Wednesday, 15 May 2024
ทรงพระเจริญ

28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ’ในหลวง ร.10‘ ทรงมีพระราชดำริให้ ‘จัดฝึกอบรมการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน’ หวังส่งมอบความรู้เบื้องต้นแก่ ‘ข้าราชการ-ประชาชน-จิตอาสา’

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยสุขภาพและพลานามัยของประชาชน จึงทรงมีพระราชดำริให้หน่วยราชการในพระองค์ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและองค์กรภาคเอกชน จัดฝึกอบรมการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน (Basic Life Support) แก่ประชาชนทั่วไป ที่โรงละคร สำนักพระราชวัง สนามเสือป่า โดยมีพลอากาศโท ภักดี แสง-ชูโต ผู้ช่วยราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รับมอบอุปกรณ์ฝึกสอนการช่วยเหลือชีวิตขั้นพื้นฐาน จำนวน 220 ชุด ซึ่งประกอบด้วย

- หุ่นจำลองช่วยฟื้นคืนชีพผู้ใหญ่ - แบบครึ่งตัวมีไฟแสดง จำนวน 100 ชุด
- หุ่นจำลองเด็ก จำนวน 100 ชุด
- ชุดฝึกสอนการสำลัก Anti Choking ( Choking Training Vest) จำนวน 20 ชุด

จากบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) โดยแพทย์หญิง ปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ เป็นผู้ส่งมอบ ซึ่งอุปกรณ์ฝึกสอนฯ ดังกล่าว บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล สำหรับพระราชทานไปใช้ในกิจกรรมการฝึกอบรมการช่วยเหลือชีวิตขั้นพื้นฐานเบื้องต้นให้กับ ข้าราชการ ประชาชน และจิตอาสา โดยมีหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนการฝึกอบรม อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กองบัญชาการกองทัพไทย บริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์(CP) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นต้น

'ในหลวงรัชกาลที่ 10' พระราชทานภาพวาดฝีพระหัตถ์ พร้อมคติธรรม ธรรมนาวา 'วัง' หลักปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์

(21 มี.ค. 67) เว็บไซต์สำนักพระราชวัง โดยหน่วยราชการในพระองค์ เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทาน ‘หลักปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์’ ฉบับธรรมนาวา ‘วัง’ แก่พสกนิกรไทย

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชอนุสรณ์คำนึงถึงพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่ง แห่งองค์พระบรมศาสดาสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในพระราชฐานะพุทธมามกะและองค์อัครศาสนูปถัมภก ได้ทรงบำเพ็ญเพียรพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ เพื่อทำนุบำรุง เจือจุน ให้พระพุทธศาสนา อันมีพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์เป็นพระศาสดา ได้ธำรงคงอยู่ให้พุทธบริษัททั้งหลายได้รับประโยชน์ โดยการศึกษา (ปริยัติ) น้อมนำพระธรรมคำสอนลงมือทำ (ปฏิบัติ) เพื่อเข้าถึง (ปฏิเวธ) ซึ่งสาระแก่นแท้ของพระศาสนา คือ ความสิ้นทุกข์

จึงได้ทรงเล็งเห็นความสำคัญในการพระราชทานเผยแพร่หลักธรรมอันทรงคุณค่าที่พุทธศาสนิกชน ตลอดจนประชาชนพลเมืองชาติ ทุกหมู่เหล่า ให้ได้ศึกษาหลักการวิธีปฏิบัติ อันได้ชื่อว่าเป็นการปฏิบัติตามพระธรรม คำสอน เพื่อเข้าถึงความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ที่ชื่อว่า ‘พุทธะ’ คือสัจธรรมที่เป็นความรู้ อย่างผู้รู้แจ้งด้วยปัญญา ผ่านหลักสัจธรรมความเป็นจริงตามธรรมชาติ ที่พระพุทธองค์นำมาบอกสอน ที่ชื่อว่า ‘ธรรมะ’ ด้วยการเป็นผู้น้อมนำประพฤติปฏิบัติจนสามารถรู้ตาม เห็นตาม ที่ชื่อว่า ‘สังฆะ’ อันพุทธะ ธรรมะ สังฆะนี้เป็นสรณะที่พึงยึดเป็นพลังทางใจ พลังทางสติปัญญา อย่างแท้จริง ตามแนวทางการปฏิบัติธรรมนาวาของ พระจารุวณฺโณ ภิกฺขุ (พระอาจารย์ต้น)

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเป็นธรรมทาน เพื่อประโยชน์สุข อันพึงจะได้รับจากพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริงผ่านหลักการปฏิบัติอย่างถูกต้องตรงตามพุทธบัญญัติ แก่พุทธบริษัท และประชาชนทุกหมู่เหล่า ถวายเป็น พุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา มาตาปิตุบูชา อาจริยบูชา ถวายเป็นพระราชกุศลแด่ พระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า ทุกๆ พระองค์

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ร่วมงานครบรอบ 107 ปีแห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เมื่อวันที่ 26 มี.ค.67 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ร่วมงานครบรอบ 107 ปีแห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนี้ ในช่วงหนึ่งนั้นพระองค์ทรงพระราชทานพระราชดำรัสว่า…

"ขอขอบคุณทุกท่าน ที่นอกจากจะมาร่วมงานในวันนี้แล้ว ยังมาร่วมอวยพรวันเกิด เรื่องสุขภาพสำคัญที่สุด ซึ่งเป็นไปตามวัย ขณะนี้ยังเดินไหว แต่เดินเร็วไม่ค่อยดี หมอบอกห้ามล้ม ต้องค่อย ๆ เดิน ทุกคนเป็นกำลังใจให้พยายามรักษาสุขภาพให้ดี เวลานี้มีกิจการงานต่าง ๆ มากขึ้น แต่ความจำไม่ค่อยดี ต้องบันทึกไว้เข้าใจช้า แม้ถึงอายุจะเยอะกันแล้ว แต่ต้องพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ รวมทั้งได้ทำสิ่งที่มีประโยชน์ ช่วยเหลือผู้อื่นและตนเอง มีอะไรก็ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน"

๒ เมษายน วันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2498 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต โดยเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์ที่ 3 ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ ทรงเริ่มการศึกษาที่โรงเรียนจิตรลดา ก่อนจะทรงเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาทรงสำเร็จการศึกษาและได้รับปริญญามหาบัณฑิตจากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นทรงเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก ณ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และสำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2529

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระปรีชาสามารถในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านอักษรศาสตร์และดนตรีไทย พระองค์ทรงอนุรักษ์ ส่งเสริม และให้การอุปถัมภ์ในด้านศิลปวัฒนธรรมของประเทศ จนได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายพระสมัญญาว่า ‘เอกอัครราชูปถัมภกมรดกวัฒนธรรมไทย’ และ ‘วิศิษฏศิลปิน’ ซึ่งต่อมา คณะรัฐมนตรียังมีมติให้วันที่ 2 เมษายน ของทุกปี เป็น ‘วันอนุรักษ์มรดกของชาติ’ เพื่อเทิดพระเกียรติที่พระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในด้านการอนุรักษ์มรดกของชาติในสาขาต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงประกอบพระราชกรณียกิจในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการศึกษา การพัฒนาสังคม โดยทรงมีโครงการในพระราชดำริส่วนพระองค์หลายหลากโครงการ อาทิ โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน เริ่มต้นขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2523 ที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ในจังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ก่อนจะขยายออกไปยัง 44 จังหวัดในพื้นที่ทุรกันดาร

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันเปี่ยมล้น ในวาระวันคล้ายวันพระราชสมภพ ประชาชนชาวไทยจึงขอน้อมถวายพระพร ขอทรงมีพลานามัยแข็งแรงยิ่งยืนนาน ทรงพระเจริญ

5 เมษายน วันคล้ายวันประสูติ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี

ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ประสูติแต่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2494 เวลา 23.28 น. ณ โรงพยาบาลมองชัวซีส์ เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และได้เสด็จนิวัตพระนคร แล้วประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต และเมื่อถึงงานพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่แล้ว พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระอิสริยยศเมื่อประสูติว่า ‘สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี’ โดยพระนามของพระองค์มาจากพระนามและนามของพระประยูรญาติหลายพระองค์ อันได้แก่

- สร้อยพระนาม ‘สิริ’ มาจากพระนามาภิไธยของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
- สร้อยพระนาม ‘วัฒนา’ มาจากพระนามาภิไธยเดิมของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า คือ สว่างวัฒนา
- พระนาม ‘อุบลรัตน’ มีความหมายว่า บัวแก้ว มาจากนามของหม่อมหลวงบัว กิติยากร

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตรัสเรียกว่า ‘เป้’ อันเป็นคำลดรูปของคำว่า ลาปูเป (ฝรั่งเศส: La Poupée ตุ๊กตา) ส่วนพระราชวงศ์และบุคคลอื่น ๆ จะเรียกพระองค์ว่า ‘ทูลกระหม่อมฟ้าหญิงใหญ่’ ส่วนพระอนุชาและพระขนิษฐาจะเรียกพระองค์ว่า ‘พี่หญิง’

พระองค์ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจนานัปการในด้านการรณรงค์ป้องกัน และแก้ไขปัญหายาเสพติดจนเป็นที่ประจักษ์ ทรงให้การช่วยเหลือราษฎร และให้โอกาสผู้พิการ เยาวชน ตลอดจนประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติต่า งๆ อีกทั้งยังทรงแสดงภาพยนตร์ตามบทพระนิพนธ์หลายเรื่อง รวมทั้งทรงเป็นผู้ดำเนินรายการที่เป็นประโยชน์แก่สังคมด้วย

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันเปี่ยมล้น ในวาระวันคล้ายวันประสูติ ประชาชนชาวไทยจึงขอน้อมถวายพระพร ขอทรงมีพลานามัยแข็งแรงยิ่งยืนนาน ทรงพระเจริญ

‘เด็กหญิงชาวสงขลา’ ก้มกราบพระบาท ‘กรมสมเด็จพระเทพฯ’ พร้อมเล่าขณะเข้าเฝ้า ครั้งหนึ่งได้เป็นคนไข้ในพระราชานุเคราะห์

(4 เม.ย. 67) เพจเฟซบุ๊ก ‘ธรรมศาสตร์พิทักษ์ธรรม’ ได้โพสต์รูปภาพพร้อมข้อความเกี่ยวกับ ‘น้อง นร. สุดยอดเยาวชน’ ควรดูไว้เป็นแบบอย่างที่ควรทำตาม ระบุว่า…

“#ซาบซึ้ง! ‘น้อง นร. สุดยอดเยาวชน’ ควรดูไว้เป็นแบบอย่าง ที่ควรทำตาม

...วันพุธ ที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปทรงเปิด ‘การประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ ๔๒’ พร้อมทั้งทรงฟัง ‘ปาฐกถาพิเศษของนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล’ ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ลาดพร้าว

...หลังจากทรงฟังบรรยายเสร็จแล้ว ก็จะมี ‘นิทรรศการโครงงานวิทยาศาสตร์’ ที่ ‘นักเรียนระดับชั้นมัธยมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ’ มานำเสนอผลงานให้ทรงทอดพระเนตร

...ซึ่ง ‘บูธนิทรรศการของโรงเรียนสทิงพระวิทยา จ.สงขลา’ น้องนักเรียนผู้หญิงชื่อบุปผา ได้ถวายรายงานจนจบ ต่อจากนั้นได้หันไปหยิบ ‘เอกสารฉบับหนึ่ง’ แล้วกราบบังคมทูล ‘สมเด็จพระเทพรัตนฯ’ ว่า ขอพระราชทานทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ‘เอกสารใบส่งตัวคนไข้’ พร้อมทั้งลงไปกราบพระบาท แล้วเล่าถวายว่า "เธอคือเด็กผู้หญิง ที่ถูกน้ำมันในตะเกียงไฟลวกหน้าและลำตัวตั้งแต่ อายุ ๖ เดือน"

...ตอนอายุได้ ๒ ขวบ ‘สมเด็จพระเทพฯ’ ได้เสด็จฯ ไปจังหวัดสงขลา แล้ว ‘แม่ของน้องบุปผา’ ได้เข้าเฝ้าฯ รับเสด็จ และขอพระราชทานความช่วยเหลือที่หน่วยแพทย์

...ซึ่งท่านได้ ‘ทรงรับเด็กหญิงคนนี้เป็นคนไข้ในพระราชานุเคราะห์’ เมื่อราว ๆ ๑๖ ปีก่อน ทำให้เธอได้รับ ‘การรักษาจนอาการดีขึ้น’ ถึงแม้จะมี ‘แผลเป็นบนใบหน้า’ โดนเพื่อนล้อต่าง ๆ นานา เธอก็ตั้งใจเรียนโดยไม่ย่อท้อ เพื่อวันหนึ่งจะมีโอกาส ‘ได้เข้าเฝ้าฯ กราบพระบาทสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่แม่เธอเคยสอนไว้’

...ซึ่งวันนี้ เธอทำสำเร็จแล้ว! น้องบอกกับพระองค์ท่านว่าตั้งใจเรียน ‘ได้ที่หนึ่ง’ มาตลอด แล้วอยากตอบแทนสังคมด้วยการเป็น ‘คุณครู’ ตอนนี้ ‘สอบตรงมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์’

...ท่านรับสั่งว่า "ขอให้ตั้งใจ! ถ้าสอบได้! จะพระราชทานทุนให้เรียนจนจบ" โห!! น้องน้ำตาท่วมก้มลงไปกราบอีกรอบ ทุกคนรอบข้างนี่! น้ำตาไหลกันหมด…”

Otto Manu

'ในหลวง ร.๑๐' ทรงรับโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ ๙ แห่ง เป็นโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ดูแลเด็กยากลำบาก สถานภาพด้อยกว่าเด็กปกติทั่วไป ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

เมื่อไม่นานมานี้ เพจเฟซบุ๊กชื่อ ‘พระลาน’ ได้โพสต์ข้อความพร้อมระบุว่า… “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ ๙ แห่ง เป็นโรงเรียนราชประชานุเคราะห์

เมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๖๖ ได้มีประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การเปลี่ยนชื่อโรงเรียน ซึ่งสืบเนื่องมาจากการที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยให้ทรงรับโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ จำนวน ๙ แห่ง อยู่ในความดูแลของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมตราสัญลักษณ์โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยพระราชทานตามที่ขอพระมหากรุณา ดังนี้

๑. ทรงพระราชทานรับโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ จำนวน ๙ แห่ง เป็นโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ หมายเลข ๕๘-๖๖ ประกอบด้วย

๑) โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์บางกรวย เป็น โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๕๘ จังหวัดนนทบุรี
๒) โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์แม่ฮ่องสอน เป็น โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๕๙ จังหวัดแม่ฮ่องสอน
๓) โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์เชียงใหม่ เป็น โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๖๐ จังหวัดเชียงใหม่
๔) โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์เชียงดาว เป็น โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๖๑ จังหวัดเชียงใหม่
๕) โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์แม่จัน เป็น โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๖๒ จังหวัดเชียงราย
๖) โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ธวัชบุรี เป็น โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๖๓ จังหวัดร้อยเอ็ด
๗) โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์สุราษฎร์ธานี เป็น โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๖๔ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
๘) โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์พัทลุง เป็น โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๖๕ จังหวัดพัทลุง
๙) โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์นราธิวาส เป็น โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๖๖ จังหวัดนราธิวาส

๒. ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตเปลี่ยนตราสัญลักษณ์ประจำโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ทุกแห่ง 

‘โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์’ ทั้ง ๙ แห่ง ที่คัดเลือกมานี้เป็นโรงเรียนที่ดูแลเด็กที่อยู่ในสภาวะยากลำบาก มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ด้อยกว่าเด็กปกติทั่วไป จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษ เพื่อให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนชื่อโรงเรียนและอยู่ในมูลนิธิฯ จะทำให้ผู้เรียนได้รับการสนับสนุนทุนการศึกษา ได้รับโอกาสอย่างทัดเทียม มีประสิทธิภาพทั้งวิชาการและทักษะอาชีพ เช่น เกษตรกรรม ทำอาหาร ฯลฯ มากยิ่งขึ้น รวมถึงส่งเสริมความสามารถด้านดนตรี ศิลปะ และกีฬา ปลูกฝังให้นักเรียนมีจิตสำนึกในความเป็นไทย พัฒนาโรงเรียนให้ก้าวไปสู่การเป็นต้นแบบโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ อันคงไว้ซึ่งความรักและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ และสร้างความภาคภูมิใจให้กับคณะครู บุคลากร และนักเรียน ซึ่งจะช่วยให้โรงเรียนและชุมชนดีขึ้น”

28 เมษายน พ.ศ. 2493 วันคล้ายวันราชาภิเษกสมรส ’ในหลวง ร.9 - สมเด็จพระราชชนนีพันปีหลวง‘ นับเป็นครั้งแรกของพระมหากษัตริย์ไทย ที่จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย

เมื่อวันที่ 28 เมษายน เป็นวันคล้ายวันราชาภิเษกสมรส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง นับเป็นอีกวันหนึ่ง ที่สำคัญยิ่งที่ทั้งสองพระองค์ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ณ วังสระปทุม เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493 อันเป็นครั้งแรกของพระมหากษัตริย์ไทยแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ที่ทรงจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย

ย้อนหลังไปเมื่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ที่เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ จากนั้นพระองค์ได้เสด็จไปศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ระหว่างที่ประทับอยู่เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้ทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ ได้รับบาดเจ็บที่พระเนตร เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2491 ทรงได้รับการถวายการรักษาที่โรงพยาบาลในเมืองโลซานน์ โดยมีหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ที่ทรงพบก่อนหน้านั้นถวายการพยาบาลอยู่ด้วย

ต่อมาได้ทรงหมั้นกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ธิดาในพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ (ขณะนั้นคือ พันเอก หม่อมเจ้านักขัตรมงคล เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงลอนดอน) กับ หม่อมหลวงบัว กิติยากร (สนิทวงศ์) เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 ณ เมืองโลซานน์

และเมื่อเสด็จพระราชดำเนินนิวัติพระนคร ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสในวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493 ณ พระตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ในวังสระปทุม อีกทั้งยังทรงให้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทยอีกด้วย ในฐานะที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย

พระองค์ทรงลงพระปรมาภิไธยในสมุดทะเบียนสมรสเป็นพระองค์แรก และหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ได้ลงนามในสมุดเป็นบุคคลที่สองในฐานะคู่สมรส ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ขณะนั้นเจ้าสาวยังมีอายุเพียง 17 ปีเศษ ยังไม่บรรลุนิติภาวะ จึงต้องได้รับความยินยอมจากบิดา มารดา หรือผู้ปกครองก่อนตามกฎหมาย ดังนั้นหม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร พระบิดาของเจ้าสาวจึงต้องลงพระนาม แสดงความยินยอมและรับรู้ในการจดทะเบียนสมรสครั้งนี้ด้วย

ต่อมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้อาลักษณ์อ่านประกาศสถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ พระอัครมเหสี เป็นสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีบรมราชวงศ์แก่สมเด็จพระราชินีในโอกาสนี้ด้วย

นอกจากนี้ในงานพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ผู้เข้าร่วมพิธีจะได้รับพระราชทานของที่ระลึก คือ หีบเงินเล็ก ซึ่งบนฝาหีบประดับด้วยอักษรพระบรมนามาภิไธย และพระนามาภิไธย

ทั้งนี้ นับแต่นั้นเป็นต้นมา พระราชปณิธานและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่มีต่ออาณาประชาราษฎร์ ก็ได้ถ่ายทอดมายังพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และทรงงานร่วมกันต่อเนื่องมามิได้ขาด

29 เมษายน วันคล้ายวันประสูติ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร ประสูติเมื่อวันศุกร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2548 เวลา 18.35 น. ณ โรงพยาบาลศิริราช เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่ท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ สุวะดี ขณะยังเป็นพระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระองค์มีพระเชษฐภคินีต่างพระมารดา 2 พระองค์ คือ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา

คณะแพทย์ถวายพระประสูติโดยการผ่าตัด เมื่อแรกประสูติ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติทรงมีน้ำหนัก 2,680 กรัม ความยาวพระองค์ 47 เซนติเมตร รอบพระเศียร 31 เซนติเมตร ลืมพระเนตรเวลา 19.00 น. มีพระพลานามัยสมบูรณ์ แข็งแรง พระเนตรโต พระนาสิกโด่ง

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชหัตถเลขาขนานพระนามว่า ‘พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ’ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2548 และพระราชทานเสมาอักษรพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร.ทองคำ ส่วนพระนามของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชตินั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระมหากรุณาธิคุณอธิบายพระนามของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ ว่า ‘ผู้ทำประทีปคือปัญญาให้สว่างกระจ่างแจ้ง, ผู้ทำเกาะคือที่พึ่งให้รุ่งเรืองโชติช่วง’

ต่อมาเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เขียนพระนามของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ เป็นภาษาอังกฤษว่า ‘His Royal Highness Prince Dipangkorn Rasmijoti’

5 พฤษภาคม วันคล้ายวันประสูติ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ หรือพระนามลำลองว่าพระองค์ติ๊ด ทรงประสูติเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2527 ทรงเป็นพระธิดาองค์เล็กในสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี มีพระเชษฐภคินี 1 พระองค์ คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ.2527 ได้มีการพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ ณ พระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ หมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ตามโบราณราชประเพณี โดยพระองค์ทรงเป็นพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทั้งทรงเป็นพระภาคิไนยในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

เมื่อครั้งประสูติ พระองค์มีฐานันดรศักดิ์เป็น พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้า เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระโอรสพระธิดาในสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ให้ดำรงฐานันดรศักดิ์เป็น พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้า ทุกพระองค์

ต่อมาในรัชสมัย รัชกาลที่ 10 วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์ อ่านประกาศกระแสพระบรมราชโองการ เฉลิมพระนาม พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ เป็น ‘พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ’ พระราชทานน้ำพระมหาสังข์ใบมะตูม ทรงเจิมแล้วพระราชทานพระสุพรรณบัฏ เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ฝ่ายใน ชั้นปฐมจุลจอมเกล้า และเหรียญรัตนาภรณ์ ร.10 ชั้นที่ 1

พระองค์ทรงเข้ารับการศึกษาระดับอนุบาลที่โรงเรียนจิตรลดา เมื่อปี พ.ศ. 2530 จากนั้นประทับ ณ รัฐแมริแลนด์ สหรัฐอเมริกา และทรงเข้าศึกษาที่สถาบันศิลปะวอชิงตัน (The Art Institute of Washington) จนสำเร็จการศึกษา ต่อมาทรงย้ายไปศึกษาต่อด้านแฟชั่นดีไซน์ในสถาบันศิลปะแคลิฟอร์เนีย (The Art Institute of California) ด้วยสนพระทัยด้านกราฟิกดีไซน์และแอนิเมชั่น และประทับอยู่ลำพังพระองค์ในอพาร์ตเมนต์ใกล้สถาบันดังกล่าว

ต่อมาในปี 2552 ได้ทรงโอนย้ายหน่วยกิตทั้งหมด เพื่อมาทรงศึกษาต่อในสาขาหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งใช้เวลาเพียง 4 เทอม ประมาณ 1 ปีครึ่งเท่านั้นก็สามารถสำเร็จการศึกษาด้านการออกแบบนิเทศศิลป์ตามที่ตั้งพระทัยไว้

ทรงสำเร็จการศึกษาในปี 2553 และทรงเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรในปี 2554 จาก ‘สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี’ ณ อาคารชุมพรเขตอุดมศักดิ์ หอประชุมกองทัพเรือ

เมื่อสำเร็จการศึกษา พระองค์ทรงนำความรู้มาออกแบบผลิตภัณฑ์ในโครงการสวนจิตรลดา โดยทรงเลือกทำการรีแบรนดิ้งผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของแบรนด์จิตรลดา เพื่อให้ดูร่วมสมัย และเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้น ทรงลงมือปรับโลโก้ใหม่ให้ดูทันสมัยแต่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ความเป็นไทย และคงความเป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติของจิตรลดาไว้อย่างเหนียวแน่น

พร้อมกันนี้ พระองค์ได้ทรงออกแบบแพคเกจจิ้งสินค้าของจิตรลดาใหม่ มากกว่า 20 ไลน์ เพื่อสร้างความสดใหม่และน่าสนใจให้กับแบรนด์ ตลอดจนออกแบบลายเสื้อฝีพระหัตถ์ ‘ทุ่งภูเขาทอง’ เพื่อสมทบทุนบูรณะอุโบสถวัดภูเขาทอง และออกแบบลายเสื้อและถุงผ้า ‘ช้างนพสุบรรณ’ เพื่อนำทุนไปบูรณะวัดวัง อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา ที่เสียหายจากอุทกภัย เมื่อปี พ.ศ. 2554

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ ทรงประกอบพระกรณียกิจเกี่ยวกับศิลปะ, พระพุทธศาสนา และโครงการเกษตรตัวอย่างในพระดำริที่จังหวัดสุรินทร์ น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาปรับใช้ในโครงการเกษตรส่วนพระองค์

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ ทรงสนพระทัยด้านกราฟิกดีไซน์และแอนิเมชั่นเป็นทุนเดิม รวมถึงโปรดการออกแบบโบรชัวร์และโปสเตอร์ ผลงานศิลปนิพนธ์หลังสำเร็จการศึกษานิเทศศิลป์คือ ‘โครงการปรับรูปแบบบรรจุภัณฑ์ทางการเกษตรโครงการสวนจิตรลดา’ ที่ปรับเปลี่ยนและออกแบบบรรจุภัณฑ์ของสินค้าโครงการจิตรลดา ภายใต้แนวคิด ‘ชีวิตที่กลมกลืน (Living Harmony)’

ผลงานของพระองค์ถูกจัดในนิทรรศการมีเดียอาตส์เอ็กซีบีเชิน (Media Arts Exhibition : MAX 2011) ร่วมกับผลงานของบัณฑิตท่านอื่น ที่สำเร็จการศึกษาหลักสูตรจิตรกรรมและศิลปกรรมในปีนั้น ซึ่งผลงานของพระองค์ได้รับคำชื่นชมจากผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ สุรพงษ์ เลิศสิทธิชัย ว่าทำได้ดีและมีลักษณะเฉพาะ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top