Friday, 3 May 2024
Insight

เรียกว่าต้องหักกันชั่วคราว สำหรับ ‘ลาว’ กับ ‘ไทย’ หลังจากโควิดสมุทรสาคร ‘ทำพิษ’ จนทำให้ทางประเทศลาว มีคำสั่งชัดในการห้ามนำเข้าอาหารทะเลสด - แช่แข็งของไทยชั่วคราว

ก่อนหน้านี้รายงานจาก ลาวโพส สื่อท้องถิ่นประจำประเทศลาว ได้รายงานว่า กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ที่มี สมจิด อินทะมิด รัฐมนตรีช่วยกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ได้ลงนามในหนังสือด่วน ถึงกรมภาษี กระทรวงการเงิน กรมอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข รวมถึงด่านชายแดนระหว่างลาว-ไทย เกี่ยวกับเรื่อง ห้ามนำเข้าชั่วคราว อาหารทะเลสดและแช่แข็งทุกประเภท จากราชอาณาจักรไทย โดยมีเนื้อหาดังนี้

1.) ห้ามนำเข้าชั่วคราว อาหารทะเลสด และแช่แข็ง ที่นำเข้ามาจากราชอาณาจักรไทย

2.) มาตรการห้ามนำเข้านี้ เป็นมาตรการชั่วคราว และจะมีผลบังคับใช้จนกว่าเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของ สปป.ลาว และราชอาณาจักรไทย จะสามารถปรึกษาหารือมาตรฐานการตรวจสอบ คัดกรอง และยืนยันถึงความปลอดภัยของอาหารทะเลที่ส่งออกจากราชอาณาจักรไทย ว่าไม่พบการเจือปนของเชื้อโควิด

3.) มอบให้กรมอาหารและยา เป็นเจ้าภาพ สมทบกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องของลาวและไทย ค้นคว้าหามาตรการการแก้ไขตามที่ระบุไว้ในข้อ 2

ส่วนโอกาสที่จะกลับมาค้าขายกันอีกนั้น ก็คงต้องรอจนกว่าเจ้าหน้าที่ของลาวและไทยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ จะร่วมกันหาหนทางตรวจสอบ คัดกรอง และรับรองความปลอดภัยของอาหารทะเลที่มาจากไทยได้ว่าไม่มีการปนเปื้อนของเชื้อโควิด-19 ได้แบบ 100%

ล่าสุด ‘โควิดสมุทรสาคร’ ก็ทำให้ทางการลาว ตัดสินใจเด็ดขาด ‘ห้ามนำเข้าอาหารทะเลสดและแช่แข็งทุกประเภทไทยชั่วคราว’

ล่าสุด!! หนุ่มโคราชได้รายงานข้อมูลด่วนจากแหล่งข่าวในระดับเชื่อถือได้ว่า ‘กระทรวงพาณิชย์ลาว’ จะยกเลิกคำสั่งดังกล่าว เร็วๆ นี้ ซึ่งถือเป็นเรื่องโชคดีของอุตสาหกรรมอาหารทะเลไทย ที่ทางภาครัฐบาลไทยสามารถสร้างความเชื่อมั่นในการจัดการกับปัญหาดังกล่าว จนทางการลาวไทยเปลี่ยนคำสั่งยกเลิกห้ามนำเข้า ‘อาหารทะเลสด - แช่แข็งจากไทย’ ได้อย่างรวดเร็ว

หากจะพูดถึง หุ้นที่ร้อนแรงที่สุดประจำปี 2563 ถ้าในต่างตลาดประเทศ คนอาจจะโฟกัสไปที่หุ้นรถยนต์ไฟฟ้า TESLA แต่ถ้าเมืองไทยชั่วโมงนี้ต้องยกให้ DELTA ที่ขี่พายุทะลุฟ้า ราคาทะยานในรอบ 1 ปี ถึง 3,000% !!!

กระแสความร้อนแรงของหุ้น TESLA ที่ทะยานทำจุดสูงสุดใหม่ หรือ นิวไฮ ที่ 695 เหรียญสหรัฐต่อหุ้น เมื่อวันที่ 18 ธ.ค ที่ผ่านมา ขึ้นมาจากจุดต่ำสุดในรอบปี ที่ 70 เหรียญ เมื่อวันที่ 18 มี.ค. ช่วงที่โควิด -19 เริ่มระบาดและส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นทั่วโลก แต่ TESLA ก็สามารถทะยานขึ้นมาเกือบ 1,000% หรือ 10 เท่าภายในเวลา 9 เดือนอย่างสวยงาม อาจจะไม่ได้สร้างความฮือฮามากนัก

แต่เมื่อย้อน กลับมามองตลาดหุ้นไทย ที่ต้องยกตำแหน่งหุ้นร้อนแรงแห่งปีให้กับหุ้นบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA ที่ราคาหุ้นพุ่งทะยานอย่างร้อนแรงไม่แพ้กัน จากราคาที่ลงไปต่ำสุดที่ 27 บาท ในระหว่างชั่วโมงซื้อขายวันที่ 13 มีนาคม 63 ซึ่งเป็นวันที่ตลาดหุ้นไทยร่วงลงไปต่ำสุดในรอบปีที่ 969 จุด เช่นกัน

แต่หลังจากนั้น ราคาหุ้น DELTA เริ่มพุ่งทะยานจนขึ้นไปสูงสุดระหว่างชั่วโมงซื้อขายของวันที่ 28 ธันวาคม โดยพุ่งขึ้นไปยืนที่ 838 บาท เรียกได้ว่าเป็นการสร้างปรากฎการณ์สุดยอดหุ้นแห่งปีที่คนในวงการหุ้นต้องกล่าวถึง

เพราะเมื่อเทียบกับราคาปิด ณ สิ้นปี 2562 กับจุดสูงสุดที่ 838 บาท หุ้น DELTA ปรับตัวเพิ่มขึ้น 784.50 บาท หรือปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 1,466.35% หรือ 14.66 เท่า

แต่ถ้าเทียบกับจุดต่ำสุดที่ 27 บาท หุ้น DELTA ปรับตัวเพิ่มขึ้น 811 บาท หรือปรับตัวเพิ่มขึ้น 3,003.70% หรือ 30.03 เท่ากันเลยทีเดียว

แน่นอนว่า ราคาหุ้นที่ทะยานขึ้นอย่างร้อนแรงภายใน 1 ปี สร้างผลตอบแทนถึง 14 เท่า ไม่ได้เกิดขึ้นให้เห็นกันได้ง่าย ๆ ว่ากันว่านักลงทุนบางคนที่เข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ อาจจะได้เห็นปรากฎการณ์ DELTA เป็นหุ้นตัวแรกที่พุ่งขึ้นอย่างร้อนแรงเกินกว่า 1,000% ภายใน 1 ปีก็ได้

สำหรับ DELTA เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ตั้งแต่ปี 2538 โดยเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ด้านการจัดการระบบกำลังไฟฟ้า รวมถึงชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์บางประเภท

เป็นบริษัทจดทะเบียนที่ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่สุด มีมาร์เกตแคปหรือมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด 5.46 แสนล้านบาท (ณ ราคาปิด วันที่ 29 ธันวาคม 2563 ) และเมื่อคำนวณจากราคาสูงสุด 838 บาท จะมีมาร์เก็ตแคปสูงถึง 1.04 ล้านล้านบาท เป็นรองแค่เพียงปตท. เท่านั้น (ปัจจุบัน มาร์เก็ตแคป อันดับ 1 คือ PTT 1.17 ล้านล้านบาท ส่วนอันดับ 2 คือ AOT 8.78 แสนล้าน)

แต่อย่างไรก็ตาม ความร้อนแรงของ DELTA อาจปิดฉากลงแล้วเมื่อวันจันทร์ที่ 28 ธันวาคมที่ผ่านมา หลังจากวิ่งมาราธอน จนสร้างจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ที่ราคา 838 บาท จากนั้นก็ถูกเทขายอย่างหนักกระทั่งราคาร่วงอย่างหนัก โดยราคาปิดล่าสุด ณ วันที่ 29 ธันวาคม 63 ลงมาที่ 438 บาท เมื่อเทียบกับราคาสูงสุด 838 บาท เท่ากับว่าราคาร่วงไปแล้ว 47%

ซึ่งอาจมองได้ว่าราคาหุ้น DELTA อาจจะหมดรอบแล้วก็เป็นได้ เพราะราคาเริ่มสะท้อนความเป็นจริง หลังจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้สอบถามไปยังผู้บริหาร DELTA ว่า บริษัทมีพัฒนาการด้านใดเป็นพิเศษที่ทำให้ราคาหุ้นขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง

และเมื่อได้รับคำตอบจากฝ่ายบริหาร DELTA ที่ส่งเอกสารชี้แจงเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม ระบุว่า บริษัทไม่มีพัฒนาการใดที่ส่งผลต่อการซื้อขายหุ้น หลังจากนั้นราคาหุ้น DELTA ก็ดิ่งเหวทันที

อย่างไรก็ตาม การลากราคาหุ้น DELTA และทิ้งดิ่งเหวในครั้งนี้ คงไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าเป็นเพราะเหตุใด แต่พอจะอนุมานได้ว่า เป็นการทำราคาของกองทุนขนาดใหญ่ นั่นหมายถึงกองทุนต่างประเทศ ที่พากันลากขึ้นมา เพราะปีหน้า DELTA จะถูกดันเข้าไปอยู่ในกลุ่ม SET 50 ที่จะทำให้เป็นที่สนใจของกองทุนทั้งไทยและต่างประเทศ

บทเรียนจากราคาหุ้นที่ร้อนแรงแห่งปี ทั้ง TESLA และ DELTA ทำให้นักลงทุนทั้งมือเก่าและมือใหม่ ได้เรียนรู้ว่า หุ้นที่ขึ้นมาจากพื้นฐานธุรกิจที่มีการเติบโตอย่างชัดเจนอย่าง TESLA มักจะทำราคาสูงสุดได้อย่างต่อเนื่องและราคาจะไม่ร่วงดิ่งเหว ผิดกับ DELTA ที่ราคาขึ้นอย่างร้อนแรง โดยไม่มีเหตุผลและพื้นฐานทางธุรกิจรองรับ เมื่อถึงจุดที่นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น ราคาจึงสะท้อนให้เห็นดังเช่น 2 วันที่ผ่านมานั่นเอง

ทันทีที่ข่าวการอวดโฉม เรือเฟอร์รี่ ‘สัตหีบ-สงขลา’ ซึ่งจะเริ่มทดสอบจริงในช่วง7ม.ค.นี้ ดูจะทำให้ประชาชนคนไทย และภาคธุรกิจหลายๆ ส่วน เฮ!! ดังมากๆ

โปรเจ็กต์นี้ทาง ‘กรมเจ้าท่า’ ได้ร่วมกับ บริษัท ซีฮอร์ส เฟอร์รี่ จำกัด เพื่อให้บริการจากท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ (ท่าเรือจุกเสม็ด) - ท่าเรือเซ้าท์เธิร์น โลจิสติกส์ 2009 จังหวัดสงขลา ด้วยความเร็ว 17 น็อต จาก 330 ไมล์ทะเล (611 กม.) ใช้เวลาเดินทาง 18-20 ชม. เร็วกว่าทางบกที่ระยะทาง 1,130 กม. ช่วยร่นระยะทาง 519 กม. ไม่ต้องหลังแข็งขับรถ 23-24 ชม. ใช้เวลานอนพักผ่อนบนเรือได้เต็มที่

โดยโครงการนี้ ทางผู้ประกอบการลงทุน100% ได้ซื้อเรือเฟอร์รี่มือสองมาจากเมืองฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเดินทางถึงเมืองไทยแล้ว อยู่ระหว่างซ่อมบำรุงที่อู่เรือ บริษัท ยูนิไทยชิปยาร์ด จำกัด

จากนั้นก็เตรียมแผนทดสอบระบบการเดินเรือและทดลองเปิดบริการเพื่อรับรถของลูกค้าบริษัทก่อนประมาณวันที่ 7 ม.ค. นี้ แล้วก็คาดว่าจะเปิดบริการอย่างเป็นทางการให้ประชาชนทั่วไปภายในเดือนมกราคม หรืออย่างช้าก็เดือนกุมภาพันธ์

ส่วนรายละเอียดอัตราค่าโดยสารเนื่องจากกำลังจัดทำรายละเอียดของต้นทุนในการเดินเรือนำเสนอและรอผลการทดสอบก่อน แต่ได้ให้ข้อแนะนำว่าควรกำหนดอัตราที่ผู้ประกอบการรถบรรทุกและประชาชนรับได้

ทั้งนี้ หากมองถึงประโยชน์ที่จะมาพร้อมกับ เฟอร์รี่ ‘สัตหีบ-สงขลา’ นั้นมีเพียบ ตั้งแต่...

• ขนรถบรรทุกได้ถึง80คัน

• รถส่วนตัว20คัน

• ผู้โดยสาร586คน

• สร้างระบบโลจิสติกส์แบบวาร์ป จาก ‘ตะวันออกไปถึงภาคใต้’

• และถ้าเวิร์คเฟสต่อไป ก็จะไปจอดท่า ‘ปราณบุรี’

ตามมุมมองของ วิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) ให้ความเห็นว่า โครงการเดินเรือเฟอร์รี่ ระหว่าง ‘สัตหีบ-สงขลา’ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพของระบบโลจิสติกส์ภาพรวมการขนส่งภายในประเทศ ผ่านระบบการขนส่งทางน้ำ ซึ่งเป็นโครงการที่ ‘Very Good’

เนื่องจากเป้าหมายของโครงการนี้ ไม่แค่เพื่อการขนส่งอย่างเดียว แต่ยังมาช่วยลดปัญหา ความแออัดของการจราจร และลดการเกิดอุบัติเหตุท้องถนน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5)

อีกทั้งสามารถประหยัดงบประมาณในการซ่อมบำรุงถนนของภาครัฐ อันนี้คือข้อดีตามแผนของโครงการดังกล่าว

โดยในระยะแรกจะให้บริการในเส้นทางชลบุรี(สัตหีบ) – สงขลา เพื่อพัฒนาระบบเศรษฐกิจที่เชื่อมต่อเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก กับเขตเศรษฐกิจภาคใต้พร้อมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยว

ฟังๆ ดูแล้วที่เล่ามาทั้งหมด ช่างดูเป็นโปรเจ็กต์ที่สวยหรู และพร้อมเดินหน้าได้โลด!!

แต่เดี๋ยวก่อน หากหันไปมองดู ‘ข้อสะดุด’ บางอย่างก็ยังมี และเหมือนจะมีแบบหนักหนาด้วย!

นั่นก็เพราะมีคนในโลกโซเชี่ยลตั้งประเด็นเรื่องเรือเฟอร์รี่ ‘สัตหีบ-สงขลา’ ที่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นว่า ‘ไม่ปลอดภัย’

จากข้อมูลของผู้ใช้เฟซบุ๊ก ‘Naruphun Chotechuang’ ที่ทราบชื่อภายหลังว่า ‘นฤพันธ์ โชติช่วง’ ซึ่งเป็นอดีตนักเรียนวิทยาลัยยามชายฝั่งญี่ปุ่น และอดีตเจ้าหน้าที่ ได้มีมุมมองที่ย้อนแย้งที่ทำให้ต้องสะอึกกับโครงการเฟอร์รี่ สัตหีบ-สงขลา พอดู

อันที่จริงแล้ว นฤพันธ์ เห็นด้วยกับโครงการนี้ว่ามีความน่าสนใจ เพราะลดลดทั้งความหนาแน่นบนท้องถนน และมลพิษที่ออกจากรถยนต์ตามที่กรมเจ้าท่าบอก แต่เขาไม่เห็นด้วยกับการเอาเรือเฟอร์รี่ ซีฮอร์ส หรือเรือเฟอร์รี่มือสองจากญี่ปุ่นมาวิ่งเส้นทาง สัตหีบ – สงขลา

เหตุผลที่เป็นเช่นนั้น ถูกโพสต์ทิ้งไว้ในเพจให้ต้องคิดตามหลายเรื่อง!!

“เรือลำนี้ เป็นเรือมือสอง (ถ้านับจริงๆ ก็มือสาม) ที่ต่อตั้งแต่ปี 1994 อายุสิริรวมก็ได้ 27 ปี ช่วงรอยต่ออายุระดับเกือบ 30 ปีนั้น ทำให้เกิดข้อกังขาในเทคโนโลยีความปลอดภัยด้านตัวเรือ

แถมถ้ามองเส้นทางวิ่ง สัตหีบ-สงขลา ที่มีระยะทางมากกว่า 100 ไมล์ทะเลแล้ว ต้องบอกเลยว่ามันอาจจะเกินประสิทธิภาพไปมาก เพราะทราบหรือไม่ว่าเรือลำนี้ก่อนจะถูกซื้อมา ถูกใช้วิ่งบริเวณช่องแคบสึกะรุ ที่มีเส้นทางวิ่งไกลสุดเพียง 65 ไมล์ทะเลเท่านั้น

ยิ่งไปกว่านั้นรูปแบบเส้นทางวิ่งของเรือลำดังกล่าว เป็นการวิ่งข้ามฝั่งระหว่างช่องแคบ แต่ของเราจะเอามาวิ่งตัดอ่าวไทย เพราะอยากประหยัดเวลามากขึ้น มันก็ต้องวิ่งตัดอย่างเดียว ไม่สามารถวิ่งเลาะชายฝั่งได้

ประเด็นเหล่านี้ คงพอทำให้คิดตามได้เล็กๆ ว่า ‘มันไม่อันตรายหรือ?’

ผมจะไม่ตั้งคำถามนี้ขึ้นมาเลย หากประเทศไทยมีระบบการช่วยเหลือทางน้ำที่ยอดเยี่ยมอย่างญี่ปุ่น เพราะเอาแค่เหตุการณ์ที่เรือเฟอร์รี่ข้ามเกาะพะงัน-สมุย กับ สุราษฏร์ฯ ที่ล่มห่างจากฝั่งไม่ถึง 10 กิโลเมตร แล้วไม่สามารถช่วยเหลือผู้ประสบเหตุได้ทั้งหมด

ผมใบ้ให้คร่าวๆ ละกัน!!

1. ประเทศไทยมีระบบกู้ภัยของรัฐที่เชื่องช้าครับ ที่เราเห็นว่าปอเต็กตึ้ง หรือร่วมกตัญญู สามารถไปถึงได้เร็ว เพราะว่าเป็นเอกชน แม้แต่เคส 13 หมูป่า คนที่เริ่มลงมือช่วยเหลือกลุ่มแรกก็เป็นกู้ภัยอาสาสมัคร

2. ปัญหากู้ภัยทางบกเราถูกปิดบังด้วยความสามารถของเอกชน แต่ทางทะเล นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะว่าอุปกรณ์และความชำนาญต่างๆ มันเฉพาะด้านมากกว่ากันเยอะ เอกชนเลยไม่สามารถทำอะไรได้มากไปกว่า การช่วยในกลุ่มเล็กๆ โดยมีนักประดาน้ำจำนวนไม่เยอะ เพราะอุปกรณ์ที่ใช้ในการกู้ภัยล้วนมีราคาแพงมาก เฮลิคอปเตอร์ เรือกู้ภัย บลาๆ ระดับเกิน 10 ล้านบาทขึ้น แถมต้องการเจ้าหน้าที่เฉพาะทางอีก เรื่องนี้เลยต้องเป็นราชการเป็นผู้รับผิดชอบ

3. อุปกรณ์ที่หลากหลาย และความชำนาญเฉพาะด้าน ก็เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่นั้นอยู่คนละองค์กร แต่ต้องทำงานร่วมกัน ภายใต้คำสั่งการของ ผู้ว่าราชการจังหวัด ที่มีความรับผิดชอบตามกฎหมาย แล้วมีผู้ว่าคนไหนชำนาญด้านการช่วยเหลือทางทะเลบ้าง?

กู้ภัยไม่ทันไร ‘มืด’ ก็ยกเลิกการค้นหา รอฟ้าสว่าง ค่อยทำต่อ ไม่ทราบว่า เอาอะไรคิด ไม่ได้หลงป่านะ นี่อยู่กลางทะเล จะเอาตัวให้อยู่พ้นเหนือน้ำก็เหนื่อยจะตายอยู่แล้ว ยังต้องรอเป็นชั่วโมงกว่าจะเช้าอีก

ประเด็นนี้ ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า ทั้งภาคธุรกิจและประชาชน หากทราบเรื่องนี้แล้ว จะสามารถฝากชีวิตไว้บนเรือนี้ได้เกิน 24 ชั่วโมงหรือไม่? แน่นอนว่าโครงการนี้ไม่แย่นะครับ ผมชอบนะ แต่ปัญหาคือ ลดต้นทุนด้านความปลอดภัยด้วยการซื้อเรือเก่ามาให้บริการเนี่ยนะ”

แม้ทางผู้ประกอบการจะเน้นย้ำถึงมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินเรือ ท่าเรือ ตัวเรือ อุปกรณ์ความปลอดภัยประจำเรือ คนประจำเรือ และการจัดการแผนเผชิญเหตุการณ์ต่างๆ ที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล

แต่ในมุมของคนที่ไม่ใช่ช่างเทคนิค ก็ไม่กล้าตัดมุมมองของ นฤพันธ์ ที่แม้จะไม่ใช่คนเด่นคนดัง แต่พลังข้อมูลมันก็สะท้อนให้ประชาชนตาดำๆ สัมผัสได้ถึง ‘ความเสี่ยง’ พอตัว

ช่วยไม่ได้ ก็เหรียญมันมี 2 ด้านนิหว่า!!

อ้างอิง: ที่มาฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรมเจ้าท่าเรือ

เฟซบุ๊ก Naruphun Chotechuang

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เชื่อว่าเราคงได้ยินคำว่า “Startup” กันอย่างหนาหู หลัง ๆ มีหลายบริษัทที่เกิดใหม่เติบโตอย่างรวดเร็วและโดดเด่นขึ้นมา ขณะที่การแบ่งขนาดธุรกิจในวงการ Startup จะใช้สัตว์ในตำนานมาแบ่งขั้นอย่างเกรงขาม ใครเป็นอะไรมาลองดูกัน

Ponies (โพนี): ธุรกิจที่มีมูลค่ามากกว่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เช่น แอปพลิเคชัน eko, eatigo

Centaurs (เซนทอร์): ธุรกิจมูลค่ามากกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เช่น LINE MAN

Unicorn (ยูนิคอร์น): ธุรกิจที่มีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เช่น Uber, Airbnb และ Snapchat

Decacorn (เดเคคอร์น): ธุรกิจมูลค่ามากกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เช่น Dropbox, SpaceX, Flipkart และ Pinterest

โอกาสทางธุรกิจ!! โควิดดันเศรษฐกิจดิจิทัลในไทยพุ่ง หลังพบตัวเลขปี 63 ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซโต 81% ขณะที่บริการเรียกรถ-สั่งอาหารผ่านแอปฯ มูลค่าแตะ 3.3 หมื่นล้าน นักวิชาการธรรมศาสตร์ ชี้ตลาดยังโตได้อีก แนะภาครัฐปรับตัวและส่งเสริมธุรกิจ แทนการออกกฎหมายฉุดรั้ง

ผศ.ดร.สุทธิกร กิ่งเเก้ว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านธุรกิจระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะนักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจดิจิทัล เปิดเผยถึงภาพรวมการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และในประเทศไทย อ้างอิงจากรายงาน e-CONOMY SEA 2020 โดย Google, Temasek, Bain & Company ว่า การใช้อินเทอร์เน็ตในอาเซียนเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องพบว่ามีผู้ใช้รายใหม่เพิ่มขึ้นถึง40 ล้านราย โดยเพิ่มจาก 360 ล้านราย ในปี 2562 (2019) เป็น 400 ล้านราย ในปี 2563 (2020)

จากรายงานข้างต้นพบว่า ประชากรอาเซียนใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยมากกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน ขณะที่คนไทยใช้เวลามากถึง 3.7 ชั่วโมงต่อวัน ในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และขยับเป็น4.6 ชั่วโมง ในช่วงที่รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ซึ่งค่าเฉลี่ยปัจจุบันอยู่ที่ 4.3 ชั่วโมงต่อวัน โดยผู้ใช้ 8 ใน 10 ราย มองว่า เทคโนโลยีมีประโยชน์อย่างมากในช่วงการระบาดของโควิด-19 เทคโนโลยีได้กลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวันของผู้คน

ทั้งนี้จากแนวโน้มที่คนอาเซียน และคนไทยใช้เวลาไปกับอินเทอร์เน็ตมากขึ้นนั้น จะส่งผลทำให้อัตราการเติบโตของธุรกิจการค้าออนไลน์ (อี-คอมเมิร์ซ) พุ่งสูงขึ้นอย่างมากโดยเฉพาะในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งนี้ ในประเทศไทยพบว่า ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซเติบโตมากถึง 81% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านับเป็นการก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว ซึ่งข้อมูลจากรายงาน e-CONOMY SEA 2020 ระบุว่า สามารถชดเชยรายได้ที่ขาดหายไปจากธุรกิจท่องเที่ยว และการขนส่งที่หดตัวลงจากการขาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ

รายงานดังกล่าวยังระบุว่า มูลค่าสินค้า (Gross Merchandise Value : GMV) ในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยในปี 2563 (2020) นั้นมียอดรวมประมาณ 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 5.4 แสนล้านบาท หรือ เติบโตขึ้น 7% เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่า ในปี 2568 (2025) เศรษฐกิจดิจิทัลไทยจะมีมูลค่าสูงถึง 5.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.59 ล้านล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยมากถึง 25% ต่อปี

ดร.สุทธิกร กล่าวเสริมว่า ในปี 2563 (2020) ธุรกิจบริการเรียกรถผ่านแอปฯ และการสั่งอาหารออนไลน์ในประเทศไทย มีมูลค่ารวมสูงถึง 3.3 หมื่นล้านบาท และเป็นที่คาดการณ์ว่า ด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปจะส่งให้ทั้งสองธุรกิจสามารถเติบโตสูงขึ้นเฉลี่ย 45% ต่อปีต่อเนื่องจนถึงปี 2568 (2025) ทั้งนี้จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19ในปีที่ผ่านมา ส่งผลดีต่อธุรกิจบริการสั่งอาหารออนไลน์ซึ่งเติบโตถึงกว่า 42%

อย่างไรก็ดี ธุรกิจบริการเรียกรถผ่านแอปฯ กลับได้รับผลกระทบอย่างหนักโดยติดลบถึง 53% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าอันเป็นผลมาจากนโยบายล็อกดาวน์ในช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาด การหลีกเลี่ยงการเดินทางออกนอกบ้าน เทรนด์การทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) รวมถึงผลกระทบจากการท่องเที่ยวโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไปหลายสิบล้านคน

หากมองย้อนกลับไปในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัลโดยเฉพาะแอพพลิเคชั่นในการสั่งอาหารออนไลน์ และบริการเรียกรถออนไลน์ ในกลุ่มอาเซียนและในประเทศไทย ถือว่าเติบโตขึ้นอย่างมาก ความเข้มแข็งของธุรกิจดิจิทัลเหล่านี้ได้ช่วยให้ภาคธุรกิจ และเศรษฐกิจสามารถปรับตัวได้เป็นอย่างดีในช่วงที่โควิดระบาด ขณะเดียวกันภาครัฐในฐานะผู้กำกับดูแล (Regulator) เอง ก็จำเป็นต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยีด้วยเช่นกัน

สำหรับประเทศไทยซึ่งปัจจุบันภาครัฐอยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อผลักดันให้บริการ “เรียกรถผ่านแอปฯ” เป็นเรื่องถูกกฎหมายนั้น ดร.สุทธิกร แสดงความเห็นว่า นับเป็นเรื่องที่ดีและสมควรเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว แต่การที่ภาครัฐ โดยกระทรวงคมนาคม ซึ่งอยู่ระหว่างจัดทำร่างกฎกระทรวงว่า ด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารแบบบริการทางเลือก พ.ศ. … (ร่างกฎกระทรวงฯ) กำหนดเงื่อนไขบางอย่าง ที่อาจไม่สอดรับกับกระแสความเปลี่ยนแปลง และเป็นไปของเทคโนโลยีโดยเฉพาะการกำหนดโควตาของรถยนต์ส่วนบุคคลที่จะเข้าร่วมให้บริการดังกล่าวถือเป็นสิ่งที่ภาครัฐจะต้องพิจารณาปรับแก้ไข ซึ่งในฐานะนักวิชาการด้านธุรกิจดิจิทัลมีความเห็นว่าควรจะตัดส่วนนี้ออกก่อนประกาศใช้อย่างเป็นทางการ

“นับเป็นเรื่องที่ดีที่ภาครัฐจะเดินหน้าผลักดันให้มีรถยนต์โดยสารแบบบริการทางเลือก (เรียกรถผ่านแอปฯ) แบบถูกกฎหมาย แต่การผลักดัน และส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลนั้น ภาครัฐจะทำงานหรือกำหนดตัวบทกฎหมายในรูปแบบเดิมไม่ได้ควรต้องเปิดโอกาส และรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพในการเลือกทำอาชีพใดๆ รวมถึงกลไกตลาด และที่สำคัญบริบทด้านเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคดิจิทัล ซึ่งการควบคุมแบบเดิมๆ อย่างการกำหนดโควตาอาจจะเป็นเรื่องล้าหลังที่ถ่วงการพัฒนาของภาคธุรกิจ”ดร.สุทธิกร ระบุ และย้ำว่า

การกำหนดโควตา (จำนวนรถยนต์หรือคนขับ) นั้น อาจไม่สอดคล้องกับระบบอุปสงค์และอุปทานที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เช่น ถ้ามีการให้โควตาน้อยเกินกว่าปริมาณความต้องการ เมื่อจะมาเพิ่มจำนวนในภายหลัง อาจจะต้องผ่านขั้นตอนการอนุมัติมากมายของหน่วยงานราชการ จนไม่ทันการกับสถานการณ์ความต้องการที่เกิดขึ้นอย่างไม่ได้คาดคิด

ยกตัวอย่างในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 พบว่า มีปริมาณการสั่งอาหารออนไลน์มากขึ้นอย่างทวีคูณ แพลตฟอร์มผู้ให้บริการต่างๆ มีคนขับไม่เพียงพอกับการสั่งอาหาร ซึ่งการที่ภาครัฐไม่ได้จำกัดโควตารถส่งอาหารทำให้แพลตฟอร์มผู้ให้บริการต่างๆ สามารถเปิดรับคนขับเพิ่มได้ทันที โดยในช่วงล็อกดาวน์ปีที่แล้ว ผู้ให้บริการอย่าง Grab สามารถเปิดรับคนขับเพิ่มได้กว่าครึ่งแสน ช่วยตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและยังช่วยสร้างรายได้ทดแทนให้กับผู้ที่ตกงานจากสถานการณ์โควิด

โดยในปีนี้ ผู้ประกอบการรายใหญ่อย่าง LINE MAN เองก็มีแผนจะเปิดรับคนขับส่งอาหารเพิ่มอีกใน 29 จังหวัด รวมถึงรายอื่นๆ เองก็มีแผนจะเข้ามาดำเนินธุรกิจในลักษณะนี้เช่นกัน ซึ่งประชาชนในฐานะผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์สูงสุดจากการแข่งขันที่มีมากขึ้น

ดังนั้น แทนที่ภาครัฐจะออกกฎมาควบคุมการบริการเรียกรถผ่านแอปฯ โดยเฉพาะการกำหนดโควตา ควรหันไปลดเงื่อนไข และข้อกำหนดที่มีอยู่ในปัจจุบันซึ่งเป็นภาระกับผู้ขับขี่รถแท็กซี่จะดีกว่าหรือไม่? เพื่อให้ต้นทุนการดำเนินงานลดลง และเกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ที่สำคัญผลประโยชน์จะได้ตกอยู่กับผู้บริโภค (ผู้โดยสาร) ได้มากที่สุด

“การเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นสิ่งที่ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ และภาครัฐเองจะต้องใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีให้มากที่สุด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบเศรษฐกิจโดยรวม รวมถึงยกระดับเศรษฐกิจไทยด้วยระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อผลักดันประเทศให้เข้าสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ในส่วนการควบคุม และกำกับดูแลนั้นเป้าหมายหลัก คือ เพื่อสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรมและระบบเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพมากกว่าปกป้องผู้ประกอบการกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่ไม่ต้องการปรับตัว”

 

LPN Wisdom คาดตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2564 มีแนวโน้มติดลบ 3% ถึงเติบโตประมาณ 10% ขึ้นอยู่กับความสามารถในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ระลอกใหม่

ประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด (LPN Wisdom: LWS) บริษัทวิจัยและที่ปรึกษาในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือบริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (LPN) กล่าวถึงทิศทางตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2564 ว่า

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ที่ส่งผลต่อเนื่องต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปี 2564 LPN Wisdom ได้มีการปรับการคาดการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2564 หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ได้มีการคาดการณ์ว่าสถานการณ์อสังหาฯ ในปี 2564 จะมีแนวโน้มทรงตัวหรือเติบโตได้ประมาณ 3-5% และการเปิดตัวโครงการใหม่มีแนวโน้มที่จะเปิดตัวเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 10% เมื่อเทียบกับปี 2563 เนื่องจากการคาดการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่มีแนวโน้มที่รุนแรงกว่าการแพร่ระบาดในรอบแรก ทำให้บริษัทต้องมีการปรับการคาดการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2564

โดยแบ่งออกเป็น 3 สถานการณ์ (Scenario) ซึ่งคาดการณ์ว่า ตลาดอสังหาฯ จะติดลบ 3% ถึงเติบโตได้ 10% ทั้งนี้ขึ้นกับความสามารถในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ของรัฐบาล

สถานการณ์แรก (Best Case Scenario) รัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ได้เร็วภายในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์และวัคซีนสามารถเข้าถึง 50% ของประชากรไทยภายในปี 2564 ในกรณีนี้ คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวประมาณ 4-5% จะทำให้มีมูลค่าการเปิดตัวโครงการใหม่ของอสังหาริมทรัพย์ประมาณ 13-15% และจำนวนหน่วยอสังหาริมทรัพย์เปิดตัวใหม่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 9-10% เนื่องจากผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ในตลาดหลายรายได้ระบายหน่วยคงค้างไปได้จำนวนมากในปี 2563 จะเริ่มเปิดตัวโครงการใหม่เพิ่มขึ้น ขณะที่ในด้านของกำลังซื้อ คาดว่าจะเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาสแรกปี 2564 โดยประมาณการว่า จะมีอัตราการระบายอสังหาริมทรัพย์จะอยู่ที่ 6,500 หน่วยต่อเดือน หรือขยายตัวประมาณ 10% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปี 2563

สถานการณ์ที่สอง (Base Case Scenario) รัฐสามารถควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ได้ภายในเดือนเมษายน ในกรณีนี้คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวประมาณ 2-3% ด้านตลาดอสังหาริมทรัพย์คาดว่า มูลค่าอสังหาริมทรัพย์เปิดตัวใหม่จะเพิ่มขึ้นประมาณ 5-6% และจำนวนหน่วยอสังหาริมทรัพย์เปิดตัวใหม่จะเพิ่มขึ้นประมาณ 7-9% และกำลังซื้อจะเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ช่วงกลางปี 2564 คาดการณ์ว่าอัตราการระบายอสังหาริมทรัพย์จะอยู่ที่ 6,000-6,300 หน่วยต่อเดือน หรือขยายตัวประมาณ 0-5%

และ สถานการณ์ที่สาม (Worst Case Scenario) เป็นกรณีที่รัฐบาลไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ หรือควบคุมสถานการณ์ได้หลังไตรมาส 2 ของปี 2564 จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยทรงตัวหรือเติบโตต่ำกว่า 2% ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ทั้งการเปิดตัวโครงการใหม่และกำลังซื้อในตลาด โดยคาดกว่าจะทำให้มูลค่าการเปิดตัวอสังหาริมทรัพย์เปิดตัวใหม่มีแนวโน้มที่จะติดลบต่อเนื่องจากปี 2563 โดยคาดว่าจะติดลบประมาณ 15-18% และจำนวนหน่วยอสังหาริมทรัพย์เปิดตัวใหม่จะติดลบประมาณ 8-12% จากความเชื่อมั่นที่ลดลงของผู้ประกอบการ ในด้านอุปสงค์ คาดว่าอัตราการระบายอสังหาริมทรัพย์จะลดลง 3-5% เหลือเฉลี่ย 5,700-5,800 หน่วยต่อเดือน

ขณะที่ภาพรวมอสังหาริมทรัพย์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลในปี 2563 มีการเปิดตัวโครงการใหม่ลดลงจากปี 2562 ประมาณ 37% หรือจากเปิดตัว 111,000 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 448,000 ล้านบาท เหลือ 70,000 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 276,000 ล้านบาท เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ผู้ประกอบการชะลอการเปิดตัวอสังหาริมทรัพย์ในช่วงไตรมาส 2 โดยเน้นเปิดตัวบ้านพักอาศัย และชะลอการเปิดตัวคอนโดมิเนียม

โดยในปี 2563 ผู้ประกอบการอสังหาฯ หลายบริษัทได้มีการปรับแผนการเปิดตัวโครงการใหม่จากคอนโดมิเนียมมาเป็นการเปิดตัวบ้านพักอาศัยมากขึ้น ทำให้ในปี 2563 มีการเปิดตัวโครงการบ้านพักอาศัยคิดเป็นสัดส่วน 63% เพิ่มขึ้นจาก 42% ในปี 2562 หรือมีการเปิดตัวบ้านพักอาศัยในปี 2563 ทั้งสิ้น 44,001 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 205,578 ล้านบาท ลดลงจากปี 2562 เพียง 4%

ในขณะที่การเปิดตัวคอนโดมิเนียมในปี 2563 มีจำนวนหน่วยเปิดตัวลดลงถึง 60% ขณะที่มูลค่าเปิดตัวลดลง 70% จากเปิดตัวทั้งหมดในปี 2562 คิดเป็นจำนวน 64,639 เหลือ 26,125 หน่วยในปี 2563 เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการหันมาระบายหน่วยคงค้างคอนโดมิเนียมที่มีจำนวน 94,000 หน่วยในปลายปี 2562 และชะลอการเปิดตัวคอนโดมิเนียมใหม่

ประพันธ์ศักดิ์ กล่าวว่า ในขณะที่กำลังซื้อในปี 2563 มีอัตราการระบายอสังหาริมทรัพย์อยู่ที่ 6,000 หน่วยต่อเดือน ลดลงจากปี 2562 25% เหตุผลสำคัญที่ทำให้กำลังซื้อในปี 2563 ลดลงไม่มากเมื่อเทียบกับการเปิดตัวโครงการใหม่ที่ลดลงมาก เป็นผลมาจากการเร่งระบายสินค้าในสต๊อกของผู้ประกอบการโดยใช้กลยุทธ์ด้านราคา (Price War)

“การคาดการณ์ตลาดอสังหาฯ ในปี 2564 ยังเป็นเรื่องยาก เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระลอกใหม่ ส่งผลต่อความไม่แน่ใจในรายได้ในอนาคตของผู้บริโภค ทำให้แนวโน้มตลาดอสังหาฯ ในไตรมาสแรกของปี 2564 น่าจะทรงตัว ส่งผลให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ บางรายเริ่มออกมาตรการทางการตลาดเพื่อกระตุ้นกำลังซื้ออย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลไม่ประกาศปิดประเทศ (Lockdown) เหมือนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2563 ทำให้ภาคธุรกิจยังคงสามารถดำเนินธุรกิจได้ รักษาการจ้างงานในประเทศไว้ได้บางส่วน ประกอบกับการที่รัฐบาลมีนโยบายที่จะกระตุ้นตลาดอสังหาฯ โดยการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองเหลือ 0.01% และลดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 90% ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยที่ยังมีแนวโน้มต่ำ น่าจะเป็นปัจจัยที่มีส่วนช่วยในการกระตุ้นกำลังซื้อ เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย”

ไทยเบฟ ร่อนแถลงการณ์ชี้แจงข่าว เตรียมแยก ‘ธุรกิจเบียร์’ มูลค่า 3 แสนล้านบาท IPO ตลาดหุ้นสิงคโปร์สัปดาห์ ยืนยันยังไม่มีการตัดสินใจใด ๆ หลังมีข่าวลือถึงกรณีดังกล่าวหลายครั้ง

จากกรณีที่ สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่าบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด”(มหาชน) หรือ “ไทยเบฟ” ของ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” วางแผนแยก “ธุรกิจเบียร์” ยื่นแบบรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน (ไฟลิ่ง) เพื่อเข้าจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ภายในอาทิตย์หน้า โดยคาดว่ามูลค่าธุรกิจเบียร์ที่จะนำเข้าจดทะเบียนมีมูลค่าสูงถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3 แสนล้านบาท

https://www.bloomberg.com/news/articles/2021-01-28/thaibev-said-to-near-singapore-ipo-filing-for-10-billion-unit

ล่าสุด ไทยเบฟ ได้ออกแถลงการ ชี้แจงกระแสข่าวดังกล่าว โดยในเอกสารแถลงการณ์ระบุว่า การนำธุรกิจเบียร์เข้าตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ เป็นตัวเลือกหนึ่งของแผนเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจ ขณะนี้ยังเป็นเพียงการศึกษาความเป็นไปได้ร่วมกับบริษัทที่ปรึกษาเท่านั้น

พร้อมย้ำว่า บริษัทยังไม่มีการตัดสินใจใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการจะเข้าตลาดหรือไม่ รวมไปถึงกำหนดการต่างๆ

ขณะเดียวกันยังเตือนให้ผู้ถือหุ้นตัดสินใจเกี่ยวกับการลงทุนอย่างระมัดระวัง

สำหรับธุรกิจเบียร์ ที่จะแยกออกมาจากกลุ่มไทยเบฟ มีโรงงานในประเทศไทย รวมไปถึงส่วนของการถือหุ้นใน Sabeco ที่บริษัทได้ซื้อหุ้นไปในช่วงปี 2017 ด้วยมูลค่ากว่า 4,800 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้มีการประเมินธุรกิจเบียร์ของเครือไทยเบฟ อาจมีมูลค่าสูงสุดถึง 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะกลายเป็นหุ้นของผู้ผลิตเบียร์ที่ใหญ่อันดับต้นๆ ของภูมิภาคนี้ทันที ซึ่งนอกจากแบรนด์ ‘เบียร์ช้าง’ แล้ว ไทยเบฟยังเป็นผู้ผลิตเบียร์ภายใต้แบรนด์เฟเดอร์บรอย ,อาชา ,ฮันทส์แมน ,แบล็ค ดราก้อน ,แทปเปอร์ รวมถึงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทเบียร์เวียดนาม ‘ไซ่ง่อนเบียร์’ อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ข่าวลือเรื่องไทยเบฟ จะนำ ‘ธุรกิจเบียร์’ ทำ IPO ในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ มีมาอย่างต่อเนื่อง ตลอดหลายปีที่ผ่านมา และทางไทยเบฟก็ได้ออกมาปฏิเสธข่าวดังกล่าวทุกครั้ง

นอกจากนี้ ในช่วง 2 อาทิตย์ที่ผ่านมาทาง ไทยเบฟ ได้เคยออกมาปฏิเสธข่าวของสำนักข่าว Reuters และสื่อในประเทศสิงคโปร์ถึงการนำธุรกิจธุรกิจเบียร์เข้า IPO มาแล้ว โดยกล่าวว่ายังไม่มีการตัดสินใจขั้นสุดท้ายเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ มีการประเมินว่า หากไทยเบฟ นำ ‘ธุรกิจเบียร์’ ระดมทุนครั้งใหม่ จะเป็นการเสนอขายหุ้นที่มีมูลค่ามากที่สุดของสิงคโปร์ ในรอบ 10 ปี นับตั้งแต่ที่บริษัท “ฮัทชิสัน พอร์ต โฮลดิงส์” (Hutchison Port Holdings) มีการขายหุ้นไอพีโอ 5.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.7 แสนล้านบาท) เมื่อปี 2554

ส่องไส้ใน ส่องออกไทย รู้แล้วจะอึ้ง ! พบผู้ส่งออก 50 อันดับแรกของไทย เป็นบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยเพื่อใช้เป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก ถึง 80% มีบริษัทคนไทยเพียง 20% เท่านั้น ขณะที่จำนวนบริษัทส่งออกในปัจจุบันมีทั้งสิ้น 36,164 ราย

ในช่วงกว่า 20 ปีที่ผ่านมา ภาพรวมการส่งออกของไทย เส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี แต่บางปีก็เครื่องสะดุดติดลบบ้างจากหลายเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันของโลก

โดยปี 2563 ล่าสุด ส่งออกไทยสะเทือนจากพิษโควิด-19 ระบาดทั่วโลก ทำตัวเลขส่งออกได้มูลค่า 231,468.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวลดลงจากปีก่อน -6% ส่วนในรูปเงินบาทมีการส่งออก 7.17 ล้านล้านบาท ขยายตัวลดลง -5.9% โดยปี 2563 มีบริษัทส่งออกรวมทั้งสิ้น 36,164 ราย โดยในจำนวนนี้จากการตรวจสอบข้อมูลของ “ฐานเศรษฐกิจ”ที่ได้รับจากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร เผยถึง ผู้ส่งออกรายใหญ่ใน 50 อันดับแรก พบสัดส่วน 80% เป็นบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยเพื่อใช้เป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก ขณะที่สัดส่วน 20% เป็นบริษัทคนไทย โดยรายชื่อบริษัทส่งออก 50 อันดับแรกที่มี่มูลค่าส่งออกสูงสุดตามลำดับ ประกอบด้วย

1.) บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย)จำกัด (บจก.)

2.) บจก.วาย แอล จี บลูเลียน อินเตอร์เนชั่นแนล

3.) บจก.เอชจีเอสที (ประเทศไทย)

4.) บจก.โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย

5.) บจก.เอ็มทีเอสโกลด์ (หรือห้างทองแม่ทองสุก)

6.) บจก.โตโยต้า มอเตอร์ เอเชีย แปซิปิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง

7.) บจก.ฮั่วเซ่งเฮง คอมโมดิทัช

8.) บจก.ซิเลซติกา (ประเทศไทย)

9.) บจก.มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย)

10.) บจก.เวสเทิร์น ดิติตอล (ประเทศไทย)

11.) บจก.บริงค์ส (ประเทศไทย)

12.) บจก.เอเชียนฮอนด้ามอเตอร์

13.) บริษัทไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (บมจ.)

14.) บจก.ออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย)

15.) บจก.เอ็นเอ็มบี-มินีแบ ไทย

16.) บจก.นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย)

17.) บจก.ฟาบริเนท

18.) บจก.ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์

19.) บจก.โซนี เทคโนโลยี (ประเทศไทย)

20.) บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย)

21.) บจก.อีซูซุมอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล โอเปอเรชั่น (ประเทศไทย) 22.) บจก.ไทย ไลอ้อน เมนทารี

23.) บจก.แม็กซิม อินทริเกรดเต็ด โปรดักส์ (ประเทศไทย)

24.) บจก.ไมโครชิพ เทคโนโลยี (ไทยแลนด์)

25.) บมจ.แคล-คอมพ์ อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย)

26.) บจก.ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย)

27.) บจก.ไดกิ้น อินดัสทรีส์ (ประเทศไทย)

28.) บจก.ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี (ประเทศไทย)

29.) บจก.ยูแทคไทย

30.) บจก.มิตซูบิชิ อีเลคทริค คอนซูมเมอร์ โปรดักส์ (ประเทศไทย)

31.) บจก.พีทีที โพลีเมอร์ มาร์เก็ตติ้ง

32.) บมจ.การบินไทย

33.) บจก.สยามมิชลิน

34.) บมจ.ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) (สาขา 1)

35.) บจก.บีเอ็มดับเบิลยู แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย)

36.) บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล

37.) บจก.โตโยต้า ทูโช (ไทยแลนด์)

38.) บจก.ค้าผลผลิตน้ำตาล

39.) บจก.ไทยรวมสินพัฒนาอุตสาหกรรม

40.) ราชการกองบัญชาการกองทัพไทย

41.) บจก.แอลแอลไอที (ประเทศไทย)

42.) บจก.ซูมิโตโม รับเบอร์ (ไทยแลนด์)

43.) บจก.สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น

44.) บจก.ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอล อุตสาหกรรม

45.) บจก.ซี.พี.เมอร์แชนไดซิ่ง

46.) บจก.เอสซีจี เพอร์ฟอร์มานซ์ เคมิคอลส์

47.) บจก.โรม อินทิเกรเต็ด ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย)

48.) บจก.แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย)

49.) บจก.สแนชั่น (ไทยแลนด์)

และ 50.) บจก.แคนนอน ปราจีนบุรี (ประเทศไทย)

ทั้งนี้ในภาพรวมปี 2563 มีบริษัทส่งออกรวมทั้งสิ้น 36,164 ราย ในจำนวนนี้ที่มีมูลค่าส่งออกระดับแสนล้านบาทมีจำนวน 5 ราย มูลค่าการส่งออกรวม 630,687 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 8.79% ของมูลค่าการส่งออกรวม

ส่วนบริษัทที่มีมูลค่าการส่งออกระดับหมื่นล้านบาท มีจำนวน 108 ราย มูลค่าการส่งออกรวม 2.83 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 39.47% บริษัทที่มีมูลค่าการส่งออกระดับพันล้านบาทมีจำนวน 859 ราย มูลค่าการส่งออกรวม 2.28 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 31.85% มูลค่าการส่งออกระดับร้อยล้านบาทมีจำนวน 3,521 ราย มูลค่าการส่งออกรวม 1.13 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 15.76% และมูลค่าการส่งออกระดับน้อยกว่าร้อยล้านบาท มีจำนวน 31,671 ราย มูลค่าการส่งออกรวม 296,655 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 4.13% ของมูลค่าการส่งออกโดยรวม

จากข้อมูลแสดงให้เป็นว่าบริษัทที่มีมูลค่าการส่งออกสูง ๆ ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยรวมถึงบริษัทส่งออกแถวหน้าของไทย ขณะที่บริษัทส่งออกของไทยโดยรวมมีมูลค่าส่งออกน้อยกว่าร้อยล้านบาทเป็นส่วนใหญ่

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ให้ความเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า การที่บริษัทส่งออกในกลุ่ม 50 อันดับแรกที่ส่วนใหญ่เป็นบริษัทจากต่างประเทศ หรือบริษัทข้ามชาติสะท้อนให้เห็นว่าจริง ๆ แล้วประเทศไทยเป็นฐานผลิตให้กับประเทศอื่น

ซึ่งแม้จะช่วยเพิ่มตัวเลขส่งออกให้กับประเทศก็จริง แต่ถ้าพูดถึงเม็ดเงินที่ตกถึงคนไทยเองก็ไม่ได้มาก แต่ตัวเลขส่งออกส่วนใหญ่จะไปตกกับบริษัทแม่ต่างชาติเสียส่วนใหญ่ หากในอนาคตบริษัทแม่เหล่านี้พิจารณาลงทุนหรือขยายฐานการลงทุนในประเทศอื่นที่มีข้อได้เปรียบด้านต่าง ๆ ดีกว่าไทย การส่งออกที่เป็นของประเทศไทยหรือผู้ประกอบการไทยจริง ๆ จึงอยู่ในสถานการณ์ที่น่าห่วง

ด้านดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การที่ภาคการส่งออกของไทยส่วนใหญ่อยู่ในมือของบริษัทต่างชาติแม้จะช่วยสร้างงานและสร้างเงินให้กับประเทศ แต่อีกด้านหนึ่งสะท้อนให้เห็นในหลายประเด็น เช่น การผลิตและส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของบริษัทไทยยังใช้เทคโนโลยี หรือใช้นวัตกรรมในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้ายังไม่มาก

ทำให้มูลค่าการส่งออกยังไม่สูง, ในสินค้าเกษตร หรือเกษตรแปรรูป ส่วนใหญ่ก็ยังไม่ได้ใช้เทคโนโลยี หรอนวัตกรรมในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้ามาก ส่วนใหญ่ยังส่งออกในรูปวัตถุดิบ หรือแปรรูปเล็กน้อย และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(FDI) ที่เข้ามาลงทุนในไทยไม่ได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับคนไทย ผิดกับ FDI ที่ไปลงทุนในจีนจะถูกบังคับเงื่อนไขให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีหรือนวัตกรรม ทำให้จีนมีการพัฒนาสินค้ารุดหน้าไปกว่าไทยมาก เป็นต้น

"สิ่งที่ผู้ประกอบการไทยต้องเร่งทำเพื่อผลักดันมูลค่าการส่งออกให้เพิ่มขึ้น ได้แก่

1.) ประเมินตัวเองว่าอยู่ตรงไหนของอุตสาหกรรม 4.0 เพราะบางคนอาจจะยังอยู่ 1.0 2.0 หรือ 3.0 ยังไม่ได้ใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเข้ามาช่วยมาก ซึ่งต้องเร่งปรับตัว

2.) ปรับโครงสร้างการการผลิตให้ตอบโจทย์เทรนด์ของโลกในเรื่องเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy หรือเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว)

3.) บริหารจัดการต้นทุนให้ต่ำสุดและประสิทธิภาพการผลิตสูงสุด และ

4.) รัฐบาลต้องประกาศตัวเองว่าจะผลักดันสินค้าใดของไทยบ้างให้เป็นสินค้าโปรดักส์แชมป์เปี้ยนของโลก และมีแผนงานยุทธศาสตร์ในการผลักดันอย่างเป็นรูปธรรม

‘เอ็มบีเค เซ็นเตอร์’ หรือ ที่คนไทยเรียกติดปากว่า ‘มาบุญครอง’ จะกลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังจากหนึ่งในแผนการรีโนเวตศูนย์การค้าครั้งใหม่ในรอบ 36 ปีนั้น มีชื่อของ ‘ดองกิ’ ราชาแห่งร้านดิสเคาน์สโตร์จากญี่ปุ่นติดเข้ามาอยู่ในโผด้วย

นายสมพล ตรีภพนารถ กรรมการผู้จัดการธุรกิจศูนย์การค้า บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทได้ทำการรีโนเวตครั้งใหญ่ในรอบ 36 ปี โดยมีการปรับเปลี่ยน จัดโซนนิ่งและพื้นที่ภายในใหม่ เพื่อให้ง่ายและสะดวกต่อการเดินช็อปปิ้ง รองรับความต้องการได้อย่างตรงจุด หลังจากห้างสรรพสินค้าโตคิวได้ปิดตัวลง

สำหรับการรีโนเวตพื้นที่บางส่วนภายในศูนย์ฯ จัดวางผังร้านค้าใหม่ เพิ่มเติมร้านค้าและบริการใหม่ๆ เพื่อรองรับกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่ ทั้งวัยทำงาน นักเรียน นักศึกษา และ กลุ่มครอบครัว

โดยแบ่งพื้นที่แต่ละชั้น ดังนี้

• ชั้น 1 จับมือกับเครือสหพัฒน์ทั้งในส่วนของไอ.ซี.ซี ,โอ.ซี.ซี. และร้านซูรูฮะ

• ชั้น 2 เปิดตัวร้านดองกิ (DON DON DONKI) สาขาแฟล็กชิฟสโตร์ที่ใหญ่ที่สุดในไทย เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมงและเน้นบริการสินค้าในกลุ่มอาหารเป็นหลัก

• ชั้น 3 อยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรยักษ์ใหญ่ในการเช่าพื้นที่

• ชั้น 4 เป็นโซนสินค้าไอทีทั้งหมด

ทั้งนี้ศูนย์การค้าเอ็มบีเค มีแผนเปิดตัวการรีโนเวตอย่างเป็นทางการในช่วงไตรมาส 3 นี้ ให้ได้อย่างน้อย 80% และจะเปิดได้เต็ม 100% ในช่วงปลายปี เพื่อรองรับกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่ ทั้งวัยทำงาน นักเรียน นักศึกษา และ กลุ่มครอบครัว ซึ่งปัจจุบันมีผู้มาใช้บริการราว 2-3 หมื่นคนต่อวัน โดยคาดการณ์ว่า ในช่วงไตรมาส 3 หลังวัคซีนโควิด-19 เริ่มถูกนำมาใช้ น่าจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้ากลับมาใช้บริการในศูนย์ได้อีกครั้ง

สำหรับไฮไลท์ของการรีโนเวต เอ็มบีเค ในครั้งนี้ เชื่อว่าน่าจะอยู่ที่การเปิดตัวร้านดองกิ สาขาแฟล็กชิฟสโตร์ที่ใหญ่ที่สุดในไทย ต่อจากทองหล่อ และ The Market ราชดำริ เพราะจะเป็นจิ๊กซอว์เติมเต็มการจากหายไปของโตคิวได้ด้วย

...ว่าแต่ทำไม เอ็มบีเค ถึงสนใจในตัว ‘ดองกิ’

‘ดองกิ’ หรือ ‘DON DON DONKI’ (ชื่อในไทย) ถือเป็นดิสเคาน์สโตร์ที่คนไทยที่ชอบไปเที่ยวญี่ปุ่นคุ้นเคยเป็นอย่างดีอยู่แล้ว หรือเรียกว่าเป็นร้านที่ใครไปญี่ปุ่น ก็ต้องแวะ โดยชูคอนเซ็ปต์ ‘ร้านค้าที่ขายเฉพาะแบรนด์ญี่ปุ่น’ ที่ตั้งใจเจาะกลุ่มคนญี่ปุ่นที่อาศัยในไทย คนไทยและนักท่องเที่ยว

ฉะนั้นการที่ ดองกิ มาเปิดในไทย และรวมถึงมาเปิดใหม่ในเอ็มบีเค จึงเป็นการตอบโจทย์กลุ่มนักท่องเที่ยวไทยที่เคยไปเที่ยวญี่ปุ่นบ่อยๆ นี่คือโอกาสทางตรง

ขณะเดียวกันโอกาสทางอ้อม เชื่อว่าจะมาจากการพลิกวิกฤติโควิด-19 ลามกรุง และทั่วโลกมาเป็นตัวผลักดัน หลังจากช่วงเวลานี้ในอดีตมักมีคนไทยไปเที่ยวญี่ปุ่นจำนวนมาก แต่พอเจอโรคระบาดหนัก ก็ทำให้อดไป การได้มา ดองกิ ก็เหมือนได้ซึมซับความรู้สึกที่คุ้นเคยทดแทนไปกลายๆ

สำหรับผลตอบรับของ ดองกิ ในช่วงที่ผ่านมากับ 2 สาขาที่เปิดอยู่ ถือว่าน่าสนใจ เพราะแค่เพิ่งเข้ามาทำตลาดในบ้านเราได้ 2 ปี แต่ก็มีผลประกอบการที่เติบโตแบบก้าวกระโดด โดยผลประกอบการ บริษัท ดองกิ (ประเทศไทย) จำกัด

• ปี 2562 มีรายได้ 160 ล้านบาท

• ปี 2563 มีรายได้ 728 ล้านบาท

เหตุผลที่ทำให้รายได้เติบโตอย่างก้าวกระโดดของดองกิ มาจาก...

1.) รูปแบบธุรกิจมีความเฉพาะเจาะจง ยากต่อการเลียนแบบ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบร้าน การจัดวางสินค้าที่ดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามาสำรวจ และค้นหาหรือแม้แต่การใช้ปากกาเมจิก เขียนป้ายบอกราคา

2.) มอบประสบการณ์ที่แตกต่าง นอกจากจะมีสินค้าที่เป็นซิกเนเชอร์ หาไม่ได้จากที่ไหน เสน่ห์อีกอย่างของดองกิ คือ การมอบประสบการณ์ที่มากกว่ามาช้อปปิ้ง อย่างดองกิ สาขาทองหล่อ นอกจากจะมีร้านค้า ร้านอาหาร เครื่องดื่ม คาเฟ่ เบเกอรี และคาราโอเกะ ส่วนด้านบน ก็ยังทำเป็นสวนสนุก และสปอร์ตเอนเตอร์เทนเมนต์ นำเข้าจากญี่ปุ่น ถือเป็นอีกหนึ่งกิมมิกที่ทำให้หลายคนอยากไปเช็คอิน

สำหรับ ดองกิ ในไทยนั้น ตั้งเป้าขยายให้ได้ 20 สาขาใน 5 ปี โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ยังมองไปถึงเมืองท่องเที่ยว อย่าง ภูเก็ต, เชียงใหม่ และ ระยอง อีกด้วย


ที่มา:

https://www.prachachat.net/marketing/news-605213

https://www.facebook.com/1387231808035873/posts/3635479016544463/

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย เผยโควิด -19 ระบาดระลอกใหม่ ส่งผลกระทบหนัก ยอดขายดิ่ง 10 - 30% วอนภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือด่วน เติมสภาพคล่องด้วยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เผยสภาพคล่องที่เหลือใช้ดำเนินธุรกิจได้ไม่เกิน 6 เดือน

นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เผยว่า จากข้อมูลผลของการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบค้าปลีก (Retailer Sentiment Index: RSI) เดือนมกราคม 2564 (รอบการสำรวจข้อมูลระหว่างวันที่ 19-26 มกราคม 2564) โดยสมาคมผู้ค้าปลีกไทยร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มีการสำรวจเป็นรายเดือน พบว่า ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก เดือนมกราคม 2564 ลดลงทันทีอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม

และเป็นการปรับลดลง จากความอ่อนไหวจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19ระลอกใหม่ แม้ภาครัฐจะใช้มาตรการเข้มข้นเพียง 28 จังหวัด ดัชนีความเชื่อมั่นก็ยังคงปรับตัวลดลงใกล้เคียงกับดัชนีความเชื่อมั่นเมื่อเดือนเมษายน 2563 จากครั้งที่เกิดการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกแรก ที่ภาครัฐมีมาตรการ Lock Down ทั้งประเทศ

ทั้งนี้ สมาคมฯ มองว่า ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะดีขึ้น รวมทั้งหวังว่าภาครัฐน่าจะมีมาตรการเยียวยาและกระตุ้นการใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง ดัชนีความเชื่อมั่นน่าจะมีทิศทางเดียวกับดัชนีเดือนพฤษภาคมและเดือนมิถุนายน 2563

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นต่อยอดขายสาขาเดิมแยกตามภูมิภาค ทางด้านดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการต่อยอดขายเดิมรายภูมิภาค ปรับลดลงจากเดือนธันวาคมในทุกภูมิภาค สะท้อนถึงสภาวะความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 อย่างชัดเจน

โดยเฉพาะภาคกลางซึ่งได้รับผลกระทบจาก super spreader ที่ตลาดกุ้งสมุทรสาคร รวมทั้งกรุงเทพ และปริมณฑล ที่มีอาณาเขตต่อเนื่องจากจังหวัดสมุทรสาคร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีแนวโน้มการบริโภคที่ขยายตัวได้ปานกลาง เนื่องจากประชากรส่วนหนึ่งเคลื่อนย้ายจากอุตสาหกรรมสู่ภูมิลำเนา ผสานกับแรงหนุนจากมาตรการของภาครัฐในการสนับสนุนสภาพคล่องและการใช้จ่าย ซึ่งจะช่วยประคับประคองการบริโภคภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้เมื่อเทียบกับภาคอื่น ๆ

ขณะเดียวกันผู้ประกอบการมองว่าแนวโน้มในอีก 3 เดือนข้างหน้า ดัชนีความเชื่อมั่นจะเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาคเช่นกัน เนื่องจากมั่นใจว่าภาครัฐมีบทเรียนจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกแรกเมื่อไตรมาสที่สอง 2563 และคาดหวังว่าคงต้องมีมาตรการเยียวยาและกระตุ้นการใช้จ่ายจากภาครัฐเช่นที่ผ่านมา

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นแยกตามประเภทร้านค้าเปรียบเทียบระหว่างเดือนมกราคมและเดือนธันวาคมที่ผ่านมา พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทุกประเภทของร้านค้าปลีกลดลงอย่างชัดเจน โดยเฉพาะร้านค้าปลีกประเภทห้างสรรพสินค้าและร้านค้าปลีกร้านอาหาร ซึ่งได้รับผลกระทบของมาตรการภาครัฐที่ประกาศปิดศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้าและร้านอาหารในเวลา 3 ทุ่ม

อย่างไรก็ตาม ผลจากการใช้มาตรการการทำงานจากบ้าน (WFH) ทำให้ร้านค้าวัสดุก่อสร้าง ซ่อมบำรุง เฟอร์นิเจอร์ กลับมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นสวนทางกลับดัชนีความเชื่อมั่นร้านค้าปลีกอื่น ๆ

ด้านผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้า มีความวิตกต่อการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ค่อนข้างมากสะท้อนถึงความเชื่อมั่นในเดือนมกราคม 2564 ที่ลดลงอย่างทันที ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางระดับที่ 50 หรือลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่งอย่างชัดเจน ในขณะที่ในเดือนธันวาคม 2563 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยกลางระดับที่ 50 ทั้งนี้สำหรับแนวโน้มดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้ายังคงมีความเชื่อมั่นที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยกลาง

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ ร้านค้าปลีกประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นในเดือนมกราคม ลดลงมากและรวดเร็ว จากที่ดัชนีความเชื่อมั่นเดือนธันวาคมยังอยู่เหนือระดับค่าเฉลี่ยกลางที่ระดับ 50 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นการจับจ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่หดตัวลงอย่างมาก เมื่อเทียบดัชนีประเภทร้านค้าทั้งสามประเภท ดูเหมือนว่าผู้ประกอบการค้าปลีกไฮเปอร์มาร์เก็ต รู้สึกวิตกกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 มากกว่าผู้ประกอบการร้านค้าสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ต

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ตและซูเปอร์มาร์เก็ตกลับมีความเชื่อมั่นที่สูงขึ้น สูงกว่าเกณฑ์ค่าเฉลี่ยกลางที่ 50 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นต่อมาตรการภาครัฐที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจใน 3 เดือนข้างหน้า

พร้อมกันนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการประเภท ร้านค้าวัสดุก่อสร้าง ในเดือนมกราคม มีความเชื่อมั่นดีขึ้นสวนทางกับทิศทางของดัชนีความเชื่อมั่นร้านค้าประเภทอื่น ๆ ที่ลดลงอย่างรุนแรง

สะท้อนได้ว่าร้านค้าวัสดุก่อสร้าง ได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และการปรับวิถีทำงานจากที่บ้าน (WFH) ทำให้มีความนิยมในการปรับภูมิทัศน์ภายในที่อยู่อาศัย ประกอบกับช่วงจัดซื้อจัดจ้างงบประมาณก่อสร้างภาครัฐ และวัสดุอุปกรณ์การก่อสร้างมีการปรับราคาที่สูงขึ้น

ผลจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ ประเภทร้านอาหาร ภัตตาคาร และเครื่องดื่ม มีความเชื่อมั่นที่ลดลงอย่างมีนัยยะชัดเจน มากกว่าร้านค้าประเภทอื่นๆ และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ 50 ค่อนข้างมากและเมื่อเทียบกับความเชื่อมั่นในเดือนธันวาคม 2563 ก็ยังลดต่ำลงอย่างเห็นได้ชัดเจน ซึ่งอาจเป็นเพราะร้านอาหารมักเป็นธุรกิจที่อ่อนไหวต่อการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 และอาจได้รับผลกระทบจากมาตรการจำกัดเวลาการให้บริการและจำนวนการให้บริการแต่ละรอบที่ลดลงจากมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม

นายญนน์ กล่าวว่า การประเมินผลกระทบต่อยอดขายและกำลังซื้อและผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ จากมุมมองผู้ประกอบการ คือ 1.) ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบด้านยอดขาย ที่ลดลง 10-30% 2.) ผู้ประกอบการกล่าวว่า ด้วยยอดขายที่หายไป สภาพคล่องที่เหลืออยู่จะสามารถดำเนินธุรกิจได้อีกไม่เกิน 6 เดือน หากไม่มีมาตรการเยียวยาและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ตรงเป้า 3.) ผู้ประกอบการกว่า 80% ประเมินว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงมากว่า 25% เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม ปี 2563

สำหรับข้อ 4.) หากเปรียบเทียบยอดขายจากมาตรการ "ช้อปดีมีคืน" เมื่อช่วงสิ้นปี 2563 (วงเงิน 30,000 บาท) เมื่อเทียบกับมาตรการช้อปช่วยชาติ (วงเงิน 15,000 บาท) ในปี 2561 - 2562 ผู้ประกอบการ 55% ตอบว่า มียอดขายเท่าเดิมและน้อยกว่าเดิม ขณะที่ผู้ประกอบการ 43% ตอบว่า ยอดขายเพิ่มขึ้นไม่ถึง 25% และมีเพียง 2% ที่ตอบว่า ยอดขายเพิ่มขึ้นมากกว่า 25%

ขณะที่ 5.) ผู้ประกอบการกว่า 90% อยากให้ภาครัฐเปิดโอกาสให้เข้าร่วมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ อย่างเท่าเทียมกัน อาทิ โครงการคนละครึ่ง 6.) ผู้ประกอบการเสนอแนะให้ภาครัฐช่วยเหลือเรื่องสภาพคล่องอย่างเร่งด่วน ด้วยมาตรการภาษีลดภาระค่าใช้จ่าย และ สนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์พิจารณาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) แก่ผู้ประกอบการโดยเร็ว เนื่องจากด้วยสภาพคล่องที่เหลืออยู่จะสามารถดำเนินธุรกิจได้ไม่เกิน 6 เดือน

อย่างไรก็ตาม ข้อ 7.) ผู้ประกอบการอยากให้ภาครัฐประกาศการจ้างงานเป็นรายชั่วโมง เพื่อให้สอดคล้องกับการบริการต่อผู้บริโภคที่มาเป็นช่วงเวลา โดยให้ใช้กับธุรกิจค้าปลีกและร้านอาหารเป็นการเฉพาะก่อน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top