มองไทยรอบทิศ กับ ‘ดร.วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา’ 

มองไทยรอบทิศ กับ ‘ดร.วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา’ 

กิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศไทยและรวมถึงทั่วโลกเริ่มหวนคืน ภายหลังเชื้อโควิด-19 เริ่มจาง เราเริ่มเห็นตัวเลขการลงทุนจากต่างประเทศที่ไหลเวียนเข้ามาตั้งแต่ต้นปี จนกระทั่งถึงเดือนตุลาคม (65) 

เราเริ่มเห็นภาพชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยจนแน่นสนามบินสุวรรณภูมิ 

ภาพเหล่านี้ ชี้ให้เห็นถึงสัญญาณเด่นชัดว่า ‘ประเทศไทย’ กำลังจะดีขึ้น 

ไม่เพียงเท่านั้น เครื่องจักรเศรษฐกิจส่วนอื่นๆ ก็กำลังเคลื่อนตัวไปในทิศทางที่น่าสนใจ ไม่ว่าเป็น ‘การส่งออก’ โดยเฉพาะการส่งออกอาหาร ซึ่งถือเป็น ‘พระรองรูปหล่อ’ ที่ผลักออกสู่ตลาดและสร้างแรงกระเพื่อมได้อย่างน่าสนใจ จนคาดว่าจะช่วยเสริมแรงให้เศรษฐกิจไทยฟื้นกลับมาในเร็ววัน

เรื่องนี้ไม่ใช่การมโน แต่ได้รับคำยืนยันจาก ‘ดร.วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา’ รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้คลุกวงในอยู่ในความเคลื่อนไหวของการผลิตและการส่งออกมาอย่างยาวนาน มาช่วยแถลง ผ่านบทสัมภาษณ์ที่ทำให้ THE STATES TIMES รู้สึกว่า ‘ประเทศไทย’ ไปรอด!!

Q: ข่าวดีประเทศไทยช่วงนี้มีเยอะมากจริงเลยนะครับ!!
A: ใช่ครับ!! ตอนนี้เครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจเริ่มถูกขับเคลื่อยด้วย ‘ส่งออก’ กับ ‘ท่องเที่ยว’ อย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงของไตรมาสสุดท้าย ซึ่งถือเป็นหน้าท่องเที่ยว มีอากาศดี โดนใจคนในหลายๆ ประเทศฝั่งตะวันตกที่หนีหนาวมาพึ่งอากาศ ยิ่งเปิดประเทศชัด2-3 เดือนมานี้ สารพัดทิศก็มาทัวร์ที่ไทย แม้จะมีการติดขัดในเรื่องของสายการบินที่ยังไม่สามารถกลับมาให้บริการได้เต็มที่อยู่บ้าง ซึ่งในหลายๆ ประเทศก็เจอปัญหานี้ 

ขณะเดียวกันในส่วนของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็น นวด, ผับบาร์, ร้านอาหาร ก็กลับมาเปิดบริการกันค่อนข้างเยอะแล้ว ทุกคนคึกคัก เพราะการหยุดไป 2 ปีกว่าๆ นี่คือช่วงเวลาที่กลุ่มธุรกิจซึ่งอยู่ในห่วงโซ่นี้จะกลับมาพลิกฟื้นตัว 

Q: ข้ามเรื่องของท่องเที่ยวไปก่อน แล้วไปมองย้อนไปยังเรื่องของ ‘การส่งออก’ คุณมองว่าทิศทางส่งออกของไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป?
A: ถ้ามองภาพรวมการส่งออกในส่วนที่เป็นสินค้าประเภทต่างๆ ยังเติบโตต่อเนื่อง โดยเราได้อานิสงฆ์จริงๆ มาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว หลังจากหลายๆ ประเทศเริ่มกลับมาทำธุรกิจ ทำให้การหมุนเวียนทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นมาก คนออกมาจากบ้านได้ ไปร้านอาหารได้ คนออกมาทำธุรกิจได้ ก็ต้องมีการซื้อรถยนต์ ต้องมีการบริโภคต่างๆ เพิ่มเข้ามา ตัวเลขมันเริ่มดีมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว แล้วต้นปีนี้ก็ถือว่าเติบโตดีพอสมควร

ดังนั้นตัวเลขการส่งออกของเรา จึงยังแตะเลขสองหลักอยู่ ภายใต้การเติบโตเกิน 10% จากที่ทั้งปีเราคิดว่าน่าจะโตแค่ 8% เท่านั้น แต่ถ้าหากตัวเลขจะตกลงกว่านี้ ก็คงมาจากเรื่องของความกังวลของตัวแปร ‘เศรษฐกิจถดถอย’ มาเป็นตัวดึง ก่อนหน้านี้เท่าที่เราติดตามกัน ทุกท่านคงทราบดีว่า ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกามีเงินเฟ้อสูงมาก ก็พยายามมีวิธีการที่จะสกัดเงินเฟ้อให้ได้ด้วยการขึ้นดอกเบี้ย การขึ้นดอกเบี้ยแรงๆ หลายๆ ครั้ง มันก็ส่งผลให้การใช้จ่ายมันลดลง ซึ่งเขาต้องการอย่างนี้อยู่แล้ว เพราะเงินในระบบเขามีเยอะ อย่างก่อนหน้านี้เขามีอัดฉีดเงินเข้ามาในระบบเยอะ รวมทั้งในช่วงโควิดด้วย เนื่องจากเขาเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่เขามีความสามารถสูง เวลาเกิดสถานการณ์อย่างโควิด คนไม่ต้องทำงานก็มีเงินเดือน ยังมีเงินจับจ่ายเพียงพอ ถึงแม้ข้าวของที่ต้องซื้อเข้ามามันแพงขึ้นเรื่อยๆ 

ฉะนั้นต่อให้ของมันแพงขึ้น แต่ถ้าเขายังมีอำนาจจับจ่ายอยู่ ก็จบ เพียงแต่เงินมันจะยังเฟ้อไปเรื่อยๆ เท่านั้นเอง แล้วพอเฟ้อก็แก้ด้วยการสกัดผ่านการขึ้นดอกเบี้ยแรงๆ หลายๆ ครั้ง เพื่อกดให้คนไม่ต้องใช้จ่าย เพียงแต่ถ้าให้หยุดการใช้จ่าย มันก็จะนำมาซึ่งเรื่องของความชะงักงันทางเศรษฐกิจ หรือถ้าเป็นต่อเนื่องยาวๆ ก็จะถึงขั้นถดถอย แต่ประเทศมหาอำนาจจะไม่กังวลเรื่องนี้เท่าไหร่ เพราะเขามีความสามารถพอในการที่จะอัดฉีดเข้ามาในระบบใหม่ได้เร็ว

แต่ประเทศอื่นๆ ที่เห็นผลกระทบชัดเจนก็คือเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ทุกประเทศในโลกนี้ค่าเงินอ่อนหมดเลยเพราะมีสหรัฐฯ แข็งอยู่ประเทศเดียว นั่นแปลว่าอะไร แปลว่า เวลาเราเจอสถานการณ์เช่นนี้ ก็ควรมองว่าทุกประเทศทั่วโลกอยู่ในสภาพไม่ต่างจากเรา ไม่ใช่ว่านำตัวเราไปเทียบเคียงกับสหรัฐฯ เพราะเราเทียบไม่ได้ ถ้าสหรัฐฯ บอกว่าขึ้นดอกเบี้ยเรื่อยๆ แล้วเราจะขึ้นตามเขาไปเรื่อยๆ ก็แปลว่าเราอาจจะมาถึงจุดที่ไปต่อไม่ได้ในที่สุด แต่ถ้าเราวางตัวเองอยู่ในกลุ่มของประเทศที่ไม่ใช่มหาอำนาจ และมองประเทศที่อยู่ในสถานภาพเดียวกันเป็นพื้นฐาน ค่าเงินเราอ่อน เขาก็อ่อน แต่เราจะดีกว่า คือ อ่อนอยู่ในระดับกลางๆ เมื่อเทียบกับคู่ค้าคู่แข่งของเรา นั่นก็จะหมายความว่า เรายังมีความสามารถในการแข่งขันได้อยู่ แต่ถ้าหากเราไปวางตัวอยากจะแข็งเหมือนสหรัฐฯ เครื่องยนต์สองตัวของเรา ก็อาจจะล้มทันที เพราะคู่ค้าของเรารับไม่ไหว ทำให้เราส่งออกไม่ได้ ส่งออกยาก นั่นคือแง่ ‘ส่งออก’ ขณะเดียวกัน คนก็จะไม่มาเที่ยวไทย อยากมาแล้วเจอแต่ของแพง ฉะนั้นตอนนี้เราอยู่ในระหว่างประเทศคู่ค้าคู่แข่ง และประเทศอื่นๆ ที่เหลือทั่วโลกที่คบค้ากันต่อได้ 

Q: พูดถึงอาหาร ตอนนี้ ‘ฮาลาลไทย’ ดูจะไปได้ส่วย แต่กลับกันก็มีความท้าทายอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะในเรื่องมาตรฐาน เราต้องฝ่าเรื่องนี้ยังไง?
A: เนื่องจากจำนวนประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามในโลกมีจำนวนมาก และพวกเขาก็มองว่าอาหารฮาลาล คือ มาตรฐานที่เข้มข้น และมาตรฐานนี้ก็ยังส่งผลไปถึงภาพของความสะอาด ปลอดภัย คุณภาพสูง ซึ่งส่งผลให้คนที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม ก็เริ่มสนใจ แต่ก็อย่างที่บอกว่าฮาลาลมีมาตรฐานที่เข้มข้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโซนประเทศที่เขาเป็นประเทศมุสลิม ฉะนั้นถ้าเราบอกว่ามาตรฐานฮาลาลไทย มุสลิมทุกคนที่อยู่ในไทยอาจจะเชื่อมั่นและยอมรับ แต่พอเราจะขายไปประเทศที่เป็นมุสลิมแท้ๆ อย่างมาเลเซีย, อินโดนีเซีย เราก็ต้องไปเจรจากับเขาก่อน ว่ายอมรับฮาลาลไทยไหม ถ้าไม่ยอมรับ อย่างช่วงที่ผ่านมา วิธีการแก้ไขแบบเฉพาะหน้าก็คือต้องยอมให้มาเลเซียมาเป็นคนรับรองแทน โดยใช้มาตรฐานที่ออกโดยมาเลเซีย หรือออกโดยอินโดนีเซีย เพื่อให้การค้าไม่สะดุด แต่วิธีการที่ถูกต้องจริงๆ แล้วมันต้องเทียบเคียงกันได้ หมายความว่าองค์กรมุสลิมไม่ว่าจะเป็นของไทย มาเลย์ฯ อินโดฯ ต้องคุยกันแล้วร่วมเป็นอันเดียวกัน โดยเฉพาะถ้าทำเป็นมาตรฐานฮาลาลของอาเซียนได้อันนี้จะดีมาก เรื่องนี้ขอฝากไว้

Q: ถามต่อว่า ‘ฮาลาลของไทย’ มีจุดเด่นหรือมีความน่าสนใจตรงไหนในสายตาคนทั่วโลกตอนนี้?
A: ฮาลาลของเราพยายามจะผลักดันในเรื่องของวิทยาศาสตร์ คือ การรับรองฮาลาลทั่วไปในอดีตที่ผ่านมา สมมติว่าโรงงานแปรรูปเนื้อไก่ คนที่จะเชือดไก่ก็ต้องเป็นคนมุสลิม แล้วตอนจะเชือดไก่ ไก่ต้องมีสติดีอยู่ ซึ่งคนละมาตรฐานกับทางยุโรปที่จะต้องช็อตให้มันสลบก่อนแล้วค่อยเชือด คนละวิธีกันเลย แต่ว่าในความเป็นฮาลาลไทย ถูกนำเรื่องของวิทยาศาสตร์เข้าไปเกี่ยว ก็คือการที่ใช้แลปทดลองว่ามันมีอะไรที่มันปนเปื้อนมาจากเนื้อสัตว์อื่นๆ หรือมีข้อต้องห้ามอะไรหรือไม่ อันนี้ก็เป็นอีกจุดเด่นหนึ่ง ถ้าสามารถทำให้ทั่วโลกยอมรับได้ก็จะเป็นทางออกที่ดี สำคัญที่สุดคือคำว่า เขายอมรับเราหรือเปล่า เพราะบางทีเราก็คิดว่า ของเราดีที่สุดแล้ว แต่ว่าสุดท้ายมันเจรจาได้หรือไม่ อันนี้ก็สำคัญ 

Q: มีข้อแนะนำใดต่อผู้ประกอบการไทยที่สนใจส่งออกอาหารไปสู่อาเซียนบ้าง?
A: ประเทศไทยเรามีผู้ประกอบการจำนวนมาก โดยเฉพาะ SME กับ Micro SME ที่อยู่ในหมวดอาหาร ซึ่งผมน่าจะ 70-80% เลยทีเดียว ผมขอกล่าวแบบนี้เวลาเราดูตัวเลขเรื่องส่งออก ตัวเลขมักจะไปโผล่ในเรื่องของยานยนต์ เรื่องของสินค้าที่เป็นสินค้าอุตสาหกรรมที่ผลิตเยอะๆ แล้วก็มียอดจำหน่ายสูงๆ ราคาแพงๆ แต่เรื่องอาหาร ถึงแม้ไม่ได้อยู่ในอันดับต้นสุด อาจจะมีสัดส่วนประมาณสัก 10% ของ GDP แต่มันเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมากและที่สำคัญประชาชนหรือผู้ประกอบการไทยได้มีโอกาสเป็นเจ้าของสินค้าเอง ซึ่งต่างจากสินค้าตัวอื่นที่ต้องเชิญต่างชาติมาลงทุน

เพราะฉะนั้นโอกาสของผู้ประกอบการด้านนี้ ต้องมีเอกลักษณ์เฉพาะ นึกภาพง่ายๆ ถ้าเวลาสั่งอาหาร เช่น ผัดกะเพรา เราจะรู้ดีว่าผัดกะเพราแต่ละร้านรสชาติมักไม่เหมือนกัน แม้จะเป็นผัดกะเพราเหมือนกัน มีวัตถุดิบส่วนประกอบที่เหมือนกัน แต่รสชาติที่ออกมาอาจจะต่างกัน ซึ่งความแตกต่างตรงนี้ จะทำให้เราสร้างกลุ่มเป้าหมายเฉพาะขึ้นได้ เช่น คนกลุ่มไหนไม่กินเผ็ด บางคนบอกว่าต้องมีเค็มบ้างนิดหน่อยอะไรอย่างนี้ คนที่เป็น SME ต้องมองนิชมาร์เก็ตเป็นหลัก ไม่ใช่บอกว่า ฉันจะทำสินค้าออกมาแล้วขายให้ทุกคนได้ นั่นแปลว่าคุณกำลังคิดอยากจะไปแข่งกับรายใหญ่ ซึ่งการฆ่าตัวตายชัดๆ ไม่รอดแน่นอนครับ

Q: ภาพรวมของธุรกิจอาหารตอนนี้สดใสแค่ไหน?
A: ก่อนไปถึงจุดนั้น ผมขอเล่าว่าใน 9 เดือนแรก ภาคการส่งออกอาหารของเราเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 20 ส่วนสินค้าเกษตร หรืออาหารที่ยังไม่แปรรูป เช่น พืชผัก/เนื้อสัตว์ จะเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 16 แต่ถ้ามองกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรคือที่แปรรูปแล้ว ยกตัวอย่างเช่นผักผลไม้กระป๋อง ปลากระป๋อง 9 เดือนแรกยังเติบโตถึงร้อยละ 30 

สินค้าเหล่านี้ที่เป็นพื้นฐาน ที่มีราคาไม่แพง แต่คุณภาพดีมากๆ และมีความปลอดภัยสูง มันจึงเข้าถึงง่าย และทุกครั้งที่สัญญาณทางเศรษฐกิจกลับมา อาหารก็จะเป็นกิจกรรมหนึ่งทางเศรษฐกิจที่ขาดไม่ได้ พอประกอบกับจุดแข็งของประเทศที่มีความหลากหลายของวัตถุดิบอาหารด้วยแล้ว รวมถึงค่าเงินที่อ่อนตัว และการเติบโตในตัวเลขระดับ 2 หลัก หรือเกินกว่า 10% ในภาพรวมของตลาดส่งออกอาหาร ก็ไม่ยากเกินไป 

Q: Soft Power จะช่วยให้อาหารไทยไปไกลขึ้นอีกขั้นตามที่มีการพูดถึงจริงหรือไม่?
A: จริงๆ แล้วอาหารมันเป็น Soft Power ในตัวเองอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ามันจะเข้าถึงกลุ่มคนตรงไหนบ้างและมีคนเอาไปกระจายต่อให้เราได้อย่างไร อย่างช่วงที่ผ่านมาเราก็มีศิลปินดังๆ ช่วย อันนี้เป็นตัวอย่างที่ดี และการประชุมเอเปคที่ผ่านมา อินฟลูเอนเซอร์สำคัญ ก็คือผู้นำประเทศต่างๆ นี่แหละ ถ้าเขามาแล้วได้ทดลองอาหารของไทยที่มันมีเอกลักษณ์ ที่ไปหาที่อื่นไม่ได้ ก็จะยิ่งช่วงให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมอาหารไทยในทุกระดับ เช่น Local / GI (Geopolitical Indications) ไปได้ดียิ่งขึ้นอีก

Q: โดยรวมแล้วในภาพของการส่งออกภาคอาหารไปได้สวย!! ทีนี้ถ้าให้คุณมองตัวแปรต่างๆ เช่น สงครามรัสเซียกับยูเครน ‘ยืดเยื้อ’ จะมีผลดีหรือเสียต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคต?
A: ถ้าโดยรวมแล้วไม่มีประเทศไหนได้รับผลดีจากเรื่องนี้เลยนะครับ เพียงแต่ว่าเราจะสามารถเดินต่อไปภายใต้ภาวะความขัดแย้งนี้อย่างไร อันนี้คือเรื่องสำคัญ ถ้าเรายังวางตัวว่าเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจเล็ก ซึ่งยังต้องพึ่งพาทุกๆ ฝ่าย ไม่ว่าใครจะขัดแย้งกับใคร แต่เรายังรักษาเรื่องสันติภาพ เรารักษาเรื่องของความเป็นกลางที่เข้าได้กับทุกคน ก็จะเป็นทางรอดของเรา อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ 

Q: มองการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งห่างหายไปนานมาก จะส่งผลดีต่อไทยในด้านใดบ้าง? เช่น การส่งออก, การลงทุน และแรงงาน
A: เรียนอย่างนี้นะครับว่า ตอนนี้ตลาดที่เราให้ความสำคัญ คือ ตะวันออกกลาง แล้วก็เน้นไปที่ซาอุดีอาระเบีย เรื่องความสัมพันธ์ที่เราขาดช่วงไปถึง 30 ปี แล้ววันนี้กลับมามีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน มันทำให้เกิดการดำเนินธุรกิจหรือมีเศรษฐกิจระหว่างกันที่ดีขึ้นแน่นอน เหมือนเราได้ตลาดใหม่กลับมาอีกหนึ่งตลาด ซึ่งก่อนหน้าเราก็ยังค้าขายกัน ไม่ได้ตัดขาดกันทั้งหมด แบบร้อยเปอร์เซ็นต์อาจจะเหลือแค่สิบเปอร์เซ็นต์ เพราะติดทั้งปัญหาการขอวีซ่าเอย การเข้าไปเจรจาธุรกิจ หรือนำเสนอสินค้าใหม่ๆ แต่พอสัมพันธ์กลับมา ไม่ใช่เพียงแค่เปิดโอกาสให้เราขายสินค้าเข้าไป แต่เขาก็ต้องการให้เราไปลงทุนด้วย และเขาก็สนใจมาลงทุนในประเทศไทยด้วยเช่นกัน ผมจึงมองว่าตัวเลขการค้าการลงทุนหลังจากนี้ระหว่างไทยกับซาอุฯ จะดีขึ้น สถานภาพแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ของไทย-ซาอุฯ จะเกิดขึ้นภายในหนึ่งปีหรือสองปี 

Q: เกี่ยวเนื่องเรื่องการลงทุน การที่ไทยมีการออกร่างกฎหมายที่ให้ต่างชาติสามารถซื้ออสังหาฯ ได้ จะช่วยกระตุ้นการลงทุนจากต่างชาติได้จริงงั้นหรือ?
A: ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า ถ้าคิดจะทำเรื่องนี้จริงจัง ก็คงต้องทำให้รอบคอบรัดกุมนะครับ เพราะถึงแม้เรื่องนี้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ของโลก ซึ่งหลายๆ ประเทศก็ใช้นโยบายแบบนี้เรียกแขก แต่ประเทศต่างๆ จะมีบริบททางกฎระเบียบและมุมมองทางสังคมที่ต่างกัน ซึ่งเราก็ได้เห็นแล้วถึงข้อโต้แย้งก่อนหน้าจากหลายๆ ภาคส่วน ฉะนั้นรัฐบาลก็ต้องลงมาดูให้ละเอียดว่า ปัญหาใดจะตามมา เช่น เดี๋ยวเขามาซื้อที่แล้วจะไปทำให้ราคาที่ดินเกษตรกรแพงขึ้น เกษตรกรจะเข้าถึงที่ดินยาก อะไรอย่างนี้ มันมีทางออกอย่างไรให้ภาคสังคม โดยที่เราอาจจะลองทดลองทำเป็นแซนด์บ็อกซ์ก่อนก็ได้ว่า ถ้าซื้อ จะซื้อได้เฉพาะที่ส่วนนี้นะ เป็นที่สำหรับปลูกที่อยู่อาศัยที่มีแต่มหาเศรษฐีในประเทศไทยอยู่ ก็จะไม่กระทบกับคนที่มีระดับรายได้ปานกลางหรือระดับรายได้น้อย เพราะยังไงพวกมหาเศรษฐีเขาก็ไม่กระทบอยู่แล้ว ในเมื่อมีการแข่งขันแย่งซื้อที่ราคาแพง มันก็เป็นเรื่องที่เขาต้องรับมือได้อยู่แล้ว เพราะว่าระดับรายได้ไม่เหมือนกัน อันนี้ยกตัวอย่างนะ

เงื่อนไขการลงทุนก็สำคัญ เช่น เขาจะต้องมีเงินเท่าไหร่ที่จะมาซื้อ วงเงินเดิมมันเพียงพอไหม ที่บอกว่า 40 ล้านบาทในการมาลงทุนในประเทศไทยและลงทุนแบบไหน จะมีตัวเลขอะไรบอกไหมว่ามาลงทุนนี่ลงทุนยาวนะ ไม่ใช่ว่าเอามาลงไว้ปีสองปีแล้วดึงกลับไป อันนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่ง เพราะว่าถ้าเป็นการลงทุนยาวนั่นหมายความว่า เขาพร้อมที่จะมาเป็นส่วนหนึ่งของประชาชนไทยในการสร้างเศรษฐกิจให้ไทยด้วย เพราะสมมติว่าเขามาซื้อ เราอาจจะบอกว่า คุณซื้อที่อย่างเดียวไม่ได้ คุณต้องซื้อบ้านด้วย หรือต้องจ้างในการก่อสร้าง ต้องหาหลักประกันเหล่านี้ไว้ค้ำ แล้วพอมีสัญญาการปลูกสร้างบ้านแล้ว ปลูกเพื่ออะไร เพื่อการเข้ามาอยู่จริงๆ ไม่ 

ถ้าเขารับได้ และยิ่งเป็นต่างชาติที่มีรายได้สูง พร้อมลงทุนในไทยจริง กฎหมายนี้จะทำให้คนพร้อมตัดสินใจลงหลักปักฐานในบ้านเราจริงจัง และเกิดผลดีกับเศรษฐกิจไทยอย่างมาก

Q: ในบ้านเราตอนนี้ ปัญหาราคาพลังงานทำต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตร รวมถึงสินค้าและบริการต่างๆ แพงขึ้น การบริโภคลดลง สภาพการณ์อย่างนี้จะมีทางออกหรือทางแก้ไขอย่างไรได้บ้าง?
A: คำถาม คือ เราสกัดต้นทุนที่เพิ่มเข้ามาในระบบ ไม่ให้มันมากจนเกินไปแล้วไปกระทบกับการใช้จ่ายของประชาชนอย่างไรมากกว่า แน่นอนว่าก่อนหน้านี้ทางภาครัฐเอง ก็มีนโยบายต่างๆ มา ‘ช่วยตรงปลายทาง’ เยอะ เช่น คนละครึ่ง ‘ช่วยปลายทาง’ แต่สิ่งที่เราอยากเห็น คือ ‘ช่วยต้นทาง’ ทำยังไงให้การผลิตต้นทุนมันไม่สูงขึ้นไปกว่านี้หรือควบคุมได้ เช่น เรื่องการดูแลต้นทุนพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการนำเข้าเชื้อเพลิงต่างๆ หรือไม่ว่าจะเป็นเรื่องของค่าไฟฟ้า ที่ถือเรื่องสำคัญของหลายๆ อุตสาหกรรมด้วยเพราะเป็นต้นทุนด้านการผลิต เป็นต้น ถ้าตรงนี้มีภาพที่ว่า รัฐช่วยดูแลได้ หน้าที่ของทางภาคการผลิตเขาก็จะพยายามทำให้ต้นทุนต่ำที่สุดอยู่แล้ว เพื่อให้กำลังซื้อผู้บริโภคที่มันยังมี แม้จะน้อย สามารถเข้าถึงได้

Q: ปรากฎการณ์รถยนต์ไฟฟ้าบูมในไทย กำลังสะท้อนอะไรต่อภาพรวมของภาคอุตสาหกรรมไทยบ้าง?
A: อันที่จริงเรื่องนี้จะสอดคล้องกับนโยบาย BCG (Bio-Circular-Green Economy) พอดี หลังจากไทยเราเริ่มหันมาให้ความสำคัญในเรื่องพลังงานบริสุทธิ์มากขึ้น ซึ่งจะว่าไปแล้วคงจะต้องมีการส่งเสริมและสนับสนุนต่อ โดยอาจจะต้องมีการปลกล็อคบางกฎหมาย เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนในเชิงอุตสาหกรรมวงกว้าง เช่น ถ้าเราสามารถทำโซลาร์รูฟท็อปของเราเองแล้วมันมีพลังงานเหลือ เราซื้อขายกันเองได้ไหม เพราะก่อนหน้านี้มันไม่ได้ ก่อนหน้านี้รัฐต้องมารับซื้อคืน แต่ว่ามันมีแค่จังหวะหนึ่งที่รัฐรับซื้อคืน ต้องหาทางออกระยะยาว เฉกเช่นเดียวกันกับเรื่องของรถยนต์ไฟฟ้า มันบูม แต่ยังไม่ได้ตอบโจทย์ระยะยาว เพราะว่าตอนที่เราชาร์จไฟฟ้าเข้ารถ ไฟฟ้ามันมาจากพลังงานฟอสซิลเป็นพื้นฐาน นั่นจึงทำให้มีบางประเทศอย่างญี่ปุ่นเขามองข้ามเรื่องนี้ไปเลย และสังเกตว่าเขาจะไม่มาพูดเรื่องของรถไฟฟ้าอีวีมากเท่าไหร่ แถมยังกระโดดข้ามไปทำรถไฮโดรเจนเลย ตรงนี้มันเป็นภาพที่แต่ละประเทศเขาเลือกว่าจะมองแบบข้ามช็อตหรือจะทีละช็อตหรือจะก้าวกระโดด อย่างของไทยเราจะมาเป็นทีละช็อต เพราะเรายังเดินตามประเทศยักษ์ใหญ่ เนื่องจากยังไม่มีกำลังความสามารถพอในการก้าวกระโดด แต่ถ้าในเชิงของภาคอุตสาหกรรมที่เมื่อสักครู่บอก อันไหนที่มันทำได้อย่างเช่นโซลาร์รูฟท็อป อันนี้ชัดเจนมาก ว่ามันก้าวข้ามได้ แต่ยังเหลือเพียงแค่เรื่องของกฎหมายที่ควรออกมาช่วยรองรับ ฉะนั้นความพร้อมของภาคอุตสาหกรรมจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหนและยาวหรือสั้นอยู่ตรงนี้

Q: พูดถึงรถอีวีแล้ว หากตลาดเปลี่ยนเร็ว อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับ Auto Part เดิมจะได้ผลกระทบแค่ไหม?
A: แน่นอนว่าคงมีผล เพราะบ้านเราเก่งเรื่องของการทำชิ้นส่วนยานยนต์ ICE (Internal Combustion Engine) เพราะชิ้นส่วนรถยนต์มันเยอะไปหมดเลย หลายหมื่นชิ้น ในขณะที่ถ้าเป็นรถยนต์ไฟฟ้ามันจะเหลือแค่ไม่กี่ชิ้น พวกธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการผลิตรถยนต์ใช้เชื้อเพลิงก็จะลำบาก แต่ผมมองว่าจะไม่ถึงขั้นหายไปจากตลาด เพราะยังมีอีกหลายประเทศในโลกที่เขายังใช้เครื่องยนต์แบบนี้อยู่ ยิ่งไปกว่านั้นนโยบายการใช้รถยนต์ไฟฟ้าไม่ได้เหมือนกันทุกประเทศ บางประเทศเขายังก้าวข้ามไม่ทัน ยังเหลือเวลาให้ปรับตัว 5 ปีบ้าง 10 ปีบ้าง หรือ 15 ปีบ้าง เพียงแต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้ผลิตที่อยู่ในอุตสาหกรรมดั้งเดิมในตลาดนี้ อาจต้องมองธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับยานยนต์ไฟฟ้ามาทดแทนไว้บ้าง

Q: ขอบคุณสำหรับข้อมูลมุมมองประเทศไทยในหลากบริบทที่เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน THE STATES TIMES ในวันนี้มากๆ ครับ
A: ยินดีครับ