'เสี่ยเฮ้ง' โต้แรงนโยบายหาเสียงเพื่อไทย คิดได้แค่นี้ประเทศไม่รอด ท้า!! แน่จริงขึ้นค่าแรงบริษัทในเครือขั้นต่ำ 600 ให้ดูหน่อย

หลังจากเมื่อวันที่ (6 ธ.ค. 65) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ได้ประกาศนโยบายหาเสียงเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทย ด้วยการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน และจบปริญญาตรีมีเงินเดือน 25,000 บาท ปักธงเป็นรัฐบาลครบวาระ 4 ปี โดย อธิบายว่าประเทศไทยมี 20 ล้านครอบครัว สามารถสร้างงานทักษะสูงได้ 20 ล้านตำแหน่ง และมีรายได้รวมกันถึงปีละ 4 ล้านล้านบาทนั้น ในปี 2570 คนไทยต้องได้ค่าแรงขั้นต่ำให้สมกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนไทย คือ ไม่ต่ำกว่า 600 บาทต่อวัน และเงินเดือนของผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีอยู่ที่ 25,000 บาทขึ้นไป 

ขณะเดียวกันก็จะใช้ซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) เป็นพลังขับเคลื่อน โดยการดึงศักยภาพของอย่างน้อย 1 คนในทุกครอบครัวให้ได้รับโอกาสในการอบรม บ่มเพาะ ทักษะสร้างสรรค์ที่มีความถนัดให้ดีขึ้น รวมทั้งการสร้างทักษะสร้างสรรค์ Soft Power ด้านต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้มีรายได้คนละไม่ต่ำกว่า 200,000 บาทต่อปี 

จากนโยบายดังกล่าวนี้ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้สัมภาษณ์ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ว่ามีความคิดเห็นในนโยบายดังกล่าวอย่างไร?

โดยในประเด็นการสร้างงานทักษะสูง 20 ล้านตำแหน่ง สุชาติ กล่าวว่า “วันนี้มีคนไทยอยู่ในระบบประกันสังคม 11 ล้านกว่าคน แรงงานนอกระบบอีก 20 ล้านคน หาบเร่แผงลอย นายจ้าง ธุรกิจส่วนตัว รวมแล้ว 2 ระบบ ประมาณ 30 ล้านคน ข้าราชการอีกกี่ล้านคน นักศึกษาอีกกี่ล้านคน เด็กที่ยังเรียนอยู่อีกกี่ล้านคน แล้วถ้าบอกว่า 20 ล้านตำแหน่ง คุณจะเอาคนไทยที่ไหนมาทำงาน ผมไม่เข้าใจเลย เพราะเค้าทำงานกันเกือบหมดแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาการบริหารงานของผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในช่วงไตรมาสที่ 1 ถึง ไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 หลังจากเศรษฐกิจฟื้นตัวด้วยนโยบายของรัฐบาลต่างๆ เราได้จ้างงานไปกว่า 1,590,000 อัตรา มากกว่าก่อนที่ไม่มีโควิด-19 เพราะฉะนั้นตัวเลขที่บอกว่าสามารถสร้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง มันโอเว่อร์ไป” 

ในส่วนของค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท มีความเป็นไปได้มากน้อยขนาดไหนนั้น สุชาติ แสดงความเห็นว่า “ค่าแรง 600 บาท ผมเรียนอย่างนี้นะครับ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน นำเข้าสู่คณะรัฐมนตรีเป็น ร้อย ๆ อาชีพ ในการปรับค่าแรงให้กับวิชาชีพต่าง ๆ เช่น ช่างปูกระเบื้อง ค่าแรงเกือบ 1,000 บาท ทุกอย่างถ้ามีฝีมือปรับตามกระทรวงแรงงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงานที่นำเข้าสู่คณะรัฐมนตรีประกาศออกมาใช้แล้ว เป็นร้อยอาชีพ 

"ส่วนค่าแรง 600 บาท กำลังพูดถึงค่าแรงคนที่ไม่มี Skill ไม่มีฝีมือ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าว ที่ค่าแรงส่วนใหญ่ของประเทศเค้ามีค่าแรง 100 บาทต้นๆ และถ้าเกิดปรับค่าแรงเป็น 600 บาท ผมถามว่าแรงงานต่างด้าวก็มาบ้านเราหมด ซึ่งอัตราแรงงานไร้ฝีมือในบ้านเราก็เพียงพออยู่แล้ว ประมาณ 2 ล้านกว่าคน โดยเป็นคนต่างด้าวที่อยู่ในประเทศไทย แบบนี้ก็จะทำให้คนต่างด้าวหลบหนีเข้ามามากขึ้นได้

"ผมขอฝากข้อคิดไว้ข้อคิดหนึ่ง การทำแบบนี้แรงงานไทยที่กำลังทำงานอยู่ จะสุ่มเสี่ยงตกงาน ถ้าเราเป็นเจ้าของกิจการต้องจ้างแรงงาน 25,000 บาท ตามกฎหมายกำหนด แบบนี้ผู้ประกอบการจ้างเหมาดีกว่าไหม มีงานก็จ้างไม่มีงานก็ไม่จ้าง กระทบต่อแรงงานแน่นอน ภาคเอกชนไม่รับคนเพิ่มและอาจใช้วิธีแบบนี้เพื่อลดต้นทุน ส่วนในประเด็นปรับเงินเดือน 25,000 บาท ถ้าคนทำงานเดิมที่มีเงินเดือน 20,000 กว่า และคนใหม่เข้ามาทำงาน เงินเดือนขึ้นไป 25,000 บาท ระบบเงินเดือนจะปรับยังไง ต้นทุนบริษัทจะไปทางไหน นโยบายสุดโต่งแบบนี้ สุ่มเสี่ยงทำให้ลูกจ้าง แรงงานตกงานได้เลยและจะทำให้บริษัทต่างชาติที่จะมาเปิดและใช้แรงงานในไทย ย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นแน่นอน ตรงนี้คุณคิดหรือเปล่าถ้าคุณเสนอตัวเป็นผู้นำประเทศ” 

เจ้ากระทรวงแรงงานยังกล่าวอีกว่า “คุณอุ๊งอิ๊ง ไม่เคยลำบากยากจนมากก่อน ไม่เคยเป็นนักธุรกิจ ไม่ได้เป็นเจ้าของกิจการที่ก่อร่างสร้างตัวมาด้วยตนเอง เกิดมาก็พ่อรวยแล้ว ถามว่าวันนี้คุณรู้ไหมว่าต้นทุนในแต่ละบริษัท ต้นทุนการตลาดต่างๆ ระบบเงินเดือน มันมีที่มาที่ไปอย่างไร ไม่ใช่อยู่ ๆ อยากจะขึ้นค่าแรงก็พูดได้ คุณรู้ไหมว่าการที่คุณหาเสียงโดยการเอาความยากลำบาก หรือความเสี่ยงปิดกิจการของนายจ้างเอามาเล่นแบบนี้ไม่ได้ คุณกำลังจะทำให้ธุรกิจในประเทศมีปัญหา นายจ้างต้องเลิกกิจการนะ

"คุณกำลังเล่นการเมืองโดยเอาเงินเอกชนมาหาเสียงตัวคุณเอง นักลงทุนที่จะมาลงทุนใน EEC (โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก) หรือต่างชาติ อย่างซาอุดีอาระเบีย จะมาลงทุนในเอเปคที่เราคุยไว้ ใครจะมาลงทุน ผมถามหน่อย คุณอุ๊งอิ๊งรู้ไหมว่าแรงงานขั้นต่ำที่คุณอุ๊งอิ๊งพูดมีคนไทยอยู่ในระบบประกันสังคม ที่เหลือเป็นแรงงานต่างด้าว 1 ล้านคน ที่เหลือก็เป็นระบบเงินเดือนฐานเงินเดือน ถ้าเราทำให้เอกชนแข็งแรง เอกชนที่ไหนเค้าจะปล่อยให้ลูกน้องเค้าเงินเดือนน้อยล่ะ 

"ถ้าคุณมีกิจการดี ส่งออกดี คุณไม่กลัวลูกน้องคุณไปอยู่บริษัทอื่นที่เงินเดือนเยอะกว่าเหรอ คุณก็ต้องปรับ วันนี้บริษัทผลิตรถยนต์ โบนัส 7 ถึง 8 เท่า เพราะนโยบายกระทรวงแรงงานเราแข็งแรงส่งเสริมเอกชน พอเค้าแข็งแรง เค้าก็ดูแลลูกน้องในระบบได้ คุณอุ๊งอิ๊ง พรรคเพื่อไทยออกนโยบายแบบนี้คุณไม่เคยลำบาก คุณรวยแล้ว คุณรู้ไหมความลำบากเป็นอย่างไร การบริหารกระทรวงแรงงานเราไม่ได้ขึ้นที่ค่าแรงงานอย่างเดียว แต่เราลงไปดูแลสวัสดิการต่าง ๆ ด้วย 

"โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 กระทรวงแรงงานได้ดำเนินการตรวจ PCR ให้โรงงานต่าง ๆ ฟรี เราขอวัคซีนท่านนายกฯ ประยุทธ์มา แล้วให้ผู้ประกันตน ม.33 ไปฉีดได้ฟรีทุกจุด เราเช่าโรงแรม 50,000 ห้อง เพื่อรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ให้เค้ามีกำลังใจเพื่อให้โรงงานอยู่รอด สวัสดิการวัดหยุด ลาคลอดจาก 90 วันเป็น 98 วัน ทำตามมาตรฐานโลกแล้ว และถ้าบริษัทไหนไม่เป็นธรรมกับลูกจ้างเราก็มีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเข้าไปดูแลทุกบริษัท” 

สุชาติ ชมกลิ่น กล่าวต่ออีกว่า “การที่ขึ้นค่าแรงอย่างสุดโต่ง มันจะทำให้ธุรกิจเจ๊งหมด คนจะตกงานอีกหลายล้านคน คุณต้องไปด้วยกันให้ได้ระหว่างนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาลออกนโยบายช่วยเหลือนายจ้าง และลูกจ้าง ถ้าจะขึ้นเงินเดือนและค่าแรงจริงๆ ลองให้บริษัทเครือคุณขึ้นค่าแรงแบบนี้ก่อนไหม ขึ้นนำร่องไปก่อนเลย หรือแคนดิเดตนายกฯ อีกคนที่อยู่ในธุรกิจก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ คุณขึ้นค่าแรงไปเลย 600 บาท ขึ้นไปก่อน ผมอยากเห็น”

สำหรับประเด็นนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ สุชาติ แสดงความเห็นว่า "วันนี้นวดแผนไทย ที่แรงงานเราสามารถสร้างรายได้หลัก 1,000 บาทต่อวันแล้ว ตอนนี้กำลังเจรจากับประเทศแถบ EU และสหรัฐอเมริกาโดยจะส่งหมอนวดแผนไทยไปสาธิตเพื่อขยายตลาด วันนี้ผมผลิตหมอนวดแผนไทยซึ่งมีศูนย์อยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน พร้อมหาแหล่งลูกค้า ตลาดเพื่อส่งเสริมให้พวกเค้ามีรายได้เพิ่มมากขึ้น ส่วนที่คุณคิดว่าต้องมีรายได้เท่านั้นเท่านี้ ควรพูดถึงวิธีการทำบ้าง ผมอยู่ตรงนี้มา 2 ปีกว่า ผมรู้ว่าอันไหนทำได้ทำไม่ได้ ซึ่งผมก็สร้างแรงงานฝีมือไปเป็นเชฟบนเรือรายได้เป็นแสน ผมก็ทำ แต่ก็มีข้อจำกัดเนื่องจากความต้องการแรงงานด้านนี้มีจำกัด แต่ถ้าเราทำนวดแผนไทย ซอฟต์พาวเวอร์ แบบนี้ต่างประเทศต้องการเยอะ”

สุชาติ ยังทิ้งท้ายอีกว่า “คุณเสนอตัวเป็นนายกรัฐมนตรี คิดได้แค่นี้ ประเทศจะไปได้อย่างไร ผมไม่เคยไปก้าวล่วงนโยบายพรรคใครใดๆ ถ้านโยบายไม่สุดโต่ง จนประเทศจะไปไม่รอดจริงๆ”  


เรื่อง : พิธีกร วสันต์ มนต์ประเสริฐ Content Manager