Thursday, 9 May 2024
POLITICS NEWS

รฟท. เดินหน้ารถไฟความเร็วสูงไทย-จีนต่อ พร้อมลงนามก่อสร้างงานโยธาอีก 3 สัญญา คาดให้บริการได้ในปี 2569

วันที่ 29 มีนาคม 2564 ณ ห้องประชุมอาคารสโมสร กระทรวงคมนาคม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาการก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร - หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา) จำนวน 3 สัญญา ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย 

โดยนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย และบริษัทคู่สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 4-3 งานโยธาสำหรับช่วงนวนคร-บ้านโพ ผู้แทนจากบริษัท เอ.เอสแอสโซศซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) จำกัด บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอนยิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด สัญญาที่ 4-4 งานโยธาสำหรับศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย ผู้แทนจาก บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) สัญญาที่ 4-6 งานโยธาสำหรับช่วงพระแก้ว-สระบุรี ผู้แทนจาก บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสรัคชั่น จำกัด (มหาชน) โดยมีแขกผู้มีเกียรติ และสื่อมวลชน ร่วมเป็นสักขีพยาน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า พิธีลงนามสัญญาการก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร - หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา) จำนวน 3 สัญญา ในวันนี้ เป็นโครงการที่สำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญในการเชื่อมไทยสู่โลก และเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลทั้งสองประเทศ เป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสนใจและเร่งรัด ติดตามความก้าวหน้าของโครงการมาโดยตลอด และในขณะเดียวกัน เส้นทางนี้ก็จะเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ในการเชื่อมไทยไปสู่ สปป.ลาว และจีน 

โดยเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 ที่เรียกว่า Belt and Road Initiative หรือ BRI ที่จะเชื่อมภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปถึงยุโรปได้ด้วยทางรถไฟ โดยกระทรวงคมนาคมพยายามเร่งรัดโครงการให้เดินหน้าโดยเร็ว ล่าสุด ก็ได้มีการลงนามในสัญญาจ้างงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร (สัญญา 2.3) ของโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา) ไปเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา 

ส่วนวันนี้เป็นการลงนามในสัญญาก่อสร้างเพิ่มเติม 3 สัญญา ประกอบด้วย สัญญาที่ 4-3 งานโยธาสำหรับช่วงนวนคร-บ้านโพ วงเงินก่อสร้าง 11,525,350,500 บาท สัญญาที่ 4-4 งานโยธาสำหรับศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย วงเงินก่อสร้าง 6,573,000,000 บาท และสัญญาที่ 4-6 งานโยธาสำหรับช่วงพระแก้ว-สระบุรี วงเงินก่อสร้าง 9,428,999,969.37 บาท มีระยะเวลาก่อสร้างแต่ละสัญญา 1,080 วัน รวมวงเงินก่อสร้างทั้ง 3 สัญญา 27,527,350,469.37 ล้านบาท

ด้านนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สำหรับสัญญาที่ 4-3 งานโยธาสำหรับช่วงนวนคร-บ้านโพ ประกอบด้วย งานโครงสร้างทางรถไฟเป็นทางยกระดับ 23 กม. งานก่อสร้างทางวิ่งเข้าศูนย์ซ่อมบำรุง งานอาคารและสิ่งปลูกสร้างรองรับงานระบบรถไฟฟ้า งานระบบระบายน้ำ งานรื้อย้ายรางและระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ สัญญาที่ 4-4 งานโยธาสำหรับศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย ประกอบด้วย ทางรถไฟระดับพื้นในศูนย์ซ่อมบำรุง งานอาคารภายในศูนย์ซ่อมบำรุงรวมถนนต่อเชื่อม ได้แก่ อาคารระบบซ่อมบำรุงขบวนรถไฟ 19 อาคาร อาคารควบคุมระบบการจัดการเดินรถและฝึกอบรม 4 อาคาร  อาคารสำหรับระบบซ่อมบำรุงทาง 8 อาคาร งานก่อสร้างถนนงานระบบระบายน้ำและงานรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ

สัญญาที่ 4 - 6 งานโยธาสำหรับช่วงพระแก้ว-สระบุรี ประกอบด้วย งานโครงสร้างทางรถไฟ ระยะทางรวม 31.60 กม. แบ่งเป็น คันทางระดับดิน 7.02 กม. และทางยกระดับ 24.58 กม. งานอาคารและสิ่งปลูกสร้างรองรับงานระบบรถไฟฟ้า 7 แห่ง รวมทั้งงานรื้อย้ายสถานีเดิม งานปรับปรุงย้ายถนนเดิม งานก่อสร้าง สะพานข้ามทางรถไฟ งานระบบระบายน้ำ และงานรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ 

ภายหลังเปิดงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้กล่าวในตอนท้ายว่า โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร - หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา) ถือเป็นเส้นทางที่มีความสำคัญเนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 (Belt and Road Initiative: BRI) ที่เชื่อมโยงโครงข่ายระบบรางของไทย อาเซียนและจีนให้เป็นหนึ่งเดียว 

โดยเมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จจะเป็นการยกระดับมาตรฐานรถไฟไทย ให้มีความเจริญก้าวหน้า เป็นการลงทุนเพื่อวางรากฐานความมั่นคงด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของไทยในระยะยาว สนับสนุนให้ประเทศเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาค สร้างโอกาสใหม่ทางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว กระจายรายได้ นำความเจริญสู่ท้องถิ่นตลอดแนวเส้นทางโครงการ

คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ทุ่มงบฯ 54.83 ล้าน ตั้ง สคทช. - หนุน กรมป่าไม้ ใช้ภาพถ่ายดาวเทียม จัดการที่ดิน

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในการประชุมร่วมกับคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ ครั้งที่ 1/2564 โดยที่ประชุมเห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้ คทช. จำนวน 9 คณะ และได้รับทราบผลการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ผลการดำเนินงานที่สำคัญของฝ่ายเลขานุการฯ คทช. และคณะอนุกรรมการภายใต้ คทช. 

เห็นชอบแผนขับเคลื่อนกิจกรรมปฏิรูปที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยยะสำคัญ (บิ๊ก ร็อค) กิจกรรมปฏิรูปด้านสังคม การสร้างมูลค่าให้กับที่ดินที่รัฐจัดให้กับประชาชน และ ขอรับการสนับสนุนเพื่อดำเนินการโครงการนำร่องระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่เป้าหมายการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน

ที่ประชุมเห็นชอบแต่งตั้งประธานสภาเกษตรกรจังหวัด และท้องถิ่นจังหวัด เป็นอนุกรรมการใน คทช. จังหวัด
และเห็นชอบแต่งตั้งผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน เป็นอนุกรรมการในคณะอนุกรรมการนโยบายแนวทาง และมาตรการการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินและเห็นชอบเพิ่มหน้าที่และอำนาจของคณะอนุกรรมการจัดที่ดินในการสำรวจ ตรวจสอบ และจัดทำข้อมูลผู้ยากไร้ที่ไม่มีที่ทำกิน และที่อยู่อาศัย 

คทช. เห็นชอบ ร่างประกาศ คทช. เรื่องหลักเกณฑ์การรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการจัดทำนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ พ.ศ. .... เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 13 โดยคทช. เห็นชอบรายงานผลการดำเนินงานและ การประเมินผลการปฎิบัติงานของ คทช. ตั้งแต่ปีงบประมาณพ.ศ. 2558 - ปัจจุบัน และให้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) รัฐสภา และเผยแพร่ต่อสาธารณะชน

คทช. เห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้ คทช. เพิ่มเติม เพื่อดำเนินการพิสูจน์สิทธิการครอบครองที่ดินของบุคคลในเขตที่ดินของรัฐจำนวน 2 คณะได้แก่ 1. คณะอนุกรรมการพิสูจน์สิทธิในที่ดินของรัฐจังหวัด (คพร. จังหวัด) 2. คณะอนุกรรมการอ่านภาพถ่ายทางอากาศ และการของบฯกลาง จำนวน 8,448,400 บาท เพื่อเร่งรัดการพิสูจน์สิทธิที่ยังค้างอยู่ โดย คทช. เห็นชอบกรอบอัตรากำลังของ สคทช. จำนวน 100 อัตรา และการของบฯกลาง จำนวน 54,834,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการตั้งสำนักงาน รวมทั้งเห็นชอบแบบตราสัญลักษณ์ของสำนักงาน

ที่ประชุมเห็นชอบแนวทางการเสนอความเห็นของ คทช. ประกอบการพิจารณาของ ครม. โดยมอบหมายให้ สคทช. เสนอความเห็นได้ในกรณีเรื่องดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดิน และทรัพยากรดินของประเทศ กฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง หรือเป็นไปตามแนวนโยบายของ คทช. กรณีที่มีแนวทางปฏิบัติชัดเจน และเห็นชอบให้สำนักงบประมาณ สนับสนุนงบประมาณให้กรมป่าไม้ ในการจัดหาข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมความละเอียดสูงปี 2557 เพื่อใช้ในการบริหารจัดการที่ดินตามนโยบาย คทช.

ปชป. ขอแสดงความยินดีผู้ชนะและเป็นกำลังใจให้ทุกคน ต่อการเลือกตั้งท้องถิ่นทุกเขตเทศบาลทั่วประเทศ พร้อมทำงานร่วมกัน

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวถึงการเลือกตั้งผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่นในส่วนของเทศบาลว่า “ขอแสดงความยินดีต่อผู้ที่ชนะการเลือกตั้งในทุกเขตของเทศบาลทั่วประเทศ

ทั้งผู้บริหาร คือนายกเทศมนตรี และ สมาชิกสภาเทศบาล (สท.) ประชาชนในทุกเขตเทศบาลจะได้มีตัวแทนที่จะเข้าไปทำหน้าที่ในสภาท้องถิ่น และขอเป็นกำลังใจให้ผู้ที่พลาดหวังจากการเลือกตั้ง แต่เชื่อว่าทุกคนจะร่วมกันพัฒนาท้องถิ่นให้มีความเจริญก้าวหน้าภายใต้การปกครองในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ยึดมั่นความซื่อสัตย์สุจริตในการทำหน้าที่  พี่น้องประชาชนจะต้องใช้งานคนที่เป็นตัวแทนให้คุ้มค่าจากการใช้สิทธิในการเลือกผู้แทนของตนเข้าไปทำงาน”

พรรคประชาธิปัตย์พร้อมทำงานร่วมกันกับทุกเขตเทศบาลทั่วทั้งประเทศเพื่อร่วมกันทำงานโดยมีจุดมุ่งหมายคือประโยชน์ของประชาชนและประเทศ พรรคประชาธิปัตย์ยึดมั่นในอุดมการณ์ส่งเสริมการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นโดยมุ่งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งและมีธรรมาภิบาล เพื่อให้สามารถเข้าถึงปัญหาและแก้ไขได้ตรงกับความต้องการของคนในท้องถิ่นนั้น จุดเริ่มต้นที่สำคัญของการพัฒนาบ้านเมือง ท้องถิ่นถือเป็นกลไกที่สำคัญที่สุด

ไทย พบติดเชื้อรายใหม่ 39 ราย กาฬสินธุ์ไข่แตก เจอ 1 ราย เชื่อมโยงคลัสเตอร์ กทม. จับตา ศบค. ชุดเล็ก ถก มาตรการผ่อนคลาย ภาคธุรกิจ - เอกชน หวัง เปิดประเทศ

ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวัน ว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 39 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 28 ราย ในจำนวนนี้มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 16 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 12 ราย นอกจากนี้ เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 11 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 28,773 ราย หายป่วยสะสม 27,313 ราย อยู่ระหว่างรักษา 1,366 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ยอดสะสมคงที่ 94 ราย ขณะที่สถานการณ์โลก มีผู้ติดเชื้อสะสม 127,764,765 ราย เสียชีวิตสะสม 2,796,087 ราย

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า สำหรับผู้ติดเชื้อรายใหม่วันนี้ พบ 1 ราย ที่ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นจังหวัดที่ไม่เคยมีผู้ติดเชื้อมาก่อน โดยผู้ติดเชื้อคนดังกล่าวเป็นชายไทย อายุ 35 ปี อาชีพพนักงานขายของในห้างสรรพสินค้า เดินทางมา กทม. เพื่อมาหาเพื่อนเมื่อวันที่ 22 มีนาคม โดยเพื่อนมีอาชีพค้าขายในตลาดบางแค และเดินทางกลับ จ.กาฬสินธุ์ในวันที่ 24 มีนาคม จากนั้นวันที่ 25 มีนาคม มีอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ต่อมาวัน 26 มีนาคม ทราบว่าเพื่อนที่ กทม.เข้ารับการตรวจและพบว่าติดเชื้อโควิด-19 วันที่ 27 มีนาคม จึงรีบไปตรวจที่โรงพยาบาล ผลยืนยันติดเชื้อโควิด-19 นอกจากนี้ ในที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก ยังได้หยิบยกกรณีการติดเชื้อที่ตลาดสะพานสูงขึ้นมาพูดคุย โดยผู้ติดเชื้อมีทั้งเจ้าของแผงเนื้อ และแม่ค้าล็อตเตอรี่ จึงอยากทุกคนเฝ้าระวังตัว วันนี้ทุกคนยังใช้ชีวิตในตลาดได้อยู่ เพียงแต่ต้องตื่นตัว การ์ดต้องไม่ตก ขณะที่ปัจจุบันพื้นที่ กทม. มีการค้นหาเชิงรุกไปแล้วทั้งสิ้น 106,741 ราย พบผู้ติดเชื้อ 579 ราย หรือ 0.95% ส่วนใหญ่ยังเป็นพื้นที่ในแนวตะวันตกของ กทม. มากที่สุดคือ เขตบางแค 318 ราย

พญ.อภิสมัย ตอบข้อซักสามถึงกรณี โรงพยาบาลเอกชนสามารถจัดหาวัคซีนมาฉีดให้ประชาชนได้หรือไม่ ว่า นอกจากจะถามว่าสมควรฉีดวัคซีนหรือไม่ ก็มักจะมีคำถามเกิดขึ้นว่าจะจัดหาเองได้หรือไม่ ทั้งนี้ที่ผ่านมาภาครัฐไม่ได้ห้าม แต่เน้นย้ำเสมอในเรื่องของความปลอดภัย เพราะวัคซีนเป็นการอนุญาตใช้ในภาวะฉุกเฉิน ผ่านการรับรองขององค์การอนามัยโลก(WHO) และสิ่งที่รัฐบาลย้ำคือจะต้องได้รับการรับรองจาก อย. กระทรวงสาธารณสุข และที่ผ่านมาวัคซีนทั่วโลกถือว่ามีการผลิตอย่างจำกัด และมีการเฝ้าระวัง รายงานเคส ดูเรื่องความปลอดภัย จะต้องมีการเก็บข้อมูลการวิจัยและส่วนหนึ่งวัคซีนที่ผลิตได้อาจจะได้รับการจัดสรรไปทางประเทศแทบอเมริกาและยุโรป เป็นหลักจึงทำให้ภาคเอกชนอาจจะไปหาซื้อวัคซีนเองซึ่งเป็นไปได้ยาก แต่จากนี้ต่อไปเนื่องจากการผลิตมีมากขึ้นจะได้เริ่มเห็นวัคซีนหลายบริษัท ที่มีรายงานว่าผ่าน อย. ซึ่งเมื่อมีวัคซีนมากขึ้นการกระจายโดยถ้าเอกชนก็อาจจะเป็นไปได้ 

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ทาง ศบค. ชุดเล็กได้หารือกันในวันนี้ร่วมกับทางสภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรม ได้นำเรื่องการกระจายวัคซีนในภาคเอกชน และภาคอุตสาหกรรมนำเสนอศบค. ชุดเล็กในวันเดียวกันนี้ด้วย ตลอดสัปดาห์นี้จะมีการหารือทั้งกลับสภาหอการค้าไทยและสภาอุตสาหกรรม ด้วยว่าในกรณีของประชาชนผู้เสียงสัมผัสและอยู่ในภาคเอกชน หรือภาคธุรกิจ หรือผู้ที่จำเป็นต้องเดินทางเข้าออกต่างประเทศ จะต้องมีการกระจายวัคซีนให้ทั่วถึงอย่างไร ร่วมกับในส่วนที่ ศบค. หารือในสัปดาห์นี้

ซึ่งเราคงต้องติดตามกันรวมไปถึงมาตรการการผ่อนคลายที่ในสัปดาห์นี้จะมีการหารือกับทุกภาคส่วน ทุกกระทรวง เช่น กระทรวงศึกษาธิการที่จะต้องมีมาตรการควบคุมป้องกันโรค โควิด-19 ที่เกี่ยวข้องกับสถานศึกษาทั้งภาครัฐและภาคเอกชน , กระทรวงคมนาคม ที่จะต้องนำมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ไปหารือกับทางสถานีขนส่ง ระบบตรวจส่งสาธารณะ และท่าอากาศยาน , กระทรวงแรงงาน ที่จะต้องมีมาตรการดูแลแรงงานต่างด้าว แรงงานตามฤดูกาล , กระทรวงพาณิชย์ ที่จะต้องดูแลเรื่องการค้าแนวชายแดน , กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา , สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ , กระทรวงวัฒนธรรม กรมการศาสนา 

ซึ่งจะมีการหารือ ศบค. ชุดเล็กในสัปดาห์นี้ เพื่อหามาตรการการจัดกิจกรรมทางศาสนา การเดินทางข้ามอีกที การสนับสนุนกิจกรรมการท่องเที่ยว การจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่างๆ จะมีมาตรการออกมารองรับอย่างไรเพื่อให้เราสามารถเตรียมเปิดประเทศได้อย่างเต็มรูปแบบตามที่นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำไว้ว่า ทุกกระทรวง ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชนจะต้องนำเสนอมาตรการที่เป็นไปตามการผ่อนคลาย 3 เฟส ที่กำลังจะเกิดขึ้นจึงอยากให้ติดตามกันภายในสัปดาห์นี้

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ขอฝากเน้นย้ำว่าเมื่อมีการติดเชื้อในคลัสเตอร์ใหม่ในตลาดหรือชุมชน สิ่งที่ต้องเน้นย้ำเสมอคือเรื่อง "อคติ" เนื่องจากหลายคนมีความรู้สึกว่าหากมีคนมาจากพื้นที่เสี่ยงมาอยู่แถวบ้านเรา เราก็กลัวว่าไข่จะแตก จนอาจเกินเลยเป็นความรู้สึกตั้งข้อรังเกียจ มีอคติ ตอนนี้ซึ่งเราไม่อยากเห็นคนที่เกิดความกังวลกันจน ไม่สามารถดำเนินกิจกรรมประจำวันได้ การเดินทางข้ามพื้นที่ทุกคนยังทำได้เพียงแต่ขอร้องว่าให้ติดตามมาตรการและพยายามให้ความร่วมมืออย่างเข้มงวด 

เพราะไม่ต้องการเห็นคนจากพื้นที่เสี่ยง เข้าไปในพื้นที่แล้วต้องมี อสม. ที่จะต้องไปเฝ้าหน้าบ้าน ทำให้เพื่อนบ้านเกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัย จึงอยากให้ทุกคนเรียนรู้ด้วยความเข้าใจ และร่วมมือกับมาตรการ เช่น พบรายงานผู้ติดเชื้อและมีการเข้าไปในโรงพยาบาลเพื่อตรวจหาเชื้อและไม่ปิดบังไทม์ไลน์ก็จะสามารถดำเนินการป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประชาชนยังดำเนินชีวิตได้ตามปกติ จึงขอเน้นย้ำอย่างยิ่งว่าในกรณีที่เดินทาง มีผู้สูงอายุ มีเด็กเล็กอยู่ในบ้าน ขอให้ดูแลบุคคลเหล่านี้เป็นพิเศษ

ทัพเรือฯ จัดพิธีรับมอบเรือ ต.114 และ เรือ ต.115 จำนวน 2 ลำ

พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน ผู้บัญชาการทหารเรือเป็นประธานในพิธีรับมอบเรือ ต.114 และเรือ ต.115 จำนวน 2 ลำ ณ ท่าเรือแหลมเทียน การท่าเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี  ในวันจันทร์ที่ 29 มีนาคม 2564 โดยมี พล.ร.อ.วศินสรรพ์  จันทวรินทร์ ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพเรือ ในฐานะ ประธานกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง  

พล.ร.อ.สุทธินันท์ สมานรักษ์ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ  พล.ร.ต.สุเทพ ลิมปนันท์วดี  ผู้บัญชาการกองเรือยามฝั่ง กองเรือยุทธการ  ตลอดจนข้าราชการกองเรือยามฝั่ง กองเรือยุทธการ  ให้การต้อนรับ โดยในช่วงเช้า พลเรือเอกวศินสรรพ์  จันทวรินทร์ ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพเรือ ในฐานะ ประธานกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง  ร่วมด้วย คณะกรรมการร่วม กองทัพเรือ  และ บริษัท มาร์ซัน จำกัด (มหาชน) ได้จัดให้มีพิธีบวงสรวง เพื่อความเป็นสิริมงคล  ณ ศาลพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ แหลมปู่เจ้า อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี  

กองทัพเรือได้ดำเนินการจัดหาเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง จำนวน 2 ลำ เพื่อใช้ในภารกิจถวายความปลอดภัยแด่พระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ การลาดตระเวนตรวจการณ์ คุ้มครองเรือประมงและเรือสินค้า ป้องกันและต่อต้านการก่อการร้ายในทะเลและท่าเรือ ป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายในทะเล การรักษากฎหมายในทะเล ตามอำนาจหน้าที่ที่กองทัพเรือได้รับมอบหมาย พร้อมทั้งสนับสนุนการปฏิบัติการทางเรือสาขาต่าง ๆ และการบรรเทาสาธารณภัยให้แก่พี่น้องประชาชนทั้งในทะเลและชายฝั่ง 

โดยได้ว่าจ้างให้ บริษัท มาร์ซัน จำกัด เป็น ผู้ดำเนินการ นับได้ว่าเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการต่อเรือภายในประเทศ อีกทั้งยังเป็นการประหยัดงบประมาณมากกว่าการจัดหาจากต่างประเทศ โดยแบบเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งทั้งสองลำนี้ ได้รับการพัฒนาปรับปรุงมาจากแบบเรือชุดเรือ ต.111 โดยภายหลังจากพิธีรับมอบเรือแล้ว จะเข้าประจำการที่กองเรือยามฝั่ง กองเรือยุทธการต่อไป

สำหรับเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ชุดเรือ ต.114 และ เรือ ต.115 นี้ สามารถปฏิบัติภารกิจได้ครอบคลุมพื้นที่อ่าวไทยและทะเลอันดามัน สามารถตรวจจับ ติดตาม และพิสูจน์ทราบเป้าผิวน้ำได้ด้วยระบบตรวจการณ์ของเรือ มีความคงทนต่อทะเลที่ดีในสภาวะทะเลระดับ 5 (Sea State 5) และปฏิบัติการทางเรืออย่างต่อเนื่องในทะเลได้ไม่น้อยกว่า 10 วัน

ขีดความสามารถปฏิบัติการรบ (Combat Capabilities) ของเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง เรือ ต.114 และเรือ ต.115 สามารถปฏิบัติภารกิจได้ครอบคลุมพื้นที่ปฏิบัติการในอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ระบบตรวจการณ์ของเรือสามารถตรวจจับ ติดตาม และพิสูจน์ทราบเป้าผิวน้ำ หยุดยั้ง ขัดขวาง เรือผิวน้ำ และป้องกันตนเองจากข้าศึกได้ ตามสมรรถนะของอาวุธประจำเรือ ปฏิบัติการทางเรืออย่างต่อเนื่องในทะเลได้ไม่น้อยกว่า 10 วัน และปฏิบัติงานได้สภาวะทะเลระดับ 5 (Sea State 5) เรือมีการทรงตัวและความคงทนทะเลที่ดี และ
ยังสามารถสนับสนุนการปฏิบัติการทางเรือสาขาต่าง ๆ ได้ 

คุณลักษณะทั่วไป มีความยาวตลอดลำ 36.00 เมตร ความกว้างของเรือ 7.60 เมตร ความลึกของเรือ 3.60 เมตร กินน้ำลึกตัวเรือ ไม่เกิน 1.75 เมตร ความเร็วสูงสุดที่ระวางขับน้ำเต็มที่ ไม่ต่ำกว่า 27.0 นอต ระยะปฏิบัติการ ไม่น้อยกว่า 1,200 ไมล์ทะเล กำลังพล ประจำเรือตามอัตรา 30+1+13 (ชปพ.นสร.) 44 นาย เครื่องจักร ที่สำคัญประกอบด้วย เครื่องจักรใหญ่ ตราอักษร CUMMINS 1,342KW (1,800bhp) 1,900rpm จำนวน 3 เครื่อง และเครื่องกำหนดไฟฟ้า ขนาด 112KWe 380VAC, 3PH, 50HZ จำนวน 2 เครื่อง

อาวุธประจำเรือ อาวุธปืนหลัก ปืนกลขนาด 30 มม. ติดตั้งบริเวณหัวเรือ จำนวน 1 แท่น และอาวุธรอง ปืนกลขนาด 50 นิ้ว ติดตั้งบริเวณกราบเรือซ้ายขวา จำนวน 2 แท่น สำหรับพิธีรับมอบเรือ เป็นพิธีที่มีมาตั้งแต่ครั้นโบราณกาล ได้เริ่มมีมาตั้งแต่เมื่อใดไม่พบหลักฐานที่แน่นอน แต่เมื่อปี พ.ศ. 2451 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีพิธีมอบเรือเสือทยานชล เรือตอร์ปิโดที่ 1 เรือตอร์ปิโดที่ 2 และเรือตอร์ปิโดที่ 3 เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2451 จากนายทหารเรือญี่ปุ่น โดยนำเรือทั้ง 4 ลำ ซึ่งต่อจากประเทศญี่ปุ่น เข้ามายังกรุงเทพฯ ในปัจจุบันเมื่อถึงเวลารับมอบเรือจะต้องทำพิธีเพื่อให้เกิดสวัสดิมงคลแก่ตัวเรือเสียก่อน โดยบูชาพระรัตนตรัย พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์

นฤมล นั่งหัวโต๊ะ กำหนดแผนพัฒนาแรงงานรับ S - curve

นฤมล เดินหน้าขับเคลื่อนการพัฒนาแรงงาน รับ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย นำทีมกำหนดแผนขับเคลื่อนพัฒนาแรงงาน ดึงพันธมิตรร่วมทำงานกว่า 30 หน่วย

วันที่ 29 มีนาคม 2564 ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุม คณะอนุกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพในอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve ครั้งที่ 1/2564 โดยมีหม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมประชุม และอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ทำหน้าที่เลขานุการ ณ ห้องประชุมปกรณ์ อังศุสิงห์ ชั้น 10 กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน

ศาสตราจารย์ นฤมล กล่าวว่า การประชุมในวันนี้ ต้องการรับฟังข้อเสนอแนะ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาแรงงานป้อน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยคณะกรรมการชุดนี้ จะทำหน้าที่ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อพัฒนาทักษะฝีมือให้แก่กำลังแรงงาน กำหนดแผนปฏิบัติการ รวมถึงเชิญชวนบุคคลหรือคณะบุคคล ที่มีความเชี่ยวชาญแต่ละด้าน เข้าร่วมจัดทำแผนพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานในอุตสาหกรรมเป้าหมาย  การประชุมในวันนี้นับเป็นกลไกที่สำคัญที่จะทำให้การดำเนินการของคณะอนุกรรมการในระยะต่อไป มีความชัดเจนและมีประสิทธิผล

คณะอนุกรรมการที่เข้าร่วมประชุมในวันนี้ มีตัวแทนจากหลายหน่วยงาน เช่น ผู้แทนกระทรวงกลาโหม ผู้แทนกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผู้แทนสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้แทนสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ผู้แทนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และผู้แทนสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา  ซึ่งการพัฒนาบุคลากรและกำลังแรงงาน เพื่อป้อนอุตสาหกรรม S - curve นั้น มีหลายหน่วยงานที่มีการจัดทำแผนและดำเนินการอยู่แล้ว การดำเนินงานดังกล่าว จึงควรบูรณาการทำงานร่วมกัน เพื่อให้การพัฒนามีประสิทธิภาพ และตอบโจทก์ภาคอุตสาหกรรมได้ 

ที่ประชุมได้กำหนดให้แต่ละหน่วยงานที่มีข้อมูลและแผนพัฒนากำลังแรงงานรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย จัดส่งข้อมูลเพื่อให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานรวบรวมและจัดทำร่างแผนพัฒนากำลังแรงงานรองรับอุตสาหกรรม S - curve ภายในต้นสัปดาห์หน้า พร้อมนัดประชุมคณะอนุกรรมการอีกครั้งในวันศุกร์ที่ 9 เมษายน 2564   ซึ่งจะได้เห็นแผนพัฒนาที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น 

“การเตรียมแรงงานให้มีความพร้อมในอุตสาหกรรม S - curve จะช่วยให้แรงงานมีทักษะ ความรู้ ความสามารถ เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานได้ ช่วยสร้างอาชีพการส่งเสริมการจ้างงาน และมีรายได้ที่มั่นคงต่อไป ข้อเสนอแนะจากที่ประชุม จะได้นำไปกำหนดแผนการดำเนินงานเพื่อพัฒนากำลังแรงงานต่อไป” รมช. แรงงาน กล่าวในท้ายสุด

"กรณ์" ลงพื้นที่สวนทุเรียนชุมพร หารือเกษตรกร - นักธุรกิจพื้นที่ ย้ำศักยภาพสู้ประเทศคู่แข่งได้ แนะรัฐกำกับดูและตรงไปตรงมา ระบบข้อทูลเปิด สร้างกลไกตลาดตามจริง

29 มีนาคม 2564  นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า กล่าวถึงการลงพื้นที่จังหวัดชุมพร โดยได้ พูดคุยกับกลุ่ม Young Smart Farmers กลุ่มนักธุรกิจจากสภาหอการค้า และกลุ่มนักธุรกิจหอการค้ารุ่นใหม่ (YEC) รวมไปถึงผู้ประกอบการค้าโดยเฉพาะเรื่อง "ผลไม้" ซึ่งชุมพรโดดเด่นที่สุดอย่างหนึ่งคือ "ทุเรียน" 

นายกรณ์ กล่าวว่า ตนเองและ พ.ต.ท.ทศพล โชติคุตร์ ผู้กล้าชุมพร วิเคราะห์กับผู้รู้ในพื้นที่จริง โดยเฉพาะตัวเลขที่เกริ่นไว้ว่า จะดีแค่ไหนหากเกษตรกรไทยมีรายได้ไร่ละ 1 แสนต่อปีจากการทำการเกษตร ซึ่งไทยปลูกทุเรียนรวมแล้วกว่า 1 ล้านไร่ กระจายหลักๆ ในจันทบุรี และชุมพร สูสีกัน จังหวัดอื่น ๆ ได้แก่ ระยอง ยะลา นครศรีฯ และสุราษฎร์ ทั้งหมดนี้สร้างผลผลิตให้ประเทศไทยกว่า 1.3  ล้านตัน ส่งออกเป็นหลัก และแปรรูปกับบริโภคภายในอีกบางส่วน เฉลี่ยราคาขาย คิดแบบขั้นต่ำสุด ก็สร้างรายได้ที่ประมาณ ไร่ละ 1 แสนบาท แต่หากควบคุมคุณภาพของทุเรียนได้เข้มข้นมากขึ้นกว่านี้ รายได้ต่อไร่ของเกษตรกรสูงกว่านี้แน่นอน 

นายกรณ์ กล่าวว่า หากดูข้อมูลกลุ่มลูกค้าหลักของไทยคือจีน ซึ่งปัจจุบันบริโภคทุเรียนไทยปัจจุบันปีละ 250 ล้านลูก เทียบประชากรพันกว่าล้านคน หากเราเพิ่มกำลังผลิตอีกเท่าตัว ในแง่กำลังซื้อในตลาดถือว่ายังเหลือเฟือส่วนคู่แข่งอย่างเวียดนามมีกระแสข่าวว่าจีนกว้านซื้อที่ปลูกเอง ดูเหมือนน่ากลัว แต่เทียบโดยพื้นที่แล้วห่างชั้นกับไทยมากเพียง 25,000 ไร่ เทียบกับไทยที่ปลูกอยู่เป็นล้านไร่ และยังไม่นับเรื่องรสชาติ 

นายกรณ์ กล่าวว่า เมื่อมีเป้าหมายขยายโอกาสให้ชาวสวนแล้ว ประเด็นสำคัญของพรรคการเมือง และภาครัฐที่ต้องดูแลอย่างตรงไปตรงมาคือการเป็นผู้กำกับดูแล "ตลาดกลาง" ทางการค้า ให้มีความเป็นข้อมูลเปิด โดยเฉพาะเรื่องราคาตามคุณภาพ รวมไปถึงการสร้างกลไกตลาดที่เป็นความจริง รัฐไม่ควรควบคุมจนเข้มเกินไป และรัฐมีหน้าที่เอื้อให้เกิดการแข่งขันที่โปร่งใสไร้มาเฟีย 

"เชื่อเถอะครับว่าไม่มี "ทุเรียน" ที่ไหนอร่อยเท่าบ้านเรา แต่โจทย์ของบ้านเราคือ จะทำอย่างไรให้ทั้ง เกษตรกรไทย ผู้ค้า และผู้ส่งออก มีการแบ่งปันรายได้ที่เป็นธรรม" หัวหน้าพรรคกล้ากล่าว

“พล.อ.ประวิตร” ประชุม คกก.กองทุนดิจิทัล เห็นชอบเปิดรับโครงการ วิจัย/พัฒนา และสนับสนุน5G ส่งเสริม ศก./สังคม รองรับการพัฒนาประเทศ สู่ยุคดิจิทัล เน้นสร้างการรับรู้ มุ่งให้ปชช.ได้รับประโยชน์สูงสุด

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564 ที่ห้องประชุม 301  ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผู้ช่วยโฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี  เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี  เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม ครั้งที่ 1/2564  โดยมี นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดีอีเอส เข้าร่วมประชุม 

ที่ประชุม ได้รับทราบผลการดำเนินงาน ของกองทุนพัฒนาดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งมีความคืบหน้า ตามแผนงานในภาพรวม โดยกระทรวงการคลังได้สนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติม และจัดทำบันทึกข้อตกลงการประเมินผลร่วมกัน ทั้งนี้ที่ประชุมได้มีการพิจารณาเห็นชอบโครงการที่สำคัญได้แก่ การเปิดรับข้อเสนอโครงการหรือกิจกรรม ที่ขอรับการสนับสนุนจากกองทุนประจำปี2564 ภายใต้กรอบนโยบาย 6 ด้าน อาทิ Digital Manpower ,Digital Health ,Digital Agriculture ,Digital Technology ,Digital Government & Infrastructure และ Digital Agenda  และอนุมัติกรอบวงเงินกองทุนมาตรา 26 (1)(2) ประจำปีงป.64 ครั้งที่ 1 จำนวน 3,000 ล้านบาท 

โดยกำหนดระยะเวลาเปิดรับการอุดหนุนการวิจัยและพัฒนา ตั้งแต่ 22 เมษายน - 31พฤษภาคม 64 และ เห็นชอบ(ร่าง)ประกาศคณะกรรมการ ,หลักเกณฑ์การพิจารณา และคณะทำงานกลั่นกรองโครงการสำหรับ การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 5G ของประเทศไทย เพื่อการต่อยอดการใช้ประโยชน์ รวมถึงให้ความเห็นชอบ แนวทางการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา การจัดสรรประโยชน์ และการรักษาสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา กรณีผู้รับทุน และผู้ให้ทุน เป็นเจ้าของร่วมกัน และอนุมัติโครงการที่ผ่านการกลั่นกรองจากคณะอนุกรรมการแล้ว จำนวน 5 โครงการ ตามมาตรา 26 (3)

ทั้งนี้พล.อ.ประวิตร ได้กำชับคณะกรรมการฯ ให้มีการกำกับ ติดตามโครงการต่าง ๆ ที่ผ่านความเห็นชอบแล้ว ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ และมีการประเมินผลงาน อย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการพัฒนา ด้านดิจิทัลของประเทศ ให้เห็นผล เป็นรูปธรรม และเกิดประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนโดยรวม ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ ต่อไป

“ศรีสุวรรณ” ร้อง ป.ป.ช. สอบจริยธรรม “ส.ส.เจี๊ยบ ก้าวไกล” โผล่ร่วมม็อบ 20 มี.ค.

วันที่ 29 มีนาคม 2564 ที่สำนักงานป.ป.ช. นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)เพื่อขอให้สอบสวนและเอาผิดนางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กรณีที่เข้าร่วมชุมนุมประท้วงกับกลุ่มรี-เดม ( RE-DEM )เมื่อวันที่ 20 มีนาคม ที่ผ่านมา ที่สนามหลวงและถนนราชดำเนิน ซึ่งการชุมนุมดังกล่าวถือว่าเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ 2558 และมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 ฝ่าฝืน มาตรา34(6) แห่ง พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 รวมทั้งฝ่าฝืนประมวลกฎหมายอาญา มาตรา116,209 ,210 และมาตรา215 รวมทั้ง พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง 2535

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า การจัดชุมนุมที่ฝ่าฝืนกฎหมายหลายฉบับ มีการทำลายและเผาป้ายพระบรมฉายาลักษณ์ ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในชาติบ้านเมือง เป็นเหตุให้ทรัพย์สินของทางราชการเสียหาย และมีผู้บาดเจ็บสาหัสจำนวนมาก โดยนางอมรัตน์ มีสถานะ ส.ส.ผู้ทรงเกียรติ แต่ลดตัวลงมาคลุกคลีร่วมกิจกรรมกับกลุ่มผู้ชุมนุม ทั้งที่รู้ว่าเป็นการจัดการชุมนุมฝ่าฝืนกฎหมาย ถือว่าเป็นผู้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด และตามประมวลกฎหมาย อาญา ม.83 ระบุว่า ในกรณีความผิดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า นางอมรัตน์ พยายามจะสื่อสารผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่าอยู่หน้าม็อบเสมอ มิใช่เตี้ยหลังม็อบตามที่นายกรัฐมนตรีและสื่อมวลชนตั้งฉายาไว้ จึงเป็นประจักษ์พยานที่ตอกย้ำว่าเป็นพฤติการณ์ที่อาจฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมฯ 2561 อย่างร้ายแรง ในข้อ 5 ,6 , 7,12 และข้อ 17 ซึ่งเป็นมาตรฐานทางจริยธรรม ตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 219 บัญญัติไว้ทางสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงขอให้ ป.ป.ช.ไต่สวนและมีความเห็น กรณีนางสาวอมรรัตน์ เข้าร่วมกิจกรรมการชุมนุมสาธารณะอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายหลายฉบับตามประมวลกฎหมายอาญา หรือมีพฤติการณ์ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อํานาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือไม่ หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติฯ ขอให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัยตามกฎหมายต่อไป

รินทร์ ควง สินิตย์ ประชุมผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ทันที เดินหน้า 14 แผนงาน พร้อมแบ่ง 3 กรมและ 3 องค์การ ให้รัฐมนตรีช่วยคนใหม่ดูแล ด้าน "สินิตย์" ประกาศ "พร้อมทำงานเป็นทีม"

วันที่ 29 มีนาคม 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ คณะผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ ประชุมร่วมกันหลังจากที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์คนใหม่เดินทางเข้ามารับหน้าที่วันนี้ ซึ่งทางกระทรวงพาณิชย์จัดพิธีต้อนรับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายสินิตย์ เลิศไกร) ณ ห้องประชุมกิติยากรวรลักษณ์ ชั้น 4 สํานักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ยินดีต้อนรับท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ในโอกาสที่ท่านเข้ารับตำแหน่งในวันนี้ โดยกระทรวงพาณิชย์ให้คณะผู้บริหารบรรยายภารกิจต่างๆให้รัฐมนตรีช่วยได้รับทราบในเบื้องต้น

จากนั้น นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2564 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้งให้ตนเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นับเป็นเกียรติประวัติอันสูงสุด และในวันที่ 27 มีนาคม 2564 นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้นำเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสว่าให้มีกำลังกาย ให้มีกำลังใจ กำลังปัญญา ปฎิบัติหน้าที่ให้ดีเพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน วันนี้ตนได้เดินทางมาที่กระทรวงพาณิชย์ โดยได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นและจะได้ทำงานร่วมกันต่อไปในอนาคต ตนเน้นการทำงานเป็นทีมและอยู่ในหลักของธรรมาภิบาล เพื่อผลักดันให้กระทรวงพาณิชย์เดินทางไปสู่จุดหมายปลายทางคือเศรษฐกิจเจริญเติบโต สู่เศรษฐกิจยุคใหม่อย่างยั่งยืน 

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ยินดีต้อนรับท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ตนมั่นใจว่าโดยประสบการณ์ในฐานะที่เคยทำหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติของท่านรัฐมนตรีช่วย ที่สั่งสมมาตลอดการเป็นผู้แทนราษฎร 5 สมัยของจังหวัดสุราษฎร์ธานี และจะมีส่วนสำคัญในการเป็นพื้นฐานก้าวเข้ามาทำหน้าที่ในฐานะฝ่ายบริหารในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้เป็นอย่างดี และจะมีส่วนสำคัญในการช่วยให้นโยบายของกระทรวงพาณิชย์บรรลุเป้าหมายประสบความสำเร็จต่อไป จะช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ซึ่งงานของกระทรวงพาณิชย์มีอยู่จำนวนมากและมีผลกระทบต่อประชาชนทุกภาคส่วน

ท่านจะเข้ามามีส่วนสำคัญในการช่วยทำงานให้กับรัฐมนตรีว่าการและจับมือกับเพื่อนข้าราชการทุกท่านในการพากระทรวงเดินหน้าไปสู่ความสำเร็จมีประสิทธิภาพมีประสิทธิผลสามารถรับใช้ราชการและรับใช้พี่น้องประชาชนคนไทยทั้งประเทศได้เป็นอย่างดีและต่อจากนั้น นายจุรินทร์ได้ลงนามแบ่งงานของกระทรวงพาณิชย์ซึ่งมีภารกิจ 7 กรม 3 องค์การมหาชนกับ 1 รัฐวิสาหกิจ โดยจะมอบงานให้เช่นเดียวกับที่เคยมอบให้กับรัฐมนตรีช่วย "วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล" ก่อนหน้านี้ทุกประการ โดยมอบงานให้รัฐมนตรีช่วยสั่งปฏิบัติราชการ 3 กรม คือ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมทรัพย์สินทางปัญญา และกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และ 3 องค์การมหาชนจะมอบให้ท่านดูทั้งหมดทั้งสถาบันอัญมณี ไอทีดี และศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ 

โดยนายจุรินทร์ระบุด้วยว่ามั่นใจว่าจะช่วยแบ่งเบาภาระและขับเคลื่อนงานในความรับผิดชอบโดยตรงไปสู่ความสำเร็จได้ต่อไป และขอถือโอกาสมอบแผนงานปี 64 ที่ตนและเพื่อนข้าราชการทั้งกระทรวงกำหนดร่วมกันเดินหน้าขับเคลื่อนในปี 64 จำนวน 14 แผนงาน ที่จะถือเป็นแผนแม่บทสั่งปฏิบัติราชการต่อไป จากนั้นและนายจุรินทร์ และข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ได้มอบดอกไม้แสดงการต้อนรับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ รวมทั้งมอบคำสั่งแบ่งงานและ 14 แผนงานปี 2564 ของกระทรวงพาณิชย์โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ด้วย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top