สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง ทรงมีกระแสพระราชดำรัส หลัง กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงกราบทูล “สมัยนี้ไม่มีคนชมโขนแล้ว”

‘สมเด็จพระเทพฯ’ ทรงกราบทูลพระพันปีหลวงว่า “สมัยนี้ไม่มีคนชมโขนแล้ว” พระองค์จึงมีกระแสรับสั่งตอบว่า “เมื่อไม่มีใครดู แม่จะดูเอง”...

จากพระวิสัยทัศน์ใน สมเด็จพระพันปีหลวง สู่ความสำเร็จของโขนพระราชทาน มรดกโลกโดยยูเนสโก

การแสดงโขนของไทย ที่มีประวัติมายาวนานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นการรวมกันระหว่างศิลปะการร่ายรำ วรรณกรรม ดนตรี และศิลปะการออกแบบเครื่องแต่งกายเข้าไว้ในศาสตร์เดียวกัน ซึ่งอาจเปรียบเทียบได้กับการแสดงอุปรากร โอเปราของฝั่งตะวันตก

ถึงแม้ว่าในอดีตการแสดงโขนจะมีไว้เฉพาะสำหรับราชสำนัก และขุนนาง แต่การได้รับการอุปถัมภ์โดยชนชั้นสูงในสมัยนั้น ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้โขนได้รับการพัฒนาจนถึงขีดสุด เนื่องจากการพัฒนาศิลปะนั้นจำเป็นต้องใช้ทรัพยากร และเงินทอง เพื่อการพัฒนาศิลปะเฉพาะทาง

โขนได้รับการพัฒนาจนถึงขีดสุดในสมัยรัชกาลที่ 6 ด้วยพระราชนิยมที่ทรงโปรดศิลปวัฒนธรรม อย่างไรก็ดี ในรัชกาลที่ 7 เกิดเหตุการณ์เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก และสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้การแสดง และศิลปวัฒนธรรมทุกชนิดตกต่ำ หยุดการพัฒนา และแม้ในรัชกาลที่ 8 จะมีความพยายามที่จะฟื้นฟูให้คืนกลับมา แต่ก็ประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรผู้ฝึกสอน ประกอบกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เข้ามาซ้ำเติมให้วงการศิลปะของไทยดำดิ่งลงเหวไป

จนเมื่อมาถึงรัชกาลที่ 9 สภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยได้รับการพัฒนาให้มีความมั่นคง ประกอบกับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง  ทรงมีพระราชดำริว่าศิลปวัฒนธรรมอันดีงาม ที่ได้รับการสืบทอดมาแต่ครั้งบรรพชน กำลังค่อย ๆ เลือนหายไป 

จึงทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้มีการฟื้นฟูศิลปวิทยาดั้งเดิมของไทย ให้คืนกลับมาดังเดิม ซึ่งการฟื้นฟูดังกล่าว ไม่เพียงเป็นการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นการส่งเสริมอาชีพให้แก่พสกนิกรชาวบ้าน ให้มีอาชีพ มีงานทำ มีรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน และหนึ่งในศาสตร์นั้นก็คือการแสดงโขน นั่นเอง

พระองค์ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปิดสอนหัตถกรรมแทบทุกประเภทแก่บุตรหลานของราษฎรผู้ยากไร้ขึ้น ณ บริเวณสวนจิตรลดา และเปิดสอนสมาชิกในต่างจังหวัดในบริเวณพระราชนิเวศน์ทุกภาค ในเวลาที่พระองค์สมเด็จทรงเยี่ยมราษฎร ทรงรับเด็กยากจนที่มีการศึกษาน้อย รวมทั้งผู้ไม่เคยมีประสบการณ์ด้านการช่างใดๆ เข้าเป็นนักเรียนศิลปาชีพ ทรงเสาะหาครูผู้มีฝีมือที่ยังหลงเหลืออยู่มาถ่ายทอดผลงาน ทรงติดตามผลงานทุกชิ้น พระราชทานกำลังใจแก่สมาชิกทุกคนและโปรดที่จะทรงใช้สอยผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพทุกชนิด เพื่อเป็นแบบอย่างแก่ประชาชนทั่วไปด้วย

ต่อมาเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2519 ได้ก่อทรงตั้งมูลนิธิขึ้น พระราชทานว่า ‘มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษ ในพระบรมราชินูปถัมภ์’ พระราชทานทุนเริ่มแรก และทรงรับเป็นประธานกรรมการบริหารของมูลนิธิฯ ด้วยพระองค์เอง

ในเวลาต่อมาทรงสังเกตเห็นว่าสุนทรียะของการแสดงโขนซึ่งเป็นศิลปะการแสดงชั้นสูงประจำชาติไทยนั้น ลดน้อยด้อยลงไปจากเดิม ประกอบกับกรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงกราบทูลพระพันปีหลวงว่า สมัยนี้ไม่มีคนชมโขนแล้ว พระองค์จึงมีกระแสรับสั่งตอบว่า

“เมื่อไม่มีใครดู แม่จะดูเอง” 

ทุกวันนี้ ประชาชนชาวไทยไม่ใคร่มีโอกาสได้ชมโขน เนื่องจากการจัดการแสดงโขนแต่ละครั้งไม่ใช่เรื่องง่าย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประชุมผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโขน และงานหัตถศิลป์แขนงต่างๆ แล้วโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างเครื่องแต่งกายโขนขึ้นใหม่สำหรับใช้ในการแสดงโขนพระราชทาน โดยทรงกำชับให้ยึดถือรูปแบบเครื่องแต่งกายโขนแบบโบราณ แต่มีความคงทนและสวยงามยิ่งขึ้น มูลนิธิจึงสนองพระราชประสงค์ด้วยการฟื้นฟูพัฒนาโขน บูรณาการศิลปะไทยทุกแขนงเข้าด้วยกัน ผสมผสานกับเทคนิคการแสดงแสง สี เสียงสมัยใหม่ ก่อให้เกิดเป็นการแสดงโขนร่วมสมัย จนนำไปจัดแสดงต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกในปี 2550 ชุดพรหมมาส 

การแสดงโขนพระราชทานในครั้งนั้น ได้รับเสียงตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี มีการเรียกร้องให้มีการแสดงโขนขึ้นอีก พระพันปีหลวงจึงมีพระราชเสาวนีย์ให้มีการพัฒนาขึ้นอีก ก่อนจะจัดแสดงอีกครั้งในปี 2551 ซึ่งมีคนหนุ่มสาวและเด็ก ๆ จำนวนมากมีความสนใจชมโขนและยังพากันจูงผู้เฒ่าผู้แก่ในครอบครัวไปชมโขนกันอย่างเนืองแน่น จึงทรงโปรดฯ ให้มีการจัดแสดงโขนในทุก ๆ ปี และคนไทยก็เรียกว่า “โขนพระราชทาน” นับแต่นั้นมา

จากพระวิสัยทัศน์ ทำให้โขนไทยได้รับการพัฒนาสู่รูปแบบอื่น ๆ อาทิละคร และภาพยนตร์ จนต่อมาเมื่อวันที่ 29 พ.ย. 61 องค์การยูเนสโก (UNESCO) ประกาศขึ้นทะเบียน ‘โขน’ ประเทศไทย ภายใต้ชื่อภาษาอังกฤษว่า ‘Khon, masked dance drama in Thailand’ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ในประเภท ‘รายการตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ’

สำหรับล่าสุดนี้ ปี 2566 มูลนิธิ ฯ จัดแสดงโขนพระราชทานชุดล่าสุดตอน ‘กุมภกรรณทดน้ำ’ เป็นตอนที่กุมภกรรณคิดกลวิธีทำศึก นิมิตกายลงไปใต้น้ำ ทำพิธีทดน้ำ นอนขวางแม่น้ำไว้ เพื่อขัดขวางกองทัพพระราม ทำให้แม่น้ำเหือดแห้ง

การแสดงในครั้งนี้ ใช้นักแสดงรุ่นใหม่ ที่มีใจรักสืบสานศิลปวัฒนธรรมที่ได้รับการรักษาตกทอดมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ และมีการต่อยอดด้วยการประยุกต์เทคนิค แสง สี เสียงสมัยใหม่ เพื่อให้การแสดงโขนมีความตื่นตาตื่นใจยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม

การแสดงจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5 พฤศจิกายน ถึง 5 ธันวาคมนี้ ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย จำหน่ายบัตรแล้ววันนี้ที่ไทยทิกเก็ตเมเจอร์ทุกสาขา บัตรราคา 2,000 บาท 1,800 บาท 1,000 บาท 800 บาท และ 600 บาท