Friday, 10 May 2024
ECONBIZ NEWS

‘สุริยะ’ สั่ง กนอ.ป้องกันโควิดระบาดในนิคมฯ ด้าน ‘วีริศ’ เผยจับมือ ส.อ.ท. เสนอใช้พื้นที่นิคมฯ ทั่วประเทศ เป็นศูนย์กลางฉีดวัคซีนให้ประชาชน เตรียมหารือ กกร. ฉีดวัคซีนคนในนิคมฯ ให้ได้โดยเร็ว เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจและภาคการผลิต 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลนิคมอุตสาหกรรมตลอดจนโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ให้เร่งวางมาตรการป้องกันผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 โดยเพิ่มการเฝ้าระวังและกำกับดูแลให้ปฏิบัติตามมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ เพื่อควบคุมการระบาดของเชื้อในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบที่ร้ายแรงต่อเศรษฐกิจของไทย โดยนิคมอุตสาหกรรมถือได้ว่าเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจที่สำคัญและเป็นแหล่งสร้างรายได้อันดับต้น ๆ ของประเทศ ซึ่งหากเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในวงกว้างจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับเศรษฐกิจของไทย และกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) สินค้าต่าง ๆ ไปทั่วโลก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์

ด้านนายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า วัคซีนเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมให้หลุดพ้นจากวิกฤตโควิด-19 ซึ่งจากการประเมินเบื้องต้นมีบุคลากรในโรงงานและเจ้าหน้าที่ของ กนอ. ในนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ประมาณ 1 ล้านคน ที่ต้องได้รับวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยในจำนวนนี้มีบุคลากรประมาณ 5 แสนคน ที่ยินดีรับภาระค่าใช้จ่ายในการฉีดรายละ 1,000 บาทเอง อย่างไรก็ดี ขณะนี้ทราบว่ารัฐบาลได้มีการนำเข้าวัคซีนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น กนอ.จะขออาสาทำหน้าที่เป็นคนกลางประสานงานเพื่อให้ได้วัคซีนจากภาครัฐมาโดยเร็ว 

ทั้งนี้ กนอ.จะร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และเร่งหารือกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย ในการจัดหาวัคซีนให้กับบุคลากรในทุกช่องทาง ที่สำคัญคือ ได้มีการหารือกับ ส.อ.ท.และเห็นตรงกันว่าจะร่วมกันอำนวยความสะดวกในการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน โดยได้เสนอให้ใช้พื้นที่ของ กนอ. ที่มีอยู่ในชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศ เป็นศูนย์กลางฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งโดยศักยภาพของ กนอ. แล้วมีความพร้อมทั้งด้านพื้นที่และบุคลากร สามารถจัดสถานที่ฉีดวัคซีนให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข โดยสามารถเตรียมการฉีดวัคซีนได้ทันที

“การได้รับวัคซีนสำหรับคนที่ทำงานในนิคมฯ ต่าง ๆ โดยเร็ว จะเกิดประโยชน์อย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจ ภาคการผลิต ซึ่งมีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมากอยากได้วัคซีนไปฉีดให้กับแรงงาน เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) เพราะหากเกิดการแพร่ระบาดในโรงงานอุตสาหกรรมแล้วจะเกิดผลกระทบต่อกระบวนการผลิต จนเกิดความเสียหายต่อธุรกิจอย่างรุนแรงได้ จึงพร้อมที่จะจ่ายค่าวัคซีนเอง โดยทางผู้ประกอบการได้สอบถามเข้ามาเพราะอยากให้ภาครัฐจัดหาวัคซีนทางเลือกให้อย่างเร่งด่วน เนื่องจากบุคลากรในภาคการผลิตมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าบุคลากรในด้านอื่น ๆ ดังนั้น หากมีการร่วมมือร่วมใจให้แรงงานได้รับวัคซีนให้มากที่สุด จะเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยบรรเทาการระบาดในประเทศและลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมได้” นายวีริศ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ กนอ.ติดตามสถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ พบว่า มีจำนวนผู้ปฏิบัติงานในนิคมอุตสาหกรรมที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในระลอกเดือน เม.ย. 64 มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 298 ราย หายป่วยแล้ว 12 ราย และยังเหลือผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา ทั้งสิ้น 286 ราย ซึ่งทาง กนอ. ได้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมกำชับให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามมาตรการต่าง ๆ ที่ออกมาก่อนหน้านี้ เพื่อลดการติดเชื้อภายในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมให้ได้มากที่สุด โดยเป้าหมายสุดท้าย คือ ให้ตัวเลขการติดเชื้อเป็นศูนย์โดยเร็วที่สุด

จุรินทร์ นำ พาณิชย์จัดโมบายพาณิชย์ ลดราคา ! ช่วยประชาชน 730 คัน ลดสูงสุด 60% ช่วยประชาชนช่วงโควิด ตระเวนจอดขายของราคาถูก 500 ชุมชน ทั้งกรุงเทพและปริมณฑล

วันที่ 10 พฤษภาคม 2564 นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์  หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายในงาน Mobile พาณิชย์ลดราคา ! ช่วยประชาชน Lot 10 ณ บริเวณป้ายกระทรวงพาณิชย์ (ร้ัวด้านหน้าริมถนน)

นายจุรินทร์ กล่าวว่าวันนี้เป็นการเปิดตัวโครงการพาณิชย์ลดราคา! ช่วยประชาชน Lot ที่ 10 ซึ่งดำเนินการมาแล้ว 9 Lot โดย Lot นี้ กระทรวงพาณิชย์จัดในรูปแบบรถ Mobile พาณิชย์ลดราคา! ช่วยประชาชน ที่จะตระเวนไปจำหน่ายสินค้าราคาถูกทั่วกรุงเทพและปริมณฑล เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด เพื่อที่จะให้สามารถนำสินค้าและให้บริการสินค้าต่างๆในราคาถูกไปจำหน่ายให้พี่น้องประชาชนถึงชุมชนต่างๆ ให้พี่น้องประชาชนที่จำเป็นต้องกักตัวอยู่ในชุมชนสามารถได้รับบริการที่ทั่วถึง

โดยได้จัดรถ Mobile ทั้งหมด 730 คัน วิ่งกระจายไปทั่วกรุงเทพและปริมณฑล ส่วนนึงจะไปจอดที่สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ทั่วกรุงเทพมหานคร จอดประมาณครึ่งวัน แล้วจะตระเวนไปตามจุดและชุมชนต่างๆ จะเข้าไปในชุมชนประมาณ 400-500 ชุมชน
สินค้าราคาถูกประกอบด้วย 2 ส่วน 1.สินค้าที่จำเป็นต่อการบริโภค 6 ชนิดและ 2.สินค้าอุปโภคบริโภค 6 หมวด 

สำหรับสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีพในชีวิตประจำวัน 6 ชนิดประกอบด้วย 1.ข้าวสารถุงเป็นข้าวหอมมะลิ กิโลกรัมละ 30 บาท 2.ไข่ไก่ เบอร์สาม 3-4 แผงละ 30 ฟอง ราคา 83 บาท ตกฟองละ 2.77 บาท 3.น้ำมันพืชขนาด 1 ลิตร ขวดละ 43 บาท 4.น้ำตาลถุงละ 1 กิโลกรัม 20 บาท 5.บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปซองละ 5 บาท และ 6.ปลากระป๋อง กระป๋องละ 12 บาท

สินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภคอีก 6 หมวด หมวดที่หนึ่งอาหารสำเร็จรูปมี 11 รายการ ลดสูงสุด 33% หมวดที่สองซอสปรุงรส 16 รายการ ลดสูงสุด 28% หมวดที่สามของใช้ประจำวัน 16 รายการ ลดสูงสุด 50% หมวดที่สี่สินค้าสำหรับชำระร่างกาย 4 รายการ ลดสูงสุด 60% หมวดที่ห้าสินค้าสำหรับการซักล้าง 23 รายการ ลดสูงสุด 54% และหมวดที่หกยา 3 รายการ ลดสูงสุด 23% โดยภาพรวมสินค้าเพื่ออุปโภคบริโภค 6 หมวดนี้ ลดราคาเฉลี่ยสูงสุด 60%

โดยจะเริ่มดำเนินการออกให้บริการพี่น้องประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลประมาณ 400-500 ชุมชนตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปเป็นเวลา 30 วันถึงวันที่ 8 มิถุนายนคาดว่าจะช่วยลดภาระค่าของชีพให้กับพี่น้องประชาชนได้ไม่ต่ำกว่า 250 ล้านบาท ซึ่งได้รับความร่วมมือจากตลาดทั้งหมด 7 ตลาด 1.ตลาดสี่มุมเมือง 2.ตลาดไท 3.ตลาดยิ่งเจริญ 4.ตลาดมีนบุรี 5. ตลาดเวิลด์มาร์เก็ต
6.ตลาดเสรีสายห้า และ 7.ตลาดบางใหญ่

โครงการ 1 กลุ่มจังหวัด 1 นิคมอุตสาหกรรมเกษตรอาหารคืบหน้า ล่าสุด 4 จังหวัด ได้แก่ ร้อยเอ็ด เพชรบุรี สระบุรีและกาญจนบุรี พร้อมร่วมโครงการ

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการความร่วมมือ ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กรกอ.) เปิดเผย วันนี้ (7พ.ค.) ว่า การปฏิรูปภาคเกษตรแบบครบวงจรภายใต้ ‘5ยุทธศาสตร์เฉลิมชัย’ คืบหน้าอย่างมาก โดยเฉพาะโครงการ 1 กลุ่มจังหวัด 1 นิคมอุตสาหกรรมเกษตรอาหาร ได้รับความสนใจจากภาครัฐ ภาคเอกชนและภาควิชาการในหลายจังหวัด ขณะนี้มีจังหวัดเสนอตัวเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นใหม่ได้แก่กาญจนบุรี เพชรบุรี สระบุรี และร้อยเอ็ด

“จังหวัดเพชรบุรีมีพื้นที่อำเภอท่ายางและแก่งกระจาน จะพัฒนาเป็นเขตผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเกษตรในรูปแบบเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) จังหวัดกาญจนบุรีที่อำเภอท่าม่วงเป็นนิคมอุตสาหกรรมเกษตรอาหารและเอสเอ็มอี มุ่งตลาด 7 ประเทศรอบอ่าวเบงกอล โดยเล็งทวายเป็นท่าเรือส่งออก การพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมของทั้ง 2 จังหวัด เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตะวันตก (Western Economic Corridor) ส่วนสระบุรีจะพัฒนาเป็นซิลิคอนวัลเล่ย์เกษตรอาหารเน้นสตาร์ทอัพที่ spin-off จากผลงานวิจัยและพัฒนาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมหรือศูนย์ AIC ในโมเดลเดียวกับการพัฒนาซิลิคอนวัลเลย์ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด”

นายอลงกรณ์ เปิดเผยด้วยว่า ล่าสุด นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรอาหารของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รายงานว่า เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2564 นายชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธานการประชุมหารือการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร จังหวัดร้อยเอ็ด ณ ห้อง Smart Room ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดร้อยเอ็ด โดยมีนายชนาส ชัชวาลวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนสถาบันการศึกษา ภาคเอกชน เข้าร่วมหารือ พร้อมได้ถ่ายทอดสัญญาการประชุมผ่านระบบ zoom meeting ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายส่งเสริมเขตอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร และมติจากการประชุมคณะกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสภาอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย (กรกอ.) เห็นชอบให้มีการส่งเสริมการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารขึ้นมาโดยจะดําเนินการในพื้นที่ 18 กลุ่มจังหวัด โดยจะมีการเชื่อมโยงการนํานวัตกรรมทางการเกษตรมาใช้ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) ในแต่ละจังหวัด ซึ่งเป็นการพัฒนาเกษตรกรในช่วงต้นทาง เพื่อยกระดับเกษตรกร ให้สามารถป้อนวัตถุดิบ การเกษตรไปสู่อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารในช่วงปลายทาง

โดยจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นหนึ่งในจังหวัดเป้าหมายในการดำเนินการโครงการหนึ่งนิคมอุตสาหกรรมเกษตรอาหาร หนึ่งกลุ่มจังหวัด ของพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ดังนั้น การประชุมในครั้งนี้จึงเป็นการหารือถึง แนวทางการจัดทําข้อมูลรายละเอียดศักยภาพของพื้นที่ และสินค้าเป้าหมาย พร้อมทั้งจัดทําแนวทางการพัฒนาเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของจังหวัดร้อยเอ็ด พร้อมมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมเสนอต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2564 ต่อไป

โดยจะพิจารณาข้อเสนอของทุกจังหวัดที่เสนอตัวเข้าร่วมโครงการ 1 กลุ่มจังหวัด 1 นิคมอุตสาหกรรมบรรจุในวาระการประชุมของอนุกรรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรอาหารก่อนนำเสนอต่อ กรกอ. ในการประชุมเดือนหน้า หากจังหวัดใดสนใจจะเข้าร่วมโครงการสามารถเสนอตัวมาได้ก่อนการประชุมสัปดาห์หน้า

ทั้งนี้ มติที่ประชุม กรกอ. ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ.2564 ได้เห็นชอบโครงการ 1 กลุ่มจังหวัด 1 นิคมอุตสาหกรรม โดยส่งเสริมและสนับสนุนการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเกษตรอาหารทั้งขนาดเล็กขนาดกลางขนาดใหญ่ให้ครบทั้ง 18 กลุ่มจังหวัด เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงและตอบโจทย์การเพิ่มมูลค่าตลอดห่วงโซ่ของผลผลิตการเกษตรโดยจะกระจายการลงทุน การสร้างงาน และการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากเพื่อเป็นการสร้างความสมดุลใหม่ของการพัฒนาประเทศ (New Development Balancing) ภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์ปฏิรูปภาคเกษตรกรรมของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่

1.) ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต

2.) ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีเกษตร 4.0

3.) ยุทธศาสตร์ ‘3’s’ (Safety-Security-Sustainability) เกษตรปลอดภัย เกษตรมั่นคง และเกษตรยั่งยืน

4.) ยุทธศาสตร์การบริหารเชิงรุกแบบบูรณาการกับทุกภาคส่วนโดยเฉพาะโมเดล ‘เกษตร-พาณิชย์ทันสมัย’ และ

5.) ยุทธศาสตร์เกษตรกรรมยั่งยืนตามแนวทางศาสตร์พระราชา

‘เขตเศรษฐกิจเชียงของ’ เชื่อมต่อ ‘เขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อหาน (จีน)-บ่อเต็น (ลาว)’ เพิ่มศักยภาพการค้าข้ามพรมแดนแม่โขง-ล้านช้าง เป้าหมายสร้างมูลค่าการค้า 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

แม้ว่าอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่รัฐบาลยังคงเดินหน้าลงทุนในโครงการ โครงสร้างพื้นฐาน และ ขับเคลื่อนนโยบายเพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว

ความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-ล้านช้าง ได้ก่อตั้งอย่างเป็นทางการปี 2558 ประกอบด้วยสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม ไทย และจีน ซึ่งร่วมมือกันใน 5 สาขาสำคัญ ได้แก่ ความเชื่อมโยง การพัฒนาศักยภาพในการผลิต ความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามพรมแดน ความร่วมมือทรัพยากรน้ำ การเกษตรและการลดความยากจน

โดยกระทรวงพาณิชย์ได้รับมอบให้เป็นหน่วยประสานงานหลักของไทยในสาขาความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามพรมแดน รัฐบาลได้พัฒนาการอำนวยความสะดวกทางการค้าตามแนวชายแดน เช่น พิธีการศุลกากร เพื่อช่วยให้การปล่อยสินค้าคล่องตัว เพิ่มประสิทธิภาพการบริการโลจิสติกส์ ลดต้นทุนผู้ประกอบการ ซึ่งจะแล้วเสร็จสมบูรณ์สิ้นปีนี้

ขณะนี้ กระทรวงพาณิชย์ กำลังศึกษาเพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย

โดยการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงของ มีเป้าหมาย คือ

1.) เชียงของเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน (Cross Border e-Commerce: CBEC)

2.) ส่งเสริมการส่งออกสินค้าไทยและอาเซียน ผ่านเส้นทาง R3A (ที่เชื่อมระหว่าง จีน ลาว และไทย ผ่านจุดพรมแดนและเมืองสำคัญ เช่น อ.เชียงของ บ้านห้วยทราย บ่อเต็น บ่อหาน และคุนหมิง) และเขตการค้าเสรีคุณหมิง และ

3.) ยกระดับการค้าสู่พื้นที่จีนตอนเหนือ และยุโรปในอนาคตต่อไป เพื่อให้สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงของ

ทั้งนี้ รัฐบาลได้อนุมัติ โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-ลาว (ข้ามแม่น้ำโขง) แห่งที่ 4 ติดกับ ด่านพรมแดนเชียงของ เพื่อเป็นประตูการค้าที่สำคัญบนแนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor)

โดยเป็นการพัฒนา สถานีขนส่งสินค้า (Truck Terminal) รองรับกิจกรรมการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศบนเส้นทางสาย R3A ให้เป็นสถานีปรับเปลี่ยนการขนส่งระหว่างประเทศสู่ภายในประเทศ รวมถึง เพื่อเชื่อมต่อระบบการขนส่งทางถนนไปสู่ทางรถไฟ ซึ่งโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายฯ ระยะที่1 จะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบภายในปี 2565

ขณะที่ โครงการระยะที่ 2 ซึ่งครม.เพิ่งเห็นชอบเมื่อ 20 เมษายน ที่ผ่านมา เป็นการสร้างอาคารเปลี่ยนถ่ายและบรรจุสินค้า และลานกองเก็บตู้สินค้า

ที่จะรองรับเส้นทางรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย คาดจะก่อสร้างเสร็จในปี 2568

สำหรับ การค้าข้ามพรมแดนแม่โขง-ล้านช้าง จะเป็นตลาดสำคัญของไทย ที่มีเป้าหมายมูลค่ากว่า 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ โดยรัฐบาลตั้งเป้าเพิ่มยอดการส่งออกทั้งในกลุ่มประเทศสมาชิกและที่จะขยายไปยังจีนตอนเหนือและยุโรปในอนาคต

หากสามารถผลักดัน โครงการเศรษฐกิจพิเศษเชียงของ เชื่อมต่อกับ เศรษฐกิจพิเศษบ่อหาน (จีน)-บ่อเต็น (ลาว) ได้สำเร็จ ผู้ประกอบการไทยจะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีสำหรับสินค้าที่อยู่ในรายการที่จีนกำหนดให้สามารถขอรับสิทธิพิเศษสำหรับ CBEC ได้ (Positive Lists for CBEC) อาทิ ผลไม้อบแห้ง ชา กาแฟ เครื่องสำอาง ซึ่งจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีศุลกากรและเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีสรรพสามิตในอัตราร้อยละ70 ของอัตราภาษีปกติอีกด้วย

ที่มา : https://www.facebook.com/100003657944356/posts/2317383428393566/

ผู้ว่า ธปท. ยอมรับวิกฤตโควิด-19 ‘งานยาก งานยาว’ และความหวังเดียวที่จะฟื้นเศรษฐกิจไทย คือ วัคซีนโควิด เท่านั้น ห่วงภาระหนี้รายย่อย กลุ่มแรงงาน ภาคท่องเที่ยว ผลกระทบหนักสุด

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้มุมมองต่อวิกฤตเศรษฐกิจท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ผ่านรายการกาแฟดำ โดยคุณสุทธิชัย หยุ่น ในหลายประเด็น โดยระบุว่า วิกฤตเศรษฐกิจในรอบนี้ จะฟื้นตัวได้ช้า โดยเหตุผลสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจฟื้นช้าเพราะประเทศไทยพึ่งพาเรื่องการท่องเที่ยวที่ไม่ใช่จะมองว่าภาคการท่องเที่ยวของไทยคิดเป็นสัดส่วนแค่ 11-12% ของจีดีพี เมื่อเทียบกับเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจอื่น ๆ อย่างการส่งออก การบริโภค และการลงทุน แต่ภาคการท่องเที่ยวยังมีอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีสัดส่วนการจ้างงานถึง 20%

ดังนั้นแล้ว ผลข้างเคียงกับแรงงานใน 20% นี้ คือ ไม่มีงานทำ รายได้หาย ส่งผลไปถึงการบริโภค การจับจ่ายระดับล่างถึงกลางสะดุด ซึ่งถ้าโฟกัสแต่ตัวจีดีพีในระยะต่อไปอาจกลับมาใกล้เคียงเดิม เพราะภาคการส่งออกเริ่มกลับมา แต่ถ้ามองเฉพาะภาคการท่องเที่ยว จะเห็นตัวเลขนักท่องเที่ยวกลับมา 40 ล้านคน ดร.เศรษฐพุฒิ ยอมรับว่า ‘ยาก’

“ประมาณการณ์ของตัวเลขท่องเที่ยวต้องปรับลงกันอย่างมีนัยสำคัญ เดิมปีนี้ (2564) ไม่ได้มองไว้เยอะแต่ก็คิดว่าไตรมาส 4 อาจจะมีบ้าง แต่ปีหน้ามองไว้ที่ 20 ล้านคน”

เหตุผลที่ประมาณการณ์ของตัวเลขท่องเที่ยวจะต้องปรับลงกันอย่างมีนัยสำคัญ ดร.เศรษฐพุฒิ มองภาพสะท้อนจากการแพร่ระบาดในระลอก 3 ว่า ด้วยตัวของเชื้อโควิด-19 ที่เป็นสายพันธุ์อังกฤษ ที่แพร่ได้เร็ว เรื่องของการกลายพันธุ์ ไปจนถึงความมั่นใจในตัววัคซีนโควิด-19 ก็อาจจะยังมีคำถามจากสังคม ไปจนถึงแผนการฉีดวัคซีน ดังนั้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจมันจึงไม่ได้มีความราบรื่นในทีเดียว

ดร.เศรษฐพุฒิ มองว่า ถ้ามองลงไปที่ผู้ได้รับผลกระทบจริง ๆ ของสถานการณ์การแพร่ระบาดนี้ แบ่งเป็น มนุษย์เงินเดือน พนักงานออฟฟิศ จะเป็นการปรับรูปแบบการทำงานมาเป็น Work From Home แต่ก็ไม่ถึงกับเลิกจ้าง แต่ในกลุ่มของแรงงาน พนักงานบริการ กระทบจากการปิดกิจการ เลิกจ้าง ขาดรายได้ ตรงนี้ก็ยิ่งซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำ ดังนั้นการฟื้นตัวจึงไม่ใช่แบบเดิม

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ นำไปสู่การพิจารณาเพื่อออกมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ต้องตรงจุดมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากวิกฤตรอบนี้ การฟื้นตัวไม่เท่าเทียมกันทุกจุด ภาคการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ เริ่มกลับมา แต่ภาคการท่องเที่ยวยังมืดมน ธนาคารแห่งปนะเทศไทยจึงต้องเปลี่ยนแนวมาตรการ โครงการต่าง ๆ จากช่วงแรกเน้นไปที่การ ‘พักหนี้’ ทุกคนถูกดึงเข้าสู่มาตรการพักหนี้ ปรากฏว่า ยาตัวเดียวไม่สามารถใช้ได้กับทุกคน

เพราะคนกลุ่มนี้เขาต้องการหยุด ‘หนี้เดิม’ หนี้ก้อนที่ไม่สามารถจ่ายได้เพราะขาดรายได้ การพักหนี้ พักจริงเฉพาะเงินต้น แต่ดอกเบี้ยไม่ได้พักตาม ดังนั้นจึงนำมาสู่ การปรับโครงสร้างหนี้ในรูปแบบของการยืดระยะเวลาของหนี้และลดการจ่ายต้น

“ที่กังวลมากคือ ภาระหนี้เดิมของรายย่อย ครัวเรือน กลุ่มนี้คือหนี้เดิมเยอะอยู่แล้ว ภาระหนี้เก่า ตอนแรกทำพักหนี้ แต่ไม่ใช้ทางที่ยั่งยืน แต่เมื่อเข้าปรับโครงสร้างหนี้ ยืดระยะหนี้ให้ยาวขึ้นแล้วให้ดอกเบี้ยที่ต่ำ”

นอกจากนั้นยังมีมาตรการที่เกี่ยวกับการผิดนัดชำระหนี้ จากเดิมธนาคารพาณิชย์เคยคิดกับลูกหนี้ก็ให้หยุดดอกเบี้ยไว้ โดยไม่ให้คิดดอกเบี้ยในฐานเงินต้นทั้งหมด แต่ให้คิดดอกเบี้ยในฐานของงวดที่ผิดนัดชำระหนี้จริง ๆ ตรงนี้ก็เป็นอีกมาตรการหนึ่ง

หากเปรียบเทียบสถานการณ์นี้ กับ วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ปี 2540 ดร.เศรษฐพุฒิ ยอมรับว่า ยากกว่า ด้วยความต่างกันมาก หากย้อนกลับไปปี 2540 เป็นเรื่องของค่าเงิน เรื่องหนี้ต่างประเทศ บริษัทใหญ่ กลุ่มธนาคาร นักลงทุน ผู้ประกอบการรายใหญ่ นักธุรกิจ จะได้รับผลกระทบหนัก แต่ขณะเดียวกัน ก็มีทางแก้ที่ชัดจน มีวิธีอยู่ในตำราชัดเจน แต่รอบนี้ไม่ใช่ เป็นสิ่งที่โลกและประเทศไม่เคยเจอ ถือว่า ‘ยากกว่า’ ที่สำคัญคือ กระทบรายย่อย แรงงาน ธุรกิจขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) ซึ่งขยายวงกว้าง ที่สำคัญคือโดนจุดสำคัญของไทย ‘ภาคการท่องเที่ยว’

อย่างไรก็ตาม ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ในท้ายที่สุดมาตรการต่าง ๆ เหล่านี้ ต่อให้ออกมามากมายก็ยังถือว่าเป็น ‘พระรอง’ เพราะพระเอกของการแก้ปัญหาครั้งนี้ คือ วัคซีน ซึ่งจะหยุดวงจรการระบาดได้


ที่มา : https://www.pptvhd36.com/news

กรมการค้าภายใน ถกแพลตฟอร์ม ‘เดลิเวอรี่’ ทั้งส่งอาหารและขายสินค้าออนไลน์ ห้ามขึ้นค่าบริการ หวั่นซ้ำเติมเพิ่มภาระให้ประชาชนช่วงไวรัสโควิดระบาด

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้หารือร่วมกับผู้ให้บริการส่งอาหารและแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ ทั้ง 11 แพลตฟอร์ม ได้แก่ Lineman, GRAB, Foodpanda, Robinhood, Gojek, Lazada, Shopee, JJmall, ไปรษณีย์ไทย, Ohlala Shopping และ Lalamove เพื่อร่วมกันพิจารณาและขอความร่วมมือดูแลประชาชนในช่วงที่เกิดไวรัสโควิด-19 ระบาดหนัก โดยจากหารือผู้ให้บริการยืนยันว่า ไม่มีการปรับขึ้นราคาค่าบริการขนส่งเดลิเวอรี่อย่างแน่นอน และหลายแพลตฟอร์มมีการจัดโปรโมชั่น เพื่อช่วยเหลือประชาชนอยู่แล้ว

ส่วนการเก็บค่าค่าคอมมิชชั่น บางรายให้ร้านค้าเลือกที่จะจ่ายค่าค่าคอมมิชชั่นหรือไม่ ขณะที่บางรายก็ไม่มีการเก็บค่าค่าคอมมิชชั่น หรือเก็บแค่เฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่เท่านั้น อย่างไรก็ตามได้ขอให้แพลตฟอร์มที่มีการเก็บค่าค่าคอมมิชชั่น กรมฯ ได้ขอให้พิจารณาปรับลดค่าค่าคอมมิชชั่น เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหารที่ไม่สามารถให้บริการนั่งทานในร้านได้ในช่วงนี้

นายวัฒนศักย์ กล่าวว่า ได้เน้นย้ำให้แพลตฟอร์มพยายามรักษามาตรฐานสุขอนามัยของพนักงานส่งสินค้า เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดและสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน รวมทั้งให้แพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ดูแลร้านค้าที่จำหน่ายหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ ห้ามขายเกินราคาที่กำหนด และต้องแสดงราคาให้ชัดเจนอีกด้วย

พาณิชย์ คุมเดลิเวอรี่ สั่งห้ามขึ้นค่าบริการช่วงโควิด 

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมฯ ได้หารือร่วมกับผู้ให้บริการส่งอาหารและแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ ทั้ง 11 แพลตฟอร์ม ได้แก่ Lineman, GRAB, Foodpanda, Robinhood, Gojek, Lazada, Shopee, JJmall, ไปรษณีย์ไทย, Ohlala Shopping และ Lalamove เพื่อร่วมกันพิจารณาและขอความร่วมมือดูแลประชาชนในช่วงที่เกิดไวรัสโควิด-19 ระบาดหนัก โดยจากหารือผู้ให้บริการยืนยันว่า ไม่มีการปรับขึ้นราคาค่าบริการขนส่งเดลิเวอรี่อย่างแน่นอน และหลายแพลตฟอร์มมีการจัดโปรโมชั่น เพื่อช่วยเหลือประชาชนอยู่แล้ว 

ส่วนการเก็บค่าค่าคอมมิชชั่น บางรายให้ร้านค้าเลือกที่จะจ่ายค่าค่าคอมมิชชั่นหรือไม่ ขณะที่บางรายก็ไม่มีการเก็บค่าค่าคอมมิชชั่น หรือเก็บค่าเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่เท่านั้น อย่างไรก็ตามได้ขอให้แพลตฟอร์มที่มีการเก็บค่าค่าคอมมิชชั่น กรมฯได้ขอให้พิจารณาปรับลดค่าค่าคอมมิชชั่น เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหารที่ไม่สามารถให้บริการนั่งทานในร้านได้ในช่วงนี้

นายวัฒนศักย์ กล่าวว่า ได้เน้นย้ำให้แพลตฟอร์มพยายามรักษามาตรฐานสุขอนามัยของพนักงานส่งสินค้า เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดและสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน รวมทั้งให้แพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ดูแลร้านค้าที่จำหน่ายหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ ห้ามขายเกินราคาที่กำหนด และต้องแสดงราคาให้ชัดเจนอีกด้วย

ผู้บริหาร ธุรกิจอาหาร ฟู้ดแพชชั่น เจ้าของแบนด์ บาร์บีคิว พลาซ่า โอด ระบาดระลอก 3 แสนสาหัส ฝากถึงผู้รับผิดชอบ หลังพบยอดขายในหนึ่งวันของร้านอาหารในเครือ ตกต่ำสุด ๆ ปิดยอด 0 บาท เชื่อร้านอื่น ๆ ก็เจอวิกฤติเหมือนกัน

นางสาวบุณย์ญานุช บุญบำรุงทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ด้านการสร้างโอกาสทางการตลาดกลุ่มธุรกิจอาหาร บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด เจ้าของแบรนด์ร้านอาหารบาร์บีคิว พลาซ่า, จุ่มแซ่บฮัท, ฌานา ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เปิดเผยถึงยอดสั่งซื้ออาหารในเครือ 0 บาท และยังฝากถึงผู้มีส่วนรับผิดชอบในประเทศไทย ว่า...

หลายวันที่ผ่านมา ถูกชวนคุยเรื่องสถานการณ์ร้านอาหารเยอะไปหมด บางเรื่องก็ตอบได้ บางเรื่องก็ตอบไม่ได้

Covid 3 ครั้งนี้ ไม่ต่างกับซูนามิ!! กระหน่ำซ้ำในที่เดิมแบบที่ผู้คนรู้ทั้งรู้ว่า...ซูนามิมา แต่ไม่รู้จะหนีตายไปทางไหน...

Food passion เองก็โดนซูนามิครั้งนี้ไม่ต่างกับพี่น้องร้านอาหารอื่น ๆ เมื่อวาน 1 ในสาขา 1 ในแบรนด์ในเครือ 0 บาทคะ!!

แต่บอกตรง ๆ เราที่เจอแบบนี้ อาจเป็นแค่ 1 ในตัวอย่างของร้านอาหารที่เจอแบบนี้ ยังมีร้านเล็ก ๆ ร้านกลาง ๆ หรือร้านใหญ่ ๆ ก็คงไม่ต่างกัน

ขอฝากโพสนี้ไปถึงผู้มีส่วนรับผิดชอบในประเทศไทย หากยังดำเนินแบบนี้ธุรกิจรายย่อย ๆ ที่ไม่มีสายป่าน ไม่มี connection เขาจะอยู่อย่างไร...ไม่ใช่แค่ธุรกิจร้านอาหาร แต่ยังมีอีกหลายธุรกิจที่กำลังนับถอยหลังระเบิดเวลา...กับถังออกซิเจนถังสุดท้าย

มาถึงบรรทัดนี้ ไม่ใช่แค่คิดให้บริษัทตัวเองรอด ยังคิดเผื่อผู้คนที่เดือดร้อน ผ่านทั้งตัวเองและผ่านไปยังบริษัท

แม้ไม่ได้อยู่ในบทบาทนั้น แต่คิดว่าในฐานะคนไทยคนนึงที่ยังมีสมอง สองมือ ใจที่แข็งแกร่ง ก็คงยังเป็นสิ่งที่ควรทำต่อไป...

บอร์ด ธอส. เคาะ 2 มาตรการพักหนี้รายย่อย 3 เดือน

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ธอส. เห็นชอบให้ จัดทำมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้จากการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยจะออก 2 มาตรการใหม่ พักชำระเงินต้น และจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยรายเดือน สำหรับลูกค้าที่มีสถานะบัญชีปกติ และ พักชำระเงินต้นและจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยรายเดือน พร้อมลดดอกเบี้ยลงเหลือ 3.90% ต่อปี สำหรับลูกหนี้ที่สถานะ NPL และลูกหนี้ NPL ที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ เปิดให้ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ผ่านแอปพลิเคชั่น GHB ALL ระหว่างวันที่ 11-29 พ.ค. 2564 

สำหรับมาตรการพักชำระเงินต้น และจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยรายเดือน ระยะแรกเป็นเวลา 3 เดือน (1 พ.ค. – 31 ก.ค. 2564) สำหรับลูกค้าที่มีสถานะบัญชีปกติ (ไม่เป็น NPL ไม่อยู่ขั้นตอนของกฎหมาย และไม่อยู่ระหว่างทำข้อตกลงประนอมหนี้) ครอบคลุมทั้งลูกค้าที่ไม่เคย หรือเคยใช้ หรืออยู่ระหว่างใช้มาตรการความช่วยเหลือเดิมของธนาคาร และต้องเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้จากโควิด-19 รวมถึงยังไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ได้ตามสัญญาเงินกู้ 

ส่วนมาตรการพักชำระเงินต้นและจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยรายเดือน พร้อมลดดอกเบี้ยลงเหลือ 3.90% ต่อปี ระยะแรกเป็นเวลา 3 เดือน (1 พ.ค. – 31 ก.ค. 2564) สำหรับลูกหนี้ที่สถานะ NPL และลูกหนี้ NPL ที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งจะพ้นสิทธิการปรับโครงสร้างหนี้ที่ใช้อยู่หากใช้มาตรการที่ 14 และต้องเป็น ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบอาชีพ หรือทำธุรกิจ หรือการค้า เนื่องจากโควิด-19 และไม่สามารถผ่อนชำระเงินงวดให้ธนาคารได้ตามสัญญาเงินกู้หรือข้อตกลงปรับโครงสร้างหนี้หรือตามคำพิพากษา

รัฐเตรียมเก็บค่าเหยียบแผ่นดินต่างชาติ 1 ม.ค.นี้ 

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) วันที่ 7 พฤษภาคมนี้ ว่า จะเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาเริ่มการจัดเก็บและการบริหารจัดการค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวที่เรียกเก็บจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ คนละ 10 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 300 บาท ในวันที่ 1 ม.ค.65 เป็นต้นไป เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารและพัฒนาการท่องเที่ยว 

รวมทั้งเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อประกันภัยให้กับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในระหว่างท่องเที่ยวภายในประเทศ ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุต่างๆ และสามารถนำมาเยียวยาผู้ที่เดือดร้อนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้ในช่วงเกิดวิกฤตเหมือนที่เกิดไวรัสโควิดระบาดในตอนนี้

สำหรับการจัดเก็บค่าธรรมเนียมครั้งนี้ ถือว่าเป็นไปตาม พ.ร.บ. นโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2562 ซึ่งกำหนดให้มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยนำมาสมทบในกองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้จ่ายในการบริหารและพัฒนาการท่องเที่ยว รวมถึงการซื้อประกันภัยแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติระหว่างท่องเที่ยวภายในประเทศไทย 

พร้อมกันนี้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ยังจะหารือถึงการเพิ่มพื้นที่นำร่องรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพิ่มอีก 4 พื้นที่ คือ กรุงเทพฯ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และบุรีรัมย์ ซึ่งเพิ่มเข้ามาล่าสุด เพื่อรองรับการจัดโมโตจีพีช่วงประมาณเดือนต.ค.นี้ โดยทุกพื้นที่จะเปิดให้ดำเนินการได้ใน 1 ต.ค.นี้ แบบไม่มีการกักตัวนักท่องเที่ยว เพื่อให้ทั้งปีสามารถรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ 3-4 ล้านคน ตามเป้าหมาย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top