Monday, 29 April 2024
ECONBIZ NEWS

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา แจ้งราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศระเบียบคณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 เม.ย. 2564

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา แจ้งว่า ขณะนี้ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศระเบียบคณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ ว่าด้วยมาตรฐานการประกอบธุรกิจนำเที่ยวและมาตรฐานการปฏิบัติหน้าที่ของมัคคุเทศก์ ที่พึงปฏิบัติต่อนักท่องเที่ยวภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 พ.ศ.2564 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 เม.ย. 2564 เป็นต้นไป

สำหรับสาระสำคัญมาตรฐานนี้ กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวที่ให้บริการนำเที่ยวกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 63 ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานที่กำหนด คือ ให้บริการนำเที่ยวนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ผ่านมาตรการกักตัวตามระยะเวลาและในสถานที่ที่รัฐกำหนด และต้องได้รับการรับรองมาตรฐาน SHA และต้องมีระบบการควบคุมการเดินทางของนักท่องเที่ยวในระหว่างที่มีการให้บริการนำเที่ยว หรือแทรคกิ้ง ด้วย

ขณะเดียวกันยังกำหนดให้มีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายนักท่องเที่ยวก่อนขึ้นรถ หากพบว่ามีอุณหภูมิร่างกายเท่ากับหรือมากกว่า 37.5 องศาเซลเซียส ขึ้นไป หรือมีอาการไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก หรือเหนื่อยหอบ ให้รีบแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งต่อไปยังสถานพยาบาลทันที จัดบริการเจลแอลกอฮอล์สำหรับฆ่าเชื้อให้กับนักท่องเที่ยวสำหรับพกติดตัวขณะท่องเที่ยว โดยอย่างน้อยให้มี 1 คน ต่อหนึ่งขวดหรือหนึ่งหลอด พร้อมมีการจัดเตรียมอุปกรณ์ทำความสะอาด สำหรับนักท่องเที่ยวให้เพียงพอตลอดรายการนำเที่ยว เช่น เจลล้างมือที่มีแอลกอฮอล์อย่างน้อย 70% ขึ้นไป หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย สบู่เหลวล้างมือ

รวมทั้งกำหนดให้มัคคุเทศก์สื่อสารกับนักท่องเที่ยวเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงการแพร่กระจายเชื้อขณะนำเที่ยว ส่วนมัคคุเทศก์ ผู้ช่วยมัคคุเทศก์ พนักงานขับรถและนักท่องเที่ยวทุกคนต้องสวมหน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัยทุกครั้งขณะปฏิบัติหน้าที่หรือขณะท่องเที่ยว พร้อมทำความสะอาดและอาจฆ่าเชื้อด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อบนยานพาหนะนำเที่ยวทุกวัน และทุกครั้งหลังจากใช้บริการเสร็จสิ้น โดยเน้นจุดสัมผัสร่วม เช่น ราวบันได ที่พักแขน พนักพิง ราวจับ เบาะนั่ง หน้าต่าง ส่วนเครื่องดื่มหรืออาหารว่างสำหรับนักท่องเที่ยวต้องจัดเก็บอย่างเหมาะสมต้องมีถังขยะมีฝาปิดหรือถุงขยะสภาพดีสำหรับแยกทิ้งขยะที่เหมาะสมและเพียงพอ และมีการเก็บรวมขยะโดยมัดปากถุงให้มิดชิดเพื่อส่งไปกำจัดอย่างถูกต้อง


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

ธนาคารแห่งประเทศไทย เตรียมปล่อยกู้สินเชื่อซอฟต์โลน และโครงการพักหนี้ตั้งแต่วันที่ 26 เม.ย.นี้

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 26 เม.ย.นี้เป็นต้นไป ธปท.จะเริ่มให้สถาบันการเงินมาขอเงินกู้ ตาม พ.ร.ก.ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 ทั้ง มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) และมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ (โครงการพักทรัพย์ พักหนี้) วงเงินรวม 3.5 แสนล้านบาท เพื่อนำไปปล่อยกู้ภาคธุรกิจต่อ หลังจากได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย.64

ล่าสุด ธปท. ได้ออกประกาศจำนวน 2 ฉบับ เพื่อกำหนดขอบเขตคุณสมบัติของผู้ประกอบธุรกิจที่สามารถเข้าร่วมโครงการ หลักการ และเงื่อนไขที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจภายใต้ พ.ร.ก. ดังกล่าว โดยกระทรวงการคลังและ ธปท. ได้เตรียมความพร้อมกับสถาบันการเงิน เพื่อให้สามารถกระจายเม็ดเงินไปสู่ลูกหนี้ได้อย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ ขอให้สถาบันการเงินรับคำขอเข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือจากลูกหนี้ได้ตั้งแต่ พ.ร.ก. ฟื้นฟูฯ มีผลบังคับใช้ นอกจากนี้ ลูกหนี้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ ธปท. และติดต่อสถาบันการเงินที่ใช้บริการได้ทันที


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม ""บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!"" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit
คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

สศช.ชี้โควิด ทำกระทบคน 1.13 ล้านครัวเรือนเสี่ยงตกเป็นคนจน

นางสาวจินางค์กูร โรจนนันต์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า สศช. ประเมินว่าการระบาดของไวรัสโควิด-19 จะกระทบต่อครัวเรือนที่มีความเสี่ยงต่อการตกเป็นคนจน 1.13 ล้านครัวเรือน มากถึง ทั้งกลุ่มครัวเรือนที่พึ่งพิงรายได้จากเงินช่วยเหลือจากบุคคลอื่นภายนอกครัวเรือน ประมาณ 6.37 แสนครัวเรือน, กลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้จากการทำงานลดลงมาก 4.5 แสนครัวเรือน เช่น ทำงานในภาคการท่องเที่ยว และครัวเรือนที่ประกอบอาชีพอิสระ และกลุ่มครัวเรือนเกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกิน หรือมีที่ดินทำกินน้อย ประมาณ 4.9 หมื่นครัวเรือน 

ส่วนตัวเลขความยากจนจากผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และการจ้างงาน ทำให้คนยากจนมีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยเมื่อใช้เส้นความยากจนในปี 62 ที่ 2,763 บาทต่อคนต่อเดือน ประเมินจำนวนคนจนในไตรมาส 1 - 3 ของปี 2563 พบว่า ไตรมาส 1 ปี 63 คนยากจนจะมีจำนวนทั้งสิ้น 7.8 ล้านคนคิดเป็นสัดส่วนคนจนที่ 12.7% เพิ่มขึ้นจากปี 62 ที่มีจำนวนคนจนเพียง 4.3 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 6.4%  

ขณะที่ในไตรมาส 2 ปี 63 ซึ่งเป็นช่วงที่โควิดกระทบต่อไทยสูงสุด ส่งผลให้จำนวนคนยากจนเพิ่มขึ้นเป็น 9.1 ล้านคน หรือ 14.9% อย่างไรก็ตามภายหลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้น จำนวนคนยากจนในไตรมาส 3 จึงปรับตัวลดลงมาที่ 7.2 ล้นคน หรือคิดเป็นสัดส่วนคนจนที่ 11.7% จากแนวโน้มนี้สะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์ความยากจนในปี 63 จะปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่จะไม่สูงมากนัก

กนอ. ปลื้ม! ผลงานลงทุนกลุ่มยานยนต์-การขนส่ง พุ่ง 1 แสนล้านบาท

วันที่ 19 เมษายน พ.ศ.2564 นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เผยผลประกอบการช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 (ต.ค.63 - มี.ค.64) มีมูลค่าการลงทุนรวมอยู่ที่ 106,146.56 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จำนวน 78,758.09 ล้านบาท ที่ทำได้ 27,388.47 ล้านบาท หรือคิดเป็น 287.56% เป็นผลจากการแจ้งเริ่มประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรมในช่วง 1 ถึง 2 ปีที่ผ่านมา ที่ยังคงมีการลงทุนต่อเนื่องและขยายการลงทุนเพิ่ม ชี้ให้เห็นว่านักลงทุนยังคงมีความต้องการขยายการลงทุนอีกมากโดยเฉพาะในอุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์และการขนส่ง , เหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะ , กลุ่มยาง พลาสติกและหนังเทียม , กลุ่มเครื่องยนต์ เครื่องจักรและอะไหล่ รวมถึงกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์  ที่ยังคงมีการลงทุนมากที่สุดในช่วง 2 ไตรมาสของปี 64 เช่นกัน ขณะที่มีการจ้างงานในนิคมอุตสาหกรรมประมาณ 4,655 คน ซึ่งลดลงกว่าปีก่อนหน้า 42% เนื่องจากโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมส่วนใหญ่มีการปรับเปลี่ยนโดยเริ่มนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตมากขึ้น

ทั้งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรม 5 อันดับแรกที่เป็นกลไกขับเคลื่อนการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ประกอบด้วย อุตสาหกรรมยานยนต์และการขนส่ง 13.94% ยังคงครองแชมป์การลงทุน รองลงมาคืออุตสาหกรรมเหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะ 11.69% อุตสาหกรรมยาง พลาสติก และหนังเทียม 7.95% อุตสาหกรรมเครื่องยนต์ เครื่องจักรและอะไหล่ 7.2% อุตสาหกรรมปุ๋ย สีและเคมีภัณฑ์ 5.99 % โดยนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นได้ให้ความสนใจมาลงทุนมากเป็นอันดับ 1 ถึง 37.36% รองลงมาคือนักลงทุนจากประเทศจีน 8.16 % อเมริกา 6.79 % สิงคโปร์ 6.78 % และไต้หวัน 4.11 %

“สำหรับการขาย/ให้เช่าที่ดินในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 64 ในภาพรวมประมาณ  473.75 ไร่ ซึ่งลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีผู้ประกอบการซื้อ/เช่าประมาณ 1,398.84 ไร่ คิดเป็น 66.13% แบ่งเป็นการขาย/เช่าในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) 394.42 ไร่ และนอกพื้นที่อีอีซี 79.33 ไร่ ซึ่งจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แม้ในภาพรวมจะชะลอการลงทุนอยู่บ้าง เนื่องมาจากการระงับเดินทางข้ามประเทศชั่วคราว แต่ความต้องการที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมของกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ด้วยระบบโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม และสามารถจูงใจการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมได้”  นางสาวสมจิณณ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในปี 64 กนอ.มีแนวทางยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับนักลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรืออุตสาหกรรมให้สามารถขับเคลื่อนภาคการผลิต โดยเพิ่มศักยภาพการให้บริการระบบสาธารณูปโภค และสาธารณูปการในนิคมอุตสาหกรรม ที่ตั้งเป้าให้ทุกนิคมก้าวสู่นิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ โดยการนำเทคโนโลยี 5G มาประยุกต์ใช้ให้ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมเพื่อให้สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถเชื่อมโยงข้อมูล การขับเคลื่อนการบริหารจัดการระบบสาธารณูปโภค รวมถึงบริการต่าง ๆ ในนิคมอุตสาหกรรม

อธิบดีกรมสรรพสามิต ชี้! ยังไม่ถึงเวลาเหมาะสม จัดเก็บภาษีใหม่ หวั่นซ้ำเติมประชาชน

วันที่19 เมษายน พ.ศ.2564 นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า ยืนยันว่าจะยังไม่มีการจัดเก็บภาษีใหม่ ๆ ในช่วงนี้ เนื่องจากยังไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสม เพราะเศรษฐกิจยังได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ดังนั้นการออกภาษีใหม่ ๆ จึงยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะ โดยขณะนี้กระทรวงการคลังและรัฐบาลได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการใช้มาตรการภาษีในการเอื้อต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมากกว่า

สำหรับความคืบหน้าเกี่ยวกับการปฏิรูปโครงสร้างภาษี ที่กระทรวงการคลังได้รับนโยบายจากรัฐบาลมานั้น แต่ละกรมจัดเก็บรายได้ คือ กรมสรรพากร กรมศุลกากร และกรมสรรพสามิตอยู่ระหว่างดำเนินการ ในส่วนของกรมสรรพสามิตนั้นได้ดำเนินการศึกษาแนวทางการปฏิรูปโครงสร้างภาษีที่เกี่ยวข้องในทุกมิติ ไม่ใช่แค่การจัดเก็บรายได้เท่านั้น แต่ได้พิจารณาในทุกเรื่อง ภายใต้เงื่อนไขว่าจะต้องปฏิรูปโครงสร้างภาษีออกมาให้ทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และตอบโจทย์ภารกิจของกรมสรรพสามิต

“กรมฯ กำลังดำเนินการอยู่ ต้องดูในทุกมิติ ไม่ใช่แค่การออกพิกัดอัตราภาษีใหม่เท่านั้น แต่ต้องดูให้ครอบคลุมรวมไปถึงภาษีที่จัดเก็บอยู่แล้วก็ต้องทำให้ดี มีประสิทธิภาพมากขึ้น ต้องดูในภาพที่ใหญ่ขึ้นว่าจะต้องดำเนินการในส่วนไหนบ้าง เช่น ภาษีบาปที่ยังมีช่อง ก็ไปศึกษาดูว่าจะดำเนินการอย่างไร ส่วนภาษีใหม่ ๆ ที่มีการเสนอ เช่น ภาษีเครื่องใช้ไฟฟ้า และภาษีจากความเค็ม ทีมกำลังทำการบ้านอยู่ มีความคืบหน้า ข้อมูลทั้งหมดมีอยู่แล้ว แต่อยากขอเวลาทำงานให้รอบคอบมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่ายังมีเวลาเพราะช่วงโควิด และช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวแบบนี้คงไม่เหมาะหากจะออกภาษีใหม่ ๆ มาใช้ ทุกอย่างยังมีเวลา อยากศึกษาให้ดีและรอบคอบก่อน” นายลวรณ กล่าว

นอกจากนี้ กรมสรรพสามิตเตรียมพิจารณาขยายเวลาเลื่อนการปรับขึ้นอัตราภาษีความหวานตามขั้นบันไดไปอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ส่วนจะขยับไปนานเท่าไหร่นั้น คงเป็นเรื่องที่ฝ่ายนโยบายจะพิจารณาอีกที

นายลวรณ กล่าวอีกว่า ภาพรวมการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตในช่วง 6 เดือนของปีงบประมาณ 2564 (ต.ค.63 - มี.ค.64) ถือว่าทำได้ในระดับที่น่าพอใจ จากอานิสงส์ของการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์และภาษีเบียร์ที่ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้มั่นใจว่าภาพรวมการจัดเก็บรายได้ของกรมฯ ในปีงบประมาณ 2564 จะทำได้สูงกว่าเป้าหมายของกระทรวงการคลัง และสูงกว่าการจัดเก็บในปีงบประมาณก่อนหน้าแน่นอน

ทั้งนี้ ยังต้องติดตามภาพรวมการจัดเก็บรายได้ในช่วง 6 เดือนหลังของปีงบประมาณ 2564 ด้วย หากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น ก็จะส่งผลดีต่อการเดิน การบริโภคและใช้จ่ายมากขึ้น ก็จะส่งผลดีกับรายได้จากภาษีน้ำมันที่จะกลับมาฟื้นตัวได้ดีมาก ๆ และจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการจัดเก็บรายได้ในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณ 2564 ซึ่งการจัดเก็บรายได้จากภาษีน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ 2.3 แสนบาทต่อปี

อย่างไรก็ดี ในส่วนของการพิจารณาโครงสร้างภาษีกัญชานั้น กรมสรรพสามิตมองว่ายังมีเวลาในการศึกษาแนวทางดำเนินการให้รอบคอบ โดยยังต้องรอความชัดเจนจากฝ่ายนโยบายด้วยว่าจะกำหนดให้กัญชาไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ในระดับใด โดยปัจจุบันยังเป็นเพียงการนำมาใช้ในการทำอาหารปรุงสด หรือการเป็นเครื่องดื่ม ซึ่งไม่เสียภาษีสรรพสามิต แต่การที่กรมฯ จะเข้าไปจัดเก็บภาษีได้นั้น ก็ต่อเมื่อมีการนำกัญชามาบรรจุลงขวดหรือกระป๋อง จึงยังมีเวลาในการพิจารณาเรื่องนี้อยู่พอสมควร

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เดินหน้าโครงการ เตรียมความพร้อมผู้ประกอบการด้านการเงิน ผ่านหลักสูตร “SMEs รอบรู้เรื่องบัญชี วางแผนดี ขอสินเชื่อกี่ทีไม่มีพลาด” เพื่อให้ผู้ประกอบการได้เตรียมความพร้อมรับมือในทุกสถานการณ์ปัจจุบัน

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เปิดเผยว่า ดีพร้อม ได้พัฒนาหลักสูตร “SMEs รอบรู้เรื่องบัญชี วางแผนดี ขอสินเชื่อกี่ทีไม่มีพลาด” หลักสูตรออนไลน์ ภายใต้โครงการ เตรียมความพร้อมสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจใหม่ ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) หรือผู้ประกอบการที่ต้องการขยายธุรกิจ ให้มีโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และมีแผนงานที่ชัดเจนในการสร้างสภาพคล่องทางธุรกิจ ทั้งยังช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถตรวจสอบและทราบถึงสุขภาพทางการเงินของกิจการได้ โดยเนื้อหาของหลักสูตร แบ่งออกเป็น 5 บทเรียน

ประกอบด้วย ความรู้บัญชีเบื้องต้น การบริการจัดการเงิน ตัวอย่างการวิเคราะห์ธุรกิจ ภาษีธุรกิจ และการจัดการสินเชื่อ ผ่านการบรรยายให้ความรู้ในรูปแบบออนไลน์จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ โดยผู้ประกอบการสามารถเลือกเรียนได้ทุกที่และทุกเวลากรมส่งเสริมอุตสาหกรรมในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาผู้ประกอบการให้มีขีดความสามารถที่เพิ่มขึ้น รวมถึงเป็นสื่อกลางให้ผู้ประกอบการได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน

ดังนั้น ผู้ประกอบการจำเป็นจะต้องสร้างภูมิคุ้มกันด้านการเงินเพื่อรับมือกับสถานการณ์ปัจจุบันซึ่งจากผลสำรวจเบื้องต้นพบว่า ผู้ประกอบการรายย่อย และกลุ่มผู้ประกอบขนาดกลางและขนาดย่อมและวิสาหกิจชุมชน ประสบปัญหาด้านการบริหารการเงินของธุรกิจและการขอสินเชื่อเป็นจำนวนมากซึ่งเป็นผลมาจากการขาดทักษะและองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการบัญชีธุรกิจ ส่งผลให้ผู้ประกอบการบางส่วนมีหลักฐานทางบัญชียังไม่ชัดเจน ไม่สามารถระบุเส้นทางเข้าออกของรายได้ จึงพลาดการพิจารณาให้สินเชื่อ เพื่อนำเงินทุนมาพัฒนาและต่อยอดให้กับธุรกิจของตนได้เพียงพอ

นายณัฐพล กล่าวต่อว่า ดีพร้อม ในฐานะหน่วยงานที่อยู่เคียงข้างผู้ประกอบการและส่งเสริมในทุกมิติ ยังมีข้อแนะนำแนะนำ 6 ข้อที่ผู้ประกอบการต้องพัฒนาสร้างภูมิคุ้มกันด้านการเงินดังนี้

F: Financial Intelligence : ความรู้ความเข้าใจในข้อมูลการเงินที่จำเป็น คือ ต้องมีความรู้ด้านบัญชีพื้นฐาน เพื่อให้ทราบถึงตัวแปรต่าง ๆ ที่มีผลต่อสถานะทางการเงินของธุรกิจ รวมทั้งการบันทึกบัญชีให้เป็นปัจจุบัน เพื่อการวางแผนรับมือ หรือเผชิญวิกฤตการณ์ทางการเงินได้ทันท่วงที

I : Investment : การลงทุนที่เหมาะสม ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งนี้นอกจากการลงทุนในเครื่องจักรกลเพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตแล้ว ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญกับการลงทุนกับคน หรือ บุคลากรในองค์กร ให้มีทักษะที่สามารถทำงานได้หลายรูปแบบ

N: New Normal Opportunity : โอกาสและความเสี่ยงในสถานการณ์ปกติใหม่ คือ ความเสี่ยงทางธุรกิจ และโอกาสทางธุรกิจ ที่ผู้ประกอบการต้องวิเคราะห์ในแผนการเงิน เนื่องจากภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 การดำเนินธุรกิจในรูปแบบเดิมจะเปลี่ยนไป อาจมีทั้งโอกาสทางธุรกิจที่เพิ่มมากขึ้นในบางประเภทของกิจการ อาทิ ธุรกิจเครื่องมือแพทย์ ธุรกิจอาหาร ธุรกิจโลจิสติกส์และความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นสำหรับกลุ่มธุรกิจที่อยู่นอกเหนือปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพ อาทิ ธุรกิจบริการ ธุรกิจแฟชั่น และธุรกิจการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง

S: Statement for Loan : การเตรียมตัวเพื่อขอสินเชื่อ คือการเตรียมแผนธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ ที่ต้องแสดงให้สถาบันการเงินเห็นว่า ธุรกิจสามารถทำกำไร และมีหลักประกันทางธุรกิจที่มั่นคง พร้อมทั้งหลักฐานทางบัญชีที่แสดงถึงเส้นทางการเข้า-ออกของรายได้และรายจ่ายต่าง ๆ รวมทั้งแผนบริหารการเงินที่เหมาะสม

E: Earning / Cash Flow : ความเข้าใจด้านกำไรและกระแสเงินสด คือ ผู้ประกอบการจำเป็นจะต้องเตรียมรับมือกับสถานการณ์ทางการเงินของธุรกิจในทุกด้านให้มีความพร้อม ซึ่งกระแสเงินสดถือเป็นปัจจัยหลัก เพราะหากมีกระแสเงินสดเพียงพอ ผู้ประกอบการสามารถใช้กลยุทธ์เพื่อสร้างกำไรให้กับสินค้าและบริการ แต่หากไม่เพียงพอ อาจจำเป็นต้องจัดโปรโมชั่นเพื่อให้มีเงินสดเข้าสู่บัญชีเพิ่มขึ้น แต่มีผลกำไรที่ลดลง

R: Re-Check : การตรวจสอบแผนการเงิน เพื่อให้ทราบถึงจุดแข็ง-จุดอ่อน และทราบถึงปัจจัยเสี่ยง ของแผนการเงิน รวมทั้งการวางแผนสำรองเพื่อรองรับสถานการณ์ต่าง ๆ อันแสดงถึงความรอบครอบและความพร้อมของผู้ประกอบการ

“นอกจากความรู้ด้านการเงินผู้ประกอบการจำเป็นจะต้องหาแนวทางเพื่อเพิ่มรายได้ของธุรกิจลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น และปรับแผนการดำเนินงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงการคาดการณ์อนาคตให้รอบคอบ เพื่อที่จะช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจได้อีกทางหนึ่ง” นายณัฐพล กล่าวทิ้งท้าย

ผู้ประกอบการที่ต้องการพัฒนาทักษะด้านการเงินสามารถลงทะเบียนหลักสูตร “SMEsรอบรู้เรื่องบัญชี วางแผนดี ขอสินเชื่อกี่ทีไม่มีพลาด” ผ่านเว็บไซต์ https://www.dip-sme-academy.com/ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และข่าวดีสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่อยู่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียงสามารถสมัครเข้าอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตรเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการด้านการเงิน (วันที่ 29-30 เมษายน พ.ศ.2564) โดยเนื้อหาในหลักสูตรจะสอนตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมตัวก่อนการขอสินเชื่อธุรกิจ ตลอดจนการเขียนแผนธุรกิจเพื่อใช้ประกอบการขอสินเชื่อ เพื่อเพิ่มโอกาสในการขอสินเชื่อธุรกิจสมัครได้ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2564 ผ่านเว็บไซต์ https://i.industry.go.th/ ระบบลงทะเบียนลูกค้ากระทรวงอุตสาหกรรม เลือกลงทะเบียนกิจกรรม A664 กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการด้านการเงิน (จ.เชียงใหม่) สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มสนับสนุนการจัดตั้งธุรกิจ กองส่งเสริมผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่ โทรศัพท์ 0 2202 4564 หรือติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ www.facebook.com/dipindustry และ www.dip.go.th

โควิดทำพิษ! รัฐบาลรับจีดีพีปีนี้พลาดเป้า 4%

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เปิดเผยว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้ อาจโตไม่ถึงเป้าหมาย 4% ตามที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายเอาไว้ หลังจากได้รับผลกระทบจากการระบาดขงไวรัสโควิด-19 ในระลอกใหม่เดือนเมษายน อย่างหนัก แม้ว่าในปัจจุบันการส่งออกจะยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี แต่รัฐบาลจะต้องกลับไปดูในเรื่องการกระตุ้นการอุปโภคบริโภคในประเทศว่าจะกระตุ้นอย่างไรด้วย 

“แม้ว่าจีดีพีที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้ที่ 4% อาจไม่เป็นไปตามเป้า แต่เราจะต้องกัดฟันสู้ พยายามหาโอกาส แม้จะเป็นรูที่เล็ก แต่ต้องเดินหน้าต่อไป เพื่อทุกคนในประเทศ  ส่วนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในประเทศยังเดินหน้าต่อ และมีโครงการดี ๆ ที่ยังรออยู่ เพื่อเป็นการสร้างโอกาสให้คนรุ่นใหม่และคนไทยทุกคน โดยการเดินหน้าเศรษฐกิจของรัฐบาลต้องควบคู่กับการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งจะทำงานอย่างเต็มที่ทั้ง 2 ทาง”

รองนายกฯ ยอมรับว่า ขณะนี้ ต้องเอาเรื่องของความมั่นใจของประชาชนก่อน เพราะสิ่งสำคัญที่สุด คือต้องควบคุมการแพร่ระบาด โดยไม่ให้ประชาชนรู้สึกกังวล ซึ่งเชื่อว่าจะดีขึ้น เพราะเราปรับตัวกันพอสมควรแล้ว และยังเชื่อมั่นใจว่ากระทรวงสาธารณสุข และศบค.จะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดหลังระบาดในรอบนี้ได้ แต่ก็ขอให้ประชาชนมีความระมัดระวัง ส่วนจะกระทบกับแผนการเปิดประเทศในวันที่ 1 ก.ค.นี้ หรือไม่ คงต้องประเมินสถานการณ์รายวันต่อไป

พิษโควิดหลังสงกรานต์ ทุบหุ้นไทยเปิดลด 8.96 จุด

ดัชนีตลาดหุ้นไทยเปิดภาคเช้า วันที่ 16 เมษายน พ.ศ.2564 ดัชนีอยู่ที่ 1,532.16 จุด ลดลง 8.96 จุด มูลค่าการซื้อขาย 12,038.03 ล้านบาท โดย บล.กรุงศรี ประเมินว่า ดัชนีหุ้นไทยวันนี้อ่อนตัว 1,530 - 1,535 จุด ก่อนจะสลับรีบาวด์จากแรงกดดันยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ภายในประเทศพุ่งขึ้นสูงถึงวันละ 1,500 คน ส่งผลกระทบต่อภาพเศรษฐกิจ ขณะที่ราคาน้ำมันดิบยังดีดตัวขึ้นเหนือ 63 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลด้วย

ด้าน บล. ฟิลลิป (ประเทศไทย) มองแนวโน้มเช่นกันว่า ดัชนีคาดว่าจะแกว่งตัวลงก่อนค่อยปรับตัวขึ้นทีหลังระหว่าง 1,525 - 1,550 จุด จากปัจจัยลบภายในประเทศเป็นหลัก โดยการระบาดของไวรัสโควิดในประเทศยังคงทวีความรุนแรง ติดตามตัวเลขหลังเทศกาลสงกรานต์โดยจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันในประเทศยังคงเดินหน้าทำสถิติสูงสุดใหม่อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 เมษายน ที่ผ่านมา พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 1,543 ราย ประกอบกับช่วงเทศกาลสงกรานต์ประชาชนมีการเดินทางกลับภูมิลำเนาในต่างจังหวัด ในภาพรวมทางฝ่ายวิจัยจึงยังไม่เห็นทิศทางที่ผู้ติดเชื้อรายวันจะปรับตัวลดลงได้ในระยะเวลานสั้น และคาดว่าปัจจัยนี้จะกดดันตลาดหุ้นไทยให้ปรับตัวลงในระยะสั้นด้วย

ทั้งนี้ยังต้องจับตาความเคลื่อนไหวทางด้านเศรษฐกิจของประเทศสำคัญ โดยล่าสุดสำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 16 เมษายนว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนรายงานตัวเลขทางเศรษฐกิจของประเทศในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 ขยายตัว 18.3% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว แม้น้อยกว่าที่มีการประเมินไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเติบโต 19% แต่สถิติล่าสุดที่ออกมา ถือเป็นการขยายตัวรายไตรมาสของจีดีพีจีน ในระดับมากที่สุดตั้งแต่ปี 2535

แห่แก้หนี้บัตรเครดิตกว่า 2 แสนคน!! ธปท.เล็งขยายเวลาแก้หนี้ออกไปถึง 30 มิ.ย. 64 หลังประชาชนตอบรับล้นหลาม พร้อมเตรียมจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ให้ครอบคลุมสินเชื่อเช่าซื้อ คาดเริ่มพฤษภาคมนี้

นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตามที่ ธปท. สำนักงานศาลยุติธรรม และกรมบังคับคดี ได้ร่วมกันจัด “มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล” (หนี้บัตรฯ) โดยเดิมได้กำหนดช่วงเวลาของงานไว้ระหว่างวันที่ 14 กุมภาพันธ์ – 14 เมษายน 2564 ปรากฏว่าผลตอบรับโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก กล่าวคือ มีประชาชนมากกว่า 2 แสนคน ให้ความสนใจและได้ลงทะเบียนเข้าร่วมงานมหกรรมไกล่เกลี่ยครั้งนี้เกือบ 5 แสนบัญชี ทั้งนี้ เมื่อใกล้ครบช่วงเวลาที่กำหนดไว้ มีข้อเรียกร้องจากหลายภาคส่วนให้ขยายระยะเวลาที่จัดงานออกไป

ธปท. ได้หารือเรื่องดังกล่าวกับผู้ให้บริการทางการเงินและผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเห็นร่วมกันที่ให้ขยายระยะเวลาจัดงานออกไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 เพื่อให้ลูกหนี้มีโอกาสเข้ามาไกล่เกลี่ยหนี้ได้มากและกว้างขวางยิ่งขึ้น ธปท. เห็นว่าแม้เครื่องชี้เศรษฐกิจหลายตัวจะมีทิศทางดีขึ้น และเริ่มมีการฉีดวัคซีนแล้ว แต่ความเสี่ยงที่อาจจะมีการระบาดของโควิด 19 ระลอกใหม่ยังมีอยู่ ซึ่งอาจจะกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ รายได้ รวมถึงความสามารถในการชำระหนี้ของประชาชน

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2564 ถึงวันที่ 12 เมษายน 2564 ประชาชนให้ความสนใจเข้ามาลงทะเบียนจำนวน 234,906 คน หรือ 481,936 บัญชี ซึ่งปัจจุบันผู้ให้บริการอยู่ระหว่างเร่งติดต่อ รวมทั้งตรวจสอบสถานะ และทยอยแจ้งผลเข้ามาต่อเนื่อง โดยภาพรวมการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น พบว่า กลุ่มลูกหนี้ที่เข้าเงื่อนไข ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564 มีอยู่จำนวน 110,956 บัญชี (ระหว่างนี้ยอดดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นตามการพิจารณาของผู้ให้บริการที่ทยอยรายงานเข้ามา) โดยลูกหนี้และเจ้าหนี้สามารถตกลงเจรจาไกล่เกลี่ยกันได้ประมาณ 63% ส่วนกรณีที่ยังไม่สามารถหาข้อสรุป บางส่วนอยู่ระหว่างกำลังตรวจสอบเอกสาร และเป็นผลจากลูกหนี้ยื่นขอไกล่เกลี่ยเข้ามาผิดกลุ่ม เช่น สถานะยังผ่อนชำระดี แต่ยื่นขอไกล่เกลี่ยในช่องทางของกลุ่มที่มีคำพิพากษาแล้ว เป็นต้น รวมทั้งบางกรณีลูกหนี้ยังไม่พร้อมที่จะผ่อนชำระตามแผน และบางรายต้องการข้อเสนอที่แตกต่างจากข้อตกลงของงานมหกรรมในครั้งนี้ โดยในช่วงที่ต่อเวลาคาดว่าสัดส่วนที่ทั้งสองฝ่ายจะสามารถไกล่เกลี่ยกันได้จะเพิ่มสูงขึ้น

นางธัญญนิตย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ธปท. ได้รับแจ้งมาว่าประชาชนในหลายกลุ่ม ยังไม่ทราบเกี่ยวกับงานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรในครั้งนี้ จึงต้องการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับงานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรในครั้งนี้ให้ประชาชนทราบมากขึ้นในวงกว้าง เพื่อให้ประชาชนที่มีหนี้บัตรใช้โอกาสที่มีการจัดงานในครั้งนี้แก้ปัญหาหนี้ที่มีอยู่ โดยความพิเศษของงานครั้งนี้ คือ ข้อเสนอการผ่อนชำระหนี้จะมีความผ่อนปรน และอยู่ในวิสัยที่ลูกหนี้จะสามารถปฏิบัติได้ ให้เวลาผ่อนชำระยาวเพียงพอ

นอกจากนี้ งานมหกรรมครั้งนี้จะมีข้อเสนอสำหรับลูกหนี้ทุกกลุ่มสถานะ กล่าวคือ

กลุ่มแรก เป็นหนี้บัตรฯ ที่ยังไม่เป็นหนี้เสียแต่รู้สึกฝืดเคือง หรือหนี้บัตรฯ ดีที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด 19 ท่านสามารถลดภาระดอกเบี้ยได้ โดยหยุดการจ่ายขั้นต่ำ ซึ่งใช้เวลานานกว่าหนี้จะลด และขอเปลี่ยนวงเงินสินเชื่อบัตร มาเป็นสินเชื่อแบบมีกำหนดเวลา ซึ่งจะได้รับดอกเบี้ยถูกลงจาก 16% เหลือ 12% สำหรับบัตรเครดิต โดยสามารถคงวงเงินที่เหลือไว้ใช้ได้ และประวัติเครดิตบูโรจะไม่เสีย

กลุ่มที่สอง เป็นหนี้บัตรฯ ที่เป็นหนี้เสียแล้ว ยังไม่ฟ้อง หรือฟ้องแล้วแต่ยังไม่พิพากษา สามารถผ่อนชำระได้นานสูงสุดถึง 10 ปี ดอกเบี้ยต่ำเพียง 4%-7% ตามเงื่อนไขของคลินิกแก้หนี้

กลุ่มที่สาม เป็นหนี้บัตรฯ เป็นคดีมีคำพิพากษาแล้ว ไปจนถึงบังคับคดียึดทรัพย์แต่ยังไม่ขายทอดตลาด ซึ่งลูกหนี้กลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญ และถือเป็นความพิเศษของงานมหกรรมไกล่เกลี่ยในครั้งนี้ คือ ปกติเมื่อเรื่องดำเนินมาถึงขั้นตอนนี้ เจ้าหนี้มักจะไม่ยินยอมให้ผ่อนยาว แต่ผู้ให้บริการทางการเงินจำนวน 23 แห่งที่ร่วมโครงการ เห็นความจำเป็นที่ต้องผ่อนปรนเงื่อนไขให้ปฏิบัติได้จริง เพื่อช่วยให้ทุกฝ่ายเดินต่อไปได้ โดยเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ในชั้นบังคับคดีเข้ามาปรับโครงสร้างหนี้ร่วมกันได้อีกครั้งหนึ่ง โดยลูกหนี้จะผ่อนชำระเฉพาะเงินต้นนานสูงสุด 5 ปี และยกดอกเบี้ยที่ค้างให้หากลูกหนี้จ่ายชำระตามแผนได้สำเร็จ

ทั้งนี้ สำหรับประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือหรือคำแนะนำเพิ่มเติม สามารถติดต่อศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธปท. โทร 1213 วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 8.30-16.30 น. กรณีนอกเวลาทำการท่านสามารถฝากชื่อและเบอร์โทรศัพท์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรืออีเมล์มาที่ [email protected] เพื่อที่เจ้าหน้าที่ของ ธปท.จะได้ติดต่อกลับไป

นางธัญญนิตย์ กล่าวด้วยว่า ธปท. ได้รับข้อแนะนำจากหลายภาคส่วนให้จัดงานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สำหรับสินเชื่อประเภทอื่นเพิ่มเติม ปัจจุบัน ธปท. อยู่ระหว่างการพิจารณาและหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องที่จะจัดงานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สำหรับสินเชื่อเช่าซื้อเพิ่มเติม ซึ่งอาจจะเริ่มในช่วงเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ โดยเมื่อรายละเอียดต่าง ๆ มีความชัดเจนแล้วจะได้ชี้แจงให้ทราบต่อไป

สมาคมธนาคารไทย แจ้งปรับเปลี่ยนเวลาทำการหนีโควิด สาขาในห้าง ปิด 17:00 น. ส่วนสาขาภายนอกปิด ไม่เกินเวลา 15:30 น. พร้อมจำกัดช่องให้บริการ และจำกัดจำนวนลูกค้าในสาขา เว้นระยะห่างที่เหมาะสม

สมาคมธนาคารไทย แจ้งว่า ได้ร่วมกับธนาคารพาณิชย์ ปรับปิดเวลาทำการธนาคารในพื้นที่เสี่ยง พร้อมสั่งปิดเวลาทำการแบงก์ในห้าง เพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยธนาคารอาจพิจารณาปิดสาขาบางแห่งชั่วคราวสำหรับพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการแพร่ระบาดตามประกาศของจังหวัดหรือรัฐบาล ซึ่งลูกค้ายังคงสามารถใช้บริการที่ตู้ ATM หรือทำธุรกรรมผ่านช่องทางออนไลน์ได้ตามปกติ โดยขอให้ตรวจสอบรายชื่อสาขาที่ปิดการบริการทาง website ของแต่ละธนาคาร

ทั้งนี้ ธนาคารปรับเวลาปิดสาขาทั่วประเทศ เริ่มวันที่ 16 เมษายน 2564 นี้ คือ สาขาในห้าง/สาขาที่เปิดให้บริการ 7 วัน ปิด ไม่เกินเวลา 17:00 น. ส่วนสาขาภายนอกปิด ไม่เกินเวลา 15:30 น. พร้อมกันนี้ยังจำกัดช่องให้บริการ และจำกัดจำนวนลูกค้าในสาขา เพื่อเว้นระยะห่างที่เหมาะสม

อย่างไรก็ตามในกรณีสาขาใดมีพนักงานหรือลูกค้าติดเชื้อเข้าใช้บริการ กำหนดให้แต่ละธนาคารปิดเพื่อพ่นฆ่าเชื้อทันที และเปิดทำการเมื่อเสร็จสิ้น, พนักงานที่สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย ให้ตรวจเชื้อ/และทำการกักตัวเองในที่พักทันที (Self-Quarantine at Home) ในระยะเวลาตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข และจัดให้มีพนักงานปฏิบัติงานทดแทน ซึ่งเป็นพนักงานที่ไม่เกี่ยวข้องสัมผัสเชื้อ เข้าปฏิบัติหน้าที่แทน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top