Friday, 19 April 2024
Insight

เศรษฐกิจไทย...กำลังฟื้นตัว

แม้ผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ยังคงมีแรงกระทบต่อกลุ่มประชาชนคนไทยที่มีปัญหาความยากจน

แต่มีการคาดการณ์ว่าภาพรวมเศรษฐกิจจะพลิกฟื้นกลับมาเร็ว จากการประเมินตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดในไตรมาส 3 และคาดการณ์ปีพ.ศ.2564 ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

.

ที่มา: สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

‘ฝูงบิน’ ขี้อิจฉากับความริษยาของ ‘ยนตรกรรม’

การที่ธุรกิจใดๆ จะเข้าถึงลูกค้าได้สัก 50 ล้านราย ก็ว่าไม่ง่ายแล้ว แต่ถ้าทำได้ในเวลา 19 วัน ดูยากจนน่าเหลือเชื่อ!! เพราะทราบไหมว่าในโลกของอุตสาหกรรมธุรกิจร่วมศตวรรษนั้น กว่าจะสร้างสินค้า บริการ หรือผลิตผลให้เข้าถึงผู้คนได้จำนวนมากๆ ต้องใช้เวลาพิสูจน์ตัวเองมาอย่างยาวนานทั้งสิ้น

.

  • สายการบินใช้เวลา = 68 ปี
  • รถยนต์ใช้เวลา = 62 ปี
  • โทรศัพท์ใช้เวลา = 50 ปี
  • โทรทัศน์ใช้เวลา = 22 ปี
  • คอมพิวเตอร์ใช้เวลา = 14 ปี
  • มือถือใช้เวลา = 12 ปี
  • อินเตอร์เน็ตใช้เวลา = 7 ปี 
  • Facebook ใช้เวลา = 3 ปี
  • เกม Candy Crush ใช้เวลา = 4 เดือน

.

….แต่ทั้งหมดต้องหมอบกราบให้กับ ‘Pornhub’ กับ ‘Pokemon Go’ ที่ใช้เวลาไป ‘19 วัน’ ในการกวาดผู้ใช้งาน ‘50 ล้านราย’

.

บางอุตสาหกรรมเห็นตัวเลขนี้แล้วคงแอบอิจฉาริษยากันบ้าง อย่างธุรกิจการบิน ที่กว่าจะมีผู้ใช้งานถึงหลัก 50 ล้านคนได้ ก็ต้องใช้เวลากว่า 68 ปี หรือแม้แต่รถคันแรกของ Ford Model T ตอนออกวางจำหน่าย ก็ต้องใช้ระยะเวลากว่า 62 ปี ถึงจะมียอดใช้งานสะสมทั่วโลก 50 ล้านคัน

แต่พอโลกเข้าสู่ยุคอินเตอร์เน็ต กลับเริ่มมีสินค้าและบริการบางอย่าง เข้ามากวาดผู้คนไปได้อย่างรวดเร็ว เหมือนที่ยกตัวอย่างไปกับ Pokémon Go และ Pornhub ที่สร้างยอดผู้ติดตาม 50 ล้านคน ในระยะเวลา 19 ซึ่งทั้ง 2 เร็วกว่าการเข้าถึง 50 ล้านคนของรถยนต์ประมาณ 1,190 เท่า และเร็วกว่าอุตสาหกรรมการบินประมาณ13,000 เท่า (ช่างน่าริษยา)

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

จุดร่วมหนึ่งที่สำคัญของ Pornhub และ  Pokémon Go คือ การ ‘เคลียร์’ กับ ‘จริต’ พื้นฐานของคนยุคนี้ได้แบบที่ไม่มีจุดไหนเลยจะไปย้อนแย้งกับ ‘ไลฟ์สไตล์’ ของกลุ่มคนที่ได้สัมผัส 

ทุกคนใช้งานได้ง่าย ใช้งานได้ฟรี (พรีเมี่ยมเติมเงิน) และรู้สึกถึงความผูกพันที่ ‘เติบโต’ ไปแบบไม่รู้จบ ต่างจากธุรกิจดั้งเดิมที่ติดข้อจำกัดที่ว่ามาเกือบทั้งสิ้น

ทีนี้มาดูสูตรโกง ‘Pokémon GO’ กันสักนิด...

จุดกำเนิดในปี 1996 ที่เปิดตัวเป็นวิดีโอเกม Pokémon ครั้งแรกในญี่ปุ่น และมีการพัฒนาต่อมาหลากหลายเวอร์ชั่น พลิกโฉมแบบเฉียบขาดมาเป็น Pokémon Go เมื่อปี 2016 ภายใต้ลิขสิทธิ์ของบริษัท Niantic Labs ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพใต้ร่มของGoogleที่ก่อตั้งในปี 2010

หลังเปิดตัวเพียง 3 เดือนแรก Pokémon Go ทำรายได้สูงถึง 592 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณเกือบ 2 หมื่นล้านบาท ใช้เวลาเพียงแค่ 19 วันหลังเปิดตัว ด้วยยอดดาวน์โหลดถึง 50 ล้านครั้ง 

ขณะเดียวกัน ก็กวาดรายได้รวมในปี 2016 ไปถึง 832 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 2.7 หมื่นล้านบาท และ 894 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 2.9 หมื่นล้านบาทในปี 2019 

และถ้านับตั้งแต่ปี 2016 จนถึงปี 2019 เกมนี้ทำรายได้รวมมากกว่า 3.1พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 1 แสนล้านบาท พร้อมเพิ่มจำนวนผู้เล่นได้ถึง 1,000 ล้านคน 

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ Pokémon Goแจ้งเกิดได้ขนาดนั้น มาจากตัวเกมPokémon Goได้หยิบเอาเทคโนโลยีภาพเสมือนอย่าง AR: Augmented Reality และระบบ Location Base ที่มีการพูดถึงเยอะ แต่ไม่ค่อยมีคนเอาพลิกแพลงเป็นคอนเท้นท์ใหม่ๆ 

ตรงนี้น่าสนใจมากๆ เพราะ Pokémon Go สร้างมาตรฐานการเล่นเกมแบบใหม่ให้เกิดเป็นไลฟ์สไตล์แก่คนที่ไม่ได้เล่นเกม ก็ต้องมาลองเล่น แถมด้วยรูปแบบของเกม มันก็คือการจำลองให้เรามโนว่าตัวเองเป็น ‘ซาโตชิ’ (ตัวเอกของเกม) ให้เข้ามาสู่โลกแห่งนักล่ามอน  

ไม่ว่าจะเป็นการออกเดินทางเก็บรวบรวมตัวโปเกมอน เลี้ยงดู ฝึกฝน พัฒนา ผ่านการสู้กับผู้ฝึกโปเกมอนอื่น ๆ ในเกม จึงไม่แปลกที่ทั้งผู้เล่นใหม่และแฟนเดิมจะถูกดึงเข้าแพลตฟอร์ม

นอกจากนี้ ยังมีจุดน่าสังเกตหนึ่ง คือ ผู้ผลิตน่าจะมองออกว่าการนำ AR มาใช้กับเกมให้คนต้องตระเวนไปทั่วทุกทิศ เพื่อหาโปเกมอนใหม่ๆ เข้ามาไว้ในพอร์ตนั้น...อาจจะสร้าง Talk บางอย่าง ที่แม้จะไม่ใช่ Talk ดี แต่ในเชิงของการตลาดถือว่า ‘เฉียบ’

เพราะถ้าสังเกตุให้ดีในช่วงเปิดตัวใหม่ๆ Pokémon Goถูกพูดถึงในมุมของต้นเหตุแห่งอุบัติเหตุมากมาย บางประเทศมีผู้เล่นเผลอล่ามอนแล้วตกเขา หรือบางประเทศผู้เล่นออกไปล่ามอนบนเกาะซะเพลินจนน้ำขึ้นและกลับออกมาไม่ได้ก็มี 

ส่วนบางคนที่ไม่ได้เล่นเป็นจริงเป็นจัง แต่ก็พร้อมเสนอตัวว่าเป็นนักล่าตัวแทน (เพราะมันเล่นง่าย) อาสาไปล่ามอนในพื้นที่เสี่ยงต่างๆ ให้ จนเกิดอาชีพ เทรนเนอร์ตัวแทน หรือคนขับรถพาทัวร์จับโปเกมอน เพิ่มมูลค่าเกมเข้าไปอีก

นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำไม 19 วันของ Pokémon Go จึงโกยคนเข้าคอกได้อย่างรวดเร็ว

.

ข้ามมาที่ Pornhub!!

เว็บไซต์หนังผู้ใหญ่ Pornhub ที่ก่อตัวขึ้นในปี 2007 สามารถฝ่าดงเว็บเสียวที่ฝังเต็มโลกอินเตอร์เน็ต จนขึ้นไปครองเบอร์ 1 เจ้าแห่งความเสียวซ่านในปี 2019 

Pornhub มีค่าเฉลี่ยสถิติคนคลิกราว115 ล้านครั้งต่อวัน โดยคนอเมริกันเป็นแชมป์ในการเข้าชมมากสุด ส่วนไทยก็ติดอันดับ 17 ในการเข้าเว็บนี้ แต่ ๆๆๆ เราเป็นแชมป์ดูคลิปนานสุดในโลกที่ 11.21 นาที (น่าภูมิใจมาก)

สิ่งที่น่าสนใจของ Pornhub ถ้าไม่นับประเด็นร้อนที่รัฐบาลไทยสั่งปิดเว็บเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ.2563 คือ... การมาในจังหวะที่ดี และสร้าง ‘การมีส่วนร่วม’ ในแบบที่เว็บโป๊อื่นๆ ไม่ได้ทำ (เอ่อ จริงๆ เว็บอื่นเขาก็เปิดมาให้เรามีส่วนร่วมแหละ ฟั่บ ๆๆ) 

เพราะถ้าฟังคำสัมภาษณ์จาก คอรีย์ ไพรซ์ (Corey Price) รองประธาน Pornhub ที่เคยเล่ากับเว็บไซต์ Benzinga ในปี 2017 จะพบว่า…จุดเปลี่ยนที่ทำให้คนจดจำ Pornhub นอกจากพยายามพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีในการรับชมใหม่ๆ เช่น การดูแบบ VR (Virtual Reality) แล้วนั้น

ตัว Pornhub มาเดินเครื่องแรง ๆ ในช่วงเปลี่ยนผ่านพฤติกรรมการเสพหนังโป๊แบบแผ่น มาเป็นออนไลน์พอดี แถมเปิดให้ชมฟรี (แต่ก่อนบางเว็บหาดูฟรียาก) อยากได้ของดีค่อยสมัครพรีเมี่ยม 

ที่สำคัญ คือ Pornhub ใช้เทคนิคสร้าง ‘การมีส่วนร่วม’ จาก ‘คนเสพ’ เป็น ‘คนปัน’ โดยให้อิสระในการเปิดให้ใครๆ ที่อยากอัพโหลดคอนเท้นท์เสียวๆ เข้ามาแชร์ได้หมด

ยิ่งไปกว่านั้นยังได้เปิดให้คนเสพสามารถผันตัวเองมาเป็น ‘นักแสดง’ (UGC: User Generated Content) สร้างเองแสดงเองง่ายๆหรือเรียกให้ยิ่งใหญ่หน่อยได้ว่า ‘Pornhubber’ (คล้ายๆ กับ YouTuber นั่นแหละ)

หลังจากให้คนเข้ามามีส่วนร่วมแล้ว Pornhub ก็ขอเข้าไปมีส่วนร่วมบ้าง ด้วยการนำระบบ AI เข้ามาศึกษาพฤติกรรมผู้ใช้งานเพื่อให้คอนเท้นท์เข้าถึงความชอบแต่ละคน ตอบโจทย์รสนิยมส่วนตัวได้เชี่ยๆ

แท็กติคที่ดูเหมือน Simple ของ Pornhub มัน Impact และช่างละเมียดมากๆในยุคนู้น จนกวาด 50 ล้านผู้ใช้งานได้ภายใน 19 วัน

และนั่นก็ทำให้ Pornhub เติบโตจนในปี 2010 ไปต้องตาเจ้าพ่อนักสะสมเว็บโป๊ชาวเยอรมันอย่าง Fabian Thylmann ที่ใช้บริษัท MindGeek ของตนเข้าสู่ขอ Pornhub ไปจาก Matt Keezerด้วยราคาที่ไม่เปิดเผย

Fabian Thylmann มั่นใจว่ารายได้ของ Pornhub จะโกยค่าโฆษณา ขายแบนเนอร์โฆษณาต่าง ๆ รวมทั้งเก็บค่าสมาชิกพรีเมียมรายเดือนได้เป็นกอบเป็นกำ

อย่างที่บอกไปว่า ‘สิ่งประดิษฐ์ที่จับต้องไม่ได้’ สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายในยุคนี้ และก็อาจจะไม่จบที่กรณีแบบ Pornhub กับ Pokémon Go เท่านั้น เพราะในยุคที่อินเตอร์เน็ตเชื่อมให้ 7 พันกว่าล้านคนทั่วโลกพบปะกันได้ง่ายๆ ผ่านมือถือ โอกาสเกิดแชมป์เปี้ยนใหม่ๆ เข้ามาท้าชิง ก็เป็นไปได้ตลอดเวลา

ขอแค่สร้างสรรค์สิ่งที่ ‘เคลียร์’ กับ ‘จริต’ พื้นฐานของคนได้คือจบ...

.

ที่มา: 

Visualcapitalist 

ลงทุนแมน 

Ahead Asia

https://blog.capitalogix.com/public/2019/01/pornhub-by-the-numbers.html

Sensor Tower Store Intelligence

 

ถอดสมการ MV = PY กลยุทธ์ ‘ตก’ กำลังซื้อ เวอร์ชั่นรัฐ ใต้ไอเดีย ‘ทำมื้อนี้ให้ดีที่สุด’

ถูกด่าก่อนสอบสวน!! น่าจะเป็นตัวอธิบายความได้ดีที่สุดของโครงการคนละครึ่ง

.

แต่จนแล้วจนรอดโครงการดังกล่าวก็กลายเป็นการแก้ปัญหาที่ดูจะถูกจุดเกินคาดของภาครัฐ ที่งวดนี้ปล่อยหมัดฮุกเข้าตรงจุดไปยังกลุ่มคนฐานราก ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการหมุนวงล้อเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง

.

แล้วตอนนี้ก็เข้าใจว่า ‘โครงการคนละครึ่ง’ น่าจะกำลังถูกเคาะต่อไปยาวๆ หลังจากกระทรวงการคลังพยายามจะเปิดโอกาสให้ ‘ทุกคน’ ที่สนใจสามารถเข้าร่วมโครงการได้ทั้งหมดในระลอกใหม่ต้นปีหน้า

.

เข้าเรื่องกันเลยดีกว่า!!

.

อันที่จริงรัฐบาลไทยดูจะพยายามหากลยุทธ์ที่เหมาะกับเศรษฐกิจประเทศ โดยการใช้เงินให้ตรงจุด ซึ่งที่ผ่านมาอาจจะเข้าเป้าบ้างไม่เข้าเป้าบ้าง

.

แต่ทราบหรือไม่ว่าทุกๆ เม็ดเงินที่ถูกใส่ลงไปในระบบโยบายเชิงประชานิยม ที่มักถูกวิจารณ์ว่าไร้สติ (แต่คนด่านี่แหละคนกดลงทะเบียนก่อนเพื่อน) เป็นการแก้ปัญหาแบบ ‘ทำมื้อนี้ให้ดีที่สุด’ (ขอยืมคำบาบีก้อนมาใช้หน่อย)

.

ไม่ว่าจะชิม ช้อป ใช้เอย / เราไม่ทิ้งกันเอย / การเพิ่มวงเงินเฉพาะให้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐเอย หรือแม้แต่ล่าสุดกับโครงการ ‘คนละครึ่ง’

.

แน่นอนว่าเวลาพูดถึงนโยบายเชิงเศรษฐกิจ ภาพมันก็ต้องกระทบวงกว้าง ต้องใหญ่ ต้องเปลี่ยนประเทศ แต่มันก็ไม่ใช่แบบนั้นทั้งหมด

.

ยิ่งคิดจะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ถึงขั้น ส่งให้ ‘ไทยรวย’ แบบฉับพลันต ยิ่งไม่ง่าย เพราะไหนจะปัญหาภายในประเทศ การเมือง สังคม รวมถึงโรคระบาดอย่างโควิด-19 มันไม่ได้ง่าย

.

ฉะนั้นแนวคิดแบบ ‘ทำมื้อนี้ให้ดีที่สุดก่อน’ จึงไม่ใช่แค่เหมาะ แต่ต้องทำ เพราะผลลัพธ์ถึงคนส่วนใหญ่ของประเทศจริงๆ

.

สังเกตุจากโครงการคนละครึ่ง ที่พอมีการเปิดให้ลงทะเบียนรอบ 2 ก็ลงกันสิทธิ์อย่างรวดเร็ว มียอดการใช้จ่ายผ่านแอพลิเคชั่น ‘เป๋าตัง’ ไปแล้วถึง 13,764 ล้านบาท กระจายสู่ร้ายหาบเร่แผงลอยได้กว่า 650,000 แสนร้าน และรอบ 3 ก็ปิดดีลได้อย่างว่อง

.

อันที่จริง หากมองข้ามเรื่องการเมือง แล้วมาคุยเรื่องเบาๆ (เบาชิบหาย) ในเชิงเศรษฐศาสตร์

.

สิ่งที่พอสะเดาะให้เข้ากับกลยุทธ์ของโครงการคนละครึ่งนี้ มีความเกี่ยวเนื่องกับทฤษฎีปริมาณทางการเงินอย่างน่าสนใจ

.

โดยทฤษฎีดังกล่าว ถูกย่อยลงมาบนสมการหนึ่งที่เรียกว่า ‘MV = PY’

.

‘MV = PY’ คืออะไร? ไม่ต้องถาม เดี๋ยวจะบอกง่ายๆ เลย เพราะตอนแรกคนเขียนก็งง!! บนความรู้น้อยทางเศรษฐศาสตร์

.

อธิบายตามหลักการ ก็คือ สมการของการแลกเปลี่ยน

M = Money supply ปริมาณเงิน

V = Transaction velocity of money เงินมีการเปลี่ยนมือเร็วแค่ไหน

P = Price level ดัชนีราคาของสินค้าที่ซื้อขาย

Y = Real GDP ระดับผลผลิตที่แท้จริง

.

เป้าหมายของนโยบาย คือ V (Velocity) หรือต้องการให้ ‘เงินมีการเปลี่ยนมือเร็ว’ เพราะถ้า V เยอะจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวสูง จากเงินที่หมุนเป็นเฟืองต่อเฟือง

.

นั่นคือหลักเศรษฐศาสตร์!! ทีนี้มาลองนึกภาพตามแบบภาษาคนกันดูบ้าง

.

มีนักเศรษฐศาสตร์เปรียบเทียบให้เห็นนโยบายแบบ ‘คนละครึ่ง’ ว่าเหมือนกับเรามีถาดหมุนลูกบอลล็อตเตอรี่สักอัน

.

จากนั้นก็หยอดเหรียญเข้าไป 10 เหรียญ

.

ถ้าหมุน 10 รอบแบบเร็วๆ เราจะเห็นเหรียญที่หมุน ดูเยอะขึ้นๆ กว่า 10 เหรียญ

.

ทั้งๆ ที่เหรียญมีเพียง 10 เหรียญ แต่ทำไมแค่หมุนรอบ ทำให้เรามองเห็นว่าเงินมันดูเยอะขึ้น นั่นก็เพราะ ‘การหมุน’ ในเชิงเศรษฐศาสตร์ คือ การที่เงินจากกระเป๋าหนึ่ง โยกไปหาอีกกระเป๋าหนึ่ง

.

มีตัวอย่างหนึ่งที่พอจะขยายภาพของการทำ V ที่รัฐบาลต้องการให้เกิดเป็นผลลัพธ์ต่อนโยบายที่โยนออกไป นั่นก็คือ

.

...สมมุติแบงค์ชาติมีการพิมพ์ธนบัตร 100 บาทออกมา 1 ใบ

.

แล้วธนบัตรใบนั้น ได้เริ่มต้นไปอยู่ในมือของนาย A

.

Part 1

นาย A ยังไม่คิดจะใช้เงิน จึงเก็บเงินไว้ในกระเป๋าตัวเอง 10 บาท และเอาไปฝากธนาคารจำนวน 90 บาท

.

นาย B ไม่มีเงินแต่ต้องการใช้เงิน จึงไปยืมจากธนาคารที่นาย A ไปฝากมาจำนวน 90 บาท

.

จากนั้นนาย B เอาเงินไปซื้อของกับ นาย C ทำให้เงินจำนวน 90 บาทไปอยู่ที่นาย C

...เท่ากับขั้นตอนนี้มีการซื้อขายเกิดขึ้น คิดเป็น GDP = 90 บาท

.

Part 2

คราวนี้ลูปจะวันกลับมาใหม่!!

โดยเริ่มที่นาย C มีเงินอยู่ 90 บาท แต่เขายังไม่คิดจะใช้เงิน จึงเก็บเงินไว้ในกระเป๋าตัวเอง 10 บาท และเอาไปฝากธนาคาร 80 บาท (เหมือนกับนาย A)

.

นาย D ไม่มีเงิน แต่ต้องการใช้เงิน จึงไปยืมเงินจากธนาคารที่นาย C ไปฝากมาจำนวน 80 บาท

.

จากนั้นนาย D ก็ไปซื้อของกับ นาย E ทำให้เงินจำนวน 80 บาทไปอยู่ที่นาย E

...เท่ากับขั้นตอนนี้มีการซื้อขายเกิดขึ้น คิดเป็น GDP = 80 บาท

.

เมื่อนับไทม์ไลน์ตั้งแต่จุดเริ่มต้นจากแบงก์ชาติที่ให้เงินนาย A มา จนถึง GDP ของ Part1 ที่ 90 บาท + GDP ของ Part2 ที่ 80 บาท ได้ทำให้เกิด GDP รวมจาก ‘การหมุน’ ของเงิน 100 บาท เป็น 170 บาท

.

ทีนี้พอมาเทียบกับโครงการคนละครึ่งแล้ว เลยกลายเป็นว่าการใส่เงินเข้ามาในระบบเศรษฐกิจของรัฐ มีส่วนช่วยอย่างมากให้เหรียญแค่ 10 เหรียญถูกแกว่งจนกลายเป็นภาพเหรียญที่มากกว่า 10 จากการซื้อ ยืม และเก็บวนไปเรื่อยๆ

.

โดยการหมุนตรงนี้ มีดีที่โฟกัสไปยังการหมุนวนเม็ดเงินกันระหว่างกลุ่มประชาชนฐานรากและฐานกลาง ที่ไม่เอื้อต่อฐานใหญ่ ซึ่งทำให้เม็ดเงินอุดเป็นคอขวด

.

นี่จึงเป็นอีกสูตรการกระตุ้น GDP ที่ควรทำในจังหวะที่ ‘กำลังซื้อ’ ของประชาชน ‘ชะลอตัว’ คนไม่มีเงิน ก็กล้าใช้เงิน เพราะมีรัฐช่วยค่าใช้จ่ายให้ครึ่งหนึ่ง

.

ขณะเดียวกันคนที่มีเงินอยู่แล้ว ก็อยากดึงเงินออกมาใช้ให้มากกว่าเดิม เช่น เคยซื้อสินค้า 1 ชิ้น ในราคา 300 บาท แต่โครงการคนละครึ่ง ทำให้เสียแค่ 150 บาท จึงรู้สึกว่าการนำเงินส่วนต่างอีก 150 บาทไปใช้ต่อ ก็ไม่ได้เสียหายอะไร เป็นจิตวิทยาเพิ่มความกล้าในการใช้จ่ายเงินโดยไม่รู้ตัว

.

แต่กว่าจะมาถึงสูตรนี้ได้ อยากรู้นักว่าก่อนหน้านี้ ปล่อยให้ใครชี้เป้าเศรษฐศาสตร์ จนเศรษฐกิจแป้กไม่เลิก…

.

อ้างอิง: https://www.asquareschool.com/2015/08/02/mv-py/

เขาว่า 'คนไทย' มีเงินใช้แบบ 'เดือนชนเดือน'

ใครว่า ก็ไม่รู้แหละ!!

แต่จากผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง 'สถานการณ์ทางการเงินของคนไทย ในปี 2563' โดยกรุงเทพโพลล์ ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ พบว่า...

กว่าครึ่งหนึ่งของไทยตอนนี้ ไม่มีเงินออม ต้องใช้จ่ายแบบเดือนชนเดือน เหตุเพราะสินค้ามีราคาแพงขึ้น บวกภาระหนี้สินสะสม


ที่มา: กรุงเทพโพลล์ โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ

ผลตรวจของคุณเป็น 'บวก' เช็คสุขภาพอสังหาฯ ไทยโค้งสุดท้าย 2020

ถ้าจะบอกว่าปีนี้ตลาดอสังหาริมทรัพย์เหนื่อยแค่ไหน ก็คงต้องบอกว่าเหนื่อยมาก ยิ่งไปในช่วงคาบเกี่ยวของไตรมาส 2 และ 3 ที่เจอกับพิษโควิด-19 แบบจุก ๆ เข้าไป ทำให้หลาย ๆ บริษัทต้องงัดกลยุทธ์เพื่อประคองตัวแบบเต็มเหนี่ยว ทั้งโปรโมชันลดแหลกในหลาย ๆ โครงการ

แต่ในช่วงเวลาที่เหน็ดเหนื่อย ก็ยังมีแบรนด์อสังหาฯ ที่สร้างผลบวกให้กับธุรกิจได้อยู่พอสมควรมาดูกันว่ารายได้อสังหาฯ เจ้าไหนในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมาอยู่ที่เท่าไร แล้วใครที่ยังทำตัวเลข 'บวก' ได้บ้าง


ที่มา: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

"ชื่อฉัน" นั้นไพเราะที่สุด เรื่องเล็ก ๆ ที่ Starbucks "เสก" ให้เป็นเรื่องใหญ่ได้

เคยแอบสงสัยเล็ก ๆ เวลาไปสั่งกาแฟที่ร้าน Starbucks กันหรือไม่ว่า...ทำไมพนักงาน Starbucks จึงต้องถามชื่อเราว่าชื่ออะไรคะ? ชื่ออะไรครับ? แล้วก็จรดชื่อไว้บนแก้วกาแฟที่สั่ง

ถ้าคิดแบบคนยุคใหม่ ความคิดลึกซึ้ง และลึกล้ำ..."นี่ฉันกำลังจะได้โปรโมชั่น หรือฉันกำลังถูกเก็บข้อมูลป่ะ?"

จริง ๆ ไม่ได้มีอะไรซับซ้อนหรอก พนักงานก็คงแค่ตั้งใจเขียนชื่อลูกค้าบนแก้วเพื่อจัดการออเดอร์จำนวนมากให้เป็นระเบียบเท่านั้น

เพียงแต่ในเชิงของธุรกิจ เรื่องเล็ก ๆ ของชื่อบนแก้ว Starbucks นั้น มีนัยยะบางอย่างที่สะท้อนการต่อยอดให้เกิดความผูกพันต่อแบรนด์ Starbucks กับผู้คน จนกลายเป็น "เรื่องใหญ่" ที่น่าศึกษาอยู่ไม่น้อย

นัยยะแรก!! ลูกค้าโปรโมท Starbucks ให้ฟรีๆ

ก่อนหน้านี้ถ้าจำกันได้จะมีเหตุการณ์แบบว่า ลูกค้าหลายรายชอบการเห็นชื่อตัวเองบนแก้ว Starbucks แล้วก็ตัดสินใจถ่ายรูปลงโพสต์ในโซเชี่ยลมีเดียไปอวดเพื่อน ๆ

บางคนถึงกับเล่นตลก แกล้งบอกชื่อปลอมกับพนักงาน เพื่อให้เขียนเป็นชื่อดารา คนดัง คนสวย คนหล่อ และอื่นๆ แล้วตัวเองก็เอาไปโพสต์ ให้เกิดเป็นบทสนทนาสนุกๆ ในโลกออนไลน์

ขณะเดียวกัน ในบางครั้งการที่พนักงานเขียนชื่อลูกค้าผิด ซึ่งมีอยู่บ่อยครั้งในต่างประเทศ เช่น จาก Jessica เป็น Gezzika จาก John เป็น Gaun นั้น ทาง Starbucks ก็เคยแอบคิดว่าลูกค้าต้องโกรธแน่ ๆ

แต่ในความเป็นจริง ลูกค้ากลับชอบและยิ่งโพสต์ชื่อแปลกๆ ของตัวเองลงโซเชียลกันมากกว่าเดิม สรุปนอกจากจะไม่โกรธแล้ว พวกเขายังมองว่านี่เป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของประสบการณ์ที่ร้าน Starbucks อีกด้วย

ฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการโพสต์รูปแก้ว Starbucks ที่มีชื่อตัวเองลงไปสารพัดแบบในโลกออนไลน์นั้น ถือเป็นการกระจายความรับรู้แบรนด์ Starbucks ในยุคที่ร้านกาแฟแข่งเดือดได้อย่างมาก เรียกได้ว่า Starbucks ไม่ต้องทุ่มงบโฆษณาสักบาท ก็มีคนมาช่วยโปรโมทแบรนด์กาแฟของพวกเขาให้ฟรี ๆ

นัยยะที่สอง!! ความภูมิใจที่ฉันคือเจ้าของเพียงหนึ่งเดียว

อีกเรื่องที่น่าสนใจมาก คือ การเขียนชื่อลูกค้าลงบนแก้ว ค่อย ๆ พัฒนาความรู้สึกให้ลูกค้าคิดว่า แก้วกาแฟของฉันนั้น "น่าอวด" 

เพราะเดิมคุณค่าของแบรนด์ Starbucks นั้นก็สูงอยู่แล้ว จากราคาต่อแก้วที่สูงกว่าท้องตลาดทั่วไป (เดี๋ยวนี้เริ่มมีกาแฟราคาใกล้เคียงเยอะขึ้น) ทำให้การดื่ม Starbucks หรือควงแก้ว Starbucks ไปไหนต่อไป ก็ได้อารมณ์ยังกะหิ้วหลุยส์หรือชาแนล

ยิ่งมีชื่อตัวเองลงไปบนแก้ว Starbucks ยิ่งทำให้รู้สึกว่า "แก้วนี้ทำมาเพื่อฉันคนเดียวในโลก" ซึ่งไอ้ความรู้สึกเหล่านี้ มันสำคัญมากกว่าราคาหลักร้อยต่อแก้วที่ต้องจ่าย เพราะสิ่งที่ลูกค้าจ่ายมันได้รสนิยมที่ใครก็เลียนแบบไม่ได้พ่วงกลับมา จนลูกค้าเก่าต้องกลับมาซื้อซ้ำ ส่วนลูกค้าใหม่ก็อยากลองสัมผัสประสบการณ์นี้

นัยยะสุดท้าย!! สายใยที่เกิดขึ้นจากคนแปลกหน้า

เป็นเรื่องปกติที่ทุก ๆ ร้านกาแฟ มักจะมีการถามว่า "เอาหวานน้อย หวานปกติ รับแก้วไซส์ไหน ใส่วิปครีมไหมคะ"

แต่การเขียนชื่อลงไปบนแก้วนั้น จะทำให้พนักงาน Starbucks จำชื่อลูกค้าที่เข้าร้านเป็นประจำได้ ทำให้ครั้งต่อไปสามารถทักทายลูกค้าด้วยชื่อโดยไม่ต้องถามได้อีกด้วย

และยิ่งไปกว่านั้น ตามหลักจิตวิทยาแล้ว การเรียกชื่อใครได้แบบคุ้นเคย ยังถือเป็นการทำลายกำแพงของความแปลกหน้า ที่สามารถเปลี่ยนคนไม่คุ้นตามาเป็นคนคุ้นเคยแบบคนในครอบครัว Starbucks ได้ง่ายกว่าเดิม

เหล่านี้คือเรื่องเล็กๆ ที่เริ่มจากการเขียนชื่อลูกค้าลงบนแก้วกาแฟ Starbucks ที่ค่อย ๆ พัฒนาจนกลายเป็น "ประสบการณ์สไตล์ Starbucks" ที่ยากจะหาใครเลียนแบบ

ความรู้สึกนี้มันช่างหอมหวานมิได้ด้อยกว่ารสชาติกาแฟเลยจริงๆ 

ก็อย่างว่า "ชื่อของเรา" มันช่างไพเราะสุด ๆ @Starbucks นินา!!

วิเคราะห์ราคา "ทองคำ" 64 โอกาสพุ่งยังมี!! แม้เลวร้ายสุด ก็ไม่หลุด 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์

แม้ว่าสัปดาห์ก่อน ราคาทองคำ มีการปรับลดลงค่อนข้างมากจนหลุด 1,800 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ ทำให้นักลงทุนกังวลว่าราคาทองคำอาจจะเป็นช่วงขาลงแล้ว

แต่จากราคาทองคำล่าสุดได้ดีดกลับขึ้นมายืนเหนือ 1,800 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ได้อีกครั้ง ซึ่งหากมองในแง่เทคนิค แสดงให้เห็นว่า ราคาทองคำยังไม่ถึงกับเป็นช่วงขาลง เพราะเมื่อราคาลงไปแตะ 1,764 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ก็มีแรงซื้อกลับมา ส่วนถ้าจะมองเป็นขาลงนั้น ราคาจะต้องปรับลดลงไปถึง 1,600 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์

สถานการณ์ราคาทองคำดังกล่าว สอดคล้องกับมุมมองของ ฐิภา นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG) ที่ประเมินว่า แนวโน้มราคาทองคำในระยะยาวยังเป็นขาขึ้น แม้ว่าระยะสั้นจะยังแกว่งตัวผันผวน

เพราะเชื่อว่ายังมีโอกาสได้เห็นราคาขึ้นไปแตะ 1,900 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ ภายในสิ้นปีนี้ ถึงแม้ว่าช่วงนี้ราคาทองคำจะปรับลดลงมาจากจุดสูงสุดของปีนี้ที่ทำไว้ที่ 2,075 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ก็ตาม แต่ก็ยังนับว่าเป็นช่วงขาขึ้นของทองคำอย่างน้อยอีก 1-2 ปี

สำหรับปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ราคาทองคำเป็นขาขึ้น มาจากนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ของหลาย ๆ ประเทศ ที่จะอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ และจะทำให้มีเม็ดเงินไหลเข้าตลาดทองคำจำนวนมหาศาล แม้จะมีวัคซีนออกมาใช้แต่กว่าทุกอย่างจะกลับมาปกติยังต้องใช้ระยะเวลา 1 - 2 ปี

ดังนั้น แต่ละประเทศยังต้องดำเนินนโยบายทั้งการเงินและการคลังเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเงินอัดฉีด ซึ่งทุกครั้งที่ทำจะมีเงินไหลเข้ามาตลาดทองคำดังเช่นในอดีตเมื่อปี 2554 ที่มีการทำ QE จนพบว่าราคาทองคำขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ 1,920 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ จากนั้นจึงค่อยๆ ปรับลดลง หลังจากหยุดทำ QE ในปี 2556

อย่างไรก็ตาม ในกรณีเลวร้าย หากในอนาคตราคาทองคำมีการปรับเป็นขาลง ก็จะปรับลดลงไม่ต่ำกว่า 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ สาเหตุที่ราคาทองคำจะไม่ปรับลงไปกว่านี้ เพราะเหมืองทองคำจะมีต้นทุนหน้าเหมืองโดยประมาณอยู่ที่ระดับดังกล่าวนั่นเอง

ไม่ผิดคาด!! ก๊วนเนชั่นพลัดถิ่น จ่อชิดรั้ว "NEW18" หลังสะพัด "สนธิญาณ" ปิดดีล 800 ล้าน คว้าดิจิทัลทีวีบ้าน "เหตระกูล" ไปครอง

ข่าวที่มั่นอันลงตัวใหม่ของ สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม ผู้ก่อตั้งสถาบันทิศทางไทย เริ่มสะพัดหนาหูขึ้นเรื่อยๆ และเหมือนจะไปจบลงที่ช่อง "NEW18"

ก่อนหน้านี้ สนธิญาณ ได้มีภาพร่วมเฟรมกับอดีตผู้ประกาศข่าวเนชั่นทีวี เช่น น.ส.อัญชะลี ไพรีรัก, นายสันติสุข มะโรงศรี, นายกนก รัตน์วงศ์สกุล, นายธีระ ธัญไพบูลย์, นายวรเทพ สุวัฒนพิมพ์, นายสถาพร เกื้อสกุล และ น.ส.อุบลรัตน์ เถาว์น้อย ที่มีการคาดเดาไปกันว่าจะใช้เพื่อโปรโมตรายการใหม่

โดยอดีตก๊วนเนชั่นทุกคนได้รับคำยืนยันจาก สนธิญาณ ว่า ตอนนี้ได้ช่องรายการที่จะไปผลิตรายการแล้วเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่ามกลางความตื่นเต้นของแฟนคลับหลายคน

ทั้งนี้ได้มีแรงยันจากโพสต์ข้อความของ เสริมสุข กษิติประดิษฐ์ หรือ ‘เป๊ปซี่’ หัวหน้ากองบรรณาธิการข่าวสถานีโทรทัศน์นิวทีวี ด้วยว่า สนธิญาณ เตรียมแถลงข่าวประกาศเป็นทางการ ช่วงกลางเดือนธันวาคมนี้ โดยคาดว่าทีมนายสนธิญาณจะมาเริ่มงานกับช่อง NEW18 ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนธันวาคม

อย่างไรก็ตาม ก็มีการสืบถึงความเป็นไปได้ของช่อง สนธิญาณ และก๊วนเนชั่นมือเก๋า กับ NEW18 หลังสื่อออนไลน์ที่ชื่อ The Key News ได้รายงานว่า...

บริษัท ดีเอ็น บรอดคาสท์ จำกัด เจ้าของคลื่น NEW18 เผยถึง ผู้บริหารของบริษัทฯ ที่มีการเจรจาตกลงที่จะขายสัมปทานช่อง NEW18 ที่จะเหลือเวลาสัมปทานอีกประมาณ 8 ปี ให้กับกลุ่มของ สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

โดยการเจรจาที่ผ่านมา หารือกันประมาณ 5 รอบ ในห้วงเวลา 3 สัปดาห์ มีคนกลางที่เป็นผู้เจรจาคือ นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ ได้เรียกคุณแดง - ประภา เหตระกูล มาหารือโดยตรงกับนายสนธิญาณ เพื่อหาข้อยุติ

เนื่องจากกลุ่มนายสนธิญาณ ได้นำใบเซ็นสั่งซื้อโฆษณาระยะยาวจากบริษัทที่มีชื่อเสียงประมาณ 6 - 7 บริษัท ซึ่งเป็นการการันตีว่า มีรายได้โฆษณาแน่นอน โดยจบที่ตัวเลข 800 กว่าล้านบาท และระหว่างนี้อยู่ในขั้นตอนการโอนที่ดิน โอนตึก โอนเครื่องมือ เปลี่ยนแปลงชื่อบริษัทฯ ใหม่

สำหรับบุคลากร ทราบมาว่า ทีมของนายสนธิญาณจะคัดเลือกบุคลากรบางคนมาร่วมงาน อย่างนายเสริมสุข กษิติประดิษฐ์ หรือ เป๊ปซี่ ก็จะได้ไปจัดรายการใหม่กับทีมนายสนธิญาณ ส่วนคนอื่นๆ ยังไม่ทราบแน่ชัด ก็คงต้องมีการเจรจากันต่อไป

ทั้งนี้มีรายงานว่า นายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม ได้รับการสนับสนุนด้านโฆษณาจาก 7 บริษัท เป็นที่เรียบร้อยแล้ว มูลค่าหลายร้อยล้านบาท โดยผู้ให้การสนับสนุนโฆษณาเหล่านี้ไม่กลัวเรื่องการถูกแบนโฆษณา และวางแผนการลงโฆษณาระยะยาว ซึ่งนายสนธิญาณ จะเปิดแถลงข่าวเป็นทางการในวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ.2563 นี้ เวลา 15.00 น. ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล และจะออนแอร์อย่างเป็นทางการในวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2563 เวลา 15.00 น. โดย 2 ชั่วโมงแรกจะเป็นรายการพิเศษ จากนั้นหลัง 17.00 น. เป็นต้นไป จะเข้าสู่ผังรายการปกติ

...บิ๊กเซอร์ไพรซ์จากผู้อาศัยเป็นเจ้าของช่อง!!

สำหรับการเข้ามาสู่ช่องใหม่ของทีมสนธิญาณนั้น มีข่าวมาได้ระยะหนึ่งกับการปักหมุดลงช่อง NEW18 แต่ก็ไม่ถึงขั้นมีมูลข่าวว่าจะทำการซื้อขายช่อง NEW18 ให้ปรากฏชัดนัก

อย่างไรก็ตาม หากมองดูจากผลประกอบการและการขาดทุนสะสมของช่อง NEW18 ดีลนี้ก็ค่อนข้างจะดูสมเหตุสมผล

นั่นก็เพราะ ดีเอ็น บรอดคาสท์ จำกัด หรือช่อง NEW18 ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มของตระกูล "เหตระกูล" เจ้าของหนังสือพิมพ์เดลินิวส์นั้น มีตัวเลขขาดทุนสะสมถึงปัจจุบันอยู่ที่ 2,934.01 ล้านบาท จัดอยู่ในกลุ่มช่องทีวีดิจิทัลที่ขาดทุนมากที่สุดช่องหนึ่ง

.

โดยตัวเลขรายได้ของ NEW18 จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

  • พ.ศ.2557 รายได้ 14.20 ล้านบาท
  • พ.ศ.2558 รายได้ 75.21 ล้านบาท
  • พ.ศ.2559 รายได้ 84.25 ล้านบาท
  • พ.ศ.2560 รายได้ 124.30 ล้านบาท
  • พ.ศ.2561 รายได้ 117.63 ล้านบาท
  • พ.ศ.2562 รายได้ 124.20 ล้านบาท

.

หากดูจากจุดนี้ ก็เหมือนว่าทางช่อง NEW18 ก็มีรายได้เพิ่มขึ้น แต่เป็นการเพิ่มขึ้นจากรายได้โฆษณาที่ยังน้อยนิด เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายและต้นทุนในการทำสถานีแต่ละปี แม้ระยะหลังจะมีแผนการควบคุมค่าใช้จ่ายและต้นทุนได้ดีขึ้นมากก็ตาม

นอกจากนี้แผนการปรับรูปแบบรายการอย่างต่อเนื่อง ก็ต้องมาเผชิญกับช่วงโควิด-19, การแข่งขันของวงการสื่อที่รุนแรง และพิษเศรษฐกิจต่อเนื่อง จึงอาจจะเป็นการถอยให้ผู้ที่พร้อมกว่ามาปิดดีลนี้ ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเป็นทางออกในระยะยาวของกลุ่มเหตระกูล

ฉะนั้นการเข้ามาของกลุ่ม นายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม ที่เชื่อว่าจะมาพร้อมกับแนวข่าวการเมืองเข้มจัดและฐานแฟนคลับที่ชัด น่าจะทำให้ NEW18 มีโอกาสสร้างผลประกอบการในรูปแบบกำไรได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งเจ้าหนี้อย่าง "แบงก์กรุงเทพ" จึงพร้อมเซย์เยส!!

 

4 ปัจจัยที่แท้ทรู!! มุมมองใหม่ "คนรวย" ยุค 2021 เมื่อ "คนมีทรัพย์" จะไม่ใช่คนที่มีเงินสดเยอะอีกต่อไป

ในอดีตการออมหรือการเอาเงินไปฝากธนาคาร เพื่อให้เงินในบัญชีมีมากๆ พอมีมากๆ ก็เท่ากับมีเงินสดเยอะ พอมีเงินสดเยอะ ใคร ๆ ก็บอกว่า "รวย"

แต่ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คนที่เงินเยอะ อาจจะไม่ถูกเรียกว่าคนรวยอีกต่อไปก็ได้

ลองย้อนไปมองดูปรากฏการณ์ที่ตลาดหุ้นขึ้นทำจุดสูงสุดไปเรื่อย ๆ ทั้งที่โควิดก็ยังอยู่ แม้เศรษฐกิจตกต่ำก็ยังไม่ลดลงแบบบ้าคลั่งตามสถานการณ์ที่ร้ายแรง

เหตุผลของเรื่องนี้เป็นเพราะระบบการเงินในโลกหลาย ๆ ส่วนเริ่ม "รวน"

ฉะนั้นการมองว่า "เงิน" คือสินทรัพย์ที่ต้องเกาะเอาไว้กับตัวแล้ว "มั่งคั่ง - ร่ำรวย" อาจจะไม่ใช่คำตอบที่ถูกทั้งหมดอีกต่อไป

แล้วสินทรัพย์แบบไหนถึงจะตอบโจทย์ ความปลอดภัยและยกระดับให้เกิดความมั่งคั่ง จนถึงขั้นเรียกว่า "รวย" สไตล์ใหม่ได้บ้าง?

มีอยู่ 4 ปัจจัยง่าย ๆ แต่ไม่รู้ทำได้ง่ายไหมมาแนะนำ!!

ปัจจัยแรก "จับสินทรัพย์ถูกตัว"

สังเกตได้จาก "การพิมพ์เงิน" อย่างบ้าคลั่งของรัฐบาลโลก ส่งผลให้ "เงินลดมูลค่า" ของตัวเองลง แต่สิ่งที่ตามมา คือ สินทรัพย์ต่าง ๆ ราคาขึ้น หมายความว่า คนที่จะรวยมหาศาลในยุคนี้ ก็คือ คนที่จับสินทรัพย์ถูกตัว ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน หุ้น หรือแม้แต่เงินดิจิทัล และ กล้าที่จะถือผ่านความผันผวนของราคา ที่เรียกว่า "อดทนรวย" นั่นแหละ

ปัจจัยที่ 2 คือ "หาเงินเก่ง ไม่สำคัญเท่าลงทุนเป็น"

เพราะภาวะเศรษฐกิจแบบปัจจุบัน ส่งผลให้หาเงินยาก คู่แข่งเยอะ แต่ในด้านการลงทุน ถ้าถูกตัว ถูกจังหวะ มันจะเติบโตแบบไม่คิดชีวิต "ขึ้นแหลก!!" เห็นได้จากปรากฏการณ์หุ้น Tesla ที่ทำให้ Elon Musk ก้าวขึ้นมาเป็นเศรษฐีอันดับต้น ๆ ของโลก ทั้งที่ธุรกิจยังไม่ได้ทำเงินมหาศาลเลย

ปัจจัยที่ 3 "สินทรัพย์เสี่ยง น่าลงทุนกว่าสินทรัพย์ไม่เสี่ยง"

ในเมื่อคนส่วนใหญ่ วิ่งหาความชัวร์ ความมั่นคง ในยุคเศรษฐกิจย่ำแย่ สินทรัพย์ไม่เสี่ยง จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนแย่งกันซื้อ จนราคาแพง บางครั้งแทบไม่คุ้มที่จะซื้อด้วยซ้ำ ตรงข้ามกัน สินทรัพย์เสี่ยงบางอย่าง กลับถูกเกินความจริง และ สามารถสร้างเศรษฐีได้ในอนาคต

ปัจจัยที่ 4 "ตลาดทุนและการระดมทุน เปิดกว้างและหลากหลายขึ้น"

เป็นโอกาสการสร้างตัวแบบก้าวกระโดดในยุคนี้ การทำธุรกิจเพื่อหาเงินอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ เพราะยุคนี้ การทำธุรกิจเพื่อเข้าตลาดหุ้น สามารถระดมเงินได้มากกว่า โตได้เร็วกว่า ใช้เงินตัวเองน้อยกว่า และ โตได้ไกลกว่า

ที่ว่ามานี้ น่าจะพอให้เห็นภาพว่ากระแสเงินสด อาจจะไม่ได้สรุปถึงคนรวยอีกต่อไป แต่คนรวยในยุคต่อไป อาจจะเป็นคนที่มีสินทรัพย์แห่งอนาคต ที่ผ่านการซื้อสะสมแบบต่อเนื่อง

ในวันที่มูลค่าเงินสดมีแต่ลดลง หากเลือกสินทรัพย์ที่ให้โอกาส เช่น ที่ดิน หุ้น สินทรัพย์แห่งอนาคต เช่น เงินดิจิทัล...เราจะได้อิสรภาพทางการเงินแถมไปด้วย


ที่มา: Pawawit Stock Comment

ที่มาภาพ: https://www.mic.com/articles/180662/smart-things-to-buy-as-an-investment-in-your-future-from-bitcoin-ether-litecoin-and-stocks-to-bonds-and-more

รู้ไหม Apple จะไม่ได้มีขายแค่สมาร์ทโฟนอีกต่อไป นั่นก็เพราะภายใต้โครงการที่ชื่อว่า Project Titan ซึ่งถูกพัฒนามาตั้งแต่ปี 2014 ได้วางแผนที่จะสร้าง Apple Car อย่างจริงจัง

โดยรายงานจาก Reuters ได้เผยว่า Apple กำลังกลับมาจริงจังกับโครงการนี้ และตั้งเป้าว่าจะผลิตรถยนต์ Apple Car ให้ได้ภายในปี 2024 

สำหรับเป้าหมายของการผลิตรถยนต์ Apple Car คือ มุ่งสู่ตลาดรถยนต์ส่วนบุคคล ไม่ใช่ตลาดขนส่งมวลชน หรือสาธารณะ เหมือนกับคู่แข่ง เช่น บริษัท Waymo ของ Alphabet (Google) ซึ่งต้องการสร้างแท็กซี่ ที่ให้บริการแบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ หรือไร้คนขับ

จุดเด่นหลัก ๆ ของ Apple Car คือเรื่องของ เทคโนโลยีแบตเตอรี่ โดยแบตเตอรี่ได้ถูกออกแบบและพัฒนาใหม่ทั้งหมด และจะทำให้รถยนต์สามารถวิ่งได้ในระยะทางที่ไกลกว่าตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่มีอยู่ให้ได้
 
นั่นจึงทำให้ Apple พยายามตรวจสอบหาแนวทางในการใช้ แบตเตอรี่ลิเธียม ไอออน ฟอสเฟต (LFP) ที่ทำให้เกิดความร้อนน้อยกว่า และปลอดภัยกว่า แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนประเภทอื่นๆ

ทั้งนี้ Apple กำลังพิจารณาเลือกพันธมิตรภายนอก เพื่อมาร่วมสร้างและผลิต Apple Car เช่น ผู้ผลิตเซ็นเซอร์ Lidar ที่ช่วยให้รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติทำงานได้ดีขึ้น โดยสามารถตรวจจับภาพแบบ 3 มิติ ได้รอบคัน

แน่นอนว่าพอมีข่าวนี้ออกมา ราคาหุ้นของผู้ผลิตเซ็นเซอร์ Velodyne Lidar ก็เลยพุ่งขึ้นเกือบ 23% และ Luminar พุ่งขึ้นกว่า 27% หลังจากมีข่าวว่า Apple กำลังมองหาพันธมิตรใหม่ทางด้านนี้

ทั้งนี้ หนึ่งในความท้าทายที่สุดของ Project Titan คือ การผลิตตัวรถยนต์เป็นจำนวนมาก เพราะทาง Apple ไม่เคยมีประสบการณ์ด้านนี้มาก่อน และตอนนี้ยังไม่แน่ชัดว่า ใครจะเป็นพันธมิตรของ Apple ในการทำหน้าที่ประกอบรถยนต์ Apple Car

ก็ต้องนับถอยหลังกันดูว่าในอีกราวไม่เกิน 4 ปี (2024) Apple จะสามารถผลิตรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ ออกสู่ตลาดได้ตามเป้าที่ตั้งไว้หรือไม่ละกัน

 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top