‘โอมิครอน’ ไทย พบติดเชื้อพุ่ง 514 คน สธ.เตือนภัย! ระดับ 3 จ่อปิดสถานบริการ - WFH 

‘โอมิครอน’ เริ่มลามไม่หยุด ติดเชื้อพุ่ง 514 คน สธ.สั่ง รพ.ทั่วประเทศ สำรองเตียง-ยา ประเมินสถานการณ์หลังปีใหม่ ถ้าการ์ดตกอาจป่วยวันละ 3-4 หมื่น คลัสเตอร์กาฬสินธุ์กระจายวงกว้าง ติดเชื้อรายวัน 2.4 พันเสียชีวิต 18 ศพ

ไทยติดโควิดรายวัน 2.4 พันราย ตาย 18 ศพ คลัสเตอร์ใหม่โผล่หลายจังหวัด ศบค. ห่วงร้านอาหาร-สถานบันเทิงลอบขายเหล้า โดยเฉพาะเชียงใหม่ ยกระดับคุมเข้มสกัดเชื้อลาม ตรวจเจอสายพันธุ์โอมิครอนในประเทศแล้ว 514 คน เป็นการติดเชื้อแบบก้าวกระโดด คลัสเตอร์กาฬสินธุ์พุ่ง 125 คน รอยืนยันผลอีก 97 คน ลามไปอีกหลายจังหวัด จี้เร่งฉีดเข็ม 3 ให้ครอบคลุมมากที่สุด แต่ไม่ห้ามจัดปีใหม่ ให้พื้นที่เคร่งครัดมาตรการ

ด้าน สธ. เตือนภัยโควิด-19 ระดับ 3 คาดการณ์สถานการณ์หลังปีใหม่ หากไร้มาตรการ-ไร้ความร่วมมือติดเชื้ออาจพุ่งวันละ 3 หมื่น ตาย 170 ถ้าตั้งการ์ดสูง ฉีดวัคซีนครบ อาจแตะหลักหมื่น ตาย 60-70 ราย

เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือศบค. แถลงภาพรวมสถานการณ์ผู้ติดเชื้อ รวมถึงความคืบหน้าการระบาดโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน

>> ไทยติดโควิด 2,437 ตาย 18 คน
ไทยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,437 คน เป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,327 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 2,307 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 20 ราย มาจากเรือนจำ 18 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 92 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,212,407 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 3,845 ราย ทำให้มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,156,374 ราย อยู่ระหว่างรักษา 34,436 ราย อาการหนัก 752 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 179 ราย ส่วนผู้เสียชีวิตเพิ่ม 18 ราย เป็นชาย 8 ราย หญิง 10 ราย เป็นผู้เสียชีวิตอายุ 60 ปีขึ้นไป 14 ราย มีโรคเรื้อรัง 3 ราย พบผู้เสียชีวิตมากสุดอยู่ที่จ.เชียงใหม่ 3 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 21,598 ราย

>> ฉีดวัคซีนสะสมกว่า 102 ล้านโดส
ส่วนยอดผู้ได้รับวัคซีนของประเทศไทยเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ฉีดวัคซีนเพิ่ม 120,612 โดส รวมยอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ทั้งสิ้น 102,681,943 โดส ขณะที่สถานการณ์โลก มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 280,332,969 ราย เสียชีวิตสะสม 5,416,370 ราย

>> ชลบุรีมาแรง ติดเชื้อแซงขึ้นที่ 2 ของประเทศ 
พญ.อภิสมัย กล่าวต่อว่า สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดวันที่ 27 ธันวาคม ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (กทม.) 427 ราย นครศรีธรรมราช 450 ราย ชลบุรี 138 ราย ขอนแก่น 96 ราย สมุทรปราการ 88 ราย เชียงใหม่ 57 ราย ตรัง 56 ราย ฉะเชิงเทรา 54 ราย สงขลา 53 ราย และสุราษฎร์ธานี 52 ราย สำหรับประเทศไทยยังพบคลัสเตอร์ในหลายพื้นที่ ทั้งคลัสเตอร์โรงงาน ตลาด พิธีกรรมทางศาสนา เช่น มีผู้เดินทางจาก จ.ขอนแก่น ไปร่วมงานศพที่ จ.เลย คลัสเตอร์สถานศึกษา โรงเรียน ที่ จ.แม่ฮ่องสอน ศรีสะเกษ นนทบุรี ลำปาง

>> ห่วงร้านแอบขายเหล้า - เชียงใหม่สั่งคุมเข้ม
นอกจากนี้ ยังมีคลัสเตอร์ร้านอาหารและสถานบันเทิง มีหลายพื้นที่ยังพบลักลอบขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะที่จ.เชียงใหม่ จึงมีการเข้มงวดกวดขันที่ไม่ใช่การขอความร่วมมือ แต่จะกำหนดบทลงโทษผู้ที่ไม่ปฏิบัติตาม โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เน้นย้ำว่า หากสถานประกอบการไม่ปฏิบัติตามมาตรการแล้วเกิดพบการติดเชื้อ จะเสนอให้ปิดล็อกได้บางจุด บางถนน หากบางร้านมีความเข้มงวดแต่ร้านอื่นไม่ทำตาม อาจเกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง จึงให้สมาคมผู้ประกอบการเหล่านี้ติดตามเฝ้าระวังกันเอง

>> ‘โอมิครอน’ ก้าวกระโดด ติดพุ่ง 514 คน
พญ.อภิสมัย ยังแถลงความคืบหน้าการรายงานผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน จากตัวเลขเมื่อวันศุกร์ที่ 17 ธันวาคมที่ผ่านมาอยู่ที่ 205 ราย ล่าสุดวันนี้ตัวเลขเพิ่มเป็น 514 ราย ถือว่าสัปดาห์นี้ตัวเลขก้าวกระโดด ต้องเน้นย้ำว่าการพบสายพันธุ์โอมิครอนของประเทศยังเป็น 2 ใน 3 คือ ผู้ที่เดินทางเข้าประเทศและมี 1 ใน 3 ที่เป็นการสัมผัสติดเชื้อจากผู้เดินทางเข้ามาในประเทศ

>> คลัสเตอร์กาฬสินธุ์ ลามไม่หยุด!! 
สำหรับคลัสเตอร์ที่มีรายงานจากกรมควบคุมโรค กลุ่มใหญ่จะเป็นคลัสเตอร์กาฬสินธุ์ สามี-ภรรยา เดินทางจากเบลเยียมถึงไทยเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม และจากประวัติไปรับประทานอาหารในผับ ตลาดโรงสี เขตเทศบาลเมือง จ.กาฬสินธุ์ นอกจากผู้ติดเชื้อ 2 รายแรกที่เป็นสามี-ภรรยาแล้ว ยังพบนักดนตรี พนักงานร้าน และพนักงานเสิร์ฟ ลูกค้าผู้ใช้บริการร้านเดียวกันอีก 21 ราย และจากการตรวจสอบผู้สัมผัสเสี่ยงสูง มีการติดเชื้อผลยืนยันผลเป็นสายพันธุ์โอมิครอนสำหรับคลัสเตอร์กาฬสินธุ์ ขณะนี้เพิ่มเป็น 125 ราย ส่วนอีก 97 ราย รอผลยืนยันว่าเป็นสายพันธุ์โอมิครอนหรือไม่ ขณะเดียวกัน คลัสเตอร์กาฬสินธุ์ยังเกี่ยวโยงการติดเชื้อที่ จ.อุดรธานี เพราะจากรายแรกที่เป็นครอบครัวของคลัสเตอร์กาฬสินธุ์ที่มีบ้านอยู่ จ.อุดรธานี และตอนนี้ผู้ติดเชื้อ 1 รายของจ.อุดรธานี ทำให้เกิดติดเชื้อไปยังผู้สัมผัสใกล้ชิดของเคสแรก โดยมีรายงานผู้ติดเชื้อ 6 ราย และจ.ลำพูน อีก 4 ราย เป็นการสัมผัสเคสยืนยันจากคลัสเตอร์กาฬสินธุ์

>> คลัสเตอร์แสวงบุญกระจายหลายจังหวัด
นอกจากนี้ ยังมีคลัสเตอร์ของจ.ปัตตานี รายงานผู้ติดเชื้อ 7 ราย สัมผัสผู้ติดเชื้อที่กลับจากการแสวงบุญที่ประเทศแถบตะวันออกกลาง โดยคลัสเตอร์กลุ่มผู้แสวงบุญ มีรายงานที่จ.นนทบุรี จ.อยุธยา จ.ปทุมธานี และกทม. โดยทั้งหมดอยู่ระหว่างรอยืนยันสายพันธุ์ว่าเป็นโอมิครอนหรือไม่ แต่ที่ยืนยันแน่นอนคือ ที่กทม. 2 ราย ซึ่งเป็นผู้ติดเชื้อที่ติดจากสามีที่เป็นนักบินชาวไนจีเรีย จ.ภูเก็ต และจ.กระบี่ 2 ราย มีประวัติเป็นแม่บ้านทำงานในโรงแรมที่ผู้ติดเชื้อพักอาศัย ส่วนคลัสเตอร์กาฬสินธุ์ จะรายงานไปที่จ.ขอนแก่นและจ.มหาสารคาม และอีกคลัสเตอร์คือผู้ติดเชื้อที่รายงานจากจ.สุรินทร์ เป็นผู้สัมผัสที่ผู้ติดเชื้อรายแรกเดินทางมาจากเดนมาร์ก

>> ไอ - เจ็บคอ - มีไข้ สังเกตอาการยาก
พญ.อภิสมัย กล่าวต่อว่า จากข้อมูลเบื้องต้นอาการผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน 41 ราย พบว่ามีอาการไอมากที่สุดถึงร้อยละ 54 ราย รองลงมาคือ เจ็บคอ และเป็นไข้ ส่วนอาการที่พบน้อยที่สุดคือ การรับรู้กลิ่นน้อยลงมีเพียง 1 ราย โดยโอมิครอนเป็นการติดเชื้อทางเดินหายใจในส่วนบน ไม่ลงปอด จึงยากที่จะสังเกตอาการคนใกล้ชิด สาธารณสุขจึงแนะนำให้สวมหน้ากากอนามัยสองชั้นเพื่อป้องกัน

>> ตีปี๊บบูสเตอร์เข็ม 3 ด่วน
อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์โอมิครอนในประเทศไทยทำให้ทั้งไทยและหลายประเทศมีมาตรการตอบโต้ โดยแนะนำให้ประชาชนฉีดบูสเตอร์เข็มสาม เป็นอาวุธที่มีประสิทธิภาพและหลายประเทศเห็นพ้องแนวทางนี้ ในส่วนไทยนั้นอัตราการบูสเตอร์เข็มสามยังน้อยมาก มีผู้ฉีดเข็มสามเพียง 6,226,249 รายเท่านั้น คิดเป็น 8.6% ของประชากร จึงขอให้เร่งรณรงค์เรื่องนี้ สำหรับผู้ฉีดเข็มที่หนึ่งและสองเป็นซิโนแวค หรือซิโนฟาร์ม ให้ฉีดบูสเตอร์เข็มสามหลังจากฉีดเข็มที่สองแล้ว 4 สัปดาห์ ส่วนผู้ที่ฉีดแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่สองแล้ว ให้รอ 3 เดือน จึงไปกระตุ้นเข็มที่สาม เช่นเดียวกับผู้ที่ติดเชื้อแล้ว ให้รอหลังจากหายแล้ว 3 เดือน และ ศบค.ชุดเล็ก ยังมีความห่วงบุคลากรทางการแพทย์ ผู้สูงอายุ และ 7 กลุ่มโรค จึงขอให้ไปฉีดเข็มที่สี่

>> 26 วันเข้าไทย 2.4 แสน - เยอรมันมากสุด
สำหรับตัวเลขผู้เดินทางเข้าประเทศไทยทางอากาศตั้งแต่วันที่ 1 - 26 ธันวาคมมีทั้งสิ้น 240,277 ราย 5 ชาติอันดับแรก ได้แก่ เยอรมนี 20,620 ราย พบผู้ติดเชื้อ 35 ราย สหราชอาณาจักร 16,470 ราย ติดเชื้อ 131 ราย รัสเซีย 12,297 ราย ติดเชื้อ 43 ราย สิงคโปร์ 9,528 ราย ติดเชื้อ 3 ราย และสหรัฐอเมริกา 9,357 ราย ติดเชื้อ 101 ราย

>> ไม่ห้ามจัดปีใหม่ย้ำจังหวัดเข้มมาตรการ
ผู้สื่อข่าวถามถึงการปรับมาตรการเฉลิมฉลองช่วงเทศกาลปีใหม่ หลังพบสายพันธุ์โอมิครอนที่ระบาดเร็วและเริ่มพบเชื้อในประเทศมากขึ้น พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ตอนนี้มีหลายจังหวัดที่เข้มงวดกวดขันการจัดเทศกาลปีใหม่ โดยที่ประชุมศบค. เน้นย้ำให้คำนึงถึงประชาชนที่ต้องการดำเนินชีวิตตามปกติ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ไม่ใช่แค่การฉลอง แต่มีหลายครอบครัวต้องการเดินทางกลับไปดูแลผู้สูงอายุ ที่ไม่ได้เจอกันมานาน ดังนั้น เบื้องต้นยังไม่มีมาตรการห้ามจัดเทศกาลปีใหม่ แต่ขอให้แต่ละจังหวัด โดยเฉพาะคณะกรรมการโรคติดต่อกทม.คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เข้มงวดมาตรการ

>> สธ.สั่งรพ.ทั่วประเทศเตรียมรับมือ
“สธ.มีแผนและคาดการณ์ช่วงปีใหม่ ถ้าเราร่วมมือระมัดระวังเต็มที่ ภาคประชาชนปกป้องตัวเอง โดยสวมหน้ากากอนามัย ผู้ประกอบการร่วมมือเข้มงวดในมาตรการ อาจทำให้เราผ่านปีใหม่ไปได้ เหมือนเทศกาลลอยกระทง ประชาชนสามารถประเมินตัวเอง ก่อนร่วมงานหรือกิจกรรมผ่านเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชัน “ไทยเซฟไทย” ของกรมอนามัย จะมีการซักประวัติการเดินทาง พบปะอาชีพเสี่ยงหรือไม่ จึงขอความร่วมมือหากจะเที่ยวปีใหม่อย่างปลอดภัย ขอให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกัน” พญ.อภิสมัยกล่าว

และว่า สธ.ยังประกาศให้โรงพยาบาลทั่วประเทศ เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ระบาดหลังปีใหม่ เตรียมพร้อมระบบการกักตัวที่บ้านหรือศูนย์พักคอยชุมชน พร้อมฝากสถานประกอบการ โรงงาน ให้จัดสัดส่วนพื้นที่กักกันในบริษัทสำหรับบุคคลที่เดินทางกลับช่วงปีใหม่ที่มีประวัติเสี่ยงกับผู้ติดเชื้อ ให้สถานประกอบการและบริษัทเข้มงวดในการตรวจคัดกรอง โดยใช้เวลา 2 สัปดาห์หลังปีใหม่ ตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อหรือผู้ป่วย ที่ในระยะแรกอาจไม่แสดงอาการ หากค้นพบจะนำเข้าระบบรักษาทันที จะได้ไม่แพร่เชื้อกระจายเป็นวงกว้าง

>> ย้ำประชาชนตรวจ ATK คัดกรองตัวเอง
พญ.อภิสมัยยังเผยด้วยว่า นายกฯ ย้ำให้การเที่ยวปีใหม่ในกลุ่มเล็ก หรือการสังสรรค์ในครอบครัว เพื่อนสนิทสถานที่ทำงาน ให้ตรวจเอทีเค ทั้งผู้จัดและผู้ร่วมงาน จะทำให้ยอดผู้ติดเชื้อหรือเสียชีวิตไม่เพิ่มมาก จนถึงขั้นที่ระบบสาธารณสุขดูแลได้ลำบาก

>> โควิดโลกระบาดเวฟ 4 ลาม 106 ประเทศ
วันเดียวกัน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวการประเมินฉากทัศน์การระบาด และการปฏิบัติตัวของประชาชนว่า สถานการณ์โลกตั้งแต่มีการระบาดขณะนี้ เป็นเวฟที่ 4 ใหญ่ ๆ ซึ่งกำลังไต่ขึ้น คือ การระบาดของโอมิครอนในภาพรวมของโลก แต่เส้นอัตราเสียชีวิตไม่ได้กระดกขึ้นตามอัตราผู้ติดเชื้อ หมายถึงการระบาดของโอมิครอนไม่ได้ทำให้ผู้เสียชีวิตมากขึ้น แสดงว่า อาการส่วนใหญ่ไม่รุนแรง ขณะนี้มี 106 ประเทศ 

>> 90% อาการน้อย เชื้อไม่ลงปอดอยู่แถวคอ
สำหรับประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคมคัดกรองผู้เข้าประเทศ โดยคิดเป็นโอมิครอนสะสม 514 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในการควบคุม มีบางส่วนที่เล็ดลอดและไปเยี่ยมญาติ อาจทำให้เกิดการแพร่เชื้อก่อนหน้านี้ แต่ต้นเชื้อมีประมาณ 500 กว่าราย ส่วนอาการของผู้ป่วยประมาณ 90% เป็นอาการน้อยหรือไม่มีอาการ อาการเล็กน้อยอยู่ประมาณ 10 กว่า% และอาการมาก 3-4% ทั้งนี้ ที่ประเทศอังกฤษมีการศึกษาและรายงานว่า โอมิครอนเมื่อเทียบกับเดลตา จะน้อยกว่าประมาณครึ่งหนึ่งที่ต้องไปอยู่โรงพยาบาล เมื่อติดเชื้อแล้ว ขณะที่แอฟริกาใต้ก็เช่นเดียวกัน และมักพบว่าเชื้อไม่ได้ลงปอด แต่จะอยู่ที่แถว ๆ คอและหลอดลม ทั้งนี้ ไทยได้ศึกษาอาการของคนไข้สายพันธุ์โอมิครอน 41 รายที่ดูแลในรพ. พบว่ามีอาการไอมากที่สุด 54% รองมาได้แก่ เจ็บคอ และไข้ อาการได้กลิ่นลดลงพบเพียง 1 ราย หรือ 2% ซึ่งทุกรายได้รับการรักษาแต่เบื้องต้น ให้ยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งเมื่อให้ยาตั้งแต่ต้น อาการจะดีขึ้นใน 24-72 ชั่วโมง หลังรับยาและให้จนครบ 5 วัน

>> สธ.เตือนภัยโควิดระดับ 3 จากเชื้อนำเข้า
“สถานการณ์ของไทยผู้ป่วยอาการหนักลดลงต่อเนื่อง และนับตั้งแต่มีโอมิครอนเข้ามา ยังอยู่ในการควบคุมได้ แม้จะมีการไปพบปะ สัมผัสคนอื่น ระบบสอบสวนโรคเราติดตามและอยู่ในระบบได้แล้ว รายงานวันนี้เราพบเสียชีวิต 18 ราย ถือว่าต่ำสุดแล้ว อย่างไรก็ตาม ในกราฟการแสดงอัตราการติดเชื้อ ล่าสุด สธ.ได้จัดทำระดับเตือนภัยโควิด ขณะนี้อยู่ในระดับ 3 เป็นสัญญาณเตือนว่า มีการติดเชื้อจากต่างประเทศ ซึ่งวันนี้ (27 ธ.ค.) เราพบว่ามาจากต่างประเทศ 92 ราย” ปลัดสธ. กล่าว และว่า ผู้ติดเชื้อที่มาจากต่างประเทศ ตั้งแต่เปิดประเทศมาเราพบเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์โอมิครอน

>> ประเมิน 3 สถานการณ์ระบาด - เร่งฉีดวัคซีน
นพ.เกียรติภูมิกล่าวอีกว่า จากการระบาดของโอมิครอน สธ.มอบให้กรมควบคุมโรคจัดทำฉากทัศน์ขึ้นมา พบว่า โอมิครอนระบาดเร็วกว่า ง่ายกว่า แต่ความรุนแรงน้อยกว่าเดลตา หลายประเทศ อย่างสิงคโปร์ ก็ออกมาว่า โอมิครอนไม่ได้รุนแรงมาก แต่เราต้องป้องกันการติดเชื้อให้มาก ไม่ให้ระบาดเร็วเกินไปนัก เพราะหากแพร่ระบาดและมีคนป่วยมาก ๆ จะกระทบระบบสาธารณสุข โดยฉากทัศน์ที่สธ.ประเมินนั้นมี 3 แบบคือ แบบที่ 1 Least favourable เป็นฉากทัศน์ที่ไม่อยากให้เป็น กรณีอัตราแพร่เชื้อเพิ่มขึ้นจากการระบาดโอมิครอนในประเทศ มีการฉีดวัคซีนได้ใกล้เคียงกับช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม แต่ประชาชนให้ความร่วมมือน้อย หรือไม่ให้ความร่วมมือ ไม่ป้องกัน ไม่มีมาตรการอะไรมาก ก็จะอยู่สถานการณ์รุนแรง ทำให้มีปัญหาการควบคุมโรคอย่างมาก 

ส่วนแบบที่ 2 ฉากทัศน์ Possible เป็นแบบปานกลาง และแบบที่ 3 ฉากทัศน์แบบ most favourable คือ แบบดีที่สุด ที่ผ่านมาเราพยายามควบคุม ซึ่งแต่ละฉากทัศน์เราคำนึงการกระจายของโรค การฉีดวัคซีน โดยแบบที่ 3 ต้องมีมาตรการค่อนข้างมาก เร่งฉีดวัคซีนทุกกลุ่มได้สูงขึ้นทั้งเข็ม 1 เข็ม 2 และบูสเตอร์ ฉีดมากกว่า 4 ล้านโดสต่อสัปดาห์ แต่ทั้งหมดเราก็พยายามดูให้สมดุลกับการดำเนินชีวิต

>> ไม่เข้มมาตรการพุ่ง 3 หมื่น - ตาย 180 ต่อวัน
“ขณะนี้เรามาถึงสถานการณ์จริงตามกราฟเส้นสีน้ำเงิน ถือว่าไทยทำได้ดี แต่ปัจจุบันเรามาถึงทางแยก เพราะมีการระบาดของโอมิครอน หากเราไม่มีมาตรการ ไม่ทำอะไรเลยจะเข้ากับเส้นกราฟสีเทาคือ มีการระบาด ควบคุมได้ยากใช้เวลา 3-4 เดือนในการควบคุม อาจติดเชื้อรายวันถึง 3 หมื่นราย แต่หากเราควบคุมได้ดีตามเส้นสีเขียว จะอยู่ที่หมื่นรายนิด ๆ และสามารถควบคุมโรคได้เร็วประมาณ 1-2 เดือนตัวเลขจะลดลงมา ถ้าทำได้ในระดับปานกลาง ตัวเลขผู้ป่วยจะอยู่ที่ 1.5-1.6 หมื่นรายต่อวัน และค่อย ๆ ทรงตัว และค่อย ๆ ลดลงในที่สุด ทางกระทรวงสาธารณสุขอยากให้เป็นเส้นสีเขียว จึงต้องร่วมมือกันอีกครั้ง เพราะไม่อยากล็อกดาวน์ประเทศ” นพ.เกียรติภูมิกล่าว

สำหรับการคาดการณ์ผลจากการป้องกันควบคุมโรคไตรมาส 1 ปี 2565 เปรียบเทียบจำนวนผู้เสียชีวิต คาดการณ์ว่า หากไม่ทำอะไรเลยจะเป็นเหมือนเส้นกราฟสีเทา เสียชีวิตสูง 170-180 คนต่อวัน แต่หากทำได้ดีจะมีผู้เสียชีวิตวันละ 60-70 รายแต่จะลดลง การคาดการณ์เส้นกราฟเสียชีวิต เราใช้พื้นฐานของเชื้อที่ว่า ติดเชื้อสูง แต่ความรุนแรงต่ำ อัตราเสียชีวิตอาจไม่สูงมาก โรคนี้ป่วยได้ แต่ต้องรักษาได้ ไม่ให้เสียชีวิต หรือลดอัตราตายให้มากที่สุด

>> 1.7 แสนเตียงพร้อม - สต็อกฟาวิฯ 15 ล้านเม็ด
ปลัด สธ.ยังกล่าวถึงอัตราการใช้เตียงของประเทศว่า ขอให้ประชาชนมั่นใจ เรามีเตียง 1.7 แสนเตียง จากที่เคยขยายถึง 2 แสนเตียง แต่ปัจจุบันเคสไม่มากจึงเหลือ 1.7 แสนเตียง ปัจจุบันเตียงสีแดงเรียกว่า ระดับ 3 เราใช้อยู่ 31.6% มีประมาณ 5 พันเตียง เตียงระดับ 2 ใช้ประมาณ 25.6% เตียงสีเขียวมีมาก ใช้ประมาณ 6.4% จากเตียงที่มีกว่า 1.1 แสนเตียง ซึ่งเตียงสีเขียวเราสามารถเพิ่มได้ในระยะเวลาอันสั้น ส่วนเรื่องยาเรามียาฟาวิพิราเวียร์สำรองประมาณ 15 ล้านกว่าเม็ด ซึ่งประมาณการณ์ใช้ได้อย่างน้อย 2 เดือน หากมีสถานการณ์ที่ต้องการยา เราสำรองและองค์การเภสัชกรรมผลิตได้

>> ไทยคุมคนติดเชื้อได้ - จับตาหลังปีใหม่
ทั้งนี้ โดยสรุปสถานการณ์โควิดทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐฯ และประเทศแถบยุโรป เกิดจากสายพันธุ์โอมิครอน ไทยยังควบคุมผู้ติดเชื้อได้ค่อนข้างดี ขณะนี้โอมิครอนเริ่มมากขึ้นในไทย เป็นผู้เดินทางมาจากประเทศแถบยุโรป สหรัฐ อาฟริกา และตะวันออกกลาง ขอให้ทุกภาคส่วนช่วยกันปฏิบัติตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะช่วงหลังปีใหม่อาจพบติดเชื้อ และเสียชีวิต แต่อาการส่วนใหญ่ยังไม่รุนแรง ไม่ป่วยหนัก แต่ก็ต้องระวังตัวป้องกันโรค ตรวจ ATK สม่ำเสมอ

>> คลัสเตอร์ 2 ผัวเมียกาฬสินธุ์ลามอื้อ
ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์ระบาดโควิดสายพันธุ์โอมิครอนในต่างจังหวัด ที่ยังต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด โดยเฉพาะจ.กาฬสินธุ์ นพ.อภิชัย ลิมานนท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์นำคณะลงพื้นที่ตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก โดยนำรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยพระราชทาน 3 คันออกให้บริการตรวจหาเชื้อให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง โดยเฉพาะในกลุ่มที่สัมผัสกับคลัสเตอร์สองสามีภรรยาที่กลับมาจากเบลเยียมเป้าหมาย 1,500 คน โดยศูนย์อำนวยการต้านโควิด-19 จ.กาฬสินธุ์ รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อล่าสุด พบผู้ป่วยใหม่ 43 คน ในจำนวนนี้เป็นคลัสเตอร์เชื่อมโยงสองสามีภรรยากลับจากต่างประเทศ และร้านอาหารในตลาดโรงสี เขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ 27 ราย คลัสเตอร์งานแสดงดนตรีหาดแสงจันทร์ อ.สหัสขันธ์ 8 ราย งานแสดงดนตรี ต.ภูปอ อ.เมืองกาฬสินธุ์ 3 ราย

ส่วนที่เหลือพบในอ.กุฉินารายณ์ 1 ราย สัมผัสผู้ป่วยยืนยัน 3 ราย ในอ.ยางตลาด อ.นามน อ.เมือง และพบชื้อระหว่างกักตัวใน อ.กมลาไสย 1 ราย ทำให้จ.กาฬสินธุ์มีผู้ติดเชื้อโควิดจากคลัสเตอร์ที่เชื่อมโยงกับสองสามีภรรยาและร้านอาหารในตลาดโรงสีแล้วกว่า 150 ราย และคาดว่าส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์โอมิครอน ส่งผลให้ จ.กาฬสินธุ์ มียอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 10,553 ราย หายป่วยแล้ว 10,229 ราย กำลังรักษา 251 ราย และมีผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 73 รายเท่าเดิม

>> 3 นทท. ผู้ดี ติดโอมิครอน - สัมผัสนับร้อย
ที่จ.กระบี่ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำท่าอากาศยานนานานาชาติจังหวัดกระบี่ เข้มงวดตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 จากนักท่องเที่ยวที่เดินทางมากับสายการบินตรงมาจากต่างประเทศ มาลงที่สนามบินกระบี่ ส่วนที่ตรวจพบ ครอบครัวนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ 3 คน ที่มากับเที่ยวบินตรงจากต่างประเทศเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม ติดเชื้อและส่งตัวอย่างเชื้อไปตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้วนั้น นพ.ชัยวัฒน์ ทองไหม นายแพทย์สาธารณสุข จ.กระบี่เผยว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยืนยันแล้วว่านักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ 3 คนผลตรวจเป็นสายพันธุ์โอมิครอน ขณะนี้รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเอกชนในจังหวัดกระบี่ และเฝ้าระวังติดตามอาการนักท่องเที่ยวกว่า 100 คน ที่ร่วมเดินทางเที่ยวบินเดียวกันว่าติดเชื้อหรือไม่ แม้ผลตรวจเป็นลบ

ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 1-24 ธันวาคม มีสายการบินตรงมาจากฟินแลนด์ นอร์เวย์ และสิงคโปร์ รวมนักท่องเที่ยวกว่า 1,900 คน มาลงที่สนามบินกระบี่ ตามโครงการเทสต์แอนด์โก ผลตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 พบ นักท่องเที่ยวต่างชาติติดเชื้อ 9 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจวิเคราะห์จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ว่าเป็นสายพันธุ์โอมิครอนหรือไม่


ที่มา : https://www.naewna.com/local/625059