Saturday, 22 June 2024
POLITICS NEWS

'เสี่ยหนู'ยัน 'สภาล่ม' ไม่เกี่ยว 'พรรคภูมิใจไทย'

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีที่การเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันแรก แล้วสภาฯ ล่มทันที พรรคร่วมรัฐบาลต้องกำชับอะไรเป็นพิเศษหรือไม่ ว่า ไม่ใช่พรรคภท. แต่คุยกันอยู่แล้ว

เมื่อถามว่า พรรค ภท. อยู่ครบหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า "อยู่ๆ พรรคภท. อยู่กันเกือบครบ"

‘ภูมิใจไทย’ ดัน นโยบายกัญชา สุดตัว ยกระดับจากสิ่งผิดกม. ให้เป็นพืชเศรษฐกิจ

ถึงจะโดนเรื่องโควิด-19 กลบ จนเรื่องกัญชา ต้องหายเงียบ แต่ในความเงียบ กลับมีความเคลื่อนไหว ที่สะท้อนความคืบหน้าในนโยบายกัญชา ซึ่งเป็นเดิมพันสำคัญของพรรค “ภูมิใจไทย”

รู้หรือไม่ ??? จากในอดีตที่กัญชา มีสถานะเป็น “สิ่งเสพติด” หากแม้นมีการครอบครอง ไปจนถึงนำมาใช้ ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดล้วน “ผิดกฎหมาย” เป็นผู้ร้ายตลอดกาล ปัจจุบัน ประเทศไทยคลายล็อกให้สามารถปลูกกัญชาได้อย่างถูกกฎหมายแล้ว กัญชากำลังค่อยๆ เปลี่ยนบทบาทให้กลายเป็น “พระเอก” มากยิ่งขึ้น จนไทยได้ชื่อว่ามีความก้าวหน้าในเรื่องการนำกัญชามาใช้ ที่ก้าวหน้าที่สุดในอาเซียน

รู้หรือไม่ ? วันนี้ ประชาชนสามารถเข้าถึงการปลูกกัญชาได้อย่างถูกกฎหมายแล้วกว่า 1.6 ล้านตารางเมตร

รู้หรือไม่ ? ในปี 2564 เพียงปีเดียวสินค้าที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม มีมูลค่าในตลาดสูงถึงกว่า 7 พันล้านบาท

รู้หรือไม่ ? ประเทศไทย มีคลินิกกัญชาแล้วใน 760 โรงพยาบาลทั่วประเทศ

รู้หรือไม่ ? มีประชาชนกว่า 7.6 หมื่นคน ใช้บริการคลินิกกัญชา เป็นทางออกในการรักษาโรค

เหล่านี้คือปรากฏการณ์ ที่เกิดขึ้นแล้ว ในประเทศไทย และเป็นเครื่องยืนยันความคืบหน้าของนโยบายกัญชาเสรี

เป็นผลจากการทุ่มกาย เทพลัง ตลอด 2 ปีเศษ ที่พรรคภูมิใจไทย “ต้อง” ผลักดันนโยบายกัญชาทางการแพทย์ให้ไปข้างหน้า เนื่องเพราะเป็นนโยบายสำคัญที่ทำให้พรรคโกยคะแนนเลือกตั้ง กระทั่งได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาล และหัวหน้าพรรคอย่างนายอนุทิน ชาญวีรกูล ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อผลักดันให้นโยบาย เกิดความเป็นรูปธรรม ตามแผนบันได 3 ขั้น เริ่มจากแก้กฎหมาย ให้กลายเป็นพืชสมุนไพร ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ไปจนถึงเป็นพืชเศรษฐกิจ แก้ปัญหาปากท้องประชาชน

ซึ่งการก้าวขึ้นบันไดแต่ละขั้นนั้น ไม่ใช่เรื่องหมู ต้องฝ่าฟัน “ความเชื่อ” จากสังคมไทย จำนวนไม่น้อย ที่ยังปฏิเสธกัญชา ขณะที่กฎเกณฑ์ระหว่างประเทศ ก็เป็นดั่งกำแพงที่ยากจะปีนข้าม มีเพียงการค่อยแก้กฎหมายทีละชั้นอย่างละเอียดรอบคอบที่สุด ถึงจะสามารถคลายล็อกกัญชาได้

ข้อเท็จจริงคือ ประเทศไทยอยู่ภายใต้อนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1961 แก้ไขโดยพิธีสาร ค.ศ. 1972 และอนุสัญญาว่าด้วยวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ค.ศ. 1971 ซึ่งอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับนี้ยินยอมให้ใช้กัญชาทางการแพทย์หรือวิทยาศาสตร์ได้ แต่รัฐบาลต้องคำนึงถึงความปลอดภัยต่อสุขภาพและการป้องกันการรั่วไหลไปยังตลาดมืด ซึ่งรัฐบาลต้องมีการข้อกำหนดที่ชัดเจนในการอนุญาตให้ผลิตปลูกหรือใช้กัญชาทางการแพทย์ที่จะต้องดำเนินการโดยมีระบบใบอนุญาต (Licensing System) เพื่อให้มั่นใจว่าตลาดกัญชาของรัฐนั้น ๆ จะไม่เกินความต้องการใช้ทางการแพทย์และทางวิทยาศาสตร์”

โดยมีคณะกรรมการการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศจะเป็นหน่วยงานที่เป็นกลไกกำกับดูแลการปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติของอนุสัญญาฯ ประเทศภาคีสมาชิกจะต้องรายงานให้ทราบเกี่ยวกับการดำเนินการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดและวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทที่ผิดกฎหมาย

นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้ประเทศไทย ต้องนำเรื่อง “การแพทย์” มานำร่องเรื่องกัญชา เป็นไฟต์บังคับ ที่นายอนุทิน ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขทราบดี ซึ่งนายอนุทิน ค่อย ๆ ขยับแก้กฎหมายไปทีละขยัก ผ่านอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เริ่มจากวันที่ 6 สิงหาคม ปี 2562 ได้ ลงนามระเบียบกระทรวงสาธารณสุข รับรองสถานะหมอพื้นบ้าน เปิดช่องให้หมอพื้นบ้านใช้กัญชา เป็นส่วนผสมในตำรับยา 

ขณะเดียวกัน ยังได้ผลักดันให้ “วิสาหกิจชุมชน” ทั่วประเทศ ปลูกกัญชา สำหรับส่งไปยังโรงพยาบาลสำหรับใช้ผลิตยา เพื่อเตรียมใช้ในคลินิกกัญชา ที่จะเกิดขึ้นในปีเดียวกัน พร้อมไปกับการปลดล็อกให้สารสกัดจากกัญชา ทั้ง THC และ CBD ไม่เป็นยาเสพติด ตามเงื่อนไขที่กำหนด เหล่านี้เกิดขึ้นเพื่อให้สามารถนำกัญชาไปในทางการแพทย์ได้ โดยมีเงื่อนไขน้อยที่สุด ขณะที่แหล่งผลิต ที่เกิดขึ้นจะกลายมาเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบในเชิงเศรษฐกิจด้วย

ซึ่งการเปลี่ยนร่างกัญชาจากพืชสมุนไพร สู่พืชเศรษฐกิจนั้น ต้องย้อนกลับไป ในวันที่ นายอนุทิน นำกระทรวงสาธารณสุขออกประกาศกระทรวง เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (ฉบับที่ 2) เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563 ให้บางส่วนของต้นกัญชาและกัญชงไม่จัดเป็นยาเสพติด

ส่วนต่าง ๆ ของกัญชาที่ไม่จัดเป็นยาเสพติด ได้แก่ เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน ราก ใบ ซึ่งไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย สารสกัด CBD ที่มี THC ไม่เกินร้อยละ 0.2% และกากที่เหลือจากการสกัดกัญชา ซึ่งต้องมี THC ไม่เกิน 0.2%

ประชาชน เอกชน สามารถใช้ประโยชน์จากส่วนเหล่านี้ได้ แต่มีข้อกำหนดว่าต้องได้มาจากสถานที่ปลูกหรือผลิตในประเทศ ซึ่งได้รับอนุญาตแล้วเท่านั้น

เมื่อสามารถนำส่วนต่าง ๆ ของกัญชามาใช้ประโยชน์ได้ทั่วไปแล้ว จึงเห็นร้านค้าจำนวนมาก นำวัตถุดิบจากกัญชามาใช้เพิ่มมูลค่าในผลิตภัณฑ์ ทั้งอาหาร เครื่องดื่ม และเครื่องสำอาง สร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการเป็นจำนวนมหาศาล จนกัญชาได้ชื่อว่าเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจสำหรับคนไทยจำนวนไม่น้อย จากที่กัญชาต้องหลบเร้นอยู่ในมุมมืด การแก้กฎหมายที่ผ่านมา ทำให้เราได้มีโอกาสทานบราวนี่กัญชา ชาที่ทำมาจากกัญชา ข้าวผัดกัญชา พิซซ่ากัญชา ไปจนถึงใช้เครื่องสำอาง ที่มามีส่วนผสมของกัญชาประกอบอยู่

'เท่าพิภพ' ซัด 'อัศวิน' สั่งเทเหล้าทิ้งหลัง 3 ทุ่ม จวก คิดได้แค่นี้ ไม่เหมาะเป็นผู้ว่า กทม.

จากกรณีที่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้สัมภาษณ์ ยืนยันว่า การดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารจะต้องเป็นร้านที่ได้มาตรฐาน SHA และขายได้ถึงเวลา 21.00 น. เท่านั้น จะไม่มีการขยายเวลา หากดื่มไม่หมดก็เททิ้งไป

นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า หลังจากได้เห็นคำสัมภาษณ์ของผู้ว่าฯ อัศวินแล้วรู้สึกสลดใจและเห็นใจคนกลางคืนเป็นอย่างยิ่ง ที่มีผู้ว่าฯ ซึ่งไม่สนใจและไม่เข้าใจธุรกิจกลางคืนหรือคนกลางคืนแม้แต่นิดเดียว สาเหตุอาจเพราะการไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เป็นตำรวจมาทั้งชีวิตจึงเคยชินแต่การใช้คำสั่ง ถึงเวลาก็มีเงินเดือนมา ดีไม่ดีปีใหม่ สงกรานต์ ลอยกระทงก็ไม่รู้ว่ามีกระเช้ามาให้ด้วยหรือเปล่า ชินกับการรับ กระทั่งตำแหน่งผู้ว่าฯ ก็รับมาจากการแต่งตั้งของผู้มีอำนาจ ไม่ได้มาจากประชาชน จึงไม่เข้าใจปัญหาของคนทำมาหากินเลย

"การเปิดร้านแต่ละวันแต่ละคืน เจ้าของร้านและลูกจ้างต้องมีภาระมากแค่ไหนท่านรู้หรือไม่ สมัยผมทำงานเป็นบาร์เทนเดอร์ในร้านอาหารเวลาเริ่มงานคือ 16.00 น. - 01.00 น. คือ 9 ชั่วโมง ได้ค่าจ้างวันละ 500 บาท ลองคิดดูถ้าเลิก 21.00 น. เวลาทำงานจะเหลือเพียง 5 ชั่วโมง รายได้ก็ต้องลดตามชั่วโมงงาน แต่ค่ารถมาทำงานยังเท่าเดิม มันคุ้มกับเขาหรือไม่ ยังไม่นับธุรกิจกลางคืนที่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดก็ขาดรายได้มานาน

ในมุมของเจ้าของร้านยิ่งแล้วใหญ่ หากเปิดร้าน 16.00 น. กว่าจะมีลูกค้าเข้าจริงคือหลังเลิกงานก็ประมาณ 18.30 เป็นต้นไป แต่ประมาณ 2 ทุ่มก็ต้องบอกลูกค้าว่าจะสั่งเครื่องดื่มเป็นรอบสุดท้ายไหม ต้องหยุดก่อนสามทุ่ม ตกลงได้ขายจริงก็แค่ราว 1 ชั่วโมงครึ่ง เปิดแบบนี้ก็เหมือนไม่เปิด เป็นนโยบายที่ไม่เข้าใจคนทำธุรกิจว่าวันสิ้นเดือนคือที่ตัดสินว่าตัวเขาและธุรกิจจะสิ้นใจหรือไม่"

“สงคราม” หวั่นคลัสเตอร์โรงเรียนหลังเปิดเทอมทำคุมเชื้อโควิดยาก อัดรัฐเมินป้องชีวิตเด็กเปิดเรียนบนความเสี่ยงไร้ชุดตรวจATKให้โรงเรียน  

นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อชาติ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์  เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลกำหนดให้เปิดเทอมใหม่ ให้นักเรียนเรียนภายในห้องเรียนพร้อมกันทั่วประเทศ เป็นนโยบายที่น่าเป็นห่วงมากเพราะมีเด็กนักเรียนจำนวนมาก  ไปอยู่ในที่เดียวกันการป้องกันการแพร่เชื้อโควิด โรงเรียนจะมีความพร้อมมากแค่ไหน 

ในส่วนของการจัดหาชุดตรวจ ATK ให้กับด็กนักเรียนนั้น รัฐบาลเลือกที่จะโยนภาระให้เขตพื้นที่การศึกษา หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดหาในพื้นที่ต่างจังหวัด ซึ่งเป็นการไปเบียดบังงบประมาณของท้องถิ่น ทั้งๆที่รัฐบาลมีงบประมาณมหาศาล แต่กลับไม่นำออกมาปกป้องชีวิตเยาวชน  นอกจากนี้งบประมาณที่องค์กรปกครองท้องถิ่นเตรียมไว้ใช้ในงานอื่น แต่รัฐยังคับให้หน่วยงานเหล่านั้น นำงบประมาณทีมีอยู่ไปจัดหาชุดตรวจATK ให้กับโรงเรียนในพื้นที่ ซึ่งจะมีการการตรวจทุกๆสัปดาห์ ทั้งๆที่ผู้ปกปครองอยากให้มีการตรวจทุกวันแต่ติดที่ไม่มีงบประมาณมากพอ

นายสงคราม กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้บางพื้นที่มีการจัดชุดตรวจบางพื้นที่ให้ แต่บางพื้นที่ไม่มีการตรวจ อ้างว่ามีคนติดเชื้อน้อย ก็เลยไม่ตรวจ ซึ่งผลการดำเนินการของรัฐบาลมันย้อนแย้งกันและรัฐบาลไม่ให้ความสำคัญกับสุขๆอนามัยและความปลอดภัยของเด็กนักเรียน ทั้งๆที่เด็กเหล่านี้มีอัตราเสี่ยงสูงมาก ดังนั้นการเปิดเรียนในโรงเรียนคือการเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูงมาก และจะกลายเป็นคสัสเตอร์ใหญ่ในอนาคต หากไม่มีการดำเนินการที่มีแนวทางที่ชัดเจน

‘อ.แพท’ ยกนิ้ว ‘บิ๊กตู่’ พูดได้ดีบนเวทีโลก ชี้! ผู้นำ ‘อ่านสคริปต์ - ใช้ภาษาถิ่น’ ไม่ใช่เรื่องแปลก

คุณพัฒนพงศ์ (แพท) แสงธรรม อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ (ภาควิชาภาษาอังกฤษ) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณีคนวิจารณ์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โชว์วิสัยทัศน์บนเวที COP 26 ที่ผ่านมา ว่า เบื่อกระบือ!! 
อันนี้ไม่เกี่ยวกับการเมือง เป็นความรู้เรื่อง public speaking

การพูดในระดับ keynote ปาถกฐา หรือสุนทรพจน์ คือ การพูดอย่างเป็นทางการ ไม่มีหลักการว่าต้องพูดปากเปล่า ย้ำว่า "ไม่มี" เพราะความแม่นยำถูกต้องในเนื้อหา ระดับภาษาเหมาะสม และมีวัจนลีลา จำเป็นต้องมีสคริปต์ที่ร่างมาเป็นอย่างดี การอ่านจากสคริปต์ จึงเป็นที่ยอมรับและปฏิบัติกันทั่วไป

ถ้าไม่ก้มหน้าอ่านจากสคริปต์ สามารถอ่านได้จาก teleprompter ซึ่งเป็นจอใส ที่จัดวางไว้ตรงหน้าโพเดียม หรือตรงเล็นส์กล้อง หรือ ด้านซ้ายและขวา เช่นในงาน COP26

ผู้พูดที่อ่าน teleprompter ไม่ถนัด ก็เลือกอ่านจากสคริปต์ตรงหน้า ใช้มือเปิดสคริปต์อ่านไปตามปกติ Boris Johnson นายกฯ อังกฤษ ก็ก้มหน้าอ่าน Alok Sharma ประธานงาน COP26 ก็ก้มหน้าอ่าน เลขาธิการสหประชาชาติก็ก้มหน้าอ่าน Patricia Espinosa เลขานุการบริหารของ UN ก็ก้มหน้าอ่าน และอื่น ๆ อีกหลายท่าน

ผู้ที่ใช้ teleprompter คล่อง จะมองด้านซ้ายที ขวาที เพราะมีจออ่านทั้งสองฟากของโพเดียม ไม่หันหน้าไปมุมอื่น มองเฉพาะจุดที่มีจอ เช่น ปธน. ไบเดน และเซอร์ ริชาร์ด แอทเทนเบอเรอห์

‘ทักษิณ’ ชี้ ‘ม.112’ ไม่เป็นปัญหา แนะคนเห็นต่างพูดคุยกัน ยุติดราม่า

เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 64 นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thaksin Shinawatra ต่อกรณีการเสนอให้แก้ไขหรือยกเลิก กฎหมายอาญามาตรา 112 โดยระบุว่า

“2-3 วันนี้ได้ฟังดราม่าเกี่ยวกับเรื่องมาตรา 112 จากทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในการที่จะแก้ไขหรือยกเลิก ผมขอแสดงความคิดเห็นในฐานะที่เคยเป็นนายกรัฐมนตรีมา และผ่านการปรึกษาในเรื่องมาตรา 112 มาหลายครั้ง

ผมขอเล่าเป็นประสบการณ์ มาตรา 112 มีมานานตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ น่าจะประมาณปี 2500 ตัวกฎหมายเองไม่เคยเป็นปัญหา แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ มันเกิดจากการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง เพราะว่าบุคคลในกระบวนการยุติธรรมอาจจะเกิดจากความกลัวหรืออาจจะเกิดจากความอยากแสดงความจงรักภักดีโดยไม่ยึดหลักนิติธรรม แล้วเกิดการใช้อำนาจในทางที่ผิดหรือ Abuse of Power เพื่อหวังผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางรัฐบาล เพื่อหวังผลทางการเมือง เลยทำให้เกิดความไม่พอใจ และยิ่งใช้มากก็ยิ่งเกิดความไม่พอใจมาก ซึ่งในสมัยก่อน สนง.ตำรวจแห่งชาติ จะมีคณะกรรมการพิจารณาเรื่องที่ร้องเรียนขึ้นมาว่าเป็นเรื่องของการจงใจที่จะละเมิดมาตรา 112 จริงหรือเปล่า และจำนวนคดีก็มีน้อย และทุกอย่างก็เป็นไปตามกระบวนการพิจารณาทางอาญา (Due Process of Law)

ฉะนั้นปัญหาก็น้อย แต่ช่วงนี้ปัญหาเยอะมาก ยิ่งใช้อีกฝ่ายหนึ่งก็มีความโกรธเคืองแล้วก็ไปโทษกันต่าง ๆ นานา ซึ่งผมเคยบอกแล้วว่า รัฐบาลน่าจะจับเข่าคุยกับกลุ่มเยาวชนที่เห็นต่างในทุกวันนี้ เราก็จะได้แนวทางที่อยู่ร่วมกันระหว่างคนในวัยที่ต่างกัน ถ้าจะเริ่มติดกระดุมใหม่ที่ติดผิดเม็ด ก็โดยการที่ปรับกระบวนการในการดำเนินคดีของ 112 เสียใหม่ ให้เหมือนในอดีตที่ทำอย่างเป็นระบบระเบียบ ไม่กลั่นแกล้ง ไม่หาเรื่อง แล้วก็ปล่อยผู้ถูกกล่าวหาให้ได้รับการประกันและใช้กระบวนการยุติธรรมทางอาญาและดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญาไป และพูดคุยกับเด็ก ๆ จะได้เข้าใจตรงกัน เราจะอยู่ร่วมกันต้องมีกติกา กติกาอะไรที่มันยอมรับกันได้ทุกฝ่ายเป็นเรื่องสำคัญ

'อัษฎางค์' วิเคราะห์ปมยกเลิก ม.112 ยก 12 ข้อเท็จจริง หมดเวลาปั่นล้มล้างสถาบันฯ

เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 นายอัษฎางค์ ยมนาค นักประวัติศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า 12 ข้อ ม.112 หมดเวลาบิดเบือน

หมดเวลาปั่นราษฎร์ล้มล้างสถาบันฯ ด้วยการเรียกร้องให้ยกเลิก ม.112 เพื่อจะหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย ของพรรคเพื่อดูไบและก้าวไม่ไปไหนไกล

• 1 มาตรา 112 เป็นเครื่องมือในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งดำรงตำแหน่งประมุขแห่งรัฐ ไม่ใช่เครื่องมือในการกำจัดคู่ต่อสู้ทางการเมือง

• 2 กฎหมายคุ้มครองประมุขของรัฐนั้นไม่ได้มีเฉพาะประเทศไทย แต่มีใช้ในทุกประเทศ ทั้งที่ปกครองแบบราชอาณาจักรที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือปกครองแบบสาธารณรัฐ ที่มีประธานาธิบดี ก็ล้วนมีกฎหมายคุ้มครองประมุขของรัฐทั้งนั้น

• 3 โดยเฉพาะสถาบันพระมหาพระมหากษัตริย์ จะไม่สามารถไปดำเนินคดีกับใครได้ จึงต้องมีกฎหมายที่ไม่ให้ใครล่วงละเมิดสถาบันฯ

• 4 พระมหากษัตริย์อยู่เหนือการเมือง คือ พระองค์ท่านไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่นักการเมืองไปดึงท่านให้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ด้วยการให้ร้ายป้ายสี

• 5 ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ คนไทยหรือคนต่างด้าวไม่ว่ากระทำในหรือนอกราชอาณาจักรก็ต้องรับโทษ

• 6 จะยกเลิก ม.112 แล้วให้พระมหากษัตริย์ไปใช้กฎหมายหมิ่นประมาทเหมือนประชาชนทั่วไปไม่ได้ เนื่องจากพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐ ไม่ใช่บุคคลธรรมดา

“บิ๊กป้อม”  สั่งกรมประมงเร่งเยียวยาเรือประมงออกนอกระบบ เข้มข้นมุ่งความยั่งยืนแก้ปัญหา IUU อย่างเป็นระบบมากกว่าที่เป็นอยู่

พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นรม. ได้เรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติครั้งที่ 4 ณ ห้องประชุม 301 ทำเนียบรัฐบาล เพื่อติดตามขับเคลื่อนแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ( IUU ) และผลกระทบสภาพแวดล้อมทางทะเล 

ที่ประชุมรับทราบและติดตามขับเคลื่อนการแก้ปัญหาผลกระทบของการทำประมงต่อสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม และการแก้ปัญหานำเรือประมงออกนอกระบบ โดยเฉพาะการเยียวยา กลุ่มเรือประมงสีขาว (ไม่เคยทำผิดกฎหมาย ) จำนวน 75 ลำ วงเงินช่วยเหลือ  490.8 ล้านบาท 

รวมทั้งการดำเนินงานบังคับใช้กฎหมาย เพื่อแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายโดยเฉพาะ มาตรการเร่งรัดการดำเนินคดีตามกฏหมายว่าด้วยการประมง และการอุดหนุนประมง ( Fisheries subsidies ) ภายใต้องค์การการค้าโลก ( WTO ) ซึ่งเป็นการให้ความช่วยเหลือทางการเงินโดยรัฐ แก่ผู้ประกอบการ ธุรกิจ หรือ กลุ่มอุตสาหกรรม กับกลุ่มที่ทำประมงถูกกฎหมาย โดยร่วมกันกำหนดท่าทีการเจรจาของไทยที่เหมาะสมกับการอุดหนุนประมงดังกล่าว ต่อจากนั้นได้เห็นชอบ แต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายและคณะอนุกรรมการตรวจสอบและติดตามการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ในการแก้ไขปัญหาการทำประมงและแรงงานในภาคประมง เพื่อติดตามเร่งรัดแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายรวมทั้งความเดือดร้อนของผู้ปกครองการประมงในทุกภาคส่วน

ทั้งนี้พล.อ.ประวิตร ได้ย้ำนโยบายด้านการประมงของไทย มุ่งเน้นการสร้างความยั่งยืนแก่ภาคการประมง ทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปภาคการประมงโดยมีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการประมงภายใต้แผนบริหารจัดการประมงทะเลไทย โดยไม่สนับสนุนและต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย 

พรรคพลังประชารัฐ ปรับแผนส่งผู้สมัครชิงผู้ว่ากทม. โยน 3 ชื่อ 'บิ๊กเนม' ให้ 'บิ๊กป้อม' ตัดสินใจ

‘บิ๊กป้อม’ เรียกก๊วน ‘ธรรมนัส -วิรัช’ ถกด่วนเคลียร์ปมกดดัน ‘บิ๊กแป๊ะ’ จนถอนตัวชิงผู้ว่าฯ กทม. เผยชงแผนใหม่ตื้อหาผู้สมัครในนามพรรคส่งลงสนามสู้กับ ‘ชัชชาติ’ พร้อมโยนตัวเลือกใหม่ 3 ชื่อบิ๊กเนม ‘พีระพันธุ์ - ดร.เอ้-ผู้ว่าฯ หมูป่า’ ให้หัวหน้าตัดสินใจ

3 พ.ย. 64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 2 พ.ย. ที่ผ่านมา ภายหลังการประชุมพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ซึ่งมี ส.ส. และสมาชิกหลายคนได้เดินทางกลับไปหมดแล้ว เช่นเดียวกับขบวนรถของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร. ที่ได้ออกจากพรรคตั้งแต่เวลา 16.00 น. แต่หลังจากนั้นไม่นาน ปรากฏว่า ขบวนรถของ พล.อ.ประวิตร ได้กลับเข้ามาในพรรคอีกครั้ง พร้อมเรียกแกนนำ และ ส.ส. บางคน เข้าหารือ

สำหรับ ส.ส. ส่วนใหญ่ที่เข้าหารือเป็น ส.ส. ในกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และ เลขาธิการพรรค และ นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรค อาทิ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิพรรค, นายไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชร และรองเลขาธิการพรรค, นายสุชาติ อุตสาหะ ส.ส.เพชรบุรี, นายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ ส.ส.นราธิวาส, นายบุญสิงห์ วรินทรรักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายทะเบียนพรรค, นายจิรเดช ศรีวิราช ส.ส.พะเยา, นายณัฏฐพล จรัสรพีพงษ์ ส.ส.สุรินทร์, นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม และ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง โดยใช้เวลาในการหารือกว่า 1 ชั่วโมง

ข่าวแจ้งว่า สำหรับประเด็นที่ได้มีการหารือครั้งนี้ ได้พูดถึงการถอนตัวไม่ลงสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ของพล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา โดยมีการยืนยันกับ พล.อ.ประวิตร ว่า ไม่ได้มีการบีบหรือกดดัน พล.ต.อ.จักรทิพย์ แต่ได้มีการเสนอว่าสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ควรจะต้องส่งในนาม พปชร. เพราะ ส.ก. กับ ส.ส. ต้องเป็นเนื้อเดียวกัน ถือว่ามีบทบาทสำคัญในสนามเลือกตั้ง ส.ส. ด้วยเหมือนกับพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่มี ส.ก. ของพรรคเช่นเดียวกัน และถึงเวลาที่คัดสรรบุคคลลงแต่ละพื้นที่ได้แล้ว ส่วนผู้สมัคร ส.ก. 50 คน ในทีมของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ หลังจากที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ถอนตัวแล้ว ก็สามารถกลับมาร่วมงานกับ พปชร.ได้

อย่างไรก็ตามการส่ง ส.ก. ในนาม พปชร. ยังติดขัดข้อกฎหมายที่ห้ามมิให้ข้าราชการการเมือง หรือ ส.ส. ใช้ตำแหน่งหน้าที่ให้คุณให้โทษกับผู้สมัครหรือเลือกตั้งท้องถิ่น

เชิงรุก “กทม.” ตั้งจุดแจกชุดตรวจ “ATK” ให้ผู้มีแอป “เป๋าตัง” 

ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล น.ส.จงจิตต์  อาจวงษา นักสังคมสังเคราะห์  จากศูนย์บริการสาธารณสุข 24 บางเขน สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร นำเจ้าหน้าที่มาตั้งจุดแจกชุดตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท หรือ เอทีเค จำนวน 1,000 ชุด ระหว่างเวลา 09.00 - 12.00 น. มาแจกจ่ายให้กับประชาชนทั่วไป ที่มีแอพพลิเคชั่น “เป๋าตัง” โดยผู้ที่ประสงค์จะรับต้องทำการลงทะเบียนและทำแบบทดสอบประเมินความเสี่ยงการติดเชื้อโควิด-19 ผ่านแอพพ์เป๋าตัง และจะได้รับชุดตรวจเอทีเคคนละ 2 ชุด โดยได้รับความสนใจจากประชาชนและข้าราชการในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงทยอยมารับชุดตรวจ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top