Thursday, 28 March 2024
ECONBIZ NEWS

รัฐขยายระยะเวลาบรรเทาค่าใช้จ่าย 'น้ำ-ไฟ' ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอีก 7 เดือน

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแถลงมติคณะรัฐมนตรี เห็นชอบขยายระยะเวลามาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้า และค่าน้ำประปา ตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2565 - เมษายน 2566 (7 เดือน) โดยใช้งบประมาณจากกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม จํานวน 1,933.05 ล้านบาท แบ่งเป็นสนับสนุนค่าไฟฟ้า จํานวน 1,786.05 ล้านบาท ช่วยเหลือประมาณ 810,000 ครัวเรือน และงบประมาณสนับสนุนค่าน้ำประปา จํานวน 147 ล้านบาท ช่วยเหลือประมาณ 210,000 ครัวเรือน

ทั้งนี้ มาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา มีรายละเอียดดังนี้...

>> ค่าไฟฟ้า
1.) กรณีใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วย/เดือน ติดต่อกัน 3 เดือน ให้ใช้สิทธิ์ค่าไฟฟ้าฟรีตามมาตรการที่มีอยู่ในปัจจุบัน 
2.) กรณีใช้ไฟฟ้าเกิน 50 หน่วย/เดือน ให้ใช้สิทธิ์ตามมาตรการนี้ ในวงเงิน 315 บาท/ครัวเรือน/เดือน 
3.) กรณีที่ใช้เกินวงเงินที่กําหนด ผู้มีบัตรฯ เป็นผู้รับภาระ ค่าไฟฟ้าทั้งหมด 

'บิ๊กป้อม' สั่งพาณิชย์คุมเข้มราคา-คุณภาพอาหาร ป้องกันการฉวยโอกาสในช่วงเทศกาลกินเจ

เมื่อวันที่ (26 ก.ย. 65) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้กำชับกระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ดูแลการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในช่วงเทศกาลกินเจ 2565 ซึ่งปีนี้ตรงกับช่วงวันที่ 26 ก.ย.- 4 ต.ค. โดยให้สำรวจรายการอาหาร ทั้งอาหารเจ และอาหารปกติ ตลอดจนพืชผัก เครื่องปรุงรส ฯลฯ ให้อยู่ในราคาที่เหมาะ ไม่สูงเกินสมควร เพื่อเป็นการป้องกันการฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาสินค้าเอาเปรียบประชาชนในช่วงเทศกาลกินเจ ดูแลผู้บริโภคไม่ให้ได้รับความเดือดร้อนในเรื่องค่าครองชีพในภาวะเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว

‘เอ็กโก’ ซื้อหุ้นเพิ่ม 10% ใน 2 โรงไฟฟ้า เดินหนาขยายพอร์ตพลังงานหมุนเวียน

เอ็กโก กรุ๊ป ขยายพอร์ตโฟลิโอธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซื้อหุ้นเพิ่มอีก 10% ในโรงไฟฟ้าพลังงานลม “ชัยภูมิ วินด์ฟาร์ม” และ “เทพพนา วินด์ฟาร์ม” จ.ชัยภูมิ มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2593

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือเอ็กโก กรุ๊ป เปิดเผยว่า “เอ็กโกได้ซื้อหุ้นเพิ่มในสัดส่วน 10% ของบริษัท ชัยภูมิ วินด์ฟาร์ม จำกัด และบริษัท เทพพนา วินด์ฟาร์ม จำกัด ซึ่งเป็นผู้ดำเนินงานและบริหารจัดการโรงไฟฟ้าพลังงานลม “ชัยภูมิ วินด์ฟาร์ม” และ “เทพพนา วินด์ฟาร์ม” จ.ชัยภูมิ ตามลำดับ ซึ่งเป็นการ ซื้อหุ้นทั้งหมดจากกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิม โดยการซื้อและโอนหุ้นจากผู้ถือหุ้นเดิมได้เสร็จสิ้นแล้ว เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2565 เป็นผลให้เอ็กโกถือหุ้นทั้งหมดในโรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่ง”  

โรงไฟฟ้า 'ชัยภูมิ วินด์ฟาร์ม' ตั้งอยู่ใน อ.ซับใหญ่ จ.ชัยภูมิ มีกำลังผลิตติดตั้ง 80 เมกะวัตต์ มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (Small Power Producer – SPP) ประเภทสัญญา Non-firm ในขณะที่โรงไฟฟ้า 'เทพพนา วินด์ฟาร์ม' ตั้งอยู่ใน อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ มีกำลังผลิตติดตั้ง 7.5 เมกะวัตต์ มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (Very Small Power Producer – VSPP) เริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์และจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเมื่อปี 2559 และ ปี 2556 ตามลำดับ ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่ง มีผลการดำเนินงานที่ดี มีค่าความพร้อมจ่ายสูง เครื่องจักรได้รับการบำรุงรักษาอยู่ในสภาพที่ดี และยังตั้งอยู่ในทำเลที่มีศักยภาพและมีลมตลอดทั้งปี

'พิธา' แง้ม!! คำตอบของอนาคตเศรษฐกิจไทย ไม่ใช่การพึ่ง 'สินค้าเกษตร-อิเล็กทรอนิกส์' อีกต่อไป

'พิธา-พรรณิการ์' ร่วมงานแฟชั่นโชว์โพเอ้ม ชี้อนาคตเศรษฐกิจไทยคือ อุตสาหกรรมครีเอทีฟ-คราฟต์

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และพรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ได้รับเชิญเข้าร่วมงานแฟชั่นโชว์ของแบรนด์ POEM โดยชวนล ไคศิริ ดีไซเนอร์ชื่อดัง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Bangkok International Fashion Week 2022 

พิธา กล่าวว่า คำตอบของอนาคตเศรษฐกิจไทย ไม่ใช่การพึ่งสินค้าเกษตรหรืออิเล็กทรอนิกส์อีกต่อไป เพราะโลกยุคดิจิทัลและ AI ดิสรัปชั่น อุตสาหกรรมไทยจะถูกท้าทายอย่างมาก แต่ทางออกของการสร้างงานที่ดี มีรายได้สูง เป็นธรรมและเป็นการใช้ศักยภาพคนไทยอย่างเต็มที่ คืออุตสาหกรรมครีเอทีฟ - คราฟต์ - แคร์ หรืองานใช้ความคิดสร้างสรรค์ งานฝีมือ และงานบริการ ที่หุ่นยนต์ไม่สามารถแทนที่คนได้ ด้วยเหตุนี้อุตสาหกรรมแฟชั่นดีไซน์ จึงเป็นอนาคต ที่รัฐต้องสนับสนุนทั้งสาขาดีไซน์ และสาขาการผลิต ซึ่งหมายถึงช่างฝีมือจำนวนหลักแสนหรือล้านคน

พิธา ระบุว่า รัฐต้องสนับสนุนดีไซเนอร์ให้มีต้นทุนต่ำลงในการคงอยู่ในวงการ เพราะคนส่วนใหญ่ใช้เวลาหลายปีและต้นทุนมหาศาล กว่าจะประสบความสำเร็จ หนึ่งในเรื่องที่รัฐทำได้ คือการสร้าง Common House หรือสถานที่ที่ออกแบบเพื่อการทำงานดีไซน์และช่างฝีมือโดยเฉพาะ มีสตูดิโอและอุปกรณ์เครื่องมือจำเป็นให้ใช้ฟรี สถานที่แบบนี้นอกจากจะช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายของดีไซเนอร์รุ่นสร้างตัว ยังเป็นแหล่งพบปะแลกเปลี่ยนไอเดียระหว่างดีไซเนอร์และช่างฝีมือแขนงต่างๆ ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาต่อยอดไอเดียได้ดีขึ้น

ส่วนในสายงานช่างเย็บ ช่างปัก ช่างแพทเทิร์น พิธาเสนอโมเดลของ เลอดิสเนิฟ เอ็ม เมติเย ดาต์ ของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นองค์กรที่รวมเอาช่างฝีมือทุกแขนงมาทำงานด้วยกัน พัฒนาต่อยอด ผสมผสานองค์ความรู้อย่างเป็นระบบ หากรัฐบาลไทยจัดให้มีสถาบันแบบนี้ขึ้น ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือช่าง หรือแม้แต่รับจ้างผลิต ให้ดีไซเนอร์รุ่นใหม่ๆ ไม่ต้องหาช่างเป็นของตัวเอง แต่นำแบบมาสั่งผลิตได้ที่นี่ ก็จะทำให้เกิดระบบซัพพลายที่แข็งแกร่ง แข่งขันในเวทีโลกได้

“หมดยุคที่อุตสาหกรรมสิ่งทอ แฟชั่นไทย จะสร้างศักยภาพการแข่งขันด้วยของถูก ด้วยการบีบค่าแรงช่าง เราต้องส่งเสริมฝีมือช่างไทย สร้างระบบอุตสาหกรรมที่มีค่าจ้างเป็นธรรม แข่งขันด้วยฝีมือและความประณีต นี่คืออนาคตของคนรุ่นต่อไป” พิธา กล่าวทิ้งท้าย

‘ดีอีเอส’ ร่วมมือ มธ. เปิดศูนย์ Thammasat AI Center ต่อยอดความรู้ด้านปัญญาประดิษฐ์สู่คนรุ่นใหม่

(22 ก.ย. 65) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดพิธีเปิด ‘ศูนย์ปัญญาประดิษฐ์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์’ หรือ ‘Thammasat AI Center’ เพื่อเป็นศูนย์กลางฝึกอบรม วิจัย และพัฒนาองค์ความรู้ให้คนรุ่นใหม่และผู้สนใจเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ โดยมี นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ให้เกียรติร่วมเปิดงาน พร้อมด้วย รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้บริหาร เยี่ยมชมบรรยากาศการเรียนการสอน AI ณ อาคารเรียนรวมสังคมศาสตร์ 3 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า นวัตกรรมและเทคโนโลยีโลกเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มุ่งส่งเสริมองค์กรต่างๆ ในการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยมีการพัฒนาแผนยุทธศาสตร์ปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ การพัฒนากำลังคนด้านปัญญาประดิษฐ์ พร้อมจัดตั้ง ‘กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม’ ซึ่งได้สนับสนุน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดตั้ง ‘ศูนย์ปัญญาประดิษฐ์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์’ หรือ Thammasat AI Center เป็นแหล่งศึกษา เรียนรู้และพัฒนาการวิจัยด้าน AI ร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ยกระดับศักยภาพและกระตุ้นการคิดค้นต่อยอดนวัตกรรม สร้างระบบนิเวศชุมชนใช้ AI เป็นเครื่องมือดำเนินธุรกิจ คาดว่ามูลค่าการตลาด AI ทั่วโลกจะสูงกว่า 15.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 565 ล้านล้านบาทในปี 2030 เพิ่มมูลค่าถึง 26% นำไปสู่โอกาสพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยในอนาคต

ด้าน รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีการขับเคลื่อนโครงการใหม่ๆ พัฒนานวัตกรรม ความรู้ และทักษะด้านดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดจัดตั้ง Thammasat AI Center มีเป้าหมายเป็นศูนย์กลางการฝึกอบรมความรู้ด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ให้แก่นักเรียน นักศึกษา ภาคธุรกิจ และบุคคลทั่วไป ตลอดจนเพิ่มพื้นที่สร้างสรรค์ผลงานวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์ให้โดดเด่น พร้อมยกระดับสู่ความร่วมมือระดับชาติและนานาชาติ รองรับการเปลี่ยนผ่านที่ท้าทายของประเทศไทยต้องก้าวสู่ยุคปัญญาประดิษฐ์ในอนาคต

ปัจจุบัน นอกจาก Thammasat AI Center แล้ว มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังได้ริเริ่มโครงการใหม่ 3 โครงการได้แก่... 

1. โครงการ Medical Valley ต้นแบบศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา
2. โครงการ 88 sandbox ศูนย์การเรียนรู้ทักษะผู้ประกอบการแห่งอนาคต
3. โครงการ TU Metaverse ที่จะสร้าง Campus ที่ 5 ใน Metaverse พร้อมหลักสูตร AI ทั้งระดับปริญญาตรี โท และเอก สอน Online และ Offline ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ กว่า 60 องค์กร พัฒนานวัตกรและวิศวกรด้านปัญญาประดิษฐ์ เสริมศักยภาพ AI ของประเทศ

‘Thailand Digital Valley’ บิ๊กโปรเจกต์ดึงดูดต่างชาติ กับความพรัอมสู่ศูนย์กลางด้านดิจิทัลระดับอาเซียน

(21 ก.ย. 65) เฟซบุ๊กเพจ 'โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure' ได้โพสต์ข้อความในหัวข้อ 'Thailand Digital Valley ศูนย์กลางนวัตกรรมดิจิทัล EECd ศูนย์บ่มเพาะ Startup และเทคโนโลยี แห่งใหม่ของ DEPA สู่ศูนย์กลางระดับอาเซียน!!!' ว่า...

วันนี้ไปงาน Building Construction Technology Expo ซึ่งเราเป็น Media Partner ของโครงการ แล้วไปเจอกับบูธ depa Thailand หรือ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งได้นำโครงการหนึ่งในโครงการที่สำคัญกับโครงสร้างพื้นฐานภายใน EEC คือ Thailand Digital Valley ซึ่งอยู่ภายในพื้นที่ EECd หรือพื้นที่ในการพัฒนาด้านดิจิทัล

ซึ่ง Thailand Digital Valley ถูกวางไว้เป็น ศูนย์บ่มเพาะ Startup เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ในประเทศ รวมถึงดึงดูด Tech Startup และบริษัทจากทั่วโลก มาใช้สาธารณูปโภคร่วมกันในพื้นที่ EECd ซึ่งปัจจุบันก็มีบริษัทขนาดใหญ่ มาเช่าพื้นที่เพื่อทำศูนย์วิจัยแล้ว!!!!

มาทำความรู้จักกับ Thailand Digital Valley กันก่อน
https://youtu.be/o1HGYVJGuiM

Thailand Digital Valley ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตส่งเสริมอุตสาหกรรม EECd บริเวณ ศูนย์โทรคมนาคมศรีราชา ในขอบเขตเดียวกับ GISTDA ซึ่งเป็น Gateway internet ด้วยสาย Fiber Obtic ของ CAT อีกด้วย!!!

จึงทำให้หาความได้เปรียบของตำแหน่งในการพัฒนาสู่ศูนย์กลางของธุรกิจดิจิทัลของไทย เพื่อเป็น ศูนย์กลางด้านการออกแบบและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลขั้นสูงแห่งภูมิภาคอาเซียน

โดยภายในโครงการ Thailand Digital Valley มีพื้นที่สำหรับพัฒนาโดยรวม 30 ไร่ แบ่งเป็น 5 อาคาร (ตามเฟสการก่อสร้าง) ได้แก่...

1. อาคาร depa Digital One Stop Service พื้นที่ 1,500 ตารางเมตร (สร้างเสร็จแล้ว มีพื้นที่ให้เช่า พร้อมกับ Co-Working space ให้ใช้งาน)

เป็นพื้นที่ให้บริการอำนวยความสะดวกกับนักลงทุน (One Stop Service : OSS) และเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเชื่อมต่อข้อมูลมายังศูนย์สั่งการอัจฉริยะของเมือง โดยจะมีระบบรองรับการบริหารจัดการเมืองในลักษณะ Intelligent Operation Center ผลักดันการขับเคลื่อนนโยบายเมืองอัจฉริยะ (smart city) รวมถึงเป็นศูนย์ประสานงานสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สาขาภาคตะวันออก

2. อาคาร Digital Startup Knowledge Exchange Centre (อาคารนวัตกรรม IoT 1) พื้นที่ 4,500 ตารางเมตร (กำลังก่อสร้าง จะเสร็จภายในปี 65 นี้!!!) 

ซึ่งอาคารนี้เป็นหน้าด่าน และประตูของทั้งโครงการ เป็นศูนย์แลกเปลี่ยนการเรียนรู้นวัตกรรมดิจิทัล ประกอบด้วยพื้นที่ทำงานร่วม (Co-Working Space) พื้นที่สำนักงาน (Office) และพื้นที่ธุรกิจ (Commercial Area)

3. อาคาร Digital Innovation Centre (อาคารนวัตกรรม IoT 2) พื้นที่ 40,000 ตารางเมตร (เริ่มก่อสร้างแล้ว เสร็จปี 66)

เป็นศูนย์สร้างสรรค์นวัตกรรมดิจิทัล ประกอบด้วยพื้นที่ทดสอบเทคโนโลยี 5G (5G Testing Lab) ห้องปฏิบัติการระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligent Lab) ศูนย์ข้อมูล (Data Center) พื้นที่ออกแบบนวัตกรรมไอโอทีและระบบอัจฉริยะ (IoT Design Center) พื้นที่ประดิษฐ์ต้นแบบนวัตกรรมไอโอที (Prototyping Fabrication Lab) และพื้นที่ออกแบบและทดสอบเครื่องกลและหุ่นยนต์ (Mechatronics and Robotics Lab)

4. อาคาร Digital Edutainment Complex (อาคารนวัตกรรม IoT 3) พื้นที่ 20,000 ตารางเมตร 

เป็นพื้นที่รองรับกิจกรรมเพื่อจุดประกายความคิดสร้างสรรค์เชื่อมโยงแลกเปลี่ยนเรียนรู้และท้าทายความสามารถ อาทิเช่น Robotic School, Robot Fighting Arena, Drone School และ Drone racing Arena

5. อาคาร Digital Go Global Centre (อาคารนวัตกรรม IoT 4)พื้นที่ 20,000 ตารางเมตร 

เป็นศูนย์ออกแบบและทดสอบเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลระดับนานาชาติ (International Digital and Innovation) และกำหนดให้เป็นพื้นที่ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ Startup ของไทย เพื่อให้มีการขยายตลาดไปสู่ต่างประเทศด้วยนวัตกรรมออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สร้างสรรค์ โดยมุ่งเน้นในการสร้าง Product, พัฒนา Product

'สุริยะ' ยันชาวไร่อ้อยเตรียมรับเงินตัดอ้อยสด อัตรา 120 บาท/ตัน พ.ย.นี้ หวังช่วยลดฝุ่น PM 2.5

ครม. อนุมัติ 8,319.74 ล้านบาท โครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ฤดูการผลิตปี 2564/65 คาดจ่ายเงินช่วยเหลือได้ภายในเดือนพฤศจิกายน 2565"

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2565 เห็นชอบโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ฤดูการผลิตปี 2564/65 โดยมีนโยบายช่วยเหลือชาวไร่อ้อยทุกรายที่ตัดอ้อยสดคุณภาพดีส่งโรงงานเท่านั้น ในอัตรา 120 บาทต่อตัน เช่นเดียวกับฤดูการผลิตปี 2563/64 ซึ่งมีเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดส่งโรงงานเพื่อผลิตน้ำตาลทราย ผลิตเอทานอล และผลิตน้ำตาลทรายแดงได้ประโยชน์รวมกว่า 200,000 ราย คาดว่าจะสามารถเริ่มจ่ายเงินช่วยเหลือภายในเดือนพฤศจิกายน 2565 โครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดดังกล่าว เป็นอีกหนึ่งโครงการที่เกิดขึ้นตามนโยบายแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ของรัฐบาล

คลังเคาะแล้ว!! ลงทะเบียนคนละครึ่งเฟส 5 รอบเก็บตก จำนวน 3.09 ล้านสิทธิ เริ่ม 23 ก.ย.นี้

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 มีสิทธิคงเหลือประมาณ 3.09 ล้านสิทธิ จากประชาชนกลุ่มที่ได้รับสิทธิแล้ว แต่ไม่ได้มีการใช้จ่ายครั้งแรกภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งกระทรวงการคลังจะนำสิทธิคงเหลือดังกล่าวมาเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนรอบใหม่ โดยกระทรวงการคลังจะเปิดรับลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ รอบใหม่ ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 23 กันยายน 2565 จนถึงวันเสาร์ที่ 1 ตุลาคม 2565 ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตังหรือ www.คนละครึ่ง.com ระหว่างเวลา 06.00 น. - 22.00 น. 

สำหรับประชาชนที่จะลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ต้องมีสัญชาติไทย อายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ณ วันที่ลงทะเบียน มีหมายเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก และมีบัตรประจำตัวประชาชน ไม่เป็นผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐตามฐานข้อมูลของกระทรวงการคลัง ณ วันที่ 15 สิงหาคม 2565 ไม่เป็นผู้ได้รับสิทธิโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระยะที่ 3 และไม่เคยถูกระงับสิทธิ ถูกเรียกเงินคืน หรือฝ่าฝืนเงื่อนไขของมาตรการหรือโครงการอื่นๆ ของรัฐ โดยประชาชนทั่วไปสามารถลงทะเบียนรอบใหม่นี้ได้ ทั้งประชาชนที่ยังไม่เคยได้รับสิทธิโครงการฯ และประชาชนที่เคยได้รับสิทธิโครงการฯ แต่ไม่ได้ใช้จ่ายครั้งแรกภายในระยะเวลาที่กำหนด

สำหรับความคืบหน้าการใช้สิทธิมาตรการรักษาระดับการบริโภคภายในประเทศ ปี 2565 ระยะที่ 2 ซึ่งประกอบด้วย โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 5 โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระยะที่ 3 และโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 โฆษกกระทรวงการคลังเผยว่า จากข้อมูลสะสม ณ วันอังคารที่ 20 กันยายน 2565 เวลา 23.00 น. มีผู้ใช้สิทธิทุกโครงการรวม 36.85 ล้านคน และมียอดใช้จ่ายสะสมทั้งสิ้น 28,186.08 ล้านบาท โดยโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 มีผู้ใช้สิทธิทั้งหมดจำนวน 23.40 ล้านคน และมียอดใช้จ่ายรวม 25,503.48 ล้านบาท

'ส.อ.ท.' จับมือ 'อบก.' สร้างศูนย์ซื้อขาย 'คาร์บอนเครดิต' พร้อมเปิดตัว 'FTIX' แพลตฟอร์มซื้อขายพลังงานสะอาด

สถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดพิธีลงนามความตกลงประกอบการเป็นศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิตและพิธีเปิดตัวแพลตฟอร์มการซื้อขายพลังงานสะอาดและคาร์บอนเครดิต หรือ FTI : CC/RE/REC X Platform (FTIX) ในงาน 'ลงมือทำ ลดโลกร้อน : ทางรอด ทางรุ่ง ของโลก ของไทย' Take Climate Action : Save The Earth, Prosper All ในวันพุธที่ 21 กันยายน 2565 ณ ห้องวิภาวดีบอลรูม ซี โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว 

นายสมโภชน์ อาหุนัย รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและประธานสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึงปัญหาภาวะโลกร้อนที่กระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อตระหนักถึงปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการส่งออก ส่งผลให้ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงได้จัดตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมา คือ สถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้ประกอบการ และช่วยขับเคลื่อนการนำนโยบายของภาครัฐไปสู่การปฏิบัติ ให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี พ.ศ. 2593 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในปี พ.ศ. 2608 ของประเทศ

คาร์บอนเครดิตเป็นกลไกการตลาดที่สำคัญอย่างหนึ่งในการสร้างแรงจูงใจและเป็นทางเลือกให้ผู้ประกอบการในการลดก๊าซเรือนกระจก ส.อ.ท. มีการดำเนินงานร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. จากความร่วมมือที่มีมาอย่างต่อเนื่องในการดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส.อ.ท. และ อบก. จึงมีความเห็นร่วมกันในการพัฒนาแพลตฟอร์มการซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต เพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการซื้อขายคาร์บอนเครดิต เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ สามารถดำเนินกิจกรรมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสนับสนุนตลาดคาร์บอนภายในประเทศ จึงเป็นที่มาของการลงนามความตกลงประกอบการเป็นศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิตในครั้งนี้

ส.อ.ท. ได้พัฒนาและบริหารจัดการแพลตฟอร์ม FTIX เพื่อประกอบการเป็นศูนย์ซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตให้สามารถเชื่อมโยงกับระบบของ อบก. นอกจากนี้ ยังมีการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อตอบสนองความต้องการการใช้พลังงานหมุนเวียน 100% (RE100) รวมถึงการซื้อขายใบรับรองการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน หรือ REC อีกด้วย โดย ส.อ.ท. ได้ยื่นแพลตฟอร์ม FTIX นี้เข้าร่วมในโครงการ ERC Sandbox 2 ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เพื่อทดสอบระบบของตลาดการซื้อขายแลกเปลี่ยนให้มีความโปร่งใสและเชื่อถือได้ โดยที่อุตสาหกรรมทุกขนาดทั้งขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ จะสามารถเข้าถึงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งถือเป็นโอกาสดีจะได้ทำการเปิดตัวแพลตฟอร์ม FTIX พร้อมกับศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิต

การจัดงานนี้เป็นไปในรูปแบบของ Green Event โดยมีการควบคุมอุณหภูมิห้องไม่ให้ต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส จึงขอให้ผู้เข้าร่วมงานงดการใส่สูท และเปลี่ยนมาใส่เสื้อเชิ้ตฮาวายและเสื้อยืดแทน โดยได้รับความเอื้อเฟื้อจาก 'โครงการเซ็นทรัลทำ' ของกลุ่มบริษัทเซ็นทรัล นอกจากนี้ ยังได้รับความช่วยเหลือจากทาง อบก. ในการคำนวณปริมาณการปล่อยคาร์บอนในงานนี้ และได้รับความอนุเคราะห์จากกลุ่มบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ Energy Absolute (EA) และกลุ่มบริษัทซุปเปอร์ เอ็นเนอร์ยี บริจาคคาร์บอนเครดิตรวมกันเป็นจำนวน 260 ตันคาร์บอนเทียบเท่า ซึ่งสามารถ Offset หรือชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของการจัดงานนี้ได้ทั้งหมด เพื่อเป็นงานที่นำไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutral Event อีกด้วย 

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ 'ภาครัฐ ประสาน ภาคเอกชน ขับเคลื่อนไทย สู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน' โดยกล่าวถึง ประเด็นผลกระทบที่ทั่วโลกต้องเผชิญภัยพิบัติทางธรรมชาติรุนแรง เช่น น้ำท่วม น้ำแล้ง ดินโคลนถล่ม น้ำท่วมใหญ่ในเกาหลีใต้ และปากีสถาน โดยที่ประเทศไทยนั้นปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นลำดับที่ 21 ของโลก (ประมาณ 0.8% ของโลก) และเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงที่สุด

จากถ้อยแถลงของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ว่า “ประเทศไทยจะยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่และด้วยทุกวิถีทาง เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี พ.ศ. 2593 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ. 2608” ทำให้ประเทศไทยต้องปรับปรุง 'ยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย' หรือ LT-LEDS ซึ่งจำเป็นที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันขับเคลื่อนเพื่อการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว และขณะนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) อยู่ระหว่างการจัดทำเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2 (The 2nd updated NDC) ที่ 40% ในปี พ.ศ. 2573 ประเทศสามารถดำเนินการได้เอง 30% และการดำเนินงานที่ต้องได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมจากต่างประเทศอีก 10% 

‘บิ๊กป้อม’ สั่งคลังเร่งถกแบงก์ชาติเบรกค่าเงินบาทอ่อน ชี้ ค่าเงินบาทควรอยู่ที่ 35 บาทต่อดอลลาร์

(21 ก.ย. 65) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงข้อสั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้กระทรวงการคลังไปหารือธนาคารแห่งประเทศไทย ถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงในขณะนี้ว่า...

“เดี๋ยวให้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไปคุยกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเงิน เพราะเราจะปล่อยให้อ่อนค่าอย่างนี้ไม่ได้ เรื่องการผันผวนค่าเงินดังกล่าวเราต้องพยายามทำให้ดีขึ้น ซึ่ง รมว.การคลังจะดำเนินการ” จากนั้นผู้สื่อข่าวถามว่า ค่าเงินบาทจะต้องอยู่ที่ตัวเลขใดถึงจะเหมาะสม พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า “จะไปรู้หรอ ต้องให้เขาคุยกันก่อน จะมาถามล่วงหน้าทั้งที่เขายังไม่ได้คุยกันได้อย่างไร”

ผู้สื่อข่าวถามต่ออีกว่า มีการสั่งการตัวเลขให้อยู่ 35 บาทต่อดอลลาร์หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า “ผมบอกว่าควรจะ” และเมื่อถามว่า จากค่าเงินบาทอ่อนหากปล่อยไว้จะมีผลกระทบมากขึ้นใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า “เงินมันแปรผัน ไม่ต้องถามแล้วเดี๋ยวให้เขาประชุมเสร็จก่อน และดูว่าเขาจะดำเนินการอย่างไร ไม่ต้องห่วง”

สุดท้ายถามว่ามีการกำหนดกรอบเวลาให้รายงานกลับหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่ตอบ พร้อมเดินออกจากไมโครโฟนแถลงข่าวทันที และพูดอีกว่า จะมาถามเมื่อไหร่ ได้อย่างไร จะไปรู้ได้อย่างไร เขาจะนัดประชุมกันเมื่อไหร่
 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top