'เขื่อนของพ่อ' เพื่อประโยชน์สุขของพี่น้องประชาชนชาวไทย เติมชีวิต เป็นมิตรเกษตร เขตป้องอุทกภัย โอกาสใหม่การท่องเที่ยว

‘เขื่อนภูมิพล’ ถือกำเนิดเกิดขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งรัฐบาลในขณะนั้นมีแนวคิดที่จะสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังน้ำ 

รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามได้อนุมัติการก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2496 แรกเริ่มใช้ชื่อว่า 'เขื่อนยันฮี' (ยันฮีชื่อของตำบลยันฮี อันเป็นที่ตั้งของเขื่อนภูมิพล) 

การเวนคืนได้เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2499 และเริ่มการก่อสร้างในปี พ.ศ. 2500 โดยว่าจ้างบริษัทผู้รับเหมาจากสหรัฐฯ และบริษัทอื่น ๆ จาก 14 ประเทศร่วมเป็นที่ปรึกษา 

ในปี พ.ศ. 2500 รัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตอัญเชิญพระปรมาภิไธย ‘พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร’ มาเป็นชื่อ ‘เขื่อนภูมิพล’ และได้เสด็จไปทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2504 การก่อสร้างแล้วเสร็จและทำรัฐพิธีเปิดเขื่อนเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2507 

‘เขื่อนภูมิพล’ เป็นเขื่อนอเนกประสงค์กั้นแม่น้ำปิงที่บริเวณเขาแก้ว อำเภอสามเงา จังหวัดตาก มีลักษณะเป็นเขื่อนคอนกรีตรูปโค้ง รัศมีความโค้ง 250 เมตร สูง 154 เมตร ยาว 486 เมตร ความกว้างของสันเขื่อน 6 เมตร อ่างเก็บน้ำสามารถรองรับน้ำได้สูงสุด 13,462 ล้านลูกบาศก์เมตร 

เมื่อแรกก่อสร้างเสร็จถือเป็นเขื่อนรูปโค้งที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 7 ของโลก ขณะที่ปัจจุบัน ‘เขื่อนภูมิพล’ ยังคงเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ที่สูงที่สุดในประเทศไทยและ ASEAN และอยู่ในอันดับที่ 8 ของโลก

เขื่อนแห่งนี้ ใช้เงินในการก่อสร้างทั้งสิ้นราว 2,250 ล้านบาท โดยเกือบครึ่งหนึ่ง (66 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เป็นเงินกู้จากธนาคารโลก

พร้อมกันนี้ ในปี พ.ศ. 2500 มีการตั้งรัฐวิสาหกิจขึ้นมาดูแลการก่อสร้างและบริหารโครงการนี้ในชื่อว่า 'การไฟฟ้ายันฮี' 

ในระยะแรกเขื่อนแห่งนี้ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 2 เครื่อง (รวม 70,000 กิโลวัตต์) จากที่สามารถติดตั้งได้ 8 เครื่อง ต่อมาได้มีการติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเครื่องที่ 3-6 กำลังผลิตเครื่องละ 70,000 กิโลวัตต์ และเครื่องที่ 7 กำลังผลิต 115,000 กิโลวัตต์ 

ต่อมาปี พ.ศ. 2511 'การไฟฟ้ายันฮี' ได้ถูกควบรวมกับรัฐวิสาหกิจ 'การลิกไนต์' และ 'การไฟฟ้าตะวันออกเฉียงเหนือ' กลายเป็นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จนถึงทุกวันนี้

นอกจากนี้ และในปี พ.ศ. 2534 กฟผ. ได้ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเครื่องที่ 8 แบบสูบกลับ ขนาดกำลังผลิต 171,000 กิโลวัตต์ จึงต้องสร้างเขื่อนแม่ปิงตอนล่างปิดกั้นลำน้ำปิง อยู่ห่างจากเขื่อนภูมิพลลงมาทางท้ายน้ำ 5 กิโลเมตร เพื่อใช้อ่างเก็บน้ำเป็นอ่างล่าง โดยถูกออกแบบให้มีบานประตูระบายน้ำเปิดปิดสำหรับใช้กักเก็บน้ำแล้วสูบกลับไปใช้ผลิตไฟฟ้าอีกครั้ง สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ในเดือน มกราคม 2539 ทำให้โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ‘เขื่อนภูมิพล’ มีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าติดตั้งทั้งสิ้น 779.2 เมกกะวัตต์ และสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ปีละประมาณ 1,062 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง จนทุกวันนี้

นอกจากเป็นเขื่อนที่ผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำแล้ว ‘เขื่อนภูมิพล’ ยังมีคุณูปการต่อประเทศไทยอีกมากมาย ด้วยความจุในการกักเก็บน้ำ 13,462 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยปริมาณน้ำที่ระบายออกไปจากเขื่อนจะถูกนำไปใช้ประโยชน์มากมายหลายด้าน เช่น...

- ด้านการเกษตร ทำหน้าที่ในการทดและส่งน้ำในลุ่มน้ำปิง ฤดูฝนได้ 1,500,000 ไร่ ฤดูแล้งได้อีก 500,000 ไร่ ส่งน้ำไปช่วยพื้นที่ในโครงการเจ้าพระยาใหญ่สำหรับเพาะปลูกในฤดูแล้งได้อีก 2,000,000 ไร่ ตลอดจนถึงการสนับสนุนพื้นที่เพาะปลูกในพื้นที่จังหวัดตากและกำแพงเพชรถึง 7.5 ล้านไร่

- ใช้สำหรับการอุปโภคและบริโภคของพี่น้องประชาชนคนไทยทั้งที่อยู่เหนือและใต้เขี่อน 
- เป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำ เมื่อได้ทำการขุดลอกและตกแต่งแม่น้ำปิงบางตอนสำเร็จแล้ว จะ
- สามารถใช้เป็นทางคมนาคมจากเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ไปจนถึงอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ได้ตลอดปี

- เป็นแหล่งท่องเที่ยว บริเวณโดยรอบเขื่อนมีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติหลากหลายเส้นทาง และ
- บริการล่องแพชมความสวยงามของทัศนียภาพของตัวเขื่อนและแก่งต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียง
- เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำจืดที่สำคัญของประเทศ

- ช่วยป้องกันน้ำเค็มสำหรับการผลิตน้ำประปาในเขต กทม. นนทบุรี ปทุมธานี และนครปฐม
- บรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำปิง รวมถึงในเขตทุ่งเจ้าพระยา ในช่วงฤดูฝน

ปัจจุบันนี้ในประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะ สาธารณรัฐประชาชนจีนก็ยังคงมีการสร้างเขื่อนอเนกประสงค์โดยเน้นในเรื่องของการผลิตกระแสไฟฟ้า เก็บกักน้ำ และป้องกันอุทกภัยอยู่ 

แต่สำหรับประเทศไทย ด้วยกระแสต่อต้านการสร้างเขื่อนจาก NGO ที่เป็นกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ทำให้แนวคิดในการสร้างเขื่อนใหม่ ๆ ในประเทศไทยถูกคัดค้านอย่างรุนแรงเรื่อยมา จนต่อไปในอนาคตข้างหน้าคงเป็นการยากมาก ๆ ที่จะมีการสร้างเขื่อนขึ้นในประเทศไทยได้อีก และคนไทยคงไม่มีโอกาสที่จะได้รับประโยชน์จากเขื่อนอเนกประสงค์เช่นนี้อีก แม้ว่าสังคมไทยจะได้รับอรรถประโยชน์โภคผลเกิดขึ้นจาก 60 ปีของ ‘เขื่อนภูมิพล’ มาแล้วมากมายก็ตาม 

"…ข้าพเจ้าเห็นพ้องกับรัฐบาลว่า โครงการอเนกประสงค์โครงการแรกของประเทศไทยนี้ เป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาเศรษฐกิจก้าวใหม่ให้ไพศาลออกไป ปัจจุบันน้ำเป็นปัจจัยหล่อเลี้ยงชีวิต และน้ำกับไฟฟ้าส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าของชีวิต เมื่อพลเมืองเพิ่มมากและเร็ว ก็ต้องเพิ่มน้ำและไฟฟ้าให้ทันความต้องการของพลเมือง…" พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินเปิดเขื่อนภูมิพล 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2507


เรื่อง: บทบรรณาธิการ THE STATES TIMES