เราอึ้งไปพักนึงเมื่อได้ยินว่า ไมเคิล คือ แฟนของเจมส์ คบกันมาเกือบหนึ่งเดือนไม่เห็นเจมส์จะเคยพูดถึงแฟนเลย
จะว่าไปไม่ใช่เจมส์คนเดียวที่เงียบเรื่องแฟน ตัวเราเองก็ไม่ปริปากเช่นกันว่าเรามีแฟนอยู่เมืองไทย เรากลัวว่าถ้าเราบอกเขาคงจะไม่เจอเราอีก ที่ไหนได้ต่างคนต่างมีแต่อุบไว้
เอาล่ะนะเป็นไงเป็นกัน เราทำใจว่าเราคงโดนไมเคิลด่าหูชาแน่ๆ หลังจากที่ทักทายกันตามมารยาท ไมเคิลบอกว่าเจมส์บอกว่าเราเป็นคนน่ารักมาก เขาเลยอยากจะเจอ แถมรู้มาว่าเราไม่มีเพื่อนเกย์เลย เขาก็อยากจะทำความรู้จักกับเราเผื่อจะพาเราไปเที่ยวคลับ
ตอนแรกเราก็ลังเลระแวงไปว่า ไมเคิลคงจะหาทางล้างแค้นเรา แต่พอเรามาคิดกลับว่าถ้าเขามีเจตนาดีจริงๆ เราจะเสียโอกาสรู้จักคนที่ดีเป็นเพื่อน เราเลยตอบตกลงไมเคิลไปว่าเราจะเจอกับเขาและเพื่อนๆ ที่คลับ Avalon ในวันอาทิตย์ที่จะถึง
เมื่อถึงวันนั้นเราก็ขับรถไปบาร์ เราก็ตกใจว่าค่าจอดรถข้างๆ คลับนั้นแพงมาก จ่ายไปประมาณสิบห้าเหรียญเพื่อจะจอดไม่กี่ชั่วโมง เราเลยตั้งปณิธานว่าต่อไปนี้เราจะเดินไปบาร์แทนเพื่อประหยัดค่าจอดรถ พอถึงที่คลับเราต้องจ่ายเงินค่าเข้าอีกสิบเหรียญ เราก็นึกว่าเครื่องดื่มคงรวมอยู่ในค่าเข้าด้วยเหมือนกับ DJ Station ที่กรุงเทพฯ
แต่แล้วก็หน้าแตกเมื่อบาร์เทนเดอร์บอกเราว่าเราต้องจ่ายค่าเครื่องดื่มต่างหาก เบียร์ขวดละประมาณห้าเหรียญไม่รวมทิป เครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ราคาจากเจ็ดเหรียญขึ้นไป ถ้าเป็นคนดื่มจัดเที่ยวคืนหนึ่งคงเกือบหมดตัวเลยเชียว
เราเป็นคนที่เมาง่ายเลยสั่งแค่ไดเอทโค้กมาดื่ม ขนาดไม่มีแอลกอฮอล์ยังปาเข้าไปสามเหรียญ และพอได้รับเครื่องดื่มเสร็จก็ไปหาจุดที่นัดไมเคิลกะเจมส์ไว้ เขาบอกว่าเขาจะเต้นกันอยู่แถวๆ เวทีติดลำโพงด้านขวา เราเดินไปถึงจุดนัดพบแต่ไม่เห็นเจมส์ เราเลยเดินสำรวจคลับฆ่าเวลา
Avalon เป็นคลับที่ใหญ่มาก เพราะรวมสองคลับไว้ด้วยกัน แถม Avalon ยังเป็นคลับหลักที่เปิดเพลงคุ้นหูเพราะเป็นเพลงที่เปิดตามวิทยุตามสมัย แต่เอามามิกซ์ใส่จังหวะเพื่อให้เต้นรำ
ส่วน Axis คือ คลับเล็กที่เปิดเพลงเต้นรำสไตล์ House ที่เน้นจังหวะมากกว่าคำร้อง วันจันทร์ถึงเสาร์ทางคลับจะเปิด Avalon และ Axis แยกกัน คนที่ไปต้องเลือกเจาะจงว่าจะไปคลับไหน เพราะไม่สามารถเดินทะลุถึงกันได้
นอกจากนั้นคลับส่วนใหญ่ที่อเมริกาจะไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อบริการเฉพาะชาวเพศหลากหลาย (LGBTQ+) เขาจะกำหนดหนึ่งหรือสองวันในแต่ละอาทิตย์ที่เน้นให้ชาวเราเที่ยว เช่นวันพุธ Axis จะใช้ชื่อว่า Venus de Milo และวันอาทิตย์ Avalon จะเปิดสองคลับทะลุถึงกันเพื่อบริการลูกค้าชาวเรา
เมื่อเราเดินวนหนึ่งรอบ ก็มายืนรออยู่ที่เดิม รออีกสักสิบนาทีก็มีคนมาแตะไหล่ เมื่อหันไปเจมส์ก็แนะนำให้รู้จักกับไมเคิล ไมเคิลเป็นชาวฮ่องกง แต่มาโตที่อเมริกาเพราะพ่อแม่มาตั้งรกรากที่นี่
ผิวไมเคิลนั้นเนียนมากสมกับคำว่าหนุ่มหน้าหยก แถมยังเป็นคนหน้าตาดี อัธยาศัยดีช่างคุย ยิ้มเก่ง ทักทายพอเป็นพิธีสักพักเขาก็ชวนเราไปเต้นรำ เราเขินเพราะว่าเป็นคนไม่ชอบแสดงออก แต่กลัวเสียมารยาทเลยตอบตกลงและเดินลงฟลอร์ไปกับเขา
เต้นกันไปสักพักดีเจก็เปิดเพลง Vogue ของ Madonna ที่ดังเป็นพลุแตกในช่วงนั้น เหล่าเก้งกวางบ่างทั้งหลายชวนกันกรี๊ดอย่างถูกใจ ฟลอร์แน่นแทบจะไม่มีที่ยืน ไมเคิลเลยกระซิบชวนเราไปเต้นบนเวทีข้างลำโพง เขาบอกว่า “Let’s vogue” หรือมาเต้นโว้กกันดีกว่า
เมื่อพูดถึงเต้นแบบโว้กท่านผู้อ่านบางคนอาจจะไม่คุ้นเคยว่าคืออะไร โว้ก (Vogue) คือการเต้นที่ผสมการออกท่าทางแบบละครใบ้ (Pantomime) ผู้เต้นจะขยับตัวเหมือนตนเองเดินแบบอยู่บนแคทวอล์ค (catwalk) มือจะแสดงท่าเหมือนว่าตนเองจะแต่งหน้า, ทำผม หรือใส่เสื้อผ้าแสนวิจิตร
ถ้าสนใจอยากชมศิลปะการเต้นโว้ก ก็สามารถหาดูในยูทูป มิวสิควีดีโอ Deep in Vogue โดย Malcolm McLaren https://youtu.be/kd4u0Zzc5zc เพราะเสนอตัวอย่างที่ดีของการเต้นโว้กโดยเหล่านักเต้นแนวหน้าที่นำกระแสการเต้นเฉพาะกลุ่มมาจุดประกายความสนใจของศิลปินชื่อดังทั้งหลายในยุคปลายปี 80
Madonna ใช้การเต้นโว้กเป็นแรงบันดาลใจในการแต่งเพลงและเต้นประกอบในเพลง Vogue (https://youtu.be/GuJQSAiODqI) จนดังสุดโต่งในปี 1990 (พ.ศ.2533) คนส่วนใหญ่จึงเข้าใจไปว่าเธอเป็นคนริเริ่มการเต้นแบบนี้คิดมาเอง ทั้งที่จริงแล้วโว้กมีจุดริเริ่มมาจากกลุ่มเพศหลากหลายของชาวผิวสีตั้งแต่ประมาณปี 1920 ยุคนั้นมีการฟื้นฟูศิลปะแขนงต่างๆในกลุ่ม
ชนผิวสีในบริเวณฮาร์เล็มในเมืองนิวยอร์กที่เรียกว่า The Harlem Renaissance นอกจากผลงานเขียนและภาพวาดจะเฟื่องฟูในยุคนี้ ได้มีการสนใจการเต้นรำแบบลีลาศ (Ballroom) ชาวเพศหลากหลายที่ชอบแต่งตัวข้ามเพศ (drag queens) ใช้เวทีเต้นรำมาสะสางความเป็นศัตรูของตนโดยการประชันเต้นแข่งกัน แทนทีจะตบตีพวกเขาใช้ท่าทางการเต้นเป็นการแสดงความเชิดใส่กัน (shading)
จากการเต้นลีลาศพัฒนามาเป็นการโพสต์ท่าเลียนแบบตัวหนังสือภาพของอียิปต์ (hieroglyphs) และท่าที่นางแบบโพสต์ตามนิตยสารแฟชัน จึงใช้ชื่อศิลปะการเต้นตาม Vogue นิตยสารแฟชั่นชื่อดังของอเมริกา ท้ายที่สุดพวกเขาผสมผสานและประยุกต์ท่าที่โพสต์กับการเดินแบบบนแคทวอร์ก จนเป็นการเต้นโว้กที่ปฏิบัติมาจนถึงทุกวันนี้