Friday, 4 July 2025
ประเทศไทย

๑๐ พระแก้วแห่งสยามประเทศ บารมีคู่บ้าน สิริมงคลคู่เมือง

เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ พระองค์ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๖ รอบ หรือ ๗๒ พรรษา ในวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗ นี้ ผมเลยจะขอเรียบเรียงเรื่องราวดี ๆ ในแต่ละบทความให้ครบ ๑๐ เพื่อร่วมเทิดพระเกียรติในหลวงของเรา โดยในครั้งนี้จะเริ่มต้นด้วยพระแก้วคู่บ้านคู่เมืองแห่งสยามประเทศ ๑๐ องค์ 

จากพระแก้วเมืองอุบลราชธานี มาถึงกรุงเทพมหานครที่เราทราบกันดีว่าพระพุทธรูปองค์สำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์ คือ ‘พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร’ หรือ ‘พระแก้วมรกต’ ซึ่งถ้าเราเจาะลึกลงไปเพิ่มเติม โดยเฉพาะชื่อเต็มของกรุงเทพฯ คือ ‘กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์’ 

คำว่า ‘อมรรัตนโกสินทร์’ หมายถึง เมืองที่ประดิษฐาน ‘พระแก้วมรกต’ และอีก ๑ คำคือ คำว่า ‘ภพนพรัตน์’ อันหมายถึง พื้นดินที่ฝังอัญมณี ทั้งเก้าเอาไว้ ‘นพรัตน์’ หรือ อัญมณีทั้งเก้า ประกอบไปด้วย เพชร ทับทิม มรกต บุษราคัม โกเมน นิล มุกดา เพทาย และไพฑูรย์ 

แต่ครั้งนี้ผมคงเล่าได้ไม่ครบแก้วทั้ง ๙ ประการนะครับ แต่จะขอยกเอาพระแก้วสำคัญมาให้ท่านผู้อ่านได้รู้จักเพิ่มเติมมากกว่า ๙ คือจะเล่าถึง ๑๐ องค์ โดยหวังว่าท่านผู้อ่านคงจะมีโอกาสได้ไปสักการะองค์พระท่าน เพื่อเป็นสิริมงคลของแต่ละท่านนะครับ โดยผมขอเริ่มจากองค์พระที่มีพระวรกายเป็นสีเขียวก่อนนะครับ 

พระแก้วดอนเต้า

องค์ที่ ๑ ‘พระแก้วดอนเต้า’ หรือ ‘พระเจ้าแก้วมรกต’ ประดิษฐาน ณ กุฏิพระแก้ว วัดพระธาตุลำปางหลวง เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิราบ สลักจากหินหยกสีเขียวซึ่งเชื่อว่าเป็นหินหยกชนิดเดียวกับพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ตามศิลปะแบบเชียงแสนตอนปลาย ไม่มีพระเกตุมาลาเหมือนพระพุทธรูปทั่วไป โดยที่บริเวณฐานพระเจ้าแก้วมรกตดอนเต้าจะทำด้วยทองคำหนัก ๑๙ บาท ๑ สลึง ๑ เฟื้อง มีชฎาทองคำเป็นเครื่องสวมเศียร และมีเครื่องทรง ทำเป็นสร้อยสังวาล ซึ่งเป็นเนื้อทองคำรวมน้ำหนักถึง ๗ บาท ซึ่งตามตำนานเล่าว่าพระแก้วดอนเต้านี้สร้างขึ้นจากแก้วของพญานาคแห่งแม่น้ำวังกะนะทีซึ่งนางสุชาดามาถวายพระมหาเถระแห่งวัดดอนเต้า สลักด้วยฝีมือพระอินทร์จำแลง 

พระนาคสวาดิเรือนแก้ว

องค์ที่ ๒ ‘พระนาคสวาดิเรือนแก้ว’ ประดิษฐาน ณ หอพระสุราลัยพิมาน พระบรมมหาราชวัง เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ สลักจากหยกสีเขียว ศิลปะราวสมัยพุทธศตวรรษที่ ๒๐ โดยพระยาราชสุภาวดี (สิงห์ สิงหเสนี) ได้นำพระพุทธรูปศิลาเขียวองค์นี้ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งคำว่า ‘นาคสวาดิ หรือ นาคสวาท’ มาจากสีเขียวขององค์พระ ด้วยความเชื่อที่ว่าสีเขียวนั้นเกิดจากเลือดของนาคเมื่อครั้งถูกครุฑจับฉีกเนื้อ นาคกระอักเลือดออกมาเป็นหินสีเขียว เรียกว่า ‘นาคสวาท’ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นของวิเศษ 

รัชกาลที่ ๓ ทรงมีพระราชดำริว่าการที่ทรงได้ พระแก้วนาคสวาดิองค์นี้ในปีที่ ๓ ที่ทรงครองราชย์ นับเป็นบารมีเหมือนเมื่อครั้งสมเด็จพระบรมชนกนาถรัชกาลที่ ๒ ทรงได้พระแก้วผลึกในปีที่ ๓ ของรัชกาลเช่นกัน ภายหลังพระองค์ทรงสร้างเรือนแก้วทองคำลงยาราชาวดีถวายพระพุทธรูปศิลาเขียว และทรงถวายพระนามว่า ‘พระนาคสวาดิเรือนแก้ว’ เป็นพระแก้วประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓

พระพุทธมณีรัตนปฏิมากร

องค์ที่ ๓ ‘พระพุทธมณีรัตนปฏิมากร’ หรือเรียกกันอย่างสามัญว่า ‘พระแก้วมรกตน้อย’ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประดิษฐานบนฐานไม้จำหลัก ปิดทอง บัลลังก์ประดับพระปรมาภิไธย ‘วปร’ ใต้ฐานพระจารึกคำว่า ‘FABERGE 1914’ โดยพระแก้วองค์นี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น ในปี พ.ศ.๒๔๕๔ รัชกาลที่ ๖ ได้มีพระดำรัสสั่งสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ขณะทรงเสด็จฯ เยือนรัสเซีย ให้ทรงหาซื้อแก้วมรกตก้อนใหญ่ที่สุดเท่าที่จะพึงหาได้ แล้วโปรดเกล้าฯ ให้หาช่างฝีมือทำหุ่นพระพุทธรูปขึ้นตามแบบที่พระองค์ได้ทรงมอบให้  

ซึ่งผู้ที่รับแกะสลักพระพุทธรูปสำคัญนี้คือช่างจาก ‘ห้างฟาแบร์เช่’ ซึ่งเป็นห้างเครื่องทองและอัญมณีประจำราชสำนักรัสเซีย ดำเนินกิจการโดย นายปีเตอร์ คาร์ล ฟาแบร์เช่  (FABERGE) ซึ่งเป็นชื่อที่สลักอยู่ใต้ฐานองค์พระนั่นเอง 

พระแก้วมรกตน้อยมาถึงสยาม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ ในหลวงรัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้าฯ ให้มีการฉลองและทำพิธีพุทธาภิเษกในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ปีเดียวกัน เมื่อเสร็จพิธีแล้วพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประชาชนสักการบูชาเป็นเวลา ๓ วัน แล้วจึงอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ในพระบรมมหาราชวัง พระแก้วมรกตน้อยเป็นพระแก้วประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ประดิษฐานอยู่ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต 

พระพุทธรตนากร นวุติวัสสานุสรณ์มงคล

องค์ที่ ๔ ‘พระพุทธรตนากร นวุติวัสสานุสรณ์มงคล’ หรือชื่อสามัญคือ ‘พระหยกเชียงราย’ เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ศิลปะแบบเชียงแสน แกะสลักจากหินหยก มีเครื่องทรงแบบเชียงแสนทำจากอัญมณีและทองคำ ประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระแก้ว จังหวัดเชียงราย พระแก้วองค์นี้สร้างขึ้นในวโรกาสที่ ‘สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี’ ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๙๐ พรรษา นำโดยสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สุวรรณ สุวณฺณโชโต) อดีตเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรฯ อดีตเจ้าคณะใหญ่หนเหนือ ได้ร่วมกับพุทธศาสนิกชนชาวจังหวัดเชียงราย จัดสร้างพระแก้วองค์นี้ขึ้นเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล 

โดยหินหยกที่นำมาแกะสลักนั้น เป็นหินหยกจากประเทศแคนาดา แกะสลักโดยโรงงานหยกวาลินนานกู จงจูลู นครปักกิ่ง ประเทศจีน อัญเชิญมายังประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ ประกอบพุทธาภิเษก ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จฯ เป็นองค์ประธาน 

ซึ่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้พระราชทานนามพระพุทธรูปองคนี้ว่า ‘พระพุทธรตนากร นวุติวัสสานุสรณ์มงคล’ มีความหมายว่า ‘พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นอากรแห่งรัตน เป็นอนุสรณ์ 90 พรรษา’ และโปรดเกล้าฯ ให้ขนานพระนามว่า ‘พระหยกเชียงราย’ ต่อมาคณะสงฆ์และประชาชนชาวจังหวัดเชียงราย ได้อัญเชิญองค์พระไปประดิษฐาน ณ วัดพระแก้ว จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม ในปีเดียวกัน

จะเห็นว่าเมืองไทยของเรามีพระแก้วที่พระวรกายเป็นสีเขียวหลายองค์ ในลำดับต่อไปก็มาถึงพระแก้วที่มีพระวรกายเป็นเฉดขาวทั้งที่ใสดุจแก้ว องค์พระแก้วที่มีไหมทองเป็นลายในองค์พระและองค์ที่ขาวเย็นเพราะสลักจากศิลาขาว ดังนี้ครับ 

พระเสตังคมณี

องค์ที่ ๕ ‘พระเสตังคมณี’ หรือ ‘พระแก้วขาว’ ประดิษฐานภายในพระวิหาร วัดเชียงมั่น จังหวัดเชียงใหม่ สลักจากแก้วสีขาวใส ปางมารวิชัย ศิลปะสกุลช่างละโว้ ‘เสตังคมณี’ มาจากคำว่า ‘เสต’ แปลว่า ขาว กับคำว่า ‘มณี’ แปลว่า แก้ว คือ ‘พระแก้วขาว’ อย่างตรงตัว องค์พระใสสะอาด พระเศียรหุ้มด้วยทองคำ ประทับนั่งบนแท่นไม้จันทน์หุ้มแผ่นทองคำ ใต้ฐานจารึกว่า “เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๖ พระเจ้าอินทวิไชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ พระราชบิดาของพระราชชายา เจ้าดารารัศมี พร้อมด้วยเจ้าแม่ทิพยเกสรและราชบุตร ราชธิดาสร้างถวายแด่พระเสตังคมณี” 

ตามตำนานเล่าว่า องค์พระแก้วขาวนั้นเมื่อแรกสร้างนั้น พระอรหันตเจ้าไปขอ ‘แก้วบุษยรัตน์’ มาจาก ‘จันเทวบุตร’ หาช่างสร้างพระไม่ได้ จนพระอินทร์ต้องมีโองการสั่งพระวิษณุกรรมมาเนรมิตสร้างจนเป็นองค์พระอันงดงามและประดิษฐานที่ละโว้เป็นแห่งแรก 

ต่อมาพระนางจามเทวีซึ่งเป็นพระราชธิดาของพระเจ้ากรุงละโว้จะมาครองหริภุญไชย จึงได้ทูลฯ ขอพระแก้วขาวมาประดิษฐานที่เมืองหริภุญไชยเพื่อเป็นพระพุทธรูปบูชาประจำพระองค์และสถิตอยู่ ณ หริภุญไชยเป็นเวลาหลายร้อยปี ก่อนที่พญามังราย ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์มังรายผู้สถาปนาอาณาจักรล้านนา ยกทัพมาเอาชนะหริภุญไชย โดยมีพระราชศรัทธาพระแก้วขาวเป็นอย่างมาก จึงได้อัญเชิญพระแก้วขาวมาประดิษฐานไว้ ณ ที่ประทับส่วนพระองค์ 

ต่อมาเมื่อพระองค์ทรงได้สร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้นเป็นราชธานีในปี พ.ศ.๑๘๓๙ จึงได้อัญเชิญพระแก้วขาวมาประดิษฐานในพระราชฐานของพระองค์กระทั่งพระองค์สวรรคตพระแก้วขาวก็ได้ถูกอัญเชิญไปประดิษฐานอยู่ ณ วัดเชียงมั่นในเมืองเชียงใหม่ตลอดมากว่า ๗๐๐ ปี 

พระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย

องค์ที่ ๖ ‘พระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย’ หรือ ‘พระแก้วผลึก’ ประดิษฐานอยู่ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านนา ปางสมาธิ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด และใครเป็นผู้สร้าง มีเพียงเรื่องเล่าว่า มีผู้นำไปซ่อนไว้ในถ้ำเขาวัดส้มป่อย นครจำปาศักดิ์ ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง 

ต่อมาในสมัยอยุธยาตอนปลายมีพราน ๒ คน ไปพบ แล้วเชื่อว่าเป็นเทวรูปที่ให้คุณ จึงได้อัญเชิญองค์พระมาเก็บรักษาไว้ที่บ้าน แต่ระหว่างที่อัญเชิญองค์พระมานั้นพระกรรณเบื้องขวาไปกระทบคันหน้าไม้บิ่นไปเล็กน้อย ในสมัย ‘เจ้าไชยกุมาร’ ครองนครจำปาศักดิ์ ซึ่งขณะนั้นเป็นเมืองประเทศราชของไทย ได้ทราบข่าวเรื่อง ๒ พรานมีพระพุทธรูปแก้วผลึกใส พุทธลักษณะงดงาม จึงได้นำมารักษาไว้ที่นครจำปาศักดิ์ จนมาถึงสมัย ‘เจ้าพระวิไชยราชขัตติยวงศา’ เจ้านครจำปาศักดิ์องค์ใหม่ ได้ย้ายนครจำปาศักดิ์มาตั้งทางอีกฝั่งของแม่น้ำโขง 

จนในปี ๒๓๕๔ พระองค์ถึงแก่พิราลัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ จึงโปรดฯ ให้ข้าหลวงไปปลงพระศพ ข้าหลวงได้ไปเห็นองค์พระแก้วผลึก ว่าเป็นพระพุทธรูปแก้วผลึกสีขาวงดงาม ไม่เคยพบเห็นที่ใดมาก่อน จึงได้มีใบบอกนำความกราบบังคมทูลฯ ถวายพระแก้วผลึก แล้วจึงอัญเชิญมายังกรุงเทพฯ โดยมีงานสมโภชมาตลอดทาง เมื่อถึงกรุงเทพฯ รัชกาลที่ ๒ โปรดเกล้าฯ ให้ประชุมช่างจัดหาเนื้อแก้วผลึกเหมือนองค์พระ เจียระไนแก้วติดปลายพระกรรณขวาที่แตกชำรุดให้สมบูรณ์ และขัดชำระองค์พระให้เป็นเงางามเสมอกัน รับสั่งให้ทำเครื่องทรงอย่างงดงาม แล้วอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ในหอพระสุราลัยพิมาน ทรงสักการะบูชาวันละสองเวลา เช้า-ค่ำ ไม่มีขาด

ว่ากันว่าพระพุทธรูปองค์นี้มีความสำคัญเป็นอย่างมาก ตัวอย่างเช่น ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ หลังจากเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระเบญจาตั้งบุษบกสูงเพื่อประดิษฐานแก้วมรกตเป็นการถาวรแล้วเสร็จ ครั้นเมื่อมีงานพระราชพิธีใหญ่ต่าง ๆ ก็ทรงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระแก้วผลึกตั้งเป็นประธานในพิธีแทนมาจนตลอดรัชสมัยของพระองค์ 

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. ๒๔๐๔ พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ช่างทำเครื่องประดับองค์พระและฐานพระพุทธรูปใหม่ พร้อมทั้งฉัตรกลางและซ้าย ขวา แล้วตั้งการฉลองสมโภชในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และถวายพระนามพระแก้วผลึกนี้ว่า ‘พระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย’

พระแก้วน้ำค้าง

องค์ที่ ๗ ‘พระแก้วน้ำค้าง’ ประดิษฐานอยู่ ณ อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะรัตนโกสินทร์ตอนต้น สลักจากแก้วหินเขี้ยวหนุมาน หรือ ‘แก้วขาวน้ำบุษย์’ ลักษณะ ‘ใส’ ไม่มีมลทิน บางตำราเรียกองค์ท่านว่า ‘พระแก้วขาวบุษย์น้ำค้าง’ คำว่า ‘แก้ว’ ในที่นี้หมายถึง ‘หินกึ่งมีค่า’ หรือ ‘อัญมณี’ ไม่ใช่แก้วที่เกิดจากการหลอมทรายอย่างที่เรียกว่า ‘แก้วประสาน’ ส่วนบนขององค์พระช่วงพระเกศาทำจากทองคำครอบพระเศียรไว้ ฐานทองคำลงยาราชาวดี เชื่อกันว่าแก้วน้ำค้างจะนำมาซึ่งความร่มเย็นเป็นสุข นำพาความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ผู้ครอบครองและมีคุณวิเศษด้านปกป้องเภทภัยต่าง ๆ

พระพุทธบุษยรัตน์น้อย

องค์ที่ ๘ ‘พระพุทธบุษยรัตน์น้อย’ ประดิษฐานอยู่ที่ หอพระสุราลัยพิมาน ในหมู่พระมหามณเฑียร พระบรมมหาราชวัง เป็นพระพุทธรูปแบบแก้วผลึกใส ศิลปะแบบล้านนา ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ - ๒๐ ‘นายเพิ่ม’ ไพร่หลวงรักษาพระองค์ ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๓ โดยนำองค์พระมาจากพระนครศรีอยุธยา ซึ่งพระพุทธเจ้าหลวงทรงมีพระราชดำรัสว่า "...เนื้อแก้วบริสุทธิ์ดี ลักษณะและส่วนสัดส่วนงามกว่า พระแก้วขนาดเดียวกันบรรดามี..."

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ กับพระรจนารังสรรค์ แก้พระพักตร์ให้งามขึ้นกว่าเดิมพร้อมทำฉัตรกับฐาน ก่อนจะทรงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญมาประดิษฐานบนพระแท่นมณฑล ในพระราชพิธีตรุษในเดือนมีนาคม โดยทรงพระราชนิพนธ์ว่า  "...ในการพระราชพิธีใหญ่ ๆ จึงโปรดให้อัญเชิญพระพุทธบุษยรัตนออกมา ตั้งเป็นประธานในพระราชพิธีแทนพระแก้วมรกต ส่วนพระสำหรับแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ใช้พระนาคสวาดิเรือนแก้ว ซึ่งได้มาแต่เมืองเวียงจันทน์ ครั้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ใช้พระแก้วเชียงแสนเป็นพระของเดิม พระในแผ่นดินปัจจุบันนี้ใช้พระพุทธบุษยรัตนน้อย..." 

โดย ‘พระพุทธบุษยรัตน์น้อย’ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงถือว่าเป็นพระแก้วประจำรัชกาลพระองค์

พระพุทธสุวรรณโกศัยมัยมณี

องค์ที่ ๙ ‘พระพุทธสุวรรณโกสัยมัยมณี’ หรือ ‘พระแก้วไหมทอง’ ประดิษฐาน ณ วัดทุ่งสนุ่นรัตนาราม จ.กำแพงเพชร เป็นพระปางสมาธิที่แกะสลักจากหินไหมทองจากพม่า โดยพบหินไหมทองนี้ในปี พ.ศ.๒๕๕๖ เป็นพระที่แกะสลักจากหินไหมทององค์เดียวของไทย มีเส้นทองเดินทั่วองค์ ทรงเครื่องประดับตามแบบ ‘พระเสตังคมณี’ วัดเชียงมั่น จังหวัดเชียงใหม่ เป็นศิลปะล้านนาผสมรัตนโกสินทร์ เมื่อแสงไฟกระทบองค์พระ จะเห็นเส้นไหมทองละเอียดเต็มองค์ ตามปกติทางวัดจะไม่ได้เปิดให้เข้าสักการะหรือเข้าชม จะอัญเชิญออกมาเฉพาะเทศกาลสำคัญ เช่น วันสงกรานต์

พระพุทธเทววิลาส

องค์ที่ ๑๐ ‘พระพุทธเทววิลาส’ หรือ ‘หลวงพ่อขาว’ ประดิษฐาน ณ วัดเทพธิดาราม กรุงเทพมหานคร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดเทพธิดารามขึ้นใน พ.ศ.๒๓๗๙ คำว่า ‘เทพธิดา’ หมายถึง ‘กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ’ หรือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าวิลาส พระราชธิดาองค์ใหญ่ในรัชกาลที่ ๓ 

‘พระพุทธเทววิลาส’ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร ศิลปะเชียงแสนสุโขทัย จำหลักจากศิลายวงสีขาวบริสุทธิ์ประดิษฐานอยู่บนเวชยันต์บุษบกไม้จำหลักลาย ปิดทองประดับกระจกเกรียบ อัญเชิญองค์พระมาจากพระบรมมหาราชวัง 

ทั้งนี้ไม่ปรากฏประวัติการสร้างหรือที่มา เชื่อกันว่าเป็นพระพุทธรูปรุ่นเดียวกับพระแก้วมรกต เดิมเรียกกันแต่เพียงว่า ‘หลวงพ่อขาว’ จนในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ เสด็จฯ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ถวายพระกฐิน จึงได้ทรงเฉลิมพระนามว่า ‘พระพุทธเทววิลาส’ ตามพระนามของ ‘สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าวิลาส กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ’ ในหนังสือราชเลขาธิการที่ รล.๐๐๐๒/๒๕๒๒ 

บทความในครั้งนี้อาจจะยาวสักหน่อย แต่ถ้าท่านผู้อ่านสนใจในเรื่องของพระแก้วอันมงคลของไทย คงจะไม่พลาดไปสักการะองค์พระแก้วที่ผมได้เรียบเรียงมาเพื่อร่วมเทิดพระเกียรติ เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ พระองค์ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๖ รอบ หรือ ๗๒ พรรษา ในวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗ นี้ กันนะครับ

‘พโยม โรจนวิภาต’ หรือ ‘พ.๒๗’ สายลับผู้ภักดีต่อ ‘ในหลวง ร.๗’ | THE STATES TIMES Story EP.149

หากใครได้ดู ภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่อง '๒๔๗๕ รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ' หรือ '2475 Dawn of Revolution' ก็จะได้รู้จักกับตัวละครที่ชื่อ 'ลุงดอน' ซึ่งเป็นบุคคลที่มีอยู่จริงในทางประวัติศาสตร์ และถือเป็นบุคคลสำคัญและใกล้ชิดในหลวง ร.๗ ด้วย 

วันนี้ THE STATES TIMES ได้หยิบยกเรื่องของ 'ลุงดอน' มาเล่าสู่กันฟัง จะเป็นอย่างไร ติดตามชมได้เลย

เมืองไทยวันนี้ 'ยอดผลิตรถยนต์วูบ โรงงานทยอยปิด' สะท้อนกำลังซื้อ 'ทรุด' เศรษฐกิจฐานราก 'อ่อนแอ'

การทยอยประกาศปิดโรงงานผลิตรถยนต์ในไทย ทั้งจากซูบารุ ซูซูกิ 2 ค่ายใหญ่ ตามด้วย มิตซูบิชิ ที่เลิกจ้างพนักงานซับคอนแทรค กว่า 400 คน ก็คงพอรับรู้กันได้
.
ย้อนไปดูข้อมูลจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ซึ่งได้เปิดเผยข้อมูลการผลิตรถยนต์ ในเดือนเมษายน 2567 มีจำนวน 104,667 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 11.02  ส่งผลให้ 4 เดือนแรก ของปีนี้ มียอดผลิตรถยนต์ 518,790 คัน ลดลง ร้อยละ 17.05 โดยเฉพาะรถกระบะ ที่มีการผลิตลดลง ถึงร้อยละ 45.94
.
ส่วนการผลิตรถจักรยานยนต์ มีจำนวน 161,912 คัน ลดลงร้อยละ 4.36 เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน ปี 2566 ยอดการผลิตใน 4 เดือนแรก มีจำนวน 821,695 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 3.94  

ทั้งรถกระบะเพื่อการพาณิชย์ และรถจักรยานยนต์ มียอดการผลิตที่ลดลง สอดคล้องกับยอดจำหน่ายที่ลดลง ซึ่งสามารถสะท้อนกำลังซื้อที่อ่อนแอของประชาชนได้เป็นอย่างดี

แน่นอนว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น ส่งผลให้ไฟแนนซ์ มีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ภาพรวมของหนี้ NPL สูงขึ้น ทั้งในกลุ่มบัตรเครดิต สินเชื่อบ้าน และสินเชื่อรถยนต์

สอดคล้อง กับที่ รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ให้ความเห็นผ่านเฟซบุ๊ก โดยระบุว่า… ‘วิกฤตฐานราก’, Balance Sheet Recession, The Lost Decades ฯลฯ... ตอนนี้เหล่านักเศรษฐศาสตร์ไทยกำลังพูดถึงเรื่องเดียวกัน

ถ้ามองภาพการเงินของเศรษฐกิจไทยขณะนี้ในรูปของ ‘งบดุล’ โดยที่ฝั่งซ้ายเป็นสินทรัพย์ ส่วนฝั่งขวาเป็นหนี้สิน Balance Sheet Recession คือสภาพที่ฝั่งหนี้สูงขึ้นเรื่อย ๆ แต่ฝั่งสินทรัพย์มีมูลค่าลดลงเรื่อย ๆ ... สภาพเช่นนี้เป็น ‘กับดักหนี้’ ที่ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวยากมาก

ตอกย้ำด้วยข้อมูลจาก ธปท. อัตราเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ในหมวดพลังงานและหมวดอาหารสด จากผลของฐานค่าไฟฟ้าในปีก่อนที่ต่ำจากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ และราคาน้ำมันดีเซลที่เพิ่มขึ้นตามการทยอยลดมาตรการของภาครัฐ ประกอบกับราคาเนื้อสัตว์และผักที่เพิ่มขึ้นตามผลผลิตที่ออกสู่ตลาดน้อยลง

หนี้สินภาคครัวเรือน ต่อ GDP ปรับเพิ่มขึ้น อยู่ที่ร้อยละ 91.3 หนี้สินภาคธุรกิจ ต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 87.3 ซึ่ง เมื่อภาระหนี้สูง กำลังซื้อ การบริโภคภาคครัวเรือน ย่อมลดลง เรื่องกระตุ้นเศรษฐกิจโดยหวังการจับจ่ายของประชาชน แทบจะลืมไปได้เลย

รัฐบาล หาช่องทางแก้ไขกฎหมายให้ชาวต่างชาติ ขยายระยะเวลาการเช่าที่ดินเพิ่มเป็น 99 ปี และถือครองคอนโด ได้ถึง 75% โดยให้เหตุผลว่าเป็นนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ได้เอื้อผลประโยชน์ให้นายทุน ..!! 

หากย้อนกลับไปในปี 2564 ความพยายามในการแก้ไขกฎหมายให้ต่างชาติที่ถือครองที่ดิน เคยเกิดขึ้นมาแล้วในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น โดย ครม. มีมติจะแก้กฎหมายให้ต่างชาติถือครองกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียม จากร้อยละ 49 เพิ่มเป็นร้อยละ 70 ชาวต่างชาติที่มาลงทุนในไทยเกิน 40 ล้านบาท สามารถซื้อบ้านเนื้อที่ไม่เกิน 1 ไร่ มีข้อกำหนดเงื่อนไขที่เข้มงวด แต่ก็ถูกคัดค้าน ถูกกระแสสังคมต่อต้าน จนต้องกลับไปศึกษาใหม่

ชาวทวิตเตอร์ที่ติดแฮชแท็ก ‘ขายชาติ’ ในช่วงนั้น ช่วยกลับมาติดตามข่าวการเมืองหน่อย ติดตามว่าใครจะได้ประโยชน์ จากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายนี้ ช่วยมาติดตามข่าวเศรษฐกิจ เพราะตอนนี้ ‘ประชาชนจะอดตาย’ กันแล้ว

'เปลวสีเงิน' เตือน!! ปลุกกระแส 'ถวายคืนพระราชอำนาจ' เพื่อขจัดรัฐบาล ไม่ต่างจากดึงสถาบันฯ มาเป็นคู่ขัดแย้งทาง 'การเมือง-ประชาชน'

(8 ก.ค.67) นักหนังสือพิมพ์และคอลัมนิสต์ชื่อดัง ได้นำเสนอบทความ ในหัวข้อ ‘ถวายคืนพระราชอำนาจ? #ผักกาดหอม’ ระบุว่า…

อย่าได้คิดทำครับ…

หลายวันมานี้มีการเผยแพร่ข้อความในโลกออนไลน์ ซึ่งอ่านแล้วรู้สึกไม่สบายใจอย่างยิ่ง

นั่นคือ ข้อเสนอถวายคืนพระราชอำนาจ!

แม้จะไม่ชัดเจนว่า มีขอบเขตแค่ไหน แต่พอจับทางได้ว่าเพราะความไม่พอใจในการบริหารประเทศของรัฐบาลเศรษฐา

จึงอยากให้ถวายคืนพระราชอำนาจ

ถ้าเป็นแค่การเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา ก็ควรจะพูดกันให้ชัดเจน

จะได้ไม่สร้างความเข้าใจผิดในวงกว้าง

เพราะการยุบสภาผู้แทนราษฎรถือเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ซึ่งต้องกระทำโดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา

นายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้นำความขึ้นกราบบังคมทูลและนำร่างพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย

โดยนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

เรียกร้องแบบนี้เข้าใจได้ครับ

แต่ที่จับกระแสผ่านความเข้าใจในโซเชียล เป็นความเข้าใจคนละอย่าง

บางคนเลยเถิดถึงขั้นเรียกร้องให้รื้อฟื้นระบอบการปกครอง ‘สมบูรณาญาสิทธิราชย์’ ขึ้นใหม่

แบบนี้อันตรายมากครับ!

คิดแบบนี้ในยุคสมัยนี้ ก็ไม่ต่างจากดึงสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมืองกับ นักการเมือง และประชาชน

ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระมหากษัตริย์ เป็นศูนย์รวมของทุกอำนาจ

ทั้งการปกครอง การตุลาการ การทหาร

เป็นเจ้าชีวิตของประชาชนทั้งหมด

พระมหากษัตริย์ส่วนใหญ่ในอดีต นับแต่ราชอาณาจักรสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี รัตนโกสินทร์ ทรงใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ของอาณาประชาราษฎร์ ให้ร่มเย็นเป็นสุข

ในทางปฏิบัติ พระมหากษัตริย์ไม่อาจจะทรงปกครองบริหารราชอาณาจักรทั้งหมดด้วยพระองค์เองเพียงลำพัง จึงทรงมอบหมายให้บรรดาพระราชวงศ์เหล่าขุนนาง-ข้าราชการ ปฏิบัติหน้าที่ต่างพระเนตรพระกรรณ

แต่พระมหากษัตริย์จะทรงเรียกพระราชอำนาจคืนเมื่อไหร่ก็ได้

นั่นคืออดีต

ไม่เฉพาะไทย หรือสยาม หรือจะเรียกอะไรก็แล้วแต่…แต่ในอดีตกาลเป็นระบอบการปกครองที่ใช้กันแทบทุกแผ่นดินในโลกนี้

ปัจจุบันไม่อาจหวนกลับไปสู่ ‘สมบูรณาญาสิทธิราชย์’ ได้อีกแล้ว

แม้จะยังมีบางประเทศใช้อยู่ เช่น ซาอุดีอาระเบีย บรูไน แต่โดยบริบทของไทย คนไทย แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิงแล้ว

ปี ๒๔๗๕ ไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองกันอย่างทุลักทุเล

คณะราษฎรเองก็ใช่จะเข้าใจตรงกันทั้งหมดว่า เปลี่ยนแปลงการปกครองจาก ‘สมบูรณาญาสิทธิราชย์’ ไปสู่อะไร

สำหรับประชาชนยิ่งแล้วใหญ่

เกิดความเข้าใจในหมู่ประชาชนพื้นที่ห่างไกลว่า รัฐธรรมนูญเป็นลูกชายพระยาพหลฯ

กว่าจะเข้าที่เข้าทางได้ใช้เวลานานโข

แต่ยิ่งนานก็ยิ่งเกิดการแตกแยกในหมู่คณะราษฎร

จะเห็นว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทยนั้น ลุ่ม ๆ ดอน ๆ มาตั้งแต่แรกเริ่ม

เริ่มจากคณะราษฎรชิงอำนาจกันเอง

เกิดการรัฐประหารบ่อยครั้ง

และนักการเมืองคอร์รัปชัน

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นอุปสรรคในการพัฒนาประชาธิปไตยทั้งสิ้น

การพัฒนาประชาธิปไตย หรือการแก้ปัญหาทางการเมือง ไม่ใช่การ ถวายคืนพระราชอำนาจ แต่เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่ต้องช่วยกันสร้าง

แม้จะต่างพรรค ต่างความเชื่อ แต่เมื่อจุดมุ่งหมายของทุกคนคือประชาธิปไตย เราจะผลักภาระไปให้พระองค์ท่านไม่ได้

ประชาชนต้องช่วยกันขจัดนักการเมืองคอร์รัปชัน แม้จะยากลำบากเพราะสังคมไทยเป็นสังคมอุปถัมภ์ แต่ไม่มีทางเลี่ยง หรือทางลัดอื่น หากประชาชนไม่ทำ การเมืองก็วนอยู่อย่างนี้

คอร์รัปชัน รัฐประหาร เลือกตั้ง วนไปไม่มีที่สิ้นสุด

สถานะของพระมหากษัตริย์ในปัจจุบัน ทรงอยู่เหนือการเมือง และอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแถลงพระบรมราชาธิบายแก้ไขการปกครองแผ่นดิน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานแจกเนื่องในงานทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสนองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวันตรงกับวันเสด็จสวรรคตที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๔๗๐ มีความดังต่อไปนี้

“…อนึ่ง พระบรมเดชานุภาพของพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยามนี้ ไม่ได้มีปรากฏในกฎหมายอันหนึ่งอันใดด้วยเหตุถือว่าเป็นที่ล้นพ้น ไม่ข้อสิ่งอันใด หรือผู้ใดจะเป็นผู้บังคับขัดขวางได้

แต่เมื่อว่าตามความที่เป็นจริงแล้ว เพราะเหตุฉะนั้นข้าพเจ้าไม่มีความรังเกียจอันใดเลยซึ่งจะมีกฎหมายกำหนดพระบรมเดชานุภาพของพระเจ้าแผ่นดิน…”

รัฐธรรมนูญทุกฉบับบัญญัติ “องค์พระมหากษัตริย์ ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้” แสดงให้เห็นถึงฐานะของพระมหากษัตริย์ ทรงดำรงอยู่ในฐานะสูงสุดของประเทศและเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนเสมอมา

ผู้ใดจะทำให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทมิได้

และการใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ทรงใช้ผ่านฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

โดยมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

จะเห็นว่าพระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญนั้นมีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องถวายคืน

ที่พยายามประโคมว่าถวายคืนพระราชอำนาจเพื่อขจัดรัฐบาล แบบนี้ไม่เรียกว่าถวายคืนพระราชอำนาจ แต่เป็นการดึงสถาบันพระมหากษัตริย์ลงมาเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมือง

ฉะนั้นใครก็ตามที่คิดแบบนี้ กรุณาหยุดเสีย

หยุดทำเรื่องระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท

‘กองถ่ายต่างชาติ’ เลือก ‘ไทย’ ยกกองถ่ายหนัง 49 จังหวัด กรุงเทพฯ ขึ้นแท่นอันดับ 1 ‘เยาวราช-โรงหนังเก่าออสการ์’ ก็มา!!

(8 ก.ค.67) เพจเฟซบุ๊ก ‘Salika’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า…

รายงานข่าวแจ้งว่า คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ กระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า ในช่วง 6 เดือนแรก (ม.ค.-มิ.ย. 2567) มีภาพยนตร์ต่างประเทศได้รับอนุญาตถ่ายทำในประเทศไทย จำนวน 238 เรื่อง ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2566 จำนวน 6 เรื่อง แต่มีงบประมาณการถ่ายทำในประเทศไทยมากกว่า 3,588 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จำนวน 1,332 ล้านบาท คิดเป็น 59.33%

โดยกองถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศเดินทางมาจาก 31 ประเทศทั่วโลก ประเทศและดินแดนที่งบประมาณการถ่ายทำสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ฮ่องกง อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และเยอรมนี

สำหรับสถานที่ถ่ายทำมี 49 จังหวัด โดยจังหวัดที่มีกองถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศนิยมถ่ายทำมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่

อันดับ 1 กรุงเทพมหานคร 156 เรื่อง เช่น ถนนเยาวราช สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) โรงหนังเก่าออสการ์ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ เป็นต้น

อันดับ 2 ปทุมธานี 45 เรื่อง อาทิ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยรังสิต ACTS Studio

อันดับ 3 ชลบุรี 33 เรื่อง อาทิ เกาะล้าน ถนนเลียบชายหาดพัทยา ปราสาทสัจธรรม

อันดับ 4 นนทบุรี 22 เรื่อง อาทิ อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี

อันดับ 5 สมุทรปราการ และภูเก็ต 21 เรื่องเท่ากัน โดยจังหวัดสมุทรปราการ อาทิ เมืองโบราณ ฟาร์มจระเข้สมุทรปราการ The Studio Park และจังหวัดภูเก็ต อาทิ เขตเมืองเก่าภูเก็ต หาดพาราไดซ์ พระพุทธมิ่งมงคลเอกนาคคีรี เป็นต้น

ตรวจพบ DNA ‘ปลาหมอสีคางดำ’ เอี่ยวเอกชนรายใหญ่นำเข้าเมื่อปี 2553 โป๊ะ!! มีการขออนุญาตนำเข้า แต่หลุดระเบียบความปลอดภัยทางชีวภาพ

(10 ก.ค.67) จากเพจ 'BIOTHAI' ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กกรณีปลาหมอสีคางดำที่กำลังระบาดในไทย ระบุว่า...

มีความพยายามจากบุคคลบางกลุ่ม เพื่อบิดเบือน เบี่ยงเบน ปัดความรับผิดชอบ โดยปล่อยเอกสารผ่านสื่อ อ้างว่าปลาหมอสีคางดำ (Sarotherodon melanotheron) ที่ระบาดเพราะมีการนำเข้าจากกลุ่มเพาะเลี้ยงปลาหมอสีสวยงาม (โดยอ้างสถิติการส่งออกปลาหมอสี ซึ่งเป็นคนละสปีชีส์ และไม่ใช่เอเลี่ยนสปีชีส์เดียวกับที่บริษัทเอกชนรายใหญ่นำเข้าในปี 2553 แถมดันเอาสถิติการส่งออกปี 2556-2559 มาโชว์) 

แต่ผลการวิเคราะห์ DNA จากงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์กรมประมง ทำให้บริษัทเอกชนที่ละเมิดระเบียบความปลอดภัยทางชีวภาพ ไม่อาจหลบเลี่ยงความรับผิดชอบจากปัญหาที่เกิดขึ้นได้อีกต่อไป 

การศึกษาเรื่อง 'การวิเคราะห์เส้นทางการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำในเขตพื้นที่ชายฝั่งของไทยจากโครงสร้างพันธุกรรมของประชากร' โดย อภิรดี และคณะ (2565) กลุ่มวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพสัตว์น้ำจืด กองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด พบว่าประชากรปลาหมอสีคางดำที่แพร่ระบาดในประเทศไทยมีแหล่งที่มาร่วมกัน และความแตกต่างระหว่างกลุ่ม haplotype อยู่ในระดับการเปลี่ยนแปลงเพียง 1-2 ลำดับเบสเท่านั้น ซึ่งสามารถอธิบายความแตกต่างทางพันธุกรรมของประชากรแต่ละจังหวัดไว้ว่า น่าจะเกิดจากกลไกของจีเนติกดริฟท์ หรือความคลาดเคลื่อนจากการสุ่มตัวอย่าง ซึ่งเกิดจากปลาที่นำไปปล่อย มากกว่าเกิดจากการนำเข้าหลายครั้ง (multiple introduction)

ดังนั้น "การศึกษาครั้งนี้ช่วยยืนยันที่มาของการแพร่ระบาด โดยข้อมูลระยะห่างทางพันธุศาสตร์ และการจัดลำดับความสัมพันธ์เชิงวิวัฒนาการ ชี้ให้เห็นว่าประชากรปลาหมอสีคางดำที่แพร่ระบาดในประเทศไทยมีแหล่งที่มาร่วมกัน"

หมายเหตุ : ขอบคุณทีมนักวิจัย กลุ่มวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพสัตว์น้ำจืด กองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ของกรมประมงมาก ๆ ครับ อย่าลืมสรุปและส่งรายงานวิจัยนี้ให้ท่านอธิบดีอ่านโดยด่วนด้วยครับ

‘สิงคโปร์’ ไฟเขียว!! นำเข้าแมลง 16 ชนิด เพิ่มความมั่นคงทางอาหาร ด้าน 'ไทย' ตีปีก มีความได้เปรียบเหนือกว่าประเทศคู่แข่งเพียบ

(10 ก.ค. 67) สำนักงานอาหารของสิงคโปร์ออกประกาศเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (8 ก.ค.) เกี่ยวกับข้อกำหนดใหม่ในการนำเข้าแมลง 16 ชนิดที่ได้รับการอนุมัติเป็นอาหาร โดยประกาศดังกล่าวระบุว่า แมลงและผลิตภัณฑ์จากแมลงเหล่านี้เป็นสิ่งที่มนุษย์สามารถนำมาบริโภคหรือเป็นอาหารปศุสัตว์ โดยแมลงและผลิตภัณฑ์จากแมลงที่นำเข้าเพื่อการบริโภคโดยตรงของมนุษย์จะต้องได้รับการฆ่าเชื้อโรคอย่างเพียงพอ

ทั้งนี้ การนำเข้าแมลงแต่ละชนิดจะได้รับการอนุมัติให้นำเข้าในช่วงอายุที่กำหนดเท่านั้น เช่น จิ้งหรีดและตั๊กแตนได้รับอนุญาตให้นำเข้าในระยะโตเต็มวัยเท่านั้น ในขณะที่หนอนนกและด้วงจะต้องนำเข้าขณะที่ยังเป็นตัวอ่อน เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร 

ขณะที่ไทยเป็นประเทศที่มีความได้เปรียบกว่าประเทศคู่แข่ง ด้วยสภาพอากาศร้อนชื้นที่เหมาะสมสำหรับทำฟาร์มเพาะเลี้ยงแมลงเพื่อส่งออก และยังมีวัตถุดิบเพียงพอในการทำโรงงานผลิตแมลงแปรรูปได้อีก โดยแมลงยอดนิยม อาทิ จิ้งหรีด, ตั๊กแตน, แมงป่อง, ดักแด้, หนอนรถด่วน และด้วง จึงเป็นโอกาสสำคัญทางเศรษฐกิจไทยในการส่งออกแมลงที่เป็นสินค้าส่งออกที่มีอนาคตสดใส ในการสร้างรายได้ให้ประเทศ

‘ธนาคารโลก’ แนะแนว ‘ไทย’ หลุดพ้นกับดัก ‘เศรษฐกิจ-GDP’ โตต่ำ คลอดสมุดปกขาว-กทม.หยุดแบก-เสริมแกร่งเมืองรอง-ลุยอุตฯ ทำเงิน

เมื่อไม่นานมานี้ ‘ธนาคารโลก’ เผยแพร่ ‘รายงานการตามติดเศรษฐกิจไทย’ ฉบับล่าสุด นำเสนอหัวข้อ ‘การปลดล็อกศักยภาพการเติบโตของเมืองรอง’ ระบุว่า ศักยภาพ การเติบโตระยะยาวของไทยกำลังชะลอตัวลงจากเผชิญความท้าทายจากประชากรสูงวัย ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมประมาณการอัตราการเติบโตที่มีศักยภาพสำหรับปี 2566-2573 เฉลี่ยประมาณร้อยละ 2.7 ต่อปี ซึ่งต่ำกว่าทศวรรษก่อนหน้า 0.5 จุด จากการลดลงอย่างต่อเนื่องของการเติบโตของผลิตภาพปัจจัยการผลิตโดยรวม (TFP) แรงงานที่สูงวัยและลดลง ตลอดจน การเปลี่ยนแปลงจากภาคเกษตรไปสู่ภาคที่มีผลิตภาพสูงกว่าที่หยุดชะงัก

“ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงเวลาสำคัญ จำเป็นต้องแก้ไขความท้าทายสำคัญเพื่อฟื้นฟูการเติบโตทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเส้นทางการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยกำลังล้าหลังภูมิภาค การเติบโตของ GDP ต่อหัวช้ากว่าคู่แข่งในภูมิภาคอย่างเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย โดยประเทศไทยอยู่ในจุดวิกฤตที่มีความท้าทายด้านผลิตภาพและแนวโน้มประชากรที่ไม่เอื้ออำนวย จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงหากคนรุ่นปัจจุบันต้องการทิ้งมรดกแห่งความเจริญรุ่งเรืองไว้”

>>กรุงเทพฯ ‘เดอะแบก’ การเติบโตประเทศ

รายงานธนาคารโลกระบุว่า การกลายเป็นเมืองของไทยมุ่งเน้นไปที่กรุงเทพฯ ทำหน้าที่เป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนการเติบโตของประเทศที่สุดโต่ง เป็นส่วนเดียวของประเทศที่สามารถแข่งขันทางเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในระดับภูมิภาคและระดับโลก แต่ กทม. ก็กลายเป็นเมืองที่แออัดมากขึ้นเรื่อย ๆ และความไร้ประสิทธิภาพและปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความแออัดนั้นกำลังกลายเป็นเรื่องที่ยากจะเอาชนะ

ในแง่ของเศรษฐกิจของประเทศและความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศ GDP ของกทม. เมื่อเทียบกับประเทศอื่นพบว่า ขนาด GDP ของกทม.ใหญ่กว่าเมืองที่ใหญ่เป็นอันดับสองเกือบ 40 เท่า มากกว่าเมื่อเทียบกับกรณีของมาเลเซีย 8 เท่า อินโดนีเซีย 6 เท่า และเวียดนาม 3 เท่า ขณะที่การลงทุนในกทม. มีสัดส่วนที่ไม่สมดุลกับขนาดและนํ้าหนักทางเศรษฐกิจของเมือง ตัวอย่างเช่น ในปี 2563 ประมาณ 60% ของการใช้จ่ายสาธารณะกระจุกตัวอยู่ในกทม. แม้ว่ากทม.จะมีสัดส่วน GDP เพียง 34% ของประเทศ และ 13% ของประชากร

รายงานธนาคารโลกระบุอีกว่า การกระจายการพัฒนาเศรษฐกิจไปยังหลายเมือง จะช่วยบรรเทาความเสี่ยงจากนํ้าท่วมและสภาพอากาศ โดยเฉพาะเมืองรองสามารถเป็นจุดยึดของภูมิภาคใหม่ของการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจของ กทม. แสดงสัญญาณของการชะงักงัน เนื่องจากการเติบโตของ GDP มีค่าประมาณเท่ากับการเติบโตของประชากร บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจของเมืองเติบโตเต็มที่และอาจอิ่มตัว การปล่อยให้เมืองรองยังคงมีประสิทธิภาพตํ่าก็ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่สำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย

ดังนั้นการยกเลิกข้อจำกัดสำหรับเมืองรอง ควบคู่ไปกับการจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสม จะช่วยให้เมืองรองสามารถดึงดูดการลงทุนและทักษะเพิ่มผลิตภาพมากขึ้น และช่วยให้ประเทศไทยฟื้นตัวจากภาวะซบเซาในปัจจุบัน อีกทั้งยังช่วยสร้างความเจริญรุ่งเรืองในระยาวให้กับประเทศไทย

>> แนะดัน 5 เมืองใหญ่ขยายเศรษฐกิจ

ธนาคารโลกยกตัวอย่าง เมืองรอง 5 แห่งที่มีความหลากหลายทางเศรษฐกิจ คือ

1.เชียงใหม่ เป็นที่รู้จักกันดีในระดับนานาชาติ และตั้งอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์ใกล้กับลาว เมียนมา และจีน และทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภาคเหนือของไทย มีภาคการท่องเที่ยว การเกษตร และโลจิสติกส์ที่แข็งแกร่ง เป็นสถานที่ที่เหมาะสำหรับ digital nomads ในศตวรรษที่ 21

2.ระยอง ตั้งอยู่ในศูนย์กลางของระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมที่สำคัญ เป็นที่ตั้งของโรงกลั่นนํ้ามันขนาดใหญ่ การผลิตเคมีภัณฑ์และยานยนต์ นอกจากนี้ยังมีท่าเรือนํ้าลึกขนาดใหญ่ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางสำคัญของภูมิภาคในการอำนวยความสะดวกกิจกรรมการนำเข้าและส่งออก

3.นครสวรรค์ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นที่รู้จักในฐานะศูนย์กลางการขนส่งและแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรในภูมิภาค ได้ขยายตัวไปสู่การผลิตและอุตสาหกรรมอื่น ๆ มีศักยภาพในการพัฒนาที่ดี เนื่องจากการเชื่อมโยงด้านการขนส่งและต้นทุนที่ดินและแรงงานที่ค่อนข้างไม่แพง

4.ขอนแก่น ซึ่งเป็นศูนย์กลางพาณิชย์และอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย เป็นหนึ่งในเมืองที่เติบโตเร็วที่สุดในประเทศไทย มีเศรษฐกิจที่หลากหลาย ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเกษตร การผลิต โลจิสติกส์ และการศึกษา

5.ภูเก็ต ทำหน้าที่เป็นจุดหมายปลายทางสำคัญสำหรับการท่องเที่ยว การบริการ และกิจกรรมด้านสุขภาพ และยังดึงดูด digital nomads อีกด้วย มีอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ที่แข็งแกร่งและเป็นศูนย์กลางการค้าของพื้นที่ผลิตยางที่สำคัญ ท่าเรือของภูเก็ตให้บริการเรือยอร์ชหรูและเรือสำราญ รวมถึงเรือพาณิชย์ขนาดเล็กที่จัดการการส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร

>>คลอดสมุดปกขาว-กระจายพัฒนา

ความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกันเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ความหลากหลายช่วยป้องกันบางส่วนเมื่อภาคส่วนเฉพาะประสบกับการหยุดชะงักหรือสภาวะตลาดเปลี่ยนแปลง ซึ่งแนวทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจไทย รัฐบาลต้องกระจายอำนาจให้เมืองรอง ให้อิสระในการวางแผนและตัดสินใจลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มความเป็นอิสระทางการคลัง เพิ่มเครื่องมือสร้างรายได้ท้องถิ่น ด้วยการปรับปรุงระบบภาษีท้องถิ่น เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพิ่มการจัดเก็บค่าธรรมเนียมและค่าบริการท้องถิ่น รวมไปถึงการส่งเสริมการกู้ยืมของเทศบาล ทั้งอนุญาตให้เมืองรองกู้ยืมเงินเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และพัฒนาตลาดพันธบัตรเทศบาล

นอกจากนี้ควรจัดทำ White Paper และโครงการนำร่อง ด้วยการพัฒนานโยบายครอบคลุมสำหรับการเงินโครงสร้างพื้นฐานท้องถิ่น ทดลองใช้รูปแบบใหม่ในกลุ่มเมืองรองที่เลือก สร้างระบบสนับสนุน ด้วยการจัดตั้งหน่วยสนับสนุนนโยบายและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน จัดตั้งกองทุนพัฒนาโครงการเพื่อสนับสนุนการเตรียมโครงการ ควบคู่กับการส่งเสริมการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ พัฒนาการศึกษาและทักษะแรงงานในเมืองรองปรับปรุงการเชื่อมต่อและโครงสร้างพื้นฐาน ด้วยการพัฒนาระบบขนส่งและการสื่อสารระหว่างเมืองรองและกรุงเทพฯ

>> จีดีพีไทย 10 ปีโตเฉลี่ย 1.9%

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในปี 2566 เศรษฐกิจหรือจีดีพีไทยขยายตัวเพียง 1.9% และช่วงไตรมาสแรกปีนี้ขยายตัว 1.5% และหากย้อนกลับไป 10 ปี ก่อนหน้าปี 2566 จีดีพีไทยขยายตัวเฉลี่ยเพียงปีละ 1.92% ตํ่าสุดในภูมิภาค ที่ส่วนใหญ่ขยายตัวที่ระดับ 5-6% ต่อปี มีปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งจากเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก 

ขณะที่ปัจจุบันไทยมีปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงถึง 91% ต่อจีดีพี กดทับกำลังซื้อ และการบริโภค และโครงการลงทุนต่าง ๆ ของภาครัฐก็ใช้งบลงทุนไม่มาก ทำให้มีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา

ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมการผลิต ปัจจุบันความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลง เพราะส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมดั้งเดิม และรับจ้างผลิต (โออีเอ็ม) สินค้าที่ผลิตตลาดเริ่มลดความนิยมในหลายสินค้า ส่วนรถยนต์เครื่องยนต์สัปดาห์ภายในที่เป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ของไทยก็เริ่มไม่ตอบโจทย์ เพราะเทรนด์อนาคตนับจากนี้ผู้บริโภคจะหันไปให้ความนิยมรถยนต์ใช้พลังงานสะอาด เช่น รถ EV มากขึ้น

ส่วนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าสูง เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ หรือเซมิคอนดักเตอร์ ส่วนใหญ่เป็นเทคโนโลยีเก่า และยังใช้แรงงานเข้มข้น ทำให้ไทยได้แต่ค่าแรง ต่างจากมาเลเซีย และเวียดนามที่เวลานี้ผลิตสินค้าประเภทเดียวกันแต่เป็นสินค้าที่ไฮเทคกว่า และมีมูลค่ามากกว่า ทำให้ยอดส่งออกสูงกว่าไทย

>> ลุยปรับโครงสร้างผลิตดัน GDP

เป็นที่มาของส.อ.ท.ที่อยู่ระหว่างการเร่งยกระดับและปรับโครงสร้างภาคการผลิตของไทยให้ตอบโจทย์เทรนด์ของโลก และเพื่อสร้างมูลค่าเศรษฐกิจใหม่ให้กับประเทศ โดยอยู่ระหว่างการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของ 46 กลุ่มอุตสาหกรรมสมาชิก มีการนำเทคโนโลยี นวัตกรรม ระบบอัตโนมัติ โรบอติกส์ และระบบดิจิทัลเข้ามาใช้มากขึ้น มุ่งอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) อุตสาหกรรม BCG (Bio-Circular-Green) เพื่อตอบโจทย์ Climate Change และ Net Zero

“ในส่วนของภาครัฐเราต้องการการสนับสนุนในหลายเรื่องสำคัญ เช่น การทำกฎหมายให้ทันสมัยเอื้อต่อการลงทุน ช่วยลดต้นทุนการผลิต เช่น ค่าไฟฟ้า ดอกเบี้ย และอื่น ๆ ซึ่งหากโครงสร้างของเรายังเป็นอุตสาหกรรมเดิม ๆ เหมือนในอดีต เป้าหมายของนายกรัฐมนตรีที่จะผลักดันจีดีพีของไทยให้เติบโตได้ปีละ 5% ก็คงไปไม่ถึง ดังนั้นภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันในการผลักดันอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่เป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ตอบโจทย์เทรนด์ของโลกเพื่อให้เป้าหมายเป็นไปได้”

>> คลังเร่งมาตรการสู่เป้า 3%

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กรณีธนาคารโลก (World Bank) ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 เหลือโต 2.4% นั้น ใกล้เคียงกับหลายสำนักงานเศรษฐกิจที่ได้ปรับประมาณการไว้ล่วงหน้า ขณะเดียวกัน หน่วยงาน ประมาณการเศรษฐกิจที่อยู่ในประเทศ จะมีความแม่นยำสูง เนื่องจากเห็นสภาวการณ์ต่าง ๆ ซึ่งในที่สุดก็ปรับมาใกล้เคียงกัน

ส่วนกรณีที่กระทรวงการคลังวางเป้าหมายไว้ให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ เติบโตได้ 3% นั้น ก็จะมีหลายมิติที่ต้องดูแล เช่น การท่องเที่ยว ต้องเพิ่มทั้งจำนวนนักท่องเที่ยว และรายจ่ายต่อหัว รวมทั้งการท่องเที่ยวเมืองรอง ซึ่งกระทรวงการคลังได้ออกมาตรการทางภาษีมากระตุ้นเพิ่มเติม และจะมีมาตรการอื่น ๆ ทยอยออกมาดูแลเศรษฐกิจ เพิ่มเติมด้วย เช่น การคํ้าประกันสินเชื่อ เป็นต้น

‘ครูเดวิด’ อึ้ง!! ฝรั่งมาไทย ยังชื่นชม 'ผู้คน-อาหาร-ความปลอดภัย' แต่ 30-40% คอมเมนต์คนไทย ไม่ขอบคุณ แถมดันด่าประเทศตัวเอง

(10 ก.ค. 67) จากกรณีที่ชาวต่างชาติคนหนึ่ง ได้โพสต์วิดีโอลงบนติ๊กต็อกชื่นชมประเทศไทย ว่าคนไทยอัธยาศัยดีมาก และยังเป็นประเทศที่ปลอดภัยมาก ๆ สามารถเสียบกุญแจคาไว้ที่รถได้เลยโดยที่รถไม่หาย แต่หลังจากที่คลิปนี้ถูกเผยแพร่ออกไป ชาวเน็ตคนไทยบางส่วนกลับแห่คอมเมนต์วิพากษ์วิจารณ์และด้อยค่าประเทศตัวเองเสียอย่างนั้น

ล่าสุด 'เดวิด วิลเลียม' (David William) ครูสอนภาษาอังกฤษ ชาวอเมริกา ที่ได้มาอาศัยอยู่ในประเทศไทย ได้โพสต์คลิปวิดีโอดังกล่าวลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว พร้อมพูดถึงกรณีดังกล่าว โดยมีเนื้อความดังนี้…

"ทุกคนพี่ไปเจอคลิปนี้มา ซึ่งพี่ต้องขออนุญาตพูดก่อนว่า เป็นหนึ่งคลิปที่ชาวต่างชาติท่านหนึ่งที่อุตส่าห์มาชมบ้านเรา และตอนแรกพี่ก็นึกว่าคนไทยที่เข้าไปคอมเมนต์จะชมเขาหรืออย่างน้อยก็ขอบคุณที่เขาอุตส่าห์มาชื่นชมบ้านเรา

"แต่พี่งงมากเลยนะ เพราะ 30-40% ของคอมเมนต์นั้น คือ ไม่ได้ชมเขาเลยนะ ไม่ได้ขอบคุณเขาด้วย แต่กลับออกมาด่าประเทศไทยไม่หยุด"

จากนั้น ครูเดวิด ก็ได้เล่าคอมเมนต์จากผู้ที่ด่าเมืองไทยในคลิปนั้น ดังนี้...

"คอมเมนต์แรกนะทุกคน มีคนบอกว่า ‘ผมกล้าบอกเลย ประเทศไทยไม่ได้น่าอยู่อย่างที่คุณบอก คนก็ไม่ได้น่ารัก ผมโดนเจ้านายด่าทุกวัน ประเทศก็ไม่ได้น่าอยู่ ประเทศไทยเป็นหนึ่งประเทศที่ไร้การพัฒนา ถ้าคุณชอบประเทศผมขนาดนี้ ช่วยแลกที่กับผมเถอะ’...

"คนนี้เป็นคนที่แจ๋วมากเลยนะทุกคน คือแทนที่เขาจะคิดลบใช่ป่ะ คือคนนี้ต้องเป็นคนที่บวกแห่งปี 2024 แน่ ๆ ถามว่าทําไมรู้ป่ะ คือแทนที่เขาจะเข้าใจว่า ‘ที่เจ้านายเราเนี่ยด่าเราทุกวัน แสดงว่าศักยภาพของเราอาจจะไม่ดีพอหรือเปล่า หรือแสดงว่าเราทํางานไม่ดีพอหรือเปล่า แต่เขากลับคิดว่า ตัวเองเริ่ดขนาดนี้ ประเสริฐขนาดนี้ ทำไมถึงถูกด่า’ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าคนไทยทุกคน ทุกคนเลยนะ เป็นคนที่ใจร้ายที่สุดในโลกอย่างแน่นอน...

"คอมเมนต์ต่อไปนะทุกคน ‘คนนี้บอกว่า ใจเย็นฝรั่ง นายต้องอยู่นานกว่านี้หน่อยนะ แล้วค่อยมาบอกกันอีกที’ / ‘ผมไม่เคยชอบประเทศไทยถ้าคุณชอบก็เรื่องของคุณ’...

"แต่คอมเมนต์ต่อไปนี่คือสุดเลยทุกคน ‘เขาบอกว่าอยู่ไหนครับ เดี๋ยวผมไป’...

"สิ่งที่พี่ต้องการจะพูดคือ ‘นี่คือสิ่งที่ประหลาดมาก’ กับการที่เวลามีชาวต่างชาติมาชมบ้านเรา เวลามีคนมาชมประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการชมประเทศไทย อาหารไทย วัฒนธรรมไทย คนไทย หรือความปลอดภัยของประเทศไทยก็ตาม แต่กลับมีคนคอมเมนต์บอกว่าประเทศไทยไม่ได้ปลอดภัย คุณอย่าคิดแบบนั้น"

ครูเดวิด ยกตัวอย่างให้ฟังด้วยว่า "ถ้าคุณไปดูงานวิจัย แล้วถ้าคุณเปรียบเทียบประเทศไทยกับอเมริกา คุณจะรู้ว่า 50% ของชาวอเมริกันนั้น เขาจะบอกว่า เฮ้ย!! เราไม่เคยรู้สึกปลอดภัย เรารู้สึกกลัวตลอดเมื่ออยู่บนท้องถนน และในฐานะคนอเมริกันคนหนึ่ง พี่สามารถฟันธงได้เลยว่าตั้งแต่ที่พี่มาอยู่ประเทศไทย พี่ไม่เคยรู้สึกกลัวอะไรเลย คือถามว่ามันอาจจะมีบางสถานที่ในประเทศไทย ที่อาจจะไม่ปลอดภัย คําตอบคือใช่ เหมือนทุกประเทศในโลก แต่ถามว่าโดยรวมแล้ว เรื่องอัธยาศัยของคนไทย และด้วยความน่ารักของพวกเขา ถ้าคุณไปเดินบนท้องถนนแล้วคุณต้องรู้สึกกลัวรึเปล่า? คําตอบคือไม่อย่างแน่นอน...

"จริง ๆ พี่อยากจะถามมาก ๆ มันจําเป็นตรงไหนเราจะต้องนั่งแบบด่าประเทศตัวเองทุกวัน อันนี้คือพี่อยากจะรู้จริง ๆ เลยนะ กลับกันถ้าคุณลองไปถามพลเมืองในประเทศอื่น ไม่ว่าจะเป็นเกาหลี, สหรัฐฯ หรือแม้กระทั่งฟิลิปปินส์ก็ตาม ว่าเขารู้สึกยังไงเกี่ยวกับประเทศตัวเอง สิ่งเดียวที่เขาจะพูดตลอดคือ พวกเขารักประเทศของเขามาก เขาชอบประเทศเขามาก แน่นอนว่าประเทศไหนๆ ก็ไม่ได้สมบูรณ์แบบ แต่ทุกคนที่เกิดในประเทศนั้นๆ เขาล้วนรู้สึกภูมิใจในประเทศตัวเองทั้งสิ้น...

"แล้วถามว่าทำไมเขาถึงภูมิใจ เขาก็จะบอกว่า ก็เขาเกิดที่นี่แล้ว เขาก็จะพยายามปกป้องประเทศ ปกป้องอาหารของเขา วัฒนธรรมของเขา เพราะมันคงไม่มีประเทศไหนบนโลกที่เหมือนประเทศของเขาอย่างแน่นอน"

"โดยสรุปนี้แล้ว ถึงแม้ประเทศไทย อาจจะไม่ได้เป็นประเทศที่ Perfect ที่สุดในโลก แต่พี่อยากให้คนไทยภูมิใจในบ้านตัวเองมากขึ้น เพราะพี่สามารถบอกคุณได้เลยนะ อาหารของเมืองไทยไม่ธรรมดา ความน่ารักของคนไทยก็ไม่ธรรมดา พวกเขาไม่เคยดูถูกชาวต่างชาติ ต้อนรับทุกคนตลอดเวลา ประเทศไทยมีความปลอดภัยให้ และคนไทยก็มีความใจดี ประเทศไทยเป็นหนึ่งประเทศที่น่าภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง" ครูเดวิดทิ้งท้าย

🔎ส่อง 5 อันดับ ‘มหาวิทยาลัยไทย’ เรียนจบไป ไม่ต้องกลัวตกงาน

‘QS World University Rankings’ เผย 5 อันดับมหาวิทยาลัยที่ได้คะแนนความยอมรับจากผู้จ้าง ที่มากที่สุดในประเทศไทย

โดยประเมินจาก...

- คุณภาพการสอน (Academic Reputation) ดูจากการประเมินของนักวิชาการทั่วโลกว่ามหาวิทยาลัยนั้นๆ มีชื่อเสียงในด้านการสอนมากน้อยแค่ไหน

- งานวิจัย (Employer Reputation) ประเมินจากนายจ้างว่า นักศึกษาที่จบจากมหาวิทยาลัยนั้นมีคุณภาพและมีความพร้อมในการทำงานเพียงใด

- อัตราการจ้างงาน (Faculty/Student Ratio) เปรียบเทียบจำนวนอาจารย์กับจำนวนนักศึกษา เพื่อดูว่ามหาวิทยาลัยมีการให้ความสำคัญกับนักศึกษาอย่างไร

- จำนวนการอ้างอิงงานวิจัย (Citations per Faculty) วัดจากจำนวนการอ้างอิงงานวิจัยของคณาจารย์ในมหาวิทยาลัย เพื่อดูความมีอิทธิพลทางวิชาการ 

- จำนวนนักศึกษาต่างชาติ (International Faculty and Students) ดูจำนวนอาจารย์และนักศึกษาต่างชาติในมหาวิทยาลัย เพื่อดูความเป็นนานาชาติและการเปิดรับจากทั่วโลก


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top