Wednesday, 26 June 2024
ประเทศไทย

🔎ส่อง ‘อเมริกา’ ประเทศมหาอำนาจที่มีการสำรอง SPR มากที่สุดในโลก✨

หลังวิกฤตพลังงานในปี 1973 โดยองค์การประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) ซึ่งได้ดำเนินการตอบโต้การที่สหรัฐฯ สนับสนุนอิสราเอลในช่วงสงครามอาหรับ-อิสราเอลครั้งที่ 4 ทำให้สหรัฐอเมริกาต้องเริ่มการสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ (SPR) ในปี 1975 เพื่อบรรเทาปัญหาการหยุดชะงักของอุปทานในอนาคต โดยเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยโครงการพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Program : IEP) 

หลังจากที่อุปทานน้ำมันต้องหยุดชะงักระหว่างวิกฤตน้ำมันดังกล่าวระหว่างปี 1973 -1974 สหรัฐอเมริกาได้ลงนามในข้อตกลง IEP เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 1974 และเป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ในฐานะผู้ร่วมลงนามใน IEP พันธสัญญาสำคัญประการหนึ่งที่ทำโดยผู้ลงนามในข้อตกลง IEP ดังกล่าวคือต้องมีการเก็บรักษาปริมาณน้ำมันสำรองไว้ไม่น้อยกว่า 90 วันของปริมาณการนำเข้าน้ำมันสุทธิ

ปริมาณสำรองจะถูกกำหนดตามเงื่อนไขที่เขียนไว้ในรัฐนโยบายและการอนุรักษ์พลังงาน (Energy Policy and Conservation Act : EPCA) ปี 1975 โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นตอบสนองต่อการหยุดชะงักของอุปทานอย่างรุนแรงในอัตราการสูงสุด 4.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน น้ำมันเชื้อเพลิงสำรองสามารถเข้าสู่ตลาดได้ภายใน 13 วันหลังจากคำสั่งประธานาธิบดี โดยกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ได้ระบุว่ามีการสำรองปริมาณเชื้อเพลิงนำเข้าประมาณ 59 วันใน SPR เมื่อรวมกับการจัดเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงคงคลังของเอกชน ประมาณการณ์ว่าน่าจะเทียบเท่ากับการนำเข้า 115 วัน

Gerald Ford ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้นได้ลงนามประกาศใช้รัฐบัญญัติ EPCA เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 1975 ด้วยรัฐบัญญัติฉบับนี้ได้กำหนดให้สหรัฐอเมริกาสามารถสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ (SPR) ได้มากถึง 1 พันล้านบาร์เรล โดยมีการซื้อคลังน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีอยู่จำนวนหนึ่งในปี 1977 เริ่มการก่อสร้างคลังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองบนดินแห่งแรกในเดือนมิถุนายน 1977 และวันที่ 21 กรกฎาคม 1977 น้ำมันดิบประมาณ 412,000 บาร์เรล จากซาอุดีอาระเบียถูกส่งไปยังไปยังคลังเก็บ SPR เป็นครั้งแรก

สำนักงานบริหาร SPR ตั้งอยู่ในเขตเอล์มวูด ชานเมืองนิวออร์ลีนส์ มลรัฐลุยเซียนา โดยคลัง SPR ของสหรัฐฯ ประกอบด้วย คลังใต้ดิน 4 แห่งใกล้ ๆ อ่าวเม็กซิโก คลังใต้ดินมีความลึกราว 600-1,000 เมตรใต้พื้นดิน แต่ละแห่งตั้งอยู่ใกล้ศูนย์กลางสำคัญของการกลั่นและแปรรูปปิโตรเคมี แต่ละคลังสามารถเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองได้ระหว่าง 6 ถึง 37 ล้านบาร์เรล 

กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ อ้างว่า การเก็บน้ำมันไว้ใต้พื้นผิวนั้นคุ้มค่ากว่าบนดินประมาณสิบเท่า โดยมีข้อดีเพิ่มเติมคือไม่มีการรั่วไหลและการหมุนเวียนของน้ำมันตามธรรมชาติอย่างต่อเนื่องเนื่องจากการไล่ระดับของอุณหภูมิในถ้ำ คลังน้ำมันใต้ดิน SPR ได้แก่ 

(1) ไบรอัน เมานด์ เมืองฟรีพอร์ต มลรัฐเท็กซัส ขนาดความจุ 254 ล้านบาร์เรล (คลังใต้ดินย่อย 18 คลัง) สามารถจ่ายน้ำมันได้วันละ 1.5 ล้านบาร์เรล 

(2) บิ๊กฮิลล์ เมืองวินนี่ มลรัฐเท็กซัส จัดเก็บได้ 160 ล้านบาร์เรล (14 คลังย่อย) สามารถจ่ายน้ำมันได้วันละ 1.1 ล้านบาร์เรล 

(3) เวสต์แฮกเบอรี่ ทะเลสาบชาร์ลส์ มลรัฐลุยเซียนา มีความจุ 227 ล้านบาร์เรล (22 คลังย่อย) สามารถจ่ายน้ำมันได้วันละ 1.3 ล้านบาร์เรล 

และ (4) บายู ชอกทาว เมืองแบตันรูช มลรัฐลุยเซียนา ขนาดความจุ 76 ล้านบาร์เรล (6 คลังย่อย) สามารถจ่ายน้ำมันได้วันละ 550,000 บาร์เรล 

ประธานาธิบดีและสภา Congress ต่างมีอำนาจควบคุม SPR โดยประธานาธิบดีจะเป็นผู้สั่งการในการจ่ายออกน้ำมันสำรองจาก SPR และสภา Congress มีอำนาจอนุมัติในการเติมปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองใน SPR ประธานาธิบดีสามารถอนุมัติการจ่ายออกน้ำมันสำรองจาก SPR ได้อย่างอิสระเพื่อตอบสนองต่อ ‘การหยุดชะงักของการจัดหาพลังงานอย่างร้ายแรง’ หรือหากสหรัฐอเมริกาได้รับมอบหมายจาก  โครงการพลังงานระหว่างประเทศ (IEP) ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือระหว่างสมาชิกขององค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ตัวอย่างเช่น ในปี 2011 ประเทศสมาชิกของ IEA ร่วมกันปล่อยน้ำมันจำนวน 60 ล้านบาร์เรลเพื่อตอบสนองต่อปัญหาการขาดแคลนอันเป็นผลมาจากสงครามกลางเมืองในลิเบีย 

สำหรับการตอบสนองต่อการหยุดชะงักของการจัดหาน้ำมันเชื้อเพลิงในปริมาณไม่มากนัก ด้วยอำนาจของประธานาธิบดีสามารถสั่งจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองจาก SPR ได้ไม่เกิน 30 ล้านบาร์เรลโดยไม่ต้องประกาศการเบิกใช้ฉุกเฉิน และกระทรวงพลังงานจะทำการประมูลจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองดังกล่าวให้กับผู้เสนอราคาสูงสุดจากบรรดาบริษัทที่ได้จดทะเบียนไว้กับ SPR

รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ มีหน้าที่รับผิดชอบในการซื้อน้ำมันเพื่อเติม SPR แต่ต้องให้สภา Congress อนุมัติเพื่อดำเนินการดังกล่าว ตัวอย่างเช่น ประธานาธิบดี Donald Trump ได้สั่งให้เพิ่มปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองให้เต็มขีดความสามารถในการจัดเก็บเพื่อช่วยผู้ผลิตน้ำมันในสหรัฐฯ ที่ประสบปัญหาในช่วงเริ่มต้นของการระบาดใหญ่ของ COVID-19 แต่สภา Congress กลับไม่อนุมัติการซื้อ 

นอกจากนั้นแล้วกระทรวงพลังงานยังเป็นผู้นำในข้อตกลงแลกเปลี่ยนหรือกู้ยืมน้ำมันระยะสั้นที่ชำระคืนพร้อมดอกเบี้ย ซึ่งจะช่วยในการเพิ่มขนาดของ SPR นับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 ประธานาธิบดีและสภา Congress ได้ออกคำสั่งขายน้ำมันจากแหล่งสำรองเป็นครั้งคราวเพื่อเป็นการเพิ่มรายได้มาแล้ว 30 ครั้ง นับตั้งแต่การจัดตั้ง SPR อาทิ การขาย 5 รายการเป็นการเบิกจ่ายฉุกเฉินในปี 1991 ระหว่างสงครามอ่าวเปอร์เซีย, ในปี 2005 เพื่อนำรายได้มาจัดการวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นจากพายุเฮอริเคนแคทรีนาง ในปี 2011 ระหว่างความขัดแย้งในลิเบีย และ 2 ครั้งในปี 2022 เพื่อตอบโต้การรุกรานยูเครนของรัสเซีย 

ปริมาณความจุสูงสุดเต็มที่ของคลัง SPR ทั้งหมดของสหรัฐฯ อยู่ที่ 727 ล้านบาร์เรล ปัจจุบันปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงสำรอง SPR ของสหรัฐฯ อยู่ที่ประมาณ 367 ล้านบาร์เรล ซึ่งปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงสำรอง SPR ของสหรัฐฯ เมื่อลดลงเหลือน้อยกว่า 400 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบสี่ทศวรรษ ส่งผลต่อราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกสูงขึ้น หากปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงสำรอง SPR ของสหรัฐฯ มากกว่า 400 ล้านบาร์เรล จะถือว่าอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกมีเสถียรภาพตามไปด้วยทั้งยังเป็นสัญญาณของแนวโน้มของราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลงอีกด้วย

จะเห็นได้ว่า สหรัฐฯ ซึ่งเป็นทั้งประเทศผู้ผลิตน้ำมันและบริโภคน้ำมันอันดับหนึ่งของโลกให้ความสำคัญต่อ SPR เป็นอย่างมาก เพราะ SPR นอกจากจะเป็นหลักประกันที่สำคัญที่สุดในด้านความมั่นคงทางพลังงานซึ่งแน่นอนย่อมส่งผลกระทบต่อความมั่นคงโดยรวมของประเทศด้วย ดังนั้นเพื่อประโยชน์สูงสุดสำหรับการบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิงของพี่น้องประชาชนคนไทย จึงต้องจัดการให้ SPR ของไทยเกิดขึ้นและประสบความสำเร็จโดยเร็วด่วนที่สุด ซึ่งเป็นไปตามนโยบายการสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ (SPR) ของ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน 

ขณะนี้มีข้อมูลว่า บรรดาผู้ที่เสียผลประโยชน์จากการที่ประเทศไทยจะมี SPR ได้พยายามคัดค้านต่อต้านนโยบายดังกล่าว โดยใช้สื่อที่ไร้จรรยาบรรณทั้งยังเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ส่วนรวมได้ให้ร้ายรองฯ พีระพันธุ์ต่าง ๆ นานา ด้วยหวังให้รองฯ พีระพันธุ์ต้องพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งจะทำให้มาตรการและนโยบายของรองฯ พีระพันธุ์ที่จะทำให้พี่น้องประชาชนคนไทยที่ต้องบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิงได้รับประโยชน์สูงสุดทั้งจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่สะท้อนความถูกต้องและเป็นจริงทั้งเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานของไทยไม่ประสบความสำเร็จ พี่น้องประชาชนคนไทยทุกคนจึงต้องช่วยกันติดตาม เฝ้าดู และเป็นกำลังใจให้รองฯ พีระพันธุ์ได้ทำภารกิจนี้ให้สำเร็จ

เกิดเป็น 'นักการเมืองไทย' ต้องโกหก  ถ้าไม่โกหก ก็ไม่ใช่ 'นักการเมืองไทย'

คนรุ่นพี่ หรือรุ่นเดียวกันกับผม เราจะชินกับการโกหกคำโตของนักการเมืองไทยมาโดยตลอด ทั้งที่โกหกแบบหน้าด้าน ๆ หรือจะพยายามโกหกแบบเนียน ๆ ไม่ให้ใครจับได้ง่าย ๆ ก็ถือเป็นการโกหกประชาชนอยู่ดี คนที่กล้าอาสามาเป็น 'ตัวแทนประชาชน' มากินเงินเดือนจากภาษีของประชาชน แต่ก็ยังกล้าโกหกประชาชนที่เลือกพวกเขาเข้ามา ก็หมายความว่าเป็นคนที่ไม่ซื่อสัตย์ และเนรคุณผู้มีพระคุณอย่างไม่น่าให้อภัย

ปีแล้วปีเล่าประเทศไทยจะต้องฝืนทนกับนักการเมืองหน้าเก่า ๆ ส่วนใหญ่ ๆ ที่แทบจะหาความดีกับแผ่นดินไทยไม่ได้เลย เราต้องทนกล้ำกลืนเห็นคนเหล่านี้หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนมาแทะกินประเทศชาติของเราต่อหน้าต่อตา และก็รอดพ้นตารางด้วย 'คำโกหกคำโต' บ่อย ๆ

ราวกับว่าเราไม่มีใครอีกแล้วที่จะหวังพึ่งพิงได้จริง ๆ 

ในวันที่คนไทยกำลังสิ้นหวัง วันหนึ่งก็มีพรรคการเมืองที่ออกตัวว่าเป็น 'คนรุ่นใหม่' แสดงออกถึงความมุ่งมั่น มีอุดมการณ์ มีแนวคิดที่จะกำจัดนักการเมืองแย่ ๆ ในแบบที่เราคุ้นเคยในอดีตให้หมดไปจากสังคมไทย เพื่อจะทำให้ประเทศไทยดีขึ้น โดยโฆษณาว่า ถ้าเลือกพวกเขาให้เข้ามาเป็น สส. หรือชนะการเลือกตั้งจนได้เป็นรัฐบาล รับประกันว่า 'ประเทศไทยจะไม่เหมือนเดิม'

คำว่า 'ไม่เหมือนเดิม' ก็คงจะสื่อความหมายว่า ต้องดีขึ้น ดีในแบบที่ 'นักการเมืองรุ่นเก่า' ไม่เคยทำได้ นั่นคือไม่ทำเรื่องที่ผิดกฎหมาย ไม่ทุจริตคอร์รัปชัน ไม่สนับสนุนกลุ่มคนที่ก่อความไม่สงบภายในบ้านเรา ไม่สมคบคิดกับต่างชาติเพื่อมาทำลายสถาบันหลักของประเทศตัวเอง จะปกป้องชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และพร้อมจะเป็น 'แบบอย่างที่ดี' ให้กับเยาวชนคนรุ่นถัดไป 

แต่...เปล่าเลย ไม่มีสิ่งใดเฉียดใกล้สิ่งที่ 'นักการเมืองรุ่นใหม่' เคยโฆษณาเอาไว้

เพราะตั้งแต่ประเทศไทยมีพรรคการเมืองที่ออกตัวว่าเป็น 'คนรุ่นใหม่' เรากลับเห็นพฤติกรรมเลว ๆ ที่ไม่ต่างจาก 'นักการเมืองรุ่นเก่า' แต่บางเรื่องก็เลวร้ายกว่า เช่นการล้างสมองเด็ก อาศัยเด็กเป็นเครื่องมือให้กระทำผิด 112 เพื่อสั่นสะเทือนสถาบันที่ตนเองเกลียดชัง หนีการเกณฑ์ทหาร ทำอนาจารกับผู้ร่วมงาน มีแนวคิดล้มล้างการปกครอง ทั้งหมดเกิดจาก 'นักการเมืองรุ่นใหม่' ทั้งสิ้น 

ยังไม่นับเรื่องโกหกสังคม พูดไม่หมด หรือพูดเอาดีเข้าตัว เอาชั่วให้กับสิ่งที่ตนเองเกลียดชังนั้น มีให้เห็นตามหน้าสื่อแทบทุกวัน

ช่างไม่กระดากใจ หรืออายความเป็นคนกันบ้างเลย

🔎ส่อง SPR ของ ASEAN ใคร ‘แข็งแกร่ง’ ที่สุด

ปัจจุบันพลังงานจากเชื้อเพลิงปิโตรเลียมยังคงเป็นพลังงานหลักที่ชาวโลกจำเป็นต้องพึ่งพาเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งย่อมรวมถึงพลเมืองของกลุ่มประเทศ ASEAN ด้วย ASEAN หรือสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations) ถือกำเนิดขึ้นด้วยการลงนามของชาติสมาชิกเริ่มต้น 5 ประเทศใน ‘ปฏิญญากรุงเทพฯ’ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 1967 โดยมี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อความร่วมมือในการเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคม วัฒนธรรมในกลุ่มประเทศสมาชิก และการธำรงรักษาสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค และเปิดโอกาสให้คลายข้อพิพาทระหว่างประเทศสมาชิกอย่างสันติ 

ด้วยจำนวนประชากรของประชาคมเศรษฐกิจ ASEAN ร่วม 700 ล้านคน และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ความต้องการน้ำมันในอาเซียนจึงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ความต้องการน้ำมันเชื้อเพลิงสูงถึง 4.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน จึงเป็นกลุ่มประเทศที่มีการบริโภคเชื้อเพลิงพลังงานในปริมาณมากแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งทำให้ ASEAN ต้องมีความร่วมมือด้านเชื้อเพลิงพลังงานระหว่างกันด้วย โดย ASEAN เริ่มจัดการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน (ASEAN Ministers on Energy Meeting: AMEM) ครั้งแรกในปี 1982 

โดยเล็งเห็นความสำคัญของการสร้างความมั่นคงทางพลังงานเพื่อรองรับการขยายตัว ทางเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ด้วยการสร้างเครือข่ายด้านพลังงานในระดับภูมิภาคที่อาศัยจุดแข็งและศักยภาพ ของแต่ละประเทศในอาเซียนที่มีแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติตลอดจนพลังงานทดแทนในรูปแบบต่าง ๆ และทำให้เกิดความตกลงว่าด้วยความมั่นคงทางปิโตรเลียมของ ASEAN (ASEAN Petroleum Security Agreement: APSA) ซึ่งได้ลงนามมาตั้งแต่ปี 1986 

APSA เป็นกลไกในการแบ่งปันปิโตรเลียมในภาวะฉุกเฉินด้านน้ำมันดิบและหรือผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมในเวลาหรือสถานการณ์ทั้งที่มีการขาดแคลนและมีอุปทานมากเกินไป โดย APSA กำหนดว่า ประเทศที่ขอรับความช่วยเหลือในกรณีที่เกิดภาวะการขาดแคลนปิโตรเลียมต้องขาดแคลนปิโตรเลียมอย่างน้อย 10% ของความต้องการภายในประเทศนั้น ๆ และ ความร่วมมือให้เป็นไปตามสมัครใจ โดยให้เลขาธิการคณะมนตรี ASEAN ว่าด้วยปิโตรเลียม (ASEAN Council on Petroleum (ASCOPE) Secretary-in-Charge) เป็นผู้ประสานงาน

แม้ว่า ASEAN จะมี APSA เป็นหลักประกันหากเกิดภาวะฉุกเฉินในด้านน้ำมันดิบและหรือผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมแล้วก็ตาม แต่ละประเทศสมาชิกต่างก็มีการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมเองด้วย ปัจจุบันสมาชิก ASEAN 10 ประเทศ (ยกเว้นกัมพูชาและลาว) มีโรงกลั่นน้ำมันรวมกันกว่า 30 โรง มีกำลังการกลั่นรวมกันราว 5.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยประเทศที่มีกำลังการกลั่นสูงสุดคือ สิงคโปร์ รองลงมาคือ ไทย และอินโดนีเซีย รวมสามประเทศสามารถกลั่นน้ำมันคิดเป็น 70% ของกำลังการกลั่นทั้งหมด โดยสิงคโปร์มีกำลังการกลั่นเหลือเพื่อการส่งออกมากที่สุด 1.2-1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน สามารถส่งออกได้ประมาณ 8 แสนถึง 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน 

ในขณะที่ไทยมีกำลังการกลั่นประมาณ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่เหลือส่งออกประมาณ 1.7 แสนบาร์เรลต่อวัน ด้วยปัจจัยนี้กอรปกับทำเลที่ตั้งที่เอื้อต่อการเป็นจุดศูนย์กลางการเดินเรือของเอเชีย จึงเป็นทั้งจุดรับน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางและจุดกระจายน้ำมันสำเร็จรูปไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ในทวีปเอเชียได้โดยสะดวก อีกทั้งตลาดซื้อ-ขายน้ำมันระหว่างประเทศที่เป็นแหล่งใหญ่มีเพียง 3 แห่ง คือ ตลาดนิวยอร์ก (NYMEX) ตลาดลอนดอน (IPE) และตลาดสิงคโปร์ (SIMEX) ทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปสิงคโปร์จึงกลายเป็นราคาน้ำมันอ้างอิงของภูมิภาคเอเชีย 

รัฐบาลสิงคโปร์จัดให้มี SPR ตั้งแต่หลังจากเกิดวิกฤตน้ำมันปี 1973 ทั้งหมดทั้งมวลนี้จึงทำให้ SPR ของสิงคโปร์แข็งแกร่งที่สุดใน ASEAN ด้วยโรงกลั่นน้ำมันและคลังน้ำมันที่ทันสมัย และเป็นหนึ่งในสามศูนย์การกลั่นน้ำมันที่สำคัญของโลกและส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปไปทั่วโลก รัฐบาลสิงคโปร์มีปริมาณการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงใน SPR เป็นน้ำมันดิบประมาณ 32 ล้านบาร์เรล และน้ำมันสำเร็จรูปอีกราว 65 ล้านบาร์เรล ซึ่งจะทำให้สิงคโปร์มีเชื้อเพลิงสำรองเพียงพอต่อการใช้งานสำหรับชาวสิงคโปร์กว่า 5.5ล้านคนนานถึง 451 วันเลยทีเดียว อาจจะถือว่ามากที่สุดในโลกก็ว่าได้ อินโดนีเซียประเทศเดียวของ ASEAN ที่เป็นสมาชิก OPEC โดยส่งออกน้ำมันปิโตรเลียมที่ไม่สามารถกลั่นเองได้วันละกว่า 600,000 บาร์เรล โดยมีการบริโภคเชื้อเพลิงอยู่ที่ประมาณ 1.3-1.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ SPR ของอินโดนีเซียนั้นดำเนินการโดย PT Pertamina (Persero) บริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของรัฐบาลอินโดนีเซียสามารถตอบสนองความต้องการบริโภคน้ำมันสำเร็จรูปภายในประเทศได้เป็นเวลา 19-22 วัน ขณะนี้รัฐบาลอินโดนีเซียอยู่ระหว่างการพัฒนา SPR ให้สามารถจัดเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองให้ได้มากขึ้น 

ตั้งแต่ปี 1974 มาเลเซียผลิตน้ำมันได้ 9 พันล้านบาร์เรล และก๊าซธรรมชาติ 50 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ปัจจุบันมาเลเซียผลิตน้ำมันเชื้อเพลิง 660,000 บาร์เรลและก๊าซประมาณ 7.0 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน  มาเลเซียบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิงราว 708,000 บาร์เรลต่อวัน มาเลเซียต้องการขยายขีดความสามารถในการกักเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มมากขึ้นอันเนื่องจากความต้องการน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาค ทั้งสิงคโปร์ยังเผชิญกับข้อจำกัดด้านการจัดเก็บน้ำมัน ซึ่งมาเลเซียพยายามหาประโยชน์ด้วยการเป็นผู้ให้บริการทางเลือกสำหรับการจัดเก็บน้ำมันในภูมิภาค ประมาณการว่าปัจจุบันมาเลเซียน่าจะมีปริมาณ SPR อยู่ที่ 23.5 ล้านบาร์เรล ซึ่งเพียงพอต่อการใช้งานในประเทศราว 33 วัน และอยู่ระหว่างการก่อสร้างคลังน้ำมันเพิ่มเติม ซึ่งจะทำให้ SPR เพิ่มเป็น 34.6 ล้านบาร์เรล เพียงพอต่อการใช้งานในประเทศราว 493 วัน ใน 2-3 ปีข้างหน้า

เวียดนามมีปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมสำรองแห่งชาติเท่ากับ 9 วันของการนำเข้าสุทธิ และไม่มีน้ำมันดิบสำรองของชาติ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (MOIT) ของเวียดนามได้พยายามเสนอให้เพิ่มปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมสำรองเป็น 15 วันหรือ 30 วันของการนำเข้าสุทธิ เมียนมามีการจัดเก็บปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมสำรองรองรับการบริโภคในประเทศ 60 วัน โดยแบ่งเป็นเอกชนจัดเก็บในปริมาณสำหรับ 40 วัน และรัฐบาลจัดเก็บ (SPR) ในปริมาณสำหรับ 200 วัน ลาวมีการจัดเก็บปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมสำรองรองรับการบริโภคในประเทศ 16 วัน (เป็นน้ำมันสำเร็จรูป 60 ล้านลิตร) ฟิลิปปินส์มีการจัดเก็บน้ำมันสำรองยุทธศาสตร์ปิโตรเลียมแห่งชาติประมาณ 30 ล้านบาร์เรล สามารถรองรับการบริโภคในประเทศได้ 63 วัน กัมพูชามีการจัดเก็บปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมสำรองรองรับการบริโภคในประเทศ 30 วัน และบรูไนประเทศที่สามารถส่งออกน้ำมันดิบได้มากที่สุดใน ASEAN ได้กำหนดให้บริษัทผู้ผลิตน้ำมันต้องสำรองน้ำมันดิบ 50% ของปริมาณน้ำมันดิบที่จัดเก็บ 

และเป็นที่ทราบกันว่า ไทยเรามีการจัดเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมสำรองโดยบริษัทเอกชนผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงตามมาตรา 7 เพียงพอสำหรับการบริโภคในประเทศ 25-36 วันเท่านั้น ซึ่งยังคงต่ำกว่าปริมาณมาตรฐานน้ำมันสำรองของ IEA ที่ 50 วัน หลาย ๆ ประเทศที่เศรษฐกิจมีศักยภาพสูงมี SPR มีน้ำมันเชื้อเพลิงเพียงพอต่อการบริโภคสูงถึง 90 วัน ประเทศเหล่านั้นจึงไม่ต้องกังวลถึงผลกระทบในด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมที่อาจเกิดขึ้นได้ หากมีเหตุการณ์ที่ทำให้การขนส่งหรือการกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิงเกิดปัญหาอันไม่คาดคิดจนกระทบต่อการจัดการน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ เมื่อมี SPR เกิดขึ้นรัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานก็จะมีอำนาจในการต่อรองและถ่วงดุลระบบการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ อีกด้วย เพราะรัฐจะเป็นผู้ถือครองน้ำมันเชื้อเพลิงที่มากที่สุด โดยที่ SPR จะมีการหมุนเวียนจากการซื้อเข้าและจำหน่ายออกอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้รัฐบาลรู้ต้นทุนนำเข้าและราคาหลังการกลั่นได้โดยตลอด จึงสามารถกำกับดูแลราคาจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศที่สะท้อนได้อย่างแท้จริง ซึ่งทำให้พี่น้องประชาชนคนไทยได้รับประโยชน์อย่างมากมาย 

ดังนั้นนโยบายการสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ (SPR) ของ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ต้องเกิดขึ้นและถูกนำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างแท้จริงโดยเร็วที่สุด

เมอร์เซเดส-เบนซ์ ต่อสัญญา 10 ปี ขยายฐานการผลิตรถ EV ในไทย

(12 มิ.ย. 67) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคชาวไทยและสานต่อแผนการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ประกาศลงนามต่อสัญญาว่าจ้างกับ บริษัท ธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด เป็นระยะเวลา 10 ปี ในฐานะพันธมิตรระยะยาวที่มีบทบาทในการประกอบรถยนต์และผลิตแบตเตอรี่รถยนต์พลังงานไฟฟ้า 

รวมถึงขานรับนโยบายผลักดันแนวคิด Circular Economy ประเดิมด้วยการส่งมอบเซลล์แบตเตอรี่ลิเทียมไอออน (Cellblocks) ขนาด 2 MWh ซึ่งรวบรวมมาจากแบตเตอรี่แรงดันสูงที่ใช้ทดสอบในกระบวนการผลิต ให้กับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภายในเดือนกรกฎาคม 2567 เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ สนับสนุนการวิจัย พัฒนา และถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่สังคมไทย รวมถึงการยกระดับบุคลากรไทย และสนับสนุนการทดสอบแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศให้มีมาตรฐานระดับโลก

‘ไทย’ ขึ้นแท่นอันดับ 1 ‘ประเทศน่าเยี่ยมชมที่สุด ปี 2024’ จุดขาย!! ‘อาหาร-ศิลปวัฒนธรรม-สถานที่ท่องเที่ยว’

เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 67 นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ขอบคุณทุกการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประชาชนไทยทุกคนที่เป็นเจ้าภาพที่ดีจนไทยได้รับการจัดให้เป็นอันดับ 1 ประเทศที่น่าเยี่ยมชมที่สุดในปี 2024 (World’s Best Countries To Visit In Your Lifetime, 2024) รวมทั้งเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงทุกปัจจัยที่ส่งเสริมศักยภาพด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย

ขณะเดียวกัน การจัดอันดับในครั้งนี้ดำเนินการโดยนิตยสาร CEOWORLD ซึ่งเป็นนิตยสารด้านธุรกิจชื่อดัง ใช้วิธีจัดอันดับโดยการเก็บข้อมูลความคิดเห็นจากผู้อ่านมากกว่า 295,000 ราย ที่มีต่อ 67 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ และประเทศไทยได้รับการจัดอันดับเป็นประเทศที่น่าเยี่ยมชมที่สุดเป็นอันดับ 1 (World’s Best Countries To Visit In Your Lifetime) ในปีนี้ ด้วยคะแนนร้อยละ 72.15

โดยทางนิตยสาร CEOWORLD ระบุว่า การท่องเที่ยวในประเทศไทยทำให้ได้รับประสบการณ์ท่องเที่ยวหลากหลาย เช่น สีสันยามค่ำคืน อาหารอร่อย ศิลปะและวัฒนธรรมที่มีชีวิตชีวา แหล่งช็อปปิ้งที่ขึ้นชื่อ แม่น้ำลำคลองที่คดเคี้ยวอย่างสวยงาม วัดของศาสนาพุทธ ตลาดกลางคืน ตลาดน้ำ และสวนสาธารณะสุดพิเศษ

สำหรับผลการจัดอันดับประเทศที่น่าเยี่ยมชมที่สุดประจำปี 2024 โดยนิตยสาร CEOWORLD ที่น่าสนใจ 10 อันดับแรก มีดังนี้…

- ประเทศไทย ได้คะแนนร้อยละ 72.15
- กรีซ ร้อยละ 67.22
- อินโดนีเซีย ร้อยละ 65.15
- โปรตุเกส ร้อยละ 64.32
- ศรีลังกา ร้อยละ 60.53
- แอฟริกาใต้ ร้อยละ 59.76
- เปรู ร้อยละ 59.76
- อิตาลี ร้อยละ 57.77
- อินเดีย ร้อยละ 57.65
- สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ร้อยละ 57.38

ด้านนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลผลักดันไทยสู่การเป็นศูนย์กลางทางการท่องเที่ยวของภูมิภาค หรือ Tourism Hub ซึ่งการเป็น Tourism Hub นั้น ถือเป็นหนึ่งในวิสัยทัศน์ประเทศไทยที่รัฐบาลมุ่งนำพาประเทศไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองในทุกมิติ โดยในปีนี้รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายรายได้ทางการท่องเที่ยว 3.5 ล้านล้านบาท และจะทวีเพิ่มมากขึ้นในปีต่อ ๆ ไป ด้วย 5 กลยุทธ์สำคัญคือ

การยกระดับประสบการณ์ โปรโมตการท่องเที่ยวไทยในทุกมิติ ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวไทยก่อนการเดินทาง ให้ข้อมูลสำคัญกับนักท่องเที่ยวตั้งแต่บนเครื่องบิน เพิ่มความรวดเร็วในการให้บริการในสนามบิน สร้างความประทับใจด้วยมัคคุเทศก์ และผู้นำเที่ยวที่มีมาตรฐาน สร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง

อีกทั้งยังมีการชูเอกลักษณ์ไทย หรือเสน่ห์ไทย นำเสนอเรื่องราว และเพิ่มมูลค่าด้วยการนำจุดแข็งทางธรรมชาติและวัฒนธรรมมาเป็นจุดขาย ได้แก่ Must Beat มวยไทย, Must Eat อาหารไทย, Must Seek วัฒนธรรมไทย, Must Buy ผ้าไทย และ Must See โชว์ไทย

นอกจากนี้ เมืองหลักและเมืองน่าเที่ยว เชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวจากเมืองหลักสู่เมืองใกล้เคียง อาทิ เส้นทาง Lanna Culture เชียงใหม่-ลำพูน-ลำปาง เส้นทาง UNESCO Heritage Trail มรดกไทย มรดกโลก ผ่านเส้นทางสุโขทัย-กำแพงเพชร และนครราชสีมา เส้นทาง NAGA Legacy นครพนม สกลนคร บึงกาฬ ตามรอยตำนานศรัทธาพญานาคเส้นทาง Paradise Islands ตรัง-สตูล หมู่เกาะแห่งอันดามันใต้ สวรรค์แห่งท้องทะเล เส้นทาง The Wonder of Deep South ปัตตานี-ยะลา-นราธิวาส ใต้สุดแห่งสยาม มนต์เสน่ห์แห่งพหุวัฒน

ขณะเดียวกัน ยังมุ่งเน้น Hub of ASEAN เปิดประตูการท่องเที่ยวสู่อาเซียนให้สามารถเชื่อมโยงการเดินทางกับประเทศเพื่อนบ้าน เชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานให้การเดินทางท่องเที่ยวไร้รอยต่อ

ตลอดจน World Class Event Hub ให้ไทยเป็นศูนย์รวม World Class Experience จากการนำ Event ระดับโลกเข้ามาจัดแสดงในประเทศ ทั้งด้านดนตรี กีฬา อาหาร ไลฟ์สไตล์ ศิลปและวัฒนธรรม อาทิ จัดงานวิสาขบูชาโลก ประจำปี 2567 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ Summer Sonic Bangkok 2024, KAWS Arts, Moto GP, Volleyball World Championship เป็นต้น เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว สร้างรายได้ และชื่อเสียงให้กับประเทศ

Krungthai COMPASS วิเคราะห์เหตุ 'Subaru-Suzuki' หยุดผลิตในไทย สันดาปดรอป ทำตลาดยากขึ้น ขาดทุนสะสมต่อเนื่อง 5 ปี

(13 มิ.ย.67) Krungthai COMPASS วิเคราะห์ว่า สาเหตุหลักที่ทำให้ค่ายรถยนต์ Subaru และ Suzuki ตัดสินใจหยุดสายการผลิตในไทยนั้น มาจาก…

1) การทำตลาดที่ยากขึ้นกว่าในอดีต สะท้อนจากยอดขายและส่วนแบ่งตลาดที่ปรับตัวลงต่อเนื่องในระยะหลัง จากการที่ผู้บริโภคไทยให้ความสนใจรถยนต์สันดาปภายใน (ICE) ที่ลดลงต่อเนื่อง

ซึ่งเมื่อหันกลับมามองโมเดลรถยนต์ที่ทั้ง Subaru และ Suzuki ใช้ทำตลาดในไทย พบว่าล้วนมีแต่รถยนต์ ICE แทบทั้งนั้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่นำมาสู่ 2) ปัญหาการขาดทุนที่สะสมอย่างต่อเนื่อง โดย 5 ปีที่ผ่านมา (2562-2566) ค่ายรถยนต์ทั้ง 2 ต้องเผชิญกับผลขาดทุนสุทธิสะสมรวมกันถึง 3,781 ล้านบาท

โดยในเบื้องต้นประเมินว่า เฉพาะเหตุการณ์ครั้งนี้อาจกระทบภาพรวมยอดผลิตรถยนต์ไทยไม่มาก เนื่องจากทั้ง 2 ค่ายรถยนต์มีสัดส่วนการผลิตไม่สูงนัก โดยคาดว่าการผลิตรถยนต์ลดลงราว 6,500 คัน ในปี 2568 จากคาดการณ์เดิมที่ 1,800,000 คัน เหลือ 1,793,500 คัน

อย่างไรก็ดี นี่อาจเป็นสัญญาณเตือนแรกว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่จากการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งต้องจับตาต่อไปว่าจะมีค่ายรถยนต์รายอื่น ๆ ต้องหยุดสายการผลิตซ้ำรอยกับ Subaru และ Suzuki หรือไม่ เมื่อการแข่งขันจากยานยนต์ไฟฟ้ารุนแรงขึ้นต่อเนื่อง

ดีลเลอร์ควรพิจารณาถึงแนวทางการดำเนินธุรกิจต่อไป ทั้งการเป็นผู้จัดจำหน่ายให้กับทั้ง 2 ค่ายรถยนต์ต่อไป หรือจะ Diversity ไปเป็นผู้จัดจำหน่ายให้กับค่ายอื่น ๆ

สำหรับเต็นท์รถมือ 2 มีความเสี่ยงที่อัตรากำไรขั้นต้นจะลดลงในกรอบ -1.4% ถึง -0.4% ตามการปรับลดราคาขาย Subaru และ Suzuki มือ 2 ลงตามราคามือ 1 ที่ลดลง ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับอัตรากำไรสุทธิโดยเฉลี่ยของธุรกิจซึ่งค่อนข้างบางที่ 1.2% เต็นท์รถรายใดไม่สามารถปรับค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ให้ลดลงได้ตามกำไรขั้นต้นที่หายไปก็อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาขาดทุนได้

‘บีโอไอ’ ชี้ Q1/67 ต่างชาติแห่ลงทุน ‘ไทย’ เพิ่มขึ้น 94% มูลค่า 228,207 ลบ. สะท้อน!! ความเชื่อมั่นที่มีต่อประเทศไทย

(13 มิ.ย.67) เพจเฟซบุ๊ก ‘Salika’ โพสต์ข้อความระบุว่า…

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวภายหลัง บีโอไอ และธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อผลักดันประเทศไทยสู่ศูนย์กลางการลงทุนของอาเซียน ว่า…

ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีความโดดเด่นมากที่สุดแห่งหนึ่งของภูมิภาคอาเซียน ด้วยศักยภาพและความพร้อมหลายด้านที่เอื้อต่อการลงทุน ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ดี บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญและทักษะขั้นสูง รวมทั้งมีมาตรการสนับสนุนเชิงรุกจากภาครัฐ ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่ช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

โดยที่ผ่านมารัฐบาลและบีโอไอได้เดินหน้าออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนด้านต่าง ๆ รวมถึงกิจกรรมชักจูงการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดการลงทุนในโครงการสำคัญของบริษัทรายใหญ่จากต่างประเทศอย่างมีนัยสำคัญ

โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีตัวเลขการลงทุนทำสถิติสูงสุดในรอบ 9 ปี ด้วยมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนกว่า 8.48 แสนล้านบาท เติบโต 43% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น FDI กว่า 6.63 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 72%

ทั้งนี้ บีโอไอเชื่อว่ากระแสการลงทุนจากต่างประเทศจะยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยไตรมาสแรกปี 67 มียอดขอรับส่งเสริมการลงทุน จำนวน 724 โครงการ เพิ่มขึ้น 94% มูลค่าเงินลงทุนรวม 228,207 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 สะท้อนความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อประเทศไทย

🔎ส่อง ‘ยุโรป’ และ ‘แอฟริกา’ SPR เป็นยังไง

นับตั้งแต่ปี 2004 น้ำมันเชื้อเพลิงประมาณ 4.1 พันล้านบาร์เรลถูกจัดเก็บไว้เพื่อเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำรอง โดยประเทศสมาชิกของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ซึ่งปริมาณ 1.4 พันล้านบาร์เรลอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลของชาติสมาชิกจัดว่าเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองทางยุทธศาสตร์ (SPR) และส่วนที่เหลือ 2.7 พันล้านบาร์เรลถูกถือครองโดยภาคธุรกิจเอกชน ความแตกต่างระหว่างน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองทางยุทธศาสตร์ (SPR) กับน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองเชิงพาณิชย์ที่ถือครองโดยภาคธุรกิจเอกชน แม้จะมีความมุ่งหมายเดียวกันคือการป้องกันความเสี่ยงจากวิกฤตพลังงานในอนาคต แต่ SPR เป็นการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองเพื่อความมั่นคง ส่วนน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองเชิงพาณิชย์เป็นการจัดเก็บเพื่อการพาณิชย์ด้วยหวังผลกำไรทางธุรกิจของบริษัทเอกชนผู้ถือครองโดยภาครัฐไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวจัดการได้ เว้นแต่มีการประกาศใช้กฎหมายพิเศษเช่น กฎอัยการเพื่อเข้าควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองดังกล่าว

ตามข้อตกลงในเดือนมีนาคม 2001 สมาชิกในขณะนั้นทั้งหมด 30 ชาติของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) จะต้องมีปริมาณสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์เท่ากับ 90 วันของการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมสุทธิของปีที่แล้วของแต่ละประเทศ เฉพาะสมาชิกผู้ส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมสุทธิ (ส่งออกมากกว่านำเข้า) ของ IEA เท่านั้นที่ได้รับการยกเว้นจากข้อกำหนดนี้ ประเทศที่ได้รับการยกเว้น ได้แก่ แคนาดา เอสโตเนีย เม็กซิโก เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ และสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาสหราชอาณาจักรและเดนมาร์กได้จัดตั้งคลังน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมสำรองทางยุทธศาสตร์ของตนเองเพื่อให้เป็นไปตามพันธกรณีทางกฎหมายในฐานะรัฐสมาชิกของสหภาพยุโรป 

เพื่อให้ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันเพิ่มความยืดหยุ่นในโควตาการผลิตของตน จึงมีความเคลื่อนไหวที่นำไปสู่ข้อตกลงการจัดเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมเชิงพาณิชย์ล่วงหน้า ข้อตกลงเหล่านี้อนุญาตให้จัดเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมไว้ภายในประเทศผู้นำเข้าน้ำมัน อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมสำรองดังกล่าวอยู่ภายใต้การควบคุมทางเทคนิคของประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน ข้อตกลงดังกล่าวช่วยให้ประเทศผู้นำเข้าน้ำมันสามารถเข้าถึงปริมาณสำรองเชิงพาณิชย์เหล่านี้ได้อย่างรวดเร็วและไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ ในขณะที่หลายประเทศในยุโรปมีข้อตกลงในการแบ่งปันน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมกับประเทศอื่น ๆ ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินในยุโรปขึ้น ตามคำสั่งของสภาแห่งสหภาพยุโรป 68/414/EEC วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2511 รัฐสมาชิกทั้ง 27 ประเทศจะต้องมีปริมาณสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ภายในอาณาเขตของสหภาพยุโรป เท่ากับอย่างน้อย 90 วันของการบริโภคภายในประเทศโดยเฉลี่ย

• สาธารณรัฐเช็กมี SPR 4 คลังในเมือง Nelahozeves ดำเนินการโดยบริษัท CR Mero โดย SPR ของเช็กเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ 100 วันหรือ 20,300,000 บาร์เรล 

• เดนมาร์กมีปริมาณสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียม SPR เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ 81 วัน ยังไม่รวม SPR ที่ถือครองโดยกองทัพ

• ฟินแลนด์จัดเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียม SPR 14-18 ล้านบาร์เรล ซึ่งเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศอย่างน้อย 90 วัน

• ฝรั่งเศสมี SPR มีขนาดประมาณ 65,000,000 บาร์เรล (ในปี 2003 มีการกำหนดให้มีปริมาณเชื้อเพลิงเครื่องบินคงเหลืออย่างน้อย 55 วัน) โดยครึ่งหนึ่งควบคุมโดย Société Anonyme de Gestion des Stocks de Sécurité (SAGESS) และอีกครึ่งหนึ่งควบคุมโดยบริษัทผู้ค้าน้ำมัน

• เยอรมนีก่อตั้ง Federal Oil Reserve ในปี 1970 ซึ่งตั้งอยู่ในถ้ำเกลือ Etzel ใกล้กับ Wilhelmshaven ทางตอนเหนือของเยอรมนี โดยมีขนาดเริ่มแรก 70 ล้านบาร์เรล (ปัจจุบัน Federal Oil Reserve ของเยอรมนีและ Erdölbevorratungsverband (EBV) (บริษัทถือหุ้นของเยอรมนี) กำหนดให้บริษัทผู้กลั่นน้ำมันต้องสำรองน้ำมันไว้เป็นเวลา 90 วัน ทำให้เยอรมนีมีขนาดสำรองประมาณ 250,000,000 บาร์เรล SPR ของเยอรมันถือว่ามากที่สุดในยุโรป

• ฮังการีมี SPR เพียงพอเท่ากับราว 90 วันสำหรับการบริโภคในประเทศหรือ 11,880,000 บาร์เรล 

• ไอร์แลนด์มี SPR เพียงพอต่อการบริโภคประมาณ 31 วันที่จัดเก็บในประเทศ และปริมาณสำหรับอีก 9 วันเก็บในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปอื่น ๆ นอกจากนี้ยังมีตั๋วน้ำมัน (สัญญาในการซื้อน้ำมันในกรณีฉุกเฉิน) และน้ำมันเชื้อเพลิงที่ถือครองโดยอุตสาหกรรมเอกชนขนาดใหญ่หรือผู้ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงรายใหญ่ โดยรวมแล้วเพียงพอสำหรับการใช้ประมาณ 100 วัน

• เนเธอร์แลนด์มีน้ำมันสำรอง 90 วันของการนำเข้าน้ำมันสุทธิ ในปี พ.ศ. 2556 คิดเป็นปริมาณน้ำมันประมาณ 30.5 ล้านบาร์เรล

• โปแลนด์มี SPR เท่ากับประมาณ 90 วันสำหรับการบริโภค ทั้งยังกำหนดให้บริษัทน้ำมันต้องรักษาปริมาณสำรองไว้เพียงพอสำหรับการบริโภค 73 วัน 

• โปรตุเกสมี SPR มีขนาดประมาณ 22,440,000 บาร์เรล 
• สโลวาเกียมี SPR มีขนาดประมาณ 748,000 บาร์เรล
• สเปนมี SPR มีขนาดประมาณ 144,000,000 บาร์เรล 
• สวีเดนมี SPR มีขนาดประมาณ 13,290,000 บาร์เรล 
• สหราชอาณาจักรจัดเก็บเชื้อเพลิงสำรองทางยุทธศาสตร์เท่ากับประมาณ 90 วันสำหรับการบริโภค มีขนาดประมาณ 144,000,000 บาร์เรล

• รัสเซียประเทศที่มีทรัพยากรน้ำมันติดอันดับหนึ่งในสามของโลก สามารถผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมได้ถึงวันละ 10.8 ล้านบาร์เรล มีการจัดเก็บปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองทางยุทธศาสตร์ในลักษณะของน้ำมันเชื้อเพลิงสำเร็จรูปที่ถือครองโดย Rosneftegaz บริษัทของรัฐ ในปริมาณ 14.7 บาร์เรล

• สวิตเซอร์แลนด์มี SPR สร้างขึ้นในทศวรรษที่ 1940 ซึ่งประกอบด้วยก๊าซ ดีเซล น้ำมันเครื่องบิน และน้ำมันให้ความร้อนเพียงพอสำหรับการบริโภค 120-140 วัน

• ยูเครน ในช่วงเริ่มต้นของการรุกรานยูเครนโดยรัสเซีย รัสเซียได้ทำลายคลังน้ำมันเชื้อเพลิงหลักของยูเครนจนนำไปสู่สถานการณ์เชื้อเพลิงวิกฤต ยูเครนแก้ปัญหาด้วยการซื้อรถบรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิงใช้แล้วจำนวน 2,000 คันจากสหภาพยุโรปและตุรกี พร้อมด้วยรถบรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิงใหม่อีก 600 คัน รถบรรทุกเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นระบบจัดเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงเคลื่อนที่ ต่างจากคลังน้ำมัน โรงกลั่น และสถานีรถไฟ ซึ่งอยู่กับที่ โดยรถบรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นเป้าหมายที่ทำลายได้ยากกว่า

SPR ของประเทศสำคัญในทวีปแอฟริกา (บางประเทศ)

• เคนยา เดิมไม่มีปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองทางยุทธศาสตร์ และอาศัยปริมาณสำรองน้ำมันเป็นเวลา 21 วันของบริษัทน้ำมันตามที่กำหนดภายใต้กฎหมาย ขณะนี้เคนยากำลังจัดตั้งคลังน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองทางยุทธศาสตร์ โดยบริษัทน้ำมันแห่งชาติของประเทศเคนยาเป็นผู้จัดหา และจัดเก็บโดยบริษัท เคนยา ไปป์ไลน์ จำกัด

• มาลาวีกำลังพิจารณาจัดเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองสำหรับ 22 วัน ซึ่งเป็นการขยายจาก 5 วันในปัจจุบัน รัฐบาลกำลังวางแผนที่จะสร้างคลังจัดเก็บในจังหวัด Chipoka และ Mchinji รวมถึงสนามบินนานาชาติ Kamuzu

• แอฟริกาใต้มี SPR ที่จัดการโดย PetroSA คลังหลักที่จัดเก็บคือ คลังน้ำมันที่อ่าว Saldanha ซึ่งเป็นจุดขนถ่ายหลักสำหรับการขนส่งน้ำมัน ถังเก็บคอนกรีตฝังดิน 6 ถังของคลังน้ำมันอ่าว Saldanha ทำให้มีความจุน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองปริมาณ 45,000,000 บาร์เรล

จากข้อมูลของประเทศต่าง ๆ ในยุโรปและแอฟริกาจะเห็นได้ว่า SPR หรือการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์มีความสำคัญอย่างมากต่อความมั่นคงทางด้านพลังงานและส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศโดยรวมในทุก ๆ มิติ โดยที่ประเทศไทยยังไม่มีการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์หรือ SPR เลย ความมั่นคงทางพลังงานต้องฝากไว้กับบริษัทค้าน้ำมันเอกชน ซึ่งเมื่อเกิดวิกฤตน้ำมันจะมีน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมเพียงพอต่อการบริโภคเพียง 25-36 วันเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ นโยบายการสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ (SPR) ของ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งยวด เพื่อความมั่นคงทางพลังงานเกิดขึ้นและอยู่ภายใต้รัฐบาล ซึ่งนอกจากจะทำให้ไทยมีหลักประกันในด้านความมั่นคงทางด้านพลังงานที่แข็งแกร่งแล้ว จะเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงของประเทศโดยรวมในทุก ๆ มิติอีกด้วย

‘ไทย’ ลงนามเจ้าภาพ ‘ซีเกมส์ 2025’ อย่างเป็นทางการ เตรียมยกระดับมาตรฐานเท่า ‘เอเชียนเกมส์-โอลิมปิกเกมส์’

(14 มิ.ย.67) ‘บิ๊กป้อม’ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานคณะกรรมการโอลิกปิกแห่งประเทศไทยฯ พร้อมด้วย นายชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์กีฬาซีเกมส์, ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.), ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี และนายสมนึก พรหมเขียว ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ร่วมพิธีลงนามในเซ็นสัญญาการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33 ของประเทศไทย ที่ห้องประชุม 1 คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย ฯ ถ.ศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน โดยมีผู้แทนชาติในสหพันธ์กีฬาซีเกมส์ ทั้งหมด 10 ประเทศ ร่วมเป็นสักขีพยาน

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย กล่าวในพิธีลงนามว่า การดำเนินงานดังกล่าว นับเป็นการลงนามครั้งแรกตั้งแต่กีฬาซีเกมส์เคยมีการจัดการแข่งขันมา ซึ่งก็ถือเป็นการเน้นย้ำในการยกระดับและมาตรฐานการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ให้สูงขึ้น ใกล้เคียงกับการแข่งขันมหกรรมกีฬาเอเชียนเกมส์ และโอลิมปิกเกมส์ และอยากขอให้ทุกฝ่าย ที่เกี่ยวข้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลัง เพื่อชื่อเสียงและเกียรติยศของประเทศไทย และให้เป็นไปตามข้อบังคับของธรรมนูญซีเกมส์ ฉบับลงวันที่ 4 พ.ค.2566 ส่วนการที่ 3 จังหวัด ร่วมกันเป็นเจ้าภาพหนนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ประชาสัมพันธ์จังหวัดของตัวเอง รวมถึงมีโอกาส แสดงศักยภาพในการจัดการแข่งขัน รวมไปถึงบริหารจัดการ และต้อนรับคณะนักกีฬาจากทั่วอาเซียนที่เข้าร่วมชิงชัย

ด้านนายชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์กีฬาซีเกมส์ เปิดเผยหลังพิธีการลงนามว่า ในวันนี้เป็นการจัดพิธีลงนามระหว่างสหพันธ์กีฬาซีเกมส์ กับ ประเทศไทย ในฐานะเจ้าภาพกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33 ปี ค.ศ.2025 ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 64 ปี ตั้งแต่มีการจัดการแข่งขันซีเกมส์มา ที่มีการจัดลงนาม ทั้งนี้ก็เพื่อยืนยันและสร้างมาตรฐานในการจัดการแข่งขันให้อยู่ในระดับเดียวกับกีฬาเอเชียนเกมส์ และเป็นบรรทัดฐานในการจัดการแข่งขันครั้งต่อ ๆ ไป

“ซีเกมส์ 2025 ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพเจ้าสหพันธ์กีฬาซีเกมส์ ตั้งใจจะใช้การแข่งขันครั้งนี้เริ่มต้นยกระดับและสร้างมาตรฐานการแข่งขันซีเกมส์ให้สูงขึ้น ไม่ให้ถูกด้อยค่า ดูแคลน เหมือนหลาย ๆครั้งที่ผ่านมา ที่กีฬาพื้นบ้านหลายชนิดที่เคยถูกบรรจุชิงทีละหลาย ๆ เหรียญทอง ก็จะไม่เกิดขึ้นอีกในครั้งนี้ ส่วนหนนี้ จะมีการจัดกี่ชนิดกีฬา จะมีการประชุมและเปิดเผยในสุดสัปดาห์นี้ เบื้องต้นได้รับการเสนอมา 40 ชนิดกีฬา ส่วนจะเพิ่มหรือลด จะให้เวลาอีก 2 เดือน ในการนำเสนอและพิจารณา ซึ่ง 3 จังหวัด ก็พร้อมทำหน้าที่ ด้านสนามหลักในการจัดแข่งขัน ที่วางกันเอาไว้จะอยู่ที่กรุงเทพฯ และชลบุรี ส่วนสงขลา จะจัดแข่งขันกีฬาฟุตบอล ในรอบแบ่งกลุ่ม”

ส่วน ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่ากกท. เผยว่า การลงนามในครั้งนี้ ถือเป็นการยืนยันความพร้อมของประเทศไทย และเจ้าภาพ 3 จังหวัด ที่จะจัดการแข่งขัน ซึ่งหนนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดของทั้งกรุงเทพมหานคร, ชลบุรี และสงขลา ได้เดินทางมาลงนาม และยืนยันความพร้อมด้วยตัวเอง ในส่วนของประเทศไทยซึ่งเป็นเจ้าภาพกีฬาซีเกมส์ในครั้งนี้ ก็จะเริ่มต้นเป็นต้นแบบในการสร้างมาตรฐานการแข่งขันให้สูงขึ้น โดยเจ้าภาพครั้งต่อไป อย่างมาเลเซีย ในปี 2027 และ สิงคโปร์ ในปี 2029 ก็พร้อมจะดำเนินรอยตามการแข่งขันอย่างเป็นสากลในทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะการชิงชัยเหรียญทอง ซึ่งก็จะเน้นหนักไปที่กลุ่มกีฬาสากล ที่มีในกีฬาเอเชียนเกมส์ และกีฬาโอลิมปิกเกมส์

“ส่วนเรื่องงบประมาณในการจัดการแข่งขัน เวลานี้อยู่ในขั้นตอนการนำเสนอให้ท่านนายกรัฐมนตรีพิจารณา และรอการลงนามเพื่ออนุมัติ สำหรับใช้ในการจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์และอาเชียนเกมส์พาราเกมส์ ซึ่งหากได้รับการลงนาม ก็จะมีการประชุม เตรียมงานกับคณะทำงานทุก ๆ ฝ่าย เพื่อเดินหน้าแผนงานที่วางไว้ ในระยะเวลาที่เหลืออีกราว 1 ปีกว่า ๆ”

สำหรับประเทศไทยเคยเป็นเจ้าภาพกีฬาซีเกมส์มาแล้ว 6 ครั้ง โดยทำหน้าที่เจ้าภาพซีเกมส์ครั้งแรก สมัยที่เรียกว่ากีฬาแหลมทอง เมื่อปี ค.ศ.1959 ต่อด้วยปี 1967, 1975, 1985, 1995 และครั้งล่าสุดปี 2007 ที่นครราชสีมา โดยในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33 จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 9-20 ธ.ค.2568 (ค.ศ.2025) โดย 3 จังหวัด กรุงเทพมหานคร, ชลบุรี และสงขลา ร่วมเป็นเจ้าภาพ ส่วนกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 13 จะจัดแข่งขันระหว่าง 20-26 ม.ค.2569 (ค.ศ.2026) 

🔎ส่อง ‘ตะวันออกกลาง เอเชีย และโอเชียเนีย’ SPR ทำยังไง?

ด้วยปัจจุบันทุกวันนี้ น้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดสิ่งหนึ่งส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลก เป็นทรัพยากรสุดยอดปรารถนาของทุกประเทศบนโลกใบนี้ กระทั่งทุกการดำเนินกิจการและกิจกรรมต่าง ๆ แทบจะขาดพลังงานที่มาจากน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมไม่ได้ แม้จะมีการใช้พลังงานทดแทนอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น พลังงานจากแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ ฯลฯ แต่ยังคงต้องใช้เวลาอีกพอสมควรถึงจะพัฒนาจนสามารถทดแทนพลังงานจากน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมได้

เมื่อน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมจึงมีความต่อเนื่องตามแต่ความต้องการของผู้บริโภคย่อมจะทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่สะดุดและหยุดนิ่ง แต่การณ์กลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น น้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมของโลกมิได้มีเสถียรภาพทั้งด้านปริมาณและด้านราคา เมื่อปริมาณการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค แน่นอนว่า ย่อมทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมพุ่งสูงขึ้นจึงเป็นที่มาของวิกฤตน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียม

วิกฤตน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมในปี 1973 ถือเป็นวิกฤตครั้งที่ใหญ่และส่งผลกระทบมากที่สุดเมื่อ OPEC เกิดความขัดแย้งกับอิสราเอลและประเทศที่สนับสนุนจึงทำให้ราคาของน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมสูงขึ้นถึงเกือบ 300% จึงทำให้เกิด ‘สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA)’ และเป็นที่มาของ ‘การสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ (SPR : Strategic Petroleum Reserve)’ ซึ่งเริ่มโดยสหรัฐอเมริกา และปัจจุบันเป็นผู้ถือครองน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมสำรอง SPR มากที่สุดในโลก 

การเกิดขึ้นของวิกฤตน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมมากมายหลายหน จึงทำให้ประเทศต่าง ๆ ต้องมีการสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ (SPR) เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาในระยะสั้น ทำให้ประเทศต่าง ๆ เหล่านี้รวมทั้ง ตะวันออกกลาง เอเชีย และโอเชียเนีย ล้วนแล้วแต่มีการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทั้งในรูปแบบ SPR และการสำรองเพื่อการพาณิชย์ทั้งสิ้น 

แม้แต่ประเทศในตะวันออกกลางซึ่งส่วนใหญ่แล้วต่างก็เป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันก็มี SPR เนื่องจากปริมาณน้ำมันสำรองในประเทศเหล่านั้นแม้จะมีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ยังคงเป็นน้ำมันดิบใต้พื้นดินที่ยังไม่ได้สูบขึ้นมาเพื่อกลั่นใช้แต่อย่างใด โดย ซาอุดีอาระเบีย มีน้ำมันดิบสำรอง 266.5 พันล้านบาร์เรล, คูเวต 102 พันล้านบาร์เรล, อิรัก 145 พันล้านบาร์เรล, ยูเออี 98 พันล้านบาร์เรล, กาตาร์ 25 พันล้านบาร์เรล, โอมาน 54 พันล้านบาร์เรล, ซีเรีย 2.5 พันล้านบาร์เรล, อิหร่านมีปริมาณน้ำมันดิบสำรอง 209 พันล้านบาร์เรล (SPR ของอิหร่านดำเนินการโดยบริษัทน้ำมันแห่งชาติอิหร่าน (NIOC) ได้สร้างถังเก็บน้ำมันดิบ 15 ถังที่มีความจุ 10,000,000 บาร์เรล ในปี 2023 อิหร่านได้นำน้ำมันสำรอง SPR จำนวน 7.55 ล้านบาร์เรลออกจำหน่ายเพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ ทำให้มีน้ำมันสำรอง SPR เหลืออยู่เพียง 4.2 ล้านบาร์เรล ซึ่งพอใช้บริโภคในประเทศได้ 4 วันเท่านั้น), อิสราเอล ตั้งแต่ปี 1975 มีปริมาณน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์เท่ากับ 270 วันของการบริโภค และจอร์แดนมีปริมาณสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์เท่ากับ 60 วันของการบริโภค

เอเชีย หลายประเทศทั้งที่เป็นสมาชิกและไม่เป็นสมาชิกของ ‘สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA)’ ต่างก็มีการจัดเก็บน้ำมันสำรอง SPR 

• จีน ในปี 2007 มีการประกาศการขยายปริมาณน้ำมันดิบสำรองเป็นระบบสองส่วน เงินสำรองของจีนจะประกอบด้วยน้ำมันดิบสำรองทางยุทธศาสตร์ที่รัฐควบคุม (SPR) เสริมด้วยน้ำมันดิบสำรองเชิงพาณิชย์ตามที่ได้รับคำสั่งจากรัฐ ปริมาณน้ำมันดิบสำรอง SPR ของจีนอยู่ที่ 475.9 ล้านบาร์เรล เท่ากับ 90 วันของการบริโภค 

• อินเดีย ปัจจุบันปริมาณน้ำมันดิบสำรอง SPR ของอินเดียอยู่ที่ 36.9 ล้านบาร์เรล เพียงพอที่จะใช้บริโภคได้ 9.5 วัน แต่โรงกลั่นน้ำมันของอินเดียต้องจัดเก็บน้ำมันดิบไว้ 64.5 วัน ดังนั้นจึงมีปริมาณสำรองน้ำมันโดยรวมเท่ากับ 74 วันของการบริโภค

• ญี่ปุ่น ในปี 2010 ญี่ปุ่นมี SPR ดำเนินการโดยบริษัท Japan Oil, Gas and Metals National Corporationประกอบด้วยสำรองน้ำมันที่รัฐควบคุม ณ แหล่งต่าง ๆ 11 แห่ง รวม 324 ล้านบาร์เรล ปริมาณน้ำมันสำรองของเอกชนที่ถือครองตามกฎหมายการกักเก็บน้ำมัน 129 ล้านบาร์เรล และปริมาณน้ำมันสำรองผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมภาคเอกชนอื่น ๆ อีก 130 ล้านบาร์เรล ปริมาณน้ำมันสำรองทั้งหมดประมาณ 583 ล้านบาร์เรล เพียงพอที่จะบริโภคได้ 224 วัน

• เกาหลีใต้ ตามกฎหมายกำหนดให้ โรงกลั่น ผู้จัดจำหน่ายที่ระบุ และผู้นำเข้า มีหน้าที่ระงับการจำหน่ายหรือการผลิตที่กลั่นได้ในแต่ละวันเป็นเวลา 40-60 วัน โดยอิงจาก 12 เดือนที่ผ่านมา ปลายปี 2010 เกาหลีใต้มีปริมาณน้ำมันสำรอง 286 ล้านบาร์เรล ซึ่งประกอบด้วย 146 ล้านบาร์เรล ณ South Korea National Oil Corporation สำหรับคลัง SPR รัฐบาลและคลังน้ำมันร่วมระหว่างประเทศ (อาทิร่วมกับคูเวต) และน้ำมันสำรองอุตสาหกรรมและคลังน้ำมันอุตสาหกรรมบังคับ (เอกชน) อีก 140 ล้านบาร์เรล เพียงพอที่จะบริโภคได้ 240 วัน (SPR 124 วันและเอกชน 117 วัน) ณ มีนาคม 2014

• ไต้หวัน มี SPR โดยมีขนาดตามรายงานในปี 1999 อยู่ที่ 13,000,000 บาร์เรล ในปี 2005 มีการเพิ่มปริมาณน้ำมันสำรองเชิงพาณิชย์ที่รัฐสามารถควบคุมอีก 27,600,000 บาร์เรล รวมแล้วเพียงพอที่จะบริโภคได้ 60 วัน

• ปากีสถาน มีการประกาศแผนน้ำมันสำรองฉุกเฉินเพียงพอที่จะบริโภคได้ 20 วัน และกำลังเพิ่มขีดความสามารถในการจัดเก็บ SPR อันเนื่องมาจากความขัดแย้งในตะวันออกกลาง

สำหรับประเทศโอเชียเนีย มีข้อมูล SPR ของ 2 ประเทศหลัก ๆ คือ

• ออสเตรเลีย ในปี 2008 ออสเตรเลียถือครองปิโตรเลียมไว้สามสัปดาห์ แทนที่จะเป็น 90 วันตามมาตรฐาน IEA ที่ได้ตกลงไว้ ปัจจุบันตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2023 รัฐบาลกำหนดให้ผู้นำเข้าน้ำมันต้องสำรองน้ำมัน : น้ำมันเบนซิน 27 วัน, น้ำมันดีเซล 32 วัน และน้ำมันเครื่องบิน 27 วัน

• นิวซีแลนด์ ในปี 2008 มีปริมาณสำรองทางยุทธศาสตร์อยู่ที่ 1,200,000 บาร์เรล น้ำมันสำรองส่วนใหญ่อิงตามสัญญาซื้อขายน้ำมันปิโตรเลียมกับออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นสัญญารับประกันการซื้อน้ำมันปิโตรเลียมของนิวซีแลนด์กับประเทศคู่สัญญาในกรณีฉุกเฉินหรือเกิดวิกฤตน้ำมันขึ้น

จะเห็นได้ว่า ทุกวันนี้แทบทุกประเทศในโลกมี ‘การสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ (SPR : Strategic Petroleum Reserve)’ โดยรัฐเพื่อความมั่นคงและประชาชน และเสริมด้วยการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อการพาณิชย์ของเอกชน ในขณะนี้ไทยเรามีเพียงแต่การสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อการพาณิชย์โดยเอกชนผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 เท่านั้น และหากเกิดกรณีฉุกเฉินหรือเกิดวิกฤตน้ำมันขึ้นไทยเราจะมีน้ำมันสำรองเพียงพอใช้เท่ากับ 25-36 วัน ดังนั้น SPR น้ำมันเชื้อเพลิงสำรองซึ่งอยู่ภายใต้ถือครองของรัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานจะทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคงทางพลังงานน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อจัดการแก้ไขปัญหากรณีฉุกเฉินหรือเกิดวิกฤตน้ำมันในระยะสั้นได้ในระดับหนึ่ง อันเป็นการบรรเทาเบาคลายปัญหาอีกมากมายจากผลกระทบที่จะเกิดขึ้นและเป็นการป้องกันความเดือดร้อนที่จะเกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนคนไทยให้สามารถดำรงชีวิตเป็นปกติสุขเช่นที่เป็นอยู่ได้ต่อไป


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top