Tuesday, 14 May 2024
ทรงพระเจริญ

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง ทรงมีกระแสพระราชดำรัส หลัง กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงกราบทูล “สมัยนี้ไม่มีคนชมโขนแล้ว”

‘สมเด็จพระเทพฯ’ ทรงกราบทูลพระพันปีหลวงว่า “สมัยนี้ไม่มีคนชมโขนแล้ว” พระองค์จึงมีกระแสรับสั่งตอบว่า “เมื่อไม่มีใครดู แม่จะดูเอง”...

จากพระวิสัยทัศน์ใน สมเด็จพระพันปีหลวง สู่ความสำเร็จของโขนพระราชทาน มรดกโลกโดยยูเนสโก

การแสดงโขนของไทย ที่มีประวัติมายาวนานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นการรวมกันระหว่างศิลปะการร่ายรำ วรรณกรรม ดนตรี และศิลปะการออกแบบเครื่องแต่งกายเข้าไว้ในศาสตร์เดียวกัน ซึ่งอาจเปรียบเทียบได้กับการแสดงอุปรากร โอเปราของฝั่งตะวันตก

ถึงแม้ว่าในอดีตการแสดงโขนจะมีไว้เฉพาะสำหรับราชสำนัก และขุนนาง แต่การได้รับการอุปถัมภ์โดยชนชั้นสูงในสมัยนั้น ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้โขนได้รับการพัฒนาจนถึงขีดสุด เนื่องจากการพัฒนาศิลปะนั้นจำเป็นต้องใช้ทรัพยากร และเงินทอง เพื่อการพัฒนาศิลปะเฉพาะทาง

โขนได้รับการพัฒนาจนถึงขีดสุดในสมัยรัชกาลที่ 6 ด้วยพระราชนิยมที่ทรงโปรดศิลปวัฒนธรรม อย่างไรก็ดี ในรัชกาลที่ 7 เกิดเหตุการณ์เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก และสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้การแสดง และศิลปวัฒนธรรมทุกชนิดตกต่ำ หยุดการพัฒนา และแม้ในรัชกาลที่ 8 จะมีความพยายามที่จะฟื้นฟูให้คืนกลับมา แต่ก็ประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรผู้ฝึกสอน ประกอบกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เข้ามาซ้ำเติมให้วงการศิลปะของไทยดำดิ่งลงเหวไป

จนเมื่อมาถึงรัชกาลที่ 9 สภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยได้รับการพัฒนาให้มีความมั่นคง ประกอบกับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง  ทรงมีพระราชดำริว่าศิลปวัฒนธรรมอันดีงาม ที่ได้รับการสืบทอดมาแต่ครั้งบรรพชน กำลังค่อย ๆ เลือนหายไป 

จึงทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้มีการฟื้นฟูศิลปวิทยาดั้งเดิมของไทย ให้คืนกลับมาดังเดิม ซึ่งการฟื้นฟูดังกล่าว ไม่เพียงเป็นการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นการส่งเสริมอาชีพให้แก่พสกนิกรชาวบ้าน ให้มีอาชีพ มีงานทำ มีรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน และหนึ่งในศาสตร์นั้นก็คือการแสดงโขน นั่นเอง

พระองค์ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปิดสอนหัตถกรรมแทบทุกประเภทแก่บุตรหลานของราษฎรผู้ยากไร้ขึ้น ณ บริเวณสวนจิตรลดา และเปิดสอนสมาชิกในต่างจังหวัดในบริเวณพระราชนิเวศน์ทุกภาค ในเวลาที่พระองค์สมเด็จทรงเยี่ยมราษฎร ทรงรับเด็กยากจนที่มีการศึกษาน้อย รวมทั้งผู้ไม่เคยมีประสบการณ์ด้านการช่างใดๆ เข้าเป็นนักเรียนศิลปาชีพ ทรงเสาะหาครูผู้มีฝีมือที่ยังหลงเหลืออยู่มาถ่ายทอดผลงาน ทรงติดตามผลงานทุกชิ้น พระราชทานกำลังใจแก่สมาชิกทุกคนและโปรดที่จะทรงใช้สอยผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพทุกชนิด เพื่อเป็นแบบอย่างแก่ประชาชนทั่วไปด้วย

ต่อมาเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2519 ได้ก่อทรงตั้งมูลนิธิขึ้น พระราชทานว่า ‘มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษ ในพระบรมราชินูปถัมภ์’ พระราชทานทุนเริ่มแรก และทรงรับเป็นประธานกรรมการบริหารของมูลนิธิฯ ด้วยพระองค์เอง

ในเวลาต่อมาทรงสังเกตเห็นว่าสุนทรียะของการแสดงโขนซึ่งเป็นศิลปะการแสดงชั้นสูงประจำชาติไทยนั้น ลดน้อยด้อยลงไปจากเดิม ประกอบกับกรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงกราบทูลพระพันปีหลวงว่า สมัยนี้ไม่มีคนชมโขนแล้ว พระองค์จึงมีกระแสรับสั่งตอบว่า

“เมื่อไม่มีใครดู แม่จะดูเอง” 

ทุกวันนี้ ประชาชนชาวไทยไม่ใคร่มีโอกาสได้ชมโขน เนื่องจากการจัดการแสดงโขนแต่ละครั้งไม่ใช่เรื่องง่าย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประชุมผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโขน และงานหัตถศิลป์แขนงต่างๆ แล้วโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างเครื่องแต่งกายโขนขึ้นใหม่สำหรับใช้ในการแสดงโขนพระราชทาน โดยทรงกำชับให้ยึดถือรูปแบบเครื่องแต่งกายโขนแบบโบราณ แต่มีความคงทนและสวยงามยิ่งขึ้น มูลนิธิจึงสนองพระราชประสงค์ด้วยการฟื้นฟูพัฒนาโขน บูรณาการศิลปะไทยทุกแขนงเข้าด้วยกัน ผสมผสานกับเทคนิคการแสดงแสง สี เสียงสมัยใหม่ ก่อให้เกิดเป็นการแสดงโขนร่วมสมัย จนนำไปจัดแสดงต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกในปี 2550 ชุดพรหมมาส 

การแสดงโขนพระราชทานในครั้งนั้น ได้รับเสียงตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี มีการเรียกร้องให้มีการแสดงโขนขึ้นอีก พระพันปีหลวงจึงมีพระราชเสาวนีย์ให้มีการพัฒนาขึ้นอีก ก่อนจะจัดแสดงอีกครั้งในปี 2551 ซึ่งมีคนหนุ่มสาวและเด็ก ๆ จำนวนมากมีความสนใจชมโขนและยังพากันจูงผู้เฒ่าผู้แก่ในครอบครัวไปชมโขนกันอย่างเนืองแน่น จึงทรงโปรดฯ ให้มีการจัดแสดงโขนในทุก ๆ ปี และคนไทยก็เรียกว่า “โขนพระราชทาน” นับแต่นั้นมา

จากพระวิสัยทัศน์ ทำให้โขนไทยได้รับการพัฒนาสู่รูปแบบอื่น ๆ อาทิละคร และภาพยนตร์ จนต่อมาเมื่อวันที่ 29 พ.ย. 61 องค์การยูเนสโก (UNESCO) ประกาศขึ้นทะเบียน ‘โขน’ ประเทศไทย ภายใต้ชื่อภาษาอังกฤษว่า ‘Khon, masked dance drama in Thailand’ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ในประเภท ‘รายการตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ’

สำหรับล่าสุดนี้ ปี 2566 มูลนิธิ ฯ จัดแสดงโขนพระราชทานชุดล่าสุดตอน ‘กุมภกรรณทดน้ำ’ เป็นตอนที่กุมภกรรณคิดกลวิธีทำศึก นิมิตกายลงไปใต้น้ำ ทำพิธีทดน้ำ นอนขวางแม่น้ำไว้ เพื่อขัดขวางกองทัพพระราม ทำให้แม่น้ำเหือดแห้ง

การแสดงในครั้งนี้ ใช้นักแสดงรุ่นใหม่ ที่มีใจรักสืบสานศิลปวัฒนธรรมที่ได้รับการรักษาตกทอดมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ และมีการต่อยอดด้วยการประยุกต์เทคนิค แสง สี เสียงสมัยใหม่ เพื่อให้การแสดงโขนมีความตื่นตาตื่นใจยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม

การแสดงจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5 พฤศจิกายน ถึง 5 ธันวาคมนี้ ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย จำหน่ายบัตรแล้ววันนี้ที่ไทยทิกเก็ตเมเจอร์ทุกสาขา บัตรราคา 2,000 บาท 1,800 บาท 1,000 บาท 800 บาท และ 600 บาท

สำนักพระราชวัง เชิญชวนร่วมลงนามถวายพระพร  'เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา' ในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ

เมื่อวานนี้ (5 ธ.ค.66) สำนักพระราชวัง ขอเชิญชวนประชาชนร่วมลงนามถวายพระพร สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ วันที่ 7 ธันวาคม 2566 ผ่านระบบออนไลน์ ที่เว็บไซต์หน่วยราชการในพระองค์ www.royaloffice.th ระหว่างวันที่ 6 - 8 ธันวาคม 2566

‘พระราชาจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก’ ร่วมงานสมโภชน์ พระราชทานพระนามแก่พระราชธิดา 'เจ้าฟ้าหญิงโซนัม ยังเดน วังชุก'

(13 ธ.ค.66) สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก และสมเด็จพระราชินี เจตซุน เปมา วังชุกแห่งภูฏาน พร้อมด้วยพระโอรส เจ้าฟ้าชายจิกมี นัมเกล มกุฎราชกุมาร และเจ้าฟ้าชายอุกเยน เสด็จพระราชดำเนินร่วมงานสมโภชน์ และ พระราชทานพระนามแก่พระราชธิดา เจ้าฟ้าหญิงโซนัม ยังเดน วังชุก ซึ่งทรงประสูติ เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2023

โดยพระนามของ ‘เจ้าฟ้าหญิงโซม ยังเดน วังชุก’ นั้นมีความหมายดีๆ ดังต่อไปนี้ ‘โซนัม’ เป็นชื่อของชาวภูฏานที่แสดงถึงบุญ อายุยืนยาว และโชคลาภ ส่วนคำว่า ‘ยังเดน’ หมายถึงอัญมณีอันล้ำค่า ความเจริญรุ่งเรืองและความเป็นอยู่ที่ดี

สำหรับพิธีดังกล่าวถูกจัดขึ้นที่ป้อมปราการทาชิโชซอง กรุงทิมพู ราชอาณาจักรภูฏาน ในการนี้ยังได้รับเกียรติจากสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก ทรงมาเป็นประธานในพิธีพร้อมด้วย สมเด็จพระบรมราชินีนาก ดรุก กยัลโป และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จร่วมในพิธีอีกด้วย

'ดร.สมเกียรติ' ย้อนอดีต!! 'ในหลวง ร.๑๐' ทรงปฏิเสธวิจารณ์เรื่องบ้านเมือง ยกเป็นบทบาทของรัฐบาล ส่วนพระองค์ขอทำหน้าที่ให้คนไทยมีความสุข

เมื่อไม่นานมานี้ ติ๊กต็อกช่อง ‘Gaegood’ ได้โพสต์คลิป ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล สื่อมวลชนอาวุโส ได้เล่าเรื่องในอดีตเกี่ยวกับ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งที่เป็นมกุฎราชกุมาร ในมุมที่ใครหลายคนอาจจะไม่รู้ โดยระบุว่า…

พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ครั้งที่เป็นมกุฎราชกุมาร ซึ่งทุกคนคงทราบกันดีว่าชาวบ้านต่างนินทาพูดคุยกันเยอะไปหมด…ซึ่งตอนพ.ศ. 2533 ครั้งที่ผมตามเสด็จไปถึงกรุงลอนดอน เพื่อจะทําข่าวที่คิดว่าครั้งนี้แหละประชาชนคนไทยจะได้เห็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารกับบรรดาปัญญาชนอังกฤษ แล้วก็งานของพระองค์…ซึ่งพระองค์จะอยู่ที่นั่นประมาณ 1 ปี พระองค์นั้นทรงรอบรู้และก็เข้าใจ อีกทั้งยังรู้จักคนเยอะแยะไปหมด…พูดง่าย ๆ คือเนื่องจากพระราชภารกิจของพระองค์แม้จะเป็นมกุฎราชกุมารยังไม่ใช่พระเจ้าแผ่นดินก็จะมีโอกาสเดินทาง ซึ่งพระองค์มีทั้งปฏิสัมพันธ์ มี Connection มี Networking กับใคร ๆ ในโลกนี้… 

ซึ่งผมจะกราบบังคมทูลขอสัมภาษณ์เกี่ยวกับสงครามและสันติภาพ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในโลก แต่ใจหายหล่นไปที่ตาตุ่ม เพราะว่าอดสัมภาษณ์…ทำให้คนไทยจะไม่ได้เห็นพระปรีชาสามารถนี้…โดยพระองค์บอกว่าคุณสมเกียรติ ไม่เอาดีกว่า ซึ่งอันนี้ผมพูดเป็นภาษาของผมนะ ผมไม่ได้บันทึกอะไรเสียงอะไรไว้ กล้องก็ยังไม่ได้เดินแต่ตั้งไว้เรียบร้อยแล้ว โดยตั้งใจว่าวันนี้จะคุยเรื่องยูโรเปียน, Common market, อาเซียน และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทุกประเทศในโลกนี้ ว่าพระองค์รู้จักอย่างไร โลกมันมีสงครามจะรักษาและสร้างสันติภาพอย่างไร ซึ่งพระองค์รู้หมดเลย เรียกว่าเป็นอาจารย์สอนนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาฯ หรือธรรมศาสตร์ ซึ่งก็เหมือนกับสมเด็จพระเทพฯ สอนที่จปร. ซึ่งพระองค์ก็บอกว่ามาคิดดูอีกทีนึง ไม่ดีกว่าและขอยกเลิกไป…

โดยพระองค์บอกว่าเราเป็นมกุฎราชกุมารมันไม่มีหน้าที่และไม่ควรที่จะไปพูดอะไรที่เป็นเรื่องบ้านเมืองหรือการเมือง และยิ่งเป็นเรื่องของโลก สงคราม สันติภาพ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นหน้าที่ของรัฐบาลไม่ใช่หน้าที่ของมกุฎราชกุมาร หรือพระเจ้าอยู่หัว…ซึ่งอันนี้ผมอธิบายยาวกว่าที่พระองค์พูด เพื่อให้ทุกคนเข้าใจ และจะได้เข้าใจว่าความผิดหวังของผมมันคือความเข้าใจนั่นเอง…ว่าสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร หรือ ในหลวงรัชกาลที่ 10 ในปัจจุบันของเราทําไมจึงเหมือนราชวงศ์อังกฤษเป๊ะเลย…กับการไม่เรียกร้องและไม่อธิบาย แม้ใครจะบ่นใครจะว่าอย่าง พิธา, ปิยบุตร, ช่อ พรรณิการ์, คนที่มีตําแหน่งทางการเมืองกันและเคยมี หรือประชาชนกลุ่มหนึ่งจะว่าอย่างไร ซึ่งพระองค์รู้แต่ก็ไม่วิจารณ์ ไม่ให้ความเห็น ไม่พูด ไม่บ่น ซึ่งเหมือนอังกฤษเลย จะยังไงเราก็จะทํางานทําหน้าที่นี้ต่อไป 

ดังนั้น อยากให้คนรุ่นใหม่ได้รู้ว่าพระองค์มีหน้าที่ที่จะต้องทําให้ประชาชนมีความสุข ไม่มีหน้าที่ที่จะพูดอะไรที่รัฐบาลเขาทํา แล้วเกิดรัฐบาลเขาไม่เห็นด้วย ก็ต้องกระอักกระอ่วน…

พระองค์เปิดกว้างและผ่านโลกแห่งความทันสมัยแห่งยุคสมัยของพระองค์และของเรา ซึ่งก็ยังอยู่ในโลกของความทันสมัย…ดังนั้น ต้องเข้าใจ ซึ่งตัวผมนั้นเข้าใจตั้งแต่ปี 2535 แล้วว่าพระองค์เก่งในเรื่องที่ชํานาญจริง ๆ ซึ่งผมอยากเอาความเก่งนี้มาให้ประชาชนคนไทยได้รู้ ทั้งนี้ รัชกาลที่ 10 งานที่เป็นหลักที่สุด คือ พระองค์จะใส่ใจในเรื่องโรงพยาบาลสําหรับชาวบ้านต่างจังหวัด ดังนั้น จึงริเริ่มก่อตั้งสร้างโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทุกหนแห่งทุกจังหวัดในประเทศไทยนั่นเอง…

8 มกราคม วันคล้ายวันประสูติ  ‘สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา’

วันนี้ถือเป็นวันสำคัญของปวงชนชาวไทยอีกวันหนึ่ง โดยเป็นวันคล้ายวันประสูติของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ซึ่งประสูติเมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2530 และทรงเจริญพระชนมายุครบ 37 พรรษา

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเป็นพระราชธิดาพระองค์ที่ 2 ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ทรงเป็นพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระเชษฐภคินีและพระอนุชา 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภานเรนทิราเทพยวดี และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร

เมื่อแรกประสูติทรงดำรงพระอิสริยยศ ‘หม่อมเจ้า’ มีพระนามว่า ‘หม่อมเจ้าบุษย์น้ำเพชร มหิดล’ ต่อมาได้รับพระราชทานพระนามใหม่ว่า ‘หม่อมเจ้าจักรกฤษณ์ยาภา มหิดล’ จากนั้นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระราชทานพระนามใหม่ว่า ‘หม่อมเจ้าสิริวัณวรี มหิดล’ ภายหลังพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น ‘พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์’ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2548

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเป็นทั้งนักกีฬาขี่ม้าและอดีตนักแบดมินตันทีมชาติไทย ในวันที่ 21 กรกฎาคม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระยศ ‘พันเอกหญิง’ ในฐานะพระอาจารย์หัวหน้าแผนก โรงเรียนทหารม้า ศูนย์การทหารม้า (อัตราพันเอก)

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระปรีชาสามารถด้านการออกแบบแฟชันและเครื่องประดับ โดดเด่นเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ โดยทรงออกแบบเสื้อผ้าภายใต้แบรนด์ ‘SIRIVANNAVARI’ และ S’Home เสื้อผ้าของสตรีและบุรุษ ได้รับเสียงชื่นชมอย่างเนืองแน่นในวงการแฟชั่นโลก กับการออกแบบเสื้อผ้าชั้นสูงที่มีความประณีต ที่เหล่าผู้มีชื่อเสียงนิยม ทั้งยังมีแบรนด์ต่างๆ อย่าง Sirivannavari maison แบรนด์ของแต่งบ้าน รวมไปถึงแบรนด์ชุดแต่งงาน

นอกจากทรงออกแบบเสื้อผ้าคอลเลกชันต่างๆ แล้ว พระองค์ยังทรงสนับสนุนผ้าไทย ด้วยการนำผ้าไหมมาตัดเย็บเป็นชุดต่างๆ ทั้งนี้ยังทรงออกแบบชุดให้กับ เดมี ลีห์ เนล ปีเตอร์ มิสยูนิเวิร์ส 2017 และโศภิดา กาญจนรินทร์ มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2018 ได้สวมใส่ในการประกวดรอบไทยไนท์ของเวทีนางงามจักรวาลที่จัดประกวดที่ประเทศไทยอีกด้วย ทำให้กระทรวงวัฒนธรรมถวายรางวัลศิลปาธร ประจำปี 2561 ในสาขาศิลปะการออกแบบ (แฟชันและเครื่องประดับ) ด้วยความสนพระทัยด้านแฟชัน พระองค์จึงเสด็จไปทอดพระเนตรงานปารีสแฟชันวีกอยู่เสมอ และได้รับเสียงชื่นชมจากสื่อต่างชาติ อาทิ นิตยสาร Grazia ประเทศอังกฤษ จัดอันดับให้พระองค์ทรงอยู่ในลำดับที่ 1 ของเจ้าหญิงที่มีสไตล์ที่สุดในโลก จนได้รับการขนานนามว่าทรงเป็น ‘เจ้าหญิงแฟชัน’

ทั้งนี้ พระองค์ยังทรงเป็นพระอาจารย์สอนนักเรียนปริญญาเอก ศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ อีกด้วย

‘มท.1’ มอบนโยบาย ‘พ่อเมืองทั่วไทย’  จัดงานพิธีมหามงคลในหลวง ร.10

(5 ก.พ.67) ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ หลักสี่ กทม. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์ก่อนเป็นประธานการประชุมติดตามการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยว่า เนื่องจากปีนี้ถือเป็นปีมหามงคลครบ 6 รอบ พระชนมายุ 72 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ กระทรวงมหาดไทย จึงต้องทำหน้าที่ให้พี่น้องประชาชนทุกคนตื่นตัวและแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ การเรียกผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศทุกคนมาในวันนี้ เพื่อแจ้งให้ทราบว่าต้องเตรียมการว่ากิจกรรมต่างๆ เพื่อเทิดพระเกียรติ ถวายพระเกียรติ และทำกิจกรรมที่เป็นสาธารณกุศล เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลให้กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เพราะเรื่องนี้กระทรวงมหาดไทยถือว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญสูงสุดเป็นภารกิจที่จะต้องทำความเข้าใจกันให้ตรงกัน เพื่อดำเนินการให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติ

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันก็จะติดตามการดำเนินนโยบายที่ตน และรมช.มหาดไทย ที่ได้มอบนโยบายไว้กับทางผู้บริหารกระทรวงฯ และผู้ว่าราชการจังหวัดว่านโยบายทั้ง 11 ข้อที่ให้ไปมีความคืบหน้าอย่างไร บรรลุผลสัมฤทธิ์หรือไม่ และต้องการการสนับสนุนจากฝ่ายบริหารอย่างไรบ้าง โดยจะพบกันระหว่างผู้บริหารของกระทรวงมหาดไทยทั้งฝ่ายการเมือง ฝ่ายข้าราชการประจำ และผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็น พร้อมหารือถึงปัญหา และการสนับสนุนต่างๆ ที่ทางกระทรวงฯ จะทำได้

ส่วนความคืบหน้าการติดตามนโยบายเรื่องฝุ่น PM 2.5 นั้น ความเสี่ยงของฝุ่น PM 2.5 กระทรวงมหาดไทยได้เพิ่มเป็น 11 นโยบาย คือ นโยบายอากาศสะอาด นำความคิดเห็นจากผู้ว่าราชการจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ที่ประสบเหตุ ว่ามีมาตรการควบคุมป้องกันและช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบเรื่องฝุ่นอย่างไรบ้าง 

‘กรมสมเด็จพระเทพฯ’ ทรงพระราชทานเงินเดือน 26 ล้านบาท ตลอดการเป็นทูลกระหม่อมอาจารย์ 35 ปี แก่ ‘รร.นายร้อย จปร.’

ครั้งหนึ่ง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงพระราชทานเงินเดือน 26 ล้านบาทของพระองค์ ตลอดเวลา 35 ปีที่เป็นทูลกระหม่อมอาจารย์ พร้อมดอกเบี้ย ให้กับโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.) เหล่าศิษย์ จปร.ต่างน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

 

โดย ผู้พันเบิร์ด พันเอกวันชนะ สวัสดี ได้เปิดเผยกับ วาสนา นาน่วม ผู้สื่อข่าวสายทหาร ว่า ได้รับทราบจาก พลโทสิทธิพล ชินสำราญ ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ว่า เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2560 นักเรียนนายร้อยชั้นปีที่ 5 ได้มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชมบ้านสวนปทุม หลายท่านอาจสงสัยว่าเป็นสถานที่อะไร สถานที่นี้ คือ ‘พระตำหนักของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ’ ซึ่งใช้เป็นที่เก็บข้าวของเครื่องใช้ ของที่ระลึกที่ได้รับมาจากสถานที่ต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ หรือแม้กระทั่งของที่ทรงซื้อมาโดยพระองค์เอง

 

ซึ่งในวันนั้น พระองค์จะเป็นผู้บรรยายเรื่องราว ประสบการณ์ในที่ต่างๆ ผ่านข้าวของแต่ละชิ้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นความรู้ที่น่าสนใจ และน่าตื่นตาตื่นใจเป็นอย่างมาก

 

หลังเสร็จสิ้นการบรรยายและเดินชมของในทุกห้องแล้ว พลโท สิทธิพล จึงได้มีโอกาสสอบถามข้าราชบริพารว่า ปกติแล้วมีคณะอื่นเข้ามาที่บ้านสวนปทุมแห่งนี้หรือไม่ ข้าราชบริพารตอบว่า มีกลุ่มนักเรียนนายร้อย ซึ่งนับเป็นโชคดีมากเพราะไม่มีคณะอื่นเข้ามาเลย นอกจากนักเรียนนายร้อยเท่านั้น

 

แต่ยังมีเรื่องที่ผู้บัญชาการเล่าให้ฟังอีกเรื่องหนึ่ง มีความสำคัญและซาบซึ้งกินใจเช่นกัน นั่นก็คือในวันนั้นพระองค์ได้พระราชทานเช็คเป็นจำนวน 19,201,788.48 บาท เงินจำนวนนี้ แท้จริงแล้วคือ เงินเดือนของพระองค์เอง

 

พลโทสิทธิพล เล่าให้ฟังต่อว่า ในปี 2558 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ได้พระราชทานเงินเดือนทั้งหมดของพระองค์ ที่รับราชการมาตลอด 35 ปี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 26 ล้านบาท โดยในปีนั้นได้พระราชทานมาแล้ว 7 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย ส่วนที่เหลือพระองค์บอกว่ายังอยู่ในธนาคารอีก 19,000,000 บาท และจะครบกำหนดเบิกได้ในปี 2560

 

กระทั่งเมื่อปี 2560 มาถึง พระองค์ได้ทรงพระราชทานส่วนที่เหลือพร้อมดอกเบี้ยทั้งหมด ให้กับ ‘กองทุนพัฒนาโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า’ รวมทั้งหมด 26,894,502.19 บาท

 

โดยทรงพระราชทานเช็คให้ ‘กองทุนพัฒนาโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า’ มาแล้ว 7,431,194.22 บาท เมื่อ 29 กย. 2558

 

จากนั้น เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2560 ทรงพระราชทานเช็คเงินจำนวน 19,201,788.48  บาท ลงวันที่ 26 มิ.ย. 2560 และให้ดอกเบี้ย ตั้งแต่ 13 ต.ค. 2558–13 ก.ค. 2560 อีกจำนวน 271,519.49 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 26,894,502.19 บาท

 

ซึ่งเอาไว้สำหรับพัฒนาการศึกษาของนักเรียนนายร้อย นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อเหล่านักเรียนนายร้อย ทั้งศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันอย่างหาที่สุดมิได้

 

แต่อันที่จริงแล้ว คุณประโยชน์ทั้งหมดนี้ ก็ไม่ได้ก่อเกิดกับเฉพาะนักเรียนนายร้อยเท่านั้น เพราะในท้ายที่สุดแล้วนักเรียนนายร้อยเหล่านี้ ก็จะออกมารับใช้ประเทศชาติในงานด้านความมั่นคง นำมาซึ่งความผาสุกของประชาชนคนไทยทั้งชาติ

 

ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า พระมหากรุณาธิคุณในครั้งนี้ จึงมีต่อปวงชนชาวไทยทุกคน และประเทศชาติไทยอย่างแท้จริง

 

‘ลุงซาเล้ง’ เล่าความประทับใจ ‘กรมสมเด็จพระเทพฯ’ ทรงรถซาเล้งพ่วงข้าง เผย สุดแสนปิติ ที่ครั้งหนึ่งในชีวิตเคยได้ถวายงานเป็นพลขับให้พระองค์ท่าน

(17 ก.พ. 67) เพจเฟซบุ๊ก ‘มูลนิธิชัยพัฒนา’ ได้โพสต์ภาพเก่าเล่าเรื่อง เป็นภาพที่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรถซาเล้งพ่วงข้าง คงเป็นภาพที่อยู่ในความประทับใจของใครต่อใครหลายคน

… แต่ใครจะรู้ว่าภาพดังกล่าวเกิดขึ้นจากเมื่อครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรและทรงติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิของมูลนิธิชัยพัฒนา ณ โรงเรียนบ้านเกาะสาหร่ายชัยพัฒนา ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมือง จังหวัดสตูล เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2552

ด้วยภูมิศาสตร์ของโรงเรียนตั้งอยู่บนเกาะ การเดินทางซึ่งเป็นวิถีชีวิตของคนบนเกาะสาหร่ายจึงใช้รถมอเตอร์ไซค์และรถซาเล้งพ่วงข้างในการเดินทาง เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎร ได้ประทับรถซาเล้งพ่วงข้างเฉกเช่นสามัญชนทั่วไป โดยมีคนท้องถิ่นนำรถของตนน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นรถพระที่นั่งขณะทรงงานบนเกาะ พร้อมทั้งถวายงานเป็นพลขับเพราะคุ้นชินและชำนาญพื้นที่

นายนาซาด หมัดตุกัง หรือ ‘คุณลุงขับซาเล้ง’ ที่เห็นในภาพ เคยถ่ายทอดความประทับใจที่ได้ถวายงานในวันนั้น ว่า…

“ขณะร่วมทาง พระองค์ได้ทรงสอบถามทุกข์สุขของชาวบ้าน พูดคุยอย่างเป็นกันเอง… ส่วนรถซาเล้ง ชาวบ้านละแวกนั้นจะเรียก ‘รถพระเทพฯ’ ...และหากถามถึงความรู้สึก ก็ตื่นเต้นมาก บอกไม่ถูก ผมเป็นมุสลิม เคยไปอยู่มาเลย์ แต่ก็กลับมาอยู่เมืองไทย เมืองไทยมีพระเจ้าแผ่นดิน ไม่มีปัญหา คนเกาะอยู่กันสุขสบาย… ที่นี่เจริญขึ้นมาก เจ้าเหยียบเมืองตรงไหนก็เจริญ”

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจากเฟซบุ๊ก : มูลนิธิชัยพัฒนา
https://www.facebook.com/chaipattanafoundation/posts/801975968639531?ref=embed_post

‘อดีตบิ๊กข่าวกรอง’ ชี้!! คนสันหลังหวะออกมาดิ้นพล่าน หลังปวงชนชาวไทย พร้อมใจใส่เสื้อสีม่วงทั้งแผ่นดิน

เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 67 นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘Nantiwat Samart’ ระบุว่า…

“สะดุ้งเป็นแถวๆ

ปวงชนชาวไทยที่รักพระเทพฯ สวมเสื้อสีม่วงทั้งแผ่นดิน ทำเอาคนสันหลังหวะดิ้น ออกมากระแนะกระแหน

ยืนยันว่า การกดแตรไล่รถขบวนเสด็จฯ เป็นการคุกคามหาเรื่อง ไม่ใช่เสรีภาพหรือสิทธิเท่าเทียม
ขบวนเสด็จฯ ถือเป็น VVIP ไม่ใช่แค่รถนำขบวนทั่วไป ตำรวจต้องถวายอารักขาให้ปลอดภัย จากการก่อการร้าย การประทุษร้าย

พวกเดียวกันหาทางช่วย ร้องเรียกหาหลักฐานความผิด เรื่องเล็กอย่าทำให้เป็นเรื่องใหญ่ นี่คือเกมเดินสามขา เกมในสภาฯ ประสานนอกสภาฯ ด้วยความช่วยเหลือจากเอ็นจีโอ และทูตต่างชาติ ประเทศไหนไม่บอก

ยอมให้ฝรั่งปั่นหัว เพื่อประโยชน์ฝรั่ง ตกเป็นขี้ข้าต่างชาติ รับเงินต่างชาติ ความขัดแย้งในชาติที่มีฝรั่งชักใย สุดท้าย ไทยจะเป็นยูเครน ใครจะได้ประโยชน์?

คนไทยเป็นคนใจอ่อน ไม่ชอบความรุนแรง ไม่อยากให้คนในชาติเผชิญหน้ากัน ทั้งๆ ที่อีกฝ่ายเต้นก๋าๆ ท้าต่อย ท้าตี คนไทยทำในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ต้องกลัวการเผชิญหน้า”

27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 ’ในหลวง ร.10‘ พระราชทานถุงยังชีพแก่ราษฎร 35 ครอบครัว หลังประสบอัคคีภัย ณ ชุมชนบ้านครัวตะวันตก

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พลเรือเอก พงษ์เทพ หนูเทพ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เชิญถุงพระราชทาน (เครื่องครัว เครื่องนอน) ไปมอบแก่ราษฎรที่ประสบอัคคีภัยบริเวณชุมชนบ้านครัวตะวันตก ซึ่งได้เกิดเหตุอัคคีภัยเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 เวลา 00.27 น. ที่ผ่านมา ทำให้บ้านเรือนราษฎรได้รับความเสียหาย 8 หลังคาเรือน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 35 ครอบครัว ณ สำนักงานเขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น

ในโอกาสนี้ พลเรือเอก พงษ์เทพ หนูเทพ องคมนตรี ได้เชิญพระราชกระแสความห่วงใยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปกล่าวกับราษฎรให้ได้รับทราบ ต่างปลื้มปีติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top