‘ไทย’ ลงนามเจ้าภาพ ‘ซีเกมส์ 2025’ อย่างเป็นทางการ เตรียมยกระดับมาตรฐานเท่า ‘เอเชียนเกมส์-โอลิมปิกเกมส์’

(14 มิ.ย.67) ‘บิ๊กป้อม’ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานคณะกรรมการโอลิกปิกแห่งประเทศไทยฯ พร้อมด้วย นายชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์กีฬาซีเกมส์, ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.), ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี และนายสมนึก พรหมเขียว ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ร่วมพิธีลงนามในเซ็นสัญญาการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33 ของประเทศไทย ที่ห้องประชุม 1 คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย ฯ ถ.ศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน โดยมีผู้แทนชาติในสหพันธ์กีฬาซีเกมส์ ทั้งหมด 10 ประเทศ ร่วมเป็นสักขีพยาน

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย กล่าวในพิธีลงนามว่า การดำเนินงานดังกล่าว นับเป็นการลงนามครั้งแรกตั้งแต่กีฬาซีเกมส์เคยมีการจัดการแข่งขันมา ซึ่งก็ถือเป็นการเน้นย้ำในการยกระดับและมาตรฐานการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ให้สูงขึ้น ใกล้เคียงกับการแข่งขันมหกรรมกีฬาเอเชียนเกมส์ และโอลิมปิกเกมส์ และอยากขอให้ทุกฝ่าย ที่เกี่ยวข้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลัง เพื่อชื่อเสียงและเกียรติยศของประเทศไทย และให้เป็นไปตามข้อบังคับของธรรมนูญซีเกมส์ ฉบับลงวันที่ 4 พ.ค.2566 ส่วนการที่ 3 จังหวัด ร่วมกันเป็นเจ้าภาพหนนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ประชาสัมพันธ์จังหวัดของตัวเอง รวมถึงมีโอกาส แสดงศักยภาพในการจัดการแข่งขัน รวมไปถึงบริหารจัดการ และต้อนรับคณะนักกีฬาจากทั่วอาเซียนที่เข้าร่วมชิงชัย

ด้านนายชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์กีฬาซีเกมส์ เปิดเผยหลังพิธีการลงนามว่า ในวันนี้เป็นการจัดพิธีลงนามระหว่างสหพันธ์กีฬาซีเกมส์ กับ ประเทศไทย ในฐานะเจ้าภาพกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33 ปี ค.ศ.2025 ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 64 ปี ตั้งแต่มีการจัดการแข่งขันซีเกมส์มา ที่มีการจัดลงนาม ทั้งนี้ก็เพื่อยืนยันและสร้างมาตรฐานในการจัดการแข่งขันให้อยู่ในระดับเดียวกับกีฬาเอเชียนเกมส์ และเป็นบรรทัดฐานในการจัดการแข่งขันครั้งต่อ ๆ ไป

“ซีเกมส์ 2025 ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพเจ้าสหพันธ์กีฬาซีเกมส์ ตั้งใจจะใช้การแข่งขันครั้งนี้เริ่มต้นยกระดับและสร้างมาตรฐานการแข่งขันซีเกมส์ให้สูงขึ้น ไม่ให้ถูกด้อยค่า ดูแคลน เหมือนหลาย ๆครั้งที่ผ่านมา ที่กีฬาพื้นบ้านหลายชนิดที่เคยถูกบรรจุชิงทีละหลาย ๆ เหรียญทอง ก็จะไม่เกิดขึ้นอีกในครั้งนี้ ส่วนหนนี้ จะมีการจัดกี่ชนิดกีฬา จะมีการประชุมและเปิดเผยในสุดสัปดาห์นี้ เบื้องต้นได้รับการเสนอมา 40 ชนิดกีฬา ส่วนจะเพิ่มหรือลด จะให้เวลาอีก 2 เดือน ในการนำเสนอและพิจารณา ซึ่ง 3 จังหวัด ก็พร้อมทำหน้าที่ ด้านสนามหลักในการจัดแข่งขัน ที่วางกันเอาไว้จะอยู่ที่กรุงเทพฯ และชลบุรี ส่วนสงขลา จะจัดแข่งขันกีฬาฟุตบอล ในรอบแบ่งกลุ่ม”

ส่วน ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่ากกท. เผยว่า การลงนามในครั้งนี้ ถือเป็นการยืนยันความพร้อมของประเทศไทย และเจ้าภาพ 3 จังหวัด ที่จะจัดการแข่งขัน ซึ่งหนนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดของทั้งกรุงเทพมหานคร, ชลบุรี และสงขลา ได้เดินทางมาลงนาม และยืนยันความพร้อมด้วยตัวเอง ในส่วนของประเทศไทยซึ่งเป็นเจ้าภาพกีฬาซีเกมส์ในครั้งนี้ ก็จะเริ่มต้นเป็นต้นแบบในการสร้างมาตรฐานการแข่งขันให้สูงขึ้น โดยเจ้าภาพครั้งต่อไป อย่างมาเลเซีย ในปี 2027 และ สิงคโปร์ ในปี 2029 ก็พร้อมจะดำเนินรอยตามการแข่งขันอย่างเป็นสากลในทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะการชิงชัยเหรียญทอง ซึ่งก็จะเน้นหนักไปที่กลุ่มกีฬาสากล ที่มีในกีฬาเอเชียนเกมส์ และกีฬาโอลิมปิกเกมส์

“ส่วนเรื่องงบประมาณในการจัดการแข่งขัน เวลานี้อยู่ในขั้นตอนการนำเสนอให้ท่านนายกรัฐมนตรีพิจารณา และรอการลงนามเพื่ออนุมัติ สำหรับใช้ในการจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์และอาเชียนเกมส์พาราเกมส์ ซึ่งหากได้รับการลงนาม ก็จะมีการประชุม เตรียมงานกับคณะทำงานทุก ๆ ฝ่าย เพื่อเดินหน้าแผนงานที่วางไว้ ในระยะเวลาที่เหลืออีกราว 1 ปีกว่า ๆ”

สำหรับประเทศไทยเคยเป็นเจ้าภาพกีฬาซีเกมส์มาแล้ว 6 ครั้ง โดยทำหน้าที่เจ้าภาพซีเกมส์ครั้งแรก สมัยที่เรียกว่ากีฬาแหลมทอง เมื่อปี ค.ศ.1959 ต่อด้วยปี 1967, 1975, 1985, 1995 และครั้งล่าสุดปี 2007 ที่นครราชสีมา โดยในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33 จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 9-20 ธ.ค.2568 (ค.ศ.2025) โดย 3 จังหวัด กรุงเทพมหานคร, ชลบุรี และสงขลา ร่วมเป็นเจ้าภาพ ส่วนกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 13 จะจัดแข่งขันระหว่าง 20-26 ม.ค.2569 (ค.ศ.2026) 


ที่มา : Matichon