำ ค่อย ๆ มองก็จะพบคำตอบโดยง่าย วิธีคิดในการโกงชาติโกงแผ่นดินก็ไม่ต่างจากเดิม แต่เพราะเรามีประชาชนที่ 'โง่กว่า' อาศัยอยู่ในประเทศไทยในจำนวนที่มาก เราถึงยังคงได้ 'นักการเมืองที่ไม่ฉลาด' มาบริหารประเทศชาติเหมือนในขณะนี้  

อยากให้นักการเมืองเลว ๆ หมดจากแผ่นดิน ก็แค่กำจัด 'ประชาชนโง่ ๆ' ให้หมดไปจากสังคมไทย 

ฝากพรรคที่มุ่งขายข้าวเก่า หุงมาให้ประชาชน 24 ล้านคนกิน ก็คงจะดี 

‘อดีตบิ๊กข่าวกรอง’ ถาม!! ทหารสอนเด็กรักชาติไทย ไม่ดียังไง? หลัง ‘เจี๊ยบ ก้าวไกล’ โพสต์แซะ!! “ไม่ใช่กิจของทหาร”

(4 มิ.ย. 67) นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า…

“ทหารสอนเด็กรักชาติไทย ไม่ดียังไง จะให้เด็กชังชาติเหมือนพวกเธอหรือ”

ทั้งนี้สืบเนื่องจากกรณี ‘นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล’ อดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก ‘Amarat Chokepamitkul อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล’ ระบุว่า…

“ไม่ใช่กิจของทหารเที่ยวเดินสายไปอบรมครูอบรมเด็กให้รักชาติ ภารกิจหลักไม่มีทำก็รีบลดขนาดกองทัพอย่าฝืนโลก พร้อมติดแฮชแท็ก #ปฏิรูปกองทัพ”

‘ชาวเน็ต’ ข้องใจ!! ‘ซีรีส์เกาหลี’ ถ่ายที่ไทย มักย้อมภาพ ‘สีเหลือง’ แถมเป็นโทนสีที่เห็นได้บ่อย ในฉากที่สื่อถึงประเทศด้อยพัฒนา

(5 มิ.ย.67) ในเชิงจิตวิทยา ‘สี’ มีผลต่ออารมณ์และความรู้สึกของมนุษย์ โดยแต่ละโทนสี หรือกลุ่มสี สามารถสื่อสารอารมณ์ ความรู้สึกที่แตกต่างกัน

ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่าการถ่ายทำซีรีส์หรือภาพยนตร์ มักจะมีการย้อมสีของภาพ (Color grading) เพื่อช่วยปรับปรุง แก้ไข และเติมชีวิตชีวาให้กับเรื่องราวที่ต้องการถ่ายทอดให้ผู้ชมรับรู้

โดยมีการย้อมภาพเป็น ‘สีเหลือง’ ซึ่งสีโทนเหลือง มักจะถูกใช้เพื่อบ่งบอกถึงอารมณ์ความรู้สึก ‘คลั่ง-เจ็บป่วย-วังเวง’ และเป็นโทนสีที่มักจะเห็นในฉากที่สื่อถึงประเทศด้อยพัฒนา

อย่างไรก็ตาม ได้มีชาวเน็ตคนหนึ่งจุดประเด็นว่า… “ทุกเรื่องที่มาถ่ายที่ไทยเองติดเหลืองตลอดฟีลบ้านป่าเมืองเถื่อนสุด ๆ มีคิงเดอะแลนด์เรื่องเดียวที่มี กทท. สนับสนุนเลยออกมาดี ส่วนเรื่องอื่นถ้ามาถ่ายเองสีนี้หมดจะว่าเป็นโทนสีทั้งเรื่องก็ไม่ใช่ด้วยเพราะพอซีนถ่ายในประเทศตัวเองก็สีปกติ อิเกานี้มันจริง ๆ”

“แค่หงุดหงิดเพราะมันออกแนว Racist มากกว่า ปัญหาในสังคมไทยคิดว่าเนื้อเรื่องมันก็สามารถสื่อออกมาได้โดยไม่ต้องย้อมเหลืองได้

เราไม่มีความรู้เรื่องฟิล์มอะไรนะ แค่หงุดหงิดเพราะอุตสาหกรรมบันเทิงที่เป็นหน้าเป็นตาให้ประเทศมัน ตัวจุดกระแสกับตลาดแรกก็ SEA เงินก็จะเอาเหยียดก็จะเหยียด”

ทั้งนี้ ก็มีคนที่ไม่เห็นด้วยและไม่คิดว่าโดนเหยียดออกมาโต้ว่า ก็เป็นแค่การแต่งสีภาพเมืองร้อน ทุกประเทศก็มีทั้งด้านที่ดีและไม่ดี แค่ต้องยอมรับความจริง

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ซีรีส์เกาหลีแทรกประเด็นเกี่ยวกับประเทศไทยในเชิงลบ ไม่นานมานี้ในซีรีส์เรื่อง Big Mouth มีฉากที่พูดว่า “พอคลอดไซโคพาธอย่างเอ็งแล้ว แม่เอ็งกินอะไร ต้มยำกุ้งเหรอหรือซุปเลือดวัว”

‘ชาวต่างชาติ’ แชร์คลิป ‘คนไทย’ ลุกทำงานรดน้ำต้นไม้กลางถนน ตอนตี 4 ลั่น!! ดูแลดีกว่าอังกฤษ เพราะปล่อยให้แห้งตาย แนะ ทุกคนควรมาเห็น

เมื่อไม่นานมานี้ เพจเฟซบุ๊ก ‘BKKWheels’ ได้แชร์คลิปวิดีโอติ๊กต็อกของชาวต่างชาติรายหนึ่ง ขณะเดินอยู่ริมถนนประเทศไทย และระหว่างนั้นได้มีรถรดน้ำต้นไม้กำลังทำงานอยู่กับพนักงาน ตอนตี 4 พร้อมบอกชาวโลกที่บอกประเทศไทยเป็นโลกที่สามควรมาเห็นสิ่งนี้ โดยระบุว่า…

“ตอนนี้เป็นเวลาตี 4 คนเหล่านี้ (พนักงานรดน้ำต้นไม้) กำลังขับรถรดน้ำทั้งหมด คุณสามารถเห็นพุ่มไม้ตรงกลางถนนนั้น…”

“อังกฤษไม่เป็นแบบนี้ ที่อังกฤษจะปล่อยให้แห้งตายหมด คนที่บอกว่าไทยเป็นประเทศโลกที่สาม พวกเขาดูแลประเทศของเขาได้ดีกว่าอังกฤษดูแล…คนที่ว่าประเทศไทยเป็นประเทศโลกที่สาม คุณควรมาที่นี่ มาเยี่ยมชม และเห็นสิ่งที่เป็นแบบนี้”

พร้อมบอกทิ้งท้ายฝากให้ทุกคนลองคิดทบทวนในการตัดสินใจอีกครั้ง

‘รศ.อัศวิณีย์ หวานจริง’ ชี้!! สอนประวัติศาสตร์ต้องไม่บิดเบือนหรือสร้างนิทานหลอกเด็กให้รังเกียจชังชาติบ้านเกิด

เมื่อวานนี้ (5 มิ.ย. 67) รองศาสตราจารย์ อัศวิณีย์ หวานจริง อดีตคณบดีคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า…

“การสอนประวัติศาสตร์…ผู้เรียนมาย่อมสอนได้…ไม่มีข้อห้าม เพียงต้องสอนตามความจริงที่เกิด ไม่บิดเบือนเรื่องราวประวัติศาสตร์ เปิดกว้างการตั้งคำถาม แล้ววิเคราะห์ด้วยเหตุและผล ไม่พยายามสร้างเรื่องใหม่ เป็นนิทานหลอกเด็ก สร้างความก้าวร้าว ให้เยาวชนรังเกียจชาติบ้านเกิด 

ตรงกันข้าม หากมองกลับกัน สังคมปัจจุบันเกิดปัญหามากมาย จากใคร? ที่พยายามสอนบิดเบือนความจริง ยุยงเยาวชนให้เกิดความก้าวร้าวจนเอาไม่อยู่ สอนไม่ได้

ใครอันตรายมากกว่ากัน ระหว่างการสอนจาก…ผู้ที่เสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวมประเทศชาติ กับผู้ที่บ่อนทำลายเพื่อประโยชน์ส่วนตัว ที่พยายามบิดเบือนประวัติศาสตร์ชาติให้เยาวชนเข้าใจผิด”

‘จูราสสิค เวิลด์’ เตรียมยกกองมาถ่ายทำที่ ‘ไทย’ 13 มิ.ย.-16 ก.ค.นี้ เผย!! แม้มีไม่กี่ฉาก แต่เกิดการจ้างงาน ส่งเสริมท่องเที่ยวไทยได้แน่

(7 มิ.ย.67) ความคืบหน้ากองถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ บริษัท เปสตัน ฟิล์ม จำกัด ยื่นเรื่องขอถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย เรื่อง ‘จูราสสิค เวิลด์’

โดยใช้พื้นที่ 3 จังหวัด ประกอบด้วย หาดซันเซ็ท เกาะกระดาน อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง นอกจากนี้ยังมีการถ่ายทำที่ น้ำตกห้วยโต้ อุทยานแห่งชาติเขาพนมเบญจา จ.กระบี่ และ กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 13 มิ.ย. - 16 ก.ค. 2567

ด้าน นายทรงกลด สว่างวงศ์ ผู้ว่าฯ ตรัง เปิดเผยว่า เบื้องต้นทีมงานได้มาดูสถานที่จริง จากนั้นเจ้าของพื้นที่คือ กรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะควบคุมดูแลในรายละเอียดต่อไป ว่าการมาถ่ายทำภาพยนตร์จะกระทบสิ่งแวดล้อม มีการขุดต้นไม้ ทลายดินหรือไม่

เบื้องต้นทีมงานแจ้งว่า จะไม่มีการทำลายหรือสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด พร้อมแจ้งคร่าว ๆ ว่า ซีนที่จะมาถ่ายทำ เป็นฉากเรือล่มและคนมาติดเกาะ ซึ่งคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหา

จริง ๆ เขามาถ่ายทำหลายจังหวัด แต่จะอยู่ที่ตรัง 3 สัปดาห์ การถ่ายภาพยนตร์ระดับฮอลลีวูด แม้จะถ่ายไม่กี่ฉาก แต่เขาจะถ่ายหลายมุมและเลือกมุมที่ดีที่สุดมาตัดต่อเป็นฉากในภาพยนตร์ คนใน จ.ตรัง ที่ได้ไปร่วมงานกับเขาย่อมได้รับค่าจ้างที่ดี มีสวัสดิการที่ดี ตนเชื่อว่าการมาถ่ายทำภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ครั้งนี้ จะไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และยังช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวของ จ.ตรัง อีกด้วย

สำหรับ ‘เกาะกระดาน’ ได้รับเลือกให้เป็นชายหาดที่ดีที่สุดในโลก 2 ปีซ้อน (2566-2567) จากเว็บไซต์แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวชายหาด World Beach Guide ประเทศอังกฤษ

'ซูซูกิ มอเตอร์' ประกาศปิดโรงงานผลิตรถยนต์ในไทยสิ้นปี 2568 ปรับแผนนำเข้ารถจาก 'ญี่ปุ่น-อินเดีย-อินโดนีเซีย' มาจำหน่ายแทน

ซูซูกิ มอเตอร์ ประเทศไทย ประกาศยุติการผลิตรถยนต์ซูซูกิ ที่โรงงาน อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ช่วงปลายปี 2568 หันนำเข้ารถจากญี่ปุ่น อินเดีย และอินโดนีเซียแทน พร้อมเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ปี 2567 ย้ำไฮบริด EV มาแน่

(7 มิ.ย.67) ซูซูกิ มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ออกแถลงการณ์วันนี้ว่า ซูซูกิตัดสินใจยุติการผลิตที่โรงงานประเทศไทย คือ บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด (SMT) ภายในช่วงสิ้นปี พ.ศ. 2568 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการทบทวนโครงสร้างการผลิตของซูซูกิทั่วโลก

ตามที่รัฐบาลไทยได้มีการส่งเสริมการลงทุนรถยนต์อีโคคาร์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 ในเวลาดังกล่าวซูซูกิได้สมัครเข้าร่วมโครงการและก่อตั้ง SMT ขึ้น ในปี พ.ศ. 2554 ซึ่งหลังจากที่ได้รับการอนุมัติจึงได้มีการเริ่มดำเนินการผลิตขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 เป็นต้นมา

โดยสามารถผลิตและส่งออกได้มากถึง 60,000 คันต่อปี ทั้งนี้ด้วยการส่งเสริมความเป็นกลางทางคาร์บอนและการใช้ยานยนต์พลังงานไฟฟ้าของทั่วโลก ซูซูกิได้มีการพิจารณาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในระดับโลก จึงได้ตัดสินใจยุติการดำเนินการของโรงงาน SMT ภายในช่วงสิ้นปี พ.ศ. 2568 นี้

แม้จะมีการยุติการดำเนินการของโรงงานในประเทศไทย แต่ SMT จะยังคงมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจในการจำหน่ายและให้บริการหลังการขาย เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าชาวไทยต่อไป ซึ่งจะมีการปรับแผนธุรกิจเป็นการนำเข้ารถยนต์จากโรงงานในภูมิภาคแถบอาเซียน รวมถึงประเทศญี่ปุ่นและประเทศอินเดีย

นอกจากนี้เพื่อเป็นการสนับสนุนและให้สอดคล้องในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนตามนโยบายของภาครัฐ บริษัทฯ จะมีการแนะนำรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นต่าง ๆ รวมถึง HEVs เข้าสู่ตลาดในอนาคตด้วยเช่นกัน

สำหรับยอดขายรถยนต์ซูซูกิ 4 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.67) ทำได้ 2,587 คัน ลดลง 42% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ส่วนข้อมูลงบทางการเงินพบว่า บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ขาดทุนสุทธิ 2 ปีติดต่อกัน โดยปี 2565 ขาดทุนกว่า 80 ล้านบาท และปี 2566 ขาดทุนกว่า 264 ล้านบาท

ทั้งนี้ มีรายงานจาก ซูซูกิ มอเตอร์ ประเทศไทย ว่า รถยนต์ที่ผลิตภายใต้โครงการอีโคคาร์ ที่โรงงานระยองยังคงจะผลิตและทำตลาดในประเทศจนถึงภายในปี 2568 (มิใช่หยุดในสิ้นปีนี้)

ขณะเดียวกัน บริษัทมีแผนการรองรับดูแลช่วยเหลือพนักงานภายหลังยุติการผลิตที่โรงงานระยองอย่างเหมาะสม

 📌หากโลกเกิดวิกฤตด้านพลังงาน ‘SPR’ คือ คำตอบ ‘ความมั่นคงด้านน้ำมันเชื้อเพลิง’ ที่รองรับได้ถึง 90 วัน โดยไม่กระทบต่อคนไทย

นับตั้งแต่การถือกำเนิดเกิดขึ้นของ ‘The Benz Patent-Motorwagen’ รถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมคันแรกของvโลกซึ่งออกแบบโดย Carl Friedrich Benz นักออกแบบเครื่องยนต์และวิศวกรยานยนต์ในปี 1886 ก็มีพัฒนาการ การออกแบบ และการผลิตรถยนต์ซึ่งใช้น้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมเพื่อการใช้งานในหลากหลายภารกิจมาโดยตลอดจนปัจจุบันเป็นปีที่ 139 แล้ว รถยนต์ถูกใช้งานอย่างมากมายในหลากหลายรูปแบบและครอบคลุมแทบทุกมิติจนกลายเป็นความจำเป็นกระทั่งทุกวันนี้จัดว่าเป็นปัจจัยที่ 5 ของมนุษยชาติไปแล้ว

ขนานกันไปกับการพัฒนา การออกแบบ และการผลิตรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมก็คือ การบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิง นอกจากจะใช้สำหรับภาคขนส่งทั้งบก-เรือ-อากาศแล้ว น้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมยังถูกนำไปผลิตพลังงานอื่น ๆ อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นพลังงานไฟฟ้าหรือพลังงานความร้อน ฯลฯ เมื่อปริมาณพลโลกเพิ่มขึ้น ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีก็มากขึ้น ย่อมทำให้การบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิงมากขึ้นตามไปด้วย

ในยุคต้น ๆ ของการใช้งานรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียม พื้นที่ที่เป็นแหล่งน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมส่วนใหญ่จะเป็นดินแดนอาณานิคมของมหาอำนาจตะวันตก อาทิ ตะวันออกกลาง การสัมปทานขุดเจาะและดูดน้ำมันเชื้อเพลิงออกมาบริโภคอยู่ภายใต้อำนาจและอิทธิพลของประเทศเจ้าอาณานิคม ราคาของน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมจึงค่อนข้างถูกเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของบรรดาประเทศเจ้าอาณานิคมและบริวารตลอดจนคู่ค้าของประเทศเหล่านั้นด้วย กระทั่งทศวรรษ 1950 ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศเจ้าอาณานิคมถูกแรงกดดันมากมาย รวมทั้งการต่อต้านจากพลเมืองของดินแดนอาณานิคม จึงต้องทยอยให้เอกราชแก่อาณานิคมต่าง ๆ และค่อย ๆ หมดอำนาจและบทบาทในกิจการน้ำเชื้อเพลิง 

กระทั่งเกิดการรวมตัวของกลุ่มพันธมิตรประเทศผู้ผลิตน้ำมันเพื่อประสานงานและรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันในตลาดโลกด้วยการก่อตั้ง องค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันออก (Organization of Petroleum Exporting Countries : OPEC) ขึ้นเมื่อวันที่ 14 กันยายน 1960 ณ กรุงแบกแดด ประเทศอิรัก OPEC มีประเทศสมาชิกผู้ก่อตั้ง ได้แก่ อิหร่าน, อิรัก, คูเวต, ซาอุดีอาระเบีย และเวเนซุเอลา ปัจจุบัน โอเปกมีสมาชิกเพิ่มอีก 8 ประเทศ คือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ไนจีเรีย แอลจีเรีย ลิเบีย กาบอง (ต่อมาถอนตัวในปี ค.ศ. 2008 แล้วกลับมาในปี ค.ศ. 2016) แองโกลา อิเควทอเรียลกินี และล่าสุดสาธารณรัฐคองโก รวมเป็น 13 ประเทศ  

การเกิดขึ้นของ OPEC ทำให้เกิดวิกฤติน้ำมันขึ้นหลายครั้ง ในแต่ละครั้งส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ การเงิน และการคลังของประเทศต่าง ๆ อย่างมหาศาล วิกฤตน้ำมัน (Oil Shock หรือ Oil crisis) เป็นการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันอย่างมากจนเป็นสาเหตุให้เศรษฐกิจโลกถดถอยลงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้น้ำมันนับเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจมวลรวม แต่เป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไปและใช้เวลาในการเกิดใหม่ยากมาก ปัจจุบันมีความต้องการใช้น้ำมันมากขึ้นขณะที่ความสามารถในการผลิตกลับยังคงเท่าเดิมจึงทำให้เกิดภาวะวิกฤตได้ วิกฤตน้ำมันไม่ได้เพียงแต่เกิดจากความไม่สมดุลของความต้องการในการใช้น้ำมันกับปริมาณน้ำมันที่มีอย่างจำกัดเพียงอย่างเดียว ยังมีปัญหาการเมืองระหว่างประเทศเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของวิกฤตอีกด้วย

วิกฤตน้ำมันครั้งที่ 1 เกิดขึ้นในปี 1973 ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่เศรษฐกิจโลกเริ่มขยายตัว วิกฤตน้ำมันในปี 1973 เกิดขึ้นพร้อมกับสงครามตะวันออกกลางครั้งที่ 4 อียิปต์และพันธมิตรร่วมมือกันเพื่อจะยึดคาบสมุทรซีนายและที่ราบสูงโกลันของอิสราเอล แต่ประเทศตะวันตกที่นำโดยสหรัฐอเมริกานั้นสนับสนุนอิสราเอล ทำให้องค์กรส่งออกน้ำมันแห่งชาติอาหรับ (ไม่ใช่ OPEC) จึงตัดสินใจใช้มาตรการห้ามส่งน้ำมัน ประเทศที่ถูกกำหนดเป็นเป้าหมายไม่ส่งน้ำมันดิบให้ในขั้นต้น ได้แก่ แคนาดา ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ต่อมาได้ขยายการห้ามส่งไปยังโปรตุเกส โรดีเซีย และแอฟริกาใต้ ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบที่นำเข้ามาในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจาก 3 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรลเป็น 12 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล หลังจากที่มีการห้ามส่งน้ำมัน วิกฤติดังกล่าวยังทำให้สหรัฐฯ เริ่มให้ความสนใจกับปัญหาอุปทานน้ำมันส่วนใหญ่ หลังจากที่ปรากฏว่าประเทศอื่น ๆ สามารถระงับสินค้าสำคัญที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ  

วิกฤตน้ำมันครั้งที่ 2 ในปี 1979 เกิดขึ้นจากการปฏิวัติของอิหร่าน ซึ่งทำให้โคมัยนีกลายเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศหลังจากโค่นล้มระบอบกษัตริย์ราชวงศ์ปาห์ลาวี โคมัยนีได้เปลี่ยนรูปแบบการปกครองให้เป็นสาธารณรัฐอิสลามหลังขึ้นเป็นผู้นำสูงสุด การปฏิวัติอิหร่านมีความคล้ายคลึงอย่างมากกับการปฏิวัติของจีนในปี 1911 ที่โค่นล้มราชวงศ์ชิงซึ่งสิ้นสุดการปกครองของจักรพรรดิและสถาปนาสาธารณรัฐจีนขึ้นหลังจากการโค่นล้มสถาบันกษัตริย์ ดังนั้น การปฏิวัติจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ของอิหร่าน ในช่วงการปฏิวัติอิหร่าน การผลิตและการส่งออกน้ำมันของประเทศลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดช่องว่างอุปทานน้ำมัน 500,000 บาร์เรลต่อวันในตลาดน้ำมันดิบระหว่างประเทศ ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 32-34 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล

วิกฤตน้ำมันครั้งที่ 3 ในปี 1990 อิรักยกกำลังบุกเข้ายึดคูเวต ซึ่งกินเวลาเพียงเก้าเดือน ราคาที่พุ่งสูงขึ้นมีความรุนแรงน้อยลงและมีระยะเวลาสั้นกว่าวิกฤตน้ำมัน 2 ครั้งก่อนร แต่ยังคงส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงต้นทศวรรษ 1990 เมื่อกองกำลังพันธมิตรที่นำโดยสหรัฐฯประสบความสำเร็จทางทหารในการสู้รบกับกองกำลังอิรัก ความกังวลเกี่ยวกับการขาดแคลนอุปทานในระยะยาวก็ผ่อนคลายลง และราคาก็เริ่มลดลง

แน่นอนว่าทุกครั้งที่เกิดวิกฤตน้ำมันประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ ประเทศอุตสาหกรรมผู้บริโภคน้ำมัน รวมถึงประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายที่ไม่มีทรัพยากรน้ำมันเอง และต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ เกิดเป็น ‘สภาวะข้าวยากหมากแพง’ (Adverse Supply Shock) แต่ในประเทศที่ภาครัฐมีการสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ (SPR : Strategic Petroleum Reserve) อย่างเต็มที่จะมีปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองเพียงพอต่อการใช้งานได้ถึง 90 วัน ประเทศเหล่านั้นจึงไม่ต้องเป็นกังวลถึงวิกฤตน้ำมันในช่วง 90 วัน ทำให้มีเวลาแก้ไขปัญหาและสามารถเตรียมการรองรับผลกระทบวิกฤตน้ำมันในระดับโลกได้นานถึง 90 วัน 

ในขณะที่ปัจจุบันนี้ไทยมีปริมาณน้ำมันสำรองที่เอกชนจัดเก็บเพียงพอต่อการบริโภค 25-36 วัน นั่นหมายความว่า หากปัญหาวิกฤตน้ำมันในประเทศไม่สามารถแก้ไขได้แล้วเสร็จภายในเวลา 1 เดือน ย่อมจะเกิดผลกระทบที่จะสร้างความเสียหายอันใหญ่หลวงต่อประเทศในภาพรวม ไม่ว่าในด้าน เศรษฐกิจ สังคม การเมือง การเงิน และการคลัง ฯลฯ อย่างแน่นอน ดังนั้นนโยบายการสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ (SPR) ของ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานจะต้องเกิดขึ้นและดำเนินการให้สำเร็จโดยรวดเร็วที่สุดเพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานอย่างสูงสุดอันจะเป็นหลักประกันที่สำคัญของความมั่นคงของชาติในทุก ๆ มิติได้ตลอดไป


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top