‘ภูมิใจไทย’ ดัน นโยบายกัญชา สุดตัว ยกระดับจากสิ่งผิดกม. ให้เป็นพืชเศรษฐกิจ

ถึงจะโดนเรื่องโควิด-19 กลบ จนเรื่องกัญชา ต้องหายเงียบ แต่ในความเงียบ กลับมีความเคลื่อนไหว ที่สะท้อนความคืบหน้าในนโยบายกัญชา ซึ่งเป็นเดิมพันสำคัญของพรรค “ภูมิใจไทย”

รู้หรือไม่ ??? จากในอดีตที่กัญชา มีสถานะเป็น “สิ่งเสพติด” หากแม้นมีการครอบครอง ไปจนถึงนำมาใช้ ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดล้วน “ผิดกฎหมาย” เป็นผู้ร้ายตลอดกาล ปัจจุบัน ประเทศไทยคลายล็อกให้สามารถปลูกกัญชาได้อย่างถูกกฎหมายแล้ว กัญชากำลังค่อยๆ เปลี่ยนบทบาทให้กลายเป็น “พระเอก” มากยิ่งขึ้น จนไทยได้ชื่อว่ามีความก้าวหน้าในเรื่องการนำกัญชามาใช้ ที่ก้าวหน้าที่สุดในอาเซียน

รู้หรือไม่ ? วันนี้ ประชาชนสามารถเข้าถึงการปลูกกัญชาได้อย่างถูกกฎหมายแล้วกว่า 1.6 ล้านตารางเมตร

รู้หรือไม่ ? ในปี 2564 เพียงปีเดียวสินค้าที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม มีมูลค่าในตลาดสูงถึงกว่า 7 พันล้านบาท

รู้หรือไม่ ? ประเทศไทย มีคลินิกกัญชาแล้วใน 760 โรงพยาบาลทั่วประเทศ

รู้หรือไม่ ? มีประชาชนกว่า 7.6 หมื่นคน ใช้บริการคลินิกกัญชา เป็นทางออกในการรักษาโรค

เหล่านี้คือปรากฏการณ์ ที่เกิดขึ้นแล้ว ในประเทศไทย และเป็นเครื่องยืนยันความคืบหน้าของนโยบายกัญชาเสรี

เป็นผลจากการทุ่มกาย เทพลัง ตลอด 2 ปีเศษ ที่พรรคภูมิใจไทย “ต้อง” ผลักดันนโยบายกัญชาทางการแพทย์ให้ไปข้างหน้า เนื่องเพราะเป็นนโยบายสำคัญที่ทำให้พรรคโกยคะแนนเลือกตั้ง กระทั่งได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาล และหัวหน้าพรรคอย่างนายอนุทิน ชาญวีรกูล ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อผลักดันให้นโยบาย เกิดความเป็นรูปธรรม ตามแผนบันได 3 ขั้น เริ่มจากแก้กฎหมาย ให้กลายเป็นพืชสมุนไพร ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ไปจนถึงเป็นพืชเศรษฐกิจ แก้ปัญหาปากท้องประชาชน

ซึ่งการก้าวขึ้นบันไดแต่ละขั้นนั้น ไม่ใช่เรื่องหมู ต้องฝ่าฟัน “ความเชื่อ” จากสังคมไทย จำนวนไม่น้อย ที่ยังปฏิเสธกัญชา ขณะที่กฎเกณฑ์ระหว่างประเทศ ก็เป็นดั่งกำแพงที่ยากจะปีนข้าม มีเพียงการค่อยแก้กฎหมายทีละชั้นอย่างละเอียดรอบคอบที่สุด ถึงจะสามารถคลายล็อกกัญชาได้

ข้อเท็จจริงคือ ประเทศไทยอยู่ภายใต้อนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1961 แก้ไขโดยพิธีสาร ค.ศ. 1972 และอนุสัญญาว่าด้วยวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ค.ศ. 1971 ซึ่งอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับนี้ยินยอมให้ใช้กัญชาทางการแพทย์หรือวิทยาศาสตร์ได้ แต่รัฐบาลต้องคำนึงถึงความปลอดภัยต่อสุขภาพและการป้องกันการรั่วไหลไปยังตลาดมืด ซึ่งรัฐบาลต้องมีการข้อกำหนดที่ชัดเจนในการอนุญาตให้ผลิตปลูกหรือใช้กัญชาทางการแพทย์ที่จะต้องดำเนินการโดยมีระบบใบอนุญาต (Licensing System) เพื่อให้มั่นใจว่าตลาดกัญชาของรัฐนั้น ๆ จะไม่เกินความต้องการใช้ทางการแพทย์และทางวิทยาศาสตร์”

โดยมีคณะกรรมการการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศจะเป็นหน่วยงานที่เป็นกลไกกำกับดูแลการปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติของอนุสัญญาฯ ประเทศภาคีสมาชิกจะต้องรายงานให้ทราบเกี่ยวกับการดำเนินการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดและวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทที่ผิดกฎหมาย

นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้ประเทศไทย ต้องนำเรื่อง “การแพทย์” มานำร่องเรื่องกัญชา เป็นไฟต์บังคับ ที่นายอนุทิน ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขทราบดี ซึ่งนายอนุทิน ค่อย ๆ ขยับแก้กฎหมายไปทีละขยัก ผ่านอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เริ่มจากวันที่ 6 สิงหาคม ปี 2562 ได้ ลงนามระเบียบกระทรวงสาธารณสุข รับรองสถานะหมอพื้นบ้าน เปิดช่องให้หมอพื้นบ้านใช้กัญชา เป็นส่วนผสมในตำรับยา 

ขณะเดียวกัน ยังได้ผลักดันให้ “วิสาหกิจชุมชน” ทั่วประเทศ ปลูกกัญชา สำหรับส่งไปยังโรงพยาบาลสำหรับใช้ผลิตยา เพื่อเตรียมใช้ในคลินิกกัญชา ที่จะเกิดขึ้นในปีเดียวกัน พร้อมไปกับการปลดล็อกให้สารสกัดจากกัญชา ทั้ง THC และ CBD ไม่เป็นยาเสพติด ตามเงื่อนไขที่กำหนด เหล่านี้เกิดขึ้นเพื่อให้สามารถนำกัญชาไปในทางการแพทย์ได้ โดยมีเงื่อนไขน้อยที่สุด ขณะที่แหล่งผลิต ที่เกิดขึ้นจะกลายมาเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบในเชิงเศรษฐกิจด้วย

ซึ่งการเปลี่ยนร่างกัญชาจากพืชสมุนไพร สู่พืชเศรษฐกิจนั้น ต้องย้อนกลับไป ในวันที่ นายอนุทิน นำกระทรวงสาธารณสุขออกประกาศกระทรวง เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (ฉบับที่ 2) เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563 ให้บางส่วนของต้นกัญชาและกัญชงไม่จัดเป็นยาเสพติด

ส่วนต่าง ๆ ของกัญชาที่ไม่จัดเป็นยาเสพติด ได้แก่ เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน ราก ใบ ซึ่งไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย สารสกัด CBD ที่มี THC ไม่เกินร้อยละ 0.2% และกากที่เหลือจากการสกัดกัญชา ซึ่งต้องมี THC ไม่เกิน 0.2%

ประชาชน เอกชน สามารถใช้ประโยชน์จากส่วนเหล่านี้ได้ แต่มีข้อกำหนดว่าต้องได้มาจากสถานที่ปลูกหรือผลิตในประเทศ ซึ่งได้รับอนุญาตแล้วเท่านั้น

เมื่อสามารถนำส่วนต่าง ๆ ของกัญชามาใช้ประโยชน์ได้ทั่วไปแล้ว จึงเห็นร้านค้าจำนวนมาก นำวัตถุดิบจากกัญชามาใช้เพิ่มมูลค่าในผลิตภัณฑ์ ทั้งอาหาร เครื่องดื่ม และเครื่องสำอาง สร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการเป็นจำนวนมหาศาล จนกัญชาได้ชื่อว่าเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจสำหรับคนไทยจำนวนไม่น้อย จากที่กัญชาต้องหลบเร้นอยู่ในมุมมืด การแก้กฎหมายที่ผ่านมา ทำให้เราได้มีโอกาสทานบราวนี่กัญชา ชาที่ทำมาจากกัญชา ข้าวผัดกัญชา พิซซ่ากัญชา ไปจนถึงใช้เครื่องสำอาง ที่มามีส่วนผสมของกัญชาประกอบอยู่

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การใช้กัญชา มีความกว้างขวางมากยิ่งขึ้น การคลายล็อกกฎหมาย ยังต้องดำเนินต่อไป และเรื่องจากนี้ จะไม่ใช่เพียงอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากหากจะดำเนินการคลายล็อกให้มากกว่านี้ เพื่อการถือกำเนิดสู่ความเป็นรูปธรรมของนโยบาย 6 ต้น นี่คืองานระดับเมกะโปรเจกต์ ที่ต้องอาศัยอำนาจนิติบัญญัติช่วย ผ่านทางการขับเคลื่อนของ “พรรคภูมิใจไทย”

โดยพรรคภูมิใจไทย ได้ยื่นร่างกฎหมายยาเสพติดให้โทษแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ .. โดยเฉพาะเรื่องการปลูกกัญชาเสรี, ร่างกฎหมายสถาบันพืชยาเสพติดแห่งประเทศไทย ซึ่งแก้ไขให้อนุญาตบุคคลธรรมดาสัญชาติไทยให้ปลูกเพื่อบริโภคส่วนบุคคลเพื่อรักษาทางการแพทย์ได้ไม่เกิน 6 ต้นต่อครอบครัว, ร่างกฎหมายสถาบันพืชยาเสพติดแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นหน่วยงานของรัฐในการวิจัย ควบคุม อนุญาตและแปรรูป เพื่อเศรษฐกิจของประเทศ

โดยร่างกฎหมายดังกล่าว เป็นการปรับให้การใช้กัญชานั้นเปิดกว้าง แต่ก็สอดคล้องกับเงื่อนไขขององค์การควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ โดยเฉพาะ การผลักดันให้มีการตั้งสถาบันพืชยาเสพติดแห่งประเทศไทย ที่จะทำหน้าที่เก็บรวบรวมข้อมูลการปลูก และการใช้กัญชา ซึ่งจะต้องเป็นการใช้ทางการแพทย์ เพื่อแจ้งต่อคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ (INCB) แว่วมาว่า หลังเปิดสภา พรรคภูมิใจไทยจะกระทุ้งเพื่อนสมาชิกในสภา ให้เร่งพิจารณากฎหมายเหล่านี้

สำหรับพรรคภูมิใจไทยนั้น จุดแข็งของพรรคคือ การได้ชื่อว่าเป็นพรรคปฏิบัติการ พูดจริง ทำจริง ซึ่งเป็นนิยามโดย รศ.สุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดี ม.รามคำแหง ณ ปัจจุบันนี้ นักวิชาการคนดัง ก็ยังเคยให้ความเห็นว่า นโยบายกัญชาของพรรคภูมิใจไทย อยู่ในระดับที่เรียกว่าทำได้สำเร็จ และสามารถใช้ความสำเร็จนี้ไปต่อยอดนโยบายกัญชาภาค 2 ในการหาเสียงสำหรับการเลือกตั้งต่อไปได้

นักวิชาการคนดังมิได้พูดเกินจริง เพราะหากเรามามองตัวเลขความคืบหน้าของนโยบายกัญชาเสรี ก็ต้องยกสถิติ ดังต่อไปนี้มาปิดท้าย

วันนี้ ประชาชนสามารถเข้าถึงการปลูกกัญชาได้อย่างถูกกฎหมายแล้วกว่า 1.6 ล้านตารางเมตร

ในปี 2564 เพียงปีเดียวสินค้าที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม มีมูลค่าในตลาดสูงถึงกว่า 7 พันล้านบาท

ประเทศไทย มีคลินิกกัญชาแล้วใน 760 โรงพยาบาลทั่วประเทศ

มีประชาชนกว่า 7.6 หมื่นคน ใช้บริการคลินิกกัญชา เป็นทางออกในการรักษาโรค

นี่คือผลงานของนโยบายกัญชาเสรี ภายใต้การเดินหน้าของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย พรรคสายปฏิบัติการ ของประเทศไทย


ที่มา : https://mgronline.com/politics/detail/9640000109261