Sunday, 28 April 2024
ECONBIZ NEWS

'เฉลิมชัย' เร่งดันไทยฮับฮาลาลโลกเห็นชอบพิมพ์เขียว 2570 เดินหน้า '1 วิสัยทัศน์ 5 แนวทาง' บุกตลาด 2 พันล้านคน

'เฉลิมชัย' เร่งดันไทยฮับฮาลาลโลกเห็นชอบพิมพ์เขียว 2570 เดินหน้า '1 วิสัยทัศน์ 5 แนวทาง' บุกตลาด 2 พันล้านคน ดึง 'สคช.' ยกระดับมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพฮาลาล จับมือ 'ศอบต.' ขับเคลื่อน 3 โครงการอุตสาหกรรมฮาลาลภาคใต้พร้อมขยายบทบาทไทยในเวทีโลกผนึกองค์การความร่วมมือกลุ่มประเทศอิสลาม (OIC) จัดงานฮาลาลนานาชาติเดือนมิถุนายน

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริม สินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล” (ฮาลาลบอร์ด-Halal Board) แถลงว่า...

อุตสาหกรรมฮาลาลมีความสำคัญต่อประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง และถือว่าเป็นโอกาสของประเทศไทย เนื่องจากไทยมีศักยภาพในการผลิตสินค้าอาหารและเกษตรอันดับ 2 ของเอเชีย รองจากจีน และเป็นอันดับ 12 ของโลก และภายใต้ '5 ยุทธศาสตร์ปฏิรูปภาคเกษตรฯ' ของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เล็งเห็นถึงโอกาสและศักยภาพของประเทศไทยภายใต้วิกฤติการณ์โควิด-19 ในการเป็นประเทศผู้นาในการผลิตและส่งออก สินค้าอาหารและผลผลิตเกษตรมาตรฐานฮาลาลสู่ตลาดเป้าหมายใหม่กลุ่มประเทศมุสลิม 2,000 ล้านคน และผู้บริโภคสินค้าฮาลาลที่ไม่ใช่มุสลิมทั่วโลกภายใต้ความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์และทุกภาคีภาคส่วน

ปี 2563 ที่ผ่านมาตลาดอาหารและเครื่องดื่มฮาลาลทั่วโลก มีมูลค่า 1,533,280 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (48,004,350 ล้านบาท) และประเมินว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2,285,190 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 71,545,354 ล้านบาท) ในปี 2569 โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 20% คิดเป็นมูลค่าเพิ่มปีละ 560 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (16.8 ล้านล้านบาท)

ดังนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล” ครั้งที่ 2/2564 ได้ให้ความเห็นชอบเนื้อหาร่างวิสัยทัศน์และนโยบายการส่งเสริมสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐานฮาลาล (1 วิสัยทัศน์ 5 แนวทาง) ซึ่งจัดทำขึ้นโดยอนุกรรมการจัดทำวิสัยทัศน์และนโยบายการส่งเสริมสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล” โดยมีเป้าหมายให้ไทยเป็นประเทศผู้นำในการผลิต การแปรรูป การส่งออกและการพัฒนาสินค้าเกษตร และอาหารฮาลาลที่ได้รับความเชื่อมั่นในระดับสากล และเข้าสู่ตลาดโลกด้วยมาตรฐานฮาลาลไทย โดยใช้หลักศาสนา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม 'ภายในปี 2570' ผ่านการขับเคลื่อนการดำเนินงานที่กำหนดทั้งหมด 5 แนวทาง ได้แก่...

(1) เพิ่มศักยภาพหน่วยงานรับรองมาตรฐานฮาลาล

(2) สร้างความเชื่อมั่นให้กับสินค้าเกษตรและอาหาร ด้วยมาตรฐานฮาลาลไทย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม

(3) เสริมสร้างองค์ความรู้ในการผลิต และการบริหารจัดการตั้งแต่ระดับฟาร์มจนถึงผู้บริโภค

(4) เพิ่มศักยภาพทางตลาดและโลจิสติกส์

(5) ยกระดับความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งใน และต่างประเทศ

ทั้งนี้ ร่างวิสัยทัศน์ดังกล่าวเปรียบเสมือนพิมพ์เขียวฮาลาลไทย (Thailand Halal Blueprint) ฉบับแรกที่มีความสมบูรณ์ประกอบด้วยเป้าหมาย วิสัยทัศน์ แผนปฏิบัติการ (Action Plan) เป็นแผนแม่บทสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของไทยให้มีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดที่สำคัญ ผ่านการดำเนินกิจกรรม และโครงการที่กำหนดในแผนปฏิบัติการโดยร่างวิสัยทัศน์ดังกล่าวจะเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณา เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป

นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการส่งเสริมการผลิตและการลงทุนเกี่ยวกับสินค้าและผลิตผล การเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล” และคณะอนุกรรมการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมการค้าและผลิตผลการเกษตร มาตรฐาน “ฮาลาล” ในพื้นที่ชายแดนใต้ได้รายงานความก้าวหน้าของโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมไก่และโคครบวงจรที่จังหวัดยะลา 2 โครงการ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการหลายร้อยรายในพื้นที่โครงการละกว่า 3,000 ไร่ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการทำสัญญาโรงไฟฟ้าชีวมวลและโครงการอุตสาหกรรมไก่ที่จังหวัดปัตตานี ซึ่งทั้ง 3 โครงการเป็นการทำงานบนความร่วมมือกับศอบต.อย่างใกล้ชิดเพื่อให้ 3 จังหวัดภาคใต้เป็นฮับของอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลตามเป้าหมายที่วางไว้

“ที่ประชุมยังมีมติให้เปลี่ยนชื่อและปรับภารกิจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการจัดทำวิสัยทัศน์และนโยบายฯ เป็นคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนวิสัยทัศน์และนโยบายฯ เพื่อขยายการส่งเสริมสนับสนุนอุตสาหกรรมฮาลาลในภาคเหนือภาคอีสานภาคกลางและภาคตะวันออกโดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนที่เป็นเมืองท่าหน้าด่าน เช่น อุดรธานี, เชียงราย, ตาก เป็นต้น

ส่วนภาคใต้มีอนุกรรมการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลภาคใต้รับผิดชอบอยู่แล้วโดยเร่งขับเคลื่อนโครงการ '1 กลุ่มจังหวัด 1 นิคมอุตสาหกรรม' ภายใต้ความร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและศูนย์ AIC เพื่อเป็นฐานการผลิตแปรรูปสร้างมูลค่าสินค้าเกษตรในการส่งออกไปอาเซียน เอเซียตะวันออก เอเซียใต้เอเซียกลาง ตะวันออกกลาง แอฟริกา ยุโรปและอเมริกา

นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้เชิญนายพิริยพงศ์ แจ้งเจนเวทย์ จากสำนักงานมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพ (สคช.) ร่วมหารือแนวทางการพัฒนาผู้ประกอบการ และบุคลากรในอุตสาหกรรมฮาลาลของไทยในยุคเกษตร 4.0 ผ่านการเสริมสร้างความรู้ และทักษะฝีมือให้สอดคล้องกับมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพที่สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพเป็นผู้กำหนด ซึ่งสามารถนำมาเทียบเคียงกับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติได้ โดยสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพได้กำหนดมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพสำหรับผู้ประกอบอาหารฮาลาล ซึ่งสอดคล้องกับหลักศาสนา และมาตรฐานสากล

อีกทั้งยังได้เชิญผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ชายแดนภาคใต้เข้าร่วมโครงการต่าง ๆ เพื่อยกระดับผู้ประกอบอาหารฮาลาลของไทย โดยคณะกรรมการฯ จะจัดทำความร่วมมือร่วมกับสถาบันฯ ในด้านการขยายผลสาขาอาชีพที่กำหนดมาตรฐานเสร็จแล้ว การจัดหลักสูตรฝึกอบรมออนไลน์ การให้การรับรองตามมาตรฐานอาชีพ รวมถึงการจัดทำมาตรฐานอาชีพเพิ่มเติมในสาขาที่ยังขาดแคลน โดยเฉพาะอาชีพที่ปรึกษาธุรกิจด้านฮาลาล ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาผู้ประกอบการฮาลาลไทย

ทางด้านรศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รศ.ดร. ปกรณ์ ปรียากร ผู้อำนวยการสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทยรายงานความคืบหน้างานสมัชชาฮาลาลไทยแลนด์ 2021 (Thailand Halal Assembly 2021) ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-3 มิถุนายน 2564 ผ่านระบบ video conference ภายใต้ธีม A Virtual Way for Actual Halal World ซึ่งจะมีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับโอกาส และความท้าทายต่ออุตสาหกรรมฮาลาล และการรับรองฮาลาลในยุคหลัง COVID-19 โดยงาน Thailand Halal Assembly 2021 จะมีสถาบันมาตรฐานและมาตรวิทยาของประเทศอิสลาม (SMIIC) ภายใต้องค์การความร่วมมือประเทศอิสลาม (OIC) และสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลและสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย

ภายในงานจะประกอบไปด้วยการประชุมวิชาการด้านฮาลาล และการจัดแสดงสินค้าฮาลาล รวมกว่า 4 กิจกรรมสำคัญ ได้แก่...

1.) การประชุมนานาชาติว่าด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮาลาล2021 (The International Halal Science and Technology Conference 2021)

2.) การประชุมนานาชาติฮาลาลว่าด้วยอุตสาหกรรมและธุรกิจครั้งที่ 14 (The 14th Halal Science, Industry and Business Virtual Conference)

3.) การประชุมว่าด้วยการรับรองและมาตรฐานฮาลาลนานาชาติ (The International Halal Standards and Certification Convention)

4.) งานนานาชาติไทยแลนด์ฮาลาลเอ็กซ์โป (Thailand International Halal Expo 2021 Virtual Expo)

“นับเป็นการขยายบทบาทของไทยในเวทีโลกครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งโดยเฉพาะการแสดงถึงมาตรฐานฮาลาลไทยและการพัฒนาสินค้าเกษตรและอาหารฮาลาล”

สำหรับการประชุมของคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 19 เม.ย. มีนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล” ทำหน้าที่ประธานการประชุมโดยมีผู้เข้าร่วมประชุมอาทิ นายสมชวน รัตนมังคลานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง นายขจร เราประเสริฐ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน นายสมศักดิ์ เมดาน รองเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย รศ.ดร.ปกรณ์ ปรียากร ผู้อำนวยการสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย นายชยดิฐ หุตานุวัชร์ รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อานวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายพิริยพงศ์ แจ้งเจนเวทย์ผู้แทนสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) นายอำนวย ศรีระแก้ว ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตัวแทนหน่วยงานราชการ เช่นกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตร กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม ภาคเอกชน ภาคประชาชนที่เกี่ยวข้อง โดยมีประเด็นสำคัญประกอบด้วย ความร่วมมือในด้านการพัฒนามาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพผู้ประกอบฮาลาล ผลการดำเนินงานส่งเสริมสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐานฮาลาล ในปี พ.ศ.2563 และปี 2564

พร้อมรับทราบรายงานการดำเนินงานของ คณะอนุกรรมการจัดทำวิสัยทัศน์และนโยบายการส่งเสริมสินค้าและผลิตผล การเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล” คณะอนุกรรมการส่งเสริมการค้าสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล”

คณะอนุกรรมการส่งเสริมการผลิตและการลงทุนเกี่ยวกับสินค้าและผลิตผล การเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล” และคณะอนุกรรมการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมการค้าและผลิตผลการเกษตร มาตรฐาน “ฮาลาล” ในพื้นที่ชายแดนใต้

รวมทั้งการรายงานผลการแก้ไขปัญหาเนื้อวัวปลอม ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจ


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

รัฐบาลลุยออกมาตรการดูแลศก. - เยียวยา พ.ค.นี้

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้เรียกหน่วยงานทางด้านเศรษฐกิจหารือด่วน ภายหลังการประชุมครม. ถึงแนวทางการออกมาตรการทางเศรษฐกิจ เพื่อรองรับผลกระทบจากผลกระทบของโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมี นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง และนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เข้าร่วมหารือ 

รองนายกฯ กล่าวภายหลังการประชุม ว่า รัฐบาลจะออกมาตรการทางด้านเศรษฐกิจ และช่วยเหลือประชาชนอกมา โดยล่าสุดกระทรวงการคลัง กำลังพิจารณาแนวทางอยู่ ทั้งมาตรการเดิม เช่น โครงการเราชนะ คนละครึ่ง ม33 เรารักกัน หรือมาตรการใหม่ คือ เราผูกพัน ที่จะช่วยเหลือข้าราชการ โดยรัฐบาลยืนยันว่ายังมีเงินเพียงพอมาทำมาตรการในครั้งนี้ 

เช่นเดียวกับมาตรการด้านท่องเที่ยว ซึ่งที่ประชุมได้หารือถึงการเปิดรับนักท่องเที่ยวที่ จ.ภูเก็ต ซึ่งจะดำเนินการตามแผนเดิม โดยเน้นการท่องเที่ยวจากประเทศระยะไกลเป็นหลัก ส่วนการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่นี้จะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยหรือไม่ นายสุพัฒนพงษ์ ยอมรับว่า ขอประเมินสถานการณ์ในช่วงเดือนนี้ก่อน ถ้าหากสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ในสิ้นเดือนนี้ก็หาทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป

ครม. เปิดตัว “โครงการสร้างรายได้ด้วยแฟรนไชส์ฝ่าโควิด-19” วงเงิน 68 ล้านบาท

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.อนุมัติโครงการสร้างรายได้ด้วยแฟรนไชส์ฝ่าโควิด-19 ตามที่ กระทรวงพาณิชย์ เสนอ วงเงิน 68 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินงาน 8 เดือน ตั้งแต่เดือนพ.ค.-ธ.ค.นี้ เพื่อช่วยเหลือและสร้างอาชีพแก่คนว่างงานและตกงาน กระตุ้นและฟื้นฟูธุรกิจแฟรนไชส์ และธุรกิจเอสเอ็มอี ขนาดเล็ก สร้างโอกาสทางการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์และการขยายการลงทุนในธุรกิจให้กับแฟรนไชส์ เพิ่มช่องทางการหารายได้ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไทย ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดไวรัสโควิด-19 

โดยกิจกรรม ประกอบด้วย 1.จัดงานแฟรนไชส์สร้างอาชีพ Road Show 2021 ในภูมิภาค รวม 15 ครั้ง เดือนละ 2 จังหวัด มีเป้าหมาย 100 ธุรกิจ และประสานงานการเข้าถึงแหล่งเงินทุนระหว่างเจ้าของแฟรนไชส์ และสถาบันการเงินของรัฐและธนาคารพาณิชย์ที่มีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ให้แก่ผู้ที่ต้องการทำธุรกิจแฟรนไชส์ มีเงินลงทุนเพื่อประกอบอาชีพได้ง่ายขึ้น 

2.จัดงาน DBD Franchise & SME Expo 2021 ส่วนกลาง 1 ครั้ง เป้าหมาย 400 ธุรกิจ และประสานงานการเข้าถึงแหล่งเงินทุนระหว่างเจ้าของแฟรนไชส์ และสถาบันการเงินของรัฐและธนาคารพาณิชย์ที่มีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่ผู้ที่ต้องการทำธุรกิจ มีเงินลงทุนเพื่อประกอบอาชีพได้ง่ายขึ้น   ทั้งนี้คาดว่าธุรกิจแฟรนไชส์ 500 ราย จะได้นำเสนอธุรกิจเป็นทางเลือกในการสร้างรายได้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และผู้ว่างงาน ได้ร่วมกิจกรรมแฟรนไชส์สร้างอาชีพ จำนวน 1 หมื่นราย

ครม.ไฟเขียวเพิ่มงบ 3,042 ล้าน ขยายสิทธิเราชนะเพิ่ม

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบการปรับปรุงโครงการเราชนะ โดยให้ขยายกลุ่มเป้าหมายและกรอบวงเงินของโครงการ จากเดิมกำหนดกลุ่มเป้าหมาย 31.1 ล้านคน ภายใต้กรอบวงเงินไม่เกิน 210,200 ล้านบาท เป็นกลุ่มเป้าหมาย 33.5 ล้านคน กรอบวงเงินไม่เกิน 213,242 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3,042 ล้านบาท และขยายเวลาการใช้จ่ายเงินจากสิ้นสุดในเดือนพ.ค.64 เป็นสิ้นสุดในเดือนมิถุนายน 64 เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ผู้ไม่มีสมาร์ทโฟน ผู้พิการ และผู้สูงวัย ซึ่งได้รับวงเงินไปเมื่อต้นเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา 

ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง รายงานว่า จากการดำเนินโครงการมาเป็นระยะเวลาประมาณ 3 เดือน ข้อมูล ณ วันที่ 8 เมษายน ที่ผ่านมามีผู้ได้รับสิทธิ์แล้ว 33.1 ล้านคน เกินกว่ากลุ่มเป้าหมายเดิมที่ครม.อนุมัติไว้ และปัจจุบันโครงการยังอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยมีประชาชนที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบคัดกรองข้อมูลอีก 8.6 หมื่นคน อีกทั้งยังเปิดรับลงทะเบียนสำหรับกลุ่มผู้ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษที่ไม่สามารถเดินทางออกจากที่พักอาศัย และจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยรับลงทะเบียนเคลื่อนที่ในการรับลงทะเบียน จนถึงวันที่ 9 เมษายน 64 และมีการทบทวนสิทธิ์ที่อาจคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงจึงทำให้จำวนวนผู้ได้รับสิทธิ์ตามโครงการเพิ่มขึ้นได้อีก

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เผย พฤติกรรมการหลอกลวงคนหางานไปทำงานต่างประเทศ ปัจจุบันนายหน้าเถื่อนใช้สื่อออนไลน์โฆษณาจัดหางานอย่างเปิดเผย พร้อมแอบอ้างรู้จักเจ้าหน้าที่กรมการจัดหางาน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พบขบวนการหลอกลวงคนหางานไปทำงานต่างประเทศ อาศัยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด–19 โฆษณาการจัดหางาน ทางสื่อสังคมออนไลน์ ว่าคุ้นเคยกับเจ้าหน้าที่กรมการจัดหางาน และสามารถพาไปทำงานต่างประเทศได้แม้เป็นช่วงแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 โดยเรียกเก็บเงินค่าดำเนินการรายละ 10,000 –50,000 บาท แบ่งเป็นค่าดำเนินการ ค่าออกวีซ่า ค่าประกันภัย ฯลฯ ภายหลังรับเงินจะตัดขาดการติดต่อ จนผู้เสียหายรู้ตัวว่าถูกหลอกลวง และเข้าแจ้งความดำเนินคดี ซึ่งประเทศที่พบคนหางานถูกหลอกลวงไปทำงานมากที่สุด ได้แก่ แคนาดา สวีเดน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) และนิวซีแลนด์ ตามลำดับ คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย จำนวน 13,523,004 บาท

“รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญและเน้นย้ำให้กระทรวงแรงงานดูแลแรงงานไทยที่จะเดินทางไปทำงานในต่างประเทศให้เดินทางไปทำงานอย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม และได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย เนื่องจากแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศถือเป็นกลุ่มแรงงานที่นำรายได้เข้าประเทศไทย เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางานได้มีการสอดส่องดูแล และตรวจสอบผู้มีพฤติการณ์หลอกลวงคนหางานไปทำงานต่างประเทศ และบริษัทจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะในสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ที่มีผู้คิดฉวยโอกาสจากสถานการณ์ดังกล่าวหลอกลวงคนหางาน

ซึ่งหากตรวจสอบพบว่าผู้ใดหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางาน หรือส่งไปฝึกงานในต่างประเทศได้ โดยการหลอกลวงนั้นได้ไปซึ่งเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวง ต้องระวางโทษจำคุก 3-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 60,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และการโฆษณาการจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมการจัดหางาน มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ขอให้คนหางานที่ต้องการเดินทางไปทำงานต่างประเทศตรวจสอบข้อมูลตำแหน่งงาน ลักษณะงาน ตลอดจนประเทศที่จะไปจากเจ้าหน้าที่ของกรมการจัดหางาน ก่อนตัดสินใจจ่ายเงินหรือโอนเงินให้กับผู้ใด และสามารถตรวจสอบรายชื่อบริษัทจัดหางานที่ได้รับอนุญาตที่เว็บไซต์ www.doe.go.th/ipd โดยปัจจุบันมีบริษัทฯ ที่ได้รับอนุญาต จำนวน 129 บริษัท ตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงมหานคร 90 บริษัท และกระจายอยู่ในจังหวัดอื่น ๆ ทั่วประเทศ 39 บริษัท ที่ผ่านมาตั้งแต่ เดือนตุลาคม 2563 - เมษายน 2564 ด่านตรวจคนหางานได้ตรวจสอบเอกสารคนหางานที่เดินทางผ่านด่านตรวจคนหางานทั้งสิ้น 17,922 ราย ตรวจสอบผู้ที่มีพฤติการณ์จะลักลอบไปทำงานในต่างประเทศ จำนวน 785 ราย และระงับการเดินทาง จำนวน 254 ราย


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดเศรษฐกิจไทยปี 2564 โตลดลงที่ 1.8% หลังเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่

จากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิดระลอกใหม่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองเศรษฐกิจไทยปี 2564 มีแนวโน้มเติบโตลดลงที่ 1.8% จากคาดการณ์เดิมที่ 2.6% โดยมองว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่มีความรุนแรงกว่าในระลอกก่อนหน้านี้ ในขณะที่แม้ว่าจะไม่ได้มีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวด แต่ความกังวลต่อสถานการณ์จะทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คน รวมถึงความเชื่อมั่นที่ลดลงมีผลต่อการบริโภคครัวเรือนให้มีทิศทางต่ำกว่าที่ประเมิน

อย่างไรก็ตาม ประมาณการเศรษฐกิจใหม่ได้รวมปัจจัยบวกจากแนวโน้มการส่งออกที่จะเติบโตดีกว่าที่เคยประเมินไว้จากอานิสงส์ของภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดีกว่าคาด นอกจากนี้ยังได้รวมถึงปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเข้าไปแล้ว โดยมีโครงการที่ยังดำเนินอยู่ เช่น โครงการเราชนะ และโครงการเรารักกัน ขณะที่มีมุมมองว่า ภาครัฐจะมีมาตรการต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศภายใต้วงเงินกู้ 1 ล้านล้าน ซึ่งยังมีวงเงินคงเหลืออยู่ราว 2.4 แสนล้านบาท ประกอบกับยังมีเงินจากงบกลาง ภายใต้ พรบ.งบประมาณปี 2564 ที่สามารถนำมาใช้ได้อีกราว 1.3 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน ยังมีความกังวลถึงการแพร่ระบาดระลอกใหม่ที่อาจส่งผลให้นักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาท่องเที่ยวในไทยมีแนวโน้มที่จะต่ำกว่าคาดการณ์เดิมที่ 2 ล้านคน

ตัวแปรสำคัญคือการเร่งฉีดวัคซีน ซึ่งหากการฉีดวัคซีนมีความล่าช้า ก็มีความเป็นไปได้ที่การแพร่ระบาดจะยืดเยื้อหรืออาจเกิดการแพร่ระบาดอีกระลอก ซึ่งจะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างมาก และทำให้ความหวังของการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวให้ทยอยกลับมาเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอาจต้องล่าช้าออกไป

ทั้งนี้ ในกรณีที่การแพร่ระบาดยืดเยื้อหรือมีการระบาดที่รุนแรงอีกรอบไตรมาส 3/2564 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2564 มีแนวโน้มที่จะไม่เติบโตจากปีก่อนหน้า

นอกจากนี้ การควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดรวมถึงการเร่งปูพรมกระจายวัคซีนเป็นภารกิจเร่งด่วน เนื่องจากระบบสาธารณสุขไทยมีขีดจำกัดในการรองรับผู้ติดเชื้อ หากจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันยังอยู่ในระดับสูงมากกว่าพันคนอย่างต่อเนื่องเป็นเดือน ๆ อาจเกิดภาวะระบบสาธารณสุขล่ม และส่งผลทำให้เศรษฐกิจไทยอาจต้องเผชิญกับต้นทุนแฝง (Hidden cost) ที่อาจประเมินค่าไม่ได้ ซึ่งในปัจจุบันก็เริ่มเห็นหลายโรงพยาบาลเผชิญกับปัญหาเตียงผู้ป่วยเต็ม และขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างเครื่องช่วยหายใจ

ขณะที่ต้นทุนต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนจะเพิ่มขึ้น โดยผู้ป่วยธรรมดาก็ไม่สามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขได้เป็นปกติเหมือนเมื่อก่อน ซึ่งจะส่งผลกระทบทางอ้อมต่อประสิทธิภาพของแรงงานให้ลดลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ความเสียหายที่เกิดขึ้นอาจจะมีมากกว่าการบริโภคที่ลดลงและรายได้จากการท่องเที่ยวที่หายไป


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

.

รัฐบาลเดินหน้าลุยต่อภูเก็ตโมเดล เปิดรับนักท่องเที่ยวกระเป๋าหนัก ด้าน ‘สุพัฒนพงษ์’ เผยมีเงินเพียงพอ เยียวยาตามมาตรการรัฐ ไม่ต้องกู้เพิ่ม เตรียมกดรับสิทธิ์ แพ็คเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ พ.ค.นี้

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เรียกทีมเศรษฐกิจหารือบนตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เพื่อหามาตรการเยียวยาช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด 19 รอบที่ 3 เพิ่มเติม ซึ่งจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด รวมถึง แผนการเปิดประเทศภูเก็ตโมเดล ว่า ที่ประชุมได้หารือ ถึงการเปิดรับนักท่องเที่ยวที่ จ.ภูเก็ต ซึ่งจะดำเนินการตามแผนเดิม คือ วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 เนื่องจากความต้องการท่องเที่ยวยังไม่ลดลง โดยจะเน้นการท่องเที่ยวจากประเทศระยะไกล และเชื่อว่าการแพร่ระบาดโควิด 19 ไทยระลอกนี้ไม่ส่งผลต่อนักท่องเที่ยว เพราะจากมาตรการของรัฐบาล รวมถึงการดูแลสุขภาพของประชาชนจะทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงเรื่อย ๆ ซึ่งระบบสาธารณสุขของไทยได้เตรียมพร้อมไว้หมดแล้ว

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า รัฐบาลยืนยันเดินหน้าโครงการช่วยเหลือประชาชนในแพ็คเกจเดิม อาทิ โครงการเราชนะ คนละครึ่ง ม.33 เรารักกัน หรือแม้แต่ มาตรการใหม่ที่จะเพิ่มขึ้นมา คือเราผูกพัน ที่จะช่วยเหลือข้าราชการ อีกทั้งเตรียมมาตรการดึงเงินฝากที่มีอยู่ 5-6 แสนล้านบาท ออกมาใช้จ่าย ซึ่งกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณา และคาดว่าปลายเดือนพฤษภาคมจะดำเนินการเรียบร้อย และประกาศใช้ในเดือนมิถุนายนนี้

พร้อมยืนยันรัฐบาลได้มีการจัดสรรคงบประมาณไว้ช่วยเหลืออย่างเพียงพอ ไม่จำเป็นต้องกู้เพิ่ม เพราะงบประมาณที่กู้ยังเพียงพอ และยังเดินหน้าดึงดูดนักลงทุน แต่ยังไม่ขอเปิดเผยรายละเอียดโดยช่วงครึ่งปีหลังจะเห็นผล ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผน

ผู้สื่อข่าวถามว่าการระบาดในระลอกนี้จะส่งผลกระทบต่อจีดีพีของประเทศหรือไม่ นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ขอประเมินสถานการณ์ในช่วงเดือนนี้ก่อน ถ้าหากสถานการณ์สามารถควบคุมได้ในสิ้นเดือนนี้ ก็หาทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป ทั้งนี้ส่วนตัวเชื่อว่า หลังมีมาตรการยกระดับควบคุมการแพร่ระบาดใน 14 วันนี้ สถานการณ์จะดีขึ้น ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความร่วมมือจากทุกคน

พร้อมยอมรับว่า ที่ผ่านมาเราเตรียมการควบคุมไว้ แต่บังเอิญเกิดความประมาทเสียเอง ซึ่งหากถ้าควบคุมสถานการณ์ได้ การฉีดวัควีนในเดือน พฤษภาคมและมิถุนายน ก็จะเป็นไปตามแผน และน่าจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น โดยที่เราทำตัวเราเอง จนเกิดเหตุการณ์ขึ้นจากคนกลุ่มหนึ่ง ที่ไม่ใช่เฉพาะคลับทองหล่อเท่านั้น แต่ยังมีภาพที่เกิดขึ้น พื้นที่ จ.ภูเก็ต ที่เห็นภาพนักท่องเที่ยวไม่สวมหน้ากากอนามัย เดินท่องเที่ยวชายหาด ซึ่งส่วนตัวเสียดายที่ไม่มีการป้องกันดูแลตัวเองตามนโยบายของรัฐบาล เพราะ จ.ภูเก็ตคือตัวแทนประเทศไทยในการเปิดประเทศ โดยยืนยันนายกรัฐมนตรีแก้ปัญหาอย่างเต็มที่ ที่จะเร่งรัดหาวัคซีนอย่างเต็มที่ โดยที่ทุกคนจะได้ฉีดวัคซีนอย่างครอบคลุม


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

.

ผู้ว่าการ กนอ.คนใหม่ ! การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ลงนามในสัญญาจ้าง ‘วีริศ อัมระปาล’ นั่งแท่น ผู้ว่าการ กนอ.คนใหม่ เดินหน้าสานต่อโครงการเมกะโปรเจกต์ขับเคลื่อนงานตามนโยบายรัฐบาล

นายนรินทร์ กัลยาณมิตร ประธานคณะกรรมการ กนอ. (บอร์ด กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ. จัดพิธีลงนามสัญญาจ้างผู้ว่าการ กนอ.คนใหม่ ในวันที่ 20 เม.ย. 64 หลังคณะกรรมการสรรหามีมติเป็นเอกฉันท์เลือก นายวีริศ อัมระปาล ขึ้นเป็นผู้ว่าการ กนอ. ซึ่งภายหลังการเจรจาเรื่องค่าตอบแทนและสัญญาจ้างแล้ว ได้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยคณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ.2564 เห็นชอบแต่งตั้ง นายวีริศ อัมระปาล ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ. คนใหม่ ทั้งนี้ นายวีริศฯ จะเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ. ตามเงื่อนไขและสัญญาจ้างที่มีต่อ กนอ. โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน พ.ศ.2564 เป็นต้นไป

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวต่อว่า ในส่วนของโครงการสำคัญต่างๆ ที่เตรียมส่งมอบให้กับผู้ว่าการ กนอ.คนใหม่สานต่อ โดยเฉพาะโครงการเมกะโปรเจกต์ที่กนอ.ขับเคลื่อนตามนโยบายรัฐบาล ประกอบด้วย

1.) โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม smart park โดยการดำเนินงานขั้นต่อไปคือการก่อสร้างโครงการและเปิดดำเนินการภายในปี 2567 และดำเนินการตามแผนธุรกิจที่วางไว้

2.) โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 ซึ่งในการดำเนินงานขั้นต่อไปคือการกำกับดูแลภาคเอกชนคู่สัญญา งานขุดลอกและถมทะเล งานก่อสร้างท่าเรือก๊าซ รวมทั้งการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 ช่วงที่ 2 ซึ่งก็คือการคัดเลือกเอกชนและประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อลงนามในสัญญาร่วมทุนโครงการ

3.) การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน คือ การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว และการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสงขลา ที่ต้องมีมาตรการส่งเสริมการจองเช่า/ซื้อที่ดิน เพื่อกระตุ้นยอดขาย/เช่าในพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมทั้งสองแห่ง รวมทั้งการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสงขลา ระยะที่ 2

และ 4.) การพัฒนานิคมและท่าเรืออุตสาหกรรมเข้าสู่การเป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอัจฉริยะ (Smart Eco) ที่การดำเนินงานขั้นต่อไป คือ การจัดทำแผนแม่บทที่จะดำเนินการให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และการที่นิคมอุตสาหกรรมต้องได้รับรองการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในระดับ Eco-Champion Eco-Excellence และ Eco-World Class เพิ่มขึ้นอย่างน้อยจำนวน 36 นิคมฯ เข้าสู่การเป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ภายในปี 2565

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐมุ่งส่งเสริมการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนำเทคโนโลยีเครือข่ายอัจฉริยะ 5G มาประยุกต์ใช้ตามแผนพัฒนาการบริหารและการดำเนินงานของนิคมอุตสาหกรรม ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กนอ. ทั้ง 14 แห่ง โดยตั้งเป้าให้ทุกนิคมอุตสาหกรรมก้าวสู่การเป็นนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ (Smart Industrial Estate) ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญที่นำไปสู่การปฏิวัตินิคมอุตสาหกรรม และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทย และสร้างประโยชน์ให้กับภาคเศรษฐกิจในระยะยาวได้


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

หอการค้าไทย ถกซีอีโอธุรกิจไทย กว่า 40 บริษัท วางแผนช่วยรัฐกระจายวัคซีน หลังพบคนไทยได้ฉีดวัคซีนต่ำมาก เพียง 0.4% เท่านั้น ลุ้นเป้ากรุงเทพฯ ได้ฉีด 70% ในปี 64 หรืออย่างน้อย 50,000 โดสต่อวัน

วันที่ 20 เมษายน พ.ศ.2564 นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทยจัดการประชุมระหว่างหอการค้าไทยกับประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของบริษัทใหญ่กว่า 40 บริษัท จากทุกกลุ่มธุรกิจของไทยผ่านระบบประชุมทางไกล เพื่อร่วมกันวางแผนการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของภาคเอกชน และต้องจัดหาวัคซีนทางเลือกให้เพียงพอ โดยสนับสนุนภาครัฐให้สามารถเปิดประเทศได้อย่างรวดเร็ว เพื่อความปลอดภัยและขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวนโยบายหลัก ภารกิจ 99 วันแรกของการทำงานในหอการค้า ที่ต้องมีการ Connect the dots คือ ดึงความร่วมมือจากทุกฝ่าย ให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้

อย่างไรก็ตาม วัคซีนล็อตใหญ่ที่จะเริ่มเข้ามาตั้งแต่เดือนมิถุนายนนี้ จะต้องมีการเตรียมตัว และวางแผนการกระจายวัคซีนให้มีประสิทธิภาพ ดังนั้น หอการค้าไทยและเครือข่ายภาคเอกชน จะช่วยสนับสนุนภาครัฐในการกระจายวัคซีนที่ภาครัฐจัดซื้อมา ให้เกิดประสิทธิภาพและทั่วถึงมากที่สุด โดยจะเริ่มที่ กทม.ก่อน เพื่อเป็นตัวอย่างให้จังหวัดอื่น ๆ พร้อมสนับสนุนให้เอกชนมีส่วนร่วมในการเจรจาซื้อวัคซีนทางเลือกเพิ่มเติม

“หอการค้าไทยตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี 2564 ต้องบรรลุเป้าหมายการฉีดวัคซีนในกรุงเทพฯ 70% โดยบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นด่านหน้าของ กทม. ต้องได้รับการฉีดทั้งหมด 100% ภายในสิ้นเดือนมิถุนายน ส่วนการฉีดวัคซีนสำหรับประชาชนทั่วไปในกรุงเทพฯ ต้องให้ได้อย่างน้อย 50,000 โดสต่อวัน โดยภาคเอกชนจะเข้ามาเสริมการทำงานของภาครัฐเพื่อให้ได้เป้าหมายดังกล่าว พร้อมกันนั้น จะจัดทำรูปแบบมาตรฐาน หรือรูปแบบตัวอย่างของภาคเอกชนที่สนับสนุนการฉีดวัคซีน ให้กับจังหวัดอื่น ๆ ภายในสิ้นเดือนเมษายนนี้ และเชื่อมั่นว่า ภาคเอกชนสามารถใช้ความถนัด ความเชี่ยวชาญ และทรัพยากรของพวกเราเพื่อประเทศได้ ” นายสนั่น กล่าว

ทั้งนี้ หอการค้าไทยและเครือข่าย จะแบ่งงานออกเป็น 4 ทีม เพื่อสนับสนุนการฉีดวัคซีน ได้แก่

TEAM A: Distribution and Logistics ทีมสนับสนุนการกระจายและฉีดวัคซีน ช่วยสนับสนุน สถานที่ บุคลากร อาสาสมัคร และอุปกรณ์ IT เช่น คอมพิวเตอร์ ปริ๊นเตอร์ เครื่องอ่านบัตรประชาชน ให้ กทม. เพิ่มจากโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ซึ่งตอนนี้ได้มีการเตรียมและไปลงพื้นที่สำรวจกับ กทม. แล้วในระยะแรก จำนวน 10 พื้นที่ใน กทม. ที่เอกชนจะนำร่อง เช่น กลุ่มเซ็นทรัล , SCG , เดอะมอลล์ , สยามพิวรรธน์ , เอเชียทีค , โลตัส , บิ๊กซี , ทรูดิจิตัลพาร์ค เป็นต้น โดยจะสรุปกับ กทม. ภายในวันที่ 27 เมษายนนี้ และในระยะถัดไปจะมีการหารือในการจัดทำหน่วยฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ไปยังจุดต่าง ๆ เพื่อลดการเคลื่อนย้ายของประชาชน

TEAM B: Communication ทีมการสื่อสาร เพื่อให้ประชาชนเข้าใจและมาฉีดวัคซีนในสถานที่ที่พร้อม เพราะปัจจุบันหลายคนยังไม่เข้าใจเรื่องการฉีดวัคซีน หลายคนไม่ยอมฉีด ดังนั้น ต้องทำความเข้าใจให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ทั้งนี้ ภาครัฐจะทำระบบ “หมอพร้อม” เสร็จสิ้นในเดือนนี้ ซึ่งจะสามารถระบุสถานที่ต่าง ๆ ที่ลงทะเบียนฉีดวัคซีน การจัดคิวการฉีดที่ไม่หนาแน่น หรือลำดับการฉีดที่เหมาะสม โดยได้รับการสนับสนุนจากหลายบริษัท เช่น Google, LINE , Facebook , VGI และ Unilever เป็นต้น

TEAM C: IT Operation ทีมเทคโนโลยีและระบบ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการลงทะเบียน ขั้นตอนในการฉีดที่รวดเร็ว และมีระบบการติดตามตัว พร้อมสามารถออกใบรับรองการฉีดวัคซีนได้ โดยมีหลายบริษัท นำทีมโดย IBM เข้ามาสำรวจและปรับปรุงกระบวนการ

TEAM D: Extra Vaccine procurement ทีมจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม ร่วมกับภาครัฐและเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชน โดยจะไปสำรวจความต้องการฉีดวัคซีนทางเลือกเพิ่มเติม เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของรัฐบาล และทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วมากขึ้น นำโดยสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งในวันนี้ได้มีการหารือกันแล้ว ประเมินว่ายังต้องการวัคซีนทางเลือกเพิ่มเติมอีก 30 ล้านโดส เพื่อให้ครอบคลุม 70% ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งวัคซีนทางเลือก ได้แก่

1.) ประเทศสหรัฐอเมริกา วัคซีน Moderna และ Pfizer

2.) ประเทศจีน วัคซีน Sinopharm และ CanSino Biologics

3.) ประเทศอินเดีย วัคซีน COVAXIN จากบริษัท Bharat Biotech

และ 4.) ประเทศรัสเซีย วัคซีน Sputnik V ซึ่งภาคเอกชนยินดีที่จะจ่ายค่าวัคซีนให้กับพนักงานของบริษัทรวมแล้วเกือบ 1 ล้านราย เพื่อแบ่งเบาภาระให้กับรัฐบาล

“ผลสรุปจากการประชุม CEO ทุกบริษัทเห็นตรงกันว่าขณะนี้ประเทศไทยได้รับการฉีดวัคซีนไปเพียง 0.4% ของประชากรเท่านั้น ซึ่งถือว่าล่าช้ามากสำหรับการที่จะเปิดประเทศที่จะต้องฉีดให้ได้ถึง 70% ของประชากร ภาครัฐจำเป็นต้องจัดหาวัคซีนให้เพียงพอกับทุกคน โดย CEO ทุกท่านพร้อมที่จะช่วยภาครัฐ ซึ่งหอการค้าไทยพร้อมที่จะเป็นตัวกลางในการ Connect the dots เพื่อฟื้นเศรษฐกิจไทย และเชื่อว่า หากคนไทยทุกคน ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมแรงร่วมใจ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จะทำให้ประเทศไทยของเราฝ่าวิกฤติ COVID-19 นี้ไปได้อย่างแน่นอน” นายสนั่น กล่าวทิ้งท้าย


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

‘คลัง’ ขอครม.เพิ่มงบ ‘เราชนะ’ อีก 3 พันล้านบาท ช่วยผู้ใช้สิทธิไม่มีสมาร์ทโฟนและติดเตียง หลังพบจำนวนผู้ใช้สิทธิสูงเกินคาดจาก 31 ล้านคน เป็น 33 ล้านคน พร้อมขยายระยะเวลาโครงการออกไปอีก 1 เดือน

เมื่อวันที่ 20 เม.ย.2564 นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (20 เม.ย.) นี้ กระทรวงการคลังจะเสนอของบประมาณจำนวน 3 พันล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการ เราชนะ เพิ่มเติม เนื่องจาก มีจำนวนผู้ใช้สิทธิเพิ่มจากที่คาดการณ์ไว้จากกว่า 31 ล้านคน เป็นราว 33 ล้านคน

นอกจากนี้ ยังเสนอขยายระยะเวลาการดำเนินโครงการเป็นสิ้นสุด มิ.ย. จาก พ.ค.นี้ เพื่อรองรับการใช้สิทธิของกลุ่มที่ได้รับสิทธิใหม่ โดยกลุ่มผู้ได้รับสิทธิใหม่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มไม่มีสมาร์ทโฟนและป่วยติดเตียง

"เดิมเราคาดการณ์จำนวนผู้ใช้สิทธิเราชนะที่ประมาณ 31 ล้านคน แต่ขณะนี้ มีผู้ใช้สิทธิมากกว่านั้น เราคาดว่า จะเพิ่มเป็น 33 ล้านคน จึงเสนอคณะรัฐมนตรีเพิ่มวงเงินเพื่อรองรับการใช้จ่ายดังกล่าว"

สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่นั้น กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งจะดำเนินการหลังสิ้นสุดโครงการเราชนะแล้ว อาจจะเป็นโครงการที่เคยดำเนินการไปแล้วในระยะที่ผ่านมาและจะมีโครงการใหม่เพิ่มเติมด้วย


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top