Tuesday, 14 May 2024
ทรงพระเจริญ

วันฉัตรมงคล ๔ พฤษภาคม ทรงพระเจริญ

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ
ข้าพระพุทธเจ้า คณะผู้บริหาร และพนักงาน สำนักข่าวออนไลน์ THE STATES TIMES

วันฉัตรมงคล ตรงกับวันที่ 4 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันที่รำลึกถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรีและราชอาณาจักรไทย

ในหลวงรัชกาลที่ 10 โปรดให้ตั้งพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ณ พระบรมมหาราชวัง มีการเฉลิมพระปรมาภิไธยตามพระสุพรรณบัฏว่า "พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว" และมีพระปฐมบรมราชโองการว่า "เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป"

ทั้งนี้ คำว่า 'ฉัตรมงคล' หมายความว่า พระราชพิธีฉลองพระเศวตฉัตร จะกระทำในวันคล้ายวันบรมราชาภิเษก สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงฟื้นฟูพระราชพิธีบรมราชาภิเษกให้ถูกต้องสมบูรณ์ โดยพระมหากษัตริย์ที่ยังมิได้ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จะไม่ใช้คำว่า 'พระบาท' นำหน้า 'สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว' และคำสั่งของพระองค์ก็ไม่เรียกว่า 'พระบรมราชโองการ' และอีกประการหนึ่งคือ ยังไม่มีการใช้ นพปฎลเศวตฉัตร หรือฉัตร 9 ชั้น

3 มิถุนายน 2565 เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี

พลเอกหญิง สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2521 ณ ตำบลบ้านพรุ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีพระนามเดิมว่า สุทิดา ติดใจ ครอบครัวของพระองค์เป็นชาวไทยเชื้อสายจีน ทรงเข้าเรียนระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัยสมบูรณ์กุลกันยา จากนั้นจึงทรงเข้าศึกษาหลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต ณ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ จนจบการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2543

หลังจากสำเร็จการศึกษาแล้ว ในช่วงเวลานั้นพระองค์ทรงเข้าเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน บริษัท แจลเวย์ จำกัด เมื่อปี พ.ศ. 2543 - พ.ศ. 2546 และทรงเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อปี พ.ศ. 2546 - พ.ศ. 2551 ทรงใช้ชีวิตแบบสามัญชนทั่วไป

ต่อมาทรงเข้ารับราชการทหารในหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ทรงดำรงตำแหน่งสูงสุด เป็นรองผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ (อัตรา พลเอกพิเศษ) ทั้งยังทรงได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ให้ทรงดำรงตำแหน่งเป็นราชองครักษ์เวรในพระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์

ย้อนกลับไปในวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2557 สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ (ในเวลานั้นคือพลเอกหญิงสุทิดา วชิราลงกรณ์) ได้โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในพิธีพระราชทานธงชัยเฉลิมพล

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 ได้ตามเสด็จในพิธีสังเวยพระป้ายในเทศกาลตรุษจีน ณ พระที่นั่งอัมพรสถานฯ และปรากฏตัวอีกครั้งในวันประสูติพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ ในปีเดียวกัน

ต่อมาวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2559 ทางกองพระราชพิธี สำนักพระราชวังได้เผยแพร่รายงานการเสด็จพระราชดำเนินที่พระองค์ได้ตามเสด็จพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติไปทอดพระเนตรพระราชวังบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และพลเอกหญิงสุทิดา วชิราลงกรณ์ ได้รับพระราชทานพระอิสริยยศเพิ่มเติมเป็น วชิราลงกรณ์ ณ อยุธยา (มีหมายกำหนดการระบุชื่อสกุลดังกล่าวมาตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีเดียวกัน)

วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2559 โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะที่ยังทรงเป็นสยามมกุฎราชกุมาร พร้อมพระบรมวงศานุวงศ์ในพระราชพิธีถวายน้ำสรงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ต่อมาในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 พระองค์ทรงนำทำการแสดงทางทหารประกอบดนตรี “ราชวัลลภ เริงระบำ” (Hop to the Bodies Slams) ในงานวันราชวัลลภได้อย่างสง่างามและเข้มแข็ง ในฐานะผู้บังคับการกองผสม

วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2560 มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจตุลจอมเกล้า (ฝ่ายใน) ให้แก่ พลเอกหญิง สุทิดา วชิราลงกรณ์ ณ อยุธยา อีกทั้งได้รับพระราชทานพระอิสริยยศเพิ่มเติมเป็น ท่านผู้หญิงสุทิดา วชิราลงกรณ์ ณ อยุธยา

วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต จึงทรงได้รับการสถาปนาเป็น “สมเด็จพระราชินีสุทิดา” ทรงดำรงตำแหน่งพระอิสริยยศ ฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์

ต่อมาในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ สถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระราชินีสุทิดาขึ้นเป็น “สมเด็จพระบรมราชินี” ทรงพระนามว่า “สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี”

‘ปุ๋ย ภรณ์ทิพย์’ โพสต์ถึง ‘สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระพันปีหลวงฯ’ ที่ทรงเป็นราชินีต้นแบบที่ดีของคนไทย และเป็นศูนย์รวมใจของชาติ

เมื่อไม่นานนี้ ‘คุณภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก ไซมอน’ หรือ ‘คุณปุ๋ย’ ได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความผ่านอินสตาแกรมส่วนตัว เพื่อเทิดพระเกียรติถึง ‘สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง’ และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ท่านได้ทรงมีเมตตาต่อตนเองและครอบครัว อีกทั้งยังทรงเป็นแบบอย่างที่ดีแก่พสกนิกรไทยเสมอมา พร้อมชื่นชมในความน่ารักและเป็นกันเองของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ โดยระบุว่า…

“I sincerely want to pay our most humble respect to Her Majesty, the Queen Mother of Thailand. My family and I always have the beloved Queen Sirikit in our hearts,
especially at this time with the concerning news of her recent stroke. Our Queen has been a profound role model for me from a young age. For a Thai girl growing up in the US, seeing Her Majesty's photos was always a source of Thai Her loveliness and arace are inimitable.

“ข้าพเจ้าขอแสดงความเคารพอย่างสุดซึ้งต่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีของไทย ข้าพเจ้าและครอบครัว เทิดไท้องค์ราชินีในดวงใจเสมอมา โดยเฉพาะในช่วงนี้ ที่มีข่าวล่าสุด เกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมองของพระองค์ องค์ราชินีของเราทรงเป็นแบบอย่างที่ลึกซึ้งสำหรับข้าพเจ้าตั้งแต่ยังเด็ก สำหรับสาวไทยที่เติบโตในอเมริกา การได้ชมพระบรมฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ และได้เห็นถึงความน่ารัก อันเป็นเอกลักษณ์ทางเชื้อชาติของพระองค์ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ไม่มีใครสามารถเลียนแบบได้ อีกทั้ง ยังถือเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยเสมอมา นับเป็นความซาบซึ้งอย่างหาที่สุดมิได้”

‘ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก ไซมอน’ หรือ ‘คุณปุ๋ย’ อดีตนางสาวไทย และนางงามจักรวาล หรือ มิสยูนิเวิร์สประจำปี 2531 ซึ่งในขณะนั้น เธอเป็นตัวแทนชาวไทยคนที่ 2 ที่ได้รับตำแหน่งนางงามจักรวาล หลังจากอาภัสรา หงสกุล นางงามจักรวาลชาวไทยคนแรกชนะการประกวดนางงามจักรวาลในปี 2508 นอกจากนั้น เธอยังได้ดำรงตำแหน่ง ผู้แทนองค์การสหประชาชาติสำหรับโครงการช่วยเหลือเด็กและสตรีในระดับนานาชาติ และเป็นประธานตั้งมูลนิธิช่วยเหลือเด็กอีกหลายแห่ง อีกทั้งเธอยังเป็นนักธุรกิจอีกด้วย
 

4 กรกฎาคม วันคล้ายวันประสูติ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี

สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ประสูติเมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ.2500 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

ทรงเป็นพระราชธิดาพระองค์เล็กในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

ได้รับพระราชทานพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี

พระนาม จุฬาภรณ์ หมายถึง การอัญเชิญพระนาม 'จุฬา' ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มาเป็นคำต้นพระนามของพระองค์ เนื่องด้วยในวันประสูตินั้น เป็นวันมหาปีติของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา

ทรงเริ่มศึกษาระดับอนุบาลที่โรงเรียนจิตรลดา ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ทรงได้รับการปลูกฝังทางศิลปะ นาฏศิลป์และดนตรี จากพระอาจารย์ทั้งชาวไทยและต่างชาติ ทั้งยังทรงสนพระทัยวิชาคำนวณและวิทยาศาสตร์ ขณะเดียวกันโปรดศึกษาวิชาภาษาต่างประเทศ และวิชาศิลปะควบคู่กันไป โดยทรงเลือกเรียนสายวิทยาศาสตร์ ในระดับมัธยมปลาย เพื่อนำความรู้มาต่อยอดทำประโยชน์เพื่อความสุขของประชาชน

เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลาย ทรงเข้าศึกษาระดับปริญญาตรีคณะวิทยาศาสตร์ สาขาอินทรีย์เคมี เกียรตินิยมอันดับ 1 จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทรงสอบได้ที่ 1 ในวิชาเคมีและชีววิทยา ทั้งยังทรงได้รับรางวัลเรียนดีจากมูลนิธิศาสตราจารย์ ดร.แถบ นีละนิธิ

พ.ศ.2528 ทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาอินทรีย์เคมี มหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งนี้ยังทรงสำเร็จการอบรมระดับหลังปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยอูล์ม สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

พ.ศ.2550 ทรงสำเร็จการศึกษาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

พ.ศ.2557 ทรงสำเร็จการศึกษาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพสัตวแพทย์ (หลักสูตรนานาชาติ) จากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อนำความรู้ไปช่วยเหลือสัตว์ต่างๆ

ทรงมีพระธิดา 2 พระองค์ คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ และ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ

สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ ทรงอุทิศพระวรกายเพื่ออาณาประชาราษฎร์ให้มีความสุข อยู่ดีกินดี และร่วมพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศ ไม่ว่าจะในแขนงใด

ด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์นั้น ทรงมีพระราชปณิธานในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาประเทศ โดยทรงแลกเปลี่ยนความร่วมมือกับต่างประเทศในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ ทำให้เป็นที่ประจักษ์ของชาวโลก

ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ จากยูเนสโก ในปี พ.ศ.2530

ทรงก่อตั้งมูลนิธิจุฬาภรณ์ขึ้น ก่อนพัฒนาเป็นสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ต่อมา เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาวิจัย ทั้งทรงก่อตั้งโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ให้บริการทางการแพทย์และการเงินแก่ผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็งยากไร้ ทำให้ทรงได้รับการยกย่องเป็น เจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์

ทรงดำรงตำแหน่งประธานกิตติมศักดิ์มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) และได้เสด็จฯไปทรงร่วมกับหน่วยแพทย์เคลื่อนที่มูลนิธิ พอ.สว. ให้การรักษาแก่ผู้ป่วยทุกภูมิภาคของไทย

ทรงมีพระเมตตาแผ่ถึงบรรดาสัตว์ป่วยอนาถา ทรงรับเป็นประธานกรรมการขับเคลื่อนการดำเนิน “โครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธาน ทั้งยังมีพระดำริให้ก่อตั้งโรงพยาบาลสัตว์ขึ้นในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศด้วย

พระอัจฉริยภาพด้านศิลปวัฒนธรรมของพระองค์ยังได้ฉายชัด ทรงดนตรี ทรงขับร้องเพลง ทรงนิพนธ์เพลง ทรงวาดภาพ และทรงออกแบบเครื่องประดับและเครื่องแต่งกาย ทรงเชี่ยวชาญเปียโน และกีตาร์

พ.ศ.2543 ขณะเสด็จฯ ไปทรงเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน รัฐบาลจีนได้บรรเลง 'กู่เจิง' ถวาย ทำให้ทรงประทับใจและมุ่งมั่นศึกษา ฝึกซ้อมอย่างจริงจัง จนถึงระดับสูงสุด โดยทรงมีพระดำริให้จัดการแสดงดนตรีและวัฒนธรรม 'สายสัมพันธ์สองแผ่นดิน' กระชับสัมพันธไมตรีไทยกับจีน

ทรงออกแบบเครื่องประดับผนวกกับงานการกุศล เช่นโครงการ 'ถักร้อย สร้อยรัก' และโครงการ 'ดร.น้ำจิต' นำรายได้สมทบทุนมูลนิธิจุฬาภรณ์ ทั้งยังทรงจัดนิทรรศการภาพวาดฝีพระหัตถ์ของพระองค์เองด้วย

ด้านการศาสนา ทรงดำรงพระองค์เป็นพุทธมามกะ และพุทธศาสนูปถัมภก เอาพระทัยใส่ในพุทธศาสนา ทั้งยังทรงเป็นประธานของโครงการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน) ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2562 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์อ่านประกาศกระแสพระบรมราชโองการเฉลิมพระนาม สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เป็น "สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี" เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานน้ำพระมหาสังข์ ใบมะตูม ทรงเจิม พระราชทานพระสุพรรณบัฏและเหรียญรัตนาภรณ์ ร.10 ชั้นที่ 1

‘อ.สันติ’ ประติมากรระดับโลก เผยเรื่องราวความประทับใจ หลังเดินทางข้ามโลกมาเข้าเฝ้า ‘ในหลวง ร.10-ราชินี’ ครั้งแรก

เมื่อไม่นานนี้ รายการ ‘เรื่องเล่าข่าวดีกับสายสวรรค์’ ชุดพิเศษ เรื่องเล่าข่าวดี ‘เฉลิมพระบารมี ทศมราชัน’ ตอน ‘ประติมากรไทยระดับโลก ผู้ปั้นพระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ด้วยจิตวิญญาณแห่งความจงรักภักดี’ ตอนที่ 3 ออกอากาศเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคม 2566 โดยมีแขกรับเชิญ คือ อาจารย์ ดร.สันติ พิเชฐชัยกุล ประติมากรระดับโลก ที่ได้มาแชร์เรื่องราวความทรงจำอันน่าประทับใจในการเดินทางข้ามโลก เพื่อมาเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นครั้งแรก พร้อมเผยถึงเบื้องหลังการปั้นพระบรมรูปในหลวงรัชกาลที่ 9 ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต และปราสาทพระเทพบิดร วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตามพระบรมราชโองการและพระมหากรุณาที่ อ.ดร.สันติ พิเชฐชัยกุล ได้รับอย่างสูงสุด

โดยในช่วงหนึ่งของรายการ อ.ดร.สันติ ได้เล่าว่า “มีครั้งหนึ่ง ขณะที่ผมกำลังเข้าเฝ้าในหลวงรัชกาลที่ 10 นั้น มีสิ่งหนึ่งที่ผมไม่คาดฝัน คือ พระองค์ทรงเสด็จลงมาที่พื้น เพื่อนั่งคุยกับผม และถามไถ่ผมว่า “อาจารย์เป็นอย่างไรบ้าง อยู่ที่อเมริกา สบายดีไหม?” 

ผมรู้สึกว่าพระองค์ท่านทรงน่ารักมาก ผมไม่รู้จะทำตัวอย่างไร ที่ท่านลงที่พื้นกับผม ผมเลยกราบทูลไปว่า “ท่านครับ ท่านติดดินเหมือนพ่อหลวงรัชกาลที่ 9 เลยนะครับ แต่ถ้าท่านลงมานั่งที่พื้นแบบนี้ ผมไม่ต้องมุดลงใต้เลยหรือครับ” พอผมพูดจบ ท่านก็แย้มพระสรวลและหัวเราะ จากนั้นสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ ก็ทรงประคองพระองค์ท่านขึ้นไปนั่งที่เก้าอี้เหมือนเดิม”

อ.ดร.สันติ ยังได้เล่าต่ออีกว่า “สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ ทรงตรัสชมว่า “อาจารย์ปั้นพระบรมรูปเก่งมากเลย” ผมก็เลยเล่าว่า “มีคนสบประมาทผมว่า คุณก็เก่งแค่ตอนนี้แหละ ในอนาคตจะมีคนเก่งกว่านี้” ผมก็โต้ตอบในใจไปว่า “ถ้าจะมีคนเก่งกว่าผม ก็ขอให้คนนั้นเป็นผมอีกสักครั้งหนึ่ง” จากนั้น พระองค์ก็ใช้พระหัตถ์ตบเบาๆ ที่หน้าขาของผม แล้วทรงตรัสว่า “อาจารย์พูดได้ดีมาก ชอบๆ” 

จากนั้น สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ ทรงตรัสต่ออีกว่า “นี่ไงอาจารย์ อาจารย์ก็ทำเก่งกว่าเดิมนี่ไง ท่านทรงโปรดมากเลย ต่อไปอาจารย์จะเหนื่อยกว่านี้อีกนะ” 

สักพักในหลวงท่านเสด็จลุกขึ้น และหันมาตรัสกับภรรยาของผมว่า “เราขอเบิกตัวอาจารย์สันติ ให้ไปกับเราที่ชั้นบนได้ไหม?” ภรรยาผมก็บอกว่า “ได้เพคะ” ผมก็เลยตามเสด็จขึ้นไปชั้นบน ตอนแรกผมจะคุกเข่าตามท่านไป ท่านก็ทรงตรัสว่า “ลุกเดินตามมาได้เลยอาจารย์ เชิญๆ” 

เมื่อเดินถึงชั้นลอย ท่านก็ทรงตรัสว่า “จะเอาพระบรมรูปตั้งไว้ตรงนี้ดีไหม?” สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ ท่านก็ทรงตรัสว่า “หากตั้งไว้ตรงนี้อาจจะไม่เหมาะ เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้กับบันได” พระองค์ท่านจึงหันกลับมาถามความคิดเห็นผมอย่างมีเมตตาว่า “อาจารย์มีความคิดเห็นว่าอย่างไร?” ผมเลยตอบท่านไปว่า “ใช่ครับ ตรงนี้เกรงว่าจะไม่เหมาะครับ” สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ ทรงมีพระปรีชาสามารถสูงมาก ในการมองสิ่งต่างๆ ได้อย่างเด็ดขาดจริงๆ ครับ”

อ.ดร.สันติ เล่าต่ออีกว่า “หลังจากนั้น พระองค์ท่านก็ทรงเชิญผมขึ้นไปที่ชั้นบนอีกชั้นหนึ่ง โดยท่านเดินนำหน้าผมขึ้นไป เมื่อถึงหน้าห้องแล้ว ท่านทรงใช้พระหัตถ์ขวาเปิดประตู และใช้พระหัตถ์ซ้ายผายออกเพื่อเชิญผมเข้าไปในห้อง จริงๆ แล้วลูกน้องของพระองค์ท่านพยายามจะวิ่งมาเปิดประตูแทน แต่ไม่ทัน ผมก็ไม่รู้จะทำตัวอย่างไร ก็รีบขอบคุณท่าน เมื่อเข้าห้องไป ท่านก็ตรัสถามว่า “เอาพระบรมรูปตั้งไว้ตรงนี้ดีไหม?” ผมก็ตอบว่า “หากไว้ตรงมุมอับอาจจะไม่เหมาะนะครับ จะไม่มีคนเห็นครับ” ท่านก็ตรัสถามอีกครั้งว่า “แล้วถ้าเป็นตรงนั้นล่ะ?” ผมก็ตอบว่า “ตรงนั้นได้ครับ แต่ต้องเอาโซฟาออกนะครับ” ท่านจึงสั่งให้คนของท่านช่วยกันย้ายโซฟาออก ณ ตอนนั้นเลย และสั่งให้นายทหารไปยกพระบรมรูปจากชั้น 1 เพื่อยกขึ้นมาตั้งไว้ที่ชั้น 3 ผมก็กราบทูลกับท่านว่า “ต้องทำพื้นหินอ่อนเป็นฐานใหม่ เพื่อให้สามารถตั้งได้พอดีกันนะครับ และติดไฟใหม่ด้วยครับ”

“หลังจากนั้น เมื่อกลับลงมาที่ชั้นล่าง ท่านทรงตรัสถามไถ่กับลูกชายผม ว่า “How old are you? อายุเท่าไรแล้ว” ตอนนั้นลูกชายคนเล็กของผม ชื่อ ‘น้องโทนี่’ ก็ตอบท่านกลับไปว่า “Five” 5 ขวบแล้ว จังหวะนั้นเอง ผมก็กราบทูลขอท่านไปว่า “ท่านครับ ทรงช่วยจับ ‘น้องไดญามิ’ ลูกสาวคนโตของผมหน่อยได้ไหมครับ” ท่านก็ทรงเมตตา เอาพระหัตถ์ข้ามภรรยาของผม (เอริก้า) ไปจับน้องไดญามิ จังหวะนั้นเอง ผมเลยกราบทูลขอท่านไปว่า “ท่านครับ ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว ช่วยจับภรรยาผมด้วยได้ไหมครับ” ท่านก็เลยจับ เอริก้าก็หันมาบอกผมว่า “ฉันยังไม่ได้สระผมเลย” จากนั้นผมจึงกราบทูลขอให้ท่านจับผมด้วยอีกคน ท่านก็ทรงเมตตา จับผมอย่างเป็นกันเองด้วย”

“หลังจากนั้น ก่อนท่านจะขอตัวไปพักผ่อน ผมก็รวบรวมความกล้า กราบทูลขอพระองค์ท่านว่า “ขอพระบรมราชานุญาตฉายพระรูปร่วมกับหม่อมฉันและครอบครัวได้หรือไม่พ่ะย่ะค่ะ” ซึ่งท่านก็ทรงมีความเมตตากรุณากับผมและครอบครัวเป็นอย่างยิ่ง ทรงให้คนไปตามภรรยาและลูกๆ ของผมมาฉายพระรูปร่วมกับพระองค์ท่านอย่างเป็นกันเอง ทั้งๆ ที่ตอนนั้นเป็นเวลาดึกมากแล้ว เป็นเวลาตี 1 เนื่องจากผมเข้าเฝ้าพระองค์ท่านตั้งแต่เวลา 4 ทุ่มของคืนวันที่ 12 เมษายน จนล่วงเลยเข้าคืนวันที่ 13 เมษายน 2562 แล้ว ซึ่งตรงกับวันขึ้นปีไทยพอดี 

“นับเป็นสิริมงคลกับผมและครอบครัวอย่างมาก ถือเป็นที่สุดของชีวิตผมเลย” อ.ดร.สันติ กล่าวทิ้งท้าย

รัฐบาลเตรียมจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2566

(24 ก.ค. 66) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตในนามรัฐบาลดำเนินการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2566 ดังนี้ 

1.  การจัดพิธีทางศาสนา
1.1 จัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์และทำบุญตักบาตรถวายพระราชกุศล เวลา 07.00 น. ในวันศุกร์ที่ 28 กรกฎาคม 2566 โดยส่วนกลางจัดพิธี ณ ท้องสนามหลวง พระสงฆ์ จำนวน 172 รูป มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธีพร้อมภริยา ส่วนภูมิภาคทุกจังหวัดจัดพิธี ณ ศาลากลางจังหวัด หรือสถานที่ที่เหมาะสม และในต่างประเทศสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลพิจารณาการจัดพิธีตามที่เห็นสมควรและเหมาะสม 

1.2 จัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์และเจริญจิตตภาวนาถวายพระราชกุศล โดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติดำเนินการเสนอมหาเถรสมาคมเพื่อพิจารณาให้วัดทุกวัดในประเทศไทยจัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์ถวายพระราชกุศล ในวันศุกร์ที่ 28 กรกฎาคม 2566 สำหรับวัดไทยในต่างประเทศให้พิจารณาการจัดพิธีตามที่เห็นสมควรและเหมาะสม

2. จัดพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณเพื่อเป็นข้าราชการที่ดีและพลังของแผ่นดิน ในวันศุกร์ที่ 28 กรกฎาคม 2566 เวลา 07.45 น. โดยส่วนกลางจัดพิธี ณ ท้องสนามหลวง มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธี ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนจะได้เชิญชวนหน่วยงานของรัฐจัดพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณเพื่อเป็นข้าราชการที่ดีและพลังของแผ่นดิน ณ สถานที่ตั้งของหน่วยงาน กำหนดระหว่างวันที่ 20-28 กรกฎาคม 2566 รวมทั้งเชิญชวนลงนามถวายสัตย์ปฏิญาณฯ ทางเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ที่ www.ocsc.go.th กำหนดระหว่างวันที่ 1 - 31 กรกฎาคม 2566

3.  จัดพิธีถวายเครื่องราชสักการะและวางพานพุ่ม และพิธีจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล ในวันศุกร์ที่ 28 กรกฎาคม 2566 เวลา 18.00 น. และเวลา 19.19 น. ตามลำดับ โดยส่วนกลางจัดพิธี ณ ท้องสนามหลวง มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธีพร้อมภริยา ส่วนภูมิภาคทุกจังหวัดจัดพิธี ณ ศาลากลางจังหวัดหรือสถานที่ที่เหมาะสม และในต่างประเทศสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลพิจารณาการจัดพิธีตามที่เห็นสมควรและเหมาะสม

4.จัดพิธีเชิญเครื่องราชสักการะและพานพุ่มจากท้องสนามหลวงไปทูลเกล้าฯ ถวาย ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ในวันเสาร์ที่ 29 กรกฎาคม 2566 เวลา 08.00 น. โดยกระทรวงกลาโหมเป็นหัวหน้าคณะเชิญเครื่องราชสักการะและพานพุ่มไปทูลเกล้าฯ ถวาย และขอพระราชทานผู้แทนออกรับเครื่องราชสักการะและพานพุ่ม

5. จัดทำสาร สารคดีโทรทัศน์เฉลิมพระเกียรติฯ ในนามคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ เพื่อเผยแพร่ในช่วงวันเฉลิมพระชนมพรรษา

6. จัดกิจกรรมจิตอาสาบำเพ็ญสาธารณประโยชน์และสาธารณกุศลเฉลิมพระเกียรติฯ ในเดือนกรกฎาคม 2566 ตามความเหมาะสม โดยประสานงานกับศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน และสำนักงานจิตอาสาภาครัฐ สำนักนายกรัฐมนตรี 

ในการนี้ นายธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จึงขอเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ร่วมน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแสดงความจงรักภักดี และร่วมจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ ให้เป็นไปอย่างสมพระเกียรติ โดยจัดตั้งโต๊ะหมู่ประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์ พร้อมเครื่องราชสักการะ จัดตกแต่งสถานที่ประดับพระบรมฉายาลักษณ์ ประดับธงชาติไทยคู่กับธงอักษร พระปรมาภิไธย ว.ป.ร. และประดับผ้าระบายสีเหลืองร่วมกับผ้าระบายสีขาว ตามอาคารสถานที่ของหน่วยงานและบ้านเรือน จัดทำคำถวายพระพรชัยมงคลเผยแพร่ทางเว็บไซต์และสื่อออนไลน์ของหน่วยงาน และจัดลงนามถวายพระพรชัยมงคลภายในหน่วยงานหรือทางเว็บไซต์ ดำเนินการตลอดเดือนกรกฎาคม 2566 

28 กรกฎาคม วันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวิชราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี ภายหลังทรงมีพระราชดำรัสตอบรับคำกราบบังคมทูลเชิญของสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2559

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ.  2495 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ได้รับพระราชทานพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ

ทรงมีพระเชษฐภคินี คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และพระขนิษฐา 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2515 ขณะนั้นทรงเจริญพระชนมายุ 20 พรรษา นับเป็นกระบวนการสืบราชสันตติวงศ์ที่ชัดเจนตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467

>>การศึกษา
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงเริ่มการศึกษาที่โรงเรียนจิตรลดา แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาต่อในระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนคิงส์มีด แคว้นซัสเซกส์ และศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนมิลฟิลด์ แคว้นซอมเมอร์เซท สหราชอาณาจักร

หลังจากนั้น ทรงศึกษาต่อวิชาทหารที่โรงเรียนคิงส์ นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ทรงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาอักษรศาสตร์ ด้านการทหาร จากมหาวิทยาลัยนิวเซาธ์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย

หลังจากทรงสำเร็จการศึกษาได้เสด็จฯ นิวัติประเทศไทย ทรงศึกษาต่อสาขาวิชานิติศาสตร์รุ่นที่ 2 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

>>ทรงผนวช
วันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2521 ทรงผนวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระสังฆราช วาสนมหาเถร วัดราชบพิธ เป็นพระราชอุปัธยาจารย์ ถวายพระสมณนามว่า วชิราลงฺกรโณ ประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อครบ 15 วัน ทรงลาผนวช

>>พระราชกรณียกิจ
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์มาโดยตลอด เพื่อแบ่งเบาพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทั้งในการพระราชพิธีสำคัญ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่เกษตรกรไทย และพระราชพิธีทางศาสนาต่าง ๆ

นอกจากนี้ได้เสด็จติดตามสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินไปแปรพระราชฐานประทับแรมตามภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย โดยทรงติดตามความก้าวหน้าด้านการชลประทาน การสร้างเขื่อนต่าง ๆ และพระราชทานแนวพระราชดำริให้กรมชลประทานแก้ปัญหาตามที่ชาวบ้านกราบทูล ส่งให้ราษฎรมีน้ำใช้ในการเกษตรอย่างอุดมสมบูรณ์และช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในฤดูฝน

ด้านการแพทย์และสาธารณสุข 
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงตระหนักว่าสุขภาพพลานามัยอันดีของประชาชนเป็นปัจจัยสำคัญของการสร้างสรรค์ทรัพยากรบุคคล จึงทรงสนพระราชหฤทัยในการประกอบพระราชกรณียกิจ เช่น เมื่อรัฐบาลได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช 21 แห่งทั่วประเทศ พระองค์ก็ได้ทรงพระอุตสาหะเสด็จฯ ไปทรงประกอบพิธีเปิดโรงพยาบาลทุกแห่งและทรงเยี่ยมโรงพยาบาลอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งพระราชทานพระราชทรัพย์สนับสนุนให้มีอุปกรณ์การแพทย์ เครื่องมือเครื่องใช้ที่ทันสมัย

ด้านการศึกษา 
ทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชทรัพย์ร่วมสนับสนุนให้กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ก่อตั้งโรงเรียนมัธยมศึกษาในถิ่นทุรกันดาร 6 แห่ง ทรงรับโรงเรียนไว้ในพระราชูปถัมภ์ พระราชทานวัสดุอุปกรณ์การศึกษาที่ทันสมัย เช่น คอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ วีดิทัศน์ และในด้านการอุดมศึกษา พระองค์ได้ทรงพระกรุณาเสด็จฯ แทนพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ

ทรงจัดตั้งโครงการทุนการศึกษาพระราชทานด้วยทรงมีพระราชปณิธานในการสร้างโอกาสทางการศึกษาแก่เยาวชนไทย และในปี 2553 มีพระราชดำริให้จัดตั้งมูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทาน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารขึ้น โดยทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ ซึ่งที่ผ่านมานักเรียนทุนพระราชทานทุกรุ่นเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า มีอัตราสูงกว่าร้อยละ 97 โดยผู้ได้รับทุนพระราชทานไม่มีภาระผูกพันที่ต้องใช้ทุนคืน และเมื่อจบการศึกษา ทรงเปิดโอกาสให้สมัครเข้าถวายงานเป็นข้าราชบริพารในพระองค์ได้ตามความสมัครใจ

ด้านสังคมสงเคราะห์ 
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรทรงพระกรุณาห่วงใยการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนที่ด้อยโอกาส ได้เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมชุมชนแออัดของกรุงเทพฯ หลายแห่ง เช่น ชุมชนแออัดพระโขนง เขตคลองเตย เขตยานนาวา พระราชทานพระราชทรัพย์สนับสนุนโครงการของชุมชน เช่น โครงการพัฒนาเด็กเล็กที่ขาดแคลน โครงการปราบปรามยาเสพติด

ด้านการต่างประเทศ 
ทรงเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ไปทรงเยือนมิตรประเทศทั่วทุกทวีป เช่น ประเทศอิตาลี สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น อิหร่าน เนปาล สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา สาธารณรัฐเปรู ออสเตรเลีย สิงคโปร์ นอกจากจะมุ่งเจริญสัมพันธไมตรีแล้ว ยังทรงสนพระราชหฤทัยในการทอดพระเนตรและศึกษากิจการต่างๆ ที่จะทรงนำประโยชน์มาใช้ในการพัฒนาประเทศไทย เช่น เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมชมกิจการทหาร ศิลปวัฒนธรรม อุตสาหกรรมและความเป็นอยู่ของประชาชน

ด้านเกษตรกรรม 
ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อส่งเสริมกิจการด้านเกษตรกรรม เช่น เสด็จฯ แทนพระองค์ในการพระราชพิธีพืชมงคล

ด้านพระศาสนา 
ทรงเสด็จฯ แทนพระองค์ไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจทางศาสนาเป็นประจำสม่ำเสมอ เช่น ทรงเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตามฤดูกาล รวมถึงการเสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานถ้วยรางวัล การทดสอบการอัญเชิญพระมหาคัมภีร์อัลกุรอ่านระดับประเทศ

ด้านการกีฬา 
ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ทั้งในผู้แทนพระองค์และในส่วนของพระองค์เอง เช่น พระราชทานไฟพระฤกษ์กีฬาเยาวชนแห่งชาติ พระราชทานพระราชวโรกาสให้นักกีฬาไทยเข้าเฝ้าทูลละอองพระบาทรับพระราชทานรางวัลนักกีฬายอดเยี่ยม

ด้านการทหาร 
ทรงสนพระราชหฤทัยในวิทยาการด้านการทหารมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ นอกจากทรงรับการศึกษาด้านการทหารจากประเทศออสเตรเลียแล้ว ยังทรงพระวิริยะอุตสาหะเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์อยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในด้านวิทยาการการบิน ทรงรับราชการทหารมาโดยตลอดตั้งแต่วันที่ 9 ม.ค.2518 และทรงดำรงพระยศทางทหารของ 3 เหล่าทัพ คือ พล.อ. พล.ร.อ. พล.อ.อ. โดยทรงเข้าร่วมปฏิบัติการรบในการต่อต้านการก่อการร้ายในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งการคุ้มกันพื้นที่ในบริเวณรอบค่ายผู้อพยพชาวกัมพูชา ที่เขาล้าน จ.ตราด อีกทั้งยังเสด็จพระราชดำเนินไปในพิธีการด้านทหาร อาทิ งานวันราชวัลลภ

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการด้วยความวิริยะอุตสาหะ มุ่งมั่นตั้งใจอย่างไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย พระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ ทั้งที่ทรงปฏิบัติแทนพระองค์และทรงปฏิบัติในส่วนพระองค์เองล้วนเป็นไปเพื่อประเทศชาติให้มีความเจริญก้าวหน้ามั่นคงและเพื่อประชาชนชาวไทยได้มีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

‘มิกค์ ทองระย้า’ ร่วมพิธีถวายพระพรชัยมงคล เทิดพระเกียรติ เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

(27 ก.ค. 66) ‘มิกค์​ ชรินทร์​ ทองระย้า’ นักแสดงและนายแบบลูกครึ่งไทย-เดนมาร์ก ได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผ่านอินสตาแกรมส่วนตัว ‘mik_thongraya’ โดยระบุว่า…

“เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 28 กรกฎาคม 2566 ช่อง 7HD จัดกิจกรรม ‘7HD รวมใจถวายพระพรชัยมงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว’ นำโดย นายพัฒนพงค์ หนูพันธ์ รักษาการกรรมการผู้จัดการ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร นักแสดง ผู้ประกาศข่าว และเจ้าหน้าที่ จากช่อง 7HD ร่วมพิธีถวายพระพรชัยมงคล และลงนามถวายพระพร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”

‘ในหลวงรัชกาลที่ 10’ ทรงใจกว้าง ส่งสารถึงคนรุ่นใหม่ หลังเคย Selfie กับนักการเมือง แล้วมาถ่ายกับในหลวง

เมื่อไม่นานนี้ มีผู้ใช้ติ๊กต็อก ชื่อบัญชี ‘klapandee’ ได้โพสต์คลิปวิดีโอเมื่อนานมาแล้ว พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ขณะทรงตรัสกับเด็กวัยรุ่นอย่างเป็นกันเอง โดยในคลิปได้มีเด็กวัยรุ่นชายคนหนึ่งทูลถาม พร้อมกับขอพระราชทานอภัยโทษในหลวง ร.10 โดยกล่าวว่า…

“ที่กระหม่อมมีภาพถ่ายคู่กับท่านนายกฯ ท่านนักการเมืองหลายๆ คนอาจจะทําให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขุ่นเคืองพระราชหฤทัย กระหม่อมขอพระราชทานอภัยโทษด้วยนะครับ”

หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตรัสกับเด็กวัยรุ่นด้วยความเมตตาและเป็นกันเองว่า…

“จะถ่ายรูปกับใคร ชอบใครก็ถ่ายได้ เราเป็นวัยรุ่น เราจะไปถ่ายกับใครมันก็เป็นเรื่องของเราที่จะไปถ่ายกับใครก็ได้ ตัวเราเองตอนเด็กๆ ก็ยังอยากถ่ายกับนักแสดง กับดาราเหมือนกัน ถ่ายคนดีบ้างไม่ดีบ้างมันก็ของธรรมดา ไม่เห็นน่าเดือดร้อนอะไรเลย จงสบายใจได้”

เด็กวัยรุ่นชายคนนั้นได้ทูลกลับไปด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ และเต็มไปด้วยความปลื้มปิติว่า “เป็นคําตอบที่ทำให้กระผมน้ำตาไหลเลยครับ ไม่คิดว่าจะได้ยินคําตอบแบบนี้”

‘พล.ท.นันทเดช’ เล่าความหลังครั้งยังเป็นราชองค์รักษ์เวร และพระเมตตาอันเปี่ยมล้นของในหลวง รัชกาลที่ 10

เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 66  พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ ศรภ.โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุข้อความว่า…

เมื่อผมเป็นราชองค์รักษ์เวรของในหลวง รัชกาลที่ 10

ผมเริ่มต้นทำหน้าที่ราชองค์รักษ์เวรครั้งแรก เป็นการปฏิบัติหน้าที่ถวายในหลวง ร.9 ส่วนใหญ่อยู่ที่พระตำหนักสวนจิตรลดา เวลาเข้าเวรช่วงกลางคืน ถ้าอยู่ตรงทางขึ้นพระตำหนักในตอนหัวค่ำ เมื่อมองออกไปทางเขาดิน จะเห็นฝูงยุงจำนวนมหาศาล บินออกมาจากเขาดิน คล้ายก้อนเมฆสีดำเล็กๆ มุ่งหน้ามายังสวนจิตรลดา และบ้านเรือนผู้คนที่ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกราชวิถี ดังนั้น เมื่อในหลวง ร.10 ทรงย้ายเขาดิน ผมจึงไม่ได้สงสัยอะไรเลย เพราะนอกจากยุงแล้ว ใครพาเด็กๆ ไปเที่ยวเขาดิน ก็จะกลับมาไม่สบายเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากพื้นที่มีจำกัด สะสมเชื้อโรคไว้นานาชนิด นานกว่า 80 ปี ผมจึงคิดว่า ถ้าพระองค์ไม่ลงมือทำใครจะทำครับ

ต่อมาผมได้ย้ายมาเป็นราชองค์รักษ์เวร ของในหลวง ร.10 (พระยศ ขณะนั้นเป็นพระบรมโอรสาธิราชฯ) ตอนแรกก็เกิดความวิตก เนื่องจาก ผมทั้งอ้วนจากการนั่งโต๊ะทำงานจนดึก และกินมาก เวลาออกกำลังกายมีน้อย ถ้าให้วิ่งในระยะทางไม่เกิน 100 เมตร ผมก็เริ่มมีอาการหอบแล้ว ประกอบกับผมไม่ได้มาจากโรงเรียนเหล่าทัพโดยตรงด้วย เหมือนราชองค์รักษ์ประจำคนอื่น จึงกลัวว่าผมจะไปทำอะไรผิดเข้า ซึ่งก็เป็นจริง วันแรกก็ผิดแล้ว ตอนถวายรายงานเลยครับ ผมลงท้ายว่า “... ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ” พระองค์ทรงยิ้ม กล่าวว่า “ยังไม่ต้องเดชะหรอก” และก็ไม่ได้ทรงตำหนิอะไรอีก

หลายวันต่อมา พระองค์ทรงรถกอล์ฟเสด็จจากพระตำหนักไปเปิดร้านค้าที่หน้าพระราชวัง ระยะทางประมาณ 150 เมตร ผมก็วิ่งตามไปสัก 50 เมตร ก็เริ่มมีอาการเหนื่อยหอบแล้ว ทันใดนั้น ปรากฏว่ารถกอล์ฟส่วนพระองค์ ก็ชะลอช้าลงอย่างผิดปกติ ผมจึงกึ่งวิ่งกึ่งเดินตามไปอย่างสบายๆ ทั้งขาไปและกลับ พระองค์มีทรงพระเมตตายิ่งนัก จากนั้นมา ผมก็เริ่มหาเวลาออกกำลังกาย ซึ่งส่งผลทำให้ผมมีสุขภาพที่แข็งแรงขึ้น อยู่มาอย่างสบายจนถึงทุกวันนี้ แม้อายุใกล้จะ 80 ปีเข้าไปแล้ว

เมื่อเกิดเหตุรุนแรงทางภาคใต้ได้ประมาณ 2 ปี ผมถูกเรียกตัวให้เข้าเฝ้า ในหลวง ร.10 (ขณะนั้นพระองค์ยังทรงดำรงตำแหน่ง พระบรมโอรสสาธิราชฯ) เพื่อกราบทูลรายงานเบื้องหลังเหตุการณ์รุนแรงดังกล่าว โดยมีประธานองคมนตรีท่านปัจจุบันร่วมอยู่ด้วย ผมได้กราบทูลเรื่องราวอย่างค่อนข้างเป็นทางการ แต่ไม่ได้ลงลึกในรายละเอียดมากนัก เมื่อกราบทูลจบ พระองค์ทรงยิ้ม มีพระราชดำรัสว่า “ให้เล่าใหม่ เอาจริงๆ เลย” ผมจึงกราบทูลใหม่โดยลงละเอียดอย่างไม่ตกแต่งให้เป็นทางการหรือสวยหรูอะไรอีก พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสถามเป็นระยะๆ บางคำถาม ผมซึ่งทำงานอยู่ในพื้นที่ก็ยังนึกไม่ถึง เมื่อผมเล่าถวายจบ ซึ่งใช้เวลามากกว่าครึ่งชั่วโมงแล้ว พระองค์ทรงยิ้มอีก และมีพระราชดำรัสว่า “ต้องอย่างนี้ซิ”

ในใจผมซาบซึ้งถึงพระเมตตา นึกอยู่ตลอดเวลาว่า พระองค์ทรงสนพระทัยทุกข์สุขของประชาชนและบ้านเมืองอย่างจัง และยังทรงมีพระปฏิภาณไหวพริบถึงขนาดนี้ ผมจึงลุกขึ้นจากเก้าอี้ทรุดตัวลงกราบแทบเบื้องพระบาทด้วยจิตใจที่เปี่ยมด้วยความจงรักภักดี ในหลวง ร.10 ทรงมีพระราชดำรัสว่า “เขาเป็นองค์รักษ์ของฉันด้วย”

ยังมีอีกหลายเรื่องที่บอกได้ว่า ในหลวงของเรา เป็นเสาหลักค้ำจุนชาติสืบเนื่องต่อกันมาจากบูรพกษัตริย์ทุกพระองค์ ได้อย่างสมบูรณ์

ซึ่งจะขอนำมาเล่าให้อ่านกันอีกในปลายเดือนกรกฎาคม ปีหน้าครับ

ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน ด้วยเกล้า ด้วยกระหม่อม ขอเดชะ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top