Sunday, 15 December 2024
NEWS FEED

ททท. หวั่นผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ไม่คลี่คลาย หากยืดเยื้อถึง 1 ไตรมาส อาจสูญเสียรายได้หลักแสนล้านบาทแน่นอน โดยเฉพาะลูกจ้างในสาขาโรงแรม จะตกงานเพิ่มขึ้นประมาณ 1 แสนคน

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ตั้งแต่ต้นปีนั้น เห็นว่า การระบาดครั้งนี้ต่างจากครั้งก่อนเพราะมีมุมมองการจัดการที่ดีขึ้น ทั้งความสามารถในการตรวจ การรองรับผู้ป่วยมากขึ้นกว่าเดิม ความตื่นตระหนกที่น้อยกว่ารอบแรก รวมทั้งความรุนแรงของโรคที่น้อยลง เช่นเดียวกับความพร้อมด้านสาธารณสุขที่เพิ่มขึ้น และความพร้อมเรื่องวัคซีนชัดเจนขึ้น ส่งผลให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น

แต่ถ้าสถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย โดยยังมีการควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และจำกัดการเดินทาง ประเมินเบื้องต้นว่า อาจส่งผลให้รายได้จากการท่องเที่ยวหายไปไม่น้อยกว่าเดือนละ 4.6 หมื่นล้านบาท และถ้ายืดเยื้อถึง 1 ไตรมาสก็สูญเสียรายได้เป็นหลักแสนล้านบาทแน่นอน

นายยุทธศักดิ์ กล่าวว่า จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ระบุว่า ถ้าสถานการณ์การระบาดยืดเยื้อ การท่องเที่ยวจะมีความเสี่ยง โดยเฉพาะลูกจ้างในสาขาโรงแรมจะตกงานเพิ่มขึ้นประมาณ 1 แสนคน ขณะที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. ประเมินว่า เอสเอ็มอีภาคท่องเที่ยวและที่เกี่ยวเนื่องกว่า 93,437 ราย จ้างงาน 3.2 ล้านคน ถ้ารวมธุรกิจที่เกี่ยวข้องไปอีกจะเป็นตัวเลขที่มากกว่านี้ถึง 3 เท่า หรือคิดเป็นการจ้างงานถึง 10 ล้านคน ที่ได้รับผลกระทบ ดังนั้นการจะฟื้นภาคการท่องเที่ยวได้รัฐจำเป็นต้องช่วยเหลือเอกชนก่อนเพื่อให้อยู่รอดในช่วงนี้ต่อไปได้

“พาณิชย์” เผยส่งออกเดือน ธ.ค. 63 มีมูลค่า 20,082.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 4.71% พลิกบวกเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน ส่งผลให้ยอดรวมทั้งปี 63 เหลือติดลบ 6.01% จากเป้าลบ 7%

ส่วนปี 64 ตั้งเป้าโต 4% มีลุ้นถึง 5% หลังเศรษฐกิจโลกฟื้น เริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 สงครามการค้าผ่อนคลาย

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกเดือน ธ.ค. 2563 มีมูลค่า 20,082.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.71% กลับมาเป็นบวกได้เป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือนของปี 2563 และมีอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 22 เดือน นับจาก ก.พ. 2562 ที่เพิ่มขึ้น 5.65% การนำเข้ามีมูลค่า 19,119.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.62% เกินดุลการค้า 963.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนการส่งออกทั้งปี 2563 มีมูลค่า 231,468.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 6.01% ถือว่าทำได้ดีกว่าที่คาดไว้ว่าจะติดลบประมาณ 7% การนำเข้ามีมูลค่า 206,991.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 12.39% เกินดุลการค้ารวม 24,476.5 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับการส่งออกปี 2563 ที่ติดลบน้อยลงจากเป้าที่คาดไว้ เพราะการส่งออกของไทยเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางปี 2563 โดยได้รับผลดีจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวขึ้น ทำให้มีการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อประเทศส่งออก ทั้งไทยและประเทศอื่น ๆ ที่ส่งออกได้ดีขึ้น ขณะที่สินค้า 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ อาหาร สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้านและเครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อ ยังเป็นกลุ่มเติบโตได้ดี และยังมีการฟื้นตัวของสินค้ากลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ที่กลับมาขยายตัวเป็นบวก ส่วนยานยนต์และชิ้นส่วน ติดลบน้อยลง และเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น

ส่วนตลาดส่งออกปี 2563 ตลาดหลักลดลง 1.8% โดยสหรัฐฯ เพิ่ม 9.6% แต่ญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป 15 ประเทศ ลด 6.7% และ 12.7% ตลาดศักยภาพสูง ลด 8.4% จากการลดของอาเซียนเดิม 5 ประเทศ 12.2% CLMV ลด 11.1% จีน เพิ่ม 2% อินเดีย ลด 25.2% ฮ่องกง ลด 3.6% เกาหลีใต้ ลด 10.3% ไต้หวัน ลด 5.6% ตลาดศักยภาพระดับรอง ลด 13.1% โดยทวีปออสเตรเลีย ลด 7.6% ตะวันออกกลาง ลด 13% แอฟริกา ลด 19.4% ลาตินอเมริกา ลด 19% สหภาพยุโรป 12 ประเทศ ลด 6.4% กลุ่ม CIS รวมรัสเซีย ลด 21.1% แคนาดา ลด 3% ตลาดอื่นๆ ลด 34.3% แต่สวิตเซอร์แลนด์ เพิ่ม 42.1%

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า "กระทรวงพาณิชย์ประเมินการส่งออกในปี 2564 จะขยายตัวเป็นบวก 4% มูลค่า 240,727 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเฉลี่ยต่อเดือนต้องส่งออกให้ได้เดือนละ 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และมองว่าอาจจะขยายตัวได้ถึง 5% มูลค่ารวม 243,042 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 20,253 ล้านเหรียญสหรัฐ

เพราะมีปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน แม้โควิด-19 จะระบาดอีก แต่ก็มีการล็อกดาวน์แบบจำกัด ทำให้ผลกระทบไม่รุนแรงเหมือนรอบแรก และยังได้แรงหนุนจากการกระจายวัคซีนโควิด-19 การกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศ ทำให้มีความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น ประกอบกับนโยบายการค้าสหรัฐฯ กลับมายึดกติกาองค์การการค้าโลก (WTO) ช่วยให้ความขัดแย้งจากสงครามการค้าผ่อนคลาย รวมถึงความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ที่จะบังคับใช้ช่วงครึ่งปีหลัง 2564 จะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าของประเทศสมาชิก"

"อย่างไรก็ตาม ต้องระวังปัจจัยลบ เรื่องค่าเงินบาทที่อยู่ในทิศทางแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับสกุลเงินของคู่แข่งในภูมิภาค ทำให้การแข่งขันด้านราคายากขึ้น มีปัญหาอุปสรรคจากการขาดแคลนตู้สินค้า ทำให้มีต้นทุนโลจิสติกส์เพิ่มขึ้น และอุปสรรคในการเจรจาความตกลงการค้า เช่น ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ที่ไทยยังไม่มีข้อสรุปชัดเจน ทำให้ส่งออกในอนาคตเสี่ยงที่จะเสียแต้มต่อคู่แข่ง"

25 มกรามคม พ.ศ. 2509 วันสถาปนามหาวิทยาลัยขอนแก่น สถาบันอุดมศึกษาอีกหนึ่งแห่งของประเทศที่มีความสำคัญ เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผลิตบัณฑิตและสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพของประเทศออกมามากมายกว่า 55 ปี

วันนี้เป็นวันครบรอบการสถาปนามหาวิทยาลัยขอนแก่น มีอายุมากว่า 55 ปี โดยหากย้อนเวลากลับไป มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีแนวคิดที่จะถุกสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จนมาถึงช่วงปี พ.ศ. 2507 ประเทศไทยในขณะนั้น มีแนวคิดในการยกระดับพัฒนาภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอย่างจริงจัง ส่วนหนึ่งคือการจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษา จึงเป็นที่มาของการก่อสร้างสถาบันการศึกษาชั้นสูง ในด้านวิศวกรรมศาสตร์และเกษตรศาสตร์ ขึ้นที่จังหวัดขอนแก่น โดยใช้ชื่อว่า มหาวิทยาลัยตะวันออกเฉียงเหนือ

ต่อมาในปี พ.ศ. 2508 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้เปลี่ยนชื่อเป็น มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประกาศใช้ราชกิจจานุเบกษา ในวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2509 จึงนับได้ว่า วันนี้เมื่อ 55 ปีก่อน ถือเป็นวันสถาปนาของมหาวิทยาลัยอย่างเป็นทางการนั่นเอง

มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีพื้นที่กว่า 5,500 ไร่ มีคณะวิชาที่ผลิตบัณฑิตจำนวนกว่า 22 คณะวิชา ปัจจุบันเปิดหลักสูตรทั้งในระดับปริญญาเอก โท และตรี มีนักศึกษารวมทั้งสิ้นกว่า 40,000 คน และมีบุคลากรด้านวิชาการอีกกว่า 2,075 คน ที่ผ่านมา ถือเป็นมหาวิทยาลัยที่ผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพ รวมถึงเป็นมหาวิทยาลัยที่มีอัตราการสอบแข่งขันเข้าเรียนมากที่สุดในภูมิภาคอีกด้วย

สถานการณ์ COVID-19 ประเทศไทยและอาเซียน (24 มกราคม พ.ศ. 2564)

ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประจำวัน โดยประเทศไทยพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 198 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสมอยู่ที่ 13,500 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย รวมยอดผู้เสียชีวิต 73 ราย รักษาหายเพิ่ม 119 ราย รวมผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว 10,567 ราย ยังคงรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 2,860 ราย
ทั้งนี้ ผู้ป่วยรายใหม่ 198 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ และเข้าพักสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ จาก เบลเยียม 1 ราย ,มาเลเซีย 1 ราย ,บาห์เรน 1 ราย, ฝรั่งเศส 2 ราย ,สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 1 ราย
ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ คัดกรอง ณ ด่านฯ จากเมียนมา
ผู้ป่วยรายใหม่ จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ จำนวน 118 ราย
ค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 73 ราย
ขณะเดียวกันสถานการณ์ COVID-19 ของประเทศในกลุ่มอาเซียนมีการอัพเดทดังนี้
ประเทศบรูไน ดารุสซาลาม ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 175 ราย รักษาหายแล้ว 169 ราย เสียชีวิต 3 ราย
ประเทศกัมพูชา ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 458 ราย รักษาหายแล้ว 405 ราย  ไม่มียอดผู้เสียชีวิต
ประเทศอินโดนีเซีย ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 9.77 แสน ราย รักษาหายแล้ว 7.91 แสน เสียชีวิต 27,664 ราย
ประเทศลาว ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 41 ราย รักษาหายแล้ว 41 ราย ไม่มียอดผู้เสียชีวิต
ประเทศมาเลเซีย ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 1.8 แสน ราย รักษาหายแล้ว 1.37 แสน ราย เสียชีวิต 667 ราย
ประเทศพม่า ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 1.37 แสน ราย รักษาหายแล้ว 1.21 ราย เสียชีวิต 3,045 ราย
ประเทศฟิลิปปินส์ ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 5.12 แสน ราย รักษาหายแล้ว 4.68 แสน ราย เสียชีวิต 10,190 ราย
ประเทศสิงคโปร์ ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 59,260 ราย รักษาหายแล้ว 59,015 ราย เสียชีวิต 29 ราย
ประเทศเวียดนาม ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 1,548 ราย รักษาหายแล้ว1,411 ราย เสียชีวิต 35 ราย
 

พรรคประชาธิปัตย์ ระดม ส.ส.- อดีต ส.ส. เตรียมความพร้อมการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. บ่ายพรุ่งนี้ โวมีผู้สนใจสมัคร ส.ก.ในนามพรรคฯ จำนวนมาก

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวถึงความเคลื่อนไหวเตรียมจัดทำนโยบายกรุงเทพมหานคร ว่า วันพรุ่งนี้ (25 ม.ค.) เวลา 14.00 น นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค กรุงเทพมหานคร ได้นัดประชุมร่วมกันระหว่าง ส.ส. อดีต ส.ส. อดีตผู้สมัคร  เพื่อหารือ ระดมความคิดเห็น ในเรื่องนโยบายกรุงเทพมหานคร เพื่อใช้ในการเลือกตั้ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) การเตรียมความพร้อมในเรื่องนโยบายซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการจะเข้าไปทำงานไม่ว่าจะในส่วนของ บุคคลที่จะไปทำหน้าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะเป็นผู้บริหาร และในส่วนของสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ส.ก.ซึ่งจะเข้าไปทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ

ทั้งสองส่วน มีความสำคัญที่จะต้องมีนโยบายเป็นหลักการทำงานพื้นฐานที่สำคัญ การระดมความคิดเห็นทุกนโยบายที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องชาวกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีหลายเรื่องที่จำต้องมีนโยบายใหม่เพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุด มีหลายเรื่องที่ต้องปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น และเรื่องใดที่เป็นของเดิมที่ดีอยู่แล้วก็จะมีการสานต่อและทำให้ดียิ่งขึ้น เพื่อนำเสนอนโยบายที่ดี ในการทำงานให้กับพี่น้องชาว กทม ต่อไป

นายราเมศ กล่าวต่อว่า หลังจากที่เปิดให้ผู้ที่สนใจสมัครเข้าร่วมงานกับพรรคประชาธิปัตย์ในส่วนของการเลือกตั้ง ส.ก.ได้มีผู้ที่ให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก หลายคนเป็นคนมีศักยภาพ อยู่ใกล้ชิดทำงานให้กับพี่น้องประชาชนอยู่แล้ว มีส่วนของคนรุ่นใหม่ที่ตั้งใจเข้ามาอาสารับใช้ประชาชนก็มีหลายคนความเป็นสถาบันทางการเมืองของพรรค การดำเนินการมีการดำเนินการรอบคอบ ผ่านการคิดที่ให้ทุกคนมีส่วนร่วม นโยบายที่จะนำไปใช้ต้องก่อให้เกิดประโยชน์ต่อพี่น้องชาวกรุงเทพมหานครอย่างแท้จริง

 

นักลงทุนแห่จองหุ้น OR ปตท.วันแรกท่วมท้น!! ส่งผลแอปฯ - เว็บฯ 3 แบงก์ล่ม ด้าน KTB ยืนยันระบบจองซื้อหุ้น OR ทำงานได้ปกติ แจงเหตุขัดข้อง-ล่าช้า เพราะคนเข้าจองพร้อมกัน แนะทยอยจองวันอื่น ย้ำไม่มียอดจองเต็ม จัดสรรให้นักลงทุนทุกคน

จากการที่บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก หรือโออาร์ (OR) ได้เปิดให้จองซื้อหุ้นต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ผ่าน 3 ธนาคารใหญ่  ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารกรุงไทย ตั้งแต่เวลา 9.00 น. ของวันนี้ (24 ม.ค. 64 ) และจะเปิดให้จองไปจนถึงเวลา 12.00 น.วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 โดยเปิดให้จองซื้อผ่านออนไลน์ได้ด้วย นอกจากสาขาของ 3 ธนาคาร ผ่านเว็บไซต์ K-My Invest  ของธนาคารกสิกรไทย , ผ่านเว็บไซต์ Money Connect ของธนาคารกรุงไทย และผ่านโมบายแอปพลิเคชัน ธนาคารกรุงเทพ

ทั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มเปิดจองในเวลา 09.00 น.ที่ผ่านมา ทั้งเว็บไซต์ที่ให้ทำการจองซื้อหุ้น OR กับแอปพลิเคชันของ 3 ธนาคารดังกล่าว พบว่าไม่สามารถให้บริการได้ มีความล่าช้าในการใช้บริการ และบางช่วงติดขัดไม่สามารถทำรายการใด ๆ ได้ เนื่องจากมีผู้สนใจจองซื้อหุ้น OR เป็นจำนวนมาก

สำหรับการจัดสรรหุ้นให้แก่ผู้จองซื้อรายย่อยนั้น ทั้ง 3 ธนาคารแนะนำให้ทำรายการในช่วงระหว่างวันที่ 26-28 มกราคม 2564 เพื่อหลีกเลี่ยงความหนาแน่นในช่วงแรก และช่วงท้ายของระยะเวลาการจองซื้อ

ทางด้านธนาคารกรุงไทย (KTB) ได้ออกมาชี้แจงว่า ระบบ Money Connect by Krungthai สามารถจองซื้อหุ้น OR ได้ตามปกติ เนื่องจากธนาคารได้เตรียมความพร้อมในการจองซื้อไว้ล่วงหน้า จึงยกระบบการบริการและเพิ่มระบบงานไอทีให้รองรับธุรกรรมการจองซื้อครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเช้าวันที่ 24 มกราคม 2564 เวลา 9.00 น. (เวลาเริ่มเปิดจองซื้อ) มีผู้ที่สนใจเข้ามาจองซื้อหุ้น OR ผ่านช่องทาง Money Connect by Krungthai พร้อมกันเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีนักลงทุนรายใหม่ ที่เพิ่งเข้ามาใช้บริการครั้งแรกจำนวนไม่น้อย ซึ่งต้องกรอกข้อมูลตั้งต้นสำหรับการจองซื้อหลักทรัพย์ เช่น ชื่อ ที่อยู่ วิธิการรับหลักทรัพย์ กรอกข้อมูลการลงทุนและแบบประเมินความเสี่ยงการลงทุนในระบบ ทำให้ใช้เวลาอยู่ในระบบนาน จึงอาจส่งผลให้ระบบมีความล่าช้า ทำให้ลูกค้าบางท่านไม่สามารถทำรายการได้

ทั้งนี้ จึงขอแนะนำให้ผู้ใช้บริการกด refresh และลองใหม่อีกครั้ง หรือทยอยทำรายการจองซื้อหุ้น OR ในวันอื่นๆ โดยไม่จำเป็นต้องเข้ามาจองซื้อในวันนี้ เนื่องจากสามารถจองซื้อหุ้น OR ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่าน https://moneyconnect.krungthai.com

และจองผ่านสาขากรุงไทยทั่วประเทศ ได้จนถึงเวลา 12.00 น. ของวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 โดยไม่ปิดการจองซื้อก่อนกำหนด และไม่มียอดจองซื้อเต็ม ทุกคนมีสิทธิได้รับการจัดสรรหุ้น เพราะใช้วิธิ Small Lot First โดยจะเป็นการจัดสรรหุ้นแก่นักลงทุนที่ต้องการอย่างทั่วถึงที่สุด

 

การรถไฟแห่งประเทศไทย ประกาศปรับการเดินรถชั่วคราว ให้สอดคล้องตามสถานการณ์โควิด-19 งดเดินรถเส้นทางที่มีผู้ใช้บริการน้อยหรือขบวนรถที่มีความจำเป็นไม่มากต่อประชาชน

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) มีนโยบายขอความร่วมมือให้ประชาชนหลีกเลี่ยง หรือชะลอการเดินทางเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่

การรถไฟฯ จึงต้องปรับการให้บริการเดินรถใหม่ให้สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติของ ศบค. โดยมีการงดการให้บริการขบวนรถเชิงสังคม ได้แก่ ขบวนรถธรรมดา ขบวนรถท้องถิ่น และขบวนรถชานเมืองที่ไม่ได้วิ่งให้บริการในชั่วโมงเร่งด่วน จำนวน 57 ขบวน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2564 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนการให้บริการการเดินรถในครั้งนี้ การรถไฟฯได้คำนึงถึงความเหมาะสมในการให้บริการแก่ประชาชน โดยพิจารณางดเดินรถเฉพาะเส้นทางที่มีผู้ใช้บริการน้อย หรือเป็นขบวนรถที่มีความจำเป็นไม่มากต่อประชาชนและไม่ได้วิ่งให้บริการในชั่วโมงเร่งด่วน โดยการรถไฟฯ ยังมีขบวนรถโดยสารให้บริการรองรับการเดินทางของประชาชนในทุกเส้นทางอย่างครบถ้วน

อีกทั้งการรถไฟฯ ยังได้มีการดำเนินการตามมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม กรมการขนส่งทางราง และกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด โดยกำหนดจุดคัดกรองตรวจวัดอุณหภูมิผู้โดยสารก่อนเข้าในพื้นที่สถานี การตั้งจุดบริการแอลกอฮอล์ล้างมือ ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดการเดินทาง พร้อมกับให้สแกนแอพพลิเคชันไทยชนะ ก่อนและหลังใช้บริการ แต่หากผู้โดยสารไม่สามารถใช้แอพพลิเคชันไทยชนะ สามารถกรอกข้อมูลการเดินทางแทนได้ สำหรับประชาชนที่ต้องการเดินทางโดยรถไฟ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์ หมายเลขโทรศัพท์ 1690 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือเฟซบุ๊กแฟนเพจทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย

สำหรับขบวนรถเชิงสังคมที่งดให้บริการตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2564 ประกอบด้วย

สายเหนือ จำนวน 13 ขบวน

  • ขบวนรถธรรมดาที่ 207/208 กรุงเทพ – นครสวรรค์ – กรุงเทพ
  • ขบวนรถธรรมดาที่ 209/210 กรุงเทพ – บ้านตาคลี – กรุงเทพ
  • ขบวนรถธรรมดาที่ 211/212 กรุงเทพ – ตะพานหิน – กรุงเทพ
  • ขบวนรถชานเมืองที่ 303/304 กรุงเทพ – ลพบุรี – กรุงเทพ
  • ขบวนรถชานเมืองที่ 317/318 กรุงเทพ – ลพบุรี – กรุงเทพ
  • ขบวนรถท้องถิ่นที่ 401/402 ลพบุรี – พิษณุโลก – ลพบุรี
  • ขบวนรถท้องถิ่นที่ 409 อยุธยา – ลพบุรี

สายตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 18 ขบวน

  • ขบวนรถธรรมดาที่ 233/234 กรุงเทพ – สุรินทร์ – กรุงเทพ
  • ขบวนรถชานเมืองที่ 339/340 กรุงเทพ – ชุมทางแก่งคอย – กรุงเทพ
  • ขบวนรถท้องถิ่นที่ 417/416 นครราชสีมา – อุดรธานี – นครราชสีมา
  • ขบวนรถท้องถิ่นที่ 419/420 นครราชสีมา – อุบลราชธานี – ลำชี
  • ขบวนรถท้องถิ่นที่ 423/424 ลำชี – สำโรงทาบ – นครราชสีมา
  • ขบวนรถท้องถิ่นที่ 427/428 นครราชสีมา – อุบลราชธานี – นครราชสีมา
  • ขบวนรถท้องถิ่นที่ 433/434 ชุมทางแก่งคอย – ชุมทางบัวใหญ่ – ชุมทางแก่งคอย
  • ขบวนรถท้องถิ่นที่ 437/438 ชุมทางแก่งคอย – ลำนารายณ์ – ชุมทางแก่งคอย
  • ขบวนรถท้องถิ่นที่ 439/440 ชุมทางแก่งคอย – ชุมทางบัวใหญ่ – ชุมทางแก่งคอย

สายใต้ จำนวน 12 ขบวน

  • ขบวนรถธรรมดาที่ 251/252 ธนบุรี – ประจวบคีรีขันธ์ – ธนบุรี
  • ขบวนรถธรรมดาที่ 259/260 ธนบุรี – น้ำตก – ธนบุรี
  • ขบวนรถธรรมดาที่ 261/262 กรุงเทพ – หัวหิน – กรุงเทพ
  • ขบวนรถท้องถิ่นที่ 455/456 นครศรีธรรมราช – ยะลา – นครศรีธรรมราช
  • ขบวนรถรวมที่ 485/486 ชุมทางหนองปลาดุก – น้ำตก – ชุมทางหนองปลาดุก
  • ขบวนรถรวมที่ 489/490 สุราษฎร์ธานี – คีรีรัฐนิคม – สุราษฎร์ธานี

สายตะวันออก จำนวน 14 ขบวน

  • ขบวนรถธรรมดาที่ 275/276 กรุงเทพ – ด่านพรมแดนบ้านคลองลึก – กรุงเทพ
  • ขบวนรถธรรมดาที่ 277/278 กรุงเทพ – กบินทร์บุรี – กรุงเทพ
  • ขบวนรถธรรมดาที่ 279/280 กรุงเทพ – ด่านพรมแดนบ้านคลองลึก – กรุงเทพ
  • ขบวนรถธรรมดาที่ 281/282 กรุงเทพ – กบินทร์บุรี – กรุงเทพ
  • ขบวนรถชานเมืองที่ 367/368 กรุงเทพ – ชุมทางฉะเชิงเทรา – กรุงเทพ
  • ขบวนรถชานเมืองที่ 379/380 กรุงเทพ – หัวตะเข้ – กรุงเทพ
  • ขบวนรถชานเมืองที่ 389/390 กรุงเทพ – ชุมทางฉะเชิงเทรา – กรุงเทพ

สวนดุสิตโพล เผย ‘10 ความสุขยุคโควิด-19’ พบ สิ่งที่คนรู้สึกมีความสุขในช่วงโควิด-19 มากที่สุด คือได้มีเวลาให้ตัวเองมากขึ้น ได้ทำในสิ่งที่อยากทำ รองลงมาคือ ได้อยู่กับครอบครัวพร้อมหน้าพร้อมตาทำกับข้าวกินเอง

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง ‘10 ความสุขในยุคโควิด-19’ กลุ่มตัวอย่าง 1,136 คน สำรวจวันที่ 15 – 22 มกราคม 2564 พบว่า สิ่งที่คนรู้สึกมีความสุขในช่วงโควิด-19 มากที่สุด คือ

อันดับ 1 ได้มีเวลาให้ตัวเองมากขึ้น ได้ทำในสิ่งที่อยากทำ 86.92%

อันดับ 2 ได้อยู่กับครอบครัวพร้อมหน้าพร้อมตาทำกับข้าวกินเอง 75.22%

อันดับ 3 ไม่ต้องตื่นเช้า ไม่ต้องเร่งรีบ 56.10%

อันดับ 4 ได้ออกกำลังกายหันมาดูแลสุขภาพของตนเองมากขึ้น 29.81%

อันดับ 5 การปรับตัวเข้าสู่โลกออนไลน์ ได้พัฒนาทักษะเทคโนโลยี 13.46%

อันดับ 6 ยังมีงานทำ ยังไม่ถูกเลิกจ้าง 13.08%

อันดับ 7 รถไม่ค่อยติด เดินทางสะดวก 10.44%

อันดับ 8 บุคลากรทางการแพทย์ของไทยทำงานได้ดี 8.18%

อันดับ 9 ได้เห็นความร่วมมือร่วมใจ การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของคนไทย 5.03%

อันดับ 10 ทรัพยากรธรรมชาติได้พัก เป็นการฟื้นฟู 1.89%

จากผลการสำรวจ พบว่า ในความทุกข์ที่เกิดจากโควิด-19 นี้ ประชาชนก็ยังมีความรู้สึกสุขใจอยู่บ้าง โดยเฉพาะในด้านเวลา ทั้งการให้เวลากับตนเอง การให้เวลากับครอบครัว เงื่อนไขเรื่องเวลานี้ทำให้ผู้คนได้มีโอกาสในการคิดพิจารณาและทำสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่เคยได้ทำมากขึ้น อีกทั้งยังได้พัฒนาตนเองในด้านการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เรียกได้ว่าต้องขอบคุณโควิด-19 ที่ทำให้คนไทยได้พลิกวิกฤตเป็นโอกาสในการพัฒนาตนเองมากขึ้น

ในทุกสถานการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้น แม้มีปัญหามีความทุกข์แต่ก็มีสิ่งที่ดี ๆ และมีสิ่งที่เป็นความสุขเกิดขึ้นอยู่ด้วยเสมอ ดังนั้น การปรับทัศนคติ การปรับมุมมองหรือการคิดเชิงบวกจึงเป็นเรื่องสำคัญ อย่ามองที่ปัญหาแต่ให้เลือกมองโอกาสที่เกิดขึ้น จากปัญหานั้น ๆ เช่นเดียวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงนี้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของคนไทยและคนทั้งโลก ซึ่งประเด็นปัญหาและความทุกข์ที่มีอยู่นี้ เราทุกคนรู้และสัมผัสได้อยู่แล้ว

อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เผยภาพถ่ายจระเข้ขนาดใหญ่ ขึ้นมานอนอาบแดดบริเวณต้นแม่น้ำเพชรบุรี คาดเป็นจระเข้น้ำจืดหายากใกล้สูญพันธุ์ของไทย เตรียมส่งเจ้าหน้าที่ดูแลอารักขา เพราะเป็นพันธุ์ที่หายากและกำลังจะสูญพันธุ์

ช่วงเวลาดีๆ ของธรรมชาติ!!

แม้ว่าประเทศไทยจะยังอยู่ท่ามกลางวิกฤตโควิดระบาด แต่ทว่าธรรมชาติเริ่มกลับมาสมบูรณ์ ล่าสุดเพจเฟสบุ๊กอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน - Kaeng Krachan National Park ได้เปิดเผยภาพจากกล้องดักถ่ายสัตว์ป่า (Camera Trap) ในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน พบจระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทย (Crocodylus siamensis) ขึ้นมานอนอาบแดด

ซึ่งนับว่าเป็นข่าวดีที่พบเจอสัตว์ป่าที่หายากมากในธรรมชาติและกำลังจะสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ คือ จระเข้สายพันธุ์ไทยดั้งเดิม นั่นเพราะจระเข้พันธุ์นี้หลงเหลืออยู่ในธรรมชาติประมาณ 20 ตัวเท่านั้น

สำหรับจุดที่พบ อยู่บริเวณต้นน้ำของแม่น้ำเพชรบุรี เหนือบ้านโป่งลึกและบ้านบางกลอย ยืนยันสถานะภาพ ยังคงอยู่ได้ ไม่ได้พบภาพใหม่มานานและยืนยันได้มากกว่าหนึ่งตัว ที่บันทึกภาพได้ จากที่เฝ้าติดตามมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ทางเพจฯ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จระเข้น้ำจืด, จระเข้บึง, จระเข้สยาม หรือ จระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทย (Crocodylus siamensis) มีถิ่นกำเนิดในบริเวณประเทศไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม กาลีมันตัน ชวา และสุมาตรา จัดเป็นจระเข้ขนาดปานกลางค่อนมาทางใหญ่ (3–4 เมตร) มีเกล็ดท้ายทอด มีช่วงวัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุ 10–12 ปี จระเข้ชนิดนี้วางไข่ครั้งละ 20–48 ฟอง โดยมีระยะเวลาฟักไข่นาน 68-85 วัน เริ่มวางไข่ในช่วงต้นฤดูฝนประมาณเดือนพฤษภาคม โดยขุดหลุมในหาดทรายริมแม่น้ำ ใช้เวลาเฉลี่ยราว 80 วัน ชอบอยู่และหากินเดี่ยว

โดยปกติจระเข้น้ำจืดจะกินปลาและสัตว์อื่นที่เล็กกว่าเป็นอาหาร จะไม่ทำร้ายมนุษย์หากไม่ถูกรบกวนหรือมีอาหารเพียงพอ ในอดีตในประเทศไทยเคยพบชุกชุมในแหล่งน้ำทั่วทุกภาคของประเทศ โดยเฉพาะในแถบที่ราบลุ่มภาคกลาง เช่น บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ ได้ชื่อว่าเป็นสถานที่จระเข้ชุม เคยมีรายงานว่าพบจระเข้ถึง 200 ตัว หรือในวรรณกรรมพื้นบ้านเรื่องต่าง ๆ เช่น ไกรทอง ของจังหวัดพิจิตร เป็นต้น แต่ปัจจุบันได้สูญหายไปจนหมดแล้ว

แต่ในต่างประเทศยังคงพบอยู่เช่นที่ทะเลสาบเขมร ประเทศกัมพูชา โดยเฉพาะทิวเขาพนมกระวาน ซึ่งช่วงแรกค้นพบเพียง 3 ตัว จนนำไปสู่การค้นพบจระเข้นับร้อยตัวที่อาศัยโดยไม่พึ่งพาอาศัยมนุษย์ แต่ที่นี่ก็ประสบปัญหาการจับจระเข้ไปขายฟาร์มจำนวนมาก[2] สถานะในอนุสัญญาของไซเตสได้ขึ้นบัญชีจระเข้น้ำจืดไว้อยู่ในบัญชีหมายเลข 1 (Appendix 1)

ปัจจุบัน จระเข้สายพันธุ์นี้แท้ ๆ ก็ยังหายากในสถานที่เลี้ยง เนื่องจากถูกผสมสายพันธุ์กับจระเข้สายพันธุ์อื่นจนเสียสายพันธุ์แท้ไปด้วยจากเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจ

ด้านนายพิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (สบอ.3) สาขาเพชรบุรี กล่าวว่า ชุดลาดตระเวนของอุทยานออกลาดตระเวนบริเวณต้นแม่น้ำเพชรบุรีและแม่น้ำบางกลอย พบร่องรอยจระเข้ จึงทำการติดตั้งกล้องไว้กว่าเดือน พอย้อนกลับไปตรวจสอบภาพดู ปรากฏว่าเจอจระเข้น้ำจืดกำลังขึ้นมาอาบแดด เป็นขนาดใหญ่สมบูรณ์มาก นอกจากนี้ยังเตรียมส่งกำลังเจ้าหน้าที่ติดตามดูแลอารักขา เนื่องจากเป็นชนิดพันธุ์ที่หายากและกำลังจะสูญพันธุ์

ที่มา : เพจ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน - Kaeng Krachan National Park

 

‘ขนส่งทางบก’ ขานรับนโยบาย รมว.คมนาคม คุมเข้ม!!! รถบรรทุกและรถโดยสารควันดำ แก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ชี้หากพบค่าควันดำเกินกฎหมายกำหนด ปรับสูงสุด 5,000 บาท ห้ามใช้รถจนกว่าจะแก้ไขและนำเข้าตรวจสภาพ เดินหน้าสนับสนุนการใช้รถพลังงานสะอาดและรถพลังงานไฟฟ้า

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ตามที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดเร่งดำเนินการลดปริมาณค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เกินมาตรฐาน พร้อมให้ติดตามผลการดำเนินการแก้ไขตามข้อสั่งการที่ประชุมคณะรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตของประชาชน กรมการขนส่งทางบก ได้ดำเนินการตามมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ตามแผนที่กำหนดไว้อย่างต่อเนื่อง

พร้อมทั้งเข้มงวดการตรวจสภาพรถบรรทุกและรถโดยสาร ณ กรมการขนส่งทางบก และสำนักงานขนส่งทั่วประเทศ ตามมาตรฐานการตรวจสภาพรถที่กำหนดไว้ และออกตรวจวัดควันดำรถโดยสารและรถบรรทุก ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 20 จุด และบนถนนสายหลักและสายรองที่เข้าสู่กรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งบูรณาการความร่วมมือกับกรมควบคุมมลพิษ และกองบังคับการตำรวจจราจร ตรวจสอบควันดำรถโดยสารประจำทางขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ณ เขตการเดินรถ และบริเวณที่มีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 สูง โดยบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด

หากพบรถโดยสารหรือรถบรรทุกที่มีค่าควันดำเกินกำหนด เปรียบเทียบปรับสูงสุด 5,000 บาท และสั่งห้ามใช้รถทันที จนกว่าจะดำเนินการแก้ไขและผ่านการตรวจสภาพกับสำนักงานขนส่ง จึงจะนำรถกลับไปใช้งานได้ สำหรับผลดำเนินการตรวจสอบควันดำรถโดยสารและรถบรรทุก ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2562 จนถึงปัจจุบัน (21 มกราคม 2564) ตรวจรถแล้วจำนวนทั้งสิ้น 689,333 คัน พบรถที่มีค่าควันดำเกินกำหนดและพ่นห้ามใช้ จำนวน 8,762 คัน สำหรับรถที่ค่าควันดำไม่เกินกำหนด แต่อยู่ในระดับสูง จะออกหนังสือแนะนำให้หมั่นตรวจสอบดูแลสภาพรถไม่ให้เกิดควันดำ หากตรวจพบบนท้องถนนจะลงโทษอย่างเด็ดขาดต่อไป

นอกจากนี้ กรมการขนส่งทางบกได้ขยายการให้บริการตรวจสภาพรถพร้อมรับชำระภาษีรถประจำปี สำหรับรถโดยสารและรถบรรทุกตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ณ สถานีขนส่งสินค้าชานเมือง (พุทธมณฑล ร่มเกล้า และคลองหลวง) เพื่อลดจำนวนรถบรรทุกและรถโดยสารเข้าเขตกรุงเทพมหานครชั้นใน

อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวต่อไปว่า เพื่อให้การแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ที่เกิดจากภาคขนส่งมีความยั่งยืน กรมการขนส่งทางบกได้เพิ่มมาตรการเข้มงวดการตรวจสภาพรถยนต์ของสถานตรวจสภาพรถเอกชน (ตรอ.) โดยควบคุมการดำเนินงานแบบเรียลไทม์ผ่านกล้อง CCTV เพื่อให้เป็นไปตามกฎระเบียบที่ทางราชการกำหนด และมีแผนที่จะยกระดับเครื่องมือตรวจวัดควันดำของสถานตรวจสภาพรถเอกชนให้มีคุณภาพสูงยิ่งขึ้น เปิดช่องทางให้ประชาชนแจ้งเบาะแสรถบรรทุกและรถโดยสารควันดำทางสายด่วน 1584 ตลอด 24 ชั่วโมง, Line@: @1584DLT Facebook: 1584 ร้องเรียนรถโดยสารสาธารณะ https://www.facebook.com/dlt1584/ แอปพลิเคชัน DLT GPS

นอกจากนี้ กรมการขนส่งทางบก ยังได้รณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีส่วนร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ด้วยการตรวจสอบสภาพรถเบื้องต้นด้วยตัวเองเพื่อให้รถอยู่ในสภาพสมบูรณ์และไม่มีควันดำ รวมถึงสนับสนุนให้หันมาใช้รถยนต์พลังงานสะอาดและไม่ก่อมลพิษเพิ่มมากขึ้น เช่น รถยนต์ไฟฟ้า หรือเครื่องยนต์ NGV ซึ่งตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ได้ลดอัตราภาษีรถประจำปี ต่ำกว่า รถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อร่วมสนับสนุนลดมลพิษทางอากาศ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดฝุ่นละออง PM 2.5


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top