‘สุรเชษฐ์ ก้าวไกล’ ชี้ รัฐอุ้มเจ้าสัวรถไฟฟ้าทำค่าโดยสารแพง ลั่น! ต้องกล้าชนทุนใหญ่คลอดตั๋วร่วม-ค่าโดยสารร่วม

เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 ที่อาคารรัฐสภา นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ร่วมอภิปรายเป็นการทั่วไป ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ต่อกรณีปัญหาค่าเดินทางของประชาชนที่สูงขึ้น ทั้งราคาน้ำมันและราคาค่าโดยสารรถสาธารณะ

โดยนายสุรเชษฐ์ ระบุว่าหากไล่ดูสถิติตั้งแต่รัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศเมื่อปี 2562 จะเห็นว่าราคาน้ำมันเริ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ มาจนประมาณกลางปี 2563 ก็ขึ้นอีกครั้ง และสูงขึ้นเป็นพิเศษในรอบ 1-2 เดือนที่ผ่านมา สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนอย่างถ้วนหน้า

แม้จะกล่าวได้ว่ามีปัจจัยราคาน้ำมันในตลาดโลกเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ต้องไม่ลืมว่าต้นทุนเนื้อน้ำมันคิดเป็นเพียง 40-60% ของราคาน้ำมันเท่านั้น และยังมีส่วนของภาษีและกองทุนต่างๆ และค่าการตลาด ที่เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการ ซึ่งรัฐบาลบริหารจัดการราคาได้อย่างล้มเหลว จนราคาน้ำมันแพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันขึ้นมาจาก 17 เป็น 33 บาท หรือแพงขึ้นถึง 94%

นายสุรเชษฐ์ ยังอภิปรายต่อไปถึงกรณีของค่าทางด่วน ซึ่งมีราคาสูงขึ้นเช่นกัน เหตุเพราะมีการคิดราคาโดยไม่ได้เอาประชาชนเป็นตัวตั้ง และรัฐบาลยังเอื้อประโยชน์ให้นายทุนใหญ่ โดยการเจรจาระงับข้อพิพาทที่ยังไม่สิ้นสุดคดีความ ภายใต้เงื่อนไขให้เอกชนเก็บเงินต่อไปอีก 15 ปี 8 เดือน ทั้งๆ ที่สิ้นสุดสัญญาสัมปทานไปแล้ว โดยล่าสุด เมื่อ 1 ธันวาคม 2564 ค่าทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอก ยังมีการขึ้นไปอีก 30%

นอกจากนี้ ระบบขนส่งสาธารณะทุกรูปแบบการเดินทางยังมีราคาที่สูงขึ้น จากผลสำรวจพบว่าค่าเดินทางของประชาชนแพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

ในกรณีรถไฟฟ้า เฉลี่ยอยู่ที่ 2,500 บาทต่อเดือน หรือคิดเป็น 17% ของเงินเดือน 15,000 บาท รถตู้สาธารณะ คิดเป็น 14% เรือคลองแสนแสบคิดเป็น 11% รถเมล์ซึ่งเป็นบริการขั้นพื้นฐานที่สุดก็ยังมีราคาที่สูง โดยรถเมล์ปรับอากาศคิดเป็น 11% รถเมล์ธรรมดาคิดเป็น 8% และเรือด่วนเจ้าพระยา คิดเป็น 8%

นอกจากนั้น บริการขั้นพื้นฐานอย่างรถเมล์ ยังมีราคาค่าโดยสารที่สูงกว่าคุณภาพการบริการ จากปี 2534 ที่ราคาค่าโดยสารอยู่ที่ 3.5 บาท มาถึงปี 2564 ราคาค่าโดยสาร 8 บาทแล้ว แต่ 30 ปีผ่านไป คนไทยยังต้องใช้บริการรถเมล์แบบเดิมหรือกระทั่งคันเดิม เพราะรัฐบาลมัวแต่หากินกับการสร้างรถไฟฟ้า การขยายสัมปทาน แต่ละเลยรถเมล์

>> อัดรัฐบาลแบ่งเค้กหากินกับรถไฟฟ้า ทำค่าโดยสารพุ่ง-ซ้ำเติมความลำบากประชาชน

นายสุรเชษฐ์ ยังได้ยกตัวอย่างระหว่างการอภิปราย โดยระบุว่าในชีวิตของชนชั้นกลางธรรมดาคนหนึ่ง ที่มีเงินเดือน 15,000 บาท อย่างเช่นเจ้าหน้าที่ ข้าราชการสภา หรือผู้ช่วย ส.ส. สมมุติว่ามีบ้านอยู่แถวอ่อนนุชและต้องมาทำงานที่สภา

คนๆ นั้นจะต้องตื่นตั้งแต่ 6:00 น. ออกจากบ้านก่อน 6:45 น. เริ่มต้นด้วยรถสองแถว เพราะรถเมล์น้อยและต้องรอนาน จากบ้านไป BTS อ่อนนุช 9 บาท ต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียว จาก BTS อ่อนนุช ไป BTS หมอชิต อีก 44 บาท ต่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน MRT สวนจตุจักร ไป MRT บางโพ อีก 24 บาท เมื่อใกล้ถึงสภาก็รอรถเมล์นานเดี๋ยวมาสาย ก็ต้องยอมจ่ายค่าขึ้นมอเตอร์ไซด์ บางวันเก็บ 20 บาท บางวันเก็บ 40 บาท แล้วแต่ดวงและตำแหน่งที่ลง รวมใช้เวลาเดินทาง 1.5-2 ชั่วโมง ใช้เงินทั้งสิ้น 107 บาท ในการเดินทางขามาอย่างเดียว

ส่วนขากลับ แม้จะเลิกงาน 16:30 น. แต่โดยมากก็จะได้กลับจริงประมาณ 18:00 น. เป็นช่วงที่สามารถเน้นการเดินทางราคาถูกกว่าได้เพราะไม่ต้องรีบแล้ว คนๆ นั้นต้องใช้เวลาเดินทาง 1.5-2.5 ชั่วโมง เริ่มที่รถเมล์สาย 3 จากสภา ไป BTS สะพานควาย 8 บาท ต่อด้วยรถไฟฟ้าสายสีเขียว จาก BTS สะพานควาย ไป BTS อ่อนนุช 44 บาท ตามด้วยรถสองแถว จาก BTS อ่อนนุชไปส่งแถวบ้าน อีก 9 บาท กว่าจะถึงบ้านก็ประมาณ 20.00 น. แล้ว ขากลับทั้งหมดรวมเป็น 61 บาท

ทั้งหมด รวมขาไปและขากลับ รวมเป็นค่าใช้จ่าย 168 บาท/วัน หรือคิดเป็น 56% ของค่าแรงขั้นต่ำ หรือหากคิดจากฐานเงินเดือน 15,000 บาท ก็ยังถือว่าสูงมาก เป็นค่าใช้จ่ายถึง 22.4% ของเงินเดือน

“นี่ขนาดเงินเดือน 15,000 แล้วผู้มีรายได้น้อยหรือไม่มีรายได้ล่ะจะอยู่อย่างไร? ขึ้นรถไฟฟ้าไม่ได้ด้วยซ้ำ ต่อให้ถูกกว่านี้มากก็ขึ้นไม่ได้เพราะอยู่ไกลจากสถานี นอกจากแพง แล้วยังนานอีก ต้องเสียเวลาชีวิต 3-4 ชั่วโมง/วัน นี่ล่ะครับ ชีวิตคนกรุงเทพ เดินทางลำบาก ทั้งแพงและนาน ชีวิตจริงเป็นแบบนี้ ชนชั้นกลางหรือผู้มีรายได้น้อยส่วนมากไม่สามารถซื้อคอนโดติดสถานีรถไฟฟ้าได้ทุกคนนะ” นายสุรเชษฐ์กล่าว

นายสุรเชษฐ์ยังอภิปรายต่อไป ว่าสาเหตุที่รถไฟฟ้าราคาแพงเช่นนี้ เป็นเพราะมีค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน เสียค่าแรกเข้า 15 บาท และมีค่าระยะทางอีก 2 บาทกว่า ทั้งหมดเป็นผลมาจากการหากินกับรถไฟฟ้า เจรจาเป็นสายๆ แบ่งผลประโยชน์กันเป็นรายๆ โดยไม่ได้เอาประชาชนเป็นตัวตั้ง

ทั้งที่การคิดราคา หากเอาประชาชนเป็นตัวตั้ง ต้องคิดจากจุด ‘ต้นทาง’ ไป ‘ปลายทาง’ ไม่ใช่แค่จากสถานีรถไฟฟ้าหนึ่งไปยังอีกสถานีรถไฟฟ้าหนึ่ง เช่น การขึ้นรถไฟฟ้าสายสีเขียว 8 สถานี ค่าโดยสารควรคิดเหมือนกับการขึ้นรถไฟฟ้าสายสีเขียว 4 สถานี แล้วต่อสายสีน้ำเงินอีก 4 สถานีเท่านั้น 

>> แนะอุดหนุนขนส่งสาธารณะเพิ่ม “อย่างมีเหตุผล” - อัดรัฐเน้นแต่สร้างรถไฟฟ้า ไม่เหลียวแลรถเมล์

นายสุรเชษฐ์ยังอภิปรายต่อไป ว่าสำหรับประชาชนหลายคน การมีรถยนต์เป็นของตัวเองจึงเป็นความฝันหนึ่งที่จะทำให้การใช้ชีวิตง่ายขึ้น ด้วยความคิดว่าจะทำให้การเดินทางถึงไว ไม่เหนื่อย ไม่ร้อน แต่ในชีวิตจริงไม่ง่ายเช่นนั้น

เพราะสำหรับผู้ใช้รถ การขึ้นทางด่วนหรือไม่ล้วนมีความต่างไม่มาก เพราะทั้งแพงกว่าและใช้เวลาไม่ต่างกันมาก และแม้จะด้านเทียบค่าใช้จ่ายกับเวลาแล้วการขับรถคุ้มค่ากว่าการเดินทางสาธารณะก็จริง แต่การมีรถก็ยังเป็นภาระอันหนักอึ้ง เมื่อเทียบกับเงินเดือน 15,000 บาท เพราะต่อให้มีเงินดาวน์เยอะหรือผ่อนได้นาน ค่าผ่อนรถอย่างถูกสุดก็เฉลี่ย 6,256 บาทต่อเดือน หรือคิดเป็น 42% ของเงินเดือน

นอกจากนี้ คนมีรถยังมีค่าใช้จ่ายเป็นค่าน้ำมันอีก 21% และหากขึ้นทางด่วนต้องเพิ่มเป็นอีก 20% ของเงินเดือน โดยที่ยังไม่รวมต้นทุนแฝงอื่นๆ อีก ไม่ว่าจะเป็นค่าต่อทะเบียน เปลี่ยนยาง ตรวจเช็กสภาพ ค่าประกัน ฯลฯ และยังไม่นับรวมความสูญเสียเชิงมหภาคต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ดังนั้น รัฐควรอุดหนุนระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น แต่การอุดหนุนระบบขนส่งสาธารณะต้องคิดอย่างเป็นระบบและสมเหตุสมผล ไม่ใช่เพียงแต่จะสร้างรถไฟฟ้าเท่านั้น เช่น ระหว่างรถไฟฟ้าสายสีม่วง ซึ่งรัฐลงทุนสร้างถึง 82,300 ล้านบาท มีคนใช้อยู่ที่ 55,000 คนต่อวัน เทียบกับรถเมล์ ขสมก. ซึ่งมีคนใช้ถึง 1 ล้านคนต่อวัน

แต่ในกรณีของรถเมล์โดย ขสมก. ได้รับการอุดหนุนจากรัฐเพียง 2,200 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็น 6 บาท/คน/เที่ยว ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีม่วงได้รับการอุดหนุนถึง 2,900 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็น 147 บาท/คน/เที่ยว  

ขณะเดียวกัน ต้นทุนในการทำรถเมล์อยู่ที่คันละ 3-10 ล้านบาท ขณะที่รถไฟฟ้าต้องลงทุนถึง กิโลเมตรละ 2-9 พันล้านบาท ซึ่งการลงทุนในรถเมล์ใช้เงินลงทุนน้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด แต่ที่ผ่านมารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ กลับสร้างแต่รถไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว โดยล่าสุด ได้อนุมัติโครงการสร้างรถไฟฟ้าไปแล้วถึง 508,609 ล้านบาท

“ทั้งๆ ที่ฐานผู้ใช้ของรถเมล์คือผู้มีรายได้น้อย แต่ฐานผู้ใช้รถไฟฟ้าคือชนชั้นกลางระดับบน เพราะฉะนั้นสิ่งที่ขาดมากและควรอุดหนุนมากกว่ารถไฟฟ้าคือรถเมล์” นายสุรเชษฐ์กล่าว

>> ลั่น “ก้าวไกล” เป็นรัฐบาลจะบีบคลอด “ตั๋วร่วม-ค่าโดยสารร่วม” ไม่เกรงใจเจ้าสัวใหญ่เหมือนรัฐบาล “ประยุทธ์”

นายสุรเชษฐ์ ยังอภิปรายต่อถึงข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาค่าเดินทางที่แพงขึ้นในปัจจุบัน โดยระบุว่าสิ่งที่รัฐควรนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว คือระบบ “ตั๋วร่วม” และ “ค่าโดยสารร่วม” ซึ่งต่างจากสิ่งที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์กำลังจะทำโดยสิ้นเชิง

กล่าวคือ สำหรับข้อเสนอของพรรคก้าวไกล ระบบตั๋วร่วม จะต้องใช้ร่วมกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งเป็นแกนหลักที่ผ่านกลางเมืองด้วย ไม่ใช่แยกออกไปอย่างที่รัฐบาลกำลังพิจารณา

นอกจากนี้ สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำคือ EMV (Europay Mastercard and Visa) เป็นเพียงการอำนวยความสะดวกในการจ่ายเท่านั้น ทั้งที่คุณูปการที่แท้จริงของระบบตั๋วร่วม คือ ABT (Account Based Ticketing) ที่สามารถแตะเข้า-ออกได้ทั้งระบบรถไฟฟ้าทุกสายและรถเมล์ แล้วทุกอย่างรวมศูนย์มาที่ Central Clearing House ที่จะต่อยอดไปถึงการทำค่าโดยสารร่วมได้ในอนาคต

ส่วนข้อเสนอค่าโดยสารร่วม ตนเสนอว่าจะต้องเป็นรถเมล์ร่วมรถไฟฟ้าด้วย โดยไม่คิดค่าแรกเข้าซ้ำซ้อนเมื่อข้ามสายหรือข้ามระบบ สิ่งที่พรรคก้าวไกลเสนอ คือการคิดราคาค่าโดยสารร่วม บนพื้นฐานของราคาปัจจุบันที่ 8-45 บาท ซึ่งเป็นราคาที่เป็นไปได้จริง โดยไม่ต้องใช้เงินอุดหนุนมากเกินไปนัก

โดยในระบบรถเมล์อยู่ที่ 8-25 บาท ค่าแรกเข้า  8 บาท ค่าระยะทาง 1 บาท/กิโลเมตร สูงสุดไม่เกิน 25 บาท ส่วนระบบรถไฟฟ้าอยู่ที่ 15-45 บาท ค่าแรกเข้า 15 บาท ค่าระยะทาง 2 บาท/กิโลเมตร สูงสุดไม่เกิน 45 บาท โดยที่การเดินทางข้ามสายภายในระบบรถเมล์หรือรถไฟฟ้า ให้ยกเว้นค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน และหากเป็นการเดินทางข้ามระบบทั้งรถเมล์และรถไฟฟ้า ให้ยกเว้นค่าแรกเข้ารถเมล์และสูงสุดไม่เกิน 45 บาท

นายสุรเชษฐ์ยังยกตัวอย่าง ว่าหากย้อนกลับไปที่ตัวอย่างของบุคคลที่ตนยกมาข้างต้น โครงสร้างค่าโดยสารร่วมเช่นนี้ จะช่วยลดค่าโดยสารในขาไป จาก 107 บาท เหลือเพียง 54 บาทในทันที และเมื่อมีการขยายโครงข่ายรถเมล์เสร็จ จะทำให้เหลือค่าโดยสารเพียง 45 บาทเท่านั้น ส่วนในขากลับ จะลดจาก 61 บาท เหลือ 54 บาททันที และเหลือ 45 บาทเมื่อขยายโครงข่ายรถเมล์เสร็จ

นายสุรเชษฐ์ ยังระบุด้วย ว่าการทำระบบเช่นนี้คือสิ่งที่เป็นไปได้ และไม่ต้องใช้งบประมาณอุดหนุนมากเกินความเป็นไปได้ แต่อย่างไรก็ตาม เราสามารถทำให้ค่าโดยสารรถสาธารณะถูกลงกว่านั้นได้อีก หากเราไม่ได้นำงบประมาณไปเสียในสิ่งที่ไม่ควรจะเสีย

เช่น กรณีของค่าทางด่วน ที่รัฐบาลนี้ยอมเสีย “ค่าแกล้งโง่” ไปเจรจายอมความยกเลิกข้อพิพาท แลกกับสัมปทาน 15 ปี 8 เดือน ที่ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ไปเข้ากระเป๋านายทุนใหญ่ถึง 166,204 ล้านบาท

เพราะหากไม่จ่าย “ค่าแกล้งโง่” นี้ จะทำให้ค่าโดยสารร่วมถูกลงได้อีก และทำให้รัฐมีเงินเหลือไปทำโครงสร้างขนส่งสาธารณะได้อีกมากมาย เช่น การขยายโครงข่ายรถเมล์และ Feeders รวมถึงการปรับปรุงจุดเชื่อมต่อ การอุดหนุนรถเมล์ฟรีสำหรับผู้มีรายได้น้อย เป็นต้น

>> อัดยับ! ขยายสัมปทานสายสีเขียวอีก 30 ปี ไร้ความโปร่งใส

และที่น่าเสียดายไปกว่านั้น คือกรณีสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งเรากำลังจะเสียไปอย่างไม่ชอบธรรมอีกครั้ง ทั้งที่พรรคก้าวไกลเคยเสนอแล้วให้รัฐบาลไปเจรจาใหม่ให้มีความโปร่งใส แต่รัฐบาลก็ไม่ทำ แล้วยังใช้มาตรา 44 ไปแอบเจรจากันออกไม่กี่วันหลังการเลือกตั้ง ทั้งที่ช่วงนั้นยังเป็นรัฐบาลรักษาการอยู่ และสัมปทานเดิมก็ยังเหลืออีก 7 ปี 

นอกจากนี้ ในสัญญาสัมปทานก็ไม่ได้มีข้อเท็จจริงอะไรเปลี่ยนไปเลย เป็นร่างสัญญาเดิมซึ่งพรรคก้าวไกลไม่เห็นด้วยแน่นอน 

“กำไรจากท่อนไข่แดงที่จะหมดสัมปทานปี 2572 มีเท่าไหร่ก็ไม่เปิดเผย ค่าใช้จ่ายแต่ละปีก็ไม่เปิดเผย ข้อความมันกระจ่างว่าเหตุใดถึงไม่เปิดเผย ผมทราบจากการเอา พ.ร.บ.ร่วมทุนกับคำสั่ง คสช. มาเทียบกัน ข้อความที่หายไปก็คือมาตรา 6 (5) คือเรื่องของความโปร่งใสและตรวจสอบได้ ที่มันหายไปกับมาตรา 44 แล้ว” นายสุรเชษฐ์กล่าว 

นายสุรเชษฐ์ยังอภิปรายทิ้งท้าย ว่าสุดท้ายนี้การผลักดันตั๋วร่วมและค่าโดยสารร่วม จะนำไปสู่การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างเป็นระบบ ซึ่งไม่เหมือนกับการปะผุปัญหาเฉพาะสายสีเขียว ที่จะทำให้การแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างยากขึ้นไปอีก 30 ปี