Thursday, 9 May 2024
นราธิวาส

นราธิวาส - "สธ. และ ศธ. ห่วงใยคนในสถาบันศึกษาปอเนาะ จ.นราธิวาส" จัดเสวนายุคใหม่แบบ WHF Online สร้างความเข้าใจในการเรียนการสอน จากสถานการณ์ Covid-19

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 24 สิงหาคม 2564 ที่หอประชุมจำลอง ศรีเลขา โรงเรียนนราธิวาส อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส นายณัฐพงษ์ นวลมาก ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ เขตตรวจราชการที่ 7 เป็นประธานการประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงาน เรื่องการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จังหวัดนราธิวาส ภายใต้กิจกรรม "สธ. และ ศธ. ห่วงใยคนในสถาบันศึกษาปอเนาะ จังหวัดนราธิวาส"เพื่อสร้างการรับรู้ให้แก่ผู้บริหาร ครูอาสาสมัครในสถาบันศึกษาปอเนาะ

โดยมี นายแพทย์สมหมาย บุญเกลี้ยง ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต , นายแพทย์วิเศษ สิรินทโสภณ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส , นายธวัชชัย ไชยกันย์ รองศึกษาธิการจังหวัดนราธิวาส , ดร.มุทริกา จินากุล หัวหน้ากลุ่มพัฒนาการส่งเสริมสุขภาพวัยเรียนและวัยรุ่นสำนักงานอนามัยที่ 12 ยะลา , นายแพทย์วิบูลย์ คลายนา เภสัชกรชำนาญการพิเศษ สำนักงานอนามัยที่ 12 ยะลา และฮัจญีอัสอารี ลาเต๊ะ (บาบอซู) ตัวแทนสถาบันศึกษาปอเนาะ พร้อมกันนี้มีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมผ่านระบบออนไลน์ Google Meet พร้อมกันนี้ได้มอบเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วจำนวน 20 เครื่อง ชุด PPE จำนวน 30 ชุด อุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นกว่า 20,000 บาทให้บุคลากรทางการแพทย์โรงพยาบาลสนามจังหวัดนราธิวาส

ทางด้านนายณัฐพงษ์ นวลมาก ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ เขตตรวจราชการที่ 7 กล่าวว่า การจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สถาบันศึกษาปอเนาะ จังหวัดนราธิวาส มีข้อกำหนดโดยการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ระบบ On-Hand เป็นหลักเพราะจะมาอยู่ร่วมกันไม่ได้ ในสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา โควิด-19 จำนวนมากในขณะนี้ ซึ่งประเด็นที่น่ากังวลก็คือประเด็นของนักเรียนที่กลับไปบ้านแล้วกลับเข้ามาในสถาบันปอเนาะ ซึ่งเป็นประเด็นที่เรากังวล ถ้าหากมีนักเรียนคนใดคนหนึ่งกลับมาอยู่ในสถาบันการศึกษาปอเนาะจะต้องกักตัวก่อน 14 วัน ซึ่งในบางสถาบันศึกษาปอเนาะ จะเป็นนักเรียนที่อยู่ประจำ เพราะฉะนั้นกลุ่มคนเหล่านี้จะออกนอกพื้นที่ไม่ได้ โดยจะต้องอยู่ในสถาบันศึกษาปอเนาะทุกวันและต้องได้รับการดูแลอย่างเต็มที่แบบ 100% โดยห้ามคนในออกคนนอกเข้าไม่เช่นนั้นการแพร่ระบาดจะเกิดขึ้น ส่วนในการจัดการเรียนการสอนจะเป็นไปใน 3 รูปแบบ ดังนี้

1.ใช้ระบบ ON-HAND เป็นหลัก ซึ่งครูก็จะสามารถที่จะประสานกับนักเรียนในสถาบันศึกษาปอเนาะ ผ่านทางบาบอโดยมอบนโยบายในการจัดการเรียนการสอนต่างๆให้กับนักเรียนได้อ่านและตอบ

2.ใช้ระบบ ON–DEMAND ซึ่งบางคนมีมือถือเครื่องมือสื่อสารที่จะสามารถติดต่อสื่อสารกับครูได้ ซึ่งจะใช้คลิปเป็นหลักในการจัดการเรียนการสอนดังกล่าว

3.ใช้ระบบ ON-AIR ซึ่งในบางพื้นที่ก็สามารถจัดการเรียนการสอนได้แต่ก็มีน้อย ก็จะสามารถจัดการเรียนการสอนใน 3 รูปแบบได้

ซึ่งในขณะนี้การจัดการเรียนการสอนแบบ ON-SITE ไม่ได้เด็ดขาด เพราะพื้นที่จังหวัดนราธิวาสเป็นพื้นที่สีแดงเข้ม การจัดการเรียนการสอนแบบ ON-SITE  ก็จะต้องได้รับการอนุมัติจาก ศบค.เป็นหลัก โดยในขณะนี้การจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์เป็นปัญหาและอุปสรรคในด้านเครื่องมือต่าง ๆ อาทิเช่น โทรศัพท์มือถือ โน๊ตบุ๊ก รวมถึงสัญญาณอินเตอร์เน็ต ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทางกระทรวงศึกษาธิการก็ได้รับทราบถึงปัญหาดังกล่าวแล้ว และร่วมหารือหาทางแก้ไข และในส่วนของเด็กยากจนที่ยังขาดอุปกรณ์ในการเรียนการสอนนั้นในขณะนี้ต้องยึด ศบค.เป็นหลักคือเงินอุดหนุนบางส่วน สามารถที่จะสนับสนุนจัดอุปกรณ์การเรียนการสอน เช่นโทรศัพท์มือถือ ซึ่งต้องรอทำการตกลงกันระหว่างกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

นายณัฐพงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ยังกล่าวอีกว่า การประชุมครั้งนี้ เป็นการประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานตามมาตรการป้องกันโรค covid-19 ในกิจกรรม "สธ. และ ศธ. ห่วงใยคนในสถาบันปอเนาะ" สืบเนื่องจากการตรวจราชการในหลายพื้นที่ในห้วงที่ผ่านมานั้น ยังมีประเด็นที่น่ากังวลคือ การสร้างการรับรู้รวมถึงแนวทางการป้องกันมาตรการการป้องกัน covid-19 ยังไม่รัดกุมเท่าที่ควร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเร่งสร้างการรับรู้ระหว่างรัฐกับประชาชนทั่วไป รวมถึงนักเรียนนักศึกษาในประเด็นดังกล่าวให้มากขึ้น และควรจะต้องดำเนินการให้เร็ว ครอบคลุมให้มากที่สุด ทางสาธารณสุขในพื้นที่ และศึกษาธิการจังหวัด จึงได้ร่วมกันประชุมหารือ หาแนวทางมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ให้กับสถานศึกษาในพื้นที่ โดยเฉพาะโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม หรือสถาบันการศึกษาปอเนาะ โดยสถานศึกษานั้น ๆ จะต้องปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันโรคโควิด-19 ตามที่ ศูนย์บริหารสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)กำหนด

ส่วนเรื่องของการฉีดวัคซีน โควิด-19 นั้น ขณะนี้ทางศึกษาธิการจังหวัดได้ดำเนินการให้บุคลากรทางการศึกษาทุกแห่ง ได้ฉีดวัคซีนวัคซีน เพื่อรองรับการเปิดภาคเรียนแล้ว โดยหลังจากนี้ ศึกษาธิการจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะได้เร่งชี้แจงสร้างความเข้าใจถึงมาตรการต่าง ๆ ต่อสถานศึกษาในความรับผิดชอบ เพื่อให้เกิดการรับรู้ และมีการปฏิบัติเรื่องการป้องกันโควิด-19 ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันต่อไป


ภาพ/ข่าว  แวดาโอ๊ะ หะไร จ.นราธิวาส

นาราธิวาส - ผบ.พล.ร.15 จัดกิจกรรมจิตอาสาบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ Big Cleaningday ณ ศูนย์ฝึกจิตอาสาพระราชทาน พล.ร.15 โครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริ บ้านโคกป่ายาบือซา

พลตรีไพศาล หนูสังข์ ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่15 ในฐานะ ผู้อำนวยการหลักสูตรศูนย์ฝึกจิตอาสาพระราชทาน กองพลทหารราบที่15  เดินทางมาเป็นประธานกิจกรรมจิตอาสาบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ Big Cleaningday ณ ศูนย์ฝึกจิตอาสาพระราชทาน กองพลทหารราบที่ 15 โครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริ บ้านโคกป่าฆาบือซา ตำบลกะลุวอ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส โดยมี พันเอก ยุทธนา สายประเสริฐ ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 151 ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรภาครัฐ เอกชน กำลังพลจิตอาสา และ ประชาชนจิตอาสา เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งภายในกิจกรรมกำลังพลจิตอาสา หน่วยงานส่วนราชการ ทุกภาคส่วน ร่วมแรง ร่วมใจกัน ช่วยกันพัฒนาทำความสะอาดปรับปรุงภูมิทัศน์ บริเวณโดยรอบ เพื่อให้ศูนย์ฝึกจิตอาสาพระราชทาน กองพลทหารราบที่ 15 สามารถมีความพร้อมต่อการรองรับการฝึกในอนาคตต่อไป โดยกิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา COVID-19 อย่างเคร่งครัด

โดยการจัดกิจกรรมจิตอาสาบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ Big Cleaningday ณ ศูนย์ฝึกจิตอาสาพระราชทาน กองพลทหารราบที่ 15 เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการจัดตั้งเป็นศูนย์ฝึกจิตอาสาพระราชทาน กองพลทหารราบที่15

สถานีฝึกปฏิบัติหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประจำหลักสูตรจิตอาสา (หลักสูตรพื้นฐาน) ภาค 4 ที่ใช้พื้นที่โครงการฟาร์มตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง บ้านโคกปาฆาบือซา  เป็นสถานที่ทำการฝึกหลักสูตรจิตอาสาพระราชทาน ภาค 4 โดยพลโท เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4/ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทาน ภาค 4 เป็นผู้บัญชาการศูนย์ฝึกจิตอาสาภาค 4 และแต่งตั้งให้ พลตรี ไพศาล หนูสังข์ ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 15 เป็นผู้อำนวยการหลักสูตร ทำหน้าที่รับผิดชอบในการขับเคลื่อนการจัดเตรียมสถานีฝึกปฏิบัติหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แบ่งเป็น 2 สถานีศึกษา คือ สถานีฝึกการแก้ปัญหาตามภูมิศาสตร์สังคมที่ประกอบไปด้วย 7 ฐานการฝึกย่อย และสถานีฝึกเกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์ในลักษณะชุมชนต้นแบบ ที่มีจำนวน 9 ฐานการฝึกย่อย ให้มีความพร้อมสำหรับการฝึกอบรมของศูนย์ฝึกจิตอาสาภาค 4 รุ่นที่ 1 ประจำปี 2564 ที่เดิมนั้นมีแผนการปฏิบัติจะเปิดการฝึกในมีนาคม 2564 แต่เนื่องจากสถานการณ์ไวรัส covid-19 จึงได้เลื่อนการฝึกไปโดยไม่มีกำหนด แต่คาดว่าหากสถานการณ์คลี่คลายลง จะทำการเปิดการฝึกได้ในเร็ววันนี้

ทั้งนี้ ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 15 ในฐานะ ผู้อำนวยการหลักสูตรศูนย์ฝึกจิตอาสาพระราชทาน กองพลทหารราบที่15  กล่าวว่า ฟาร์มตัวอย่างแห่งนี้ถือเป็นจุดสำคัญพื้นฐานของหลักสูตร ที่เป็นหนึ่งใน 5 หมวดวิชา ให้เราเรียนรู้ใช้องค์ความรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นำไปต่อยอดเสริมสร้างความรู้ให้กับชุมชนและพี่น้องประชาชน โดยเรามีกองอำนวยการอยู่ที่ค่ายจุฬาภรณ์ มีสถานที่และมีวิทยากรที่ได้ผ่านการอบรม มีขีดความสามารถตรงตามเนื้อหาของรายวิชาแต่ละฐานแต่ละสถานี เราได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมมาอย่างต่อเนื่อง จนมีความพร้อมเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร ผ่านกระบวนการเข้าศึกษาผ่านการคัดเลือกตัวบุคคล ถึงแม้จะเลื่อนการอบรมออกไปเนื่องจากสถานการณ์โควิด แต่อย่างไรก็ตามการเตรียมความพร้อมยังคงดำเนินการต่อเนื่อง เพื่อรองรับการเปิดให้เรียบร้อย หากสถานการณ์ โควิด-19 คลี่คลายลงก็พร้อมเปิดในทันที เพื่อการเรียนรู้สร้างงานสร้างอาชีพ และคาดว่าจะขยายไปทุกจังหวัดของชายแดนภาคใต้ เช่นเดียวกับ 15 ฟาร์มตัวอย่างที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ บ้านเรานั้นหากในโคกมีผัก ในหนองมีปลา ในนามีข้าว อยู่ที่ไหนมีกินมีใช้ไม่มีอดตายแน่นอน


ภาพ/ข่าว  ปทิตตา หนดกระโทก ผู้สื่อข่าวนราธิวาสรายงาน

นราธิวาส - สภาเกษตรนราฯ วอนรัฐช่วย ระบายผลไม้จังหวัดชายแดนภาคใต้ ราคาตกต่ำ ด้านแม่ทัพภาค 4 ย้ำ “ทหารไม่ทอดทิ้งประชาชน รับซื้อลองกองสานใจสู่สันติ กระจายผลผลิตสู่ตลาด ช่วยเกษตรกรใต้มีรายได้ สู้วิกฤติโควิด-19

นายแวฮามะ บากา หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดนราธิวาส เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ผลไม้พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีมากมาย เนื่องจากเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ อาทิ มังคุด ทะเรียน เงาะ และลองกอง ซึ่งผลไม้อื่นๆเริ่มน้อยลงแล้ว แต่ที่มีผลไม้ที่กำลังออกผลผลิตจำนวนมากขณะนี้ คือ ผลไม้ลองกอง โดยมีผลผลิต ผลไม้ลองกอง ในพี้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งหมด ปีนี้ประมาณ 13,000 ตัน แต่ด้วยสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ซึ่งพื้นที่ชายแดนภาคใต้ เป็นพื้นที่โรคระบาดสีแดงเข้ม ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการคุมเข้มพื้นที่เป็นกรณีพิเศษ เพื่อป้องกันการระบาดโควิด-19 ในพื้นที่ มาตรการปิดพื้นที่หมู่บ้าน เคอร์ฟิวเวลา ออกเคหะสถาน การงดการเดินทางข้ามจังหวัด และอื่น ๆ เป็นต้น ทำให้พื้นที่และประชาชน ร่วมถึงพี่น้องเกษตรกร ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว

อย่างไรก็ตามในการแก้ปัญหาผลไม้ที่ขายไมได้และราคาตกต่ำ ในส่วนจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา ทางสำนักงานเกษตรจังหวัด พานิชย์จังหวัด สหกรณ์จังหวัด และ ไปรษณีย์ได้บูรณการร่วมกันช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวน แต่ผลไม้พื้นที่ผลผลิตยังจำนวนมาก ที่เกษตรกรขายไม่ได้ แม้จะระบายสู่ตลาดต่างจังหวัดและในพื้นที่บางส่วน  ผลผลิตโดยเฉพาะลองกอง ยังต้องให้ทุกฝ่าย มาช่วยซื้อ หรือระบายจำหน่าย ช่วยเกษตรอีกจำนวนหลายตัน จึงอยากให้หน่วยงานของรัฐ เข้ามาช่วยเหลือผลัดดันผลไม้สู่ตลาดถึงมือผู้บริโภคให้มาก เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ด้าน พลโท เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 เปิดกับผู้สื่อข่าวว่า กล่าวว่า ทางกองทัพบก โดยผู้บัญชาการทหารบได้ให้นโยบายในเรื่องการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ covid-19  ทั้งเรื่องการขนส่ง และการซื้อขายที่มีความยากลำบาก โดยให้หน่วยในภูมิภาคในส่วนของกองทัพบกช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ด้วยการเข้าดำเนินการประสานงาน ทั้งตลาดกลางในการรับซื้อ  ที่ผ่านมากองทัพภาคที่ 4 มีการดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนทุเรียน มังคุด และอื่น ๆ

โดยการจัดซื้อนำไปขายยังส่วนกลาง และสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ตลอดจนแจกจ่ายให้กับทหารกองประจำการหน่วยต่าง ๆ ได้รับประทาน และในขณะนี้พี่น้องเกษตรกรที่ปลูกลองกองมีผลผลิตออกมามากพอสมควร จึงได้ให้ศูนย์สันติวิธีของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เป็นศูนย์กลางในการให้สมาชิกโครงการสานใจสู่สันติ ซึ่งเป็นพี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้ดำเนินการเป็นผู้แทนในการรับซื้อ จากทั้งในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส จังหวัดสงขลา จังหวัดยะลา และจังหวัดปัตตานี ในวันนี้สามารถรวบรวมผลผลิตลองกองที่รับซื้อมาได้จำนวนกว่า 6.5 ตัน เพื่อส่งไปให้กับพี่น้องสมาชิกชมรมพัฒนาสัมพันธ์ระดับผู้บริหารกองทัพบก ที่มียอดการสั่งซื้อไว้ โดยชมรมพัฒนาสัมพันธ์ระดับผู้บริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ได้มาร่วมกันรับซื้อ และจัดส่งผลผลิตลองกองตามโครงการดังกล่าว ถือเป็นสิ่งหนึ่งที่ได้ร่วมกันทำเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรในการรับซื้อ และประสานงานเพื่อส่งต่อให้ผู้บริโภค นำไปแจกจ่ายให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ของ กองทัพภาคที่ 2 ค่ายสุรนารี  จังหวัดนครราชสีมา ให้ได้มีโอกาสรับประทานลองกองพันธุ์ดี รสชาติอร่อย ในราคาที่เป็นธรรม อีกทั้งเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรในการกระจายผลผลิตทางการเกษตร เพื่อบรรเทาผลกระทบจากกรณีผลผลิตทางการเกษตรล้นตลาดและมีราคาตกต่ำอีกด้วย

มทภ.4 ยังกล่าวอีกว่า แม้ที่ผ่านมาจะมีผู้กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงได้พยายามเข้ามาทำลายระบบสาธารณูประโภคสาธารณะ เช่น การก่อเหตุกับขบวนรถไฟขนส่งสินค้า และอื่นๆ อย่างไรก็ตามความพยายามการก่อเหตุของผู้ก่อเหตุรุนแรงอาจจะเกิดจากช่องว่างในการทำงานอยู่บ้าง แต่ในวันนี้มีการปรับปรุงซ่อมแซมเปิดให้บริการขนส่งได้เป็นปกติ สามารถนำผลผลิตทางการเกษตรไปขายสู่ท้องตลาดได้ ขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนพบเห็นสิ่งผิดปกติให้แจ้งทางหน่วยในพื้นที่ได้รับทราบ หรือแจ้งมายังสายตรงแม่ทัพภาคที่ 4 ได้ตลอดที่หมายเลขโทรศัพท์ 061-173-2999 การขนส่งทางรถไฟเป็นขนส่งสำคัญที่คอยพยุงให้ความช่วยเหลือ บรรเทาทุกข์  พี่น้องเกษตรกร อย่าเหยียบย่ำซ้ำเติมในภาวะวิกฤติแบบนี้


ภาพ/ข่าว  แวดาโอ๊ะ หะไร จ.นราธิวาส

นราธิวาส - สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชวโรกาสให้ คณะบุคคลต่าง ๆ เฝ้าทูลละอองพระบาท

วันนี้ 7 กันยายน 2564 เวลา 09.00 น. นายเจษฎา  จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส  นางดาเรศ จิตรัตน์ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดนราธิวาส พร้อมด้วยนายวารินทร์ บุษบรรณ ที่ปรึกษาอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร นายกัส ยะมาแล เกษตรจังหวัดนราธิวาสและคณะข้าราชการจังหวัดนราธิวาส และกรรมการมูลนิธิพัฒนาเกษตรอนามัยในพระบรมราชูปถัมภ์

เฝ้าทูลละอองพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายผลไม้และของดีจังหวัดนราธิวาส จำนวน 114 กล่อง แด่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงิน โดยเสด็จพระราชกุศลตาม  พระราชอัธยาศัย ณ วังสระปทุม กรุงเทพมหานคร


ภาพ/ข่าว  แวดาโอ๊ะ​ หะไร​ จ.นราธิวาส

นราธิวาส - ผบ.ฉก.นราธิวาส ตรวจเยี่ยม ให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ ประจำด่านตรวจ-จุดตรวจร่วม 3 ฝ่าย เน้นย้ำการดูแลความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่

พลตรีไพศาล หนูสังข์ ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 15 / ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส ลงพื้นที่ ตรวจเยี่ยม ให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจ /จุดตรวจร่วม 3 ฝ่าย ในพื้นที่ อำเภอ สุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส จำนวน 2 ด่าน ได้แก่  1.ด่านตรวจโคกสยา และ 2. ด่านโคกมะเฟือง เพื่อพบปะเยี่ยมเยียน มอบนโยบายในการปฏิบัติงานแก่เจ้าหน้าที่ โดยกำชับ เจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย ให้ช่วยกันดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้แก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ โดยเน้นการปฎิบัติงานแบบการบูรณาการร่วมกัน 3 ฝ่าย ทั้งเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง รวมถึงได้กำชับกำลังพลเรื่องการตั้งด่าน โดยเฉพาะด่านเข้า-ออกเมือง หรือตามป้อมจุดตรวจ ให้มีความเข้มข้น จะมีการตั้งด่านแบบไม่เป็นเวลา เพื่อไม่ให้เป็นเป้าต่อการโจมตีหรือก่อกวนของผู้ไม่หวังดี นอกจากนี้ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส ได้เน้นย้ำให้กำลังพลดูแลตนเอง ปฏิบัติตนตามมาตราการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid – 19 อย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาสได้มอบเครื่องดื่ม อาหารว่างและอุปกรณ์ป้องกันตนเอง ให้กับกำลังพลที่ปฏิบัติหน้าที่ประจำด่านตรวจ / จุดตรวจร่วม 3 ฝ่าย เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานต่อไป


ภาพ/ข่าว  แวดาโอ๊ะ หะไร จ.นราธิวาส

นราธิวาส - เลขาธิการ ศอ.บต. แนะนักศึกษา มนร. นำความรู้ด้านการเกษตรที่ได้จากประเทศอิสราเอลมาใปรับช้ในพื้นที่ เชื่อเป็นต้นแบบและพัฒนาการการเกษตรจนยึดเป็นอาชีพได้

ที่ห้องประชุมน้อมเกล้า พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวต้อนรับผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รสสุคนธ์ แสงมณี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ อาจารย์ และนักศึกษาจากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ที่ขอเข้าพบและร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ระหว่างที่นักศึกษาไปฝึกงานเรียนรู้ประสบการณ์ที่ประเทศอิสราเอล

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รสสุคนธ์ แสงมณี กล่าวถึงการฝึกงานเรียนรู้ประสบการณ์ที่ประเทศอิสราเอลว่า เป็นวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยนราธิวาสฯ ที่มองว่าการเรียนเกษตรนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการปฏิบัติงานที่ต้องเปิดโลกทัศน์ให้กับนักศึกษา โดยเฉพาะทางเทคโนโลยีที่ทันสมัยเด็กต้องได้สัมผัสชีวิตในต่างประเทศ จึงเป็นที่มาของการร่วม MOU กับศูนย์ฝึกอบรมการเกษตรนานาชาติ เขตอนาวา ประเทศอิสราเอล ผ่านทางสถานทูต จากนั้นได้ส่งนักศึกษาไปฝึกงานรุ่นแรก จำนวน 10 คน ในปี 2559 เป็นเวลา 11 เดือน โดยปัจจุบันส่งนักศึกษาไปฝึกงานแล้ว จำนวน 4 รุ่น และในเดือนตุลาคม 2564 นี้ จะส่งนักศึกษาของรุ่นที่ 5 เพื่อเดินทางไปฝึกงานที่ประเทศอิสราเอล และจากการจัดส่งนักศึกษาไปฝึกงานนั้น นักศึกษาในแต่ละรุ่นได้นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยกลับมาปรับปรุงพัฒนา โดยผ่านงานวิจัยของมหาวิทยาลัยนราธิวาสฯ ล่าสุดมีการวิจัยพืชอินทผาลัม ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศในโลกอาหรับหรือกลุ่มประเทศอิสลามที่เป็นพืชเศรษฐกิจ มาศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาเป็นพืชเศรษฐกิจในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยต่อยอดความรู้จากที่ได้รับจากการไปฝึกงาน

ด้านนายฮัมเซาะ นาแว นักศึกษาปี 4 คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสฯ  ได้เล่าถึงประสบการณ์ที่ไปประเทศอิสราเอลว่า ได้เรียนรู้เรื่องการทำการเกษตรในสภาพอากาศที่แตกต่างจากบ้านเรา ซึ่งความรู้ที่ได้นำกลับมาใช้เป็นเรื่องของระบบน้ำหยดที่ช่วยให้ประหยัดน้ำได้มากกว่าการรดด้วยบัว และยังมีเทคนิคการปลูกมะเขือเทศด้วยการมัดเชือกเพื่อให้ต้นมันเลื้อยขึ้นไปซึ่งทำให้ได้ผลิตที่สะอาด สวย และปริมาณที่มาก อีกทั้งยังได้เทคนิคการตลาดจากการปลูกด้วยระบบออแกนิก ซึ่งทำให้ผลผลิตมีคุณภาพสูงและได้ราคา และในโอกาสนี้ พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. ได้ให้ข้อคิดกับนักศึกษาทุกคนในการดำเนินชีวิตหลังจากนี้ว่า ขอให้ทุกคนนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะข้อคิดที่ได้จากการฝึกงานซึ่งประเทศอิสราเอลเป็นประเทศที่มีแต่ทะเลทราย อากาศร้อนและเย็นสลับกัน แต่ยังสามารถทำการเพาะปลูกได้

 

นราธิวาส - รอง ผวจ.นราธิวาส ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ด้านการวิจัยต้นแบบการใช้งานวิจัยและนวัตกรรมในการขจัดความยากจน

นายอับดุลนัสเซอร์ หะมิ พัฒนาการอำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส เปิดเผยว่า นายบุญพาศ รักนุ้ย รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส พร้อมด้วยนายอนันต์ แสงชาตรี พัฒนาการจังหวัดนราธิวาส ร่วมพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยต้นแบบการใช้งานวิจัยและนวัตกรรมในการขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำในจังหวัดนราธิวาส ณ ห้องประชุมสภามหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ชั้น 3 อาคารอธิการบดี มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์

นายอนันต์ แสงชาตรี พัฒนาการจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า จังหวัดนราธิวาส ได้รับการประสานงานจากมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ในการจัดทำโครงการวิจัย เรื่องต้นแบบการใช้งานวิจัยและนวัตกรรมในการขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำในจังหวัดนราธิวาส เพื่อวิเคราะห์สาเหตุความยากจนและคนจนของกลุ่มเป้าหมาย ค้นหา สอบทาน และสำรวจทุนคนจนและครัวเรือนที่กระจายอยู่ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส เพื่อนำข้อมูลมาออกแบบ พัฒนาและถ่ายทอดนวัตกรรมแก้จนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำที่สอดคล้องกับบริบทและคนจนเป้าหมายในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส

ผบ.ฉก.ตชด.44 คนใหม่ ตรวจเยี่ยมกำลังพล เน้นย้ำให้กำลังพลห้ามยุ่งเกี่ยวเรื่องอบายมุข - การพนัน - ยาเสพติด และห้ามสร้างเงื่อนไขในพื้นที่!!

พ.ต.ท.จาริพัฒน์ ทองแดง ผบ.ฉก.ตชด.44 เดินทางตรวจเยี่ยมกำลังพล เจ้าหน้าที่ ตชด. ชป.พิทักษ์เขื่อนบางลาง ต.เขื่อนบางลาง อ.บันนังสตา จ.ยะลา เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ พร้อมมอบนโยบายในการปฏิบัติหน้าที่ ในโอกาสที่มารับตำแหน่ง ผบ.ฉก.ตชด.44  รวมถึงรับฟังบรรยายสรุปเกี่ยวกับสถานการณ์ในพื้นที่และปัญหาต่าง ๆ ในการปฏิบัติงานของของกำลังพลเจ้าหน้าที่ ตชด. พร้อมเน้นย้ำกำชับกำลังพลห้ามยุ่งเกี่ยวเรื่องอบายมุข การพนัน ยาเสพติด และห้ามสร้างเงื่อนไขในพื้นที่ ให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวังไม่ประมาทเข้มแข็ง สามารถตอบโต้เมื่อมีเหตุได้ทันที

จากนั้นได้เยี่ยมชมการฝึก ของข้าราชการตำรวจใหม่ ที่มาปฏิบัติหน้าที่ประจำ ชป.พิทักษ์เขื่อนบางลาง ในการบำรุงรักษาเครื่องเรือ 40 แรงม้า การบำรุงรักษาเครื่องเรือและส่วนควบเรือ 140 แรงม้า การขับขี่เรือท้องแบน การขับขี่เรือตรวจการ ซึ่งวิชาต่าง ๆ เหล่านี้ เจ้าหน้าที่ ตชด.ชป.พิทักษ์เขื่อนบางลาง ต้องใช้เป็นประจำในขณะตรวจตราทางน้ำ ในการรักษาความสงบ ความปลอดภัยให้กับพี่น้องประชานที่อาศัยอยู่ติดกับลำน้ำเขื่อนบางลาง

 

นราธิวาส - ‘ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์’ รมช.ศธ ลงพื้นที่นราธิวาส เปิดท้องฟ้าจำลอง และนิทรรศการ ‘Puzzling Things’เพื่อสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมอุดมปัญญา ยกระดับการศึกษาและคุณภาพชีวิตชาวนราธิวาส

ที่อาคารดาราศาสตร์ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานราธิวาส อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดท้องฟ้าจำลอง และนิทรรศการ Puzzling Things

โดยมีนายบุญพาศ รักนุ้ย รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส นายสุชาติ ถาวระ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานราธิวาส นายสุรศักดิ์ อินศรีไกร เลขาธิการ กศน. ดร.ชนินทร วรรณวิจิตร รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ดร.ชาร์รีฟท์ สือนิ ศึกษาธิการจังหวัดนราธิวาส หัวหน้าส่วนราชการ ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องร่วมกิจกรรม

ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า อยากให้ชาวนราธิวาสในทุกช่วงวัย ทุกครอบครัวมาใช้บริการที่ศูนย์วิทยาศาสตร์ฯ แห่งนี้ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็ก ๆ ที่ใฝ่ฝันอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ในอนาคต ก็จะได้มีความรู้พื้นฐานและเป็นการสานฝันทำให้ทุกคนได้เข้าถึงวิทยาศาสตร์ได้อย่างเรียบง่าย และเข้าใจได้ง่าย

นราธิวาส - รองแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นประธานทอดกฐินสามัคคี ณ วัดศรีภิญโญศรัทธาราม บ้านศรีภิญโญ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส

ณ วัดศรีภิญโญศรัทธาราม บ้านศรีภิญโญ หมู่ที่ 6 ตำบลโคกสะตอ อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส พลตรี ไพศาล หนูสังข์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 เดินทางเป็นประธานในพิธีทอดกฐินสามัคคีประจำปี 2564 ซึ่งเป็นการทอดกฐินประจำปีครั้งแรกของวัดศรีภิญโญศรัทธาราม จัดขึ้นเพื่อให้ผู้มีจิตและกำลังศรัทธา ถวายปัจจัยสมทบทุนเพื่อนำไปบูรณะทำนุบำรุงศาสนสถาน พัฒนาวัดให้เป็นจุดศูนย์รวมจิตใจ ของพี่น้องพุทธศาสนิกชนในพื้นที่  โดยมีพระสมุห์นพเดช ฐิตเตโช เจ้าอาวาสวัดศรีภิญโญศรัทธาราม เป็นประธานฝ่ายสงฆ์, พร้อมด้วยพลตรี เฉลิมพร  ขำเขียว ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่15 / ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ,ส่วนราชการในพื้นที่ ตลอดจนพี่น้องพุทธศาสนิกชนเข้าร่วมในพิธี  โดยมีพี่น้องชาวไทยมุสลิมในบริเวณรอบวัดร่วมช่วยประกอบอาหาร แจกจ่ายให้ผู้เข้าร่วมงาน เนื่องจากชุมชนแห่งนี้ เป็นชุมชน 2 วีถี มีทั้งไทยพุทธไทยมุสลิมอยู่ร่วมกันฉันท์พี่น้อง เป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ซึ่งกิจกรรมที่จัดขึ้นดังกล่าวจัดขึ้นภายใต้มาตราการการป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด

สำหรับประเพณีการทอดกฐินสามัคคีครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อให้พุทธศาสนิกชนในพื้นที่ได้ร่วมกันสืบทอดอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีการทำบุญและปลูกฝัง สร้างจิตสำนึกให้ประชาชนเกิดความรักความหวงแหนในวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามต่อไป โดยปัจจัยที่ได้จากบริวารกฐิน ซึ่งมียอดรวม 999,999 บาท นั้นทางวัดศรีภิญโญศรัทธาราม จะนำไปใช้บูรณปฏิสังขรณ์วัดต่อไป

 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top