Monday, 6 May 2024
ก้าวไกล

‘ครูธัญ’ ยินดีหน่วยงานตระหนักรู้ความเท่าเทียม หลังเขตบางขุนเทียน จัดจดทะเบียนคู่รัก LGBTQ+

‘ปักธงสมรสเท่าเทียม’ โดยภาครัฐ ‘ครูธัญ’ ชม สำนักงานเขตบางขุนเทียน จัดจดทะเบียนสมรสคู่รัก LGBTQ+ 14 กุมภาพันธ์ วันแห่งความรัก ชี้ ยอมให้แสดงสัญลักษณ์ แม้ยังไม่มีผลทางกฎหมาย คือความก้าวหน้า

วันที่ 14 ก.พ. 65 ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้เสนอร่าง ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉบับที่ พ.ศ. …. หรือ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม กล่าวชื่นชมสำนักงานเขตบางขุนเทียน ที่จัดกิจกรรมจดทะเบียนสมรสคู่รักผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ+ ที่ศูนย์การค้า The Bright พระราม 2 โดยระบุว่า เป็นอีกกิจกรรมที่สามารถสร้างความตระหนักรู้ในประเด็นความหลากหลายทางเพศได้ แต่สิ่งที่น่าเสียดายคือการจดทะเบียนในวันนี้จะยังไม่มีผลทางกฎหมาย อย่างไรก็ดี ตนรู้สึกมีความยินดีที่หน่วยงานราชการมีความตระหนักรู้และให้ความสำคัญต่อประเด็นความไม่เท่าเทียมที่ยังมีอยู่ในสังคม โดยเข้ามาร่วมเป็นหนึ่งในตัวตั้งตัวตี มีส่วนในการร่วมเปลี่ยนแปลงผลักดัน แม้ในเชิงสัญลักษณ์ก็ถือว่าเป็นก้าวแรกที่สำคัญ  

‘สุรเชษฐ์ ก้าวไกล’ ชี้ รัฐอุ้มเจ้าสัวรถไฟฟ้าทำค่าโดยสารแพง ลั่น! ต้องกล้าชนทุนใหญ่คลอดตั๋วร่วม-ค่าโดยสารร่วม

เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 ที่อาคารรัฐสภา นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ร่วมอภิปรายเป็นการทั่วไป ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ต่อกรณีปัญหาค่าเดินทางของประชาชนที่สูงขึ้น ทั้งราคาน้ำมันและราคาค่าโดยสารรถสาธารณะ

โดยนายสุรเชษฐ์ ระบุว่าหากไล่ดูสถิติตั้งแต่รัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศเมื่อปี 2562 จะเห็นว่าราคาน้ำมันเริ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ มาจนประมาณกลางปี 2563 ก็ขึ้นอีกครั้ง และสูงขึ้นเป็นพิเศษในรอบ 1-2 เดือนที่ผ่านมา สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนอย่างถ้วนหน้า

แม้จะกล่าวได้ว่ามีปัจจัยราคาน้ำมันในตลาดโลกเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ต้องไม่ลืมว่าต้นทุนเนื้อน้ำมันคิดเป็นเพียง 40-60% ของราคาน้ำมันเท่านั้น และยังมีส่วนของภาษีและกองทุนต่างๆ และค่าการตลาด ที่เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการ ซึ่งรัฐบาลบริหารจัดการราคาได้อย่างล้มเหลว จนราคาน้ำมันแพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันขึ้นมาจาก 17 เป็น 33 บาท หรือแพงขึ้นถึง 94%

นายสุรเชษฐ์ ยังอภิปรายต่อไปถึงกรณีของค่าทางด่วน ซึ่งมีราคาสูงขึ้นเช่นกัน เหตุเพราะมีการคิดราคาโดยไม่ได้เอาประชาชนเป็นตัวตั้ง และรัฐบาลยังเอื้อประโยชน์ให้นายทุนใหญ่ โดยการเจรจาระงับข้อพิพาทที่ยังไม่สิ้นสุดคดีความ ภายใต้เงื่อนไขให้เอกชนเก็บเงินต่อไปอีก 15 ปี 8 เดือน ทั้งๆ ที่สิ้นสุดสัญญาสัมปทานไปแล้ว โดยล่าสุด เมื่อ 1 ธันวาคม 2564 ค่าทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอก ยังมีการขึ้นไปอีก 30%

นอกจากนี้ ระบบขนส่งสาธารณะทุกรูปแบบการเดินทางยังมีราคาที่สูงขึ้น จากผลสำรวจพบว่าค่าเดินทางของประชาชนแพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

ในกรณีรถไฟฟ้า เฉลี่ยอยู่ที่ 2,500 บาทต่อเดือน หรือคิดเป็น 17% ของเงินเดือน 15,000 บาท รถตู้สาธารณะ คิดเป็น 14% เรือคลองแสนแสบคิดเป็น 11% รถเมล์ซึ่งเป็นบริการขั้นพื้นฐานที่สุดก็ยังมีราคาที่สูง โดยรถเมล์ปรับอากาศคิดเป็น 11% รถเมล์ธรรมดาคิดเป็น 8% และเรือด่วนเจ้าพระยา คิดเป็น 8%

นอกจากนั้น บริการขั้นพื้นฐานอย่างรถเมล์ ยังมีราคาค่าโดยสารที่สูงกว่าคุณภาพการบริการ จากปี 2534 ที่ราคาค่าโดยสารอยู่ที่ 3.5 บาท มาถึงปี 2564 ราคาค่าโดยสาร 8 บาทแล้ว แต่ 30 ปีผ่านไป คนไทยยังต้องใช้บริการรถเมล์แบบเดิมหรือกระทั่งคันเดิม เพราะรัฐบาลมัวแต่หากินกับการสร้างรถไฟฟ้า การขยายสัมปทาน แต่ละเลยรถเมล์

>> อัดรัฐบาลแบ่งเค้กหากินกับรถไฟฟ้า ทำค่าโดยสารพุ่ง-ซ้ำเติมความลำบากประชาชน

นายสุรเชษฐ์ ยังได้ยกตัวอย่างระหว่างการอภิปราย โดยระบุว่าในชีวิตของชนชั้นกลางธรรมดาคนหนึ่ง ที่มีเงินเดือน 15,000 บาท อย่างเช่นเจ้าหน้าที่ ข้าราชการสภา หรือผู้ช่วย ส.ส. สมมุติว่ามีบ้านอยู่แถวอ่อนนุชและต้องมาทำงานที่สภา

คนๆ นั้นจะต้องตื่นตั้งแต่ 6:00 น. ออกจากบ้านก่อน 6:45 น. เริ่มต้นด้วยรถสองแถว เพราะรถเมล์น้อยและต้องรอนาน จากบ้านไป BTS อ่อนนุช 9 บาท ต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียว จาก BTS อ่อนนุช ไป BTS หมอชิต อีก 44 บาท ต่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน MRT สวนจตุจักร ไป MRT บางโพ อีก 24 บาท เมื่อใกล้ถึงสภาก็รอรถเมล์นานเดี๋ยวมาสาย ก็ต้องยอมจ่ายค่าขึ้นมอเตอร์ไซด์ บางวันเก็บ 20 บาท บางวันเก็บ 40 บาท แล้วแต่ดวงและตำแหน่งที่ลง รวมใช้เวลาเดินทาง 1.5-2 ชั่วโมง ใช้เงินทั้งสิ้น 107 บาท ในการเดินทางขามาอย่างเดียว

ส่วนขากลับ แม้จะเลิกงาน 16:30 น. แต่โดยมากก็จะได้กลับจริงประมาณ 18:00 น. เป็นช่วงที่สามารถเน้นการเดินทางราคาถูกกว่าได้เพราะไม่ต้องรีบแล้ว คนๆ นั้นต้องใช้เวลาเดินทาง 1.5-2.5 ชั่วโมง เริ่มที่รถเมล์สาย 3 จากสภา ไป BTS สะพานควาย 8 บาท ต่อด้วยรถไฟฟ้าสายสีเขียว จาก BTS สะพานควาย ไป BTS อ่อนนุช 44 บาท ตามด้วยรถสองแถว จาก BTS อ่อนนุชไปส่งแถวบ้าน อีก 9 บาท กว่าจะถึงบ้านก็ประมาณ 20.00 น. แล้ว ขากลับทั้งหมดรวมเป็น 61 บาท

ทั้งหมด รวมขาไปและขากลับ รวมเป็นค่าใช้จ่าย 168 บาท/วัน หรือคิดเป็น 56% ของค่าแรงขั้นต่ำ หรือหากคิดจากฐานเงินเดือน 15,000 บาท ก็ยังถือว่าสูงมาก เป็นค่าใช้จ่ายถึง 22.4% ของเงินเดือน

“นี่ขนาดเงินเดือน 15,000 แล้วผู้มีรายได้น้อยหรือไม่มีรายได้ล่ะจะอยู่อย่างไร? ขึ้นรถไฟฟ้าไม่ได้ด้วยซ้ำ ต่อให้ถูกกว่านี้มากก็ขึ้นไม่ได้เพราะอยู่ไกลจากสถานี นอกจากแพง แล้วยังนานอีก ต้องเสียเวลาชีวิต 3-4 ชั่วโมง/วัน นี่ล่ะครับ ชีวิตคนกรุงเทพ เดินทางลำบาก ทั้งแพงและนาน ชีวิตจริงเป็นแบบนี้ ชนชั้นกลางหรือผู้มีรายได้น้อยส่วนมากไม่สามารถซื้อคอนโดติดสถานีรถไฟฟ้าได้ทุกคนนะ” นายสุรเชษฐ์กล่าว

นายสุรเชษฐ์ยังอภิปรายต่อไป ว่าสาเหตุที่รถไฟฟ้าราคาแพงเช่นนี้ เป็นเพราะมีค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน เสียค่าแรกเข้า 15 บาท และมีค่าระยะทางอีก 2 บาทกว่า ทั้งหมดเป็นผลมาจากการหากินกับรถไฟฟ้า เจรจาเป็นสายๆ แบ่งผลประโยชน์กันเป็นรายๆ โดยไม่ได้เอาประชาชนเป็นตัวตั้ง

ทั้งที่การคิดราคา หากเอาประชาชนเป็นตัวตั้ง ต้องคิดจากจุด ‘ต้นทาง’ ไป ‘ปลายทาง’ ไม่ใช่แค่จากสถานีรถไฟฟ้าหนึ่งไปยังอีกสถานีรถไฟฟ้าหนึ่ง เช่น การขึ้นรถไฟฟ้าสายสีเขียว 8 สถานี ค่าโดยสารควรคิดเหมือนกับการขึ้นรถไฟฟ้าสายสีเขียว 4 สถานี แล้วต่อสายสีน้ำเงินอีก 4 สถานีเท่านั้น 

>> แนะอุดหนุนขนส่งสาธารณะเพิ่ม “อย่างมีเหตุผล” - อัดรัฐเน้นแต่สร้างรถไฟฟ้า ไม่เหลียวแลรถเมล์

นายสุรเชษฐ์ยังอภิปรายต่อไป ว่าสำหรับประชาชนหลายคน การมีรถยนต์เป็นของตัวเองจึงเป็นความฝันหนึ่งที่จะทำให้การใช้ชีวิตง่ายขึ้น ด้วยความคิดว่าจะทำให้การเดินทางถึงไว ไม่เหนื่อย ไม่ร้อน แต่ในชีวิตจริงไม่ง่ายเช่นนั้น

เพราะสำหรับผู้ใช้รถ การขึ้นทางด่วนหรือไม่ล้วนมีความต่างไม่มาก เพราะทั้งแพงกว่าและใช้เวลาไม่ต่างกันมาก และแม้จะด้านเทียบค่าใช้จ่ายกับเวลาแล้วการขับรถคุ้มค่ากว่าการเดินทางสาธารณะก็จริง แต่การมีรถก็ยังเป็นภาระอันหนักอึ้ง เมื่อเทียบกับเงินเดือน 15,000 บาท เพราะต่อให้มีเงินดาวน์เยอะหรือผ่อนได้นาน ค่าผ่อนรถอย่างถูกสุดก็เฉลี่ย 6,256 บาทต่อเดือน หรือคิดเป็น 42% ของเงินเดือน

'เท่าพิภพ' อัด 'รัฐบาล' กระตุ้นการท่องเที่ยว 'ไร้ยุทธศาสตร์' หากเป็นก้าวไกล จะใช้ Creative Content Industry มาหนุน

"เท่าพิภพ" อัด รัฐบาล กระตุ้นการท่องเที่ยว "ไร้ยุทธศาสตร์" - ชี้ หากก้าวไกลเป็นรัฐบาล จะใช้ Creative Content Industry มาช่วยขยายการท่องเที่ยว

เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 ณ อาคารรัฐสภา เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล ร่วมอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลแบบไม่ลงมติตามมาตรา 152 เกี่ยวกับการส่งเสริมและกระตุ้นการท่องเที่ยวที่ล้มเหลวของรัฐบาล 

เท่าพิภพ เริ่มต้นอภิปรายโดยกล่าวว่า ใน 2 ปีที่ผ่านมาการท่องเที่ยวในประเทศไทยถือว่าวินาศสันตะโรเพราะไวรัสโควิด-19 และการปิดประเทศ แต่ถ้าจะมองให้ดีให้ชัด อาจไม่ใช่แค่ 2 ปี แต่เป็นตั้งแต่การทำรัฐประหารของประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ทำให้การท่องเที่ยวในประเทศซบเซา ส่งผลให้ประชาชนตกงานกว่า 3 ล้านคน

เท่าพิภพ เริ่มยกตัวอย่างประชาชนในเขตพื้นที่ของตนมีหลายต่อหลายอาชีพที่ได้รับผลกระทบอย่างเช่น พนักงานโรงแรม รวมถึงคนขับเรือท่องเที่ยว ทำให้ต้องเป็นภาระคนในครอบครัว สถานการณ์มันช่างน่าสิ้นหวัง แม้ว่ารัฐบาลพยายามจะช่วยเหลือ แต่ก็ไม่เกิดผล เพราะรัฐบาลขาดการวางยุทธศาสตร์และแผนงานที่ชัดเจน ผู้ประกอบการหลายรายที่ตนรู้จัก หนึ่งในนั้นคืออดีตเจ้านายของตน ที่ใช้เงินก้อนสุดท้ายของชีวิตไปกับกิจการ เพราะได้ยินข่าวว่ารัฐบาลจะเปิดประเทศ แต่สุดท้ายก็กลับมาปิดประเทศอีกครั้ง ทำให้อดีตเจ้านายของตนนั้นไม่เหลืออะไร มีแต่คราบน้ำตาและเสียงร้องไห้

มาตรการการท่องเที่ยวที่ล้มเหลวทั้งกระดาน รัฐบาลออกโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวหลายต่อหลายโครงการแต่ก็ไม่สามารถประสบผลสำเร็จ อย่างเช่น โครงการกำลังใจ ที่ออกมาให้ อสม. ไปเที่ยว โครงการเราเที่ยวด้วยกัน รวมถึงโครงการทัวร์เที่ยวไทย ซึ่งทั้ง 3 โครงการนี้พลาดเป้าทุกโครงการ

"อย่างโครงการทัวร์เที่ยวไทย ที่ออกมาให้ประชาชนซื้อทัวร์ของคนไทยเที่ยวในประเทศไทย จำกัดสิทธิ์ 1 ล้านสิทธิ์ แต่คนออกมาใช้สิทธิ์ราว 24,419 สิทธิ์ เบิกจ่ายจริงแค่ 61 ล้านบาทจากงบกว่า 5,000 ล้านบาท แบบนี้ไม่ให้เรียกว่าล้มเหลวแล้วจะให้เรียกว่าอะไร แล้วยังมีหน้ามาบอกว่าตอนนี้คนไทยเปลี่ยนพฤติกรรมการท่องเที่ยวต้องขับรถเที่ยวกับครอบครัว ถ้ารู้อย่างนี้แล้วจะขอเงินมาออกเป็นโครงการนี้ทำไม"

นอกจากนี้ ททท. ยังใช้งบประมาณมหาศาลในการจัดกิจกรรมกระตุ้นการท่องเที่ยว โดยเป็นการจ้างศิลปินชื่อดังมา แต่ผลการตอบรับนั้นถือว่าแย่กว่าการจัดแสดงลิเกที่วัดท่าพระเสียอีก

"ถ้ามีเงินร้อยล้านในการจัดอีเวนต์ ผมว่าเอาเงินไปจ้างคอนเทนต์ ครีเอเตอร์ชื่อดังจากทั่วโลก แล้วตั้งแฮชแท็ก #Easythailand เข้าไทยง่ายเที่ยวไทยคล่อง ไม่เกิน 2 สัปดาห์ ผมมั่นใจว่าจะกระตุ้นการท่องเที่ยวได้ผลกว่าที่ทำในตอนนี้อย่างแน่นอน"

มาตรการเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าจริงๆ แล้ว ททท. ไม่เคยทำอะไรเลย ทั้งๆ ที่การท่องเที่ยวคือรายได้หลักของประเทศ หรืออาจเป็นเพราะการส่งเสริมการท่องเที่ยวยังเป็นแบบสมัยเก่า ตนคิดว่ามันไม่ใช่ที่จะมาคิดแคมเปญการท่องเที่ยวที่ดูหรูหรา ไปออกบูทต่างประเทศ หรือใช้สถานทูตไปจัดงาน Thai Fest สิ่งเหล่านี้มันคงไม่เพียงพออีกต่อไป

ถ้าพรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาล เท่าพิภพ กล่าวว่า อย่างแรกที่เราจะทำก็คือ การพยุงการจ้างงาน ถ้ากิจการยังมีอยู่ การจ้างงานยังมีอยู่ การท่องเที่ยวก็ยังจะคงอยู่ ถ้าผู้ประกอบการรายใดไปต่อไม่ไหว ก็จัดสรรงานฝึกอาชีพใหม่ นอกจากนี้จะของดเว้นภาษีที่ดินโดยรัฐบาลจะเป็นผู้อุดหนุนด้วย เพื่อให้ผู้ประกอบการโรงแรมขนาดเล็กได้ไปต่อ

"คำสั่งเสียสุดท้ายของผม อยากให้รัฐบาลเปิดประเทศสักที แล้วเอาเงินที่ไปส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบไร้ยุทธศาสตร์ กลับมาให้ระบบสาธารณสุขเพื่อรองรับผู้ป่วย ผมว่าเราต้องเลิกดัดจริตกันได้แล้ว ว่าคนต่างชาติจะเอาโควิดเข้ามาในประเทศ แต่ในขณะเดียวกันเราไม่มีโครงการที่จะทำให้คนในประเทศท่องเที่ยวได้ เพราะสุดท้ายผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวนั้น ต้องการอย่างเดียวคือกลับไปเป็นปกติ"

“โฆษกรัฐบาล” สวน "พิธา" ย้อนดูตัวเองอย่าปั้นคำสวยหรูแต่ไม่ลงมือทำ คิดแต่จะล้มล้าง แขวะไม่เชื่อว่ามีคุณสมบัติผู้นำยุคใหม่เช่นกัน ย้ำ”นายก”ผู้นำตัวจริงของประชาชนทำงานเป็น ซื่อสัตย์สุจริต

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์หัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายระบุ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ไม่มีคุณสมบัติของผู้นำในศตวรรษที่ 21 ว่า สิ่งที่นายพิธาพูดนั้นเป็นทฤษฎีที่สวยหรู เชื่อว่าทุกคนอยากเห็นผู้นำแบบนั้น แต่ก็ไม่เชื่อว่านายพิธาจะทำได้สำเร็จเช่นกัน เป็นเพียงแค่การปั้นคำพูดสร้างวาทกรรมแต่ไม่ได้ลงมือทำย่อมไม่รู้ว่าอะไรคือของจริง อะไรคือความเพ้อฝัน จึงต้องย้อนดูตัวเองด้วย

ที่ผ่านมาก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่านายพิธาไม่ได้สนใจทำงานจริงจัง แต่จ้องจะสร้างภาพและหาโอกาสสร้างคะแนนนิยมให้ตัวเองเสมอ หวังยืมมือม็อบกลุ่มต่าง ๆ มาล้มรัฐบาล และหากคิดว่าตัวเองมีคุณสมบัติแบบที่อภิปรายก็คงเข้าข้างตัวเองมากเกินไป หรือหากเป็นเช่นนั้นจริง ผู้นำที่ลึก ๆ แล้วมีเจตนาต้องการล้มล้างสิ่งดีงามของประเทศชาติบ้านเมืองโดยอ้างว่าเพื่อความทันสมัย ทันโลก กล้าหาญ ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ และไม่ควรฝากอนาคตไว้ด้วยอย่างแน่นอน 

นายธนกร กล่าวว่า การจะตัดสินว่า พล.อ.ประยุทธ์ หรือใครก็ตามมีคุณสมบัติเหมาะจะเป็นผู้นำหรือไม่นั้นคงไม่ใช่ให้นายพิธาเป็นผู้ตัดสิน เพราะผู้ตัดสินตัวจริงคือประชาชน นอกจากนี้นายพิธาไม่เคยสัมผัส เรียนรู้ หรือทำงานร่วมกับพล.อ. ประยุทธ์ ย่อมไม่มีทางรู้ว่าที่จริงแล้วท่านนายกฯ เป็นอย่างไร

'พิธา' โพสต์ตัดพ้อ!! "ไทยไม่สามารถเดินไปข้างหน้าได้อีกแล้ว" หลัง 'อานนท์-เพนกวิน' อดประกันตัว แม้ระดมเงินได้ร่วมสิบล้าน

24 ก.พ. 65 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ว่า "ประชาชนได้แสดงเจตจำนง ด้วยการระดมทุนเงินประกันกว่าสิบล้านในเวลาไม่นาน แต่ศาลอาญากรุงเทพใต้กลับไม่ยอมคืนสิทธิการประกันตัวให้เพนกวินและอานนท์

เป็นอีกครั้งที่ผมไม่สามารถเข้าใจเหตุผลทางกฎหมายของศาลได้

ถ้ากระบวนการยุติธรรมยังเป็นแบบนี้ ประเทศของเราคงไม่สามารถเดินไปข้างหน้าได้ครับ"

‘วิโรจน์’ หวั่น!! รัฐชิงต่ออายุสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้า ก่อนจะมีการเลือกตั้งผู้ว่า กทม.

2 มี.ค. 65 วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล เดินทางมายังศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เพื่อขอให้คุณอัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนปัจจุบัน รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เปิดเผยรายละเอียดข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

“ผมกังวลว่ารัฐบาลจะชิงต่ออายุสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าให้จบก่อนจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เพราะตอนนี้แคนดิเดตผู้ว่ากรุงเทพมหานครทุกคนแสดงจุดยืนตรงกันว่าหากได้รับเลือกเป็นผู้ว่าฯ จะไม่ยอมให้มีการต่อสัญญาสัมปทานได้โดยง่ายอย่างแน่นอน”

วิโรจน์ แสดงความกังวลต่อความไม่โปร่งใสนี้ว่า ข้อมูลเกือบทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าถูกปิดไว้เป็นความลับ ประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงได้ แคนดิเดตผู้ว่า กทม. ทุกคนที่ต้องการออกแบบนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาค่าโดยสารรถไฟฟ้าก็ไม่สามารถเข้าถึงได้เช่นเดียวกัน 

ศิริกัญญา’ ห่วงวิกฤต 'รัสเซีย-ยูเครน' ทำราคาน้ำมันพุ่ง หวั่น!! 2 มาตรการตรึงราคาภาครัฐท่าจะเอาไม่อยู่ 

‘ศิริกัญญา’ ห่วงวิกฤต 'รัสเซีย-ยูเครน' ทำราคาน้ำมันพุ่ง ซ้ำเติมปัญหาปากท้องประชาชน ย้ำ 2 มาตรการตรึงราคาเอาไม่อยู่ เหตุรัฐบาลเมินแก้กฎหมายบริหารหนี้สาธารณะ ปิดประตูทางรอดทางการคลังของประเทศ

4 มี.ค. 65 ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) แสดงความกังวลปัญหาค่าครองชีพของประชาชนที่จะมากขึ้น สืบเนื่องจากกรณีปัญหาสงครามระหว่าง รัสเซีย-ยูเครน ว่า ส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกปรับสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์อย่างต่อเนื่อง เมื่อวานนี้ (3 มี.ค. 65) น้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) พุ่งขึ้นมาปิดที่ 114.59 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่ เดือน พ.ค. 54 ขณะราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) พุ่งขึ้นมาปิดที่ 119.02 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ยังไม่ต้องพูดถึงราคาก๊าซธรรมชาติ ราคาอาหารสัตว์ และปุ๋ย ที่ตบเท้าเรียงแถวกันขึ้นพร้อมๆ กันย่อมกระทบกับเศรษฐกิจไทยและค่าครองชีพประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม

“ถึงแม้ว่าสงครามอาจไม่ยืดเยื้อยาวนาน แต่ก็ไม่มีใครทราบว่าจะจบลงในรูปแบบใด และการแซงก์ชั่นหรือคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจะจบลงพร้อมกับสงครามหรือไม่ ราคาพลังงานและสินค้าต่างๆ จะกลับมาเป็นปกติเมื่อใด รัฐบาลยังคงมีเป้าหมายที่จะตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ 30 บาท/ลิตร และแย้มมาว่าจะอุดหนุนราคาน้ำมันเบนซินไปพร้อมๆ กัน แต่ ณ วันนี้ปั๊มต่างๆ ปรับราคาดีเซลขึ้นไปเกิน 30 บาทกันหมดแล้ว แม้จะเป็นเป้าหมายที่ดี แต่เริ่มเกิดความไม่มั่นใจว่าจะทำอย่างไร และยังมีคำถามคาใจที่ยังไม่มีคำตอบคือจะเอาเงินมาจากไหน ประชาชนส่วนนึงยังเฝ้ารอคำตอบชัดๆ ถึงมาตรการ” รองหัวหน้าพรรคก้าวไกลระบุ

ศิริกัญญา ยังกล่าวต่อไปว่า มาตรการที่มีอยู่ตอนนี้มี 2 ส่วน ส่วนแรก คือใช้เงินจากกองทุนน้ำมัน ซึ่งติดลบอยู่ 20,000 ล้านบาทแล้วในปัจจุบัน ข่าวแว่วมาว่าจะใช้เงินอุดหนุนจากกองทุนเพิ่มอีกเป็น 4 บาท/ลิตร ในสถานการณ์ที่กองทุนยังกู้เงินจากสถาบันการเงินไม่ได้ เนื่องจากติดปัญหาการเปลี่ยนสถานะจากนิติบุคคลเป็นองค์การมหาชน จึงยังไม่ได้รับรองบัญชี ทำให้วงเงินที่ครม.เคยอนุมัติไว้ 30,000 ล้าน ยังไม่มีเม็ดเงินจริงๆ เข้ากองทุนเลยแม้แต่บาทเดียว ยังคงต้องลุ้นกันต่อว่าจะกู้ได้เมื่อไหร่ เพราะถึงแม้จะเปลี่ยนสถานะได้ กว่าจะกู้ผ่านก็ยังต้องใช้เวลาอีก 2-3 สัปดาห์สำหรับธนาคารในการดำเนินการ ข้อจำกัดคือเงินที่ใช้อุดหนุนอยู่จะตกราว 8,000 ล้านบาทต่อเดือน หากกู้เพิ่มได้จริง 30,000 ล้าน ก็ไม่เพียงพอ ส่วน ครม. ยังมีช่องให้อนุมัติเพิ่มได้อีกเพียง 10,000 ล้าน หลังจากนี้หากจะกู้เพิ่มคงต้องแก้กฎหมายกองทุนน้ำมันที่กำหนดเพดานการกู้ไว้

หัวหน้าพรรคก้าวไกล ชี้ ยอดโควิดสะสมทะลุ 3 ล้าน หวั่นผู้ป่วยหนักอาจเพิ่มขึ้นสูงกว่าระลอกเดลตา แนะรัฐต้องรีบเตรียมการระบบสาธารณสุขให้พร้อมรับมือสถานการณ์

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์  หัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์แฟนเพจเฟซบุ๊กระบุ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ระดับการระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนในประเทศไทยถือว่าสูงกว่าจุดสูงสุดของการระบาดในรอบเดลตาแล้ว และยอดผู้ป่วยโควิดสะสมในประเทศไทยก็แตะ 3 ล้านคนไปในวันที่ 5 ที่ผ่านมา ในโอกาสนี้ผมจึงขอให้บริบทกับสถานการณ์ที่เราเผชิญอยู่และฉากทัศน์ของการระบาดต่อไปข้างหน้า รวมถึงข้อเสนอของผมที่มีต่อรัฐบาล

สำหรับบริบทของสถานการณ์ในตอนนี้ จำนวนเคสการระบาดต่อวันสูงกว่าระลอกเดลตาแล้วก็จริง แต่ระดับความเลวร้ายของสถานการณ์จริงๆ มองที่ระดับความตึงเครียดต่อระบบสาธารณสุขครับ ในที่นี้คือจำนวนผู้ป่วยหนัก ในระลอกเดลตาวันที่มีผู้ป่วยหนักกำลังรักษามากที่สุดคือ 16 ส.ค. 2564 ที่มีผู้ป่วยหนัก 5,626 ราย มีผู้ใส่ท่อช่วยหายใจ 1,161 ราย เทียบกับในระลอกปัจจุบันที่ถึงแม้จะมีผู้ป่วยมากกว่า แต่มีผู้ป่วยหนัก 1,145 ราย ผู้ใส่ท่อช่วยหายใจ 366 ราย ถือว่าสถานการณ์ยังรุนแรงน้อยกว่าจุดสูงสุดของการระบาดช่วงเดลตาอยู่พอสมควร

ถัดมาคือบริบทของฉากทัศน์ที่รัฐบาลนำเสนอ สำหรับฉากทัศน์ตามแนวโน้มในปัจจุบัน จำนวนเคสยืนยันเพิ่มขึ้นต่อวันจะขึ้นไปสูงสุดที่ 40,000 - 50,000 เคส ในช่วงกลางเดือน เม.ย. สถานการณ์จำนวนผู้ป่วยหนักจะวิกฤติที่สุดประมาณ 2,000 คนที่ทำการรักษาอยู่ในช่วงต้นเดือน พ.ค. ซึ่งถือว่าความตึงเครียดต่อระบบสาธารณสุขยังน้อยกว่าระลอกเดลตาประมาณครึ่งหนึ่ง 

ส่วนในฉากทัศน์ที่เป็น Worst Case จำนวนเคสยืนยันเพิ่มขึ้นต่อวันจะขึ้นไปสูงที่สุดเพิ่มขึ้น 100,000 เคส ในขณะที่จำนวนผู้ป่วยหนักที่อยู่ระหว่างการรักษาจากชาร์ทที่ ศบค. นำเสนอจะขึ้นไปสูงขึ้น 6,000 และใส่ท่อช่วยหายใจ 1,600 ราย ซึ่งสูงกว่าจุดสูงสุดของเดลตาที่มีผู้ป่วยหนัก 5,626 ราย และใส่ท่อช่วยหายใจ 1,115 ราย เพราะฉะนั้นก็มีความเป็นไปได้ที่การระบาดจะสร้างความตึงเครียดต่อระบบสาธารณสุขมากกว่าระลอกเดลตาที่คนไทยล้มตายเหมือนใบไม้ร่วง ในขณะนั้นงบประมาณเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุขที่อนุมัติไปตั้งแต่ปลายปี 2563 เบิกจ่ายออกมาใช้รับมือโควิดช่วงที่รุนแรงที่สุดหรือมีผู้ป่วยหนักมากที่สุดได้เพียงแค่ 15% เท่านั้นเองในวันที่ 16 สิงหาคม 2564 หรือแปดเดือนหลังจากที่อนุมัติงบประมาณไปแล้ว จนแม้แต่โรงพยาบาลของกรมการแพทย์เองกลับต้องออกมาขอรับบริจาคเครื่องช่วยหายใจ 

‘ธัญวัจน์ ก้าวไกล’ เดินหน้าหารือพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ชี้ ไม่สามารถเอาประกบ พ.ร.บ.คู่ชีวิต เหตุคนละความหมาย

ธัญวัจน์ ก้าวไกล เดินหน้าหารือพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมกับภาครัฐ ย้ำชัดคาดตีกลับเข้าสภา เมษายนนี้ ชี้ชัด สมรสเท่าเทียม ไม่เท่ากับ คู่ชีวิต หลังครม.ถกกว่า 2 เดือนพร้อมเตรียมสอดไส้พรบ.คู่ชีวิต ประกบพิจารณาร่วม 

เมื่อ วันที่ 7 มีนาคม 2565 ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้ริเริ่มร่างพระราชบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปพพ1448 ) #สมรสเท่าเทียม กล่าวถึงความคืบหน้าในการผลักดันร่างพระราชบัญญัติภายหลังจากที่ส่งร่างดังกล่าวไปให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งระยะเวลา 60 วัน ก่อนนำกลับมาพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรนั้น

ธัญวัจน์ กล่าวว่า ตนได้เข้าประชุมทางออนไลน์เกี่ยวกับประเด็นร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฉบับที่ พ.ศ. … หรือ #สมรสเท่าเทียม โดยมีกระทรวงยุติธรรม กรมคุ้มครองสิทธิ์ สำนักงานศาลยุติธรรม กระทรวงการต่างประเทศ กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมกิจการสตรี และ สถาบันครอบครัว สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรมสวัสดิการ งานเงินเดือน บำเหน็จ บำนาญ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และ กฤษฎีกา ธัญได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมครั้งนี้เพื่อชี้แจงหลักการและเหตุผลของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว รวมถึงสาระสำคัญ และตอบคำถาม ข้อสงสัยให้กับหน่วยงานต่างๆ 

ในการประชุมครั้งนี้จะมีการสรุปประเด็นต่างๆ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป ซึ่งอาจจะนำไปสู่การที่คณะรัฐมนตรีจะมีร่างกฎหมายมาประกบเพื่อพิจารณาในกระบวนการรัฐสภา และในขณะประชุมกรมคุ้มครองสิทธิ์ที่ได้มีการร่างพระราชบัญญัติ #คู่ชีวิต ฉบับที่ พ.ศ. ….  ได้ชี้แจงว่าคณะรัฐมนตรีมีมติผ่านร่างแล้ว และอาจจะใช้ร่างดังกล่าวมาพิจารณาร่วม

‘ศิริกัญญา’ ห่วงสงคราม กระทบค่าครองชีพคนไทย ชี้ รบ.ต้องกล้ายอมรับความจริง หยุดตรึงราคาดีเซล 30 บาท

‘ศิริกัญญา’ ห่วงสงครามรัสเซีย-ยูเครน กระทบค่าครองชีพคนไทย ชี้ รัฐบาลต้องกล้ายอมรับความจริง ตรึงราคาดีเซล 30 บาทไม่ได้อีกต่อไป ฉะ ต้องแก้ปัญหาพลังงานให้ถูกจุด ไม่ใช่บอกให้ประชาชนประหยัด วอนออกมาตรการช่วยเกษตรกร-ท่องเที่ยว

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 9 มี.ค. ที่อาคารอนาคตใหม่ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงกรณีวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครนกระทบค่าครองชีพคนไทย ว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครนกำลังจะส่งผลกระทบต่อรายได้และค่าครองชีพของประชาชนอย่างมหาศาล ตอนนี้ราคาพลังงานพุ่งสูงที่สุดในรอบ 13 ปีเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากรัสเซียส่งออกน้ำมันมายังตลาดโลกเป็นอันดับ 2 รองจากซาอุดีอาระเบีย และยังส่งออกแก๊สธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดของทวีปยุโรป แต่เมื่อคืนที่ผ่านมา โจ ไบเดน ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ เพิ่งประกาศแบนการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย ขณะที่ประเทศในยุโรปก็กำลังจะมีมาตรการลดการนำเข้าแก๊สธรรมชาติลง 2 ใน 3 ตลอดปี 2565 ทำให้ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันอย่างมหาศาล จึงมีการคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอาจขึ้นไปแตะที่ 185-200 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล 

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า ตนคิดว่าอาจจะถึงจุดที่รัฐบาลต้องกล้าออกมายอมรับความจริงกับประชาชนแล้วว่า สัญญาที่ได้ให้ไว้ว่าจะตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ 30 บาท อาจจะทำไม่ได้จริง ปัจจุบันในแต่ละเดือนต้องใช้เงินในการพยุงราคาน้ำมันดีเซลและแอลพีจีจำนวน 1.3 หมื่นล้านบาท ถ้ายังจะคงน้ำมันดีเซลไว้ที่ 30 บาทต่อลิตร ต้องใช้เงินอุดหนุนประมาณ 10 บาทต่อลิตร รวมประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาทต่อเดือน ถ้าราคาน้ำมันยังคงยืนระยะที่ 110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลตลอดทั้งปี และเรายังพยายามตรึงราคาน้ำมันดีเซล 30 บาทต่อลิตร ก็อาจจะต้องใช้เงินกว่า 2 แสนล้านบาท ทางเลือกของเรื่องนี้อาจจะเป็นการลดภาษีสรรพสามิตต่อไป ซึ่งจะกระทบต่อการปิดหีบงบประมาณปี 2565 อย่างแน่นอน ทางออกอีกทางคือการแก้ไขกฎหมายกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง อย่างไรก็ตาม เมื่อวานนี้ (8 มี.ค.) มีข่าวจากรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องว่า แผนการที่วางไว้สำหรับน้ำมันดีเซลอาจจะอยู่ได้แค่ 2 เดือนเท่านั้น 

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า ตนจึงมีข้อเสนอเพื่อแก้ไขปัญหาพลังงานอย่างถูกจุด ปัญหาคือถ้ารัฐบาลรอจนเงินหมดหน้าตัก แล้วปล่อยให้น้ำมันดีเซลลอยตัวทันที จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจหนักมาก รัฐบาลควรจะต้องมีแผนการในช่วงเปลี่ยนผ่านอย่างชัดเจนว่าจะทยอยขึ้นอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและประชาชน จากนั้นจะต้องมีการอุดหนุนค่าครองชีพไปที่ครัวเรือนโดยตรง แทนที่จะอุดหนุนไปที่ราคาพลังงาน เพราะความจริงแล้วกลุ่มคนที่มีรายน้อยหรือคนจนจะใช้น้ำมันเบนซินมากกว่า แต่ความช่วยเหลือยังอยู่ที่ดีเซลอย่างเดียว การเปลี่ยนมาอุดหนุนเป็นค่าครองชีพให้ประชาชนโดยตรงก็จะได้ประโยชน์กับผู้ใช้ทั้งเบนซินและดีเซล หากกังวลเรื่องผลกระทบต่อราคาสินค้าที่จะเพิ่มขึ้นจากค่าขนส่งก็ให้อุดหนุนตรงไปที่ภาคขนส่ง โดยเฉพาะขนส่งสาธารณะอย่างรถเมล์หรือรถบรรทุก ทำให้รัฐบาลน่าจะสามารถกำหนดวงเงินช่วยเหลือได้ชัดเจนแม่นยำมากยิ่งขึ้น

"ดังนั้น ทางออกเรื่องราคาพลังงานคงไม่ใช่การออกมาบอกให้ประชาชนประหยัดพลังงานด้วยตนเอง ถ้าจะออกมาบอกแค่ว่าต้องประหยัดพลังงาน ต้องประหยัดการใช้ไฟ ล้างแอร์ เราก็ไม่รู้ว่าจะมีรัฐบาลไว้ทำไม เราต้องการการมองการณ์ไกล วิสัยทัศน์ในการแก้ปัญหาที่จะไม่ทำให้ประเทศถังแตก และสามารถที่จะช่วยเหลือประชาชนได้อย่างตรงจุดตรงเป้ามากยิ่งขึ้น ยอมรับความจริง พูดความจริงกับประชาชนว่าจะไม่สามารถรักษาสัญญาไว้ได้แล้ว และดำเนินการให้ประชาชนสามารถประคับประคองการใช้ชีวิตได้ และแก้ไขปัญหาค่าครองชีพของประชาชน" น.ส.ศิริกัญญา กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top