Monday, 20 May 2024
NEWS

หลังคณะรัฐมนตรีมีมติออกมาตรการ 'เราชนะ' เพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 โดยจะมอบให้กับกลุ่มบุคคล 3 กลุ่ม จำนวนทั้งสิ้น 7,000 บาท เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา กลุ่มบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รับเงินเป็นกลุ่มแรก 5 กุมภาพันธ์

ทั้งนี้ จะมีการกำหนดช่วงเวลาในการรับเงิน โดยจำแนกเป็นแต่ละกลุ่มบุคคล ดังนี้

กลุ่มที่ 1 บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

- รับโอนเงินครั้งแรก (จำนวน 675 บาท หรือ 700 บาท): วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564

- รับโอนครั้งต่อไป (ทุกวันศุกร์) : วันที่ 12, 19, 26 กุมภาพันธ์ 2564 และ 5, 12, 19, 26 มีนาคม 2564

กลุ่มที่ 2 เป๋าตัง

- ตรวจสอบสถานะ: วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564

- กดยืนยันสิทธิ์ พร้อมรับเงินครั้งแรก (จำนวน 2,000 บาท) : วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564

- รับโอนเงินครั้งถัดไป (จำนวน 1,000 บาท ทุกวันพฤหัสบดี) วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 และ 4, 11, 18, 25 มีนาคม 2564

กลุ่มที่ 3 เราชนะ (กลุ่มไม่ได้อยู่ในฐานข้อมูล)

- รับสมัครลงทะเบียน: วันที่ 29 มกราคม 2564

- ตรวจสอบสถานะ: วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564

- ปิดรับลงทะเบียน: วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564

รับโอนเงินครั้งแรก (จำนวน 2,000 บาท) : วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564

- รับโอนเงินครั้งถัดไป (จำนวน 1,000 บาท ทุกวันพฤหัสบดี) วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 และ 4, 11, 18, 25 มีนาคม 2564

เครือข่ายลดบริโภคเค็ม และสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย เผยผลวิจัยล่าสุด พบพฤติกรรมคนไทยบริโภคโซเดียม (เกลือ) เกิน 2 เท่า "ภาคใต้" ครองแชมป์กินเค็ม

สะเทือนไตคนไทยทั้งประเทศ เมื่อเครือข่ายลดบริโภคเค็ม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย เผยผลงานวิจัยล่าสุด ที่ได้รับการพิมพ์ในวารสาร Journal of Clinical Hypertension โดยความร่วมมือกับองค์การอนามัยโลก (WHO) ตีแผ่พฤติกรรมคนไทยบริโภคโซเดียม (เกลือ) เฉลี่ยสูงที่สุดในภาคใต้, ภาคกลาง, ภาคเหนือ, กรุงเทพมหานครและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

โดยค่าปริมาณการบริโภคโซเดียมเฉลี่ยประชาชนไทยเท่ากับ 3,636 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเท่ากับเกลือถึง 1.8 ช้อนชา ด้านองค์การอนามัยโลกระบุ จากผลการศึกษานี้ทำให้ต้องตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มความพยายามในการลดปริมาณการบริโภคโซเดียมในประชากรไทยให้มากขึ้น โดยเฉพาะเด็กไทยที่บริโภคเกลือมากเกินไป

รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็มและนายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะลดปริมาณการบริโภคโซเดียมลงให้ได้ร้อยละ 30 ภายในปี พ.ศ. 2568 เพื่อลดโรคความดันโลหิตสูง และภาวะแทรกซ้อน แต่เนื่องจากข้อมูลการบริโภคโซเดียมในประชากรไทยนั้นมีจำกัด จึงทำให้เกิดงานวิจัย ชื่อ Estimated dietary sodium intake in Thailand: A nation-wide population survey with 24-hour urine collections (J Clin Hypertens. 2021;00:1–11.)

โดยงานวิจัยชิ้นนี้ได้รับความร่วมมือกันระหว่างเครือข่ายลดบริโภคเค็ม สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะสาธารณสุขในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และองค์การอนามัยโลก(WHO) ได้นำไปตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Clinical Hypertension โดยเก็บข้อมูลการบริโภคโซเดียมในประชากรไทยทั่วประเทศกว่า 2,388 คน ด้วยวิธีการตรวจเก็บปัสสาวะ 24 ชั่วโมง นำมาวิเคราะห์ปริมาณโซเดียมทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งเป็นวิธีการที่น่าเชื่อถือและแม่นยำที่สุดในขณะนี้

ตัวเลขที่ได้จากห้องปฏิบัติการจะถูกคำนวณรวมกับปริมาณโซเดียมที่ขับออกทางอื่นนอกเหนือจากปัสสาวะอีกร้อยละ 10 โดยงานวิจัยชิ้นนี้ มีกลุ่มตัวอย่างอาสาสมัครที่ได้เก็บข้อมูลได้อย่างครบถ้วนและผ่านเกณฑ์การเข้าร่วมวิจัยทั้งหมด 1,599 คน โดยมีอายุเฉลี่ย 43 ปี เป็นเพศหญิงร้อยละ 53 และมีภาวะความดันโลหิตสูงกว่าเกณฑ์ร้อยละ 30 โดยค่าปริมาณการบริโภคโซเดียมเฉลี่ยประชาชนไทยเท่ากับ 3,636 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเท่ากับเกลือถึง 1.8 ช้อนชา

ซึ่งผลการวิจัยพบปริมาณการบริโภคโซเดียมเฉลี่ยสูงที่สุดในประชากรภาคใต้จำนวน 4,108 มก./วัน, ภาคกลาง จำนวน 3,760 มก./วัน, ภาคเหนือ จำนวน 3,563 มก./วัน, กรุงเทพมหานคร จำนวน 3,496 มก./วันง แบะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 3,316 มก./วัน ตามลำดับ

รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า ทางทีมวิจัยยังพบว่าผู้ที่มีระดับการศึกษาสูง น้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ปกติ และคนที่มีความดันโลหิตสูง มีการบริโภคโซเดียมมากกว่ากลุ่มอื่นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยสรุปแล้ว คนไทยบริโภคโซเดียมเกินเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกแนะนำถึงเกือบ 2 เท่า (องค์การอนามัยโลกแนะนำให้บริโภคโซเดียมไม่เกินวันละ 2,000 มิลลิกรัม) การศึกษานี้เป็นการศึกษาแรกในประเทศไทยที่ใช้วิธีสำรวจมาตรฐานอย่างเป็นระบบ จึงเป็นประโยชน์มากต่อการเปรียบเทียบข้อมูลการบริโภคโซเดียมของคนไทยในอนาคต

ด้าน นพ.แดเนียล เคอร์เทสซ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวเสริมว่า “งานวิจัยฉบับนี้ใช้วิธีการเก็บข้อมูลที่เป็นมาตรฐานระดับสูงสุด ซึ่งชี้ให้เห็นว่าประชาชนไทยบริโภคโซเดียมเกินปริมาณที่ควรบริโภคต่อวันถึงเกือบ 2 เท่า ผลการศึกษานี้ทำให้ตระหนักถึงความจำเป็นที่เราจะต้องเพิ่มความพยายามในการลดปริมาณการบริโภคโซเดียมในประชากรไทยให้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้หลายพันคน จากโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไต และโรคเรื้อรังต่าง ๆ และยังจะช่วยลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจได้อีกด้วย”

ส่วน พญ.ดร.เรณู การ์ก เจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์ (โรคไม่ติดต่อ) สำนักงานผู้แทนองค์อนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากคือ เด็กไทยบริโภคเกลือมากเกินไป โดยเฉลี่ยเด็กไทยบริโภคโซเดียมมากถึง 3,194 มก. ต่อวัน ซึ่งเป็นระดับการบริโภคที่สูงเกินกว่าเกณฑ์แนะนำสำหรับกลุ่มเด็กมาก ยิ่งกว่านั้นปริมาณโซเดียมที่เด็กไทยบริโภคถือว่าอยู่ในระดับที่สูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในโลก ซึ่งทำให้เยาวชนตกอยู่ในความเสี่ยงที่อาจจะมีภาวะความดันโลหิตสูง และโรคไตเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ดังนั้น เราต้องเร่งดำเนินมาตรการเพื่อลดการบริโภคโซเดียมทั้งในผู้ใหญ่ และเด็ก

เจ้าหน้าที่ WHO ยังแนะนำว่า ให้บริโภคโซเดียมไม่ควรเกิน 1 ช้อนชา หรือคิดเป็นปริมาณโซเดียม 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน แต่ปัจจุบันคนไทยบริโภคเกินกว่า 2 เท่า หากรัฐบาลผลักดันนโยบายเก็บภาษีผลิตภัณฑ์อาหารที่มีโซเดียมสูงเกินมาตรฐาน โดยเก็บภาษีผลิตภัณฑ์บรรจุหีบห่อ และผลักดันให้ผู้ผลิตอาหารปรับรูปแบบอาหารบรรจุหีบห่อให้มีโซเดียมน้อยลง จะช่วยปกป้องสุขภาพของประชาชน และลดความเสี่ยง NCDs จากการบริโภคโซเดียมมากเกินความพอดีได้สำเร็จ

ด่วน! ประธานสภาผู้แทนราษฎร "ชวน หลีกภัย" ยื่นคำร้อง ศาลรัฐธรรมนูญ สั่ง "สิระ เจนจาคะ" หยุดปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งให้วินิจฉัยว่า ขาดคุณสมบัติเป็น ส.ส. ตามที่ ส.ส.ฝ่ายค้าน ยื่นคำร้องมาหรือไม่

นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ทำหนังสือแจ้งต่อ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะ ประธานกรรมาธิการ ป.ป.ช. สภาผู้แทนราษฎร โดยระบุว่า ขณะนี้ได้มีการยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ หยุดปฏิบัติหน้าที่

รวมทั้งให้วินิจฉัยว่า นายสิระนั้น ได้ขาดคุณสมบัติ การเป็น ส.ส. ตามที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ และ สมาชิกสภาผู้แทนราาฎร ในปีกฝ่ายค้านกว่าร้อยคน ได้ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 15 มกราคม ที่ผ่านมา หรือไม่ อีกด้วย

 

จากสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในอากาศเกินมาตรฐานตั้งแต่ปลายปี 2563 จนถึงตอนนี้นับวันทวีความรุนแรงต่อสุขภาพของคนกรุงมากขึ้นเรื่อย ๆ

จนกลายเป็นปัญหาระดับประเทศ หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ยังคงหามาตรการในการลดปริมาณฝุ่น

เช่นเดียวกับแนวคิดที่น่าสนใจในการสร้างนวัตกรรมสีเขียวเพื่อต่อกรกับวายร้าย PM 2.5 คือ Project sky garden โครงการที่ริเริ่มโดยคนไทย คุณณภัทร ศรีกายกุลจากบริษัทเอิร์ธ คราฟต์ ทีเอช ได้ไอเดียมาจากประเทศเยอรมนี ที่ใช้มอสติดตั้งกับพัดลม ทำให้อากาศไหลเวียนและทำให้ฝุ่นลดน้อยลง

และนี่เองจึงจุดประกายให้เกิดการร่วมกันสร้างเครื่องมือดักจับฝุ่นหรือ "ไบโอฟิลเตอร์" โดยมีพระเอกคือ "มอส" ที่สามารถดักจับฝุ่นได้

ทำไม "มอส" พืชจิ๋วแต่ประโยชน์แจ๋วดักจบฝุ่นได้

เนื่องจาก "มอส" จะสร้างสารเคลือบผิวขึ้นมากักเก็บน้ำและความชุ่มชื้น ตัวสารเคลือบผิวนี้เองที่จะเป็นเหมือนกาวดักจับฝุ่นร้ายในอากาศแล้วย่อยสลายมันให้กลายเป็นปุ๋ย ทีมวิจัยจึงนำมอสมาทดลองในห้องปิดพร้อมติดตั้งระบบลม แล้วปล่อยควันและมลพิษต่าง ๆ เข้าไป พบว่า มอสทำให้ปริมาณฝุ่นค่อย ๆ ลดน้อยลงจนกระทั่งหมดไปในที่สุด

นอกจากแนวคิดนี้จะช่วยกำจัดฝุ่นร้ายให้หมดไปได้แล้ว หากแนวคิดนี้มีการพัฒนาให้มอสสามารถเติบโตในไทยได้ ที่ไม่เพียงฟอกอากาศให้สะอาด แต่ยังสร้างอาชีพให้กับคนไทยให้มีรายได้ด้วยเช่นกัน


ที่มา: เพจ PTT News / สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

รมช.พาณิชย์ ‘วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล’ สั่งสถาบัน ITD เตรียมความพร้อมนักลงทุนไทย ลุยต่างประเทศหลังโควิด-19 จบลง โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตรซึ่งไทยมีจุดแข็งและมีความพร้อมในการสร้างรายได้กลับเข้าประเทศมากที่สุด

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าได้สั่งการให้ สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ ไอทีดี เร่งหาแนวทางในการส่งเสริมทักษะความรู้และถ่ายทอดประสบการณ์ในการลงทุนในต่างประเทศให้แก่นักลงทุนไทย เพื่อให้พร้อมก้าวสู่ตลาดต่างประเทศได้อย่างมั่นใจ หลังสถานการณ์โควิด 19 คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น

ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจที่สำคัญ จากอุตสาหกรรมที่เน้นการใช้แรงงานเข้มข้นไปสู่อุตสาหกรรมที่เน้นการใช้ทักษะแรงงาน และเทคโนโลยี รวมทั้งการก้าวไปสู่การให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจภาคบริการ กดดันให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่เน้นการใช้แรงงานเข้มข้นจำเป็นต้องปรับตัวโดยการออกไปลงทุนต่างประเทศ

ซึ่งเมื่อพิจารณาจากความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศแล้วพบว่า ประเทศไทยถือเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปอันดับต้น ๆ ของโลก ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมเกษตรของไทยมีทักษะความรู้และประสบการณ์ในการประกอบการธุรกิจแปรรูปสินค้าเกษตร ให้สามารถแข่งขันได้จนเป็นผู้นำในตลาดโลก เป็นเจ้าของเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการประยุกต์ใช้ในประเทศกำลังพัฒนา ทั้งเทคโนโลยีการผลิตและการแปรรูปสินค้าเกษตรซึ่งเป็นที่ต้องการของประเทศกำลังพัฒนา

มีนโยบายพัฒนาภาคการเกษตรเพื่อความมั่นคงทางอาหารและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ประสบการณ์และความชำนาญของผู้ประกอบการไทยจึงเป็นที่ต้องการของประเทศเพื่อนบ้านที่กำลังพัฒนาภาคการผลิตและมีนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจ

แม้เงื่อนไขและปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ สนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยออกไปลงทุนต่างประเทศ แต่การลงทุนต่างประเทศต้องอาศัยพร้อมในหลายมิติ ทั้งด้านเงินทุนและบุคลากร รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐต้องมีนโยบายและมาตรการสนับสนุน ทั้งด้านการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินและการให้แรงจูงใจด้านภาษี เพื่อผู้ประกอบการไทยซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กให้สามารถแข่งขันในตลาดการลงทุนต่างประเทศได้

ทั้งนี้ ปัจจัยพื้นฐานสำคัญของการออกไปลงทุนต่างประเทศ คือ “ทักษะความรู้และเครือข่าย” ที่ผู้ประกอบการต้องเตรียมความพร้อม ความรู้และทักษะที่จำเป็นต่อการออกไปลงทุนสามารถเรียนลัดได้โดยการถ่ายทอดจากผู้มีประสบการณ์ที่ผ่านสนามจริงจนสามารถสร้างกิจการในต่างประเทศให้เติบโตยืนหยัดมาได้

ประสบการณ์เหล่านี้ต้องครอบคลุมทั้งมิติด้านการปฏิบัติตามกฎหมายในต่างประเทศ ทั้งกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายแรงงาน กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ความเข้าใจเรื่องการแสวงหาแหล่งเงินทุนและการบริหารเงินทุนเพื่อผลตอบแทนการลงทุนที่เหมาะสม ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยน

ต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการตลาดในยุคดิจิทัลซึ่งสามารถใช้เป็นช่องทางในการเจาะตลาดในต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งต้องเข้าใจการใช้ประโยชน์จากความตกลงด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศเพื่อสร้างได้เปรียบและแต้มต่อทางการลงทุน

"ดังนั้น ผมจึงสั่งให้สถาบัน ไอทีดี จัดการอบรมทักษะการลงทุนในต่างประเทศขึ้น เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ ประสบการณ์การลงทุน และสอนทักษะที่จำเป็นในการลงทุนในแต่ละประเทศ โดยให้เน้นผู้ประกอบการในกลุ่มเกษตร อุตสาหกรรมเกษตร ท่องเที่ยว และยานยนต์ ซึ่งคาดว่าผู้ประกอบการจะได้เห็นและเข้าใจถึงคุณลักษณะของการเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ เพื่อสร้างทัศนคติและทักษะที่เหมาะสม เกิดแรงบันดาลใจที่จะเป็นผู้ประกอบการ ตลอดจนสามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือสำหรับเริ่มต้นทำธุรกิจในต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ" นายวีรศักดิ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ซึ่งได้ระบาดอยู่หลายพื้นที่ในประเทศไทย แม้ว่าสถานการณ์จะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ยังมีโอกาสที่จะพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นได้อีก ซึ่งรัฐบาลได้ขอความร่วมมือให้ทุกหน่วยงานกำหนดมาตรการในการควบคุม ป้องกัน และเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น สถาบันไอทีดีอาจจะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดกิจกรรมมาเป็นการจัดฝึกอบรมในรูปแบบออนไลน์ โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ การเรียนรู้ผ่านระบบ Online Real-time Course โดยใช้โปรแกรม Zoom, Google Meet หรือ Microsoft Team เป็นต้น และการจัดทำวีดีโอคลิปเนื้อหาองค์ความรู้เพื่อเป็นสื่อประกอบการอบรมในรูปแบบสื่อผสม เพื่อให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้เห็นภาพที่กว้างขึ้น และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง

"ในการอบรมนั้นจะมีการติดตามผลการให้คำปรึกษาและการตรวจสอบความเข้าใจของผู้เข้าอบรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การอบรมเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และนำไปพัฒนาต่อยอดในการสร้างผู้ประกอบการ ทั้งนี้สามารถติดตามการจัดอบรมเรื่องดังกล่าวได้ที่ www.itd.or.th" นายวีรศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

รมว.แรงงาน ส่งผู้ช่วยฯ ลงพื้นที่จังหวัดชลบุรี ตรวจคัดกรองโควิด-19 เชิงรุกในสถานประกอบกิจการพื้นที่เสี่ยง บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หาเชื้อโควิด -19 เข้าสู่กระบวนการรักษาตามขั้นตอนของกระทรวงสาธารณสุขได้อย่างรวดเร็ว

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่เสี่ยงในจังหวัดชลบุรี เพื่อดำเนินการตรวจคัดกรองโควิด-19 เชิงรุกในสถานประกอบกิจการ แก่ลูกจ้างผู้ประกันตน ม.33 ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดไปยังแหล่งชุมชน หรือสถานที่ทำงาน หรือสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญๆ รวมไปถึงร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ร้านบริการต่างๆ

อีกทั้งเป็นการแบ่งเบาภาระงานของกระทรวงสาธารณสุขในการติดตาม สอบสวนโรค ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน นักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการ ลูกจ้าง ธุรกิจการท่องเที่ยว และการโรงแรม รวมถึงประชาชนทั่วไป มีความมั่นใจในการเดินทางเข้ามาพื้นที่ในจังหวัดชลบุรีได้อย่างปลอดภัยและปราศจากการติดเชื้อโควิด-19 เพราะมีมาตรการตรวจคัดกรองโควิด-19 ในทุกมิติ

ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า รัฐบาล ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และกระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้มีความห่วงใยพี่น้องแรงงานและประชาชนทุกกลุ่มได้มีการสั่งการและดำเนินการตามมาตรการมาอย่างต่อเนื่อง จึงได้มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานบูรณาการกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ทำงานเชิงรุก เพื่อเป็นการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวให้มีการจำกัดอยู่ในพื้นที่ไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในวงกว้าง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อม ตลอดจนสุขภาวะของประชาชนทั่วประเทศ

ในวันนี้ท่านสุชาติ ชมกลิ่น ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน บุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงแรงงานทุกคน จึงได้มอบหมายให้ผมลงพื้นที่ชลบุรีเพื่อตรวจเยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่ด่านคัดกรองโควิด – 19 ที่เสียสละเวลาในการปฏิบัติงานดูแลความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน พร้อมมอบสิ่งของอำนวยความสะดวกและอุปกรณ์สนับสนุนกิจกรรมป้องกันโควิด – 19 ซึ่งท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ให้การสนับสนุนมาโดยตลอด ตั้งแต่การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด – 19 ครั้งที่ผ่านมา โดยตรวจเยี่ยมในครั้งนี้ พบว่า ทุกหน่วยงานมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันเป็นอย่างดี

การตรวจคัดกรองโควิด-19 เชิงรุกในวันนี้ ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากผู้ประกอบกิจการ เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านค้า และโรงงานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอศรีราชา และอำเภอเมือง ทั้งนี้ เป็นการบูรณาการงานร่วมกันระหว่างสำนักงานประกันสังคมจังหวัดชลบุรี และโรงพยาบาลในเครือข่ายประกันสังคม อาทิเช่น โรงพยาบาลพญาไท และโรงพยาบาลวิภาราม ในการเข้าตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 เชิงรุกให้แก่ผู้ประกันตน ม. 33 ประมาณ 800 คน

รองโฆษกรัฐบาล ประกาศแล้ว โครงการเราชนะ เริ่มลงทะเบียน 29 ม.ค. นี้ ใช้ซื้ออาหาร สินค้า และจ่ายค่าแท็กซี่ รถตู้ มอเตอร์ไซค์รับจ้างได้ ตั้งแต่ 18 ก.พ. – 31 พ.ค. 64

รองโฆษกรัฐบาล ประกาศแล้ว โครงการเราชนะ เริ่มลงทะเบียน 29 ม.ค. นี้ ใช้ซื้ออาหาร สินค้า และจ่ายค่าแท็กซี่ รถตู้ มอเตอร์ไซค์รับจ้างได้ ตั้งแต่ 18 ก.พ.–31 พ.ค.64

รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกรัฐบาล ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวประกาศเกี่ยวกับโครงการเราชนะ มีข้อความว่า

โครงการเราชนะ เริ่มลงทะเบียน 29 ม.ค.นี้

ใช้ซื้ออาหาร สินค้า และจ่ายค่าแท็กซี่ รถตู้ มอเตอร์ไซค์รับจ้างได้ ตั้งแต่ 18 ก.พ.–31 พ.ค.64

ส่วนร้านค้า แท็กซี่ รถตู้ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ที่สนใจร่วมโครงการ ลงทะเบียนได้ตั้งแต่ 29 ม.ค. - 31 มี.ค.64 ทางเว็บไซต์เราชนะ

สอบถามเพิ่มเติม

ธนาคารกรุงไทย โทร.021111114


ที่มา: เฟซบุ๊ก รัชดา ธนาดิเรก -รองโฆษกรัฐบาล

กทม. ปลดล็อก 13 กิจการ กลับมาเปิดให้บริการได้ มีผล 22 ม.ค. นี้ พร้อมยังสั่งปิด 13 กิจการต่อไป

ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร แถลง ผลการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กรุงเทพมหานคร(ศบค.กทม.) ว่า มติที่ประชุมศบค.กทม.มติมติ ผ่อนปรน 13 สถานที่ให้เปิดกิจการและสถานที่ ตามที่สั่งปิดไปก่อนหน้านี้จากสถานการณ์โควิด-19 ดังนี้

1.) ตู้เกม โดยต้องทำความสะอาดจุดสัมผัสบ่อย ต้องสวมหน้ากาก

2.) ร้านเกม อินเทอร์เน็ต

3.) สถานดูแลผู้สูงอายุ ให้ลดเวลาทำกิจกรรม

4.) สนามแข่งขันทุกประเภท ยกเว้น สนามมวย สนามม้า แต่ทั้งนี้ห้ามมีผู้ชม

5.) ห้องจัดเลี้ยง สถานที่จัดเลี้ยง ไม่เกิน 300 จัดได้โดยไม่ต้องมีมาตรการ หากเกิน 300 ต้องยื่นขออนุญาตสำนักอนามัย กทม.

6.) สนามพระเครื่อง

7.) สถานเสริมความงาม สถานที่สัก เจาะผิวหนัง

8.) ฟิตเนส ไม่ให้มีเทรนเนอร์ ยกเว้นกิจกรรมอบไอน้ำ อบตัวแบบรวม

9.) สปา ร้านนวดแผนไทย ฝ่าเท้า ไม่รวมอาบ อบ นวด

10.) สถานที่ฝึกซ้อมมวย ค่ายมวย โรงยิม เปิดได้เฉพาะฝึกซ้อม

11.) โบว์ลิ่ง สเก็ต ห้ามมีผู้ชม ห้ามแข่ง

12.) สถาบันสอนลีลาศ

และ 13.) โรงเรียนสอนศิลปะการต่อสู้ แต่ห้ามมีแข่งขันและห้ามผู้ชม

ขณะที่สถานที่และกิจกรรมที่ยังต้องปิดยังไม่สามารถเปิดได้

คือ 1.) สถานบันเทิง

2.) สนามเด็กเล่น

3.) เครื่องเล่น

4.)สนามมวย

5.) โต๊ะสนุ๊ก

6.) สนามม้า

7.) สนามชนไก่

8.) สนามปลากัด

9.) สนามชนโค

10.) สถานรับเลี้ยงเด็ก

11.) สถานประกอบกิจการอาบน้ำ อาบ อบ นวด

12.) สถานรับเลี้ยงเด็กเล็ก

13.) สวนสนุก

14.) สถาบันกวดวิชา

ดีแทค เข้าพบ กสทช. รายงานการให้บริการลงทะเบียนโครงการคนละครึ่งรอบเก็บตก ระบุ ระบบไอทีทำงานเต็มประสิทธิภาพ 100% ส่งOTP สำเร็จประมาณ 500,000 รายการ จากจำนวน 1.34 ล้านสิทธิ ในช่วงเวลา 9 นาที

นายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า “ระบบไอทีของดีแทคสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ 100% เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าในช่วงลงทะเบียนโครงการคนละครึ่งเมื่อวันที่ 20 มกราคม โดยมีอัตราเฉลี่ยในการส่ง OTP ให้ลูกค้าสำเร็จด้วยเวลาที่รวดเร็วและถูกต้องตามมาตรฐานของเรา”

ทั้งนี้ ดีแทคได้รายงานข้อมูลต่อ กสทช. ระบุว่าระบบของดีแทคสามารถส่ง OTP ประมาณ 500,000 รายการในการลงทะเบียนโครงการคนละครึ่งก่อนที่จะปิดให้ทำรายการในเวลาประมาณ 06.09 น. ตามที่โครงการแจ้งในเว็บไซต์ระบุสิทธิครบจำนวน โดยผู้ที่ลงทะเบียนจะได้รับการยืนยันสิทธิ์ตามขั้นตอนต่อไป สำหรับในครั้งนี้จะมีผู้ได้รับสิทธิ์จากโครงการคนละครึ่งจำนวน 1.34 ล้านสิทธิ

“ดีแทคได้เตรียมพร้อมล่วงหน้าอย่างเต็มที่ในการให้บริการ ซึ่งเป็นไปตามที่ กสทช ร้องขอ และที่สำคัญเราเตรียมพร้อเพื่อลูกค้าของเรา ดีแทคได้ดำเนินมาตรการต่างๆ ในการทดสอบทั้งระบบไอทีและระบบโครงข่ายเพื่อรองรับโครงการคนละครึ่ง รวมถึงทดสอบความพร้อมเทคโนโลยีทั้งระบบกับพันธมิตรผู้ที่ให้บริการหลักที่เกี่ยวข้อง และจำลองการทดสอบในสถานการณ์จริงล่วงหน้าเพื่อความมั่นใจในการให้บริการอย่างเต็มที่” นายชารัด กล่าว

สถานการณ์ COVID-19 ประเทศไทยและอาเซียน (21 มกราคม พ.ศ. 2564)

ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประจำวัน โดยประเทศไทยพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 142 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสมอยู่ที่ 12,795 ราย รวมยอดผู้เสียชีวิต 71 ราย รักษาหายเพิ่ม 221 ราย รวมผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว 9,842 ราย ยังคงรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 2,882 ราย

ทั้งนี้ ผู้ป่วยรายใหม่ 142 ราย เป็น ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ จากเมียนมา 2 ราย ,สวิตเซอร์แลนด์ 1 ราย ,สวีเดน 1 ราย ,ตุรกี 3 ราย ,ญี่ปุ่น 1 ราย ,อินเดีย 3 ราย ,สหรัฐอเมริกา 3 ราย ,มาเลเซีย 3 ราย

ผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 88 ราย

ติดเชื้อจากการตรวจคัดกรองเชิงรุก 37 ราย

ขณะเดียวกันสถานการณ์ COVID-19 ของประเทศในกลุ่มอาเซียนมีการอัพเดทดังนี้

ประเทศบรูไน ดารุสซาลาม ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 174 ราย รักษาหายแล้ว 169 ราย เสียชีวิต 3 ราย

ประเทศกัมพูชา ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 453 ราย รักษาหายแล้ว 396 ราย ไม่มียอดผู้เสียชีวิต

ประเทศอินโดนีเซีย ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 9.4 แสน ราย รักษาหายแล้ว 7.64 แสน เสียชีวิต 26,857 ราย

ประเทศลาว ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 41 ราย รักษาหายแล้ว 41 ราย ไม่มียอดผู้เสียชีวิต

ประเทศมาเลเซีย ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 1.69 แสน ราย รักษาหายแล้ว 1.28 แสน ราย เสียชีวิต 630 ราย

ประเทศพม่า ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 1.36 แสน ราย รักษาหายแล้ว 1.19 แสน ราย เสียชีวิต 2,997 ราย

ประเทศฟิลิปปินส์ ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 5.06 แสน ราย รักษาหายแล้ว 4.67 แสน ราย เสียชีวิต 10,042 ราย

ประเทศสิงคโปร์ ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 59,197 ราย รักษาหายแล้ว 58,926 ราย เสียชีวิต 29 ราย

ประเทศเวียดนาม ยอดรวมติดเชื้อ 1,544 ราย รักษาหายแล้ว 1,406 ราย เสียชีวิต 35 ราย

‘บิ๊กป้อม’ ห่วงใยประชาชน สั่งเร่งแก้ปัญหาน้ำ ประชุม กนช. ผลักดันโครงการขนาดใหญ่ แก้ภัยแล้ง-น้ำท่วม ซ้ำซาก เห็นชอบโครงการ ป้องกันน้ำท่วม กทม. และพัฒนาเมืองต้นแบบ จ.ปัตตานี ย้ำนโยบายรายได้ท้องถิ่น พัฒนากลับคืนสู่ ประชาชนช่วยแก้ปัญหายั่งยืน

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่1/2564 โดยมี นาย วราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล

กนช. ได้รับทราบสถานการณ์น้ำ ในปัจจุบันจากแหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำ จำนวน 48,558 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 59 ปริมาณน้ำใช้การ 24,456 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 42 อยู่ในเกณฑ์ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา และได้มีการพิจารณาเห็นชอบ โครงการขนาดใหญ่ งป.ปี65 ของ กทม.จำนวน 4 โครงการ ได้แก่

1) โครงการก่อสร้างเขื่อน คลองบางไผ่จากบริเวณ คลองพระยาราชมนตรี ถึงบริเวณสุดเขต กทม.

2) โครงการ ก่อสร้างเขื่อน พร้อมระบบรวบรวมน้ำเสียคลองแสนแสบบริเวณประตู ระบายน้ำมีนบุรี ถึงประตูระบายน้ำหนองจอก

3) โครงการก่อสร้างเขื่อนคลองบางนา จากคลองเคล็ดถึงบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา

และ 4) โครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ จากถนนรัชดาภิเษก ถึงคลองลาดพร้าว และเนื่องจากเป็นโครงการ ที่เป็นคลองซอยเพื่อการระบายน้ำในพื้นที่กทม. ที่ประชุมจึงเห็นชอบให้กทม.ใช้งบรายได้ ของกทม.เองในการดำเนินโครงการ ต่อไป

นอกจากนั้น กนช. ยังได้เห็นชอบให้ อบจ.ปัตตานี ดำเนินโครงการสถานีสูบน้ำดิบ พร้อมระบบท่อส่งน้ำ โดยให้ใช้รายได้ของตนเองในการเชื่อมต่อระบบ และดูแลบำรุงรักษา เพื่อรองรับการพัฒนาเมืองต้นแบบสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน จ.ปัตตานี เพื่อส่งเสริมการฟื้นฟู และพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ของภาคใต้ ต่อไปด้วย

พล.อ.ประวิตร ได้กำชับ กนช.ให้กำกับ ติดตาม การดำเนินโครงการ ที่ผ่านความเห็นชอบแล้วในวันนี้ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ และกรอบเวลาที่กำหนด พร้อมมอบให้ สทนช. เร่งประสานงาน กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีการบูรณาการทำงานร่วมกัน ในการขับเคลื่อนโครงการ ดังกล่าวให้บังเกิดผล เป็นรูปธรรม ต่อไป

พล.อ.ประวิตร ยังได้กล่าวย้ำว่าโครงการต่าง ๆ ที่ได้มีการเสนอขึ้นมานั้น โดยเฉพาะ หน่วยงานหรือท้องถิ่นที่มีรายได้ควรจะต้องใช้งบประมาณของตนเอง กลับมาพัฒนาท้องถิ่น เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ให้มากขึ้นด้วย

‘รมว.คมนาคม’ ถก คณะอนุกรรมการบูรณาการนโยบายพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เคาะ 2.22 ล้านบาท พัฒนาภาคอีสาน สู่ “ศูนย์กลางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง”

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการบูรณาการนโยบายพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือว่า คณะอนุกรรมการบูรณาการนโยบายพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนงานโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประจำปี 2565 จำนวน 155 โครงการ งบประมาณรวมกว่า 22,288 ล้านบาท

อาทิ โครงการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงตามแนวชายแดนและแนวระเบียงเศรษฐกิจ โครงการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงรองรับเมืองศูนย์กลางการค้า การบริการสุขภาพ และการศึกษา งานขยายลานจอดเครื่องบินท่าอากาศยานขอนแก่น และงานก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ท่าอากาศยานเลย เพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือสู่มิติใหม่เป็น “ศูนย์กลางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง”

ทั้งนี้ แผนปฏิบัติการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 นั้น ได้ให้ความเห็นชอบแผนงานโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ที่จะดำเนินการภายใต้แผนพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 155 โครงการ งบประมาณรวม 22,288.40 ล้านบาท โดยแยกตามยุทธศาสตร์ 6 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ที่ 1 การบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน จำนวน 2 โครงการ วงเงิน 9,339.40 ล้านบาท, ยุทธศาสตร์ที่ 2 การแก้ปัญหาความยากจนและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม จำนวน 14 โครงการ วงเงิน 876.93 ล้านบาท

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การสร้างความเข้มแข็งของฐานเศรษฐกิจภายในควบคู่กับการแก้ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 82 โครงการ วงเงิน 4,376.89 ล้านบาท, ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงบูรณาการ จำนวน 29 โครงการ วงเงิน 5,192.43 ล้านบาท, ยุทธศาสตร์ที่ 5 การใช้โอกาสจากการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งที่เชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจหลักภาคกลางและพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เพื่อพัฒนาเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ ๆ ของภาค จำนวน 25 โครงการ วงเงิน 2,187.65 ล้านบาท

และยุทธศาสตร์ที่ 6 การพัฒนาความร่วมมือและใช้ประโยชน์จากข้อตกลงกับประเทศเพื่อนบ้านในการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจตามแนวชายแดนและแนวระเบียงเศรษฐกิจ จำนวน 3 โครงการ วงเงิน 315.11 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีแผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พ.ศ.61-65 ฉบับทบทวน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.65 โดยให้ความเห็นชอบแผนพัฒนาจังหวัด พ.ศ.61-65 ฉบับทบทวน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.65 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 20 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดอุดรธานี เลย หนองคาย หนองบัวลำภู บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ อุบลราชธานี ยโสธร ศรีสะเกษ และอำนาจเจริญ

ขณะเดียวกัน ยังให้ความเห็นชอบแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด พ.ศ.61-65 ฉบับทบทวน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.65 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 5 กลุ่มจังหวัด ประกอบด้วย กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 (จังหวัดอุดรธานี เลย หนองคาย หนองบัวลำภู และบึงกาฬ) กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 (จังหวัดสกลนคร นครพนม และมุกดาหาร)

กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง (จังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม และร้อยเอ็ด) กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 (จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์) และกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 (จังหวัดอุบลราชธานี ยโสธร ศรีสะเกษ และอำนาจเจริญ)

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า ในส่วนของแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยให้ความเห็นชอบแผนงานโครงการและงบประมาณของจังหวัด 20 จังหวัด ประกอบด้วย โครงการและงบประมาณที่เห็นควรสนับสนุนภายในกรอบวงเงิน จำนวน 269 โครงการ งบประมาณรวม 5,570.6038 ล้านบาท และโครงการและงบประมาณที่เห็นควรสนับสนุนเกินกรอบวงเงิน จำนวน 121 โครงการ งบประมาณรวม 4,509.1937 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังให้ความเห็นชอบแผนงานโครงการและงบประมาณของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 กลุ่มจังหวัด ประกอบด้วย ส่วนที่ 1 เห็นควรสนับสนุนโครงการและงบประมาณที่เห็นควรสนับสนุนในกรอบวงเงิน จำนวน 27 โครงการ งบประมาณรวม 1,202.8908 ล้านบาท และโครงการและงบประมาณที่เห็นควรสนับสนุนเกินกรอบวงเงิน จำนวน 10 โครงการ งบประมาณรวม 1,069.4212 ล้านบาท ส่วนที่ 2 โครงการและงบประมาณที่เห็นควรสนับสนุน จำนวน 24 โครงการ งบประมาณรวม 1,152.8837 ล้านบาท

กระทรวงคมนาคม เร่งรัดการส่งมอบพื้นที่และรื้อย้ายสาธารณูปโภค โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ขอใช้พื้นที่ของกรมทางหลวงและเวนคืนพื้นที่บริเวณทางออกสุวรรณภูมิ

นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะทำงานเร่งรัดการส่งมอบพื้นที่และรื้อย้ายสาธารณูปโภค โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ครั้งที่ 1/2564 เปิดเผยว่า

เป็นการรับทราบและติดตามความคืบหน้าผลการดำเนินงานของคณะทำงานฯ ได้แก่ การขอใช้พื้นที่ของกรมทางหลวงและเวนคืนพื้นที่บริเวณทางออกสุวรรณภูมิ ซึ่งรูปแบบแนวเส้นทางของโครงการรถไฟความเร็วสูงขาออกจากสถานีสุวรรณภูมิไปยังอู่ตะเภาจะก่อสร้างอยู่ระหว่างโครงสร้างของโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เดิมกับถนนต่างระดับขาเข้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของกรมทางหลวง

อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการเวนคืนพื้นที่ในช่วงทางโค้งเข้าบรรจบกับทางวิ่งหลัก โดยมีการเวนคืนพื้นที่ 1 ไร่ 89 ตารางวา ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบตามแนวทางดังกล่าว โดยเอกชนคู่สัญญาตกลงปรับรูปแบบโครงสร้างบริเวณจุดตัดทางต่างระดับ เพื่อให้สอดคล้องกับโครงสร้างทางยกระดับศรีนครินทร์ - ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (M7) ตามที่กรมทางหลวงออกแบบ

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้า ปัญหาอุปสรรค และแนวทางดำเนินการของฝ่ายรัฐ ได้แก่ การรังวัดโฉนดที่ดินในเขตตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน การทำสัญญาจ่ายค่าทดแทนการเวนคืน การขอใช้พื้นที่หน่วยงานรัฐในพื้นที่เวนคืน ได้มอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)ประสานงานกับหน่วยงานและประชาชนในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้ ส่วนการโยกย้ายผู้บุกรุกในช่วงสุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา จากทั้งหมด 302 หลัง ได้ดำเนินการไปแล้ว 300 หลัง และฝ่ายเอกชนได้เริ่มดำเนินการล้อมรั้วเพื่อป้องกันผู้บุกรุกแล้ว และให้การรถไฟแห่งประเทศไทยติดตามตรวจสอบไม่ให้มีประชาชนบุกรุกเข้าพื้นที่ พร้อมทั้งให้รายงานต่อที่ประชุมทุก ๆ เดือน

‘บิ๊กป้อม’ ลั่น “ผมยังอยู่” พลังประชารัฐเป็นเอกภาพ ไม่มีแตก เผย สนามผู้ว่าฯ กทม.ไม่ส่งผู้สมัครในนามพรรค หวั่นผิดมาตรา34 พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นฯ

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)ให้สัมภาษณ์ถึงการเรียกประชุมคณะกรรมการบริหาร(กก.บห.) พรรคพปชร.เพื่อวางแนวทางส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ว่า ยังไม่ได้คิดอะไร และยังไม่ได้คุยกับกก.บห.พรรค ต้องนัดประชุมกันก่อนและเวลานี้ยังไม่ได้กำหนดวันประชุมเนื่องจากมีสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19

เมื่อถามถึงกระแสข่าวมีชื่อนางทยา ทีปสุวรรณ ภรรยานายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ และรองหัวหน้าพรรคพปชร.จะลงสมัครชนกับพล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีตผบ.ตร. รองนายกฯกล่าวว่า ไม่มี ๆ ตอนนี้ยังไม่มีชื่อใครเลย และตามมาตรา 34 แห่งพ.ร.บ.การการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น กำหนดห้ามไม่ให้ข้าราชการเมือง ส.ส. ส.ว. ผู้บริหารท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ช่วยหาเสียงเลือกตั้ง ฉะนั้นพรรคจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการส่งผู้สมัครไม่ได้ เพราะผิดกฎหมาย ดังนั้นแนวทางของพรรคควรจะเหมือนเมื่อครั้งเลือกตั้งอบจ.คือไม่ส่งผู้สมัครในนามของพรรค

เมื่อถามย้ำว่าพรรคพปชร.จะไม่ส่งผู้สมัครในนามพรรคใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่รู้ รอคุยกับกก.บห.พรรคก่อน เมื่อถามย้ำว่าคนที่มีชื่อตามกระแสข่าวจะลงในนามอิสระแทนได้หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า “ไม่รู้ ยังไม่รู้ แต่เดี๋ยวก็จะมาบอกว่าผมไม่รู้ ๆ อีก”

ผู้สื่อข่าวถามถึงข่าวมีชื่อนางทยาและพล.ต.อ.จักรทิพย์ จะสะท้อนถึงความเป็นเอกภาพของพรรคหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า “ไม่มี พรรคเป็นเอกภาพดี รับรองในพรรคไม่มีอะไรแตก อย่าไปคิดว่าแตก ผมยังอยู่ไม่มีแตก”

ธนาคารกสิกรไทย แจ้งผลประกอบการ ปี 2563 กำไร 29,487 ล้านบาท ลดจากปีก่อน 23.86% เหตุตั้งสำรองฯ สูงขึ้นถึง 28% รองรับผลกระทบวิกฤตโควิด-19 ขณะที่ NPL ขึ้นมาอยู่ที่ 3.93% เพิ่มจากปี 2562 ราว 7%

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิสำหรับปี 63 จำนวน 29,487 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนจำนวน 9,240 ล้านบาท หรือ 23.86%

ส่วนใหญ่เกิดจากการที่ธนาคารและบริษัทย่อยใช้หลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่องในการพิจารณาสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss: ECL) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนจำนวน 9,536 ล้านบาท หรือ 28.04% ซึ่งเป็นการตั้งสำรองฯ ตั้งแต่ในครึ่งแรกของปี 63 เป็นจำนวนรวม 32,064 ล้านบาท เนื่องจากความไม่แน่นอนในระดับสูงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีผลกระทบที่รุนแรงทั้งในและต่างประเทศ อันเป็นวิกฤตการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในลักษณะนี้มาก่อน รวมทั้งผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากมาตรการของทางการที่ให้สถาบันการเงินให้ความช่วยเหลือลูกค้าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ธนาคารและบริษัทย่อยถือปฏิบัติตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่เกี่ยวกับเครื่องมือทางการเงิน (รวมถึง TFRS 9) ทำให้งบการเงินและอัตราส่วนทางการเงินบางรายการไม่สามารถเปรียบเทียบได้กับปีก่อน

อย่างไรก็ดี แม้ว่าในครึ่งปีหลังที่มาตรการช่วยเหลือลูกค้าทยอยสิ้นสุดลง ลูกค้ายังสามารถผ่อนชำระได้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ รวมทั้งในปลายไตรมาส 4 มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ก็ตาม ธนาคารได้มีการทบทวนประเมินความเพียงพอของสำรองฯ พบว่าการตั้งสำรองฯ ในสามไตรมาสที่ผ่านมาอยู่ในระดับที่เพียงพอแล้ว ธนาคารจึงพิจารณาตั้งสำรองฯ ในไตรมาส 4 ในระดับที่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงสามไตรมาสของปี โดยเมื่อรวมการตั้งสำรองฯ ในปี 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 43,548 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นระดับที่สามารถรองรับความเสียหายต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม และสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ในขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 6,334 ล้านบาท หรือ 6.17% ส่วนใหญ่เกิดจากการลดลงของค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย ซึ่งเป็นผลจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย และการปรับลดอัตราเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ทำให้อัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin: NIM) อยู่ที่ระดับ 3.27% สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจำนวน 11,934 ล้านบาท หรือ 20.65% ส่วนใหญ่เกิดจากรายได้จากการจำหน่ายหลักทรัพย์ที่ลดลง และค่าธรรมเนียมรับเกี่ยวกับการให้สินเชื่อลดลงจากการเปลี่ยนไปแสดงเป็นรายได้ดอกเบี้ย รวมทั้งค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ลดลงจำนวน 2,733 ล้านบาท หรือ 3.76% ส่วนใหญ่เกิดจากการลดลงของประมาณการค่าใช้จ่ายพนักงาน และค่าใช้จ่ายทางการตลาด ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการจัดการหนี้เพิ่มขึ้น

แม้ว่าในไตรมาส 4 ปี 2563 ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ เพิ่มขึ้นจำนวน 3,825 ล้านบาท หรือ 23.26% ส่วนใหญ่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อให้สามารถรองรับความต้องการของลูกค้า ค่าใช้จ่ายทางการตลาด ซึ่งเป็นปกติตามฤดูกาล และค่าใช้จ่ายในกิจกรรมร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) ปี 2563 อยู่ที่ระดับ 45.19%

ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 ธนาคารและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 3,658,798 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2562 จำนวน 364,909 ล้านบาท หรือ 11.08% ส่วนใหญ่เป็นการเติบโตของสินเชื่อ สำหรับเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (%NPL gross) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 อยู่ที่ระดับ 3.93% โดยธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือ รวมทั้งติดตามดูแลคุณภาพสินเชื่อของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างใกล้ชิด ขณะที่สิ้นปี 2562 อยู่ที่ระดับ 3.65%

ด้าน อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 อยู่ที่ระดับ 149.19% โดยสิ้นปี 2562 อยู่ที่ระดับ 148.60% สำหรับอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงินธนาคารกสิกรไทยตามหลักเกณฑ์ Basel III ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 อยู่ที่ 18.80% โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 16.13%


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top