Saturday, 18 May 2024
ECONBIZ

'จุรินทร์' ตีปีกการค้าชายแดน 10 เดือนปี 65 โต 4.50% ชี้!! ลาวคู่ค้าอันดับหนึ่งไทยแซงหน้ามาเลเซีย

การค้าชายแดน 10 เดือนโต 4.50% อานิสงส์เงินบาทสามารถแข่งขันได้ราคาดี ด่านชายแดนเปิดมากขึ้น ล่าสุดเปิดแล้ว 97 แห่ง ลาวคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยแซงหน้ามาเลเซียที่ติดลบ 21%

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เผยว่า การส่งออกชายแดนยังขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 คิดเป็นมูลค่า 54,643 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.50% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน แต่การส่งออกผ่านแดนปรับตัวลดลงเนื่องจากผู้ส่งออกหันกลับไปขนส่งสินค้าทางเรือและทางอากาศเพิ่มขึ้นจากค่าระวางเรือที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องดังนั้นการค้าผ่านแดนและการค้าชายแดนมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 1,450,310 ล้านบาท เพิ่มขึ้น +1.74% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 855,839 ล้านบาท ลดลง 0.66% และการนำเข้ามูลค่า 594,471 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.41% โดยไทยได้ดุลการค้าในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2565 ทั้งสิ้น 261,368 ล้านบาท

ส่วนการค้าชายแดนและผ่านแดน เดือนตุลาคม 2565 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 144,477ล้านบาท ลดลง 2.92% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 81,937 ล้านบาท ลดลง 0.17% และการนำเข้ามูลค่า 62,540 ล้านบาท ลดลง 6.31% โดยไทยได้ดุลการค้าในเดือนตุลาคม 2565 ทั้งสิ้น 19,397 ล้านบาท

ทั้งนี้ไทยการค้าชายแดนกับ 4 ประเทศ (มาเลเซีย กัมพูชา เมียนมา และสปป.ลาว) ซึ่งเดือนตุลาคม 2565 มีมูลค่าการค้ารวม 87,297 ล้านบาทนั้น เพิ่มขึ้น 3.59% โดยการส่งออกไป กัมพูชา และ สปป.ลาว ยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมา และการส่งออกไปเมียนมากลับมาขยายตัวอีกครั้ง ดังนี้...

- สปป.ลาว มูลค่าส่งออก 15,168 ล้านบาท (+43.67%) สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูป, น้ำมันดีเซล และน้ำตาลทราย

- มาเลเซีย มูลค่าส่งออก 14,713 ล้านบาท (-21.72%) สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ, รถยนต์และส่วนประกอบและยางพารา

- เมียนมา มูลค่าส่งออก 11,200 ล้านบาท (+6.16%) สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ น้ำมันดีเซล, น้ำมันสำเร็จรูปอื่นๆ และเครื่องสำอาง, เครื่องหอมและสบู่

- กัมพูชา มูลค่าส่งออก 13,563 ล้านบาท (+9.49%) สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ และรถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ

โดยสรุปแล้ว การค้าชายแดน 10 เดือนโต 4.50% และมี สปป.ลาว เป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย

ส่วนการค้าผ่านแดนไปประเทศที่สาม (จีน, เวียดนาม สิงคโปร์ และประเทศอื่นๆ) เดือนตุลาคม 2565 มีมูลค่ารวม 57,180 ล้านบาท ลดลง 11.42% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 27,293 ล้านบาท ลดลง 8.36% และการนำเข้ามูลค่า 29,887 ล้านบาท ลดลง 14.04% โดยการส่งออกผ่านแดนไปเวียดนามยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมา ดังนี้...

'เสี่ยเฮ้ง' ส่งแรงงานไปแดนกิมจิเพิ่ม 3 กลุ่ม 15,000 คน ยกระดับคุณภาพชีวิต เพิ่มโอกาสตลาดงานไทยในต่างแดน

(1 ธ.ค. 65) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบถึงผลการหารือระหว่างนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กับนาย มุน ซึง ฮย็อน (Mr. Moon Seoung-hyun) เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย ซึ่งทำให้ไทยได้โควตาการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในประเทศเกาหลีเพิ่ม

โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่าในส่วนของประเด็นแรงงานไทย ที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญ หากไทยจัดส่งแรงงานไปทำงานต่างประเทศจะเป็นโอกาสยกระดับเพิ่มทักษะฝีมือแรงงาน ทำให้คนไทยมีงานทำ นำรายได้กลับมาพัฒนาประเทศ ทั้งนี้ ตลาดแรงงานต่างชาติในสาธารณรัฐเกาหลี นับว่าเป็นตลาดแรงงานที่มีศักยภาพและเป็นตลาดที่น่าสนใจ เนื่องจากแรงงานต่างชาติได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเทียบเท่าคนในชาติ รวมทั้งอัตราค่าจ้างแรงงานค่อนข้างสูง ทำให้มีแรงงานไทยจำนวนมาก เดินทางไปทำงาน ซึ่งจากข้อมูลในเดือนกรกฎาคม ปี 2565 มีจำนวนแรงงานไทยสะสมอยู่ในเกาหลีเป็นจำนวนถึง 12,950 คน

‘รมว.สุชาติ’ ส่ง ผู้ช่วยฯ เปิดประชุมวิชาการประกันสังคม เร่งขับเคลื่อนยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงานทุกมิติ ‘ฟื้นเศรษฐกิจ - ท่องเที่ยว’ ภาคเหนือ

วันที่ 1 ธันวาคม 2565 เวลา 09.00 น. นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการจัดงานประชุมวิชาการประกันสังคม 5 ภาค ประจำปี 2565 (ภาคเหนือ) Modernizing SSO 2022 : ก้าวสู่ระบบประกันสังคมที่ทันสมัย พร้อมปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ‘นโยบายการพัฒนา และยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ใช้แรงงาน’ โดยมี นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน และหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ ให้การต้อนรับ ณ โรงแรม คุ้มภูคำ จังหวัดเชียงใหม่

นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของท่านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และท่านรองนายกรัฐมนตรี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน และนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กำชับให้กระทรวงแรงงานช่วยดูแลพี่น้องแรงงาน ที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 รวมทั้งนายจ้าง ผู้ประกอบการให้เหมือนคนในครอบครัว พร้อมทั้งสั่งการให้กระทรวงแรงงานช่วยเหลือพี่น้องผู้ใช้แรงงานให้ได้รับความเท่าเทียมกัน ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคมเป็นกลไกสำคัญของรัฐบาลในการช่วยเหลือนายจ้าง และผู้ประกันตน ผ่านโครงการต่างๆ เช่น การตรวจคัดกรองโควิด-19 เชิงรุกในสถานประกอบการ โครงการฉีดวัคซีนให้แก่ผู้ประกันตน โครงการ Factory Sandbox โครงการ ม.33 เรารักกัน โครงการเยียวยานายจ้าง และผู้ประกันตนในพื้นที่เข้มงวดสูงสุด 29 จังหวัด โครงการเยียวยาผู้ประกันตนกิจการสถานบันเทิง โดยสถานการณ์ปัจจุบันโควิด-19 ได้คลี่คลายลง รัฐบาลมีนโยบายผ่อนคลายมาตรการและเปิดประเทศ นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

โดยทิศทางของธุรกิจท่องเที่ยวและบริการร้านค้า ร้านอาหาร ที่พัก ในจังหวัดเชียงใหม่ และทุกจังหวัด ทางภาคเหนือได้กลับมาคึกคัก ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ประกอบกับรัฐบาลได้ดำเนินมาตรการส่งเสริมการจ้างงาน ส่งผลดีให้พื้นที่เศรษฐกิจและการมีงานทำของกำลังแรงงานในปัจจุบันปรับตัวดีขึ้น ในวันนี้ ผมได้มีโอกาสมาเป็นประธานเปิดประชุมวิชาการประกันสังคม 5 ภาค ปี 2565 เป็นครั้งที่ 3 (ภาคเหนือ) จังหวัดเชียงใหม่ ผมมีความเชื่อมั่นว่าการประชุมวิชาการประกันสังคม และที่จัดต่อๆ ไปอีกทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จังหวัดอุดรธานี และภาคตะวันออก ที่จังหวัดชลบุรี จะเป็นการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจความสำคัญของงานประกันสังคมแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการพัฒนางานประกันสังคม จากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง นำไปสู่การขยายผลด้านสิทธิประโยชน์ให้มีความยั่งยืน เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ประกันตน ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกันตนให้ได้รับประโยชน์สูงสุดต่อไป

JMART ปิดดีล 1,200 ลบ. ถือหุ้น 30% สุกี้ตี๋น้อย สยายปีกธุรกิจหลัก ปักหมุดธุรกิจอาหารเข้าพอร์ต

ในที่สุด บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) (JMART) ระบุ ก็ปิดดีลใหญ่การเข้าลงทุนและลงนามสัญญาผู้ถือหุ้น ในบริษัท บี เอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป จำกัด (BNN) ซึ่งประกอบธุรกิจร้านอาหารภายใต้แบรนด์ ‘สุกี้ ตี๋น้อย’ จำนวน 352,941 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 30% ของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด มูลค่าลงทุนรวมไม่เกิน 1,200 ล้านบาท เสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้วในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565

นายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JMART เปิดเผยว่า การเข้าลงทุนกับ BNN ครั้งนี้ ถือเป็น Strategic Partner ที่มีศักยภาพการเติบโตในระดับสูง โดยเฉพาะผู้ก่อตั้ง คุณนัทธมน พิศาลกิจวนิช ซึ่งมีความมุ่งมั่นที่จะขยายธุรกิจให้เติบโต มีกลยุทธ์การตลาดที่โดดเด่น ตอบโจทย์ผู้บริโภค พร้อมกับ เป้าหมายนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายใน 2-3 ปีจากนี้

ขณะเดียวกัน BNN มีทิศทางผลประกอบการเติบโตในระดับที่ดี จากปี 2562 มีรายได้ 499 ล้านบาท กำไร 15 ล้านบาท ทะยานสู่ปี 2564 รายได้ 1,564 ล้านบาท กำไร 148 ล้านบาท รวมทั้ง อัตราผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) สูงถึง 55.80% และซึ่งภายหลังจากการลงทุน BNN จะติดอาวุธเทคโนโลยีจาก JMART Group รวมถึงการ Synergy สร้างการเติบโตแบบ J-Curve ไปด้วยกันกับกลุ่มบริษัทเจมาร์ท

“เรามองว่า สิ่งที่จะเข้าไปเสริมทาง BNN ได้ทันที คือ การนำหัวใจเรื่องระบบ และมาตรฐาน เตรียมความพร้อมในเรื่องการขยายสาขาให้ครอบคลุมทั่วประเทศมากขึ้น จากปัจจุบันมีสุกี้ตี๋น้อยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล 42 สาขาเท่านั้น ในปี 2566 จะเริ่มขยายไปต่างจังหวัดตอบรับกระแสเรียกร้อง ตั้งเป้าปีหน้าจะขยายเพิ่มอีกมากกว่า 10 สาขาเป็นอย่างน้อย ด้วยการนำเทคโนโลยี ระบบ CRM และการบริหารจัดการภายในที่ทรงประสิทธิภาพมาใช้ ทำให้มั่นใจว่า BNN จะก้าวสู่การนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ยกระดับความเป็นมืออาชีพที่วันหนึ่งอาจมีมูลค่าบริษัทนับหมื่นล้านบาทได้”

‘บิ๊กตู่’ ลงพื้นที่เชียงราย ชี้ ไม่มาเพราะการเมือง แต่มายืนยันหนุนโครงการต่างๆ ให้กับรบ.ในอนาคต

วันนี้ ไม่ได้มาการเมืองนะ มาทำการบ้าน มายืนยันที่จะสนับสนุนโครงการต่าง ๆ เหล่านี้ต่อไป รวมถึงผลักดันให้ดำเนินการต่อเนื่อง กับรัฐบาลในอนาคตอีกด้วย

‘บิ๊กตู่’ ชี้ ห้ามฟ้าห้ามฝนยาก แนะเกษตรกร เตรียมพร้อมรับมือ เพื่อสร้างผลผลิต-รายได้ อย่างยั่งยืน

ธรรมชาติ เราห้ามไม่ได้ ห้ามฝนตกห้ามฟ้าร้อง ห้ามไม่ได้ แต่เราจะต้องเตรียมความพร้อมรับมือ โดยเฉพาะภาคการเกษตร เพื่อสร้างผลผลิต สร้างรายได้ ให้ได้มากขึ้นอย่างยั่งยืน

‘บิ๊กตู่’ ลงพื้นที่เชียงราย ร่วมงาน 'เกี่ยวข้าวรักษ์โลก'

ประเทศไทย เป็นเป้าหมายสำคัญของโลกในยุคปัจจุบัน ของเหล่านักลงทุน ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศได้

‘บิ๊กป้อม’ เปิดงาน ‘Thailand Smart City Expo 2022’ ดันไทยก้าวสู่ ‘เมืองอัจฉริยะ’ ที่น่าอยู่อย่างยั่งยืน

พล.อ.ประวิตร เปิดงาน ‘Thailand Smart City Expo 2022’ ดันไทยก้าวสู่ ‘เมืองอัจฉริยะ’ พัฒนาเมืองให้น่าอยู่ เติมเต็มคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำ ส่งเสริม ศก./ท่องเที่ยว ดึงรายได้เข้าประเทศ

เมื่อ (30 พ.ย. 65) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานพิธีเปิดงาน ‘นิทรรศการไทยแลนด์ เมืองอัจฉริยะ’ ประจำปี พ.ศ. 2565 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ พร้อมได้กล่าวขอบคุณ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, กระทรวงมหาดไทย, กรุงเทพมหานคร และความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคเอกชน ประชาชน สถาบันการศึกษา และพันธมิตรนานาประเทศ ที่มีส่วนสำคัญในการช่วยให้บรรลุเป้าหมาย นอกจากเมืองจะได้รับการพัฒนาให้น่าอยู่อาศัย และยังช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว สร้างรายได้เข้าประเทศ ได้อีกด้วย พร้อมอวยพรขอให้การจัดงานครั้งนี้ ประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ และประชาชน ต่อไป

เปิดตัว ธ.ค. นี้ !! TESLA Thailand x Siam Paragon โชว์รูมแห่งแรกในไทย พร้อมสถานี Supercharger

(30 พ.ย. 65) autolifethailand เผย ข่าวคราวล่าสุดของ TESLA Official (Thailand) ว่าเตรียมเปิดตัวอย่างเป็นทางการต่อสาธารณชน ต้นเดือน ธันวาคม ที่จะถึงนี้ ที่ห้างสรรพสินค้า Siam Paragon ของ บริษัท เดอะมอลล์กรุ๊ป จำกัด และ น่าจะเป็นโชว์รูมแห่งแรกในประเทศไทย รวมไปถึงมีความเป็นไปได้ว่า จะติดตั้งสถานี Supercharger V3 250 kW ชาร์จไฟ DC Fast Charging ที่นี่อีกด้วย

'เพื่อไทย' ห่วง ส่งออกไทยเริ่มติดลบ ซ้ำเติม เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำเมื่อเทียบอาเซียน ชี้ หยุดขึ้นค่าไฟฟ้าและเก็บเงินจากโรงแยกก๊าซตามที่แนะนำ แนะ รับมือปัญหาเศรษฐกิจโลกปีหน้ากระทบไทย

นางสาวจุฑาพร เกตุราทร ว่าที่ผู้สมัคร สส. กทม. เขตบางรัก สาทร ปทุมวัน และโฆษกคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย  กล่าวว่าการส่งออกของไทยในเดือนตุลาคมเริ่มติดลบที่ -4.4% เป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 9 เดือน ซึ่งเป็นสัญญาณที่น่าห่วงว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะเริ่มแผ่ว มีแนวโน้มอาจจะไม่สู้ดีนักในปลายปีนี้ และจะต่อเนื่องไปถึงปีหน้าด้วย ทั้งนี้ขอตอกย้ำว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ที่ขยายได้ 4.5% นั้น แม้จะดูเหมือนดี แต่เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียนจะเห็นว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำมากเพราะในไตรมาส 3 มาเลเซียขยายได้ 14.2% เวียดนาม 13.7% ฟิลิปปินส์ 7.6% อินโดนีเซีย 5.7% แม้ประเทศที่พัฒนาแล้วเช่นสิงคโปร์ยังขยายได้ 4.4% และถ้านับ 9 เดือนตั้งแต่ต้นปีไทยขยายได้เพียง 3.1% เท่านั้นซึ่งต่ำกว่าประเทศอาเซียนอื่นเช่นกันตามที่เสนอไว้แล้ว และต้องไม่ลืมว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นคืนที่เดิมจากการติดลบ 6.2% ในปี 2563 เพราะปี 2564 ขยายได้เพียง 1.5% ปีนี้ก็น่าจะได้เพียง 3% กว่า ซึ่งยังห่างจากที่เศรษฐกิจไทยที่ตกลงมาพอสมควร ในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศอื่นในอาเซียนได้ขยายตัวเกินกว่าที่ตกลงมาไปมากแล้ว 

ดังนั้นในภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังฟื้นไม่ถึงที่เดิมที่ตกลงมา ซึ่งหมายถึงว่าคนไทยส่วนใหญ่รายได้ไม่เพิ่มขึ้น แถมรายได้ยังลดลงด้วย ในขณะที่เงินเฟ้อสูงมากหมายถึงค่าใช้จ่ายและค่าครองชีพพุ่งสูงมาก การที่รัฐบาลได้เลื่อนการขึ้นราคาค่าไฟฟ้าในงวด มกราคม-เมษายน ออกไปก่อน เป็นเรื่องที่ถูกต้อง และเป็นไปตามที่คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยเรียกร้อง เพราะค่าไฟฟ้าได้ขึ้นมาจากหน่วยละ 3.70 บาท มาเป็น 4.72 บาท ซึ่งเพิ่มขึ้นมา 28% แล้ว ถ้าเพิ่มขึ้นอีกเป็นหน่วยละ 5.37 บาท,  5.70 บาท หรือ 6.03 บาท จะหนักมาก นอกจากนี้การสั่งเก็บเงินจากโรงแยกก๊าซเดือนละ 1,500 ล้านบาท จำนวน 4 เดือน รวม 6,000 ล้านบาท เพื่อมาลดต้นทุนค่าไฟฟ้า ก็เป็นในแนวทางที่คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยเสนอเช่นกัน ซึ่งจะนำมาลดค่าไฟฟ้า หรือลดค่าก๊าซหุงต้ม ก็ทำได้ทั้งสองทาง และรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเคยทำมาแล้วในอดีต และน่าจะพิจารณาเก็บเงินในระยะยาวไม่ใช่เพียง 4 เดือน เพราะจะสามารถช่วยประชาชนได้มาก อีกทั้งก๊าซธรรมชาติที่ขุดได้จากในอ่าวไทยเป็นสมบัติของคนไทยทั้งประเทศ แต่ยังกังวลว่าหลังจากเมษายนปีหน้าแล้ว ค่าไฟฟ้าก็ต้องขึ้นสูงอีกถ้าหากยังไม่ได้แก้ไขปัญหาอย่างถูกต้อง จะเป็นแค่การถ่วงเวลาการขึ้นราคาเท่านั้น 

‘นายกฯ’ พอใจ เศรษฐกิจไทยขยายดีตัวทุกภาค รับอานิสงส์ท่องเที่ยวฟื้น คาดปีหน้า ศก.โต 3.5 - 4%

‘นายกฯ’ พอใจ เศรษฐกิจภูมิภาคขยับดี หวังปี 66 โตขึ้น 3.5-4% ชี้ เป็นผลจากการท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่อง มั่นใจปรับตัวดีขึ้นในทุกภูมิภาค

(30 พ.ย. 65) รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม พอใจรายงานตัวเลขภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนต.ค. 2565 โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง เศรษฐกิจภูมิภาคได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยวต่อเนื่อง ในภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน ขณะเดียวกันความเชื่อมั่นผู้บริโภคก็ปรับตัวดีขึ้นในทุกภูมิภาค 

ทั้งนี้ เศรษฐกิจภาคใต้ มีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ราคาคงที่ขยายตัวร้อยละ 22.8 ต่อปี ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 42.2 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 40.7 และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 92.6 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 88.1 ภาคเหนือ มีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ขยายตัวร้อยละ 23.3 ต่อปี ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 48.2 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 47.0 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 75.8 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 76.1

น.ส.รัชดา กล่าวว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ขยายตัวร้อยละ 24.5 ต่อปี ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 50.2 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 48.7 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 87.4 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 88.4

ฟื้นฟูการบินไทยไปได้สวย ทิศทางเป็นบวก กลับมาทำการบินในเส้นทางเดิม สภาพคล่องดีขึ้น

ครม.รับทราบความคืบหน้าการฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย มีทิศทางเป็นบวกต่อเนื่องตามการคลี่คลายของโควิด19 สามารถกลับมาทำการบินในเส้นทางเดิม สภาพคล่องดีขึ้นความต้องการกู้ยืมลดลง แผนงานในอนาคตมีความชัดเจน

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ (29 พ.ย. 65) ได้รับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหา บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) ซึ่งมีแนวโน้มการดำเนินที่ดีขึ้นต่อเนื่องภายหลังการคลี่คลายของโควิด-19 โดยสามารถเพิ่มความถี่เที่ยวบินใน 6 เดือนแรกของปี  65 และกลับไปทำการบินในเส้นทางเดิมก่อนการเกิดโรคระบาด

ทั้งนี้ ในไตรมาสที่ 3/65 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีกำไรจากการดำเนินงาน 3,920 ล้านบาท เทียบกับที่ขาดทุน 5,310 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 64  และมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย(EBIDA) 6,181 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 64 ที่ขาดทุน 3,100 ล้านบาท 

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ใน เดือน ต.ค. 65  การบินไทยและสายการบินไทยสมายล์มีผู้โดยสารต่างประเทศเฉลี่ยต่อวัน 21,558 คน คิดเป็นร้อยละ 30 ของผู้โดยสารต่างประเทศที่ผ่านเข้า-ออก ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีส่วนแบ่งการขนส่งสินค้าคิดเป็นร้อยละ 28 ของปริมาณการขนส่งสินค้าเข้า-ออก ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ส่วนในเดือนพ.ย.-ธ.ค. ก็มีอัตราการสำรองที่นั่งล่วงหน้าระดับสูงต่อเนื่อง ซึ่งแนวโน้มการเติบโตดังกล่าว ทำให้ ณ วันที่ 15 พ.ย. 65 บริษัทฯ มีเงินสดคงเหลือ  32,031 ล้านบาท

ทั้งนี้ ด้วยสถานะการดำเนินงานที่ดีขึ้น ทำให้ความต้องการใช้สินเชื่อใหม่ของบริษัทฯ ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการได้ปรับลดจาก 50,000 ล้านบาท เหลือ 25,000 ล้านบาท  ซึ่งแยกเป็นความต้องการสินเชื่อระยะยาวและสินเชื่อหมุนเวียนระยะสั้นประเภทละ 12,500 ล้านบาท

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า บริษัทฯ ได้ปรับปรุงประสิทธิภาพฝูงบินและปรับลดต้นทุนอากาศยานอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 มีอากาศยานที่อยู่ในการปฏิบัติการบินรวม 61 ลำ ซึ่งด้วยการเติบโตของปริมาณความต้องการเดินทาง จึงมีการนำอากาศยานที่อยู่ในฝูงบินกลับมาให้บริการใหม่รวม 5 ลำ ได้แก่ โบอิ้ง 777-200ER จำนวน 2 ลำ และแอร์บัส 330-300 จำนวน 3 ลำ

นอกจากนี้ บริษัท ยังได้ลงนามในสัญญาเช่าอากาศยานแบบแอร์บัส 350-900 แล้วจำนวน 2 ลำ และได้ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงในการเช่าอากาศยานแบบแอร์บัส 350-900 อีก 2ลำ อยู่ระหว่างการขออนุญาตเข้าประจำการในฝูงบินต่อสำนักงานการบินพลเรือนและกระทรวงคมนาคม โดยคาดว่าอากาศยานทั้ง 4 ลำ จะเริ่มเข้าให้บริการได้ตั้งแต่ไตรมาสที่2/66 ซึ่งจะทำให้ในปี 66 บริษัทฯ จะมีอากาศยานที่นำมาบริการรวม 70  ลำ

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า บริษัทฯ มีแผนงานที่ชัดเจนเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างทุน โดยการบินไทยจะมีการเพิ่มทุนจดทะเบียนไม่เกิน 31,500 ล้านหุ้น เพื่อให้ส่วนทุนเป็นบวก สร้างความมั่นคงทางการเงิน และให้หุ้นของบริษัทฯ สามารถกลับเข้าไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้ โดยแบ่งเป็นการออกหุ้นเสนอขายแก่กลุ่มต่าง ๆ  5 กลุ่ม ได้แก่

1) หุ้นจำนวน 4,911 หุ้น สำหรับการใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุน (Share Option) ของผู้สนับสนุนสินเชื่อใหม่ เฉพาะผู้ให้สินเชื่อระยะยาว ในจำนวนเดียวกับจำนวนหนี้ที่เบิกใช้จริง หรือการเลือกชำระค่าหุ้นสามัญเพิ่มทุนโดยแปลงหนี้เงินต้นเดิมตามแผนเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุน ในราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น

2) หุ้นจำนวน 5,040 ล้านหุ้น สำหรับการแปลงหนี้เป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุน เพื่อชำระหนี้เงินต้นคงค้างของเจ้าหนี้กลุ่มที่4 (กระทรวงการคลัง) ในสัดส่วนร้อยละ 100 ของภาระหนี้เงินต้นคงค้าง (ประมาณ 12,827 ล้านบาท) ที่ราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น 

3) หุ้นจำนวน 9,822 ล้านหุ้น สำหรับการแปลงหนี้เป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อชำระหนี้เงินต้นคงค้างแก่เจ้าหนี้กลุ่มที่5 (เจ้าหนี้สถาบันการเงินที่มีสิทธิตามสัญญาโอนสิทธิในการได้รับเงินจากการขายเครื่องบิน) เจ้าหนี้กลุ่มที่6 (เจ้าหนี้สถาบันการเงินไม่มีประกัน) และเจ้าหนี้กลุ่มที่ 18-31 (เจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้) ในสัดส่วนร้อยละ 24.50 ของภาระหนี้เงินต้นคงค้าง 

มองไทยรอบทิศ กับ ‘ดร.วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา’ 

มองไทยรอบทิศ กับ ‘ดร.วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา’ 

กิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศไทยและรวมถึงทั่วโลกเริ่มหวนคืน ภายหลังเชื้อโควิด-19 เริ่มจาง เราเริ่มเห็นตัวเลขการลงทุนจากต่างประเทศที่ไหลเวียนเข้ามาตั้งแต่ต้นปี จนกระทั่งถึงเดือนตุลาคม (65) 

เราเริ่มเห็นภาพชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยจนแน่นสนามบินสุวรรณภูมิ 

ภาพเหล่านี้ ชี้ให้เห็นถึงสัญญาณเด่นชัดว่า ‘ประเทศไทย’ กำลังจะดีขึ้น 

ไม่เพียงเท่านั้น เครื่องจักรเศรษฐกิจส่วนอื่นๆ ก็กำลังเคลื่อนตัวไปในทิศทางที่น่าสนใจ ไม่ว่าเป็น ‘การส่งออก’ โดยเฉพาะการส่งออกอาหาร ซึ่งถือเป็น ‘พระรองรูปหล่อ’ ที่ผลักออกสู่ตลาดและสร้างแรงกระเพื่อมได้อย่างน่าสนใจ จนคาดว่าจะช่วยเสริมแรงให้เศรษฐกิจไทยฟื้นกลับมาในเร็ววัน

เรื่องนี้ไม่ใช่การมโน แต่ได้รับคำยืนยันจาก ‘ดร.วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา’ รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้คลุกวงในอยู่ในความเคลื่อนไหวของการผลิตและการส่งออกมาอย่างยาวนาน มาช่วยแถลง ผ่านบทสัมภาษณ์ที่ทำให้ THE STATES TIMES รู้สึกว่า ‘ประเทศไทย’ ไปรอด!!

Q: ข่าวดีประเทศไทยช่วงนี้มีเยอะมากจริงเลยนะครับ!!
A: ใช่ครับ!! ตอนนี้เครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจเริ่มถูกขับเคลื่อยด้วย ‘ส่งออก’ กับ ‘ท่องเที่ยว’ อย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงของไตรมาสสุดท้าย ซึ่งถือเป็นหน้าท่องเที่ยว มีอากาศดี โดนใจคนในหลายๆ ประเทศฝั่งตะวันตกที่หนีหนาวมาพึ่งอากาศ ยิ่งเปิดประเทศชัด2-3 เดือนมานี้ สารพัดทิศก็มาทัวร์ที่ไทย แม้จะมีการติดขัดในเรื่องของสายการบินที่ยังไม่สามารถกลับมาให้บริการได้เต็มที่อยู่บ้าง ซึ่งในหลายๆ ประเทศก็เจอปัญหานี้ 

ขณะเดียวกันในส่วนของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็น นวด, ผับบาร์, ร้านอาหาร ก็กลับมาเปิดบริการกันค่อนข้างเยอะแล้ว ทุกคนคึกคัก เพราะการหยุดไป 2 ปีกว่าๆ นี่คือช่วงเวลาที่กลุ่มธุรกิจซึ่งอยู่ในห่วงโซ่นี้จะกลับมาพลิกฟื้นตัว 

Q: ข้ามเรื่องของท่องเที่ยวไปก่อน แล้วไปมองย้อนไปยังเรื่องของ ‘การส่งออก’ คุณมองว่าทิศทางส่งออกของไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป?
A: ถ้ามองภาพรวมการส่งออกในส่วนที่เป็นสินค้าประเภทต่างๆ ยังเติบโตต่อเนื่อง โดยเราได้อานิสงฆ์จริงๆ มาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว หลังจากหลายๆ ประเทศเริ่มกลับมาทำธุรกิจ ทำให้การหมุนเวียนทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นมาก คนออกมาจากบ้านได้ ไปร้านอาหารได้ คนออกมาทำธุรกิจได้ ก็ต้องมีการซื้อรถยนต์ ต้องมีการบริโภคต่างๆ เพิ่มเข้ามา ตัวเลขมันเริ่มดีมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว แล้วต้นปีนี้ก็ถือว่าเติบโตดีพอสมควร

ดังนั้นตัวเลขการส่งออกของเรา จึงยังแตะเลขสองหลักอยู่ ภายใต้การเติบโตเกิน 10% จากที่ทั้งปีเราคิดว่าน่าจะโตแค่ 8% เท่านั้น แต่ถ้าหากตัวเลขจะตกลงกว่านี้ ก็คงมาจากเรื่องของความกังวลของตัวแปร ‘เศรษฐกิจถดถอย’ มาเป็นตัวดึง ก่อนหน้านี้เท่าที่เราติดตามกัน ทุกท่านคงทราบดีว่า ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกามีเงินเฟ้อสูงมาก ก็พยายามมีวิธีการที่จะสกัดเงินเฟ้อให้ได้ด้วยการขึ้นดอกเบี้ย การขึ้นดอกเบี้ยแรงๆ หลายๆ ครั้ง มันก็ส่งผลให้การใช้จ่ายมันลดลง ซึ่งเขาต้องการอย่างนี้อยู่แล้ว เพราะเงินในระบบเขามีเยอะ อย่างก่อนหน้านี้เขามีอัดฉีดเงินเข้ามาในระบบเยอะ รวมทั้งในช่วงโควิดด้วย เนื่องจากเขาเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่เขามีความสามารถสูง เวลาเกิดสถานการณ์อย่างโควิด คนไม่ต้องทำงานก็มีเงินเดือน ยังมีเงินจับจ่ายเพียงพอ ถึงแม้ข้าวของที่ต้องซื้อเข้ามามันแพงขึ้นเรื่อยๆ 

ฉะนั้นต่อให้ของมันแพงขึ้น แต่ถ้าเขายังมีอำนาจจับจ่ายอยู่ ก็จบ เพียงแต่เงินมันจะยังเฟ้อไปเรื่อยๆ เท่านั้นเอง แล้วพอเฟ้อก็แก้ด้วยการสกัดผ่านการขึ้นดอกเบี้ยแรงๆ หลายๆ ครั้ง เพื่อกดให้คนไม่ต้องใช้จ่าย เพียงแต่ถ้าให้หยุดการใช้จ่าย มันก็จะนำมาซึ่งเรื่องของความชะงักงันทางเศรษฐกิจ หรือถ้าเป็นต่อเนื่องยาวๆ ก็จะถึงขั้นถดถอย แต่ประเทศมหาอำนาจจะไม่กังวลเรื่องนี้เท่าไหร่ เพราะเขามีความสามารถพอในการที่จะอัดฉีดเข้ามาในระบบใหม่ได้เร็ว

แต่ประเทศอื่นๆ ที่เห็นผลกระทบชัดเจนก็คือเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ทุกประเทศในโลกนี้ค่าเงินอ่อนหมดเลยเพราะมีสหรัฐฯ แข็งอยู่ประเทศเดียว นั่นแปลว่าอะไร แปลว่า เวลาเราเจอสถานการณ์เช่นนี้ ก็ควรมองว่าทุกประเทศทั่วโลกอยู่ในสภาพไม่ต่างจากเรา ไม่ใช่ว่านำตัวเราไปเทียบเคียงกับสหรัฐฯ เพราะเราเทียบไม่ได้ ถ้าสหรัฐฯ บอกว่าขึ้นดอกเบี้ยเรื่อยๆ แล้วเราจะขึ้นตามเขาไปเรื่อยๆ ก็แปลว่าเราอาจจะมาถึงจุดที่ไปต่อไม่ได้ในที่สุด แต่ถ้าเราวางตัวเองอยู่ในกลุ่มของประเทศที่ไม่ใช่มหาอำนาจ และมองประเทศที่อยู่ในสถานภาพเดียวกันเป็นพื้นฐาน ค่าเงินเราอ่อน เขาก็อ่อน แต่เราจะดีกว่า คือ อ่อนอยู่ในระดับกลางๆ เมื่อเทียบกับคู่ค้าคู่แข่งของเรา นั่นก็จะหมายความว่า เรายังมีความสามารถในการแข่งขันได้อยู่ แต่ถ้าหากเราไปวางตัวอยากจะแข็งเหมือนสหรัฐฯ เครื่องยนต์สองตัวของเรา ก็อาจจะล้มทันที เพราะคู่ค้าของเรารับไม่ไหว ทำให้เราส่งออกไม่ได้ ส่งออกยาก นั่นคือแง่ ‘ส่งออก’ ขณะเดียวกัน คนก็จะไม่มาเที่ยวไทย อยากมาแล้วเจอแต่ของแพง ฉะนั้นตอนนี้เราอยู่ในระหว่างประเทศคู่ค้าคู่แข่ง และประเทศอื่นๆ ที่เหลือทั่วโลกที่คบค้ากันต่อได้ 

Q: พูดถึงอาหาร ตอนนี้ ‘ฮาลาลไทย’ ดูจะไปได้ส่วย แต่กลับกันก็มีความท้าทายอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะในเรื่องมาตรฐาน เราต้องฝ่าเรื่องนี้ยังไง?
A: เนื่องจากจำนวนประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามในโลกมีจำนวนมาก และพวกเขาก็มองว่าอาหารฮาลาล คือ มาตรฐานที่เข้มข้น และมาตรฐานนี้ก็ยังส่งผลไปถึงภาพของความสะอาด ปลอดภัย คุณภาพสูง ซึ่งส่งผลให้คนที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม ก็เริ่มสนใจ แต่ก็อย่างที่บอกว่าฮาลาลมีมาตรฐานที่เข้มข้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโซนประเทศที่เขาเป็นประเทศมุสลิม ฉะนั้นถ้าเราบอกว่ามาตรฐานฮาลาลไทย มุสลิมทุกคนที่อยู่ในไทยอาจจะเชื่อมั่นและยอมรับ แต่พอเราจะขายไปประเทศที่เป็นมุสลิมแท้ๆ อย่างมาเลเซีย, อินโดนีเซีย เราก็ต้องไปเจรจากับเขาก่อน ว่ายอมรับฮาลาลไทยไหม ถ้าไม่ยอมรับ อย่างช่วงที่ผ่านมา วิธีการแก้ไขแบบเฉพาะหน้าก็คือต้องยอมให้มาเลเซียมาเป็นคนรับรองแทน โดยใช้มาตรฐานที่ออกโดยมาเลเซีย หรือออกโดยอินโดนีเซีย เพื่อให้การค้าไม่สะดุด แต่วิธีการที่ถูกต้องจริงๆ แล้วมันต้องเทียบเคียงกันได้ หมายความว่าองค์กรมุสลิมไม่ว่าจะเป็นของไทย มาเลย์ฯ อินโดฯ ต้องคุยกันแล้วร่วมเป็นอันเดียวกัน โดยเฉพาะถ้าทำเป็นมาตรฐานฮาลาลของอาเซียนได้อันนี้จะดีมาก เรื่องนี้ขอฝากไว้

Q: ถามต่อว่า ‘ฮาลาลของไทย’ มีจุดเด่นหรือมีความน่าสนใจตรงไหนในสายตาคนทั่วโลกตอนนี้?
A: ฮาลาลของเราพยายามจะผลักดันในเรื่องของวิทยาศาสตร์ คือ การรับรองฮาลาลทั่วไปในอดีตที่ผ่านมา สมมติว่าโรงงานแปรรูปเนื้อไก่ คนที่จะเชือดไก่ก็ต้องเป็นคนมุสลิม แล้วตอนจะเชือดไก่ ไก่ต้องมีสติดีอยู่ ซึ่งคนละมาตรฐานกับทางยุโรปที่จะต้องช็อตให้มันสลบก่อนแล้วค่อยเชือด คนละวิธีกันเลย แต่ว่าในความเป็นฮาลาลไทย ถูกนำเรื่องของวิทยาศาสตร์เข้าไปเกี่ยว ก็คือการที่ใช้แลปทดลองว่ามันมีอะไรที่มันปนเปื้อนมาจากเนื้อสัตว์อื่นๆ หรือมีข้อต้องห้ามอะไรหรือไม่ อันนี้ก็เป็นอีกจุดเด่นหนึ่ง ถ้าสามารถทำให้ทั่วโลกยอมรับได้ก็จะเป็นทางออกที่ดี สำคัญที่สุดคือคำว่า เขายอมรับเราหรือเปล่า เพราะบางทีเราก็คิดว่า ของเราดีที่สุดแล้ว แต่ว่าสุดท้ายมันเจรจาได้หรือไม่ อันนี้ก็สำคัญ 

Q: มีข้อแนะนำใดต่อผู้ประกอบการไทยที่สนใจส่งออกอาหารไปสู่อาเซียนบ้าง?
A: ประเทศไทยเรามีผู้ประกอบการจำนวนมาก โดยเฉพาะ SME กับ Micro SME ที่อยู่ในหมวดอาหาร ซึ่งผมน่าจะ 70-80% เลยทีเดียว ผมขอกล่าวแบบนี้เวลาเราดูตัวเลขเรื่องส่งออก ตัวเลขมักจะไปโผล่ในเรื่องของยานยนต์ เรื่องของสินค้าที่เป็นสินค้าอุตสาหกรรมที่ผลิตเยอะๆ แล้วก็มียอดจำหน่ายสูงๆ ราคาแพงๆ แต่เรื่องอาหาร ถึงแม้ไม่ได้อยู่ในอันดับต้นสุด อาจจะมีสัดส่วนประมาณสัก 10% ของ GDP แต่มันเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมากและที่สำคัญประชาชนหรือผู้ประกอบการไทยได้มีโอกาสเป็นเจ้าของสินค้าเอง ซึ่งต่างจากสินค้าตัวอื่นที่ต้องเชิญต่างชาติมาลงทุน

เพราะฉะนั้นโอกาสของผู้ประกอบการด้านนี้ ต้องมีเอกลักษณ์เฉพาะ นึกภาพง่ายๆ ถ้าเวลาสั่งอาหาร เช่น ผัดกะเพรา เราจะรู้ดีว่าผัดกะเพราแต่ละร้านรสชาติมักไม่เหมือนกัน แม้จะเป็นผัดกะเพราเหมือนกัน มีวัตถุดิบส่วนประกอบที่เหมือนกัน แต่รสชาติที่ออกมาอาจจะต่างกัน ซึ่งความแตกต่างตรงนี้ จะทำให้เราสร้างกลุ่มเป้าหมายเฉพาะขึ้นได้ เช่น คนกลุ่มไหนไม่กินเผ็ด บางคนบอกว่าต้องมีเค็มบ้างนิดหน่อยอะไรอย่างนี้ คนที่เป็น SME ต้องมองนิชมาร์เก็ตเป็นหลัก ไม่ใช่บอกว่า ฉันจะทำสินค้าออกมาแล้วขายให้ทุกคนได้ นั่นแปลว่าคุณกำลังคิดอยากจะไปแข่งกับรายใหญ่ ซึ่งการฆ่าตัวตายชัดๆ ไม่รอดแน่นอนครับ

Q: ภาพรวมของธุรกิจอาหารตอนนี้สดใสแค่ไหน?
A: ก่อนไปถึงจุดนั้น ผมขอเล่าว่าใน 9 เดือนแรก ภาคการส่งออกอาหารของเราเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 20 ส่วนสินค้าเกษตร หรืออาหารที่ยังไม่แปรรูป เช่น พืชผัก/เนื้อสัตว์ จะเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 16 แต่ถ้ามองกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรคือที่แปรรูปแล้ว ยกตัวอย่างเช่นผักผลไม้กระป๋อง ปลากระป๋อง 9 เดือนแรกยังเติบโตถึงร้อยละ 30 

สินค้าเหล่านี้ที่เป็นพื้นฐาน ที่มีราคาไม่แพง แต่คุณภาพดีมากๆ และมีความปลอดภัยสูง มันจึงเข้าถึงง่าย และทุกครั้งที่สัญญาณทางเศรษฐกิจกลับมา อาหารก็จะเป็นกิจกรรมหนึ่งทางเศรษฐกิจที่ขาดไม่ได้ พอประกอบกับจุดแข็งของประเทศที่มีความหลากหลายของวัตถุดิบอาหารด้วยแล้ว รวมถึงค่าเงินที่อ่อนตัว และการเติบโตในตัวเลขระดับ 2 หลัก หรือเกินกว่า 10% ในภาพรวมของตลาดส่งออกอาหาร ก็ไม่ยากเกินไป 

Q: Soft Power จะช่วยให้อาหารไทยไปไกลขึ้นอีกขั้นตามที่มีการพูดถึงจริงหรือไม่?
A: จริงๆ แล้วอาหารมันเป็น Soft Power ในตัวเองอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ามันจะเข้าถึงกลุ่มคนตรงไหนบ้างและมีคนเอาไปกระจายต่อให้เราได้อย่างไร อย่างช่วงที่ผ่านมาเราก็มีศิลปินดังๆ ช่วย อันนี้เป็นตัวอย่างที่ดี และการประชุมเอเปคที่ผ่านมา อินฟลูเอนเซอร์สำคัญ ก็คือผู้นำประเทศต่างๆ นี่แหละ ถ้าเขามาแล้วได้ทดลองอาหารของไทยที่มันมีเอกลักษณ์ ที่ไปหาที่อื่นไม่ได้ ก็จะยิ่งช่วงให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมอาหารไทยในทุกระดับ เช่น Local / GI (Geopolitical Indications) ไปได้ดียิ่งขึ้นอีก

Q: โดยรวมแล้วในภาพของการส่งออกภาคอาหารไปได้สวย!! ทีนี้ถ้าให้คุณมองตัวแปรต่างๆ เช่น สงครามรัสเซียกับยูเครน ‘ยืดเยื้อ’ จะมีผลดีหรือเสียต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคต?
A: ถ้าโดยรวมแล้วไม่มีประเทศไหนได้รับผลดีจากเรื่องนี้เลยนะครับ เพียงแต่ว่าเราจะสามารถเดินต่อไปภายใต้ภาวะความขัดแย้งนี้อย่างไร อันนี้คือเรื่องสำคัญ ถ้าเรายังวางตัวว่าเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจเล็ก ซึ่งยังต้องพึ่งพาทุกๆ ฝ่าย ไม่ว่าใครจะขัดแย้งกับใคร แต่เรายังรักษาเรื่องสันติภาพ เรารักษาเรื่องของความเป็นกลางที่เข้าได้กับทุกคน ก็จะเป็นทางรอดของเรา อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ 

Q: มองการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งห่างหายไปนานมาก จะส่งผลดีต่อไทยในด้านใดบ้าง? เช่น การส่งออก, การลงทุน และแรงงาน
A: เรียนอย่างนี้นะครับว่า ตอนนี้ตลาดที่เราให้ความสำคัญ คือ ตะวันออกกลาง แล้วก็เน้นไปที่ซาอุดีอาระเบีย เรื่องความสัมพันธ์ที่เราขาดช่วงไปถึง 30 ปี แล้ววันนี้กลับมามีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน มันทำให้เกิดการดำเนินธุรกิจหรือมีเศรษฐกิจระหว่างกันที่ดีขึ้นแน่นอน เหมือนเราได้ตลาดใหม่กลับมาอีกหนึ่งตลาด ซึ่งก่อนหน้าเราก็ยังค้าขายกัน ไม่ได้ตัดขาดกันทั้งหมด แบบร้อยเปอร์เซ็นต์อาจจะเหลือแค่สิบเปอร์เซ็นต์ เพราะติดทั้งปัญหาการขอวีซ่าเอย การเข้าไปเจรจาธุรกิจ หรือนำเสนอสินค้าใหม่ๆ แต่พอสัมพันธ์กลับมา ไม่ใช่เพียงแค่เปิดโอกาสให้เราขายสินค้าเข้าไป แต่เขาก็ต้องการให้เราไปลงทุนด้วย และเขาก็สนใจมาลงทุนในประเทศไทยด้วยเช่นกัน ผมจึงมองว่าตัวเลขการค้าการลงทุนหลังจากนี้ระหว่างไทยกับซาอุฯ จะดีขึ้น สถานภาพแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ของไทย-ซาอุฯ จะเกิดขึ้นภายในหนึ่งปีหรือสองปี 

'บิ๊กตู่' ชี้ การเล่นเกมสามารถสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้ ย้ำ!! แต่ต้องรู้จักแบ่งเวลาให้ถูก

วันนี้ (29 พ.ย. 65 ) ลาดพร้าว พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานเปิดการแข่งขันกีฬาอีสปอร์ต รายการ ROV FREE FIGHT BY MDES ที่ห้องประชุมวิภาวดีบอลรูม โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลพลาซา โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า ยินดีที่มาร่วมงานนี้ ถือเป็นโอกาสของเราในวันนี้โลกกำลังเผชิญความท้าทายหลายอย่างด้วยกัน แต่โชคดีที่เราได้เตรียมการมาก่อนแล้วโดยเฉพาะไทยแลนด์ 4.0 ที่ตนได้กำหนดไว้ เพราะมองโลกเปลี่ยนแปลงโดยเร็วด้วยเทคโนโลยี จึงได้กำหนด 4.0 ขึ้นมา วันนี้หลายประเทศไป 5.0 แล้ว จึงถือว่าเราไม่ได้ช้าเกินไป 

จนกระทั่งเรามีวันนี้ ทุกอย่างเป็นเรื่องของยุทธศาสตร์ชาติที่เราต้องสานต่อกันไป ไม่ว่าจะเป็นรุ่นตน คนรุ่นก่อน และคนรุ่นหลัง เด็กและเยาวชนทั้งหมดต้องเดินหน้าประเทศไปในลักษณะนี้ เพื่อรับมือความท้าทายไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์หรือความขัดแย้งในด้านการแข่งขันการลงทุนการค้าเสรีต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องโรคอุบัติใหม่ที่ผ่านมา ซึ่งต่อไปเราไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้นมาอีก จึงต้องเตรียมความพร้อมทั้งหมด โดยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นสิ่งสำคัญที่สุด

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้การแข่งขันกีฬา อีสปอร์ต ถือเป็นอาชีพใหม่ธุรกิจใหม่ของคนรุ่นใหม่ที่ต้องได้รับการพัฒนาเพื่อสร้างรายได้ ซึ่งจะเกิดประโยชน์กับเศรษฐกิจด้วย จึงขอให้ทุกคนร่วมกันพัฒนาต่อยอดกีฬาประเภทนี้ไม่ให้ทำแล้วเสียประโยชน์ ที่สำคัญต้องใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์แบ่งเวลาให้ถูกต้อง รวมทั้งต้องรู้จักแบ่งเวลาได้ถูกต้อง ถ้าทำได้ ก็ถือว่าเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง

ขณะเดียวกัน การแข่งขันครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสที่น้อง ๆ ได้แสดงออกทักษะต่าง ๆ ขอให้นักกีฬาทุกคนทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด โดยต้องเคารพและปฏิบัติตามกฎกติกามารยาท จึงใช้วิจารณญาณให้อภัย ทุกครั้งที่มีการแข่งขันเราจะได้ประสบการณ์และมิตรภาพสำคัญที่สุด นอกจาดนี้ยังมีเพื่อนใหม่สังคมใหม่ ๆ จึงต้องสร้างความทรงจำที่ดีต่อกัน มีความรักและความสามัคคี

‘อลงกรณ์’ เผย!! มีผู้อ้างชื่อทุเรียนไทย หลอกขายในจีน มอบทูตเกษตรในจีนตรวจสอบ - รักษาภาพลักษณ์ผลไม้ไทย

(29 พ.ย. 65) จากกรณีที่สื่อบางฉบับนำเสนอข่าวเมื่อวันที่ 28 พ.ย. ที่ผ่านมา ว่ามีการเผยแพร่คลิปทุเรียนซึ่งวางจำหน่ายในประเทศจีน ที่ผู้ขายอ้างว่าเป็นทุเรียนจากไทย จนทำให้ลูกค้าในเซี่ยงไฮ้หลงเชื่อซื้อกลับไปรับประทานในราคากิโลกรัมละ 200 หยวน หรือประมาณ 1,000 บาท แต่กลับพบว่ารสชาติไม่ใช่ของไทย และคลิปดังกล่าวยังถูกส่งต่อในประเทศจีนเป็นวงกว้างจนเกรงว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจจะกระทบต่อชื่อเสียงของทุเรียนไทย

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (ฟรุ้ทบอร์ด-Fruit Board) เปิดเผยวันนี้ (29 พ.ย.) ว่า ทันทีที่ทราบข่าวได้รายงานต่อดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานฟรุ้ทบอร์ดโดยสั่งการทันทีในวันที่มีสื่อมวลชนนำเสนอข่าว (28พ.ย) ให้ทูตเกษตรของไทยทั้ง 3 สำนักงาน ได้แก่ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และกวางโจว ตรวจสอบข้อเท็จจริงพร้อมกับเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยทันที 

โดยได้รับรายงานในตอนค่ำของวันวานจากกงสุลฝ่ายเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ ว่า ได้เดินทางไปตรวจสอบข้อเท็จจริงจุดจำหน่ายทุเรียนตามที่ปรากฏในข่าวแต่ไม่พบการขายทุเรียน อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบข้อมูล พบว่า กรณีที่เป็นข่าว เป็นรถขายทุเรียนริมทาง (รถกระบะ) ไม่ใช่การขายทุเรียนจากร้านค้าที่มีแหล่งที่ตั้งถาวร โดยปกติรถขายทุเรียนคันนี้จะจอดขายช่วงกลางคืนบนถนน Xinhua ของเมืองเซี่ยงไฮ้ ช่วงวันที่ขายก็ไม่แน่นอน แต่ส่วนใหญ่จะมาขายวันเสาร์อาทิตย์ ที่ผ่านมารถดังกล่าวไม่ได้มาจอดขายทุเรียน ณ บริเวณนั้นนานกว่าสัปดาห์แล้ว ราคาขายจะเป็นราคาต่อจินหรือ 500 กรัม ปกติทุเรียนไทยที่จำหน่ายในช่วงนี้ราคาประมาณ 25-40 หยวน/500กรัม หรือ 50-80 หยวน/กก. (หรือประมาณ 250-400 บาท/กก.)

ทั้งนี้ รถขายทุเรียนข้างทาง ส่วนใหญ่จะพบเห็นตามชานเมือง จอดขายริมถนนเฉพาะช่วงกลางคืน เพื่อหลบเลี่ยงเจ้าหน้าที่ และทุเรียนที่ขายก็เป็นทุเรียนตกเกรด คุณภาพต่ำ และส่วนใหญ่ราคาถูกกว่าร้านค้าผลไม้ที่ได้มาตรฐาน

จากการสอบถามข้อมูลจากตลาดค้าส่งทราบว่า รถขายทุเรียนข้างทางในเซี่ยงไฮ้เป็นรถกระบะมาจากมณฑลอื่น โดยพ่อค้าจะไปซื้อทุเรียนตกเกรดราคาต่ำ ในปริมาณมากๆ มาเร่ขายริมถนน โดยบางคันจะเปลี่ยนที่ขายไปเรื่อยๆ จะแกะเนื้อทุเรียนขายเฉพาะเนื้อ ไม่ขายทั้งเปลือก นอกจากนี้ เครื่องชั่งก็ไม่ได้มาตรฐาน จากการสอบถามคนที่เคยซื้อทุเรียนจากรถกระบะ จะบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ทุเรียนคุณภาพต่ำ รสชาติไม่อร่อย 

นอกจากนี้จากการสำรวจร้านจำหน่ายผลไม้ในพื้นที่ 5 ร้าน ทุเรียนไทยราคาสูงกว่าทุเรียนเวียดนาม  พ่อค้าบอกว่าทุเรียนไทยอร่อยและเป็นที่รู้จัก คนที่รู้จักทุเรียน ก็จะมักเลือกซื้อทุเรียนไทย ในสายตาผู้บริโภค จะไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างทุเรียนไทยและทุเรียนประเทศอื่นจากรูปลักษณ์ได้ แต่จะสังเกตความแตกต่างจากสติกเกอร์ที่ขั้วผลที่ระบุว่าเป็นทุเรียนจากประเทศไทยหรือเวียดนาม

นายอลงกรณ์กล่าวว่า สปษ.ปักกิ่ง ฝ่ายเกษตรฯ กว่างโจวและเซี่ยงไฮ้ ได้มีการรายงานและเน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ประกอบการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานทุเรียนที่ส่งออกมายังจีนอย่างต่อเนื่องทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงควรให้ความสำคัญกับการควบคุมคุณภาพทุเรียนไทยก่อนการส่งออกเพื่อมิให้มีทุเรียนตกเกรด หรือทุเรียนคุณภาพต่ำมาจำหน่าย ซึ่งส่งผลต่อภาพลักษณ์ของทุเรียนไทยในภาพรวม ตามนโยบายยกระดับคุณภาพและมาตรฐานผลไม้ไทยของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประธานฟรุ้ทบอร์ด 

ทั้งนี้ได้มอบหมายให้ฝ่ายเกษตรทั้ง 3 สำนักงานร่วมกับทีมไทยแลนด์ในจีนเฝ้าระวังติดตามข่าวสารในสื่อออนไลน์และสื่อต่าง ๆ หากปรากฏข่าวที่กระทบต่อผลไม้ไทยให้ตรวจสอบและชี้แจงต่อสาธารณชนทันที


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top