Saturday, 22 June 2024
ECONBIZ NEWS

ชงเพิ่มหัวหินเปิดรับต่างชาติไม่กักตัว 1 ต.ค.นี้

นายกรด โรจนเสถียร กรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมสปาไทย ในฐานะประธานภาคเอกชนในโครงการหัวหิน รีชาร์จ เปิดเผยว่า ได้หารือกับนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อเสนอให้รัฐบาลเพิ่มเทศบาลเมืองหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นอีกหนึ่งพื้นที่เพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดส และมีผลการตรวจโควิด-19 เป็นลบ ให้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวที่หัวหินได้โดยไม่ต้องกักตัว เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 64

ทั้งนี้ในเบื้องต้นตั้งเป้าหมายว่า จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามา 1 แสนราย สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 1,200 ล้านบาท ซึ่งรมว.การท่องเที่ยวฯ ได้รับทราบและจะนำเรื่องนี้เสนอคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ททช.) ในวันที่ 6 พ.ค.นี้เห็นชอบต่อไป 

ทั้งนี้การเพิ่มพื้นที่หัวหินเป็นอีกหนึ่งพื้นที่นำร่องนั้น จะทำผ่านโครงการหัวหิน รีเชนจ์ ซึ่งเป็นความร่วมมือของภาครัฐ การท่องเที่ยว โรงพยาบาลและสาธารณสุข และภาคเอกชนในธุรกิจท่องเที่ยวและการบริการ ทั้งโรงแรม ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ธุรกิจรถเช่า บริษัททัวร์ฯลฯ ในพื้นที่เทศบาลหัวหิน ตั้งเป้าหมายเกิดความร่วมมือในการบริหารจัดการการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในพื้นที่ได้ตั้งแต่ 1 มิ.ย.เป็นต้นไป และครบถ้วนตามเป้าหมาย 70% ของประชากรในพื้นที่ภายใน 30 ก.ย.64 เพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจ พนักงานและแรงงานในภาคธุรกิจบริการกว่า 89,000 คนในพื้นที่ให้มีรายได้

วิกฤตโควิด คนตัวเล็กโคม่า “วรวุฒิ อุ่นใจ” จี้รัฐตั้ง “สภา SME" แนะใช้ “อสม.โมเดล” เป็นต้นแบบ ดึงจิตอาสารายย่อยทั่วประเทศ เฟ้นหาตัวจริงรับการเยียวยา ก่อนเกิด “โดมิโน่เอฟเฟกต์” พังทั้งระบบ

นายวรวุฒิ อุ่นใจ รองหัวหน้าพรรคกล้า และ อดีตประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เรียกร้องให้รัฐบาลตั้ง "สภา SME" เพื่อรวบรวมคนตัวเล็ก ซึ่งมีเกือบ 4 ล้านรายหรือราว 20 ล้านคน ถือเป็นฐานที่มั่นหลักทางเศรษฐกิจของประเทศ ให้ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาแบบตรงคนตรงจุด ดีกว่าโปรยเงินจากฟ้าแล้วปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งขณะนี้การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกสาม สร้างความเดือดร้อนเป็นวงกว้าง เสียงความเดือดร้อนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศ ทั้งร้านค้าปลีก โชห่วย โอท็อป เกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบ เริ่มดังขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็นที่น่ากังวลว่าหากสถานการณ์ยืดเยื้ออาจพังทั้งระบบ

นายวรวุฒิ กล่าวว่า การช่วยเหลือเอสเอ็มอี เป็นปัญหามาเกือบ 30 ปี จนถึงวันนี้ความช่วยเหลือก็ยังลงไม่ถึงตัวจริง แม้เวลานี้หลายหน่วยงานทำหน้าที่ช่วยเหลือกลุ่มเอสเอ็มอี แต่เอสเอ็มอีก็ยังไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร วิกฤตโรคระบาดรอบนี้ เอสเอ็มอีตัวจริงได้เงินช่วยเหลือมาตรการเยียวยาผ่านแอพเป๋าตังก์เหมือนประชาชนทั่วไป แต่มาตรการเงินกู้เพื่อเอสเอ็มอีกลับไปตกอยู่กับเอสเอ็มอีขนาดกลาง ซึ่งพอมีเงินอยู่แล้ว แต่ไม่กล้าให้รายเล็กเพราะกลัวเกิดหนี้เสีย (NPL) ดังนั้นหากไม่ตั้งสภาเอสเอ็มอีขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะ ไม่มีทางแก้ปัญหาได้

“ถึงเวลาแล้วที่เราจะมีสภาเอสเอ็มอี จริง ๆ จัง ๆ เทียบเท่ากับ สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า สภาดิจิทัล ทุกวันนี้ถูกแบ่งอยู่ในกลุ่มของทั้งสองสภาก็จริง แต่ถ้าไปดูในรายละเอียดจะรู้ว่าการช่วยเหลือไม่ค่อยถึง ซึ่งตอนนี้มีการรวมตัวกันเป็นสภาเอสเอ็มอีอยู่แล้ว แต่ยังเป็นรูปแบบที่ยังไม่ได้รับการยกระดับมีกฎหมายรองรับ และยังไม่รวมศูนย์ การดำเนินการจึงเป็นเหมือนเบี้ยหัวแตก เราควรทำให้มันเป็นองค์กรเดียว ไม่กระจัดกระจาย ปัญหาของประเทศไทยตอนนี้คือ มีกระทรวงและหน่วยงานมากมาย เหมือนจะพร้อมให้การช่วยเหลือ แต่การประสานงานทำได้อย่างยากเย็น โครงสร้างในองค์กรภาครัฐไม่เอื้อต่อการทำงานให้มีประสิทธิภาพ ภาคเอกชนต่อสู้มาตลอดว่าควรปฏิรูประบบราชการ และแม้จะมีความพยายามทำมาหลายครั้ง แต่ก็กลับไปเพิ่มความยิ่งใหญ่ให้กับภาครัฐ จนเป็นรัฐราชการ” นายวรวุฒิ กล่าว

นายวรวุฒิ กล่าวด้วยว่า วันนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จำนวนไม่น้อยที่ต้องหยุดกิจการ เนื่องจากคนไม่กล้าเดินทางไปจับจ่าย เมื่อเอสเอ็มอีซึ่งมีจำนวนถึง 1 ใน 4 ของประชากรทั่วประเทศ (ราว 20 ล้านคน) เป็นผู้เดือดร้อนด่านแรก มันก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งระบบ และเสียดายเวลาหนึ่งปีกว่าที่ผ่านมา ไม่ได้ใช้วิกฤตให้เป็นโอกาเท่าที่ควร เช่น ควรสอนให้เกษตรกรตัวเล็กทำธุรกิจผ่านออนไลน์ แม้จะพอมีทำอยู่บ้าง แต่เป็นเปอร์เซ็นต์ที่น้อยมาก รัฐควรตั้งศูนย์เทคโนโลยีชุมชน สอนให้ชาวบ้านใช้เทคโนโลยีให้เป็น ซึ่งถ้ามีสภาเอสเอ็มอีมันจะช่วยได้ หลักการคือให้ยึดต้นแบบ อสม.ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งผู้ประกอบการรายย่อยก็กระจายอยู่ทุกหมู่บ้านเช่นเดียวกัน ให้เป็นจิตอาสา สำรวจ ประสาน คัดกรอง เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการตัวเล็กอย่างแท้จริง ซึ่งจะทำให้ระบบมันมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการก่อนเกิดเป็น โดมิโน่เอฟเฟกต์ พังทั้งระบบ

นายวรวุฒิ กล่าวด้วยว่า อยากให้รัฐบาลยึดแนวที่ 45 ซีอีโอ เสนอเพื่อแก้ปัญหาการฉีดวัคซีนล่าช้า และอยากให้ใช้โอกาสนี้ ทะลุทะลวง กติกา กฎระเบียบที่ไม่เอื้อต่อการแก้ไขปัญหา ในภาวะวิกฤต รัฐบาลมีเป้าหมาย ฉีดวัคซีน 50 ล้านโดสครอบคลุมทุกกลุ่มประชากร เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งหมายถึงต้องฉีดให้ได้ราว 300,000 คนต่อวันนับตั้งแต่เข็มแรกที่ฉีดคือเดือนมิถุนายน จนถึงสิ้นปี เวลานี้ยังไม่เห็นการจัดระเบียบ วางระบบการฉีดวัคซีน ว่าจะฉีดที่ไหน การขนส่งวัคซีนที่ต้องควบคุมอุณหภูมิจะต้องทำอย่างไร ถ้าไม่จัดระบบให้ดีจะเกิดความโกลาหลอย่างแน่นอน

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม 2564 ปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกขนาดอุตสาหกรรมและทุกภูมิภาค

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม 2564 อยู่ที่ระดับ 87.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 85.1 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกขนาดอุตสาหกรรมและทุกภูมิภาค

สำหรับปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นมาจากความต้องการซื้อทั้งในประเทศและต่างประเทศขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อภาคการผลิต รวมทั้งการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายและการบริโภคในประเทศ ประกอบกับผู้ประกอบการเร่งผลิตสินค้าก่อนวันหยุดยาวในช่วงเทศกาลสงกรานต์

ในส่วนของการส่งออก ก็มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัว โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้ายานยนต์และชิ้นส่วนฯ เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ และน้ำมันสำเร็จรูป ขณะเดียวกัน ความคืบหน้าเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนในหลายประเทศ รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ อาทิ สหรัฐฯ จีนและยุโรป ช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจโลกมีทิศทางที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ได้มีการสำรวจผู้ประกอบการ 1,351 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศในเดือนมีนาคม 2564 พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ ราคาน้ำมัน ร้อยละ 51.2 และสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ร้อยละ 46.1 ส่วนปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก ร้อยละ 63.2, อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ร้อยละ 52.0 และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ร้อยละ 33.5 ตามลำดับ

ส่วนดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า น่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 94.0 จากระดับ 92.0 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นว่าความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในหลายประเทศ ตลอดจนมาตรกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ จะช่วยให้เศรษฐกิจการค้าโลกฟื้นตัวต่อเนื่อง นอกจากนี้ การผ่อนปรนมาตรการควบคุมการเดินทางเข้าประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป

นอกเหนือจากนี้ ทางสภาอุตสาหกรรม ยังได้นำข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนฝากไปถึงภาครัฐอีกด้วย ดังนี้...

1.) ขอให้ภาครัฐเร่งควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ให้ได้โดยเร็ว โดยใช้มาตรการล็อกดาวน์เฉพาะพื้นที่ที่มีความเสี่ยงและมีการแพร่ระบาดสูง

2.) เร่งรัดการฉีดวัคซีน COVID-19 ให้กับประชาชนเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนเกี่ยวกับความปลอดภัยของวัคซีน

3.) สนับสนุนให้เอกชนนำเข้าวัคซีนที่ได้ขึ้นทะเบียนกับ อย.แล้ว เพื่อช่วยให้การฉีดวัคซีนเร็วขึ้น

4.) ขอให้ภาครัฐดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

5. เร่งแก้ไขปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ของผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อย (SMEs)

6.) เร่งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่ยังเป็นปัญหาต่อเนื่องเพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออก


ที่มา: ฝ่ายสื่อสารองค์กร ส.อ.ท.

‘สุพัฒนพงษ์’ แจงปมดราม่า ‘ขอคนไทยนำเงินออมใช้จ่ายช่วยดันจีดีพี’ ระบุ สื่อเข้าใจผิด ตัดคำพูดรักชาติต้องใช้เงินเก็บ แจง หมายถึงเอกชนที่มีเงินฝากเพิ่มขึ้น หวังให้เกิดการหมุนเวียน  

เมื่อเวลา 08.40 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะมีการหารือถึงมาตรการเยียวยาประชาชนหรือไม่ ว่า การประชุม ครม.ครั้งนี้ยังไม่มีการพูดคุยถึงมาตรการเยียวยา แต่ต้องไปดูว่ากระทรวงการคลังจะเสนออะไรเข้าสู่ที่ประชุม ครม.หรือไม่

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะต้องมีการพูดคุยกับภาคเอกชนในวันที่ 28 เม.ย. ก่อนหรือไม่ นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า เรื่องนั้นเป็นเรื่องการบริหารจัดการวัคซีนให้ทั่วถึง และเป็นเรื่องของ ศบค. ที่เอกชนเสนอตัวมาร่วมทำงานกับรัฐบาล ไม่ใช่เรื่องมาตรการเศรษฐกิจ 

นายสุพัฒพงษ์ กล่าวว่า วันนี้เป็นช่วงเวลาที่เราทุกคนตระหนักและทราบดีว่าการระบาดระลอกใหม่เกิดขึ้นทั้งโลก ประเทศไทยจึงต้องร่วมมือกัน ซึ่งน่าดีใจที่ภาคเอกชนมีประสบการณ์มากขึ้นและมีการเตรียมพร้อม รวมถึงเห็นความสำคัญของมาตรการที่รัฐบาลออกมา นอกจากนี้ ยังเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกับภาคเอกชนเพื่อให้เข้าถึงวัคซีนได้มากขึ้น วันนี้มาทำเรื่องนี้กันเสียก่อน เพราะเมื่อปีที่แล้วไม่มีวัคซีนและที่ไหนในโลกไม่มีวัคซีน แต่วันนี้วัคซีนทยอยเข้ามาแล้ว เราต้องช่วยกัน เรามีสิ่งที่ใหม่และเป็นโอกาสที่ทำให้ทั่วถึงและจัดลำดับให้ดี อาจจะทำให้ระบบเศรษฐกิจขับเคลื่อนและเปิดประเทศได้เร็วขึ้น  

นายสุพัฒนพงษ์ ยังชี้แจงกรณีที่มีสื่อบางแห่งนำคำให้สัมภาษณ์ของตนเองไปสื่อสารให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด ว่า เมื่อวันที่ 26 เม.ย. มีสื่อนำคำพูดของตนที่ระบุว่า “ขอให้คนรักชาตินำเงินฝากที่เก็บไว้ไปใช้จ่าย” และใส่เครื่องหมายอัศเจรีย์ ซึ่งเป็นคำพูดเพียงสั้น ๆ และคงเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะตนคิดว่าผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจเข้าใจในสิ่งที่ตนอยากสื่อสาร ทั้งนี้ ตนอยากทำความเข้าใจกับทุกคนว่าทุกประเทศในยามนี้ สิ่งที่จะรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจได้คือการบริโภคในประเทศ และเราพบว่าเงินฝากของภาคเอกชนที่อยู่ในระบบเงินฝากเพิ่มมากขึ้นหลายแสนล้านเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งเป็นปีที่เกิดวิกฤติโควิด-19 เหมือนกัน รัฐบาลจึงตระหนักว่าถ้านำเงินส่วนนี้มาช่วยกันจะเกิดเงินหมุนเวียนในประเทศ ไม่ใช่การบังคับ แต่จะมีมาตรการส่งเสริมให้ประชาชนที่มีเงินฝากนำเงินที่เกินมาไปใช้ในการอุปโภคบริโภคและลงทุน ตรงนี้จะมีส่วนให้ประเทศไทยเรามีศักยภาพที่ดีขึ้น ถ้าเป็นไปได้ก็เห็นอกเห็นใจกัน อยากให้สื่อทำความเข้าใจตรงนี้ เพราะการที่เขียนเครื่องหมายอัศเจรีย์หมายความว่ายังไม่เข้าใจ

ฝ่าวิกฤติโควิด ‘เกษตรฯ.’ ชูธง ‘5 ยุทธศาสตร์เฉลิมชัย’ ใช้แพลตฟอร์มรูปแบบใหม่ระบบสั่งซื้อทุเรียนล่วงหน้าออนไลน์ เจาะตลาดจีน 1,400 ล้านคน เตรียมขึ้นเครื่องเช่าเหมาลำล็อตแรก 27 เมษายนนี้

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) เปิดเผยว่า ในวันที่ 27 เมษายนนี้จะจัดส่งทุเรียนจากสหกรณ์เมืองขลุง จังหวัดจันทบุรี ไปจำหน่ายที่ประเทศจีนโดยเครื่องบินเช่าเหมาลำของสายการบินเซินเจิ้นแอร์ไลน์ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นการจำหน่ายผ่านระบบออนไลน์แบบสั่งซื้อล่วงหน้า ( Pre-Order) ที่ลูกค้าจ่ายเงินผ่านระบบออนไลน์มาเรียบร้อยแล้ว จำนวน 20 ตัน

“เป็นครั้งแรกของการจำหน่ายทุเรียนผ่านระบบ Pre-Order ไปประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่สุดของผลไม้ไทยโดยเฉพาะทุเรียน เราต้องเจาะตลาดจีนที่มีประชากรกว่า 1,400 ล้านคนเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วขายทุเรียนได้กว่า 6 หมื่นล้านบาทด้วยแพลตฟอร์มใหม่ ๆ บนความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตร กระทรวงพาณิชย์ บริษัทเอกชนและสหกรณ์ผลไม้ เช่นสหกรณ์เมืองขลุง จังหวัดจันทบุรีและยังเป็นทุเรียนชุดแรกที่มีการสร้างแบรนด์ทุเรียนไทยในระดับสหกรณ์ผลไม้ (Cooperative based Branding) ให้เป็นที่รู้จักในสายตาชาวโลกทำให้เกษตรกรชาวสวนทุเรียนและสหกรณ์ขายได้ราคาสูงขึ้นคู่ขนานไปกับการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานของทุเรียนในระบบ GAP และ GMP ภายใต้ "5 ยุทธศาสตร์เฉลิมชัย” และโมเดล ‘เกษตรผลิต-พาณิชย์ตลาด’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในนโยบายการปฏิรูปไม้ผลทั้งระบบของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) และการขับเคลื่อนโมเดล "เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ร่วมกับนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีพาณิชย์

“ถือเป็นความสำเร็จทางนโยบายและการบริหารแบบทำได้ไวทำได้จริง หลังจากคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) ครั้งที่ 3/2564 เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา เห็นชอบโครงการจำหน่ายผลไม้บนแพลตฟอร์มออนไลน์แบบสั่งซื้อล่วงหน้า (Pre-order) เพื่อเป็นกลไกการขายเชิงรุกทั้งในและต่างประเทศโดยมอบหมายให้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อน E-Commerce กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และฝ่ายเลขานุการของฟรุ้ทบอร์ด คือกรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ ภาคเอกชนและกระทรวงพาณิชย์

โดยล่าสุดกรมประชาสัมพันธ์จะมาช่วยเสริมทัพด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์และการผลิตสื่อออนไลน์ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้จะมีการส่งออกภายใต้ระบบพรีออเดอร์อีกหลายประเทศในเดือนหน้าและขอแสดงความชื่นชมความร่วมมือระหว่างฟรุ้ทบอร์ด ผู้ประกอบการ สหกรณ์เมืองขลุงและจังหวัดจันทบุรี ที่สามารถเปิดฉากการส่งออกทุเรียนล็อตแรกได้สำเร็จอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่ถึง 1 เดือน

นายกฤชฐา โภคาสถิตย์ ประธานคณะอนุกรรมการอนุกรรมการขับเคลื่อน E-Commerce กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า คณะอนุกรรมการฯ. ได้ประสานความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนเพื่อสร้าง New Ecosystem ในการ “สร้างแบรนด์ผลไม้ไทย” ในการส่งออกไปทั่วโลก

ผ่านช่องทาง Pre-order เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดการจดจำ ในฐานะที่เราเป็นผู้ส่งออกผลไม้ที่มีศักยภาพอันดับต้น ๆ ของโลก เราสามารถสร้างแบรนด์ให้แต่ละสวน แต่ละฟาร์มผ่านกลไกสหกรณ์ และมีระบบ Logistics ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำที่แข็งแรง ผสานเข้ากับ ผู้ประกอบการที่มีความพร้อมในการส่งออกผ่านกระบวนการ Pre-Order ทางออนไลน์ นี่จะเป็นมิติใหม่ในการจำหน่ายและเพิ่มมูลค่าของผลไม้ไทยอย่างยั่งยืน”

ทางด้านคุณเจียวหลิง ฟาน (Jiaoling Pan) กรรมการผู้จัดการ บริษัท รอยัล ฟาร์ม กรุ๊ป จำกัด กล่าวถึงการเปิดรับ Pre-Oder เพื่อจำหน่ายทุเรียนไทยส่งขายไปที่ประเทศจีน ว่า ช่วงนี้เป็นฤดูกาลผลิตทุเรียน ทางบริษัทของเราต้องการได้ทุเรียนที่มีคุณภาพเพื่อส่งไปขายที่จีน และเมื่อได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการสร้างแบรนด์ผลไม้ไทย โดยมีพันธมิตรคือสหกรณ์เมืองขลุง จังหวัดจันทบุรี ร่วมคัดเลือกทุเรียนพันธุ์หมอนทองที่ได้คุณภาพ ก็ยิ่งมั่นใจในคุณภาพว่าลูกค้าชาวจีนของเราทุกคนจะได้รับประทานทุเรียนจากเมืองไทยที่มีคุณภาพระดับเกรดพรีเมียม รสชาติอร่อย และผ่านการคัดเลือกคัดกรองอย่างมีคุณภาพในทุกขั้นตอน และปลอดจากเชื้อโควิดด้วย เรียกว่าเป็นทุเรียนแบรนด์เมืองไทย ที่มาจากการสร้างแบรนด์ของเกษตรกรไทยอย่างแท้จริง

“เมื่อชาวสวนและสหกรณ์สามารถรับรองคุณภาพทุเรียนให้ได้ เป็นแบรนด์ผลไม้ไทย และเราเป็นเจ้าแรกที่นำเอาผลไม้ไทยไปขายที่จีน ผ่านระบบ Pre-Order เราก็เลยเห็นว่าแนวทางนี้มีความมั่นคง เรามาถูกทางแล้วเพราะมีภาครัฐและสหกรณ์ออกมารับรองคุณภาพด้วย ทำให้เรามั่นใจและสามารถส่งออกผลไม้ไปขายได้อย่างเต็มที่" คุณเจียวหลิง ฟาน กล่าว

ดังนั้น สิ่งที่อยากเห็นมากขึ้นคือการประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องเกษตรกรเห็นถึงการขายทุเรียน และผลไม้ไทยทุกชนิดผ่านระบบ Pre-Order ที่สามารถทำได้จริง และได้กำไรด้วยเพราะเราสามารถกำหนดราคาขายที่แพงกว่าตลาดได้ หากสินค้าที่นำมาขายนั้นมีคุณภาพดีและผ่านการการันตี หรือได้รับการรับรองจากทางสหกรณ์และภาครัฐแล้ว และการซื้อทุเรียนล็อตนี้ทางบริษัทฯ เราก็ซื้อในราคาที่แพงกว่าราคาที่ขายในท้องตลาดจริงถึง 20 บาทด้วยกัน และถ้าเราสามารถประชาสัมพันธ์ให้ต่างชาติรับรู้และเข้าถึงผลไม้ไทยทุกชนิดที่เป็นความต้องการของตลาด ก็จะยิ่งเป็นการเปิดโอกาสและเป็นการเปิดเส้นทางการขายผลไม้ไทยสู่ตลาดโลกด้วยระบบออนไลน์ผ่านการ Pre-Order ซึ่งจะช่วยให้การจำหน่ายผลไม้ไทยเกิดความยั่งยืนด้วย

คุณเจียวหลิง ฟาน บอกอีกว่ากระแสการสั่งซื้อทุเรียนของไทยผ่านระบบ Pre-Order ในขณะนี้ถือว่าได้รับกระแสการตอบรับที่ดีมาก ซึ่งลูกค้าชาวจีนให้ความสนใจและชื่นชอบทุเรียนจากเมืองไทยอยู่แล้ว และทางบริษัทฯ และสหกรณ์เมืองขลุง ก็ได้มีการรับรองคุณภาพด้วย หากว่าทุเรียนที่ส่งถึงมือลูกค้าไม่เป็นไปตามที่ตกลงไว้ ทางบริษัทฯ ก็ยินดีรับเคลมและจัดส่งทุเรียนให้กับลูกค้าใหม่อีกครั้งเพื่อสร้างความมั่นใจว่าเรามีระบบการขายและการดูแลลูกค้าที่ได้มาตรฐาน ซึ่งตลาดลูกค้าชาวจีนนั้นมีมากถึง 1,400 ล้านคนทีเดียว

ด้านคุณอุไร เปี่ยมคูหา เลขานุการสหกรณ์เมืองขลุง จำกัด จังหวัดจันทบุรี กล่าวว่าสหกรณ์ของ เรามีสมาชิกกว่า 2,000 คน ซึ่งมีความตั้งใจที่จะให้สหกรณ์เป็นศูนย์กลางเพื่อการส่งออกและจำหน่ายผลไม้ไทย ร่วมกันสร้างแบรนด์ผลไม้ไทย โดยสหกรณ์เป็นแกนนำให้สมาชิกได้ขายผลไม้ในราคาที่สูง มีคุณภาพดี เป็นผลไม้เกรดดี พรีเมียมและสมาชิกสามารถอยู่ได้เพื่อรองรับอนาคตที่ผลไม้จะออกสู่ตลาดมากขึ้น ซึ่งเราอยากมีศูนย์ส่งออกเป็นของตนเอง มีรัฐบาลคอยให้การสนับสนุนช่วยเหลือด้านต่าง ๆ มีความร่วมมือจากทางจังหวัดและมีบริษัทที่มารับซื้อผลไม้จากเราเพื่อสร้างความมั่นใจได้ว่าผลไม้ที่ออกมาในแต่ละฤดูกาลจะสามารถจำหน่ายได้ในราคาที่ดี และมีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด

“การขายผ่านระบบออนไลน์ หรือ Pre-Order นี้ นับว่าตอบโจทย์ของเรามากเพราะช่วยให้เกษตรกรและสมาชิกของเราสามารถขายผลไม้ได้อย่างยั่งยืน มีตลาดรองรับที่แน่นอน ขอเพียงเราปลูกผลไม้ให้ได้มาตรฐานตามที่ตลาดต้องการ ซึ่งปีนี้เราก็ได้บุกเบิกขายทุเรียนพันธุ์หมอนทอง จันทบุรี ผ่านระบบ Pre-Order เป็นครั้งแรก และเป็นการผลักดันผลไม้แบรนด์ไทย คือทุเรียนให้เป็นที่รู้จักในสายตาชาวโลก” คุณอุไร กล่าวย้ำและว่าบริษัทฯ ที่มารับซื้อมีความตั้งใจมาก มีการแจ้งยอด Order เข้ามา และทางสหกรณ์กับสมาชิกก็ยินดีที่จะขายทุเรียนในรูปแบบนี้ เพราะเป็นโอกาสที่ดีและเราก็อยากจำหน่ายในรูปแบบนี้มานานแล้ว ก็ได้มีการไปตรวจแป้งทุเรียนที่ต้องผ่านเกณฑ์ตามที่บริษัทฯ กำหนดไว้ นั่นคือต้องมีแป้งไม่น้อยกว่า 32% ขึ้นไป ซึ่งทุเรียนที่เราจำหน่าย 20 ตันในนี้มีขนาดน้ำหนักแป้งตั้งแต่ 33-35% ขึ้นไป ซึ่งสมาชิกของเรา 20 คน ที่เป็นแกนในการส่งออกทุเรียน ทุกคนยินดีที่จะทำตามกฎระเบียบของสหกรณ์และตามที่บริษัทฯ กำหนดไว้เพื่อให้ได้ทุเรียนที่มีคุณภาพดี รสชาติหวาน และได้มาตรฐานตามที่ตลาดต้องการ

ขณะที่ คุณอรทัย เอื้อตระกูล อดีตผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนำเข้า-ส่งออกสินค้าพืชและปัจจัยการผลิต กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า การจำหน่ายผลไม้ไทย ผ่านระบบออนไลน์แบบ Pre-Order ถือเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะสามารถสร้างแบรนด์ผลไม้ไทย และส่งขายผลไม้ไทยได้มากยิ่งขึ้นกับในช่วงที่เกิดโรคระบาดโควิดนี้ แต่หัวใจสำคัญคือระบบโลจิสติกส์ที่จะต้องสอดประสานและเป็นสะพานในการเชื่อมต่อระหว่างสินค้าจากเกษตรกรไทยของเรา พี่น้องชาวไร่ ชาวสวนให้สามารถส่งขายสินค้าไปยังปลายทาง โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศที่มีบริษัทฯ กลางมารับซื้อและจัดจำหน่ายผ่านการ Pre-Oder

ซึ่งวันนี้เราได้เริ่มจัดส่งทุเรียนออกขายที่เมืองจีน ผ่านระบบการขนส่งโดยเครื่องบิน ซึ่งถือว่าดีมากเพราะช่วยในเรื่องของการรับประกันคุณภาพทุเรียนได้เมื่อส่งถึงมือผู้บริโภค หรือตลาดตามที่เราได้กำหนดไว้ แต่การจัดส่งโดยเครื่องบินก็มีราคาขนส่งที่แพงในระดับหนึ่ง ถ้ามีช่องทางการขนส่งในราคาไม่แพงมากจนเกินไป ก็จะส่งผลดีต่อการขายทุเรียนและผลไม้ไทยอื่น ๆ ได้อย่างมาก

“แต่ขณะเดียวกันเราก็ต้องผลิตสินค้า หรือจำหน่ายผลไม้ไทยที่มีคุณภาพ เกรดพรีเมียมด้วยเพราะเมื่อเป็นการขายแบบ Pre-Order เราต้องคัดสินค้าอย่างดีให้กับลูกค้า ประกอบกับการมีระบบการจัดส่งขนส่งที่ดี มีบริษัทรับซื้อที่เชื่อถือได้และมีมาตรฐาน เมื่อทุกอย่างดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน เป้าหมายเดียวกัน เส้นทางการจำหน่ายผลไม้ไทยไปสู่ตลาดโลกและเป็นที่ยอมรับของต่างชาติ ผ่านการ Pre-Order ก็จะประสบความสำเร็จได้เป็นอย่างดี” คุณอรทัย บอกไว้ในตอนท้าย


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

พาณิชย์ ถกห้างสต็อกสินค้า - อาหารแห้งเพิ่มรับโควิด

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ได้หารือกับผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก-ค้าส่งทั่วประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมสต็อกสินค้าเพิ่มมากขึ้นจากภาวะปกติ โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพ ทั้ง ข้าวสาร อาหารแห้ง อาหารกระป๋อง อาหารแช่แข็ง น้ำดื่ม และของใช้อื่น ๆ ให้มีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการของประชาชน 

พร้อมกันนี้ยังขอเพิ่มความถี่ในการเติมสินค้าในชั้นวางอยู่เสมอ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ว่าสินค้า ไม่มีปัญหาขาดแคลน หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด–19 ระลอกใหม่ที่มีความรุนแรง อีกทั้งกรมฯ ยังได้ติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าและปริมาณสินค้าอย่างใกล้ชิด ป้องกันไม่ให้ฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาสินค้าและต้องปิดป้ายแสดงราคาให้ชัดเจน

ทั้งนี้หากประชาชนพบเห็นการกักตุนสินค้าหรือขายสินค้าโดยไม่เป็นธรรม สามารถแจ้งได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ หากตรวจพบว่ามีการจำหน่ายสินค้าในราคาแพงเกินสมควร หรือมีการกักตุน หรือปฏิเสธการจำหน่าย จะมีโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และกรณีที่ไม่ปิดป้ายแสดงราคาจำหน่ายจะมีโทษสูงสุดปรับไม่เกิน 10,000 บาท

เร่งเสนอแผนดึงนักลงทุนชง “บิ๊กตู่” ไฟเขียว

ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าทีมปฏิบัติการเชิงรุกดึงดูดการลงทุนในประเทศไทย เปิดเผยว่า ในเร็ว ๆ นี้ ทีมปฏิบัติการเชิงรุกฯ จะเร่งเสนอแผนการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ และแนวทางการแก้ปัญหาอุปสรรคที่เป็นรูปธรรมให้กับที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) พิจารณา โดยมีทั้งเป้าหมายในการชักจูงการลงทุนและในเรื่องของการแก้ไขปัญหาและอุปสรรค หลังจากรับฟังความเห็นและประชุมออนไลน์กับนักลงทุนต่างประเทศเป็นระยะ ๆ ซึ่งนายกรัฐมนตรีให้ระยะเวลาในการจัดทำแผนงานเชิงปฏิบัติให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน 

“การทำงานของคณะทำงานชักจูงการลงทุนในประเทศไทยก็ยังทำงานต่อเนื่อง ซึ่งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกล่าสุดนี้จะไม่กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่จะตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเนื่องจากการระบาดรอบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทยแต่เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก และในหลายประเทศขณะนี้แม้จะมีการฉีดวัคซีนไปมากแล้วแต่ก็ยังเผชิญกับการแพร่ระบาด ก็จะประสบปัญหาเหมือนกัน เช่นในชิลีที่มีการฉีดไปแล้วกว่า 50% ก็ยังมีการระบาดเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากในแต่ละวัน”  

ม.ล.ชโยทิต กล่าวว่า ขณะนี้ทุกประเทศมีการแข่งขันกันอยู่โดยเฉพาะในอาเซียน ธุรกิจที่จะเข้ามาคือกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ เป็นกลุ่มธุรกิจ 5จี และเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เราต้องการให้เข้ามาลงทุนจะมาก่อน และการเข้ามาลงทุนของแต่ละประเทศจะดึงเอาอุตสาหกรรมชั้นนำแต่ละประเทศ เช่น ในเรื่องของรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งหลายประเทศมีความก้าวหน้าในเรื่องนี้มาก เช่น ประเทศจีน ส่วนที่เป็นสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ก็กำลังดูในส่วนของประเทศไต้หวัน ญี่ปุ่นให้เข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น

กระทรวงท่องเที่ยวหั่นเป้ารายได้ทั้งปีเหลือ 8.5 แสนล้าน

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ทั้งหมด 8 หน่วยงาน ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงผลกระทบด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงเดือนม.ค. ที่ผ่านมา และอีกระลอกในเดือนเม.ย.64 ทำให้การเดินทางลดลง จึงทำให้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ จำเป็นต้องปรับลดเป้าหมายการท่องเที่ยวใหม่อีกครั้ง โดยคาดว่าทั้งปีประเทศไทยจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวเหลือเพียง 8.5 แสนล้านบาท ลดลงจากเดิมที่ตั้งไว้ 1.2 ล้านล้านบาท  

ทั้งนี้การปรับลดเป้าหมายลงมาในครั้งนี้ แยกออกเป็น การท่องเที่ยวภายในประเทศ หรือไทยเที่ยวไทย เดิมกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปีเอาไว้ 160 ล้านคน-ครั้ง ลดลงเหลือ 120 ล้านคน-ครั้ง คิดเป็นเงินรายได้ 5.5 แสนล้านบาท ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติ เดิมตั้งไว้ว่าทั้งปีจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศ 6.5 ล้านคน ลดเหลือ 4 ล้านคน หรือคิดเป็นรายได้ประมาณ 3 แสนล้านบาท ซึ่งลดลงจากเดิมเล็กน้อย โดยหวังว่านักท่องเที่ยวในกลุ่มที่ฉีดวัคซีนแล้วจะเริ่มทยอยเข้ามาได้ตั้งแต่ 1 ก.ค.64 

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า การปรับตัวเลขเป้าหมายลงในครั้งนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะมีการประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง หากสถานการณ์ดีขึ้นก็อาจปรับเป้าหมายใหม่อีกครั้ง โดยเฉพาะสถานการณ์บริเวณชายแดนหากดีขึ้นรายได้น่าจะกลับมามาก แต่ก็ต้องติดตามสถานการณ์ต่อไปอย่างใกล้ชิด

ททท. สรุปยอดคนเที่ยวสงกรานต์ต่ำกว่าเป้า

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยสถานการณ์ท่องเที่ยวภายในประเทศช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2564 ซึ่งเป็นวันหยุดยาวต่อเนื่อง 6 วัน ระหว่างวันที่ 10 - 15 เม.ย.64 พบว่า บรรยากาศซบเซาลงไปมากเมื่อเทียบกับปีปกติก่อนเกิดวิกฤตไวรัสโควิด-19 เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด -19 จากกลุ่มคลัสเตอร์ สถานบันเทิงย่านทองหล่อ เมื่อต้นเดือนเม.ย.64 ส่งผลให้จำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยลดลง เหลือเพียง 2.68 ล้านคน - ครั้ง ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ถึง 16% 

ทั้งนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกับข้อมูลการเดินทางของประชาชนในช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ปี 2564 ของกระทรวงคมนาคมที่มีผู้ใช้บริการด้วยระบบขนส่งสาธารณะต่ำกว่าประมาณการ 39.36% มีปริมาณการจราจรเข้า-ออกกรุงเทพฯ ต่ำกว่าประมาณการ 25.68% ส่วนใหญ่เป็นรถยนต์ส่วนบุคคลคิดเป็น 95.25% ของปริมาณการเข้าออกกรุงเทพฯ ขณะที่การใช้จ่ายน้อยลงตามสภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว โดยมีรายได้หมุนเวียนทางการท่องเที่ยวประมาณ 9,670 ล้านบาท ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ถึง 19% และมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยทั้งประเทศเพียง 25%

หอหารค้าฯ ชี้โควิดรอบ 3 ฉุดเงินในระบบศก.หาย 3 แสนล.

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า ศูนย์ฯ ประเมินผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 ระลอกใหม่ทำให้อัตราการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจลดหายไปกว่า 200,000-300,000 ล้านบาท ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ จะเติบโตได้เพียง 1.2-1.6% ลดลงจากเป้าหมายเดิม ที่ประเมินเอาไว้ว่า หากไม่มีการระบาดโควิด-19 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ถึง 2.8% อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า ตัวเลขนี้ยังไม่ใช่การปรับประมาณการทั้งปีของหอการค้าไทย เพราะเป็นตัวเลขการประเมินผลกระทบของการระบาดระลอกใหม่เท่านั้น
 
ทั้งนี้ ได้มีข้อเสนอแนะถึงภาครัฐให้เร่งแก้ไขปัญหา บริการจัดการ และควบคุมการแพร่ระบาดให้อยู่ โดยร่วมมือทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องเดินหน้าแก้ไขไปด้วยกัน โดยเฉพาะเร่งหาและฉีดวัคซีนร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยรวม และสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชนและคนในสังคมให้มีความชัดเจน พร้อมทั้งพยายามเปิดประเทศให้เร็วที่สุด 

นอกจากนี้ภาคธุรกิจต้องการให้รัฐบาลรีบดำเนินการหรือช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด โดยเฉพาะภาคการเงินจะต้องเร่งเสริมสภาพคล่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การพักชำระหนี้ในกลุ่มภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ พร้อมทั้งเร่งกระตุ้นภาคธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศ ผ่านโครงการต่าง ๆของรัฐที่ออกมาอย่างต่อเนื่องอีกด้วย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top