Sunday, 6 July 2025
ECONBIZ

'พิมพ์ภัทรา' เอาจริง!! ออก 8 มาตรการปราบสินค้าออนไลน์ไร้มาตรฐาน ลั่น!! ต้องกวาดล้างให้หมดไปจากท้องตลาดภายใน 6 เดือน

(26 ต.ค. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภายหลังจากการลงพื้นที่ดูแลประชาชน มักจะได้รับเรื่องร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนเรื่องการซื้อสินค้าออนไลน์ที่ไม่มีมาตรฐานอยู่เป็นระยะ ตนจึงสั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เข้มงวดในการตรวจควบคุมการจำหน่ายสินค้าทางออนไลน์ในทุกแพลตฟอร์ม โดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ต้องกวาดล้างให้หมดไปจากท้องตลาดภายใน 6 เดือน 

ทั้งนี้ ภายใต้ภารกิจ 'Quick Win' ได้ออก 8 มาตรการเร่งด่วน เพื่อกำกับดูแล ควบคุม และส่งเสริมให้ความรู้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง ไม่ให้ถูกหลอกจากการสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์ ได้แก่...

1) มาตรการ 3 ร. (เร่งตรวจ เร่งกำกับ เร่งปราบ)  
2) มาตรการจับจริง-ปรับจริง 
3) มาตรการเชื่อมโยงข้อมูล 
4) มาตรการให้ความรู้  
5) มาตรการขยายผลอย่างยั่งยืน 
6) มาตรการสร้างความตระหนัก 
7) มาตรการใกล้ชิดประชาชน 
8) มาตรการเพิ่มอาวุธ 

โดยคาดว่าทั้ง 8 มาตรการจะสามารถกวาดล้างสินค้าด้อยคุณภาพที่จำหน่ายทางแพลตฟอร์มออนไลน์ให้หมดไปจากท้องตลาด

ด้าน นายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า สมอ. ได้ลงพื้นที่ตรวจควบคุมการจำหน่ายสินค้าในท้องตลาด และทางออนไลน์อย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อกวาดล้างสินค้าด้อยคุณภาพให้หมดไปภายใน 6 เดือน รวมทั้ง ได้ออกมาตรการเร่งด่วนเพื่อสนับสนุนนโยบายดังกล่าว ได้แก่...

1) มาตรการ 3 ร. (เร่งตรวจ เร่งกำกับ เร่งปราบ) โดยเพิ่มความถี่ในการตรวจสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ และนำข้อมูลที่ได้มาขยายผล เพื่อให้รู้ถึงพิกัดโกดังเก็บสินค้า พิกัดการโฆษณาผ่านช่องทางออนไลน์ และให้ทราบถึงแหล่งที่มาทั้งโรงงานที่ผลิตและช่องทางการนำเข้าของสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน เพื่อดำเนินการกับผู้กระทำความผิดอย่างสูงสุด  

2) มาตรการจับจริง-ปรับจริง หากพบสินค้าไม่แสดงเครื่องหมาย มอก. สมอ. จะออกหนังสือแจ้งผู้ประกอบการให้มาให้ข้อมูลร้านค้า และรายละเอียดของสินค้า หากพบว่ามีความผิดจริง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

3) มาตรการเชื่อมโยงข้อมูล โดยการชี้แจงให้ทุกแพลตฟอร์มทราบมาตรการในการดำเนินคดีกับสินค้าที่มีการโฆษณาโดยไม่แสดงเครื่องหมาย มอก. และให้ทุกแพลตฟอร์มจัดทำระบบที่บังคับให้ผู้จำหน่ายสินค้าควบคุมต้องแสดง QR Code ข้อมูลใบอนุญาต และภาพในการโฆษณาต้องแสดงเครื่องหมาย มอก. ด้วย 

4) มาตรการให้ความรู้  สมอ. จะเชิญร้านค้าออนไลน์ และแพลตฟอร์ม หารือร่วมกันเพื่อหาแนวทางในการป้องกันการโฆษณา การจำหน่าย และการลักลอบขายสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน และให้ทราบถึงการกระทำความผิดฐานเป็นผู้ให้พื้นที่ในการโฆษณาและเป็นผู้มีส่วนได้ผลประโยชน์จากการขายสินค้าดังกล่าว 

5) มาตรการขยายผลอย่างยั่งยืน โดย สมอ. จะขยายผลให้ทราบถึงแหล่งที่มาของสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานเพื่อให้ควบคุมได้อย่างมีประสิทธิผลสูงสุด และจะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ประกอบการ หรือผู้เกี่ยวข้อง ที่แจ้งข้อมูลเท็จเกี่ยวกับแหล่งที่มาของสินค้า 

6) มาตรการสร้างความตระหนัก โดยขอความร่วมมือแพลตฟอร์มให้แสดงอินโฟกราฟิกแจ้งเตือนผู้บริโภคให้รู้วิธีการสังเกตสินค้าที่มีมาตรฐานทุกครั้งที่มีการค้นหา Keyword (คีย์เวิร์ด) เช่น คำว่า 'ปลั๊กพ่วง' / 'พาวเวอร์แบงค์' หรือ 'หลอดไฟ' ฯลฯ 

7) มาตรการใกล้ชิดประชาชน สมอ. จะทำคอนเทนต์ออนไลน์ให้ความรู้แก่ประชาชนในการเลือกซื้อสินค้าที่มีมาตรฐาน 

8) มาตรการเพิ่มอาวุธ มีการจัดตั้งทีมเฉพาะกิจศึกษาข้อกฎหมาย ข้อจำกัด และแนวทางการแก้ปัญหาในการลงโทษร้านค้าออนไลน์ที่กระทำความผิด รวมทั้งผู้มีส่วนได้ผลประโยชน์จากการขายสินค้าด้วย 

ทั้งนี้ เป็นการดำเนินงานภายใต้ภารกิจ 'Quick Win' เพื่อกวาดล้างสินค้าด้อยคุณภาพให้หมดไปภายใน 6 เดือน นายวันชัยฯ กล่าว

'กรณ์' หวั่น!! รัฐอาจกู้เงินต่างประเทศ เตือน!! ไม่ใช่จังหวะที่เหมาะสมเท่าไร

(26 ต.ค. 66) นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว 'กรณ์ จาติกวณิช - Korn Chatikavanij' ในหัวข้อ 'รัฐบาลจะกู้เงินต่างประเทศ !!?' ระบุว่า...

เมื่อใครเข้ามาเป็นรัฐมนตรีคลัง ก็จะมีเจ้าหน้าที่การตลาดของวาณิชธนกิจจากต่างประเทศ เช่น JPMorgan Goldman Sachs หรือ UBS ขอคิวเข้าพบ

และหนึ่งบริการที่เขาจะพยายามเสนอขายคือ ‘การออกพันธบัตรดอลลาร์’ พูดให้คนไทยเข้าใจง่าย ๆ คือ *เสนอให้รัฐบาลกู้เงินต่างประเทศนั่นเอง*

ซึ่งวันนี้ผมเห็นรัฐบาลออกมาแสดงเจตจำนงจะออกพันธบัตรกู้เงินสกุลดอลลาร์ พร้อมคำอธิบายว่าเพื่อเป็นการ ‘เปิดตลาด’ และเพื่อสร้างราคาอ้างอิง (benchmark) - นั่นคือคำอธิบายที่พนักงานมาร์เก็ตติ้งธนาคารมักจะใช้ในการขายบริการนี้ ดังนั้น ผมคาดว่าครั้งนี้ก็ไม่ต่าง

แต่ก่อนที่รัฐบาลจะคล้อยตาม ผมขอให้ไตร่ตรองให้ดีครับ เพราะจังหวะเวลานี้ ต้องขอบอกว่าไม่ใช่จังหวะที่เหมาะสมเลยที่ไทยเราจะออกไปกู้เงินต่างประเทศในลักษณะแบบนี้

หากเป็นสองปีก่อน หรือแม้แต่ปีที่แล้ว ในช่วงก่อนที่ดอกเบี้ยจะขึ้น และในช่วงที่สภาพคล่องมีล้นเหลือยังพอว่า…

แต่วันนี้หากรัฐบาลไทยออกพันธบัตรกู้เงินสกุลดอลลาร์ น่าจะต้องมีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยรัฐบาลอเมริกาอยู่ประมาณ 1% คือเท่ากับเราต้องจ่ายดอกเบี้ย 6% ขึ้นไป พร้อมกับการรับความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน (เทียบกับการกู้เงินบาทโดยรัฐบาลในอัตราดอกเบี้ย 3.3% - แพงกว่ากันประมาณ 2 เท่า)

ช่วงนี้ตลาดพันธบัตรผันผวนสูง และต้องไม่ลืมว่ารัฐบาลไทยไม่ได้กู้เงินต่างประเทศแบบนี้มาตั้งแต่ยุควิกฤตต้มยำกุ้ง!

ดังนั้นเรื่องนี้เป็นประเด็นละเอียดอ่อน เราต้องออกไปเปิดตัวในจังหวะที่ดี ทั้งในแง่สภาวะตลาดและในแง่ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของเรา

ยิ่งถ้ามีการโยงว่า ‘รัฐบาลไทยออกพันธบัตรกู้เงินต่างประเทศครั้งแรกในรอบ 25 ปี เพื่อนำไปแจกเงินโครงการประชานิยม’ อันนี้ไม่ดีแน่นอน!

'การบินไทย' รีแคป!! 2 ทศวรรษแห่งการโบยบิน รันธุรกิจเคียงคู่ 'รักษ์โลก' ในทุกกระบวนการ

เมื่อวานนี้ (25 ต.ค.66) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จัดงานแถลงข่าว 'FROM PURPLE TO PURPOSE' การปรับเปลี่ยนเครื่องแบบพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหญิงที่ผสมผสานอัตลักษณ์ความเป็นไทยเข้ากับแนวคิดเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) อย่างลงตัว โดยจะเริ่มนำมาใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป โดยมี นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัทฯ พร้อมด้วย นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และคณะผู้บริหารร่วมแถลงข่าว

ตลอดระยะเวลากว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา การบินไทยดำเนินธุรกิจโดยตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากอุตสาหกรรมการบินมาอย่างต่อเนื่อง มีการปรับปรุงกระบวนการทำงานด้านต่าง ๆ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านกิจกรรมและโครงการริเริ่มต่าง ๆ ทั้งในรูปแบบการลดการใช้ทรัพยากร ลดปริมาณขยะด้วยการนำวัสดุที่ไม่ใช้งานแล้วกลับมาพัฒนาสร้างคุณค่าให้เกิดประโยชน์เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) สร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน และมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) ภายใต้แนวคิด Zero Waste Living ซึ่งประกอบด้วยหลักการหลัก 3 ประการ ได้แก่ 

FROM PLANES TO PLANET-การบินเพื่อสิ่งแวดล้อม
FROM WASTE TO WEALTH-การพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ 
FROM PURPLE TO PURPOSE-จากใจสู่เป้าหมายเพื่อความยั่งยืน

เครื่องแบบชุดไทยเรือนต้นของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหญิงของการบินไทยเป็นที่รู้จักแพร่หลายในระดับนานาชาติ และได้รับการยอมรับในเรื่องความสวยงาม ได้รับการจดจำและเป็นสิ่งแสดงออกถึงเอกลักษณ์ที่สะท้อนถึงความเป็นสายการบินแห่งชาติที่เปรียบเสมือนประตูบานแรกที่เปิดต้อนรับผู้โดยสารจากประเทศต่าง ๆ มาเป็นระยะเวลากว่าครึ่งศตวรรษ ได้ถูกนำมาตัดเย็บด้วยเส้นไหมไทยถักทอผสมผสานกับเส้นใยแปรรูปจากวัสดุรีไซเคิล คงไว้ซึ่งความงดงามในความเป็นไทยที่เพิ่มคุณลักษณะพิเศษเฉพาะตัวด้วยประโยชน์ใช้สอยครบถ้วน โดดเด่นในเรื่องความง่ายในการดูแลรักษา การคงรูปแต่ให้ความยืดหยุ่นและคล่องตัวในการใช้งาน และยังได้มีการทดสอบในด้านความปลอดภัยที่เป็นตามมาตรฐานสากล

เครื่องแบบชุดไทยเรือนต้นดังกล่าวจะปรากฏในทุกที่สาธารณะทั่วโลกและทุกชั้นบริการบนเครื่องบิน ในฐานะเครื่องแบบของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหญิงของการบินไทย ซึ่งจะสวมใส่พร้อมกันตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป 

ที่ผ่านมา บริษัทได้เริ่มดำเนินการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานด้วยการนำเครื่องบินและเครื่องยนต์สมัยใหม่ที่มีอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงและการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำมาใช้ในการให้บริการ และปรับปรุงการปฏิบัติการบิน อาทิ การนำเทคนิค Single Engine Taxi และการลดน้ำหนักการบรรทุกมาปรับใช้ในการปฏิบัติการบิน เป็นต้น 

นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการปรับปรุงกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างยั่งยืนซึ่งรวมถึงการจัดทำแผนการนำเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF-Sustainable Aviation Fuel) มาใช้ทำการบิน และการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจด้านอื่น ๆ นอกเหนือจากกิจกรรมการบิน อาทิ กิจกรรมครัวการบิน กิจกรรมสายช่าง กิจกรรมการบริการภาคพื้น ตลอดจนกิจกรรมเพื่อสร้างความยั่งยืนทางสังคม อาทิ การสนับสนุนผลิตภัณฑ์จากภาคการเกษตรของเกษตรชาวไทยและผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่บริษัทฯ กำหนดไว้

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 16 - 20 ต.ค. 66 จับตาปัจจัย ‘บวก-ลบ’ พร้อมแนวโน้ม 23 - 27 ต.ค. 66

อิสราเอลโจมตีฉนวนกาซาทางอากาศอย่างต่อเนื่อง และเตรียมบุกด้วยกำลังภาคพื้นดินเพื่อกวาดล้างกลุ่ม ฮามาสออกจากพื้นที่ ขณะที่กลุ่มฮิซบุลเลาะห์ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธสนับสนุนโดยอิหร่านมีที่ตั้งในเลบานอนเปิดฉากโจมตีทางตอนเหนือของอิสราเอล ขณะที่สหรัฐฯ นำเรือบรรทุกเครื่องบิน 2 ลำ ลอยลำในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเพื่อสนับสนุนอิสราเอล อย่างไรก็ดีกาตาร์และนานาชาติเจรจาต่อรองกับกลุ่มฮามาสทำให้ตัวประกัน 4 ราย ได้รับการปล่อยตัว

กระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ประกาศผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรน้ำมันต่อเวเนซุเอลาระยะเวลา 6 เดือน (มีผลบังคับใช้ถึงวันที่ 18 เม.ย. 67) จากรัฐบาลของประธานาธิบดีเวเนซุเอลา นาย Nicolas Maduro ลงนามในข้อตกลงกับพรรคฝ่ายค้าน จัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2567 ทั้งนี้เวเนซุเอลาผลิตน้ำมันดิบในเดือน ก.ย. 66 อยู่ที่ 760,00 บาร์เรลต่อวัน 

Joint Organizations Data Initiative (JODI) รายงานซาอุดีอาระเบียผลิตน้ำมันดิบในเดือน ส.ค. 66 ลดลงจากเดือน 1.1% อยู่ที่ 8.92 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำสุดในรอบ 26 เดือน และส่งออกลดลงจากเดือน 7.1% อยู่ที่ 5.58 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำสุดในรอบ 28 เดือน ทั้งนี้ ซาอุดีอาระเบียอาสาลดการผลิตน้ำมันดิบเพิ่มเติม 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ก.ค. - ธ.ค. 66

CEO ของ Saudi Aramco บริษัทน้ำมันแห่งชาติของซาอุดีอาระเบีย นาย Amin Nasser กล่าวว่าขณะนี้ซาอุดีอาระเบียมีกำลังการผลิตน้ำมันดิบส่วนเหลือ (Spare Capacity) อยู่ที่ 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน และคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันโลกในครึ่งหลังของปี 2566 จะอยู่ที่ 103 ล้านบาร์เรลต่อวัน 

กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ประกาศซื้อน้ำมันดิบปริมาณ 6 ล้านบาร์เรล ส่งมอบเดือน ธ.ค. 66 - ม.ค. 67 เพื่อเก็บในคลังสำรองเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve: SPR) และมีแผนเพิ่มปริมาณสำรองต่อเนื่องถึงเดือน พ.ค. 67 ที่ราคาเป้าหมายไม่เกิน 79 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล 

‘มาคาเลียส’ อัดแคมเปญใหญ่ ‘Makalius Super Bonus’ ลุยตลาดท่องเที่ยวช่วงปลายปี 66 ส่วนลด-ดีลเด็ดเพียบ

(25 ต.ค. 66) มาคาเลียส แหล่งรวมอี-วอเชอร์ที่พัก ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว อันดับ 1 ของประเทศไทย ชี้สิ้นปีนี้นักท่องเที่ยวชาวไทยเกินกว่า 50% ยังคงท่องเที่ยวในประเทศ สาเหตุจากสถานการณ์ความรุนแรงของหลายประเทศที่เกิดขึ้น เตรียมเดินหน้าผนึกกำลังพันธมิตรโรงแรม ที่พัก สถานที่ท่องเที่ยว จัดแคมเปญใหญ่ ‘Makalius Super Bonus’ (มาคาเลียส ซูเปอร์ โบนัส) มอบเป็นโบนัสพิเศษให้นักท่องเที่ยวชาวไทยส่งท้ายปี

นางสาวณีรนุช ไตรจักร์วนิช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท มาคาเลียส ประเทศไทย จำกัด (Makalius) แหล่งรวมอี-วอเชอร์ที่พัก ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว อันดับ 1 ของประเทศไทย กล่าวว่า “มาคาเลียส คาดการณ์ว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 ที่จะเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่น ตลาดการท่องเที่ยวในประเทศจะคึกคักอีกครั้ง และคาดว่าในช่วงสิ้นปีนี้นักท่องเที่ยวชาวไทยเกินกว่า 50% จะยังคงเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ เนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวเริ่มมีการปรับกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว”

ทางด้านมาคาเลียสเตรียมเดินหน้าผนึกกำลังกับพันธมิตรทั้งโรงแรม ที่พัก สถานที่ท่องเที่ยว อาทิ Eco Cozy Beachfront Resort, Taris river cottage, Golden Tulip Pattaya Beach Resort, Movenpick Resort Khao Yai, Centara Azure, Hotel Kuretakeso, Cross Vibe Pattaya Seaphere, Prima Hotel, Kooncharaburi Resort, Baiyoke Buffet, Sanay Rooftop Bar, ล่องเรือแม่น้ำเจ้าพระยา  เป็นต้น จัดแคมเปญใหญ่ส่งท้ายปี ‘Makalius Super Bonus’ (มาคาเลียส ซูเปอร์ โบนัส) อัดแน่นโปรโมชั่นสุดพิเศษเพื่อมอบเป็นโบนัสให้นักท่องเที่ยวชาวไทยส่งท้ายปี 

ไม่ว่าจะเป็น Double Date Promotion 11.11 | 12.12 รวมถึง Signature Promotion อย่าง Makalius WoW deal และ Seasonal Promotion ต่าง ๆ อีกมากมาย โดยความพิเศษคือ ดีลพิเศษมากกว่า 15 ดีล กับส่วนลดสูงสุดกว่า 70% ทั้งโรงแรมที่พัก ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว พร้อมการเพิ่มประสบการณ์ด้านการท่องเที่ยวที่เหนือระดับด้วยความพิเศษที่มาคาเลียสมอบให้ อาทิ ฟรีดินเนอร์ ฟรีดริ้งค์ ฟรีบัตรกำนันสถานที่ท่องเที่ยว เป็นต้น ตลอดเดือนพฤศจิกายน 2566 ถึง มกราคม 2567

นางสาวณีรนุช กล่าวต่อว่า “ภาพรวมของตลาดท่องเที่ยวในประเทศไทยปีนี้มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากปัจจัยหลายด้าน ทั้งการสนับสนุนจากภาครัฐ วิถีการทำงานแบบไฮบริดของคนออฟฟิศที่ทลายข้อจำกัดเรื่องวันการท่องเที่ยว รวมถึงผู้ประกอบการท่องเที่ยวหันมาให้ความสำคัญกับนักท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยจากปัจจัยดังกล่าวและการปรับแผนการตลาดช่วงโค้งสุดท้ายของมาคาเลียส คาดว่าในปีนี้ บริษัทฯ จะสามารถสร้างรายได้ตามเป้าที่วางไว้คือ 120 ล้านบาท”

‘วิชัย ทองแตง’ เยือน ‘สกลนคร’ พบปะเกษตรกร ร่วมแชร์ไอเดียนวัตกรรมการเกษตร เสริมแกร่ง ‘สกลนครโมเดล’

นักปั้นนมือทอง!! ‘วิชัย ทองแตง’ เยือนถิ่นสกลนคร ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ พร้อมแชร์ไอเดีย หวังผลักดันนัวตกรรมการเกษตร สร้างรายได้ สร้างอาชีพ ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ ร่วมหนุนโครงการสกลนครโมเดลให้แข็งแกร่ง

เมื่อวันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา คุณวิชัย ทองแตง นักธุรกิจและอดีตนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ประธานกรรมการบริษัท บิทคับ เวิลด์เทค จำกัด ผู้ผันตัวเองมาเป็นนักปั้นธุรกิจสตาร์ตอัป ได้เดินทางเยือนจังหวัดสกลนคร ในการลงพื้นที่ศึกษาข้อมูลการพัฒนาเกษตรนวัตกรรมจังหวัดสกลนคร ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร

สำหรับเดินทางเยี่ยมเยียนเกษตรกรในครั้งนี้ คุณวิชัย ได้ถ่ายทอดประสบการณ์การทำธุรกิจ และแนวทางการทำตลาดสินค้าเกษตรในยุค ‘Digital Transformation’ ซึ่งถือเป็นยุคแห่งโอกาส ทั้งโอกาสในการพัฒนาสินค้า โอกาสในการขยายตลาด และโอกาสในการเรียนรู้ช่องทางการตลาดใหม่ ๆ แต่ที่สำคัญหากโอกาสมาถึงแล้ว อย่าปล่อยโอกาสให้หลุดมือไป

พร้อมกันนี้ คุณวิชัย ยังได้ร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิดกับเกษตรกรภายใต้โครงการ ‘สกลนครโมเดล’ โดยให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการปลดล็อกศักยภาพสูงสุดของการเกษตรเชิงนวัตกรรมในพื้นที่ และรับฟังการบรรยายสรุปภาพรวม จาก น.ส.สกุณา สาระนันท์ ส.ส. สกลนคร เขต 6 ถึงความสำเร็จในการยกระดับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ตั้งแต่พืชผักสวนครัว สมุนไพร กล้วยหอมทอง เห็ดป่า ผ้าทอ และผ้าย้อมคราม โดยเฉพาะผ้าย้อมคราม ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงของสกลนคร และสามารถต่อยอดเป็นสินค้าแฟชั่นในรูปแบบต่าง ๆ ได้อย่างหลากหลาย 

แต่อย่างไรก็ดี ด้วยจุดเด่นของวัตถุดิบทางการเกษตรที่มีอยู่ในพื้นที่ รวมไปถึงทักษะของเกษตรกรสกลนคร คุณวิชัย เชื่อว่า หากได้รับการสนับสนุนและการนำด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ มาพัฒนาต่อยอด จะช่วยสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและยกระดับรายได้ให้เกษตรกรเพิ่มขึ้นได้อย่างแน่นอน

‘ธพส.’ ผุด ‘สวนลอยฟ้า’ ย่านแจ้งวัฒนะ-หลักสี่ พื้นที่กว่า 5.4 ไร่ เพิ่มจุดพักผ่อนพื้นที่สีเขียวให้คนเมือง พร้อมเปิดให้บริการปี 67

(25 ต.ค. 66) นายนาฬิกอติภัค แสงสนิท กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (DAD) หรือ ธพส. เผยว่า จากแนวความคิดที่ต้องการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับพื้นที่ศูนย์ราชการฯ อีกจำนวน 40 ไร่ เพื่อยกระดับศูนย์ราชการฯ ให้เป็นมากกว่าสถานที่ทำงานหรือสถานที่ราชการ แต่เป็นพื้นที่ปอดแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ ล่าสุด ธพส. จึงได้จัดสรรพื้นที่ของอาคารจอดรถและซ่อมบำรุง (Depot) ตกแต่งเป็นสวนสาธารณะลอยฟ้า 2 แห่ง รวมพื้นที่กว่า 8,662 ตารางเมตร หรือราว 5.4 ไร่ ใหญ่ที่สุดบนถนนแจ้งวัฒนะและย่านหลักสี่ กรุงเทพฯ

ทั้งนี้ สวนลอยฟ้าแห่งแรกตั้งอยู่บนดาดฟ้าชั้น 11 อาคารจอดรถ Depot ขนาดพื้นที่กว่า 2,789 ตารางเมตร และแห่งที่สองอยู่บนดาดฟ้าที่จอดรถอาคาร A ขนาดพื้นที่ 5,872 ตารางเมตร เชื่อมต่อกับชั้น 2 ของอาคารจอดรถ Depot และเพิ่มความสะดวกของผู้ใช้บริการ

DAD ยังได้สร้างทางเดิน Skywalk ระยะทาง 213 เมตร เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีชมพู สถานีศูนย์ราชการ และเพิ่มความร่มรื่นด้วยการจัดให้มีพื้นที่สวนสาธารณะด้านหน้าอาคารอีก 1,701 ตารางเมตร บริเวณด้านหน้าของอาคาร โดยทั้งหมดที่ DAD พัฒนา จะเปิดกว้างให้ประชาชนทั่วไป ผู้มาใช้บริการและผู้ที่ทำงานในศูนย์ราชการฯ ได้เข้ามาใช้บริการได้

บริเวณชั้น 2 ของอาคารจอดรถ Depot เตรียมจัดวางเป็นพื้นที่สันทนาการ แบ่งเป็นสโมสรหรือคลับเฮ้าส์สำหรับนัดพบปะพูดคุยสังสรรค์ ลานสำหรับจัดกิจกรรม และอีกส่วนหนึ่งจะจัดเป็นศูนย์การเรียนรู้ โดยได้ประสานกับสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD เพื่อมาให้บริการ ซึ่งเร็ว ๆ นี้จะดำเนินการลงนามในบันทึกข้อตกลง หรือ MOU ร่วมกัน

สำหรับอาคารจอดรถ Depot ตั้งอยู่ด้านหน้าทางเข้าศูนย์ราชการ เป็นอาคาร 11 ชั้น รองรับรถยนต์ได้ 1,632 คัน มีจุดหัวชาร์จรถ EV รองรับได้จำนวน 30 คัน ด้านล่างของอาคารมีรถ EV Shuttle Bus จอดให้บริการรับ-ส่ง ผู้มาใช้ติดต่อศูนย์ราชการฯ และผู้ใช้บริการต่าง ๆ การออกแบบก่อสร้างเป็นอาคารประหยัดพลังงาน โดยติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์จำนวน 324 แผง ผลิตไฟฟ้าได้ 74,163.60 กิโลวัตต์ต่อเดือน ประหยัดพลังงานได้ 11.03% ต่อเดือน ซึ่งสวนสาธารณะลอยฟ้า และอาคารจอดรถ Depot คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2567

“สิ่งที่ DAD มุ่งมั่นดำเนินการมาโดยตลอด เพื่อให้ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนย่านหลักสี่ แจ้งวัฒนะ จึงผลักดันสองเรื่องสำคัญมาโดยตลอด คือการจัดการจราจร เพื่อลดความแออัด และการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งนอกจากเราจะใช้นวัตกรรมในการสร้างอาคารที่ลดการใช้พลังงาน การจัดการน้ำเสียให้นำกลับมาใช้ประโยชน์ การจัดการน้ำฝนให้นำไปใช้ประโยชน์ได้ตลอดปี DAD ยังมุ่งมั่นที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด เพื่อให้ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ เป็นทั้งสถานที่ทำงาน แหล่งสันทนาการและสถานที่พักผ่อน ที่ประชาชนสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์เพื่อสร้างความสุขได้อีกทางหนึ่ง” กรรมการผู้จัดการ DAD กล่าว

นอกจากนี้ แนวคิดการเพิ่มพื้นที่สีเขียว DAD ยังเตรียมปรับปรุง (Renovate) พื้นที่บริเวณ อาคาร B เพื่อเพิ่มความร่มรื่นและลดความแออัดจากจำนวนอาคารและประชาชนที่จะเข้ามาทำงานและติดต่อหน่วยงานราชการ โดยเตรียมปรับพื้นที่เพิ่มการปลูกต้นไม้รอบอาคารและเพิ่มพื้นที่สวนสาธารณะบริเวณอาคาร B และทางเชื่อมต่อกับอาคาร C โดยจะดำเนินการควบคู่ไปกับการพัฒนาและการจัดการระบบการจราจร ได้แก่ การสร้างอุโมงค์ทางลอดขนาด 4 ช่องทางการจราจร และทางเชื่อมต่ออาคารระหว่างอาคาร B กับ อาคาร C โดยเมื่อโครงการเสร็จสมบูรณ์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 จะมีพื้นที่สีเขียวรวมทั้งสิ้นกว่า 145 ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมด 449 ไร่ นับเป็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพ

‘กรมราง’ ตรวจงาน ‘รถไฟฟ้าสายสีชมพู’ ช่วงแคราย-มีนบุรี คืบหน้าแล้วกว่า 98.37% คาด!! พร้อมให้บริการ 18 ธ.ค.นี้

(25 ต.ค. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง พร้อมด้วยผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางราง ลงพื้นที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี ร่วมกับ รฟม. บริษัทที่ปรึกษาโครงการ (PCPK) และบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้ให้บริการเดินรถ เพื่อติดตามความพร้อมก่อนเปิดให้บริการประชาชนในเดือนธันวาคม 66

รถไฟฟ้าสายสีชมพู หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘น้องนมเย็น’ เป็นรถไฟฟ้าโมโนเรลสายที่สองของไทย ถัดจากรถไฟฟ้าสายสีเหลือง มีแนวเส้นทางเริ่มจากศูนย์ราชการนนทบุรี วิ่งผ่านถนนสำคัญหลายเส้น ได้แก่ ถนนรัตนาธิเบศร์ ถนนติวานนท์ ถนนแจ้งวัฒนะ ถนนรามอินทรา และถนนสีหบุรานุกิจ จนถึงมีนบุรี รวมระยะทาง 34.50 กิโลเมตร 30 สถานี

มีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายอื่น ได้แก่ สายสีเชียว สายสีแดง สายสีม่วง ปัจจุบันมีความคืบหน้าแล้วกว่า 98.37%

การลงพื้นที่ครั้งนี้ เริ่มต้นจากสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ (PK16) ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อกับสถานีวัดพระศรีมหาธาตุของรถไฟฟ้าสายสีเขียว จุดเด่นของสถานีนี้ คือ ชานชาลาและทางวิ่งจะถูกแยกเป็น 2 ฝั่ง และมีสะพานรถยนต์ข้ามแยกวงเวียนบางเขนคั่นอยู่ตรงกลาง

โดยจะมี Skywalk ให้ผู้ใช้บริการสามารถเดินทะลุจากชานชาลาของรถไฟฟ้าสายสีชมพูไปที่บริเวณขายตั๋วของรถไฟฟ้าสายสีเขียวได้เลย โดยไม่ต้องแตะบัตรเข้า-ออกอีกครั้ง ทำให้เดินทางสะดวกรวดเร็วมากขึ้น
.
ต่อมาได้ร่วมทดสอบการเดินรถ จากสถานีวัดพระศรีมหาธาตุไปยังสถานีหลักสี่ (PK14) สถานีนี้มี Skywalk เชื่อมต่อไปที่สถานีหลักสี่ของรถไฟชานเมืองสายสีแดง ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และศูนย์การค้าไอทีสแควร์ ซึ่งอยู่คนละฝั่งของถนนวิภาวดีรังสิตได้

นอกจากนี้ รถไฟฟ้าสายสีชมพูยังมีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง ที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) โดยมี Skywalk แห่งแรกในไทย ที่มีทางเดินเลื่อนอัตโนมัติ (Walkalator) ความยาว 340 เมตร ในอนาคตสถานีนี้จะมีการเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลช่วงแคราย - ลำสาลีได้อีกด้วย

สำหรับสถานีแจ้งวัฒนะ 14 (PK 11) - สถานีโทรคมนาคมแห่งชาติ (PK 13) ที่เริ่มการก่อสร้างทางขึ้น - ลงได้ล่าช้า ปัจจุบันก่อสร้างเสาตอม่อและโครงสร้างเหล็กแล้ว อยู่ระหว่างก่อสร้างหลังคา ราวกันตก ติดตั้งและทดสอบการใช้งานบันไดเลื่อนและลิฟต์

ในส่วนของการเชื่อมต่อ สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ จะมี Skywalk เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ปฏิบัติงานในบริเวณศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติกว่าแสนราย รวมถึงทยอยคืนพื้นผิวจราจรตลอดแนวเส้นทาง เพื่อให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเดินทางได้สะดวกปลอดภัย

ซึ่ง รฟม. ได้เร่งรัดผู้รับจ้างในการเปิดให้บริการเร็วขึ้นจากเดิม เดือนมิถุนายน 2567 เบื้องต้นผู้รับจ้างคาดว่าจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ ในวันที่ 18 ธันวาคม 2566 โดยให้บริการในช่วง 06.00 - 24.00 น. อย่างไรก็ตาม รฟม. จะต้องตรวจสอบงานและความปลอดภัยให้เป็นไปตามสัญญาก่อนเปิดให้บริการต่อไป

‘MK’ ประกาศเปลี่ยนโลโก้บริษัท มีผลตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ส่วนการดำเนินงานทุกอย่าง ย้ำ!! ยังเหมือนเดิมทุกประการ

(24 ต.ค.66) บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ประกาศเปลี่ยน โลโก้ (Corporate Logo) ของบริษัท เป็นดีไซน์ใหม่

สำหรับสาเหตุของการตัดสินใจครั้งนี้ เอ็มเคฯ ระบุในหนังสือที่แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงโลโก้นี้เพื่อให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ โดยจะมีผลตั้งแต่ 24 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ยักษ์ร้านสุกี้ยังย้ำว่า การเปลี่ยนแปลงโลโก้ใหม่ จะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานและบริหารทางธุรกิจของบริษัท โดยทั้งชื่อย่อ เว็บไซต์ ที่อยู่สำนักงาน และหมายเลขติดต่อ ยังคงเดิมทุกประการ

ในส่วนของที่มาของชื่อและโลโก้เอ็มเคนั้น ข้อมูลจากเว็บไซต์ mkrestaurant.com ระบุว่า ที่มาของคำว่า ‘เอ็มเค’ มาจากชื่อของเจ้าของเดิมคือ มาคอง คิงยี (Makong King Yee) ชาวฮ่องกง ก่อนที่ คุณป้าทองคำ เมฆโต จะซื้อกิจการต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2505

ต่อมาในปี พ.ศ. 2527 สัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ เจ้าของเครือเซ็นทรัลกรุ๊ป ได้ชักชวนคุณป้าทองคำ มาเปิดร้านอาหารไทยในเซ็นทรัล ลาดพร้าว ในชื่อร้าน ‘กรีน เอ็มเค’ ตามด้วยร้านสุกี้เอ็มเค สาขาแรกในห้างเซ็นทรัล ลาดพร้าว ในปี พ.ศ. 2529

‘บีไอจี’ ผนึกกำลัง ‘น้ำมันกุ๊ก’ ร่วมลดปล่อยคาร์บอน ตัดวงจรก่อมลพิษในกระบวนการผลิตน้ำมันพืช

(24 ต.ค.66) นายปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด หรือ บีไอจี (BIG) เปิดเผยว่า บริษัทได้ดำเนินการร่วมกับบริษัท ธนากรผลิตภัณฑ์น้ำมันพืช จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำมันพืชกุ๊ก ในการวัดและวิเคราะห์แนวทางการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิตน้ำมันพืชและกากพืชน้ำมันด้วย Carbon Accounting Platform ที่พัฒนาโดยบีไอจี

ทั้งนี้ เพื่อยกระดับการบริหารจัดการพลังงานในอุตสาหกรรมอาหารอย่างยั่งยืน ตอบรับเป้าหมายของประเทศมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปีพ.ศ. 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปีพ.ศ. 2608

“ความร่วมมือดังกล่าวถือเป็นการมุ่งเน้นในการพัฒนานวัตกรรมจาก Climate Technology ในการตรวจสอบและลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในการกระบวนการผลิตน้ำมันพืชและกากพืชน้ำมัน เพื่อนำไปสู่การกำหนดแนวทางการบริหารจัดการพลังงานอย่างยั่งยืน โดยที่ความร่วมมือดังกล่าวถือเป็นก้าวสำคัญในการต่อยอดการใช้ Carbon Accounting Platform ไปสู่อุตสาหกรรมอาหาร และร่วมผลักดันในพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ร่วมกัน”

นายอดุลย์ เปรมประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ธนากรผลิตภัณฑ์น้ำมันพืช จำกัด กล่าวว่า การนำนวัตกรรมรวมถึง Platform ที่เกี่ยวกับการสังเกตและวางแผนการผลิตเพื่อช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในรูปแบบ Carbon Accounting Platform ที่บีไอจีพัฒนาขึ้น โดยมาใช้ในกระบวนการผลิตน้ำมันพืชและกากพืชน้ำมันที่เป็น Green Industry จะช่วยบริหารจัดการด้านพลังงานอย่างยั่งยืนและช่วยลดการปลดปล่อยคาร์บอนจากกระบวนการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยเร่งผลักดัน ตอบรับกับกลยุทธ์ของน้ำมันพืชกุ๊กที่จะมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปีพ.ศ. 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี พ.ศ. 2608

‘พาณิชย์ฯ’ เผยตัวเลขส่งออกไทย ก.ย.66 พลิกบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง

(24 ต.ค.66) นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนกันยายน 2566 ว่า การส่งออก มีมูลค่า 25,476 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวร้อยละ 2.1 ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากตลาดคาดว่า หดตัวร้อยละ 1.75-2.00

ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 23,383 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 8.3 ส่งผลให้เดือนกันยายน ไทยเกินดุลการค้า 2,093 ล้านดอลลาร์

ขณะที่ในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-ก.ย.66) การส่งออก มีมูลค่ารวม 213,069 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 3.8 การนำเข้า มีมูลค่ารวม 218,902 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ 9 เดือนแรกปีนี้ ไทยขาดดุลการค้า 5,833 ล้านดอลลาร์

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า การส่งออกของไทย ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยได้รับแรงหนุนจากการส่งออกสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมเกษตร โดยเฉพาะการส่งออกผลไม้ไปจีน อาทิ ทุเรียน และมังคุด รวมทั้งการส่งออกข้าวที่ขยายตัวได้ดีในตลาดแอฟริกาใต้และอินโดนีเซีย ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมดาวรุ่งที่ขยายตัวต่อเนื่อง ยังคงเป็นสินค้าที่เติบโตตามเมกะเทรนด์ เช่น โซลาร์เซลล์ และโทรศัพท์มือถือ

'ก.อุตฯ' เผย!! โครงการศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ ฉะเชิงเทรา รุดหน้า!! เตรียมพาอุตฯ ยานยนต์ไทยทะยาน หลังได้ผู้รับเหมาครบ 'ตอบโจทย์-ราคาเหมาะสม'

เมื่อวันที่ 23 ต.ค. 66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากที่นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 66 ที่ผ่านมา ซึ่งสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เป็นผู้ดำเนินโครงการดังกล่าว โดยดำเนินอยู่บนพื้นที่ 1,235 ไร่ บริเวณเขตสวนป่าลาดกระทิง ตำบลลาดกระทิง อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยการลงทุนของภาครัฐทั้งหมดภายใต้กรอบวงเงิน 3,705.7 ล้านบาท

ปัจจุบันได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จกว่า 55% ใช้งบประมาณไปแล้ว 2,038 ล้านบาท คงเหลือการดำเนินงานอีก 45% ในวงเงินประมาณ 1,667.69 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2569 หากแล้วเสร็จสมบูรณ์ศูนย์ทดสอบแห่งนี้จะกลายเป็นฮับการทดสอบมาตรฐานอันดับ 1 ในอาเซียน และอันดับที่ 11 ของโลก

การก่อสร้างศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC) เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมและยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และยางล้อของไทย ไปสู่การเป็นซูเปอร์คลัสเตอร์ (Super Cluster) อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ และเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของรัฐบาล ที่ต้องการผลักดันให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านจากการเป็นฐานการผลิตยานยนต์สันดาปภายในเป็นยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่สำคัญ ในภูมิภาคอาเซียนมีบุคลากรที่มีความรู้และความสามารถในด้านผลิตภัณฑ์ยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และยางล้อ สามารถทดสอบและรับรองได้เองในประเทศ เป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการในประเทศที่ไม่ต้องส่งผลิตภัณฑ์ไปทดสอบที่ต่างประเทศ

สำหรับงบประมาณที่ได้รับอนุมัติมาในปี 2566 อีก 1,667.69 ล้านบาทนั้น จะใช้สำหรับการก่อสร้าง ได้แก่

1. สนามทดสอบสมรรถนะและความเร็ว และการป้องกันดินสไลด์สู่สนามทดสอบยางล้อตามมาตรฐาน UN R117  
2. สถานีสำหรับเตรียมสภาพรถ (Work Shop) 
3. ทางวิ่ง (Run-In) ส่วนต่อขยายจากสนามทดสอบยางล้อเพื่อการทดสอบมาตรฐาน UN R117
4. LAB ทดสอบการชน 

รวมทั้งจัดซื้อชุดเครื่องมือทดสอบ 3 รายการ ได้แก่ ชุดเครื่องมือทดสอบการยึดเกาะถนนขณะเข้าโค้ง  ชุดเครื่องมือทดสอบอุปกรณ์เลี้ยวสำหรับยานยนต์ และชุดเครื่องมือทดสอบการป้องกันผู้โดยสารเมื่อเกิดการชนด้านหน้าและด้านข้าง

ทั้งนี้ ตามแผนที่วางไว้ศูนย์ทดสอบฯ นี้จะกลายเป็นฮับการทดสอบมาตรฐานอันดับ 1 ในอาเซียน และอันดับที่ 11 ของโลก คาดว่าศูนย์ทดสอบฯ จะมีรายได้ไม่น้อยกว่าปีละ 968 ล้านบาท รวมทั้งช่วยให้ผู้ประกอบการประหยัดค่าใช้จ่าย และลดระยะเวลาในการส่งผลิตภัณฑ์ไปทดสอบที่ต่างประเทศประมาณ 30-50% และสร้างเม็ดเงินสะพัดในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 148 ล้านบาทต่อปี

ล่าสุดสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดให้มีการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ โครงการประกวดราคาจ้างก่อสร้างสนามทดสอบความเร็วและสมรรถนะ และการป้องกันดินสไลด์สู่สนามทดสอบยางล้อ ตามมาตรฐาน UN R117 ต.ลาดกระทิง อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา โดยมีข้อมูลอยู่ในระบบอีบิดดิ้ง มีผู้แข่งขัน 2 รายและมีผู้รับการคัดเลือกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยบริษัทผู้รับคัดเลือกมีราคาต่ำสุดอยู่ที่ 844,230,000 บาท โดยคาดว่าจะมีการประกาศรายชื่อบริษัทที่ชนะการประกวดราคาทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อเดินหน้าก่อสร้างโครงการดังกล่าวในเร็ว ๆ นี้ ให้สามารถดำเนินโครงการในแต่ละระยะให้แล้วเสร็จทั้งโครงการและเปิดใช้บริการได้ในปี 2569 ตามกรอบเวลาของโครงการทั้งหมดได้

‘ทิพานัน’ ชี้!! ผลงาน ‘บิ๊กตู่’ 9 ปี มีเพียบ ยกผลงานเจรจาการค้าเด่น หนุนเปิดประเทศ-เปิดโอกาส ชู ‘ศักยภาพผู้นำที่ดี’ พาไทยแกร่งรอบด้าน

‘ทิพานัน’ ติงนักวิชาการ ให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน ยกผลงานเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ยุค ‘พล.อ.ประยุทธ์’ ผลงานเพียบ เปิดประเทศ เปิดโอกาส และเปิดแนวทางใหม่การลงทุนในภูมิภาคสุดปัง ชู ‘ภาวะผู้นำที่ดี’ ทำทีมไทยแกร่ง 6 ด้าน

(23 ต.ค. 66) น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ อดีตรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘อ้น ทิพานัน ศิริชนะ’ ถึงกรณีที่นักวิชาการแสดงความเห็นเปรียบเทียบ การเจรจาการค้าระหว่างประเทศระหว่าง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุว่า…

ลุงตู่มีวิสัยทัศน์ที่ดี ทั้งเปิดประเทศ เปิดโอกาส เปิดแนวทางใหม่การลงทุนในภูมิภาค

ที่สำคัญเพราะ ‘ภาวะผู้นำที่ดี’  จึงมีดังนี้

#รัฐบาลลุงตู่ มีผู้แทนการค้าไทยที่แข็งแกร่ง

#รัฐบาลลุงตู่ มีทูตทางการค้าที่เข้าใจลูกค้า

#รัฐบาลลุงตู่ มีนโยบายจากBOIที่ชวนมาลงทุนโดยเฉพาะ

#รัฐบาลลุงตู่ มีกฎหมายอำนวยความสะดวกสำหรับนักลงทุนโดยเฉพาะ

#รัฐบาลลุงตู่ เดินหน้าเจรจาการค้ากับต่างประเทศมาตลอด 9 ปี

#รัฐบาลลุงตู่ พัฒนาทุกมิติไม่ใช่แค่หิ้วกระเป๋าไปขายของ

สิ่งเหล่านี้คือ ‘รากฐาน’ สำหรับการไปขายของในอนาคต

บทความตอนหนึ่งที่กล่าวถึง พล.อ.ประยุทธ์ จาก รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2566 ว่า…

“เพราะถ้ามีการเปรียบเทียบทั้งสองคน ในแง่การไปเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สมัย พล.อ.ประยุทธ์ เรื่องการเจรจาพูดคุยอะไรต่างๆ กับต่างชาติติดลบ”

“และการเดินสายต่างประเทศคงเป็นความพยายามหลังจากที่ขาดหายไปนานในรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จึงถือเป็นความพยายามอีกอย่างหนึ่งท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจที่หลากหลาย”

การนำเสนอตรงนี้อาจไม่ครบถ้วน ตรงตามหลักวิชาการ และคนอาจเชื่อตามข้อมูลนั้นไปแบบไม่ครบถ้วน จึงขอนำเสนอข้อมูลให้ครบถ้วนอีกด้าน เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องครบถ้วนทุกมิติ ที่ทำให้เห็นว่า ลุงตู่วางรากฐานการลงทุนที่จับต้องได้ ไม่ขายฝัน และ #มีคนทำงานแต่ละด้านที่เป็นมืออาชีพ จนสำเร็จลุล่วง และเดินหน้าพบปะกับต่างชาติทั่วโลกมาตลอดระยะเวลา 9 ปี และมีผลงานโดดเด่นมากมาย เช่น ซาอุฯ จีน เป็นต้น

การเดินทางพบผู้นำและประชุมระดับโลกและอาเซียน ของลุงตู่ เพื่อการค้าและการลงทุน และมิติอื่นๆ มีอะไรบ้าง ขอยกตัวอย่างดังนี้

- 12-15 ธ.ค. 65 ประชุมสุดยอดอาเซียน–สหภาพยุโรป สมัยพิเศษ ที่บรัสเซลส์ เบลเยียม

- 25-27 พ.ค. 65 ประชุมInternational Conference on the Future of Asia (Nikkei Forum) ครั้งที่ 27 ที่โตเกียว ญี่ปุ่น

- 12-13 พ.ค. 65 การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐอเมริกา ที่ วอชิงตันดี.ซี สหรัฐอเมริกา

- 25 ม.ค. 65 เยือนซาอุดีอาระเบีย เป็น ‘ความสำเร็จในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ไทย - ซาอุดีอาระเบีย’ ให้กลับมาอยู่ใน ‘ระดับปกติ’ อย่างสมบูรณ์ ถือเป็นการสิ้นสุด 3 ทศวรรษแห่งความห่างเหิน และเป็นก้าวแรกของ ‘โอกาสอันมากมายมหาศาล’ 9 ด้าน คือ

1.) การท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้ไทยไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาทต่อปี

2.) พลังงาน (เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ชาติของ 2 ประเทศ) ร่วมลงทุน-วิจัยพลังงานดั้งเดิม พลังงานสะอาด และพลังงานหมุนเวียน

3.) แรงงานไทย สนับสนุนโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ใน ‘วิสัยทัศน์ซาอุดีอาระเบีย ค.ศ. 2030’ (Saudi Vision 2030)

4.) อาหาร ผลิต-ส่งออกอาหารฮาลาลให้แก่ซาอุดีฯ และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง GCC

5.) สุขภาพ-การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและความร่วมมือทางการแพทย์ของไทย

6.) ความมั่นคง ไทยจะได้รับประโยชน์จากซาอุดีฯ ประเทศมหาอำนาจในกรอบองค์กรความร่วมมืออิสลาม (OIC) เช่น ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ ความร่วมมือด้านข้อมูลข่าวสารความมั่นคง การต่อต้านการก่อการร้าย

7.) การศึกษาและศาสนา ทุนการศึกษาแก่นักเรียนไทยมุสลิม

8.) การค้าและการลงทุน ลู่ทางธุรกิจและหุ้นส่วนทางการค้าในซาอุดีฯ และกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และการดึงดูดซาอุดีฯ ลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ ของไทยด้านพลังงาน นวัตกรรม โทรคมนาคม อวกาศ เทคโนโลยีสีเขียว โครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ

9.) กีฬา เช่น มวยไทยในภูมิภาคตะวันออกกลาง

- 1 พ.ย. 64 เข้าร่วมประชุม ‘UN Climate Change Conference’ (COP 26) ครั้งที่ 26 ที่เมืองกลาสโกว์ อังกฤษ และประกาศคำมั่นสัญญาใหม่ของไทยอย่างเป็นทางการในการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutral ภายในปี 2065 #จนเป็นที่มานโยบายด้านนี้ในไทย ที่ขับเคลื่อนจริง และนักลงทุนสนใจมาลงทุน

- 24 ก.ย. 64 เข้าร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ครั้งที่ 76 ที่ นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

- 24-27 พ.ย. 62 เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-เกหลีใต้ สมัยพิเศษ ครั้งที่ 3 และการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับเกาหลีใต้ ครั้งที่ 1 ที่ปูซาน เกาหลีใต้

- 21-27 ก.ย. 62 เข้าร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ครั้งที่ 74 ที่ นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

- 28-29 มิ.ย. 62 ในฐานะประธานอาเซียน เข้าร่วมประชุมผู้นำ G20 ประจำปี 2562 ที่โอซากา ญี่ปุ่น

- 25 มิ.ย. 61 หารือทวิภาคีกับนายเอมานูว์แอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ที่ฝรั่งเศส

- 20 มิ.ย. 61 หารือทวิภาคีกับนางเทรีซา เมย์ นายกฯ อังกฤษ ที่อังกฤษ

- 2-4 ต.ค. 60 หารือทวิภาคีกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่สหรัฐอเมริกา

- 14-16 ต.ค. 59 เข้าร่วมการประชุมผู้นําเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Meeting - ASEM) ครั้งที่ 11 ที่อูลานบาตอร์ มองโกเลีย

- 16-18 มิ.ย. 59 เยือนอินเดีย เพื่อความร่วมมือด้านการค้า-ความมั่นคง

- 17-21 พ.ค. 59 เยือนรัสเซีย ฟื้นความสัมพันธ์ในรอบ 11 ปี

- 9-11 พ.ย. 57 เข้าร่วมประชุมเอเปค ครั้งที่ 22 ที่ปักกิ่ง จีน

- 16-17 ต.ค. 57 เข้าร่วมการประชุมผู้นําเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Meeting - ASEM) ครั้งที่ 10 ที่มิลาน อิตาลี

รัฐบาลลุงตู่ต้อนรับผู้นำที่มาเยือนไทย แสดงให้ต่างชาติเห็นศักยภาพบ้านเมืองไทยที่เจริญ และน่าลงทุนจริงๆ

- 14 ก.พ. 66 นายกฯ มาเลเซีย

- 10 ก.ค. 65 รมว.ต่างประเทศของอเมริกา และไทยและสหรัฐฯ ลงนามร่วมกันในแถลงการณ์ว่าด้วยความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์

- 4-5 ก.ค. 65 มนตรีแห่งรัฐ และ รมว.ต่างประเทศของจีน

- ส่งเสริมการลงทุนใน EEC

- พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการเชื่อมโยง

- รถไฟความเร็วสูงจีน-ลาวกับระบบรางและรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนของไทย

- ปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ

- ลงนาม MOU ด้านการรรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

- 13 มิ.ย. 65 รมว.กลาโหมของอเมริกา

- 1-2 พ.ค. 65 นายกฯ ญี่ปุ่น

- 20-23 พ.ย. 62 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส

- 8 ส.ค. 60 รมว.ต่างประเทศของอเมริกา

- 27 ม.ค. 60 ผู้ช่วย รมว.ต่างประเทศของอังกฤษ

ความสำเร็จที่โดดเด่น และปังที่สุด คือ

- 18-19 พ.ย. 65 ลุงตู่ เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมเอเปค ‘APEC2022’ ต้อนรับผู้นำจาก 21 เขตเศรษฐกิจ และได้รับคำชมเชยจาก ผอ.เลขาธิการเอเปค ยกย่องไทย จัดประชุม APEC2022 ได้ยอดเยี่ยม ระดับ world class และผลักดัน “เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG” สำเร็จในเวทีโลก

- 15 พ.ย. 63 ไทยร่วมก่อตั้งและลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค #RCEP กับ 14 ประเทศ (บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และเกาหลีใต้) ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีประชากรรวมกันกว่า 2,200 ล้านคน (30% ของ GDP โลก) เพิ่มโอกาสและศักยภาพในการแข่งขันให้กับสินค้าไทยให้ได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นเริ่มตั้งแต่ 1 ม.ค. 65

- 16 ธ.ค. 62 ‘ประเทศแรกในเอเชีย’ ไทยประกาศใช้แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน

- ปี 61-66 ไทยคงสถานะอันดับสูงสุดในอาเซียน 5 ปีซ้อน สำหรับดัชนีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Index)

- ปี 58-61 ไทยได้รับเลือกให้เป็นประเทศผู้ประสานงานระหว่างอาเซียนกับ EU
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ รัฐบาลลุงตู่ วางรากฐานความเชื่อมั่น เปิดประเทศและไปแนะนำประเทศ ให้คนทั่วโลกรู้จักและมาลงทุนในไทย

ดังนั้น อาจมีใครหลายคนที่อาจจะยังไม่ทราบข้อมูลและวิจารณ์บนพื้นฐานไม่รู้… จะได้รู้เพิ่มเติมค่ะ

ข้อมูลจาก https://www.soc.go.th/?page_id=10338

รายงานผลการดำเนินงานของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ (1) ปีที่ 1-4 และ (2) ปีที่ 1-3 
#ลองหาอ่านดูเผื่อใครสนใจค่ะ

23 ตุลาคม 2566
Cr. เพจ อ้น ทิพานัน ศิริชนะ

ไขรหัส-มองไทม์ไลน์ ‘ทรู คอร์ปอเรชั่น’ ภายใต้แนวคิด ‘Future Ready True’ กับการพิชิตเป้าหมาย ‘บริษัทเทเลคอม-เทคโนโลยี’ สู่องค์กรแห่งอนาคต

นับเป็นครั้งแรกสำหรับ ทรู คอร์ปอเรชั่น ที่ได้มีการจัดงาน Capital Markets Day ณ ทรูดิจิทัลพาร์ค นับเป็นเวลาราว 7 เดือนหลังจากที่ บริษัท โทเทิ่ลแอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ควบรวมกิจการสำเร็จ ในวันที่ 1 มีนาคม 2566 โดยได้รับความสนใจจากนักลงทุน นักวิเคราะห์จากสถาบันการเงินไทยและต่างชาติเข้ารับฟังทิศทางธุรกิจ ตัวชี้วัดทางการเงิน เป้าหมาย และกลยุทธ์อย่างคับคั่ง

ในโอกาสนี้ True Blog ได้เข้าร่วมรับฟังข้อมูลจากคณะผู้บริหาร โดยขอย่อยข้อมูลให้เห็นกันชัดๆ พร้อมกับอธิบายถึงนัยสำคัญของความเคลื่อนไหวจากงาน Capital Markets Day ต่อทิศทางธุรกิจในอนาคต

Capital Markets Day (CMDs) ถือเป็นโอกาสอันดีให้บริษัทจดทะเบียนและนักลงทุนได้พบปะกัน อัพเดทข้อมูลทางธุรกิจเชิงลึก ภาพรวมธุรกิจและเป้าหมายระยะยาว นอกฤดูรายงานข้อมูลการเงินต่อสาธารณะ (off-season) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ของบริษัทจดทะเบียน สอดรับกับเทรนด์การลงทุนที่นักลงทุนให้ความสำคัญกับแนวคิดด้านการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนภายใต้กรอบ ESG ซึ่งในที่นี้ มีความเกี่ยวข้องกับมิติธรรมาภิบาล (Governance) ในแง่การส่งเสริมความโปร่งใสการรายงานข้อมูลต่อนักลงทุน นำมาซึ่งชื่อเสียงและความเชื่อมั่นในบริษัทจดทะเบียน

เปิดไทม์ไลน์ ‘Telecom-Tech Company’
นายมนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “ด้วยวิสัยทัศน์ในการเป็น ‘ผู้นำเทคโนโลยีโทรคมนาคมของไทย ที่จะเปลี่ยนผ่านวิถีชีวิตคนไทย และขับเคลื่อนธุรกิจ ให้ก้าวขึ้นสู่แถวหน้าของเศรษฐกิจดิจิทัลระดับโลก’ ทำให้การรวมพลังทั้งกำลังเงินและกำลังคน มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด” โดย ทรู ได้เผยผลประโยชน์ที่ได้จากการควบรวมกิจการ คิดเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (Net Present Value: NPV) 2.5 แสนล้านบาท

ทรัพยากรการเงินมูลค่าดังกล่าว จะช่วยเดินหน้าโครงการเชิงกลยุทธ์ต่างๆ ให้ถึงฝั่งฝัน ซึ่งสามารถเเบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

1.) Growth การเติบโตที่มากกว่าบริการโทรคมนาคม รวมถึงพัฒนาบริการต่างๆ ที่ช่วยให้ชีวิตคนไทยดีขึ้น ตลอดจนยกระดับมาตรฐานสินค้าและบริการให้ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าองค์กร ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนผ่านโครงสร้างเศรษฐกิจแบบดั้งเดิมสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

2.) Value Creation พัฒนาโครงข่ายให้เหนือระดับด้วยการรวมโครงสร้างเสาสัญญาณด้วย ‘ระบบโครงข่ายเดียว’ (Single Grid) ตั้งเป้าสู่การเป็นผู้นำโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ตลอดจนกำหนดมาตรฐานการบริการให้เกิดประสบการณ์เหนือระดับ

3.) Organization เพื่อให้องค์กรมีความแข็งแกร่ง ก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและพฤติกรรมลูกค้า จึงได้กำหนดให้ทรูเป็นองค์กรแห่งอนาคตที่พร้อมรับทุกการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวให้ทันสมัย เท่าทันเทคโนโลยีด้วยมิชชั่น Future Ready True

4.) Sustainability เพราะการประกอบธุรกิจมีความสัมพันธ์ทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อชุมชนและสังคม ด้วยเหตุนี้ ทรู จึงยึดถือแนวทางการดำเนินธุรกิจด้วยหลักความยั่งยืนตามแนวคิด ESG โดยกำหนดเป้าหมายดังต่อไปนี้

- ด้านสิ่งแวดล้อม (Environment: E) ไว้ 3 ด้าน ได้แก่ ลดการฝังกลบขยะให้เป็นศูนย์และพิชิตความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2573 พร้อมทั้งตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศให้เป็นศูนย์ภายในปี 2593

- ด้านสังคม (Social: S) ตั้งเป้าขยายโครงข่าย 4G และ 5G ให้ครอบคลุมอย่างน้อย 99% และ 97% ของประชากรไทยในปี 2569 ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังวางเป้าเพิ่มพูนทักษะให้คนไทยผ่านการเรียนออนไลน์ 34 ล้านคน และสร้าง 2,700 สตาร์ทอัพผ่านอีโคซิสเต็มของทรูดิจิทัลพาร์ค

- ด้านธรรมาภิบาล (Governance: G) ได้สร้างการตระหนักรู้และพนักงานทุกคนจะต้องผ่านการอบรมหลักสูตรธรรมาภิบาล ขณะที่ความเป็นส่วนตัวและความมั่นคงทางไซเบอร์ได้พัฒนาให้สอดรับกับมาตรฐานสากล เช่นเดียวกับการกำกับคู่ค้าที่จะต้องมีแนวทางการทำงานที่สอดคล้องกับมาตรฐานของทรู โดยคู่ค้าระดับที่ 1 จะต้องผ่านการตรวจสอบด้าน ESG ส่วนคู่ค้าโครงข่ายทุกรายจะต้องปฏิบัติตามเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมตามฐานทางวิทยาศาสตร์ (Science Based Target initiative: SBTI)

ไขกลยุทธ์ ‘Beyond Connectivity’
นายชารัด เมห์โรทรา รองประธานคณะผู้บริหาร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น อธิบายเพิ่มเติมโครงการ Single Grid ว่า “โปรเจ็คดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการปรับปรุงโครงข่ายและระบบไอทีให้ทันสมัยยิ่งขึ้น (Network and IT Modernization) ซึ่งจะทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรโครงข่ายและสรรพกำลังอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อสร้างเสริมและพัฒนาประสบการณ์ลูกค้าด้วย นอกจากนี้ ยังได้ก้าวออกจากบริการโทรคมนาคมสู่ vertical services ต่างๆ เช่น API Enablement ระบบไอทีที่ให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวและความมั่นคงทางไซเบอร์ ตลอดจนบริการที่เกี่ยวข้องกับคลาวด์คอมพิวติ้ง อันมีความสำคัญอย่างมากในยุคดิจิทัล ถือเป็นการเปิดฉากทรานสฟอร์มสู่การเป็นบริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยี”

เมื่อโครงสร้างพื้นฐานทรานส์ฟอร์มแล้ว ถือเป็นโอกาสอันดีที่กลุ่มธุรกิจจะได้ประโยชน์ เพิ่มประสิทธิภาพและผลิตผลในการดำเนินงาน ซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่ยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก และนี่ถือเป็นเครื่องจักรแห่งการเติบโต (Growth Engine) ในยุค 5G โดยคาดการณ์ว่าภายในปี 2569 รายได้จากกลุ่มธุรกิจจะเพิ่มขึ้น ‘เท่าตัว’ จากบริการอื่นๆ ที่ต่อยอดจากโทรคมนาคม เช่น โซลูชันด้านโครงข่าย ไอโอที ความมั่นคงทางไซเบอร์ และสมาร์ทโซลูชันต่างๆ ที่ต่อยอดกับอุตสาหกรรมแนวดิ่ง (Vertical Industries) เช่น โรงงานอุตสาหกรรม ค้าปลีก อสังหาริมทรัพย์ และการเกษตร นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการต่อยอดบริการใหม่ๆ ที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เช่น เศรษฐกิจ API แพลตฟอร์มสำหรับเอสเอ็มอี ระบบคลาวด์รุ่นใหม่ และโซลูชันที่พัฒนาจาก Generative AI

ซินเนอร์ยี่มูลค่า 2.5 แสนล้าน
นายนกุล เซห์กัล หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน (ร่วม) บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวเสริมว่า มากกว่า 100 ปัจจัยจะช่วยสร้างผลประโยชน์ที่ได้จากการควบรวมกิจการมูลค่าราว 2.5 แสนล้านบาท โดย 15 อันดับแรกจะก่อให้เกิดผลประโยชน์ที่ได้จากการควบรวมกิจการคิดเป็น 85% ของมูลค่ารวม ส่วนค่าใช้จ่ายหลักในการควบรวมจะเกิดขึ้นภายในปี 2567 ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทบรรลุผลประโยชน์ที่ได้จากการควบรวมกิจการสุทธิเป็นบวกในปี 2568 และมีกำไร โดยทรู คอร์ปอเรชั่นคาดว่าจะสามารถรับรู้การประหยัดกระแสเงินสดได้ในระดับคงที่ประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท ตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป

มูลค่าเพิ่มจากรวมพลัง 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่
1.) เทคโนโลยีและไอที รวมถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการดำเนินการโครงการ Single Grid ด้วยประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นและการบรรลุเป้าหมายจากการลงทุน CAPEX การรวมเครือข่ายสองระบบร่วมกัน รวมถึงการปรับปรุงโครงสร้างระบบไอที

2.) ผสานองค์กรและการดำเนินงานรวมกัน โดยมุ่งถึงประโยชน์สูงสุดจากการปรับปรุงองค์กรและรูปแบบการดำเนินงานผ่านระบบออโตเมชั่น ดิจิทัล และการลดความซ้ำซ้อน เช่นศูนย์บริการที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน การใช้อัตราค่าคอมมิชชั่นที่ดีที่สุดระหว่างดีแทค และทรู รวมถึงแนวทางการดำเนินงานที่ดีที่สุด สำหรับการบริหารทรัพยากรบุคคลและการบริหารงานสำหรับการลดความซ้ำซ้อนของสถานที่ทำงาน ลดพื้นที่ และค่าใช้จ่าย รวมถึงยุติการใช้งานแพลตฟอร์มที่ซ้ำซ้อน

3.) การจัดซื้อจัดจ้างด้วยสเกลที่เพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้ได้ราคาที่ดีที่สุดของดีแทคและทรู รวมถึงการเจรจากับผู้จำหน่ายหลัก (vendors) โดยได้จากประโยชน์ของขนาดและปริมาณการสั่งซื้อของบริษัทใหม่เอีกทั้ง ประโยชน์จากข้อตกลงผู้ผลิตตามข้อเสนอที่ดีที่สุดจากพันธมิตรระดับโลก เช่น เทเลนอร์กรุ๊ป

4.) ปัจจัยอื่นๆ จากผสานรวมกัน โดยปัจจัยหลักมาจากรายได้ที่เพิ่มโอกาสการนำเสนอการขายแบบ cross-selling ให้กับลูกค้าดีแทคและทรู สู่การสร้างมูลค่าเพิ่มยิ่งขึ้น

ด้วยกลยุทธ์ทางการเงินที่มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพเชิงโครงสร้างของต้นทุนอย่างต่อเนื่อง การใช้สินทรัพย์เพื่อให้ก่อประโยชน์สูงสุด และการเติบโตแบบมีกำไร EBTIDA จะเติบโตเร็วกว่ารายได้จากการให้บริการ โดยคาดว่าอัตรา EBITDA ต่อรายได้จากการให้บริการจะดีขึ้น 11 จุด (Percentage point) ภายในปี 2570 ทั้งนี้ ด้วยผลประโยชน์จากการรวมการจัดซื้อจัดจ้าง และระบบโครงข่ายเดียว (Single Grid) รวมถึงการรวมคลื่นความถี่ และความมีวินัยในการบริหารจัดการเงินลงทุนซึ่งฝังอยู่ในวิถีการทำงานของเรา ค่าใช้จ่ายการลงทุน CAPEX ของทรู คอร์ปอเรชั่นหลังจากการรวมเครือข่ายเสร็จสมบูรณ์คาดว่าจะลดลงครึ่งหนึ่งจากช่วงก่อนควบรวม ทั้งนี้ ในฐานะผู้นำในการให้บริการด้าน เทคโนโลยีที่มีจุดแข็งจากผู้ถือหุ้นของเรา ทรู คอร์ปอเรชั่นพร้อมที่จะผลักดันประเทศไทยให้เข้าถึงโอกาสใหม่และส่งมอบคุณค่าแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกคน

นับหนึ่งเส้นทางแห่งการทรานส์ฟอร์ม
นางสาวศรินทร์รา วงศ์ศุภลักษณ์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น อธิบายเพิ่มเติมว่า “ด้วยเป้าหมายในการก้าวสู่การเป็นบริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยี ทำให้วาระด้านการสร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่และการทรานส์ฟอร์ม (Culture and Transformation) ถือเป็นพันธกิจหลักของทรู โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยผลงาน (Performance Driven Culture) และการพัฒนาศักยภาพของพนักงานอย่างก้าวกระโดด (Leapfrogging people capability)”

โดยปัจจุบัน มีการดำเนินตาม 4 เสากลยุทธ์ ได้แก่
1.) ขนาดและโครงสร้างองค์กรที่สอดคล้องกับการทิศทางและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ

2.) องค์กรแห่งอนาคตผ่านโมเดลการปฏิบัติงานรูปแบบใหม่ ได้แก่ Modernization, Simplification และ Automation โดยเน้นกระตุ้นการทำงานแบบ Cross Functional

3.) พัฒนาศักยภาพพนักงานให้เติบโตอย่างก้าวกระโดดผ่านโปรแกรมปรับและเพิ่มพูนทักษะให้สอดคล้องกับความต้องการ

4.) เพิ่มความแข็งแกร่งของ talent ผ่านการวางแผนผู้สืบทอด (Succession Plan) การรักษาบุคลากร (Retention) ให้สอดรับกับภูมิทัศน์ด้านแรงงานแห่งอนาคต (Future Workforce)

ทั้งนี้ การทรานส์ฟอร์มองค์กรนั้นจะเป็นลักษณะของการ ‘ร่วมสร้าง’ (Co-Creation) จากล่างขึ้นบน (Bottom-up) กล่าวคือ พนักงานทุกคนมีส่วนในการกำหนดวัฒนธรรมองค์กร พฤติกรรม โดยมีเป้าหมายการเป็นบริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยีแถวหน้าของภูมิภาค โดยดำเนินงานผ่านโปรแกรมต่างๆ เช่น Organization Health Survey, Mirror Workshop และ Value Workshop นอกจากนี้ การประเมินความพึงพอใจของพนักงานจะยึดความโปร่งใสเป็นหัวใจสำคัญ เพื่อให้ได้ยินเสียงความต้องการของพนักงานอย่างแท้จริง พร้อมกับการมีส่วนร่วมของพนักงานต่อกิจกรรมภายใน

จะเห็นได้ว่า มูฟของทรูฯ หลังการควบรวมกิจการมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งด้านความเร็วและประสิทธิภาพ การมีมาสเตอร์แพลนที่ชัดเจน รวมถึงคุณค่าและวัฒนธรรมจากล่างขึ้นบน รับฟังและให้โอกาสในการพูด แนวทางการทำงานที่เน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลาง การเปลี่ยนแปลงจากฐานรากนี้ใม่ง่ายเลยสำหรับองค์กรขนาดใหญ่ แต่ด้วยความแข็งแกร่ง ศักยภาพ และความเชี่ยวชาญของผู้ถือหุ้นทั้ง 2 ฝ่าย คือเครือเจริญโภคภัณฑ์และกลุ่มเทเลนอร์ ได้ทำให้ทรู คอร์ปอเรชั่น บทใหม่นี้ก้าวสู่ความพร้อมในฐานะองค์กรแห่งอนาคต Future Ready True เพื่อก้าวสู่การเป็นบริษัทโทรคมนาคม–เทคโนโลยีแถวหน้าของภูมิภาคต่อไป

‘พีระพันธุ์’ เปิดแผน ‘รื้อ-ทุบ-ปลด-สร้าง’ แก้กฎหมายเอื้อกำกับราคาน้ำมัน เร่งปรับโครงสร้างตั้งแต่ฐานราก พร้อมยัน!! ลดโซฮอล์ 91 ก่อน ชนิดอื่นต่อคิว

(23 ต.ค. 66) นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ โฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงข้อเสนอแนะจากประชาชนบางกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการลดราคาน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล์ 91 และเสนอลดโซฮอล์ 95 แทน ว่า นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยังยืนยันลดโซฮอล์ 91 อัตรา 2.50 บาทต่อลิตร เพราะการลดครั้งนี้เป็นการเริ่มต้นลดน้ำมันเบนซิน หลังจากนั้นจะทยอยลดสูตรอื่น อาทิ โซฮอล์ 95 เป็นต้น ไม่ได้แปลว่าไม่ลดชนิดอื่นแล้ว

ทั้งนี้ มี 2 เหตุผลในการเลือกลดโซฮอล์ 91 เพราะ 1.) เป็นน้ำมันที่ผู้มีรายได้น้อย กลุ่มผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ใช้กันมากสุด จึงจำเป็นที่ต้องเยียวยาไวกว่ากลุ่มอื่น 2.) เป็นน้ำมันที่ราคาหน้าโรงกลั่นถูกที่สุดคือ 22.21 บาทต่อลิตร ต้นทุนถูกกว่าทั้งน้ำมัน อี 20 และ อี 85 โดยนายพีระพันธุ์เข้าใจความเป็นห่วงของทุกฝ่าย แต่การลดราคาเชื้อเพลิงนั้นเป็นแค่มาตรการระยะสั้นที่จะทำให้พลังงานเป็นธรรมสำหรับทุกคน

นายพงศ์พลกล่าวว่า ขณะนี้นายพีระพันธุ์มีแผนลดราคาพลังงานทั้งระยะสั้น กลาง ยาว วางไว้ทุกสเต็ป โดยระยะสั้นคือ ลดค่าพลังงาน ชนิดไหนทำก่อนจะทำเลยอย่างน้อยได้ประวิงหนี้ ลดค่าใช้จ่ายค่าไฟน้ำมัน ต่อลมหายใจให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อย

ขณะที่ระยะกลางจะเดินหน้าแก้กฎหมายอุปสรรค เรื่องนี้ใช้เวลาแต่จะเห็นผลชัดภายในปีนี้แน่นอน เพราะจะมีการรื้อ ทุบ ปลด สร้าง คือ แก้กฎหมายที่เอื้อให้มีการกำกับโครงสร้างราคาน้ำมันให้โปร่งใส ราคาไม่เอาเปรียบผู้บริโภค เพิ่มกฎหมายใหม่น้ำมันราคาถูกเฉพาะทาง มี พ.ร.บ.น้ำมันเพื่อการเกษตรและการแก้กฎเรื่องมาตรฐานน้ำมัน ฯลฯ

ระยะยาวจะวางโครงสร้างเพื่ออนาคต เน้นปฏิวัติแบบแผนเพื่อความยั่งยืน จะวางรากฐานเพื่อความมั่นคงทางพลังงาน อาทิ ระบบสำรองน้ำมันประเทศเพื่อความมั่นคงโดยกระทรวง การเปลี่ยนถ่ายเข้าสู่ยุคผลิตพลังงานสะอาดเต็มตัว ศึกษาระบบเน็ต-บิลลิ่ง ระบบกริดแบบใหม่


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top