Monday, 2 December 2024
POLITICS NEWS

‘อดิศร’ แจงปม ‘เพื่อไทย’ ถอยแก้ไข รธน. ปมมาตรฐานจริยธรรม ชี้!! ต้องรับฟังทุกฝ่าย และประโยชน์ไม่ได้ตกอยู่ที่ ‘ประชาชน’

(25 ก.ย. 67) ที่รัฐสภา นายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราเกี่ยวข้องกับมาตรฐานจริยธรรมนักการเมือง ว่า เมื่อวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา ที่ประชุม สส.ของพรรคเพื่อไทยมีการพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องจริยธรรม เพราะทำเพื่อพวกพ้องของตนเอง การแก้ไขจริยธรรมเป็นเรื่องที่เปราะบางอ่อนไหว ตนคิดว่าพรรคเพื่อไทยต้องรับฟังความเห็นของประชาชนและพรรคร่วมรัฐบาล จึงคิดว่าหลังจากนี้พรรคเพื่อไทยจะถอยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มองว่าไม่ได้เป็นมาตรการเร่งด่วน แต่การแก้ไขมรดกบาปจากการรัฐประหารจึงคิดว่าจะต้องแก้ไขทั้งฉบับโดยตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ขึ้นมายกร่างทั้งฉบับ ตอนนี้พรรคเพื่อไทยถอยก่อนเพื่อดำเนินการตามนโยบายเศรษฐกิจที่เร่งด่วน เช่น การแก้ไขเรื่องน้ำท่วม เรื่องปากท้อง และเรื่องยาเสพติดในชุมชน 

“อยากให้เข้าใจว่ารัฐบาลโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยฟังพรรคแกนนำ โดยเรื่องนี้ก็ริเริ่มโดยพรรคแกนนำเอง แต่เมื่อได้รับฟังความเห็นสาธารณะคิดว่าการแก้ไขเรื่องจริยธรรมเป็นเรื่องที่ผลประโยชน์ไม่ได้ตกอยู่ที่ประชาชน พรรคเพื่อไทยจึงรับฟังความเห็นดังกล่าว” นายอดิศร กล่าว

เมื่อถามว่า เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับจริยธรรมจะถอยเลยหรือชะลอไว้ก่อน นายอดิศร กล่าวว่า "ตอนแรกเราคิดว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะคิดเหมือนกัน แต่เมื่อได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไม่ว่าจะจากพรรคภูมิใจไทยหรือพรรครวมไทยสร้างชาติ ก็ต้องให้เกียรติกัน"

เมื่อถามว่า ไม่เสียหน้าใช่หรือไม่? นายอดิศร กล่าวว่า "เรื่องรัฐธรรมนูญไม่มีการเสียหน้า"

เมื่อถามว่า สรุปแล้วพรรคเพื่อไทยไม่ใช่เสนอเป็นพรรคแรกใช่หรือไม่? นายอดิศร กล่าวว่า "เราต้องฟังความคิดเห็นทุกพรรค ไม่อยากบอกว่าใครเป็นผู้ริเริ่มเพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน มีบางคนบอกว่าเรื่องการตรวจสอบจะไปกลัวทำไม ซึ่งตนเห็นด้วยในส่วนที่หากจะเข้ามารับตำแหน่งทางการเมืองแล้ว ต้องมีการตรวจสอบ เพราะการเมืองต้องการคนที่ไม่มีภาระ และสิ่งที่ขัดต่อคุณสมบัติ ฉะนั้น จึงควรชะลอเรื่องนี้ไว้ก่อนและรอแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพราะหลังจากนี้จะต้องมีการทำประชามติ หากแก้ไขเป็นบางมาตราจะเสียเงินงบประมาณมากขึ้นโดยที่ไม่จำเป็น"

เมื่อถามย้ำว่า การแก้ไขรายมาตราเราจะไม่ทำแล้ว รอทำทั้งฉบับเลยใช่หรือไม นายอดิศร กล่าวว่า "ต้องฟังเสียงประชาชน เพราะเรื่องจริยธรรมต้องมีความเห็น 2 ฝ่าย อีกฝ่ายหนึ่งว่าเป็นการลงมติเพียงเสียงข้างมาก 1 คนก็ทำให้เปลี่ยนแปลงได้ แต่จะมีการเปลี่ยนเป็น 2 ใน 3 แต่ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจไปขัดกับความรู้สึกของคนบางกลุ่ม ก็ต้องรับฟัง แม้จะไม่แก้เรื่องจริยธรรมก็สามารถบริหารราชการแผ่นดินได้" 

เมื่อถามว่า เรื่องจริยธรรมที่บอกว่ามีพรรคร่วมรัฐบาลอื่นเป็นคนริเริ่ม พอจะเปิดเผยได้หรือไม่? นายอดิศร กล่าวว่า "ต้องไปถามนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แต่ก็ไม่เป็นอะไรเรื่องรัฐธรรมนูญก็รอไว้ก่อน ส่วนเรื่องน้ำท่วม ปากท้องประชาชนน่าจะสำคัญกว่า"

'วิปรัฐบาล' เตรียมคุยพรรคร่วมฯ จ่อถอนร่างแก้ รธน.รายมาตรา ยัน!! หากเพื่อนไม่เอาด้วย พร้อมถอย ตามวิถีประชาธิปไตย

(25 ก.ย. 67) นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการเจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์ ว่าวันนี้ (25 ก.ย.) จะหารือกับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ต่อการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ รายมาตรา ที่ขณะนี้พบว่าพรรคร่วมรัฐบาลไม่สนับสนุนการแก้ไขรายมาตราในประเด็นตัดส่วนที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานจริยธรรม 

ทั้งนี้ยอมรับว่าพรรคเพื่อไทยได้ยื่นร่างแก้ไขดังกล่าวต่อรัฐสภาแล้ว แต่คงหมวดจริยธรรมไว้ ให้มีอยู่เหมือนเดิม ขณะที่ประเด็นความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ยังคงมีเช่นเดิม แต่กำหนดกรอบปฏิบัติให้ชัดเจน ไม่ใช่แก้ไขเพื่อเป็นข้อหลีกเลี่ยง อย่างไรก็ดีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยยังอยู่ระหว่างตรวจสอบของรัฐสภา และยังไม่ถูกบรรจุวาระ

“หากเพื่อนไม่เอาด้วย เราต้องไปด้วยกัน ถอยได้ก็ถอย ไม่ใช่เรื่องลำบากใจอะไร เป็นวิถีทางตามระบอบประชาธิปไตย เพราะพรรคเพื่อไทยแค่เสนอยังไม่บรรจุ จะถอนออกมาก็ได้ หรือบรรจุแล้วคาไว้ก็ได้ ทั้งนี้ผมยอมรับผิด เพราะเป็นความต้องการที่จะเสนอร่างรัฐธรรมนูญประกบกับฝ่ายค้านที่เตรียมเสนอเช่นกัน” นายวิสุทธิ์ กล่าว

เมื่อถามถึงข้อเสนอแก้จริยธรรมมีข้อเสนอจากหัวหน้าพรรคใหญ่ นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า ข้อเท็จจริง พรรคประชาชนมาคุยกับตนก่อน ว่ามีแนวคิดแก้ประมวลจริยธรรมออกทั้งหมด ทำให้ตนไปปรึกษากับสส.ในพรรค ว่าเขาขอมาแบบนี้จะเอาด้วยหรือไม่ โดยสส.ในพรรคมองว่ากระแสสังคมอาจไม่ยอมรับหากตัดทั้งหมด เราจึงเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประกบ และกำหนดว่าไม่ได้ตัดประมวลจริยธรรม และก่อนเสนอได้ถามผู้ใหญ่ในพรรค ว่าทำได้หรือไม่ ซึ่งนายภูมิธรรมม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.กลาโหม ฐานะผู้ใหญ่ในพรรค บอกว่ามีหลายพรรคบอกมาว่าควรแก้แบบนั้นแบบนี้ ซึ่งตนถือวิสาสะไปเอง โดยไม่ได้ฟังรายละเอียดทั้งหมด ซึ่งตนอาจฟังแล้วแปลความหมายผิด ไม่ได้ถามว่าหัวหน้าพรรคคนไหนที่พูดในวันที่เข้าเฝ้าฯ เมื่อได้รับสัญญาณจึงรีบทำ 

นายวิสุทธิ์ กล่าวย้ำว่า ตามขั้นตอนของการเสนอร่างกฎหมาย หากฝ่ายค้านเสนอแล้ว แต่ไม่มีฉบับประกบ จะทำให้มีร่างกฎหมายเฉพาะฝ่ายค้าน บางเรื่องเขาทำมาเป็นเชิงบวกกับเขาจะมัดเราเต็มที่ ดังนั้นการยื่นจึงเป็นการเสนอร่างกฎหมายประกบ โดยยืนยันว่าไม่ตัดประมวลจริยธรรม

เมื่อถามว่าการถอยครั้งนี้ทางการเมืองเสียหายหรือไม่ นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า “อย่าคิดว่าเสียหาย หากไม่ถูกต้อง ไม่ถูกใจ ไม่ถูกเวลา ถอยกันได้ ผมยอมรับผิดเพียงผู้เดียวว่าตัดสินใจไวไป ฟังผู้ใหญ่แต่ไม่ได้ฟังรายละเอียดข้อเท็จจริง ทั้งนี้ยืนยันว่าไม่ตัดหมวดจริยธรรมเลย หากจะด่ามาด่าที่ผม ผมรับได้”

‘อัครเดช’ ย้ำ!! ‘รวมไทยสร้างชาติ’ ไม่แก้ รธน. ปมมาตรฐานจริยธรรม ชี้!! นักการเมือง ควร ‘ซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส ไร้ประวัติด่างพร้อย’

(24 ก.ย. 67) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดราชบุรี เขต 4 พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้เปิดเผยภายหลังการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรครวมไทยสร้างชาติ ว่า…

การประชุมพรรครวมไทยสร้างชาติในครั้งนี้นำโดยนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ และนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ โดยมีรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของพรรคร่วมประชุมกันอย่างพร้อมเพรียง 

สำหรับประเด็นสำคัญที่มีการหารือในการประชุมพรรครวมไทยสร้างชาติในวันนี้ที่สำคัญคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานทางจริยธรรมของนักการเมือง ซึ่งบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 

ในที่ประชุมได้มีการหารือในประเด็นนี้อย่างกว้างขวาง จนสามารถสรุปเป็นมติของพรรครวมไทยสร้างชาติได้ว่า ‘มาตรฐานทางจริยธรรมของนักการเมือง’ ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมีความเหมาะสมแล้ว เพื่อให้ได้นักการเมืองที่มีความซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส ไร้ประวัติด่างพร้อย 

ดังนั้นพรรครวมไทยสร้างชาติจึงมีมติไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข ‘มาตรฐานทางจริยธรรมของนักการเมือง’ ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ยังได้แจ้งต่อที่ประชุมอีกว่าในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในส่วนของ ‘มาตรฐานทางจริยธรรมของนักการเมือง’ นั้นไม่เคยมีการหยิบยกขึ้นมาหารือในระดับหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลมาก่อนแต่อย่างใด

ด้อมส้มยังส่ายหัว หลัง 'พรรคประชาชน' ตั้งแม่ทัพคุมพื้นที่ดีกรีน่าห่วง พบ!! อดีตคนขายเบียร์ไม่เสียภาษี คุมตะวันออก ส่วน 'โตโต้' คุม กทม.

กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักมากเลยทีเดียว เมื่อเพจ ‘วันนี้พรรคส้มโกหกอะไร’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า “ทุกคนคะ ผบ.โตโต้ อดีตหัวหน้าการ์ดวีโว่ ที่ทีมงานก่อม็อบป่วนเมือง บุกชิงตัวประกัน เผาทรัพย์สินราชการ จุดพลุรบกวนชาวบ้าน ได้รับความไว้วางใจจากพรรคส้ม ผงาดคุม กรุงเทพฯ และปริมณฑล”

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 22 ก.ย.ที่ผ่านมา พรรคประชาชนจัดงานสัมมนาภายในระหว่างแกนนำพรรค สส. พนักงานพรรค และฝ่ายเครือข่าย เพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับผลการทำงานที่ผ่านมา ถอดบทเรียนจากเสียงสะท้อนของผู้สนับสนุนพรรค วิเคราะห์สถานการณ์การเมืองปัจจุบัน และร่วมกันกำหนดทิศทางการเดินหน้าทำงานต่อไปของพรรค 

นอกจากนี้ ยังได้มีการปรับทัพแกนนำบริหารพรรคชุดใหม่ จัดเต็มรองหัวหน้าพรรค 7 คน ซึ่งก็มีดาวเด่นตามที่คาดกันไว้ ทั้ง ‘ศิริกัญญา-โรม-วิโรจน์-ปกรณ์วุฒิ-วาโย’ นั่งรองหัวหน้าพรรค ขณะที่รองเลขาธิการพรรค มีการตั้ง ‘โตโต้ ปิยรัฐ’ คุมงานใน กทม.และปริมณฑล

ซึ่งประเด็นที่ทำให้คนวิจารณ์กันหนัก ก็เพราะว่าวันที่ 25-27 กันยายนนี้ศาลอาญา นัดสืบพยานคดี นายปิยรัฐ จงเทพ หรือ โตโต้ สส.กทม.พรรคประชาชน ในฐานะอดีตแกนนำการ์ดวีโว่ กระทำความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฐานโพสต์ข้อความวิจารณ์ตำรวจ กรณีเข้าสลายกิจกรรมขายกุ้งที่สนามหลวง เมื่อ 31 ธันวาคม ปี 63 พาดพิงการใช้ภาษีของสถาบันพระมหากษัตริย์ แถมยังมีอีกหนึ่งคดี ที่จ่อคอหอยถูกศาลตัดสิน ในวันที่ 11 ตุลาคมนี้ด้วย

และไม่ใช่แค่การแต่งตั้งโตโต้เท่านั้น ที่ทำเอาตกใจกันทั่วบ้านทั่วเมือง เพราะล่าสุด เพจวันนี้พรรคส้มโกหกอะไร เช็กลิสต์ข้อมูลแบบลงรายละเอียด ก็พบข้อมูลที่น่าตกใจ โดยทางเพจระบุว่า “ทุกคนคะ ภาคตะวันออก ก็ไม่รอดค่ะ พรรคส้มไม่มีใครดีกว่านี้แล้วหรือคะ โย พงศธร คือคนที่เคยมีข่าวโพสต์ขายเบียร์ คนที่ไม่เสียภาษี และคนที่เคยถูกแจ้งคดีความยักยอก ที่หนูเคยแฉไว้

เท่านั้นยังไม่พอ ทางเพจยังลงข้อมูลเพิ่มเติมอีกคนหนึ่งด้วยว่า “ทุกคนคะ เช็กคนไหน โดนคนนั้น อันนี้หนักสุด เป็น สส.สอบตก แต่เป็นแกนนำม็อบ เลยได้ดูแลภาคกลาง หรือว่า ป้าเจี๊ยบคอนถม สิ้นฤทธิ์แล้วคะ โดยบุคคลดังกล่าวคือ หนุ่ม เจษฎา เอี่ยมปุ่น อดีตผู้สมัคร สส.กาญจนบุรี เขต 3 พรรคก้าวไกล ซึ่งทางเพจยังได้นำภาพของนายเจษฎา ที่เคยเป็นแกนนำม็อบมาโพสต์ด้วย พร้อมแคปชันสั้น ๆ ว่า “สภาพตัวแทนภาคกลาง”

หลังโพสต์นี้ถูกเผยแพร่ออกไป มีชาวเน็ตเข้ามาคอมเมนต์กันสนั่นโซเชียลเลยทีเดียว เช่น
-หมดตัวเล่นละ ติดคุก กับ โดนตัดสิทธิ์ เกือบหมด เหลือแต่ตัวแถม
-อันนี้จัดทัพบริหารพรรค หรือบริหารม็อบ
-สภาพ แต่ละคน
-ก็ดีแล้ว เอาคนพวกนี้มานำ ชาวบ้านจะได้เห็นอะไรชัดๆ
-คุมตัวเองให้ได้ก่อน ค่อยมาคุมคนอื่น
-เหมือนเอาคนไม่สำคัญที่พร้อมตัดทิ้ง ออกมาเป็นระเบิดพลีชีพ ต้องวางแผนทำไรไม่ดีอีกแน่ เพลียใจ
-ระบบอุปถัมภ์ไงครับ ต่างตอบแทน

ขอนแก่น - รับสมัคร 'นายกอบจ.ขอนแก่น' วันแรกคึกคัก 'แชมป์เก่า' ปะทะ 'อดีต สส.พปชร.' 

เปิดรับสมัครชิงเก้าอี้นายก อบจ.ขอนแก่น วันแรก พงษ์ศักดิ์ 'แชมป์เก่าหลายสมัย' จับได้หมายเลข 2 ขณะที่ ประธานสโมสรขอนแก่น ยูไนเต็ด เดินทางมาสมัคร จับได้หมายเลข 1 

เมื่อวานนี้ เวลา 08.30 น. (23 ก.ย.67) ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดขอนแก่นได้รายงาน วันแรกของการเปิดรับสมัคร ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ.ขอนแก่น ที่ หอประชุม องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น ว่าที่ร้อยเอก พงเจตน์ พรกุณา ปลัด อบจ.ขอนแก่น ในฐานะ ผอ.กกต. อบจ.ขอนแก่น เป็นประธานในการรับสมัคร โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ สมาชิกสภาองค์การ บริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น ตลอดจนกองเชียร์ของทั้งสองฝ่าย ร่วมมาให้กำลังใจว่าที่ผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น ทั้งสองคน กันอย่างคับคั่ง

ผู้สื่อข่าวรายงาน ด้วยว่า 'ดร.พงษ์ศักดิ์ ตั้งวานิชกพงษ์' อดีตแชมป์เก่า ลงรักษาเก้าอี้ ขณะที่ 'นายวัฒนา ช่างเหลา' อดีต สส.ขอนแก่นลงชิงเก้าอี้ ซึ่งการเปิดรับสมัครชิงเก้าอี้นายก อบจ.ขอนแก่น วันแรกคึกคัก ดร.พงษ์ศักดิ์ แชมป์เก่า นายกอบจ.ขอนแก่น หลายสมัย  จับได้หมายเลข2 ขณะที่ นายวัฒนา ช่างเหลา ประธานสโมสรขอนแก่น ยูไนเต็ด เดินทางมาสมัคร จับได้หมายเลข 1 

สำหรับการเปิดรับสมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ.ขอนแก่น ในครั้งนี้ เกิดขึ้นภายบหลังการตัดสินใจยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น (อบจ.ขอนแก่น) ของ 'ดร.พงษ์ศักดิ์ ตั้งวานิชกพงษ์' นายก อบจ.ขอนแก่น เมื่อวันศุกร์ที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา ส่งผลทำให้ตำแหน่งนายก อบจ.ขอนแก่น เป็นอันว่างลง และ รองนายก อบจ.ขอนแก่น ต้องพ้นจากตำแหน่งตามไปด้วย

การเปิดรับสมัครเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น กรณีแทนตำแหน่งที่ว่าง ระหว่างวันที่ 23 – 27 ก.ย.2567 เริ่มตั้งแต่เวลา 08.30 – 16.30 น. และจะทำการเลือกตั้งนายกฯ อบจ.ขอนแก่น ในวันที่ 3 พ.ย. 2567 ที่จะถึงนี้

ต่อจากนั้นในเวลา 10.00 น.ที่ ห้องประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น นายพันธ์เทพ เสาโกศล รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วย นายวัชระ สีสาง ผู้อำนวยการคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดขอนแก่น และว่าที่ร้อยเอก พงเจตน์ พรกุณา ปลัด อบจ.ขอนแก่น ในฐานะ ผอ.กกต. อบจ.ขอนแก่น ดำเนินการประชุมเตรียมการเลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น แทนตำแหน่งที่ว่างลง หลังจากที่ นายพงษ์ศักดิ์ ตั้งวานิชกพงษ์ ลาออกจากตำแหน่งก่อนหมดวาระ 3 เดือน โดยเป็นการประชุมลับห้ามสื่อมวลชนและบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องร่วมรับฟัง

ซึ่งแหล่งข่าว เปิดเผยว่าในปี 2563 ได้มีการเลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น เนื่องจากครบวาระ ซึ่งมีผู้สมัครจำนวน 10 คน ในครั้งนั้น ดร.พงษ์ศักดิ์ ตั้งวานิชกพงษ์ อดีตนายก อบจ.ขอนแก่น  สามารถชนะการเลือกตั้ง ได้เป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น สมัยที่ 6 โดยได้คะแนนถึง 376,460 คะแนน ทิ้งห่างคู่แข่ง กว่าแสนคะแนน ซึ่งในครั้งนั้น สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด(ส. อบจ.) ทั้ง 42 เขต เป็นคนของบ้านใหญ่ และเป็นคนหน้าใหม่เข้ามายึดครอง

ตัวชี้วัด ในการที่จะเป็นผู้ชนะนั่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น นั่นคือ จำนวนเสียงสนับสนุนของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น และมีข้อสงสัย ต่อกรณีที่ นายวัฒนา ช่างเหลา เลขานุการ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายทรงศักดิ์ ทองศรี พรรคภูมิใจไทย 

ซึ่งมีบิดาคือ นายเอกราช ช่างเหลา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดขอนแก่น เขต 4 พรรคภูมิใจไทย ซึ่งจะต้องขึ้นฟังคำพิพากษาของศาล ตามรายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่26 มีนาคม 2567 กำหนดให้จำเลยคือนายเอกราช ช่างเหลา นำหลักทรัพย์มูลค่า130 ล้านบาท มาวางประกันหรือนำเงินจำนวน 100 ล้านบาท ชำระค่าเสียหายให้กับสหกรณ์ฯ 

ภายในสิ้นเดือนกรกฎาคม 2567 ปรากฏว่าบุคคลลลดังกล่าวไม่ได้ดำเนินการ ศาลจังหวัดขอนแก่น นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 7 ตุลาคม เวลา 14.39 น. ที่ได้มาเปลี่ยนสวมเสื้อพรรคเพื่อไทย ในการประกาศตัวครั้งล่าสุด ซึ่งก็สร้างความงุนงง เพราะในเขตที่ 4 จังหวัดขอนแก่น เป็นพื้นที่ของนางมุกดา พงษ์พงศ์สมบัติ อดีต สส.พรรคเพื่อไทย 

ซึ่งพ่ายแพ้ให้กับนายเอกราช ช่างเหลา ซึ่งสวมเสื้อพรรคภูมิใจไทย เมื่อครั้งเลือกตั้งที่ผ่านมา

'สว.พันธุ์ใหม่' ยัน!! ไม่ได้บูลลี่ 'สว.ขายหมู' นั่ง กมธ.พัฒนาการเมืองฯ แค่แนะ!! ควรได้คนตรงความรู้-ความสามารถ และควรไปอยู่ในกมธ.อื่น

(24 ก.ย.67) ที่รัฐสภา น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว.พันธุ์ใหม่ กล่าวถึงที่มีชื่ออยู่ในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษา การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา ว่า ชื่ออยู่ในกมธ.นั้น มีผู้สมัคร 18 คนพอดีจึงไม่การโหวตออก แต่สำหรับกมธ.พัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชน สิทธิ เสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา มีผู้สมัครเกินจึงมีการโหวตออก

เมื่อถามว่าในกมธ.การอุดมศึกษาฯ จะเสนอตัวเองเป็นประธานหรือไม่? น.ส.นันทนา กล่าวว่า "คงเสนอตามสิทธิ์ เพราะเราถือว่ามีความรู้ความสามารถตรง และมีประสบการณ์ตรงในเรื่องการศึกษา โดยส่วนตัวคิดว่าเรื่องการศึกษากำลังเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ ถ้าไม่มีการปฏิรูปการศึกษาประเทศไทยจะไม่สามารถแข่งขันกับประชาคมโลกได้ ฉะนั้น เรื่องปฏิรูปการศึกษาจึงเป็นพันธกิจสำคัญที่คิดว่าจะผลักดันให้ได้ในช่วงดำรงตำแหน่ง"

เมื่อถามถึงกรณีที่เมื่อวันที่ 23 ก.ย.67 น.ส.นันทนา มีการระบุว่า ได้คนขายหมูได้เป็น กมธ.พัฒนาการเมืองฯ คนมองว่าเป็นการบูลลี่และด้อยค่า? น.ส.นันทนา กล่าวว่า "เมื่อวานที่ให้สัมภาษณ์ไปจะอธิบายชัดเจนว่า กมธ.ต่าง ๆ ที่บรรจุอยู่ อย่างแรกควรจะเลือกสรรตามคุณลักษณะกลุ่มวิชาชีพที่แต่ละคนเข้ามา ซึ่งสว.แตกต่างจากฝั่งสส.เพราะมาจากกลุ่มอาชีพ 20 กลุ่ม ฉะนั้นควรพิจารณาตามกลุ่มอาชีพที่เข้ามา นอกจากนี้เมื่อวานมีการระบุว่ากลุ่มพัฒนาการเมือง คนที่ควรจะเข้ามาอยู่ในกมธ.ชุดนี้ ควรจะมีประสบการณ์ในเรื่องการทำงานด้านการเมือง สิทธิมนุษยชน และการสื่อสารทางการเมือง ซึ่งคนที่มีคุณลักษณะที่แตกต่างเราไม่ได้ด้อยค่า แต่เขาควรไปอยู่ในกมธ.อื่น ที่สอดคล้องกับวิชาชีพ จึงไม่อยากให้ตีความไปว่า การที่บอกว่าทำไมกมธ.พัฒนาการเมืองฯ ที่ตนมีประสบการณ์ถูกโดนโหวตออก แต่คนที่ไม่มีประสบการณ์ตรงคือเข้ามาสายอาชีพอื่น กลับได้เข้ามาอยู่ตรงนี้ ไม่ใช่เป็นการบูลลี่ ถ้าฟังทั้งหมดจะทราบว่าสิ่งที่อธิบายคือกมธ.ทุกคนควรจะได้รับการบรรจุเข้าไปในสายอาชีพที่ตัวเองเป็นสว.ในกลุ่มนั้น"

น.ส.นันทนา กล่าวย้ำว่า "ถ้าผิดฝาผิดตัวตั้งแต่ต้น โอกาสที่จะผลักดันวาระจนประสบความสำเร็จก็จะเป็นไปได้น้อยหรือแทบไม่มีเลย เราจึงเรียกร้องว่า การเอาสว. เข้ากมธ.แบบตรงคุณสมบัติจะเป็นสิ่งที่ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด"

เมื่อถามว่าจำเป็นต้องขอโทษสังคมที่พูดแรงไปหรือไม่? น.ส.นันทนา กล่าวว่า "ถ้าฟังการสัมภาษณ์ทั้งหมดจะเข้าใจบริบท ตนยกตัวอย่างเพื่อที่จะบอกว่า การจัดสรรแบบนี้ไม่เป็นธรรม ตนไม่ได้มีเจตนาบูลลี่ รวมถึงด้อยค่าใด ๆ นี่คือตัวอย่างของบุคลากรที่เข้ามาไม่ตรงความรู้ความสามารถ"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่ น.ส.นันทนา ให้สัมภาษณ์อยู่ ปรากฏว่า นางแดง กองมา สว.ที่ถูกพาดพิงว่าเป็นแม่ค้าขายหมู ที่ได้เป็นกรรมาธิการ เดินผ่านมาพอดี โดยเข้าไปลงชื่อเข้าประชุมหน้า กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ ซึ่งสื่อมวลชนได้เข้าไปทักทายและขอสัมภาษณ์ แต่นางแดงไม่ตอบกลับ ได้แต่ออกอาการยิ้มเจื่อน ๆ ก่อนเข้าห้องประชุมไปทันที

'อนุทิน' ยัน!! จุดยืนพรรคไม่แก้ 'รธน.' ปมมาตรฐานจริยธรรม ลั่น!! ตรวจสอบไม่ได้ ก็ 'เล่นการเมือง-เป็นรัฐมนตรี' ไม่ได้

(24 ก.ย. 67) ที่ทำเนียบนายอนุทิน​ ชาญ​วี​รกูล​ รองนายก​รัฐมนตรี​และ​รัฐมนตรี​ว่าการ​กระทรวง​มหาดไทย​ ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงกรณีท่าทีของพรรคภูมิใจไทยในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ​รายมาตรา​ โดยเฉพาะเรื่องการแก้ไขมาตรฐานจริยธรรม​ หลังจากที่นายภราดร​ ​ปริศนา​นันทกุล​ รองสภาผู้แทนราษฎร​คนที่​ 2 ออกมาแถลงไม่เห็นด้วย ว่า​ คนการเมืองเป็นคนสาธารณะ​ ถ้าไม่อยากให้ตรวจสอบก็เล่นการเมืองไม่ได้ การเข้ามาการเมืองไม่จำเป็นต้องเป็นรัฐมนตรี แค่เป็นที่ปรึกษา เป็นเลขานุการ หรือรับตำแหน่งใด ๆ ทางการเมือง กรรมการรัฐวิสาหกิจ ก็ต้องแจ้งทรัพย์สินแล้ว นั่นคือบทแรกของการตรวจสอบ

“ผมคิดว่าคนที่มาทำงานสาธารณรับใช้บ้านเมือง ใช้อำนาจรัฐในการบริหารราชการแผ่นดิน​ ก็ต้องรับการตรวจสอบ เป็นการเช็ก and Balance ถ้าเราไม่ได้ทำอะไรผิดก็ไม่ต้องกลัวการตรวจสอบ นักร้องมีอยู่ทั่วไป เขาก็ร้องได้ ในสิ่งที่เราทำผิดถ้าเราไม่ได้ทำผิด พิสูจน์อย่างไรก็ไม่ผิด เขาก็มีความเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดี หรือถูกฟ้องร้อง ทุกอย่างอยู่ที่ตัวเราเองมากกว่า”

ส่วนจะเป็นจุดยืนของพรรคหรือไม่นายอนุทินกล่าวว่า มันไม่ใช่จุดยืน แต่มันเป็นวิถีชีวิต​ (Day of Life)​ เช่น “ถ้าไม่อยากตรวจสอบก็ให้ทำธุรกิจอยู่ที่บ้าน เสียภาษีตามที่จะต้องเสีย ก็ไม่มีใครสามารถมาบอกให้แสดงทรัพย์​สินบริษัทได้ยกเว้นทำผิด”

ซึ่งนายภราดร ก็แถลงในนามพรรค ก็แถลงไปแล้วก่อนไปรับตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งก็เห็นแล้วว่า ยังไม่ได้ทันทำอะไรก็มีคนจ้องจะร้องแล้ว ผิดรัฐธรรมนูญหรือไม่​ ถ้าผิดให้ไปดูโทษ​ เรื่องการตัดสิทธิ์​ ต้องมีคนไปยืนยันตรงนี้ก่อน

“ผมคิดว่ารัฐบาล ไม่รู้นะ​ ผมมั่นใจไปคุยกับนายกฯแพทองธาร​ ชินวัตร ท่านก็ไม่ได้ซีเรียสเรื่องเหล่านี้​ ท่านบอกว่าถ้าทำดีซะอย่างจะไปกลัวอะไร​ ทำในสิ่งที่ถูกต้องก็พร้อมที่จะถูกตรวจสอบ เช่นขณะนี้เข้ามาทำงานไม่ถึง 2 สัปดาห์ก็เห็นปัญหาต่างๆ เยอะแยะมากมาย มีเรื่องอะไรเยอะแยะที่รัฐบาลจะต้องทำ ที่ทำให้เกิดประโยชน์กับประชาชน เพราะอะไรที่ทำแล้วเป็นการเอื้อตัวเอง เพื่อพวกพ้องมันผิดตั้งแต่ นับหนึ่งแล้ว”

ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลในการหารือ ถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้วหรือไม่ กล่าวว่า​ ยังไม่ได้รับการนัดหมาย​ พร้อมยืนยันว่าการแถลงของนายภราดร ถือเป็นการแถลงของพรรค ก่อนจะย้อนถามสื่อมวลชนว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องเบอร์ 1​ หรือไม่​ เรื่องเบอร์ 1 คือเรื่องเชียงราย เชียงใหม่ หนองคาย ลำปางและจังหวัดอื่น  ๆ ในพื้นที่ภาคเหนือที่ถูกน้ำท่วม ตรงนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดมากกว่า

เมื่อถามต่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องจริยธรรมประชาชนมองว่าเป็นการเอื้อเพื่อนักการเมือง นายอนุทินกล่าวว่า อย่าให้ไปถึงจุดนั้นสิ การแก้ไขรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้อยู่แล้ว ทำเพื่อประเทศและประชาชน มันเขียนว่าอย่างชัดเจนอยู่แล้ว

ถามถึงจุดยืนในเรื่องของเรื่องการผลักดันพ.ร.บ.นิรโทษกรรม​ ในเรื่องมาตรา​ 112 นายอนุทิน กล่าว​ พูดมาตั้งนานแล้วไม่เห็นด้วย ไม่อยากพูดซ้ำๆ​

'พรรคส้ม' ถาม "ควรส่งผู้สมัครชิงเก้าอี้นายกอบจ.หรือไม่?" เสียงแตก!! โอกาสชนะน้อยมาก VS ควรทำให้เต็มที่ดีที่สุด

(24 ก.ย. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในโลกโซเชียลกำลังมีประเด็นร้อนแรง และเป็นที่จับตาของกลุ่มการเมืองท้องถิ่นหลายฝ่าย หลังในเพจเฟซบุ๊กของพรรคประชาชนสุโขทัย ได้มีการโพสต์ข้อความเชิญชวนชาวจังหวัดสุโขทัย ร่วมแสดงความคิดเห็น ว่าพรรคประชาชนควรส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุโขทัย ในนามพรรคประชาชนหรือไม่ พร้อมเหตุผลประกอบ

ทำให้มีผู้คนเข้ามาแสดงความคิดเห็นหลากหลาย แต่ส่วนใหญ่ก็สนับสนุนให้พรรคประชาชนส่งตัวแทนลงสมัครชิงชัย โดยให้เหตุผลว่า ควรทำให้เต็มที่ดีที่สุด ชนะหรือไม่ไม่เป็นไร แต่ถ้าไม่เริ่มก็ไม่มีทางเปลี่ยนแปลง ถ้าส่งลงเลือกแน่นอน แต่ถ้าไม่ส่งก็ไม่รู้จะเลือกใคร เบื่อการเมืองแบบเดิม และบ้างก็ว่าอยากให้ช่วยกันรณรงค์ให้คนที่ทำงานต่างจังหวัดกลับมาเลือกตั้ง คะแนนเสียงในกลุ่มวัยทำงานมีอยู่มาก

ขณะที่บางความเห็นบอกว่า ถ้าจะส่งลงสนามนี้ คิดว่าโอกาสชนะน้อยมาก ถ้าจะให้มีลุ้นก็ต้องจับมือกับกลุ่มการเมืองอีกฝ่าย และบางคนก็ว่าไม่น่าส่งลงแข่ง เพราะชุดที่ผ่านมาทำไว้ดีมาก ทั้งถนนลาดยาง ไฟฟ้า ตอนนี้สว่างทั่วทุกตำบล มีผลงานเป็นที่ประจักษ์

อย่างไรก็ตาม พรรคประชาชนจังหวัดสุโขทัย ระบุว่า ได้เสนอต่อกรรมการบริหารพรรคประชาชนเป็นกรณีเร่งด่วน เพื่อให้พิจารณาส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายก อบจ.สุโขทัย และยืนยันมีความพร้อมในทุกด้าน รวมทั้งได้ร่างนโยบาย 3 เสาหลัก ประกอบด้วย ด้านบริหารจัดการน้ำ น้ำสะอาด ภัยแล้ง น้ำท่วม, ด้านสวัสดิการ จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน และด้านเศรษฐกิจ เพื่อปากท้องประชาชน ซึ่งจะแก้ปัญหาให้ตรงกับความต้องการ และมีแกนนำอาสาสมัครที่ครอบคลุมทั้ง 9 อำเภอ เพื่อแนะนำนโยบายต่อประชาชน

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ก่อนหน้านี้ทางพรรคประชาชนจังหวัดสุโขทัย ยังได้มีประกาศเรื่องการแอบอ้างเป็นว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.สุโขทัย ในนามพรรคประชาชน จึงแจ้งเตือนอย่าได้หลงเชื่อ เพราะทางพรรคยังไม่ได้มีการประกาศรับรองแต่อย่างใด ทำให้เป็นที่จับตาและน่าสนใจว่า ในที่สุดแล้วใครจะเป็นตัวจริงที่จะลงชิงเก้าอี้นายก อบจ.สุโขทัย ในนามพรรคประชาชนครั้งนี้

'อ.อุ๋ย-ปชป.' เตือน!! นักการเมืองแก้ รธน. ปมจริยธรรม มีความผิดประมวลกฎหมายอาญา โทษจำคุกถึง 10 ปี

เมื่อวานนี้ (22 ก.ย. 67) นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย หรืออาจารย์อุ๋ย นักวิชาการด้านกฎหมายและอดีตผู้สมัคร สส. กรุงเทพมหานคร เขตบางกะปิ พรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กเกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญปมจริยธรรมนักการเมือง ว่า...

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 บัญญัติว่า ‘ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด เข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น เนื่องด้วยกิจการนั้น ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท’ ซึ่งมาตรา 4 แห่ง พรป. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่ง พ.ศ. 2561 กำหนดให้ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ว่าจะเป็น สส. รัฐมนตรี หรือ สว. ถือเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ โดยเฉพาะ สส. มีหน้าที่ในการเป็นตัวแทนปวงชนชาวไทย ใช้อำนาจนิติบัญญัติออกกฎหมายเพื่อบริหารและแก้ไขปัญหาบ้านเมือง เพื่อประโยชน์สุขของพี่น้องประชาชน ตามที่กำหนดไว้รัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ดังนั้น การที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองบางส่วน มีดำริที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องจริยธรรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดระดับมาตรฐานทางจริยธรรมลง ทำให้ตนเองและพวกพ้องถูกดำเนินคดีทางจริยธรรมได้ยากขึ้น จึงถือว่าเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ของตนในการแก้ไขกฎหมาย ทำการแก้ไขกฎหมายเพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง เป็นการกระทำอันเป็นผลประโยชน์ขัดกัน (Conflict of Interest) มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 ต้องระวางโทษจำคุกสูงสุดถึง 10 ปี และปรับสูงสุดถึงสองแสนบาท 

นอกจากนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องจริยธรรม เพื่อลดมาตรฐานจริยธรรมลง ยังส่งผลให้ประชาชนสูญเสียโอกาสที่จะได้มีนักการเมืองที่มีจริยธรรมมาเป็นตัวแทนของตน ทำให้ประชาชนเสียหาย จึงเป็นความผิดฐานเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามมาตรา 157 อีกสถานหนึ่ง ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกสูงสุดถึง 10 ปี หรือปรับสูงสุดถึงสองแสนบาท 

ยิ่งไปกว่านั้น ข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ พ.ศ. 2563 ยังกำหนดให้สมาชิกต้องปฏิบัติหน้าที่โดยยึดประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสิ่งสูงสุด และห้ามกระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม การที่นักการเมืองจะทำการแก้ไขกฎหมายเพื่อผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องจึงถือว่าละเมิดจริยธรรมข้อนี้เช่นกัน 

ผมจึงอยากเตือนนักการเมืองทั้งหลาย ว่าคิดให้ดีว่าประชาชนเลือกท่านมาทำอะไรกันแน่ ด้วยความปรารถนาดี  

‘ธนกร’ ลั่น!! ไม่รวม ‘ม.112’ ในร่างนิรโทษกรรม ย้ำ!! จะทำละเมิดสถาบันไม่ได้ ชี้!! เป็นความมั่นคงของประเทศ แต่หากสภาฯ พิจารณาขัด รธน. ก็ต้องมีผู้รับผิดชอบ

(22 ก.ย. 67) นายธนกร วังบุญคงชนะ  อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร เตรียมเสนอรายงานต่อที่ประชุมสภาฯ ในวันที่ 26 ก.ย.นี้ ซึ่งให้สภาร่วมกันพิจารณาในความเห็นต่างเรื่องคดีมาตรา 112 จะรวมอยู่ในการนิรโทษกรรมหรือไม่ ซึ่งทราบว่าในคณะกมธ.เองไม่สามารถหาข้อสรุป จึงให้สมาชิก กมธ.แต่ละคน บันทึกความเห็นไว้ในรายงานแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 1.ไม่รวม มาตรา112 เพราะไม่ใช่แรงจูงใจทางการเมือง 2.รวม อย่างมีเงื่อนไข และ3.รวมโดยไม่มีเงื่อนไข   โดยส่วนตัว ได้ยืนยันมาตลอด ว่าไม่เห็นด้วยและคัดค้านถึงที่สุด ไม่สมควรรวมคดีความผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้ได้รับการนิรโทษกรรม เพราะไม่ใช่แรงจูงใจทางการเมือง เพราะรัฐธรรมนูญระบุชัดเจน ในมาตรา 6 พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐ เป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระนามพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้  และสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่เกี่ยวข้องการเมือง  หากจะนิรโทษกรรมให้ก็เสี่ยงที่จะขัดต่อรัฐธรรมนูญ 

ทั้งนี้ จากคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคก้าวไกล เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2567 ก็ชี้ชัดแล้วว่า มีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครอง ซึ่งเป็นการ รณรงค์หาเสียง รวมถึงการยื่นแก้ไขมาตรา 112  ซึ่งเมื่อมองเทียบเคียงกับ ผู้ที่กระทำความผิดตามมาตราดังกล่าว ยิ่งมีน้ำหนักรุนแรงกว่าพรรคก้าวไกลเสียด้วยซ้ำ  ดังนั้นในการประชุมสภาเรื่องนี้ ตนจะขอใช้เอกสิทธิ์สส. เลือกข้อ1. ไม่รวมมาตรา 112  ซึ่งเห็นด้วยที่จะมีการนิรโทษกรรมคดีการเมืองที่ไม่มีความรุนแรงหรือถึงแก่ชีวิต รวมทั้งไม่รวมคดีทุจริตคอรัปชั่นด้วย แต่ควรจะมีเงื่อนไขในการพิจารณาการนิรโทษกรรมอย่างละเอียดรอบคอบ  เชื่อว่าสภาเองก็ต้องมีการพิจารณาอย่างรัดกุม ไม่ทำให้เกิดการขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญเสียเอง

“ยกคดียุบพรรคก้าวไกลมาเทียบ ก็ทำให้เห็นได้ชัดเจน ว่าศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยอย่างละเอียดว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง หากจะนิรโทษกรรมให้ผู้มีความผิดตามมาตรา 112 สภาต้องคิดให้ดีและรอบคอบ ส่วนตัวขอคัดค้านและไม่เห็นด้วยที่จะรวมมาตรานี้ให้ได้รับนิรโทษกรรม เพราะไม่เกี่ยวข้องกับแรงจูงใจทางการเมือง แต่หากที่ประชุมสภาในวันที่ 26ก.ย.มีการพิจารณาออกมาอย่างไร หากขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญก็ควรจะต้องมีผู้รับผิดชอบ” นายธนกร กล่าวทิ้งท้าย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top