Tuesday, 1 July 2025
ECONBIZ NEWS

“โฆษก ศบศ.“ โว ต่างชาติพอใจภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ วางแผน กลับมาเที่ยวซ้ำ-เล็งตลาด ดูไบ แฟรงก์เฟิร์ต ลอนดอน กรุงปราก สตอกโฮล์ม ปารีส-มั่นใจกระตุ้นท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้ประเทศ

นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบศ.) เปิดเผยว่า จากที่รัฐบาลได้เดินหน้ามาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติกระตุ้นเศรษฐกิจ และทยอยเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ซึ่งตอนนี้เปิดได้เกือบหนึ่งเดือนแล้ว มีจำนวนนักท่องเที่ยวสะสมที่เดินทางเข้ามาเกือบหนึ่งหมื่นคน โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติ 5 อันดับแรกที่เข้ามา ได้แก่ สหรัฐอเมริกา, อังกฤษ, อิสราเอล, เยอรมนี และฝรั่งเศส อัตราเฉลี่ยการเข้าพักต่อคนอยู่ที่ 11 คืน ประเมินค่าใช้จ่ายต่อทริปอยู่ที่ 70,000 บาท ได้แก่ค่าที่พัก ค่าตรวจสวอป ค่าอาหารและเครื่องดื่ม ค่าพาหนะเดินทางในจังหวัด ค่าตั๋วเครื่องบิน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ เฉลี่ยการใช้จ่ายอยู่ที่ 5,500 ต่อคนต่อวัน ก่อให้เกิดรายได้หมุนเวียนอยู่ที่ 534.31 ล้านบาท 

นายธนกร กล่าวว่า นักท่องเที่ยวมีความประทับใจในอัธยาศัยไมตรีของชาวภูเก็ต และวางแผนเดินทางไปยังจังหวัดอื่น เช่น เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ ต่อไป นอกจากนี้นักท่องเที่ยวที่เดินทางกลับไปแล้วยังได้วางแผนพาครอบครัวกลับมาเที่ยวไทยซ้ำอีกด้วย ซึ่งจากการประเมินความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวพบว่า พอใจคุณภาพของรถบริการรับ-ส่ง SHAพลัส ที่ท่าอากาศยานภูเก็ต มากที่สุด รองลงมาคือ พอใจภาพรวมการให้บริการที่ท่าอากาศยานภูเก็ต และพอใจการตรวจคัดกรองเมื่อเดินทางมาถึง ซึ่งการเปิดประเทศครั้งนี้ถือเป็นการเตรียมตัวในการรองรับช่วงปลายปีที่จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาอีก ทำให้เห็นว่าการเปิดประเทศครั้งนี้ประสบความสำเร็จไปส่วนหนึ่งแล้ว

นายธนกร กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำถึงประโยชน์สูงสุดของพื้นที่ที่เปิดไปแล้ว อย่างภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ และสมุยพลัสโมเดล ให้ได้ใช้ประโยชน์ก่อให้เกิดรายได้อย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดประชุม การจัดแสดงสินค้า เป็นต้น แต่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยด้านสาธารณสุขเป็นหลัก ซึ่งตอนนี้ทั้งจังหวัดภูเก็ต และสุราษฎร์ธานี ได้เพิ่มมาตรการการคัดกรองนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติอย่างเคร่งครัด นายกฯ ได้สั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำชับเรื่องการนำเทคโนโลยีมาใช้ที่ด่านหรือจุดตรวจอย่างเข้มงวดแล้ว  เพื่อที่ประชาชนชนในพื้นที่จะได้มีรายได้อย่างต่อเนื่องจากการเปิดประเทศในครั้งนี้

นายธนกร กล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศได้ปรับปรุงระบบลงทะเบียน COE ออนไลน์ใหม่ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาให้มีความสะดวก และ ททท.ในต่างประเทศยังได้ทำการตลาดเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยเจาะไปที่กลุ่มตลาดยุโรป เช่น ดูไบ แฟรงก์เฟิร์ต ลอนดอน กรุงปราก สตอกโฮล์ม และปารีส โดยคาดว่า ต่อไปนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะช่วงไตรมาสที่ 4 ซึ่งเป็นช่วง High Season ของฤดูกาลการท่องเที่ยว

โฆษก ศบศ. กล่าวด้วยว่า สำหรับแผนต่อไปคือการเดินหน้าเปิด 3 เกาะของจังหวัดกระบี่  ได้แก่ เกาะพีพี เกาะไหง และไร่เล  และ 3 เกาะของจังหวัดพังงา  ได้แก่ เขาหลัก เกาะยาวน้อย และเกาะยาวใหญ่ โดยมีกำหนดเปิดในวันที่ 1 สิงหาคม 2564 นี้ โดยเน้นย้ำถึงแผน 7+7 ของการเดินทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดภูเก็ตกับพื้นที่นำร่องที่เปิดไปแล้ว เป็นการผ่อนคลายมาตรการให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาใน “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” อยู่ครบ 7 วัน (เดิม 14 วัน) และตรวจ RT-PCR จำนวน 2 ครั้งแล้ว สามารถเดินทางไปในพื้นที่เกาะสมุย พะงัน และเกาะเต่า (สุราษฎร์ธานี) รวมถึงเกาะพีพี เกาะไหง ไร่เลย์ (กระบี่) และเกาะยาวใหญ่ เกาะยาวน้อย และเขาหลัก (พังงา) ในรูปแบบซีลรูท (sealed routes) หรือ island hopping ได้ตั้งแต่วันที่ 8 เป็นต้นไป โดย ททท.ยังคงเป้ารายได้จากการท่องเที่ยวรวมปีนี้ที่ 8.5 แสนล้านบาท แบ่งเป็น รายได้จากตลาดต่างประเทศ 3 แสนล้านบาทในจำนวนนักท่องเที่ยวราว 3 ล้านคน และรายได้จากตลาดภายในประเทศ 5.5 แสนล้านบาท

ยันรัฐบาลพร้อมช่วยเหลือค่าครองชีพ-เยียวยาต่อเนื่อง

นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบศ.) เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม มีความห่วงใยประชาชนทุกคน และดำเนินการเยียวยาควบคู่ไปกับการดำเนินการป้องกันและรักษาผู้ติดเชื้ออย่างเต็มที่ ซึ่งล่าสุดกระทรวงการคลัง กำลังพิจารณาปรับปรุงรายละเอียดของโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ใหม่ เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน และเร่งให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจตามเป้าหมายของโครงการ หลังจากการใช้สิทธิโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ส่วนหนึ่งอาจมาจากการปิดห้างสรรพสินค้าในช่วงนี้

ทั้งนี้หลังจากที่รัฐบาลออกมาตรการลดภาระค่าครองชีพ กระตุ้นเศรษฐกิจออกไป มีเสียงตอบรับจากประชาชนทั่วประเทศ ใช้จ่ายผ่านโครงการอย่างต่อเนื่อง ทำให้ขณะนี้ยอดการใช้จ่ายของแต่ละโครงการ ผู้ใช้สิทธิสะสมรวม รวม 35.8 ล้านคน ยอดใช้จ่าย สะสม รวม 41,847.8 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.โครงการคนละครึ่ง เฟส 3 มีผู้ใช้สิทธิสะสม 22 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 38,569.4 ล้านบาท แบ่งเป็นส่วนที่ประชาชนจ่ายสะสม 19,508.1 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่ายสะสม 19,061.4 ล้านบาท 

2.โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ มีผู้ใช้สิทธิสะสม 54,007 คน ยอดใช้จ่ายสะสม 544 ล้านบาท 3.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีผู้ใช้สิทธิสะสม 13 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 2,584.4 ล้านบาท และ 4.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ มีผู้ใช้สิทธิสะสม 759,155 คน ยอดใช้จ่ายสะสม 150 ล้านบาท

เพื่อประเทศชาติ ! จุรินทร์ เข้ม “ตลาดนำการผลิต" ชี้ โอกาส "ส่งออก" นำรายได้เข้าประเทศ "พาณิชย์" ชู สินค้าเฉพาะกลุ่ม และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ โอกาสงาม 

นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การติดตามนโยบายนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เร่งรัดการส่งออก ขยายโอกาสทางการค้าเพื่อนำรายได้เข้าประเทศนั้น ล่าสุดจากรายงานความเคลื่อนไหวตลาดต่างประเทศของสำนักพัฒนาตลาดและธุรกิจไทยในต่างประเทศ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ช่วงสถานการณ์โควิด-19 แต่การทำงานเชิงรุกของทีมเซลล์แมนประเทศหรือทูตพาณิชย์ในต่างประเทศมีความคึกคัก  

" ขณะนี้สถานการณ์ความเคลื่อนไหวตลาดจากทั่วโลกเพื่อผู้ประกอบการไทยสามารถวางแผนการพัฒนาและผลิตสินค้าให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของตลาดแต่ละประเทศตามกลยุทธ์ "ตลาดนำการผลิต" ภายใต้ยุทธศาสตร์เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาดของนายจุรินทร์ อยากแจ้งให้ทราบว่ามีโอกาสในสินค้าเฉพาะกลุ่ม หรือ Niche Market และโอกาสในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ  โดยโอกาสของตลาดสินค้าเฉพาะกลุ่ม ล่าสุด มีที่สหภาพยุโรปที่ได้รับรองหนอนนกอบให้เป็นอาหารสำหรับมนุษย์ได้และยังมีอีก 14 รายการของแมลงที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบขึ้นทะเบียนพิจารณาเป็นอาหารสำหรับมนุษย์ " นางมัลลิกา กล่าว 

ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ สินค้าตกแต่งบ้านแฮนด์เมดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น เฟอร์นิเจอร์ไม้ เสื่อรองจานตะกร้าสาน มีความต้องการมากในเยอรมัน ดังนั้นไทยจึงควรศึกษาเรื่องตรารับรอง SSC และกฎระเบียบด้านความปลอดภัยของสินค้าสิ่งทอของยุโรปด้วย สำหรับตลาดสหราชอาณาจักร มีความต้องการสินค้าเทคโนโลยีสำหรับสัตว์เลี้ยงในเพิ่มขึ้นเพราะคนเริ่มกลับมาทำงานตามปกติ เช่น กล้องวงจรปิด อุปกรณ์ติดตามการเคลื่อนไหวของสัตว์ และบริการสมัครสื่อบันเทิงสำหรับสัตว์ ส่วนสินค้าเพื่อสัตว์เลี้ยง ด้านตลาดทางจีน ผู้ประกอบการไทยควรพัฒนาสินค้าเพื่อตอบโจทย์กลุ่มผู้ซื้อหลักในจีน คือ สตรีวัยกลางคน ที่มีการศึกษาและมีสถานะการเงินสูงกว่ารายได้เฉลี่ย

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการสามารถใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่มีอยู่ในแต่ละประเทศ เพื่อเปิดเจาะตลาดได้ โดยเฉพาะสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยและรายเล็ก หรือ Micro-SME และ SME หรือ MSME เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงเท่าการเจาะตลาดในรูปแบบดั้งเดิม โดยที่ตลาดไต้หวัน มีแพลตฟอร์มที่น่าสนใจ ได้แก่ Momo,Pinkoi และ PC Home สำหรับสินค้าสินค้าที่ได้รับความนิยม ได้แก่ สินค้าอาหาร ของใช้ในบ้าน อุปกรณ์ 3C  คอมพิวเตอร์ การสื่อสาร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค และอาหารเสริม ซึ่งล้วนเป็นสินค้าของใช้ในชีวิตประจำวันที่ตอบรับกระแสการทำงานที่บ้านและการเรียนออนไลน์ทั้งสิ้น 

ส่วนสำหรับผู้ที่สนใจขยายตลาดไปยังมาเลเซียอาจจะพิจารณาแพลตฟอร์ม Shopee ที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับ 1 ในมาเลเซีย มีส่วนแบ่งตลาดถึง 82% ส่วนตลาดอินโดนีเซียเป็นอีกตลาดที่มีศักยภาพ เพราะเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้ใช้อินเตอร์สูงเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจาก จีน อินเดีย และ สหรัฐอเมริกา มีแพลตฟอร์มที่น่าสนใจ ได้แก่ Goto ของอินโดเซีย ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มใหม่ที่เกิดจากการควบรวมของ GoJek และ Tokopedia แต่ในอินโดนีเซียนั้น Shopee ซึ่งเป็นหนึ่งในทางเลือกหลักของผู้ซื้อออนไลน์ในอินโดนีเซียเขาประกาศไม่ให้นำเข้าสินค้ากลุ่ม MSME จากประเทศอื่นทั้งนี้เพื่อช่วยเหลือกลุ่ม MSME ในประเทศของเขาเองเป็นตามนโยบายของรัฐบาลอินโดนีเซีย เราควรต้องทราบ 
 
" วิกฤตการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนในทุกประเทศ และพฤติกรรมของผู้บริโภคต่างแปรผันตามสถานการณ์ของแต่ละประเทศค่ะ ผู้ประกอบการควรทำการตลาดสินค้าและบริการที่ลูกค้าต้องการเพื่อลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจระหว่างประเทศ โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าภารกิจทีมเซลส์แมนประเทศไทย ได้ติดตามและเร่งรัดการทำงานของเซลส์แมนจังหวัดให้ทำงานใกล้ชิดกับผู้ผลิตสินค้าเพื่อส่งต่อไปยังทีมเซลส์แมนประเทศ ที่อยู่ในต่างประเทศในการทำการตลาดได้ตรงกับความต้องการของแต่ละตลาดต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจะได้นำรายได้เข้าประเทศมาช่วยชาติยามนี้ให้มากที่สุด เพราะตอนนี้ส่งออกเป็นขาหลักขาเดียวของประเทศเราที่เหลืออยู่ เวลานี้เพราะการท่องเที่ยวเดี้ยงไปแล้ว เวลานี้ประเทศชาติต้องการเรา ” นางมัลลิกา กล่าว

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ร่วมหารือ กระทรวงแรงงาน และบีโอไอ ขอรับการจัดสรรโควตาฉีดวัคซีนให้กับชาวต่างชาติที่ปฏิบัติงานในนิคมอุตสาหกรรม หวังเร่งกระตุ้นภูมิคุ้มกันนักลงทุนเดินหน้าเศรษฐกิจได้อย่างไม่สะดุด!

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ตนได้รับมอบหมายจากนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เข้าประชุมหารือร่วมกับนายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้นักลงทุนและผู้ปฏิบัติงานที่เป็นชาวต่างชาติในประเทศไทย

โดยก่อนหน้านี้ มีนักลงทุนต่างชาติที่ได้รับการสนับสนุนวัคซีนจากความร่วมมือของกระทรวงแรงงานและคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ประมาณ 36,000 คน ในการนี้ตนได้แจ้งว่า ยังมีชาวต่างชาติที่ปฏิบัติงานในนิคมอุตสาหกรรมที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มของนักลงทุนบีโอไออีกประมาณ 8,000 คน จึงขอให้กระทรวงแรงงานและบีโอไอนำไปพิจารณาเพื่อขอโควตาเพิ่มเติมจากกระทรวงสาธารณสุขให้แก่นักลงทุนและผู้ปฏิบัติงานในกลุ่มนี้เพิ่มเติม เนื่องจากเป็นบุคลากรกลุ่มสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

ทั้งนี้ กนอ.มีความประสงค์ขอรับการจัดสรรวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ผู้ประกอบการ ผู้ปฏิบัติงานชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในไทย ซึ่งกระทรวงแรงงานเห็นควรให้ กนอ.ประสานข้อมูลการขอรับการจัดสรรวัคซีนร่วมกับบีโอไอในคราวเดียว เพื่อให้การจัดสรรวัคซีนเป็นไปอย่างรวดเร็วและทันท่วงที สำหรับหลักเกณฑ์การสนับสนุนวัคซีนแก่นักลงทุนต่างชาติของ กนอ. คือ ผู้บริหารและผู้ชำนาญการจากต่างประเทศ กลุ่มสมาร์ทวีซ่าที่อยู่ในไทยเกิน 6 เดือน และครอบครัวอายุ 18 ปีขึ้นไปที่ไม่เคยได้รับวัคซีนเข็มแรกที่อื่นมาก่อน

ส่วนวัคซีนที่จะนำมาฉีดให้กับกลุ่มดังกล่าวคือ วัคซีนแอสตร้าเซเนก้าที่ได้รับบริจาคจากประเทศญี่ปุ่น สถานที่ฉีดจะใช้จุดบริการที่มีอยู่แล้วของกระทรวงแรงงาน โดยกำหนดจุดในกรุงเทพมหานคร 10 จุด และในต่างจังหวัดที่ระยอง ชลบุรี สมุทรปราการ จังหวัดละ 1 จุด คาดว่าจะเริ่มทยอยฉีดได้ประมาณเดือนสิงหาคมนี้

“กนอ.จะพยายามติดตามความคืบหน้าในการจัดสรรวัคซีนโควิด-19 ให้กับบุคลากรภายใต้การกำกับดูแลให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ผู้ปฏิบัติงานในนิคมฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าคนเหล่านี้จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคการผลิตและการส่งออก และช่วยนำพาเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศให้มีความแข็งแกร่งตามไปด้วย เมื่อปัญหาโควิดบรรเทาลง” นายวีริศ กล่าว


โปรเด็ด! ถึง 31 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

พาณิชย์เปิดยอดส่งออกไทยเดือนมิ.ย.สูงสุดรอบ 11 ปี

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนมิ.ย. 2564 ว่า การส่งออกเดือนมิ.ย.นี้ สูงสุดในรอบ 11 ปี โดยมีมูลค่า 23,699.43 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 738,135 ล้านบาท ขยายตัว 43.82% สินค้าที่มีการขยายตัวมากที่สุดคือ ผลไม้ ขยายตัว 185% แบ่งเป็นทุเรียนขยายตัว 172% มังคุดขยายตัว 488.26% รองลงมาคือ อัญมณีและเครื่องประดับ ขยายตัว 90.48% รถยนต์และอุปกรณ์ชิ้นส่วนรถยนต์ ขยายตัว 78.5% และเครื่องจักรกล ขยายตัว 73.13%

นายจุรินทร์ กล่าวว่า การขยายตัวของหมวดสินค้าเกษตร มีการขยายตัวมากถึง 59.8% ถือเป็นการขยายตัว 9 เดือนต่อเนื่องและขยายตัวมากที่สุดในรอบ 10 ปี มีมูลค่าทำรายได้เข้าประเทศ 71,473.5 ล้านบาท โดยเฉพาะยางพารา ผักผลไม้สดและแช่แข็ง และมันสำปะหลัง โดยตลาดในเดือนมิถุนายน มีอัตราการขยายตัวทุกตลาด ตลาดหลักมีการขยายตัว 41.2% ประกอบไปด้วยตลาดจีน ญี่ปุ่น สหรัฐ สหภาพยุโรป CLMV และอาเซียน ส่วนตลาดรองมีการขยายตัว 49.5% เช่นตลาดเอเชียใต้อย่าง อินเดีย ศรีลังกา บังคลาเทศ ตะวันออกกลาง รัสเซีย แอฟริกา และละตินอเมริกา

ส่วนแนวโน้มการส่งออกในเดือนก.ค. – ส.ค.นี้ กระทรวงพาณิชย์จะหาทางช่วยเหลือภาคการผลิต หลังจากได้รับทราบว่าภาคการผลิตขณะนี้มีปัญหาเรื่องของคำสั่งการปิดโรงงานแบบเหมารวมในบางจังหวัด ซึ่งกรณีนี้ต้องมีการพิจารณาให้รอบคอบเพราะบางโรงงานไม่มีปัญหา ก็ควรเปิดดำเนินงานต่อไป โดยกระทรวงพาณิชย์จะนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาต่างให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาแนวทางช่วยเหลือสัปดาห์หน้า

“นายกฯ” แนะปรับมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายให้เหมาะกับสถานการณ์เกิดประโยชน์สูงสุดทางเศรษฐกิจ ดึงเอกชนร่วมส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจใหม่ สร้างกำลังซื้อภายในประเทศ

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้เน้นการทำงานร่วมกันในการตัดสินใจกำหนดแนวทางและมาตรการตามที่คณะอนุกรรมการชุดต่าง ๆ ที่ได้เสนอเข้ามาซึ่งเกี่ยวข้องกับทุกกระทรวง และเป็นความรับผิดชอบร่วมกัน ที่ทุกกระทรวงต้องดำเนินตามมาตรการอย่างทั่วถึง

ซึ่งขณะนี้รัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการใน 2 ส่วนพร้อม ๆ กัน คือ ทั้งการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยมีความจำเป็นที่ศบค. และศบศ. จะต้องมีข้อมูลเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน เน้นการสื่อสารที่เข้าใจง่าย รวมทั้งติดตามผลการดำเนินงานโครงการภูเก็ตโมเดล และสมุยพลัสโมเดล ซึ่งเป็นการเดินหน้าตามเป้าหมาย 120 วันของรัฐบาลในการเปิดประเทศ ภายใต้ความปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งในระยะต่อไปจะมีการขยายโครงการต่อไปในพื้นที่ที่มีศักยภาพ รวมทั้งเร่งแก้ไขปัญหาการติดเชื้อไวรัสในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลซึ่งเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศในขณะนี้ด้วย

นายกรัฐมนตรี ได้เสนอในที่ประชุม ศบศ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้พิจารณาปรับปรุงมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายทั้งโครงการ “คนละครึ่ง” โครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” หรือพิจารณานำ “ช็อปดีมีคืน” กลับมาใช้ เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน เร่งให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจตามเป้าหมายของโครงการ รวมทั้งยังอยากเห็นการจัดตั้งศูนย์รับเรื่องและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับมาตรการของรัฐ เพื่อช่วยเหลือประชาชนทั้งการลงทะเบียนออนไลน์เพื่อร่วมโครงการ ชี้แจงข้อสงสัย รับข้อร้องเรียนเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ  ซึ่งจะเป็นการสร้างความเข้าใจในมาตรการรัฐในระดับพื้นที่ด้วย

ขณะเดียวกันก็ขอให้ ศบศ. นำผลการหารือกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและภาคเอกชนในการประชุม 40 ซีอีโอพลัส มาขับเคลื่อนในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 ร่วมฟื้นฟูประเทศร่วมกับภาคเอกชน ขณะเดียวกันก็ต้องเร่งส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจใหม่ ๆ เช่น การดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้าประเทศไทย ผู้มีกำลังซื้อสูง ผู้เชี่ยวชาญ ผู้สูงอายุ เพื่อสนับสนุนกำลังซื้อภายในประเทศอีกทางหนึ่ง

ทั้งนี้ได้สั่งการในที่ประชุมครม. ให้เร่งพิจารณาแผนงานของทุกกระทรวง ที่อยู่ภายใต้งบประมาณฯ ปี 2564 และ 2565  ที่เบิกจ่ายต่ำกว่าเป้าหมาย หากโครงการใดที่ติดขัดเพราะสถานการณ์โควิด-19 ก็สามารถชะลอได้ และพิจารณาการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐให้เกิดประโยชน์สูงสุด

สำหรับการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 นายกรัฐมนตรีเสนอให้มีการจัดตั้งสถานพยาบาลขนาดเล็ก ให้กระจายไปในทุกพื้นที่ ทุกเขต เพื่อรองรับผู้ป่วยติดเชื้อรายวัน ลดการแพร่เชื้อในครอบครัวและชุมชน โดยให้กระทรวงสาธารณสุขจัดหาเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ที่จำเป็น โดยมุ่งจำกัดพื้นที่การแพร่ระบาด โดยเฉพาะในพื้นที่สีแดงเข้มเพื่อลดความสูญเสีย รักษาระบบสาธารณสุข

นายกรัฐมนตรียังยืนยันแผนการจัดหาและกระจายวัคซีนตามเป้าหมายไม่ต่ำกว่า 100 ล้านโดสในปีนี้ และขณะนี้ได้มีการอนุมัติการใช้ Antigen Test Kit ที่ได้รับการอนุญาตให้ประชาชนได้ใช้แล้วเพื่อเร่งตรวจหาเชื้อ การจัดหายาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) รวมถึงสมุนไพรไทยเช่น ฟ้าทะลายโจร ให้กระจายไปทุกจังหวัดตามลำดับความรุนแรง ปรับระดับเตียงเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้ป่วย รวมทั้งการจัดรถรับส่งผู้ป่วยให้เข้าถึงสถานพยาบาลในระดับต่าง ๆ ทั้งโรงพยาบาลสนามและศูนย์คัดกรองแรกรับอย่างเร่งด่วนด้วย โดยให้เป็นความรับผิดชอบของทุกหน่วยงานที่ต้องออกมาช่วยเหลือประชาชน และจะต้องไม่มีภาพประชาชนที่ถูกทอดทิ้ง

สำหรับที่ประชุมศบศ. ได้มีการรับทราบการดำเนินการมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในพื้นที่นำร่อง ในโครงการ Phuket Sandbox และ Samui Plus Model รวมทั้งยังได้มีการพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน โดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้าสู่ประเทศไทยด้วย


ที่มา : https://www.naewna.com/politic/589764


โปรเด็ด! ถึง 31 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

ยอดผลิตรถยนต์โตสวนวิกฤต คาดทั้งปีผลิต 1.55 -1.6 ล้านคัน

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ส.อ.ท. ได้ปรับประมาณการยอดผลิตรถยนต์ปีนี้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.55 -1.6 ล้านคัน จากเดิมคาดไว้อยู่ที่ 1.5 ล้านคัน หลังเห็นสัญญาณการฟื้นตัวจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ทำให้มีความต้องการรถยนต์เพิ่มขึ้นทั้งในประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เวียดนาม ญี่ปุ่น เม็กซิโก และมาเลเซีย ขณะที่ยอดผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกปีนี้ที่ คาดว่า จะอยู่ที่ 8-8.5 แสนคัน เพิ่มขึ้นจากเดิมคาดไว้ที่ 7.5 แสนคัน ตามยอดผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกที่สูงขึ้น 

สำหรับยอดผลิตเพื่อส่งออกรวม 6 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย.2564) ผลิตได้ 486,237 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 40.37% ถือเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้ภาพรวมการผลิต 6 เดือนอยู่ที่ 844,601 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 39.34% และหากไม่มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนชิ้นส่วนรถยนต์บางรุ่น ประกอบกับเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าปรับตัวดีขึ้น ก็มีโอกาสที่ไทยจะสามารถผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกได้ถึง 900,000 คัน 

ส่วนของยอดผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศปีนี้ ยังคงเป้าหมายอยู่ที่ 750,000 คัน เป็นระดับต่ำสุดที่คาดการณ์ไว้และต่ำกว่ายอดผลิตปีก่อนที่ผลิตได้ 790,000 คัน ภายใต้สมมติฐานที่ประเทศไทยประกาศล็อกดาวน์ และปัญหาการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์บางรุ่นไม่เพียงพอแล้ว จึงไม่น่าจะมีการปรับประมาณการลดลงต่ำไปกว่านี้ โดยต้องติดตามสถานการณ์โควิด-19 และการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ป้อนโรงงานอย่างใกล้ชิด

 

ศบศ.เคาะเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เชื่อม “สุราษฎร์ฯ-กระบี่-พังงา” 1ส.ค.นี้

นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะโฆษกประจำศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมเห็นชอบมาตรการให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าร่วม Phuket Sandbox เดินทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดภูเก็ตกับพื้นที่นำร่องอื่น (7+7) โดยนักท่องเที่ยวพำนักภายในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตเป็นเวลา 7 วัน และสามารถเดินทางท่องเที่ยวและต้องพำนักในพื้นที่อื่น ๆ อีกเป็นเวลาอย่างน้อย 7 วัน ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพงัน และเกาะเต่า) จังหวัดกระบี่ (เกาะพีพี เกาะไหง และไร่เล) และจังหวัดพังงา (เขาหลัก เกาะยาวน้อย และเกาะยาวใหญ่) มีกำหนดเริ่มดำเนินการในวันที่ 1 ส.ค.นี้ 

โดยที่ประชุมได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดประสานภาคเอกชนและภาคประชาชนเพื่อสร้างความเข้าใจของคนในพื้นที่ร่วมกัน และพิจารณาจัดเตรียมแผนการดำเนินการบนระเบียบหลักเกณฑ์และมาตรฐานเดียวกับการดำเนินการของ Phuket Sandbox เพื่อมุ่งเน้นความปลอดภัยและการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่ 

นอกจากนี้ยังสั่งให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดทำรายละเอียดแผนการเชื่อมโยงให้นักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถเดินทางระหว่างจังหวัดภูเก็ตและพื้นที่นำร่องอื่น เพื่อนำเสนอให้ที่ประชุม ศบค. พิจารณาต่อไป และให้พิจารณาจัดทำแผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวในพื้นที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ ที่มีศักยภาพ เพื่อนำเสนอให้ที่ประชุม ศบศ. และ ศบค. พิจารณาต่อไป

เกษตรยังรุ่งยุคโควิดยอดส่งออกปศุสัตว์ครึ่งปีเกือบทะลุแสนล้าน 

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ยอดส่งออกสินค้าปศุสัตว์ ช่วงครึ่งปีแรก ของปี 2564 เปรียบเทียบกับช่วงเดียวของปี 2563 มีปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้น 11 % โดยมีปริมาณ 1.04 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 95,000 ล้านบาท แบ่งเป็นส่งออกเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูป 0.51 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 2.2% มูลค่า 56,494 ล้านบาท สินค้ากลุ่ม Non-frozen เช่น ไข่และผลิตภัณฑ์ นมและผลิตภัณฑ์ น้ำผึ้งและผลิตภัณฑ์ รังนก ซุปไก่ และอื่นๆ 0.2 ล้านตัน  เพิ่มขึ้น 9% คิดเป็นมูลค่า 11,584 ล้านบาท และอาหารสัตว์เลี้ยง Petfood 0.33 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 28.7% คิดเป็นมูลค่า 26,922 ล้านบาท

ทั้งนี้ในด้านความปลอดภัยอาหาร ที่ผ่านมาได้มีการป้องกันโรคระบาดโควิดไม่ให้ปนเปื้อนกับสินค้า โดยมีมาตรการกำกับตรวจสอบดูแลความปลอดภัยอาหารตลอดห่วงโซ่ ตั้งแต่อาหารสัตว์ ฟาร์มมาตรฐาน GAP โรงฆ่าสัตว์และโรงแปรรูปที่ถูกสุขอนามัย ซึ่งมาตรการป้องกันโรคโควิดในโรงงาน และตรวจสอบประสิทธิภาพในการควบคุมความปลอดภัยอาหารอย่างเข้มงวด มีทั้งหมด 3 ด้าน ได้แก่ 

1. ด้านพนักงาน หรือผู้ที่ต้องสัมผัสอาหาร จะมีการเฝ้าระวังสุขภาพของตนเองและต้องผ่านการตรวจโรคโควิด-19 ก่อนเข้าปฏิบัติงาน 2. ด้านสถานที่ผลิต ให้รักษาความสะอาดเรียบร้อยตามหลักสุขลักษณะที่ดีในการผลิต (GMP) โดยมีการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช่ในการผลิตด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อในไลน์การผลิต และ 3. ด้านสินค้า มีการตรวจสอบประสิทธิภาพในการควบคุมความปลอดภัยอาหารอย่างเข้มงวด มีการเก็บตัวอย่างตรวจการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโควิด-19 ในสินค้า อุปกรณ์ สิ่งแวดล้อม จุดสัมผัสและจุดเสี่ยงในอาคารผลิต เพื่อประกันการปลอดเชื้อ จากการสุ่มเก็บตัวอย่างสินค้าตรวจจำนวน 2,690 ตัวอย่าง ทุกตัวอย่างตรวจไม่พบการปนเปื้อนของเชื้อไวรัส 

นอกจากนี้ยังกำกับดูแลกระบวนการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง เพื่อการส่งออก โดยครอบคลุมการขึ้นทะเบียนรับรองโรงงานผลิตอาหารสัตว์เพื่อการส่งออก ควบคุมคุณภาพมาตรฐานโรงงานให้มีระบบรับรองการปฏิบัติทางการผลิตที่ดี และมีระบบการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุม การตรวจสอบกระบวนการผลิต และการออกหนังสือรับรองสุขอนามัยสำหรับอาหารสัตว์เลี้ยง โดยสอดคล้องตามข้อกำหนดและระเบียบของประเทศคู่ค้าเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ประเทศคู่ค้า

กระทรวงอุตสาหกรรม ตั้งเป้าพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติระยะยาว ให้ประเทศไทยเป็นผู้นำการผลิต การใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในอาเซียน ย้ำ ต้องมีเทคโนโลยีเป็นของตนเองภายในปี 2569

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามมติ ครม. วันที่ 29 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา สศอ. ได้ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้การพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของประเทศไทยอยู่ในเป้าหมายระยะกลาง จากข้อมูลในปี 2563 ประเทศไทยมีการลงทุนหุ่นยนต์ฯ จำนวน 116,676 ล้านบาท และมี SI ที่ขึ้นทะเบียนกับ CoRE จำนวน 74 ราย มีระดับการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในโรงงานอุตสาหกรรมประมาณร้อยละ 25 รวมถึงมีการผลิตหุ่นยนต์ภายในประเทศเพื่อลดการนำเข้าได้ร้อยละ 12

แม้ว่าช่วงนี้ประเทศไทยและทั่วโลกกำลังเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยิ่งทำให้ประเทศไทยต้องเตรียมความพร้อมด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ โดยการยกระดับการผลิตและเปลี่ยนวิกฤตสู่โอกาส เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมที่จะเติบโตในอนาคต ซึ่งในขณะนี้ประเทศไทยถือว่ามีความพร้อมทางด้านมาตรการรองรับอย่างมาก

โดยหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ได้ออกมาตรการกระตุ้นอุปสงค์และการสร้างอุปทานที่สอดคล้องกัน เช่น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 3 ปี ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน รวมถึงกรมสรรพากรที่ให้ยกเว้นภาษีอากรตามประกาศและกระทรวงการคลังที่ยกร่างประกาศการยกเว้นอากรนำเข้าชิ้นส่วน อุปกรณ์หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพื่อส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศและการสร้างอุปทาน

ที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการขึ้นทะเบียน System Integrator : SI จำนวน 74 ราย ฝึกอบรมยกระดับ SI รวมจำนวน 1,395 คน และบ่มเพาะ System Integrator (SI Startup) จำนวน 70 กิจการ และพัฒนาต้นแบบหุ่นยนต์ฯ รวม 185 ต้นแบบ รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกที่ร่วมมือกับเครือข่าย ได้รับการสนับสนุนเครื่องจักรเพื่อเป็นศูนย์กลางการพัฒนากำลังคน นวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติได้เสนอแผนดำเนินโครงการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืนเพื่อให้บริการทดสอบจัดทำมาตรฐานสนับสนุนอุตสาหกรรม การเตรียมความพร้อม และยกระดับทักษะแรงงานเพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการมากที่สุดโดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานและสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ และสถาบันไทย-เยอรมัน เป็นต้น

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันได้พัฒนาระบบสารสนเทศในการบริหารจัดการของคณะกรรมการเครือข่ายศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (Center of Robotic Excellence : CoRE) ซึ่งได้ดำเนินการจัดทำ Platform เพื่อการบริหารจัดการเครือข่าย CoRE โดยจะยกระดับให้ครอบคลุมทั้งการบริหารจัดการ Supply Chain ของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเชื่อมโยงกับ Platform ของหน่วยงานของรัฐและภาคเอกชนในลักษณะ Collaborative Platform เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่เหมาะสมกับความต้องการของภาคธุรกิจ

ทั้งนี้ CoRE จะกำหนดมาตรฐานหลักสูตรการฝึกอบรม การทดสอบและวัดระดับของ SI ร่วมกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมมีแผนที่จะเพิ่มจำนวน SI ในพื้นที่ต่างจังหวัด เพื่อรองรับการขยายตัวและตอบสนองความต้องการระบบ Simplify Automation ทั่วประเทศ โดยยกระดับโรงกลึง อู่ซ่อมรถ ร้านซ่อมเครื่องจักรในพื้นที่ ซึ่งมีลักษณะเป็น Small shop ให้มีขีดความสามารถในการรับงานที่เป็น Automation มากขึ้น

รวมทั้งการสร้างความร่วมมือกับสถาบันการเงิน ธนาคารเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และประเมินการปล่อยสินเชื่อเงินกู้ เพื่อการลงทุนในหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติให้กับผู้ประกอบการได้ต่อไป


โปรเด็ด! ถึง 31 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top