Tuesday, 1 July 2025
ECONBIZ NEWS

‘บิ๊กตู่’ ยอมรับ ‘กองทุนน้ำมัน’ ติดลบ เตรียมกู้ 2 หมื่นล้าน ตรึงราคาดีเซลอีก 4 เดือน

“บิ๊กตู่” ยอมรับกองทุนน้ำมันติดลบ ครม. อนุมัติขอเงินกู้อีก 2 หมื่นล้าน คาดสำรองจ่ายได้อีก 4 เดือน “วอน” รถบรรทุกอย่ากดดัน เตรียมรถ “บขส.-รถทหาร” ขนสินค้าแทนรถบรรทุกประท้วงราคาดีเซลแพง

เมื่อเวลา 13.15 น. ที่โรงแรมโซฟิเทล กระบี่ โภคีธรา กอล์ฟ แอนด์ สปา รีสอร์ท จังหวัดกระบี่  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจรนอกสถานที่ ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา หลังกลุ่มสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ทำกิจกรรมคาร์ม็อบ เคลื่อนขบวนรถบรรทุกในถนน 4 สายหลัก และมาชุมนุมบริเวณหน้ากระทรวงพลังงาน ว่า ยืนยันแล้วว่าเราต้องรักษาให้ได้ในราคา 30 บาทต่อลิตรก่อน และถ้าราคาน้ำมันมีการปรับลดลงทุกอย่างก็จะดีขึ้น เพราะขนาดตรึงแค่ราคา 30 บาท ก็ใช้เงินอุดหนุนไปประมาณเดือนละ 3,000 ล้านบาทลงไป  

ในส่วนของกองทุนน้ำมันนั้นอยู่ในสภาพที่ติดลบแล้ว และวันเดียวกันนี้ ครม. ได้มีการอนุมัติ เงินกู้ไปเพื่อนำงบประมาณมาใช้จ่ายสำรองไว้ในช่วง 4 เดือนข้างหน้า ซึ่งถ้าราคาน้ำมันลดลงก็ไม่มีปัญหาทุกอย่างก็จะกลับคืนเข้าสู่สภาวะปกติ ราคาน้ำมันก็จะลดลงมาเอง 

ผู้สื่อข่าวถามว่าแต่มีความพยายามกดดันด้วยการนำรถบรรทุกเคลื่อนไหวบนถนนสายหลัก และมาชุมนุมที่บริเวณหน้ากระทรวงพลังงานจะแก้ปัญหาอย่างไร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เท่าที่ได้รับรายงานก็เป็นความเคลื่อนไหวของสมาคมรถบรรทุก ซึ่งในประเทศไทยก็มีหลายสมาคมยอมรับว่ามีคนจำนวนมากได้รับความเดือดร้อน รัฐบาลก็ต้องดูแลทุกคนซึ่งรัฐบาลก็จำเป็นต้องดูให้ละเอียดถี่ถ้วน 

‘สุริยะ’ ยกทัพลงกระบี่ ชี้ช่องเพิ่มมูลค่า SMEs พร้อมฟังข้อเสนอกลุ่มจังหวัดฝั่งอันดามัน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นำคณะผู้บริหารลงพื้นที่เยี่ยมชมสถานประกอบการในจังหวัดกระบี่ ร่วมหารือแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ พร้อมสนับสนุนข้อเสนอของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (ภูเก็ต, กระบี่, ตรัง, พังงา, ระนอง และสตูล) เร่งยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพด้านกระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม มุ่งสู่อุตสาหกรรม 4.0 พร้อมขยายช่องทางการตลาดออนไลน์ ตั้งเป้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การลงพื้นที่เยี่ยมชมสถานประกอบการและร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2564 ณ จังหวัดกระบี่ ระหว่างวันที่ 15 - 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 เพื่อพบปะและรับฟังปัญหาข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการในพื้นที่ และนำไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (ภูเก็ต, กระบี่, ตรัง พังงา, ระนอง และสตูล) โดยจุดแรกได้เดินทางไปยังบริษัท วู้ดเวอร์ค จำกัด ประกอบกิจการแปรรูปไม้ยางพาราและไม้ที่ปลูกขึ้นโดยเฉพาะ 13 ชนิด (ตามมติ ครม.) อาทิ ยูคาลิปตัส, กระถินณรงค์, กระถินเทพา, มะพร้าว, มะขาม, ไม้จามจุรี ฯลฯ  

โดยการอัดน้ำยาอบแห้ง เพื่อทำลังไม้ และไม้รองสินค้าเพื่อจำหน่าย มูลค่าการลงทุนกว่า 390 ล้านบาท กำลังการผลิตภัณฑ์ไม้แปรรูปกว่า 11 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี มูลค่าการส่งออกกว่า 200 ล้านบาท/ปี โดยเป็นการส่งออก 90% ใช้ในประเทศ 10% ส่วนใหญ่ส่งไปยังประเทศจีน

นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้เข้าร่วมโครงการของกระทรวงอุตสาหกรรมในหลายด้าน เช่น โครงการอุตสาหกรรมสีเขียว โครงการสร้างและพัฒนาเครือข่ายอุตสาหกรรมรักษ์สิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน โดยทางบริษัทได้ขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมช่วยส่งเสริมและสนับสนุนในการยกระดับบุคลากร เพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตด้วยนวัตกรรมเพื่อมุ่งสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยในช่วงของสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (Covid-19) บริษัทฯ ได้เข้าร่วมโครงการมาตรการ Bubble and seal ด้วยการแยกพนักงานออกเป็นกลุ่มย่อยและไม่ให้ทำงานเข้ากลุ่มกัน รวมถึงจำกัดพื้นที่ หรือการเดินทางภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งโรงงานจะจัดเตรียมที่พักสำหรับพนักงาน ขณะที่พนักงานที่ติดเชื้อจะถูกแยกไปตามพื้นที่ที่จัดสรรตามระดับอาการป่วยเพื่อรับการรักษาต่อไป

‘ชัยวุฒิ’ ชี้ MOU ป้องโกง จุดเปลี่ยนซื้อขายออนไลน์ ยกระดับมาตรฐาน ทำลายล้างสินค้าไม่ตรงปก

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวในการเป็นประธานในพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อขายสินค้าและบริการในตลาดออนไลน์ว่า…

ตนมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสมาเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อขายสินค้าและบริการในตลาดออนไลน์ระหว่างองค์กรผู้บริโภค หน่วยงานส่งเสริมการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ผู้ให้บริการตลาดออนไลน์ และหน่วยงานรัฐที่ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภค

ในวันนี้ กระทรวงดิจิทัลและเศรษฐกิจเพื่อสังคม มีพันธกิจที่จะเสนอแผนและนโยบายระดับชาติและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สร้างความเชื่อมั่นในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างปลอดภัย โดยหนึ่งในหน่วยงานสังกัดของเรา คือ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ สพธอ. (Electronic Transactions Development Agency : ETDA) ซึ่งเป็นองค์กรที่มีวิสัยทัศน์ มีภารกิจในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์โดยสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างเท่าทันกับสถานการณ์โลก โดย ETDA จะมีภารกิจหลัก 3 ด้าน คือ... 

1.) กำกับดูแลธุรกิจบริการดิจิทัลเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสังคมดิจิทัล 

2.) ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ 

และ 3.) ร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อผลักดันการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างบูรณาการและเชื่อมโยง

‘กรณ์’ จี้!! ครม.สัญจร ช่วยด่วน 'ท่องเที่ยว' ภูเก็ต ยก 3 ข้อควรทำ ก่อนภาคธุรกิจหมดลมหายใจ

‘กรณ์’ กร้าว!! ขอเป็นกระบอกเสียงคนภูเก็ต ยก 3 ข้อเรียกร้อง จี้!! ครม.สัญจร เร่งแก้ปัญหาตอบโจทย์ 'เศรษฐกิจท่องเที่ยว' ไม่ปล่อย ‘เฮือกสุดท้าย’ ผู้ประกอบการภูเก็ตสูญเปล่า 

นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า กล่าวว่า ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่า…

ตนได้ใช้ชีวิตในภูเก็ต สิ่งที่น่าดีใจคือนักท่องเที่ยวเยอะขึ้น ป่าตองเริ่มคึกคัก และจากการพูดคุยกับผู้ประกอบการชาวภูเก็ตหลายกลุ่มและหลายวงสนทนา เราเห็นตรงกันว่าภูเก็ต คือ เมืองแห่งศักยภาพของประเทศไทยที่จะเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลกได้สบาย ๆ ซึ่งหมายความว่าคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ของคนภูเก็ต รวมถึงรายได้เข้าประเทศโดยรวม ดีกว่านี้ได้อีกมาก 

เวลานี้หลายปัญหาของภูเก็ตรอการแก้ไข และส่วนใหญ่อุปสรรคมาจากระบบราชการที่ช้าและไม่ยืดหยุ่นตามบริบทที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ 

นายกรณ์ กล่าวว่า ภูเก็ตน่าจะเป็นเมืองที่รวบรวมจำนวนคนที่รอบรู้และเข้าใจอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไว้มากที่สุดในโลก และไม่มีใครหวังดีต่ออนาคตคนภูเก็ตมากเท่าคนภูเก็ต ดังนั้นเมื่อคนที่รู้ บวกกับคนที่ใส่ใจเป็นคนภูเก็ต แล้วทำไมการกำหนดยุทธศาสตร์และการตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวกับภูเก็ตยังอยู่ที่อำนาจส่วนกลางที่กรุงเทพ 

ดังนั้นเมื่ออำนาจยังรวมศูนย์อยู่ที่กรุงเทพ การประชุม ครม. สัญจร วันที่ 15-16 พฤศจิกายน จึงยังมีความสำคัญต่ออนาคตภูเก็ต มีหลายเรื่องที่ตนขอเป็นกระบอกเสียงแทนคนภูเก็ตไปถึงรัฐบาลเพื่อเรียกร้องให้มีการทบทวนและรีบตัดสินใจ เพื่อช่วยให้ “เฮือกสุดท้าย” ของผู้ประกอบการในภูเก็ตไม่สูญเปล่า 

โดยหัวหน้าพรรคกล้า ได้ยก 3 ข้อเรียกร้องที่ฝากไปถึงรัฐบาล ได้แก่…

1.) ปัญหาใบอนุญาตโรงแรม ที่กำลังทำให้ธุรกิจที่พักขนาดเล็กหมดแรงและกำลังจะตายไป ตอนนี้ในเว็บไซต์การจองโรงแรมมีโรงแรมในภูเก็ตเปิดขายห้องพักมากกว่า 1 หมื่นแห่ง แต่ที่มีใบอนุญาตถูกต้องนั้นไม่ถึง 800 แห่ง ทั้ง ๆ ที่โรงแรมขนาดเล็ก คือ ท่อลำเลียงทำให้เม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวกระจายเงินออกไปในวงกว้าง เพราะนักท่องเที่ยวที่พักในโรงแรมเล็ก ๆ คือ กลุ่มที่ออกมาขึ้นรถโดยสาร เรียกแท็กซี่ ตุ๊กตุ๊ก กินข้าวตามร้านอาหาร ซื้อทัวร์ ใช้บริการนวดและสปา หลายธุรกิจจะมีโอกาสสร้างรายได้และไปต่อ รัฐบาลควรเร่งออกมาตรการให้โรงแรมขนาดเล็กสามารถเปิดได้อย่างถูกกฎหมาย เพื่อทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมที่เป็นหัวใจของการสร้างรายได้จากท่องเที่ยว มีโอกาสการสร้างรายได้ และให้โอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนในการฟื้นฟูธุรกิจอีกด้วย

คปภ. ห้ามยกเลิกประกันโควิด ‘เจอ จ่าย จบ’ ให้เปลี่ยนแบบประกันได้ แต่ลูกค้าต้องสมัครใจ

สำนักงาน คปภ. ยันห้ามบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิดเจอจ่ายจบ กางข้อสรุปประชุมสมาคมประกันวินาศภัยไทย อนุญาตเสนอออปชันลูกค้าต้องสมัครใจ พร้อมย้ำ ลูกค้า เดอะวันประกันภัย ยังได้รับสิทธิคุ้มครองเหมือนเดิม 

วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยถึงกรณีปัญหาการประกันภัยโควิด-19 แบบเจอจ่ายจบ ว่า วันนี้หลังจากได้มีการประชุมหารือเร่งด่วนร่วมกับ นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย และคณะกรรมการบริหารจำนวนประมาณ 11 ท่าน สำนักงาน คปภ. มีมติดังนี้

1.) การดำเนินการแก้ไขปัญหา คปภ. จะยึดถือประโยชน์สูงสุดของประชาชนผู้เอาประกันภัยเป็นสำคัญ

2.) คำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 เรื่อง ให้ยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันโควิดสำหรับบริษัทประกันวินาศภัย ยังมีผลบังคับใช้ตามกฎหมายอยู่ บริษัทจึงต้องปฏิบัติตามคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าว ส่วนประเด็นที่ยังเห็นไม่สอดคล้องกันนั้นต้องมีการหารือร่วมกันอีกครั้งเพื่อให้ได้มาตรการที่เหมาะสมต่อไป

3.) การช่วยเหลือบริษัทประกันวินาศภัยเพื่อแก้ปัญหาได้ตรงจุด จะขึ้นอยู่กับสถิติตัวเลข ข้อมูลต่าง ๆ ที่ถูกต้องและแม่นยำ และผลกระทบต่าง ๆ ในทุกมิติ ซึ่งจะต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบ และที่สำคัญจะต้องไม่ทำให้ผู้เอาประกันภัยเดือดร้อน และไม่เป็นการลิดรอนสิทธิของประชาชนผู้เอาประกันภัย

เปิดจีดีพีไทยไตรมาส 3 ติดลบ 0.3% คาดทั้งปีโต 1.2%

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยแถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 และแนวโน้มปี 2564 - 2565 ว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 ปรับตัวลดลง 0.3% เทียบกับการขยายตัว 7.6% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยด้านใช้จ่ายมีสาเหตุจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้ประชาชนระมัดระวังพฤติกรรมการใช้จ่าย ในขณะที่ภาครัฐมีความจำเป็นต้องยกระดับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด 

ขณะที่การส่งออกสินค้า มีมูลค่า 67,249 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 15.7% ต่อเนื่องจากการขยายตัว 36.2% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้น 12.2% และราคาส่งออกเพิ่มขึ้น 3.1% ทำให้ทั้งปี สศช. ประเมินเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 1.2% อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ที่ 1.2% และบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 2.5% ต่อจีดีพี 

 

NT ลุยให้บริการ Free WiFi ทั่วประเทศ เปิด 3 ภาษา ‘ไทย - อังกฤษ - จีน’ รับนทท.

NT เร่งขยายการให้บริการ Free WiFi ทั่วประเทศ 300,000 จุด ร่วมกับบริษัทลูก NT iBuzz ด้วยแพลตฟอร์ม 3 ภาษา ไทย, อังกฤษ, จีน พร้อมให้บริการประชาชน ผู้ประกอบการ และนักท่องเที่ยวต่างชาติ

15 พ.ย. 64 นายสมยศ ธนพิรุณธร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (NT) เปิดเผยว่า NT ร่วมกับ บริษัท เอ็นที ไอบัซซ์ จำกัด (NT iBuzz) เตรียมเปิดให้บริการ Free WiFi ความเร็วสูงภายใต้ชื่อบริการ Buzz Privilege WiFi ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ด้วยมาตรฐานการให้บริการที่มีความเร็วสูง มีคุณภาพ ใช้งานฟรีตลอด 24 ชั่วโมง มีรูปแบบการใช้งานที่ง่ายและสะดวก ผู้ใช้บริการลงทะเบียนเพียงครั้งเดียว จะสามารถใช้งานได้ในทุกพื้นที่การให้บริการ พร้อมฟีเจอร์ใช้งานต่าง ๆ เช่น ท่องเที่ยว บันเทิง เกม ตลาดซื้อขาย เป็นต้น

'นายกฯ' สั่งการเตรียมความพร้อมภาคแรงงาน ฟื้นเศรษฐกิจ 

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงแนวนโยบายนายกรัฐมนตรี การขับเคลื่อนการเปิดประเทศ ว่า นายกฯ ให้เดินหน้าโครงการ Factory Sandbox ระยะที่ 2 พร้อมเปิดทางให้ แรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานเสริมทัพภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทย ตาม MOU ที่กระทรวงแรงงานเสนอให้พิจารณา และนายกฯ ได้มีข้อสั่งการให้กระทรวงแรงงานเดินหน้าโครงการ Factory Sandbox ในระยะที่ 2 เน้นการดำเนินการ ตามมาตรการ ตรวจ ควบคุม รักษา ดูแล โดยขยายกรอบขอบเขตจังหวัด จากเดิมดำเนินการใน 4 จังหวัด เพิ่มเป็น 11 จังหวัด รวมได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ อีกทั้ง ปรับลดหลักเกณฑ์ขนาดสถานประกอบการ จากเดิม กำหนด 500 คนขึ้นไป เป็น 100 คนขึ้นไป  

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานจะเปิดให้มีการนำเข้าแรงงานตาม MOU ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งคาดว่าหลังวันที่ 30 พ.ย.2564 นายจ้างสามารถยื่นความต้องการจ้างแรงงานที่กรมการจัดหางานได้เลย โดยแรงงานต่างด้าวที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทยต้องเข้ารับการกักตัว และตรวจหาเชื้อโควิด – 19 ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 สำหรับแรงงานต่างด้าวที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วต้องกักตัว 7 วัน หากฉีด 1 เข็ม หรือยังไม่เคยรับวัคซีน จะต้องกักตัว 14 วัน ระหว่างกักตัวจะมีการตรวจหาเชื้อโควิด ด้วยวิธี RT – PCR 2 ครั้ง 

เร่งแก้ราคาหมูแพง พาณิชย์เตรียมเปิดจุดขายราคาถูก 400 แห่งทั่วปท.

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงปัญหาราคาเนื้อหมูที่ปรับตัวสูงขึ้นมากจนทำให้ราคาเนื้อหมูปลายทางมีราคาสูงขึ้นอย่างมากในขณะนี้ ว่า ปัญหามาจากผลกระทบน้ำท่วมในหลายพื้นที่ที่เลี้ยงสุกรในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา รวมทั้งต้นทุนของผู้เลี้ยงสุกรมีราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะวัตถุดิบ เช่น ข้าวโพคเลี้ยงสัตว์ที่มีราคาสูงขึ้นเท่าตัว ทำให้ต้นทุนการเลี้ยงหมูขยับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น จึงได้สั่งการให้กรมการค้าภายในไปเร่งแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนแล้ว

ทั้งนี้ เพื่อลดผลกระทบกรมการค้าภายใน อยู่ระหว่างหารือร่วมกับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมมือกันจัดทำโครงการจำหน่ายเนื้อหมูราคาพิเศษขึ้นมาใน 400 จุดทั่วประเทศ ในราคาต่ำกว่าท้องตลาด คาดว่า จะดำเนินการได้ในเร็ว ๆ นี้

แบงก์ชาติยันสถานะการเงินแบงก์พาณิชย์ยังแกร่ง

นางสาว สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 3 ปี 2564 ว่า ระบบธนาคารพาณิชย์มีความเข้มแข็ง โดยมีเงินกองทุน เงินสำรองและสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง สามารถทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้และสนับสนุนความต้องการสินเชื่อเพื่อรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไปที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงจากผลกระทบของโควิด-19 ทั้งนี้ มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และการผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นช่วยชะลอการด้อยลงของคุณภาพสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ ขณะที่ผลประกอบการปรับดีขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน โดยหลักจากค่าใช้จ่ายสำรองที่ลดลงเนื่องจากระบบธนาคารพาณิชย์
ได้กันสำรองในระดับสูงในปีก่อน รวมถึงการควบคุมค่าใช้จ่าย 

สำหรับระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนทั้งสิ้น 3.02 ล้านล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง ที่ 19.9% เงินสำรองอยู่ในระดับสูงที่ 8.72แสนล้านบาท โดยอัตราส่วนเงินสำรองที่มีต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ อยู่ที่ 155% และอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤต อยู่ที่ 186.8%

ขณะที่ภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 3 ปี 2564 ขยายตัวที่ 5.6% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 3.7% โดยสินเชื่อยังคงขยายตัวต่อเนื่องแม้หักผลของสินเชื่อที่ให้แก่ภาครัฐและมาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน โดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 6.3% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากการขยายตัวของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ ในเกือบทุกประเภทธุรกิจ รวมถึงสินเชื่อที่ให้แก่ภาครัฐ สะท้อนความต้องการเงินทุนของภาคธุรกิจภายหลังการทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดและแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังการเปิดประเทศ 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top