Monday, 13 January 2025
NEWS FEED

วิถีชีวิตแบบชุมชน ถ้าถอดรหัสความแข็งแกร่ง และปั้นออกมาต่อยอดในเชิงธุรกิจได้ ก็มีโอกาสสร้างโอกาสทางการท่องเที่ยวและรายได้ให้แก่คนพื้นที่ได้อย่างมาก

ล่าสุดโรงเรียนบ้านเขาเฒ่า หมู่ 3 ต.บางเตย อ.เมืองพังงา ได้เปิดสถานที่ท่องเที่ยวจุดเช็คอินแห่งใหม่ ‘ทุ่งดอกปอเทือง’ ที่กำลังชูช่อบานสีเหลืองสวยงาม ทำให้มีนชาวบ้านในพื้นที่และใกล้เคียง รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างแวะเวียนเข้ามาเยี่ยมชม บันทึกภาพสวย ๆ ลงในสื่อโซเชียลต่าง ๆ โดยปัจจุบันสถานที่ดังกล่าวเริ่มได้รับความสนใจ และมีผู้คนแวะเข้ามาเยี่ยมชมมากกว่า100 คน

ที่น่ารักไปกว่านั้น คือ ที่นี่จะให้เด็กนักเรียนเป็นมัคคุเทศน์น้อย พาเที่ยวชมตามจุดต่างๆ แถมยังทำหน้าที่เป็นช่างภาพถ่ายรูปให้กับนักท่องเที่ยวที่มาเยือน ตามจุดถ่ายรูปต่าง ๆ ที่สร้างสรรค์จากธรรมชาติและของเหลือใช้ในชุมชน จนสร้างความประทับใจให้กับผู้มาเยือนเป็นอย่างมาก

นายนิกรณ์ โยมเนียม ผอ.โรงเรียนบ้านเขาเฒ่า เปิดเผยว่า “โรงเรียนบ้านเขาเฒ่าใช้แนวคิด Happy school Model โดยเริ่มต้นจากการทำโรงเรียนให้เหมือนบ้านสร้างความสุข จากคุณครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงลูกๆนักเรียน

“จากนั้นก็ขยายผลไปสู่ชุมชนผ่านอุทยานการเรียนรู้ Happy school ซึ่งแต่เดิมพิกัดดังกล่าวเป็นสนามกีฬาขนาดใหญ่ แต่ด้วยจำนวนเด็กนักเรียนที่ลดน้อยลง จึงไม่ได้ประโยชน์เต็มพื้นที่ จนกลายเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงวัวของชาวบ้าน ทางโรงเรียนจึงเกิดไอเดียว่า ถ้าเรานำทุ่งหญ้าเลี้ยงวัวมาทำให้เกิดประโยชน์สร้างรายได้ให้กับโรงเรียนและชุมชน โดยให้นักเรียนมีส่วนร่วมน่าจะดี จึงได้ทำการปรับภูมิทัศน์พร้อมกับปลูกต้นปอเทืองเมื่อปลายปี 2563

“ขณะเดียวกัน ก็ได้มีการอบรมเด็กนักเรียนให้มีความพร้อมที่จะดูแลนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวในโรงเรียน โดยเมื่อช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ต้นปอเทือง ได้เริ่มออกดอกบานสะพรั่งเป็นสีเหลืองสวยงาม จึงกลายเป็นจุดเช็คอินแห่งใหม่ในพื้นที่ ขณะเดียวกันภายในโรงเรียน ยังมีการจัดมุมเรียนรู้ในการทำการเกษตรวิถีใหม่รับการท่องเที่ยว ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรในอนาคตควบคู่กันไป

“อย่างไรก็ตามอุทยานการเรียนรู้ Happy school นี้ ไม่ใช่เป็นแค่แหล่งท่องเที่ยวอย่างเดียว แต่เป็นห้องเรียนธรรมชาติให้กับนักเรียนที่เป็นห้องเรียนแห่งใหม่ ที่เด็กนักเรียนสามารถเรียนรู้อยู่กับธรรมชาติในทุกรายวิชา

ทั้งนี้เพื่อก่อให้เกิดรายได้ต่อชุมชนรอบข้าง ทางโรงเรียนยังได้เปิดโอกาสให้ผู้ปกครองในพื้นที่ เข้ามาขายของกินของใช้ให้กับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวชมดอกปอเทือง เพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกทางหนึ่ง และทางโรงเรียนได้มีการเก็บค่าเข้าชมทุ่งดอกปอเทืองคนละ 20 บาท เพื่อนำรายได้รายได้มาเป็นทุนการศึกษาของเด็กนักเรียนและเป็นค่าใช้จ่ายในโรงเรียน

สำหรับจุดเช็คอินทุ่งปอเทืองเปิดให้บริการทุกวันตั้งแต่เวลา 08.00 - 17.00น. สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่เพจเฟสบุ๊ค ‘โรงเรียนบ้านเขาเฒ่า’ หรือหมายเลขโทรศัพท์ 082-803-3503


ที่มา: อโนทัย งานดี / พังงา / 081-0836530

อำนาจเจริญ ปลูกกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์แห่งที่ 2 ต่อยอด ‘อำนาจเจริญโมเดล’ สร้างต้นแบบวิจัยและผลิตกัญชารักษาโรค เพิ่มโอกาสเข้าถึงการรักษาด้วยยากัญชาอย่างปลอดภัยและถูกกฎหมาย

คุณสุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานปลูกกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ที่โรงเรือนกัญชาโรงพยาบาลชานุมาน ซึ่งเป็นแห่งที่ 2 ของ จ.อำนาจเจริญ พร้อมติดตามความคืบหน้าการปลูกกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ โรงพยาบาลชานุมาน โดยมี นพ.ประภาส วีระพล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอำนาจเจริญ นพ.ปฐมพงษ์ ปรุโปร่ง รองนายแพทย์สาธารณสุขฯ รัฐวิสาหกิจชุมชน รายงานผลการดำเนินงานความคืบหน้า

ตามที่กระทรวงสาธารณสุข โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยกให้จังหวัดอำนาจเจริญ เป็นจังหวัดนำร่องปลูกกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ เพิ่มการเข้าถึงในการรักษาด้วยยากัญชาอย่างปลอดภัยและถูกกฎหมาย ซึ่งมี รพ.สต. โรงพยาบาล ร่วมกับวิสาหกิจชุมชน ดำเนินการ 2แห่ง คือ 1.) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพโนนดู่ ต.สร้างนกทา อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ 2.)โรงพยาบาลชานุมาน เพื่อวิจัยการผลิตกัญชาประโยชน์ทางการแพทย์ ภายในโรงเรือนระบบปิดตามมาตรฐานสากล เพื่อผลิตวัตถุดิบกัญชา การตรวจสอบคุณภาพ การใช้พื้นที่แปรรูป เพื่อใช้ผลิตยาสมุนไพรไทยต่อไป

พร้อมกันนี้ ยังได้เยี่ยมชมอาคารระบบตากแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ โรงพยาบาลชานุมาน ณ นิคมเกษตรกรรมทหารผ่านศึกชานุมาน อ.ชานุมาน จ.อำนาจเจริญ อีกด้วย


ภาพ : บัณฑิต สนุกพันธ์

ข่าว : ประวัติ นิธิเตชะยศสกุล

‘หมอธีระ วรธนารัตน์’ ย้ำโควิดรอบนี้ สาหัส คุมยากและกระจายตัวเร็ว แนะแนวทางการสู้ศึก ต้องขันน็อตให้แน่นทั้งเรื่องนโยบาย ระบบตรวจคัดกรอง และการป้องกันตัวของประชาชน คาดต้องใช้เวลาราว 6-8 สัปดาห์ คุมการระบาดอยู่หรือไม่

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความเกี่ยวกับสถานการณ์ “โควิด-19” ผ่านทางเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat โดยระบุว่า

สถานการณ์ทั่วโลก 8 กุมภาพันธ์ 2564

ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมกราคมเป็นต้นมา แนวโน้มการติดเชื้อต่อวันของโลกค่อยๆ ชะลอตัวลงมาอยู่ในระดับช่วงปลายตุลาคมปีที่แล้วราวเกือบห้าแสนคนต่อวัน ทั้งนี้เป็นผลมาจากการล็อคดาวน์ของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในยุโรป ยังไม่ใช่ผลจากการฉีดวัคซีน เพราะจำนวนการฉีดยังเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับประชากรทั้งหมดในแต่ละประเทศ กว่าจะเริ่มเห็นคาดว่าน่าจะเป็นช่วงมีนาคมเป็นต้นไปในบางประเทศ

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 328,545 คน รวมแล้วตอนนี้ 106,629,569 คน ตายเพิ่มอีก 7,682 คน ยอดตายรวม 2,325,703 คน

อเมริกา เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 86,767 คน รวม 27,594,868 คน ตายเพิ่มอีก 1,543 คน ยอดตายรวม 474,669 คน

อินเดีย ติดเพิ่ม 4,109 คน รวม 10,831,279 คน

บราซิล ติดเพิ่ม 26,845 คน รวม 9,524,640 คน

รัสเซีย ติดเพิ่ม 16,048 คน รวม 3,967,281 คน

สหราชอาณาจักร ติดเพิ่มอีก 15,845 คน รวม 3,945,680 คน ยอดตายรวมขณะนี้ 112,465 คน

อันดับ 6-10 เป็น ฝรั่งเศส ตุรกี อิตาลี สเปน และเยอรมัน ส่วนใหญ่ติดกันหลายพันถึงหลักหมื่นต่อวัน

แถบอเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย อย่างโคลอมเบีย เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ ยูเครน แคนาดา รวมถึงอิหร่าน บังคลาเทศ อิสราเอล อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ยังติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่น

แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็ยังมีติดเชื้อเพิ่มต่อเนื่องแบบทรงตัว

เกาหลีใต้ และไทย ติดเพิ่มหลายร้อย ส่วนจีน ฮ่องกง เวียดนาม และสิงคโปร์ ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่กัมพูชา นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย ติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ

ล่าสุดแอฟริกาใต้ประกาศหยุดแผนการฉีดวัคซีนของ Astrazeneca/Oxford ไว้ แม้จะได้วัคซีนมาหลักล้านโดสแล้วก็ตาม เนื่องจากทราบผลการศึกษาเบื้องต้นที่ชี้ว่า วัคซีนอาจไม่ได้ผลในการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการน้อยถึงปานกลางจากไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่คือ สายพันธุ์แอฟริกาใต้ที่ระบาดในประเทศ โดยจะหันไปใช้วัคซีนของ Pfizer/Biontech และ Johnson&Johnson แทน

นี่เป็นตัวอย่างที่ดีของการจัดหาวัคซีนที่มีความหลากหลาย เพื่อให้สามารถมีตัวเลือกในการจัดการกับสถานการณ์ได้อย่างทันเวลา เพื่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน

ทั้งนี้มีข่าวว่าทาง Astrazeneca/Oxford ก็กำลังทำการศึกษาวิจัยดัดแปลงวัคซีนให้สู้กับสายพันธุ์แอฟริกาใต้ใหม่ โดยอาจต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง คงต้องเอาใจช่วยและติดตามกันต่อไป

วิเคราะห์สถานการณ์ของเรา...

การเรียงตำแหน่งของกลยุทธ์ หรือที่เราเรียกว่า Strategic alignment นั้นมีความสำคัญมาก และส่งผลต่อความสำเร็จในการสู้ศึก

เราเรียนรู้จากระบาดซ้ำครั้งนี้ว่า หนักหนาสาหัส

เอาอยู่ เพียงพอ...ล้วนเป็นความคาดหวังที่ดูแล้วไม่ใช่ความจริง

กุญแจแห่งความสำเร็จในการสู้ศึกระลอกแรกนั้นคือ การสั่งการ และจัดการอย่างเป็นระบบ ทิศทางเดียวกัน และสามารถสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งประเทศได้พร้อมกัน

ในขณะที่ระลอกสองนั้น ใช้แนวทางยืดหยุ่น และให้จัดการกันเองในแต่ละพื้นที่ โดยอาศัยการทำงานของหน่วยงานต่างๆ การตอบสนองจึงอาจไม่เหมือนระลอกแรก

หากใช้ความรู้ที่ถูกต้องเหมาะสมเป็นแสงสว่างชี้ทาง โดยดูจากบทเรียนการเผชิญการระบาดซ้ำของประเทศต่างๆ จะช่วยให้เราวางแผนจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะจะรู้ว่าธรรมชาติของการระบาดเป็นเช่นไร โอกาสสำเร็จในการสู้ศึกมีมากน้อยเพียงใด และสู้รบแบบใดจะมีโอกาสแพ้ชนะมากน้อยแตกต่างกันเท่าใด

อย่างที่เคยเล่าให้ฟังกันไปแล้วว่า จะสู้สำเร็จ มักต้องมีนโยบายที่เคร่งครัดและทันเวลา ระบบการตรวจคัดกรองที่ครอบคลุม มาก และต่อเนื่อง รวมถึงความร่วมมือของประชาชนอย่างพร้อมเพรียง

การระบาดของเราหนักหนากว่าระลอกแรก คุมได้ยาก กระจายเร็ว เพราะอาจไม่บรรลุทั้งสามข้อข้างต้น แต่อย่างไรก็ตาม มาถึงจุดนี้ ต้องให้กำลังใจให้มีสติ และช่วยกันสู้ต่อไป โดยทราบว่าสถานการณ์ถัดจากนี้ เฉลี่ยแล้วน่าจะต้องใช้เวลาอีกราว 6 - 8 สัปดาห์ จึงจะเห็นผลลัพธ์ของระลอกสอง ว่าจะกดเหลือหลักหน่วย หลักสิบ หรือหลักร้อยต่อวัน ทั้งนี้ ผลลัพธ์ของการศึกจะเป็นตัวทำนายหลักสำหรับศึกในครั้งถัดๆ ไป ตามบทเรียนที่เห็นจากต่างประเทศทั่วโลก

แนวทางการสู้ศึกนี้คงหนีไม่พ้นสามข้อข้างต้น ที่ต้องช่วยกันขันน็อตให้แน่นทั้งเรื่องนโยบาย ระบบตรวจคัดกรอง และความร่วมมือในการป้องกันตัวของประชาชน

แต่ที่เป็นห่วงมากคือ การละสายตาไปพยายามมองหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวต่างประเทศ เช่น การแพลมแนวคิด Vaccination passport ที่ลึกๆ คงหวังจะโกยเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศหากมีประวัติได้รับวัคซีนแล้ว แม้จะอ้อมแอ้มว่ายังไม่ใช่ช่วงเวลานี้ก็ตาม

สมาธิที่หลุดไปจากการควบคุมการระบาดเป็นสิ่งที่น่ากลัวนะครับ

บทเรียนจากระลอกนี้ เราเห็นความไม่พร้อม ไม่เพียงพอ และไม่สอดคล้องกันของระบบต่างๆ เรื่องนี้ต้องยอมรับกันเสียที

จะสู้ศึกระยะยาวได้ โดยที่ประชาชนในประเทศมีสวัสดิภาพ และความปลอดภัยในชีวิต จำเป็นจะต้องมีองค์ประกอบเชิงยุทธศาสตร์ที่เข้มแข็ง ดังต่อไปนี้

หนึ่ง "ระบบตรวจคัดกรองที่มีสมรรถนะตรวจได้มาก มีประสิทธิภาพ ครอบคลุมทุกพื้นที่ และทำได้ต่อเนื่อง" ไม่ใช่เต็มที่แค่ระดับ 10,000 กว่าตัวอย่างต่อวัน ซึ่งถือว่ายังน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ

สอง "ระบบการดูแลรักษาที่มีทรัพยากรมากเพียงพอ" ทั้งคน เงิน อุปกรณ์ป้องกัน หยูกยา รวมถึงเตียงและสถานที่ โดยมีระบบส่งต่อที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ปลอดภัย ทั้งต่อบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วย และประชาชน ทั้งนี้ต้องไม่ให้เกิดภาวะที่เกินคาดหมาย และหยุดตรวจเพราะกลัวเตียงเต็ม หรือต้องมาเร่งสร้างรพ.สนามแบบกระทันหัน และมีปัญหาในการเจรจากับพื้นที่

และสาม "วัคซีนป้องกันโรค" ที่มีหลากหลาย มีประสิทธิภาพสูง ปริมาณมากพอ โดยประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างถ้วนทั่ว ก่อนหน้าที่จะคิดหามาตรการเพิ่มความเสี่ยงต่อการระบาดซ้ำในประเทศอย่างการรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา

ต้องไม่ลืมว่า วัคซีนที่มีอยู่ตอนนี้ยัง "ไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อโรคโควิดอย่างเพียงพอ" แต่ป้องกันการป่วยรุนแรง แม้การป้องกันการป่วยรุนแรงก็ไม่ได้มีประสิทธิภาพ 100% เลยสักตัวเดียว

วัคซีน Pfizer/Biontech และ Moderna ประสิทธิภาพมากสุดคือประมาณ 95% แต่เราไม่มี

วัคซีนที่เราวางแผนจะใช้นั้น Astrazeneca/Oxford มีประสิทธิภาพแบบ full dose/full dose ประมาณ 63.1% (ช่วงความเชื่อมั่น 51.8 - 71.7%)

ในขณะที่วัคซีน Sinovac ของจีน ผลการศึกษาระยะที่สาม ยังไม่เห็นการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทางการแพทย์ แม้จะมีข่าวออกทางสื่อมวลชนหลากหลายประเทศก็ตาม ก็จำเป็นต้องรอดูผลวิจัยโดยละเอียด

ทั้งนี้การระบาดของไวรัสที่กลายพันธุ์ ทั้งสายพันธุ์สหราชอาณาจักร บราซิล และแอฟริกา ก็ล้วนทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการระบาดซ้ำได้มากขึ้นทั่วโลก

โดยวัคซีนแต่ละชนิดตอนนี้ก็ยังมีข้อมูลแตกต่างกันไป วัคซีนบางชนิดพบว่าภูมิคุ้มกันที่เกิดจากวัคซีนยังได้ผลกับบางสายพันธุ์ แต่วัคซีนบางชนิดกลับไม่ได้ผลหรือได้ผลน้อยลงมาก

ดังนั้นหากไม่มีวัคซีนที่หลากหลายเพียงพอ และไม่มีมากเพียงพอสำหรับคนในประเทศ การเปิดประตูรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ แม้จะได้วัคซีนมาก่อนก็ตาม ก็ย่อมมีโอกาสนำพาเชื้อเข้ามาสู่ในบ้านได้อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะส่วนใหญ่ไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อ แต่เป็นเพียงการลดความรุนแรงของโรค

นี่คือสิ่งที่ประชาชนอย่างเราๆ ควรรู้ และช่วยกันจับตาดูความเคลื่อนไหว เรียกร้องให้เกิดมาตรการที่เน้นสวัสดิภาพความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน

ขอให้ป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด ใส่หน้ากากเสมอ ล้างมือ อยู่ห่างๆ คนอื่นหนึ่งเมตร ลดละเลี่ยงการกินดื่มในร้าน ซื้อกลับจะปลอดภัยกว่า ลดละเลี่ยงการรวมกลุ่มกันสังสรรค์ปาร์ตี้ท่องเที่ยว

คอยสังเกตอาการตนเองและครอบครัว หากไม่สบาย ควรหยุดเรียนหยุดงานและไปตรวจรักษา

ด้วยรักต่อทุกคน และเอาใจช่วยเสมอ


อ้างอิง

South Africa halts rollout of AstraZeneca vaccine. Financial Times. 8 February 2021.

AstraZeneca’s Vaccine Does Not Work Well Against Virus Variant in South Africa. New York Times. 7 February 2021.

‘บิ๊กป้อม’ สั่งแก้ปมบุกรุกที่ดิน พร้อมเร่งพิสูจน์สิทธิ์ครอบครองที่ดินรัฐ พร้อมย้ำต้องอยู่บนพื้นฐานกฎหมาย - เหมาะสมเป็นธรรม ยืนยันรัฐบาลจะพยายามหาทางออก ที่กระทบความเป็นอยู่ของประชาชนให้น้อยที่สุด

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหา การบุกรุกที่ดินของรัฐ(กบร.)ครั้งที่ 1/2564 มีนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานเกี่ยวข้องเข้าร่วม

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า "ความเป็นอยู่ของประชาชนต้องควบคู่กับการยกระดับคุณภาพชีวิตในการครอบครองที่ดิน เพื่อที่อยู่อาศัยและใช้ประโยชน์เป็นที่ทำกิน โดยรัฐบาลพยายามหาทางออกเพื่อแก้ไขปัญหาการรุกที่ของรัฐ ที่กระทบความเป็นอยู่ของประชาชนให้น้อยที่สุด พร้อมกำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

สร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในพื้นที่ให้การแก้ปัญหาอยู่บนพื้นฐานความถูกต้องตามกฎหมาย และอยู่บนประโยชน์ร่วมกันอย่างเหมาะสมเป็นธรรม รักษาไว้ซึ่งธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่มีค่าของประเทศให้คงอยู่"

โดยที่ประชุมเห็นชอบหลักการให้มีการแก้ไขปัญหา ป้องกันการบุกรุกที่ดินของรัฐ ตามมาตรการของกบร.ใน 2 เรื่องสำคัญ ได้แก่ การพิสูจน์สิทธิ์การครอบครองที่ดินของบุคคลในเขตที่ดินของรัฐ ขั้นตอน และวิธีการดำเนินงาน ของคณะอนุกรรมการอ่านภาพถ่ายทางอากาศ ให้ไปเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.)

นอกจากนั้นรับทราบปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ สรุปผลการดำเนินงาน กบร.จังหวัด และกบร.กทม. ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558-2563 มีค่าเฉลี่ยการแก้ไขปัญหา ข้อโต้แย้งสิทธิในที่ดิน ที่มีข้อยุติปรากฎว่าราษฎรที่อาศัยอยู่ก่อน และเป็นที่ดินของรัฐ ร้อยละ 78 และได้กำหนดประเภทที่ดินของรัฐ ที่เข้าสู่กระบวนการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา ได้แก่ ที่สาธารณะประโยชน์ ที่ราชพัสดุ และที่ป่าไม้ ตามลำดับ

‘ธนาธร’ เฮ! หลังศาลมีคำสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาคำร้องดีอีเอส กรณีระงับคลิปไลฟ์สดวัคซีนโควิด พาดพิงสถาบัน ชี้เนื้อหามุ่งเน้นการ กล่าวหารัฐบาลบกพร่อง ส่วนข้อมูลเรื่องผู้ถือหุ้นเป็นเพียงส่วนน้อย ไม่ชัดเจนกระทบความมั่นคง

วันที่ 8 ก.พ. ที่ห้องพิจารณา 906 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำสั่งคดีหมายเลขดำ พศ.76/2546 ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งระงับการเผยแพร่คลิปไลฟ์สดของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า กรณีการไลฟ์สดเกี่ยวกับการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของรัฐบาล โดยมีเนื้อหาพาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์ ซึ่งก่อนหน้านี้ ศาลได้มีคำสั่งให้ระงับคลิปตามที่ดีอีเอสยื่นร้องขอ ต่อมานายธนาธรได้ยื่นคัดค้าน โดยศาลได้ไต่สวนคู่ความทั้งสองฝ่ายเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ในวันนี้มีผู้แทนดีอีเอสและทนายความผู้รับมอบอำนาจจากนายธนาธรเดินทางมาศาล ส่วนนายธนาธรไม่ได้เดินทางมา

โดยศาลได้อ่านคำสั่ง ซึ่งมีเนื้อหาพิเคราะห์ทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงโดยละเอียด เนื้อหาที่นายธนาธร ผู้คัดค้านกล่าว มุ่งเน้นการกล่าวหารัฐบาลบกพร่อง ข้อมูลเรื่องผู้ถือหุ้นเป็นเพียงส่วนน้อย ไม่เป็นประเด็นหลักในการนำเสนอ ไม่สามารถเห็นได้ชัดเจนถึงกับกระทบความมั่นคง จึงให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาเเละคำสั่งศาลที่ให้ระงับการเผยแพร่คลิปเมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2564 เป็นอันสิ้นผล ยกคำร้อง

ธุรกิจสปาทรุดหนัก จากพิษโควิด-19 ล่าสุดพบเปิดให้บริการแค่ 20% จากจำนวนกว่า 8,000 แห่ง ส่งผลแรงงานที่เกี่ยวข้องตกงานแล้วกว่า 2.4 แสนคน วอนรัฐพยุงการจ้างงานภาคท่องเที่ยว ช่วยจ่ายค่าแรงคนละครึ่งกับเอกชน นาน 6 - 12 เดือน

นายกรด โรจนเสถียร นายกสมาคมสปาไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมของธุรกิจสปานั้น ถือว่าได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะธุรกิจร้านนวดสปา ซึ่งมีกว่า 8,000 แห่งที่ได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ.2559 มีจำนวนบุคลากรที่เกี่ยวข้องรวมกว่า 3 แสนคน ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนร้านนวดสปาเปิดให้บริการเพียง 20% ของทั้งหมด และแรงงานที่เกี่ยวข้องกว่า 80% หรือราว 240,000 คน อยู่ในสภาวะตกงาน

เพื่อแก้ปัญหาและเยียวยาผลกระทบให้กับผู้ประกอบธุรกิจ สมาคมฯ จึงจัดทำข้อเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งช่วยเหลือ โดยเฉพาะการช่วยพยุงการจ้างงานภาคท่องเที่ยว ด้วยการทำโครงการร่วมจ่าย ระหว่างรัฐและเอกชนช่วยกันเงินเดือนให้พนักงานคนละครึ่ง วงเงินต่อรายไม่เกิน 7,500 บาท รวมจำนวน 8 แสนคน เป็นระยะเวลา 6-12 เดือน รวมทั้งเสนอให้คลายล็อกธุรกิจบริการออนเซ็น ภายใต้ พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ เพราะไม่ได้มีลักษณะเหมือนสถานประกอบการอาบอบนวด

"ขณะนี้ได้รับทราบมาว่า ได้มีกลุ่มทุนจากต่างประเทศหลายรายกำลังเข้ามาหาช่องทางซื้อกิจการในประเทศไทยจำนวนมาก หลังจากธุรกิจหลายประเภทได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา โดยส่วนของธุรกิจสปาเองนั้น ก็มีกลุ่มทุนจากจีนหลายรายที่แสวงหาช่องทางเข้ามาซื้อกิจการของไทยที่ประสบปัญหาด้านรายได้ หรือมีสายป่านทางธุรกิจที่ไม่ยาวพอ และอาจขยายไปยังธุรกิจอื่นๆ ในภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมที่ตอนนี้กำลังประสบปัญหาอย่างหนัก"

หัวหน้าพรรคกล้า ‘กรณ์ จาติกวณิช’ แนะรัฐบาลปรับวิธีเยียวยาผลกระทบโควิด-19 โดยเฉพาะผู้สูงอายุ

นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า ได้แสดงความเห็นถึงการเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19ระบาดในกลุ่มผู้สูงอายุของรัฐบาล ผ่านเฟซบุ๊ก กรณ์ จาติกวณิช - Korn Chatikavanij โดยมีเนื้อหาดังนี้

ผู้สูงอายุ กับการเยียวยา

วันนี้ขณะลงพื้นที่หลายเขตในกรุงเทพ มีชาวบ้านจำนวนมากได้ขอพูดคุยในประเด็นความเดือดร้อนต่าง ๆ

ที่น่าเห็นใจที่สุดคือ "ผู้สูงอายุ" เพราะเขาขึ้นทะเบียนไม่ได้ และตั้งคำถามง่ายๆ ฝากผมไปถึงผู้มีอำนาจว่า "ทำไมรัฐบาลไม่ดูแลผู้สูงอายุด้วยการโอนเงินเยียวยาตรงเข้าบัญชีที่เขารับเบี้ยผู้สูงอายุอยู่แล้วเดือนละ 600 - 1,000 บาท?"

เพราะข้อเท็จจริงแม้แต่เงินพันบาทนั้น ด้วยสภาพเศรษฐกิจจากโควิดตอนนี้ไม่เพียงพอแน่นอน และลูกหลานที่เคยมีงาน มีเงินดูแลพ่อแม่ ตอนนี้ชักหน้าไม่ถึงหลัง ตกงานกันก็มาก แถมการเยียวยารูปแบบต่าง ๆ ก็ค่อนข้างล่าช้า

ส่วนการช่วยเหลือนั้น รอบนี้ทุกคนอยากให้เป็น "เงินสด" ผมเองก็คิดอย่างนี้แต่แรก ถึงแม้ผมเข้าใจเจตนาที่ดีของรัฐบาลที่จะให้มีการใช้เงินผ่าน "เป๋าตัง" เพื่อมุ่งสู่การเข้าระบบดิจิตัลทางการเงิน แต่เจตนาดีในกรณีนี้ "ผิดจังหวะ" ครับ

ตอนทำ "คนละครึ่ง" หรือ "เราเที่ยวด้วยกัน" คือบริบทของการฟื้นฟูก่อนระบาดระลอกใหม่ แต่วันนี้คนเดือดร้อนแบบขาดเงินสดหนักมากจากโควิดรอบใหม่

ผู้กำหนดนโยบาย (รวมถึงตัวผมเอง) ไม่มีทางที่จะคิดแทนชาวบ้านได้ทั้งหมดว่าเขาเดือดร้อนที่ต้องใช้เงินอย่างไร วันนี้บางคนเพียงต้องการเงินสดเพื่อให้ลูกมีเงินติดไปโรงเรียน แต่ก็ไม่สามารถใช้เงินเยียวยาตามความต้องการนี้ได้

ผมทำนโยบายมาก็เยอะนะครับ บทเรียนที่สำคัญคือต้องเอาความต้องการของผู้เดือดร้อนเป็นที่ตั้ง เมื่อทำแล้วมีช่องโหว่ต้องรีบปรับทันที อย่าทำอะไรที่สลับซับซ้อนเกินไป สำคัญที่สุดคือ อย่าฟังแต่ข้าราชการและนักวิชาการ ต้องมีทีมลงไปฟังประชาชนคนเดินถนน ชาวบ้านร้านตลาดตัวจริง

เปรียบเทียบกับการออกแบบ App ก็ได้ครับ โปรแกรมเมอร์ที่เก่งที่สุดในโลกก็ยังต้องทดสอบกับผู้ใช้บริการจริงเพื่อตรวจเช็ค user experience เสร็จแล้วก็เอาข้อมูลมาปรับให้ App ใช้ง่ายขึ้นและตอบโจทย์ผู้ใช้มากขึ้น

ไม่สายเกินไปที่จะปรับแก้ครับ

เอาใจช่วยเสมอ ประชาชนรออยู่

"ทิพานัน" ยกผลโพลพอใจรัฐคุมโควิดรอบใหม่ ไม่แปลกใจ หาก ‘3 ป.’ จะสอบผ่านซักฟอก เพราะผลงานเป็นที่ประจักษ์ เย้ยศึกอภิปรายครั้งนี้ไม่ห่วงรัฐบาล แต่ห่วงฝ่ายค้านทำประชาชนผิดหวัง อภิปรายแบบตีหัวเข้าบ้าน ซ้ำรอย ‘ธนาธร’ บิดเบือนตัดแปะ

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ อดีตรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ของนิด้าโพล พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 42.13 ค่อนข้างพอใจกับการดำเนินการของรัฐบาลตั้งแต่ ธ.ค. 63 - 31 ม.ค. 64 ในการป้องกันการแพร่ระบาดโควิดรอบใหม่ เพราะมีการควบคุมที่ไม่เข้มงวดมากเกินไป ทำให้ประชาชนบางส่วนไม่ค่อยได้รับผลกระทบมาก

ปิดเฉพาะจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก สามารถดำรงชีวิตตามปกติได้ ขณะที่อีกร้อยละ 27.60 ระบุว่า พอใจมาก เพราะ มีมาตรการควบคุมป้องกันโรคได้อย่างรวดเร็ว มีการจัดแบ่งพื้นที่เสี่ยงได้ชัดเจน สามารถทำงานหรือกิจกรรมต่างๆ ได้ตามปกติกับพื้นที่ที่ไม่ได้คุมเข้ม ว่า ขอบคุณพี่น้องประชาชนที่ได้เห็นถึงผลงานความตั้งใจจริงของรัฐบาลในการให้ความสำคัญกับสุขภาพ ความปลอดภัยของประชาชน และปัญหาปากท้อง ความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ ควบคู่กันไป

การรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย สะท้อนออกมาเป็นความพึงพอใจของพี่น้องประชาชน ที่ผ่านมาไทยยังได้รับความชื่นชมในระดับโลกอีกครั้งเมื่อวันที่ 28 ม.ค. ที่ผ่านมา จากการจัดอันดับของสถาบันโลวี (Lowy Institute) ของออสเตรเลียที่ยกให้ไทยอยู่ในอันดับที่ 4 ติดอันดับท็อป 5 ประเทศที่จัดการกับ Covid-19 ได้ดีที่สุดในโลก นี่ยิ่งทำให้เห็นถึงผลงานการดูแลชีวิตประชาชนได้อย่างดียิ่ง

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า ที่สำคัญที่ประชาชนเห็นว่า มีการผ่อนคลายมาตรการของรัฐที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ก.พ. 64 ก็พบว่าร้อยละ 43.57 เห็นด้วยมาก เพราะทำให้ธุรกิจดำเนินกิจกรรมได้ เศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อนได้ดีขึ้น และสามารถกลับมาประกอบอาชีพ การเรียนการสอน หรือกิจกรรมต่างๆ ได้ตามปกติ ทำให้ตนไม่ห่วงในประเด็นที่ฝ่ายค้านจะอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เพราะผลการทำงานที่ผ่านมามีประสิทธิภาพ และโปร่งใสคาดว่าจะได้รับความไว้วางใจในการบริหารประเทศต่อไป ดังที่จะเห็นได้จากผลสำรวจความเห็นของซูเปอร์โพล พบว่าประชาชน ร้อยละ 86.3 เชื่อมั่นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ละพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จะสามารถผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจไปได้ เพราะมีผลงานเป็นที่ประจักษ์

“ที่น่าสังเกตคือ ผลสำรวจของซูเปอร์โพล ประชาชนร้อยละ 98.3 มองว่าการอภิปรายของฝ่ายค้านเพื่อประโยชน์ทางการเมืองมากกว่าชาติ และร้อยละ 90.9 ของประชาชนคาดหวังข้อมูลของฝ่ายค้านน่าเชื่อในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตนจึงอยากให้ฝ่ายค้านตระหนักในความคาดหวังของประชาชน ขอให้การบ้านอย่างรอบคอบรอบด้าน อย่าทำให้ผิดหวังในการทำหน้าที่ เช่นการนำข้อมูลเลื่อนลอยมาพูดในสภาอันทรงเกียรติ แล้วตีหัวเข้าบ้าน ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของพี่น้องประชาชนที่มีต่อฝ่ายค้านเองเหมือนอย่างที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้าโชว์ซักฟอกรัฐบาลนอกสภาฯ ไปก่อนหน้านี้ด้วยข้อมูลที่เข้าข่ายบิดเบือนตัดแปะ ปะติดปะต่อกับความมโนและเจตนาไม่สุจริต จนถูกดำเนินคดีอยู่ในขณะนี้” น.ส.ทิพานัน กล่าว

“นิด้าโพล” เผยคนไทยกลัวติดโควิดเพิ่มขึ้น 63% ขณะที่ 42.13% ค่อนข้างพอใจมาตรการคุมโควิดรอบใหม่ของรัฐบาล ส่วนการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด พบส่วนใหญ่ ร้อยละ 63.12 จะรับบริการฉีดวัคซีนฟรีจากรัฐบาล แต่ยังมีอีกร้อยละ 23.57 ที่ระบุว่า จะไม่ฉีดวัคซีน

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “COVID-19 รอบใหม่” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 1 – 3 กุมภาพันธ์ 2564 จากประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,315 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 รอบใหม่ การสำรวจอาศัย การสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 97.0

จากการสำรวจเมื่อถามถึงความกลัวของประชาชนว่าจะติดเชื้อไวรัส COVID-19 จากการแพร่ระบาดในขณะนี้ พบว่า ร้อยละ 25.86 ระบุว่า มีความกลัวมาก เพราะ เชื้อไวรัส COVID-19 มีการเเพร่กระจายอย่างรวดเร็วมาก ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อ ประชาชนบางกลุ่มยังละเลย ในการป้องกันตนเอง และยังไม่มีวัคซีนหรือยารักษาให้หายขาด ร้อยละ 37.79 ระบุว่า ค่อนข้างมีความกลัว เพราะ ผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 มีจำนวนมากกว่ารอบที่แล้ว พบผู้ที่ติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการมากขึ้นทำให้ติดกันง่ายกว่าเดิม จำเป็นต้องเดินทางไปทำงานและต้องเจอกับผู้คนจำนวนมาก ร้อยละ 18.86 ระบุว่า ไม่ค่อยมีความกลัว เพราะ ประชาชนส่วนใหญ่ดูแลและป้องกันตนเองดี หลีกเลี่ยงไปพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง และมั่นใจในการทำงานของบุคลากรทางการเเพทย์ในการรักษาให้หาย และร้อยละ 17.49 ระบุว่า ไม่มีความกลัวเลย เพราะ ประชาชนส่วนใหญ่มีการป้องกันตนเองอย่างดีมาก และไม่ได้อาศัยในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจความกลัวของประชาชนว่าจะติดเชื้อไวรัส COVID-19 จากการแพร่ระบาดในขณะนี้ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2563 พบว่า ผู้ที่ระบุว่า ไม่ค่อยมีความกลัว และไม่มีความกลัวเลย มีสัดส่วนลดลง ซึ่งในขณะที่ผู้ที่ระบุว่า มีความกลัวมาก และค่อนข้างมีความกลัว มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น

ด้านความพึงพอใจของประชาชนต่อการดำเนินการของรัฐบาลตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 ถึง 31 มกราคม 2564 ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 รอบใหม่ พบว่า ร้อยละ 27.60 ระบุว่า พอใจมาก เพราะ มีมาตรการควบคุมป้องกันโรคได้อย่างรวดเร็ว มีการจัดแบ่งพื้นที่เสี่ยงได้ชัดเจน สามารถทำงานหรือกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามปกติกับพื้นที่ที่ไม่ได้คุมเข้ม ร้อยละ 42.13 ระบุว่า ค่อนข้างพอใจ เพราะ มีการควบคุมที่ไม่เข้มงวดมากเกินไป ทำให้ประชาชนบางส่วนไม่ค่อยได้รับผลกระทบมาก ปิดเฉพาะจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก สามารถดำรงชีวิตตามปกติได้ ร้อยละ 20.99 ระบุว่า ไม่ค่อยพอใจ เพราะ การคุมเข้มกับกิจกรรมบางอย่างยังไม่รัดกุม เช่น ให้มีการจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ การเดินทางข้ามจังหวัด และการเข้ามาทำงานของแรงงานต่างด้าวยังขาดการควบคุมที่รัดกุม ทำให้ยังพบผู้ติดเชื้ออยู่จำนวนมาก และร้อยละ 9.28 ระบุว่า ไม่พอใจเลย เพราะ ต้องการให้มีการควบคุมที่เข้มข้นเหมือนครั้งก่อน และต้องการให้มีการล็อคดาวน์ทั้งประเทศ

สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อการผ่อนคลายมาตรการของรัฐในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 รอบใหม่ ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 พบว่า ร้อยละ 43.57 ระบุว่า เห็นด้วยมาก เพราะ ทำให้ธุรกิจดำเนินกิจกรรมได้ เศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อนได้ดีขึ้น และสามารถกลับมาประกอบอาชีพ การเรียนการสอน หรือกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามปกติ ร้อยละ 34.68 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย เพราะ ประชาชนได้ผ่อนคลายบ้าง มีการรับมือทางการแพทย์ที่ดีขึ้น ประชาชนดำรงชีวิตสะดวกมากขึ้น และประกอบอาชีพ หารายได้ได้เหมือนเดิม ร้อยละ 14.75 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะ สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ยังไม่ดีขึ้น ทำให้ การใช้ชีวิตแย่ลงกว่าเดิม รายได้จะหายไปมากกว่าเดิม และต้องการให้เลื่อนระยะเวลาการเปิดสถานศึกษาออกไปอีก ร้อยละ 6.39 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย เพราะ ประชาชนบางกลุ่มยังละเลยการป้องกันตนเองโดยเฉพาะเด็กนักเรียน และจำนวนของผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 ยังไม่ลดลง และร้อยละ 0.61 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงการตัดสินใจของประชาชนเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส COVID-19 พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 63.12 ระบุว่า จะรับบริการฉีดวัคซีนฟรีจากรัฐบาล รองลงมา ร้อยละ 23.57 ระบุว่า จะไม่ฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส COVID-19 ร้อยละ 7.98 ระบุว่า จะยอมเสียเงินเองในการฉีดวัคซีนตามโรงพยาบาลเอกชนที่ได้รับการอนุญาตจากรัฐ และร้อยละ 5.33 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top