Sunday, 6 July 2025
ECONBIZ

‘เคทีซี’ ร่วมฉลองเปิดตัวปั๊มน้ำมัน ‘ไซโนเปค ซัสโก้’ สัญชาติจีน ประเดิมรัชดาฯ สาขาแรก พร้อมจัดโปรโมชันแก่ผู้ถือบัตรเครดิต

(31 ต.ค.66) เคทีซีร่วมฉลองการเปิดตัวสถานีบริการน้ำมันแบรนด์ใหม่ ไซโนเปค ซัสโก้ (SINOPEC SUSCO) แห่งแรกของประเทศไทย โดย ‘ไซโนเปค ซัสโก้’ เป็นบริษัทพลังงานชั้นนำยักษ์ใหญ่จากจีน ที่มีเครือข่ายสถานีให้บริการน้ำมันมากเป็นอันดับ 2 ของโลก พร้อมจัดโปรโมชัน เมื่อเติมน้ำมันและชำระด้วยบัตรเครดิตเคทีซี ที่สถานีบริการน้ำมันไซโนเปค ซัสโก้ (สาขารัชดาภิเษก ขาเข้า) ตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2566 – 31 ธันวาคม 2566

นายสุวัฒน์ เทพปรีชาสกุล ผู้บริหารสูงสุด ฝ่ายการตลาดบัตรเครดิต ‘เคทีซี’ หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ร่วมแสดงความยินดีกับ มร.หลี่ เว่ย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไซโนเปค ซัสโก้ จำกัด พร้อมกล่าวว่า “ที่ผ่านมาเราได้สนับสนุนกิจกรรมทางการตลาดกับซัสโก้ด้วยดีมาตลอด และวันนี้นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่ทางซัสโก้ได้ขยายความร่วมมือในการลงทุนกับทางไซโนเปค ซึ่งจะทำให้คนไทยมีทางเลือกในการใช้น้ำมันที่มีคุณภาพจากไซโนเปค ซัสโก้ และเพื่อร่วมฉลองการเปิดตัวสถานีบริการน้ำมัน ไซโนเปค ซัสโก้ สาขาแรกของประเทศไทยที่ถนนรัชดาภิเษก ทางเคทีซีจึงมอบสิทธิพิเศษให้แก่สมาชิกบัตรเครดิตเคทีซีที่เติมน้ำมัน และชำระยอดใช้จ่ายตั้งแต่ 1,000 บาทขึ้นไป จะได้รับน้ำดื่มขนาด 1.5 ลิตร เพิ่มอีก 1 ขวด จากที่ทางสถานีบริการน้ำมันฯ ได้จัดโปรโมชันเติมน้ำมันครบทุก 900 บาท รับน้ำดื่ม 1 ขวด โดยสมาชิกบัตรเครดิตเคทีซี จะได้รับรวมทั้งสิ้นเป็น 2 ขวด หรือหากใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเคทีซี ยูเนี่ยนเพย์ ยอดตั้งแต่ 900 บาทขึ้นไป รับ e-Coupon เครดิตเงินคืนสูงสุด 40 บาท โดยไม่ต้องทำการลงทะเบียนใดๆ ตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2566 - 31 ธันวาคม 2566”

ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ KTC 02 123 5000 หรือติดตามโปรโมชันของเคทีซีได้ที่ https://www.ktc.co.th สำหรับผู้ที่ต้องการสมัครสมาชิกบัตรเครดิตเคทีซี สามารถคลิกดูรายละเอียดได้ที่ลิงก์ https://ktc.today/apply-card หรือติดต่อศูนย์บริการสมาชิก ‘เคทีซี ทัช’ ทุกสาขาทั่วประเทศ

‘MG’ เปิดตัวโรงงานประกอบแบตเตอรี่แห่งแรกในอาเซียน ผุดกำลังการผลิต 50,000 ก้อนต่อปี เดินสายพานปี 67

(31 ต.ค.66) บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์ - ซีพี จำกัด และ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายรถยนต์เอ็มจีในประเทศไทย ประกาศเปิดโรงงานแบตเตอรี่อีวีแห่งแรกในภูมิภาคอาเซียนบนพื้นที่ NEW ENERGY INDUSTRIAL PARK นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเออีสเทิร์นซีบอร์ด 2 (WHA ESIE 2) จังหวัดชลบุรี ด้วยกำลังการผลิตกว่า 50,000 ก้อนต่อปี พร้อมเข้าสู่บทบาทการเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย และปักหมุดให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอีวีแห่งภูมิภาคอาเซียน

บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด ได้เปิดโรงงานแบตเตอรี่อีวีแห่งใหม่ ภายใต้ชื่อ HASCO-CP BATTERY SHOP ในภูมิภาคอาเซียนบนพื้นที่ NEW ENERGY INDUSTRIAL PARK ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 75 ไร่ หลังทำพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยแบ่งพื้นที่เป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ ได้แก่ ส่วนการประกอบแบตเตอรี่ ประกอบด้วยสายการผลิตอัตโนมัติที่ทันสมัยอย่างการนำหุ่นยนต์ (Robotic) เข้ามาช่วยในการผลิตเพื่อให้ได้มาตรฐานที่แม่นยำ การเชื่อมโดยเลเซอร์ (Laser Welding) เพื่อให้ได้คุณภาพของการเชื่อมที่ดีการตรวจสอบด้วย CCD (Charge Coupled Device) เพื่อความแม่นยำในการตรวจสอบเทียบกับต้นแบบในทุกขั้นตอนก่อนนำไปใส่ในตัวรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% และส่วนการทดสอบมาตรฐานของแบตเตอรี่ กว่า 60 ขั้นตอน อาทิ การตรวจสอบค่าการเก็บการคายประจุ (Charge & Discharge) การตรวจสอบน้ำรั่วซึมเข้าสู่แบตเตอรี่ (Air Leak test) ทดสอบความเป็นฉนวน (Insulation Test) ทดสอบการควบคุมพลังงาน (Static Test) เป็นต้น 

โดยในสายการผลิตแห่งนี้สามารถประกอบแบตเตอรี่ Cell-To-Pack ได้สูงสุดมากกว่า 50,000 ก้อนต่อปี ซึ่งแบตเตอรี่ที่ประกอบในประเทศไทยจะเป็นมาตรฐานเดียวกับสายการผลิตระดับโลก สำหรับแบตเตอรี่ที่ออกจากสายการผลิตนี้จะถูกนำไปติดตั้งในรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น MG4 ELECTRIC เป็นรุ่นแรก รวมถึงรถไฟฟ้ารุ่นอื่นๆ ในอนาคต ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระหว่างการเตรียมความพร้อมของสายการผลิตเพื่อเตรียมเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2567”

'สนข.' ลุย!! 'แลนด์บริดจ์' เต็มพิกัด ประเดิมโรดโชว์ พ.ย.นี้ ดึงสายเดินเรือ 10 ชาติลงทุน เล็งประมูล PPP กลางปี 68

เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลสนับสนุนการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ ระบบโครงสร้างพื้นฐาน ให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ หากแล้วเสร็จ จะเป็นจุดหมายปลายทาง ขนส่งสินค้าเพิ่มขีดการแข่งขันระดับโลก โดยเฉพาะแลนด์บริดจ์มูลค่า 1 ล้านล้านบาท ที่มีผลการศึกษาแล้วเสร็จ และเห็นถึงความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจสูง รวมถึงการเชื่อมต่อโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนระยะที่ 2 จากนครราชสีมาไปยังหนองคาย เชื่อมต่อไปยังสปป.ลาว และจีนแผ่นดินใหญ่

สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์) ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว โดยจะดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนอีกครั้งตามแนวทางทั้ง 2 ฝั่งท่าเรือ ภายในพฤศจิกายนนี้ พร้อมจัดทำร่างรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย (EHIA)

ขณะเดียวกันสนข.มีแผนเตรียมเดินทางไปโรดโชว์ ในต่างประเทศที่มีสายการเดินเรือขนาดใหญ่ 10 ประเทศ อาทิ ไต้หวัน จีน ญี่ปุ่น และฝรั่งเศส เพื่อดึงนักลงทุนจากต่างประเทศตั้งแต่พฤศจิกายน 2566 หลังจากนั้นสนข. จะปรับปรุงรายละเอียด และวิเคราะห์โครงการตามข้อมูลที่ได้จากการโรดโชว์

หลังจากนั้น ภายในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2566 ก่อนเสนอครม.อนุมัติเพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการต่อไป หลังจากนั้นจะเริ่มเปิดประมูลในรูปแบบ PPP พร้อมกันทั้งโครงการฯ ไม่เกินกลางปี 2568 และลงนามเอกชนลงทุนในไตรมาส 3 ของปี 2568 คาดว่าจะทยอยเปิดโครงการในระยะแรกได้ภายในปี 2573

ส่วนการประมูลของโครงการฯ เบื้องต้นเป็นการประมูลรวมทุกแพ็กเกจ ประกอบด้วย ท่าเรือน้ำลึก, ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) และรถไฟ ซึ่งใช้รูปแบบการลงทุน International Bidding โดยให้สิทธิ์เอกชนในไทยและต่างประเทศ เป็นผู้ลงทุน 100% ส่วนรัฐจะให้สัมปทานพื้นที่ระยะเวลา 50 ปี โดยมีเงื่อนไขว่าเอกชนรายใดสามารถบริหารพื้นที่ได้น้อยที่สุดตามที่ภาครัฐกำหนดจะได้รับคะแนนการพิจารณาเป็นผู้รับสัมปทานด้วย

สำหรับวงเงินในการลงทุนทั้งโครงการฯ อยู่ที่ประมาณ 1 ล้านล้านบาท แบ่งการก่อสร้างเป็น 4 ระยะ มีระยะเวลาในการก่อสร้างรวม 8 ปี โดยมีรูปแบบการก่อสร้างท่าเรือฝั่งชุมพร-ระนอง เป็นพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้าฝั่งชุมพร-ระนอง และมูลค่าลงทุนเส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือ โดยระยะที่ 1 วงเงินลงทุนรวมประมาณ 5.22 แสนล้านบาท ระยะที่ 2 วงเงินลงทุนรวมประมาณ 1.64 แสนล้านบาท ระยะที่ 3 วงเงินลงทุนรวมประมาณ 2.28 แสนล้านบาท และระยะที่ 4 วงเงินลงทุนรวมประมาณ 8.51 หมื่นล้านบาท

ด้านการก่อสร้างท่าเรือฝั่งระนอง แบ่งการพัฒนาเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างท่าเรือภายในปี 2571 ระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปีครึ่ง คาดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2573 สามารถรองรับประมาณตู้สินค้า ได้ประมาณ 6 ล้าน TEU ระยะที่ 2 จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างท่าเรือภายในปี 2574 ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี คาดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2576 สามารถรองรับประมาณตู้สินค้า ได้ประมาณ 12 ล้าน TEU และระยะที่ 3 จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างท่าเรือภายในปี 2577 ระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปี คาดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2578 สามารถรองรับประมาณตู้สินค้า ได้ประมาณ 20 ล้าน TEU

ขณะการก่อสร้างท่าเรือฝั่งชุมพร แบ่งการพัฒนาเป็น 4 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างท่าเรือภายในปี 2571 ระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปีครึ่ง คาดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2573 สามารถรองรับประมาณตู้สินค้า ได้ประมาณ 4 ล้าน TEU ระยะที่ 2 จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างท่าเรือภายในปี 2575 ระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปี คาดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2576 สามารถรองรับประมาณตู้สินค้า ได้ประมาณ 8 ล้าน TEU

ระยะที่ 3 จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างท่าเรือภายในปี 2577 ระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปี คาดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2578 สามารถรองรับประมาณตู้สินค้า ได้ประมาณ 14 ล้าน TEU และระยะที่ 4 จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างท่าเรือภายในปี 2579 ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี คาดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2581 สามารถรองรับประมาณตู้สินค้า ได้ประมาณ 20 ล้าน TEU

ด้านความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) ไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะ (เฟส) ที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 356 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 341,351 ล้านบาท ขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อยู่ระหว่างแก้ไขรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ตามความเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.)

คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ หลังจากนั้นจะเสนอต่อกระทรวงคมนาคมพิจารณาภายในเดือนธันวาคม 2566 คาดว่าจะเปิดประมูลภายในไตรมาส 2 ของปี 2567 และเริ่มก่อสร้างภายในเดือนธันวาคม 2567 พร้อมเปิดให้บริการปี 2573 ทั้งนี้ โครงการรถไฟไทย-จีน ระยะที่ 2 มีเส้นทางครอบคลุม 4 จังหวัด ประกอบด้วย จ.นครราชสีมา, จ.ขอนแก่น, จ.อุดรธานี และจ.หนองคาย

เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางที่มีความรวดเร็ว และความปลอดภัยให้ประชาชนรวมทั้งยังเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์เชื่อมต่อการค้าการลงทุนของไทยกับ สปป.ลาว และประเทศจีนด้วย โดยรถไฟสามารถใช้ความเร็วได้สูงสุด 250 กิโลเมตร (กม.) ต่อชั่วโมง ใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังหนองคาย ระยะทางรวม 609 กิโลเมตร (กม.) ประมาณ 3 ชั่วโมง 15 นาที

'พีระพันธุ์' เผยข่าวดี!! ลดแก๊สโซฮอล์ 2.50 บาท คิกออฟ 7 พฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป ตรึงสามเดือน

(31 ต.ค. 66) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า...

เดิม ผมในฐานะ รมว. พลังงาน จะเสนอที่ ประชุม ครม.รับทราบการปรับลดราคาน้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์ 91 ลงในอัตรา 2.50 บาทต่อลิตร โดยใช้วิธีปรับลดภาษีสรรพสามิตเช่นเดียวกับกรณีของน้ำมันดีเซลตามที่ ครม. เห็นชอบในหลักการไว้ แต่เมื่อลงไปทำงานพบว่า อัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับเบนซินแก๊สโซฮอล์ทุกประเภทเป็นอัตราเดียวกันหมดมิได้แยกอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์ 91 ไว้ต่างหาก 

วันนี้จึงจำเป็นต้องให้ ครม. พิจารณาปรับลดภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์ทุกประเภทลงแต่เพียงในอัตรา 1 บาทต่อลิตร และแบบอี 10 ลดลง 90 สตางค์ อี 20 ลดลง 80 สตางค์ และ อี 85 ลดลง 15 สตางค์ โดยกระทรวงการคลังเสนอให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของกระทรวงพลังงานไปบริหารจัดการให้ปรับลดราคาสำหรับเบนซินแก๊สโซฮอล์ 91 ลงอีกลิตรละ 1.50 บาท ให้เป็นลิตรละ 2.50 บาท ตามที่กระทรวงพลังงานเคยเสนอไว้ วันนี้ ครม. พิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบโดยกระทรวงการคลังเสนอให้เป็นมติว่าให้กองทุนนำ้มันไปบริหารจัดการชดเชยเงินที่ต้องใช้จ่ายในส่วน 1.50 บาทต่อลิตรดังกล่าวเองในภายหลัง มีกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่ 7 พ.ย. 2566 

ขอแสดงความยินดีกับพี่น้องประชาชน และขอขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี  กระทรวงการคลัง และผู้เกี่ยวข้องทุกท่านทุกฝ่ายอีกครั้งครับ

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 23 - 27 ต.ค. 66 จับตาปัจจัย ‘บวก-ลบ’ พร้อมแนวโน้ม 30 ต.ค. - 3 พ.ย. 66

สงครามฉนวนกาซากระทบราคาน้ำมันดิบผันผวนต่อเนื่อง นักลงทุนกังวลต่อความตึงเครียดจากสงครามในตะวันออกกลาง ซึ่งล่าสุดอิสราเอลโจมตีทางอากาศโดยทิ้งระเบิดอย่างหนัก และโจมตีภาคพื้นดินโดยเคลื่อนรถถังเข้าสู่ฉนวนกาซา อย่างไรก็ตาม อดีตผู้อำนวยการ Aman หน่วยข่าวกรองของกองทัพอิสราเอล นาย Amos Yadlin ชี้ว่าการโจมตีดังกล่าวเป็นการกระชับพื้นที่ และยังไม่เต็มอัตราศึก (Full Scale) บ่งชี้สงครามยังจำกัดวงและไม่เต็มรูปแบบ

บริษัท Equinor ของนอร์เวย์รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในไตรมาส 3/66 เพิ่มขึ้น 13% จากปีก่อนหน้า อยู่ที่ 1.04 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากแหล่งผลิต Johan Sverdrup ระยะที่ 2 ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ ธ.ค. 65 ทำให้กำลังการผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้น

ทางด้าน รมว. กระทรวงพลังงานของคาซัคสถาน นาย Almasadam Satkaliyev แถลงคาซัคสถานอาจส่งออกน้ำมันดิบไปเยอรมนี ผ่านท่อขนส่ง Druzhba ปริมาณ 2 ล้านตันต่อปี อย่างไรก็ตาม บริษัทผู้ดำเนินการท่อดังกล่าวยังไม่ได้รับคำขอในการส่งน้ำมันดิบผ่านท่อเพิ่มเติม ซึ่งปัจจุบันส่งผ่านท่ออยู่ที่ 1.2 ล้านตันต่อปี

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รายงานอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ในไตรมาส 3/66 อยู่ที่ +4.9% จากไตรมาสก่อนหน้า ขยายตัวมากที่สุดในรอบเกือบ 2 ปี

จับตาธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve: Fed) ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee: FOMC) วันที่ 31 ต.ค.-1 พ.ย. 66 ซึ่งล่าสุดประธาน Fed นาย Jerome Powell ขึ้นกล่าวในงานประชุม Economic Club ณ เมือง New York ในสหรัฐฯ ส่งสัญญาณว่า Fed จะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งถัดไป ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 5-5.25%

ศาลปกครองสูงสุด กลับคำสั่ง ศาลปกครองชั้นต้น ให้รับฟ้องคดีควบรวม TRUE-DTAC ชี้!! เข้าข่ายผูกขาด

ศาลปกครองสูงสุด กลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น ให้รับคำฟ้องมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ขอถอนมติ กสทช. เรื่องการควบรวม TRUE-DTAC ชี้ การควบรวมส่งผลกระทบวงกว้าง - เกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะ ขณะที่อุตสาหกรรมโทรคมนาคมมีลักษณะกึ่งผูกขาดโดยธรรมชาติ

(30 ต.ค. 66) ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้รับคำฟ้องไว้พิจารณาวินิจฉัย ในคดีที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงาน กสทช. กรณีขอให้เพิกถอนมติ กสทช.ในการประชุมนัดพิเศษครั้งที่ 5/2565 วันที่ 20 ต.ค. 65 ที่รับทราบเรื่องการควบรวมธุรกิจระหว่างบริษัททรู คอร์ปอเรชั่นจำกัด(มหาชน)และบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) รวมทั้งประกาศ และนิติกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดโดยให้มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค. 65

ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุดให้เหตุผลว่า เมื่อผู้ฟ้องคดีเป็นมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองตามสิทธิ์อันพึงมีพึงได้ของผู้บริโภคและยังเป็นผู้ใช้บริการสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) จึงได้รับผลกระทบจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง จึงถือเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจเดือดร้อนเสียหายโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องมาจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง การจะแก้ไข บรรเทาความเดือดร้อนหรือความเสียหายที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับนั้นต้องมีคำบังคับของศาลปกครองตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (1) พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 โดยสั่งให้เพิกถอนมติของ กสทช.ดังกล่าว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงเป็นผู้มีสิทธิ์ฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครองตามมาตรา 49 วรรค 1 แห่งกฎหมายเดียวกัน

ส่วนระยะเวลาการฟ้องคดี แม้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคนำคดีมาฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 8 มี.ค. 66 จะเป็นการยื่นฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีตามมาตรา 49 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 ที่ศาลปกครองไม่อาจรับคำฟ้องไว้พิจารณาพิพากษาได้ แต่ บริการโทรคมนาคมเป็นบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานที่มีผลต่อการดำรงชีวิตของประชาชน และด้วยข้อจำกัดเกี่ยวกับปริมาณคลื่นความถี่ที่มีจำนวนจำกัด อีกทั้งการลงทุนในการประกอบกิจการต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก ตลาดหรืออุตสาหกรรมโทรคมนาคมจึงมีผู้ประกอบการจำนวนน้อยรายจึงทำให้มีลักษณะเป็นการกึ่งผูกขาดโดยธรรมชาติ การที่ผู้ประกอบการในกิจการโทรคมนาคมจะควบรวมธุรกิจกันหรือไม่ จึงกระทบต่อการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม มีผลทำให้ผู้ใช้บริการได้รับผลกระทบในวงกว้างจึงถือได้ว่าการฟ้องคดีนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์อันเกิดแก่การจัดทำบริการสาธารณะโดยตรง กรณีจึงเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมตามมาตรา 3 แห่งกฎหมายเดียวกัน 

ศาลปกครองจึงมีอำนาจรับคำฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณาได้ตามมาตรา 42 วรรคสอง ของพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงมีคำสั่งกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณาพิพากษาตามรูปคดีต่อไป

‘มท.1’ เตรียมชง ครม. เปิดผับถึงตี 4 ภายใน 15 ธ.ค.นี้ นำร่อง จว.ท่องเที่ยว หวัง!! กระตุ้น ศก. ช่วงเทศกาลปีใหม่

(30 ต.ค. 66) ที่กรมการปกครอง (ปค.) วังไชยา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย (มท.1) กล่าวถึงแนวทางการขยายเวลาการเปิดสถานบริการในพื้นที่ท่องเที่ยวในบางพื้นที่ เพื่อเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายในช่วงฤดูการท่องเที่ยว​ ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 ต.ค.​ 66 ว่า​ ต้องไปรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ที่กำหนด โดยได้กำหนดวันดีเดย์ ที่จะรับฟังความคิดเห็นให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 15 ธ.ค. 66​ และเสนอต่อที่ประชุม ครม. เพื่อพิจารณา​ประกาศกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์​เกี่ยวพื้นที่ท่องเที่ยวให้เปิดสถานบริการถึง​ 04.00 น.​ ให้ประกาศใช้ทันในช่วงเทศกาลปีใหม่​ ซึ่งถือเป็นข้อสั่งการของนายเศรษฐา​ ทวีสิน​ นายกฯ และรมว.คลัง ที่จะห่วงใยและกระตุ้นเศรษฐกิจ

“เราทำเพื่อผู้ที่จะไม่กระทำผิดกฎหมาย ฉะนั้นผู้ที่จะไปใช้ในบริการ จะต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เช่น​ เมาไม่ขับ ไม่พกพาอาวุธ​ ไม่มีการขายยาเสพติด ไม่อนุญาตให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีเข้าใช้บริการ และไม่ทะเลาะวิวาท​​ หากทุกคนให้ความร่วมมือ และเข้าไปหาความบันเทิง จะเปิดถึงกี่โมงเราก็ไม่มีปัญหา” นายอนุทิน​ กล่าว

เมื่อถามถึงพื้นที่นำร่องเปิดขยายเวลาให้บริการมีพื้นที่ใดบ้าง​ นายอนุทิน​ กล่าวว่า เน้นในจังหวัดท่องเที่ยว และเน้นในจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ อาทิ​ เชียงใหม่​ ภูเก็ต​ และกรุงเทพฯ​ เป็นการทำนำร่องไปก่อน​ โดยจะต้องทำงานควบคู่บูรณาการ​กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เพื่อที่จะรักษากฎหมายให้ได้มากที่สุด​ หากทุกคนให้ความร่วมมือ จะสามารถแปลงปัญหาเป็นโอกาสเพื่อสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น​ จ้างงานเพิ่มขึ้น​ เพื่อให้ประชาชนมีรายได้ในการยังชีพเลี้ยงชีพมากขึ้น

‘พิมพ์ภัทรา’ เตือน!! ปชช. เลือกซื้อยางรถยนต์มีเครื่องหมาย มอก. หลังพบร้านค้า จ.ชลบุรี แอบขายยางไม่มีมาตรฐานกว่า 800 เส้น

(30 ต.ค. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภายหลังจากได้มอบนโยบายให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กวาดล้างสินค้าด้อยคุณภาพให้หมดไปจากท้องตลาดภายใน 6 เดือน ภายใต้ภารกิจ ‘Quick win’ และติดตามความคืบหน้าของภารกิจ พบการยึดอายัดสินค้าไม่ได้มาตรฐานอย่างต่อเนื่อง ทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้า วัสดุก่อสร้าง และสินค้าอุปโภคบริโภค

ล่าสุด สมอ. เข้าตรวจค้นร้านจำหน่ายยางรถยนต์แห่งหนึ่งในตำบลห้วยใหญ่ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ที่มีการโฆษณาขายผ่านช่องทางออนไลน์ พบยางล้อรถยนต์ตกเกรดหลายขนาดที่นำมาลบยี่ห้อบนแก้มยาง จำนวน 684 เส้น และยางล้อที่ไม่มีเครื่องหมาย มอก. จำนวน 180 เส้น รวมทั้งสิ้น 864 เส้น มูลค่ากว่า 3.3 ล้านบาท ตนจึงสั่งการให้ สมอ. ดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ประกอบการรายนี้ และเร่งตรวจสอบขยายผลไปถึงผู้กระทำความผิดรายอื่นต่อไปด้วย

นายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิต ภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ยางล้อเป็นสินค้าที่ สมอ. ควบคุม เนื่องจากเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน การทำ นำเข้า ต้องได้รับอนุญาตจาก สมอ. ก่อน รวมถึงร้านจำหน่ายต้องขายเฉพาะสินค้าที่ได้มาตรฐานเท่านั้น หากฝ่าฝืนจะมีความผิดตามกฎหมาย

สำหรับผู้ประกอบการรายนี้มีความผิดฐานจำหน่ายสินค้าไม่ได้มาตรฐาน มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 แสน หรือทั้งจำทั้งปรับ หลังจากนี้ สมอ. จะตรวจสอบเพื่อขยายผลไปถึงผู้ทำผลิตภัณฑ์ยางรถยนต์ดังกล่าวต่อไป

ทั้งนี้ ฝากถึงประชาชนที่กำลังมองหายางรถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ หรือกำลังจะเปลี่ยนยางใหม่ ให้สังเกต เครื่องหมาย มอก. คู่กับ QR Code โดยท่านสามารถสแกนเพื่อตรวจสอบแหล่งที่มาของยางเส้นนั้นได้ เช่น ผู้รับใบอนุญาต รายละเอียดเกี่ยวกับสินค้าที่ได้รับใบอนุญาต ก่อนตัดสินใจซื้อ และยังเป็นข้อมูลในการตรวจสอบหรือร้องเรียนในกรณีที่สินค้าไม่เป็นไปตามมาตรฐานตามที่ระบุไว้ นอกจากนี้ ให้สังเกตลักษณะภายนอกของยาง ต้องอยู่ในสภาพเรียบร้อย ที่แก้มยางต้องไม่มีร่องรอยการลบยี่ห้อ

ทั้งนี้ เพื่อความมั่นใจให้เลือกซื้อจากร้านจำหน่ายที่เชื่อถือได้ เช่น ร้านที่มีป้ายสัญลักษณ์ ‘ร้าน มอก.’ ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ประชาชนมั่นใจได้ เพราะผ่านการตรวจประเมินตามหลักเกณฑ์ของ สมอ. แล้ว และขอเตือนไปยังผู้ประกอบการที่กำลังฝ่าฝืนกฎหมาย โดยนำยางตกเกรดมาดัดแปลงโดยการลบยี่ห้อออกแล้วส่งขาย หรือนำมาประทับตรายี่ห้อใหม่ว่า การกระทำดังกล่าวถือเป็นภัยสังคม สร้างความเสียหายให้กับประชาชนถึงแก่ชีวิต หากพบการกระทำความผิดจะส่งเรื่องดำเนินคดีเพื่อเอาผิดให้ถึงที่สุด

‘แบงก์ชาติ’ ชี้!! ‘เศรษฐกิจโลก’ ยังมีความเสี่ยงสูง แนะคลังสร้างกันชนรับมือ หลังหนี้สาธารณะ-ครัวเรือนพุ่ง

(30 ต.ค. 66) นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2567 มีความเสี่ยงต่อการขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ระบุว่า จะเป็นการฟื้นตัวช้าและไม่ทั่วถึง ในระยะปานกลางขยายตัวได้ในระดับ 3% เป็นการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 30 ปี เป็นระดับที่ไม่สวยหรูนัก

ทั้งนี้ ปัจจัยหลักมาจากเศรษฐกิจจีนชะลอตัว รวมทั้งความเสี่ยงใหม่ เช่น ห่วงโซ่อุปทาน ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ที่ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงาน จึงเป็นความเสี่ยงที่ประเมินผลต่อเศรษฐกิจที่มีความยากกว่าในอดีต เพราะมองผลข้างเคียงไม่ออก และคาดเดาไม่ได้

ดังนั้น ในเวทีโลกจึงห่วงเรื่องเสถียรภาพของเศรษฐกิจในแต่ละประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะไอเอ็มเอฟ ที่แนะนำว่าแต่ละประเทศ ควรมุ่งเน้นทำนโยบาย ดูแลอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบ เพราะผลจากสงคราม อาจทำให้เกิด Inflation Shock ที่เคยดูแลเงินเฟ้อ ก็อาจจะกลับพุ่งขึ้นมาอีก รวมทั้งสร้างกันชนทางภาคการคลัง จากช่วงที่ผ่านมาในแต่ละประเทศมีการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคการคลังกันมาก จึงควรมุ่งเน้นลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ เร่งปรับหนี้สาธารณะให้ลดลง เพื่อเตรียมรับมือ shock ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต พร้อมกับดูแลเสถียรภาพด้านการเงินไปด้วย และมุ่งแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างระยะยาว เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล และ ธุรกิจสีเขียว

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ในส่วนของไทย แม้เสถียรภาพโดยรวมจะโอเค แต่ก็ชะล่าใจไม่ได้ เพราะมีบางประเด็นที่โอเค และบางเรื่องที่โอเคน้อยหน่อย เช่น เสถียรภาพต่างประเทศอยู่ในระดับดี ทั้งดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล หนี้ต่างประเทศไม่สูง ทุนสำรองระหว่างประเทศสูง ฐานะธนาคารพาณิชย์แข็งแกร่ง ส่วนที่ต้องระมัดระวัง คือ ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงถึง 90.7% ต่อจีดีพี แม้จะลดจากช่วงที่สูงที่สุดคือ 94% แต่ก็ยังสูง และอยากให้กลับลดลงมาอยู่ในระดับเกณฑ์ที่สากล 80% รวมทั้งหนี้สาธารณะในระดับ 61.7% ต่อจีดีพี ที่ถือว่าสูง

ขณะที่เสถียรภาพตลาดทุนที่ผ่านมามีเงินทุนไหลออกตั้งแต่ต้นปี -8.4% หรือมีเงินทุนไหลออกกว่า 8.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ผ่านตลาดหุ้นและพันธบัตร สวนทางกับประเทศอื่น สูงสุดในรอบ 10 ปี และสูงเป็นที่ 2 รองจากที่เคยไหลออกสูงสุด 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนก็มีความผันผวน 8-9% สูงกว่าอดีตและประเทศเพื่อนบ้าน เป็นรองแค่ประเทศเกาหลีใต้ที่ผันผวน 12%

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวอีกว่า มีความเสี่ยงที่ Credit Rating Agency’s จี้จุดประเทศไทย มีโอกาสปรับมุมมองจากเสถียรภาพ เป็นมุมมองเชิงลบ (Negative) หากนโยบายภาคการคลังมีความเสื่อม ดังนั้นควรมุ่งลดรายจ่าย ทยอยปรับลดการขาดดุล ปรับลดหนี้สาธารณะ มีมาตรการเพิ่มรายได้ ซึ่งล่าสุดมีบางบริษัทให้ความกังวลภาระหนี้ต่องบประมาณ ไม่เกิน 12% ซึ่งปัจจุบันไทยอยู่ในระดับ 10% กว่า

“หนี้สาธารณะยอมรับว่าวิ่งไปเยอะจากช่วงก่อนโควิดในระดับ 40% ต่อจีดีพี ทุกประเทศก็มุ่งดูเรื่องเสถียรภาพ จะบอกว่าเราไม่แคร์เลยก็คงไม่เหมาะ หากมองว่าความเสี่ยงเยอะ ก็ควรต้องเก็บลูกกระสุนไว้หรือเปล่า ซึ่งพื้นที่ในการทำนโยบาย (Policy Space) เราจะไม่เห็นความสำคัญของมัน จนกว่าจะหมด หรือมันไม่มี” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

'เศรษฐา' หารือทวิภาคี 'นายกฯ ลาว' ถก 5 ประเด็นยกระดับสัมพันธ์ ศก. ยาหอม!! 'ลาว' เสมือนครอบครัว พร้อมเชิญบุคคลสำคัญเยือนไทย

(30 ต.ค. 66) ภายหลังเดินทางกลับจากการเยือน สปป.ลาว ลายเซ็นทวีศิลป์นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทวีตข้อความผ่าน X ว่า...

สปป. ลาวเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสำคัญลำดับต้น ๆ ของไทย ชาวลาว-ชาวไทยเปรียบเสมือนครอบครัวและญาติสนิทมิตรสหายที่มีความสัมพันธ์แนบแน่นยาวนานครับ 

ในทางภูมิศาสตร์ ลาวเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าหลักระหว่างไทย จีน และเวียดนาม เป็นฐานการลงทุนสำคัญของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านพลังงาน 

การเยือนลาวอย่างเป็นทางการครั้งนี้ ประเด็นหลัก ๆ ที่ผมได้หยิบยกมาหารือทวิภาคีกับท่านสอนไซ สีพันดอน นายกฯ สปป. ลาว คือ...

1.ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นตรงกันที่จะผลักดันให้บรรลุเป้าหมายการค้าที่ 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 68  

2.ด้านความเชื่อมโยง ได้เร่งรัดการก่อสร้างสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 หนองคาย-เวียงจันทร์ และเร่งการเริ่มเดินรถไฟเส้นทางท่านาแล้ง-เวียงจันทร์ (คำสะหวาด) ภายในต้นปี 67  

3. ด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ ให้กระชับความร่วมมือเพื่อส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวทางการค้าระหว่างกันมากยิ่งขึ้น เช่น มีการกำหนด handling charge ในการเปลี่ยนถ่ายสินค้าที่ Vientiane Logistics Park ที่ชัดเจน หารือให้รถบรรทุกหัวลากตู้คอนเทนเนอร์ของไทยวิ่งเข้าลาวจนถึงชายแดนลาว-จีน และลาว-เวียดนาม และเร่งจัดทำ Common Control Area (CCA) เพื่อลดขั้นตอนพิธีศุลกากรที่สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 2   

4.เราเห็นตรงกันที่จะทำแผนงานร่วมกันเพื่อเพิ่มการท่องเที่ยวระหว่างกันให้มากยิ่งขึ้น รวมถึงดึงดูดนักท่องเที่ยวจากภายนอกด้วย

5.ด้านปัญหาหมอกควันข้ามแดน ได้เร่งจัดทำแผนปฏิบัติการร่วม 'ลาว-เมียนมา-ไทย' ให้เสร็จทันในปี 66    

ทั้งนี้ ผมยังได้เข้าเยี่ยมคารวะท่านทองลุน สีสุลิด ประธานประเทศลาว และท่านไซสมพอน พมวิหาน ประธานสภาแห่งชาติลาวด้วย ซึ่งต้องขอขอบคุณทางการลาวที่ให้การต้อนรับผมและคณะอย่างอบอุ่น ที่ผ่านมา นายกฯ ลาว ยังไม่ได้มีโอกาสมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ผมจึงได้เรียนเชิญท่านมาเยือนบ้านเราครับ

‘ส่งออกไทย’ 7 เดือนแรก โกยมูลค่าทะลุ 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ชี้ ‘ถุงมือกีฬา’ โตแกร่ง!! หลังการแข่งขันกลับมาคึกคักต่อเนื่อง

(30 ต.ค. 66) นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยสถิติการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าสำหรับการส่งออกภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ GSP ที่ไทยได้รับในปัจจุบัน ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ และกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช โดยใน 7 เดือนแรกของปี 2566 มีมูลค่ารวม 2,017.86 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ประมาณ 53% และตลาดที่ไทยมีการใช้สิทธิ GSP ส่งออกมากที่สุดเป็นอันดับ 1 คือ สหรัฐฯ ซึ่งมีมูลค่า 1,854.57 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน 91.90% ของมูลค่าการส่งออกรวมที่ใช้สิทธิ GSP

สำหรับการใช้สิทธิ GSP ในการส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ ที่มีความน่าสนใจและมีอัตราการเติบโตได้ดีตามปริมาณความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้นจากรายการแข่งขันกีฬาที่กลับมาคึกคักอย่างต่อเนื่องหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 คือ สินค้าถุงมือสำหรับกีฬา อาทิ กอล์ฟ เบสบอล และการแข่งขันรถจักรยานยนต์ทางเรียบ โดยมีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 26.74 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ สหรัฐฯ มีการนำเข้าสินค้าดังกล่าวจากไทยมากเป็นลำดับที่ 3 รองจากเวียดนามและอินโดนีเซีย คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้า 16.33% ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าเดียวกันจากทั่วโลก ซึ่งการนำเข้าที่ใช้สิทธิ GSP ทำให้ไทยได้รับการลดภาษีนำเข้าสหรัฐฯ จากเดิมที่ต้องเสียภาษี 4.9% (MFN Rate) ลดลงเหลือ 0% นอกจากนี้ยังมีสินค้าสำคัญอื่นๆ ที่มีมูลค่าการใช้สิทธิ GSP ส่งออกไปสหรัฐฯ สูง โดยสินค้าอันดับ 1 ยังคงเป็นส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ และสินค้าอื่นๆ อาทิ กรดมะนาวหรือกรดซิทริก อาหารปรุงแต่ง กระเป๋าเดินทาง ถุงมือยางเพื่อการแพทย์ และเลนส์แว่นตา เป็นต้น

สำหรับโครงการ GSP ของสวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ และกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (CIS) ที่สินค้ามีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง อาทิ เพชรพลอยรูปพรรณทำด้วยโลหะมีค่า (สวิตเซอร์แลนด์) ของผสมของสารที่มีกลิ่นหอมชนิดที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารหรือเครื่องดื่ม (สวิตเซอร์แลนด์) หน้าปัดนาฬิกาชนิดคล็อกหรือวอตซ์ (สวิตเซอร์แลนด์) ข้าวโพดหวาน (นอร์เวย์) สูทของสตรีหรือเด็กหญิงทำด้วยขนแกะหรือขนละเอียดของสัตว์ (นอร์เวย์) เนื้อสัตว์แปรรูป (นอร์เวย์) สับปะรดกระป๋อง ปลาทูน่า ปลาสคิปแจ็ก และปลาโบนิโตชนิดซาร์ดา (CIS) เป็นต้น

Grab จับมือพาร์ตเนอร์ให้กู้ซื้อรถอีวี BYD 'ไม่ดูประวัติการเงิน-เงินดาวน์' ขอแค่ประวัติขับ Grab และหักผ่อนรายวันจากค่าบริการ เริ่มต้นปี 67

(30 ต.ค. 66) เมธิณี อนวัชกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจการเดินทางและบริหารพาร์ตเนอร์คนขับ แกร็บ ประเทศไทย เปิดเผยว่า แกร็บเตรียมผนึกความร่วมมือกับ Moove ผู้ให้บริการด้านสินเชื่อยานยนต์ และ Rever Automotive ผู้จัดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า BYD 

เปิดโอกาสให้พาร์ตเนอร์คนขับสามารถเป็นเจ้าของรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อใช้ให้บริการรับส่งผู้โดยสารในโปรแกรม 'ผ่อนขับรับรถ' (Drive-to-Own)

ทั้งนี้ไม่ต้องใช้ประวัติทางการเงิน แต่จะพิจารณาอนุมัติสินเชื่อจากประวัติในการให้บริการกับแกร็บ คือ พาร์ตเนอร์คนขับไม่ต้องวางเงินดาวน์ และสามารถผ่อนจ่ายได้แบบรายวันผ่านการหักรายได้จากการให้บริการในแต่ละวัน

สำหรับความพิเศษของโปรแกรมสินเชื่อที่มีระยะเวลาผ่อนนานสูงสุด 72 เดือนนี้ และยังมีสิทธิประโยชน์เสริมอื่น ๆ อาทิ ฟรีค่าซ่อมบำรุงรถ รวมถึงครอบคลุมการทำประกันรถยนต์ ประกันสุขภาพและประกันชีวิตให้กับพาร์ตเนอร์คนขับ

อย่างไรก็ตาม โปรแกรมดังกล่าวจะเริ่มเปิดให้พาร์ตเนอร์คนขับแกร็บสามารถจองรถยนต์ไฟฟ้าจาก BYD ได้ในได้ในช่วงต้นปี 2567 และคาดว่าจะทำให้พาร์ตเนอร์คนขับสามารถเข้าถึงรถยนต์ไฟฟ้าได้ทั้งสิ้น 5,000 คันภายในปี 2568 

‘นักวิชาการ’ ชี้!! ลดแจกเงินดิจิทัล ศก.ปีหน้าหด แต่ ‘ยั่งยืน-คลังไม่เสี่ยง’ แนะ!! ปรับเกณฑ์คัดกรอง ใช้ ‘ทรัพย์สิน-ภาระหนี้’ พิจารณาร่วมด้วย

เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 66 นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุน และการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การปรับลดขนาดและวงเงินดิจิทัลวอลเล็ตลงมาช่วยลดความเสี่ยงทางการคลังในอนาคตลงมาได้ แม้จะทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปีหน้าลดลงบ้าง แต่จะให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจมีเสถียรภาพมากกว่าในระยะปานกลาง หากมุ่งเป้าไปที่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยประมาณ 15 ล้านคน จะใช้เงินงบประมาณ 1.5 แสนล้านบาท และอาจไม่จำเป็นต้องกู้เงินเลย และผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับการแจกเงินแบบถ้วนหน้า 56 ล้านคน หรือตัดคนที่มีเงินเดือนเกินกว่า 25,000 บาท และ/หรือมีบัญชีเงินฝากเกิน 1 แสนบาทออก เหลือผู้มีสิทธิประมาณ 43 ล้านคน ใช้งบประมาณ 4.3 แสนล้านบาท หรือตัดผู้มีเงินเดือนเกินกว่า 50,000 บาท และ/หรือมีบัญชีเงินฝากกว่า 5 แสนบาท เหลือผู้มีสิทธิ 49 ล้านคน ใช้งบประมาณ 4.9 แสนล้านบาท

การแจกเฉพาะกลุ่มเน้นไปที่คนยากจนหรือชนชั้นกลางรายได้ต่ำมีแนวโน้มใช้จ่ายมากและเร็ว มักซื้อสินค้าจำเป็นภายในประเทศ มีความจำเป็นและมีปัญหาสภาพคล่อง จะทำให้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของโครงการแจกเงินเพิ่มขึ้น รวมทั้งทำให้ต้นทุนงบประมาณโครงการแจกเงินลดลง นโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตต้องดูทั้งมิติทางด้านมหภาคและจุลภาค ต้องมีมาตรการอื่น ๆ ด้านจุลภาคเสริมให้เงินแจกที่ประชาชนได้รับกลายเป็นการลงทุนขนาดเล็กในระดับชุมชนมากกว่าแปลงเป็นการบริโภคเพียงอย่างเดียว

หากไม่แจกเงินถ้วนหน้า รัฐบาลควรปรับเกณฑ์คัดกรองคนมีรายได้สูงนอกเหนือจากเกณฑ์เงินฝากและเงินเดือน รัฐบาลควรนำสินทรัพย์อื่น ๆ และภาระหนี้สินมาร่วมพิจารณา เช่น การถือครองที่ดิน การถือครองอสังหาริมทรัพย์ เงินลงทุนในตลาดการเงิน การถือครองพันธบัตรและหุ้น ภาระหนี้สิน เป็นต้น มาเป็นเกณฑ์ในการคัดกรอง การตัดคนที่เงินเดือนเกินกว่า 25,000 บาทออกแต่ยังใช้งบประมาณมากกว่า 4.3 แสนล้านบาท เนื่องจากคนจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีอยู่ประมาณ 4 ล้านกว่าคนจากกำลังแรงงานทั้งหมดเกือบ 40 ล้านคนนั้น การที่คนเสียภาษี 4 ล้านคนนี้แบกรับภาระมาตรการแจกเงิน เกิดประเด็นทางนโยบายสาธารณะว่า เราควรพัฒนาระบบภาษีให้เป็นธรรม และขยายฐานภาษีให้กว้างขวางขึ้นและ เร่งแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจโดยด่วน

ปัญหาของการไม่แจกถ้วนหน้า คือ ต้นทุนการบริหารการแจกเงินสูงขึ้นและอาจยุ่งยากในการคัดกรองหากข้อมูลไม่ครบถ้วน ผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระหรือไม่ได้อยู่ในฐานข้อมูลการเสียภาษีเงินได้จำนวนหนึ่งอาจมีเงินเดือนมากกว่า 25,000 บาทก็ได้ แต่อาจไม่ได้ถูกคัดออก หรือบางคนอาจมีเงินเดือนสูงกว่า 25,000 บาทแต่มีภาระหนี้สินมาก อาจถูกคัดออกทั้งที่ควรได้รับเงินแจก หรือบางคนมีเงินเดือนต่ำกว่า 25,000 บาท เงินฝากต่ำกว่า 1 แสนบาท แต่มีทรัพย์สินอย่างอื่นจำนวนมาก อาจไม่มีความจำเป็นต้องได้รับเงินแจก ฐานคนเสียภาษีต่ำทำให้การใช้เงินงบประมาณยังสูงอยู่มาก คัดคนมีรายได้สูงออกมากเท่าไหร่ ตัวทวีคูณทางการคลังเฉลี่ยเพิ่มขึ้น เพราะผู้มีรายได้น้อยมากเท่าไหร่ จะมีความโน้มเอียงในการบริโภคสูงขึ้นเท่านั้น หรือ MPC (Marginal Propensity to Consume) สูง การแจกเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจะมีประสิทธิภาพประสิทธิผลสูงกว่า ใช้งบประมาณน้อยลง ก่อหนี้ก่อภาระผูกพันในอนาคตน้อยลง ความเสี่ยงฐานะการคลังลดลงมาก

ขณะที่เศรษฐกิจไทยได้รับผลบวกจากการขยายตัวอย่างมากของการส่งออกอาหารและสินค้าเกษตร ภาคส่งออกและภาคท่องเที่ยวของไทยยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง การขยายตัวของการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในเดือนกันยายน มูลค่าการส่งออกแตะเกือบ 9 แสนล้านบาท มีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.1% บวกต่อเนื่องสองเดือนติดต่อกัน เฉพาะสินค้าเกษตรขยายตัวเพิ่ม 12% เป็นบวก 2 เดือนติดต่อกัน และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรเพิ่ม 5.4% เป็นบวกครั้งแรกในรอบ 6 เดือน โดยสินค้าสำคัญที่เพิ่มขึ้น เช่น ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้งเพิ่ม 166.2% ข้าวเพิ่ม 51.4% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเพิ่ม 3.7% น้ำตาลทรายเพิ่ม 16.3% ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์เพิ่ม 12.8% สิ่งปรุงรสอาหารเพิ่ม 27.1% ผักกระป๋องและผักแปรรูปเพิ่ม 17.3% นมและผลิตภัณฑ์นมเพิ่ม 3.1% ผักสด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้งเพิ่ม 7.9% ไข่ไก่สดเพิ่ม 52.7% ทำให้เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวต่อเนื่องแม้อาจชะลอตัวลงบ้างจากผลกระทบสงครามในตะวันออกกลาง

ผลกระทบต่อการแตกตัวของโลกาภิวัตน์ การแยกขั้วของภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจของโลก (Geo-Economic Fragmentation: GEF) ต่อเศรษฐกิจ การค้าการลงทุนของไทยจะเพิ่มขึ้นหากสงครามในฉนวนกาซาลุกลามสู่สงครามในภูมิภาคตะวันออกกลางและมีการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อกัน รัฐบาลควรรักษาพื้นที่ทางการคลัง (Fiscal Space) เอาไว้ หากเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจะได้มีงบประมาณเพียงพอแก้ปัญหาเศรษฐกิจในอนาคตหากมีความจำเป็น ถ้าแจกเงินอย่างถ้วนหน้าจะส่งผลให้พื้นที่ทางการคลังจะลดลง ช่วงต้นปี GEF เพิ่มอย่างแน่นอนหากสงครามอิสราเอลขยายวงสู่การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ การเตรียมพื้นที่ทางการคลังไว้กระตุ้นเศรษฐกิจภายหลังและช่วยบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจและความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่เตรียมการล่วงหน้าไว้ก่อน

ช่วงที่เหลือของปีนี้ ตลาดการเงินโลกจะมีความผันผวนมาก อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐอเมริกาอาจปรับขึ้นได้อีก แม้ในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในวันที่ 31 ต.ค.-1 พ.ย.นี้จะไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หากไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต้นเดือนพฤศจิกายน ในการประชุมครั้งต่อไปในเดือนธันวาคมน่าจะมีปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อ คาดผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวสหรัฐยังอยู่ในช่วงขาขึ้นต่อไป โดยมองว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะ 10 ปีอาจแตะระดับ 6% ได้ ปัจจัยดังกล่าวทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมายังตลาดพันธบัตร และเทขายการลงทุนในตลาดสินทรัพย์เสี่ยง ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลงแรงต่อเนื่อง นอกจากนี้ผลกระทบสงครามขยายวง ทำให้ราคาทองและน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อไป

หน้าที่ของอัตราดอกเบี้ยในระบบเศรษฐกิจ คือ การทำให้ปริมาณเงินและอุปสงค์ของเงินมีความสมดุล เป็นหลักประกันว่า เงินออมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจะถูกเคลื่อนย้ายไปสู่การลงทุนหรือการบริโภคเพื่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังเป็นเครื่องมือหนึ่งของนโยบายการเงินของทางการ รวมทั้งเป็นกลไกในการจัดสรรทรัพยากรและสินเชื่อไปยังโครงการลงทุนที่คาดว่าจะให้อัตราผลตอบแทนสูงสุด เส้น Yield Curve สามารถเป็นตัวสะท้อนข้อมูลตลาดและภาวะเศรษฐกิจ บอกถึงกิจกรรมเศรษฐกิจในอนาคตและการคาดการณ์หรือคาดคะเนของตลาด (Market Expectation) ถ้าเส้น Yield Curve ทอดขึ้น ผู้คนในตลาดและระบบเศรษฐกิจจะคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยจะสูงขึ้นในอนาคต อัตราดอกเบี้ยจะผันแปรไปตามวัฏจักรธุรกิจ (Business Cycle) หรือภาวะเศรษฐกิจ ทุกคนจะคาดการณ์ว่า ระบบเศรษฐกิจกำลังจะขยายตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ Yield Curve ที่ทอดลงจะสะท้อนจุดเริ่มต้นของภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลง ลักษณะและความชันของ Yield Curve มีความสำคัญและมีผลต่อสถาบันการเงินและตัวกลางทางการเงิน เช่น ธนาคาร และ บริษัทเงินทุน กู้เงินจากตลาดการเงินระยะสั้นแล้วปล่อยกู้ ในโครงการระยะยาว ยิ่ง Yield Curve ทอดขึ้นและมีความชันมากเท่าไหร่ สถาบันการเงินย่อมได้รับผลตอบแทนมากเท่านั้น

เนื่องจากส่วนต่าง (Spread) ระหว่างอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นและระยะยาวจะมีมากขึ้น กำไรของสถาบันการเงินและตัวกลางทางการเงินย่อมเพิ่มขึ้น ขณะนี้เส้นผลตอบแทนจะมีลักษณะทอดขึ้นจากซ้ายไปขวาอาจจะเรียกว่า เป็น Ascending Yield Curve ก็ได้ ในกรณีนี้จะมีการคาดคะเนว่า อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในอนาคตจะสูงขึ้น อัตราผลตอบแทนระยะยาว คือ ค่าเฉลี่ยของอัตราปัจจุบันกับอัตราดอกเบี้ยในอนาคตนั้นอยู่เหนืออัตราดอกเบี้ยปัจจุบัน แสดงว่า อัตราดอกเบี้ยระยะยาวสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น กองทุนขนาดใหญ่และเฮดจ์ฟันด์ยังคงเคลื่อนย้ายเงินทุนจากตลาดหุ้นมายังตลาดพันธบัตรต่อไป จนกว่าราคาหุ้นจะปรับฐานลงมาสู่ระดับที่ทำให้การลงทุนในตลาดสินทรัพย์เสี่ยงมีความน่าสนใจหรือบริษัทต่างๆสามารถจ่ายเงินปันผลเพิ่มขึ้นได้ หรือ มี Market P/E Ratio ลดลงมากพอ อัตราผลตอบแทนเมื่อปรับความเสี่ยงแล้วของตลาดหุ้นสามารถแข่งขันกับอัตราผลตอบแทนของตลาดพันธบัตรที่ยังคงปรับตัวสูงขึ้นอยู่

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า เงินก็เหมือนกับสินค้าทั่วไปที่ระดับราคาของมัน หรืออัตราดอกเบี้ยถูกกำหนดโดยอุปสงค์และอุปทาน หน่วยการผลิตจะผลิตเพิ่มขึ้นหรือลดลงขึ้นอยู่กับการเปรียบเทียบระหว่างอัตราผลตอบแทนที่คาดหวังว่าจะได้รับเพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากการลงทุนเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งหน่วย (Marginal Efficiency of Investment-MEI) กับ อัตราดอกเบี้ยในตลาด เมื่อ MEI ยังสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยในตลาด หน่วยการผลิตจะยังขยายการลงทุนไปเรื่อย ๆ จนกระทั่ง MEI เท่ากับ อัตราดอกเบี้ย ในภาวะที่ระบบเศรษฐกิจไทยมีกำลังการผลิตส่วนเกินอยู่ อัตราเงินเฟ้อค่อนข้างต่ำ รัฐบาลก่อหนี้เพิ่ม สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีสูงมาก ทางการไม่ควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกแม้นในหนึ่งหรือสองไตรมาสข้างหน้า อัตราเงินเฟ้ออาจเพิ่มขึ้นจากราคาพลังงานปรับสูงขึ้น ในระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม อัตราดอกเบี้ยจึงทำหน้าที่เป็นกลไกจัดสรรทรัพยากรของสังคมและระบบเศรษฐกิจตามการขึ้นลงของราคาของเงิน หรืออัตราดอกเบี้ย ที่ระดับอัตราดอกเบี้ย ณ ระดับใดระดับหนึ่งในระบบการเงิน

หน่วยเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพในการลงทุนจะสามารถประมูลเงินทุนไปดำเนินในกระบวนการผลิต (คือสามารถรับภาระของดอกเบี้ย) ส่วนหน่วยเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพต่ำย่อมไม่สามารถได้เงินทุนไปขยายการผลิต หน่วยธุรกิจที่สามารถมีกำไรได้และมีประสิทธิภาพสูง ไม่ได้หมายความว่า การผลิตจะมีคุณค่าต่อสังคมเสมอไป เช่น โรงงานผลิตสุรา โรงงานผลิตยาสูบ สถานอาบอบนวด เป็นต้น กำไรมากแต่มีผลกระทบทางสังคม หรือการผลิตบางอย่าง กำไรต่ำหรือบางครั้งก็มีประสิทธิภาพต่ำแต่เป็นกิจการที่มีความสำคัญต่อสังคมและระบบเศรษฐกิจ เช่น สถานเลี้ยงดูเด็กกำพร้า บ้านพักคนชรา หรือ การทำนาหรือเกษตรกรรม เป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจึงไม่สามารถอาศัยกลไกอัตราดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียวในการจัดสรรทรัพยากรของสังคม จำเป็นต้องมีกลไกหรือเครื่องมืออื่นๆรวมทั้งการแทรกแซงโดยรัฐด้วย โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาและประเทศเหล่านี้มักอาศัยธนาคารเฉพาะกิจของรัฐในการเข้ามาดูแลในการจัดสรรทรัพยากรของระบบเศรษฐกิจรวมทั้งการช่วยเหลือภาคเกษตรกรรมและธุรกิจขนาดเล็กด้วย

หากรัฐบาลตัดสินใจแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตอย่างถ้วนหน้า รัฐบาลต้องกู้เงินจำนวนมากจากตลาดการเงินภายใน อาจจะเกิด Crowding out Effect ดันอัตราดอกเบี้ยในตลาดให้สูงขึ้นและไปเบียดบังการลงทุนภาคเอกชน การลงทุนโดยรวมอาจไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นตามเป้าหมาย ผลสุทธิของการกระตุ้นเศรษฐกิจจากนโยบายแจกเงินจะเบาบางลงจากการลดลงจากต้นทุนทางการเงินของภาคเอกชนที่เพิ่มสูงขึ้น การลงทุนลดลงของภาคเอกชน ส่งผลต่อการสะสมทุนลดลง (Less Capital Accumulation) นำมาสู่การเติบโตที่ลดลงในระยะยาว แม้ในระยะสั้น มาตรการแจกเงินจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภคก็ตาม

‘นายกฯ’ เล็งปั้น ‘ศุลกากรหนองคาย’ สู่ ‘One Stop Service’ จ่อถกผู้นำลาว เล็งผุด ‘สะพานมิตรภาพ 2’ เชื่อมขนส่งถึงจีน

(29 ต.ค. 66) ที่สำนักงานศุลกากรหนองคาย อำเภอเมืองหนองคาย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานประชุมติดตามประเด็นปัญหาการส่งออก ขั้นตอนพิธีการศุลกากร การค้าชายแดนและการพัฒนา One Stop Service ระหว่างราชอาณาจักรไทย กับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และสาธารณรัฐประชาชนจีน มีหัวหน้าส่วนราชการ และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วม

นายเศรษฐา กล่าวว่า ตนเดินทางมา จ.หนองคาย เป็นครั้งที่ 2 โดยหนองคาย เป็นจังหวัดยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลกำหนดไว้ให้เป็นจุดสำคัญในการเชื่อมโยงโลจิสติกส์จากไทยไปจีน และจากการพบกับ นายสี จิ้น ผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน รวมถึงนายกรัฐมนตรีจีน พบว่าต้องการสินค้าการเกษตรอย่างมาก

ดังนั้น เรื่องระบบขนส่งจึงสำคัญ และ จ.หนองคาย ถือเป็นจุดสำคัญที่มีความพร้อมมาก มีนิคมอุตสาหกรรม แต่ที่ผ่านมาหยุดแค่ จ.หนองคายหรือฝั่งลาว จึงต้องสร้างสะพานอีกแห่งหนึ่งใน จ.หนองคาย และทำเป็นจุดวันสต็อปเซอร์วิส และอยากให้ศุลกากรเป็นเจ้าภาพเรื่องวันสต็อปเซอร์วิส และใน จ.หนองคาย เป็นต้นแบบแรก

โดยให้ทำงานร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงสาธารณสุข และตม.หากเราทำให้การค้าขายไม่เดินหน้าจะลำบาก ทั้งนี้ในวันที่ 30 ต.ค.นี้ ตนจะเดินทางไปพบผู้นำ สปป.ลาว จะพูดคุยในเรื่องทำสะพานมิตรภาพ 2 ในจ.หนองคาย เพื่อให้เราสามารถส่งสินค้าไปถึงจีนได้ ฉะนั้นหน่วยงานในพื้นที่ถ้าติดขัดตรงไหนขอให้บอกมา หากลงทุนแสนล้านแต่ไม่มีความต่อเนื่องในแง่ขนถ่ายสินค้า ลงทุนไปก็จะเสียหายเยอะ

นายเศรษฐา กล่าวว่า วันนี้โลกพัฒนาไปมาก ใครจะมาลงทุนต้องดูหลายๆด้าน ถ้าเข้าจะมาลงทุนแล้วติดปัญหาเยอะก็ไม่ดี ส่วนเรื่องการท่องเที่ยว ไทยขยายได้เยอะ และอยากจะขยายงานแบบนี้ไปอีกหลายจังหวัดทั่วประเทศ ตามนโยบายหลักของรัฐบาล ดังนั้น ควรทำประชาสัมพันธ์เชิงรุก เพื่อทำให้การท่องเที่ยวเมืองรองดีขึ้น

'อ.พงษ์ภาณุ' เปิด 4 เหตุผล มาตรการแจกเงินดิจิทัลต้องรันต่อ อย่าพะวงเสียงวิจารณ์ ในจังหวะประเทศโตอืดมานาน

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ...ถึงเวลาแล้วหรือยัง ใครได้ใครเสีย?' เมื่อวันที่ 29 ต.ค.66 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

ขณะนี้น่าจะเป็นเวลาเหมาะสมที่รัฐบาลจะใช้มาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ (Fiscal Stimulus) และการออกมาวิพากษ์วิจารณ์ของนักวิชาการรวมทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย แม้จะสามารถทำได้ แต่ก็ล้วนไร้เหตุผลที่น่าเชื่อถือและอาจมีวัตถุประสงค์ทางการเมืองแอบแฝง

ทั้งที่ในความเป็นจริง ตัวชี้วัดสำคัญที่บ่งบอกว่าเศรษฐกิจไทยกำลังหดตัว คือ สินเชื่อธนาคารพาณิชย์ เพราะโดยปกติสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบจะเติบโตต่อปีประมาณ 1.5 เท่าของอัตราเติบโตของ GDP แต่หลายเดือนที่ผ่านมาสินเชื่อธนาคารพาณิชย์กลับติดลบแบบ YOY ซึ่งเป็นสัญญาณที่น่ากลัวมาก ซึ่งผมหวังว่านักวิชาการและธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะหัดดูตัวเลขเหล่านี้บ้าง ยังจะเป็นประโยชน์กว่าไปลอกตำราฝรั่งมา

ฉะนั้น หากมองมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ว่าจะจำเป็นหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับเหตุผลทางเศรษฐกิจ การคลัง และรูปแบบของมาตรการเอง เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำกว่าศักยภาพมาเป็นเวลานาน นับจากวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อ 2540 ความขัดแย้งทางการเมืองเสื้อเหลืองเสื้อแดง การปฏิวัติรัฐประหาร รวมทั้งวิกฤตโควิดก็ทำให้ไทยได้รับผลกระทบมากว่าประเทศอื่น แม้ว่าวิกฤตจะผ่านไปแล้วเศรษฐกิจไทยก็ไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาสู่ระดับก่อนโควิดได้เหมือนประเทศอื่น แนวโน้มระยะข้างหน้าก็ไม่สู้จะดีนัก เมื่อพิจารณาเศรษฐกิจโลกที่กำลังได้รับผลกระทบจากภาวะสงคราม และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง

สถานการณ์ช่องว่างทางการคลัง (Fiscal Space) ของไทยยังถือว่ามีอยู่ค่อนข้างมาก แม้ว่ารัฐบาลที่ผ่านมาจะสร้างหนี้สาธารณะไว้เป็นจำนวนมาก แต่ระดับหนี้สาธารณะที่ 62%ของ GDP ก็ถือว่าไม่สูงนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่มีหนี้เกิน 100% ขึ้นไปทั้งนั้น ส่วนสภาพคล่องในตลาดการเงิน แม้ว่าจะตึงตัวขึ้นบ้างและอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น แต่ยังถือว่าตลาดยังเปิดสำหรับการกู้ยืมโดยภาครัฐ ทั้งนี้คำนึงจาก Yield Curve ที่อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ และเงินเฟ้อในประเทศที่เข้าใกล้ศูนย์เข้าไปทุกที

รูปแบบของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจก็มีความสำคัญต่อผลสัมฤทธิ์ของมาตรการ Fiscal Stimulus ที่ดีจะต้องมีคุณสมบัติ 4 T ได้แก่ Timely / Targeted / Temporary และ Transparent มาตรการเงินดิจิทัลของรัฐบาลมีคุณสมบัติครบทั้ง 4 ประการ กล่าว คือ...

1) ทันการสามารถอัดฉีดการใช้จ่ายเงินเข้าภาคเศรษฐกิจจริงได้ทันที ต่างจากข้อเสนอให้ใช้การลงทุนภาครัฐ ที่อาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 4-5 ปีกว่าจะบังเกิดผล 

2) มีเป้าหมายชัดเจน เพราะมุ่งให้เกิดการใช้จ่ายบริโภคกระจายไปทั่วประเทศและกระตุ้นการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้น 

3) ชั่วคราว ใช้แล้วจบ ไม่ฝังอยู่ในโครงสร้างทางการคลัง และไม่เป็นภาระการคลังในระยะ และที่สำคัญที่สุด 

4) โปร่งใสและตรวจสอบได้ เพราะระบบดิจิทัลจะสามารถแสดงข้อมูลแบบ Online และ Real time เพื่อให้ประชาชนเจ้าของเงินภาษีสามารถติดตามตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของรัฐบาลไปพร้อมๆ กับองค์กรตรวจสอบอย่างมีประสิทธิภาพ

อ.พงษ์ภาณุ ยังกล่าวทิ้งท้ายอีกว่า "ส่วนประเด็นที่ว่าทำไมแจกทุกคนเหมือนกันหมด อยากเรียนว่ามาตรการนี้ไม่ใช่เรื่องสังคมสงเคราะห์หรือสวัสดิการสังคม แต่เป็นเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจ คนไทยทุกคนไม่ว่ารวยหรือจนก็ได้รับผลกระทบจากโควิดหรือสงครามเหมือนกันหมด และคนไทยทุกคนก็ควรมีโอกาสใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเหมือนกัน รัฐบาลสหรัฐฯ ทั้งทรัมป์และไบเดน ก็ได้จ่ายเช็คไปยังทุกครัวเรือนในจำนวนเท่ากันเพื่อให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นจากโควิดได้อย่างรวดเร็ว"


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top