Saturday, 27 April 2024
นโยบายเพื่อไทย

‘อุ๊งอิ๊ง’ เปิดแคมเปญเลือกตั้ง 'คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อไทยทุกคน' ชู!! ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ปริญญาตรี 25,000 บาทต่อเดือน

แพทองธาร เปิด 10 นโยบายพลิกฟื้นประเทศ ปี 2570 โดยรัฐบาลเพื่อไทย ต้อง ‘คิดใหญ่ ทำเป็น’ ประกาศค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท เงินเดือน ป.ตรี 25,000 บาท

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคเพื่อไทย และหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย กล่าวในการประชุมใหญ่วิสามัญ ประจำปี 2565 ว่า ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาตนพร้อมคณะกรรมการได้ลงพื้นที่ศึกษาและทำวิจัยพบว่า ประเทศถอยหลังไปมาก ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และไร้ที่ยืนบนเวทีโลก ประชาชนจำนวนมากมีหนี้ท่วมท้นและสะสมเป็นเวลานาน ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

จำเป็นต้อง ‘คิดใหญ่’ เพราะหากคิดเล็กจะรับมือปัญหามากมายขนาดนี้ไม่อยู่ และต้อง ‘ทำเป็น’ เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาได้ ยืนยันได้จากผลงานตั้งแต่รัฐบาลไทยรักไทย จนถึงรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีว่า เราสามารถคืนความสุข ความเจริญ ความกินดีอยู่ดีให้พี่น้องประชาชนได้  หัวข้อในแคมเปญรณรงค์ต่อจากนี้ จึงเปลี่ยนจาก ‘พรุ่งนี้เพื่อไทย’ เป็น ‘คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อไทยทุกคน’

และภายในปี 2570 ภายใต้รัฐบาลพรรคเพื่อไทย คนไทยจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลง คือ

1.) นโยบายเศรษฐกิจ คือ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และขยายโอกาส ยังคงถูกต้องและยึดเป็นแนวทางเสมอมาและตลอดไป จากปี 2566 จนถึงปี 2570 พรรคจะทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของประเทศเติบโตอย่างต่ำเฉลี่ยร้อยละ 5% ต่อปี ช่องว่างความเหลื่อมล้ำจะลดลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะจะใช้แนวคิด ‘รดน้ำที่ราก’ เพื่อให้ต้นไม้งอกงามได้ทั้งต้น ทั้งที่น้ำมีจำกัด

ทักษะสร้างสรรค์ Soft Power ด้านต่าง ๆ เช่น เชฟทำอาหาร นักออกแบบ แฟชั่นดีไซเนอร์ นักร้อง นักแต่งเพลง คนเขียนบท ยูทูบเบอร์ นักสร้างคอนเทนท์ นักออกแบบมัลติมีเดีย นักกีฬา หรือสปาเทอราปิสต์ จะทำให้มีรายได้คนละไม่ต่ำกว่า 200,000 บาทต่อปี ประเทศไทยมี 20 ล้านครอบครัว สามารถสร้างงานทักษะสูงได้ 20 ล้านตำแหน่ง และมีรายได้รวมกันถึงปีละ 4 ล้านล้านบาท และในปี 2570 คนไทยต้องได้ค่าแรงขั้นต่ำให้สมกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนไทย คือ ไม่ต่ำกว่า 600 บาทต่อวัน เงินเดือนของผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี อยู่ที่ 25,000 บาทขึ้นไป

2.) นโยบายด้านการเกษตร ในปี 2570 นำเทคโนโลยีทางการเกษตรหรือ Agritech มาใช้ เช่น เทคโนโลยีเกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture) ใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาช่วยในการเกษตร มีการปรับปรุงหน้าดิน และใช้ปุ๋ยเท่าที่จำเป็น เกษตรกรจะมีรายได้มากขึ้น แต่เหนื่อยน้อยลง ใช้การตลาดนำการผลิต ไม่มีการทำการเกษตรแบบไร้เป้าหมาย สินค้าการเกษตรต้องขึ้นยกแผง มีการนำสินทรัพย์ดิจิทัล (NFT) มาใช้ในการขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า ให้ต่างชาติมาช่วยเสริมสภาพคล่องให้เกษตรกรอีกทางหนึ่ง ราคาพืชผลเกษตรจึงขึ้นยกแผงทุกตัว เพราะเคยทำมาแล้ว และจะทำต่อไป

3.) นโยบายด้านการท่องเที่ยว ในปี 2570 มีนักท่องเที่ยวมาเยือนไทยจำนวนมาก รายได้จากการท่องเที่ยวสูงถึง 3 ล้านล้านบาทต่อปี การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทยได้รับความนิยมจากทั่วโลก เทศกาลของไทย 2 เทศกาลคือ สงกรานต์ในเดือนเมษายน และลอยกระทงในเดือนพฤศจิกายนเป็นเทศกาลระดับโลกที่นักท่องเที่ยวปักหมุดไว้ในปฏิทิน ประเทศไทยน่าอยู่สำหรับชาวต่างชาติและคนไทย

4.) นโยบายด้านนวัตกรรม สร้างโครงข่ายในการเก็บบัญชีธุรกรรมออนไลน์ (Blockchain) ของไทยเอง ที่เป็นช่องทางในการขายสินค้าเกษตร รวมทั้งสินทรัพย์ที่เกิดจากซอฟต์พาวเวอร์ ตลอดจนเป็นช่องทางเงินทุนให้กับนักธุรกิจรายย่อย ไม่ว่าจะเป็น Start up หรือ SME

นอกจากนั้น จะส่งเสริมงานวิจัยอย่างจริงจัง จนทำให้ในปี 2570 ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางด้านนวัตกรรมของ Asean มีการใช้เงินสกุลดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (CBDC : Central Bank Digital Currency) แทนเงินสด ป้องกันการคอร์รัปชันในการเมืองแบบ ‘ลิงกินกล้วย’ ทุกวันนี้ได้เป็นอย่างดี ประชาชนทุกคนมีบัญชีธนาคาร และมีกระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital Wallet)  ของตนเอง

รัฐบาลกลายเป็นรัฐบาลดิจิทัลเต็มรูปแบบ การเข้าถึงบริการของรัฐทำได้ง่าย สะดวก ทุกหมู่บ้านของประเทศไทยมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง สถานที่สาธารณะทุกแห่งมี wifi ฟรี

5.) นโยบายด้านสาธารณสุข ในปี 2570 หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรคถูกอัปเกรด หรือยกระดับขึ้น สามารถรักษาได้ทั่วประเทศ ประชาชนสามารถใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียว รับการรักษาได้ทั่วประเทศโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพราะข้อมูลสุขภาพถูกเชื่อมไว้บนศูนย์ข้อมูล หรือ Cloud  เมื่อเจ็บป่วย ผู้ป่วยเพียงยื่นบัตรประชาชนแล้วอนุญาตให้แพทย์ผู้รักษาเข้าถึงข้อมูลการรักษาได้

ในปี 2570 ผู้ป่วยโรคทางจิต เช่น โรคซึมเศร้า หรือโรคทางกายอื่น ๆ ที่ต้องการขอคำปรึกษากับแพทย์เฉพาะทางได้รับการรักษาที่ศูนย์สาธารณสุขหรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน ไม่จำเป็นต้องเดินทางไกล เพราะแพทย์เฉพาะทางให้คำปรึกษาผ่านระบบทางไกลหรือ Telemedicine ได้ การนัดคิวตรวจเป็นเรื่องปกติของโรงพยาบาลทุกแห่ง ผู้ป่วยไม่ต้องไปโรงพยาบาลแต่เช้ามืด ผู้ป่วยที่ต้องเจาะเลือดตรวจโรค ก็สามารถทำได้ที่คลินิกหรือศูนย์สาธารณสุขใกล้บ้าน

ผู้ป่วยติดเตียงและผู้ป่วยในระยะสุดท้ายของชีวิต ได้รับการดูแลจากผู้ช่วยพยาบาลทั้งที่บ้านและที่ศูนย์ชีวาภิบาล (Hospice) ของรัฐและเอกชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ลูกหลานยังสามารถไปประกอบอาชีพได้ตามปกติ ไม่ต้องลางาน

การสาธารณสุขเชิงรุก เช่น การฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกฟรีในเด็กหญิงอายุ 9-11 ปี และฉีดวัคซีนให้ผู้หญิงที่ยังไม่ติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV : Human Papilloma Virus) อีกทั้งยังตรวจและรักษาไวรัสตับอักเสบ-ซี ซึ่งโรคดังกล่าวจะเป็นการป้องกันมะเร็งตับที่เป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของมะเร็งในผู้ชาย

ปี 2570 โรงพยาบาลของรัฐถูกกระจายอำนาจในรูปแบบองค์การมหาชนที่ท้องถิ่นและชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารโรงพยาบาล มีการจัดสรรบุคลากรทางการแพทย์ตามปริมาณงาน และเกิดการลงทุนครั้งใหญ่ในการพัฒนาอุปกรณ์การแพทย์ให้ทันสมัยในทุกระดับตั้งแต่ตำบลถึงมหานคร รวมทั้งมีการฝึก อ.ส.ม. ให้เป็นพยาบาลระดับต้น ประจำทุกหมู่บ้าน ส่วนในกรุงเทพมหานคร มีโรงพยาบาลประจำเขตทั้ง 50 เขต

6.) นโยบายด้านการศึกษา ในปี 2570 มีการกระจายอำนาจการศึกษาเหมือนในประเทศที่เจริญแล้ว มีโรงเรียน 2 ภาษาในทุกท้องถิ่น ซึ่งสอนภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษและภาษาจีน ตั้งแต่ ป.1 มีการเรียนการสอนทั้งในห้องเรียนและออนไลน์ โดยใช้ครูต่างประเทศมาสอนเสริมร่วมกับครูไทย มีศูนย์การเรียนรู้แบบ TCDC และ TK Park ที่เริ่มต้นสมัยไทยรักไทย ให้ครบทุกจังหวัด

7.) นโยบายด้านยาเสพติด จะปราบปรามยาเสพติดเต็มรูปแบบ เด็กไทยตกเป็นทาสยาเสพติด ทำร้ายคนในครอบครัวและผู้อื่นอีกมากมาย และจะบำบัดผู้เสพอย่างทั่วถึงควบคู่กันไปกับการปราบปราม

'เสี่ยเฮ้ง' โต้แรงนโยบายหาเสียงเพื่อไทย คิดได้แค่นี้ประเทศไม่รอด ท้า!! แน่จริงขึ้นค่าแรงบริษัทในเครือขั้นต่ำ 600 ให้ดูหน่อย

หลังจากเมื่อวันที่ (6 ธ.ค. 65) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ได้ประกาศนโยบายหาเสียงเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทย ด้วยการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน และจบปริญญาตรีมีเงินเดือน 25,000 บาท ปักธงเป็นรัฐบาลครบวาระ 4 ปี โดย อธิบายว่าประเทศไทยมี 20 ล้านครอบครัว สามารถสร้างงานทักษะสูงได้ 20 ล้านตำแหน่ง และมีรายได้รวมกันถึงปีละ 4 ล้านล้านบาทนั้น ในปี 2570 คนไทยต้องได้ค่าแรงขั้นต่ำให้สมกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนไทย คือ ไม่ต่ำกว่า 600 บาทต่อวัน และเงินเดือนของผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีอยู่ที่ 25,000 บาทขึ้นไป 

ขณะเดียวกันก็จะใช้ซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) เป็นพลังขับเคลื่อน โดยการดึงศักยภาพของอย่างน้อย 1 คนในทุกครอบครัวให้ได้รับโอกาสในการอบรม บ่มเพาะ ทักษะสร้างสรรค์ที่มีความถนัดให้ดีขึ้น รวมทั้งการสร้างทักษะสร้างสรรค์ Soft Power ด้านต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้มีรายได้คนละไม่ต่ำกว่า 200,000 บาทต่อปี 

จากนโยบายดังกล่าวนี้ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้สัมภาษณ์ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ว่ามีความคิดเห็นในนโยบายดังกล่าวอย่างไร?

โดยในประเด็นการสร้างงานทักษะสูง 20 ล้านตำแหน่ง สุชาติ กล่าวว่า “วันนี้มีคนไทยอยู่ในระบบประกันสังคม 11 ล้านกว่าคน แรงงานนอกระบบอีก 20 ล้านคน หาบเร่แผงลอย นายจ้าง ธุรกิจส่วนตัว รวมแล้ว 2 ระบบ ประมาณ 30 ล้านคน ข้าราชการอีกกี่ล้านคน นักศึกษาอีกกี่ล้านคน เด็กที่ยังเรียนอยู่อีกกี่ล้านคน แล้วถ้าบอกว่า 20 ล้านตำแหน่ง คุณจะเอาคนไทยที่ไหนมาทำงาน ผมไม่เข้าใจเลย เพราะเค้าทำงานกันเกือบหมดแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาการบริหารงานของผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในช่วงไตรมาสที่ 1 ถึง ไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 หลังจากเศรษฐกิจฟื้นตัวด้วยนโยบายของรัฐบาลต่างๆ เราได้จ้างงานไปกว่า 1,590,000 อัตรา มากกว่าก่อนที่ไม่มีโควิด-19 เพราะฉะนั้นตัวเลขที่บอกว่าสามารถสร้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง มันโอเว่อร์ไป” 

ในส่วนของค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท มีความเป็นไปได้มากน้อยขนาดไหนนั้น สุชาติ แสดงความเห็นว่า “ค่าแรง 600 บาท ผมเรียนอย่างนี้นะครับ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน นำเข้าสู่คณะรัฐมนตรีเป็น ร้อย ๆ อาชีพ ในการปรับค่าแรงให้กับวิชาชีพต่าง ๆ เช่น ช่างปูกระเบื้อง ค่าแรงเกือบ 1,000 บาท ทุกอย่างถ้ามีฝีมือปรับตามกระทรวงแรงงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงานที่นำเข้าสู่คณะรัฐมนตรีประกาศออกมาใช้แล้ว เป็นร้อยอาชีพ 

"ส่วนค่าแรง 600 บาท กำลังพูดถึงค่าแรงคนที่ไม่มี Skill ไม่มีฝีมือ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าว ที่ค่าแรงส่วนใหญ่ของประเทศเค้ามีค่าแรง 100 บาทต้นๆ และถ้าเกิดปรับค่าแรงเป็น 600 บาท ผมถามว่าแรงงานต่างด้าวก็มาบ้านเราหมด ซึ่งอัตราแรงงานไร้ฝีมือในบ้านเราก็เพียงพออยู่แล้ว ประมาณ 2 ล้านกว่าคน โดยเป็นคนต่างด้าวที่อยู่ในประเทศไทย แบบนี้ก็จะทำให้คนต่างด้าวหลบหนีเข้ามามากขึ้นได้

"ผมขอฝากข้อคิดไว้ข้อคิดหนึ่ง การทำแบบนี้แรงงานไทยที่กำลังทำงานอยู่ จะสุ่มเสี่ยงตกงาน ถ้าเราเป็นเจ้าของกิจการต้องจ้างแรงงาน 25,000 บาท ตามกฎหมายกำหนด แบบนี้ผู้ประกอบการจ้างเหมาดีกว่าไหม มีงานก็จ้างไม่มีงานก็ไม่จ้าง กระทบต่อแรงงานแน่นอน ภาคเอกชนไม่รับคนเพิ่มและอาจใช้วิธีแบบนี้เพื่อลดต้นทุน ส่วนในประเด็นปรับเงินเดือน 25,000 บาท ถ้าคนทำงานเดิมที่มีเงินเดือน 20,000 กว่า และคนใหม่เข้ามาทำงาน เงินเดือนขึ้นไป 25,000 บาท ระบบเงินเดือนจะปรับยังไง ต้นทุนบริษัทจะไปทางไหน นโยบายสุดโต่งแบบนี้ สุ่มเสี่ยงทำให้ลูกจ้าง แรงงานตกงานได้เลยและจะทำให้บริษัทต่างชาติที่จะมาเปิดและใช้แรงงานในไทย ย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นแน่นอน ตรงนี้คุณคิดหรือเปล่าถ้าคุณเสนอตัวเป็นผู้นำประเทศ” 

เจ้ากระทรวงแรงงานยังกล่าวอีกว่า “คุณอุ๊งอิ๊ง ไม่เคยลำบากยากจนมากก่อน ไม่เคยเป็นนักธุรกิจ ไม่ได้เป็นเจ้าของกิจการที่ก่อร่างสร้างตัวมาด้วยตนเอง เกิดมาก็พ่อรวยแล้ว ถามว่าวันนี้คุณรู้ไหมว่าต้นทุนในแต่ละบริษัท ต้นทุนการตลาดต่างๆ ระบบเงินเดือน มันมีที่มาที่ไปอย่างไร ไม่ใช่อยู่ ๆ อยากจะขึ้นค่าแรงก็พูดได้ คุณรู้ไหมว่าการที่คุณหาเสียงโดยการเอาความยากลำบาก หรือความเสี่ยงปิดกิจการของนายจ้างเอามาเล่นแบบนี้ไม่ได้ คุณกำลังจะทำให้ธุรกิจในประเทศมีปัญหา นายจ้างต้องเลิกกิจการนะ

"คุณกำลังเล่นการเมืองโดยเอาเงินเอกชนมาหาเสียงตัวคุณเอง นักลงทุนที่จะมาลงทุนใน EEC (โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก) หรือต่างชาติ อย่างซาอุดีอาระเบีย จะมาลงทุนในเอเปคที่เราคุยไว้ ใครจะมาลงทุน ผมถามหน่อย คุณอุ๊งอิ๊งรู้ไหมว่าแรงงานขั้นต่ำที่คุณอุ๊งอิ๊งพูดมีคนไทยอยู่ในระบบประกันสังคม ที่เหลือเป็นแรงงานต่างด้าว 1 ล้านคน ที่เหลือก็เป็นระบบเงินเดือนฐานเงินเดือน ถ้าเราทำให้เอกชนแข็งแรง เอกชนที่ไหนเค้าจะปล่อยให้ลูกน้องเค้าเงินเดือนน้อยล่ะ 

"ถ้าคุณมีกิจการดี ส่งออกดี คุณไม่กลัวลูกน้องคุณไปอยู่บริษัทอื่นที่เงินเดือนเยอะกว่าเหรอ คุณก็ต้องปรับ วันนี้บริษัทผลิตรถยนต์ โบนัส 7 ถึง 8 เท่า เพราะนโยบายกระทรวงแรงงานเราแข็งแรงส่งเสริมเอกชน พอเค้าแข็งแรง เค้าก็ดูแลลูกน้องในระบบได้ คุณอุ๊งอิ๊ง พรรคเพื่อไทยออกนโยบายแบบนี้คุณไม่เคยลำบาก คุณรวยแล้ว คุณรู้ไหมความลำบากเป็นอย่างไร การบริหารกระทรวงแรงงานเราไม่ได้ขึ้นที่ค่าแรงงานอย่างเดียว แต่เราลงไปดูแลสวัสดิการต่าง ๆ ด้วย 

'พิชัย' ซัด!! เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำกว่าศักยภาพ ชี้!! นโยบายเพื่อไทยช่วยได้ ไม่สร้างหายนะ

'พิชัย' ชี้ ค่าแรง 600 บาท แสดงถึงความสำเร็จของรัฐบาลในการกระจายรายได้ และ พัฒนาไทยให้หลุดพ้นประเทศรายได้ปานกลาง มั่นใจ ทุกนโยบายทำได้จริง รวมถึงการลดราคาน้ำมัน, ไฟฟ้า และ ก๊าซหุงต้ม แนะ ต้องทำหลาย ๆ ด้านไปพร้อม ๆ กัน 

(13 ธ.ค. 65) นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า ตามที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยได้ประกาศนโยบายของพรรคเพื่อไทยหลายด้าน โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ อยากให้ประชาชนมั่นใจได้ว่า นโยบายของพรรคเพื่อไทย สามารถทำได้จริงตามที่ได้ประกาศอย่างแน่นอน และเป็นการคิดใหญ่ ทำเป็น เพราะเคยทำสำเร็จมาแล้วทุกนโยบายในอดีต เรียกได้ว่าพรรคเพื่อไทย เป็นพรรคการเมืองเดียวที่ประกาศนโยบายแล้วทำได้จริง ไม่เหมือนหลายพรรคที่ประกาศนโยบายแต่ทำไม่ได้ หรือทำไม่เป็น เป็นต้น

ทั้งนี้ อยากตอกย้ำนโยบายที่สำคัญเช่นการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยหากพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลจะทำให้เศรษฐกิจขยายได้เฉลี่ยปีละ 5% ซึ่งสามารถทำได้จริง และเป็นศักยภาพที่ประเทศไทยควรจะขยายให้ได้อยู่แล้ว โดยทั้ง ธนาคารโลก ไอเอ็มเอฟ ต่างก็บอกตรงกันว่าประเทศไทยขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพมาโดยตลอด อีกทั้งประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทยจะต้องขยายตัวปีละ 5-6% เป็นอย่างน้อยเพื่อพัฒนาให้หลุดพ้นจากกับดักการเป็นประเทศรายได้ปานกลาง และจะเพิ่มการจ้างงาน และการหารายได้เพื่อใช้หนี้สาธารณะอีกด้วย โดยตลอดหลายปีเศรษฐกิจของประเทศไทยขยายตัวได้ต่ำมาก ขนาดในปีนี้ที่ประเทศต่างๆ ในอาเซียนขยายตัวได้สูง เช่น ใน 9 เดือนแรก มาเลเซียขยายได้ 9.36% เวียดนาม 8.8% ฟิลิปปินส์ 7.76% และอินโดนีเซีย 5.39% แต่ไทยกลับขยายตัวได้ต่ำมาก เพียง 3.1% เท่านั้น 

ดังนั้น การเร่งการขยายตัวทางเศรษฐกิจจึงเป็นความจำเป็นระดับแรก ซึ่งจะต้องมีนโยบายหลายๆด้านออกมาพร้อมๆ กัน เช่นในปี 2555 เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ถึง 7.2% เป็นต้น ฉะนั้นการสร้างรายได้ใหม่ในหลายด้านและส่งเสริมให้มีการลงทุนจากในประเทศและจากต่างประเทศจะเป็นแนวทางที่จะเพิ่มจีดีพีให้ขยายตัวได้มากขึ้น รวมถึงการทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมของอาเซียนให้คนฉลาด ๆ และคนเก่ง ๆ มาอยู่ประเทศไทยและช่วยกันพัฒนาเศรษฐกิจไทย

รู้ทันการเมืองไทย ชวนส่องนโยบาย ‘คิดใหญ่ ทำเป็น’ พรรคเพื่อไทย บนแนวคิด ‘หลักกู’ ที่ไม่คำนึงถึง ‘หลักการ’

หลายนโยบายก็เคยส่องแล้ว วันนี้ขอถือโอกาสส่องอีกที นโยบายก็เคยส่องแล้วขอส่องซ้ำด้วยบทความเดิม ส่วนอันไหนที่ไม่เคยส่องจะได้จัดการส่องใหม่สั้น ๆ เพื่อให้กระชับ ดังนี้ครับ

การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน ผู้เขียนเชื่อว่า เศรษฐกิจของประเทศน่าจะมีปัญหาอย่างแน่นอน เมื่อมีพรรคการเมืองหาเสียงด้วยการกำหนดอัตราค่าจ้างและเงินเดือนโดยไม่ได้คำนวณจาก ‘ดัชนีราคาผู้บริโภค’ (Consumer Price Index : CPI) วิธีคิดค่าจ้างขั้นต่ำที่ใช้ฐานคิดคำนวณจาก ‘หลักกู’ โดยไม่คำนึงถึง ‘หลักการ’ ซึ่งต้องนำข้อมูลและปัจจัยที่เกี่ยวข้องมากมายหลายตัวมาคิดคำนวณให้ได้ ‘ดัชนีราคาผู้บริโภค’ (CPI) แล้วจึงจะสามารถคำนวณค่าแรงขั้นต่ำได้ (เป็นไปได้ไหม? ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวันของพรรคเพื่อไทย https://thestatestimes.com/post/2023033141)

นโยบายประชานิยมที่พรรคการเมืองต่าง ๆ นิยมนำมาหาเสียงกับเกษตรกรเสมอมาคือ การพักหนี้ การยกหนี้ แต่ต้องนำงบประมาณซึ่งมาจากภาษีอากรมาอุดหนุนช่วยเหลือธนาคารเจ้าหนี้เงินกู้ ซึ่งก็ได้แก่ธนาคารเพื่อเกษตรกร ส่วนวาทะกรรมที่ว่า “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” นั้น คงเคยเห็นแต่นโยบายจำนำข้าวของพรรคเพื่อไทยที่ทำให้เกิดการทุจริตอย่างมโหฬาร หนี้จากโครงการดังกล่าวยังใช้ไม่หมดจนทุกวันนี้ ทั้ง ๆ ที่นโยบายสำหรับเกษตรกรควรเป็นเรื่องของการพัฒนาให้เกษตรกรพึ่งตนเองได้ และสามารถใช้หนี้สินที่มีอยู่ได้จนหมด

ทุกวันนี้ผู้คนยังเข้าใจผิดคิดว่า ที่ดินหลวงมีอยู่เอามาแปลงเป็นเอกสารสิทธิต่าง ๆ กระทั่งเป็นโฉนดกันง่าย ๆ ไม่สนับสนุนเรื่องพวกนี้ครับ เพราะที่สุดเมื่อที่ดินที่พี่น้องประชาชนได้มามีมูลค่ามากขึ้นที่สุดก็จะถูกขายเปลี่ยนมือไปจนหมด แต่ควรสนับสนุนให้ที่ดินที่เป็นที่รกร้างว่างเปล่าที่หน่วยราชการต่าง ๆ ครอบครองอยู่ หากหน่วยงานนั้น ๆ ไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว ควรส่งคืนกรมธนารักษ์ผู้ดูแลที่ดินราชพัสดุทั้งหมด เพื่อนำมาจัดสรรให้ประชาชนที่ขาดโอกาสและรายได้น้อย ได้เช่าเพื่อประกอบอาชีพตามแต่ความถนัดและเหมาะสม แบ่งสรรพื้นที่ของที่ดินอย่างบริสุทธิ์และยุติธรรม โดยคำนวณค่าเช่าจากรายได้ของผู้เช่า ห้ามการเช่าช่วง การโอนเปลี่ยนผู้ครอบครองเด็ดขาด ซึ่งภาครัฐก็ได้ผลประโยชน์อย่างเหมาะสม ประชาชนผู้เช่าก็จะมีความรับผิดชอบและรู้สึกหวงแหนสิทธิที่ได้รับมา ให้เป็นความเท่าเทียมทางสังคมที่เหมาะสมและเป็นที่ยอมรับให้เป็นบรรทัดฐานที่ถูกต้องของสังคมต่อไป

เป็นนโยบายที่เห็นแล้ว ฮาสุด ๆ เลยต้องให้ภาพนี้เล่าเรื่องแทน

เป็นอีกนโยบายที่เห็นแล้ว ต้องอธิบายด้วยภาพเหล่านี้

ขอเน้นย้ำว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบในการออกธนบัตรคือ ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระ ไม่ใช่กระทรวงการคลัง กระทรวงการคลังที่มีหน้าเพียงออกเหรียญกษาปณ์ กับส่งลายเซ็นของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสำหรับพิมพ์ลงบนธนบัตรเท่านั้น และสำคัญที่สุดเงินดิจิทัลที่ถูกต้องตามกฎหมายในประเทศไทยยังไม่มีมี เงินดิจิทัลทุกชนิดบนโลกใบนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ได้ให้การรับรองว่าเป็นเงินที่ถูกต้องตามกฎหมาย เงินดิจิทัลที่ถูกต้องตามกฎหมายรับรองโดยธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ระหว่างการพัฒนาโดยธนาคารแห่งประเทศไทยเอง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top