ย้อนรอย 18 ปี 'กรุงเทพฯ...ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว' Bangkok City of Life by 'อภิรักษ์ โกษะโยธิน'

กลายเป็นเรื่องฮือฮา เมื่อป้ายข้อความ ‘Bangkok City of Life’ ที่วาดติดอยู่ตามแยกกลางเมืองของกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีมาแล้ว 18 ปี จนกลายเป็น Landmark จุดถ่ายรูปจุดหนึ่งซึ่งทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติต่างก็นิยมเป็นจุดถ่ายรูปความประทับใจ ได้ถูกแทนที่ด้วยป้ายไวนิลสติกเกอร์ที่มีข้อความว่า ‘กรุงเทพฯ-Bangkok’ 

ป้ายข้อความ ‘Bangkok City of Life’ เกิดขึ้นในยุคที่ ‘อภิรักษ์ โกษะโยธิน’ จากพรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 

ด้วยในปี พ.ศ. 2549 ผู้ว่าฯ ‘อภิรักษ์’ ได้ประกาศทิศทางการพัฒนากรุงเทพมหานครเพื่อให้เป็นเมืองที่น่าอยู่อย่างยั่งยืนด้วยสโลแกน ‘กรุงเทพฯ…ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว’ โดยมีองค์ประกอบ 4 ประการ คือ (1) มิติทางด้านเศรษฐกิจ (2) มิติด้านสิ่งแวดล้อม (3) มิติด้านวัฒนธรรม และ (4) มิติด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว

‘อภิรักษ์ โกษะโยธิน’ ผู้เคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นกรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์, อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์, อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบบัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์, อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และอดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 2 สมัย โดยก่อนหน้านั้น ‘อภิรักษ์’ ทำงานให้กับ พิซซ่าฮัท ไทยแลนด์, Lintas Worldwide, ดามาร์กส์ แอ๊ดเวอร์ไทซิ่ง, เป๊ปซี่-โคล่า อินเตอร์เนชั่นแนล ไทยแลนด์, เป๊ปซี่ ภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, ฟริโต-เลย์ ไทยแลนด์, จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่, ออเร้นจ์ และ กลุ่มบริษัทในเครือเทเลคอมเอเชีย (ปัจจุบันคือ ทรู คอร์ปอเรชั่น) ปัจจุบัน ‘อภิรักษ์’ เป็นเจ้าของและประธานกรรมการบริหาร บริษัท วีฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากพืชผลทางการเกษตร

ในช่วงที่ ‘อภิรักษ์’ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในการทำโครงการสำคัญต่าง ๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับคนกรุงเทพฯ อาทิ การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้า BTS*, การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, การพัฒนาคุณภาพการศึกษา, การวางผังพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน ส่วนผลงานด้านการต่างประเทศ ‘อภิรักษ์’ ได้สร้างชื่อเสียงให้กับกรุงเทพฯ เป็นอย่างมาก ด้วยการสร้างความสัมพันธ์อันดีและทำการแลกเปลี่ยนความคิดในการพัฒนากรุงเทพฯ ร่วมกับเมืองหลวงสำคัญ ๆ ทั่วโลก เช่น ปักกิ่ง, แต้จิ๋ว, โซล, ฟุกุโอกะ, ฮานอย, ลิเวอร์พูล, วอชิงตัน ดี.ซี., บริสเบน เป็นต้น 

(*รถไฟฟ้า BTS ส่วนต่อขยายด้านฝั่งธนบุรีนั้น รัฐบาลทักษิณไม่อนุมัติงบประมาณให้ดำเนินการ แต่ ‘อภิรักษ์’ ไม่รอ ด้วยเกรงว่าหากการก่อสร้างล่าช้าจะทำให้พี่น้องประชาชนฝั่งธนบุรีเสียประโยชน์ จึงตัดสินใจดำเนินการโดยใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลของกรุงเทพมหานครเอง)

นอกจากนั้นแล้ว ‘อภิรักษ์’ ยังได้รับเกียรติให้เป็นผู้บรรยายกิตติมศักดิ์ในงานสัมมนาระดับโลกมากมาย อาทิ การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (ASEAN 100 Leadership Forum) ในปี พ.ศ. 2542 ณ ประเทศสิงคโปร์ และในปี พ.ศ. 2544 ณ ประเทศเวียดนาม รวมถึงการประชุมสุดยอดผู้นำด้านสิ่งแวดล้อม (C40 Cities Climate Summit) ณ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อ ‘อภิรักษ์’ ทำงานด้วยความตั้งใจจนครบวาระ 4 ปีในสมัยแรก ทำให้ ‘อภิรักษ์’ ได้รับชัยชนะการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นสมัยที่ 2 ด้วยคะแนนโหวตเกือบ 1 ล้านคะแนน

สิ่งหนึ่งที่ ‘อภิรักษ์’ ทำแล้วเป็นเรื่องใหม่ในวงการเมืองไทยคือ เมื่อ 13 มีนาคม พ.ศ. 2551 ‘อภิรักษ์’ ได้ยุติการทำหน้าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครชั่วคราว พร้อมกับได้ตั้ง ดร.วัลลภ สุวรรณดี รองผู้ว่าฯ รักษาการแทน อันเนื่องมาจากคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) แจ้งข้อกล่าวหาว่ามีความผิดกรณีซื้อรถดับเพลิงและเรือดับเพลิง ทั้ง ๆ ที่เป็นเพียงการแจ้งข้อกล่าวหาเท่านั้น ยังไม่ได้เป็นการชี้มูลความผิดหรือส่งเรื่องขึ้นสู่การพิจารณาคดีของศาลแล้ว 

...และ 12 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน หลังจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) มีมติเอกฉันท์ชี้มูลความผิดในคดีนี้ ‘อภิรักษ์’ ได้แถลงข่าวลาออกจากตำแหน่งในเวลา 15.30 น. โดยที่กฎหมายไม่ได้มีผลบังคับให้ต้องลาออกแต่อย่างใด แต่ ‘อภิรักษ์’ ระบุว่าต้องการสร้างมาตรฐานใหม่สำหรับการเมืองไทย 

...และในที่สุดเมื่อ 10 กันยายน พ.ศ. 2556 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้มีคำตัดสินให้นายอภิรักษ์พ้นข้อกล่าวหาในคดีรถดับเพลิง เนื่องจากเป็นการปฏิบัติตามข้อกำหนดในสัญญา ซึ่งมีผลก่อนหน้าที่จะเข้ารับตำแหน่งแล้ว และได้มีการดำเนินการเพียรพยายามรักษาผลประโยชน์ของ กทม. จนได้รับผลประโยชน์คืนให้กับ กทม. อีก 250 ล้านบาท 

สำหรับป้ายไวนิลสติกเกอร์ ‘กรุงเทพฯ-Bangkok’ ซึ่งมาแทนที่ป้ายข้อความ ‘Bangkok City of Life’ นั้น ออกแบบโดยทีม ‘Farmgroup’ จากบริษัท Creative & Design Consultancy จำกัด จากแนวคิดการสร้าง Brand Identity ของกรุงเทพมหานครให้เกิดขึ้นเช่นเดียวกับมหานครอื่น ๆ ดังตัวอย่างเช่น ‘I love NY’ ของมหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐฯ หรือ ‘Amsterdam’ ของกรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ด้วยปัจจัยองค์ประกอบที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็น บริบทของกรุงเทพมหานคร ความหลากหลาย สีที่มีความหมายสื่อถึงสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องไปจนกระทั่งนโยบายของผู้บริหาร

ป้ายไวนิลสติกเกอร์ ‘กรุงเทพฯ-Bangkok’ ที่มาใหม่นี้ มีทั้งผู้ที่ชื่นชอบและผู้ที่ไม่เห็นด้วย โดยกลุ่มผู้ที่ชื่นชอบเห็นว่าป้ายไวนิลสติกเกอร์ ‘กรุงเทพฯ-Bangkok’ นี้ออกแบบเป็นไปตามเอกลักษณ์ขององค์กร หรือ ‘Corporate Identity’ (CI) ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งใช้มานานแล้วทั้ง สี ฟ้อนต์ และลวดลาย ล้วนมีความหมายสอดคล้องกับเอกลักษณ์ขององค์กรทั้งสิ้น 

ส่วนกลุ่มผู้ที่ไม่เห็นด้วยมองก็ว่าป้าย ‘Bangkok City of Life’ ของเดิมโดยเฉพาะตรงแยกปทุมวันนั้น มีความคลาสสิก เรียบง่าย สวยด้วยตัวเอง ดูไม่ทื่อ ๆ แบบฟอนต์ราชการ ถือเป็นรสนิยมดี ๆ ที่ซื้อด้วยเงินไม่ได้ 

ส่วนในมุมมองของผู้เขียนบทความเห็นว่า ป้ายอันเก่า หากได้รับการฟื้นฟูสภาพ ก็น่าจะดูดี ทั้งคงความคลาสสิก ส่วนป้ายแบบใหม่หากเป็นป้ายวาดแบบป้ายเก่าก็อาจจะดูดี หรือพอจะรับได้มากกว่าป้ายไวนิลสติกเกอร์เช่นที่พึ่งจะติดตั้งสำเร็จเสร็จสิ้นในขณะนี้


เรื่อง: บทบรรณาธิการ THE STATES TIMES