Friday, 3 May 2024
Insight

ปิดฉาก Motor Show 2021 ยอดจองในงานทะลักกว่า 2.7 หมื่นคัน ทะลุเป้าโต 51.5% เงินสะพัด 3 หมื่นล้าน ส่วนยอดเข้าชมกว่า 1.34 ล้านคน

นายจาตุรนต์ โกมลมิศร์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ในฐานะรองประธานจัดงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 42 เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากว่า 42 ปี ที่งานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ได้รับความเชื่อมั่นจากค่ายรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ต่างมั่นใจในศักยภาพของงานว่า มีส่วนช่วยกระตุ้นยอดจำหน่ายในช่วงที่เหลือของปีดังที่ปรากฏมาโดยตลอด และยังเป็นงานที่ผู้บริโภคต่างรอคอย เพราะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะกับการหาซื้อรถยนต์คันใหม่ เนื่องจากจะมีโปรโมชั่นและแคมเปญหลากหลายมากระตุ้นยอดขายในช่วงนี้

โดยที่ผ่านมาต้องเจอผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ยอดจองลดลงจากช่วงปรกติ แต่ด้วยตัวเลขยอดจองในปีนี้ มีการเติบโตขึ้นจากปีก่อนถึง 51.5 เปอร์เซ็นต์ เชื่อว่ากำลังซื้อของคนไทยไม่ได้หายไปไหน แค่รอเวลาที่เหมาะสม โดยเฉพาะเมื่อได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการเงิน ในการออกแคมเปญ และโปรโมชั่นของค่ายรถช่วยให้ทุกคนเป็นเจ้าของรถคันใหม่ได้สะดวกขึ้น

ขณะที่ในส่วนพฤติกรรมของผู้บริโภคเองปีนี้ต่างให้การตอบรับกับรถยนต์รุ่นใหม่ที่เปิดตัวก่อนหน้างาน และเปิดจองภายในงานมอเตอร์โชว์เป็นครั้งแรก เห็นได้จากบรรยากาศการเจรจาที่หนาแน่นดังเช่นทุกปีโดยเฉพาะในช่วงสุดสัปดาห์ที่มียอดจองเป็นสองเท่าของวันธรรมดา แต่ด้วยพฤติกรรมของคนผู้บริโภคเปลี่ยนไป เพื่อให้สมกับช่วงที่ต้องรัดเข้มขัด จึงหันมาซื้อหารถใหม่ที่ตอบโจทย์ความคุ้มค่ามากขึ้น ขณะที่ตลาดรถหรูยังคงเติบโตตามเป้าด้วยสาเหตุที่ค่ายรถเองต่างชิงเปิดตัวสินค้าใหม่แทบทุกรุ่น เพื่อกระตุ้นยอดขาย

ส่วนในด้านเทคโนโลยีปีนี้เป็นปีของยานยนต์ไฟฟ้า ผู้บริโภคต่างให้ความสนใจพร้อมเปิดรับความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเมื่อค่ายรถหันมาทำตลาดรถยนต์ไฮบริด หรือรถปลั๊กอินไฮบริด เพิ่มมากขั้น ส่วนตลาดรถยนต์ไฟฟ้าต่อจากนี้คงต้องจับตาเมื่อมีผู้เล่นหน้าใหม่หันมาชิงตลาดนี้ในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกับแบรนด์ที่เกิดใหม่อย่าง เกรท วอลล์ มอเตอร์ (GWM) ที่เมื่อ 7 ปีที่แล้วเคยเข้ามาร่วมงานกับเราครั้งหนึ่งแล้ว ซึ่งการกลับมาในปีนี้พร้อมนำผลิตใหม่ ๆ เข้ามาสร้างสีสันภายในงาน คงต้องคอยดูว่า ในปีหน้าจะนำนวัตกรรมใหม่ๆอะไรบ้างเข้ามาร่วมงาน เป็นเรื่องที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

ทั้งนี้เหนือสิ่งอื่นใด มาตรการป้องกันการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ทางผู้จัดฯ วางไว้อย่างเข้มข้น ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในความปลอดภัย ทำให้ภาพรวมงานในปีนี้ประสบความสำเร็จด้วยดี เหมือนกับธีมงานมอเตอร์โชว์ วิถีชีวิตใหม่ใจเป็นสุข เนื่องจากการจัดงาน นอกจากเป็นการกระตุ้นอุตสาหกรรมยานยนต์แล้ว ยังส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยเฉพาะในเรื่องของการจ้างงาน เพราะตั้งแต่การก่อสร้างจนลื้อถอน ต้องใช้แรงงานนับ 10,000 คนต่อวัน ทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนตลอดระยะเวลาของการจัดงานกว่า 500 ล้านบาท ซึ่งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมอีกด้วย

สำหรับปริมาณยอดจองรถยนต์ภายในงานมีจำนวนทั้งสิ้น 27,868 คัน คิดเป็นเม็ดเงินกว่า 30,000 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 51.5% จากปีที่ผ่านมา และมีตัวเลขผู้เข้าชมงานสูงถึง 1.34 ล้านคน จากเดิม 1.049 ล้านคน เพิ่มขึ้น 28.6% ซึ่งบริษัทที่ทำยอดจองสูงสุดภายในงานได้แก่ อันดับ 1 โตโยต้า ยอดจองรวม 4,406 คัน,อันดับ 2 มาสด้า ยอดจองรวม 3,454 คัน,อันดับ 3 ฮอนด้า ยอดจองรวม 3,305 คัน,อันดับ 4 อีซูซุ ยอดจองรวม 2,829 คัน,อันดับ 5 ซูซูกิ ยอดจองรวม 2,689 คัน,อันดับ 6 เมอร์เซเดส-เบนซ์ ยอดจองรวม 1,863 คัน,อันดับ 7 เอ็มจี ยอดจองรวม 1,629 คัน,อันดับ 8 มิตซูบิชิ ยอดจองรวม 1,462 คัน,อันดับ 9 ฟอร์ด ยอดจองรวม 1,212 คัน และอันดับ 10 นิสสัน ยอดจองรวม 1,144 คัน

ส่วนแบรนด์รถจักรยานยนต์มียอดจองภายในงานรวมทั้งสิ้น 1,155 คัน ที่ทำยอดจองสูงสุดได้แก่ อันดับ 1 ยามาฮ่า ยอดจองรวม 815 คัน,อันดับ 2 ซูซูกิ 131 คัน,อันดับ 3 ฮาเลย์-เดวิสัน ยอดจองรวม 126 คัน,อันดับ 4 วรูม ผู้จัดจำหน่าย เคทีเอ็ม,บาจาจ และฮัสควาร์น่า ยอดจองรวม 83 คัน สำหรับยอดจองขอรถจักรยานยนต์ฮอนด้านั้น ทางบริษัทของดแจ้งยอด

ธุรกิจท่องเที่ยวรายได้ทรุดหมื่นล้าน จากโควิดรอบใหม่ ชี้ มีโอกาสที่จะใช้ระยะเวลาควบคุมสถานการณ์นานกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ครั้งนี้ จะส่งผลกระทบต่อรายได้ในธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่องที่สูญเสียไปคิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท จากคาดการณ์เดิมในช่วงเดือน มี.ค. 64 ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่จะเกิดการระบาดระลอกที่ 3 ขณะที่ แผนการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยในช่วงนี้ยังมีความเสี่ยงจากสถานการณ์การระบาดของโควิด และมาตรการการควบคุมโรคของแต่ละจังหวัด

ทั้งนี้ยังมองว่า การระบาดของโควิดที่เกิดขึ้น ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 ต่อเนื่องถึงเทศกาลสงกรานต์ ได้ส่งผลกระทบทำให้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 นี้ รายได้ของการท่องเที่ยวในประเทศ หรือไทยเที่ยวไทย ซึ่งน่าจะมีมูลค่าประมาณ 1.37 แสนล้านบาท โดยคิดเป็นรายได้ท่องเที่ยวที่หายไปเป็นมูลค่ากว่า 1.3 แสนล้านบาท

การระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 นี้ มีโอกาสที่จะใช้ระยะเวลานานกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ในการควบคุมสถานการณ์ให้คลี่คลายกลับมา เนื่องจากพบผู้ติดเชื้อในประเทศมีจำนวนค่อนข้างสูง เชื้อโควิดเป็นไวรัสสายพันธุ์ที่แตกต่างจากเดิมที่ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ระบุว่าสามารถแพร่ได้เร็ว อีกทั้งต้นตอของการระบาดมาจากพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจในสัดส่วนสูง ขณะที่ การระบาดรอบนี้ เกิดขึ้นหลังรอบก่อนหน้าภายในระยะเวลาเพียง 3 เดือน จึงส่งผลกระทบต่อตลาดไทยเที่ยวไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 นี้ อย่างยากที่จะหลีกเลี่ยงได้

แห่แก้หนี้บัตรเครดิตกว่า 2 แสนคน!! ธปท.เล็งขยายเวลาแก้หนี้ออกไปถึง 30 มิ.ย. 64 หลังประชาชนตอบรับล้นหลาม พร้อมเตรียมจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ให้ครอบคลุมสินเชื่อเช่าซื้อ คาดเริ่มพฤษภาคมนี้

นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตามที่ ธปท. สำนักงานศาลยุติธรรม และกรมบังคับคดี ได้ร่วมกันจัด “มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล” (หนี้บัตรฯ) โดยเดิมได้กำหนดช่วงเวลาของงานไว้ระหว่างวันที่ 14 กุมภาพันธ์ – 14 เมษายน 2564 ปรากฏว่าผลตอบรับโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก กล่าวคือ มีประชาชนมากกว่า 2 แสนคน ให้ความสนใจและได้ลงทะเบียนเข้าร่วมงานมหกรรมไกล่เกลี่ยครั้งนี้เกือบ 5 แสนบัญชี ทั้งนี้ เมื่อใกล้ครบช่วงเวลาที่กำหนดไว้ มีข้อเรียกร้องจากหลายภาคส่วนให้ขยายระยะเวลาที่จัดงานออกไป

ธปท. ได้หารือเรื่องดังกล่าวกับผู้ให้บริการทางการเงินและผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเห็นร่วมกันที่ให้ขยายระยะเวลาจัดงานออกไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 เพื่อให้ลูกหนี้มีโอกาสเข้ามาไกล่เกลี่ยหนี้ได้มากและกว้างขวางยิ่งขึ้น ธปท. เห็นว่าแม้เครื่องชี้เศรษฐกิจหลายตัวจะมีทิศทางดีขึ้น และเริ่มมีการฉีดวัคซีนแล้ว แต่ความเสี่ยงที่อาจจะมีการระบาดของโควิด 19 ระลอกใหม่ยังมีอยู่ ซึ่งอาจจะกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ รายได้ รวมถึงความสามารถในการชำระหนี้ของประชาชน

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2564 ถึงวันที่ 12 เมษายน 2564 ประชาชนให้ความสนใจเข้ามาลงทะเบียนจำนวน 234,906 คน หรือ 481,936 บัญชี ซึ่งปัจจุบันผู้ให้บริการอยู่ระหว่างเร่งติดต่อ รวมทั้งตรวจสอบสถานะ และทยอยแจ้งผลเข้ามาต่อเนื่อง โดยภาพรวมการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น พบว่า กลุ่มลูกหนี้ที่เข้าเงื่อนไข ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564 มีอยู่จำนวน 110,956 บัญชี (ระหว่างนี้ยอดดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นตามการพิจารณาของผู้ให้บริการที่ทยอยรายงานเข้ามา) โดยลูกหนี้และเจ้าหนี้สามารถตกลงเจรจาไกล่เกลี่ยกันได้ประมาณ 63% ส่วนกรณีที่ยังไม่สามารถหาข้อสรุป บางส่วนอยู่ระหว่างกำลังตรวจสอบเอกสาร และเป็นผลจากลูกหนี้ยื่นขอไกล่เกลี่ยเข้ามาผิดกลุ่ม เช่น สถานะยังผ่อนชำระดี แต่ยื่นขอไกล่เกลี่ยในช่องทางของกลุ่มที่มีคำพิพากษาแล้ว เป็นต้น รวมทั้งบางกรณีลูกหนี้ยังไม่พร้อมที่จะผ่อนชำระตามแผน และบางรายต้องการข้อเสนอที่แตกต่างจากข้อตกลงของงานมหกรรมในครั้งนี้ โดยในช่วงที่ต่อเวลาคาดว่าสัดส่วนที่ทั้งสองฝ่ายจะสามารถไกล่เกลี่ยกันได้จะเพิ่มสูงขึ้น

นางธัญญนิตย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ธปท. ได้รับแจ้งมาว่าประชาชนในหลายกลุ่ม ยังไม่ทราบเกี่ยวกับงานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรในครั้งนี้ จึงต้องการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับงานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรในครั้งนี้ให้ประชาชนทราบมากขึ้นในวงกว้าง เพื่อให้ประชาชนที่มีหนี้บัตรใช้โอกาสที่มีการจัดงานในครั้งนี้แก้ปัญหาหนี้ที่มีอยู่ โดยความพิเศษของงานครั้งนี้ คือ ข้อเสนอการผ่อนชำระหนี้จะมีความผ่อนปรน และอยู่ในวิสัยที่ลูกหนี้จะสามารถปฏิบัติได้ ให้เวลาผ่อนชำระยาวเพียงพอ

นอกจากนี้ งานมหกรรมครั้งนี้จะมีข้อเสนอสำหรับลูกหนี้ทุกกลุ่มสถานะ กล่าวคือ

กลุ่มแรก เป็นหนี้บัตรฯ ที่ยังไม่เป็นหนี้เสียแต่รู้สึกฝืดเคือง หรือหนี้บัตรฯ ดีที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด 19 ท่านสามารถลดภาระดอกเบี้ยได้ โดยหยุดการจ่ายขั้นต่ำ ซึ่งใช้เวลานานกว่าหนี้จะลด และขอเปลี่ยนวงเงินสินเชื่อบัตร มาเป็นสินเชื่อแบบมีกำหนดเวลา ซึ่งจะได้รับดอกเบี้ยถูกลงจาก 16% เหลือ 12% สำหรับบัตรเครดิต โดยสามารถคงวงเงินที่เหลือไว้ใช้ได้ และประวัติเครดิตบูโรจะไม่เสีย

กลุ่มที่สอง เป็นหนี้บัตรฯ ที่เป็นหนี้เสียแล้ว ยังไม่ฟ้อง หรือฟ้องแล้วแต่ยังไม่พิพากษา สามารถผ่อนชำระได้นานสูงสุดถึง 10 ปี ดอกเบี้ยต่ำเพียง 4%-7% ตามเงื่อนไขของคลินิกแก้หนี้

กลุ่มที่สาม เป็นหนี้บัตรฯ เป็นคดีมีคำพิพากษาแล้ว ไปจนถึงบังคับคดียึดทรัพย์แต่ยังไม่ขายทอดตลาด ซึ่งลูกหนี้กลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญ และถือเป็นความพิเศษของงานมหกรรมไกล่เกลี่ยในครั้งนี้ คือ ปกติเมื่อเรื่องดำเนินมาถึงขั้นตอนนี้ เจ้าหนี้มักจะไม่ยินยอมให้ผ่อนยาว แต่ผู้ให้บริการทางการเงินจำนวน 23 แห่งที่ร่วมโครงการ เห็นความจำเป็นที่ต้องผ่อนปรนเงื่อนไขให้ปฏิบัติได้จริง เพื่อช่วยให้ทุกฝ่ายเดินต่อไปได้ โดยเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ในชั้นบังคับคดีเข้ามาปรับโครงสร้างหนี้ร่วมกันได้อีกครั้งหนึ่ง โดยลูกหนี้จะผ่อนชำระเฉพาะเงินต้นนานสูงสุด 5 ปี และยกดอกเบี้ยที่ค้างให้หากลูกหนี้จ่ายชำระตามแผนได้สำเร็จ

ทั้งนี้ สำหรับประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือหรือคำแนะนำเพิ่มเติม สามารถติดต่อศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธปท. โทร 1213 วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 8.30-16.30 น. กรณีนอกเวลาทำการท่านสามารถฝากชื่อและเบอร์โทรศัพท์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรืออีเมล์มาที่ [email protected] เพื่อที่เจ้าหน้าที่ของ ธปท.จะได้ติดต่อกลับไป

นางธัญญนิตย์ กล่าวด้วยว่า ธปท. ได้รับข้อแนะนำจากหลายภาคส่วนให้จัดงานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สำหรับสินเชื่อประเภทอื่นเพิ่มเติม ปัจจุบัน ธปท. อยู่ระหว่างการพิจารณาและหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องที่จะจัดงานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สำหรับสินเชื่อเช่าซื้อเพิ่มเติม ซึ่งอาจจะเริ่มในช่วงเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ โดยเมื่อรายละเอียดต่าง ๆ มีความชัดเจนแล้วจะได้ชี้แจงให้ทราบต่อไป

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดเศรษฐกิจไทยปี 2564 โตลดลงที่ 1.8% หลังเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่

จากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิดระลอกใหม่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองเศรษฐกิจไทยปี 2564 มีแนวโน้มเติบโตลดลงที่ 1.8% จากคาดการณ์เดิมที่ 2.6% โดยมองว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่มีความรุนแรงกว่าในระลอกก่อนหน้านี้ ในขณะที่แม้ว่าจะไม่ได้มีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวด แต่ความกังวลต่อสถานการณ์จะทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คน รวมถึงความเชื่อมั่นที่ลดลงมีผลต่อการบริโภคครัวเรือนให้มีทิศทางต่ำกว่าที่ประเมิน

อย่างไรก็ตาม ประมาณการเศรษฐกิจใหม่ได้รวมปัจจัยบวกจากแนวโน้มการส่งออกที่จะเติบโตดีกว่าที่เคยประเมินไว้จากอานิสงส์ของภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดีกว่าคาด นอกจากนี้ยังได้รวมถึงปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเข้าไปแล้ว โดยมีโครงการที่ยังดำเนินอยู่ เช่น โครงการเราชนะ และโครงการเรารักกัน ขณะที่มีมุมมองว่า ภาครัฐจะมีมาตรการต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศภายใต้วงเงินกู้ 1 ล้านล้าน ซึ่งยังมีวงเงินคงเหลืออยู่ราว 2.4 แสนล้านบาท ประกอบกับยังมีเงินจากงบกลาง ภายใต้ พรบ.งบประมาณปี 2564 ที่สามารถนำมาใช้ได้อีกราว 1.3 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน ยังมีความกังวลถึงการแพร่ระบาดระลอกใหม่ที่อาจส่งผลให้นักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาท่องเที่ยวในไทยมีแนวโน้มที่จะต่ำกว่าคาดการณ์เดิมที่ 2 ล้านคน

ตัวแปรสำคัญคือการเร่งฉีดวัคซีน ซึ่งหากการฉีดวัคซีนมีความล่าช้า ก็มีความเป็นไปได้ที่การแพร่ระบาดจะยืดเยื้อหรืออาจเกิดการแพร่ระบาดอีกระลอก ซึ่งจะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างมาก และทำให้ความหวังของการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวให้ทยอยกลับมาเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอาจต้องล่าช้าออกไป

ทั้งนี้ ในกรณีที่การแพร่ระบาดยืดเยื้อหรือมีการระบาดที่รุนแรงอีกรอบไตรมาส 3/2564 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2564 มีแนวโน้มที่จะไม่เติบโตจากปีก่อนหน้า

นอกจากนี้ การควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดรวมถึงการเร่งปูพรมกระจายวัคซีนเป็นภารกิจเร่งด่วน เนื่องจากระบบสาธารณสุขไทยมีขีดจำกัดในการรองรับผู้ติดเชื้อ หากจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันยังอยู่ในระดับสูงมากกว่าพันคนอย่างต่อเนื่องเป็นเดือน ๆ อาจเกิดภาวะระบบสาธารณสุขล่ม และส่งผลทำให้เศรษฐกิจไทยอาจต้องเผชิญกับต้นทุนแฝง (Hidden cost) ที่อาจประเมินค่าไม่ได้ ซึ่งในปัจจุบันก็เริ่มเห็นหลายโรงพยาบาลเผชิญกับปัญหาเตียงผู้ป่วยเต็ม และขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างเครื่องช่วยหายใจ

ขณะที่ต้นทุนต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนจะเพิ่มขึ้น โดยผู้ป่วยธรรมดาก็ไม่สามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขได้เป็นปกติเหมือนเมื่อก่อน ซึ่งจะส่งผลกระทบทางอ้อมต่อประสิทธิภาพของแรงงานให้ลดลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ความเสียหายที่เกิดขึ้นอาจจะมีมากกว่าการบริโภคที่ลดลงและรายได้จากการท่องเที่ยวที่หายไป


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

.

กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กชี้ความต้องการเหล็กโลกสูงขึ้นสวน “โควิด-19” เหตุจีนฟื้นตัว ทำให้ปริมาณผลิตตามไม่ทัน ส่งผลราคาเหล็กทั่วโลกพุ่ง เชียร์รัฐหนุนใช้สินค้าเหล็ก “Made in Thailand” ช่วยฟื้นเศรษฐกิจ

นายนาวา จันทนสุรคน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ ไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในช่วงต้นปี 2564 นี้ อุตสาหกรรมเหล็กโลกในภาพรวมมีการปรับตัวในทิศทางบวก โดยทั้งโลกมีผลิตเหล็กปริมาณเฉลี่ยกว่า 150 ล้านตันต่อเดือน เพิ่มขึ้น 6.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 โดยทวีปเอเชียมีการผลิตเหล็กเพิ่มขึ้น 10.1% แต่ทวีปอเมริกาเหนือ สหภาพยุโรป มีการผลิตเหล็กถดถอย -7.1% และ -3.7% ตามลำดับ

แม้การผลิตเหล็กของโลกมีปริมาณมากขึ้น แต่ก็ไม่เพียงต่อความต้องการใช้เหล็กที่ปรับตัวขึ้นมากกว่า โดยคาดว่าทั้งปี 2564 ความต้องการใช้เหล็กของโลกจะเพิ่มเป็น 1,874 ล้านตัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีนซึ่งผลิตและใช้เหล็กมากที่สุดราว 55% ของโลก ในปี 2563 จีนต้องนำเข้าสินค้าเหล็กจากประเทศต่าง ๆ มากถึง 18.3 ล้านตัน เพิ่มเป็น 6 เท่าจากปี 2562 โดยสินค้าเหล็กที่จีนนำเข้าสูงสุด 3 ลำดับแรก คือ เหล็กแผ่นรีดร้อน 9.9 ล้านตัน เหล็กแผ่นรีดเย็น 3.8 ล้านตัน เหล็กแผ่นเคลือบ 2.4 ล้านตัน ส่งผลให้สินค้าเหล็กดังกล่าวที่จีนแย่งซื้อในตลาดโลกขาดแคลนและราคาสูงขึ้นมาตลอด โดยในปีนี้จีนยังมีความต้องการใช้เหล็กเพิ่มต่อเนื่อง อย่างไตรมาสแรก เพิ่มขึ้น 52% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และคาดว่าทั้งปี 2564 จะมีความต้องการใช้เหล็กราว 1,025 ล้านตัน

 

จีนฟื้นหนุนตลาดเหล็กคึกคัก

เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน ซึ่งรัฐบาลจีนตั้งเป้าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ปี 2564 เติบโต 6.0% แต่เชื่อว่าเศรษฐกิจของจีนสามารถเติบโตได้ถึง 8.2% - 9.5% เพราะจากข้อมูลดัชนีทางเศรษฐกิจ การลงทุนของจีนช่วงต้นปี 2564 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เติบโตขึ้นอย่างมหาศาล เช่น การลงทุนในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเขตเมืองเติบโต 38.3% การลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเนื่องเติบโต 34.1% การผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้น 89.9% เป็นเฉลี่ยเดือนละ 1.93 ล้านคัน การลงทุนในระบบรางเพิ่มขึ้น 52.9% การลงทุนในระบบถนนเพิ่มขึ้น 30.7% การลงทุนในด้านการบินพลเรือน เพิ่มขึ้น 84.5% เป็นต้น ส่งผลให้จีนผลิตเหล็กไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้

แม้จีนได้เร่งเพิ่มการผลิตเหล็กในช่วงต้นปีนี้ แต่โรงงานเหล็กในจีนจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในนครถังซาน ซึ่งถือเป็นเมืองแห่งอุตสาหกรรมเหล็กที่มีกำลังการผลิตเหล็กดิบมากกว่า 144 ล้านตัน จำเป็นต้องลดการผลิตลงราว 50% ระหว่างช่วงฉุกเฉิน มี.ค.-มิ.ย. และบางโรงงานต้องลดการผลิตไปจนถึงสิ้นปี 2564 ตามมาตรการของรัฐบาลจีนในการควบคุมและลดมลภาวะทางอากาศ ซึ่งจะทำให้ภาวะปริมาณเหล็กไม่พอเพียงต่อความต้องการของจีนทวีความรุนแรง มีแนวโน้มยืดเยื้อไปถึงสิ้นไตรมาสที่ 3 ทำให้ราคาสินค้าเหล็กในทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ เช่น ประเทศจีน ราคาเหล็กแผ่นรีดร้อนเมื่อกลางปี 2563 ต่ำสุดอยู่ที่ตันละ 420 ดอลลาร์ แต่ขณะนี้ราคาเสนอขายสูงขึ้นเป็น 2.2 เท่า ระหว่าง 910-925 ดอลลาร์ต่อตัน หรือในสหรัฐอเมริกา ราคาเหล็กแผ่นรีดร้อนขึ้นสูงสุดในโลกถึงกว่า 1,400 ดอลลาร์ต่อตัน เป็นต้น

นายนาวา กล่าวว่า อุตสาหกรรมเหล็กของประเทศไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดในปี 2563 ซึ่งการบริโภคสินค้าลดเหลือ 16.5 ล้านตัน โดยมีอัตราการบริโภคเหล็กของคนไทย 248 กก.ต่อคนต่อปี ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่ 229 กก.ต่อคนต่อปี แต่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของเอเชียที่ 299 กก.ต่อคนต่อปี โดยรัฐบาลไทยสามารถดูแลปัญหาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ต่ออุตสาหกรรมก่อสร้างได้ดี ประกอบกับอุตสาหกรรมยานยนต์ และอื่น ๆ เริ่มฟื้นตัว

ดังนั้น ปี 2564 ตลาดเหล็กของไทยจึงฟื้นและปรับตัวตามตลาดโลกด้วย คาดว่าปริมาณความต้องการใช้เหล็กของไทยจะเพิ่มขึ้น 5-7% เป็น 17.3-17.7 ล้านตัน ทั้งนี้ การใช้เหล็กภายในประเทศไทยจะเป็นภาคการก่อสร้างมากสุด 57% ตามด้วยอุตสาหกรรมยานยนต์ 22% อุตสาหกรรมเครื่องจักรกล 9% อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า 8% และอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์โลหะ 5%

 

ผู้ผลิตเหล็กไทยชี้รัฐมาถูกทาง

นายนาวา กล่าวว่า กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ส.อ.ท. มั่นใจว่านโยบายที่รัฐบาลได้ขับเคลื่อนมาแล้ว หากสามารถผลักดันให้หน่วยราชการปฏิบัติได้ผลจริงจะส่งผลบวกอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย ได้แก่

1.) การส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์เหล็กที่ผลิตในประเทศที่ได้ขึ้นทะเบียน “Made in Thailand” กับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ตามมติคณะรัฐมนตรี 1 ก.ย.2563 และกฎกระทรวงการคลัง ณ วันที่ 22 ธ.ค.2563 เรื่องกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน พ.ศ.2563 ให้สามารถดำเนินการได้อย่างจริงจัง จากงบประมาณรายจ่ายปีละกว่า 3.3 ล้านล้านบาท สามารถจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่ผลิตในประเทศได้หลายแสนล้านบาท

ทั้งนี้ ผลการศึกษาวิจัยโดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า อุตสาหกรรมเหล็กมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของไทย ทั้งในส่วนของการผลิต มูลค่าจีดีพี มูลค่าและจำนวนการจ้างงาน โดยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ในห่วงโซ่อุปทาน หากส่งเสริมการใช้สินค้าเหล็กที่ผลิตในประเทศไทยมากขึ้นจะช่วยสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนทำให้จีดีพีของประเทศเพิ่มขึ้นได้อีก 0.66% ถึง 0.75% จากการเติบโตปกติ

2.) การออกมาตรการทางกฎหมายการตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้า ซึ่ง พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ ฉบับที่ 2 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ พ.ย. 2562 และใช้เวลาอีกปีกว่าจึงเพิ่งมีประกาศกระทรวงพาณิชย์ และประกาศกรมการค้าต่างประเทศ ตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว เมื่อ มี.ค. 2564 โดยหวังให้กระทรวงพาณิชย์จะสามารถบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว และนำไปปฏิบัติได้ผลอย่างจริงจังและทันต่อเหตุการณ์

และ 3.) ขอให้รัฐบาลพิจารณาขยายผลให้โครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public Private Partnership : PPP) ต่าง ๆ เช่น โครงการรถไฟฟ้า โครงการทางด่วน โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง เป็นต้น ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนรวมกันอีกนับล้านล้านบาท ส่งเสริมการใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศไทยด้วยเช่นกัน เพื่อก่อให้เกิดการจ้างงานและการหมุนเวียนเศรษฐกิจภายในประเทศไทย


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

'ดร.สามารถ' ติงข้อเสนอคมนาคม ชง กทม.เก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว 50 บาท สร้างกำไรถึง 380,200 ล้านบาท ได้จริงหรือ?

'ดร.สามารถ' ติงข้อเสนอคมนาคม ชง กทม.เก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว 50 บาท สร้างกำไรถึง 380,200 ล้านบาท ได้จริงหรือ? พร้อมวิเคราะห์เจาะลึกสูตรคำนวณ พบจากที่มองเห็นเป็นกำไร อาจขาดทุนถึง 7.4 หมื่นล้าน อีกทั้งยังเสี่ยงถูก ‘บีทีเอส’ ฟ้องผิดสัญญา

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ - Dr.Samart Ratchapolsitte ถึงข้อเสนอของกระทรวงคมนาคม ในการกำหนดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวสูงสุด 50 บาท และจะได้กำไรถึง 380,200 ล้านบาท โดยระบุว่า

คมนาคมชงค่าโดยสาร รถไฟฟ้าสายสีเขียว 50 บาท ฟุ้งกำไร 3.8 แสนล้าน! จริงหรือราคาคุย?

เมื่อไม่นานมานี้กระทรวงคมนาคมเสนอแนะค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวสูงสุด 50 บาท คุยว่าจะได้กำไรถึง 380,200 ล้านบาท ถ้าได้กำไรจริงก็น่าสน แต่จะได้กำไรหรือจะขาดทุนต้องอ่านบทความนี้

เป็นข้อเสนอของกระทรวงคมนาคมที่น่าติดตาม โดยอ้างว่าถ้า กทม. จ้างเอกชนให้เดินรถตั้งแต่ปี 2573-2602 เก็บค่าโดยสารสูงสุด 50 บาท ให้ กทม.รับภาระหนี้เองทั้งหมด จะทำให้ กทม. มีกำไรถึง 380,200 ล้านบาท ดีกว่าขยายเวลาสัมปทานให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส เป็นเวลา 30 ปี ตั้งแต่ปี 2573-2602 โดยมีเงื่อนไขให้บีทีเอสเก็บค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 65 บาท และแบ่งรายได้ให้ กทม.ไม่น้อยกว่า 2 แสนล้านบาท

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงวิเคราะห์เจาะลึกถึงวิธีการคิดกำไรของกระทรวงคมนาคม ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้

1.) รายรับ

กระทรวงคมนาคมคิดรายรับได้ 714,000 ล้านบาท ซึ่งคลาดเคลื่อนเพราะไม่ได้คิดรายรับในช่วงปี 2564-2572 ด้วย หากคิด จะได้รายรับประมาณ 1,047,000 ล้านบาท โดยให้ผู้โดยสารเพิ่มปีละ 2% รายรับนี้ได้หักค่าชดเชยกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางรางบีทีเอสโกรท (BTSGIF) ประมาณ 17,000 ล้านบาท ออกไปแล้ว

2.) รายจ่าย

(2.1) หนี้

กระทรวงคมนาคมคิดหนี้ที่ กทม. จะต้องจ่ายถึงปี 2572 ได้ 76,000 ล้านบาท ไม่ได้คิดหนี้ในช่วงปี 2573-2602 และไม่ได้คิดหนี้ครบทุกรายการ ถ้าคิดหนี้ให้ถูกต้องตั้งแต่ปี 2564-2602 จะได้หนี้รวมประมาณ 121,000 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยงานโยธา 90,650 ล้านบาท หนี้เงินต้นและดอกเบี้ยงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล 20,768 ล้านบาท และหนี้ค่าจ้างเดินรถค้างจ่าย 9,602 ล้านบาท

(2.2) ปันผล

กระทรวงคมนาคมเสนอแนะให้จัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานรถไฟฟ้าสายสีเขียว และระดมทุนจากผู้ร่วมลงทุนมาจ่ายหนี้ ผู้ร่วมลงทุนจะได้เงินปันผลปีละ 5% ทุกปี ในช่วงปี 2573-2585 รวมเป็นเงิน 9,800 ล้านบาท แต่ในความเป็นจริงจะไม่สามารถจ่ายเงินปันผลได้ เพราะเป็นกองทุนที่ขาดทุน คงยากที่จะมีผู้สนใจมาร่วมลงทุน จึงไม่สามารถจัดตั้งกองทุนฯ ได้

(2.3) ค่าจ้างเดินรถ

กระทรวงคมนาคมคิดค่าจ้างเดินรถเฉพาะส่วนต่อขยายในช่วงปี 2573-2602 ได้ 248,000 ล้านบาท ซึ่งคลาดเคลื่อนเพราะ

- ไม่ได้คิดค่าจ้างส่วนต่อขยายในช่วงปี 2564-2572

- ไม่ได้คิดค่าจ้างส่วนหลักซึ่งประกอบด้วยช่วงหมอชิต-อ่อนนุช และช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ในช่วงปี 2573-2602

หากคิดให้ครบถ้วน จะได้ค่าจ้างรวมทั้งหมดประมาณ 841,000 ล้านบาท

(2.4) ค่าซ่อมบำรุงรักษาใหญ่

กระทรวงคมนาคมไม่ได้คิดค่าซ่อมบำรุงรักษาใหญ่ในช่วงปี 2573-2602 เช่น ค่าเปลี่ยนขบวนรถไฟฟ้าและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งใช้งานมานานหลายปี หากคิดจะต้องใช้เงินประมาณ 93,000 ล้านบาท

3.) การคิดกำไรหรือขาดทุน

กระทรวงคมนาคมคิดกำไรได้ถึง 380,200 ล้านบาท ซึ่งเป็นวิธีคิดที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากใช้รายรับ (ในข้อ1) ลบด้วยรายจ่าย (ในข้อ2.1-2.4) โดยไม่ได้แปลงให้เป็นมูลค่าในปีปัจจุบัน (Present Value) หรือปี 2564 ก่อน ทำให้ได้ผลลัพธ์ที่มีกำไรถึง 380,200 ล้านบาท ซึ่งไม่ถูกต้อง หากคิดรายรับและรายจ่ายให้ถูกต้อง พร้อมทั้งแปลงให้เป็นมูลค่าในปี 2564 จะพบว่า กทม. จะขาดทุนถึงประมาณ 74,000 ล้านบาท

ดังนั้น หากลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหลือ 25 บาท ตามที่สภาองค์กรของผู้บริโภคเสนอแนะ โดยไม่ได้ระบุว่าเป็นค่าโดยสารราคาเดียวตลอดสายหรือค่าโดยสารสูงสุด กทม. จะขาดทุนไม่น้อยกว่าหนึ่งแสนล้านบาท ไม่ใช่ได้กำไร 23,200 ล้านบาท แต่ผมไม่ตำหนิสภาองค์กรของผู้บริโภคที่คำนวณได้ผลลัพธ์เช่นนี้ เนื่องจากใช้วิธีคำนวณของกระทรวงคมนาคมซึ่งสมควรใช้อ้างอิง แต่เมื่อวิธีคำนวณของกระทรวงคมนาคมคลาดเคลื่อนก็ย่อมทำให้ผลลัพธ์ของสภาองค์กรของผู้บริโภคคลาดเคลื่อนตามไปด้วย

 

สรุป

1.) หากเก็บค่าโดยสารสูงสุด 50 บาท กทม. จะขาดทุนประมาณ 74,000 ล้านบาท ไม่ใช่ได้กำไร 380,200 ล้านบาท ตามที่กระทรวงคมนาคมคิด

2.) หากเก็บค่าโดยสาร 25 บาท กทม. จะขาดทุนไม่น้อยหนึ่งแสนล้านบาท ไม่ใช่ได้กำไร 23,200 ล้านบาท ตามที่สภาองค์กรของผู้บริโภคคิด

3.) นอกจากจะขาดทุนจำนวนมากแล้ว หาก กทม. จะจ้างเอกชนรายอื่นให้มาเดินรถในช่วงปี 2573-2602 จะมีปัญหาดังนี้

(3.1) บีทีเอสอาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก กทม. เนื่องจาก กทม.ได้ทำสัญญาจ้างบีทีเอสให้เดินรถทั้งส่วนหลักและส่วนขยายถึงปี 2585 ไว้ก่อนแล้ว

(3.2) กทม. จะต้องหาเงินสำหรับจ่ายหนี้และค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยายช่วงปี 2564-2572 รวมทั้งค่าชดเชยกองทุน BTSGIF เป็นเงินประมาณ 135,000 ล้านบาท จะหาได้หรือ?

ผมเห็นด้วยที่จะทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าทุกสายถูกลง ไม่เฉพาะสายสีเขียวเท่านั้น แต่ในกรณีสายสีเขียวเมื่อได้รับทราบข้อมูลดังกล่าวข้างต้นแล้ว กระทรวงคมนาคมจะแก้ปัญหาได้อย่างไร?

ที่มา : https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=2349710735173816&id=232025966942314


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

กระทรวงพาณิชย์ เผยการส่งออก มี.ค.64 มีมูลค่า 24,222 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 8.47% เมื่อเทียบ มี.ค.63 สูงสุดในรอบ 28 เดือน นับตั้งแต่ พ.ย.61 จากปัจจัยบวกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ และการฟื้นตัวของภาคการผลิตโลก

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกเดือน มี.ค.64 มีมูลค่า 24,222 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 8.47% เมื่อเทียบเดือน มี.ค.63 โดยมูลค่าส่งออกสูงสุดในรอบ 28 เดือน นับตั้งแต่เดือนพ.ย.61 โดยมีปัจจัยบวกจากการกระจายวัคซีนในวงกว้าง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ และการฟื้นตัวของภาคการผลิตโลก

ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 23,511 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 14.12% ส่งผลให้เดือนมี.ค.เกินดุลการค้า 710 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับยอดการส่งออกสะสม 3 เดือน ปี64 มีมูลค่า 64,148 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 2.27% และการนำเข้ามีมูลค่ารวม 63,632 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 9.37% เกินดุลการค้า 515 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นายภูสิต กล่าวว่า มูลค่าการส่งออกเดือนมี.ค.64 ที่อยู่เหนือระดับ 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 อีกทั้งมีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เดือน พ.ย.61 สอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจคู่ค้าและเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น โดยสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่ขยายตัวได้ดีในเดือนมี.ค.นี้ อันดับหนึ่งเม็ดพลาสติกขยายตัว 52.9% รองลงมาผลิตภัณฑ์ยางขยายตัว 50.6% เนื่องจากความต้องการถุงมือยาง ยางล้อเพิ่มขึ้น สินค้ารถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว 43.1% ซึ่งสินค้าอุตสาหกรรมทั้ง 3 กลุ่มนี้ยังมีมูลค่าการส่งออกเดือนมี.ค. สูงสุดเป็นประวัติการณ์


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

ธุรกิจสปา กระอักพิษโควิด-19 ปิดกิจการถาวรแล้วกว่า 9,000 ราย คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 70% เชื่อถ้าสถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย จะเหลือเพียงรายใหญ่สายป่านยาว 10% เท่านั้นที่รอด โอด รัฐบาลไม่เยียวยา ตั้งแต่ระบาดระลอกแรก

นายกรด โรจนเสถียร นายกสมาคมสปาไทย เปิดเผยว่า หลังกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ออกประกาศมาตรการล็อกดาวน์เพื่อปิดสถานที่เสี่ยงต่าง ๆ จำนวน 31 แห่ง มีผลบังคับใช้ 14 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 26 เมษายนนี้ เป็นต้นไป ส่งผลให้ธุรกิจนวดสปาได้รับผลกระทบเต็ม ๆ โดยปัจจุบันมีธุรกิจนวดสปา ในระบบกว่า 9,000 ราย แต่สามารถประกอบธุรกิจได้เพียง 20% เท่านั้น ที่เหลืออีกกว่า 70% ได้ปิดกิจการถาวรแล้ว และอีก 10% ปิดกิจการชั่วคราว

“ประเมินว่า หากครบ 14 วันตามประกาศสั่งล็อกดาวน์แล้ว สถานการณ์การระบาดยังไม่ดีขึ้น น่าจะได้เห็นภาพธุรกิจสปาปิดตัวลงอีก เหลือประกอบธุรกิจอีกเพียง 10% เท่านั้น และส่วนมากจะเป็นผู้ประกอบการที่มีขนาดใหญ่ มีสายป่านยาว แต่หากเป็นร้านนวดสปาเพียงอย่างเดียว คงไปต่อลำบาก”

ทั้งนี้สมาคมฯ ยอมรับว่า ตั้งแต่การระบาดรอบแรกจนถึงปัจจุบัน รัฐบาลยังไม่มีมาตรการออกมาช่วยเหลือเยียวยาธุรกิจนวดสปา จึงต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลมีมาตรการออกมาเยียวยาด้านการเงิน โดยเฉพาะสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ให้กับผู้ประกอบธุรกิจรายเล็กที่มีจำนวนมาก และต้องการให้รัฐพิจารณาให้ธุรกิจนวดสปามีส่วนร่วมกับมาตรการของรัฐที่จะออกมาด้วย โดยเฉพาะคนละครึ่ง


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เผยภาพรวมการผลิตในอุตสาหกรรมหลักปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมดัชนี ผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมีนาคม 2564 มีระดับอยู่ที่ 107.73 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.12 เมื่อเทียบกับ เดือนเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ นับเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 22 เดือน (พ.ค. 62 – ก.พ. 64) หลังจากที่ภาคการผลิตได้รับผลกระทบจากสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา และการแพร่ระบาด โควิด-19

โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน อยู่ที่ร้อยละ 69.59 เป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ ทำให้เกิดความเชื่อมั่นของผู้ผลิตและผู้บริโภค ส่งผลให้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหักทองคำและรายการพิเศษ เดือน มีนาคม 2564 ขยายตัวได้ถึงร้อยละ 25.77 เป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และเป็นการขยายตัวระดับ 2 หลักในรอบ 31 เดือน ซึ่งจากการกลบัมาขยายตัวของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมนี้ทำให้ในไตรมาสที่ 1/2564 ดัชนีผลผลติอุตสาหกรรมขยายตัวที่ร้อยละ 0.25

ถอดรหัส!! แผนฟื้นฟู​ใหม่ ดัน​ 'บินไทย'​ ทะยานฟ้า เปิดโอกาส 'ธุรกิจ​ -​ ประเทศ'​ ที่น่าคิดตาม

เป็นที่ทราบกันดีว่า บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI กำลังอยู่ในกระบวนการทำแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งมีกำหนดการนัดประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกในวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการและโหวตแผนฟื้นฟูกิจการ

โดยแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย ประกอบด้วยส่วนที่เป็นสาระสำคัญหลายประการ เช่น... 

1) วิเคราะห์และกำหนดรูปแบบการปรับโครงสร้างหนี้ 

2) โครงสร้างทุน 

และ 3) โครงสร้างองค์กร ตลอดจนแผนธุรกิจและแผนการเงิน ที่จะสะท้อนความสามารถในการดำเนินกิจการและความสามารถในการชำระหนี้ภายใต้ข้อกฎหมาย ข้อสัญญาที่มีกับพนักงานและคู่ค้าตลอดจนเจ้าหนี้ทั้งหลาย 

อย่างไรก็ตามข้อแตกต่างของแผนฟื้นฟูการบินไทยที่ยื่นต่อศาลล้มละลายกลางเมื่อเทียบกับแผนฟื้นฟูกิจการอื่นๆ นั้น ต้องยอมรับว่ามีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงและเป็นการร่างแผนฟื้นฟูกิจการแบบ “นอกตำรา” 

เนื่องจากปกติแผนฟื้นฟูกิจการส่วนใหญ่ ที่เกิดจากความมีหนี้สินล้นพ้นตัวของบริษัท มักปล่อยให้บริษัทล้มละลาย​ ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายมากกว่า (ทั้งต่อเจ้าหนี้ เจ้าของ และสังคม) จึงมักจะมีบริษัทกระทำโดยการ 'ลดหนี้​ ลดทุน'​ แล้วดำเนินการ เป็นส่วนใหญ่แทน

แน่นอนว่า​ กรณีการฟื้นฟูกิจการของบริษัททั่วไป​ รวมถึงบริษัทที่เกี่ยวข้องกับสายการบิน​ ก็มักจะลดหนี้ลดทุนแล้วดำเนินการทั้งสิ้น!! 

แต่กรณีการบินไทย โดยผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ ไม่ดำเนินการเช่นนั้น!! 

เพราะปัญหาการบินไทยแท้จริงแล้วมีสองสามปัญหาใหญ่ๆ คือ... 

1) การบริหารจัดการ 

2) โครงสร้างองค์กร 

และ 3) การแทรกแซงจากผู้มีอำนาจ 

การฟื้นฟูกิจการการบินไทยที่อยู่บนฐานคิดที่ว่า ธุรกิจต้องไปรอดและเติบโตอย่างยั่งยืนนั้น จึงจำเป็นต้องแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างให้เสร็จสิ้น เพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการที่ดี มีระบบและกลไกในการป้องกันการแทรกแซง​ ที่จะส่งผลเสียต่อธุรกิจของการบินไทย

ในฐานะที่ติดตามเรื่องการฟื้นฟูการบินไทย ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า ตั้งแต่มีการเตรียมเรื่องการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการนั้น โครงสร้างองค์กรและโครงสร้างธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเป็นองค์กรที่มีพนักงานในจำนวนที่เหมาะสมเพียงพอ และมีประสิทธิภาพในการบริหารงาน 

นั่นก็เพราะ โครงสร้างพนักงานใหม่​ ที่จะใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 นั้น​ จะมีพนักงานที่ทำสัญญาเริ่มต้นกันใหม่ ทำให้เหลือพนักงานทั้งหมดราว 1.4 -​ 1.5 หมื่นคน จากจำนวนพนักงานมากกว่าสองหมื่นคนในอดีต และปรับลดการจ้างงานภายนอกลง รวมถึงการปรับฝูงบินที่ทำให้เหลือชนิดและประเภทของเครื่องบินและเครื่องยนต์น้อยลง 

ทั้งสองกรณีนำไปสู่การปรับลดต้นทุนอย่างมีนัยยะสำคัญ!! 

ข้อดีของวิกฤติโควิด-19 ทำให้การปรับลดต้นทุนนี้ทำได้ง่ายขึ้น ทั้งการเจรจาเจ้าหนี้เครื่องบิน และการปรับลดพนักงาน 

แต่ข้อเสียของโควิค-19 ทำให้การดำเนินธุรกิจที่สร้างรายได้ชะงักไป โดยเฉพาะธุรกิจหลักอย่างการให้บริการขนส่งผู้โดยสารระหว่างประเทศ

กลับมาที่ตัวแผนฟื้นฟูฯ เนื่องจากแผนฟื้นฟูฯ ที่ยื่นต่อศาลล้มละลายนั้น ผ่านการเจรจาเจ้าหนี้จำนวนมาก และอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า เป็นแผนฟื้นฟูฯ ที่นอกตำรา และอาจกล่าวได้ว่าทั้งชีวิตอาจจะเห็นได้ครั้งเดียว 

เนื่องจากเป็นแผนฟื้นฟูฯ ที่มีการลดหนี้ไม่มาก และไม่ได้ลดทุนโดยตรง ซึ่งตามปกติของแผนฟื้นฟูฯ จะทำโดยการ ลดหนี้ ลดทุน ใส่เงินใหม่ และดำเนินกิจการ

อย่างไรก็ตาม​ ผู้ทำแผนฟื้นฟูฯ เสนอแผนบนฐานที่ 'เจ้าหนี้'​ และ 'เจ้าของ'​ ต้องร่วมกันสนับสนุนการบินไทย และช่วยกันกับผู้บริหารแผนเพื่อทำให้ธุรกิจอยู่รอดและเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการเสนอแผนฟื้นฟูฯ โดยการยืดระยะเวลาการชำระหนี้ และกำหนดให้เจ้าหนี้และเจ้าของต้องร่วมกัน “ใส่เงินใหม่” เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนสำหรับการดำเนินธุรกิจ 

ดังนั้น โอกาสที่เจ้าหนี้จะโหวตเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูดังกล่าว​ จึงมีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูง โดยทุนใหม่ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญในแผนนั้นกำหนดไว้ตามแผนฟื้นฟูฯ ที่ 5 หมื่นล้านบาท ภายใต้ หลักการคร่าวๆ คือ ยืดหนี้ เจ้าหนี้​ และเจ้าของใส่เงิน “คนละครึ่ง” และดำเนินกิจการต่อไป

โดยเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นนั้น ก็ไม่ได้ถูกลดมูลค่าหุ้นลงจากกระบวนการฟื้นฟูกิจการ และผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของการบินไทย ก็ยังเป็นกระทรวงการคลัง (ราวร้อยละ 48) และกองทุนวายุภักษ์ (ราวร้อยละ 16-17) หากเป็นแผนฟื้นฟูฯ อื่น หุ้นจะถูกปรับลดเหลือ 1 สตางค์ หากมีการขาดทุนจำนวนมากๆ

ในขณะที่เจ้าหนี้มีหลายกลุ่มมีการปรับลดหนี้ลงเล็กน้อย เช่น เจ้าหนี้การค้า ผู้ให้กู้ สถาบันการเงิน ผู้ถือหุ้นกู้ พนักงาน และอื่นๆ โดยมีเจ้าหนี้รายใหญ่ คือ ธนาคาร สถาบันการเงิน และกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ นอกจากนั้น กระทรวงการคลังยังนับเป็นเจ้าหนี้อีกด้วย 

คำถามสำคัญ คือ เจ้าหนี้และเจ้าของควรใส่เงินใหม่หรือไม่?

โจทย์นี้ จะเกี่ยวข้องกับการพิจารณาอนาคตธุรกิจเป็นสำคัญ 

เพราะตามที่กล่าวไว้ข้างต้น โครงสร้างสำคัญได้รับการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะโครงสร้างพนักงาน โครงสร้างธุรกิจ ทั้งเรื่องการบริหารจัดการเครื่องบินเครื่องยนต์ การปรับกลไกการจำหน่ายตั๋ว และอื่นๆ 

นอกจากนั้น เรื่องราวความซ่อนเงื่อนของการบินไทยได้ถูกตีแผ่จากทั้งสื่อสารมวลชน คณะกรรมการที่มาตรวจสอบ และเป็นที่สนใจของสาธารณชน 

พูดง่ายๆ ว่า การบินไทย ในอนาคตจะอยู่ในที่​ 'สว่าง'​ กว่าเดิม และต้องดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังและโปร่งใส 

ดังนั้น ในด้านต้นทุนจะมีความสมเหตุสมผลและมีประสิทธิภาพมากขึ้น!!

นอกจากนั้น รายได้ของการบินไทย ที่มาจากธุรกิจการขนส่งผู้โดยสาร และการขนส่งสิ่งของแล้ว ยังมีธุรกิจที่มีอนาคตดีหลังจากโควิด-19 เช่น 

>> ธุรกิจอาหารที่แตกไลน์จากการบริการอาหารให้สายการบิน 
>> สู่การบริการอาหารผ่านร้านสะดวกซื้อ 
>> ธุรกิจการเทรนนิ่งนักบินและบุคลากรสืบเนื่อง ธุรกิจการซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ ฯลฯ 

การประมาณการรายได้ที่ระบุในแผนมีความเป็นไปได้ทางธุรกิจ​ จากการใส่เงินใหม่จำนวน 5 หมื่นล้าน ซึ่งมีความสมเหตุสมผลอย่างยิ่ง และในแผนฟื้นฟูฯ แถมยังกำหนดสิทธิพิเศษสำหรับผู้ใส่เงินใหม่ที่จะได้สิทธิในการแปลงหนี้เดิมเป็นทุนได้อีกด้วย เพื่อจะได้ไม่ต้องรอเวลาการชำระหนี้ที่ถูกยืดออกไปนาน และจะได้รับการชำระหนี้เพิ่มเติมหากมีกระแสเงินสดมากกว่าที่คาดการณ์ไว้

สำหรับภาครัฐโดยกระทรวงการคลัง ที่เป็นทั้งเจ้าหนี้และเจ้าของนั้น การใส่เงินใหม่ในรูปแบบที่เหมาะสม จะทำให้รัฐไม่เสียประโยชน์ เพราะหากการฟื้นฟูกิจการการบินไทยเริ่มต้นด้วยการลดหนี้ลดทุนตามตำราฝรั่ง เงินของรัฐที่อยู่ในการบินไทยก็จะลดลงทันที ซึ่งเงินของรัฐที่อยู่ในการบินไทยนั้นมีมากกว่า 2.5 หมื่นล้าน

แต่ที่สำคัญที่สุด เวลาพูดถึงการบินไทย สิ่งที่รัฐควรพิจารณาคือ ห่วงโซ่ที่เกี่ยวข้องของการบินไทยทั้งหมด ทั้งผู้ทำธุรกิจร่วม พนักงาน เจ้าหนี้ ภารกิจที่ต้องใช้สายการบินแห่งชาติ และเศรษฐกิจโดยรวม

ในภาวะที่เศรษฐกิจกำลังประสบปัญหาเนื่องจากวิกฤติโควิด-19 การปล่อยให้ธุรกิจที่มีอนาคตหลังปรับโครงสร้างอย่างหนักอย่างการบินไทยให้ล้มไป กระทบกับภาพรวมทางเศรษฐกิจไม่น้อย 

ฉากทัศน์ที่คาดการณ์ได้อย่างชัดเจน คือ การปล่อยล้มนั้น​ จะทำให้เม็ดเงินที่เกี่ยวข้องกับการบินไทยผ่านสถาบันการเงิน กลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ ต้องเสียหายอย่างมาก เพราะสถาบันการเงิน และกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ต้องตั้งสำรอง ทำให้กิจการเหล่านั้น ไม่สามารถจ่ายปันผลได้ตามปกติ จนกระทบกับกระแสเงินสดของประชาชนจำนวนมากกว่า 3 ล้านคน พนักงานการบินไทยที่มีอนาคตกว่า 1.5 หมื่นคน และพนักงานของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบินไทยที่จะตกงานอีกกว่า 3 หมื่นคน

การใส่เงินใหม่ของกระทรวงการคลัง​ จึงสำคัญยิ่ง ขณะที่การใส่เงินใหม่ของเจ้าหนี้​ ก็สำคัญยิ่งไม่แพ้กัน

สำหรับเม็ดเงินใหม่นั้น ถูกกำหนดให้มีการจ่ายคืนพร้อมดอกเบี้ยภายในหกปี รวมถึงมีหลักประกันที่เป็นทรัพย์ก้นถุงของการบินไทยที่เริ่มดำเนินธุรกิจมากว่า 60 ปี นั่นหมายถึง การใส่เงินใหม่มีความเสี่ยงที่ไม่มากนักเพราะมีหลักประกัน และมีผลตอบแทนที่เหมาะสม

การร่วมมือร่วมใจของเจ้าหนี้และเจ้าของในครั้งนี้จะมีส่วนผลักดันให้โอกาสธุรกิจมีมากขึ้น และประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูกิจการอย่างยั่งยืน เพราะมีการแก้ไขปัญหาภายใน และนำธุรกิจขึ้นมาอยู่ในที่ที่การแทรกแซงทำได้ยาก และกำจัดจุดอ่อนจำนวนมากในการบินไทยออกไป 

นอกจากนั้น การฟื้นฟูกิจการการบินไทยจะมีการบริหารแผนและมีคณะกรรมการเจ้าหนี้ในการทำให้แผนฟื้นฟูกิจการการบินไทยประสบความสำเร็จตามแผน ซึ่งคงไม่ง่ายนักที่จะมีการแทรกแซงและรุมทึ้งการบินไทยโดยการวางโครงสร้างที่บิดเบี้ยวและไร้ประสิทธิภาพเช่นในอดีต และเชื่ออย่างยิ่งว่าพนักงานการบินไทยและประชาชนไทยที่รักการบินไทยจะไม่ยอมให้เกิดการผิดพลาดซ้ำรอยสร้างความเสียหายซ้ำๆ จากคนที่ฉวยโอกาสอย่างแน่นอน

โอกาสทางธุรกิจของการบินไทยและโอกาสของประเทศ จึงอยู่ในมือของ​ 'เจ้าหนี้'​ และ 'เจ้าของ'​ แล้ว

การร่วมมือร่วมใจในการทำให้การบินไทยรอด ก็จะทำให้เจ้าหนี้และเจ้าของได้ประโยชน์ ประเทศก็จะได้ประโยชน์จากสายการบินแห่งชาติที่ชื่อ... 

การบินไทย—รักคุณเท่าฟ้า

เรื่อง: ผศ. ดร.ประชา คุณธรรมดี
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top