Monday, 6 May 2024
ก้าวไกล

'พิธา' ยกทีมก้าวไกล เยี่ยมคารวะ ฯพณฯ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีใต้ ถกความร่วมมือ 'ไทย - เกาหลีใต้' Hard - Soft Power 

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘Pita Limjaroenrat – พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ หลังได้เข้าเยี่ยมเพื่อคารวะ ฯพณฯ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีใต้ ประจำประเทศไทย Moon Seoung-hyun ว่า...

ผมและคณะจากพรรคก้าวไกลได้เข้าเยี่ยมเพื่อคารวะ ฯพณฯ เอกอัครราชทูต Moon Seoung-hyun ครับ เราได้หารือกันถึงความร่วมมือระหว่างไทยและเกาหลีใต้ทั้งในมิติ Hard และ Soft Power 

เราได้พูดคุยกันถึงความร่วมมือทางการทหารที่มีประวัติศาสตร์ย้อนไปตั้งแต่ในสมัยสงครามเกาหลี (ค.ศ. 1950-1953) ที่ประเทศไทยร่วมส่งทหารรวม 11,786 เข้าร่วมกับกองกำลังของสหประชาชาติไปช่วยเกาหลีใต้ ซึ่งเกาหลีใต้มีความรู้สึกขอบคุณวีรกรรมของกองพันพยัคฆ์น้อยของไทยที่ไปช่วยรบในสงครามเกาหลีมากครับ ปธน. คนก่อนตอนมาเยือนไทยก็ขอเข้าเยี่ยมทหารผ่านศึกสงครามเกาหลี และจับมือขอบคุณทุกคนด้วยตัวเอง และในปัจจุบันเรือรบที่ทันสมัยที่สุดของกองทัพเรือไทยเองก็มาจากเกาหลีใต้ครับ 

'วิโรจน์' ลงพื้นที่บางมด ขอคะแนนเสียงโค้งสุดท้าย ชูนโยบาย 'ลอกท่อทั่วเมือง ลอกคลองทั่วกรุง' แก้น้ำท่วมขัง

เมื่อวันที่ 7 พ.ค. นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครผู้ว่า กทม. เบอร์ 1 และนายธัญธร ธนินวัฒนาธร ผู้สมัคร ส.ก. เขตจอมทอง เบอร์ 4 พรรคก้าวไกล เดินตลาดเช้าบริเวณหมู่บ้านสินทวี บางมด ถนนพระราม 2 ซอย 43 ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ตั้งอยู่สองฝั่งถนนในหมู่บ้าน เพื่อทักทายพี่น้องประชาชน ขอคะแนนเสียงในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงนี้ 

นายวิโรจน์ กล่าวว่า ตนมีความมั่นใจเต็มร้อยในศึกเลือกตั้ง แม้เหลือเวลาอีกประมาณ 10 วันก็ตาม โดยเมื่อค่ำวันที่ 6 พ.ค. ได้ขึ้นเวทีปราศรัย Flash Meet ครั้งที่ 4 ซึ่งจัดเป็นประจำในทุกสัปดาห์ เน้นการสื่อสารสั้น กระชับ และได้ใจความของนโยบาย เพราะตนต้องการเปลี่ยนแปลง กทม. และเร่งเปิดเมืองเพื่อกระตุ้นเศรษกิจ ความเป็นอยู่และปากท้องของคนกทม. วันนี้ก็มีพ่อค้าแม่ขายจำนวนมากในตลาด แสดงความเห็นเกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจที่ซบเซา ซึ่งตนให้คำสัญญากับพี่น้องประชาชนว่า พร้อมเปิดเมืองเพื่อให้คนกทม.ได้ใช้ชีวิตปกติ โดยอันดับแรกจะต้องทำให้ประชาชนมั่นใจในการจัดการโรคระบาดเสียก่อนจึงจะกล้าออกมาใช้ชีวิต กล้าจับจ่ายใช้สอย เมื่อถึงวันนั้นเศรษฐกิจก็จะฟื้นตัวกลับมา

'เพชร กรุณพล' ซัด ผบ.ทบ. ปมแบน 'ลาซาด้า' ชี้ ไม่ใช่หน้าที่กองทัพ สะท้อนทัศนคติล้าหลัง

เพชร กรุณพล ซัด ผบ.ทบ. กรณีสั่งแบนลาซาด้าไม่ใช่หน้าที่กองทัพสะท้อนทัศนคติล้าหลัง ดีแต่ใช้อำนาจ ยิ่งสร้างความแตกแยกหวาดกลัวในยุคข้าวยากหมากแพง

กรุณพล เทียนสุวรรณ รองโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่ กองทัพบกห้ามลาซาด้าเข้าพื้นที่ทหารทั่วประเทศตามที่ พลเอกณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบกมีคำสั่ง ว่าไม่คิดบุคคลที่มีตำแหน่งถึงผู้บัญชาการทหารบกจะมีคำสั่งที่ไม่เข้าใจโลกขนาดนี้ อีกทั้งกองทัพเป็นหน่วยงานรัฐควรวางตัวเป็นกลางไม่เลือกปฏิบัติต่อเอกชนผู้ให้บริการรายใด รวมถึงกองทัพไม่มีหน้าที่ชี้นำต่อสังคมว่าควรหรือไม่ควรใช้บริการใด 

นอกจากนี้ การออกมาแบนโดยอ้างเหตุเรื่องพฤติกรรมไม่เหมาะสมและสร้างความแตกแยก ยิ่งเป็นการสร้างบรรยากาศความหวาดกลัวในสังคม ทั้งยังเป็นการผลักภาระให้กลุ่มธุรกิจ โดยเฉพาะพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์รายเล็กรายน้อย ซึ่งหากการชี้นำของกองทัพในครั้งนี้มีผลในการสร้างความลำบากติดขัดของการดำเนินธุรกิจทั้งที่ควรสนับสนุนให้มีความสะดวกยิ่งขึ้นในยามเศรษฐกิจแบบนี้ยิ่งเท่ากับว่า กองทัพไทยกำลังเป็นแกนนำในการแบนธุรกิจ ผู้ประกอบการ และพาทเนอร์ที่ทำการค้าในแพลทฟอร์มนี้ให้ได้รับผลกระทบและต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่กำลังจะเกิดขึ้น

"ผมคิดว่าถ้าท่านไม่รู้เรื่องอะไรก็อย่าเสนอหน้าเข้าไปยุ่งเลย ปกติลำพังการซื้ออาวุธคนเขาก็ระอาใจกับพวกท่านพอแล้ว หากคุณไม่เคยสนับสนุนอะไรกับประชาชนที่เขาทำมาหากิน ก็อย่าไปสร้างความลำบากให้พวกเขาดีกว่า"

‘ณธีภัสร์’ ส.ส.ก้าวไกล รายงานตัว สน.ลุมพินี คดีฝ่า ‘พ.ร.ก.ฉุกเฉิน’ ร่วมม็อบ ‘สมรสเท่าเทียม’

ณธีภัสร์ ก้าวไกล จวก รัฐบาลใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ริดรอนสิทธิตามรัฐธรรมนูญของประชาชน ยืนยัน ร่วมสู้ไปกับผู้ต้องหาอีก 19 คน เพื่อผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียม 

ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ สัดส่วนผู้มีความหลากหลายทางเพศ พรรคก้าวไกล เดินทางไปพบตำรวจ สน.ลุมพินี ตามหมายเรียก จากข้อกล่าวหาฝ่าฝืน ‘พ.ร.ก.ฉุกเฉิน’ กรณีการชุมนุมที่แยกราษฎรประสงค์ เพื่อเรียกร้องการสมรสเท่าเทียม หรือ #ม็อบ28พฤศจิกา โดยมี ณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล, ใธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ สัดส่วนผู้มีความหลากหลายทางเพศ, เบญจา แสงจันทร์, วรรณวิภา ไม้สน และกัญจน์พงศ์ จงสุทธนามณี  ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ไปร่วมให้กำลังใจ

ณธีภัสร์ กล่าวว่า รัฐบาลใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในการริดรอนสิทธิการแสดงออกหรือสิทธิการชุมนุมของประชาชนซึ่งเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาเป็นเวลากว่า 2 ปีแล้ว และปัจจุบันยังคงใช้อยู่ มีผู้ที่ถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.ก. ฉบับนี้ เป็นจำนวนมากทั้งที่ควรยกเลิกไปได้แล้ว 

“วันนี้มาเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจและแสดงเจตจำนงว่าไม่หลบหนี ยืนยันว่าจะต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมร่วมไปกับพี่น้องประชาชนอีก 19 คน ที่โดนคดีเดียวกันจากการไปร่วม ม็อบสมรสเท่าเทียม คดีนี้เกิดขึ้นเพียงเพราะพวกเราไปเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศให้กับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศมีสิทธิสร้างครอบครัวและได้สิทธิสมรสอย่างที่ควรได้ ซึ่งบางคนโดนหมายไปแล้วหลายคดี แต่พวกเขายังยืนหยัดต่อสู้อย่างไม่ลดละ” 

ณธีภัสร์ กล่าวต่อว่า เมื่อประชาชนต่อสู้และเพื่อให้การต่อสู้ของพวกเขาไม่สูญเปล่า จึงหวังว่า ในวันที่ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม กลับเข้าสู่สภาอีกครั้ง ส.ส.ที่พี่น้องประชาชนไว้วางใจให้เป็นตัวแทนปากเสียงของพวกเขาและทุกท่านที่เคยอภิปรายสนับสนุน พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ในครั้งก่อน จะไม่ผิดสัญญากับผู้มีความหลากหลายทางเพศ กฎหมายสมรสเท่าเทียมจะต้องไม่ถูกปัดตก กฎหมายสมรสเท่าเทียมจะต้องไม่ถูกบิดเบือนให้เป็นกฎหมายฉบับอื่นที่ริดรอนสิทธิความเสมอภาคและความเป็นมนุษย์ของผู้มีความหลากหลายทางเพศ 

‘ธัญวัจน์’ หนุน ม.บูรพา ยกเลิกคำนำหน้าระบุเพศ ชี้ เป็นก้าวแรกสู่ความเสมอภาคทางเพศ

ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ สัดส่วนผู้มีความหลากหลายทางเพศ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีสภานิสิตมหาวิทยาลัยบูรพาประกาศยกเลิก คำนำหน้าระบุเพศ เป้าหมายคือความเสมอภาคทางเพศ หลังจากการประกาศนำร่องดังกล่าวนั้น สโมสรนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยประกาศยกเลิกการใช้คำนำหน้าเช่นเดียวกัน

ธัญวัจน์ กล่าวว่า กรณีนี้สังคมอาจมองเป็นก้าวเล็กๆ ของสภานิสิต แต่ ธัญวัจน์ มองว่ามีผลต่อภาพใหญ่ของสังคม เพราะในอนาคตอาจไม่ต้องการใช้คำนำหน้าชื่อแต่อย่างใดเพื่อระบุเพศ

ธัญวัจน์ อธิบายต่อว่าคำนำหน้าชื่อมีผลอย่างไรต่อความเสมอภาคทางเพศ โดยยกตัวอย่างจากในอดีตที่ผ่านมา พระราชบัญญัติคำนำหน้าหญิง เคยบัญญัติให้ ผู้หญิงที่ยังไม่ได้สมรสและอายุมากกว่า 15 ปีให้ใช้คำว่า นางสาว นำหน้าชื่อ แต่หากสมรสแล้วให้ใช้คำว่า นาง นำหน้าชื่อ ซึ่งสองคำนี้ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของผู้หญิง เพราะคำว่า “นางสาว” ถูกให้คุณค่าแบบหนึ่ง และคำว่า “นาง” ถูกให้คุณค่าอีกแบบหนึ่งซึ่งไม่เท่ากัน จนนำมาสู่การแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคำนำหน้าหญิง ให้ผู้หญิงสามารถเลือกใช้คำนำหน้าใดก็ได้ภายหลังจากการสมรส

ด้านสภาผู้แทนราษฎรของสหราชอาณาจักรได้ออกกฎหมาย Gender Recognition เมื่อปี 2547 ที่ให้บุคคลข้ามเพศ (Transgender) สามารถเปลี่ยนคำนำหน้าตามเพศสภาพได้ จากปัญหาที่เพศสภาพไม่ตรงกับเอกสารทำให้กลุ่มคนข้ามเพศประสบปัญหาในการดำเนินชีวิตรวมถึงการเดินทางในต่างแดน และมีอีกหลายประเทศมีกฎหมายดังกล่าวออกมาเช่นกัน อาทิเช่น สเปน อาเจนตินา อุรุกวัย เป็นต้น 

'วิโรจน์-สก. ก้าวไกล' แท็กทีม 'ชัชชาติ' ลุยสำรวจปัญหาคลองลาดพร้าว

วิโรจน์ ควง ส.ก. ก้าวไกล ลาดพร้าว-จตุจักร เริ่มลุยงานร่วมกับชัชชาติ ผู้ว่า กทม. คนใหม่ทันทีหลังการเลือกตั้ง โดยลงเรือดูปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในพื้นที่รอบคลองลาดพร้าว พร้อมหารือแนวทางแก้ปัญหา พร้อมประสานความร่วมมือเพื่อประโยชน์ของประชาชน

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร อดีตผู้สมัครผู้ว่า กทม. พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้ประสานงาน ส.ก.  พรรคก้าวไกลทั้ง 14 เขต ร่วมลงพื้นที่หารือปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากรอบคลองลาดพร้าว กับชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้ว่า กทม. พร้อมกับณภัค เพ็งสุข ว่าที่ ส.ก. เขตลาดพร้าว พรรคก้าวไกล และอภิวัฒน์ ด่านศรีชาญชัย ว่าที่ ส.ก. เขตจตุจักร พรรคก้าวไกล ในฐานะ ส.ก. พรรคก้าวไกลในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาคลองลาดพร้าว พร้อมกับว่าที่ส.ก. จากพรรคเพื่อไทยอีกสองเขต

โดยวิโรจน์กับชัชชาติและคณะ ร่วมกันลงเรือสำรวจสภาพพื้นที่ จากจุดวัดลาดพร้าวไปจนถึงประตูระบายน้ำคลองลาดพร้าว ก่อนย้อนกลับไปถึงประตูระบายน้ำคลองบางซื่อ ชุมชนบ้านมั่นคง รวมทั้งจุดกักขยะในคลอง และดูระบบการคัดแยกขยะโดยบริษัทเอกชน โดยมี ส.ก. จากพรรคก้าวไกล ร่วมนำการสำรวจปัญหาพร้อมบรรยายลักษณะปัญหาของพื้นที่

ซึ่งทั้งว่าที่ ส.ก. เขตลาดพร้าว และว่าที่ ส.ก. เขตจตุจักร ของพรรคก้าวไกล ที่ติดตามปัญหาดังกล่าวมาตั้งแต่ก่อนลงสมัครเป็น ส.ก. ระบุว่าปัญหาที่เกิดขึ้น แน่นอนว่าส่วนหนึ่งมาจากปริมาณขยะที่อยู่ในคลอง ทำให้การระบายน้ำติดขัด ในเบื้องต้นได้หารือกับผู้ว่าฯ แล้ว ว่าสิ่งที่สามารถแก้ไขได้ในเบื้องต้นทันที คือการปรับระดับน้ำในคลอง เช่น การขุดลอกเพื่อให้สามารถรองรับการระบายน้ำได้มากขึ้น และการนำเอาสิ่งกีดขวาง เช่น ประตูระบายน้ำที่ไม่ได้ใช้งานมานานแล้ว ซึ่งเป็นจุดที่มีปริมาณขยะมาสะสม ออกไปให้การระบายน้ำเป็นไปโดยสะดวกขึ้น

‘พิธา’ ชี้กรณีจัดงบฯ ปี’66 เปรียบเหมือน "ช้างป่วยที่ปรับตัวไม่ได้" - ชำแหละ 3 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เป็นปีแห่งความหวังและการฟื้นฟูแต่กลับจัดงบฯ ไม่ตอบโจทย์

ที่ อาคารอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกล จัดกิจกรรม "Hackathon งบ 66 : ร่วมออกแบบ #งบประมาณฉบับก้าวไกล ที่เราอยากเห็น" ต่อเนื่องเป็นวันที่สอง โดยมีประชาชนร่วมตรวจสอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 และมีการนำเสนอ หลังจากมีการแบ่งกลุ่มไปตรวจสอบงบฯ ในด้านต่างๆ ตามที่ตนสนใจ อาทิ เศรษฐกิจ เกษตรกร การศึกษา สาธาณสุข สวัสดิการ ความมั่นคง สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐาน รายได้รัฐ ปลดล็อกท้องถิ่น เป็นต้น 

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า แผนการอภิปราย พ.ร.บ งบฯ เราต้องการที่จะชี้แจงให้เห็นว่า ปีนี้เป็นปีแห่งการฟื้นฟูประเทศ เพราะด้วยปัจจัยไม่ว่าจะเป็น 1.เรื่องสถานการณ์โควิดที่ทั่วโลกจากเคยมีผู้ติดเชื้อสูงสุด 4 ล้านคน ตอนนี้เหลืออยู่แค่ 5 แสนคน ขณะเดียวกันอัตราเสียชีวิตก็ลดลง การฉีดวัคซีนก็เยอะขึ้น การท่องเที่ยวการเดินทางเริ่มกลับมา 2. การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ผ่านมาซึ่งทำให้คนมีความหวังผ่านการเลือกตั้ง ซึ่งปีหน้าก็จะมีการเลือกตั้งใหญ่ด้วย และ 3. บทอวสานของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.ที่ครบ 8 ปีแล้ว ซึ่งอาจจะต้องสิ้นสุดลง ทั้ง 3 ปัจจัยนี้คือสิ่งที่ตนเห็นว่าคือความหวัง และเราต้องสร้างความหวังด้วยการจัดงบฯ ปีนี้ให้ดี เพื่อให้ประเทศไทยไปข้างหน้าและสามารถปรับตัวได้ใน 10 ปี แต่ถ้ายังจัดงบฯ แบบเดิมๆ ในทางตรงกันข้ามก็จะถอยหลังไปอีก 10 ปี เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น ปีนี้เป็นปีที่มีความสำคัญมากๆ น้ำขึ้นต้องรีบตัก ซึ่งจะตักได้มากก็ขึ้นอยู่กับว่ากระบวยของประเทศนั้นใหญ่แค่ไหน แต่ถ้ากระบวยยังเท่าเดิม คือจัดสรรงบแบบเดิมก็ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์

"อย่างไรก็ตาม แต่เมื่อดูการจัดงบฯ ปี 2566 แล้ว เปรียบไปก็เหมือนกับว่าเป็นการจัดงบฯ ในลักษณะเป็นช้างป่วยที่ปรับตัวไม่ได้ เพราะถ้าไปดูที่ได้รับมากที่สุดก็คือ งบกลาง  8 แสนกว่าล้าน และนอกจากนี้ 80 เปอร์เซ็นต์ ก็ถูกใช้ไปกับงบฯ บำนาญและสวัสดิการข้าราชการ ส่วนถ้าไปดูงบฯ ที่ปรับสูงมากที่สุดเมื่อเทียบกับปีที่แล้วคืองบฯ รัฐวิสาหกิจ โดยหน่วยรับที่ได้สูงสุด คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ หรือ ธกส. ซึ่งปรากฏว่าก็เป็นงบฯ ที่จ่ายอุดหนุนการเกษตรที่ย้อนหลังไปจนถึงปี 2551 จึงอาจกล่าวได้ว่า แทนที่จะเป็นการจัดงบฯ เพื่อฟื้นฟูไปสู่อนาคต แต่เป็นการจัดงบฯ ของอดีต สมมติว่าประเทศเราเก็บภาษีได้ 100 บาท พบว่า 70 บาทถูกใช้จ่ายกับอดีตจนหมดเลย ทั้งเงินบำนาญและสวัสดิการข้าราชการ เงินกู้ จะมีเหลืออยู่เพียง 30 บาทที่สำหรับบริหารในอนาคต" พิธา กล่าว

'ก้าวไกล' ขวาง 'ภท' เลื่อน ส.ส.แทน 'สำลี รักสุธี' หวั่นเปิดช่อง ซื้อ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอื่นได้

(2 มิ.ย.65) ที่รัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล แถลงถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยให้ นายสำลี รักสุธี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย สิ้นสุดสมาชิกภาพ ส.ส. แล้วให้เลื่อน ส.ส.บัญชีรายชื่อจากพรรคการเมืองนั้นขึ้นมา ว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุการเลื่อนบัญชีส.ส.บัญชีรายชื่อจากบัญชีใด การที่ศาลรัฐธรรมนูญระบุให้เลื่อนจากพรรคนั้น อาจตีความได้ว่าเป็นการเลื่อนของพรรคภูมิใจไทย ถ้าเป็นแบบนั้นจริง จะก่อให้เกิดปัญหาทางกฎหมายและปัญหาทางการเมืองตามมา เพราะถ้าเทียบเคียงกรณีศาลมีคำวินิจฉัยให้ น.ส.ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่พ้นสมาชิกภาพกรณีถือหุ้นสื่อ ศาลวินิจฉัยชัดเจนไม่สามารถเลื่อนบัญชีรายชื่อแทนที่ว่างได้ เพราะพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ กรณีนี้คล้ายกัน แต่ศาลรัฐธรรมนูญเขียนคำวินิจฉัยต่างออกไป

นายรังสิมันต์ กล่าวว่า และถ้าให้มีการเลื่อนลำดับขึ้นมาได้จะขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 91 เกี่ยวกับเรื่อง ส.ส.พึงมี เพราะหากให้เลื่อนบัญชีของพรรคภูมิใจไทย จะทำให้มี ส.ส.บัญชีรายชื่อเกินกว่า ส.ส.พึงมีของพรรคจากการเลือกตั้ง ทำให้คะแนนของพรรคอนาคตใหม่ถูกโอนไปพรรคภูมิใจไทยใช่หรือไม่ ซึ่งไม่ใช่สิ่งพึงปรารถนาทางการเมือง เป็นการส่งเสริมให้มีกระบวนการงูเห่า อาจมีการซื้อ ส.ส.บัญชีรายชื่อจากพรรคการเมืองอื่นได้ พรรคก้าวไกลจึงกังวล และขอเรียกร้องไปยัง นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ อย่าเพิ่งเลื่อนบัญชีขึ้นมา ให้รอดูคำวินิจฉัยตัวเต็มก่อน และขอตั้งข้อสังเกตว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอาจกระทำไปโดยผิดพลาดคลาดเคลื่อน ลืมนึกไปว่านายสำลี มีส.ส.ต้นทางจากพรรคอนาคตใหม่


ที่มา: https://www.thaipost.net/politics-news/153657
 

'ก้าวไกล' เชือดขั้น 3 ส.ก.เขตวัฒนา หลังมีผู้ร้องเรียนคุกคามทางเพศ

เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 5 มิถุนายน 2565 ที่พรรคก้าวไกล น.ส.สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา ส.ส.นครปฐม และรองโฆษกพรรคก้าวไกล (ก.ก.) แถลงกรณีที่มีผู้ร้องเรียนให้ตรวจสอบพฤติกรรมของสมาชิกพรรค ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตวัฒนา โดยผู้ร้องเรียนระบุว่าสมาชิกพรรคคนดังกล่าวกระทำการคุกคามก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญทางเพศต่อพนักงานในบริษัท ว่า พรรคก้าวไกล โดยคณะกรรมการวินัยจรรยาบรรณสมาชิกพรรคได้แสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานจากฝ่ายผู้ร้องและผู้ถูกร้องที่นำมาชี้แจง และได้พิจารณาบนพยานหลักฐานที่มี

น.ส.สุทธวรรณ กล่าวว่า ปรากฏข้อเท็จจริงดังนี้ กรณีที่ผู้ร้องระบุว่าผู้ถูกร้องมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมมีการสัมผัสเป้ากางเกงของตนเองต่อหน้าผู้ร้อง จากการตรวจสอบพยานหลักฐานในวันดังกล่าวมีคนอยู่ในห้องหลายคน ฝ่ายผู้ร้องไม่มีพยานและหลักฐานมาแสดง ส่วนผู้ถูกร้องมีพยานยืนยันว่าอยู่ในห้องที่เกิดเหตุและพยานไม่เห็นเหตุการณ์ดังกล่าว พรรคจึงไม่สามารถวินิจฉัยกรณีนี้ว่าผู้ถูกร้องกระทำความผิดจริงได้

น.ส.สุทธวรรณ กล่าวว่า กรณีที่ผู้ร้องระบุว่าถูกเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมและไม่ได้รับเงินชดเชยตามกฎหมาย โดยผู้ถูกร้องยืนยันว่าเป็นการเลิกจ้าง เนื่องจากไม่ผ่านการทดลองงาน ซึ่งตามกฎหมายนายจ้างมีสิทธิ์เลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายเงินชดเชย แต่ต้องจ่ายค่าไม่บอกกล่าวการเลิกจ้างล่วงหน้าในอัตราเท่ากับเงินเดือน 1 เดือน ซึ่งผู้ถูกร้องยินดีจ่ายให้ผู้ร้องและจะดำเนินการโดยเร็วที่สุด

น.ส.สุทธวรรณ กล่าวว่า กรณีที่ผู้ร้องมีหลักฐานในการพูดคุยในไลน์ 1 ครั้ง เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2564 กรณีนี้มีหลักฐานทางไลน์ชัดเจน ข้อความในไลน์มีการชมว่าผู้ร้องสวยหุ่นดี และขอดูรูปถ่ายของผู้ร้อง เป็นการก่อความเดือดร้อนรำคาญทางเพศด้วยวาจาและกระทบต่อความรู้สึกและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ร้องเรียนเข้าข่ายผิดวินัยร้ายแรงเนื่องจากพฤติกรรมไม่สอดคล้องกับอุดมการณ์และคุณค่าของพรรคที่ยึดถือเคารพความหลากหลายเท่าเทียมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

“ความผิดทางวินัยของสมาชิกพรรคมี 4 สถาน 1.ตักเตือน 2.ภาคทัณฑ์ 3.ตัดสิทธิที่พึ่งมีในฐานะสมาชิก 4.ให้พ้นจากสมาชิกภาพ โดยพรรคมีมาตรการตัดสิทธิ์บางประการในฐานะสมาชิกพรรคซึ่งเป็นความรับผิดทางวินัยขั้นที่ 3 ซึ่งผู้ถูกร้องจะไม่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในพรรคและพรรคจะไม่เสนอรายชื่อให้ดำรงตำแหน่งสำคัญในสภากรุงเทพมหานครเป็นเวลา 1 ปีและหากผู้ถูกร้องยังมีการกระทำโทษให้พ้นจากสมาชิกภาพทันที” น.ส.สุทธวรรณ กล่าว

'ก้าวไกล' ก้าวต่อ ขอทวงคืน 'ทรงผม' ให้ตำรวจ  'สั้น-ยาว' ได้ ขอแค่ 'สุภาพ-เรียบร้อย'

‘ปฏิรูปตำรวจ’ ไม่จริง ‘สารวัตรเพียว’ สะท้อน เสียงข้างน้อยแพ้โหวต ‘กระจายอำนาจ’  ยืนยัน ‘ก้าวไกล’ เป็นรัฐบาลขอปรับโครงสร้างตำรวจใหม่ เผย สัปดาห์หน้าสู้ต่อ ‘ทวงคืนทรงผม’ ให้ตำรวจ

พันตำรวจตรี ชวลิต เลาหอุดมพันธ์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล หรือสารวัตรเพียว แสดงความเห็นต่อบรรยากาศการพิจารณา พ.ร.บ.ตำรวจ วาระที่ 2 ซึ่งเป็นการพิจารณารายมาตราช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า สามารถพิจารณาไปได้เพียง 14 มาตราจาก 172 มาตรา เท่านั้น อย่างไรก็ตาม มีหลายมาตราที่ตนในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อยได้สงวนความเห็นเอาไว้ หากผ่านก็จะสามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตำรวจ ทำให้ตำรวจไทยดีขึ้นได้ทันที โดยเฉพาะมาตราที่เกี่ยวกับการกระจายอำนาจไปให้จังหวัด ลดการรวมศูนย์ไว้ที่ส่วนกลาง ซึ่งเป็นโมเดลเดียวกับที่องค์กรตำรวจญี่ปุ่นใช้ โดยทั่วโลกให้การยอมรับว่าเป็นองค์กรตำรวจที่ดีอันดับต้นๆ ของโลกและมีบริบทที่คล้ายคลึงกันไม่ว่าการเป็นรัฐเดี่ยวหรือการเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข 

พันตำรวจตรี ชวลิต กล่าวต่อไปว่า ในการอภิปรายมาตรา 13  กรรมาธิการเสียงข้างมากมีการเพิ่มมาตราขึ้นใหม่ต่อจากมาตรา 13 หลายมาตรา ตนจึงได้ขอเพิ่มใหม่เช่นกันเพื่อไปสู่ข้อเสนอสำคัญคือ การกำหนดให้มี ‘กรรมการนโยบายตำรวจจังหวัด’ และ ‘กรรมการนโยบายตำรวจนครบาล’ และเป็นข้อเสนอที่ภูมิใจที่จะบอกว่า เป็นการปฏิรูปได้เต็มปาก

“การจัดโครงสร้างอำนาจแบบที่ผมเสนอจะเปลี่ยนระบบราชการตำรวจให้มีประสิทธิภาพขึ้นได้ แต่ถึงสภานี้โหวตให้ข้อเสนอไม่ผ่าน อย่างน้อยก็จะเป็นพื้นที่ที่ทำให้ประชาชนทางบ้านได้เห็นว่า รัฐบาลก้าวไกล ในการเลือกตั้งครั้งหน้าที่จะถึงจะพลิกเปลี่ยนระบบราชการไทยให้มีประสิทธิภาพ มีอนาคตที่สดใส เทียบประเทศที่เจริญแล้วได้อย่างไร”

พันตำรวจตรี ชวลิต กล่าวต่อไปว่า การบริหารองค์กรยุคใหม่ต้องเลิกสายบังคับบัญชาที่ยาว ทำให้ระบบงานอุ้ยอ้าย เปลี่ยนเป็นสายบังคับบัญชาสั้นลง เคารพกันมากขึ้น เจ้านายเคารพลูกน้อง ลูกน้องเคารพเจ้านาย
เปลี่ยนจากโครงสร้างที่ต้องให้เจ้านาย กด ขี่ ควบคุม ลูกน้อง เจ้านายถูกเสมอ ใช้อำนาจแบบบนลงล่าง
เปลี่ยนเป็น โครงสร้างที่ให้ความสำคัญกับคนหน้างาน โดยเจ้านายเป็นผู้สนับสนุนทรัพยากร ให้ลูกน้องทำงานได้ดี ทุกคนมีคุณค่าเท่ากัน การจะเปลี่ยนอนาคตให้เป็นแบบนี้ได้ จะต้องทำลายโครงสร้างอำนาจแบบรัฐรวมศูนย์

ตอนอภิปรายในมาตรา 7 เราเห็นปัญหางบประมาณ เพราะจากส่วนกลางคือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่เป็นหน่วยรับและจัดงบ กว่าจะไหลหยดไปทีละชั้น ก็มองแต่อะไรใกล้ตัว จนกลายเป็นงบซื้อเครื่องบิน สร้างตึกหรู ทำให้งบที่ไหลลงตำรวจภาคเหลือน้อยกว่าที่ควรจะเป็น พอไปถึงระดับตำรวจภาคก็ทำแบบเดียวกัน กว่าจะถึงสถานีตำรวจ คนหน้างานที่บริการรับใช้ประชาชนก็ขาดแคลนงบตลอดเวลา

สำหรับการจัดโครงสร้างอำนาจใหม่ให้เป็นการกระจายมากกว่าเป็นรัฐราชการรวมศูนย์ พันตำรวจตรี ชวลิต อภิปรายว่า ต้องทำให้สายบังคับบัญชาสั้นลง โดยตัดอำนาจบังคับบัญชาระหว่างตำรวจภาคกับตำรวจจังหวัด และตัดอำนาจบังคับบัญชาระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติกับตำรวจนครบาล แล้วเปลี่ยนจากอำนาจบังคับบัญชาให้เป็นการสนับสนุน จากนั้นจึงให้มี ‘คณะกรรมการนโยบายตำรวจจังหวัด’ และ ‘คณะกรรมการนโยบายตำรวจนครบาล’ มาเป็นผู้บังคับบัญชาแทน เพื่อให้สามารถดูแลจัดการพื้นที่ได้ตามสภาพแต่ละจังหวัดที่มีบริบทแตกต่างกันไป

สำหรับคุณสมบัติหรือที่มาของ คณะกรรมการนโยบาย ได้เสนอให้ คณะกรรมการนโยบายตำรวจนครบาล มาจาก ‘ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร’ สรรหามาจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์ ในทางด้านนิติศาสตร์ การบริหารรัฐกิจ การเงินการคลัง จิตวิทยาองค์การ และสังคมวิทยา ด้านละหนึ่งคน และให้ สภา กทม. รับรอง ส่วนของจังหวัดแต่ละจังหวัด ก็ทำไปในกระบวนการลักษณะเดียวกัน และกำหนดให้ตั้งอนุกรรมการทำหน้าที่ต่างๆ เช่น ติดตามผลการดำเนินงานและรับเรื่องร้องเรียน การประชุมต้องโปร่งใส ประชาชนเข้าถึงรายงานการประชุม และมติการประชุมได้ง่าย

“โครงสร้างอำนาจแบบกระจายอำนาจแบบนี้ เอาแบบมาจากตำรวจญี่ปุ่น พ.ร.บ. ตำรวจ ญี่ปุ่น วางโครงสร้างไว้ตั้งแต่หลังจบสงครามโลก โดยไม่แก้เลยเป็นเวลา 70 ปีแล้ว ผลก็คือได้รับการจัดอันดับให้เป็นองค์กรตำรวจที่ดีอันดับต้นๆ ของโลก นี่คือพิสูจน์มาแล้ว ประเทศไทยคงไม่ต้องมาลองผิดลองถูกอีกแล้ว การปรับนิดๆ หน่อยๆ แต่ยังคงความเป็นอำนาจรวมศูนย์เหมือนเดิมไม่ใช่การปฏิรูป การปฏิรูปตำรวจ จริงๆ คือ ต้องกระจายอำนาจให้เกิดขึ้นจริง”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top