ดูเหมือนจะเกิดเรื่องวุ่นซะแล้ว สำหรับการบริหารจัดการแอปพลิเคชัน ‘หมอชนะ’ หลังจากทีมงานอาสาหมอชนะ ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ‘ทีมงานอาสาหมอชนะ MorChana Volunteer Team’ โดยระบุว่า การเติบโตและความสำเร็จของ “หมอชนะ” เปลี่ยนผ่านจากแอปอาสาสมัคร เป็นแอปของภาครัฐเต็มตัว
ทีมงานอาสาสมัครหมอชนะ มีความภูมิใจที่จะส่งมอบ แอปพลิเคชัน หมอชนะ อันเกิดจากการริเริ่มบูรณาการของภาคประชาชนสู่ภาครัฐ ที่มีความครบสมบูรณ์ในแนวทางการออกแบบและกระบวนการในการใช้งานทุกอย่าง ดังที่ได้เคยนำไปใช้แจ้งเตือนอย่างได้ผลเป็นที่ประจักษ์ในปีที่ผ่านมาเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้ภาครัฐได้นำไปใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการควบคุมการระบาดอย่างมีประสิทธิผล
จากการระบาดของโควิด-19 ที่ถาโถมเข้ามาอย่างฉับพลัน การรวมตัวของจิตอาสาหลายสิบกลุ่มจึงก่อกำเนิดขึ้น แทนที่จะต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างพัฒนา ในวาระวิกฤติแห่งชาตินี้ พวกเราได้หันหน้ามาจับมือเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน นำเอาจุดเด่นแต่ละไอเดีย มาบูรณาการร่วมมือกันภายใต้ทีม Code for Public โดยได้รับการสนับสนุนจากทั้งภาคเอกชนในนามกลุ่มช่วยกัน ภาครัฐคือกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และจิตอาสาอิสระจำนวนมากมายรวมกว่าร้อยคนที่ทำงานมาร่วมกัน โดยมีสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ช่วยเข้ามารับดูแลแอปหมอชนะอย่างเป็นทางการ
กว่า 9 เดือนที่ทีมงานอาสาสมัครหมอชนะได้ร่วมกันออกแบบ หมอชนะ ของประชาชนโดยคำนึงถึงเป้าประสงค์หลักในการควบคุมโรคอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยหลักการ สังคมช่วยดูแลซึ่งกันและกัน พวกเราได้เก็บรวบรวมความต้องการการใช้งานจากหลากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่กรมควบคุมโรค หน่วยงานรัฐ องค์กรเอกชน ตลอดจนประชาชนที่มีความต้องการต่างๆกัน โดยทีมงานอาสาฯมุ่งเน้นออกแบบเพื่อการใช้งานได้จริง และ คำนึงความเป็นส่วนตัว (data privacy) เป็นหลักการในการพัฒนามาตั้งแต่ต้น
ถึงเวลานี้หลายภาคส่วนในสังคมไทยที่ร่วมกันต่อสู้กับโควิด ได้จุดประกายแห่งความหวัง และมีกำลังใจ เมื่อรัฐบาลเห็นความจำเป็นในการติดตามประวัติการเดินทาง และตัดสินใจใช้เทคโนโลยีที่ใช้ได้จริงในการติดตามผู้มีโอกาสสัมผัสได้รับเชื้อ หันมายอมรับและเลือกใช้ แอป หมอชนะ เพื่อใช้ต่อสู้กับการระบาดอย่างรุนแรงของโควิดในรอบนี้
ทีมงานอาสาสมัครหมอชนะ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ งานที่ผ่านการทุ่มเทจากอาสาสมัครนับร้อย จะได้ก้าวหน้าขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง พวกเราหวังว่า การที่แอปได้เปลี่ยนผ่านไปอยู่ในการดูแลของภาครัฐอย่างเต็มตัว น่าจะทำให้ประสิทธิภาพการติดตามประวัติการเดินทางจากเดิมเป็นข้อมูลที่อาสาสมัครต้องค้นหาเอง เป็นการที่ภาครัฐ และกรมควบคุมโรค จะเป็นผู้นำข้อมูลต้นทางที่แม่นยำครบถ้วน เข้าสู่ระบบ เพื่อให้ระบบที่ถูกพัฒนามาพร้อมอยู่แล้ว ได้รับการนำมาใช้ในการตรวจสอบประวัติการเดิน ทางและค้นหาผู้มีโอกาสเสี่ยงได้รับเชื้อ เพื่อให้เกิดการแจ้งเตือนกับผู้ถือแอป รับรู้ถึงระดับความเสี่ยงของแต่ละบุคคล เพื่อให้กระบวนการควบคุมการระบาดเกิดความสมบูรณ์ครบวงจร
การมีข้อมูลผู้ป่วยตั้งต้น มาใช้ในการทำ contact tracing ให้ครบถ้วนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะทำให้ระบบ หมอชนะ ทำงานให้ประชาชนอย่างเต็มที่ตามที่ระบบได้ถูกวางไว้ หากไม่มีข้อมูล หรือไม่มีการดำเนินการ tracing ไม่มีการแจ้งเตือนและเปลี่ยนสีตามระดับ ก็จะไม่เกิดการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ แม้มีประชาชนจำนวนมากดาวน์โหลดแอป หมอชนะ ไปใช้ก็ตาม
ทีมงานอาสาสมัครหมอชนะ มีความเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า ภาครัฐ จะใช้ศักยภาพของระบบอย่างเต็มที่ เพื่อให้ประชาชนได้รับการเตือน และรับรู้ความเสี่ยงของตนเองผ่านการแสดงสีบ่งบอกสถานะความเสี่ยง (เขียว/เหลือง/ส้ม/แดง) ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการช่วยรัฐในการดูแลตนเอง และป้องกันการแพร่เชื้อสู่คนที่ใกล้ชิดด้วย ได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึงกว่าที่ทีมอาสาสมัครได้เคยดำเนินการมาเองในช่วงก่อนมีการระบาดอย่างวิกฤติในรอบนี้ อันจะเป็นการลดภาระงานและความเสี่ยงของบุคลากรทางการแพทย์ และเป็นส่วนเล็ก ๆ ที่ช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถควบคุมสถานการณ์โควิด และเอาชนะได้ในที่สุด
นอกจากนี้ บริษัท ห้างร้าน อาคาร โรงงาน สถานประกอบการ ที่ได้ใช้ แอปหมอชนะ ในปีที่ผ่านมา เป็นเครื่องมือช่วยบ่งชี้ความเสี่ยงของพนักงานหรือผู้มาติดต่อที่เข้ามาใช้สถานที่ผ่านการตรวจดูสีสถานะความเสี่ยงบนหน้าจอหมอชนะ ก็จะได้ความมั่นใจยิ่งขึ้นที่หมอชนะได้ถูกนำมาใช้ในวงกว้าง ในการให้การดูแลพนักงานและสถานที่ โดยอาศัยสถานะสีช่วยแยกบุคคลผู้เสี่ยงออกจากกลุ่มคนส่วนใหญ่ การปฏิบัติคัดกรองและดูแลอย่างเหมาะสมตามระดับความเสี่ยงของแต่ละบุคคลได้อย่างตรงจุด เพื่อลดโอกาสการแพร่เชื้อติดต่อระหว่างกัน และมุ่งให้กิจการยังคงสามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ ทำให้ไม่ต้องกลับไปปิดล็อคดาวน์ทั้งหมดแบบที่เสียหายต่อเศรษฐกิจ และเราทุกคนไม่อยากจะเห็นซ้ำอีก
จากนี้ไป เรามีความมั่นใจว่า การที่แอป หมอชนะ อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของภาครัฐ จะทำให้เกิดความชัดเจนในการให้ข้อมูลและการสื่อสารที่ทรงพลังของรัฐ อย่างเป็นทางการเพียงเสียงเดียว จะสามารถตอบคำถามความสงสัย ลดความสับสน เป็นไปด้วยความถูกต้อง คำนึงถึง privacy ของประชาชนอย่างมีธรรมภิบาลและทำให้ทุกคนในประเทศมีความสบายใจและมั่นใจที่จะร่วมกัน ให้ความร่วมมือใช้งานแอป หมอชนะ ในการต่อสู้วิกฤตินี้ด้วยกัน อย่างพร้อมเพรียง
ทีมงานอาสาสมัครหมอชนะ ยังคงพร้อมร่วมมือกับรัฐบาลต่อไป และยินดีช่วยเหลือรัฐบาลอย่างสุดกำลังความสามารถ เพื่อดูแลให้คนไทยผู้ใช้แอปได้ปลอดภัยจากโรค และได้ประโยชน์สูงสุดเป็นที่ตั้งตามเจตนารมณ์
ทั้งนี้ เพื่อให้แนวทางการพัฒนาในอนาคตเป็นไปอย่างมีเอกภาพ และเป็นไปตามแนวทางนโยบาย ยุทธวิธีต่อสู้กับโรคของภาครัฐ และเพื่อป้องกันความสับสนของสาธารณะ หากผู้ใช้ทุกท่านที่อาจมีข้อแนะนำ หรือ ความต้องการในการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นในฟังก์ชัน แนวความคิดที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแอป หมอชนะ ในแง่มุมใด ขอให้ท่านส่งตรงไปยังหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบแอป หมอชนะ ต่อไป เพื่อให้ได้รับการพิจารณาโดยผู้ที่ได้รับมอบหมายได้ตัดสินใจตามสมควร
และหากมีความเปลี่ยนแปลง ในแนวทางการใช้งาน การบริหารจัดการแอปในอนาคตต่อไปอย่างไร ก็ขอให้ผู้ใช้งานได้ติดตามข่าวสาร โดยตรงจากภาครัฐ ซึ่งจะเป็นข้อมูลทางการ เพียงแหล่งเดียว
Facebook ของหมอชนะ และช่องทางการสื่อสารต่างๆ ก็จะได้รับการดูแลและตอบโดยเจ้าหน้าที่รัฐที่ได้รับมอบหมายจากหน่วยงานของรัฐ
สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาแนวคิด การออกแบบ และการทำงานของระบบ หมอชนะ ตามที่ทีมอาสาสมัครได้ทำไว้แต่แรกเริ่ม รวมถึงสิ่งที่อยู่ระหว่างของการพัฒนา สามารถเข้าไปติดตามได้จาก https://www.facebook.com/CodeForPublic
ทีมงานอาสาสมัคร “หมอชนะ”
15/1/64
ขณะที่ในโลกทวิตเตอร์ มีการรีทวีตข้อความจาก ทวิตเตอร์ @PhilPrajya ของนายปรัชญา อรเอก ผู้ประกาศข่าวชื่อดัง ที่โพสต์ข้อความอ้างว่า "ทีมงานเอกชนพัฒนาแอปหมอชนะ ออกมาแฉเรื่องถูกผู้ใหญ่ล้วงลูกหนักเลย" พร้อมเปิดเผยข้อความสนทนาจากแชตไลน์ ของกลุ่ม Code for Public ซึ่งเป็นกลุ่มผู้พัฒนาซอฟต์แวร์อิสระ ระบุขอวางมือ เนื่องจากสาเหตุ 2 ประการ
ประการแรก ‘ผู้ใหญ่’ ในรัฐบาลทั้งระดับรัฐมนตรีและปลัดกระทรวง ขอเข้ามาควบคุมและกำหนดอนาคต ‘หมอชนะ’ แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และประการที่สอง เกิดจากการใส่เกียร์ว่างของเจ้าหน้าที่ระดับกรมฯ
ที่มา : เพจ ทีมงานอาสาหมอชนะ MorChana Volunteer Team, ทวิตเตอร์ @PhilPrajya