Tuesday, 1 July 2025
ECONBIZ NEWS

#INTERLINK จัดงานสัมมนา Total Solution Indoor / Outdoor & Data Center for Professional

#INTERLINK (17 ก.ค. 2564)

คุณสมบัติ อนันตรัมพร ประธาน บมจ. อินเตอร์ลิ้งค์ฯ จัดงานสัมมนา Total Solution Indoor / Outdoor & Data Center for Professional

โดยเล่าถึงความตั้งใจในการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาประเทศไทย​ พร้อมนำประสบการณ์มาอัปเดตรายละเอียดเรื่องระบบสายสัญญาณ และอุปกรณ์เน็ตเวิร์ค​ รวมถึง Data Center​ มาแชร์ให้กับกลุ่ม Consult อาจารย์มหาวิทยาลัยกว่า 50 หน่วยงาน เพื่อให้กลุ่มอาจารย์เห็นภาพจริง และเข้าใจอย่างชัดแจ้ง และตอบโจทย์ทุกความต้องการ

???? LIVE จากสนง.ใหญ่ อินเตอร์ลิ้งค์ กรุงเทพฯ

พลิกวิกฤต“โควิด” เป็นโอกาส รัฐดันอุตสาหกรรมสมุนไพร ส่งออกโต 93% ส่งเสริมปลูก“ฟ้าทะลายโจร” สร้างรายได้เข้าประเทศและเกษตรกร

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลด้านการพัฒนาสมุนไพรไทย ว่า  ขณะนี้ สมุนไพรไทยเป็นพืชเศรษฐกิจและพืชสุขภาพที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมูลค่าการบริโภควัตถุดิบสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรภายในประเทศ (รวมที่นำเข้าด้วย)  เพิ่มขึ้นจาก 4.3 หมื่นล้านบาทในปี 2560 เป็น 5.2 หมื่นล้านบาทในปี 2562 การส่งออกสินค้าเครื่องเทศและสมุนไพร ไตรมาสแรกปีนี้ เพิ่มขึ้น 93% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สำหรับการดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้สานต่อนโยบายรัฐบาลร่วมกับหลายภาคส่วนเพื่อส่งเสริมผลิตผลของสมุนไพรไทยให้มีศักยภาพตามความต้องการของตลาด สนับสนุนการปลูกพืชสมุนไพรกว่า 6.4หมื่นไร่ มีการจัดทำมาตรฐานสินค้า GAP และมาตรฐานพืชสมุนไพร มีการจัดทำแผนที่ความเหมาะสมของที่ดินสำหรับปลูกพืชสมุนไพร (Land Suitability) จำนวน  24 ชนิด เช่น ฟ้าทะลายโจร กระชายขาว ขมิ้นชัน ไพล พริกไทย เพชรสังฆาต เป็นต้น 

นางสาวรัชดา กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีแผนร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเกษตรกรในพื้นที่ส.ป.ก.ในเขตอีอีซี  ประมาณ 10,000 ไร่ โดยจะส่งเสริมการทำแปลงใหญ่สมุนไพร การเข้าถึงแหล่งเงินทุน การวิจัยและพัฒนาร่วมกับสถาบันการศึกษา  ส่วนเรื่องการตลาด ได้มีความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข และเอกชน เตรียมเปิดโครงการตลาดสดขนาดใหญ่ จำหน่ายพืชสมุนไพรสดและเครื่องเทศปลอดภัย และจัดทำตลาดออนไลน์ภายใต้ชื่อ “DGT Farm” เป็นพื้นที่ให้เกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพรตามมาตรฐาน GAP และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ได้ขายของกับผู้บริโภคโดยตรง

นางสาวรัชดา กล่าวว่า สำหรับการส่งเสริมการปลูกฟ้าทะลายโจรเพื่อให้มีเพียงพอต่อความต้องการในปัจจุบันนั้น  มีหลายหน่วยงานได้เข้ามาร่วมมือกับกระทรวงฯ อาทิ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) จัดส่งกล้าและเมล็ดพันธุ์ ให้กับสำนักงาน กศน.ทั่วประเทศ เพื่อแจกแก่นักศึกษากศน. และประชาชน ขณะที่กระทรวงยุติธรรมได้เดินหน้าให้เรือนจำ/ทัณฑสถานที่มีความพร้อม  ดำเนินการเพาะปลูกฟ้าทะลายโจร เบื้องต้นมี 125แห่ง ทั้งนี้ เกษตรกรและประชาชนทั่วไปที่สนใจจะปลูกฟ้าทะลายโจรหรือพืชสมุนไพรอื่นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ สามารถติดต่อเกษตรอำเภอได้ เพื่อรับคำแนะนำในเรื่องการเพาะปลูกและการตลาด  

“รัฐบาลเดินหน้าส่งเสริมเกษตรกรทั่วประเทศหันมาปลูกพืชสมุนไพรที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน เพื่อรองรับความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นไปตามแผนแม่บทว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย อีกทั้งผลักดันต่อเนื่องถึงการปลูกในระดับอุตสาหกรรมและการส่งออก ที่ต้องคำนึงถึงการแปรรูปเพิ่มมูลค่าและปริมาณการผลิต โดยแนวทางที่ได้ดำเนินการและมีการบูรณาการระหว่างภาคส่วนแล้วนั้น จะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นแก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน คนไทยมีพืชสมุนไพรบริโภคอย่างพอเพียง อีกทั้งส่งเสริมให้อุตสาหกรรมสมุนไพรเป็นอุตสาหกรรมที่โดดเด่น สร้างรายได้เข้าประเทศอย่างมาก” นางสาวรัชดา กล่าว

“บิ๊กตู่” หวังเปิด “เกาะสมุย” รับต่างชาติเที่ยวไทยเดินตามแผน

นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบศ.) กล่าวถึงโครงการ “สมุยพลัสโมเดล” ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนการเปิดประเทศไทยเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศว่า นายกรัฐมนตรี ขอบคุณทุกฝ่ายที่ช่วยกันเตรียมการและผลักดันการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติสู่เกาะสมุย เกาะพงัน เกาะเต่า ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ภายใต้รูปแบบสมุยพลัสโมเดล ซึ่งถือเป็นความต่อเนื่องจากการเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ 

ทั้งนี้ได้สะท้อนถึงการบริหารจัดการด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่เป็นไปตามมาตรการอย่างเคร่งครัด ทั้งมาตรการการเฝ้าระวังในพื้นที่ มาตรการป้องกันควบคุมโรค มาตรการป้องกันส่วนบุคคล มาตรการด้านสังคมและการกำกับติดตาม รวมทั้งระบบการรายงาน การส่งต่อและการรักษาอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ สร้างความเชื่อมั่นให้ต่างชาติที่จะเดินทางมา  เบื้องต้นจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่จะเข้ามาสมุยในระหว่างวันที่ 15 ก.ค. – 15 ส.ค. นี้ประมาณ 1,000 คน คาดว่าจะสร้างรายได้กว่า 180 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเจาะกลุ่มลูกค้าเก่าของทั้งสามเกาะ เช่น กลุ่มยุโรป กลุ่มตะวันออกกลาง และกลุ่มครอบครัว  

ขณะที่มีการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวระหว่างจังหวัดโดยมีการเปิดเส้นทางการบินระหว่างเกาะสมุยและเกาะภูเก็ตบินแบบวันเว้นวันด้วย และ ในเดือน ส.ค. 64 จะขยายพื้นที่นำร่องไปยังพื้นที่อื่นๆ ได้แก่ เกาะพีพี ไร่เล และเกาะไหง จ.กระบี่ รวมถึงเขาหลัก และเกาะยาว จ.พังงา จากนั้นในเดือน ก.ย.จะเริ่มในพื้นที่ทางบก ได้แก่ พัทยา เชียงใหม่ และบุรีรัมย์ ที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโมโตจีพีต่อไป

“โฆษกศบศ.”เผย “บิ๊กตู่”ขอบคุณทุกฝ่ายเดินหน้าสมุยพลัส เรียกความเชื่อมั่นจากต่างชาติ ปลื้มประชาชนแห่ใช้สิทธิมาตรการรัฐเกือบ 34 ล้านคน ฟุ้งเงินสะพัดกว่า3หมื่นล้าน ทั้งคนละครึ่ง บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ยิ่งใช้ยิ่งได้

นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบศ.) กล่าวว่า รัฐบาลยังคงเดินหน้าเปิดการท่องเที่ยว  โดยล่าสุดมีการเปิดโครงการสมุยพลัสโมเดลตามแผนการเปิดประเทศไทยเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ขอบคุณทุกฝ่ายที่ช่วยกันเตรียมการและผลักดันการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติสู่เกาะสมุย เกาะพงัน เกาะเต่า ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ภายใต้รูปแบบสมุยพลัสโมเดล ซึ่งถือเป็นความต่อเนื่องจากการเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ สะท้อนถึงการบริหารจัดการด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่เป็นไปตามมาตรการอย่างเคร่งครัด ทั้งมาตรการการเฝ้าระวังในพื้นที่ มาตรการป้องกันควบคุมโรค มาตรการป้องกันส่วนบุคคล มาตรการด้านสังคมและการกำกับติดตาม รวมทั้งระบบการรายงาน การส่งต่อและการรักษาอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ สร้างความเชื่อมั่นให้ต่างชาติที่จะเดินทางมา เบื้องต้นจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่จะเข้ามาสมุยในระหว่างวันที่ 15 ก.ค. – 15 ส.ค. นี้ ราว 1,000 คน คาดว่าจะสร้างรายได้กว่า 180 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเจาะกลุ่มลูกค้าเก่าของทั้งสามเกาะ เช่น กลุ่มยุโรป กลุ่มตะวันออกกลาง และกลุ่มครอบครัว  ขณะที่มีการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวระหว่างจังหวัดโดยมีการเปิดเส้นทางการบินระหว่างเกาะสมุยและเกาะภูเก็ตบินแบบวันเว้นวันด้วย ทั้งนี้ ในเดือน ส.ค. 64 จะขยายพื้นที่นำร่องไปยังพื้นที่อื่นๆ ได้แก่ เกาะพีพี ไร่เล และเกาะไหง จ.กระบี่ รวมถึงเขาหลัก และเกาะยาว จ.พังงา จากนั้นในเดือน ก.ย.จะเริ่มในพื้นที่ทางบก ได้แก่ พัทยา เชียงใหม่ และบุรีรัมย์ ที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโมโตจีพีต่อไป 
     
นายธนกร กล่าวว่า รัฐบาลยังได้วางแผนกระตุ้นการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายในประเทศคู่ขนานกันไป โดยหลังจากที่รัฐบาลออกมาตรการลดภาระค่าครองชีพ กระตุ้นเศรษฐกิจออกไป มีเสียงตอบรับจากประชาชนทั่วประเทศใช้จ่ายผ่านโครงการอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ยอดการใช้จ่ายของแต่ละโครงการ ผู้ใช้สิทธิสะสม รวม 33.87 ล้านคน ยอดใช้จ่าย สะสม รวม 30,885.4 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.โครงการคนละครึ่ง เฟส 3 มีผู้ใช้สิทธิสะสม 20.70 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 27,922.5 ล้านบาท แบ่งเป็นส่วนที่ประชาชนจ่ายสะสม 14,105.7 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่ายสะสม 13,816.8 ล้านบาท 2.โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ มีผู้ใช้สิทธิสะสม 46,447 คน ยอดใช้จ่ายสะสม 354.9 ล้านบาท 3.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีผู้ใช้สิทธิสะสม 12.46 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 2,477 ล้านบาท และ 4.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ มีผู้ใช้สิทธิสะสม 665,464 คน ยอดใช้จ่ายสะสม 131 ล้านบาท โดยใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้า หรือผู้ให้บริการแบบพบหน้า (face-to-face) ก่อน ส่วนแนวทางขยายสิทธิในการสั่งซื้ออาหารผ่านผู้ประกอบการแพลตฟอร์มดีลิเวอรี่และทางออนไลน์นั้น ขณะนี้ธนาคารกรุงไทยอยู่ระหว่างพิจารณาเงื่อนไขและพัฒนาระบบ โดยคาดว่าจะใช้เวลาในการดำเนินการอีกสักระยะ เพื่อให้มีความพร้อม สะดวกต่อการใช้งานของประชาชนในอนาคต ทั้งนี้ สำหรับยอดการลงทะเบียนล่าสุดของวันที่ 15 ก.ค. 2564 โครงการคนละครึ่งมีการลงทะเบียนแล้ว 29.62 ล้านคน เหลืออีก 1.37 ล้านคนจะครบ 31 ล้านคน ส่วนโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ลงทะเบียนแล้ว 490,860 สิทธิ เหลืออีก 3,509,140 จะครบ 4 ล้านคน ซึ่งกระทรวงการคลังจะเปิดให้ลงทะเบียนไปจนกว่าจะครบจำนวนที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ ประชาชนสามารถใช้จ่ายในโครงการต่างๆ ได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ยัน ฐานะทางการคลัง ยังแกร่ง มีสภาพคล่อง รองรับมาตรการรัฐ ชี้ ระยะยาวเร่งเพิ่มประสิทธิภาพเก็บภาษี

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. เปิดเผยว่า รัฐบาลต้องการลดภาระให้กับประชาชน โดยเน้นครอบคลุมให้ตรงจุด จากการออกมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อให้กับประชาชน โดยยืนยันว่าปัจจุบัน ฐานะทางการคลัง มีความแข็งแกร่ง มีสภาพคล่องที่เพียงพอ ที่จะรองรับมาตรการเยียวยาประชาชน

ทั้งนี้ในระยะสั้น และระยะกลาง จะต้องบริหารรายได้ รายจ่าย รวมทั้งเงินกู้ เพื่อทำให้เงินคงคลังอยู่ในระดับเหมาะสมส่วนในระยะยาวมีความจำเป็นที่ต้องเพิ่มศักยภาพทางการคลัง ทำให้งบสมดุล ลดการขาดดุล เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี เพื่อรองรับความไม่แน่นอนในอนาคต

พาณิชย์ชงครม.เร่งแก้แรงงานภาคธุรกิจขาดแคลน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน ด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) ผ่านระบบ VDO conference โดยที่ประชุมได้หารือกันถึงเรื่องแรงงานต่างด้าวที่ขาดแคลนสำหรับภาคการผลิตทั้งภาคการเกษตรอุตสาหกรรม โดยกระทรวงพาณิชย์รับว่า จะนำเรื่องนี้ไปรายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบปัญหาและดำเนินการแก้ไขต่อไป รวมทั้งการใช้แรงงานข้ามเขตในบางกรณี เช่น ช่วยเก็บผลไม้หรือตามความจำเป็น ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจอนุมัติในแต่ละจังหวัดด้วย

ส่วนเรื่องการผลักดันการส่งออกนั้น ที่ประชุมเห็นตรงกันว่าแม้ในปัจจุบันตัวเลขการส่งออกถือว่าดีมาก แต่ก็มีปัญหาเรื่องของตู้คอนเทนเนอร์ทั้งนำเข้าและส่งออก เข้าสู่สภาวะสมดุลแล้ว ตัวเลขนำเข้าตู้คอนเทนเนอร์ ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงพฤษภาคมมีจำนวน 2,200,000 TEU ส่งออก 2,000,000 TEU ยังมีตู้เหลืออยู่ประมาณ 200,000 TEUที่สามารถใช้ได้ แต่เนื่องจากในภาคปฏิบัติจริงจำนวนหนึ่งต้องรอขั้นตอนในการนำสินค้าออกทำให้ตู้ไม่ว่าง และภาคเอกชนบางส่วนเคลียร์ตู้ ทำให้บางช่วงตู้ขาดแคลนในบางช่วงเวลา 

ดังนั้นจึงเห็นว่าควรร่วมกันสร้างแรงจูงใจให้เรือขนาดใหญ่เข้ามาเทียบท่าที่แหลมฉบังมากขึ้น โดยควรเปิดโอกาสเรือสินค้าขนาดใหญ่สามารถถ่ายลำระหว่างทางไปยังประเทศอื่นได้ด้วย เรื่องนี้ที่ประชุมได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์ร่วมกับกระทรวงคมนาคมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนหารือร่วมกันเพื่อกำหนดมาตรการออกมา ส่วนเรื่องค่าระวางเรือ ภาคเอกชนยอมรับว่าเป็นไปตามกลไกราคาในตลาด อยากให้มีการลดค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่ม จึงได้มอบให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์หารือกับภาคเอกชนต่อไปว่ามีส่วนใดสามารถช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้บ้าง

‘สุริยะ’ เผย ขนย้ายสารเคมีสไตรีนโมโนเมอร์ของรง.หมิงตี้ แล้ว 650 ตัน คาดแล้วเสร็จทั้งหมด 17 ก.ค.นี้ สั่ง กรอ. เร่งตรวจสอบโรงงานที่ใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต ในเขตชุมชนและเป็นโรงงานที่ได้รับอนุญาตเป็นระยะเวลานาน

ความคืบหน้าการขนย้ายสารสไตรีนโมโนเมอร์ ที่ตกค้างในพื้นที่ที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ บริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด จังหวัดสมุทรปราการ

ล่าสุด นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ระบุว่าได้ทำการขนย้ายสารเคมีสไตรีนโมโนเมอร์ไปแล้ว 650 ตัน (ข้อมูล ณ วันที่ 15 ก.ค. 64) คาดว่าจะสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 17 กรกฎาคมนี้

นอกจากนี้ นายสุริยะ ยังได้สั่งการ กรอ.เร่งตรวจสอบโรงงานที่มีการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการผลิตยางเรซินสังเคราะห์ ยางอีลาสโตเมอร์ พลาสติก โดยเน้นโรงงานในพื้นที่ชุมชนและเป็นโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการโรงงานเป็นระยะเวลานานเป็นอันดับแรก

ด้านนายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) บอกว่า กรอ.ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานที่มีการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการผลิตยางเรซินสังเคราะห์ ยางอีลาสโตเมอร์ พลาสติก จำนวน 92 โรงงาน และโรงงานประกอบกิจการทำเคมีภัณฑ์ สารเคมี หรือวัสดุเคมี ซึ่งมิใช่ปุ๋ย จำนวน 460 โรงงาน เน้นโรงงานในพื้นที่ชุมชนและเป็นโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการโรงงานเป็นระยะเวลานานเป็นอันดับแรก

โดยเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 ได้มอบหมายให้นายวีระกิตติ์ รันทกิจธนวัชร์ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กองบริการงานอนุญาตโรงงาน 1 กองส่งเสริมเทคโนโลยีความปลอดภัยโรงงาน และกองบริหารจัดการวัตถุอันตราย เข้าร่วมตรวจสอบโรงงาน บริษัท ไทยโทเรซินเทติคส์ จำกัด เขตบางเขน กรุงเทพฯ เป็นที่แรก

และมีแผนที่จะตรวจสอบโรงงานในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ร่วมกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ประมาณ 50 โรงงาน ตลอดเดือนกรกฎาคมนี้

ส่วนกรณีสารสไตรีนที่คงค้างอยู่ภายใน บริษัท หมิงตี้เคมีคอล จำกัด ที่เกิดเหตุเพลิงไหม้บริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด ข้อมูลเบื้องต้นเป็นการคาดการณ์ปริมาณสารที่ยังคงเหลืออยู่จากทีมปฏิบัติการฉุกเฉินและผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทสารเคมีที่เข้าไปตรวจสอบว่ามีประมาณ 600 ตัน

เนื่องจากบริเวณที่วางถังบรรจุสไตรีนยังมีความเสี่ยงและอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงาน โดยหลังจากทีมปฏิบัติงานได้เข้าควบคุมสถานการณ์ดังกล่าวเพื่อไม่ให้เกิดการทำปฏิกิริยาต่อเนื่องของสารเคมีจนปลอดภัยต่อการขนย้ายได้แล้ว จึงได้ตรวจวัดปริมาณสารอีกครั้ง พบว่ามีสารสไตรีนอยู่ประมาณ 1,000 ตัน ซึ่งสารสไตรีนทั้งหมดจะดำเนินการขนส่งไปกำจัดให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 17 กรกฎาคม 2564

“เบื้องต้นสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรปราการ (สอจ.) มีคำสั่งมาตรา 39 แห่ง พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2562 ให้บริษัทฯ หยุดประกอบกิจการโรงงานทั้งหมดและให้จัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่เกิดจากเพลิงไหม้ให้เป็นไปตามกฎหมายและให้จัดการสารเคมีที่ตกค้างในภาชนะบรรจุให้มีสภาพปลอดภัยและไม่เป็นอันตรายต่อผู้ที่อยู่อาศัยใกล้เคียง ซึ่งจากการประสานกับผู้แทนโรงงาน ได้รับคำยืนยันว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเพลิงไหม้ทั้งหมด ทางบริษัท หมิงตี้ เคมีคอลฯ จะเป็นผู้รับผิดชอบ

ขณะเดียวกันในส่วนของการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว กระทรวงฯ กำลังดำเนินการรับเรื่องราวร้องทุกข์ผ่านศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ 3 แห่ง ทั้งที่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรปราการ สถานีตำรวจภูธรอำเภอบางแก้ว และบริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด ซึ่งผู้ได้รับผลกระทบได้เข้ามายื่นคำขออย่างต่อเนื่อง


โปรเด็ด! ถึง 31 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

สินมั่นคง หักดับ ยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิด หลังเห็นยอดติดเชื้อพุ่งติดหลักหมื่นคนต่อวัน อ้างเป็นการบริหารความเสี่ยงให้มีประสิทธิภาพ จึงใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ฯ แบบ เจอ จ่าย จบ

วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้ทำหนังสือแจ้งยกเลิกให้ความคุ้มครองประกันภัยโควิด แบบเจอ จ่าย จบ โดยในเอกสารระบุว่า

ด้วยผลสืบเนื่องจากการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 อันเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่ทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง และมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูง จึงนับเป็นภาวะวิกฤตด้านสาธารณสุขในระดับที่ท้าทายจนไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าสถานการณ์จะพัฒนาไปสู่จุดใด ส่งผลให้บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ต้องบริหารความเสี่ยงให้มีประสิทธิภาพ

บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) จึงมีความจำเป็นต้องใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยการติดเชื้อไวรัสโคโรนาแบบ เจอ จ่าย จบ หรือ COVID 2 in 1 ตามแบบและข้อความ หมวดที่ 2 เงื่อนไขทั่วไป และข้อกำหนด ข้อ 2.4.3 และข้อ 2.5.1 โดยให้กรมธรรม์ประกันภัยข้างต้นสิ้นสุดความคุ้มครองทั้งฉบับ เมื่อล่วงพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ผู้เอาประกันได้รับหนังสือเป็นต้นไป และบริษัทฯ จะคืนค่าเบี้ยประกันภัยที่ได้รับมาแล้วแก่ผู้เอาประกันให้แล้วเสร็จภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่กรมธรรม์ประกันภัยสิ้นผลบังคับ โดยหักเบี้ยประกันภัยสำหรับระยะเวลาที่กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ได้ใช้บังคับมาแล้วออกตามส่วน

การตัดสินใจดังกล่าว บริษัทฯ ได้มีการพิจารณาอย่างรอบคอบและเฝ้าติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ด้วยความห่วงใยมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการทบทวนผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับการดำเนินธุรกิจ และการกำหนดทางเลือกและแนวทางที่จะช่วยให้บริษัทฯ สามารถบริหารทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ เพื่อให้ความคุ้มครองและดูแลลูกค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์และบริการทั้งหมดของบริษัทฯ อันได้แก่ ประกันภัยรถยนต์ ประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุและการเดินทาง และประกันภัยอื่น ๆ ได้อย่างดีที่สุดและยั่งยืนในระยะยาว

สินมั่นคงประกันภัย ขออภัยลูกค้าเป็นอย่างสูงที่ได้แจ้งยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิด

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ บริษัทประกันวินาศภัยหลายแห่ง ได้ทยอยเลิกขายประกันภัยโควิดแบบ เจอ จ่าย จบ แล้ว เนื่องจากสถานการณ์ระบาดรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่พบว่า มีบริษัทใดที่ทำการบอกเลิกกรมธรรม์ มีเพียงสินมั่นคงประกันภัย เท่านั้นที่ถอดใจก่อน

ทั้งนี้ จากข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) พบว่า ประกันภัยโควิด (ณ 15 มิ.ย. 2564) มีเบี้ยประกันรวม 9,070 ล้านบาท คิดจำนวนกรมธรรม์ทั้งหมด 26.41 ล้านกรมธรรม์ ยอดจ่ายเคลมประกันรวมกว่า 1,697 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 2,095% จากสิ้นปี 2563 ที่มียอดเคลมเพียง 77.3 ล้านบาท โดยเฉพาะหลังจากช่วงระบาดโควิดระลอก 3 ยอดจ่ายเคลมเพิ่มขึ้นกว่า 770.26% จากสิ้นเดือน เม.ย. 2564 ที่มียอดเคลมเพียง 195 ล้านบาท โดยตัวเลขยอดเคลมสูงสุดเข้ามาในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย. 2564


ที่มา : https://www.prachachat.net/finance/news-700771


โปรเด็ด! ถึง 31 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

นายกฯ สั่ง เร่งช่วยลูกหนี้พื้นที่ล็อกดาวน์ ให้ คลัง ถก แบงค์ชาติ หามาตรการผ่อนปรนด่วน

นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบศ.) กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งการในที่ประชุม ครม. เมื่อ 13 ก.ค. 64 ให้รีบหารือกันโดยเร่งด่วน เพื่อหามาตรการผ่อนปรนการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย หรือการเลื่อนงวดการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ลูกค้า ทั้งที่เป็นประชาชนและผู้ประกอบการอย่างจริงจัง รวมถึงช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบ 

นายธนกร กล่าวว่า ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย และสมาคมธนาคารนานาชาติ จึงร่วมกันออกออกมาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ลูกหนี้ SMEs และรายย่อย เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 เดือน ให้กับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงทั่วประเทศ ซึ่งได้แก่ ลูกหนี้ทั้งที่เป็นนายจ้างและลูกจ้างในสถานประกอบการในพื้นที่ควบคุมสูงสุด 10 จังหวัด และนอกพื้นที่ควบคุมแต่ต้องปิดกิจการจากมาตรการควบคุมการระบาดของภาครัฐ เริ่มตั้งแต่งวดการชำระหนี้เดือนกรกฎาคม 2564 หรือเดือนสิงหาคมเป็นต้นไปแล้วแต่กรณี

นายธนกร กล่าวว่า สำหรับลูกหนี้ที่ยังเปิดกิจการได้แต่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการระบาดของภาครัฐจะพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ตามความจำเป็นและสอดคล้องกับสถานการณ์ของลูกหนี้ เริ่มตั้งแต่งวดการชำระหนี้เดือนกรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป ซึ่งเมื่อหมดระยะเวลาพักชำระหนี้แล้ว สถาบันการเงินจะไม่เรียกเก็บเงินต้นและดอกเบี้ยที่ค้างอยู่ในทันที เพื่อไม่ให้เป็นภาระหนักกับลูกหนี้ โดยการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยภายใต้มาตรการนี้ เป็นเพียงการเลื่อนการชำระออกไป ลูกหนี้ที่ยังมีศักยภาพและสามารถชำระหนี้ได้ ควรชำระหนี้ต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้เป็นภาระหนี้ในอนาคตเพิ่มขึ้นสูงเกินจำเป็น 

นายธนกร กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลมีมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือทั้งประชาชนและผู้ประกอบการหลายๆ มาตรการ โดยเฉพาะมาตรการช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เช่น สินเชื่อฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย ให้ผู้ประกอบการรายย่อยในธุรกิจท่องเที่ยวและ Supply Chain สามารถกู้เงินกับธนาคารออมสิน วงเงินต่อรายอยู่ที่ 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 3.99% ต่อปี ซึ่งตอนนี้ อนุมัติเงินกู้ไปแล้ว จำนวน 2,885 ราย วงเงินรวม 1,218 ล้านบาท

นายธนกร กล่าวว่า สินเชื่ออิ่มใจ ธนาคารออมสินให้กู้กับผู้ประกอบการร้านอาหารหรือเครื่องดื่ม วงเงินต่อราย อยู่ที่ 100,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 3.99% ต่อปี ระยะเวลากู้ ไม่เกิน 5 ปี ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 งวดแรก และสินเชื่อสำหรับ SMEs ขนาดย่อมและขนาดกลาง  ได้แก่ สินเชื่อ Extra cash โดย SME Bank ให้กู้กับ SMEs ขนาดย่อมในธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจอื่น วงเงินรายละ 3 ล้านบาท ปัจจุบันอนุมัติแล้ว 4,283 ราย วงเงินรวม 7,335 ล้านบาท และสินเชื่อมีที่มีเงิน นอกจากนี้ ยังมีมาตรการเสริมสภาพคล่องสำหรับผู้ประกอบการทั่วไป ได้แก่ มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ และมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู

รมว.เฮ้ง รับลูกนายก ลงพื้นที่ซาวด์เสียงเอกชน เดินมาตรการเยียวยาแรงงาน ตอบโจทย์ธุรกิจ 

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 ก.ค.64 ได้ออกมาตรการช่วยเหลือแรงงานในระบบประกันสังคม และนอกระบบประกันสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการและมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด -19 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัดกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมทั้ง 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเวลา 1 เดือนนั้น โดยประเภทกิจการที่ให้ความช่วยเหลือ จากเดิม 4 สาขา เพิ่มเติมเป็น 9 สาขานั้น ในเรื่องนี้ ท่านนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีความห่วงใยภาคแรงงานทั้งนายจ้างและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จึงได้สั่งการให้ผมลงพื้นที่รับฟังเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการและภาคเอกชน เพื่อเร่งขับเคลื่อนมาตรการโดยเร็ว ทั้งนี้ ผมได้กำชับให้สำนักงานประกันสังคมเร่งประชุมหารือกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ได้ความชัดเจนกำหนดรายละเอียด เงื่อนไขหลักเกณฑ์ให้แล้วเสร็จ ก่อนที่จะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาในสัปดาห์หน้าให้ความเห็นชอบ เพื่อดำเนินการต่อไปได้ 

ขณะที่ นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย 
(อีคอนไทย) กล่าวว่า โดยภาพรวมเห็นด้วยกับรูปแบบมาตรการช่วยเหลือเยียวยากลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัด เป็นการจ่ายเงินเติมเพิ่มให้ผู้ประกอบการและแรงงานทั้งในและนอกระบบประกันสังคม วงเงิน 30,000 ล้านบาท แม้ยังไม่กำหนดเงื่อนไขที่ชัดเจน แต่การช่วยเหลือในภาพรวมรอบนี้ถือว่าดี เพราะเป็นการช่วยเหลือทั้งลูกจ้างและนายจ้างในระบบและนอกระบบ 

ด้าน นายเกรียงไกร แก้วเกตุ ประธานสมาพันธ์แรงงานแท็กซี่ไทย ที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการแรงงาน กล่าวว่า ปัจจุบันสมาพันธ์มีสมาชิกกว่า 2,000 คน และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ช่วงโควิดได้รับผลกระทบโดยตรง 
ทำให้รายได้ลดลง ดีใจมากที่รัฐบาลออกมาช่วยเหลือเยียวยา เห็นความสำคัญของพี่น้องแรงงาน โดยเฉพาะคนขับแท็กซี่ที่ต้องหาเช้ากินค่ำ เงินเยียวยาส่วนนี้จะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้ สิ่งที่อยากให้ช่วยเหลือตอนนี้ ทำอย่างไรให้คนขับแท็กซี่มีสิทธิประโยชน์และความคุ้มครองมากขึ้น เพราะส่วนใหญ่อายุประมาณ 65 ปี จึงต้องการหลักประกันความมั่นคงในชีวิตให้การเข้าถึงสวัสดิการจากรัฐในด้านสวัสดิการต่าง ๆ 

ส่วน นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวว่า ช่วงโควิดระบาดทำให้ผู้ได้รับผลกระทบไม่มีรายได้ แต่กระทรวงแรงงานทำให้ภาคธุรกิจมีกำลังใจขึ้น มีรายได้ ทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ลูกจ้างนายจ้างกลับมามีความสุข เห็นคุณค่าของการมีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน ต่างร่วมไม้ร่วมมือกันสนับสนุนความช่วยเหลือในทุก ๆ ด้าน ในช่วงสถานการณ์โควิดเช่นนี้ โดยเฉพาะกรณีการปิดแคมป์คนงานเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ทำให้คนงานได้มีอาหารดี ๆ รับประทาน เราก็ได้เห็นมาตรการช่วยเหลือเยียวยาที่ออกมาอย่างเป็นรูปธรรมในช่วงนี้ จึงต้องขอบคุณทุกภาคส่วนที่ช่วยเป็นกำลังใจให้ข้าราชการ และคนทำงานทุกๆ คนที่ออกมาช่วยกัน เพื่อให้ทุกคนก้าวข้ามสถานการณ์ในครั้งนี้ไปด้วยกัน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top