กระจ่างชัด!! ทำไมน้ำมันไทยมีหลายประเภท แล้วแต่ละประเภทต่างกันยังไง

ในปัจจุบันน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นสิ่งที่เจ้าของรถทุกคนในประเทศไทยใช้กันเป็นประจำทุกวัน แต่ทราบหรือไม่ว่าน้ำมันแต่ละชนิดนั้นมีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง แล้วทำไมราคาถึงไม่เท่ากัน? 

ก่อนที่จะมาหาข้อแตกต่างระหว่างน้ำมันแต่ละชนิด เราต้องเข้าใจถึงความแตกต่างกันระหว่าง ‘เครื่องยนต์’ ก่อนว่ามีหลายรูปแบบ เช่น เครื่องยนต์ ‘ดีเซล’ กับ ‘เบนซิน’ แต่ละแบบก็มีอัตรากลไกการทำงานที่ต่างกัน อย่าง อัตราส่วนของการอัดอากาศ ก็คนละอย่างกัน อาทิ ดีเซล จะมีอัตราการอัดอากาศเยอะ ในขณะที่เบนซินจะมีแรงอัดอากาศที่ต่ำกว่า

โดยดีเซลไม่ใช่ชื่อตัวละครใน Fast And Furious แต่อย่างใด แต่น้ำมันดีเซลเป็นส่วนหนึ่งของน้ำมันดิบที่ได้จากโรงกลั่นน้ำมัน (เช่นเดียวกับน้ำมันเบนซิน) ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่มีการใช้งานมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะใช้กับรถกระบะ, รถบรรทุก, เรือประมง, เรือโดยสาร, เพราะสามารถสร้างแรงบิดได้สูง ตั้งแต่ในรอบต่ำ นั้นจึงเหมาะกับการฉุดลากหรือขนส่งสิ่งของนั้นเอง 

ส่วนน้ำมันไบโอดีเซล คือ น้ำมันที่สกัดจากพืชผลทางการเกษตร เช่น ปาล์ม (ส่วนหลัก), ข้าวโพด, รำข้าว, สบู่ดำ, มะพร้าว, ทานตะวัน, ถั่วเหลือง, เมล็ดเรพ และน้ำมันพืช น้ำมันสัตว์ที่ผ่านการใช้งานแล้ว นำมาทำปฏิกิริยาทางเคมีจนเกิดเป็น สารเอสเตอร์ ที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับน้ำมันดีเซล เรียกว่า ‘ไบโอดีเซล’ หรือ ‘B100’

ทีนี้ เรามาดูกันต่อ สำหรับความแตกต่างระหว่างน้ำมันเบนซินกับแก๊สโซฮอล์ว่ามันต่างกันอย่างไร?

น้ำมันเบนซินนั้นไม่มีส่วนผสมของสารที่เอาไว้เพิ่มค่าออกเทนหรือเอทานอล ส่วนแก๊สโซฮอล์นั้นมาจากคำว่า แก๊สโซลีน + แอลกอฮอล์ หรือน้ำมันเบนซินที่มีส่วนผสมของเอทานอล โดยในประเทศไทย 

แก๊สโซฮอล์ไม่เพียงหมายถึงการผสมเอทานอลในระดับต่ำ (E 10, E 20) แต่ยังรวมถึงเปอร์เซ็นต์ที่สูงขึ้นด้วย (เช่น E 85 ซึ่งเป็นส่วนผสมของเอทานอล 85% และน้ำมันเบนซิน 15%)

ในการใช้งาน ก็เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า เบนซินให้ประสิทธิภาพที่ดีกว่า และการหล่อลื่นที่ดียิ่งขึ้น แต่ปัจจุบันน้ำมันเบนซินหาได้ยาก ในขณะที่แก๊สโซฮอล์จะเป็นที่แพร่หลายมากกว่า

อย่างไรก็ตาม แก๊สโซฮอล์ ก็ยังมีทั้งแก๊สโซฮอล์ 91 กับ 95 แล้ว 2 ตัวนี้ มันต่างกันยังไง? 

มันต่างกันที่ ค่าออกเทน (RON) โดยตัวเลขนั้น เป็นตัวบ่งชี้ถึงจำนวนกิ่งสาขาของไฮโดรคาร์บอน ยิ่งจำนวนกิ่งสาขาสูงขึ้นระดับการบีบอัดที่จำเป็นในการระเบิดเชื้อเพลิงก็จะยิ่งสูงขึ้น เมื่ออัตราส่วนกำลังอัดสูง แรงม้าต่อน้ำหนักเครื่องยนต์ก็สูงขึ้นเช่นกัน ซึ่งจะทำให้คุณได้เครื่องยนต์ที่มีประสิทธิภาพสูงนั่นเอง

วกกลับมาที่สารตั้งต้นที่สำคัญของแก๊สโซฮอล์ อย่างเอทานอลว่ามันมีประโยชน์อะไร? จำเป็นแค่ไหน? 

คร่าวๆ คือ มันช่วยทำให้ค่าออกเทนสูงขึ้น สำหรับที่มาของเจ้าสารตัวนี้ ก็คือ เป็นสารที่เกิดมาจากพืชจำพวกแป้งกับน้ำตาล เช่น อ้อย มันสำปะหลัง แป้ง และข้าวโพด และเอามาผ่านกระบวนการทางเคมีก็จะได้ เอทานอลที่บริสุทธิ์ 99% ซึ่งตัวเลขระดับนี้ จะช่วยทำให้น้ำมันมีค่าออกเทนที่สูงขึ้นอีกด้วย

ก็น่าจะพอทำให้เข้าใจความต่างของน้ำมันที่ขายๆ กันบ้างแล้ว ที่เหลือที่ต้องระวัง คือ การเติมให้ถูกกับสภาพเครื่องยนต์ของรถ และสภาพทางการเงินของเราเอง แต่ก็สามารถมั่นใจได้เลย ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันประเภทไหน ราคาเท่าไหร่ ก็มีมาตรฐาน ผ่านขั้นตอนการผลิตตามหลักสากลแน่นอนครับ

มาถึงข้อสรุปสำคัญว่าทำไมไทยเราจึงมีขายหลายแบบ นั่นเพราะความหลากหลายของประเภทน้ำมันที่มีจำหน่ายในไทยนั้น ก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ของกลุ่มลูกค้านั่นเอง เพื่อที่จะได้มีทางเลือกที่เหมาะสมต่อการใช้งานของทุกผู้คน ทั้งในเรื่องราคา และความเหมาะสมต่อการใช้งานซึ่งท้ายสุด ก็คือประโยชน์ของผู้บริโภคอย่างเราๆ