Saturday, 12 October 2024
ECONBIZ NEWS

PTTEP ผนึก 5 พันธมิตรเดินเครื่องผลิตกรีนไฮโดรเจนในโอมาน  ตั้งเป้าแหล่งพลังงานสะอาดรูปแบบใหม่ คาด!! เริ่มผลิตปี 73

(22 มิ.ย. 66) บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) หรือ ปตท.สผ. ร่วมมือกับ 5 บริษัทชั้นนำของโลก ผลักดันโครงการผลิตกรีนไฮโดรเจนขนาดใหญ่ในรัฐสุลต่านโอมาน เพื่อเป็นแหล่งพลังงานสะอาดรูปแบบใหม่ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายการเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำและการเติบโตอย่างยั่งยืนตามแผนกลยุทธ์ ตั้งเป้าเริ่มการผลิตกรีนไฮโดรเจนในปี 2573

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PTTEP เปิดเผยว่า ปตท.สผ. โดยบริษัท ฟิวเจอร์เทค เอนเนอร์ยี่ เวนเจอร์ส จำกัด (FTEV) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย พร้อมด้วย 5 บริษัทพันธมิตรชั้นนำจากประเทศเกาหลีใต้ และประเทศฝรั่งเศส ได้ชนะการประมูลแปลงสัมปทานและลงนามสัญญาพัฒนาโครงการ (Project Development Agreement) และสัญญาเช่าแปลงสัมปทาน (Sub-usufruct Agreement) กับบริษัท ไฮโดรเจน โอมาน หรือ Hydrom ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลโอมาน เพื่อเข้ารับสิทธิในการพัฒนาโครงการผลิตกรีนไฮโดรเจน ในแปลงสัมปทาน Z1-02 เป็นระยะเวลา 47 ปี

แปลงสัมปทาน Z1-02 ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 340 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ในจังหวัดดูคุม ประเทศโอมาน

การเข้าร่วมในการพัฒนาโครงการผลิตกรีนไฮโดรเจนขนาดใหญ่ครั้งนี้ นับเป็นความสำเร็จของ ปตท.สผ. ที่มุ่งขยายธุรกิจไปสู่พลังงานสะอาด โดยตั้งเป้าหมายกำลังการผลิตกรีนไฮโดรเจนประมาณ 2.2 แสนตันต่อปี

หลังจากนี้ กลุ่มผู้ร่วมทุนจะทำการศึกษาความเป็นไปได้ (Feasibility study) และการศึกษาเชิงเทคนิค (Technical study) ของโครงการดังกล่าว และจะประเมินมูลค่าการลงทุนต่อไป

โดยกลุ่มผู้ร่วมทุนประกอบด้วย FTEV, กลุ่มบริษัทจากประเทศเกาหลีใต้ ประกอบด้วยบริษัท POSCO Holdings บริษัท Samsung Engineering Co., Ltd. บริษัท Korea East-West Power Co., Ltd และบริษัท Korea Southern Power Co., Ltd และบริษัท MESCAT Middle East DMCC ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ENGIE จากประเทศฝรั่งเศส ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนชั้นนำของโลก

โครงการผลิตกรีนไฮโดรเจนในประเทศโอมานครั้งนี้ ครอบคลุมกระบวนการผลิตไฮโดรเจนแบบครบวงจร (Hydrogen Value Chain) ตั้งแต่การพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม ซึ่งเป็นพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) กำลังการผลิตรวมประมาณ 5 กิกะวัตต์ (GW), การพัฒนาโรงงานผลิตกรีนไฮโดรเจนโดยใช้พลังงานไฟฟ้าดังกล่าวในกระบวนการผลิต ซึ่งทั้ง 2 ส่วนจะตั้งอยู่ในแปลงสัมปทาน Z1-02 และการพัฒนาโรงงานที่เปลี่ยนสถานะไฮโดรเจนให้เป็นกรีนแอมโมเนียซึ่งเป็นของเหลว เพื่อสะดวกในการขนส่ง จะตั้งอยู่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่จังหวัดดูคุม โดยคาดว่าจะเริ่มการก่อสร้างในปี 2570 และเริ่มการผลิต (Commercial Operations Date) กรีนแอมโมเนียได้ในปี 2573 ในอัตราประมาณ 1.2 ล้านตันต่อปี โดยจะส่งออกกรีนแอมโมเนียไปยังประเทศเกาหลีใต้ซึ่งเป็นผู้ซื้อ ส่วนกรีนไฮโดรเจนส่วนที่เหลือ จะใช้ภายในประเทศโอมาน

“ประเทศโอมานเป็นหนึ่งในประเทศอันดับต้น ๆ ของโลก ที่มีศักยภาพด้านพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม และมีความคืบหน้าในการผลักดันให้มีการพัฒนาโครงการไฮโดรเจนอย่างเป็นรูปธรรม การที่ ปตท.สผ. และบริษัทพันธมิตรได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในผู้พัฒนาโครงการกรีนไฮโดรเจนขนาดใหญ่ครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นความสำเร็จและเป็นก้าวที่สำคัญในการขยายการลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาดในพื้นที่ที่มีศักยภาพของโลก ซึ่ง ปตท.สผ. จะนำประสบการณ์และความเข้าใจในการดำเนินธุรกิจในประเทศโอมานที่มีมากว่า 20 ปี มาช่วยเสริมให้การพัฒนาโครงการกรีนไฮโดรเจนครั้งนี้ประสบความสำเร็จ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาแหล่งพลังงานรูปแบบใหม่ต่าง ๆ ที่จะเป็นพลังงานแห่งอนาคตต่อไป รวมทั้ง ยังเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนเป้าหมายองค์กรคาร์บอนต่ำ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนด้วย” นายมนตรี กล่าว

ปัจจุบัน ปตท.สผ. มีการลงทุนในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศโอมาน ทั้งธุรกิจขั้นต้น (Upstream) และธุรกิจขั้นกลาง (Midstream) ได้แก่ โครงการโอมาน แปลง 61 ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติบนบกขนาดใหญ่ของประเทศ โครงการพีดีโอ (แปลง 6) โครงการมุคไคซนา (แปลง 53) ซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำมันดิบบนบกขนาดใหญ่ โครงการโอมาน ออนชอร์ แปลง 12 และโครงการโอมาน แอลเอ็นจี ซึ่งเป็นโรงงานผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวแห่งเดียวในโอมาน

เข้ารอบ Final Pitching  โครงการ Content Lab โปรแกรม “ดิจิทัลคอนเทนต์”

บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ประกาศรายชื่อ 7 ทีม ผ่านเข้ารอบ Final Pitching โครงการ Content Lab สร้างสรรค์คอนเทนต์ไทย ดันไกลสู่สากล ในโปรแกรม “ดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Content)” สนับสนุนรวมกว่า 150,000 บาท/ทีม และเงินรางวัลสำหรับทีมที่ชนะในรอบ Final Pitching มูลค่ารวม 150,000 บาท พร้อมเปิดโอกาสนำเสนอโครงการให้กับผู้เชี่ยวชาญ และองค์กรชั้นนำของเมืองไทย หวังต่อยอด สร้างสรรค์ และ ประชาสัมพันธ์ผลงานในระดับสากล
นายชาญ กุลภัทรนิรันดร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า...

ปตท. ได้ปรับการดำเนินงานให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน โดยมุ่งสร้างความมั่นคงทางพลังงาน ควบคู่กับการต่อยอดธุรกิจใหม่ที่นอกเหนือจากด้านพลังงาน พร้อมเป็นแรงสำคัญขับเคลื่อนอุตสาหกรรมของประเทศ โดยได้มีการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ทั้งภาครัฐและเอกชนเล็งเห็นถึงโอกาสและศักยภาพที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย

ทั้งนี้ ปตท. ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ในการเปิดคอร์สอบรมพัฒนาทักษะ สำหรับนักสร้างสรรค์คอนเทนต์ ภายใต้ “โครงการ Content Lab สร้างสรรค์คอนเทนต์ไทย ดันไกลสู่สากล” ในโปรแกรมดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Content) สำหรับนักสร้างสรรค์คอนเทนต์ นักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไป ได้มีโอกาสเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีประกอบการสร้างสรรค์ผลงาน พร้อมเรียนรู้ทักษะการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างเข้มข้นจากผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา ทั้ง Virtual Production, AR/XR, AR location base, CG, 3D Model ฯลฯ

ผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 13 ทีม ได้นำความรู้และประสบการณ์มานำเสนอ Proposal ครั้งที่ 1 ภายใต้หัวข้อ “Meaningful Travel” ส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยพร้อมสร้างประสบการณ์ใหม่  แบ่งเป็น 3 หมวด ได้แก่ หมวด Location Base & Platform หมวด Game และหมวด Film & Advertising

ทั้งนี้ มีการคัดเลือก 7 ทีม ผ่านเข้ารอบการนำเสนอสุดท้าย (Final Pitching Day) ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับการสนับสนุนการผลิตชิ้นงาน จาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อเตรียมนำเสนอผลงานสุดท้ายต่อคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ และตัวแทนจากองค์กรชั้นนำของเมืองไทยในวัน Final Product Pitching  วันที่ 26 สิงหาคมนี้ โดยจะมีคัดเลือกผลงานสุดท้ายที่จะได้รับเงินรางวัล พร้อมการประชาสัมพันธ์สู่สาธารณะ หวังต่อยอดและสร้างสรรค์ผลงานในระดับสากล ซึ่งถือเป็นซอฟท์พาวเวอร์ (Soft Power) ที่สำคัญ ให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่มีคุณค่าควบคู่กับการสร้างมาตรฐานความยั่งยืน

ทีมที่ผ่านการเข้ารอบ ได้แก่
• หมวด Location Base & Platform  
1. ทีมที่ 6 Travel Platform & Virtual Influencer 
2. ทีมที่ 11 Thailand Culture Guide (สายมู) 
3. ทีมที่ 14 Foodscape

• หมวด Game 
1. ทีมที่ 8 Muay Thai VR Game 
2. ทีมที่ 10 Survive the Streets

• หมวด Film & Advertising 
1. ทีมที่ 1 Thatien 
2. ทีมที่ 3 One free day

ผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook : Content Lab และ Creative Economy Agency

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 12-16 มิ.ย. 66 จับตาปัจจัย ‘บวก-ลบ’ พร้อมแนวโน้ม 19-23 มิ.ย. 66

ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์ล่าสุดผันผวน เฉลี่ยโดยรวมลดลงกว่า 1-2 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในช่วงต้นสัปดาห์นักลงทุนเทขายจากความวิตกต่ออุปสงค์พลังงานโลกที่อาจชะลอการฟื้นตัว หากธนาคารกลางรายใหญ่ยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อาจทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย อย่างไรก็ตาม ตลาดปรับตัวสูงขึ้นหลังจีนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ กลางสัปดาห์ราคาน้ำมันดิบลดลง หลังจากสหรัฐฯ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้น แต่ในช่วงปลายสัปดาห์ราคาน้ำมันดิบปิดตลาดสูงสุดในรอบ 7 วัน หลังโรงกลั่นน้ำมันในจีน ซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก นำน้ำมันดิบเข้ากลั่นเพิ่มขึ้น

รมว.กระทรวงพลังงานรัสเซีย นาย Nikolai Shulginov กล่าวในงานสัมมนา St. Petersburg International Economic Forum ว่ารัสเซียจะผลิตน้ำมันดิบและคอนเดนเสท ในปี 2566 ลดลงจากปีก่อน 400,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 10.35 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้รัสเซียประกาศลดการผลิต 500,000 บาร์เรลต่อวัน ในช่วง มี.ค. 66 - ธ.ค. 67 เพื่อตอบโต้ชาติตะวันตก ซึ่งออกมาตรการกำหนดเพดานราคา (Price Cap) น้ำมันรัสเซียที่ขนส่งทางทะเล และราคา Brent จะกลับมาแตะระดับ 80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล (ราคา Brent ต่ำกว่าระดับ 80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 66 เป็นต้นมา)

คาดการณ์ราคา ICE Brent สัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวในกรอบ 70 - 80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จับตาความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ - จีน ซึ่งมีแนวโน้มผ่อนคลายลง หลัง รมว. กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ นาย Anthony Blinken เยือนจีน ที่กรุงปักกิ่ง เมื่อ 18 มิ.ย. 66 และพบปะหารือกับ รมว. กระทรวงการต่างประเทศของจีน นาย Qing Gang ทั้งนี้นาย Blinken เป็นเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงสุดของสหรัฐฯ คนแรก ที่เยือนจีนอย่างเป็นทางการในรอบ 5 ปี

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
• 14 มิ.ย. 66 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (Federal Open Market Committee: FOMC) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 5.00-5.25% ตามตลาดคาดการณ์ อย่างไรก็ตามประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve: Fed) ส่งสัญญาณอาจปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีก 2 ครั้งสู่ระดับ 5.50-5.75% ภายในสิ้นปีนี้

• 15 มิ.ย. 66 ธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank: ECB) ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ทำให้ดอกเบี้ยเงินฝากสำรองของธนาคารพาณิชย์ (Deposit Facility Rate), ดอกเบี้ยสำหรับสร้างสภาพคล่องให้ระบบธนาคารฯ (Main Refinancing Operations Rate) และดอกเบี้ยที่ให้ธนาคารฯ กู้ยืม (Marginal Lending Facility Rate) อยู่ที่ 3.50%, 4.0% และ 4.25% ตามลำดับ สูงสุดในรอบ 22 ปี ตั้งแต่วันที่ 21 มิ.ย. 66 เป็นต้นไป

• EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 9 มิ.ย. 66 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 7.9 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 467.1 ล้านบาร์เรล

• Kpler รายงานอิหร่านผลิตน้ำมันดิบในเดือน พ.ค. 66 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 15.4% อยู่ที่ 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดตั้งแต่ปี 2561และส่งออกน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 43% จากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดตั้งแต่ปี 2561

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
• สำนักสถิติแห่งชาติของจีน (National Bureau of Statistics: NBS) รายงานโรงกลั่นนำน้ำมันดิบเข้ากลั่น (Refinery Throughput) ในเดือน พ.ค. 66 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 15.4% อยู่ที่ 14.66 ล้านบาร์เรลต่อวัน

• 13 มิ.ย. 66 ธนาคารแห่งชาติของจีน (People’s Bank of China: PBOC) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะสั้นระยะเวลา 7 วัน แบบมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (7-Day Reverse Repurchase Agreement) ลง 0.1% มาอยู่ที่ 1.9% ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และแก้ปัญหาสภาวะเงินฝืด

• Organization for Economic Cooperation and Development (OECD) ปรับเพิ่มประมาณการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจโลก (GDP) ในปี 2566 อยู่ที่ +2.7% จากปีก่อน (เพิ่มจากประมาณการณ์ครั้งก่อน ในเดือน มี.ค. 66 ที่ +2.6%) โดยปรับเพิ่ม GDP จีน อยู่ที่ +5.6% (เพิ่มจากประมาณการณ์ครั้งก่อน ที่ +4.3%)

• IEA คาดการณ์อุปสงค์น้ำมันโลกในปี 2566 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.45 ล้านบาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 102.25 ล้านบาร์เรลต่อวัน (เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์ครั้งก่อน 240,000 บาร์เรลต่อวัน)

กรมโรงงานฯจับมือ UNIDO จัดการแข่งขันแบบจำลองธุรกิจ ชิงเงินรางวัล 500,000 บาท เพื่อมุ่งสร้างมูลค่าจากวัสดุเหลือใช้

กรมโรงงานอุตสาหกรรม ร่วมกับ องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) ได้รับการสนับสนุนโดย กองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (GEF) กรมควบคุมมลพิษ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดการแข่งขันแบบจำลองธุรกิจ “พลอยได้..พาสุข” รอบชิงชนะเลิศ กิจกรรมภายใต้ “โครงการเสริมสร้างขีดความสามารถ

เพื่อสนับสนุนการแข่งขันแบบจำลองธุรกิจและการนำไปดำเนินการ” (Capacity Building to Support the Business Model Competition and Implementation) ตามหลักแนวคิดการพึ่งพาอาศัยระหว่างภาคอุตสาหกรรมและชุมชน มุ่งสร้างมูลค่าวัสดุเหลือใช้จากภาคอุตสาหกรรม ผลักดันการสร้างงานสร้างอาชีพให้ชุมชนรอบโรงงานได้อย่างยั่งยืน โดยทีมที่ชนะเลิศการแข่งขันได้แก่ ทีมวิสาหกิจชุมชนอ้วนกลมแฮปปี้ฟาร์ม จากจังหวัดอุดรธานี

พร้อมนำเสนอโมเดลธุรกิจ “สีดีสร้างสุข สีจากธรรมชาติ” ชิงเงินรางวัล 500,000 บาท โดยมี นายวีรพงษ์ เอี่ยมเจริญชัย รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้รับมอบหมายโดย นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานการแข่งขันดังกล่าว ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ
  
นายณัฏฐพงษ์ จุลาเกตุโพธิชัย ผู้อำนวยการกองพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า “การแข่งขันแบบจำลองธุรกิจ ‘พลอยได้..พาสุข’ มีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรายย่อย วิสาหกิจชุมชน หรือ กลุ่มบุคคล ที่มีศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์ในการนำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว (Waste) หรือ วัสดุพลอยได้ (By-product) จากภาคอุตสาหกรรม มาต่อยอดทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มตามหลักแนวคิด ‘การพึ่งพาอาศัยกันระหว่างภาคอุตสาหกรรมและชุมชน’ (Industry-urban Symbiosis) อันจะนำไปสู่การลดอัตราการเกิดของเสียและการลดอัตราการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในพื้นที่เป้าหมายได้ ซึ่งสอดคล้องกับ นโยบายการพัฒนาประเทศแบบ BCG Model ที่มีการนำของเสียกลับมาใช้ประโยชน์และเพิ่มวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ตามหลัก Circular Economy และ Green Economy

อีกทั้งยังสอดคล้องกับนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรม MIND ในการส่งเสริมและเสริมสร้างขีดความสามารถของผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน และประชาชน การนำสินค้า/บริการ/หรือสิ่งประดิษฐ์ที่คิดค้นจากของเหลือภาคอุตสาหกรรมมาร่วมแข่งขันแบบจำลอง ธุรกิจ เพื่อการดำเนินธุรกิจที่เป็นรูปธรรม สร้างมูลค่า และเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนโดยรอบพื้นที่อุตสาหกรรมได้อีกทาง เกิดเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับเมือง” 

กิจกรรมในครั้งนี้เป็นการแข่งขันรอบสุดท้าย รอบชิงชนะเลิศ มีผู้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายจำนวน 5 ทีม ได้แก่ ทีมวิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมจักสานบ้านท่าตะคร้อ, ทีมวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์เกษตรกรบ้านอ้ออีเขียว, ทีมวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรท่าโรงช้าง, ทีมวิสาหกิจชุมชนพรมเช็ดเท้าหนองนาก และทีมวิสาหกิจชุมชนอ้วนกลมแฮปปี้ฟาร์ม

โดยมีเวลาให้ทั้ง 5 ทีมนำเสนอแผนธุรกิจ 30 นาที สำหรับทีมชนะเลิศจะได้รับเงินทุนต่อยอดธุรกิจมูลค่า 500,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศ 4 รางวัล ทีมละ 50,000 บาท โดยหลังจากนี้ 6 เดือน มีการติดตามความสำเร็จการนำแผนและโมเดลธุรกิจไปปฏิบัติ และนำมาจัดทำเป็นกรณีความสำเร็จ (Success Cases) ต่อไป  

โดยทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ทีมวิสาหกิจชุมชนอ้วนกลมแฮปปี้ฟาร์ม จากจังหวัดอุดรธานี พร้อมนำเสนอโมเดลธุรกิจ “สีดีสร้างสุข สีจากธรรมชาติ” มีการทำผลิตภัณฑ์หลากหลาย พัฒนาโทนสีให้เหมาะกับยุคสมัย มีการจัดผลิตภัณฑ์เป็นชุด จำหน่ายแบบ DIY มีบรรจุภัณฑ์หลายขนาด ปัจจุบันมีให้เลือก 108 สี

โดยจัดจำหน่ายตามฤดุการ ครั้งละ 24-36 สี ผลิตภัณฑ์: สีธรรมชาติจากของเหลือภาคเกษตรและพลอยได้จากโรงงานอุตสาหกรรม (สีผง สีย้อม/เพนท์ผ้า สีสกรีน) วัสดุหลัก: กากน้ำตาล,  กากอ้อย – นำ waste ไปหมัก แช่ ต้ม บ่ม กรอง เพื่อเป็นสารช่วยย้อม วัสดุประกอบอื่น: ดินแร่ ยางพารา คราม

“ทั้งนี้ กรมโรงงานฯ คาดการณ์ว่าในการจัดกิจกรรมในอนาคต จะเกิดการจ้างงานในพื้นที่เพิ่มขึ้นถึง 30% ต่อปีและได้รับความสนใจจากกลุ่มนักศึกษา ผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน และประชาชน เกิดนวัตกรรมจากวัสดุเหลือจากภาคอุตสาหกรรม มาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ และกระตุ้นให้เกิดกระแสการแข่งขันทางธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอย่างสมดุลและยั่งยืน” นายณัฏฐพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย

 

DELTA ร่วง 15% หลัง ตลท. จับติด Cash Balance โบรกฯ ชี้!! เสี่ยงหลุด SET50 ของรอบครึ่งแรกปี 67

(20 มิ.ย.66) ราคาหุ้น บริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA ล่าสุด ณ เวลา 10:12 น. อยู่ที่ระดับ 100.00 บาท ลบไป 17.50 บาท หรือ 14.89% สูงสุดที่ระดับ 103.00 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 99.00 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 805.66 ล้านบาท

สำหรับราคาหุ้น DELTA ปรับตัวลงเกิดจากแรงเทขายทำกำไร หลังจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ประกาศให้หลักทรัพย์ บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA เป็นหลักทรัพย์ที่เข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขายระดับ 1 : ห้ามคำนวณวงเงินซื้อขาย และ Cash Balance เริ่มตั้งแต่วันที่ 20 มิ.ย. 2566 สิ้นสุดวันที่ 10 ก.ค. 66

ขณะที่ บล.กรุงศรี พัฒนสิน ระบุว่า วานนี้ตลาดประกาศให้ติด Cash Balance มีผล 20 มิ.ย. - 10 ก.ค. 66 ทำให้ DELTA เสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะหลุด SET50 สำหรับงวดครึ่งแรกของปี 67  เพราะถ้าตั้งแต่เกิดกรณี ในเดือน ส.ค. -พ.ย. 66 ไปติด Cash Balance อีก 1 ครั้ง จะทำให้หลุด SET50 รอบที่จะมีผล 1 ม.ค. 67 ทันที

 

ดีขึ้นทุกด้าน!! ‘IMD’ เผย อันดับขีดสามารถในการแข่งขันไทย ปี 66 ดีขึ้น ไต่จากอันดับที่ 64 มาอยู่ที่ 30 ของโลก ที่ 3 ของอาเซียน

ภาพรวมผลการจัดอันดับระดับโลก ในปี 2566 IMD World Competitiveness Center ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้ทำการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของ 64 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก (ประเทศรัสเซียและยูเครน ไม่ได้ร่วมการจัดอันดับในปี 2566 นี้ อย่างไรก็ตาม ประเทศคูเวต ได้เข้าร่วมการจัดอันดับในปีนี้เป็นปีแรก) โดยใช้ข้อมูลจากการสำรวจความเห็นของผู้บริหาร ณ ไตรมาสแรก ปี 2566 และข้อมูลเชิงประจักษ์ (Hard data) ปี 2565 ซึ่งยังคงจัดอันดับโดยประเมินเขตเศรษฐกิจต่างๆ ใน 4 ด้าน ได้แก่

1) สมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance)
2) ประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency)
3) ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency)
4) โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure)

ภาพรวมของผลการจัดอันดับในปี 2566 นี้ พบความแตกต่างของการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันระหว่างเขตเศรษฐกิจที่ใช้นโยบายการค้าเสรี (Open-trade economies) และเขตเศรษฐกิจที่ใช้นโยบายปกป้องทางการค้า (Protectionist economies) อย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ ด้านการเมือง (Politics) ด้านเศรษฐกิจ (Economics) และด้านสังคม (Social) ซึ่งผู้บริหารองค์กรที่จะสามารถนำพาธุรกิจให้ก้าวข้ามผ่านความท้าทายของโลกปัจจุบันได้ จำเป็นที่จะต้องเข้าใจความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างเงินเฟ้อ (Inflation) ความเสี่ยงจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical risks) และโลกที่มีความแบ่งแยกแตกต่างกัน (Fragmented world) มากขึ้น นอกจากนี้ ผลการศึกษาของปี 2566 ยังแสดงให้เห็นว่าเขตเศรษฐกิจอย่างไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เริ่มเห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นของขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในปีนี้ จากการกลับมาเปิดประเทศ หลังดำเนินนโยบายปิดประเทศเพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด 19 มาอย่างยาวนาน

ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ประจำปี 2566 เดนมาร์กยังคงได้รับการจัดอันดับเป็นเขตเศรษฐกิจที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงที่สุด จาก 64 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันจากความแข็งแกร่งในปัจจัยประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) และโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) รวมถึงการปรับอันดับดีขึ้นเล็กน้อยของปัจจัยประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) ไอร์แลนด์ อันดับ 2 ในปีนี้ ขยับขึ้นมา 5 อันดับจากปีที่แล้ว จากความสำเร็จในการพัฒนาศักยภาพด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) ที่สามารถสร้างเศรษฐกิจที่มีความสามารถในการปรับตัว (Resilient economies) สูง อันดับ 3 สวิตเซอร์แลนด์ จากจุดแข็งด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) และโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) รวมถึงสมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) ที่ปรับอันดับดีขึ้นค่อนข้างมากมาอยู่ที่อันดับ 18 จากอันดับ 30 ในปีก่อน
.
นอกจากนั้น เป็นที่น่าสนใจว่า เขตเศรษฐกิจที่ได้รับการจัดอยู่ในกลุ่มที่มีอันดับสูงสุด 10 อันดับแรกในปี 2566 ส่วนใหญ่ยังคงเป็นเขตเศรษฐกิจขนาดเล็ก (Smaller Economies) ที่มีกรอบการบริหารภาครัฐ (Institutional frameworks) ที่ดี รวมถึงมีระบบการศึกษาที่แข็งแกร่ง (Strong education systems) และมีความสามารถในการเข้าถึงตลาด (Access to markets) และพันธมิตรทางการค้า (Trading partners) ได้ดี เช่น เดนมาร์ก สวิตเซอร์แลนด์ และสิงคโปร์ ทั้งนี้ เขตเศรษฐกิจอื่นๆ ที่ได้รับการจัดอันดับในอันดับ 4-10 ตามลำดับ ในปี 2566 ได้แก่ อันดับ 4 สิงคโปร์ ซึ่งหล่นจากอันดับ 3 ในปีที่แล้ว อันดับ 5 เนเธอร์แลนด์ ดีขึ้น 1 อันดับจากปี 2566 อันดับ 6 ไต้หวัน ขยับขึ้น 1 อันดับจากปี 2566 อันดับ 7 ฮ่องกง ปรับอันดับลง 2 อันดับจากปีก่อน อันดับ 8 สวีเดน ร่วงลง 4 อันดับจากปีที่แล้ว อันดับ 9 สหรัฐอเมริกา ดีขึ้น 1 อันดับจากปี 2566 และอันดับ 10 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
.
ยิ่งไปกว่านั้น ผลการศึกษายังพบว่า ประเทศที่มีแหล่งผลิตพลังงานที่มั่นคง (Stable indigenous energy production) ห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่ง (Robust supply chains) และดุลการค้าที่ดี (Favorable trade balances) เป็นของตนเอง เช่น จีน ซาอุดีอาระเบีย สวิตเซอร์แลนด์ และไต้หวัน จะสามารถรักษาหรือพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไว้ได้ จากผลกระทบด้านความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
.
ผลการจัดอันดับของไทย


ปี 2566 ในภาพรวม ไทยมีอันดับความสามารถในการแข่งขันอยู่ที่อันดับ 30 จาก 64 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก ปรับดีขึ้น 3 อันดับจากอันดับที่ 33 ในปีที่แล้ว โดยมีผลคะแนนสุทธิดีขึ้นจาก 68.67 มาอยู่ที่ 74.54 ในปีนี้

เมื่อพิจารณาปัจจัย 4 ด้านที่ใช้ในการจัดอันดับ ไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันดีขึ้นจากปีที่แล้วในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น สมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) ประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) และโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) โดยด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) มีอันดับดีขึ้นมากที่สุดถึง 18 อันดับ ตามมาด้วย ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) และด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) ที่ต่างขยับอันดับดีขึ้น 7 อันดับ และด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ขยับดีขึ้น 1 อันดับ โดยมีประเด็นสำคัญในแต่ละด้าน ดังนี้

- ด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance): ภาพรวมอันดับดีขึ้นจากปี 2565 ถึง 18 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 16 ในปี 2566 สาเหตุหลักจากปัจจัยย่อยการลงทุนระหว่างประเทศ (International Investment) ที่ไทยอันดับดีขึ้นจากปีก่อนถึง 11 อันดับ จากอันดับ 33 ในปี 2565 มาอยู่ที่อันดับ 22 ในปีนี้ จากการที่ในปี 2565 นักลงทุนต่างชาติ มีการลงทุนในไทยรวม มูลค่ากว่า 128,774 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ถึง 46,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 56 โดยมีการลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นสูงสุดถึง 39,515 ล้านบาท ตามด้วยสิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา และการค้าระหว่างประเทศ (International Trade) ที่ไทยอันดับดีขึ้นถึง 8 อันดับ จากปีก่อนมาอยู่ที่อันดับ 29 เนื่องจากตัวชี้วัด 1.2.12 Exports of commercial services ($bn) และ 1.2.13 Exports of commercial services (%) ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับมูลค่าการส่งออกบริการเชิงพาณิชย์ ที่เป็นการขนส่ง เดินทาง รวมถึงบริการและรายได้ที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ มีการเปลี่ยนแปลงดีขึ้น จากการที่ไทยกลับมาเปิดประเทศ หลังวิกฤตโควิด 19 ต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลให้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวฟื้นตัว

- ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency): ภาพรวมอันดับดีขึ้นจากปี 2565 ถึง 7 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 24 ในปี 2566 สาเหตุหลักจากปัจจัยย่อยกรอบการบริหารภาครัฐ (Institutional Framework) และกฎหมายธุรกิจ (Business Legislation) ที่ทั้ง 2 ปัจจัยย่อยนี้ ไทยอันดับดีขึ้นจากปีก่อนถึง 7 อันดับ จากอันดับ 41 และ 38 ในปี 2565 มาอยู่ที่อันดับ 34 และ 31 ตามลำดับในปีนี้ โดยในปีนี้ ตัวชี้วัดที่เป็นจุดแข็งภายใต้ปัจจัยย่อยกรอบการบริหารภาครัฐ (Institutional Framework) ได้แก่ ตัวชี้วัด 2.3.02 Cost of capital อันดับ 11 และตัวชี้วัด 2.3.05 Central bank policy อันดับ 11 และภายใต้ปัจจัยย่อยกฎหมายธุรกิจ (Business Legislation) ได้แก่ ตัวชี้วัด 2.4.16 Labor regulations อันดับ 6 ตัวชี้วัด 2.4.17 Unemployment legislation อันดับ 12 และตัวชี้วัด 2.4.06 Investment incentives อันดับ 14

- ด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency): ภาพรวมอันดับดีขึ้นจากปี 2565 ถึง 7 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 23 ในปี 2566 สาเหตุหลักจากปัจจัยย่อยผลิตภาพและประสิทธิภาพ
(Productivity & Efficiency) ที่ไทยอันดับดีขึ้นจากปีก่อนถึง 9 อันดับ จากอันดับ 47 ในปี
2565 มาอยู่ที่อันดับ 38 ตามลำดับในปีนี้ โดยตัวชี้วัดที่เป็นจุดแข็งภายใต้ปัจจัยย่อยผลิตภาพและประสิทธิภาพ (Productivity & Efficiency) ได้แก่ ตัวชี้วัด 3.1.08 Large corporations อันดับ 11

- ด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure): ภาพรวมอันดับดีขึ้น 1 อันดับ จากปี 2565 มาอยู่ที่อันดับ 43 ในปี 2566 สาเหตุหลักจากปัจจัยย่อยโครงสร้างด้านเทคโนโลยี (Technological
Infrastructure) ที่ไทยอันดับดีขึ้นจากปีก่อนถึง 9 อันดับ จากอันดับ 34 ในปี 2565 มาอยู่ที่
อันดับ 25 ตามลำดับในปีนี้ โดยตัวชี้วัดที่เป็นจุดแข็งภายใต้ปัจจัยย่อยโครงสร้างด้านเทคโนโลยี
(Technological Infrastructure) ได้แก่ ตัวชี้วัด 4.2.08 Internet bandwidth speed และตัว
ขี้วัด Investment in Telecommunications ที่ต่างอยู่ในอันดับ 5 ตัวชี้วัด 4.2.15 High-tech
exports (%) อันดับ 11 ตัวชี้วัด 4.2.03 Mobile telephone costs อันดับ 15 ตัวชี้วัด 4.2.04
Communications technology อันดับ 15 และตัวชี้วัด 4.2.11 Public-private partnerships
อันดับ 18

มีรายละเอียดของผลการจัดอันดับในแต่ละปัจจัย ดังนี้

สมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance)


ในปี 2566 ปัจจัยด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจของไทย มีพัฒนาการของการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยอย่างมากจากปีก่อนถึง 18 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 16 จากอันดับที่ดีขึ้นของทุกปัจจัยย่อย ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจภายในประเทศ (Domestic Economy) ที่อันดับดีขึ้น 7 อันดับจากปีก่อน มาอยู่ที่อันดับ 44 ในปีนี้ การค้าระหว่างประเทศ (International Trade) ที่อันดับดีขึ้น 8 อันดับจากปีก่อนมาอยู่ที่อันดับ 29 การลงทุนระหว่างประเทศ (International Investment) ที่อันดับดีขึ้นจากปีก่อนถึง 11 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 22 การจ้างงาน (Employment) ที่อันดับดีขึ้น 1 อันดับจากปีก่อน มาอยู่ที่อันดับ 3 และระดับราคาและค่าครองชีพ (Prices) ที่อันดับดีขึ้นจากปีก่อน 4 อันดับมาอยู่ที่อันดับ 27

เปิด 3 เหตุผลดัน ‘อีสาน’ ศูนย์กลาง BCG อาเซียน ทรัพยากรสมบูรณ์-พร้อมต่อยอดการวิจัย-เชื่อมโยงเพื่อนบ้าน

(19 มิ.ย. 66) นโยบายการพัฒนาเชิงพื้นที่ถือว่ามีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในภาพรวม โดยการขับเคลื่อน ‘ระเบียงเศรษฐกิจ 4 ภาค’ จะเป็นหนึ่งในกลไกที่จะช่วยกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค ลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน และสร้างความมั่นคงในพื้นที่ชายแดน รวมทั้ง เพิ่มความสามารถในการแข่งขันและการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน

ทั้งนี้ การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) หรือ Northeastern Economic Corridor (NeEC) กำหนดพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา อุดรธานี หนองคาย และขอนแก่น ถือเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพและโอกาสที่จะพัฒนาเป็นฐานอุตสาหกรรมชีวภาพ (Bioeconomy) แห่งใหม่ของประเทศและเป็นผู้นำในระดับอาเซียน ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ตลอดห่วงโซ่การผลิต

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) และมาตรการส่งเสริมการลงทุนชุดใหม่ที่สนับสนุนผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เน้นการลงทุนในอุตสาหกรรม BCG ทำให้มียอดการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือช่วงไตรมาสแรก (ม.ค.- มี.ค.) ของปี 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 24 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนกว่า 3,800 ล้านบาท โดยการลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหาร

โดยมี 3 เหตุผลที่ภาคอีสานเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ ได้แก่

1.) ทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ ภาคอีสานมีพื้นที่มากที่สุด คิดเป็น 1 ใน 3 ของประเทศ หรือกว่า 160,000 ตารางกิโลเมตร และมีขนาดประชากรคิดเป็น 1 ใน 3 ของประเทศ กว่า 22 ล้านคน ทั้งยังเป็นพื้นที่เพาะปลูกสูงถึง 43% ของประเทศ โดยมีการปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ มันสำปะหลัง อ้อย ข้าว และยางพารา ซึ่งวัสดุเหลือใช้จากพืชเหล่านี้ จะกลายเป็นวัตถุดิบล้ำค่าในการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ

2.) มีความพร้อมพัฒนาต่อยอดงานวิจัย ภาคอีสานเป็นถิ่นกำเนิดของศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงเป็นที่ตั้งของสถาบันการศึกษาที่มีขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และหน่วยงานวิจัยจำนวนมาก 

3.) ตั้งอยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ ภาคอีสานอยู่ในจุดที่มีความเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน สามารถเป็นประตูเศรษฐกิจสู่ภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงที่มีศักยภาพการเติบโตสูงได้อย่างดี 

จุดแข็งและสินทรัพย์เหล่านี้ ทำให้ภาคอีสานจะเป็นหนึ่งในพื้นที่สำคัญในการดึงดูดการลงทุน และมีบทบาทช่วยขับเคลื่อนประเทศไปสู่เศรษฐกิจใหม่ โดยเฉพาะการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูปอุตสาหกรรมชีวภาพ 

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการสนับสนุนของภาครัฐ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับอุตสาหกรรมในอนาคต รวมถึงบทบาทของภาคเอกชนในการร่วมขับเคลื่อนการลงทุน 

“ด้วยศักยภาพอันโดดเด่นของพื้นที่ NeEC ผนวกกับสิทธิประโยชน์บีโอไอที่มุ่งเน้นส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย และกระตุ้นให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม” 

โดยบีโอไอมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในรูปแบบคลัสเตอร์ ซึ่งจะมีการเชื่อมโยงตั้งแต่วัตถุดิบต้นน้ำโดยเฉพาะวัตถุดิบการเกษตรท้องถิ่น ไปสู่ผลิตภัณฑ์ปลายน้ำมูลค่าสูง จะส่งผลให้ NeEC สามารถสร้างฐานการลงทุนอุตสาหกรรมชีวภาพแบบครบวงจร หรือไบโอคอมเพล็กซ์ และก้าวไปสู่การเป็นเมืองหลวง BCG (Bio-Circular-Green Industry) ของภูมิภาคอาเซียนได้ในที่สุด

‘Mastercard’ จัดอันดับ ‘ไทย’ ติด 1 ใน 10  ปลายทางยอดฮิตในเอเชียแปซิฟิก ปี 66

(19 มิ.ย. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบรายงานของสถาบันวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์มาสเตอร์การ์ด (Mastercard Economics Institute) ถึงแนวโน้มการท่องเที่ยวทั่วโลกประจำปี 2566 จากรายงาน Travel Industry Trends 2023 พร้อมยินดีที่ไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ของจุดหมายปลายทางยอดนิยม ของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สถาบันวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์มาสเตอร์การ์ด (Mastercard Economics Institute) ระบุในปี 2566 ประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ของจุดหมายปลายทางยอดนิยม Travel Industry Trends 2023 Mastercard Data & Services เพราะเสน่ห์ที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร โดยจัดอันดับจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตั้งแต่ปลายปี 2565 นักท่องเที่ยวต้องการเดินทางมาสัมผัสประสบการณ์ด้านวัฒนธรรม และสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ ๆ ขณะเดียวกันก็มีนักท่องเที่ยวที่ต้องการกลับมาสัมผัสกับเสน่ห์ของประเทศไทยที่คุ้นเคยเป็นจำนวนมาก ไทยจึงเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการใช้จ่ายด้านประสบการณ์การท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นถึง 40.5% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2562 ในขณะที่การใช้จ่ายเพื่อซื้อสิ่งของเพิ่มขึ้น 24%

นายอนุชา กล่าวว่า รายงานของมาสเตอร์การ์ดระบุข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้แก่ 

1.) การท่องเที่ยวพักผ่อนและการเดินทางเชิงธุรกิจมีอัตราการเติบโตใกล้เคียงกัน ซึ่งในช่วงเดือนมีนาคมมีอัตราการจองเที่ยวบินเพิ่มสูงขึ้น 31% เมื่อเทียบกับปี 2562 และยังพบว่าช่วงต้นปี 2566 อัตราการจองเที่ยวบินขององค์กรมีการเติบโตเทียบเท่ากับการจองเที่ยวบินเพื่อการพักผ่อนส่วนบุคคล

2.) การเปิดประเทศของจีนมีผลดีต่อการท่องเที่ยว เศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิกจะได้ประโยชน์อย่างชัดเจนจากการเปิดประเทศของจีน เพราะเป็นประเทศที่มีความเชื่อมโยงอย่างมากกับการค้า การท่องเที่ยว และการเชื่อมต่อทางภูมิศาสตร์กับประเทศอื่น ๆ ของโลก

3.) นักท่องเที่ยวออกท่องโลกไปยังสถานที่ใหม่ ๆ ซึ่งเสน่ห์ที่โดดเด่นและประสบการณ์การท่องเที่ยวที่ไม่เหมือนใคร ทำให้ไทยติดอันดับหนึ่งในสิบของจุดหมายปลายทางยอดนิยม ซึ่งจัดอันดับจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

4.) นักท่องเที่ยวยังต้องการเดินทางเพื่อสัมผัสประสบการณ์ โดยเดือนมีนาคม 2566 ยอดการใช้จ่ายต่อการท่องเที่ยวเพื่อประสบการณ์ทั่วโลกสูงขึ้นถึง 65% ในขณะที่การใช้จ่ายในสิ่งของเพิ่มขึ้นเพียง 12% เมื่อเทียบกับปี  2562 

นายอนุชา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าแนวโน้มการท่องเที่ยวประจำปี 2566 จะสร้างประโยชน์ต่อการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของประเทศไทย พร้อมมั่นใจในศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของไทย ทั้งด้านสถานที่ และการจัดการ รวมทั้ง เน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนติดตามกระแสการท่องเที่ยว สกัดเอกลักษณ์ความเป็นไทย วิถีชีวิต ภูมิปัญญา และศิลปวัฒนธรรม มาประกอบกับแนวทางการท่องเที่ยวสมัยใหม่ ปรับตัวและออกแบบบริการการท่องเที่ยวให้สอดคล้อง และตอบสนองต่อความต้องการของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลง

‘อลงกรณ์’ นำทีมไทยเยือนจีน ขยายส่งออก กุ้งและผลไม้ พร้อมสำรวจท่าเรือจ้านเจียง เปิดเส้นทางขนส่งสินค้าไปจีน

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวง เกษตรและสหกรณ์เปิดเผยวันนี้ว่าได้นำคณะผู้แทนไทยประกอบด้วยนายณฐกร สุวรรณธาดา คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวง เกษตรและสหกรณ์ นายกฤษ อุตตมะเวทิน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร นายปรัตถกร แท่นมณี กงสุล (ฝ่ายเกษตร) ประจําสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว นายกลศ หิรัญบูรณะ นายกสมาคมและคณะที่ปรึกษาสมาคมการค้าเพื่อความยั่งยืนของเกษตรกร (Commercial Association for Sustainability of Agriculture: CASA)เดินทางเยือนเมืองจ้านเจียงซึ่งเป็นเมืองท่าใหญ่ใต้สุดของมณฑลกวางตุ้งโดยเข้าเยี่ยมชมท่าเรือจ้านเจียงและประชุมหารือกับผู้บริหารของท่าเรือจ้านเจียงเกี่ยวกับการเปิดเส้นทางการขนส่งทางเรือจากไทยมายังท่าเรือจ้านเจียงและยังได้สำรวจตลาดสินค้าเกษตรเชียงหนานเสียซานซึ่งเป็นสาขาของตลาดเชียงหนาน-กวางโจวเป็นตลาดค้าขายผลไม้ใหญ่ที่สุดในจีน

นายอลงกรณ์กล่าวว่า การเปิดเมืองท่าค้าขายให้มากที่สุดเป็นการสร้างโอกาสการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย ท่าเรือจ้านเจียงจึงเป็นอีกทางเลือกของการขนส่งสินค้าทางเรือตอนใต้สุด
ของมลฑลกวางตุ้งโดยใช้เวลาขนส่งจากแหลมฉบังไปท่าเรือจ้านเจียงไม่เกิน3วันรวมทั้งเป็นการรองรับการส่งออกทุเรียนและผลไม้อื่นๆกรณีที่เกิดปัญหาติดขัดบริเวณด่านทางบกเช่นด่านโหย่วอี้กวน ตงชิงและโมฮ่านที่อยู่พรมแดนเวียดนาม-จีนและลาว-จีนเช่นกรณีโควิดหรือกรณีช่วงพีคของผลไม้ไทยและเวียดนามออกพร้อมกัน ยิ่งกว่านั้นยังสามารถส่งออกสินค้าเกษตรอื่นๆรวมทั้งสินค้าของไทยทุกประเภท ประการสำคัญคือ เมืองจ้านเจียงเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมกุ้งของจีนทำให้มีโอกาสที่ไทยจะส่งออกกุ้งมาจ้านเจียงเพิ่มขึ้น

“เมืองจ้านเจียงมีความพร้อมทางด้านระบบห่วงโซ่ความเย็น(Cold chain system) ห้องเย็นอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำและตลาดในมณฑลกวางตุ้ง และมณฑลภาคจะวันตก 13 มณฑล เช่น เสฉวน กุ้ยโจว มหานครฉงชิง ฯลฯ.จะเป็นอีกเส้นทางการขนส่งทางน้ำนอกเหนือจากท่าเรือในเขตปกครองตนเองกว่างสีจ้วง”นายอลงกรณ์กล่าว

สำหรับท่าเรือจ้านเจียง (Zhanjiang Port)
เป็นท่าเรือน้ำลึกทางตอนใต้ที่สําคัญของจีน เปิดให้บริการตั้งแต่เดือน พฤษภาคม ปี 2499 มีท่าเทียบเรือ และจุดจอดเรือ 162 แห่ง ซึ่งมีศักยภาพสามารถรองรับปริมาณสินค้าได้รวม 346.93 ล้านตัน โดยเป็นศักยภาพ ที่สามารถรองรับตู้คอนเทนเนอร์รวม 800,00 ตู้ TEU/น้ำหนักรวม 9.6 ล้านตัน รองรับการขนถ่ายรถยนต์ 6.275 ล้านคัน/น้ำหนักรวม 124.5 ล้านตัน ผู้โดยสาร 31.78 ล้านคน มีแนวเดินเรือน้ำลึกที่สุดทางภาคใต้ ของจีนรองรับเรือระวาง 400,000 ตันได้ ปัจจุบันมีเส้นทางเดินเรือขนส่งตู้คอนเทเนอร์ 23 เส้นทาง เป็นเส้นทางระหว่างประเทศ 10 เส้นทาง และเส้นทางในประเทศ 13 เส้นทาง รวมถึงเปิดให้บริการการเชื่อมต่อ การขนส่งทางรถไฟเชื่อมกับทางเรือ จํานวน 22 เส้นทาง ในจีน เชื่อมโยงไปมณฑลยูนนาน กุ้ยโจว และหูหนาน เป็นต้น

บริษัทท่าเรือจ้านเจียง กรุ๊ป จํากัด (Zhanjiang Port (Group) Co., Ltd.) รับผิดชอบบริหารพื้นที่ เขตท่าเรือ 4 เขต ได้แก่ เขตท่าเรือเสียซาน เป๋าหม่าน เตี้ยวซุ่นต่าว และตงไหต่าว โดยมีท่าเทียบเรือและจุดเทียบเรือ รวม 36 แห่ง ประกอบด้วย ท่าเทียบเรือบรรทุกน้ำมันดิบ 300,000 ตัน ท่าเทียบเรือแร่เหล็ก 250,000 ตัน ท่าเทียบเรือถ่านหิน 150,000 ตัน ท่าเทียบเรือระวาง 150,000 ตัน และท่าเทียบเรือตู้คอนเทเนเนอร์ระวาง 150,000 ตัน ในปี 2565 เขตท่าเรือในการบริหารของบริษัทฯ มีการขนถ่ายสินค้ารวม 101.39 ล้านตัน โดยเป็น การขนถ่ายตู้คอนเทเนอร์รวม 1.301 ล้านตู้ TEU เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

ส่วนตลาดค้าส่งผักผลไม้เจียงหนานเสียซาน เป็นตลาดค้าผักและผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดทางภาคตะวันตก ของมณฑลกวางตุ้ง เป็นสาขาของตชาดเชียงหนานกวางโจวมีพื้นที่กว่า 150,000 ตร.ม. เปิดให้บริการในปี 2559

ตลาดค้าส่งผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำเสียซาน
ตลาดค้าส่งผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำเสียซาน (Xiashan Sea Food Wholesale Market) เป็นตลาดค้าผลิตภัณฑ์สัตว์ น้ำที่ใหญ่ที่สุดทางภาคตะวันตกของมณฑลกวางตุ้ง ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านเป๋าหม่าน เขตเสียซาน มีพื้นที่ก่อสร้างรวม 408,473 ตร.ม. เป็นศูนย์กลางค้าขายผลิตภัณฑ์กุ้งลําดับต้น ๆ ของโลก (พื้นที่สําหรับ ตลาดซื้อขายกุ้งประมาณ 50,000 ตร.ม.) มีความจุของโกดังห้องเย็นรวม 100,000 ตัน (ห้องละ 5,000 ตัน จํานวน 20 ห้อง) มีโรงงานผลิตน้ำแข็ง 300 ตัน โรงเก็บน้ําแข็ง 1,500 ตัน และมีส่วนของโรงงานแปรรูปกุ้งด้วย เริ่มเปิดดําเนินการเมื่อปี 2555 
สินค้าที่นํามาจําหน่ายในตลาดส่วนใหญ่เป็นกุ้งขาววานาไมสดแช่เย็น มีผู้ประกอบการกุ้ง ในตลาดประมาณ 70-80 ราย การซื้อขายจะคึกคักในช่วงเวลา 18.00-21.00 น.

“หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของเมืองจ้านเจียงมีความประสงค์ที่จะผลักดันให้มีการนําเข้า ผลไม้ไทยผ่านท่าเรือจ้านเจียง เนื่องจากเห็นว่าเมืองจ้านเจียงมีการผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ห่วงโซ่ความเย็นสามารถรองรับและกระจายสินค้าสดได้ดีขึ้นกว่าในอดีต กอรปกับระยะเวลาในการเดินเรือไม่นาน และสามารถกระจายผลไม้ไปยังพื้นที่อื่น ๆ ของจีนได้โดยสะดวกโดยเฉพาะทางตะวันตกของมณฑลกวางตุ้ง”

‘พงษ์ภาณุ’ ระบุ ไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อัตราการเกิดต่ำ ขาดแคลน ‘คนวัยแรงงาน’ ที่จะมาขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ

(18 มิ.ย. 66) นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และอดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง ได้พูดคุย ผ่านรายการ ‘NAVY TIME เรื่องดี ๆ ประเทศไทยยามเช้า’ ออกอากาศช่วงเช้า เวลา 07.00- 08.00 น. ทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือวังนันทอุทยาน (ส.ทร.วังนันทอุทยาน) FM93 เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2566 โดยได้ให้มุมมองถึง โครงสร้างทางประชากรที่เปลี่ยนไป ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ที่มีอัตราการเกิดของประชากรต่ำ โดยนายพงษ์ภาณุมองว่า

โลกกำลังเข้าสู่สภาวะผู้สูงอายุ รวมทั้งประเทศไทย สังคมไทยเป็นสังคมที่แก่เร็วมาก มีตัวเลข ว่าถ้าชาติใดมีประชากรที่อายุเกิน 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ก็จะนับว่าประเทศนั้นเป็นสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบันชาติไทยก็ได้เกินหลักเกณฑ์นั้นไปแล้ว อายุเฉลี่ยของคนในประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 40 ปี นั่นก็หมายความว่าคนไทยมีอายุมากกว่า 40 ปีและน้อยกว่า 40 ปีในจำนวนที่ใกล้เคียงกัน โดยในอาเซียนจะมีอายุเฉลี่ย น้อยกว่าประเทศไทยยกเว้นสิงคโปร์ที่มีอายุเฉลี่ยสูงกว่าประเทศไทย สาเหตุตรงนี้ก็คือเด็กเกิดใหม่นั้นมีน้อยส่วนผู้สูงอายุนั้น ก็มีอายุที่ยืนยาวมากขึ้น ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ และวัฒนธรรมการมีลูกของคนไทยในปัจจุบันก็ได้เปลี่ยนไป ถ้าย้อนกลับไป เมื่อประมาณ 60 ปีที่แล้ว ต่อผู้หญิงไทย 1 คนจะมีลูกโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 6 คน จากวันนั้นถึงวันนี้ ผู้หญิงไทย จะมีลูกเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1.3 คน ซึ่งอันนี้นับว่าเป็นสิ่งที่น่ากังวล ซึ่งถ้าจะคงที่ของประชากรไทยไว้ผู้หญิง 1 คนจะต้องมีลูกประมาณ 2 คนนิดๆถึงจะคงค่าเฉลี่ยของประชากรไทยไว้ได้เหมือนเดิม ค่าอยู่ที่ประมาณ 2.1 คนไทยมีอยู่ประมาณ 70 ล้านคนซึ่งวิเคราะห์ตัวเลขนี้แล้วก็บอกว่าคงจะไม่เติบโตไปมากกว่านี้ อันนี้ฟังแล้วก็น่าใจหาย ที่อัตราการเกิดของประชากรในประเทศไทยลดลงมาก สืบเนื่องจากว่าในปัจจุบันประชากรจากชนบทนั้นได้ย้ายถิ่นฐานเข้ามาทำงานกันอยู่ในเมือง ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่ทำเกษตรกรรมกันทำไร่ทำนากันอยู่ตามท้องไร่ท้องนา คนเมืองที่อยู่ในบ้านในเมืองใหญ่ซึ่งบ้านจะเล็กกว่าบ้านตามชนบทการมี ลูก ก็เลยจะน้อยลงต่างกับคนชนบทที่จะมีลูกกันมาก

เรื่องปัจจัยทางเศรษฐกิจนั้น ถือเป็นเรื่องใหญ่ คนที่จะมีลูกนั้นก็จะต้องคิดถึงค่าใช้จ่ายค่าเลี้ยงดูค่าเล่าเรียนการศึกษา ค่าอาหารการกินค่าที่พักอาศัยซึ่งจะตามมาอีกมาก เพราะฉะนั้นการมีลูกถือเป็นเรื่องใหญ่ และนโยบายจากทางภาครัฐนั้นก็ถือว่าสำคัญ อย่างถุงยางอนามัยถุงยางมีชัยนั้นก็ถือว่าได้ผลเกินคาด

เมื่อเราเป็น ผู้สูงวัยเกษียณอายุ ชีวิตก็จะมีอยู่ 3 ทางเลือก 1 ถอนเงินออมออกมาใช้ 2 พึ่งบำนาญจากทางราชการ 3 ให้ลูกหลานมาเลี้ยงดูเรา สิ่งที่น่าเป็นห่วงของสังคมผู้สูงอายุ และในภาวะที่อัตราการเกิดลดลงก็คือ อัตรากำลังในภาคแรงงาน นั้นจะมีขนาดลดลงเมื่อเทียบกับสัดส่วนของประชากรประเทศ ซึ่งตรงนี้คือตัวที่ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ เป็นส่วนที่ผลักดันทำให้เศรษฐกิจของประเทศมีความเจริญ

หลายๆประเทศก็ได้แก้ไขปัญหานี้ด้วยการ เพิ่มจำนวนผู้อพยพเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งก็จะเข้ามาเพิ่มจำนวนของประชากรในประเทศไปโดยปริยาย อย่างเช่นในประเทศสหรัฐอเมริกาก็จะดึงดูดประชากรใหม่เข้ามาในประเทศปีละเป็นแสนเป็นล้านคน ในประเทศไทยก็ได้เปิดให้แรงงาน เข้ามา ในระดับหนึ่งแล้ว แต่เมื่อเปรียบเทียบนโยบายการรับ ผู้อพยพเข้าเมืองระหว่างประเทศไทยและประเทศสหรัฐอเมริกาแล้วจะพบว่ามีความแตกต่างกันมาก ในประเทศสหรัฐอเมริกาจะเปิดรับผู้อพยพที่มีความรู้ความสามารถเพื่อเข้ามาคิดค้น นวัตกรรมใหม่ๆให้กับประเทศ อย่างเช่นสตีฟ จ๊อบ ก็มีพ่อแม่ซึ่งอพยพมาจากประเทศจอร์แดน หรือใน ปัจจุบัน CEO ของ Microsoft หรือ CEO ของ Google ก็เป็นคนที่เป็นแขก แต่ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศไทยผู้อพยพที่เข้ามาส่วนใหญ่ก็จะเป็นแรงงานที่ไร้ฝีมือ ก็จะเห็นความแตกต่างว่าในประเทศสหรัฐอเมริกาผู้บริหารก็จะเป็นคนต่างด้าวพอสมควร แต่สำหรับประเทศไทย เราไม่มี เราบอกว่า คนต่างด้าวจะให้เข้ามาแข่งขันกับคนไทยไม่ได้ เราจึงเอาเฉพาะแรงงานระดับรากหญ้าระดับที่ติดดินเข้ามา ซึ่งความคิดตรงนี้อาจจะต้องเปลี่ยน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top