Thursday, 9 May 2024
นราธิวาส

นราธิวาส - บริจาคโลหิต จิตอาสาเพื่อชาติ “Plus1 เพิ่มจำนวนครั้ง เพิ่มจำนวนโลหิต ( ปี2 )”

พันเอก เอกพล เลขนอก ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 48 นำกำลังพลจิตอาสาฯร่วมกับเหล่ากาชาดจังหวัดนราธิวาส จัดกิจกรรมบริจาคโลหิต ประจำปี 2564 ตามโครงการ “Plus1 เพิ่มจำนวนครั้ง เพิ่มจำนวนโลหิต ( ปี2 )” เพื่อเป็นโลหิตสำรองให้แก่ โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ และ โรงพยาบาลสุไหงโก-ลก ให้มีปริมาณที่เพียงพอแก่ในการช่วยเหลือผู้ป่วยที่รอรับการรักษา ในห้วงCOVID-19 และทั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบและบาดเจ็บจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ณ อาคาร 479 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ตำบลมะรือโบออก อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส

ทั้งนี้ มีกำลังพลจิตอาสาฯของหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 48 เข้าร่วมบริจาคโลหิตในครั้งนี้ จำนวน105 คน และมียอดบริจาคโลหิตทั้งสิ้น 47,250 ซีซีบริจาคอวัยวะ จำนวน 8 คน และบริจาคดวงตา จำนวน 8 คน โดยกิจกรรมในครั้งนี้กำลังพลจิตอาสาฯได้ผ่านการตรวจคัดกรองแล้วว่าเป็นผู้ที่มีสุขภาพร่างการแข็งแรงสมบูรณ์ ไม่เป็นผู้เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19

นราธิวาส - เลี้ยงจิ้งหรีด 1 เดียวในนราธิวาส สู้ชีวิตเพราะพิษโรค เป็นรายได้เสริมช่วงโควิดระบาด

สำหรับเรื่องราวดังกล่าวเราพาท่านไปยังบ้านเลขที่ 70/1 ม.3 ต.ปูโยะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นบ้านชั้นเดียวยกสูง ที่ปลูกอยู่ใจกลางของสวนยางพารา ซึ่งเราจะพบเห็นกรง 4 เหลี่ยม ที่สร้างด้วยโครงไม้และมีกระเบื้องแผ่นเรียบกรุโดยรอบทั้ง 4 ด้าน ขนาดความกว้าง 1.50 เมตร. ยาว 3 เมตร สูง 0.80 เมตร และมีผ้าพลาสติกสีฟ้าคลุมทับอีกชั้นหนึ่ง

และเราได้พบกับนายคุณากร อนุพันธ์ อายุ 41 ปี ซึ่งกำลังเดินแบกกระสอบอาหารไก่และเปลือกผลไม้เข้าบ้าน เมื่อสอบถามทราบว่าไปซื้ออาหารกระสอบ และนำเปลือกผลไม้มาให้จิ้งหรีดสายพันธุ์ทองดำที่เลี้ยงไว้ในกรงรับประทาน จึงถือโอกาสสอบถามเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดสายพันธุ์ทองดำขาย ที่ถือว่าเป็นแห่งเดียวของ จ.นราธิวาส

โดยนายคุณากร ได้พาไปชมขั้นตอนต่าง ๆ ที่เพาะเลี้ยงจิ้งหรีดขาย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องแปลก แท้จริงแล้วจิ้งหรีดเป็นอาหารสุดโปรดของคนภาคอีสาน คนภาคใต้จะไม่คุ้นเคยรับประทานมากนัก โดยปัจจัยสำคัญที่หันมาเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดขาย อันเนื่องมาจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-19 ซึ่งตนประกอบอาชีพเร่ขายผลไม้กับรถจักรยานยนต์ 3 ล้อ และในช่วงโควิด-19 ระบาด ส่งผลทำให้รายได้ตกต่ำแถมเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

จนกระทั่งรัฐบาลมีโครงการช่วยเหลือประชาชน เมื่อตนได้สิทธิ์คนละครึ่ง จึงได้นำเงินก้อนนั้นมาลงทุนซื้อพันธุ์จิ้งหรีดทองดำจาก จ.ศรีสะเกษ ที่เป็นภูมิลำเนาเกิดจากเพื่อนให้ส่งมา และตนเริ่มเพาะเลี้ยงเพราะคิดว่าอาชีพดังกล่าวนี้ไม่มีคนทำ ซึ่งมันท้าทายดีและมีโอกาสได้เปิดตลาดจิ้งหรีด แถมต้นทุนที่ใช้จ่ายก็ไม่มากนัก

ซึ่งการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดก็ไม่ได้ยากมากนัก เพียงแต่อาศัยการเอาใจใส่ เริ่มแรกต้องไปหาซื้อรังไข่ที่ท้องตลาด ซึ่งขายกิโลกรัมละ 5 บาท มาใส่ไว้ในกรงเรียง 1 แถวจนครบทั้ง 4 ด้าน จากนั้นนำพันธุ์จิ้งหรีดที่ใส่ถาดไว้เรียงบนรังไข่ทั้ง 4 ด้าน โดยให้อาหารกระสอบที่ใช้สำหรับเลี้ยงไก่ รวมทั้งใบหม่อนใบกล้วยที่ปลูกข้างบ้าน และเปลือกผลไม้ที่ตนขายผลไม้เป็นประจำอยู่แล้ว มาใส่ให้จิ้งหรีดกินช่วงเช้าและช่วงเย็น เลี้ยงผ่านไปประมาณ 35 ถึง 40 วัน ก็สามารถจับขายได้ โดยขายกิโลกรัมละ 200 บาท แถมส่วนที่เหลือก็จะแปรรูปนำไปทอดปรุงรส และนำมาแพ็คใส่ถุง ขายถุงละ 20 บาท ตระเวนขี่รถจักรยานยนต์ 3 ล้อ ขายคู่กับผลไม้ในพื้นที่ อ.สุไหงโก-ลก และสุไหงปาดี ที่ถือว่าเป็นรายได้เสริมในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-19 เป็นอย่างดี

และจากการสอบถามผู้บริโภคครอบครัวหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นขาประจำสำหรับจิ้งหรีดทอดปรุงรส รายหนึ่ง ที่เด็กน้อยวัยประมาณ 2 ขวบ กำลังรับประทานจิ้งหรีดอย่างเอร็ดอร่อย 3 คนแม่ลูก พบว่า เป็นที่ถูกปากของคนทั้งครอบครัวและหาซื้อมารับประทานยากมาก

ด้านนายคุณากร อนุพันธ์ ผู้เพาะเลี้ยงจิ้งหรีดพันธุ์ทองดำ กล่าวว่า หลังจากได้เกิดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาด ตนได้เงินจากรัฐโครงการคนละครึ่ง ผมจึงได้เงินส่วนนั้นซื้อพันธุ์จิ้งหรีดจาก จ.ศรีสะเกษ มาเพาะเลี้ยงดูเพื่อว่าที่จะเป็นรายได้อีกทางหนึ่งเสริมขึ้นมา เมื่อทำขึ้นมาประสบความสำเร็จ จึงวางขายกฺดลกรัมละ 200 บาท อีกส่วนหนึ่งก็จะนำไปแปรรูปขายในพื้นที่ อ.สุไหงโก-ลก และสุไหงปาดี จ.นราธิวาส


ภาพ/ข่าว  แวดาโอ๊ะ หะไร จ.นราธิวาส

นราธิวาส – รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแพทย์จังหวัดชายแดนภาคใต้ มอบรถเข็นวีลแชร์ ให้แก่ผู้ป่วยและผู้พิการในพื้นที่

พันเอกนายแพทย์ โชคชัย ขวัญพิชิต รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแพทย์จังหวัดชายแดนภาคใต้พร้อมคณะเดินทางลงพื้นที่ อำเภอสุไหงปาดีและอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เพื่อเยี่ยมเยียน ให้กำลังใจ พร้อมมอบรถเข็นวีลแชร์ ให้แก่ผู้ป่วยและผู้พิการในพื้นที่ จำนวน 6 ราย ได้แก่

1. นางเอียด ปิ่นพรม อยู่บ้านเลขที่ 63 ม.6 ต.สุไหงปาดี อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส 2 น.ส.สาลีนา เจะอับดุลเลาะ อยู่บ้านเลขที่ 171 ม.5 ต.กาวะ อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส 3 นางเจ๊ะเต๊าะ เจ๊ะโซะ อยู่บ้านเลขที่ 36/2 ม.1 ต.สุไหงปาดี อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส 4 นายมะอาสมี มือลี อยู่บ้านเลขที่ 75 ม.1 ต.กะลุวอ อ.เมือง จ.นราธิวาส 5 นายไหล คงรังษี อยู่บ้านเลขที่ 32 ม.2 ต.เกาะสะท้อน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส 6 นางนุ้ย คงแสง อยู่บ้านเลขที่ 23 ม.2 ต.เกาะสะท้อน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เป็นผู้ป่วยโรคพาร์กินสันซึ่งการลงพื้นที่ในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากโฆษกชาวบ้าน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านและพี่น้องประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างดี

พันเอกนายแพทย์ โชคชัย ขวัญพิชิต รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแพทย์จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้เป็นภารกิจของศูนย์อำนวยการแพทย์จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ทำงานและประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในพื้นที่ ให้การช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่มีความยากลำบากในการใช้ชีวิต เป็นผู้ป่วยผู้พิการที่ต้องการกายอุปกรณ์เพื่อให้การดำเนินชีวิตมีคุณภาพที่ดีมากยิ่งขึ้น โดยจะมีการสำรวจความต้องการ ความลำบากของผู้ป่วยผู้พิการในแต่ละชุมชน เพื่อมาเยี่ยมเยียนรวมถึงมอบอุปกรณ์ที่จำเป็นให้

ซึ่งผู้ป่วยและผู้พิการที่ได้รับมอบรถเข็นวีลแชร์ในวันนี้ต่างรู้สึกดีใจและซาบซึ้งใจเป็นอย่างมากที่ทางหน่วยงานภาครัฐไม่ทอดทิ้งประชาชน


ภาพ/ข่าว  แวดาโอ๊ะ หะไร จ.นราธิวาส

นราธิวาส - โฆษก ศรชล.เผย กู้อวนใต้เกาะโลซินสำเร็จ พบความเสียหายบางส่วน เร่งปลูกชดเชย เตรียมลงดาบเรือตัดอวน

วันนี้ ( 21 มิ.ย.64 ) เวลา 08.30 น. พลเรือตรี ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) เปิดเผยถึงการปฏิบัติภารกิจแก้ปัญหาอวนขนาดใหญ่ปกคลุมปะการังบริเวณเกาะโลซิน จว.นราธิวาสในวันสุดท้าย (20 มิ.ย.64) ว่า การปฏิบัติภารกิจยังคงดำเนินการตามแผนที่วางไว้ สภาพอากาศท้องฟ้าแจ่มใส โดยทีมนักดำน้ำได้ทำการดำในช่วงเช้า 2 เที่ยว เพื่อทำการตัดอวนที่เหลือ ซึ่งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย สามารถเก็บอวนขึ้นมาได้ทั้งหมดมีน้ำหนักถึง 800 กิโลกรัม ส่วนในช่วงบ่ายได้ทำการดำอีก 1 เที่ยวเพื่อประเมินความเสียหายของปะการังและปลูกซ่อมแซม

จากการสำรวจพบว่า พื้นที่อวนทั้งหมด 2,750 ตารางเมตร พื้นที่ที่อวนปกคลุมปะการัง 550 ตารางเมตร ผลการประเมินความเสียหายของปะการัง พบลักษณะความเสียหายหลักคือปะการังมีสีซีดจางร้อยละ 10 ของพื้นที่ปกคลุมทั้งหมด รองลงมาคือแตกหัก ร้อยละ 5 ของพื้นที่ปกคลุมทั้งหมด และรอยถลอกเสียดสี บางส่วนบาดจนปะการังเคลือบติดกับเนื้ออวน ร้อยละ 5 ของพื้นที่ปกคลุมทั้งหมด

นอกจากนั้นยังมี ผลกระทบอื่นที่ไม่ใช่ปะการัง ประกอบด้วยดอกไม้ทะเลและสัตว์หน้าดิน เสียหายเล็กน้อย

สำหรับแผนการดำเนินการตามแผนฟื้นฟู ได้ปลูกปะการังทดแทนในพื้นที่เสียหายประมาณ 500 เข่งและติดตามผลการดำเนินการในอีก 3 เดือนโดยนักดำน้ำทั้งหมดที่มาจากกองทัพเรือ 16 นายนักดำน้ำของ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) และอาสาสมัครดำน้ำจำนวน 26 นายรวมทั้งนักข่าวใต้น้ำจำนวน 6 นายปลอดภัย การปฏิบัติการเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและไม่มีอุปสรรคใดๆ โดย พลเรือโท สำเริง จันทร์โส ผอ.ศรชล.ภาค 2 / ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 2 (ผบ.ทรภ.2) ได้ขอบคุณหน่วยงานที่ร่วมปฏิบัติการในครั้งนี้ โดยเฉพาะนักดำน้ำและถ่ายภาพใต้น้ำทั้ง 38 นาย ที่เสียสละเข้าร่วมปฏิบัติการในครั้งนี้ จนทำให้ภารกิจได้สำเร็จลุล่วงเป็นอย่างดี

โฆษก ศรชล.กล่าวว่า สำหรับการติดตามผู้กระทำความผิด ทาง ศรชล.ร่วมกับ ทร./ทช./กรมประมง เพื่อดำเนินการร่วมกัน โดยเบื้องต้น ทช.จะนำของกลางเข้าแจ้งความเพื่อหาผู้กระทำผิด และศรชล.ได้สั่งการให้หน่วยที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้

1.ให้ศูนย์ยุทธการตรวจสอบ เรือประมงพานิชย์ ประเภทอวนล้อมจับ ที่มีประวัติเดินทางผ่าน เกาะโลซิน ตั้งแต่ 1 มิ.ย.64- ปัจจุบัน

2. ซากอวนทั้งหมดที่ตัดมาให้นำอวนมาส่งที่ ท่าเรือตรวจประมง ปัตตานี และให้ ศรชล.จังหวัดปัตตานีตั้งคณะทำงานร่วมกันกับสมาคมประมง และประมงจังหวัด เพื่อหาที่มาของอวน

3.ให้ศูนย์ควบคุมความมั่นคงท่าเรือจังหวัดต่าง ๆ ตรวจสอบเรือที่แจ้งเข้าว่า อวนบนเรือมีลักษณะตรงกับตัวอย่างที่เก็บมาได้ และอวนบนเรือได้หายไปเนื่องจากการประมงหรือไม่เพื่อตรวจสอบหาเรือที่กระทำความผิดต่อไป

สำหรับโทษที่กำหนดไว้เกาะโลซินเป็นพื้นที่ห้ามทำประมงชอบ/อวน ตาม พรบ. กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมาตรา 17 โทษปรับ 100,000 บาท จำคุก 1 ปีหรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงโทษตาม พรบ.สงวนคุ้มครองสัตว์ป่า 2562 ฐานทำให้ปะการังเสียหายหรือถูกทำลายจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นราธิวาส - จับมือมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ จัดตั้งโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 5 จำนวน 380 เตียง

ด้านผู้ว่าฯนราธิวาส ตรวจเยี่ยมสถานที่ในพื้นที่อำเภอเมืองนราธิวาส เตรียมตั้งโรงพยาบาลสนามเพิ่ม เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ให้เพียงพอ

วันที่ 25 มิ.ย. 64 นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เป็นประธานเปิดโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 5 ที่โรงยิมเนเซี่ยม สนามกีฬามหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ตำบลโคกเขือ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส โดยมี นายแพทย์สุเทพ เพชรมาก ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 12 ปลัดจังหวัดนราธิวาส นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส  ผอ.โรงพยาบาลนราธิวาสฯ อธิการบดีมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมในพิธีฯ

ทางด้านนายแพทย์วิเศษ สิรินทรโสภณ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ ณ ปัจจุบัน  มีจำนวนผู้ป่วยยืนยันในโรงพยาบาล สะสมจำนวน 1,745 ราย กำลังรักษาจำนวน 543 ราย แยกเป็น รักษาตัวในโรงพยาบาลต่างๆ ในจังหวัดนราธิวาส จำนวน 192 ราย และ รักษาตัวโรงพยาบาลสนาม 2 แห่ง คือ โรงพยาบาลสนาม ศูนย์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้เสพยาเสพติด และ โรงพยาบาลสนาม ศูนย์พักพิงร่วมใจอุ่นไอรัก จำนวน 351ราย

ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มของจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจากผู้ป่วยยืนยันคลัสเตอร์มัรกัส ซึ่งขีดความสามารถของโรงพยาบาลสนามทั้ง 2 แห่งของจังหวัดนราธิวาส ไม่เพียงพอ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส ในฐานะฝ่ายรับผิดชอบทางด้านการสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข จึงได้ประสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ เพื่อจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม แห่งที่ 5 ณ โรงยิมเนเซี่ยม มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ เพื่อรองรับการให้บริการผู้ป่วย COVID-19 คลัสเตอร์มัรกัสเป็นการเฉพาะ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ป่วยยืนยันจำนวน 180 ราย โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาสจัดสรรบุคลากรทางการแพทย์ประกอบด้วย แพทย์ 5 คน พยาบาลวิชาชีพ 7 คน และพนักงานทำความสะอาด 2 คน โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อให้ผู้ป่วยปลอดภัย บุคลากรปลอดภัย และจังหวัดนราธิวาสปลอดภัยจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยเร็ว

ขณะที่จังหวัดนราธิวาสมีผู้ป่วยรายใหม่ตกประมาณวันละ 100 คน เพราะฉะนั้นในภาพรวมเรามีความจำเป็นที่จะต้องใช้เตียงประมาณ 1,400 เตียง ซึ่งตอนนี้เรามีเตียงทั้งหมด 1,000 เตียง ซึ่งหลังจากที่เปิดโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 5 วันนี้ ซึ่งสามารถรองรับผู้ป่วยได้ 380 เตียง เราถึงจำเป็นที่จะต้องหาพื้นที่เพื่อจัดตั้งโรงพยาบาลสนามอีก 500 เตียง ซึ่งในโรงพยาบาลสนามแห่งนี้จัดไว้เพื่อดูแลกลุ่มผู้ป่วยที่มาจากมัรกัสยะลา มัรกัสยี่งอ และมัรกัสศรีสาคร จึงออกแบบเพื่อให้ผู้ป่วยมีกิจกรรมและการดำรงชีวิตที่ไม่กระทบกับวิถีชีวิตปกติ 

และในส่วนของการกระจายวัคซีนจากส่วนกลางมาที่จังหวัดนราธิวาสมีวัคซีนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจังหวัดนราธิวาสก็เป็นจังหวัดลำดับต้น ๆ ที่ได้รับการจัดสรรวัคซีน ซึ่งโดยภาพรวมก็เป็นไปตามเป้าหมายที่ได้จัดตั้งไว้ โดยศักยภาพเต็มที่ของโรงพยาบาลทั้ง 13 แห่ง สามารถฉีดได้ประมาณวันละ 7,500 คน ซึ่งตอนนี้ฉีดไปแล้ว 40,000 กว่าคน ส่วนพื้นที่ที่มีการระบาดก็จะเพิ่มเติมก็จะมีการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นด้วย

และขณะนี้มีการเปิดรับบริจาคสิ่งของที่จำเป็น ที่ใช้ในโรงพยาบาลสนามฯ เช่น เตียงนอน หมอน มุ้ง ขนมขบเคี้ยวต่าง  สามารถมาร่วมบริจาคสมทบได้ที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส ได้ในวันและเวลาราชการ หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 073-532059

นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ระลอกเดือนเมษายน 2564 จนถึงปัจจุบัน เกิดการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องในกลุ่มคลัสเตอร์ต่าง ๆ และคาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มของจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจากคลัสเตอร์มัรกัส และในกลุ่มประชาชนทั่วไป ซึ่งขีดความสามารถของโรงพยาบาล และโรงพยาบาลสนามที่มีอยู่ ทั้ง 2 แห่งของจังหวัดนราธิวาส รองรับในการรับดูแลรักษาผู้ป่วยอาจไม่เพียงพอและมีข้อจำกัดในเรื่องพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวางแผนการควบคุม ป้องกันโรค และการรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ทำอย่างไรที่จะสามารถควบคุม จำกัดการแพร่ระบาดไม่ให้กระจายไปสู่พื้นที่วงกว้างในชุมชน และกระจายไปทั่วจังหวัด

ต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมบริเวณสวนเปี่ยมสุขนราธิวาส และหอประชุมกองร้อย อส.อำเภอเมืองนราธิวาส เพื่อเตรียมใช้เป็นโรงพยาบาลสนามแห่งใหม่ ในการรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ได้อย่างเพียงพอ


ภาพ/ข่าว  แวดาโอ๊ะ หะไร จ.นราธิวาส

นราธิวาส - "บิ๊กอู๊ด" ชี้ หากคุมภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ได้ มีโอกาสทยอยเปิดเมืองท่องเที่ยวทั่วไทย

วันที่ 4 ก.ค. 64 พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผบช.สตม.ได้เดินทางมายังด่านพรมแดนสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เพื่อมอบสิ่งของบำรุงขวัญและเยี่ยมให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ 7 หน่วยงานหลัก ที่ปฏิบัติหน้าที่ด่านพรมแดนสุไหงโก-ลก รวมไปถึงปฏิบัติหน้าที่ตามแนวชายแดนและช่องทางข้ามธรรมชาติ ที่ทุกหน่วยงานหลักมีความเสียสละ ในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ โควิด 19 โดยเฉพาะสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ที่ตรวจพบว่ามีการแพร่ระบาดจากพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้าน จากบุคคลที่ลักลอบข้ามแดนจากช่องทางธรรมชาติ

ต่อมา พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผบช.สตม. ได้เข้ารับฟังบรรยายสรุป ณ ห้องประชุมชั้น 3 ด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก โดยมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม อาทิ พ.ต.อ.ศุภชาติ เวชพร ผกก.ตม.จว.นราธิวาส พ.อ.อายุพันธ์ กรรณสูต ผู้บังคับชุดควบคุมป้องกันชายแดน นายวัลลภ วุฒาพาณิชย์ นายด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก นายปรีชา นวลน้อย ปลัด จ.นราธิวาส นางสุชาดา พันธ์นรา นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก ฯลฯ

ซึ่งในที่ประชุมมีใจความพอสรุปได้ว่า ขณะนี้ประเทศมาเลเซียได้ประกาศปิดประเทศแบบไม่มีกำหนด โดยยอดผู้หลบหนีเข้าเมืองตามช่องทางธรรมชาติในปี 2563 ที่ผ่านมามีจำนวน 434 คน ส่วนปี 64 จากต้นปีถึงปัจจุบันมีผู้ลักลอบเข้าเมืองตามช่องทางธรรมชาติลดลง เหลือเพียง 172 คน จากมาตรการความร่วมมือของชาวบ้านที่ช่วยชี้เบาะแสให้กับเจ้าหน้าที่ โดยพื้นที่ที่มีการลักลอบเข้าเมืองมากที่สุด คือ สุไหงโก-ลก คิดเป็นร้อยละ 75 และมีมาตรการคัดกรองโรคเข้มข้น จนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 จากประเทศเพื่อนบ้านในขณะนี้ มีตัวเลขเป็น 0 และพบว่าที่ระบาดในขณะนี้เป็นการระบาดของกลุ่มบุคคลภายในประเทศเท่านั้น

พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผบช.สตม. ได้กล่าวขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่ทุ่มเทเสียสละในการปฏิบัติหน้าที่ จนทำให้เราสามารถควบคุมบุคคลที่แอบลักลอบเข้าทางช่องทางธรรมชาติได้ แต่อย่าประมาทการปฏิบัติหน้าที่ต้องมีความเข้มงวด ปล่อยปะละเลยหรือละหลวมเมื่อใดเขาอาจจะจ้องแอบลักลอบเข้ามาในประเทศได้ และยากต่อการควบคุมหากโควิด19 จากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาระบาดอีกครั้ง

หลังเสร็จสิ้นการประชุม พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผบช.สตม. ได้เดินทางไปยังสะพานด่านพรมแดน โดยมี พ.ต.อ.ศุภชาติ เวชกร ผกก.ตม.จว.นราธิวาส นำชมการจัดกำลังปฏิบัติหน้าที่ตามช่องทางธรรมชาติ ที่มีแม่น้ำสุไหงโก-ลก ซึ่งมีความกว้างประมาณ 50 ถึง 70 เมตร เป็นเขตแบ่งพรมแดนกับพื้นที่รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ซึ่งง่ายต่อการลักลอบเดินทางข้ามมายังพื้นที่ จ.นราธิวาส ซึ่งปัจจุบันที่เจ้าหน้าที่ทหารชุดควบคุมป้องกันชายแดน ถูกส่งตัวมาปฏิบัติหน้าที่สลับสับเปลี่ยนกันตลอด 24 ชั่วโมง

ซึ่งก่อนเดินทางกลับ พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผบช.สตม. เปิดเผยว่า การทำงานนั้นต้องบูรณาการกันและเฝ้าระวัง สิ่งสำคัญถ้าพบเห็นการลักลอบเข้าเมืองนั้น ต้องมีมาตรการในการป้องกันประสานทาง จนท.สาธารณสุข โดยภาพรวมการทำงานมีความเข้มแข็งจากการบูรณาการทั้งจังหวัด

ส่วน ตม.เป็นการเสริมการป้องกันลักลอบเข้าเมือง นโยบายของรัฐบาลที่ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ มีมาตรการนักท่องเที่ยวที่เข้ามาต้องฉีดยาวัคซีนป้องกันครบโดส และต้องผ่านการตรวจหาเชื้อภายใน 72 ชั่วโมง ถ้าได้ผลดีผมเชื่อว่าคงขยายไปเมืองท่องเที่ยวต่างๆทั่วประเทศ ถ้าป้องกันการแพร่ขายได้ก็จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ เพราะว่าต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวก็จะมีการจับจ่ายใช้สอยสร้างรายได้ให้กับคนไทยเรา


ภาพ/ข่าว  กรียา นราธิวาส

นราธิวาส - ผู้บังคับหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 41 ร่วมนายก อบต.สุไหงปาดี ลงพื้นทีเยียมเยืยนให้กำลังใจชาวบ้าน

ที่ทางจังหวัดนราธิวาสมีคำสั่งให้ปิดหมู่บ้านและอยู่ระหว่างรอดูอาการ 14 วันจากสถานณ์โควิคระบาด พันเอกภูมิ โพพี ผู้บังคับหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 41 สำนักงานพัฒนาภาค 4 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนาร่วมนายเพียร มะโนภักดิ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสุไหงปาดี ลงพื้นที่จุดคัดกรอง หน้าโรงเรียนราชภักดี ม.7 บ้านปิเหล็ง เขตบ้านโคกสะตอ ต.สุไหงปาดี อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 6 พษฎาคม 2564 เวลา 10.00 น เพื่อพบปะให้กำลังใจ แก่เจ้าหน้าที่ และมอบถุงยังชีพจำนวน 100 ชุด น้ำดื่มสะอาด 360 ขวดให้กับครอบครัวบ้านโคกสะตอที่ถูกปิดหมู่บ้าน ตามประกาศจังหวัดนราธิวาส ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2564  เนื่องจากตรวจพบเป็นพื้นที่มีการแพร่ระบาดของ COVID 19 โดยมีนายอันนูวา กาเซ็ง ผู้ใหญบ้าน เป็นผู้รับมอบพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง อสม.ชรบ.ในพื้นที่ 

สำหรับบ้านโคกสะตอ มีประชากร 50 ครัวเรือน จำนวน 437 คน ตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด -19 ครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2564 จำนวน 10 คน  จำนวนผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 10 คน   


ภาพ/ข่าว  แวดาโอ๊ะ หะไร จ.นราธิวาส

นราธิวาส – ที่ปรึกษาผู้แทนพิเศษของรัฐบาลพร้อมคณะลงพื้นที่ เยี่ยมเยือนให้กำลังใจชาวบ้านที่ทางจังหวัดนราธิวาสมีคำสั่งให้ปิดหมู่บ้านและอยู่ระหว่างรอดูอาการ 14 วันจากสถานณ์โควิค

นายธนาธิป พรหมชื่นทีปรึกษาผู้แทนพิเศษของรัฐบาล นายอนิรุทร บัวอ่อน นายอำเภอสุไหงปาดี จ.นราธิวาส นายเพียร มะโนภักดิ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสุไหงปาดีพร้อมด้วยทีมงาน สท.3 สหาย นราธิวาส ลงพื้นที่จุดคัดกรองหน้าโรงเรียนราชภักดี ม.7 บ้านปิเหล็ง เขตบ้านโคกสะตอ ต.สุไหงปาดี อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 8 พฎษภาคม 2564 เวลา 10.00 น.

เพื่อพบปะให้กำลังใจกับเจ้าหน้าที่พร้อมมอบปลาโอสด 150 กก. ไก่สด 50 ตัว ไข่ไก่ 1,500 ฟอง น้ำดื่มสะอาด 1,200  ขวด น้ำดีโด้ 50 แพ็ก และขนมกินเล่น 50 ถุง ให้กับครอบครัวชาวบ้านโคกสะตอที่ถูกปิดหมู่บ้าน ตามประกาศจังหวัดนราธิวาส ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2564  เนื่องจากตรวจพบเป็นพื้นที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยมีนายอันนูวา กาเซ็ง ผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้รับมอบพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ทหาร ฝ่ายปกครอง อสม.ชรบ.ในพื้นที่ 

สำหรับบ้านโคกสะตอ มีประชากร 50 ครัวเรือน จำนวน 437 คน ตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2564 จำนวน 10 คน จำนวนผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 10 คน ซึ่งขณะนี้ทาง รพ.สต.สุไหงปาดีได้ส่งตัวไปอยู่ที LQ. ปาดีค็อมแพ็คกักตัวเป็นเวลา 14 วันเพื่อดูอาการ      

หลังจากนั้นคณะได้เดินทางไปยังโรงพยาบาลสุไหงปาดี เพื่อมอบน้ำดืมสะอาดจำนวน 2,400 ขวด ให้กับแพทย์และทีมงานพยาบาลเพื่อไว้บริการสำหรับผู้มาฉีดวัคซีนป้องกัน Covid -19 ณ โรงพยาบาลสุไหงปาดี จ.นราธิวาส อีกด้วย


ภาพ/ข่าว  แวดาโอ๊ะ หะไร จ.นราธิวาส

นราธิวาส - ผู้ว่าฯนราธิวาส เยี่ยมให้กำลังใจพร้อมมอบเงินช่วยเหลือครอบครัวหญิงตั้งครรภ์ ที่เสียชีวิตจาก โควิด-19

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในจังหวัดนราธิวาส (ระลอกเดือนเมษายน 2564)  ข้อมูล ณ วันที่ 6 กรกฎาคม 2564 มีผู้ติดเชื้อสะสม 2,612 ราย มีผู้เสียชีวิตราย 13 ราย โดยผู้เสียชีวิตรายล่าสุดเป็นหญิงตั้งครรภ์ 7 เดือนครึ่ง ที่เสียชีวิตพร้อมทารกในครรภ์ ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสมีความเสียใจต่อการเสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัส COVID - 19 โดยหญิงตั้งครรภ์ที่เสียชีวิต อายุ 33 ปี อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 134/3 หมู่ 7 ต.ศรีสาคร อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส

ในวันนี้ (6 ก.ค. 64) นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ได้ลงพื้นที่ไปยังที่ว่าการอำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส เพื่อเยี่ยมให้กำลังใจแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่ พร้อมทั้งรับฟังสถานการณ์ของโรค COVID-19 ในพื้นที่ และข้อมูลผู้เสียชีวิตรายล่าสุดจากการติดเชื้อไวรัส COVID-19 โดยมีปลัดจังหวัดนราธิวาส นายอำเภอศรีสาคร หัวหน้าส่วนราชการ ผอ.รพ.ศรีสาคร เข้าร่วม

นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า วันนี้เดินทางมาให้กำลังใจครอบครัวผู้เสียชีวิต รวมทั้งแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขที่ได้ปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ในการดูแลประชาชน โดยมารับฟังข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ขอให้มีการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชน รวมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางให้ความช่วยเหลือตามมาตรา 41 สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากบริการสาธารณสุข  และจะมีการให้ความช่วยเหลือตามระเบียบของทางราชการต่อไป

สำหรับสถานการณ์ โรค COVID-19 ในพื้นที่อำเภอศรีสาคร มีผู้ติดเชื้อสะสม จำนวน 138 ราย ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงกว่า 400 ราย และมีผู้เสียชีวิต 2 ราย ซึ่งกรณีของหญิงตั้งครรภ์ที่เสียชีวิต มีประวัติเชื่อมโยงคลัสเตอร์มัรกัสยะลา เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศรีสาครเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 มีอาการปอดอักเสบ ได้ทำการ swab พบว่าติดเชื้อ COVID-19 และในวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 นำส่งโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ หลังมีอาการทรุดลงจากภาวะปอดติดเชื้อ ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และเสียชีวิตในวันที่ 6 กรกฎาคม 2564 ด้านเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ได้ดำเนินการค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในครอบครัวและในชุมชน พร้อมทั้งให้แยกกักตัวที่บ้านแล้ว

ต่อจากนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสพร้อมคณะได้เดินทางไปยังบ้านเลขที่ 134/3 หมู่ 7 ตำบลศรีสาคร อำเภอศรีสาคร เพื่อมอบเงินช่วยเหลือส่วนตัวจำนวนหนึ่งแก่ครอบครัวหญิงตั้งครรภ์ที่เสียชีวิต รวมทั้งมอบเงินสงเคราะห์ฯจากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จ.นราธิวาส และเงินช่วยเหลือจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส นอกจากนี้ยังได้มอบสิ่งของอุปโภคมอบเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน พร้อมทั้งพูดคุยและให้กำลังใจแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตอีกด้วย


ภาพ/ข่าว  แวดาโอ๊ะ หะไร จ.นราธิวาส

นราธิวาส - ผบ.ฉก.นราธิวาส เยี่ยมให้กำลังใจ เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการจรยุทธ์ เน้นย้ำ เพิ่มมาตรการเฝ้าระวัง รักษาความปลอดภัยในพื้นที่

พลตรีไพศาล หนูสังข์ ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่15 / ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส  พร้อมด้วย พันโท กฤตณ์พัทธ์ กรกัน ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 30 ได้เดินทางลงพื้นที่ ไปตรวจเยี่ยม ให้กำลังใจ เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการจรยุทธ์ (ชป.จรยุทธ์) ของหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 30 ณ หมู่ที่ 5 บ้านโคกยาง ตำบลพร่อน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส โดยได้ติดตามการปฏิบัติงานตามแผนปฏิบัติการเชิงรุก พร้อมทั้งเน้นย้ำการเกาะติดบุคคลเป้าหมาย รวมถึงกลุ่มเครือญาติ และต้องมีการปรับข้อมูลตลอดเวลาให้ทันสมัย , การควบคุมเส้นทาง ให้ประสานการปฏิบัติกับหน่วยข้างเคียงอย่างใกล้ชิด และเพิ่มความเข้มในการระวังป้องกันการก่อเหตุ ต่อจุดตรวจ รวมถึงเส้นทางสายหลักในพื้นที่รับผิดชอบ การเกาะติดเส้นทางเพื่อทำเส้นทางให้ปลอดภัย โดยเฉพาะห้วงกลางคืน และให้เพิ่มความเข้มการระวังป้องกันตนเอง เพื่อป้องกันการตอบโต้ของฝ่ายตรงข้าม จากกรณีการบังคับใช้กฎหมายต่อกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่

ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส ได้เน้นย้ำการปฏิบัติในการ รปภ.พื้นที่ให้มีความปลอดภัย ปฎิบัติให้เป็นตามนโยบาย/สั่งการของ พลโทเกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 รวมถึงให้คำแนะนำเกี่ยวกับหลักการปฏิบัติทางยุทธวิธี เพื่อให้กำลังพลมีความเข้าใจและระมัดระวัง ต้องตื่นตัวอยู่เสมอ และไม่ประมาท ในการปฏิบัติเเต่ละภารกิจ และสามารถดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชน รวมทั้งควบคุมพื้นที่รับผิดชอบได้อย่างปลอดภัย ตลอดจน ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส ยังได้มอบสิ่งอุปโภค-บริโภค และให้กับ เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการจรยุทธ์ เพื่อเสริมสร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานต่อไป


ภาพ/ข่าว  แวดาโอ๊ะ หะไร จ.นราธิวาส


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top